HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


In the Driver’s Seat

อภินรา ศรีกาญจนา กับแรงขับเคลื่อนล้นเหลือ ในการต่อยอดธุรกิจครอบครัวและสร้างธุรกิจเพื่อสังคม

     ภาพธุรกิจที่หลากหลายของตระกูล ‘ศรีกาญจนา’ ตั้งแต่ร้านอาหารไทยนารา บริษัท เอเชียประกันภัย และธุรกิจนาฬิกาเพนดูลัม อาจทำให้หลายคนคิดว่า อภินรา ศรีกาญจนา คงเป็นเพียงอีกหนึ่งทายาทธุรกิจผู้โชคดีได้เดินบนเส้นทางความสำเร็จที่ปูรอเอาไว้เรียบร้อย กระนั้น การสัมภาษณ์เธอได้แสดงให้เห็นว่า สาวสวยหวานบอบบางผู้นี้ ไม่เคยห่วงเรื่องความสบายมากเท่ากับการได้ออกไปล้มลุกคลุกคลานเพื่อเรียนรู้และพิสูจน์ศักยภาพของตนเอง จนกลายมาเป็นความสำเร็จของสตาร์ทอัพเพื่อสังคม U Drink I Drive และอีกหลากหลายธุรกิจของครอบครัวที่เธอช่วยบริหาร ขอเชิญพบกับเรื่องราวของ ‘เจนวาย’ ผู้มีคติการดำเนินชีวิตง่ายๆ ว่า ‘Never say ‘no’ to anything’ ผู้นี้

ปลูกฝังความรักงาน

     สำหรับปรางค์ ที่บ้านนี้ คุณแม่ (นราวดี ศรีกาญจนา) จะมีอิทธิพลในด้านการใช้ชีวิต ส่วนคุณพ่อ (จุลพยัพ ศรีกาญจนา) จะเป็นด้านจิตใจ คุณแม่สนับสนุนให้ปรางค์เริ่มทำงานมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่ท่านเลี้ยงเรามาเอง ทำให้ท่านรู้ว่าลูกคนไหนควรฝึกงานแบบไหน ให้ไปฝึกตั้งแต่อายุ 15 ตั้งแต่นิตยสาร Seventeen คลื่นวิทยุ Virgin Hitz ฝึกเขียน ช่วยถ่ายเอกสารอะไรไป เพื่อจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์อื่น ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มันจริง ไม่ได้มีแต่คนเอาอกเอาใจเรา อย่างตอนที่ไปทำงานที่โรงแรม Four Seasons มีนายเป็นฝรั่ง เข้มงวดมาก แค่ติดสแตมป์เบี้ยว ก็โดนติงว่าไม่ได้มาตรฐานโรงแรม 5 ดาว ยังจำขึ้นใจจนทุกวันนี้ พอไปเรียนที่ญี่ปุ่น ก็แอบคุณพ่อไปทำงานเสิร์ฟอาหาร ได้เรียนรู้ที่จะเก็บขยะ เรียนระบบทุกอย่าง ต้องเจอลูกค้าอารมณ์เสียเหวี่ยงใส่ ล้างจานจนเล็บฉีก แต่การที่ต้องเอาตัวรอดมันทำให้เราโตขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าคุณพ่อไม่ให้เงินไปใช้นะคะ ให้เหลือเฟือแบบพ่อที่มีลูกสาว แต่เราคิดทำเอง เพราะคุณพ่อจะสอนเสมอว่า ถ้าคุณเป็นลูกผมแล้วผมต้องสอนคุณทุกเรื่อง ก็ไม่ต้องมาเป็นพ่อลูกกันดีกว่า

