SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเด็กชายจากปอเนาะในนครศรีธรรมราชสู่การเป็นผู้นำบนเวทีโลก
อดีตเลขาธิการอาเซียนวิเคราะห์กระแสโลกาภิวัฒน์ ประชาธิปไตยและการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยท่ามกลางความแปรปรวน
ในหมู่ผู้นับถือศาสนาอิสลาม มี ‘ฮะดีษ’ หรือภาษิตบทหนึ่งบอกว่าสิ่งแรกที่พระอัลเลาะห์ทรงสร้างคือปากกาและสรรพปรากฏการณ์ในจักรวาลล้วนเป็นสิ่งที่ถูกเขียนไว้แล้วทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ หรือเส้นทางชีวิตของมนุษย์แต่ละคน กระนั้น แม้สำหรับผู้ที่ไม่ได้สมาทานความเชื่อแบบอิสลาม เรื่องราวชีวิตของดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ยังอาจให้ความรู้สึกของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะเจาะราวถูกกำหนดไว้ก่อนไม่น้อย
บทบาทสำคัญที่สุดของดร.สุรินทร์ คือการดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนระหว่างปี 2551-2555 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คึกคักไปด้วยกระแสของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จนดร.สุรินทร์กลายเป็นเสมือนตัวแทนความเป็นไทยที่โดดเด่นได้ในระดับสากลควบคู่กันกับดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่สิ่งที่น้อยคนทราบคือก่อนจะ ‘โก-อินเตอร์’ เช่นนั้น ดร.สุรินทร์เติบโตมาจากครอบครัวมุสลิมที่ยึดถือธรรมเนียมและเคร่งศาสนายิ่งยวดถึงขนาดที่ว่าในยามดร.สุรินทร์ ได้รับทุน AFS ไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางบ้านเคยคิดปฏิเสธไม่ให้ไปเพราะกลัวเสียดร.สุรินทร์ไปให้กับ ‘ซาตาน’ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบประชาคมอาเซียนซึ่งมีลักษณะต่างคนต่างอยู่และเต็มไปด้วยความหวาดระแวงกันและกันในอดีตจนมาเป็นอาเซียนที่เปิดเผยมากขึ้นในเวทีโลกทุกวันนี้อาเซียนจึงเปรียบคล้ายภาพขยายของชีวิตดร.สุรินทร์ขณะก้าวจากความอนุรักษ์นิยมมาสู่ความเป็นสากลนิยมที่สอดคล้องกันอย่างน่าประหลาด อย่างที่ดร.สุรินทร์บอกเองว่า “หากอาเซียนเปรียบเสมือนมนุษย์สักคน เรื่องราวของเขาหรือเธอกับเรื่องราวของชีวิตของผมคือนิยายชีวิตเรื่องเดียวกัน”
ด้วยเหตุนี้เอง ในวันนี้ที่ประเทศไทยกำลังพยายามวางโครงสร้างของประเทศต่อไปในอนาคต ทั้งในด้านสังคม การเมืองและเศรษฐกิจ และหลายครั้งต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมที่มองเข้าข้างในหรือประเทศโลกาภิวัตน์ที่มองออกข้างนอก มุมมองของดร.สุรินทร์ที่ได้สังเกตการณ์โจทย์คล้ายคลึงกันทั้งในระดับส่วนตัวและระดับอาเซียนมาอย่างยาวนานจึงน่าจะเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจชิ้นสำคัญ โดยเฉพาะในโลกที่ไม่มีผู้ใดหยั่งรู้ว่าพระเจ้าบันทึกปลายทางของนโยบายต่างๆ ไว้เช่นไร
