HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Out of a Suitcase

โปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนเล็กๆ ของ Local Alike ที่จัดขึ้นโดยคนในชุมชน และเพื่อชุมชน ได้ปูทางสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้น และเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่กำลังกระเพื่อมและช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง

30 กันยายน 2566

หากมองจากภาพแผนที่ภูมิประเทศของเมืองไทยจากเหนือจรดใต้ เราอาจเห็นว่าส่วนที่ปรากฏเป็นลวดลายคล้ายเปลือกไม้ขรุขระบ่งบอกบริเวณเทือกเขาและผืนป่าจะค่อยๆ เบาบางลงเมื่อสายตาเริ่มบรรจบกับพื้นที่ราบ

ก่อนช่วงปลายศตวรรษที่ 20 พื้นที่สีเขียวอันสูงชันที่ปกคลุมทั่วภาคเหนือของประเทศไทยนั้นเป็นเหมือนแดนสนธยาของคนนอก แต่ในทุกวันนี้ ขุนเขาเหล่านั้นก็ไม่ได้เข้าถึงยากอีกต่อไป โรงแรมเล็กใหญ่ได้ผุดขึ้นบนยอดเขาต่างๆ ที่เคยเป็นรกรากของชนเผ่าพื้นเมืองอย่างชาวอาข่า ชาวลีซู และชาวม้งมานานหลายรุ่น ส่วนไร่ชาก็ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาได้วันละนับพันคน ทั้งยังมีร้านอาหารหรูหราที่มาแทนที่ไหล่เขาอันเขียวขจี เพื่อให้คนจากเมืองใหญ่ได้ดื่มด่ำกับรสของอาหารนานาชาติความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในด้านภูมิประเทศ ภาพสตรีชาวกะเหรี่ยงคอยาวกำลังถักทอผืนผ้าอยู่ในกระท่อมไม้ไผ่กลายเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปเพื่อให้ผู้มาเยือนถ่ายภาพ เช่นเดียวกันกับเด็กๆ ชาวกะเหรี่ยงที่วิ่งตามนักท่องเที่ยวพร้อมใช้ความน่าเอ็นดูในการขายเครื่องประดับชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่วิถีดั้งเดิมของชาวกระเหรี่ยง

ในแต่ละปี ประเทศไทยได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติราว 40 ล้านคน ยังไม่นับถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศที่นับได้ราว 80 ล้านทริปต่อปี ประเทศไทยจึงเป็นหนึ่งในจุดหมายการท่องเที่ยวระดับโลก แต่การท่องเที่ยวแบบ ‘แมส’ ก็ได้ส่งผลกระทบต่อชุมชน วัฒนธรรม และภูมิทัศน์ของประเทศ ที่เป็นที่ประจักษ์ได้ตั้งแต่ในตรอกซอยเล็กๆ ในกรุงเทพฯ ไปจนถึงป่าร้อนชื้นของภาคใต้และขุนเขาแห่งภาคเหนือ การมาเยือนของนักท่องเที่ยวจำนวนมากมีส่วนทำลายเสน่ห์ของเมืองไทยที่ดึงดูดพวกเขามาในตอนแรก

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (community-based tourism หรือ CBT) จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะช่วยรักษาเนื้อแท้ของชุมชนไทยก่อนสายเกินแก้

ชุมชนต่างๆ ต้องไม่รับจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าที่พวกเขาพร้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจสูญเสียความเป็นชุมชนไป แล้วกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน

“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซนต์ของจีดีพีของประเทศไทย แต่ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรอย่างผู้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่นั้น กลับได้รับผลประโยชน์น้อยมาก” อรธีรา รัตนทายะ ผู้ดำรงตำแหน่ง CFO ของโลเคิล อไลค์ ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่โดดเด่นของประเทศไทย กล่าว

โลเคิล อไลค์ ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ระดับชุมชนเล็กๆ จนถึงระดับที่กว้างขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศเพื่อหาเงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลัง

สถานที่ที่โลเคิล อไลค์ พานักท่องเที่ยวไปนั้นจะมีทั้งชุมชนที่ชื่อคุ้นหูนักท่องเที่ยว และชุมชนที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักที่เพิ่งริเริ่มการเปิดรับผู้มาเยือน ซึ่งเป็นชุมชนชายขอบที่นักการตลาดด้านการท่องเที่ยวมองข้ามเพราะไม่สามารถสร้างผลกำไรเหนือธุรกิจคู่แข่งได้ ซึ่งโลเคิล อไลค์ยึดมั่นในการนำเสนอโปรแกรมท่องเที่ยวที่จัดโดยคนท้องถิ่น เพื่อสร้างประโยชน์ให้คนในพื้นที่

