SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
I am a Demon
พิเชษฐ กลั่นชื่น ถอดหัวโขนเพื่อแสวงหาเนื้อแท้ของคำว่า ‘วัฒนธรรม’
เมื่อมองในแวบแรก การแสดงที่มีแต่ผู้ชายนุ่งกางเกงขาสั้นเกือบจะเป็นถกเขมรเพียงตัวเดียวแล้วรำท่าซ้ำๆ ภายใต้ไฟสลัวและเงามืด โดยไม่มีเนื้อเรื่อง ไม่มีคู่รำ กลับมีแต่การฉายภาพ
และเทปอัดเสียงของครูนาฏศิลป์ประกอบเป็นระยะ ย่อมทำให้
I am a Demon หรือผลงานโซโล่ของพิเชษฐ กลั่นชื่น เป็นการแสดงที่ห่างกันไกลกับคำว่า ‘โขน’ ที่คนรู้จัก
อย่างไรก็ตาม หากระงับความพะวงถึงเศียร พัสตราภรณ์ตลอดจนเสียงของมโหรีปี่พาทย์เพียงชั่วครู่ ก็จะพบว่ากล้ามเนื้อของพิเชษฐซึ่งบีบดัดตามท่ารำจนเครียดและคลายเป็นระลอกนั้น แม้ท่ามกลางความเงียบและไฟสลัว ก็ยังเหมือนกับจะมีท่วงทำนองและความนัยเป็นของตัวเอง ยิ่งเมื่อพิเชษฐรำถึง
‘แม่ท่ายักษ์’ อันเป็นกระบวนท่าสำหรับฝึกนักเรียนนาฏศิลป์
ฝ่ายยักษ์ เงาของเขาที่ถูกไฟสปอตไลท์ส่องไปทาบกับผนังพลัน
ดูยิ่งใหญ่ องอาจและเต็มไปด้วยบารมี จนทำให้คนดูไม่สงสัยอีก
ต่อไปว่าเขากำลังแสดงโขนในบทของท้าวราพณาสูรแห่งลงกา
หรือพูดให้ถูกก็คือแสดงศิลปะของ ‘ยักษ์’ ซึ่งพิเชษฐเห็นว่าเป็นสากลและทรงพลังพอจะสื่อสารผ่านกาลเวลาได้ แม้ในยามที่ชื่อของทศกัณฐ์และมโหรีของโขนอาจเริ่มเงียบเสียงไปจากสังคมแล้ว
ถอดเครื่องทรง
“ผมพยายามอธิบายตลอดเวลาว่า อะไรคือโขน อะไรคือแดนซ์ อะไรคือรามเกียรติ์ รามเกียรติ์คือตำนาน เรื่องเล่า ที่ถูกเขียนออกมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง แต่พอเราทำให้มันเป็นการแสดง เราเรียกมันว่าโขน แต่ถามว่าโขนเป็นแดนซ์ไหม เปล่า---โขนเป็น ‘dance theater’ คือเป็นการแสดงบนเวทีกับการเต้นรวมกัน
อ้าว---แล้วแดนซ์จริงๆ คืออะไร เสื้อผ้าเป็นแดนซ์ไหม ไม่ใช่ก็เอาออกไป ดนตรีเป็นไหม ไม่ใช่ก็เอาดนตรีออกไปอีก บทประพันธ์คือรามเกียรติ์ก็ไม่ใช่ ก็เอาบทประพันธ์ออกไปด้วย นี่คือการแยกแยะของเหล่านี้ ดนตรีหรือบทประพันธ์อาจอยู่ได้ด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว ไม่ต้องมีแดนซ์ก็ได้ แต่ถามว่าตัวแดนซ์เองอยู่ได้ไหมถ้าไม่มีดนตรีไม่มีบทประพันธ์ มีคนบอกว่าไม่ได้ แต่ผมว่าไม่จริง ตัวแดนซ์อยู่ได้ด้วยตัวเอง นั่นคือเหตุผลที่ผมถอดทุกอย่างออกไป เพื่อให้เห็นว่านี่คือเนื้อแท้เลยนะ นี่คือร่างกาย การเคลื่อนไหว เนื้อแท้ของโขน
…งานผมให้ความสำคัญกับการศึกษาแยกแยะ เพราะนี่คือจุดบอดของเรา เราไม่เคยรู้ว่าโครงสร้างของโขนเป็นยังไง ร่างกายเป็นยังไง วิธีการเคลื่อนไหวยังไง ผมจึงสร้าง I am Demon ออกมา เพื่อ deconstruct องค์ประกอบของโขนออกมาให้เห็นทั้งหมด แล้วผมก็ทำ ‘พระคเณศร์เสียงา’ 3 รูปแบบ แบบคลาสสิก แบบโมเดิร์น และก็แบบคอนเทมโพรารี เล่นทีเดียวติดต่อกัน 2 ชั่วโมงเพื่อที่คนจะได้เห็นว่า อ๋อ---คลาสสิกเป็นแบบนี้ โมเดิร์นเป็นแบบนี้ เห็นมันหลุดไปทีละส่วน งาน Pichet Klunchun and Myself ก็เหมือนกัน เป็นการพูดถึงโครงสร้างของโขนทั้งหมดว่ามีองค์ประกอบอะไร
ดูยังไง มีอะไรที่ซ่อนอยู่
…แต่การทำ I am a Demon ออกมาอันตราย เพราะเป็นงานที่ถอดสิ่งที่คนอื่นสร้างออกหมด ไม่ว่าเสื้อผ้า ดนตรี จิตรกรรม เหลือแต่ฉัน ร่างกายของฉัน การเคลื่อนไหวของฉัน เหมือนเป็นการประกาศอิสรภาพ อยู่ดีๆ มาประกาศอิสรภาพนี่โดนถล่มเละเลย
ทั้งจากศิลปกรรม จุฬาฯ กรมศิลปากร เพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน
ตอนนั้นผมเศร้ามากแต่ไม่ยอมแพ้ ยิ่งแรงกับผม ผมยิ่งแรงกลับ อ้าว---คุณให้วิชาผมมาแล้วไม่ใช่เหรอ ทำไมสาขาวิชาอื่น มอบวิชาให้แล้ว ลูกศิษย์เอาไปประกอบอาชีพได้ ทำไมสาขาวิชานี้ ผมเรียนมาแล้ว ผมจะเอามารื้อ เอามาทำเองไม่ได้ แล้วผมจะเรียนมาทำไม นี่คือความคิดประหลาดมาก สาขาวิชาอื่นทำได้หมด แต่นาฏศิลป์รื้อไม่ได้ พูดไปพูดมาบอก ‘เป็นของสูง’ จบเลย”
เริ่มจับมือ
การฟังอย่างนี้ประกอบการไล่ดูเรซูเม่ยาวเหยียดของพิเชษฐไม่ว่าจะเป็นการที่เขาได้รับทุน Asian Cultural Council ให้ไปเรียน Contemporary Dance ที่สหรัฐอเมริกา การร่วมงานกับยอดศิลปินโพสต์โมเดิร์น เฌอโรม เบล ในงานชื่อ Pichet Klunchun and Myself ตลอดจนการรับเครื่องอิสริยาภรณ์ Ordre des Arts et
des Lettres ของฝรั่งเศส และโกยรางวัลระดับสากลอย่าง European Cultural Foundation’s Princess Margriet Award
for Culture และ John D. Rockefeller Award มาครอบครอง อาจทำให้เป็นการง่ายที่จะสรุปว่าพิเชษฐมีความเห็นรุนแรงต่อระเบียบแบบแผนของไทยเพราะเขา ‘ถูกฝรั่งครอบ’ อย่างไรก็ตามภายใต้กิ่งก้านสาขาที่เป็นสากลนั้น พิเชษฐมีรากที่หยั่งลึกในความเป็นไทยมากกว่าที่หลายคนตระหนัก เพราะในขณะที่คนอื่นอาจเห็นวัฒนธรรมไทยอย่างเช่นโขนเป็นเพียงมรดกของชาติ แต่สำหรับพิเชษฐ สิ่งนี้ถือเป็นหลักยึดเหนี่ยวเดียวของชีวิตในวัยเด็ก
เดิมพิเชษฐเป็นคนฉะเชิงเทรา แต่เนื่องจากฐานะทางการเงินของที่บ้านไม่ดี พ่อกับแม่จึงส่งเขามาอยู่กับป้าที่กรุงเทพฯ
“ผมเชื่อมต่อกับทุกอย่างไม่ได้เลย การเข้ามากรุงเทพฯ หนึ่ง คือไม่มีการวางแผน สอง คือไม่รู้ตัว คุณป้าบอกจะเอาไปแล้วก็เอาไปเลย พ่อกับแม่ก็ยกให้มา ผมไม่กล้าทำอะไรเลยนอกจากขึ้นรถตอนเช้าไปโรงเรียน และ 4 โมงเย็นกลับบ้าน เพราะกลัวหลุดไปจากเส้นทาง” พิเชษฐเล่า ความรู้สึกแปลกแยกนี้ยังคงมีอยู่จวบจนเขาขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยทุกวันเขาจะพยายามเก็บตัวอยู่ที่โรงเรียนไม่ยอมกลับบ้านและได้รู้จักกับนาฏศิลป์ไทยเพียงเพราะห้องดนตรีไทยจะเป็นห้องสุดท้ายของโรงเรียนที่ภารโรงเดินมาปิด แต่ห้องนี้เองที่เป็นที่ๆ เขาได้พบกับ ครูชัยยศ คุ้มมณี ครูโขนอาวุโสของกรมศิลปากรซึ่งมีชื่อเสียงลำดับต้นๆ ของประเทศ ผู้จะต่อวิชาโขนให้กับเขาและเป็นผู้ที่เขาจะเรียกว่า ‘พ่อ’ ต่อมา
“วันแรกพ่อเอาผ้าโจงมาให้ พ่อก็ถามใส่เป็นไหม เราบอกไม่เป็น พ่อก็ใส่ให้ แล้วก็ให้ผมยืนเต้นเสา ถองสะเอวยาวไปเลย 3 ชั่วโมง ถึงตาย วันแรกขึ้นรถเมล์กลับบ้านแล้วเข่าอ่อนทรุดลงไปเลย แต่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมกลับไปเรียนอีก เพราะพ่อไม่สอนอะไรเลย ให้ผมเต้นเสา เอาเท้ากระทืบซีเมนต์อย่างเดียว พอสัก 3 เดือน ผมก็ตัดสินใจไม่เอาแล้ว เพราะไม่มีอะไรคืบหน้า อีกอย่างคือพ่อให้ดัดมือไปเรื่อยๆ จนกระดูกข้อหนึ่งมันปูดขึ้นมา ต้องผ่าเอาออกไป กลายเป็นเหมือนบันทึกแห่งความรักที่แลกมาด้วยกระดูก 1 ข้อ เจออย่างนี้ผมหนี 3 เดือน
ไม่ไปอีกเลย
…แต่สักพักก็กลับไปอีก ไม่รู้ทำไม เจอหน้าพ่อก็ไม่ดุ แต่บอกวันเสาร์หน้าให้มาหาพ่อใหม่ ให้ใส่ชุดขาวเอาดอกไม้ธูปเทียนมา แล้วพ่อก็พาผมไปหาครูของพ่อ คือครูเจริญ เวชเกษม จำได้เลยว่าเป็นบ้านไม้เก่าๆ มืดมาก ครูเจริญนั่งอยู่ แก่มาก แล้วพ่อก็บอก ‘พ่อ ผมพาลูกศิษย์มาฝาก มาให้พ่อจับมือสอนแม่ท่าที่ 1’ ครูเจริญก็จับมือ จับนิ้วลงวง
เช็คทุกอย่างแล้วครูหันไปบอกพ่อว่า ‘เฮ้ย---ยศ
กูว่าเนี่ย มันจะเป็นยักษ์ที่ดีในวันข้างหน้า’ ประโยคนี้อยู่ในหัวจำแม่นเลย เสร็จแล้วก็กลับมาบ้าน
นั่นแหละถึงจะเป็นวันที่พ่อเริ่มต่อท่าที่ 1 ให้
ที่ผ่านมาเป็นแค่การลองใจว่าผมจะเอาจริง
หรือเปล่าเท่านั้น
...กระทั่งทุกวันนี้เวลาผมจะสอน ก่อนที่จะจับตัวเด็กสอนในลำดับที่ 1 ผมก็ยังต้องขออนุญาตครูผม ไปสอนฝรั่งผมก็ทำแบบนี้ ผมจะบอกเลยว่า ‘เธอต้องเอาดอกไม้มาให้ฉัน แต่ดอกไม้นี้ไม่ใช่ของฉัน ฉันจะเอาไปขออนุญาตครูฉันอีกที เพื่อบอกครูฉันว่าฉันจะสอนเธอแล้ว’ และผมก็จะอธิบายให้ฝรั่งฟังว่าการกระทำอย่างนี้เป็นเหมือนกับการส่งต่อคำสัญญาว่าเธอจะดูแลรักษาสิ่งนี้ตลอดไป ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม เธอจะเป็นผู้ชมที่ดีก็ได้ ผู้กระทำที่ดีก็ได้ ผู้สนับสนุนที่ดีก็ได้ แต่เธอต้องสัญญาว่ารับไปแล้วเธอจะดูแลสิ่งนี้ให้ดี”
เราเชื่อในการอนุรักษ์ที่บอกว่าสิ่งๆ หนึ่ง
ต้องอยู่แบบเดิม แต่ไม่เชื่อในการอนุรักษ์ที่สิ่งๆ นั้นมันอยู่แล้วใช้ได้จริง เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงเราจะ
ไม่ยอมรับ เพราะเราเป็นประเทศขี้เกียจ เราไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลง จะทำให้เราโง่ลง
เนื้อแท้ของพิธี
เนื่องจากวัฒนธรรมโขนที่พิเชษฐแรกรู้จักเป็นสิ่งที่มากกว่าเศียร ภูษา หรือท่าเต้น หากเป็นเรื่องของสายใยแห่งความผูกพันที่ ‘ถึงกระดูก’ อย่างนี้ จึงไม่น่าแปลกที่เขาจะรู้สึกอึดอัดกับวัฒนธรรมในแบบที่เขาเห็นว่ากลวงเปล่าจาก
ความหมายที่แท้จริง
“สมัยก่อนมันยังไม่มีแบบแผนในการอนุรักษ์ศิลปะ เพราะฉะนั้นสิ่งเดียวที่คนสมัยก่อนมีคือความจริงใจที่จะทำให้ลูกศิษย์เกิดความรัก ความศรัทธาในตัวครูขึ้นมาอย่างแท้จริง เหมือนอย่างผมเรียนกับพ่ออยู่ 16 ปี ผมไม่ต้องจ่ายเงินเลย มีปัญหาอะไรวิ่งมาหาได้คำปรึกษาตลอด เพียงแต่สักพักหนึ่ง เด็กเรียนจบแล้วต้องกลับหมู่บ้าน ไม่ได้อยู่กับครูแล้ว จึงได้เริ่มมีการสร้างระบบความเชื่อในเรื่องครูที่เป็นเทวดา หรือผี เพื่อเป็นระบบไร้สายที่จะตามไปกำกับลูกศิษย์อีกชั้นหนึ่ง เอาพ่อแก่ไปวางไว้ที่บ้านเป็นตัวแทนของครู จะทำผิดอะไร หันหน้าไปเจอพ่อแก่จะได้ เอ้า---
พ่อแก่อยู่ตรงนี้นี่หว่า แต่ก่อนจะมาเป็นอย่างนี้มันเริ่มจากตัวเนื้อแท้มาก่อน
… เนื้อแท้ของสิ่งเหล่านี้ คือคำมั่นสัญญาว่าจะดูแลศิลปะไปชั่วชีวิต ในขณะที่คนบอกว่าผมก้าวร้าว ผมพยายามทำลายสิ่งที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีทั้งหมด แต่ถึงวันสงกรานต์ ผมก็จะเอาพ่อแก่มาสรงน้ำ มาเช็ดตลอด เพราะผมมีความสุขที่ได้สัมผัส
ได้กระทำ ผมทำเพราะผมยังรู้สึกเชื่อมกับสิ่งเหล่านี้อยู่ เหมือนคนอีสานที่ยังอยากพูดอีสาน เหมือนคนใต้ที่ยังอยากกินเผ็ดหรือพูดใต้ ผมทำสิ่งเหล่านี้โดยที่ไม่ได้บอกใคร แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว มันกลายเป็นการโชว์ขลังว่า กูพิเศษกว่ามึง
กูมีเทพ กูมีเทวดา พวกมึงคนปกติ กูคนเรียนนาฏศิลป์ กูมีครู โดยที่ไม่รู้ว่าเนื้อแท้ของมันคืออะไร” ที่สำคัญคือพิเชษฐเห็นว่าการเข้าไม่ถึงเนื้อแท้นี้ ไม่ได้เกิดจากการครุ่นคิดไม่ลึกซึ้งเพียงพอ
แต่เป็นการปฏิเสธที่จะคิดตั้งแต่ต้น เพราะกลัวคำตอบที่ได้จะต่างจากสิ่งที่เคยยึดไว้เดิม
“ไทยเราเชื่อในการทำตามๆ กันมา เราเชื่อในการอนุรักษ์ที่บอกว่าสิ่งๆ หนึ่งต้องอยู่แบบเดิม แต่ไม่เชื่อในการอนุรักษ์ที่สิ่งๆ นั้นมันอยู่แล้วใช้ได้จริง มันไม่เหมือนกัน เวลาเกิดการเปลี่ยนแปลงเราจะไม่ยอมรับ เพราะเราเป็นประเทศขี้เกียจ เราไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เราโง่ลง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เขาต้องเรียนรู้สิ่งใหม่แล้วเขาขี้เกียจเรียนรู้สิ่งนั้นเพิ่มเติม มันจึงเกิดการห้ามเปลี่ยน เพราะเมื่อไหร่ที่เปลี่ยน มันจะเกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและอื่นๆ ตามไปด้วย
... มันก็เลยกลายเป็นเช้าชามเย็นชาม เราเลี้ยงดูกันมาแบบนี้ เด็กที่เกิดในเมืองไทยสามารถที่จะมีชีวิตอยู่รอดและมีเงินใช้โดยไม่ต้องทำงานก็ได้ ด้วยระบบลุงป้าน้าอาญาติพี่น้อง สมมุติผมโตมาเรียนหนังสือ ไม่ขี้เกียจ แต่ไม่มีงานทำ ผมสามารถไปยืมเงินลุงบ้านนี้ได้ บ้านนั้นได้ บ้านนู้นได้ พอครบปีก็วนไปบ้านแรกใหม่ แล้วก็ยังให้ยืมอีก สภาพอย่างนี้ทำให้เด็กบ้านเราไม่มีความฉลาด เพราะมันไม่มีการดิ้นรน ลองไม่ให้ดูสิ รับรองประเทศนี้ไปอีกไกลมาก คนจะแอคทีฟกว่านี้อีกเยอะ
...ในสังคมที่เปลี่ยน ทุกคนต้องแอคทีฟ
ทุกคนต้องเรียนรู้ ไม่มีใครอยู่นิ่งได้ ถ้าเมื่อไหร่เรายอมรับเรื่องการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้เรามีสิ่งที่เป็นความรู้มากขึ้น มีอะไรให้เรียนรู้มากขึ้น ทำให้สังคมเราพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ทุกคนจะไปดูงานศิลปะ จะไปดูการแสดง ทุกคนจะอ่านหนังสือ
ทุกคนจะยอมรับนักคิด นักเขียนมากขึ้น แต่ประเทศเรามหัศจรรย์มาก แทนที่เราจะตัดสิ่งที่ทำให้เรานิ่งเฉยออกไป เรากลับตัดสิ่งที่เป็น
avant-garde (ศิลปินหัวก้าวหน้า) ทิ้ง ตัดนักคิด
นักเขียนทิ้ง คนที่เป็นปัจเจกทิ้ง คนที่มีความชัดเจนทิ้ง คนพวกนี้อยู่ประเทศนี้ไม่ได้เลย เพราะจะทำให้
คนส่วนใหญ่ที่ไม่แอคทีฟอยู่ไม่ได้
...ดังนั้นพวกนี้เขาถึงต้องออกมาทำของตัวเอง เพราะเมื่อรู้ว่ายังไงสังคมก็ไม่ไปด้วย เขาก็สร้างเอง ยิ่งทุกวันนี้การสื่อสารมันเปิดกว้าง คนสามารถทำทุกอย่างเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐ มันติดต่อตรงได้หมด คุณจะซื้อหุ้นที่ไหนก็ได้ จะระดมทุนที่ไหนก็ได้ มันแหกได้หมด มันไม่จำเป็นต้องพึ่งพื้นฐานของสิ่งที่รัฐสร้างอีกต่อไป ทำนายได้เลยว่าในเมื่อฝ่ายนิ่งก็นิ่งไม่ยอมเปลี่ยนอย่างนี้ แล้วฝ่ายที่อยากเปลี่ยนก็ทำไปเลยอย่างนี้ ต่อไปความแตกแยกจะยิ่งแตกกว่านี้อีก แตกแบบไม่รู้ตัว แตกแบบงงไปเลย
รับไม่ทันเลย เพราะเราเลือกที่จะเป็นแบบนี้เอง”
พอกลับมาเมืองไทยก็เลยเริ่มมองว่าต้องสร้างงานเต้นให้ได้ แต่ก็เตือนตัวเองว่า อย่าหลงทาง
เราทำอะไรก็ได้ เราอาจจะไปทำรายการทีวี เราอาจจะไปอยู่ในห้องตัดต่อ แต่เราต้องรู้ว่าเรารับทำมันเพื่อหาเงินมาอยู่สตูดิโอให้นานที่สุดเพื่อฝึก แล้วทำยังไงก็ได้เพื่อไม่ต้องกลับไปทำงานอย่างอื่นอีกในอนาคต
จังหวะที่แตกต่าง
แน่นอนพิเชษฐเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้อง ‘ออกมาทำของตัวเอง’ เมื่อเขาเป็นอาจารย์นาฏศิลป์ในมหาวิทยาลัยแต่พบว่าแนวทางการสอนของเขาไม่ตรงกับความต้องการส่วนใหญ่ของคณะ
“ผมมีจุดเปลี่ยนแปลง 2-3 จุด จุดแรกคือ ในขณะที่ผมเป็นอาจารย์ ผมเคยสอบเด็กในโครงการช้างเผือก มีเด็กคนหนึ่งมาจากปักษ์ใต้ พี่มาสอบก็หอบเอาน้องมาด้วย มาสอบระบำตีไก่ พอผมเห็นปุ๊บผมก็บอกกับอาจารย์อีก 4 ท่านที่นั่งอยู่ด้วยกันว่าผมอยากรับเด็กผู้ชายคนนี้มากเลย เพราะว่ามันจริงมาก ผมมั่นใจว่าถ้าเขาเรียนกับเรา เขาจะเอาศิลปะกลับไปสอนที่บ้านเขาได้ แต่อาจารย์ทั้ง 4 คนบอกว่า ไม่เอา เพราะเด็กนี่ไม่ได้รำได้แบบมาตรฐานที่กรมศิลป์ฯ รำเลย รำแบบระบำพื้นบ้านเฉยๆ
...ผมก็ อ้าว---แย่แล้ว สรุปคุณต้องการอะไรกันแน่ ผมต้องการให้คนเอาศิลปะไปพัฒนา ไปสอนคนต่อไปให้มันเกิดสิ่งที่ดีงามในชีวิต แต่คุณแค่ต้องการรักษารูปแบบรัฐนิยมเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้อย่างสง่างามอย่างเดียว อาจารย์คนหนึ่งบอก
‘พื้นฐานเขาไม่ได้เลยนะ แล้วเขาจะมาเรียนกับคนอื่นได้ยังไง’ ผมบอกว่า ‘หน้าที่คุณคือสอนเขาไม่ใช่เหรอ ปีหนึ่งคุณก็ต้องสอนเพลงช้า เพลงเร็ว แม่บท ที่เป็นพื้นฐานให้เขาอยู่แล้ว’ เด็กที่มาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ มันไม่ต้องสอนเพราะมันเรียนมาหมดแล้ว แต่เด็กพวกนี้คือหน้าที่ที่เราต้องสอน แล้วมันไม่ได้หาได้ง่ายๆ เด็กที่จริงใจ พาน้องมาด้วย เต้นกันเป็นบ้าเป็นหลังขนาดนี้
…ต่อจากนั้น ก็มีเรื่องการสร้างงานวิทยานิพนธ์อีก อาจารย์นั่งกันอยู่ที่โต๊ะ ก็มีคนถามขึ้นมาว่า เด็กควรจะสร้างงาน
ศิลปนิพนธ์แบบไหน ผมบอกว่า เด็กควรจะสร้างงานที่ไม่เกี่ยวข้องหรือแตกต่างจากสิ่งที่เรียนมา แต่อาจารย์ทุกคนบอกว่า ไม่---ต้องสร้างจากสิ่งที่เรียนมาทั้งหมด เอามารวมกัน สร้างเหมือนระบำดอกไม้ ระบำดอกบัว เสื่อกระจูด ผมก็ เฮ้ย---คุณไม่อยากเห็นเด็กมันไปไหนต่อได้เหรอ ทำไมอยากเห็นเด็กอยู่ในกรอบแบบนี้เหรอ นี่มันชีวิตเขานะ ไม่ใช่ชีวิตเรา แต่ทุกคนไม่ฟัง ผมก็นึกในใจว่า เอาล่ะ---ไม่ใช่อีกแล้ว นี่คือจุดที่สอง
…อีกจุดหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ผมคิดต่าง เป็นเรื่องที่ผมคิดเหมือนคนอื่น คิดผิด คือผมพยายามพูดเหมือนอย่างที่อาจารย์ที่สอนศิลปะทุกคนพูด คือเธอต้องตั้งใจเรียน จบไปเป็นศิลปิน
เธอต้องทำงาน เธอต้องประกอบอาชีพให้ได้ แต่สุดท้ายมาเอะใจนิดหนึ่ง คือเราผลักเด็กไปเป็นศิลปิน แต่ตัวเองดันมาเป็นครู
เดินถือกระเป๋า แต่งตัวสวย 8 โมงเช้าไปนั่งในห้อง สอนบลา บลา บลา สอนเสร็จกลับบ้าน สิ้นเดือนรับเงินเดือน ไม่เห็นได้ทำงานศิลปะ ก็เลยลาออก ไม่งั้นก็เท่ากับว่าสอนในสิ่งที่โกหก”
นับเป็นเรื่องลงตัวที่แรงผลักจากสถาบันการศึกษานี้ เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันกับที่เขาได้สัมผัสกับแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในช่วงที่เขาได้รับทุนจาก Asian Cultural Council ให้ไปศึกษา Contemporary Dance ที่มหานครนิวยอร์ก ดินแดนที่บุคคลในทุกสาขาอาชีพตระหนักดีว่า ‘If you can make it there, you can make it anywhere’
“นิวยอร์กเป็นสถานที่ที่คนไปเพื่อทำตามความฝัน เพื่อ
‘make it happen’ ที่นั่นมีที่เรียนรู้ มีที่สอนเยอะ มีคอมพานี
มีออดิชั่นเยอะ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ แล้วก็มีคนจริงๆ อยู่ที่นั่นให้จับต้องได้ ผมเจอนักเต้นที่รับจ้างล้างจานในร้านอาหาร ผมก็ถามว่า ทำแบบนี้ทำไม เขาบอกเพราะเขาอยากเป็นนักเต้น ดังนั้นต้องล้างจานก่อน หลังจากนั้นค่อยทำยังไงก็ได้เพื่อที่จะไม่ต้องล้างจานแล้วเต้นอย่างเดียว เราก็คิดว่า
เฮ้ย---มันดี แล้วมันมีเพื่อนแบบนี้เต็มไปหมดเลย
...พอกลับมาเมืองไทยก็เลยเริ่มมองว่าต้องสร้างงานเต้น
ให้ได้ แต่ก็เตือนตัวเองว่า อย่าหลงทาง เราทำอะไรก็ได้ เราอาจจะไปทำรายการทีวี เราอาจจะไปอยู่ในห้องตัดต่อ งานอีเวนท์
งานแสงสีเสียง แต่เราต้องรู้ว่าเรารับทำมันเพื่อหาเงินมาอยู่
สตูดิโอให้นานที่สุดเพื่อฝึก แล้วทำยังไงก็ได้เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปทำงานอย่างอื่นอีกในอนาคต ตอนแรกก็สร้างงานโซโล่ชิ้นสั้นๆ 20 นาที ครึ่งชั่วโมง ไปเล่นในเอเชียก่อน ใน dance festival ต่างๆ แล้วก็เริ่มสร้างเป็น 1 ชั่วโมง”
แดนซ์ คอมพานี
ในขณะที่ความสำเร็จของพิเชษฐในฐานะนักเต้นอาชีพถือว่าหาได้ยากแล้ว สิ่งที่พิเศษมากกว่าก็คือเขาต้องการขยายความสำเร็จนี้ให้ไปได้พ้นคำว่า ‘พรสวรรค์ส่วนตัว’ เขาเชื่อว่าการเต้นสามารถเป็นอาชีพที่รองรับคนจากหลากหลายพื้นเพและความสามารถ และหากฝึกฝนจนถึงขั้นย่อมสามารถทำเป็นงานประจำได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ เขาต้องการสร้างคณะนักเต้นอาชีพ
หรือ ‘dance company’ ขึ้นเป็นแห่งแรกในเมืองไทย
“เราไม่มีภาพแดนซ์ คอมพานีในหัว เพราะว่าศิลปะทางการเต้นทั้งหมดถูกจำกัดความว่าเป็นความสามารถพิเศษ ไม่ใช่ความสามารถหลักที่สามารถทำเป็นอาชีพได้ อาจมีพ่อแม่ส่งลูกไปเรียนบัลเลต์ในระดับมัธยม ก็เพื่อเป็นความสามารถพิเศษ น้อยคนมากที่จะเรียนไปถึงระดับมหาวิทยาลัย ขนาดระดับมหาวิทยาลัยเอง เมืองไทยก็ยังเพิ่งเริ่มต้นเมื่อมีคณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาฯ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วแค่นั้น
...ดังนั้น สำหรับผู้ปกครองในประเทศนี้ ถ้าลูกบอกว่าจะเรียนศิลปะ เขาจะไม่เข้าใจว่าเรียนเพื่ออะไร จบมาทำอะไร เงินจะมาจากไหน ความมั่นคงในอนาคตเมื่อแก่จะเป็นยังไง เพราะมันไม่เคยมี ตัวอย่าง มีอยู่อย่างเดียว อ๋อ---เป็นครูสอนนาฏศิลป์ไง ซึ่งก็ไม่ใช่อาชีพนักเต้นจริงๆ ความจริงพอมีตัวอย่างคล้ายๆ เหมือนกันคือคณะลิเก คณะลิเกคือแดนซ์ คอมพานี
ของเมืองไทยจริงๆ แต่สุดท้ายเราก็ไม่ยอมรับศาสตร์ประเภทนี้ว่ามันมีคุณค่าอยู่ดี เราไปมองว่ามันเป็นการเต้นกินรำกิน อีกอย่าง กระทั่งคนเล่นลิเก ก็ไม่ได้เป็นลิเก 100 เปอร์เซนต์ เพราะต้องทำนาทำสวน ยังมีอาชีพอื่นแฝงอยู่ เพราะว่าลิเกเล่นตลอดทั้งปีไม่ได้
...มันน่ามหัศจรรย์ สาขาอาชีพอื่น จบหมอเปิดคลินิกตัวเองได้ จบบัญชีมาก็เปิดสำนักงานบัญชีได้ จบสถาปัตย์มาก็มีออฟฟิศของตัวเองได้
แต่คนจบนาฎศิลป์ไทยไม่สามารถทำอาชีพได้เลย
หนึ่ง เพราะโขนเล่นคนเดียวไม่ได้ สอง คนจะไม่มีทางเชื่อคุณ เพราะเขาเชื่อแต่กรมศิลปากรอย่างเดียวเท่านั้นว่านี่คือสิ่งที่มีคุณภาพที่สุด ที่อื่นทำไม่ได้ มันเลยทำให้อาชีพนี้ไม่ถูกสร้างอย่างเป็นรูปธรรมมาตลอด ดังนั้นการแสดงที่เห็นในเมืองไทยทั้งหมด มันจึงไม่ใช่มืออาชีพ เป็นมือสมัครเล่น เป็นความสามารถพิเศษ เป็นการแสดงของโรงเรียน เป็นการแสดงของมหาวิทยาลัย เป็น
อีเวนท์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาชีพ ถึงเวลาก็เป็นพ่อมาดู แม่มาดู ญาติมาดู ถามว่าพ่อ แม่ ญาติ มีความตื่นเต้นและสนุกกับอะไร กับความผิดพลาดครับ
อุ๊ยตาย---แกไม่เห็นเหรอ เต้นผิด น่ารักจังเลย ความผิดพลาดกลายเป็นเรื่องน่ารัก ทั้งที่มันไม่ใช่ ในการแสดงอาชีพที่คนจ่ายเงินมาดู เต้นผิดคือครั้งหน้าไม่ต้องมาอีก มันต้องเกี่ยวพันกับอนาคต
ไม่งั้นมันก็เป็นอาชีพไม่ได้
…ทีนี้ผมไปเล่นตามเฟสติวัลต่างๆ ก็มีคนมาพูดว่า เฮ้ย---พิเชษฐ สิ่งที่ยูสร้าง ไปไม่ไกลหรอก เพราะยูพิเศษ มีได้แค่ยูคนเดียวเองนี่แหละ ผมก็ว่า
จริงเหรอวะ ถ้ามนุษย์คนหนึ่งทำได้ มนุษย์คนอื่นต้องทำได้สิ ก็เลยเกิดกระบวนการขึ้นมาว่าต้องเอาคนอื่นมาสอน เพื่อพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่สิ่งพิเศษเฉพาะตัวคนเดียว คนอื่นทำได้ด้วย”
มันน่ามหัศจรรย์ สาขาอาชีพอื่น
จบหมอเปิดคลินิกตัวเองได้ จบบัญชีมา
ก็เปิดสำนักงานบัญชีได้ จบสถาปัตย์มา
ก็มีออฟฟิศของตัวเองได้ แต่คนจบนาฎศิลป์ไทย
ไม่สามารถทำอาชีพได้เลย
ทุ่มเทเพื่อมาตรฐาน
การสร้างคอมพานีไม่ได้ทำขึ้นในครั้งเดียว ระยะแรกๆ พิเชษฐเพียงจ้างคนมาทำงานโปรดักชั่นร่วมกันเป็นครั้งๆ ครั้งละ 2-3 เดือน จวบจนเมื่อระยะเวลาผ่านไป เขาได้คนที่จะมาร่วมงานกันมากพอ อีกทั้งได้ที่ดินที่จะสร้างโรงละครของตัวเอง เขาจึงตั้งเป็นบริษัท Pichet Klunchun Dance Company ซึ่งมีฐานอยู่ที่ Chang Theater โรงละครขนาด 30 ที่นั่งในเขตบางมด ซึ่งเป็นที่ที่พิเชษฐจัดการแสดงของคอมพานีจำนวน 3 ชิ้นต่อปี
“ที่นี่คือแดนซ์ คอมพานีแรกของประเทศที่
นักเต้นรับเงินเดือน ทำงานเต้นจริงๆ จบมาแล้วไม่ต้องไปฝากตัวกับค่ายเพลง ไม่ต้องไปเต้นให้นักร้อง ไม่ต้องไปเต้นให้ตลก ไม่ต้องอยู่ตะวันแดง โรงเบียร์ฮอลแลนด์ เราใช้หลักการทำงานคือ ‘ทำงานแบบออฟฟิศ แต่คิดแบบศิลปิน’ แบบออฟฟิศ คือเข้างานตรงเวลาออกงานตรงเวลา มีระเบียบเหมือนออฟฟิศ แต่คิดแหกกรอบหมดทุกวิธีการ คิดบ้าคิดบอทั้งหมด เพราะปัญหาของบ้านเราคือศิลปินไม่ทำงานออฟฟิศ ทำทุกอย่างตามใจหมด อยากจะเขียนรูปก็เขียน อยากจะเต้นก็เต้นตอนไหนก็เต้น แล้วแต่อารมณ์ แต่ที่นี่ห้ามแล้วแต่อารมณ์ ที่นี่วินัยสำคัญมาก
…คนบอกเรามีคอมพานีไม่ได้ ไม่มีคนดู
คนดูไม่พร้อม คนดูไม่ยอมจ่ายเงิน อยู่ไกลขนาดนี้ใครจะมา มันเลี้ยงคนไม่ได้ จะเอาเงินมาจากไหน จะสร้างเป็นรูปธรรมได้ยังไง ผมบอกว่า ไม่จริง มันต้องทำได้ แต่สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งคือทำยังไงอาหารถึงจะอร่อย เมื่อ 10 ปีก่อนที่กระบี่
มีเพื่อนคนหนึ่งพาไปกินก๋วยเตี๋ยวเป็ด มันพาผมขับรถเข้าไปในสวนยางนานมากเป็นสิบๆ นาที จนผมนึกว่ามันบ้า แต่เข้าไปเจอร้านก๋วยเตี๋ยวเปิดอยู่จริงๆ มีรถจอดเต็มเลย แล้วก็อร่อยจริงๆ ผมบอกนักเต้นทุกคน คุณเชื่อผม ต้องทำให้ได้แบบนี้ สร้างมันขึ้นมาให้ได้ ทำไมคนกล้าขับรถหลายชั่วโมงเพื่อกินข้าวแล้วกลับ ก็เพราะมันพิเศษ
...สอง คือต้องจริงใจ อย่าเสแสร้ง อย่าไปกู้เงินทำใหญ่โตแล้วมาหน้าเศร้าผ่อนดอกเบี้ยไม่ได้ มีแค่ไหนเอาแค่นั้น ก็เลยสร้างโรงละครเป็น
เอาต์ดอร์แบบนี้ ที่อื่นมีหลังคาไม่เป็นไร เดี๋ยวต้องมีคนมาหาเรา เรามีแค่ต้นไผ่ใหญ่ๆ คนมาดูอาจจะร้อนเหงื่อแตก ถึงเขาไม่ชอบ แต่เขาจะไม่มีวันลืมว่ามาโรงนี้แล้วมันเป็นอย่างนี้ เหมือนคุณป้าพัฒศรี บุนนาค แกเคยดูงานผม
I am a Demon ครั้งแรกที่ซอยนายเลิศ อยู่บนทาวน์เฮาส์ชั้น 4 ดาดฟ้า แกเดินบ่นตั้งแต่ชั้น 1 ว่าคนขายบัตรมันบ้ารึเปล่า แสดงบนชั้น 4 แต่พอแกดูจบ แกร้องไห้เลย ‘ฉันรอสิ่งนี้มาทั้งชีวิต ฉันชอบรำไทย ฉันอยากเห็นแบบนี้’ และตั้งแต่วันนั้นเป็น 10 ปีแล้ว คุณป้าพัฒศรีไม่เคยพลาดโปรดักชั่นของเราเลยแม้แต่ครั้งเดียว เป็นแฟนประจำ ทำให้เรารู้สึกว่าต้องจริงใจ ให้ในสิ่งที่ดีที่สุด แม้จะไม่สมบูรณ์แต่อย่างน้อยเราจะไม่รู้สึกแย่
...สาม คือทำยังไงเราถึงจะทำให้คนที่มาดูเราเป็นเหมือนครอบครัวให้ได้ แบบระบบแม่ยก
ในอดีต ตอนแรกที่ซื้อที่ดินทำโรงละครนั้นผมประกาศลงในเฟซบุคว่าผมซื้อที่แล้วแต่ยังไม่มีต้นไม้เลย ก็มีคนเอาต้นไม้มาให้ ต้นก้ามปูต้นใหญ่ก็ได้มาจากอาจารย์ชลประคัลภ์ จันทร์เรือง บางทีมีโปรดักชั่นอะไรคนก็ซื้อขนมมาให้ นี่คือสิ่งที่ช่วย เพราะสิ่งที่เราทำอยู่ไม่สามารถทำเป็นธุรกิจทำกำไรใหญ่โตได้ในระยะสั้น เนื่องจากเราเพิ่งเริ่ม
…ผมบอกกับนักเต้นในคอมพานีว่าผมจะจ่ายเงินเดือนทุกเดือน แต่ถ้าสตางค์ผมหมดเมื่อไหร่ ผมจะบอกทุกคนล่วงหน้า 6 เดือนเพื่อให้ทุกคนมีเวลาเตรียมตัวไปที่อื่น แต่ระหว่างที่อยู่กับผม อย่าเพิ่งรีบร้อนที่จะสร้างหรือจะทำอะไร
ขอเวลาผม 5 ปี ผมจะสอนกลไก วิธีการ รูปแบบการเต้นว่ามันเป็นอย่างไร คุณจะได้ฝึก ได้เดินทางไปเมืองนอก ได้เห็นแดนซ์ เฟสติวัล ได้เห็นว่าจะสร้างงานยังไง คุณจะเริ่มสร้างคอนเน็กชั่น หลังจากนั้นผมจะแนะนำให้คุณสร้างงานของตัวเอง
...ผมพูดตลอดว่า สุดท้ายผมต้องการให้
ทุกคนออกจากคอมพานีผมไปให้หมดแล้วผมจะกลับไปเป็น solo performer เหมือนเดิม นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ ถ้าทุกคนอยู่กับผม ผมจะมีแค่ 5 คน แต่ถ้าทุกคนออกไป ผมก็จะได้อีก 5 คนที่มีความคิดคล้ายกันเข้ามาฝึก บางทีผมหงุดหงิด ผมก็จะบอก ทำไมผมต้องเสียเวลากับพวกคุณด้วย ชีวิตผมคนเดียวโคตรมีความสุข ผมไปทำการแสดงที่โน่นที่นี่โดยไม่ต้องกังวล ได้เงินได้ชื่อดีกว่า คล่องตัวกว่า ดังนั้นพวกคุณต้องไม่ขี้เกียจ ต้องไม่พัก ห้ามเหนื่อย เวลามันสั้นเหลือเกิน ต้องรีบขวนขวาย เพราะคุณคือคนกลุ่มแรกของประเทศนี้ที่กำลังทำสิ่งนี้ ถ้าคุณได้พื้นที่
คุณจะมีอนาคตในภายภาคหน้าเลย”
ทุกวันนี้คนไปดูโขน คนไม่ได้ไปดูศิลปะเลย
คนไปดูวัฒนธรรม เราไม่เคยดูนักเต้น ไม่เคยดู
องค์ความรู้ เราไปดูเพื่อประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า
เรามีวัฒนธรรมเฉยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ของมันอยู่ตลอดเวลาเหมือนละครบรอดเวย์ไม่ได้ เพราะเราจะไปนั่งดูวัฒนธรรมทุกๆ เดือน ทุกๆ วันไม่ได้
หน้าที่ของศิลปะ
อย่างไรก็ตาม ความทุ่มเทที่พิเชษฐมีให้แก่วงการเต้นไม่ได้เป็นไปเพื่อพัฒนาวงการอาชีพของตัวเท่านั้น หากแต่มีขึ้น เพราะเขาคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดไปได้จากสังคมที่แข็งแรง
“ศิลปะทำหน้าที่ 2 อย่างที่สำคัญมาก หนึ่ง ศิลปะทำหน้าที่เป็นสวัสดิการในด้านจิตวิญญาณของมนุษย์ ทำให้เรายังคงที่จะสัมผัสหรือสื่อสารกับความเป็นมนุษย์ของเราได้ ซึ่งมันด้อยลงไป
ทุกทีในโลกของการสื่อสาร โรงละครทำให้เราต้องหยุดดูสิ่งๆ หนึ่งที่เราต้องคิดต้องพิจารณา ปกติพออินเทอร์เน็ตช้า เราก็เลื่อนไปดูข่าวอื่นแล้ว นี่คือการที่จิตวิญญาณเราไม่หยุดนิ่ง แต่พอได้นั่งอยู่ในโรงละคร ชอบไม่ชอบก็ต้องทนดูไป ต้องถามตอบกับตัวเอง และการ deal กับตัวเองนี่แหละคือการได้สัมผัสและรับรู้ความเป็นมนุษย์ของเรา เหมือนการเข้าไปพิพิธภัณฑ์แล้วยืนดูรูปเงียบๆ สุดท้ายคุณอาจจะเห็นว่าไม่รู้เรื่อง แต่แค่พูดประโยคว่า ‘ไม่รู้เรื่อง’ ก็เวิร์คสุดๆ แล้ว เพราะมันทำให้คุณตื่น
...สอง ศิลปะคือการบอกถึงอนาคตว่าคุณจะอยู่ยังไง
กำลังจะเกิดอะไรขึ้น ศิลปะคือการเสี่ยงทายอนาคต ถ้าคุณเชื่อหมอดู คุณก็ต้องเชื่อศิลปะ ศิลปะมันขายไม่ได้ถ้าคุณสร้างอดีต ศิลปะทุกชิ้นมันคือการสร้างอนาคต ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คุณดูงานศิลปะ คุณจะระแวดระวังได้ สิงคโปร์เพิ่งได้รางวัลประเทศ
ที่มองอนาคตที่สุดในโลก ก็ดูเขาสร้างศิลปะแต่ละอย่าง วันนี้
เราเดินทางไปอดีตเหรอ ไม่ใช่---เราเดินทางไปอนาคต ดังนั้น
มันขาดไม่ได้
...อีกอย่างที่ศิลปะให้คือโอกาส อนาคตกับโอกาสมันอยู่ใกล้ๆ กัน คือโอกาสที่คนจะได้รับรู้เท่าๆ กันว่าฉันจะต้องเผชิญกับเรื่องนี้ๆ ในอนาคตงานศิลปินคืองานที่สะท้อนเรื่องราวต่างๆ ในอนาคตกับเรื่องราวต่างๆ ในปัจจุบันทั้งหมดเลย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมในฝรั่งเศสกับเยอรมนี ศิลปินจึงได้เงินเยอะมากกับการรีเสิร์ช เพราะมันคือการรีเสิร์ชอนาคต
...น่าเสียดาย ศิลปะบ้านเรายังอยู่ในยุคคลาสสิกกับโมเดิร์น ศิลปะ 2 ยุคนี้ เป็นเรื่องพระ เจ้า เหตุบ้านการเมือง ความเชื่อ
ถามว่าสิ่งเหล่านี้มีไว้ทำไม มีไว้เพื่อประดับบารมี ไม่ได้มีไว้บอกอนาคต เหมือนคนซื้อรูปพระใหญ่ๆ ศิลปินคนนี้ๆ วาด เสร็จแล้วก็เอามาตั้งไว้ในบ้าน ใครมาเห็นก็ต้องยกมือไหว้ แต่ปัจจุบันนี้มันเป็นยุคคอนเทมโพรารี เป็นยุคของศิลปะเพื่อทุกคน เพื่อสะท้อนสังคม แต่ประเทศเราไม่ได้สร้างงานเหล่านี้ พอมีคนสร้างขึ้นมาก็ถูกเล่นเลย มึงไม่รักชาติ เอาเรื่องไม่ดีมาพูด บ้าหรือเปล่ามา
บอกว่าจะเป็นแบบนี้ในอนาคต แต่เราไม่ได้บ้า เราแค่พยายามจะบอกอนาคต ทำไมเชื่อหมอดูเชื่อได้ช่วยบอกหน่อย หมอดูเหมือนศิลปินเลย แต่หมอดูพูดไปเรื่อย ศิลปินยังมีภาพให้เก็บไว้ได้”
อะไรคือวัฒนธรรม
ในขณะที่ประเทศไทยเป็นที่รู้จักจากมรดกศิลปวัฒนธรรมของประเทศอันวิจิตรบรรจง แต่สำหรับพิเชษฐ คำว่า ‘วัฒนธรรม’ นี่เองที่เป็นอุปสรรคปิดกั้นสายตาไม่ให้เห็นถึงศิลปะ “ทุกวันนี้คนไปดูโขน คนไม่ได้ไปดูศิลปะเลย คนไปดูวัฒนธรรม เราไม่เคยดูนักเต้น ไม่เคยดูองค์ความรู้ เราไปดูเพื่อประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าเรามีวัฒนธรรมเฉยๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้ของมันอยู่ตลอดเวลาเหมือนละครบรอดเวย์ไม่ได้ เพราะเราจะไปนั่งดูวัฒนธรรมทุกๆ เดือน ทุกๆ วันไม่ได้ เรายังไม่รู้เลยว่าวัฒนธรรมคืออะไร
...มันไม่เกี่ยวกับเรื่องดูเป็นไม่เป็นนะครับ คิดว่าเราดูบัลเลต์เป็นเหรอครับ คนไทยดูบัลเลต์ไม่เป็นนะครับ ดูโขนยังดูไม่เป็นเลย จะไปดูบัลเลต์เป็นได้ยังไง แต่เราเห็นว่ามันพร้อม นักเต้นมันระหง ขาว สวย ยกขาเท่ากัน จังหวะไปพร้อมกับดนตรี นี่คือสัญชาตญาณความเป็นมนุษย์สื่อสารกับสิ่งนั้นแล้ว ฉะนั้นดูเป็นดูไม่เป็นไม่เกี่ยวเลย ถ้าเราเปิดใจ เราจะรู้เลยว่าอาหารนี้อร่อย แต่ถ้าเรายังคลั่งวัฒนธรรมอยู่ เราก็จะพูดว่า ชีสมันไม่อร่อย
สปาเก็ตตี้มันจืด เพราะเราไม่ได้มองไปที่รสชาติของมัน ปลาดิบมันไม่ปรุงไม่ได้ เอาน้ำจิ้มซีฟู้ดมา”
ยิ่งกว่านั้น พิเชษฐเห็นว่าการมองศิลปวัฒนธรรมเป็นเรื่องตายตัว ที่เกี่ยวข้องแค่โขน ลายกนก เรือนไทย หรือรายละเอียดที่ถือกันว่า ‘ไทย’ ตามโบรชัวร์ทัวร์อื่นๆ ยังทำให้สังคมขาดพลวัต
และขาดความรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา
“ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรฝังรากลึกเท่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางความคิดในสังคม และศิลปะนี่แหละที่เป็นตัวเปลี่ยนแปลงกระบวนการคิดของคน ถ้าสังคมตามงานของศิลปินคนหนึ่งไปสัก 15 ปี เราจะเห็นเลยว่ามุมมองของสังคมจะค่อยๆ เปลี่ยนตามไป นี่คือสาเหตุที่ศิลปินในอดีตถูกเก็บ ถูกฆ่า เพราะศิลปะมันสามารถฝังลึกเข้าไปทางกระบวนการทางความคิด
...ถามว่าเรารู้ตัวกันไหมครับ ว่าเราโตมาในยุคของ
โดเรมอน นี่แหละครับเราถูกฝังชิพมาแล้ว นี่คือการเอาชนะกันทางวัฒนธรรม วันนี้เราก็กำลังถูกฝังอีกชิพหนึ่งว่าหน้าต้องเป็นบล็อกแบบเกาหลี แม้กระทั่งเมคอัพอันหนึ่งที่ขายนี่ก็เรื่องวัฒนธรรมแล้ว เพราะมันฝังความคิดเรื่องผิว เรื่องรูปทรงที่เป็นของประเทศนั้นทั้งหมด นี่คือการใช้วัฒนธรรมแบบกินลึก
ถอนรากถอนโคนจิตวิญญาณหลุดไปเลย เรื่องเหล่านี้รัฐไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเขาเล่นเกมอะไรกันอยู่ มันหมดยุคการถือปืนไปยิงกันแล้ว
...คนไทยยังมองวัฒนธรรมแคบ เรายังมองวัฒนธรรมเป็นเรื่องอาหาร ไหว้พระ เจ้านาย สถาปัตยกรรม เราไม่ได้มองวัฒนธรรมเป็นเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน เราไม่ได้มองตรงนี้เลย เราแค่โชว์การมีวัฒนธรรม และที่สำคัญคือโชว์แต่สิ่งซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ที่ไม่มีสิ่งใหม่งอกงามขึ้นมา ในขณะที่เกาหลีเขามีวัฒนธรรมเหมือนกันแต่เขาพัฒนาไปเรื่อยๆ ในมุมมองใหม่ๆ รูปลักษณ์ใหม่ๆ
เมื่อถามว่าอะไรคือเส้นแบ่งระหว่างการทำศิลปวัฒนธรรมให้เป็นพลวัตกับการเจือจางดัดแปลงเพื่อหวังขายของอย่างเดียว พิเชษฐบอกเลยว่าคำตอบจะตัดสินตัวมันเอง
“ผมว่าทุกอันถูกหมดเลย เพราะวัตถุประสงค์
ต่าง ของก็ต้องออกมาแตกต่างกันไป ต้องถามว่าคนที่นั่งมองมันเข้าใจวัตถุประสงค์นั้นหรือเปล่า ยอมรับหรือเปล่า หรือยังมีความคิดว่าเกิดสิ่งใหม่แล้วสิ่งเก่าต้องล่มสลายไป
...จริงๆ แล้วการเกิดสิ่งใหม่ขึ้นไม่ได้แปลว่าสิ่งเก่าจะล่มสลาย อย่างเช่นเราบอกอาหารถูกดัดแปลงเพื่อขายฝรั่ง แต่จริงๆ มันก็คือการตัดทอนเพื่อให้เกิดการกินการเสพ มันเป็นกระบวนการหนึ่งของสังคมที่เปลี่ยนไป มีฝรั่งเข้ามามากขึ้น
มีความจำเป็นใหม่ๆ เกิดขึ้น ดีด้วยซ้ำไปที่ของมันปรับตัวได้ ทุกสิ่งมันควรมีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อคงอยู่ต่อไป ที่สำคัญคือการทำให้คนมีสิทธิเลือกในสิ่งที่แตกต่างต่างหาก เพราะพอคนมีสิทธิเลือกในสิ่งที่แตกต่างได้ มันก็กลับไปสู่สิ่งที่ง่ายมากเลย คือกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย มันเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าคุณไม่ยอม นั่นแสดงว่าคุณไม่ยอมให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นและยังคงใช้อำนาจชี้ขาดว่าสิ่งต่างๆ ต้องเป็นแบบนี้ๆ เท่านั้น
...ถ้าสิ่งไหนไม่ถูกไม่ดี มันจะล่มสลายไปด้วยตัวของมันเอง แต่ประเด็นคือ ถ้าคุณเป็น
คนฉลาดและเรียนรู้ แม้กระทั่งสิ่งที่ผิดก็จะให้ความรู้ว่าสิ่งนี้เป็นแบบนี้ ถ้าไม่มีผิด วันนี้ไม่มีหรอกพระพุทธเจ้า ท่านไปนั่งอดก็แล้ว นู่นแล้ว
นี่แล้ว ผิดไม่รู้กี่ผิดถึงได้รู้ว่าถูกคืออะไร ท่านลองมาหมดแล้วจึงได้บอกทุกคนว่าสิ่งที่ถูกคือสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อน แล้วพวกเราในฐานะคนโง่ทั้งหลายก็จะไปเอาทางสายกลางเลย คิดว่าจะบรรลุเหมือนท่าน ก็คุณยังไม่รู้เลยว่าความไม่ใช่คืออะไร คุณจะบรรลุความใช่ได้ยังไง