เติบโตจากการดิ้นรน

     สาเหตุที่เลือกไปเรียนญี่ปุ่นเพราะเราชอบภาษา แล้วคุณแม่ก็เกิดญี่ปุ่น คุณปู่ได้ดีวันนี้ก็เพราะทำงานกับคนญี่ปุ่น เราก็เลยโดนปลูกฝังให้ชอบประเทศนี้ อีกอย่างเราอยากพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีวันเป็นไปได้ เพราะเราพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้สักคำ ไม่งั้นเดี๋ยวจะเรียนไม่สำเร็จ สบายจนไม่เคยรู้รสชาติของความหิว เพราะปรางค์รู้ว่าเวลาคนเราสบาย จะเลิกล้มอะไรง่ายมาก ก็เลย สมัครไปเข้ามหาวิทยาลัยวาเซดะ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นเลย แล้วปรากฏว่าเขารับ ปรางค์จึงกลายเป็นเด็กไทยคนแรกและคนเดียวจาก Harrow (Harrow International School Bangkok) ที่เข้าเรียนที่วาเซดะ แต่แน่นอน ไปวันแรกสอบตก เพราะเขียนไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว เปิดข้อสอบมา 10 หน้าไม่เข้าใจอะไรเลย แต่เราคิดว่ายังไงก็ไม่กลับจะต้องรอดให้ได้ จะโดยวิธีไหนไม่รู้แต่ต้องขอลองไปก่อน บอกตัวเองอย่างเดียวว่าห้ามถอดใจ พอเห็นคะแนนว่า 0 จากเต็ม 100 ดีใจมาก! มองโลกในแง่ดีว่าเราโชคดีกว่าคนอื่นในห้องนะ เพราะกว่า 0 จะไปถึง 100 ปรางค์มีพื้นที่ในสมองที่จะได้เรียนรู้เยอะมาก ไม่เหมือนคนที่สอบได้ 80-90 แล้ว มีพื้นที่ให้เรียนรู้อีกนิดเดียว ดังนั้นเราจะมี growth opportunity สูงกว่าคนอื่น

ซึมซับคุณค่าญี่ปุ่น

     ปรางค์ไปญี่ปุ่นตอนอายุ 18 ซึ่งมันเฟรชมาก มีข้อดีเวลาเราเห็นสิ่งต่างๆ เราจะประทับใจและ รับไว้ได้เร็ว เหมือนผ้าขาวซึ่งซึบซับอะไรได้ไว โดยสิ่งที่เห็นก็คือคนญี่ปุ่นมีความเห็นแก่ส่วนรวม สูงมาก อย่างเช่นตอนเกิดแผ่นดินไหวโทโฮะกุ 9 ริคเตอร์ ซึ่งถือว่าแรงที่สุดที่เคยเกิดกับญี่ปุ่น ปรางค์ก็อยู่ในเหตุการณ์ เห็นเลยว่าตอนนั้นถ้าเป็นเราก็คงคิดจะวิ่งอย่างเดียว ไม่เชื่อไฟแดง แต่ปรากฏว่าคนญี่ปุ่นเขาหยุด คนข้ามถนนก็หยุด รถก็หยุด เพราะเขาคิดว่าถ้าตื่นตระหนกแล้วทำให้เกิดรถชน ก็จะเพิ่มประชากรที่ตาย ทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่ควรจะไปช่วยขนข้าวขนนํ้าช่วย ผู้ประสบภัยคนอื่น มันเป็นตัวตนที่ชัดมาก

     ...ขนาดเจ้านายปรางค์ซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เขาทำงานอยู่เมืองไทยตอนนั้น เขายังร้องไห้ เราก็ถามว่าร้องทำไม อยู่เมืองไทย ปลอดภัยแล้วไม่ต้องกังวล เขาก็บอกว่า ทั้งๆ ที่เขารู้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะที่ต้องเจอกับภัยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เขาเสียใจที่เขาไม่สามารถคิดเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหาได้ หรือคิดแล้วก็ยังดีไม่พอ ทำให้ปรางค์ซาบซึ้งมาก เพราะนี่คือผู้ชายอายุ 50 ปีที่นั่งอยู่ในออฟฟิศที่เมืองไทยแล้วยังคิดแบบนี้ ถ้าสิ่งแบบนี้เกิดกับเรา เราคงคิดแต่เรื่องให้เรารอด ครอบครัวเรารอด บ้านเรารอด เราคงลืมคิดเรื่องให้หมู่บ้านเรารอด ให้คนบริษัทเรารอด ให้ประเทศเรารอด มันก็ทำให้ปรางค์ชัดเจนมากขึ้นว่าการเสียสละมันเป็นยังไง


