SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Healing Power
ค้นหาพลังและความหมายเบื้องหลังภารกิจช่วยเหลือทุกชีวิตให้เข้าถึงยา ท่ามกลางดินแดนที่ได้ชื่อว่า ‘God-forsaken continent’ ของศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์
เมื่อพูดถึงภารกิจต่อต้านโรคระบาดระดับโลกอย่างเอดส์หรือมาลาเรีย คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงภาพขององค์การระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยทรัพยากรบุคคลและงบประมาณสำหรับให้การช่วยเหลือกับประเทศต่างๆ มากกว่าภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะสถานการณ์ร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนเป็นหลักหลายสิบล้านและเกี่ยวพันกับหลักวิชาขั้นสูงอย่างเภสัชเคมีนั้น ดูพ้นวิสัยการแก้ปัญหาในระดับของบุคคลไปไกล
กระนั้น หนึ่งคนที่ไม่คิดอย่างนี้ก็คือศาสตราจารย์ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรรางวัลรามอน แมกไซไซ ผู้ตระเวนไปตามประเทศที่ประสบปัญหาอย่างไลบีเรีย เอธิโอเปีย แซมเบีย คองโก ฯลฯ เพื่อสอนคนท้องถิ่นทำยาจากวิธีที่เป็นไปได้ในพื้นที่ก่อนเดินทางไปยังประเทศประสบภัยอื่นๆ ต่ออย่างไม่หยุดยั้ง จนได้รับสมญาจากสื่อนานาชาติว่า ‘เภสัชกรยิปซี’ โดยหลายครั้งเธอไปถึงพื้นที่วิกฤติก่อนการสนับสนุนจากองค์กรระดับนานาชาติหรือแม้กระทั่งน้ำประปาคุณภาพจะไปถึง หลายครั้งก็ไปก่อนสงครามกลางเมืองยุติ และอีกหลายครั้ง เธอไปโดยเงินส่วนตัวของเธอเอง ความยากของปัญหาดูเหมือนจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำงานสำหรับ ดร.กฤษณา ไม่ใช่จุดจบ
ในโอกาสที่รายงานล่าสุด (2016) จากโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ระบุข่าวน่าพอใจว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ลดลงถึง 41% จากปี 2005 จนมีความหวังว่าสถานการณ์ระบาดอาจหายไปได้ในปี 2030 จึงขอเชิญติดตามแนวคิดและการทำงานของหญิงแกร่งผู้แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าการแก้ไขปัญหาระดับโลกอาจทำได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความพร้อมระดับโลกเสมอไป
สิทธิในการมีชีวิต
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์เริ่มสร้างชื่อสมัยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนา องค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข โดยเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย ภายใต้การนำของเธอ องค์การเภสัชกรรมสามารถผลิตยา Zidovudine ซึ่งมีฤทธิ์ในการลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก และยารวมต้านเอดส์ 3 ชนิดในเม็ดเดียวที่เรียกว่า GPO-VIR ให้เป็นยาสามัญได้สำเร็จและขายในราคาเศษเสี้ยวของยามียี่ห้อ ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยเอดส์จะสามารถซื้อยาเหล่านี้มารักษาตัวได้ในระยะยาว โดยไม่หมดตัวเพราะค่าใช้จ่าย
“จริงๆ ไม่ใช่ยาเอดส์อย่างเดียว ยาเบาหวาน ยาความดัน ทำหมดทุกอย่าง อะไรที่ทำได้ก็ทำหมด ไม่ได้คิดว่าฉันเกิดมาเพื่อยาเอดส์ ฉันทำยาอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เรามองว่าทุกคนมีสิทธิมีชีวิต ไม่ว่าเขาจะขาวจะดำ จะรวยจะจน เขามีสิทธิมีชีวิต มีสิทธิเข้าถึงยา ฉะนั้นเราทำยาอะไรก็ได้ที่ให้เขามีชีวิต
…แน่นอนบริษัทยามีกำไรได้ แต่ไม่ใช่กำไร 200 % 800 % เขาทำให้ราคาถูกได้ แต่ไม่ทำ เพราะต้องทำกำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น แต่เราไม่ใช่ เรามาทำงานองค์การเภสัชฯ เราทำงานให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งยากจน ดังนั้นเราก็ทำยาชื่อสามัญ ฝรั่งทำยามียี่ห้อ เราก็ทำบ้าง แต่เราขายในราคาถูกกว่าเขาเป็น 20-30 เท่า เพื่อให้มีจำนวนคนได้รับประโยชน์มากขึ้น อย่างผู้ป่วยเอดส์ แต่เดิมค่ายา 20,000-30,000 บาทต่อเดือน มีแค่คน 600 คนที่เข้าถึงได้ นอกนั้นไม่มีเงิน แต่พอเราทำยา คน 150,000 คนที่เป็นผู้ป่วยได้รับยาหมด ผู้ป่วยเอดส์นี่ไม่มียาก็อยู่ไม่ได้ แต่ได้ยาเขาก็มีชีวิตอยู่เหมือนคนปกติ ถึงต้องพยายามทำ เพราะคนเรามีสิทธิที่จะมีชีวิต”
ฟังเผินๆ การผลิตยาสามัญอาจดูไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเป็นการผลิตยาโดยถอดสูตรเอาจากส่วนผสมหลักของยามียี่ห้อที่วางขายอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติ กระบวนการนี้ยังต้องอาศัยการค้นคว้าทดลองที่ละเอียดซับซ้อนอีกยาวนานกว่าจะได้สัดส่วนและกรรมวิธีที่ถูกต้องสำหรับส่วนผสมต่างๆ และในบางครั้งการทำงานกับสารเคมีที่มีฤทธิ์ระดับระงับโรคร้ายได้ก็มีอันตรายสูง เช่นตัวยา Zidovudine ที่ ดร.กฤษณาวิจัยจนผลิตได้สำเร็จนั้น มีองค์ประกอบเป็นสารพิษก่อมะเร็ง ซึ่งทำให้ระยะหนึ่งเธอต้องทำงานวิจัย วิเคราะห์ และผลิตยาตัวนี้เพียงลำพังโดยไม่มีใครช่วย เนื่องจากนักวิจัยคนอื่นๆ ไม่พร้อมเสี่ยง ชัดเจนว่าในขณะที่ ดร.กฤษณาให้ความสำคัญกับสิทธิในการมีชีวิตของเพื่อนมนุษย์อย่างยิ่ง ชีวิตของเธอเอง กลับมีความสำคัญเป็นลำดับรองเท่านั้น
“คนเราทุกคนถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไร แล้วจะกังวลไปทำไม ถ้าเป็น food poisoning อาจมีกังวลบ้างว่าจะไปเข้าห้องนํ้าที่ไหน แต่เรื่องตายไม่กังวล จะทำงานทำไมต้องมี excuse”
จริงๆ ไม่ใช่ยาเอดส์อย่างเดียว ยาเบาหวาน
ยาความดัน ทำหมด
ทุกอย่าง อะไรที่ทำได้
ก็ทำหมด ไม่ได้คิดว่า
เกิดมาเพื่อยาเอดส์
ฉันทำยาอย่างอื่นไม่ได้แล้ว เรามองว่าทุกคนมีสิทธิมีชีวิต ไม่ว่าเขาจะขาวจะดำ จะรวยจะจน ฉะนั้นเราทำยาอะไรก็ได้ที่ให้เขามีชีวิต
มนุษยธรรมไม่มีพรมแดน
ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคเอดส์อาจไม่ค่อยได้รับรู้ถึงความสำเร็จของ ดร.กฤษณา แต่ความจริงแล้ว ผลงานของเธอส่งผลกระทบกว้างไกล องค์การอนามัยโลกยกให้ตัวยาของเธอเป็นแนวทางการระงับโรคเอดส์ในประเทศยากจน ในขณะที่ประเทศไทยก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่สามารถผลิตและส่งออกยาเอดส์ได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนี้เองกลับเป็นจุดผกผันสำหรับ ดร.กฤษณา เพราะเมื่อตัวแทนประเทศไทยไปประกาศในที่ประชุมองค์การอนามัยโลกว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือประเทศในทวีปแอฟริกาผลิตยา แต่เมื่อกลับถึงไทยกลับไม่ได้ดำเนินการ โดยให้เหตุผลว่าทำแล้วประเทศอาจไม่ได้อะไร ดร.กฤษณาก็ตัดสินใจลาออกจากองค์การเภสัชกรรม เพื่อเดินทางไปให้ความช่วยเหลือแก่คนในทวีปแอฟริกาด้วยตัวเธอเอง โดยมีประเทศคองโกเป็นเป้าหมายแรก ทั้งนี้ เธอไม่ได้รับการสนับสนุนใดๆ จากทางการ อันที่จริง เงินบำเหน็จจำนวน 1 ล้านบาทที่เธอได้รับตอนลาออก ถูกใช้จนหมดในโครงการช่วยเหลือแรกของเธอนี่เอง
“ไปทำตั้งแต่ออกแบบโรงงาน คุมงานก่อสร้าง บอกสูตรยา ก็ทำทุกอย่าง มันเป็นสัจจะ สัจจะนี่สำคัญนะ คนอาจจะมองว่าโง่หรือเปล่า ทำไมต้องทำตามสัญญาตลอด แต่คนเราถ้าไม่มีสัจจะแล้ว มันไม่มีอะไรเหลือ ถ้าบอกว่าจะไป แล้วไม่ได้ไป ตายเสียดีกว่า เราลืมสัญญา แต่คนได้รับสัญญาเขาไม่เคยลืม ก็เลยลาออกจากทุกอย่าง แล้วก็ไป