หลักการของโลเคิล อไลค์นั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทย พัทธมน รุ่งชวาลนนท์ ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้ประมาณไว้ว่า การจัดโปรแกรมท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นเริ่มครั้งแรกในภาคเหนือของไทยในช่วงปี 1990 แต่ความสำเร็จของโลเคิล อไลค์นั้นเป็นพัฒนาการใหม่ของพื้นที่นี้

ชุมชนต่างๆ ล้วนประสบปัญหาในการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่จะไม่ทำลายอัตลักษณ์ของแต่ละชุมชน ไม่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรอันล้ำค่า และไม่ละเลยผู้มีผลประโยชน์ร่วม และโลเคิล อไลค์ก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ อย่างเมื่อครั้งที่โลเคิล อไลค์จัดโปรแกรมเที่ยวชุมชนหล่อโย ซึ่งเป็นชุมชนชาวอาข่าใกล้ๆ ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีของชุมชนอย่างแท้จริง โดยชุมชนเป็นคนจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งการสอนทำเครื่องใช้ประจำวันอย่างจานด้วยไม้ไผ่ การนำเสนออาหารท้องถิ่นที่ทำจากวัตถุดิบที่ปลูกในหมู่บ้าน ไปจนถึงการให้นักท่องเที่ยวร่วมปลูกต้นไม้ในป่า โดยอรธีราได้เล่าถึงความพิเศษของกิจกรรมนี้ไว้ว่า “บนต้นไม้ที่คุณปลูก จะมีป้ายชื่อของคุณอันเล็กๆ ปักไว้ด้านหน้า คุณจะได้กลับมาดูได้ว่ามันเติบโตขึ้นมากขนาดไหนแล้ว”

“ความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่นนั้นมีคุณค่ามากกว่าที่หลายคนคิด และนี่คือสาเหตุที่เราต้องดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชนในรูปแบบที่จะไม่สร้างปัญหาให้ชุมชน”

ในทุกๆ การจองโปรแกรมเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนของชุมชน ซึ่งเป็นเหมือนเงินกองกลางที่ช่วยให้ชุมชนหล่อโยค่อยๆ เติบโตอย่างยั่งยืน โดยแต่ละชุมชนจะเป็นคนบริหารเงินกองกลางนี้เองตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ที่ชุมชนหล่อโยก็มีทั้งไฟฟ้าและน้ำสะอาดเพื่อการบริโภค ทั้งยังมีความมั่นคงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนสำหรับพัฒนาชุมชนมากขึ้น

แม้ว่าโลเคิล อไลค์ จะทำงานกับชุมชนต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงในกรุงเทพฯ แต่อรธีราบอกว่า การทำงานร่วมกับชุมชนหล่อโยนั้นเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เพราะพวกเขามีผู้นำที่เข้มแข็ง

“เราต้องจำไว้เสมอว่า ไม่ใช่ทุกคนที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการท่องเที่ยว และถ้าเราไม่ได้กระจายเงินทุนอย่างเป็นธรรม คนในชุมชนก็อาจต่อต้านได้ ดังนั้น สิ่งแรกที่เราทำเมื่อเราเข้าไปติดต่อชุมชนที่สนใจทำงานกับเราคือ การมองหาผู้นำที่เข้มแข็ง ไม่เช่นนั้น โครงการนี้ก็อาจสร้างปัญหาแทนประโยชน์”

การเลือกผู้นำที่เข้มแข็งนั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะวิถีการท่องเที่ยวของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไป และอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็ดูจะสูงขึ้นเรื่อยๆ จากแบบสำรวจของ Virtuoso ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวแบบหรูหราในสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 75 เปอร์เซนต์ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคม และเทรนด์นี้ก็เริ่มเห็นชัดในการท่องเที่ยวภายในประเทศไทยเช่นกัน จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ภาครัฐของไทยสนใจในการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมไปถึงองค์การสหประชาชาติ เข้ามาร่วมมือกับโลเคิล อไลค์ ในการขยับขยายธุรกิจเพื่อสังคมนี้

