SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
เบื้องหลังการวิ่ง 400 กม.ของตูนบอดี้แสลมที่ไม่ใช่แค่การบริจาค
ไปพูดคุยกับร็อกเกอร์เบอร์หนึ่งของเมืองไทย กับเรื่องราวของแต่ละหนึ่งก้าวเล็กๆ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตและสังคมรอบตัวของเขาอย่างเกินคาด
สำหรับสาวกของ Bodyslam อิทธิพลของนักร้องนำ อาทิวราห์ คงมาลัยหรือ ‘ตูน บอดี้-
สแลม’ ไม่เคยเป็นที่กังขา เพราะนี่คือวงดนตรี
ร็อกที่กล่าวกันว่าโดดเด่นที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา คอนเสิร์ตครั้งล่าสุดของวง ‘บอดี้สแลม ไลฟ์ อิน คราม’ ทำให้สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยอย่างราชมังคลากีฬาสถานที่จุคนได้ 65,000 คนและคุ้นเคยกับอารมณ์พลุ่งพล่าน
ของแฟนกีฬาต่างๆ เป็นปกติอยู่แล้ว ถึงกับดูเล็กและเปราะบางด้วยจำนวนและเสียงกรี๊ดจาก
ผู้มาชมคอนเสิร์ต เพลงชาติของบอดี้สแลม
อย่าง ‘หวั่นไหว’ ‘คนที่ถูกรัก’ ‘สักวันฉันจะดีพอ’ ‘อกหัก’ หรือ ‘แสงสุดท้าย’ เหมือนมีผลทางจิตวิทยาพิเศษที่เปิดขึ้นเมื่อใดก็ทำให้เท้าของคนในผับหลุดลอยด้วยแรงกระโดดสุดตัวตามจังหวะดนตรี จนเป็นที่รู้กันว่าคำพูดของนักร้องหนุ่มในคอนเสิร์ตครั้งหนึ่งที่ว่า “ผมอยากเห็นคนไทยบินได้” นั้น เป็นสิ่งที่เขาสามารถทำให้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
แต่กระทั่งในความเงียบ มนต์ขลังของตูน
บอดี้สแลมก็ดูเหมือนจะไม่ได้หายไป เมื่อวันที่
1 ธันวาคมที่ผ่านมา ตูนริเริ่มโครงการวิ่งการกุศล โดยวิ่งวันละ 40 กิโลเมตรเป็นระยะเวลา 10 วัน จากกรุงเทพฯ ไปยังอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อระดมทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาลบางสะพาน เพียงไม่กี่วัน การวิ่ง ‘วันละ 1 มาราธอน’ ของเขา กลายเป็นกระแสที่คนติดตามทั้งในและนอกโซเชียล มีเดีย ในแต่ละวันมีคนตื่นไปดูตูนหรือไปวิ่งกับตูน โดยไม่ต้องมีการปลุกเร้าจากกลอง เบส หรือกีตาร์ มีเพียงการย่ำเท้าสม่ำเสมอกับลมหายใจสั่นพร่าเป็น ‘เสียง’ เชื่อมโยงนักร้อง
คนนี้กับผู้ชม ไม่มีใครคาดคิดว่าเมื่อเสร็จโครงการ เขาจะสามารถระดมทุนให้กับโรงพยาบาลได้ถึง 80 ล้านบาท และในครั้งนี้ สาวกหรือผู้ที่เชื่อในสิ่งที่ตูนนำเสนอจนมาร่วมบริจาค ไม่ได้มีเพียงแค่ร็อกเกอร์ในกางเกงยีนส์ขาเดฟ แต่รวมไปถึงเด็กเล็ก หรือแม้กระทั่งหญิงชราที่น่าจะโตมาในยุคของสุเทพ วงศ์กำแหงหรือชรินทร์ นันทนาครมากกว่าบอดี้สแลม
หลายคนอาจคิดว่านี่คือพลังและศักยภาพของความเป็นผู้นำที่สามารถขับเคลื่อนเรื่องที่
ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง แต่เช่นเดียวกับชื่อโครงการวิ่งระดมทุนของเขาว่า ‘ก้าวคนละก้าว’ เรื่องราวบทสัมภาษณ์บ่งบอกให้เรารู้ว่าไม่ว่าหลักไมล์ความสำเร็จที่ได้ผ่านจะยิ่งใหญ่แค่ไหน สำหรับตูน
บอดี้สแลม มีเพียงการดูแลก้าวของตัวเองในแต่ละก้าวอย่างดีที่สุดเท่านั้นที่นำพาเขามาถึงจุดนี้ และจะนำพาเขาต่อไป
ผมไม่เคยเทียบกับเพื่อนเลย เพราะผมรู้สึกว่าวิถีชีวิตของผมกับเพื่อนต่างกัน ผมไม่เคยเทียบว่าเพื่อนเข้าบริษัทไหนได้ เพื่อนสอบเนติฯ ได้ เพื่อนได้เงินเดือนเท่าไหร่ ไม่เคยคิดว่าเขาเข้าลอว์เฟิร์ม ได้เงินเดือนหลายหมื่น ส่วนเราร้องเพลงได้เงินวันละ 300-400 เพราะเราก็แฮปปี้ชิบเป๋ง
ก้าวแรก
อาจเป็นด้วยความแตกต่างระหว่างภาพของผู้พิพากษาผู้ต้องควบคุมการแสดงออก กับร็อกสตาร์ผู้พร้อมจะถอดเสื้อโผนขึ้นเสาข้างเวทีเพื่อทำความรู้สึกให้ปรากฏ ประวัติของตูน
บอดี้สแลม ที่เริ่มด้วยการเรียนที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะเข้าสู่วงการ
ดนตรีร็อก จึงเป็นสิ่งที่วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยรับรู้
และจำได้ โดยเฉพาะสำหรับนักเรียนคณะนิติศาสตร์ ผู้มักยกตัวอย่าง ‘พี่ตูน’ ในฐานะชีวิตทางเลือกที่ยังเป็นไปได้ แม้จะได้เลือกเรียนในคณะที่มีเส้นทางวิชาชีพชัดเจนอย่างนิติศาสตร์ไปแล้ว
“ตอนที่เรียนกฎหมาย ก็รู้สึกตัวแล้วว่าคงออกไปเป็นทนายที่ดีไม่ได้ เราไม่พร้อมที่จะไปรับผิดชอบชีวิตใคร สมมติว่าเขาถูก แต่เราไปว่าความให้เขาติดคุกเพราะเราไม่เก่งหรือเก่งสู้อีกฝ่ายไม่ได้ เราไม่พร้อมจะรับผิดชอบ วินาทีแรกที่เรียนนิติศาสตร์ ไม่รู้เลยว่าจะต้องมาเจออะไรแบบนี้ เลือกเรียนแค่เพราะคะแนนถึง คิดว่าเป็นคณะที่เราไปต่อยอดได้หลากหลาย ไปราชการก็ได้ เอกชนก็ได้ รู้กฎหมายไว้ก็ดี เรารู้สึกแปลกแยกตั้งแต่ปี 3 รู้สึกเลยว่า ‘ตายแล้ว’ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเปลี่ยนไปเรียนคณะอื่น เพราะเปลี่ยนก็ไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน ฐานะที่บ้านก็ไม่ได้สบายมากพอจะเปลี่ยนอะไรได้ตามใจ อุตส่าห์ติดนิติฯ จุฬาฯ ทำไมไม่เรียนให้จบ เป็นมหาวิทยาลัยรัฐด้วย ค่าเทอมก็ไม่แพง
…แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องของดนตรีมา
ตลอด ตั้งแต่ปีหนึ่งเรามีวงดนตรีที่ชื่อว่า ‘ละอ่อน’
ติดมาตั้งแต่การประกวดตอนมัธยม และตลอด 4 ปีในมหาวิทยาลัย ก็ไปประกวดที่นั่นที่นี่โดยเล่นกับพี่ๆ เพื่อนๆ รวมถึงพี่บิ๊ก มือกีตาร์วง
พาราดอกซ์ (ขจัดภัย กาญจนาภา) ซึ่งเรียนนิติฯ เหมือนกัน เราเลยเป็น 2 คนที่ไว้ผมยาว เหมือนเด็กศิลปกรรมเข้าไปนิติฯ เข้าห้องเรียนบ้าง ไม่เข้าบ้าง แต่สุดท้ายก็จบภายใน 4 ปี เกรดสองกว่า โดยตลอดเวลาก็ทำเพลงไปด้วย ด้วยความฝันว่าหลังเรียนจบจะออกอัลบั้มสักชุดหนึ่ง แต่ไม่ใช่ในฐานะวงละอ่อนแล้ว เพราะละอ่อนมาจากการประกวด Hot Wave ตอนมัธยมฯ ที่เราชนะเลิศ มันเป็นการทำเพลงแบบสมัครเล่น แบบนักเรียนใช้เวลาว่าง เวลาเรียนจบเราอยากทำเพลงเต็มที่ อยากทำอัลบั้มที่ดีสักอัลบั้ม
นึกแค่นั้นเอง”
แม้จะฟังเหมือนเป็นการตัดสินใจง่ายๆ แต่ในความเป็นจริง การทำตามความฝันของตูนได้วางอยู่บนเหตุผลและความเป็นจริงอื่นๆ ของชีวิตไม่น้อยไปกว่าความต้องการส่วนตัว หลังเรียนจบเขาสมัครเข้าทำงานเป็นสจ๊วตที่สาย
การบินโอเรียนท์ไทยเพื่อสะสมเงินทุนสำหรับดำรงชีวิตโดยไม่ต้องรบกวนที่บ้านในระหว่างที่ทำเพลง จนเมื่อครบระยะเวลาสัญญาจ้าง 6 เดือน ก็ออกมาเป็นนักร้องในผับ เพื่อให้มีเวลาทำเพลงได้อย่างเต็มที่
“ตอนเรียนจบรับปริญญา จำได้เลยว่ามอบใบปริญญาให้แม่แล้วพูดว่า ‘ทำให้แม่แล้วนะ’ ผมรู้สึกว่า ถึงเรามีความฝันอยากเป็นนักดนตรี เราต้องไม่ทิ้งหน้าที่ของเรา หรือความฝันของแม่กับพ่อเราด้วย เขาส่งเรามาเรียนในกรุงเทพฯ ตั้งแต่มัธยม เขาคงมีความฝันอยากให้ลูกได้เรียนดีๆ จบดีๆ ให้รับผิดชอบตัวเองได้ดี ดังนั้นถึงเราจะชอบร้องเพลงมาก เราก็ต้องรับผิดชอบการเรียนหนังสือไม่ให้ขาดตกบกพร่องด้วย
…แต่ทีนี้พอเราเรียนจบแล้ว ก็เลยขอแม่ว่าจะยังไม่ทำงานประจำ ขอสำรวจตัวเองก่อนว่าเราชอบทำอะไรที่สุด ทำอะไรได้ดีที่สุด ซึ่งพอสำรวจแล้วก็ตอบตัวเองได้ว่าสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดและมีความสุขกับการทำคือร้องเพลง โอเค---มันอาจไม่ได้ดีเลิศ ไม่ได้ดีไปกว่านักร้องที่มีอยู่ แต่ในเมื่อสำรวจแล้วมันคือสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ทำไมจะไม่ลองทำมันดูสักตั้ง อย่างน้อยในฐานะลูกคนหนึ่งเราก็รับผิดชอบพ่อแม่แล้ว เรียนจนจบปริญญา มีแผนสำรองไว้เผื่อว่าถ้าฝันไม่สำเร็จ เราสามารถที่จะกลับไปใช้แผนสองได้ เราไม่มีห่วงอะไร เรามีอย่างเดียวที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่คือชีวิตกับความฝันของเราเอง
...อาจโชคดีที่ตอนนั้นผมยังไม่มีห่วงด้วย มุทะลุได้เต็มที่ ไม่ต้องผ่อนนั่นนี่ พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัดยังประคองตัวเองได้ ถึงเขาจะมีหนี้สิน แต่หนี้สินของเขาก็เกินที่คนจบใหม่คนหนึ่ง ต่อให้มีเงินเดือน 3 หมื่น จะรับได้อยู่ดี ก็เลยคิดลุยเต็มตัว แต่ลองคิดว่าถ้าเป็นคนอายุ 27-28 ปี เริ่มผ่อนรถคันแรกแล้ว ผ่อนบ้านหลังแรกแล้ว ต้องมีรายได้แน่นอน 12,000 บาทต่อเดือนแล้ว หรือแม้กระทั่งแต่งงาน มีลูกแล้ว ผมว่าตรงนี้มันจะเป็นข้อแม้สำคัญ เป็นความจริงที่ปวดร้าวสำหรับนักฝันหลายคนเลยว่าคุณไม่สามารถล่องลอยไปไหนก็ได้อีกแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าเราจะกล้าแนะนำใครว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำตอนเด็กนะ เพราะคนที่ประสบความสำเร็จเมื่ออายุมากก็มีตั้งเยอะแยะ แต่เราผ่านมาแบบนี้เราเลยรู้สึกว่าที่ผ่านมาได้ เพราะไม่ต้องมีภาระ ไม่อย่างนั้นมันคงเป็นอีกแบบทันที การคิดงานดนตรีคงไม่อิสระแบบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเมื่อสิ่งที่เราทำเป็นพาณิชย์ศิลป์ ซึ่งต้องหาสมดุลระหว่างพาณิชย์กับศิลปะอยู่ตลอด มันจะเป็นโดมิโนไปหมด”
ความโชคดีอีกอย่างหนึ่งที่ตูนอาจไม่ทันสังเกต คือความสุขในการทำงานของเขา ไม่ถูกกระทบโดยความสำเร็จในหน้าที่การงานของคนอื่น แม้ว่าความสำเร็จนั้นดูเหมือนจะนำมาซึ่งตัวเงินที่มากกว่า
“ผมไม่เคยเทียบกับเพื่อนเลย เพราะผมรู้สึกว่าวิถีชีวิตของผมกับเพื่อนต่างกัน ผมไม่เคยเทียบว่าเพื่อนเข้าบริษัทไหนได้ เพื่อนสอบเนติฯ ได้ เพื่อนได้เงินเดือนเท่าไหร่ ไม่เคยคิดว่าเขาเข้าบริษัทกฎหมาย ได้เงินเดือนหลายหมื่น ส่วนเราร้องเพลงได้เงินวันละ 300-400 เพราะเราก็แฮปปี้ชิบเป๋ง แล้วเพื่อนเราก็ดีมาก เรานัดเตะฟุตบอล นัดกินข้าวกันตลอด บางทีเพื่อนก็ ‘เออ---เดี๋ยวกูมาดูมึงร้องนะ’ เพื่อนที่เตะฟุตบอลด้วยกัน จบเยล จบฮาร์วาร์ด ผมไม่เคยรู้สึกเปรียบเทียบ ดีใจกับเขาด้วยซ้ำ ดีใจกับเพื่อนเราที่เก่งแบบนั้น
…มันคือไฟของการได้ออกมาใช้ชีวิตของ
ตัวเอง กลางคืนร้องเพลง กลางวันไปทำเดโมที่บ้านพี่อ๊อฟ บิ๊กแอส (พูนศักดิ์ จตุระบุล) ไม่มีอะไรกินก็กินมาม่า สตางค์ไม่มีก็ไปนอนบ้านพี่เขา นั่งรถเมล์ไปร้องเพลง ร้านไม่มีรถเมล์ผ่านก็ลงตรงป้ายเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน แล้วเดินไปร้านที่อยู่เลยธุรกิจบันฑิตย์ไปประมาณกิโลกว่าๆ เรายังมีความรู้สึก ‘ได้ๆ’ ตลอด ไม่มีปัญหา ตอนนั้นเรามีซาวด์อะเบาท์อันหนึ่ง เราก็เดินฟังไปและหัดร้องเพลงที่เราจะร้องในคืนนั้น ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”
ระยะที่เริ่มล้า
อย่างไรก็ตาม ความสุขอย่างเดียวไม่ทำให้เกิดวงบอดี้สแลม เพราะแม้กระทั่งนักร้องที่
เจียมตัวและกินอยู่ง่ายที่สุดก็ยังต้องการได้เห็นเพลงที่ตัวเองแต่งสำเร็จออกมาเป็นรูปร่าง แต่ในยุคสมัยที่ยังไม่มีไอโฟนและอุปกรณ์ราคาถูกให้อัดเพลงได้ในห้องนอน สิ่งๆ นั้นดูเหมือนจะไม่เกิดกับตูนง่ายๆ
“หลังเรียนจบ การทำอัลบั้มแรกให้เสร็จ เป็นหลักไมล์แรกที่เราคาดหวังจะทำให้ได้ แต่ก่อนจะเป็นซีดีที่สำเร็จ มันไม่ง่ายเลย ค่ายที่เราสังกัดคือ Music Bugs เป็นค่ายอินดี้ ไม่มีสตางค์เยอะ ผมจบปริญญาตรีปี 2543 แต่ได้ออกอัลบั้มแรกชื่อ Bodyslam ในปี 2545 สองปีที่ไม่ได้ทำงานอะไร สองปีที่ร้องเพลงกลางคืน สองปีที่มีคำถามจากที่บ้านตลอดเวลา พ่อแม่ถาม ตัวเราถาม รวมถึงญาติพี่น้องถามพ่อแม่เราว่า ‘ลูกชายคนโต จบนิติฯ จุฬาฯ ทำอะไรอยู่’ เรารู้สึกว่าเราสงสารเขา ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจด้วย ที่บ้านมีหนี้สินก็เหมือนต้องการให้เราเป็นที่พึ่งให้เขาได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันเรามาอยู่กรุงเทพฯ เอาแค่ตัวเองยังไม่ค่อยจะรอดเลย
…เราทำเดโมตั้งแต่เรียนนิติฯ แล้ว ดังนั้นเป็นเวลา 3-4 ปีที่เราเทียวส่งเดโมเข้าออฟฟิศ ด้วยความหวังว่าเขาจะให้เข้าห้องอัดทำอัลบั้มเสียที แต่ทำอัลบั้มสมัยก่อนต้องใช้เงินเยอะ หลายแสนบาท มันไม่ได้เข้าง่ายๆ เหมือนตอนนี้ที่เป็นโฮมคอมพิวเตอร์ทำห้องอัดที่บ้านได้ สมัยนั้นต้องไปเช่าห้อง ต้องใช้ซาวด์เอ็นจิเนียร์ แต่จนเรียนจบ 6 เดือน 1 ปีไปแล้ว ส่งเดโมไปแล้ว ร้องเพลงกลางคืนก็แล้ว ทำอะไรก็แล้ว ก็ยังไม่ได้รับความไว้วางใจให้เข้าห้องอัดเสียที พอถึง 2 ปี มันเหมือนความคุกรุ่นในความฝันมันเริ่มมอด
…วันหนึ่งรู้สึกท้อมาก จำได้เลยนั่งคุยกับพี่อ๊อฟ บิ๊กแอส โปรดิวเซอร์ และทีมเขียนเพลง
คุยกันไปคุยกันมาว่าทำไมเราทำไปมันไม่ได้ข้อสรุปเสียที ผมเลยลุกกลางที่ประชุมแล้วบอกว่า โอเคครับ เดี๋ยวผมเข้าไปคุยอะไรบางอย่างกับ
พี่เอก (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ผู้ก่อตั้ง) ดีกว่า
ตัดสินใจเลยว่าจะไปเล่าให้เขาฟัง แต่ไม่ได้เพื่อจะไปกดดันให้เขาออกอัลบั้ม เราคิดว่าเราก็แฟร์ เรารู้ดีว่านี่คือสตางค์ของเขา เราไม่ได้คิดว่า ‘พี่ทำให้ผมนะ ขอร้องเถอะ’ ไม่มีคำพูดนี้จากผมแน่ๆ แต่เราอยากเข้าไปเล่าให้เขาฟังว่าตอนนี้ สถานการณ์เราเป็นยังไง สิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรา เกิดกับตัวเอง เกิดกับทางบ้านเป็นยังไง เพื่อให้เขาเห็นความเป็นเราชัดขึ้น เพราะเขาอาจไม่รู้ว่าเราเป็นแบบนี้อยู่ คิดแบบนี้อยู่ หรือเดือดร้อนอะไรบางอย่างอยู่ แต่รู้แล้วเขาจะตัดสินใจยังไงเราแล้วแต่เขา
…ตอนนั้น ไม่ได้คิดว่าจะต้องออกอัลบั้มมาแล้วดัง ประสบความสำเร็จ วันนั้นเราขอแค่ทำเสร็จ เป็นผลงาน เป็นซีดีแผ่นหนึ่ง เป็นเพลงของเรา มีชื่อเรา รูปเรา เพื่อเราจะได้เอางานตรงนี้กลับไปให้คนที่บ้านดูว่า 2-3 ปีที่เราเคว้งคว้างเลื่อนลอยในสายตาเขา มันมีตรงนี้อยู่ที่เราตั้งใจทำนะ เราไม่ได้ไปสำมะเลเทเมาที่ไหน เราทำซีดีแผ่นนี้ ที่มีเพลงบรรจุอยู่ 11-12 เพลงนี้ มันจะ
เป็นเครื่องยืนยันว่า 2 ปีที่เราเรียนจบมา เราทำงานตรงนี้ แค่นั้นเอง ไม่ได้ขอว่าทำแล้วจะ
โด่งดัง ทำแล้วจะมีเงิน ไม่แล้ว แรงมันเริ่มหมด
ถ้าวันนั้น คำตอบออกมาอีกอย่าง เราคงต้องกลับมาแผนสำรองของเราเหมือนกัน”
แต่ทั้งหมดก็คือก้าวเล็กๆ เหมือนเดิม เราไม่เคยตั้งว่าจากซีดีแผ่นแรก อีก 5 ปีเราต้องไปอยู่แกรมมี่ อีก 5 ปี
เราต้องโด่งดัง อีก 5 ปีเราจะต้องมีคอนเสิร์ตในฮอลล์นั้น ในสเตเดียมนี้ มีคนดูเป็นพันเป็นหมื่น มันไม่ได้ถูกวางแผนระยะยาวแบบนั้นเลย
จุดหมายเฉพาะหน้า
แต่ในเมื่อตูนไม่ต้องใช้แผนสำรอง ปีนั้นจึงเป็นปีที่วง Bodyslam พร้อมกับอัลบั้มชื่อเดียวกันได้ถือกำเนิดขึ้น และการ ‘ทุ่ม’ หรือ Slam ตัวของเขาเกือบ 2 ปีไม่ได้สูญเปล่า เกือบทุกเพลงในอัลบั้ม ไม่ว่า ‘งมงาย’ ‘อากาศ’ ‘สักวันฉันจะดีพอ’ ที่เชื่อมโยงแนบแน่นกับอดีตของวัยรุ่นยุคปี 90s และยังคงได้ยินอยู่ในผับและห้องคาราโอเกะแม้ในทุกวันนี้ ไม่ได้เพียงยืนยันว่าเขาได้ทำงาน แต่ยืนยันว่าเขากำลังจะเป็นตำนานต่อไป
“ชีวิตหลังจากออกอัลบั้มมาแล้ว มันเหมือนเราขึ้นบันไดทีละขั้น ก้าวสั้นๆ เล็กๆ แต่มีความสุขมาเรื่อยๆ ไม่ได้วางแผนที่จะก้าวกระโดด ทำอัลบั้มเสร็จ ก็เริ่มได้ทัวร์คอนเสิร์ต มีคนจ้างให้ไปเล่นที่โน่นที่นี่ มีรายได้หล่อเลี้ยงเข้ามา เฮ้ย---ไม่เคยเจอ มีคนจ้างเราไปเล่นต่างจังหวัด ออกตั๋วเครื่องบิน ค่าโรงแรมให้ด้วย เฮ้ย---ไม่เคยเจอ เฮ้ย---สนุก ได้เริ่มทำอัลบั้มที่ 2 เพราะค่ายเห็นแล้วว่าไม่ทำให้เขาเจ๊ง ก็เหมือนได้ขึ้นบันไดเล็กๆ อีกขั้น มีคนจำได้มากขึ้น มีงานเพิ่มมากขึ้น เป็นบันไดอีกขั้นให้เราได้ต่อยอด หมดสัญญากับ
มิวสิก บั๊กส์ ได้มาอยู่แกรมมี่ ทีนี้เหมือนเป็น
ก้าวยาวๆ ก้าวหนึ่ง คือวิธีการทำงานเหมือนเดิม ทีมเขียนเพลงทีมเดิม มีพี่กบ (ขจรเดช พรมรักษา) พี่อ๊อฟ บิ๊กแอส คอยชี้แนะสั่งสอน แต่งเพลงควบคุมการผลิตให้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่ไม่เหมือนเดิมคือเราได้มาอยู่ในค่ายที่มีวิทยุ มีทีวี พร้อมที่จะพาเพลงเราไปในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้น อัลบั้มที่ 3 คือ Believe จึงเหมือนมีบันไดเลื่อน คือยังต้องก้าวอยู่ แต่เริ่มเบาแรงเพราะมีคนพาขึ้นไป
…แต่ทั้งหมดก็คือก้าวเล็กๆ เหมือนเดิม เราไม่เคยตั้งว่าจากซีดีแผ่นแรก อีก 5 ปีเราต้องไปอยู่แกรมมี่ อีก 5 ปี เราต้องโด่งดัง อีก 5 ปีเราจะต้องมีคอนเสิร์ตในฮอลล์นั้น ในสเตเดียมนี้ มีคนดูเป็นพันเป็นหมื่น มันไม่ได้ถูกวางแผนระยะยาวแบบนั้นเลย สิ่งที่ถูกวางแผนไว้คือโคตรสั้น แผนเอาตัวรอดไปวันๆ ด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่หล่อเลี้ยงให้ก้าวขึ้นมาได้คือความสุขที่จะทำแต่ละวัน ได้ร้องเพลงของเรา แต่งเพลงของเรา ได้ออกอัลบั้มดีๆ ในแต่ละปีสองปีให้เราภูมิใจ ความสุขทำให้เราก้าวขึ้นบันไดมาเรื่อยๆ จนเวลา 3-4 ปีผ่านไป เราไม่เคยมองย้อนกลับหลังไปเลยว่าเราเดินมาแค่ไหน
…ลองคิดดู ถ้าในวันที่ผมเริ่มต้นร้องเพลง ผมตั้งเป้าว่าอีก 10 ปี ผมต้องมาร้องเพลงในสนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย มีคนมาดูผม 65,000 คนให้ได้ มันไม่ดูเป็นแรงบันดาลใจที่น่าสนุกเลย มันดูเย่อหยิ่ง เพ้อฝัน มันดูมีแต่การเอาตัวเองไปยึดติดกับตัวเลขชื่อเสียง มันดูบันดาลใจในทางเหนื่อย พอเหนื่อยก็ไม่อยากทำ แต่พอมันไม่มี เราก็รู้สึกว่า วันนี้ลุกขึ้นไปทำเพลงให้เสร็จดีกว่า จาก 1 เพลงเป็น 2 เพลง เป็น 4 เพลง เป็นอัลบั้มที่ดีอย่างที่เราคิด ทำเพลงมา 3-4 อัลบั้มก็ เฮ้ย---ทำคอนเสิร์ตใหญ่ๆ อันหนึ่งได้แล้วนี่ ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ไป ทำในสิ่งที่ชอบแล้วก็ใช้ความรักแก้ปัญหาไประหว่างทาง”
หากจะมีอีกสักสิ่งนอกเหนือจากความรักในสิ่งที่ทำ ที่ช่วยให้ตูนสามารถปะติดปะต่อเส้นทางโดยไม่ต้องล้มเลิกไปกลางคัน สิ่งนั้นก็คือความรักและการประคับประคองโดยไม่มีเงื่อนไขจากคนใกล้ตัว
“ผมไม่ได้เก่ง ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผมรอดมาได้ คือการมีเพื่อนที่ดี พี่ที่ดี พี่อ๊อฟ พี่กบ บิ๊กแอส
หรือพี่โทน ผู้จัดการวง คอยเป็นที่ปรึกษาที่ดีเวลาเรามีปัญหา เราเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่งเท่านั้น
เล่าได้เลย ในช่วง 2 ปีที่ผมยังไม่ได้ออกอัลบั้ม
บิ๊กแอสดังมาก เพลง ‘เล่นของสูง’ ดังมากตอนนั้น ที่บ้านผมต้องการสตางค์ก้อนหนึ่งไปใช้หนี้
ที่บ้านก็ไม่ได้มาถามอะไรผมหรอก เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าผมไม่มีเงินก้อนนั้น แต่ผมก็รู้ว่าทำอะไรได้ก็ต้องทำ ตอนนั้น ผมชอบตามไปร้องเป็นเกสต์ของบิ๊กแอสอยู่แล้ว เป็นเหมือนเด็กติดวงไปกับเขาคนหนึ่ง ผมก็ไปเล่าให้พี่กบฟัง ‘พี่ครับ ที่บ้านผมมีปัญหา’ ไม่คิดว่าตัวเองจะได้อะไรมากมายจากตรงนั้น คิดแค่เล่าปัญหาให้พี่ที่เคารพคนหนึ่งฟัง แต่เล่าไปยังไม่ทันจบประโยคดี พอพี่กบรู้ว่าเป็นเรื่องสตางค์ พี่เขาบอก ‘เออ---ไม่ต้องพูด ตูนต้องการเท่าไหร่
ที่บ้านต้องการเท่าไหร่’ จำได้เลย เพิ่งเสร็จงานกำลังขึ้นรถตู้ พี่กบเรียกพี่อ๊อฟ พี่หมู พี่ๆ ในวง
มาช่วย ‘เฮ้ย---ไอ้ตูนมันเดือดร้อนที่บ้าน ต้องการเงิน มึงมีเท่าไหร่เอามาช่วยก่อน’
…ลองคิดสภาพตอนนั้น ผมเป็นใครก็ไม่รู้ เป็นแค่วัยรุ่นที่ไม่รู้จะมีเงินมาคืนเขาหรือเปล่า แต่พี่เขาไม่เคยเอามาเป็นประเด็นที่จะไม่ให้เราเลย พี่กบเอามาให้ก้อนหนึ่ง พี่อ๊อฟเอามาให้ก้อนหนึ่ง หลายคนรวมมา รวมประมาณเกือบล้านโดยไม่มีข้อแม้อะไรเลย ผมถึงได้บอกว่าชีวิตผมโชคดี มีพี่ดีๆ เพื่อนดีๆ คอยประคับประคองเกื้อหนุนกันอยู่ ให้ผมเล่าอีกกี่ทีผมก็เล่าได้ ไม่มีลืมเด็ดขาด”
เติบโตตามเส้นทาง
กระนั้น ท่ามกลางการก้าวไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้งของบอดี้แสลม ไม่ใช่แฟนเพลงทุกคนจะถูกใจกับแต่ละก้าว หรือแม้กระทั่งเห็นว่าบอดี้-
สแลมได้เดินมาผิดทาง แฟนเพลงบางส่วนที่โตมากับบอดี้สแลมในยุคต้นอย่างอัลบั้ม ‘Bodyslam’ ‘Drive’ ‘Believe’ ที่มีเนื้อเพลงว่าด้วยความสมหวังผิดหวังของความรักในท่วงทำนองเข้าใจง่ายจนกลายเป็นเพลงชาติของผับทั่วประเทศ (“อดใจไม่ไหวเมื่อได้พบหน้า
ยิ่งเธอส่งยิ้มคืนมายิ่งหวั่นไหว”) พบว่าเพลงของอัลบั้มในระยะหลังอย่าง ‘คราม’ หรือ ‘ดัม-มะ-ชา-ติ’ ที่มักพูดถึงมิติอื่นของชีวิตนอกเหนือจากความรักนั้นมีเนื้อหาลึกซึ้งเกินกว่าจะฟังให้ ‘อิน’ ได้เหมือนก่อน (“แต่งเติมสีและสัน ด้วยห่าฝนจากฟ้าแต่งขอบผาด้วยไฟของเมฆดำ เปรียบพายุที่โหมกระหน่ำดังปลายพู่กันสั่นไหว”) บางคนถึงกับใช้ท่อนฮุคจากเพลง ‘เรือเล็กควรออกจากฝั่ง’ ในอัลบั้มดัม-มะ-ชา-ติ ที่บอกว่า “จะออกไปแตะขอบฟ้า สุดท้ายแม้โชคชะตาไม่เข้าใจ” มาตัดพ้อแนวทางการทำเพลงในยุคหลังของตูนว่า “หลังจากพี่ตูนออกไปแตะขอบฟ้าแล้ว พี่ตูนก็ยังไม่กลับมาอีกเลย” อย่างไรก็ตาม สำหรับตูน แต่ละอัลบั้มถูกสร้างมาด้วยกลวิธีไม่ต่างกัน คือการถ่ายทอดความรู้สึกจริงแท้ที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเองในแต่ละช่วงเวลา
สังเกตไหมว่าทำไมเพลง 'ความเชื่อ' ต้องเป็นเสียงอาแอ๊ด คาราบาว...ตอนนั้นผมอายุ 25-26 ผมบอกได้เลยผมร้องท่อนฮุคนี้ไม่ได้ ผมยังไม่ตกผลึกพอที่จะร้องท่อนนี้แล้วมันน่าเสียดายพลังของเพลงถ้าให้ผมร้องใน
อายุเท่านั้น
“เราไม่ได้จะลุ่มลึกอะไร เราแค่ชอบเล่าในสิ่งที่เราเป็นในช่วงเวลานั้นมากกว่าสิ่งที่เราไม่ได้รู้สึก อย่างเพลงในอัลบั้มบอดี้สแลม ก็คือเพลงของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง แน่นอนคนอายุ 20 ต้นๆ พูดเรื่องอะไรได้ไม่เยอะ มันก็คุกรุ่นอยู่กับเรื่องความรัก ความคิดถึง ขนาดพูดเรื่องความฝัน ก็เป็นความฝันในมุมแคบ ในแบบที่เรายังมองไม่เห็นด้านไหนของมันนอกจากการพยายามทำมัน ยังไม่ได้เห็นความจริงของมันในด้านความล้มเหลว พูดถึงความรักก็เป็นความรักหวานชื่น สิ่งเหล่านี้เราไม่รู้หรอกว่าเท่หรือไม่เท่ เราเลือกจะร้องเพลงที่เรารู้สึกมากกว่าร้องเพลงที่คนอื่นคิดว่าเท่แต่เราไม่รู้สึกกับมันเลย เพราะมันจะเบาหวิวมากสำหรับเรา ตรงกันข้าม ถ้าเรารู้สึกแล้ว เราก็จะไม่แคร์คนว่า แหม---ทำไมเพลงหวานเลี่ยนจัง
หน่อมแน้มจัง ก็เพราะเราคิดได้แค่นี้ เล่นได้แค่นี้ เราก็ภูมิใจนำเสนออย่างนี้ เราจริงกับตัวเราในตอนนั้น เพียงแต่สุดท้ายมันอาจมีคนที่ได้ฟังเพลงแล้วรู้สึกว่า เฮ้ย---เพลงนี้มันจริงกับเขาด้วยเหมือนกันนี่ บังเอิญมีเรื่องราวเหมือนกัน ก็สัมผัสมันได้ แค่นั้นเอง
…สังเกตไหมว่าทำไมเพลง ‘ความเชื่อ’ ต้องเป็นเสียงอาแอ๊ด คาราบาว (ยืนยง โอภากุล) เพราะตอนที่แต่งเพลงนี้เสร็จ มีท่อนหนึ่งบอกว่า “ชีวิตมันต้องเดินตามหาความฝัน หกล้มคลุกคลานเท่าไหร่ มันจะไปจบที่ตรงไหน แต่จะยังไงก็ต้องไปให้ถึง ที่สุดถ้ามันจะไม่คุ้ม แต่มันก็ดีที่อย่างน้อยได้จดจำว่าครั้งหนึ่งเคยก้าวไป แค่คนที่เชื่อในความฝัน จะเหน็ดจะเหนื่อยก็ยังต้องเดินต่อไป” ตอนนั้นผมอายุ 25-26 ผมบอกได้เลยผมร้องท่อนฮุคนี้ไม่ได้ ผมยังไม่ตกผลึกพอที่จะร้องท่อนนี้ แล้วมันน่าเสียดายพลังของเพลงถ้าให้ผมร้องในอายุเท่านั้น ผมบอกกับทีมเลยว่าผมอยากให้อาแอ๊ด คาราบาว เป็นคนร้องเพลงนี้ เพราะนั่นถึงจะเป็นเสียงของคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว ผ่านสิ่งต่างๆ มาแล้ว เขา ‘มีสิทธิ์’ ที่จะร้อง เราไม่มีสิทธิ์ ถึงมันจะเท่แค่ไหน เราก็ร้องไม่ได้ ตอนนั้นเรายังเอาตัวเองไม่รอดเลย
…คนอายุ 30 เกือบ 40 ในอัลบั้มดัม-มะ-ชา-ติ ก็เป็นคนเดียวกันกับอัลบั้มแรก แต่ได้ผ่านเวลามากขึ้น ได้พูดคุยกับคนมากขึ้น ได้พูดคุยกับความผิดหวังมากขึ้น ได้คิดได้เห็นมากขึ้น มันก็เลยทำให้เรื่องที่พูดมัน ‘เดินทาง’ ผมไม่อยากใช้คำว่าเปลี่ยนแปลง ถ้ามันเปลี่ยน มันก็เปลี่ยนในทุกวัน แน่นอน ถ้าเอาอัลบั้มแรกกับอัลบั้มที่ 6 ไปเปิดต่อกัน มันเหมือนเปลี่ยน แต่ถ้าค่อยๆ ลองฟังต่อกันไปทุกอัลบั้ม มันจะเห็นเป็นการเดินทาง ผมว่ามันไม่แฟร์ที่จะเปรียบเทียบว่าอัลบั้มที่ 6 ดีหรือไม่ดีกว่าอัลบั้มอื่นๆ สำหรับเรา มันคืออัลบั้มที่ดีที่สุดในแต่ละช่วงเวลา เรื่องราวในอัลบั้มที่ 6 ก็พูดในความที่เราเป็นคนอายุเท่านี้”
อาจเป็นเช่นเดียวกับที่เคิร์ท โคเบน ร็อกเกอร์ระดับตำนานของวง Nirvana บอกไว้ในเพลงว่า “I would rather be dead than cool” ตูนไม่เห็นว่าความหวานเลี่ยนเป็นความผิดเท่าใด เขาก็ไม่เห็นว่าการทำเพลงยากเพื่อให้ดู ‘เท่’ มีความจำเป็นเท่านั้น สิ่งสำคัญคือคุณภาพและความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองเป็น
“เราไม่เคยคิดเลยนะว่ามันเป็นเพลงพาณิชย์ หรือเพลงศิลปะ เพราะสุดท้ายตัวเราก็เป็นคนฟังเพลงป๊อป ไปดูคอนเสิร์ตป็อปอย่างทุกคน
นี่แหละ ฉะนั้นสิ่งที่เราอยากทำ ก็ไม่พ้นสิ่งที่เราชอบ คือทำเพลงดีๆ เหมือนที่ทุกคนอยากได้ยิน เพียงแต่เราอยากทำให้มันมีคุณภาพมากที่สุดเท่านั้นเอง คำว่าขายหรือไม่ขายไม่เคยอยู่ในหัวเรา ในหัวเราคือทำแล้วมันดีไหม”
จูงมือกันไป
อย่างไรก็ตาม ดั่งเห็นได้จากความสำเร็จ
ของโครงการก้าวคนละก้าว มุมมองแบบปัจเจกของตูนที่ให้ความสำคัญกับความรู้สึกและการ
กระทำส่วนตัว ไม่เพียงเอื้อต่อการสร้างผลงานดนตรีคุณภาพ หากเมื่อได้ทำอย่างมุ่งมั่น ยังมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่กว้างไกลกว่าตัวเองอีกด้วย
“ทุกคนทำในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบให้ดีที่สุด มีแรงเท่าไหร่ ทำแค่นั้น ผมไม่เชื่อกับการออกไปทำข้างนอกสวยหรู แต่ในบ้านตัวเอง พ่อแม่ยังอยู่ไม่ดี กินไม่ดี ทุกคนไม่ต้องวิ่ง 400 กิโลเมตร ทุกคนไม่ต้องออกมาดูแลโรงพยาบาลใหญ่ๆ ทุกคนทำในจุดเล็กๆ ของตัวเอง ดูแล
ตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพดีๆ คนหนึ่งอย่างที่ตัวเองทำได้ ดูแลพ่อแม่ พี่สาวน้องชาย
ญาติพี่น้อง เอามิติเล็กๆ ในครอบครัวให้ดีที่สุด ถ้าทุกคนทำมิติตัวเองดีที่สุดแล้ว ในองค์รวมมันจะดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดใหญ่ ไม่ต้องคิดจะไปกอบกู้โลก ไม่ต้องตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะไปช่วยการกุศล ไปมอบเงินให้ใครเป็นหมื่นเป็นแสน แค่กลับบ้านไปถามว่า ‘แม่กินข้าวหรือยัง พ่อกินข้าวหรือยัง’ ทำรอบตัวเราให้ดีสุดก่อน ความจริงโครงการก้าวคนละก้าวก็เริ่มมาอย่างนี้เหมือนกัน เราไม่ได้เป็นคิดออกแบบอย่างนี้มาตั้งแต่ต้น เราแค่ทำเล็กๆ ของเรา แต่เพราะจังหวะและโอกาสต่างๆ มันที่เข้ามาพอดีกัน
ต่างหาก เหมือนเดิม มันแค่ขั้นบันไดทีละขั้น”
ในกรณีนี้ ขั้นบันไดที่เกิดขึ้นคือ ตูนไปสร้างบ้านพักตากอากาศและใช้ชีวิตอยู่ที่อำเภอบางสะพาน ทำให้คุ้นเคยกับชุมชน (คนในพื้นที่รู้จักเส้นทางวิ่งประจำวันของตูนดีว่าจะไปจบที่ร้านน้ำแข็งไสในตลาด) จนวันหนึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางสะพานได้ขอให้เขามาช่วยเป็น ‘ดารา’ เข้าร่วมโปรโมตกิจกรรมวิ่ง 10 กิโลเมตรที่โรงพยาบาลจะจัดขึ้นเพื่อระดมทุนมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลน ซึ่งแน่นอนว่าตูนตอบตกลง อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ไปถึงโรงพยาบาล
และเห็นภาพรายละเอียดเบื้องหลังคำว่าขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเตียงที่ไม่พอ ภาพผู้ป่วยที่นั่งรออย่างแออัด หมอที่ต้องยืมตัว
มาจากโรงพยาบาลหัวหินหรือโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์แบบไม่มีค่าจ้าง หรือแม้กระทั่งเด็กทารกที่ต้องถูกย้ายออกจากตู้อบเพื่อเปิดที่
ให้กับเด็กทารกอีกคนที่อาการหนักกว่า ตูนก็ตัดสินใจทำมากกว่าที่ถูกขอ
ถ้าทุกคนทำมิติตัวเองดีที่สุดแล้ว ในองค์รวมมันจะดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องคิดใหญ่ ไม่ต้องคิดจะไปกอบกู้โลก ไม่ต้องตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะไปช่วยการกุศล ไปมอบเงินให้ใครเป็นหมื่นเป็นแสน แค่กลับบ้านไปถามว่า 'แม่กินข้าวหรือยัง พ่อกินข้าวหรือยัง' ทำรอบตัวเราให้ดีสุดก่อน
“จุดประสงค์ของคุณหมอคือจัดอีเวนท์
เพื่อกระตุ้นการรักสุขภาพ และถ้ามันได้กำไรจากอีเวนท์นี้ ก็จะเอามาซื้อของสนับสนุน
โรงพยาบาลในส่วนที่ขาดแคลนต่อไป แต่มองแล้วอีเวนท์ที่คุณหมอจะจัดไม่มีทางเหลือกำไรมาซื้ออุปกรณ์แม้แต่เครื่องเดียว เพราะอุปกรณ์การแพทย์แพงมาก มันทำได้แค่เป็นสีสัน และกระตุ้นเตือนให้คนมาออกกำลังกาย ผมเลยรับปากไวๆ กับคุณหมอเลยว่า ‘คุณหมอครับ ผมขออาสาทำตรงนี้ให้คุณหมอเองครับ’ โดยที่ตอนนั้นผมไม่มีภาพอะไรในหัวเลยว่าจะทำอะไรให้เขา ผมแค่มั่นใจว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เราน่าจะทำแล้วเหลือเงินได้มากกว่าเขา เพราะเรารู้จักออร์แกไนเซอร์ รู้จักเพื่อน รู้จักสินค้าที่เราไปขอให้ช่วยได้
จับแพะชนแกะง่ายๆ แล้วเราน่าจะทำได้”
แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯ ตูนพบว่ารายละเอียดไม่ง่ายอย่างที่เขาคิด การจัดงานวิ่งที่บางสะพานไม่ใช่เรื่องยาก แต่จัดให้เหลือเงินเยอะพอจะซื้ออุปกรณ์แพทย์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในเมื่อการเชิญชวนให้คนกรุงเทพฯ ขับรถเป็นระยะทางถึง 400 กิโลเมตรหรือกว่าครึ่งวันเพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรมย่อมหมายความว่า ระยะการวิ่งไม่ควรสั้นเพียงแค่ 10 กิโลเมตร แต่ควรยาวถึงระยะ 21 กิโลเมตรหรือ Half-Marathon ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และกำไรที่น้อยลง
“สุดท้ายผมเลยตัดค่าใช้จ่ายทุกอย่างออกหมดเลย ไม่ต้องมีค่าสมัครของคน ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารที่พักของทีมงานหลายร้อยคน ไม่ต้องมีค่าเสื้อที่ระลึก ค่าอาหารของคนที่เข้าแข่ง ใช้ตัวเราเองนี่แหละ ต้นทุนคือตัวเรา วิ่งจากกรุงเทพฯ ลงไปบางสะพานเพื่อเรี่ยไรเงินจากคนไทยทั่วประเทศเอาไปให้คนที่กำลังขาดแคลนที่บางสะพาน ใช้การวิ่งบอกข้อความไปตลอดทาง บอกปากเปล่า บอกผ่านโซเชียล มีเดีย ให้รู้ว่าปัญหานี้เป็นปัญหาที่เราต้องช่วยกัน ว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดที่บางสะพานเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับ
โรงพยาบาลรัฐโดยทั่วไป บอกปัญหานี้ไปให้
ไกลที่สุดโดยใช้ความไกลเกินจริงของการวิ่ง