…ไม่ได้คิดหรอกเรื่องจะยากลำบากแค่ไหน คิดแต่ว่าฉันจะทำ ทำได้ไม่ได้อีกเรื่อง เป็นคนดื้อ ทำอะไรก็จะทำไปเรื่อยๆ ไม่คิดว่าจะทำสำเร็จนะ ตอนที่คิดทำยาเอดส์ในเมืองไทยด้วยเหมือนกัน ตอนปี 2004 ที่ประเทศไทยมีงานประกาศว่าจะให้ยาแก่ผู้ป่วยเอดส์ทุกคน เราก็ไปร่วมงานด้วย ขากลับจากงานยังคุยกับผู้ช่วยว่าไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้ วันที่ผู้ป่วยเอดส์ทุกคนได้รับยา แต่ทำไปเรื่อยๆ มันก็เสร็จเหมือนกัน
…ทำงานไม่ต้องไปคิดว่ามันจะสำเร็จ จริงๆ ความสำเร็จนี่ ถ้าเราไปแบ่งเป็นตอนๆ ก็สำเร็จทุกวัน อย่างสัญญาว่าจะมาให้สัมภาษณ์ วันนี้ก็ทำสำเร็จแล้ว พรุ่งนี้ก็ค่อยว่ากันใหม่ พรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะถึงก่อนกันยังไม่รู้เลย เพราะฉะนั้นก็ทำไปเรื่อยๆ เสร็จเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไม่เสร็จก็ไม่เสร็จ จะเอาอะไรกันนักหนา เราทำดีที่สุดแล้ว มากที่สุดแล้ว มันก็ไม่จบหรอกชีวิตนี้ เพราะถ้าทำเสร็จ วันรุ่งขึ้นก็ต้องทำอย่างอื่นอีก
…ทำไปเลย เรามีอะไรพร้อมในชีวิต ความไม่พร้อมคือข้ออ้าง ถ้าไม่มีไอ้นั่นไม่มีไอ้นี่แล้วไม่ทำดีกว่า รอให้พร้อม ไม่มีหรอกชาตินี้ เพราะว่าข้ออ้างมันเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ พอมีอันนี้ก็อ้างอันอื่นอีก สรุปคือจะไม่ทำ มันก็ไม่พร้อมสักที พร้อมมันอยู่ที่ใจ ถ้าเราพร้อม ไม่มีอะไร เราก็พร้อมได้ ดัดแปลงได้ทั้งนั้น เรามีสมองอยู่ อย่าไปตันตรงนี้ ถ้าคิดว่าตรงนี้ไม่มี ก็ไม่เอา คิดอะไรไม่ออกแล้ว ก็ไม่ต้องทำอะไรกันพอดี”
ความพร้อมอยู่ที่ใจ
แม้ ดร.กฤษณาจะเล่าเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หากอ่านประวัติชีวิตของเธอที่ถูกเล่าขานอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำหลากหลายภาษา เช่น The New York Times, Der Spiegel, Le Figaro หรือ Reader’s Digest แล้ว ก็จะเห็นว่า ‘ความไม่พร้อม’ ที่เธอได้เผชิญตลอดการเดินทางไปสอนวิธีการทำยาเอดส์ มาเลเรีย หรือยาสำคัญอื่นๆ ในประเทศในแอฟริกานั้น เป็นมากกว่าข้ออ้างลมๆ แล้งๆ มากนัก ไม่ว่าจะเป็นการกินการอยู่ที่อัตคัต ไปจนถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ในคืนแรกที่คองโก ข้างบ้านของ ดร.กฤษณาถูกระเบิดลง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นฝีมือของนักธุรกิจยาที่กลัวถูกขัดผลประโยชน์ จนต้องมีการส่งคนมาคุ้มกัน (แต่ภายหลังเธอสั่งยกเลิก เพราะเห็นว่าไม่ช่วยอะไร เนื่องจากในยามกลางคืน เธอแง้มม่านดูแล้วพบยามกว่า 10 คนที่ถูกส่งมาก็นอนหลับเหมือนเธอ) ที่ไนจีเรีย รถแท็กซี่ที่เธอนั่งจากสนามบินเข้าบ้านพัก ถูกปล้นถึง 5 ครั้งในคืนเดียว ในขณะที่ในไลบีเรีย คุณภาพของน้ำประปาก็ขุ่นและคันจน ดร.กฤษณา ต้องใช้โซดาในตู้เย็นมาล้างหน้า และใช้น้ำหวานแฟนต้าล้างเท้า ยิ่งกว่านั้น แม้ผ่านทุกอย่างมาได้ เมื่อถึงเวลาลงมือทำงานเข้าจริงๆ อุปกรณ์ก็ยังขาดแคลนอย่างน่าใจหาย ในบางประเทศ ดร.กฤษณาต้องผสมยาโดยใช้ถุงพลาสติกเป็นที่เขย่า วิเคราะห์การแตกตัวของยาโดยละลายยาในน้ำแล้วคน หรือแม้กระทั่งวัดความแข็งของยาโดยใช้แรงเท้ากระทืบและกะความแรงให้เท่าๆ กัน จนเธอรำพึงว่า “ย้อนหลังไปสักร้อยปี คนสมัยก่อนคงทำแบบนี้”
“ความจริงเรื่องงานไม่ถือว่ายาก เพราะเรารู้วิธี ความท้าทายคือเรื่องสุขภาพ เพราะมันอันตราย เป็นอาหารเป็นพิษบ่อยมาก ไม่รู้กินอะไรเข้าไป จะเป็นมาลาเรียหรือเปล่าก็ไม่รู้ เวลาเดินทางจึงมียา ¼ ของกระเป๋า อาหารไม่มี ไปกินกับเขา เขากินอะไรก็กินแบบนั้น ของพวกนี้มันแค่ชั่วครู่ ก็คอยบอกคนอื่นว่าไปแอฟริกามันเดือดร้อน ลำบากก็จริง แต่แป๊ปเดียวก็กลับมาไทย มาอยู่กับชีวิตสุขสบายที่ไทยแล้ว แค่นี้ทนไม่ได้เหรอ แค่ช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ได้อยู่ตรงนั้นตลอด ถ้าอยู่ตรงนั้นตลอดก็อาจจะเป็นทุกข์ ว่าชีวิตฉันมีอยู่แค่นี้ ไม่มีมากกว่านี้ แต่นี่ไปแทนซาเนีย 42 ครั้ง ภายใน 5 ปี ใช้เวลาอยู่ที่แทนซาเนีย 240 วัน ก็เป็นแค่ช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมด
…ไม่เคยรู้สึกว่างานนี้ไม่เหมาะกับเรา เราอุตส่าห์เรียนอะไรมาเยอะแยะ เรียนอะไรเต็มไปหมด แล้วจะมาคิดว่าฉันไม่ควรทำงานนี้ไม่ได้ ไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าฉันไม่ล้างเครื่องแก้ว แล้วใครจะล้าง นั่งรอให้มันล้างเองเหรอ ก็ไม่ใช่ ก็ทำเสียดีกว่า ตอนนี้อยู่คอนโดคนเดียวก็ทำทุกอย่าง ล้างห้องน้ำ กวาดบ้าน ซักผ้า รีดผ้า ไม่เคยมีคนใช้ ไม่เคยมีเลขาฯ เลยตั้งแต่ทำงานมา เอาเลขาฯ ไปทำแล็บดีกว่า ไม่ต้องมาอยู่ใกล้ๆ เดี๋ยวฉันจัดการของฉันเอง
…ชีวิตทุกคนมันต้องตาย แล้วจะกลัวอะไรนักหนา แค่เปลี่ยนจากบ้านหนึ่งไปนอนอีกบ้านหนึ่ง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะไปท้าให้คนยิงอะไรแบบนั้น แต่เรื่องพวกนี้ไม่เคยอยู่ในสมอง ไม่มีเลย ใครอยากข่มขู่ก็ช่าง หมาเห่าไม่กัดหรอก ไม่ได้รู้สึกอะไร พี่ไปทำงานตีห้าครึ่ง กลับตอนหนึ่งทุ่ม จอดรถที่เดิมตลอด ใครอยากทำอะไรก็ทำได้เลย ตามสบาย”
เราทุกคนถูกกำหนดไว้แล้วว่าจะตายเมื่อไหร่
ตายอย่างไร แล้วจะกังวลไปทำไม
ถ้าเป็น food poisoning อาจมีกังวลบ้าง
ว่าจะไปเข้าห้องน้ำที่ไหน แต่เรื่องตายไม่กังวล
จะทำงานทำไมต้องมี excuse
เข็นครก (ยา) ขึ้นภูเขา
“ในด้านของการทำงาน นับเป็นเรื่องน่าประหลาดว่า ดร.กฤษณา สามารถสอนให้คนท้องถิ่นทำยาได้ทั้งที่พูดภาษาไม่ได้และอุปกรณ์ไม่พร้อม ในบางประเทศ เมื่อไปถึงแล้วถามว่าต้องการให้ทำยาที่ไหน คำตอบที่ ดร.กฤษณาได้คือมือที่ชี้ไปที่ภูเขา ซึ่งหมายความว่าเธอมีแต่ที่ดินเปล่าสำหรับสร้างโรงงาน กระนั้นท่ามกลางข้อจำกัดเหล่านี้ ดร.กฤษณากลับประสบความสำเร็จในการสอนให้คนท้องถิ่นทำยาเอดส์และมาเลเรียในราคาถูกได้เป็นอย่างดี ในคองโก เธอใช้เวลา 3 ปีในการเปลี่ยนที่ดินเปล่าให้เป็นโรงงาน ในแทนซาเนีย เธอช่วยอัพเกรดโรงงานยาร้างให้กลับมาผลิตยาที่มีความจำเป็นได้ เช่นเดียวกับที่มาลี ที่เธอได้ช่วยปลุกปั้นให้ประเทศนี้เป็นประเทศแรกในทวีปแอฟริกาใต้ซาฮาราที่สามารถผลิตยาต้านมาเลเรียได้ในสเกลอุตสาหกรรม
“ไม่ต้องพูดอะไรมากหรอก ทำงานให้เขาดูก่อน ภาษากายก็มี ให้เขาทำตามแล้วจดไว้ แล้วก็ให้เขาทำซ้ำอีกรอบเพื่อดูว่าจดถูกไหม ง่ายจะตาย ภาษาไม่สำคัญอะไร พยายาม simplify พูดกันไม่รู้เรื่องนี่ดีเสียอีก เราบ่นเขาก็ไม่รู้ เขาบ่นเราก็ไม่รู้ ก็อยู่กันอย่างมีความสุข อยากพูดอะไรก็พูดไปสิ ฟังไม่รู้เรื่อง ดีเหมือนกัน สมองจะได้พัก ทำอย่างอื่น คิดอย่างอื่นไป
…เป็นเรื่องของ flexibility เรามีความยืดหยุ่น เพราะไม่ได้กำหนดว่ามันต้องเป็นแบบนี้ๆ มีอะไรก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ มีปัญหาตรงนี้ก็แก้ไปจุดหนึ่ง มีตรงนี้ก็แก้ไปอีกจุด มันไม่มีรูปแบบอยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม แผนปรับได้ตลอดเวลา ไม่ใช่เป็นคนโลเลไม่แน่นอนนะ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เราก็ต้องปรับวิธีการให้เข้ากับสถานการณ์”
สำหรับ ดร.กฤษณา สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่ภาษาแต่เป็นการเชื่อในความสามารถและศักดิ์ศรีของมนุษย์ ที่ไม่จำกัดด้วยสีผิวหรือเชื้อชาติ เธอพบว่าความสำเร็จในการผลิตยาไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของอุปกรณ์มากเท่ากับความตั้งใจของคนในท้องถิ่น บางประเทศขาดแคลนและไม่รู้ภาษาอังกฤษ แต่สอนเพียงครั้งเดียวก็ทำได้ ในขณะที่บางประเทศ ไม่มีอุปสรรคในด้านการสื่อสารและได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ มาโดยตลอดแต่กลับสอนยากกว่า
“ตอนแรกไปใหม่ๆ บริษัทยาข้ามชาติก็พูด โอ้ย---ทำไม่ได้หรอก พวกนี้ไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้น 10 ปีให้หลังถึงค่อยมาบอก ‘เราควรสนับสนุนให้มีการผลิตยาโดยคนท้องถิ่น’ กลับลำเลย นี่เพราะไปดูถูกเขาก่อนว่าทำไม่ได้ อีกทีก็ที่บราซิล มีคนดำที่ไปอยู่กับคนขาวแล้วก็ดูถูกคนประเทศเดียวกัน บอก ‘โอ้ย---คุณทำไม่สำเร็จหรอก คุณไม่เข้าใจคนแอฟริกัน’ พี่ก็เลยบอก ‘ถ้าฉันทำเสร็จ ฉันจะบอกคุณคนแรกเลย’ แล้วพอพี่ทำเสร็จพี่ก็เขียนอีเมลไปบอกเขาก่อนจริงๆ คนก็คือคน ทำไมเราต้องแบ่ง มาจากแอฟริกาผิวดำ มาจากยุโรปผิวขาว เอเชียผิวเหลือง มันก็คนทั้งนั้น ไม่ต่างกัน ถ้าเอาข้างในมาดู”
อย่างไรก็ตาม การผลิตยาได้สำเร็จเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะเช่นเดียวกับอีกหลายๆ แห่งในโลก การเมืองเป็นปัญหาที่เคลือบซ้อนอยู่เบื้องหลังของแทบทุกๆ ปัญหา ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารแพรวว่า “หลังจากผลิตยาเสร็จแล้ว ก็ยังต้องออกแรงอีก ต้องทำอะไรหลายอย่าง คุยกับผู้ใหญ่ เพื่อนคนไหนรู้จักใคร เราก็ขอให้ช่วยติดต่อไปคุย ยอมทำทั้งนั้น แต่ปัญหาบางอย่างเราก็แก้ไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหากับนักการเมือง ต้องคิดว่า ถ้าเขาไม่คิดว่าประชาชนของเขาควรได้รับยา ก็สุดแล้วแต่”
ด้วยแรงทุ่มเทระดับนี้ ไม่แปลกที่คนท้องถิ่นที่ทำงานกับ ดร.กฤษณาจะรับรู้ได้เป็นอย่างดีถึงความห่วงใยที่เธอมีให้แก่เพื่อนมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ยอมรับถึงสไตล์การทำงานอันรวบรัดเด็ดขาด ไม่เปิดช่องให้ข้ออ้างใดๆ ของเธอ ดังสังเกตได้ชัดจากสมญากึ่งพระคุณกึ่งพระเดชที่พวกเขาตั้งให้กับ ดร.กฤษณา ไม่ว่าจะเป็น Mama Tough ที่แปลว่า ‘แม่ถึก’ หรือ Simba Jike ซึ่งเป็นภาษาสวาฮิลีแปลว่า ‘นางสิงห์’
อันที่จริง ยามที่ถาม ดร.กฤษณาถึงงานหลากหลายของเธอว่าโครงการใดกินเวลาเธอมากที่สุด ดร.กฤษณาตอบอย่างแสดงตัวตนความเป็น ‘เวิร์กอะฮอลิก’ ผู้ดุดันของเธอได้เป็นอย่างดีว่า “เรื่องสัมภาษณ์นี่แหละ เพราะไม่ได้ของ ถ้าเอาเวลาไปทำงานก็ยังได้ของบ้าง”
รากฐานครอบครัว
แม้สิ่งที่ ดร.กฤษณาทำจะมีความละเอียดซับซ้อนและเป็นเรื่องใหญ่ระดับนานาชาติ แต่เมื่อถามว่าอะไรคือรากฐานของสิ่งเหล่านี้ น่าแปลกที่ ดร.กฤษณาไม่ได้พูดถึงสถาบันอันทรงเกียรติที่เธอได้ผ่านมาอย่าง University of Strathclyde (ปริญญาโท) หรือ University of Bath (ปริญญาเอก) มากเท่ากับวัยเด็กที่เธอได้เคยเห็นคนในบ้านให้การ ‘รักษา’ ผู้อื่นมาตลอด ไม่ว่าในฐานะหมอแผนโบราณ หมอแผนปัจจุบัน พยาบาล หรือแม่ชี รวมไปถึงวัยประถมในโรงเรียนราชินีบน ซึ่งทำให้เธอเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนทุกๆ พื้นเพได้อย่างสนิทใจ ในชีวิตที่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ รางวัล และเกียรติยศต่างๆ จนนับจำนวนไม่ได้ ดร.กฤษณาบอกว่ารางวัลที่ภูมิใจที่สุดคือ รางวัลศิษย์เก่าดีเด่นของโรงเรียนราชินี
ชีวิตทุกคนมันต้องตาย แล้วจะกลัวอะไรนักหนา
...ใครอยากข่มขู่ก็ช่าง หมาเห่าไม่กัดหรอก ไม่ได้รู้สึกอะไร พี่ไปทำงานตีห้าครึ่ง กลับตอนหนึ่งทุ่ม จอดรถที่เดิมตลอด ใครอยากทำอะไรก็ทำได้เลย ตามสบาย
“การอยู่โรงเรียนประจำทำให้เราเรียนรู้เรื่องการปรับตัว การเข้ากับเพื่อน และเรียนรู้พฤติกรรมของคน เพราะจะเป็นคนไทยหรือคนชาติไหนๆ พฤติกรรมก็เหมือนกันหมด กิเลสเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้มีความหมายมาก โดยเฉพาะในการทำงานที่เราต้องรับมือกับคนหลากหลาย ต้องรู้เขา รู้เรา เวลาจะไปคุยกับใคร ต้องพูดให้ถูกจุด ถูกเส้น ให้มันเป็น win-win ไม่ใช่ฉันได้คนเดียว แล้วเธอไม่ได้อะไรเลย ให้เขามีความสุขว่าเขาก็ได้ ไอ้เราก็ได้เหมือนกัน ต่างคนต่างสุข โรงเรียนประจำให้การศึกษาตรงนี้ได้ดีที่สุด
…แล้วคนเรามันมาจากพื้นฐานทั้งนั้น แม่พี่เป็นพยาบาล พ่อเป็นหมอ ขี่ม้าไปรักษาคนไข้ เพราะเกาะสมุยไม่มีรถ การเดินทางลำบาก คนไข้ไม่มีเงินก็ให้กะปิ นํ้าปลามาแทน มีอะไรก็ให้อันนั้น ก็ไม่เป็นไร คุณตาก็เป็นหมอแผนโบราณ เราเคยนั่งปั้นและสุมไฟยาลูกกลอนแผนโบราณของคุณตา ส่วนคุณยายเป็นแม่ชีอยู่ที่วัด เราชอบไปนั่งรอคุณยายสวดมนต์อยู่ใต้ต้นพิกุลนอกโบสถ์ ยายก็คอยสอนว่าหนูโอกาสดีกว่าคนอื่น หนูต้องช่วยคนอื่นนะ เราก็เห็นและถูกปลูกฝังอย่างนี้มาตลอด ถึงได้บอกว่าช่วงชีวิตเด็กๆ นี่มันมีความหมายมากสำหรับชีวิตคนๆ หนึ่ง ทำให้เราเป็นนู่นเป็นนี่ได้ มาสอนตอนโตๆ มันไม่ทันแล้ว มันเหมือนมาบังคับให้ทำ
…พ่อเราสอนให้เราภูมิใจว่าเรามีแค่นี้ เราพอแล้วนะลูก เราเลยไม่เคยรู้สึกด้อยอะไรเลย จะยากจนจะเป็นยังไง ก็ไม่เคยรู้สึกอะไร อยู่โรงเรียนสำหรับพวกผู้ดีทั้งหลาย คนร่ำรวย โดยที่เราก็ไม่ได้ร่ำรวย เราก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่ได้หลงตัวเองนะ แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเราด้อยกว่าคนอื่น เงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ มันคืออะไร เดี๋ยวตายไป มันก็ไปกับเราแล้ว มันก็ไม่มีแล้ว แต่สิ่งที่เราทำให้คนอื่นมันยังเหลืออยู่ ตอนนี้ผู้ป่วยเอดส์ 150,000 คน เขายังไม่ตาย เขายังอยู่ทั้งหมด
…ก็มีคนเอาเรื่องไปทำเยอะ ทำละคร ทำหนัง บรอดเวย์อะไร แต่จริงๆ ก็อย่างที่บอก ไม่ได้รู้สึกว่าโอ้โห---ฉันภูมิใจมาก จริงๆ บอกเขาไปด้วยว่า อย่าเพิ่งทำนะ รอฉันตายก่อนค่อยทำ เพราะฉันยังมีโอกาสทำชั่วได้อีก เรื่องตั้งใจชั่วเราไม่ทำอยู่แล้ว แต่ไม่ตั้งใจนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ทำพลาดไป แต่เอาละ เขาอยากทำก็ทำไป ดีไม่ดีก็พิสูจน์กันเอาเองแล้วกัน”
ความสุขที่คนมองไม่เห็น
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางภาพความแร้นแค้นทุรกันดารมากมายเกี่ยวกับชีวิตในแอฟริกาของ ดร.กฤษณา ไม่ว่าจะเป็นที่ปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์ คำประกาศกิตติคุณ ชีวประวัติ ตลอดจนหนังสารคดี A Right to Live: AIDS Medication for Millions และบทละครเรื่อง Cocktail เธอบอกว่าสิ่งหนึ่งที่คนอาจมองพลาดไปก็คือความสุขของคนแอฟริกัน
ยามที่ถาม ดร.กฤษณาถึงงานหลากหลายของเธอว่าโครงการใดกินเวลาเธอมากที่สุด ดร.กฤษณาตอบอย่างแสดงตัวตนความเป็น ‘เวิร์กอะฮอลิก’ ผู้ดุดันของเธอได้เป็นอย่างดีว่า “เรื่องสัมภาษณ์นี่แหละ เพราะไม่ได้ของ ถ้าเอาเวลาไปทำงานก็ยังได้ของบ้าง”
“คนแอฟริกันเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกนะ ที่เขาวัดดัชนีความสุขนี่คนแอฟริกันสุขที่สุด ทั้งๆ ที่คนแอฟริกันก็ยากจนที่สุด และมีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในแอฟริกามากที่สุด ทำไมเขามีความสุข ก็เพราะความสุขของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ ความสุขเขาเป็นอิสระ ความสุขเราไม่เป็นอิสระ ความสุขเราเป็นเมืองขึ้น เพราะมันขึ้นอยู่กับอย่างอื่น เรามีอย่างนี้ เราถึงจะมีความสุข แต่เขาไม่ใช่ เพราะเขาไม่มี
…เขาสุขได้ทั้งนั้น โค้กกระป๋องเดียวก็มีความสุข วิ่งทั่วไปหมด พี่ไปประเทศหนึ่ง พี่ก็ใช้บลูทูธเพราะว่าชอบมีคนมาฉกมือถือ เลยเอามือถือไว้ในกระเป๋าแล้วก็คุยบลูทูธเอา ปรากฎมีคนเห็นแล้วก็คิดว่าไอ้โทรศัพท์อันเล็กๆ นี่วิเศษมากเลย เขาก็เลยปลดสร้อยทองออกมาบอกว่า ‘ฉันให้เธอ แต่แลกกับเอาโทรศัพท์มาให้หน่อย’ มันก็ตลกดี พี่ก็ประทับใจทุกที จะลำบากมาก หรืออันตรายก็ตาม มันก็แค่ชั่วครู่เดี๋ยวก็หาย แต่ความประทับใจมันนาน ตอนนี้เรายังจำได้เลยว่าที่มาลี เราทำอะไรบ้าง ที่คองโกเราทำอะไรบ้าง มันจำได้เพราะว่าเราประทับใจ
…เมืองไทยสบายเกินไป ทำให้เราไม่รู้ว่าความยากลำบากเป็นยังไง ถ้าคนไทยไปแอฟริกา กลับมาจะเปลี่ยนนิสัย เขาจะขอบคุณประเทศไทยที่ให้เราได้เกิดในที่ที่ดี คนเราบางคนไม่รู้ว่าได้เกิดในที่ดี ก็มองไม่ดีอย่างนั้นนี้ ติว่าต่างๆ นานา พี่ไปมา 153 ประเทศ พี่ก็ว่าประเทศไทยน่าอยู่ที่สุด”
ไม่เพียงเท่านั้น ความสุขของ ดร.กฤษณาเองก็มักเป็นสิ่งที่คนจินตนาการไม่ค่อยออก เธอยกตัวอย่างจาก ‘ลังกาสุกะ’ หนึ่งในหลากหลายโครงการในปัจจุบัน ที่เธอเดินทางลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อช่วยชาวบ้านผลิตยาจากสมุนไพรในท้องถิ่นอย่างสาหร่าย เกลือหวาน รังนก ฯลฯ เพื่อนำไปขายสร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในพื้นที่
“การได้เห็นคนมีความสุข เราก็มีความสุขแล้ว นี่คือความสำเร็จ ไม่ใช่ของ ไม่ใช่รายได้ แต่เป็นการที่เราไปอยู่กับเขาแล้วเขามีความสุข กับการที่เขาได้อยู่กับเราแล้วเรามีความสุข ไม่ได้คิดว่าจะทำให้ภาคใต้สงบ ไม่ได้คิดอะไรทั้งนั้น คิดแต่ว่าจะทำให้ชุมชนนี้ดีขึ้น เป้าหมายพี่ไม่ได้ไกลมาก อยู่แค่ข้างหน้านิดหน่อยเท่านั้นเอง เราทำชุมชนให้ 400-500 ครอบครัวเขามีความสุข เราก็จบ แต่จากเวลาที่ทำวันแรกตั้งแต่ปี 2551 จนถึงตอนนี้ มันต่างกันมากจริงๆ ความเชื่อใจ ความไว้ใจ เราบอกให้เขาทำอะไร เขาทำหมดทุกอย่าง ความสนิทสนมกันมันทำให้เรามีความสุข บอกไม่ได้เลยว่ามันสุขยังไง ทำให้พี่อยากไปใต้บ่อยๆ อยากไปนั่งกินข้าวกับเขา ให้เขาทำข้าวยำให้กิน กินน้ำบูดู เราก็มีความสุขแล้ว
…ความจริงไปอยู่ไหนก็ประทับใจทุกที่ เพราะว่าคนพอเราไปอยู่กับเขานานๆ เขาก็น่ารัก มันก็เกิดความผูกพัน ดังนั้นพอจะจากมา เราก็คิดถึงเขา แต่ว่ามันก็ได้แค่นั้นแหละ เราพบกันก็เพื่อจากกัน อย่างที่คองโกไปทำตั้ง 3 ปีก็ผูกพันกับเขา เขาพูดภาษาฝรั่งเศสแต่เราพูดไม่เป็น ก็พูดกันไม่รู้เรื่อง แต่มีความผูกพันในเนื้องาน วันที่กลับเขามายืนส่งเรา ใส่เสื้อสูทงดงามเลย เขาก็บอกว่าฉันจะคิดถึงเธอ ถ้าเธอไม่อยู่ เราก็บอก เธอไม่ต้องคิดถึงฉันหรอก เธอเอายาเม็ดที่เธอทำมามอง ฉันอยู่ในยาเม็ดทุกเม็ดนั่นแหละ ถ้าเธอคิดถึงฉัน เธอก็ทำยาเม็ดให้ดีๆ แล้วเอายาเม็ดมาดู นั่นแหละ ฉันอยู่ตรงนั้นแหละ”
คนแอฟริกันเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดในโลกนะ
...เพราะความสุขของเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ
ความสุขเขาเป็นอิสระ ความสุขเราไม่เป็นอิสระ
ความสุขเราเป็นเมืองขึ้น เพราะมันขึ้นอยู่กับ
อย่างอื่น เรามีอย่างนี้ เราถึงจะมีความสุข
แต่เขาไม่ใช่ เพราะเขาไม่มี
แก้โลกจากจุดที่ยืนอยู่
ทุกวันนี้ที่กระแสการปฏิรูปประเทศไทยคุกรุ่นอยู่ในบรรยากาศ จากประสบการณ์ทำงานใหญ่และยาก ตั้งแต่การต่อสู้กับโรคระบาด ความยากจน ไปจนกระทั่งกลุ่มผลประโยชน์ในหลากหลายประเทศของดร.กฤษณา ชวนให้คิดว่า ถ้ามีอำนาจกำหนดทิศทางของสิ่งต่างๆ ได้ ดร.กฤษณาอยากจะทำอะไร อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคำว่า ‘ถ้า’ ไม่ค่อยมีความหมายนัก ในพจนานุกรมที่มีแต่คำว่า ‘ทำ’ ของ ดร.กฤษณา
“ปัญหามี 2 อย่าง ปัญหาแก้ได้กับแก้ไม่ได้ ถ้าพี่คิดอยากเป็นนายกฯ จะได้แก้ปัญหาได้ แล้วพี่จะได้เป็นไหม แล้วปัญหาจะได้แก้ไหม แล้วพี่จะคิดทำไม ฉะนั้นก็คิดแค่ข้างหน้า 1 เมตรนี่แหละ เราแก้ได้ไหม เราแก้ได้เราก็แก้ เราแก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้ ไม่ต้องพูดถึงมัน คิดได้แบบนี้ ชีวิตก็ง่าย
…ไอ้คิดใหญ่มันก็คิดนะคะ ไม่ใช่ไม่คิด เพราะถ้าทำแต่เล็กๆ ไปตลอดชีวิตก็คงไม่ได้อะไรเลย ดังนั้นใหญ่ๆ เราก็คิด แต่ไม่ต้องไปพูดอะไรมาก ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์เล็กๆของเราไป ในที่สุดใหญ่มันก็เกิดเอง อย่างพี่มีเป้าหมายอยากให้คนทางใต้มีศักดิ์ศรี มีงานทำ ก็คิด เอ๊ะ---แล้วเราจะทำอะไรดี ก็ได้ออกมาว่าจะทำแบบนี้ ผลออกมาจะสำเร็จไม่สำเร็จก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เราต้องทำไปให้ถึงจุดนั้นก่อน
…ทำมันอยู่รอบตัวนี่แหละ จริงๆ แล้วเราอยู่ในวงการนี้ เรามีโอกาสที่จะได้ช่วยคนเยอะมาก ยังเคยพูดกับเด็กเภสัชว่า เราเป็นเภสัช เราทำยาให้คน ทำยาช่วยชีวิตคน เราต้องคิดว่าเราทำประโยชน์ให้สังคมได้เยอะมากอย่าไปคิดน้อยอกน้อยใจ ว่าต้องเป็นหมอถึงจะดี มันอยู่ที่ความคิดตัวเอง เรามีสิทธิช่วยคนตั้งเยอะ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสุขภาพดี คิดแบบนี้ ไม่น้อยอกน้อยใจอะไรทั้งนั้น แล้วเราก็จะทำงานกับบุคลากรอื่นได้อย่างมีความสุข เพราะสุดท้ายเราเป็นกลไกที่สำคัญในการที่จะทำให้สาธารณสุขของประเทศดีขึ้น เราเป็นคนทำยาไง เพราะยังไงคนก็ต้องการยา”
น่าสังเกตว่า สำหรับ ดร.กฤษณา การช่วยคนเป็นสิทธิ ไม่ใช่หน้าที่ ความจริงในขณะที่คนอื่นเรียกงานของเธอว่าเป็น ‘ภารกิจ’ ‘วีรกรรม’ ‘การเสียสละ’ ดร.กฤษณามองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเพียง ‘โอกาส’ ที่คนที่ได้รับประโยชน์ไม่ใช่ชาวแอฟริกา แต่เป็นตัวเธอเอง
ปัญหามีสองอย่าง ปัญหาแก้ได้กับแก้ไม่ได้
ถ้าพี่คิดอยากเป็นนายกฯ จะได้แก้ปัญหาได้
แล้วพี่จะได้เป็นไหม แล้วปัญหาจะได้แก้ไหม
แล้วพี่จะคิดทำไม ฉะนั้นก็คิดแค่ข้างหน้า 1 เมตรนี่แหละ
เราแก้ได้ไหม เราแก้ได้เราก็แก้ เราแก้ไม่ได้ก็ไม่ต้องแก้
ไม่ต้องพูดถึงมัน คิดได้แบบนี้ ชีวิตก็ง่าย
“การไปอยู่แอฟริกา ทำให้พี่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น ได้เห็นชีวิตทุกชีวิต ทั้งรํ่ารวย ทั้งจนสุดจน เห็นหมดแล้ว คนตายต่อหน้าก็เห็นมาแล้ว มันทำให้ปลงกลายๆ ว่า มันก็แค่นี้เอง เดี๋ยวเราก็ไปกันแล้ว ไม่ใช่ว่าหมดอาลัยตายอยากนะ แต่มันทำให้คิดได้ว่าชีวิตมันไม่มีอะไรเลย เราเจอกันวันนี้ เดี๋ยวเราก็จากกันแล้ว แล้วจะแสวงหาอะไรนักหนา”
กระนั้น ในสายตาคนนอก การทำงานของดร.กฤษณาในปัจจุบันยังห่างไกลจากคำว่าปลง ขณะเสร็จจากการสัมภาษณ์ที่วิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกของมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เธอนั่งเป็นอธิการอยู่จนปัจจุบัน เราต้องใช้ลูกออดอ้อนมากมายกว่าจะรั้งให้เธออยู่ถ่ายรูปขึ้นปกได้สำเร็จ ดูเหมือนไม่ว่ารูปจะออกมาดูดีหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งที่เธอสนใจ ใจของเธอน่าจะไปอยู่ที่ห้องแล็บแห่งใดแห่งหนึ่งเสียแล้ว
“พี่เป็นคนงกเวลา หนึ่งนาทีก็มีค่า เพราะเราเอาคืนไม่ได้ เพราะฉะนั้นพยายามทำให้มากที่สุดตอนที่ยังมีชีวิตอยู่นี่ล่ะ” ดร.กฤษณากล่าวทิ้งท้าย ก่อนเดินดุ่มหายไปในสำนักงาน
■