SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
The Deep South
ผลงานจากศิลปินเชื้อสายมุสลิมคนหนึ่งได้ถ่ายทอดเรื่องราวของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาจไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายนัก โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่เป็นส่วนผสมระหว่างอัตลักษณ์ไทยและมลายู
30 กันยายน 2566
ไกลออกไปยังชนบทของปัตตานี เสียงที่ดังฝ่าความเงียบสงบมีเพียงเสียงกรอบแกรบของใบไม้ที่สีกันยามต้องลม และเสียงแผ่วเบาจากเตาดินเผาที่กำลังทำงาน ในบางช่วงขณะ สายลมก็จะพัดพาเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะของช่างปั้นแถวนั้นให้ได้ยินเป็นระยะๆ
แต่ในทุกๆ วัน จะมีห้าช่วงเวลาที่จะได้ยินเสียงของมุอัซซินกล่าวเรียกละหมาดดังก้องไปทั่ว อันเป็นช่วงเวลาที่การเคลื่อนไหวภายในเวิร์กช็อปเซรามิกของ เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา หยุดลงชั่วขณะ เสียงเรียกให้ละหมาดนั้นเป็นสิ่งเชื่อมร้อยเอ็มโซเฟียนให้เข้ากับสรวงสวรรค์ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านคนอื่นๆ ของเขา ในขณะที่ผลงานศิลปะและครอบครัวของเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยึดโยงเขาให้หยัดยืนอย่างมั่นคงบนโลกใบนี้
เอ็มโซเฟียนก่อตั้งโรงงานเซรามิกเบญจเมธาขึ้นมา 15 ปีแล้วด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งก็คือการเชื่อมสายสัมพันธ์กับบ้านเกิดของเขาอีกครั้งหลังจากไปใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสมาระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาศึกษาศิลปะภาพพิมพ์และการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ณ กรุงปารีสและเมืองแวร์ซาย ซึ่งเขาไม่เคยหวนย้อนกลับไปยังช่วงเวลานั้นอีกเลยนับแต่จบมา
“ผมตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะกลับบ้านและใช้ความรู้ด้านการออกแบบในการสร้างไลฟ์สไตล์ให้ครอบครัวและบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งแก่นแท้ของวัฒนธรรมและเสน่ห์ของพื้นถิ่นที่ผมอยู่นั้นเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังงานศิลปะของผมและสิ่งเหล่านี้กลายเป็นศูนย์รวมของเรื่องราว ภูมิปัญญา และขนบธรรมเนียมประเพณีในภูมิภาคของเรา” เอ็มโซเฟียนอธิบาย
เอ็มโซเฟียนเกิดและเติบโตในครอบครัวใหญ่ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในชนบทของปัตตานีเขายังคงจำได้ถึงความอบอุ่นและสีสันของชีวิตภายในบ้านในวัยเด็กได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าความทรงจำที่สวยงามนี้อาจไม่ได้รวมถึงช่วงเวลาในโรงเรียนของเขา ด้วยเกรดการเรียนที่ต่ำซึ่งเขายอมรับว่าเกิดจากการขาดความสนใจในสิ่งที่ต้องเรียนทุกๆ วัน ประกอบกับระบบการศึกษาของไทยที่เน้นการท่องจำ และปิดกั้นอิสระทางความคิดสำหรับเด็กจำนวนไม่น้อย