“ประสบการณ์ที่คนต้องการในการท่องเที่ยวนั้นได้เปลี่ยนไปแล้ว เราเริ่มเห็นคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในสิ่งแวดล้อมและสำรวจวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น” อรธีรากล่าว และได้เสริมว่า นักท่องเที่ยวสูงวัยก็สนใจโปรแกรมเที่ยวชุมชนของโลเคิล อไลค์ เช่นกัน

ชุมชนหล่อโยจะไม่มีวันกลายเป็นสวรรค์ของนักพักร้อนอย่างเกาะสมุย และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปเพราะวงการท่องเที่ยวเมืองไทยยังคงมีพื้นที่ให้เติบโตอย่างยั่งยืนเสมอ

“มีหลายเหตุผลที่กลุ่มคนมีอายุออกท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักเดินทางเพื่อลิ้มรสอาหารใหม่ๆ แต่พวกเขาก็ดูชอบที่ได้ไปสัมผัสชุมชนห่างไกลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม วิถีท่องเที่ยวของคนมีอายุก็ต่างจากคนรุ่นใหม่พอสมควร อย่างเด็กๆ ก็รับได้กับความสะดวกที่ไม่มากนัก แต่คนมีอายุก็อยากจะจ่ายเงินเพื่อให้คนอื่นช่วยจัดการเรื่องต่างๆ ให้”

ความต่างดังกล่าวได้สร้างความท้าทายตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน อย่างโครงการท่องเที่ยวชุมชนที่โลเคิล อไลค์ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และเพิ่งได้เปิดตัวไป แสดงให้เห็นว่าในขณะที่คนยุคเจเนอเรชัน ซี และยุคมิลเลนเนียลยอมเดินทางลำบากขึ้นเพื่อไปเยือนป่าฝนอันห่างไกลในจังหวัดยะลา แต่นักท่องเที่ยวรุ่นก่อนที่แม้หัวใจจะยังรักการผจญภัย แต่ร่างกายอาจต้องการความสะดวกสบายมากกว่าสมัยยังหนุ่มสาว

หากนับถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยแล้ว ศักยภาพของการท่องเที่ยวโดยชุมชนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านั้นดูเป็นไปได้สวย และอันที่จริงแล้ว เสน่ห์ของการท่องเที่ยวโดยชุมชนก็ได้เตะตากลุ่มธุรกิจโรงแรมแบรนด์ดังมาสักระยะหนึ่งแล้ว

แม้ว่าก่อนหน้านี้ โลเคิล อไลค์ได้ดำเนินกิจการด้วยโมเดลการขายงานให้กับหน่วยงานรัฐบาล (B2G) หรือการขายงานให้ลูกค้าบุคคลทั่วไป (B2C) เป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ในช่วงหลัง พวกเขาได้เริ่มจัดทำโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกับแบรนด์โรงแรมยักษ์ใหญ่ในไทยมากขึ้น อย่างเช่น เครือบันยัน ทรี, เครือดุสิตธานี, ไมเนอร์ โฮเทลส์,และเครือฮิลตัน ที่ได้ติดต่อโลเคิล อไลค์ ให้จัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวให้ อรธีราได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า “แบรนด์ใหญ่ๆ ก็อยากสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่ก็ต้องตอบโจทย์ด้านผลดำเนินการของพวกเขาด้วย ซึ่งการท่องเที่ยวโดยชุมชนยังมีสัดส่วนน้อยกว่า 10 เปอร์เซนต์ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด”

ดังนั้น แทนที่โรงแรมต่างๆ จะต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมากในการสร้างเครือข่าย ความสัมพันธ์ และออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยว พวกเขาสามารถมอบหมายให้โลเคิล อไลค์ที่มีประสบการณ์มากกว่าสิบปีมาช่วยจัดทำบริการที่มีลักษณะเฉพาะเช่นนี้ ซึ่งช่วยให้พวกเขาสามารถมอบทั้งประสบการณ์ใกล้ชิดชุมชนแบบเจาะลึก ช่วยรักษาเวลา และที่พักที่สะดวกสบายให้กับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ อย่างโปรแกรมเรียนรู้เรื่องอาหารในย่านกุฎีจีน หรือโปรแกรมสำรวจย่านคลองเตยในกรุงเทพฯ ก็ใช้เวลาไม่ถึงวัน แต่ก็มอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าเส้นทางทั่วไปที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมักจะไปเยือน

อย่างไรก็ตาม คุณค่าสูงสุดที่การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้สร้างขึ้นยังคงเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยังยืน ซึ่งโลเคิล อไลค์ก็ได้สนับสนุนให้ชุมชนมีกองทุนกลางที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาในแต่ละส่วนแบบเท่าเทียมกัน และเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น

“ชุมชนต่างๆ ต้องไม่รับจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินกว่าที่พวกเขาพร้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจสูญเสียความเป็นชุมชนไป แล้วกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแทน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวอาจนำปัญหาเข้ามาสู่พื้นที่ได้ อย่างการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ซึ่งคนในชุมชนก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาต่างๆ” อรธีราเล่าเสริม

อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคนในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่รัฐ และนักลงทุนที่รับผิดชอบต่อสังคมต้องเข้าใจก็คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น จะดำเนินไปด้วยดีที่สุดหากเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าในกรุงเทพฯ อาจมีโรงแรมใหญ่ขนาด 300 ห้องพักหรือห้างสรรพสินค้าสุดหรูเกิดขึ้นใหม่ในเวลาไม่ถึงปี แต่ในหมู่บ้านเล็กๆ อย่างในจังหวัดเชียงใหม่นั้น อาจใช้เวลาถึงสิบปีในการขยายจากเกสต์เฮาส์ขนาด 6 ห้องพักไปสู่ขนาด 32 ห้องพัก

“ขนาดมันปรับได้ แต่มันใช้เวลานานกว่า ซึ่งเราคิดว่านักลงทุนที่อยากสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมจะเข้าใจถึงคุณค่าในการรอคอย” อรธีรากล่าว

ความอดทนในการรอเป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะรักษาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่ให้ ‘เละเทะ’ แม้การท่องเที่ยวแบบแมสดำเนินไปได้ด้วยการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อน แต่ท้ายที่สุดแล้ว การเติบโตมีแต่จะแผ่วลง หรือการเติบโตอย่างรวดเร็วอาจเป็นตัวการทำลายเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไป ในขณะที่การท่องเที่ยวโดยชุมชนสามารถสร้าง ‘คุณค่า’ จากการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและมอบความทรงจำแบบที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้กับผู้มาเยือน

“ความรู้สึกผูกพันกับท้องถิ่นนั้นมีคุณค่ามากกว่าที่หลายคนคิด และนี่คือสาเหตุที่เราต้องดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชนในรูปแบบที่จะไม่สร้างปัญหาให้ชุมชน” อรธีราเสริม

หลังจากช่วงปีที่เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ที่ผ่านมา โลเคิล อไลค์น่าจะกลับไปเน้นโปรแกรมท่องเที่ยวในรูปแบบดั้งเดิมได้ และอาจมีโปรแกรมใหม่ๆ เกิดเพิ่มขึ้น แต่ในใจลึกๆ แล้ว อรธีรามองเห็นว่าทางบริษัทสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แต่ละชุมชนได้มากกว่านี้ เพราะธุรกิจแบบที่โลเคิล อไลค์ทำนั้นเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างนักลงทุนและชุมชน อย่างถ้าหมู่บ้านเล็กๆ อย่างหล่อโยเริ่มได้รับความนิยมจนเกินที่จะรองรับได้ โลเคิล อไลค์อาจช่วยหาเงินทุนในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ ติดตั้งไวไฟ หรืออื่นๆ ที่ช่วยให้ชุมชนหมุนไปตามกระแสโลกได้โดยไม่ทำลายวิถีดั้งเดิมมากนัก

แม้ในปัจจุบัน อาจยังไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าการท่องเที่ยวโดยชุมชนมีสัดส่วนในตลาดการท่องเที่ยวไทยมากน้อยแค่ไหน หรือควรโตขึ้นอีกเพียงใด แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้การท่องเที่ยวรูปแบบนี้เติบโตได้อย่างมหาศาล ทั้งยังสามารถกระตุ้นให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวรายใหญ่ๆ เริ่มปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินงานของตน

ชุมชนหล่อโยอาจจะไม่ได้กลายร่างเป็นสวรรค์ของนักพักร้อนที่มีโรงแรมหรูหราเรียงรายอย่างเกาะสมุย และก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปมากถึงเพียงนั้นเพื่อให้ชุมชนพัฒนาขึ้น เพราะวงการท่องเที่ยวเมืองไทยยังคงมีพื้นที่ให้เติบโตอย่างยั่งยืนเสมอ