หลักสำคัญคือความใจกว้าง พร้อมจะรับรู้ความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ ฝรั่งเรียกว่า ’philosophical humility’ คือความรู้สึกถ่อมตนในทางวิชาความรู้เหมือนกับที่โสเครตีสบอกว่า
‘I know that I know nothing’ เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นเราจึงอยากถามมากขึ้น อยากฟังมากขึ้น อยากเรียนมากขึ้น
พหุวัฒนธรรม
“ผมเกิดที่ตีนเขาหลวงในนครศรีธรรมราช บ้านเป็นปอเนาะหรือโรงเรียนศาสนา คุณตา คุณพ่อ คุณแม่ ก็เป็นครูสอนศาสนา แต่พออายุ 6 ขวบ ต้องเรียนสายสามัญในโรงเรียนปกติก็เดินไปเรียนที่วัดบ้านตาล ต.กำแพงเซา อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพราะฉะนั้นพอกลางวันเรียนหนังสือในชายคาวัด มีครูบางท่านเป็นพระ แล้วกลางคืนก็กลับมาอยู่ในบริบทของศาสนาอิสลามที่เคร่งครัด จึงทำให้บุคลิกถูกหล่อหลอมโดย 2 วัฒนธรรม มองกลับไปแล้วเหมือนกับเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เตรียมตัวมาอยู่ในแวดวงการทูต อยู่ในพหุวัฒนธรรม”
พหุวัฒนธรรมไม่ใช่คำที่หนักเกินไป ทวดของดร.สุรินทร์คือผู้บุกเบิกชุมชนมุสลิมในนครศรีธรรมราช ตาของเขาคือโต๊ะครูคนแรกของปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนาบ้านตาล ในขณะที่บิดาก็อุทิศจิตวิญญาณให้กับศาสนาถึงขนาดเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะเป็นเวลาถึง 11 ปี ตั้งแต่ดร.สุรินทร์ ยังมีอายุเพียง 6 ขวบ ในวัยเด็ก ดร.สุรินทร์ ยังจำได้ว่าเขาเริ่มต้นแต่ละวันด้วยการละหมาดในเวลาตี 4 ใช้เวลากลางวันท่องมงคลสูตรของพระพุทธศาสนา และฟังแม่อ่านคัมภีร์กุรอานให้ฟังก่อนเข้านอน
“ถ้าพูดว่าการเกิดมาในครอบครัวที่เคร่งครัด และสุดท้ายต้องมาทำงานเคลื่อนไหวอยู่บนเวทีโลกเป็นข้อยกเว้น มันก็เป็นข้อยกเว้น แต่ถ้ามองอีกทางหนึ่ง นี่แหละคือวิถีชีวิตของโลกาภิวัตน์ เราต้องเคลื่อน เลื่อน ย้าย ไปในบริบทหลากหลายตลอดเวลา ไม่ว่าเราจะเป็นนักธุรกิจ เป็นนักการทูต ผู้บริหาร นักการเมือง ทุกคนต้องมองไปพ้นภูมิศาสตร์ของตัวเอง เปิดกว้างต่อทุกอย่าง เราต้องเรียนรู้ที่จะทำตัวให้เป็นประโยชน์ในสภาวะที่มันหลากหลาย เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วถามว่ามันมีความขัดแย้งกันจริงหรือ จากการที่เคยเคร่งครัดเข้มงวดแล้วมาเปิดกว้าง อาจจะไม่เสมอไป เพราะสุดท้ายชีวิตในตอนเด็กก็คือการเตรียมให้คุณมีกรอบ มีอัตลักษณ์ ชีวิตที่ไหลเลื่อนเคลื่อนย้ายในโลกาภิวัตน์ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องสูญเสียอัตลักษณ์หรือความเป็นตัวเองไป คุณต้องรู้จักตัวเอง ต้องมั่นใจในความเป็นตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถตั้งรับประเด็นปัญหาที่จะเข้ามา 360 องศาไม่ว่าเรื่องเศรษฐกิจ ความมั่นคง
การทูต การลงทุน การท่องเที่ยว ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ หรืออะไรก็ตาม”
หนึ่งในวิถีชีวิตของโลกาภิวัตน์ที่ชัดเจนที่สุดสามารถเห็นได้จากตารางงานของดร.สุรินทร์เอง ในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ ภารกิจของเขาครอบคลุมตั้งแต่การไปประชุมในฐานะที่ปรึกษาประธานธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนา (Islam Development Bank) ในเจดดาห์ การรับเสด็จเจ้าฟ้าชายชาร์ลสในฐานะที่ปรึกษาของสถาบันในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด การร่วมงาน 50 ปีอาเซียนที่โตเกียว การดูงานสมาร์ทซิตี้ในโยโกฮามา ไปจนถึงการกลับมารับศีลอดในเดือนรอมฎอนที่บ้านเกิด บทบาทหน้าที่ในหลากหลายพื้นที่ภูมิศาสตร์เหล่านี้อาจชวนให้นึกถึงองค์ความรู้ที่จำต้องกว้างขวางครอบคลุม แต่สำหรับดร.สุรินทร์ การยอมรับใน ‘ความไม่รู้’ อาจเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า
“หลักสำคัญคือความใจกว้าง พร้อมจะรับรู้ความแตกต่างหลากหลายที่มีอยู่ ฝรั่งเรียกว่า ‘philosophical humility’ คือความรู้สึกถ่อมตนในทางวิชาความรู้ เหมือนกับที่โสเครตีสบอกว่า ‘I know that I know nothing’ เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไรเลย ดังนั้นเราจึงอยากถามมากขึ้น อยากฟังมากขึ้น อยากเรียนมากขึ้น ถ้าเราไม่ปิดตัวเอง ไม่แข็งกร้าวว่าสิ่งที่เรารู้เป็น absolute truth เราก็จะพร้อมรับฟัง พร้อมที่จะแลกเปลี่ยน ตรงกันข้าม ถ้าไม่มีทัศนคตินี้ มันจะนำไปสู่สิ่งที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ‘ตัวกูของกู’ ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ยอมรับว่าคนอื่นอาจจะมีอะไรที่เราน่าจะเรียนรู้ได้ และความมีตัวกูของกูอย่างนี้นี่แหละที่นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ความขัดแย้งในประเทศ แต่ส่วนตัวโชคดีที่สังคม 2 วัฒนธรรมในวัยเด็กช่วยให้เราเห็นมาแล้วว่าความจริงมันมีมากกว่า 1 ดังนั้นมันทำให้เราพร้อมที่จะถามว่าอะไรคือความจริงในมิติที่ 3 ในมิติที่ 4 ต่อไปอีก
…อย่างตอนที่เป็นเด็กอายุ 5-6 ขวบเราได้ฟังคุณปู่ คุณตา คุณพ่อ น้า อาทั้งหลายสนทนาถกเถียงกันเรื่องเทววิทยาในปอเนาะซึ่งมีแต่คำถามที่เด็กยังไม่น่าได้ยินได้ฟัง แต่ผมนวดให้คุณตาอยู่ตรงนั้นก็เลยพลอยได้ยิน เช่นเขาถามกันว่าพระเจ้าสร้างและกำหนดสิ่งต่างๆ ด้วยการพูด แต่การที่ดอกไม้บานทุกวัน ผลิใบทุกวัน รากงอกทุกวัน กิ่งงอกทุกวันนี่แปลว่าพระเจ้าพูดให้มันเป็นอย่างนั้นทุกๆ ครั้ง ทุกๆ วันเลยหรือ หรือว่าพระเจ้าเพียงแค่สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา อย่างที่อริสโตเติลใช้คำว่า The Mechanics แล้วให้สิ่งต่างๆ มันไหลไปของมันเอง โดยพระเจ้าไม่ต้องมาคอยพูดๆ สั่งนู่นสั่งนี่ สั่งทุกสิ่งทุกอย่างทุกครั้งที่มันแปรเปลี่ยนไปในจักรวาลนี้ นี่คือสิ่งที่เขาถกเถียงกัน เราก็นั่งฟังไป”
คำสั่งหรือโครงสร้าง
ในวันนี้ คำถามอภิปรัชญาของจักรวาลที่ดร.สุรินทร์ได้ยินได้ฟังในวัย 5 ขวบ ย้อนกลับมาให้เขาพิจารณาอีกครั้งในรูปของคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูป เพราะดูเหมือนประเทศไทยก็ต้องเลือกระหว่างแนวทางการสร้างสังคมที่ดีผ่านการควบคุมและสั่งทีละเรื่อง กับการสร้างกรอบกฎเกณฑ์ที่ยืดหยุ่นเพื่อเปิดโอกาสให้สิ่งต่างๆ มีพัฒนาการและปรับตัวไปตามครรลองได้โดยไม่ต้องสั่งเช่นกัน สิ่งเดียวที่ต่างคือในขณะที่คำถามทางปรัชญายังไม่ได้ข้อสรุป เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และกฎหมายอีกไม่น้อยกว่า 200 ฉบับที่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับกลไกการกำหนดควบคุม ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าประเทศไทยอาจกำลังดำเนินไปในทิศทางแรก และนั่นดูจะไม่ใช่สิ่งที่ดร.สุรินทร์เห็นพ้องนัก
“แนวทางนี้เกิดขึ้นมาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘framing’ หรือการตั้งสมมติฐาน คือถ้าคุณตั้งสมมติฐานอย่างนี้ คุณก็ย่อมได้ข้อสรุปอย่างนี้ สมมติฐานที่ว่าคืออะไรบ้าง หนึ่ง ประชาธิปไตยเต็มไปด้วยความวุ่นวาย สอง คนไทยยังไม่พร้อมมีประชาธิปไตย สาม พรรคการเมืองเต็มไปด้วยผลประโยชน์ สี่ พรรคการเมืองคอร์รัปชันทั้งนั้น แน่นอนพอสมมติฐานเป็นอย่างนี้ ข้อสรุปก็คือกฎเกณฑ์ควบคุมเต็มไปหมดอย่างนี้ คอร์รัปชันกันนัก อย่ากระนั้นเลย ต้องควบคุมอย่าให้ออกนอกลู่นอกทางได้
…ผมไม่แน่ใจว่านี่คือสมมติฐานที่ถูกต้อง สมมติฐานเหล่านี้อาจไม่ได้ผิดทั้งหมด เราเคยมีประสบการณ์การเมืองที่โกลาหล วุ่นวาย รุนแรง เห็นแก่ตัว คอร์รัปชันกันจริง เพียงแต่เราจะเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่งมาสรุปเพื่ออนาคตที่ไกลอีก 20-30 ปีข้างหน้าไม่ได้ ไม่เช่นนั้นอนาคตมันจะอึดอัด ตีบตัน และอาจจะทำให้รัฐธรรมนูญที่เราตั้งใจให้ถาวรกลายเป็นแค่รัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกฉบับเท่านั้น เพราะถ้าเราไม่คิดให้ตกว่าอะไรคือปัจจัย คือองค์ประกอบ คือแรงที่จะกำหนดอนาคตต่อไป
แล้วออกแบบโครงสร้างที่รองรับสิ่งเหล่านั้นได้ วันหนึ่งทุกอย่างมันจะต้องพังลงมาอีกอยู่ดี
…ปัญหาคือในวันนี้ สังคมยังยอมรับสมมติฐานเหล่านั้น ตัวอย่างง่ายๆ พอมีร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วนักการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้านว่ามันอาจจะสร้างปัญหาในระยะยาว นักการเมืองคนนั้นอาจจะเป็นนักการเมืองที่ดีเลยนะ เป็นคนที่มีประสบการณ์ มองไกล แต่ผลสรุปของสังคมกลายเป็นว่า ถ้านักการเมืองไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แสดงว่ารัฐธรรมนูญต้องมีอะไรดี มันเป็นตรรกะที่บิดเบี้ยวมาก คือไม่ยอมรับเลยว่านักการเมืองอาจจะมีแนวคิดที่วางอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องได้”
ความสำเร็จเหล่านี้คือ exceptionalism ของเรา แต่ปัญหาคือเราอยู่ในอดีตนานเกินไปเราไม่เห็นว่าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงลื่นไหลอย่างรวดเร็วแล้วมันต้องการทักษะความเชี่ยวชาญที่ต่างไปจากเดิม
โลกาภิวัตน์ย้อนกลับ
ในขณะที่แนวทางการบริหารแบบมุ่งควบคุมให้เกิดระเบียบภายในประเทศสูงสุดของรัฐบาล เช่น แนวคิดร่างพ.ร.บ.มาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตลอดจนมาตรา 44 และประกาศคสช. อีกหลายฉบับอาจขัดแย้งกับหลักการเสรีนิยมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของโลกยุคโลกาภิวัตน์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ในแง่หนึ่งกลับสอดคล้องไปกับกระแสอนุรักษ์นิยมที่กำลังเฟื่องขึ้นในโลกตะวันตกไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ Brexit ในประเทศอังกฤษ นโยบาย America First ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐอเมริกา หรือขาขึ้นของพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยมขวาจัดในฝรั่งเศส อิตาลี และเยอรมนี
“ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว พวกที่ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์คือพวกโลกที่ 3 อย่างพวกเรา เพราะกลัวว่าอำนาจโลกาภิวัตน์จะมาเอาเปรียบ เป็นจักรวรรดินิยมยุคใหม่ สังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ G7 ประชุม ทุกครั้งที่ World Bank หรือ IMF ประชุม จะมีการเดินขบวนโดยเอ็นจีโอของพวกเรา แต่ต่อมาเราพบว่าโลกาภิวัตน์เป็นสิ่งที่ดี มันช่วยยกคนจนขึ้นจากเส้นความยากจน (poverty line) คนจีนกับอินเดียกว่า 500 ล้านคนกลายเป็นชนชั้นกลาง การลงทุนการส่งออกเฟื่องฟู ฝรั่งซื้อ เราขาย ฝรั่งดีไซน์อะไรมา เราก็ผลิตให้ได้ เราเริ่มได้ประโยชน์
…แต่พอเราได้ประโยชน์ เจ้าของโลกาภิวัตน์เดิมกลับเริ่มต่อต้าน เพราะรู้สึกว่าตัวเองสูญเสียงานไปอยู่ต่างประเทศ ไก่ที่เขาเป็นคนแพร่พันธุ์ พอไปอยู่ประเทศอื่น มันไปผสมจนกลายเป็นไก่ชนที่มีความเชี่ยวชาญ มีความคล่องตัว มีความแกร่ง แถมเอาค่าแรงถูก ที่เขาชักสู้ไม่ได้ เขาไม่นึกหรอกว่าที่จริงเขาก็ได้สินค้าราคาถูก สินค้าคุณภาพ และยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหลายอยู่ดี แต่ในเมื่องานอยู่ข้างนอกประเทศ ชนชั้นกลางของเขาก็เริ่มหยุดนิ่ง มันจึงเกิดเป็นกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะอังกฤษที่เคยคิดว่า ตัวเองมี ‘exceptionalism’ หรือมีความพิเศษ มีความเป็นข้อยกเว้นไม่เหมือนคนอื่น กลับต้องมาเจอคนงานจากทั่วโลก เจออาชญากรรม เจอความรุนแรง แถมยังต้องคอยรับเอามติของยุโรปมาออกเป็นกฎหมายภายในประเทศด้วย เขาจึงรู้สึกว่าเสียอำนาจอธิปไตย เสียการควบคุม อย่ากระนั้นเลย แยกดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม ดร.