ท่ามกลางข้อจำกัดและผลการเรียนที่น่าผิดหวัง เอ็มโซเฟียนก็ยังปลอบประโลมหัวใจได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเขาเอง และด้วยความช่วยเหลือของพ่อและแม่ผู้เป็นทั้งแพทย์ประจำชุมชนและเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเกลาเส้นทางชีวิตของเอ็มโซเฟียน ทำให้ความสามารถของเขาฉายแสงได้ ท่ามกลางชุมชนที่อยู่กันอย่างใกล้ชิดและเต็มไปด้วยความใส่ใจ
แม้ชาวไทยจำนวนมากได้เล่าถึงการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมที่มีมาช้านาน เรื่องราวเหล่านั้นอาจถูกบิดเบือนโดยการปลุกปั่นความกลัวบนโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลัก ส่งผลให้มวลชนไม่มีวิธีเข้าถึงความซับซ้อนและละเอียดอ่อนของปัญหา ตลอดจนความเป็นจริงของชีวิตในจังหวัดชายแดนใต้
“ครอบครัวเป็นรากฐานที่สำคัญของผมมาเสมอ ส่วนสิ่งที่หล่อหลอมผมคือสภาพแวดล้อมธรรมชาติ และความเป็นอยู่ในตัวจังหวัด ซึ่งได้ช่วยให้ผมเข้าใจถึงความแตกต่างและคุณค่าทางวัฒนธรรม ในแบบที่หาที่อื่นไม่ได้ ในชุมชนของเรา ขนบธรรมเนียมชาวอิสลามและประเพณีอื่นๆอยู่เคียงคู่กันและพึ่งพากันมาตลอด ความหลากหลายนี้มีอิทธิพลต่อการทำงานของผมมาโดยตลอด” เอ็มโซเฟียนกล่าว
สำหรับคนไทยจำนวนไม่น้อย ‘สามจังหวัดชายแดนภาคใต้’ นั้นให้ความรู้สึกราวกับเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่มีความเป็นอยู่ในแบบฉบับของไทยก็ไม่ใช่ หรือแบบมาเลเซียก็ไม่เชิง นอกจากนี้ประชากรไทยราวเก้าสิบเปอร์เซนต์นับถือศาสนาพุทธ ในขณะที่ประชากรของจังหวัดที่อยู่สุดชายแดนใต้นั้นเป็นชาวมุสลิมเสียเป็นส่วนมาก จึงยิ่งดูเหมือนห่างไกลส่วนอื่นในไทย แม้จะอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกันก็ตาม
‘ปาตานี’ คือชื่อที่ชาวมุสลิมมาเลย์ใช้เรียกดินแดนทางใต้ที่ครอบคลุมจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของสงขลา โดยมีประวัติศาสตร์ที่ย้อนกลับไปนานนับศตวรรษตั้งแต่ยุคที่ยังเป็นอาณาจักรอิสระ ต่อเนื่องมาจนถึงช่วงเวลาที่ปัตตานีกลายเป็นรัฐเอกราชในนามของสยาม และถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามประเทศในปี พ.ศ. 2445
ก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐไทยไม่ค่อยได้แทรกแซงกิจธุระของพื้นที่นี้ แต่ในเวลาถัดมาขณะที่นโยบายชาตินิยมกำลังเฟื่องฟู รัฐบาลได้เริ่มใช้กระบวนการ ‘แผลงเป็นไทย’ (Thaification)โดยการนำขนบธรรมเนียม ภาษา และสัญลักษณ์ต่างๆ ของไทยมาบังคับใช้กับจังหวัดมุสลิม ซึ่งส่งผลให้เกิดการตอบโต้ ความตึงเครียดระหว่างนโยบายและการตอบโต้จากคนในพื้นที่นี่เองที่ครองพื้นที่ข่าวและเป็นภาพจำของคนจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับสามจังหวัดภาคใต้
ดังนั้น แม้ชาวไทยจำนวนมากได้เล่าถึงการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมที่มีมาช้านาน เรื่องราวเหล่านั้นอาจถูกบิดเบือนโดยการปลุกปั่นความกลัวบนโซเชียลมีเดีย ประกอบกับสื่อกระแสหลักของไทยบางครั้งรายงานข่าวอย่างโน้มเอียงเข้าหาศูนย์กลางอํานาจ ส่งผลให้มวลชนไม่มีวิธีเข้าถึงความซับซ้อนและละเอียดอ่อนของปัญหา ตลอดจนความเป็นจริงของชีวิตในจังหวัดชายแดนใต้
“เราทุกคนควรแสวงหาความจริงและเตือนตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า ‘เราเกิดขึ้นมาจากพื้นดิน เราอาศัยอยู่บนพื้นดิน และเราจะกลับสู่พื้นดินในที่สุด’”
เมื่อเอ็มโซเฟียนกลับมายังปัตตานี เขาได้เริ่มต้นภารกิจของเขาในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อผิดๆ เหล่านี้ เขาอธิบายถึงความตั้งใจนี้ว่า “ผมไม่เคยคิดก้าวล่วงขอบเขตทางศาสนาเลย แต่งานศิลปะของผมยังคงมีพื้นฐานมาจากหลักศาสนาอิสลาม และผมภูมิใจอย่างมากที่ได้แบ่งปันและขยายความปรัชญาความเชื่อนี้ผ่านทุกชิ้นงาน โดยภายในกรอบคำสอนของศาสนาอิสลามนี้ ผมต้องการบ่มเพาะความเข้าใจในเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความสามารถในการปรับตัว และความหลากหลาย”
ผลงานศิลปะส่วนใหญ่ของเอ็มโซเฟียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากความศรัทธาและการเดินทางของเขา หนึ่งในผลงานชิ้นล่าสุดของเขาเป็นงานเซรามิกที่ชวนนึกถึงแจกันที่บิดเบี้ยว ซึ่งปั้นขึ้นโดยใช้ดินเหนียวสีขาวนวลอันมีชื่อเสียงของปัตตานี เต็มไปด้วยรอยแตกสีทองและมีคอขวดอันเพรียวบาง เป็นงานที่เอ็มโซเฟียนต่อยอดมาจากรากในศาสนาอิสลาม โดยเชื่อมโยงกับข้อความจากคัมภีร์อัลกุรอาน {17:81} ที่มีเนื้อหาว่า “ความสัตย์จริงปรากฏขึ้นแล้ว และความเท็จก็ได้มลายหายไป” งานศิลปะของเอ็มโซเฟียนเปิดกว้างในการตีความของแต่ละคนที่พบเห็น แต่ข้อความสั้นๆ จากคัมภีร์ศาสนานี้ เป็นการบ่งบอกเป็นนัยๆ ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า รอยแตกนั้นเผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ใต้พื้นผิว
อีกผลงานที่โดดเด่นของเขาคือ กาน้ำชาสีดำที่มีรูปร่างออกเหลี่ยม มีความบิดเบี้ยว และมีเนื้อสัมผัสที่หยาบ เอ็มโซเฟียนเรียกผลงานชิ้นนี้ว่า ‘Al-Hag Teapot’ โดยเขาเล่าถึงผลงานชิ้นนี้ว่า “ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจมองว่ากาชิ้นนี้มีหน้าตาไม่สวยนัก แต่ภายในกาใบนี้ก็มีความงามโดยเนื้อแท้ เพราะเวลาที่เราดื่มชากับเพื่อนกาน้ำชาใบนี้ได้ช่วยสานความสัมพันธ์ สะท้อนให้ว่า เนื้อแท้ภายในนั้นย่อมสำคัญกว่ารูปลักษณ์ที่ปรากฏแต่เพียงภายนอก”
เขายังได้นำเสนอ ‘Nostalgia’ ผลงานชามพร้อมฝาปิดที่มีด้ามจับไม้บนฝา อันมีรูปทรงเหมือนปลอกกริชหรือพระจันทร์เสี้ยว สัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม ชามใบนี้ถูกแต่งแต้มด้วยฝีแปรงจนกลายเป็นอักษรยาวี อันมีรากฐานมาจากภาษาอาหรับ สะท้อนถึงศิลปะอักษรวิจิตรที่พบเห็นได้ทั่วไปในโลกมสุสลิม และใช้วัสดุเป็นดินเหนียวในท้องถิ่นเช่นเดียวกับผลงานชิ้นอื่นๆ ของเขา