ปรางค์เลือกที่จะลงทุนกับ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ ในวันที่มันแย่ที่สุด ทำไป 2-3 เดือน คุณพ่อคุณแม่ท่านก็ถามว่าเลิกทำไหม กว่าจะได้เงินดูมันยากมากนะ ทำร้านอาหารที่บ้านวันหนึ่ง profit margin ก็แซงธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ทำไมต้องหาเงินโดยใช้วิธียาก แต่ปรางค์ถือเป็น challenge ต้องเชื่อในตัวเอง ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ ไม่ได้เป็นไร

ชีวิตที่ได้เปลี่ยนชีวิต

     ปรางค์รู้ว่าปรางค์ชอบอยู่กับคน ดังนั้นคิดว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตามที่กระทบหรือต้องเกี่ยวกับชีวิตของคน ตอนไปฝึกอยู่ฝ่ายขายหน้าร้านเพนดูลัมที่เชียงใหม่ ก็รู้สึกเลยว่าธุรกิจลักชัวรีนี่ชอบเลย ธุรกิจร้านอาหารก็ชอบมาก ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เช่นตอนที่ไปยืนเสิร์ฟที่นารา สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ช่วง Golden Week มีลูกค้าคนจีนมารอ 200-300 คิว ปรางค์รู้สึกสนุกมาก แต่เราก็มองว่าทั้งสองที่นี้ธุรกิจไปได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีพื้นที่ให้เราเติมเต็มเท่าไหร่

     ...ก็เหลือธุรกิจประกัน อันนี้เราคงไม่ชอบแต่ก็ไม่เคยได้ลอง เพราะรู้สึกว่ามันเป็นของที่ซื้อขายกันบนความกลัว เจอคนก็เจอแต่ตอนอุบัติเหตุ หรือเอาความกลัวเขามาขายของ พอดีได้เจอ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ (บริการคนขับรถสำหรับผู้ขับขี่ที่เมาจนไม่สามารถขับรถกลับบ้านเองได้) ก็คิดเลยว่านี่แหละคือประกันภัยแห่งอนาคต เราควรจะมีผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันคนจากอุบัติเหตุ ไม่ใช่รอให้มีอุบัติเหตุ ให้คนกลัวแล้วค่อยให้เขากลับมาซื้อประกัน จากการค้นคว้าของหุ้นส่วนจึงทำให้ทราบว่ากว่า 80% ของคนไทยเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ และส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุคือเมาแล้วขับ เราก็คิดว่าอย่างน้อยปัจจุบันที่มีคนมาใช้บริการ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ กว่า 2,500 เที่ยวต่อเดือนนี่ก็เท่ากับเราได้ช่วยคน 100 คนต่อวัน จากการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทำให้คนได้กลับบ้านที่เขารักอย่างปลอดภัย และรับผิดชอบ หรือทำสิ่งดีๆ อีกตั้งหลายอย่างในชีวิต ดังนั้นนี่คือสิ่งที่เราอยากทำ ธุรกิจที่มีผลกระทบต่อชีวิตคน เราอาจจะไปเปิดร้านเครื่องประดับหรือคาเฟ่อีกร้านก็ได้ แต่มันก็จะไม่ท้าท้าย และไม่ได้เปลี่ยนชีวิตใคร


ลองเพื่อรู้

     ธุรกิจ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ เป็นโลกใหม่สำหรับปรางค์ เพราะปรางค์จบรัฐศาสตร์ ไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์หรือธุรกิจ ไลฟ์สไตล์ก็ไม่ได้ดื่มเหล้าหรือสังสรรค์ แล้วชื่อสตาร์ทอัพก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่ามันไม่มีธุรกิจในปัจจุบันที่จะมา benchmark ได้ แต่ปรางค์รู้สึกว่าต้องลอง ปรางค์ไม่ชอบให้คนมาจำกัดว่าทำนี่ได้ ทำนั่นไม่ได้ เวลามีคนบอกว่าทำอะไรไม่ได้ ปรางค์จะ โอเค---ไม่เป็นไร เราไม่ถนัด เราอาจทำไม่ได้เกรด A แต่ขอลองก่อนได้ไหม ให้จุดแข็งจุดอ่อนมันถูกแสดงออกมา ได้ C ก็ยังดี สำคัญคือปรางค์ต้องได้ลองลงมือทำ ไม่งั้นปรางค์ใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้ ถ้ามีเครื่องหมายสงสัยอยู่ในหัว อย่างที่ปรางค์เชื่อว่า ‘Never say no to anything’ โอกาสมีอยู่ทุกมุมห้องลองขอให้ได้ลองด้วยสติและความต้องการไว้ก่อน อย่างอื่นไม่มีอะไรจะเสีย

     ...เมื่อตัดสินใจว่าจะทำ ก็ไปเอาเงินเก็บของ ตัวเองตั้งแต่ทำงานที่ญี่ปุ่นมาทำ ไม่อยากกู้เงินที่ไหน และก็ไม่อยากรบกวนคุณพ่อคุณแม่ เพราะวงจรของสตาร์ทอัพนี่ปกติอาจล้มได้ประมาณ 6 ครั้ง ถ้ายืมสตางค์คุณพ่อคุณแม่ ก็กลัวล้มแล้วท่านจะสูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเราท่านคงเป็นห่วง คิดว่าเรามีเงินในบัญชีเท่านี้ ต่อให้ไม่สำเร็จ burn out เงินทั้งหมด เราก็ยังล้มนุ่ม คนอาจจะมองว่าลูกคนมีเงินกล้าทำธุรกิจเพราะเวลาล้มก็ไม่เป็นไรอยู่แล้ว แต่ในทางกลับกัน ปรางค์คิดว่าในเมื่อเราโชคดีเกิดมาล้มนุ่มได้ เราก็ยิ่งต้องกล้าเสี่ยง เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากความโชคดีของเราให้เต็มที่ ดีกว่าเก็บเงินไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเสียโอกาส ตอนแรก ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ มีผู้ถือหุ้น 8 คน วันที่ปรางค์เข้าไปร่วมลงทุนผู้ถือหุ้นทั้งหมดถอนหุ้นออกไปหมดแล้ว เหลือเงินในบริษัทแค่ หลักพัน คือล้มแล้วเรียบร้อย แต่ปรางค์ก็ยังเข้าไปด้วยสัญชาติญาณว่ามันต้องเวิร์ค แล้วสุดท้ายมันก็พลิกได้จริงๆ ยอดใช้บริการขึ้นจาก 13 เที่ยวต่อเดือน มาเป็น 2,500 เที่ยวต่อเดือน ถ้าวันนั้นเราไม่ได้เอาเงินมาลงทุนตรงนี้ เงินที่เราเก็บไว้ก็คงจะ หมดไป โดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตใครเลย


ที่พึ่งที่คนนึกถึง

     ความจริงธุรกิจสตาร์ทอัพมีเรื่องสำคัญอยู่ 4 อย่าง คือ size, network, branding และ technology เรื่อง size เราสู้เจ้าใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว เรื่อง network เจ้าไหนๆ ก็มี เรื่อง technology ก็ใช้เวลาพัฒนานานมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าสู้ได้ก็คือการสร้างแบรนด์ด้วย trust เราต้องทำให้คนมั่นใจ และทำให้มัน addictive เป็นที่พึ่งให้เขาถึงนึกถึงแต่เราเพียงเจ้าเดียว เหมือนกระบวนการคิดที่ว่าปวดหัว แล้วอยากหายก็ต้องทานยา ยาชื่อพาราเซตามอล เหมือนกัน สำหรับ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ ถ้าวันนั้นดื่ม แต่คุณไม่ได้วางแผนและกลัวภรรยากลัวลูกเป็นห่วง คุณก็ต้องหาตัวช่วย ก็ให้คุณจำได้เลยว่าถ้าคุณ drink ก็ให้ที่นี่ drive

     …แต่การจะสร้างความมั่นใจนี้ก็ต้องมาจากประสบการณ์ของลูกค้า เราถึงได้คิดอย่างละเอียดละออเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดี เช่นให้คนขับใส่สูทสีฟ้า ไม่ใช้สีส้มสีเหลืองเพราะจะเหมือนมีเหตุฉุกเฉิน แต่ใช้สีฟ้าเพราะคนเมาเที่ยวที่มืดก็จะได้เห็นว่า อ้อ---สูทฟ้ามารับแล้ว แล้วเพื่อให้คนมั่นใจว่าเราไม่ได้เอาใครไม่รู้มาขับรถเขา เราก็ร่วมกับ บริษัท Limousine Express ซึ่งบริการลิมูซีนให้โรงแรม 5 ดาวหรือสายการบินมาช่วยฝึกพนักงานเรา พอขึ้นรถปั๊บก็ได้นํ้าได้ผ้าเย็น คนก็ประทับใจ เอาไปพูดปากต่อมาก ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมาก เป็นการตลาดที่แข็งแรงที่สุดและเป็น branding ของเรา คือถ้าเราขับรถให้คุณ เรามั่นใจว่าคุณต้องไปบอกต่อเพื่อนอีก 2 คนซึ่งเท่าที่ผ่านมามันก็พิสูจน์ว่าได้ผล


คุณค่าที่มากกว่าเงินเดือน

     สิ่งที่สำคัญที่สุด 3 อย่างสำหรับองค์กรไหนๆ ก็คือ people, people และก็ people เวลาทำ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ พนักงานขับรถของปรางค์มีที่มาหลากหลาย มีทั้งมีฐานะ จนถึงติดหนี้แล้วหางานพิเศษ ปรางค์ต้องทำให้เขารู้สึกว่าธุรกิจอันนี้ ไม่ได้ แค่ช่วยหาเงินไปวันๆ แต่ต้องให้เขารู้สึกภูมิใจที่ได้มาเป็นคนขับของเรา ให้เขารู้สึกว่าออกไปขับรถ ทุกวันแล้วได้ช่วยชีวิตคน มันถึงจะทำให้ปรางค์ ซื้อใจเขาได้ เหมือนกับที่คนญี่ปุ่นซื้อใจปรางค์ได้ แม้กระทั่งในวันแย่ๆของเขา ไม่อย่างนั้น ปรางค์ก็จะโดนลูกค้าแย่งพนักงานตลอด ลูกค้าเห็นพนักงานเราขับดี ก็แย่งตัวไป แต่นี่คนขับเราไม่ไป เพราะเขาไม่ได้ทำเพราะเงินอย่างเดียว แต่เขารู้สึกว่า core value ขององค์กร คือมีหน้าที่ขับรถไปส่ง และพาคนกลับบ้านอย่างปลอดภัย เราให้คุณค่าเขานอกเหนือไปจากเงินเดือน

     …นอกจากนั้น เราจะไม่มองอะไรข้างเดียว ไม่ฟังอะไรข้างเดียว เลือกที่จะมองคนของเราดีไว้ก่อน ให้เขามีสิทธิอธิบายตัวเอง พอเราไม่มีอคติ เราก็จะหาความจริงได้ ไม่อย่างนั้น ใคร complain อะไรมา เราก็เชื่อเลยว่าคนของเราผิดอย่างเดียวแน่ๆ เราอาจจะเสียบุคลากรที่ดีที่สุดคนหนึ่งไปเลย ปรางค์มองว่า คนเราอาจไม่ได้เกิดมาเป็นพี่น้องกัน แต่มันต้องมีคำว่า trust อยู่ พนักงานต้อง trust องค์กรเรา แล้วลูกค้าก็ต้อง trust ในตัวพนักงานเรา พอทุกคนรู้สึกได้รับความไว้วางใจ เขาก็จะรู้สึกมีเกียรติ และนี่ทำให้เราซื้อใจคนได้


เจตจำนงที่จะแข่งขัน

     หลักการหนึ่งที่คุณพ่อสอนเสมอคือบนท้องฟ้ามีว่าวหลายไซส์ มีตัวใหญ่ตัวเล็ก แต่พออยู่บนท้องฟ้าแล้วก็สูงเท่ากันหมด แต่สำคัญคือลูกจะได้มีโอกาสได้เข้าไปเล่นในลีกเดียวกัน กับเขาหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ท่านให้ว่าวเราได้ ให้การศึกษา การเลี้ยงดูที่ดี ความปลอดภัย ให้ปรางค์มีว่าวตัวเล็กๆ ถือไป แต่มันอยู่ที่ว่าขึ้นฟ้าไปแล้ว ปรางค์จะมี will power มากพอจะลอยได้กับคนอื่นไหม มีเจตนาที่จะวัดตัวเองในลีกนั้นไหม เหมือนอย่างที่ปรางค์เลือกที่จะลงทุนกับ ยู ดริงค์ ไอ ไดรฟ์ ในวันที่มันแย่ที่สุด ทำไป 2-3 เดือน คุณพ่อคุณแม่ท่านก็ถามว่าเลิกทำไหม กว่าจะได้เงินดูมันยากมากนะ ทำร้านอาหารที่บ้านวันหนึ่ง profit margin ก็แซงธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ทำไมต้องหาเงินโดยใช้วิธียาก แต่ปรางค์ถือเป็น challenge ต้องเชื่อในตัวเอง ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ ไม่ได้เป็นไร แต่ขอเป็นว่าวสีฟ้า ตัวเล็กๆ ตัวนึงที่ลอยแข่งในนั้น

ความสุขที่แท้

     คุณพ่อบอกเสมอว่า ความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือความสำเร็จของครอบครัว ถ้าครอบครัวไม่สำเร็จ ก็ไม่มีความหมายอะไร ต่อให้มีเงิน ก็ไม่มีความสุขอะไรเลย ปรางค์ไม่เคยรู้สึกขาดอะไรเลย เวลาวันเกิดที่บ้านถามอยากได้อะไรก็คิดไม่ออก เพื่อนยังบอกเลยว่า บ้านขายนาฬิกา ทำไมไม่ชอบใส่นาฬิกาแพงๆ เราก็แค่ไม่ได้ให้คุณค่าสิ่งเหล่านั้น ที่บ้านอาจจะทำธุรกิจอาหาร แต่จะให้ทานแต่ไฟน์ ไดนิ่งอย่างเดียวมันไม่ได้มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับปรางค์ ความจริงที่บ้านชอบออกไปรับประทานข้าวที่ร้านเก่าแก่ดั้งเดิม เช่นอยู่แถวแจ้งวัฒนะก็จะมีร้านข้าวหมูแดงหมูกรอบ ร้านบะหมี่ปู ไปถึงอากงอาม่าก็จะทัก ว่าเราโตขึ้นเยอะ หรือร้านเย็นตาโฟหลังการบินไทยที่ชอบ เวลาป่วยคุณพ่อก็จะมาถาม ไปร้านนี้ไหมลูก เพราะรู้ว่ามัน เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น เดี๋ยวลูกจะได้หาย เราดูแลกันแบบนี้ เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญมาก

รู้จักอภินรา



     อภินรา ศรีกาญจนา จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก Waseda University ประเทศญี่ปุ่น ต่อด้วยปริญญาโทด้านวัฒนธรรมและสังคม จากมหาวิทยาลัย London School of Economics & Political Science ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันรับหน้าที่ดูแลฝ่าย Business Development ของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 และหนึ่งในผู้บริหารสตาร์ทอัพ U Drink I Drive, Thailand