...ผมก็ไม่รู้ว่าจะพูดเรื่องนี้ทำไม เพราะมันยากมากกับการให้คนเข้าใจว่าวัฒนธรรมเดิมของประเทศนี้จะไม่เสียหายหรอก เชื่อผมเถอะ
การให้เงินพิเชษฐ กลั่นชื่น ไม่ได้ทำให้โขนแย่ลงหรอก เชื่อผมเถอะ ของจะพังจะอยู่ก็อยู่ที่ตัวของมันเอง ไม่ใช่การส่งอีเมล์หรือข้อความมาหาผมแล้วพูดว่า มึงย้ายไปอยู่ที่อื่นเถอะ มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกันเลย”
ทุกสิ่งมันควรมีอิสระที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อคงอยู่
ต่อไป ที่สำคัญคือการทำให้คนมีสิทธิเลือกในสิ่งที่แตกต่างต่างหาก เพราะพอคนมีสิทธิเลือกในสิ่งที่
แตกต่างได้ มันก็กลับไปสู่สิ่งที่ง่ายมากเลย
คือกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ...ถ้าคุณไม่ยอม นั่นแสดงว่าคุณไม่ยอมให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นและยังคงใช้อำนาจชี้ขาดว่าสิ่งต่างๆ ต้องเป็นแบบนี้ๆ เท่านั้น
ยักษ์ที่มากรัก
การตอบฟันธงอย่างเกรี้ยวกราดของพิเชษฐในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับศิลปะและสังคมไทยทำให้เราได้รู้ว่าความเป็นยักษ์ของเขามีมากกว่าท่ากระทืบบาทบนเวที อย่างไรก็ตาม ในขณะที่หลายคนเห็นยักษ์เป็นสัญลักษณ์ของอธรรม
และการทำลายล้าง พิเชษฐบอกว่าสำหรับเขา ยักษ์เป็นเพียงผู้ที่ยอมทำสงครามกับทุกคนเพียงเพื่อรักษาสิ่งที่ตนรัก ไม่ต่างอะไรจากรักของ
ทศกัณฐ์ต่อนางสีดาที่กลายมาเป็นรามเกียรติ์
“คนทำงานศิลปะบ้านเรามักมองออกไปข้างนอก ไปที่เทศกาล หรือรางวัลสากลต่างๆ แต่ผมอยากบอกว่าอย่าเพิ่งทิ้งเมืองไทย คนบ้านเราก็ยังต้องการศิลปะเหมือนกัน มันเป็นการให้โอกาสให้สังคมได้มองเห็นอนาคตข้างหน้าเพื่อให้สังคมได้ระวังตัว มันเป็นการให้สวัสดิการกับคนในสังคม คนมักไม่เข้าใจทำไมต้องให้เงินศิลปิน แต่การบริจาคเงินช่วยศิลปะให้เกิดขึ้น มันก็เหมือนกับการทำบุญให้วัด เราจะได้เห็นคนจูงลูกมา
มีคนมาเรียนรู้ มีคนๆ หนึ่งที่ได้กลับมาอยู่กับตัวเอง สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก
…ถามว่าทำไมผมถึงอยู่ที่นี่ เพราะผมเป็นคนที่นี่ ผมสื่อสารกับประเทศนี้ ศิลปะของผมอยู่ที่นี่ แต่ผมมีความรู้สึกว่าความรักต้องเป็นแบบจริงใจ สื่อสารกันตรงๆ ไม่ได้อวยกันไปมาแล้วอยู่กันไป เวลาผมไปแสดงที่อื่น ต่อให้ผมแสดงยังไง ผมก็ไม่ใช่พวกเขา ภาษาที่ผมพูด กลิ่นที่ผมได้ สัมผัสที่ผมได้ บุคคล บ้าน เรือน ต้นไม้ มันไม่ใช่ ทุกครั้งที่ผมไปงานเดือนสองเดือน เวลาผมกลับมาเมืองไทย ผมรู้สึกว่าผมกลับมาบ้าน ผมเที่ยวด่าทุกคนไปทั่วว่าไม่เป็นระเบียบ ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ในขณะที่ผมเกลียดมันอยู่ ผมก็โตมาจากสิ่งนี้ ทำให้ผมต้องดูว่าเราเกลียดอะไร และรักอะไร เราเกลียดความสกปรก ไม่มีระเบียบ จะแก้เรื่องนี้ยังไง เรารักสิ่งที่มันเรียบง่ายแบบนี้ รสชาติแบบนี้ เราจะเก็บสิ่งนี้ไว้ยังไง
...งานที่ผมทำอยู่ทุกๆ ชิ้น มันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสังคมนี้ ในมุมมองของวันนี้ และคนในสังคมควรจะภาคภูมิใจที่เห็นสิ่งเหล่านี้มันงอกงาม
เติบโตไปได้ ผมมั่นใจว่าการที่มีผมอยู่ทำให้ฝ่ายดั้งเดิม มองเห็นสิ่งต่างๆ มากขึ้น แล้วก็ไม่เสวยสุขกันจนเกินไป ขอเพียงงานผมช่วยให้คนเหล่านี้ได้เห็นว่าตัวเองกระทำหรือไม่กระทำอะไรบ้าง ผมว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ถ้าไม่มีคนอย่างผมเลย มันจะยิ่งอ่อนแอ ยิ่งบิดเบี้ยว เพราะความอ่อนแอนี้คือความอ่อนแอที่จิตวิญญาณข้างใน แต่เป็นความเข้มแข็งของเปลือกแทน”
ระหว่างพิเชษฐร่ายรำในการแสดง I am a Demon จะมีการเปิดคลิปเสียงสัมภาษณ์พิเชษฐไป
พร้อมกัน โดยเมื่อใดก็ตามที่บทสัมภาษณ์ดำเนินถึงช่วงที่พิเชษฐวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมไทยอย่างรุนแรง ตัวอักษร I am a Demon จะถูกฉายขึ้นจอราวกับคำเตือนภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม คลิปบันทึกเสียงการสอนของครูชัยยศที่เปิดคลอการแสดงในอีกช่วง ก็ทำให้คนดูเริ่มรู้ว่าความประณีตบริบูรณ์ของท่าโขนของพิเชษฐนั้น ไม่ใช่สิ่งพิสดาร หากเป็นมาตรฐานที่ครูโขนโบร่ำโบราณเพียรสร้างขึ้นในตัวลูกศิษย์มาตลอด ความ ‘นอกคอก’ ของพิเชษฐ แท้จริงจึงไม่ใช่ความนอกคอก หากเป็นเพียงการ
กลับไปสู่แก่นสารความเป็นไทยดังที่เขาเคยได้รับมอบมาจากครู
และนี่เองอาจจะเป็นสาเหตุให้เขาไม่กลัวกับการถูกตราหน้าว่าเป็น ‘ยักษ์มาร’ ของวงการศิลปะ เพราะสำหรับเขาแล้ว นั่นไม่ใช่คำปรามาส แต่เป็นคำยืนยันว่าสิ่งที่ครูเจริญพูดกับครูชัยยศว่าพิเชษฐจะเป็น ‘ยักษ์ที่ดีในวันข้างหน้า’ นั้น
เขาสามารถทำให้เป็นจริงได้แล้วในวันนี้ ■