SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Good Doctor
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา กับเรื่องราวความป่วยไข้ของสังคมที่ไม่อาจใช้เพียงหมอและยาเป็นเครื่องป้องกัน
30 พฤศจิกายน 2566
เมื่อกล่าวถึงเรื่อง ‘สุขภาพ’ ในหัวของคนทั่วไปมักนึกไปถึงสภาพความแข็งแรงหรือป่วยเจ็บของตนเอง หรือคนใกล้ชิด-คนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะพื้นฐานของร่างกาย รูปแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิต และในที่สุดก็คือเหตุการณ์ของความผิดปกติและกระบวนการดูแลรักษาทางการแพทย์ที่ติดตามมา
ความป่วยไข้จึงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล หายดีก็แล้วไป แต่หากล้มเจ็บตายไปก็เป็นเรื่องของเวรกรรมส่วนตัว ทั้งนี้ เพราะการดูแลรักษาทำได้ในระดับรายบุคคลเท่านั้น เหมือนที่พูดเป็นสำนวนไทยว่า ‘ลางเนื้อชอบลางยา’
อย่างไรก็ดี สำหรับ ‘หมอ’ ซึ่งเพียงก่อนรับประทานข้าวมื้อแรกของวันก็อาจได้ตรวจคนไข้ไปแล้วนับสิบเคสอย่างศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘หมอธีระวัฒน์’ ความป่วยไข้รายบุคคลได้ประกอบกันเป็นภาพเกี่ยวกับความป่วยไข้ของสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้
โรคต่างๆ ของยุคสมัยอย่างมะเร็ง เบาหวาน ความดัน อัลไซเมอร์ หากมองในระดับวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สุดอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการแสดงตัวของ ‘อาการอักเสบ’ ในขณะที่อาการอักเสบเองก็ไม่ใช่อะไรนอกจากผลลัพธ์ของความบิดเบี้ยวในโครงสร้างของสังคมที่อำนวยให้สิ่งแปลกปลอมอย่างยาฆ่าแมลง ฝุ่นละออง หรือแม้แต่เชื้อโรคชนิดใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ
โรคร้ายจึงไม่อาจรักษาให้หายขาดได้เพียงในระดับรายบุคคล และที่แน่ๆ ก็คือไม่อาจรักษาได้เพียงด้วยยา
ในฐานะศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง และหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรม โรคไวรัสสัตว์สู่คน ตลอดจนเจ้าของนามปากกา ‘หมอดื้อ’ ที่เขียนคอลัมน์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพมาร่วมสิบปี หมอธีระวัฒน์จึงเป็นหมอแปลกที่ไม่ได้ใฝ่ฝันถึงแค่เพียงการรักษาคนไข้คนใดคนหนึ่งให้หายดีจนสามารถอุ้มกระเช้ามาขอบคุณหมอได้มากเท่ากับภาวะของประเทศที่
“ICU ร้าง OPD มีคนนั่งหร็อมแหร็ม ศูนย์หัวใจ ศูนย์ล้างไตเจ๊ง พินาศหมด เจ้าหน้าที่ต้องมากวักมือให้เข้าไปใช้ ICU”
เราพยายามไปแยกแยะเป็นชื่อโรคนั้นโรคนี้ แยกแยะเป็นเรื่องฝุ่น PM2.5 เรื่องสารเคมีในอาหาร แต่เราไม่ได้ดูว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของการอักเสบที่อยู่รอบตัวเรา จากสารเคมีที่ปนเปื้อนหรือสิ่งที่เราได้รับทางอาหาร ทางน้ำ ทางอากาศทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถปกป้องสภาพแวดล้อมจากสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์
ยิ่งไปกว่านั้น เขาฝันว่าผู้ที่ให้สุขภาพอันเลิศแก่ประชาชนจะไม่ใช่เพียงหมอนานาแขนง หากเป็นการศึกษาคุณภาพที่สร้างภูมิให้คนเข้มแข็ง และนโยบายภาครัฐที่ไม่บั่นทอนให้คนอ่อนแอ
เป็นความฝันที่เพียงแค่คิดถึงก็ชวนให้หมดแรง
แต่เป็นไปได้ว่า ความหมายของชื่อ ‘หมอดื้อ’ ก็คือการไม่ยอมหมดแรงจนกว่าจะได้ในสิ่งที่ต้องการ
อาการอักเสบ
“หลายสิบปีที่ผ่านมาเราเจอคนตาย คนป่วยทุกวัน ก็เริ่มสงสัยว่า ทำไมคนไตวายเร็ว ทำไมเป็นโรคหัวใจเร็ว ทำไมสมองเสื่อมเยอะขึ้นมหาศาล ทำไมโรคต่างๆ แย่ลงและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2017 ก็มีรายงานออกมายืนยันชัดเจนว่าการอักเสบเป็นตัวก่อโรค ปกติเราพยายามไปแยกแยะเป็นชื่อโรคนั้นโรคนี้ แยกแยะเป็นเรื่องฝุ่น PM2.5 เรื่องสารเคมีในอาหาร แต่เราไม่ได้ดูว่าทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการของการอักเสบที่อยู่รอบตัวเราจากสารเคมีที่ปนเปื้อนอย่างยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง หรือสิ่งที่เราได้รับทางอาหาร ทางน้ำ ทางอากาศทั้งหมด ดังนั้น ถ้าเราไม่สามารถปกป้องสภาพแวดล้อมจากสิ่งเหล่านี้ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์
...เช่น ฝุ่น PM2.5 ทำให้เส้นเลือดถลอก เปิดประตูให้ไขมันเข้าไปเสียบ เมื่อเสียบไปแล้วก็ทำให้เกิดอาการอักเสบ เมื่อเส้นเลือดพวกนี้ไปเลี้ยงสมองก็ไปจุดประกายการอักเสบในสมองขึ้น ตัวเซลล์ประสาทในสมองเองจึงสร้างโปรตีนขึ้นมา กลายเป็นสาเหตุของอัลไซเมอร์ ต่อกันเป็นขั้นเป็นตอน เพราะฉะนั้น ที่หมอทุกคนบอกให้ลดไขมันจะได้ไม่เป็นโรคนั้นโรคนี้ การอักเสบต่างหากเป็นตัวการที่ทำให้ไขมันไปเสียบและสร้างความเสียหายได้กระทั่งสมัยที่มีโควิด ยังเคยเตือนว่าคนไทยจะรับผลกระทบหนักมากกว่าประเทศอื่น เพราะว่าคนของเราเปราะบางอยู่แล้วจาก PM2.5 จากสารเคมี
...ทุกวันนี้กระทั่งอาหารโรงพยาบาลยังไม่ปลอดภัยจากสารเคมี มีองค์กรเอกชนที่เข้าไปสำรวจสารเคมีตกค้างของผักผลไม้ในตลาดปีละหนสองหน ใช้ทุนมากมาย ส่งไปตรวจที่ต่างประเทศ ผลปรากฏว่าผักผลไม้ในร้านสะดวกซื้อ ในซูเปอร์มาร์เก็ต ในตลาดสด ยังมีสารเคมีในปริมาณสูงมาก เกินระดับนานาชาติ ไม่ต้องพูดถึงว่าระดับสารเคมีที่ประเทศไทยกำหนดนั้นก็เกินระดับของนานาชาติไปพอสมควร เหมือนที่ประเทศไทยกำหนดระดับ PM 2.5 ที่รับได้ไว้เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้
...สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบมหาศาล แต่ในกระทรวง ในหมู่ผู้วางนโยบาย เขาเติบโตมาโดยไม่รับรู้ หรือให้ความสนใจกับองค์ประกอบเหล่านี้ ในที่สุดแล้วมันก็เลยค่อยๆ ปรากฏออกมาเป็นความเจ็บป่วยของคน พวกเราที่ตระหนักในเรื่องนี้ก็พยายามต่อสู้มาเป็นสิบปี แต่ก็ถูกลิดรอนสิทธิไปทีละบุคคล อาจารย์ในมหาวิทยาลัยถูกฟ้องเป็นคนๆ ให้เสียเวลา กระทั่งมีการข่มขู่ ทำให้เรารู้สึกว่าผู้มีอำนาจสามารถทำอะไรเชื่อมโยงเป็นระบบ และกลบเกลื่อนร่องรอยของความผิดปกติของตัวเองได้”
เตียงที่ไม่มีวันพอ
ความสามารถในการกลบเกลื่อนความผิดปกติ ที่หมอธีระวัฒน์พูดถึงอาจปรากฏชัดเจนอยู่ในข้อเท็จจริงที่ว่าความสนใจของผู้คนในประเด็นสาธารณสุขมักพุ่งไปที่ศักยภาพในการแก้ไขสุขภาพของ ‘บุคคล’ มากกว่าสุขภาพของ ‘โครงสร้าง’ ซึ่งท้ายที่สุดหนีไม่พ้นวังวนของการเพิ่มเตียงในโรงพยาบาลที่จะไม่มีวันพอ
“สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีโรคเกิดขึ้นแล้ว โรงพยาบาลต้องสร้างเตียงมากขึ้น สร้างโรงพยาบาลใหญ่ขึ้น 1,500 เตียง 3,000 เตียง มีศูนย์หัวใจ ศูนย์ล้างไตเกิดขึ้นเต็มไปหมด มันปลายทางแล้ว ตัวชี้วัดสำคัญของระบบสาธารณสุขตอนนี้คือมีคนไข้เข้ารับบริการเยอะแค่ไหน แต่ตัวชี้วัดที่เราต้องการคือ ถ้าโรงพยาบาลจังหวัดไหนพบว่า ICU ร้าง OPD มีคนนั่งหร็อมแหร็ม ศูนย์หัวใจ ศูนย์ล้างไตเจ๊ง พินาศหมด เจ้าหน้าที่ต้องมากวักมือให้เข้าไปใช้ ICU นั่นแหละคือ KPI (Key Performance Indicator) ไม่ใช่เชิญชวนให้คนเข้ามารักษาได้มากขึ้น มันย้อนแย้งกับสิ่งที่เราต้องการ
...ในเวลาที่ผ่านมาเป็นสิบปี เรามีระบบบัตรทอง 30 บาท ระบบนี้คนเป็นหมอรวมถึงผมเห็นด้วย 100% แต่เราต้องมีความตระหนักว่า หนึ่ง งบจะพอไหม และพอไปนานเท่าไร สอง เวลาบอกว่ารักษาได้ทุกโรค การรักษาจนถึงที่สุดมันคือตรงไหน ถ้าจะคิดว่าระบบ 30 บาทมีงบเพียงพอ มันควรหมายถึงมีงบพอให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ในโรงพยาบาลดีที่สุด มีเครื่องไม้เครื่องมือ และมีผู้เชี่ยวชาญมาดูแล และไม่ใช่แค่คนเดียวด้วย แต่เป็นกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญมาเชื่อมโยงกันสำหรับรักษา สิ่งเหล่านี้คิดเป็นเงินเท่าไหร่ ถ้าไม่ได้อย่างนี้ก็ควรแปลว่างบไม่พอจริงๆ ถูกไหม
...ในอังกฤษ ระบบประกันสังคมหรือ National Welfare ดีมากเลย ถึงกระนั้นเขาก็ยังมีระบบ ‘คนเฝ้าประตู’ (gatekeeper) คุณไม่สามารถเดินเข้ามารักษาง่ายๆ ต้องผ่านการสกรีนขั้นต้น 1-2-3 ไม่สะดวกก็จริง แต่มันกดดันให้แต่ละคนต้องดูแลตัวเองก่อน เพราะว่าถ้าปล่อยให้เดินเข้าไปหาหมอหรือผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีความจำเป็น คุณจะต้องถูกเก็บค่าใช้จ่ายแพงกว่านี้ ระบบที่ญี่ปุ่น ถ้าคุณเดินเข้าไปห้องฉุกเฉิน แต่ไม่ฉุกเฉินจริง คุณถูกไล่ออก หรือไม่งั้นก็โดนค่าใช้จ่ายแบบจัดเต็มเลย แต่ระบบของเรามันกลายเป็นกระบวนการว่าไม่มีคัดกรอง แต่คุณเบิกงบได้เท่านี้ ทำได้แค่นี้ ก็ทำไปอย่างนั้น
...เราไม่ได้ว่า 30 บาทไม่ดี แต่บางทีเราก็เจ็บปวด เช่น คนไข้บางคนใช้สิทธิ 30 บาทมารักษา เจาะตรวจแล้วพบว่ามีไวรัสตัวหนึ่ง ซึ่งเรามียาที่รักษาได้ทันที แต่เรารักษาให้ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในสิทธิ และเขาก็ไม่มีเงิน เราไม่อยากให้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ไม่ใช่ว่าคนไข้คนหนึ่งใส่รองเท้าแตะ นุ่งผ้าถุงมา แล้วได้รับการรักษาแตกต่างจากคนที่ขี่รถเบนซ์ ใส่แหวนเพชรเม็ดเท่าลูกข่างมา แต่อาจใช้สิทธิ 30 บาทบวกกับสิทธิข้าราชการ มันเจ็บปวด คนที่กินข้าวมื้อละหมื่น ทิปทีละห้าร้อย ไม่ได้ตระหนักว่าเขาไม่จำเป็นต้องเบิกงบ 30 บาทก็ได้ ภาครัฐไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาตรงนี้ ประชาชนทั่วไปก็ไม่ได้รับทราบว่าเรามีปัญหาเยอะ”
ความเสมอภาคในกระดาษ แต่เหลื่อมล้ำในความเป็นจริงของระบบ 30 บาท หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในโรงพยาบาลรัฐ ไม่ได้เพียงทารุณสำหรับคนไข้จำนวนไม่น้อย ดังเช่นที่ปรากฏในงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ (2558) ว่า ผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ใช้สิทธิบัตรทองมีอัตราการตายในบางกลุ่มโรคที่สำคัญสูงกว่าผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ หากยังทารุณไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่หลายครั้งต้องอุดช่องโหว่ของระบบด้วยการควักกระเป๋าช่วยผู้ป่วยเป็นการส่วนตัว ตลอดจนการ ‘อยู่เวร’ ที่เหมือนจะไม่มีวันได้ออก
คนเราถ้าตายตอน 75, 80, 85 เราควรตายแบบนอนตายไป แต่ไม่ใช่ว่าตายเพราะเจ็บป่วยมาตั้งแต่อายุ 40 เป็นเบาหวาน เป็นความดัน เป็นโรคหัวใจ โรคพวกนี้มันเพาะบ่มมาเป็นสิบปีก่อนหน้าจะเกิดอาการ ดังนั้น ถามว่าคนอายุ 40 ทำไมเป็นโรคหัวใจได้ จริงๆ มันเริ่มมาตั้งแต่คุณ 25 แล้ว
“พวกเราที่ช่วยดูคนไข้กันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนแพทย์หรืออะไร เราเจ็บ เพราะเราไม่ได้อยากเลือกปฏิบัติ แต่ต่อให้อยากช่วย เราก็ช่วยไม่ได้ทุกคน หมอที่ไปอยู่เวรแทบจะเป็นผู้วิเศษอยู่แล้ว ควบเวรทีหนึ่ง 36 ชั่วโมง ปกติผู้วิเศษขนาดไหนอยู่ครบ 24 ชั่วโมงแล้วต้องพัก แต่ ณ ขณะนี้พักไม่ได้เพราะคนไม่พอ คนไม่พอเพราะงบไม่พอ งบไม่พอเพราะว่าถูกใช้จ่ายไปในกระบวนการสาธารณสุขส่วนต่างๆ ต้องสร้างโรงพยาบาล ต้องซื้อเครื่องมือ โดยไม่ได้มีใครคิดถึง ‘คุณภาพคน’ คือชีวิตบุคลากร ชีวิตครอบครัว ไม่ได้คิดถึงว่าหมอต้องมีคนช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้กำลังใจ ไม่ใช่ให้นักศึกษาแพทย์จบมาแล้วเก่งเลยแบบไม่ต้องมีที่ปรึกษา ดังนั้น เวลาวางนโยบายต้องดูลึกไปถึงชีวิตจริงของคนด้วย ปลอมตัวติดหนวดไป เข้าไปตรวจ OPD เพื่อดูว่าเป็นอย่างไร และควรแก้อย่างไร ไม่ใช่แค่ดูตัวเลข”
ยังดีได้อีก
เป็นปกติที่รัฐบาลมักจะตกที่นั่งเป็นจำเลยเกี่ยวกับความไม่เพียงพอหรือไม่ได้คุณภาพของบริการสาธารณะต่างๆ แต่ในประเด็นสาธารณสุขหรือความป่วยเจ็บ รัฐบาลดูจะรอดตัวไปไม่น้อย จากการที่ประชาชนมองความป่วยไข้เป็นปัญหาจากพฤติกรรมหรือบุญกรรมส่วนตัวของผู้ป่วย ยังไม่ต้องพูดถึงว่า รายงานดัชนีความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก (Global Health Security Index หรือ GHS Index) (2564) ที่ออกโดยองค์การอนามัยโลก ก็ระบุว่าไทยมีระบบสาธารณสุขดีติด TOP 10 (สหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง) อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับผลแล็บในยามตรวจเลือด สิ่งเหล่านี้อาจหลอกตาได้หากไม่เข้าใจภาพรวม
“เวลาดูต่างชาติ เราต้องดูประเทศที่มีระบบการเรียนรู้เรื่องสุขภาพที่ดี อย่างสวีเดน นอร์เวย์ ไม่ใช่ดูแต่ประเทศที่มีเทคโนโลยีหรูหรา แต่พังพินาศเรื่องสุขภาพ อย่างไปดูสหรัฐอเมริกา เราไม่ได้ดูว่าเขามีคนไร้บ้านเท่าไหร่ มีคนที่ไม่มีประกันแล้วนอนตายข้างถนนเท่าไหร่ เราดูแต่สิ่งที่หรูหรา แต่ไม่ได้ดูความยั่งยืนในชีวิต เช่นเขามีแนวคิดว่าถ้าไม่ปวดหัว แปลว่าไม่มีปัญหาสุขภาพเรื่องความดัน แต่ถ้ารอให้ปวดหัวเพราะความดัน มันหมายความว่าเจ๊งเต็มเหนี่ยวแล้ว ระบบเรียนรู้เรื่องสุขภาพที่ดีจึงเป็นการทำอย่างไรให้รู้ก่อนโรคจะปรากฏ ไปตรวจน้ำตาล ตรวจไขมัน แล้วตรงไหนมีความเสี่ยงคุณก็จัดการตัวเองก่อนจะปรากฏอาการ เวลาทำงานสุขภาพ เราอย่าไปเทียบว่าดีกว่าคนอื่น ได้อันดับโลกเท่านั้นเท่านี้ แต่ถามตัวเองเลยว่าทำให้ดีกว่านี้ได้ไหม
...ที่ผ่านมาเราดูแต่ความเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เราไม่ได้ดูความยั่งยืนของประชาชน คนเราต่อให้ไม่มีสตางค์ แต่มีกิน สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย อยู่ได้ 60-70-80 ปี ก็ดีมากแล้ว ในขณะที่ถ้าสุขภาพไม่ดี เขาจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้ยังไง สมมติครอบครัวหนึ่ง มีลูก 2 คน ลูกคนหนึ่งเจ๊ง ลูกอีกคนก็ต้องเอาเงินมาช่วยคนนั้น จะเอาที่ไหนไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ ในเรื่องสุขภาพเราไปรับค่าผิดปกติเป็นความปกติ จริงๆ ยอมรับไม่ได้เลย คนเราถ้าตายตอน 75, 80, 85 เราควรตายแบบนอนตายไป แต่ไม่ใช่ว่าตายเพราะเจ็บป่วยมาตั้งแต่อายุ 40 เป็นเบาหวาน เป็นความดัน เป็นโรคหัวใจ โรคพวกนี้มันเพาะบ่มมาเป็นสิบปีก่อนหน้าจะเกิดอาการ ดังนั้น ถามว่าคนอายุ 40 ทำไมเป็นโรคหัวใจได้ จริงๆ มันเริ่มมาตั้งแต่คุณ 25 แล้ว หรือคนที่ความดันสูงตอนนี้ จริงๆ คุณความดันสูงมาตั้งนานแล้วแต่คุณไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวเพราะระบบเรียนรู้เรื่องสุขภาพของเราพัง”
สุข-ศึกษา
คำว่า ‘ระบบเรียนรู้เรื่องสุขภาพ’ อาจชวนให้คิดถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์จากกระทรวงสาธารณสุข หรือสสส. เพื่อให้คนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพได้อย่างเพียงพอและทันท่วงที แต่จากเรื่องราวของหมอธีระวัฒน์ ในเรื่องสุขภาพ ลำพังข้อมูลไม่ใช่สิ่งที่ขาดหายไปมากเท่ากับกระบวนการศึกษาและเรียนรู้จากข้อมูลของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะที่จะทำให้สังคมต่อยอดใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ประเด็นสาธารณสุขของประเทศถูกเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องระบบการศึกษาอย่างไม่อาจแยกออก
“ระบบการศึกษาของเราพินาศ นักเรียนสอบแข่งขันกันเข้าอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัยใช้ท่องจำอย่างเดียว ต้องติวข้อสอบติวอะไรต่ออะไร นี่ไม่ใช่ระบบการเรียน ระบบการเรียนคือระบบที่เราคิดและรู้ว่าจะหาความรู้ได้ที่ไหน อย่างไร ดังนั้น ต่อให้คุณแจกแท็บเล็ต แต่มานั่งสอนให้จำ ก็ไม่มีประโยชน์ ทุกคนต้องถูกฝึกให้ถาม ไม่ใช่ว่าอะไรเกิดขึ้นหรือเกิดเมื่อไร แต่ทำไมมันถึงเกิดขึ้น และแก้ได้อย่างไร เช่น ประเทศไทยต้องดีกว่านี้มหาศาล ทำไมมันดีได้เท่านี้ หรือถ้ามันดีจริง ทำไมโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งถึงได้พินาศหมด ขนาดคนมีฐานะไปโรงพยาบาลเอกชนบางทีก็ยังต้องกลับมาที่โรงพยาบาลรัฐ เพราะแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว
...เรามาถึงขนาดนี้ได้อย่างไร มันต้องย้อนไปที่ระบบการศึกษา แทนที่ครูจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับนักเรียน ปรากฏว่าครูเองกลับมี KPI ว่าต้องทำวิจัยเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วผู้บริหารดูว่าทำถึงไหม ฝ่ายคนทำงานก็ต้องเขียนว่าทำงานดีเลิศประเสริฐศรีครบตาม KPI ทุกอย่าง จริงๆ เราใช้ระบบ KPI ผิดเวลาประเมินผล เราควรยอมรับว่าทำได้ไม่ถึงเป้า ผู้บริหารก็ต้องเข้าใจและมาช่วยดูว่าอะไรเป็นเหตุให้ไม่ถึงเป้า ระบุออกมาเป็นปัจจัย 1 2 3 4 5 แล้วก็ค่อยๆ ปรับจนได้ตามเป้า ไม่ใช่ตั้ง KPI เต็มไปหมด เราต้องเข้าใจว่าเวลาคนทำงานมี node งานต่างๆ มากเกินไป มันจะไม่สามารถเชื่อมโยงให้เข้ามาเป็นระบบขององค์กรได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงระบบทางสังคม ศิลปะวัฒนธรรมอะไรต่างๆ ในเมื่อภายในระบบเล็กๆ ยังไม่เวิร์กเลย ดังนั้น ในแต่ละ node งาน หัวหน้างานต้องรู้ว่าอะไรทำให้มันไม่เวิร์ก ไม่ใช่พรีเซนต์ปุ๊บ ตรงนั้นตรงนี้ดีหมด เอ๊ะ---ถ้ามันดีอยู่แล้ว จะต้องปฏิรูปทำไม
...การลงทุนของประเทศไทยในด้านการศึกษาแทบจะเป็นอันดับหนึ่งแล้ว รองจากกระทรวงกลาโหม แต่ทำไมการศึกษาถึงห่วยขนาดนี้ คนที่พอมีฐานะก็หนีไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งแพงหูดับ แต่จะมีคนไปขนาดนั้นได้สักเท่าไร เราภูมิใจกับเด็กพิเศษ เด็กยอดมนุษย์ แต่เด็กอีก 99.9% เป็นคนธรรมดา ทำไมเราไม่เอากลุ่มนี้ให้ได้มาตรฐานเสียก่อน ยอดมนุษย์เราก็ต้องส่งเสริม แต่ไม่ใช่บอกว่าไอ้ส่วนที่อยู่กลางขบวน ท้ายขบวนนี่ไม่เป็นไร เพราะถ้าเราไม่มีมาตรฐานตรงนี้ ระบบการศึกษาไม่ดี ในขณะที่ระบบสาธารณสุขก็ห่วย ผลลัพธ์ก็คือนกแก้วนกขุนทอง ท่องกันว่าต้องกินอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ รักษาสุขภาพอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเอาจริง ทำป้ายสูบบุหรี่ที่มีรูปเจาะคอ คนสูบบุหรี่บอกว่าสวยดีและสูบต่อ เพราะเขาไม่ได้รู้สึกว่ามีความจำเป็นที่ต้องงดสูบบุหรี่ตั้งแต่อนุบาล”
ข้อดีของการอ่านก็คือยิ่งรู้ว่าเราโง่ ชอบพูดกับนักเรียนว่าที่เราคิดว่ารู้มาก ความรู้ของเราแค่หนึ่งในเม็ดทรายเวลาเดินชายหาดเท่านั้นเอง ความเป็นหมออาจทำให้เราคิดว่าเราเป็นพระเจ้า ฉันช่วยชีวิตคนนี้ได้ ไม่ช่วยคนนี้ได้ แต่ในที่สุดเราจะรู้ว่าเราโง่มาก เพราะในระดับวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานจริงๆ มีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ
วิทยาศาสตร์-บริสุทธิ์
ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพไม่ใช่เพียงเรื่องของคนไข้ แต่ยังมีมิติครอบคลุมไปถึงตัวแพทย์ผู้รักษาหรือแม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบาย กล่าวได้ว่า หากความไม่รู้ของคนไข้คือส่วนหนึ่งของปัญหาสาธารณสุข การติดหล่มความรู้ที่มีอยู่จนไม่ไปสู่ความรู้ขั้นกว่าของบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นปัญหาอีกลักษณะหนึ่งเช่นกัน
“ขณะนี้เรามีเครื่องมือทุกชนิดในโลกนี้ ฝรั่งมานี่ตกใจว่าเรามีเครื่องมือพวกนี้ด้วยเหรอ แต่เราใช้ไม่เป็น เราใช้ได้เฉพาะเท่าที่เขาให้มา ไม่สามารถต่อยอดได้ เราไม่สามารถใช้เครื่องมือในการตั้งคำถามว่าอะไรเกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อเข้าสู่ศาสตร์ขั้นลึกของวิทยาศาสตร์ เขาคิด 1 2 3 มาแล้ว เราควรใช้ข้อ 4 แล้วก้าวกระโดดมาเป็นข้อ 7 ได้ เช่น จุดแข็งของประเทศเราคือเรามีสมุนไพรธรรมชาติ ในขณะที่วารสาร Science ลงว่ากัญชงสามารถรักษาโควิด พิสูจน์กลไกที่ส่งผลต่อสมองได้ตั้งแต่ในแล็บ ในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ทำไมเรายังเอาแต่พูดว่าสมุนไพรอย่างกัญชงไม่มีประโยชน์ เป็นของเหลวไหล ตรงกันข้าม ยากันสมองเสื่อมนี่ขายกันมา 30-40 ปีแล้ว มีรายงานบอกไม่ได้ช่วยต้นเหตุเลย แค่กินกาแฟก็ได้ผลแบบนั้นเหมือนกัน เราก็ยังยอมรับ
...หรือเรื่องกัญชาเราก็พยายามปฏิเสธ มีรายงานล่าสุดบอกว่าในสมองของสัตว์ทดลองมีสารกัญชาธรรมชาติอยู่ เรียกว่าเป็นระบบกัญชาในสมอง (endocannabinoid system) แปลว่าเราทุกคนสร้างสารกัญชาในร่างกายอยู่แล้ว เป็นระบบที่ไปปรับสมดุลของอวัยวะ ถ้าระบบกัญชาบกพร่อง สิ่งอื่นก็รวนไปด้วย คนโบราณจึงใช้กัญชาปรับแต่งระบบกัญชาตามธรรมชาติให้มันปกติ ไม่ได้เสพเพื่อสันทนาการอย่างเดียว ทำไมเราไม่ใช้ทรัพย์สมบัติของแผ่นดินที่เรามีอยู่นี้ มาทำให้ทันสมัย มี specification มี pattern มี profiling แล้วใช้ควบคู่ไปกับยาแพทย์แผนปัจจุบัน
...เรามีความคิดตามตะวันตก เลียนรูปแบบของตะวันตก แต่หารู้ไม่ตะวันตกเขาก็เสาะแสวงหาของดีในตะวันออก และระหว่างแสวงหาเขาก็มีกลไกมาพิสูจน์ยืนยัน แต่พวกเราเองกลับบอกว่าของเราห่วย ขนาดฝรั่งออกหลักฐานเป็นวิทยาศาสตร์มารองรับ เราก็ยังพยายามปฏิเสธ จนเมื่อไหร่เขาทำออกมาเป็นยาสำเร็จ ถึงไปซื้อเขา เหมือน CBD หรือ THC ซึ่งคือกัญชาที่ฝรั่งทำเป็นยาเรียบร้อย ขายขวดละหมื่น มันน่าประหลาดใจ ตอนเป็นของพื้นบ้านเราบอกว่าไม่ใช้ ยังไม่รู้ตัวยา ไม่รู้ตรงนั้นตรงนี้ แต่ว่าพอเขาทำเอามาขาย---ซื้อ
...เราดูข้อมูลทางเดียว ไม่มี critical thinking และไม่ค่อยพูดกันถึง totality of evidence คือสิ่งที่บอกกันมาน่ะใช่ แต่สิ่งที่เขาไม่ได้บอกมา เราก็ต้องรู้จักไปค้นหาด้วย แต่สิ่งเหล่านี้มีกระบวนการทางตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเรื่องของสมาคมผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ออกมารับรอง พอสมาคมประกาศ ประชาชนเขาก็ต้องเชื่อตามนั้น เพราะฉะนั้น คำถามคือเรายึดถือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนป่วยหรือเปล่า คนไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนสามารถพูดตรงๆ ได้ และคนที่รู้ความจริงก็มีเยอะ แต่ปัญหาคือคุณอยากอยู่สบายไหม ถ้าอยากอยู่สบายก็อย่าออกมาพูด แค่บอกคนไข้ของตัวเองไป ถ้าเขาไม่เชื่อก็ถือว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่ถามว่า comfort zone หรือ safety zone ตรงนั้น คือที่ที่เราควรอยู่และปล่อยให้ทุกอย่างในสังคมเลวร้ายลงไปหรือเปล่า”
หมอดื้อ
ในฐานะแพทย์ที่ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และมีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ จนได้รับรางวัลต่างๆ เช่น ผลงานวิจัยดีเด่น จากสภาวิจัยแห่งชาติ (2535) รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยมเจ้าฟ้ามหิดล-บีบราวน์ (2536) รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จากสภาวิจัยแห่งชาติ (2537) รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ (2547) หรือแม้กระทั่งตำแหน่งระดับโลกอย่างผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านค้นคว้าและอบรม โรคไวรัสสัตว์สู่คน หมอธีระวัฒน์ดูจะไม่ได้เพียงอยู่ใกล้คนไข้ หากยังพอใจประชิดพรมแดนใหม่ของความรู้และมองไกลออกไปเสมอ
“พ่อมีคลินิกอยู่ที่บ้าน เราก็ขี้สงสัยตั้งแต่เด็กที่เห็นพ่อตรวจคนไข้ ว่าตรวจไปทำไม พอ ป.3 ป.4 เริ่มอ่านหนังสือออก ก็ไปหาไอ้นู่นนี่อ่าน ป.6 ป.7 ก็เริ่มอ่าน ‘ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2’ ของดิเรก ชัยนาม เริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษอย่าง ‘เจมส์ บอนด์ 007’ ของเอียน เฟลมมิง เพราะมันมีฉากอีโรติกเยอะ (หัวเราะ) พอตอนโตเรียนชีววิทยา มีแค่ผ่ากบ ผ่าปลา เราอยากรู้เรื่องโครงสร้างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เรื่องคน ก็ต้องไปหาอ่านเอง สมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตก็ต้องไปค้นหนังสือ หรือพ่อไปเมืองนอกก็ขอให้ช่วยซื้อตุ๊กตาใสๆ ที่เห็นเครื่องในคนมาให้ดู เห็นคนเจ็บป่วยก็อยากรู้ว่าเขาป่วยได้ยังไง อยากช่วย แต่จะช่วยได้ต้องรู้ก่อน ก็ต้องไปหาหนังสืออ่าน แต่อ่านๆ ไปบางทีก็สอบได้ไม่ดี เขาถามแค่ตรงนี้แต่ตอบยืดยาวเลย เขาก็ไม่ให้คะแนนเพิ่มหรอก
...แต่ข้อดีของการอ่านก็คือยิ่งรู้ว่าเราโง่ ชอบพูดกับนักเรียนว่าที่เราคิดว่ารู้มาก ความรู้ของเราแค่หนึ่งในเม็ดทรายเวลาเดินชายหาดเท่านั้นเอง ความเป็นหมออาจทำให้เราคิดว่าเราเป็นพระเจ้า ฉันช่วยชีวิตคนนี้ได้ ไม่ช่วยคนนี้ได้ แต่ในที่สุดเราจะรู้ว่าเราโง่มาก เพราะในระดับวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานจริงๆ มีอะไรที่เราไม่รู้อีกเยอะ และพอเราคิดว่าเราโง่ เราจะไม่หยุด เราจะไม่เชื่อแค่ clinical guideline ที่บอกให้ทำนู่นทำนี่ เพราะเราเห็นว่ามันมีอะไรที่ค้านกฎของสิ่งที่เรารู้ สิ่งที่นอกเหนือไปจากไกด์ไลน์ มีหมอเยอะแยะที่แค่ติ๊กว่าคนไข้มีไอ้นี่ไอ้นั่นหรือเปล่า ถ้ามีนั่นก็เอาไอ้นี่ไปกิน ไม่ต้องตรวจ แต่ถ้าคุณตรวจ คุณก็จะบอกได้ว่าควรรักษาอย่างไรได้ซับซ้อนมากกว่าที่ไกด์ไลน์จะตอบโจทย์ คุณต้องซอกแซก ต้องอยากรู้อยากเห็น
...จริงๆ ชื่อ ‘หมอดื้อ’ มาจากคอลัมน์ที่เขียนให้หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจก่อนมาเขียนให้ไทยรัฐ เขียนมา 8 ปีแล้ว รายสองอาทิตย์ เขียนทุกอาทิตย์ไม่ไหว เพราะเขียนบทความหนึ่งก็เหมือนอ่านวารสารมาเขียนตำราบทหนึ่งแล้วแปลเป็นไทย ปกติบทความในวารสารจะมีสัก 20 หน้า และมีข้อมูล supplementary อีกปึกหนึ่ง ผมอ่านทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่เราจะกรองมาเขียนไม่ได้เข้าข้างตัวเองและเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง บางทีคนบอกว่าบทความหมอดื้ออ่านรู้เรื่องแค่ย่อหน้าแรกกับย่อหน้าสุดท้าย ไส้ในอ่านไม่รู้เรื่อง นั่นก็เพราะเราตั้งใจใส่รายละเอียดไว้ตรงกลาง ถ้าเขียนแค่สรุปหัว-ท้าย คนก็จะบอกว่าไม่มีหลักฐาน ดังนั้นใครไม่เชื่อ อยากคัดค้านอะไรก็ให้อ่านตรงกลางนี้ ไปเถียงกับข้อมูลตรงนั้น ไม่ใช่เถียงกับหมอธีระวัฒน์
เราอาจจะอยากร่ำรวยสัก 10 ล้าน 100 ล้าน แต่ถามว่าแล้วคนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าใน ICU นั่นก็มีเป็นพันล้านใช่ไหม แต่ครอบครัวเขาก็ยังเจ็บปวด ดังนั้น อย่าปล่อยให้สิ่งที่เรากอบโกยขึ้นมา สุดท้ายแล้วมีไว้แค่ให้ลูกหลานแย่งกัน
...คำว่า ‘หมอดื้อ’ คือเราดื้อในสิ่งที่ถูก เราไม่ได้เชื่อไกด์ไลน์เสมอไป แต่เชื่อในสิ่งที่อยู่ตรงหน้าและมีหลักฐานประกอบทั้งหมด เพราะเราไม่มีผลประโยชน์อื่นทับซ้อน แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราพบว่าเราพูดผิด เราก็พร้อมที่จะขอโทษและปรับเปลี่ยนได้ เราคิดนอกกรอบจริง แต่ไม่ได้คิดนอกลู่นอกทาง”
ของดีที่ถูกลืม
ในขณะที่หมอธีระวัฒน์เคยให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่าเขาอ่านบทความทางการแพทย์ “เป็นบ้าเป็นหลัง อยู่บนรถไฟฟ้าก็อ่าน” ตามความรู้สึกว่าความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ ออกมาทุกชั่วโมง ทุกนาที กระนั้น หนึ่งในพรมแดนความรู้ใหม่ที่หมอธีระวัฒน์มักเข้าไปค้นหากลับเป็นภูมิปัญญาโบราณอย่างยาหรือสมุนไพรพื้นบ้าน ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเป็นผู้สนับสนุนและผลักดันให้คนไทยได้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายมาตั้งแต่เกือบยี่สิบปีที่แล้ว นับเป็นเวลายาวนานก่อนจะมีแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดเมื่อปี 2563 และยอมรับว่าบางช่วงต้องทำงานแบบ ‘ใต้ดิน’ หรือไม่เป็นทางการ เพื่อให้คนไข้ที่พบทางตันในการรักษาตามแผนปัจจุบันได้ทดลองรักษาหรือบรรเทาความทรมานด้วยกัญชา
“ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เราเริ่มที่จะใช้กัญชาหรือกัญชงในทางการแพทย์ คนก็เริ่มดูถูกและต่อต้านว่ากัญชารักษามะเร็งได้จริงเหรอ แต่เราต้องเข้าใจว่าคนที่ใช้กัญชารักษามะเร็งคือคนที่หมอแผนปัจจุบันไม่รับแล้ว คนไข้ไม่อยากตายด้วยความทรมานจึงมาใช้กัญชา แต่กลายเป็นว่าพอใช้แล้วเขาไม่ตาย ทำไมเราไม่ไปหาว่าคนๆ นี้ใช้กัญชาสูตรไหน สกัดแบบไหน ต้นกัญชาที่ไหน มะเร็งชนิดอะไร ปฏิกิริยาของคนนั้นๆ ที่ตอบสนองต่อกัญชาคืออะไร ถ้าเราสามารถแงะสูตรของคนที่รอดชีวิตหรืออยู่ได้ห้าปีแทนที่จะตายในหกเดือนออกมาได้ แงะปฏิกิริยาการตอบสนองของร่างกายคนนั้นๆ จนเข้าใจได้ว่าเขาตอบสนองด้วยสาร A B C หรือ X Y Z เราจะสามารถช่วงชิงประสบการณ์มหัศจรรย์ของคนที่รอดชีวิตเพื่อมา reverse engineer ดูว่ามันเกิดจากอะไร
...บริบทคนไทยบางอย่างไม่เหมือนคนตะวันตก คนตะวันตกกิน Mediterranean Diet เป็นอาหารสุขภาพ ถามว่าคนไทยจะไปกินสลัด กินน้ำมันมะกอก ใส่บัลซามิกตลอดไหม เราก็ปรับเปลี่ยนมากินส้มตำ แนมผักกาดขาว ถั่วฝักยาว พริก ก็แบบเดียวกัน ตำราต่างประเทศยืนยันว่าพวกนี้มีสารที่ทำให้เป็นอัลไซเมอร์น้อยลง หรือขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา ตำราก็บอกว่ามีฟลาโวนอยด์ ซึ่งทำให้สมองดี ช่วยหัวใจ ช่วยร่างกาย นี่คือสิ่งที่คนไทยทำมานาน แต่เราละเลยไปกินโดนัท พิซซ่า ซึ่งเป็นอาหารร้อนแรงที่ทำให้เกิดอาการอักเสบ ในขณะที่ผัดกะเพรา ต้มโคล้ง คือของดีทั้งนั้น เราสง่างามมานานโดยที่ไม่รู้ตัว แล้วก็ไปผลักไสสิ่งเหล่านี้ จนวิทยาศาสตร์ก้าวหน้า เข้าใจมากขึ้นถึงได้กลับเข้ามาอีก แต่ก็ยังไม่มากพอ เพราะเรายังติดตะวันตกมากเกินไป
...เราเริ่มฉุกคิดว่าความรู้สมัยโบราณ จริงๆ แล้วเป็นวิทยาศาสตร์ เหมือนอย่างเรื่องอดอาหาร Intermittent Fasting (IF) ปลายปีที่แล้ววิทยาศาสตร์เพิ่งมีรายงานออกมาเป๊ะ ตรงตามหลักปฏิบัติของพระในพุทธศาสนา เราจึงผสมผสานกลมกลืนได้ว่า วิถีไทยพุทธสอดคล้องกับสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ แล้วสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่าไม่ดี เพียงแต่ว่าความรู้เราอาจยังโง่เกินไปที่จะอธิบายเรื่องพวกนี้ในวันนี้ สมัยที่เราเริ่มใช้กัญชาทางการแพทย์ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เราก็ลงไปหาความรู้ในหมู่บ้าน มีผู้เฒ่าผู้แก่ มีพระครู เราก็ยกมือกราบไหว้ท่าน ถือว่าเป็นครูเรา”
ก่อร่างสร้างตัว
น่าสะทกสะท้อนใจว่าลักษณะหนึ่งของปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ว่าในเรื่องใดก็คือ ความรู้ความเข้าใจไม่ใช่สิ่งเดียวที่ขาดหาย มากเท่ากับระบบของ ‘แรงจูงใจ’ ที่วางอยู่ผิดที่ผิดทางจนผลักดันความเห็นแก่ตัวส่วนบุคคลให้เป็นไปในทางที่เสียหายต่อส่วนรวม กระนั้น บ่อยครั้งหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมอย่างครอบครัว อาจมีบทบาทต่อการบ่มเพาะคุณค่าความดีงามบางประการที่ยังอาจเติบโตได้แม้ภายใต้แรงกดดันของสังคม
“ก่อนมาเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข พ่อเป็นข้าราชการในระดับกลาง ไต่เต้าขึ้นมา แม่ก็เป็นพยาบาล ปลูกบ้านอยู่สุขุมวิท ซอย 2 ตอนนี้เป็นเวิ้งเศรษฐี แต่เมื่อสมัย 60 ปีที่แล้วเป็นทุ่งนา มีวัวควาย มีขโมยขโจร เราเป็นชาวบ้านแต่โชคดีที่มีการศึกษาที่ดี ได้ไปเรียนที่เซนต์คาเบรียล พ่อมีคลินิกอยู่ในบ้าน เห็นพ่อวัดความดัน วัดปรอท พออายุสัก 3-4 ขวบ เราก็เริ่มหัดวัดความดัน หัดใช้หูฟัง คิดไม่ออกว่าเคยอยากจะเป็นอะไรอย่างอื่น เพราะเห็นแต่สิ่งนี้มาตั้งแต่เด็ก เวลาคนไข้มาที่บ้านก็กดกระดิ่ง ตีสองตีสามก็มาให้ตรวจ เราก็ได้เห็นตัวอย่างที่ดี พ่อรักษาแล้วบางทีก็ไม่คิดเงิน แม่ยังบอกว่า ถ้าไม่คิดเงิน มันก็ไม่มีอะไรเข้าบ้าน ถ้าพ่อไม่คิด แม่คิดเอง ตอนหลังพอพ่อโคม่าไป ก็ลำบากยากเข็ญ
...มีครั้งหนึ่ง ตอนนั้นพ่อเป็นเลขาธิการ อย. มีสิทธิเซ็นอนุมัติยา อยู่ๆ ก็มีเงินใส่ลังส่งมาที่บ้าน พ่อเปิดลังเห็นปึกแบงก์ร้อยก็เรียกคนส่งมา บอกว่าจะไปแจ้งตำรวจข้อหาติดสินบน ตอนพ่อโคม่าเรายังพูดกันว่าตอนนั้นน่าจะหยิบเอาไว้สัก 2-3 ลัง เพราะการดูแลพ่อลำบากยากเข็ญพอสมควร แต่แม่บอกว่าถึงไม่ได้ร่ำรวย เราก็ยังมีกิน ดีกว่าคนอื่นอีกเยอะ การมีพ่อเป็นหมอ มีแม่เป็นพยาบาล จึงดีที่เราไม่ได้เห็นแต่คนที่มีความสุข เราเห็นคนที่อยู่ในสภาพเจ็บป่วย ทำให้เรารับทราบถึงความทุกข์ ทุกคนก็คงมีความทะเยอทะยาน มีด้านดำด้านขาว แต่ด้านขาวคงฉุดไว้ ไม่อย่างนั้นบ้านเราคงใหญ่โตมโหฬาร มันก็พิสูจน์แล้ว เพราะเรายังอยู่บ้านเท่าเดิม
...ตอนไปหาพ่อตาแม่ยายตอนจะแต่งงาน แม่ยายยังถามว่าเรามีอะไรไปขอลูกสาวเขา เราก็ตอบว่า ผมไม่มีอะไรครับ---มีแต่สมอง เดี๋ยวผมก็จะเจริญเติบโต เลี้ยงลูกสาวท่านได้ ไม่รู้ตอบไปได้ไง แต่มันไม่มีอะไรจริงๆ ตอนนั้นเพิ่งจบการเป็นแพทย์อินเทิร์น พ่อไม่สบาย เราอยู่เวรก็ไปกินข้าวถาดหลุมที่โรงอาหาร เพราะไม่มีอะไรจะกิน มีเท่านั้น พอแต่งงานกัน เราก็ทำงานตรวจคนไข้ไป แต่พอดีพ่อตาคือศาสตราจารย์ นายแพทย์ อุดม โปษะกฤษณะ ท่านเป็นนักวิชาการ เป็นหมอผ่าตัดสมองคนแรกของประเทศไทย ตั้งราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ตั้งศูนย์การแพทย์ทางระบบประสาทของประเทศไทย เป็นอธิการบดีของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ท่านก็ถามว่าเขียนรายงานตีพิมพ์บ้างหรือยัง เราเลยได้เขียนรายงานอันแรกสุด รู้สึกว่าไม่ได้เรื่องเลย ก็เริ่มทำเริ่มแก้กันมาจากจุดนั้น”
รู้สึกล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จเลย แน่นอนในฐานะหมอ มันก็มีเรื่องให้เราชื่นใจ เช่น เห็นคนที่ 2-3 เดือนที่แล้วเคยนั่งรถเข็นมา ตอนนี้เดินได้แล้วหิ้วมะม่วงมา หมอทุกคนก็คงมีความชื่นใจแบบนั้น แต่เราอยากเห็นคนไทยทั้งประเทศดีหมด เราไม่อยากเห็นคนนอนกับพื้น เราไม่อยากเห็นคนลงมาจากรถแล้วมายืนต่อแถวรอพบหมอ
กล่าวได้ว่า จุดนั้นอาจเป็นจุดที่หมอผู้ออกตรวจรักษาคนไข้เป็นหลักอย่างหมอธีระวัฒน์ ได้ก้าวเข้าสู่โลกของวิชาการ และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกที่ปรากฎงานเขียนในวารสารและตำราทางการแพทย์ในเรื่องโรคสมอง และโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า จนแม้ปัจจุบันก็ยังดำรงตำแหน่ง WHO Expert Advisory Panel on Rabies (ผู้เชี่ยวชาญโรคพิษสุนัขบ้าองค์การอนามัยโลก)
“ตอนที่ไปต่อเมืองนอกก็คือได้ทุน National Institute of Health (NIH) ของอเมริกา พอดีตอนนั้นโปรเฟสเซอร์ที่ จอนส์ ฮอปกินส์ ท่านมาทำโปรเจกต์ที่เมืองไทย มาดูคนไข้ที่หน่วยสมอง ตอนนั้นเราเป็น young staff ก็พาท่านไปดูคนไข้ หาเคสยากๆ มา ตอนนั้นภาษาอังกฤษก็ไม่ได้แตกฉาน แต่ก็ต้องคอยตอบว่าคนนั้นคนนี้เป็นโรคอะไร ท่านให้ discuss แต่พอวันรุ่งขึ้นไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด เปิดตำรามา อ้าว---ที่ปกเป็นรูปโปรเฟสเซอร์คนเมื่อวานนี่---ฉิบหายแล้ว จนต่อมาท่านอาจารย์ประพันธ์ ภานุภาคก็พาไปรู้จักตัว แล้วท่านก็แนะนำว่าให้ขอทุน NIH ในที่สุดก็เลยได้ไปอยู่ที่จอนส์ ฮอปกินส์
...การมาทำเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า หรือ rabies จริงๆ มาจากความรักสัตว์ แต่ไม่มีกำลังพอจะเลี้ยงได้ เราก็เลยศึกษากลไกการเสียชีวิตของโรคนี้และตีพิมพ์ในวารสารทั่วโลก อีกส่วนก็คือเป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก คนไม่ค่อยรู้ว่าโรคพิษสุนัขบ้าเปรียบเหมือนกับโรคสมองอักเสบที่ร้ายแรงที่สุด เพราะเป็นแล้วตายทั้งหมด แต่คนที่ทำเรื่องนี้ในขั้นลึกจะรู้ว่ากลไกการตายของสมองเพราะโรคพิษสุนัขบ้าเป็นกลไกเดียวกับอัลไซเมอร์ มันคือเรื่องของเซลล์สมองตายด้วยกลไกที่ขาดพลังงาน เพียงแต่โรคหมาบ้าตายเร็วกว่าเท่านั้น เราจึงศึกษากลไกของโรคและวิธีรักษา เพราะถ้ารักษาโรคนี้ได้ ก็รักษาโรคอื่นได้ไปด้วย เหมือนตอนนี้บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม (สตาร์ทอัพของจุฬาฯ) ทำยาที่ผลิตจากใบพืช ราคาถูก ผลิตได้เร็ว แต่เราอยากให้ได้ยาครอบจักรวาล ดังนั้น เราก็ใช้โรคไวรัสพิษสุนัขบ้าเป็นโมเดล เพราะถ้ารักษาอันนี้ได้ อย่างอื่นน่าจะไหว”
อย่างไรก็ตาม ความเกิด-แก่-เจ็บ-ตายที่ประชุมกันอยู่ในเนื้องานของแพทย์โดยธรรมชาติ ทำให้หมอธีระวัฒน์เห็นข้อจำกัดของวิชาความรู้หรือแม้กระทั่งทรัพย์สินเงินทองต่อหน้าสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’
“หมอต้องทำความเข้าใจกับครอบครัวให้เห็นว่าถ้ารักษาคนไข้เลยไปถึงจุดที่เป็นเจ้าชายนิทรา อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ หรือเป็นอัมพาต อัมพฤกษ์ ครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้เท่าไหร่ เพราะทุกคนอยากให้คนในครอบครัวกลับมา แต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบหลังจากนั้น ตอนเราเป็นนักเรียนแพทย์ยังไม่ได้ขึ้นดูคนไข้ พ่อเส้นเลือดแตกในสมอง เนื่องจากพ่อเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์หมอตอนนั้นก็อยากช่วยทำทุกอย่างเผื่อว่าจะมีปาฏิหาริย์ แต่หลังจากรักษา 2 เดือนไปแล้ว มันเหลือแม่กับลูก 2 คน พ่อก็โคม่า หลับตาลืมตาแต่ไม่สามารถสื่อสาร ต้องพลิกตัวทุก 3 ชั่วโมง มีเตียงลม เตียงน้ำ อยู่ที่ศิริราชอยู่เป็นปี จนอาจารย์หมอที่นั่นบอกว่าต้องออกมาอยู่บ้าน แม่เป็นคนดูแล ผมเองก็นอนกับพื้นดูหนังสือ ถึงเวลาก็มาพลิกตัวพ่อ และมีจ้างคนจากศูนย์มาช่วย ก่อนที่ท่านจะเสียเมื่ออีก 9 ปี ต่อมา ซึ่งค่าใช้จ่ายก็มหาศาล
...พอพ่อเสียก็มาแม่ แม่เป็นคนสมัยโบราณ พอเลิกกินหวานก็สูบบุหรี่จนเป็นถุงลมโป่งพอง ถึงจุดหนึ่งก็หายใจไม่ได้ ต้องเข้า ICU เจาะคอใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่านมาได้ครั้งหนึ่ง ได้ถอดท่อออก ตอนนั้นครอบครัวก็เริ่มคุยกัน แม่ก็ย้ำว่าไม่อยากทรมาน ไม่อยากใส่ท่อช่วยหายใจเหมือนพ่อที่ตัวเองดูแลมา แต่ถึงเวลาเมื่อหายใจไม่ได้ ใส่หน้ากากออกซิเจนครอบไม่พอ ถึงจะเคยคุยกันแล้ว แต่แม่ทรมาน พูดออกมาคำเดียวว่า ‘แม่อยากอยู่’ คำเดียวเลยทุกอย่างที่เคยคุยกันไม่มีความหมาย อยากอยู่ก็คือใส่ท่อแล้วเจาะคอ ซึ่งท่านก็อยู่มาอีกหลายปี แต่ตลอดเวลานั้นการใส่ท่อช่วยหายใจ หมายถึงการมีโอกาสติดเชื้อในโรงพยาบาล และการติดเชื้อไม่สามารถเบิกได้ด้วยสิทธิราชการ มันก็ลำบากยากเข็ญ
...ดังนั้น เวลาเราดูคนไข้ เราไม่ได้เห็นคนไข้อย่างเดียว เราเห็นครอบครัวเขาด้วย เราต้องมี empathy อาจไม่ถึงขั้นต้องมี sympathy เอาเงินเอาทองไปให้คนอื่นทั้งหมด แต่อย่างน้อยมีความเห็นอกเห็นใจ เราอาจจะอยากร่ำรวยสัก 10 ล้าน 100 ล้าน แต่ถามว่าแล้วคนที่เราเห็นอยู่ตรงหน้าใน ICU นั่นก็มีเป็นพันล้านใช่ไหม แต่ครอบครัวเขาก็ยังเจ็บปวด เป็นคนที่รวยที่สุดแต่ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้ ถ้ามียาเข็มละ 10 ล้าน เขาก็เอา แต่ถามว่าทำได้ไหม---ทำไม่ได้ ดังนั้น อย่าปล่อยให้สิ่งที่เรากอบโกยขึ้นมา สุดท้ายแล้วมีไว้แค่ให้ลูกหลานแย่งกัน
...ส่วนตัวก็มีประสบการณ์เฉียดตาย เคยผ่าตัดแล้วบล็อกหลัง แต่เราแพ้มอร์ฟีน พี่หมอที่ให้ดมยาก็บอกว่าน้องไม่เป็นไร เดี๋ยวให้ยาแก้ปวด แล้วก็ฉีดยาแก้ปวดให้ ซึ่งเราก็ไม่เคยแพ้มาก่อน แต่พอฉีดเข้าไปแล้วเวียนหัวมากต้องบอกพี่เขา ยังพูดไม่จบเลย ความดันก็ตก ช่วงนั้นทรมานมากเหมือนทุกอย่างดำมืดไปหมด แล้วก็เริ่มเห็นภาพ ตั้งแต่สมัยเด็กที่เอาไฟไปจุดเผารังมดแดง เล่นเด็ดหางแมลงปอ แล้วก็มีเรื่องดีสลับเข้ามา คือตอนสัก ป.2 ป.3 มีเงินไปโรงเรียน 5 บาท 10 บาท แต่แถวหน้าโรงเรียนมีคุณยายขายขนมเทียน เราก็พยายามช่วย ไม่ได้ซื้อแต่เอาเงินให้เขา ทำอยู่ตลอดจนคุณยายหายไป หรือเห็นภาพสมัยเป็นแพทย์ฝึกหัด มีผู้หญิงที่ไปทำแท้งผิดกฎหมายมาเลยติดเชื้อจนมีภาวะช็อก เรากับพี่ที่เป็นแพทย์ประจำบ้านช่วยเขาไม่ได้ ก็ยืนร้องไห้อยู่ มันมีภาพเหตุการณ์อย่างนี้สลับไปสลับมา
...จนในที่สุดจะว่าเรามีความดีมากกว่าความไม่ดีหรือเปล่า อยู่ๆ เหมือนกับมีลมเย็นสบาย ที่เวียนหัวก็หาย เห็นมีจุดสว่าง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าพร้อมที่จะไปแล้ว รู้สึกสบายใจ แต่เสร็จแล้วก็ฟื้น ช่วงเวลานั้นคงเป็นช่วงเป็นตาย ถ้าเราร่ำรวยด้วยการคดโกง ด้วยการทำให้คนอื่นทรมานทุกข์ยาก อาจจะมีหมูหมากาไก่ อาจจะมีคนที่ครอบครัวเขาประสบเคราะห์กรรมมายืนล้อมไหม ตรงนั้นเองก็ช่วยบอกเราว่า ถ้าจะตายเมื่อไหร่ เราคงตายได้โดยไม่ติดค้าง”
ความล้มเหลว
กระนั้น ไม่น่าเชื่อว่าแม้ด้วยความรู้สึกไม่ติดค้างเช่นนั้น หรือด้วยความรู้ ความตั้งใจอันดี ตลอดจนผลงานที่ได้ทำออกมาเป็นที่ประจักษ์ทั้งในรูปของงานวิจัยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางการแพทย์ หรือการมีส่วนร่วมวางนโยบายสาธารณสุข ที่จะเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก หากให้ประเมิน หมอธีระวัฒน์ ยังมองชีวิตตัวเองเป็น ‘ความล้มเหลว’ แต่เมื่อได้ฟังโดยละเอียด เราพบว่าความล้มเหลวนี้ อาจเป็นความรับผิดชอบของทุกคนเช่นกัน
“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เราพัฒนาการตรวจโรคสมองเสื่อมได้สำเร็จจากการเจาะเลือด คนอายุ 45 ขึ้นไปที่มาตรวจ ถึงแม้เขาจะยังปกติ 100% ไม่แสดงอาการเลย เราก็ตรวจได้แล้วว่าสมองเริ่มเสื่อมแล้วหรือยัง ซึ่งพอเรารู้ปุ๊บ ก็จะสามารถปรับแต่งพฤติกรรมการกินอาหาร หรืออะไรต่างๆ ได้ แต่ตอนนี้ยังตายตาไม่หลับ เพราะราคาค่าตรวจยังเป็นหมื่น ตรวจได้แต่คนรวย คนที่มีฐานะ เราจะตายตาหลับได้ก็คือเมื่อราคามันเหลือสัก 500 บาท ตรวจคนไทยทุกคนได้ ตาสีตาสาก็มีสิทธิ