อย่างไรก็ตาม ในแผ่นดินที่อุดมไปด้วยดินคุณภาพแห่งนี้ กลับไม่มีคนผลิตชิ้นงานเซรามิกมากนัก โรงงานผลิตเซรามิกของเอ็มโซเฟียนเป็นหนึ่งในโรงงานเพียงไม่กี่แห่งในภูมิภาค นอกจากนี้ เนื้อดินเหนียวของที่นี่จะเกิดฟองและสร้างรอยแตกบนพื้นผิวเมื่อแห้งตัว ต่างจากดินเนื้อละเอียดที่ใช้การผลิตเซรามิกของภาคเหนือ อันที่จริงแล้ว ดินปัตตานีนั้นอาจเหมาะกับการทำอิฐมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็กจากการสังเกตการทำงานของพ่อ
“เดิมที ดินที่นี่มีมูลค่าน้อยมาก อิฐที่ทำจากดินก้อนหนึ่งมีราคาไม่ถึง 1 บาท ซึ่งราคานี้รวมค่าแรงในการผลิตด้วยแล้ว การเพิ่มมูลค่าให้กับดินจึงเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของผม และอยากทำให้คนเห็นว่า ดินที่นี่สามารถสร้างคุณค่าให้กับชุมชนได้มากกว่าที่คิด ทั้งยังสามารถสร้างผิวสัมผัสและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับงานปั้น จากซากอินทรียวัตถุที่ปะปนอยู่ในเนื้อดิน”
นอกเหนือจากการเผยศักยภาพของดินปัตตานีผ่านชิ้นงานของเขา เอ็มโซเฟียนยังนำเสนอภูมิปัญญาและธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นบนผืนที่ดินของเขา เมื่อไม่กี่ปีก่อน เขาได้เริ่มขยายพันธุ์แพะสายพันธุ์พื้นเมืองด้วยวิธีการทำปศุสัตว์ที่มีมาอย่างยาวนาน โดยมีเป้าหมายหลักเป็นการอนุรักษ์แพะสายพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้ที่มีจำนวนน้อยลงทุกวัน ให้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเหมือนในอดีต ตลอดจนให้ความรู้กับผู้มาเยือนเกี่ยวกับวิธีทำปศุสัตว์แบบยั่งยืน และเขาได้เปิดโรงเรียนสอนยิงธนู อันเป็นกีฬาที่สัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นกัขนบธรรมเนียมของอิสลามด้วย
“ความรู้ในด้านการออกแบบของผมนั้น เป็นเครื่องมือในการทำเป้าหมายที่วางไว้ให้สำเร็จ ซึ่งก็คือการนำเสนอภูมิปัญญาท้องถิ่นและความงามของของบ้านเกิดของผมให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วไทย การดำรงอยู่คือการจดจำต้นกำเนิดของเรา และการนำภูมิปัญญามาปรับใช้ในช่วงชีวิตอันแสนสั้น เราทุกคนควรแสวงหาความจริงและเตือนตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า ‘เราเกิดขึ้นมาจากพื้นดิน เราอาศัยอยู่บนพื้นดิน และเราจะกลับสู่พื้นดินในที่สุด’” เอ็มโซเฟียนเล่าเพิ่มเติม
ปรัชญาการใช้ชีวิตอันเรียบง่ายดังกล่าวช่างดูเหมาะสมกับเอ็มโซเฟียน ผู้อุทิศชีวิตในการผสมผสานระหว่างงานศิลปะ ศรัทธา และความรักต่อธรรมชาติเข้าด้วยกัน และดูเหมือนว่า ข้อความในคัมภีร์อัลกุรอาน {20:55} จะสามารถปรับใช้กับชีวิตของทุกคนได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเรื่องราวชวนให้เราเหินห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ■