HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ECONOMIC REVIEW


ชะลอวัย ย้อนเวลา ทำได้แล้ว และกำลังทำต่อไป (2)

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร


30 พฤศจิกายน 2566

ครั้งที่แล้วผมเล่าถึงการทดลองกับหนูทดลองที่ประสบความสำเร็จแล้วในการหมุนเวลากลับในเซลล์ ทำให้หนุ่ม-สาวยิ่งขึ้น ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นและอายุยืนมากขึ้น ในมนุษย์นั้นก็สามารถหมุนเวลากลับได้แล้วในเซลล์ผิวหนังของมนุษย์ในห้องทดลอง ครั้งนี้ผมจะขอเขียนถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าจะทำให้มนุษย์อายุยืนและแข็งแรงได้นับ 100 ปี ดร.เดวิด ซินแคลร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอวัย (anti-aging) เชื่อว่ามนุษย์ที่จะมีอายุยืน 150 ปีได้เกิดขึ้นมาบนโลกนี้แล้ว

ตอนที่ 2: การแก่ตัวของมนุษย์

การแก่ตัวของมนุษย์นั้นได้มีการวิเคราะห์เมื่อ 10 ปีที่แล้วว่าเกิดจากปรากฏการณ์ 9 ประการ (9 Hallmarks of Aging) โดยมีต้นเหตุพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์แก่ตัว 4 ประการ (Primary Hallmarks of Aging) ส่วนที่เหลือที่จะขอกล่าวถึง โดยสรุปคือ 3 ประการที่ความเสียหายเกิดขึ้นเพราะต้องพยายามตามแก้ไขความเสียหายหลักข้างต้น (เรียกว่า antagonistic hallmarks หรือ response to damage) และส่วนสุดท้ายอีก 2 ประการคือ การชำรุดของกลไกของร่างกายที่เกิดจากความเสียหายทั้ง 7 ประการข้างต้น เช่น ในที่สุดสเต็มเซลล์ของร่างกายก็จะถูกใช้ไปจนหมด (stem cell exhaustion) เพราะเกิดมีความเสียหายอย่างท่วมท้นในหลายๆ ส่วนของร่างกาย

4 ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์แก่ตัวคือ

1. Genomic Instability: คือความเสียหายที่เกิดขึ้นในดีเอ็นเอ จนกระทั่งเกิดความไร้เสถียรภาพของจีโนม เช่น ความชำรุดในดีเอ็นเอที่ทำให้เป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น

2. Telomere Attrition: โครโมโซมในเซลล์นั้น เมื่อแบ่งตัว หางเทโลเมียร์ที่ครอบอยู่ที่ปลายของโครโมโซมจะถูกเฉือนออกให้สั้นลงทุกครั้ง จนในที่สุดเมื่อหางเทโลเมียร์ไม่มีเหลือ เซลล์ก็ต้องตายไป คนที่อายุมาก หางเทโลเมียร์ก็จะสั้นมาก ดังนั้นจึงได้มีความพยายามจะทำให้หางเทโลเมียร์ยาวขึ้น (ทำได้โดยการออกกำลังกาย) แต่ก็ต้องระวังเพราะการต่อหางเทโลเมียร์ในเซลล์ที่ควรจะตายไป จะทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

ดร.เดวิด ซินแคลร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอวัย (anti-aging) เชื่อว่า มนุษย์ที่จะมีอายุยืน 150 ปีได้เกิดขึ้นมาบนโลกนี้แล้ว

3. Epigenetic Alteration: เมื่อเวลาผ่านไปการทำงานของยีนส์จะผิดเพี้ยนไปได้ เพราะโครโมโซม ‘เป็นแผล’ (methylation) หรือ chromatin คลายตัว ผลคือการทำงานที่ผิดเพี้ยนผิดพลาดของยีนส์ ดร.เดวิด ซินแคลร์ และนักวิจัยกลุ่มนี้มีความเห็นว่า ปัจจัยนี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการแก่ตัวและทำให้เกิดโรคภัยต่างๆ ขึ้น

4. Loss of Proteostasis: คือการที่เซลล์ผลิตโปรตีนที่ผิดพลาดไม่ตรงกับมาตรฐานที่ร่างกายต้องการ (misfolded proteins) จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถนำ ‘ขยะ’ ดังกล่าวไปแปรรูปให้ใช้ได้อีก การมีโปรตีนที่ชำรุดคั่งค้างเป็นจำนวนมาก จะทำให้การทำงานทั่วไปของเซลล์ชะงักงันลง และนักวิจัยเชื่อว่าปัญหา proteins-misfolding นี้นำไปสู่โรคต่างๆ เป็นต้น

ได้มีการค้นพบว่า แนวทางที่จะชะลอหรือหยุดการแก่ตัว (anti-aging pathways) นั้น มีอย่างน้อย 3 แนวทางที่บางส่วนจะมีการทับซ้อนกัน (หรือที่เรียกว่ามี synergy ระหว่างกัน) คือ

1. AMPK: ได้แก่ ระบบควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย (regulation of metabolism) AMPK จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีปริมาณอาหารจำกัด ซึ่งจะช่วยชะลอการแก่ตัวของร่างกาย

2. mTOR: เกี่ยวข้องกับการได้รับอาหารโดยเฉพาะโปรตีนเพื่อนำมาสร้างความเติบโตให้กับร่างกาย แต่หาก mTOR มีปริมาณมากเกินไป ก็จะทำให้แก่ตัวเร็วขึ้น (โตเร็วก็แก่เร็ว) ในทำนองเดียวกันระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไปจะทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แก่ตัวเร็ว (inflammaging)

3. Sirtuins: เป็นกลไกที่ดูแลซ่อมแซมเซลล์ เป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูเซลล์และชะลอการแก่ตัวโดย Sirtuins จะถูกกระตุ้นจากการอดอาหาร (caloric restriction หรือ CR)

การออกกำลังกายให้เพียงพอทุกวัน จะต้องเป็นปัจจัยพื้นฐานในการรักษาสุขภาพให้ดีตลอดไป เพราะการออกกำลังกายเป็นเวลาต่อเนื่องประมาณ 30-40 นาทีทุกวันจะกระตุ้นการทำงานของเซอร์ทูอิน ช่วยทำให้หางเทโลเมียร์ยาวขึ้นและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งและประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

วิธีชะลอความแก่ตัวของร่างกาย

จากแนวทางข้างต้นการชะลอความแก่ตัวของร่างกายจึงน่าจะมีวิธีการดังนี้

1. การออกกำลังกายให้เพียงพอทุกวัน จะต้องเป็นปัจจัยพื้นฐานในการรักษาสุขภาพให้ดีตลอดไป เพราะการออกกำลังกาย (ทำให้หัวใจเต้นเร็ว 110-130 ครั้งต่อ 1 นาที) เป็นเวลาต่อเนื่องประมาณ 30-40 นาทีทุกวันจะกระตุ้นการทำงานของเซอร์ทูอิน ช่วยทำให้หางเทโลเมียร์ยาวขึ้นและลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งและประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย หากไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะยากยิ่งที่จะทำให้สุขภาพดีตลอดไป

2. การกินอาหารนั้น ผมจะไม่ขอกล่าวถึงมากแล้ว เพราะผมเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าอาหารอะไร ‘ดี’อาหารอะไร ‘ไม่ดี’ แต่มีข้อสังเกต 3 ประการคือ 1) คนไทยกินน้ำตาลวันละ 29 ช้อนชา โดยเฉลี่ยสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ 6 ช้อนชาต่อวันอย่างมาก 2) ควรจำกัดการกินอาหารให้รู้สึกหิวทุกวันตอนตื่นเช้า 3) ลดการกินเนื้อแดง แต่หันไปเพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารประเภทที่ละลายน้ำ (soluble fiber) มากขึ้นเพื่อเลี้ยงแบคทีเรียดีในกระเพาะอาหาร

3. อาหารเสริมมีมากมาย จึงต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อเลือกเฉพาะที่เป็นประโยชน์จริง ตรงนี้ผมเลือกกินเฉพาะส่วนที่พอมีข้อมูลว่าช่วยชะลอความแก่ โดยมีข้อมูลที่เป็นผลมาจากการทดลองมาสนับสนุนว่าเป็นประโยชน์อย่างไร เช่น มีข้อมูลว่าการกิน NMN และ NR จะกระตุ้นเซอร์ทูอิน การกิน spermidine จะกระตุ้น autophagy การกิน quercetin, curcumin และ fisetin จะกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว (senescent cells) เป็นต้น

ประเด็นต่างๆ ในรายละเอียด คงต้องมาพูดคุยกันยาวๆ ในโอกาสหน้าครับ

เนื่องจากบทความนี้มีเนื้อที่น้อย ดังนั้นจึงต้องสรุปข้อมูลอย่างรวบรัด แต่สำหรับลูกค้าของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่สนใจจะคุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ (และเรื่องเศรษฐกิจด้วยก็ได้) อย่างละเอียด ก็สามารถติดต่อที่ปรึกษาการลงทุนของท่านเพื่อมาพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันกับผม โดยเราจัดที่คีรีมายา เขาใหญ่ โครงการนี้ดำเนินเป็นปีที่ 2 แล้ว และปีนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ครับ