...ดังนั้น คิดว่าล้มเหลวในเรื่องที่เราไม่สามารถช่วยคนทั้งหมดอย่างที่พูดได้ คือเราอาจจะหวังมากไป เราเป็นหมอ ก็ต้องรักษาหนึ่งต่อหนึ่ง แต่เราอยากได้คนทั้งหมด เราอยากให้ทุกคนแข็งแรง เช่น ที่ไม่สามารถแก้เรื่องสารเคมียาฆ่าแมลงอะไรต่างๆ ได้ก็รู้สึกล้มเหลว ทุกคนที่สู้ด้วยกันก็รู้สึกล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จเลย แน่นอนในฐานะหมอ มันก็มีเรื่องให้เราชื่นใจ เช่น เห็นคนที่ 2-3 เดือนที่แล้วเคยนั่งรถเข็นมา ตอนนี้เดินได้แล้วหิ้วมะม่วงมา หมอทุกคนก็คงมีความชื่นใจแบบนั้น แต่เราอยากเห็นคนไทยทั้งประเทศดีหมด เราไม่อยากเห็นคนนอนกับพื้น เราไม่อยากเห็นคนลงมาจากรถแล้วมายืนต่อแถวรอพบหมอ
…ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ เราไม่อยากเห็นคนไทยเอาเปรียบกันด้วย กินข้าวมื้อละสามหมื่น ทิปทีละห้าร้อย แต่พอมาซื้อของข้างถนนต่อราคาดุเดือด ตรงนี้ก็เป็นความเจ็บ เคยขึ้นรถแท็กซี่ขับผ่านถนนอังรีดูนังต์ คนขับก็ชี้ร้านข้าวขาหมูแล้วบอกว่าร้านนี้ดี ประหยัดกว่าร้านอื่น 5 บาท แสดงว่าเงิน 5 บาทมันสำคัญกับเขาขนาดนั้น ดังนั้น ค่ารถ 30 บาท 50 บาท ทำไมเราให้เขาไม่ได้ ถ้าเรารู้สึกว่าคนอื่นเขาต้องการมากกว่าเรา เรากินเบียร์ขวดหนึ่งร้อยกว่าบาทเข้าไปแล้ว เมื่อ 30 ปีที่แล้วที่จอนส์ ฮอปกินส์ ให้คนล้างเครื่องแก้วห้องทดลองได้เงินเดือนเกือบเท่านักวิทยาศาสตร์ เพราะเขาหาคนล้างเครื่องแก้วที่มีสารเคมีไม่ได้ มันอันตราย ดังนั้นต้องจ่ายให้เขา เวลามีปาร์ตี้อะไรอย่างนี้ก็เชิญเขาไปร่วมเหมือนเป็นคนในแล็บ คือเขาให้เกียรติ เห็นคุณค่า
...เชื่อว่าถ้าคนไทยมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน คนไทยจะเป็นคนที่แฮปปี้ที่สุดในโลกเลย เกษตรกรไทยไม่ถูกคนกลางเอารัดเอาเปรียบได้ไหม เขาคือกระดูกสันหลังของชาติ แล้วทำไมเขาจนที่สุด เป็นหนี้เยอะที่สุด หรือแม้แต่คนกวาดถนน คนเก็บขยะ งานเขาอันตรายที่สุดแต่ได้เงินเดือนเท่านี้ มันคุ้มค่าไหม ทำไมเราไม่นึกว่าถ้าใส่หน้ากากอันเดียว ถุงมืออันเดียว กับรองเท้าบูท เราทนได้ไหม ดังนั้น วันนี้ไม่ได้คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จ ยอมรับว่าทุกวันนี้ซึมเศร้า มันไม่สำเร็จสักอย่าง เรื่องค่าตรวจสมองเสื่อมก็ยังแพงอยู่ ถ้าไปนั่งคุยกับคนซึมเศร้า สงสัยกอดคอกันฆ่าตัวตาย”
ภูมิสังคม
แม้ภารกิจที่หมอธีระวัฒน์ตั้งไว้นั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้เสร็จในระดับสังคม แต่อย่างน้อยในเรื่องสุขภาพ การริเริ่มในระดับบุคคลกลับง่ายเพียงแค่การหันมาศึกษาและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเอง อย่างที่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “เรามองว่าการเข้าถึงการศึกษาคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้คนลุกขึ้นต่อสู้และปกป้องตัวเอง นั่นจึงจะถือว่าเป็นประเทศไทย 4.0 จริงๆ ไม่ใช่เพราะมีเทคโนโลยีที่คนเข้าถึงได้เพียงหยิบมือ”
“ร่างกายมนุษย์มีระบบที่สู้กับเชื้อโรคได้อย่างเฉียบพลัน มีรายงานตั้งแต่ปี 2017-2018 แล้ว ว่าเรามีระบบในการต้านการอักเสบโดยอัตโนมัติ (Pro-Resolving Mediator) ขณะนี้เราใช้ยาต้านการอักเสบอย่างสเตียรอยด์ แต่มันกดภูมิคุ้มกัน แต่ระบบนี้ต้านการอักเสบ โดยไม่กดภูมิคุ้มกัน นี่คือตัวอธิบายว่าทำไมบางคนเป็นโควิดแล้วตายหรือไม่ตาย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือโรคประจำตัวอย่างเดียว โจทย์การแพทย์ในวันนี้จึงเป็นว่าเราจะเสริมสร้างความวิเศษในตัวมนุษย์นี้ได้อย่างไร ตรงนี้เองเป็นจุดเปลี่ยน เราไม่ต้องการวัคซีน เพราะมันมีผลกระทบ สำหรับคนไทยเราก็ให้เสริมสร้างโดยพยายามกินส้มตำ กินปลา กินกุ้ง หอย ปู ปลา พวกเนื้อสัตว์อื่นๆ ก็ควรลด-ละ-เลิก เนื้อไก่นี่กินได้สักหยิบมือหนึ่ง ส่วนหมู วัว แพะ ควรเลิก กินแป้งน้อยลง ออกกำลังสม่ำเสมอ เอาแค่ให้เดินวันละหมื่นก้าวแล้วก็ตากแดด เพราะพิสูจน์ได้ว่าช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน
...ผมเป็นคนอยากรู้อยากเห็น แล้วรู้สึกฮึกเหิมเวลามีความรู้วิชาการ อยากจะเอาไปถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ต่อ มีหมอดูสมัยเด็กๆ เคยดูไว้ เขาบอกว่าผมมี ‘ดวงเศรษฐี’ ตอนนั้นก็คิดว่าสบายแล้วกู แต่ปรากฏว่าดวงเศรษฐีนี่ไม่ได้แปลว่ารวย แค่อยากจะให้คนอื่น หมอดูบอกว่าร่ำรวยความรู้ แล้วชอบแบ่งปัน ไม่ใช่ร่ำรวยเงินทอง ผมก็ยังถามเขาว่า แล้วมันจะดีเหรอ เขาบอกว่าก็ได้ความสุข แต่ถ้าคนเขาไม่เชื่อหรือไม่ได้ทำตาม อย่าเสียใจ ให้คิดว่านี่คือการแบ่งปันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องคิดว่าให้แล้วต้องมีของตอบแทน
...ดังนั้น อยากให้คนไทยทั้งหมดเป็นแบบนี้ ถ้าคนไทยทำได้อย่างที่บอก รักษาสุขภาพมาตั้งแต่วัยรุ่น ถึงประเทศเราไม่ร่ำรวยขนาดคนอื่น แต่ทุกคนหน้าใส สุขภาพดี ไม่ต้องมีรถไฟฟ้า ไม่ต้องมีกัญชาสูบทุกหัวระแหง แค่นี้จะเป็นความสุขยิ่งใหญ่ที่สุดเลย และอยากให้ทุกคนเป็นเศรษฐีด้วย ไม่ใช่เรื่องเงินทอง อาจมีเงินพอกินพอใช้ สุรุ่ยสุร่ายได้ในระดับหนึ่ง แต่ตัวเองและครอบครัวมีความสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ขอแค่นี้ผมจะได้ยิ้มแก้มฉีก”
เมื่อได้ฟังโดยตลอดแล้ว สำหรับความหนักหนาของวิถีชีวิตยุคปัจจุบันนี้ ดูเหมือนสังคมจะไม่อาจพึ่งพาเพียงหมอดื้ออย่างหมอธีระวัฒน์ผู้เดียว แต่แม้คนไข้ก็ต้องรู้จัก ‘ดื้อ’ เพื่อฝืนพฤติกรรมความเคยชินเก่าๆ หรือเพื่อมองทะลุความไม่ควรมีไม่ควรเป็นที่เกิดขึ้นในสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติ ไปสู่สิ่งที่จะตอบโจทย์ได้ยั่งยืนกว่า
วันไหนคนไข้ดื้อจนดูแลตนเองได้แข็งแรง ไม่ยอมเจ็บยอมป่วย
หมอธีระวัฒน์ก็คงไม่ต้อง ‘ดื้อ’ ให้เหนื่อยมากนักอีกต่อไป ■