ใช้ระยะทาง 400 กิโลเมตร มาทำให้คนสนใจว่าไอ้นักร้องหุ่นขี้ยาคนนี้จะวิ่งได้ไหม ถ้าแค่จัดงานวิ่งในสวนสาธารณะ 4 รอบ 40 กิโลเมตร เพื่อให้ทุกคนเห็นความขาดแคลนของเครื่องมือแพทย์ในโรงพยาบาล มันจะเบาหวิวมากเลย เป็นแบบตื่นมาวิ่งกันเช้าวันอาทิตย์แล้วก็ ‘โอเค---เรารับรู้ปัญหา’ แล้วก็กลับบ้านใครบ้านมัน ตกเย็นก็ลืมแล้ว แต่ พอบอกผ่านวิธีนี้ มันจะเข้มข้น แล้วถูกตอกย้ำด้วย 10 วันที่เราวิ่ง
…แต่ทั้งหมดทั้งมวล เราไม่ได้ทำตรงนี้เพราะมันเป็นหน้าที่ เราทำเพราะสิ่งที่เป็นหลักยึดของเรามาตลอดคือความสุข ผมชอบออกกำลังกาย ผมชอบวิ่ง แต่มันดันพอดีว่าสิ่งที่เราชอบมัน
ส่งเสริมให้ไปต่อยอดทำอะไรได้มากขึ้น ผมจึงบอกเสมอว่าผมโชคดีที่ชอบทำเรื่องพวกนี้ เราไม่ได้เป็นคนดีกว่าใคร ไม่ได้พิเศษกว่าใคร เราเป็นคนปกติ เป็นคนไม่ดีด้วยซ้ำ พูดคำหยาบมากด้วย อารมณ์ร้อนมากด้วย เราเป็นคนปกติ
ถ้าเราทำอะไรก็เพราะเรามีความสุข
…มีคนถามว่าเงิน 80 ล้านที่เราไปมอบให้โรงพยาบาลบางสะพาน เราไม่เข้าไปตรวจสอบเหรอ ไม่เข้าไปดูการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพที่สุดเหรอ ผมไม่อยาก ผมไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบ ผมเชื่อในคนที่ผมให้ ผมเชื่อว่าเราได้ทำดีที่สุดในหน้าที่ของเราแล้ว และเชื่อว่าคุณหมอที่มีหน้าที่ตรงนั้นเขาก็จะทำหน้าที่ดีที่สุดของเขาเหมือนกัน เหมือนเราทำบุญ เรายกขึ้นจบแล้ว เราได้ยกให้เขาแล้ว เรามีความสุขที่สุดแล้ว เราไม่สนุกที่จะเข้าไปเจ้ากี้เจ้าการ แล้วผมก็เชื่อว่าคนไทยก็เป็นเช่นเดียวกัน เขามีความสุขแล้วที่เขาได้ให้ แล้วเขาก็เชื่อว่าคนที่เขาได้ให้จะนำเงิน 5-10 บาทจากคนไทยทั่วประเทศไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด”
ก้าวคนละก้าว
ท่ามกลางกระแสการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่
ของรัฐบาลหลายโครงการที่ประชาชนยังตั้งข้อกังขา โครงการระดมทุนเพื่อโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอาจถูกมองได้ว่าเป็นการแสดงออกเพื่อประท้วงการดำเนินงานของภาครัฐ กระนั้น คำตอบของตูนบอกชัดว่าโครงการของเขา
ต่อยอดขึ้นมาจากความสุข และหากโครงการนี้จะตั้งคำถามต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็ไม่ใช่นโยบายใดนโยบายหนึ่งของรัฐ หากแต่เป็นการกระทำหรือไม่กระทำอะไรของประชาชนทุกคนนี่เอง
เราไม่ได้ทำตรงนี้เพราะมันเป็นหน้าที่ เราทำเพราะสิ่งที่เป็นหลักยึดของเรามาตลอดคือความสุข ผมชอบออกกำลังกาย ผมชอบวิ่ง แต่มันดันพอดีว่าสิ่งที่เราชอบมันส่งเสริมให้ไปต่อยอดทำอะไรได้มากขึ้น ผมจึงบอกเสมอว่าผมโชคดี
ที่ชอบทำเรื่องพวกนี้ เราไม่ได้เป็นคนดีกว่าใคร ไม่ได้พิเศษกว่าใคร เราเป็นคนปกติ ถ้าเราทำอะไรก็เพราะเรามีความสุข
“ผมก็เห็นโรงพยาบาลรัฐเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก อีก 10-20 ปีข้างหน้า ก็ยังอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไป เท่าไหร่ก็ไม่พอ ต่อให้รัฐบาลช่วยแล้วก็อาจไม่พอ เราเองนี่แหละที่ถึงเวลาแล้ว ไม่ต้องโทษใคร ไม่ใช่เวลาหาคนผิด มันเป็นเวลาของการช่วยคนละเล็กละน้อย ช่วยแรง ช่วยเป็น
กระบอกเสียง ช่วยสมทบกองรวม อะไรก็แล้ว
แต่ ทำได้ในส่วนที่ทำได้ ไม่ใช่เวลาคอมเมนต์
คนนี้ผิด ทำไมคนนี้ไม่ทำ ไม่ใช่แล้ว มันไม่เกิดประโยชน์ ระหว่างทาง ผมวิ่งเจอเด็กน้อยคนหนึ่งยกกระปุกออมสินมาให้ผมทั้งกระปุก ทั้งปีเขาเก็บออมมา อยากจะได้ของเล่นสักชิ้น แต่พอรู้ว่าจะเอาเงินมาช่วยคนป่วย เขายกกระปุกที่เขาสะสมมาเป็นปีๆ ตัดใจไม่เอาของเล่นนั้น เอามายกให้คนอื่น เงิน 5 บาท 10 บาทของเด็กน้อยยังเกิดประโยชน์มากกว่าคอมเมนต์ที่เราตัดสินกัน ถึงแม้เราจะถูกก็ตาม”
เงินจำนวน 80 ล้านบาทแม้จะเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อใช้จ่ายสำหรับเครื่องมืออุปกรณ์
การแพทย์ที่ราคาอยู่ในหลักแสนและล้าน
ช้าเร็วย่อมต้องหมดลง และแม้ในที่สุด
โรงพยาบาลบางสะพานจะจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ได้ครบตามความต้องการ ปัญหาอย่างเดียวกันก็ยังคงเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลรัฐในท้องที่อื่นๆ แต่สำหรับตูนผู้ตื่นมาซ้อมวิ่งวันละ 10-21 กิโลเมตรทุกเช้า เขารู้ดีว่าระยะทางกว่าจะถึงเส้นชัยยังไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องกังวลในตอนนี้
ชีวิตของเขาดำเนินไปทีละก้าวเสมอมา
■