สุรินทร์เห็นว่ารัฐที่คิดว่าตนแตกต่างจนสามารถอยู่เป็นเอกเทศจากกระแสของโลก และตึงตัวไม่ยอมเปลี่ยนแปลง สุดท้ายกลับจะยิ่งขับตัวเองเข้ามุมอับเข้าไปอีก ในแง่นี้ น่าสนใจว่าความสำเร็จอันมีลักษณะเฉพาะของประเทศไทยในหลายมิติ ไม่ว่าวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อุปนิสัยของผู้คน จะทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงของอคติเรื่อง exceptionalism หรือความไม่เหมือนใครเช่นเดียวกันกับอังกฤษหรือไม่
“ผมคิดว่าความพิเศษของประเทศเรามีอยู่จริง การที่เราอยู่รอดไม่เป็นเมืองขึ้นของคนอื่นคือความสำเร็จพิเศษของเรา แต่นั่นเป็นความสำเร็จของบรรพบุรุษ สมัยนั้นประเทศต่างๆ ขับเคี่ยวกันด้วยอำนาจการทหาร แต่เรากลับใช้การทูตสร้างสมดุลทางการเมืองกับประเทศมหาอำนาจได้ เราเปิดประเทศ ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เริ่มส่งลูกไปเรียนในยุโรป รัชกาลที่ 5 เรียนภาษาอังกฤษกับแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ แล้วเสด็จที่ต่างๆ เพื่อศึกษาแนวทางการปกครองของชาติตะวันตกแบบ pro-active เพราะฉะนั้น ในวันที่กำแพงเบอร์ลินล้มลงปี 1989 เราคือประเทศเดียวที่พูดได้เลยว่า ‘ฉันจะกลับไปยังสถานที่ตั้งเก่าของคณะทูตไทยที่ตั้งอยู่ที่มุมถนนในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในรัสเซีย’ ประเทศอื่นพูดไม่ได้ เพราะสมัยก่อนนั้นเขายังไม่เป็นประเทศเลย ความสำเร็จเหล่านี้คือ exceptionalism ของเรา แต่ปัญหาคือเราอยู่ในอดีตนานเกินไป เราไม่เห็นว่าโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงลื่นไหลอย่างรวดเร็วแล้วมันต้องการทักษะความเชี่ยวชาญที่ต่างไปจากเดิม
…ในอาเซียน ผมสังเกตว่าการทูตมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือการทูตของกลุ่มประเทศที่เป็นอาณานิคม ซึ่งก็คือทุกประเทศยกเว้นประเทศไทย ผมใช้คำว่า ‘diplomacy of defiance’ คือเขาต้องต่อสู้ ดิ้นรนกว่าจะได้มาซึ่งอิสรภาพ เขามีความรู้สึกว่าต้องสร้างประเทศ สร้างชาติ สร้างอัตลักษณ์ ดังนั้นประวัติศาสตร์จึงเตรียมเขามาให้เก่งการทูตของการแข่งขัน การทูตของการขัดแย้ง เก่งการเจรจาเรื่องผลประโยชน์ เรื่องการสร้างการเติบโต เพราะเขาต้อง defy ต้องต่อสู้กับมหาอำนาจเพื่อสร้างชาติขึ้นมา ส่วนของไทยเป็น ‘diplomacy of accommodation’ คือใครมาเราก็รับมือได้ รู้จักสร้างสมดุล ประสบการณ์ของประเทศไม่ได้เกิดมาจากการดิ้นรน สูญเสีย เราอยู่กับความสำเร็จมาตลอด ซึ่งก็ดีเยี่ยม ไม่ใช่เรื่องเสียหายเลย เพียงแต่ถึงวันนี้ ในโลกยุคที่ต้องแข่งขันกัน ต้องออกไปข้างนอก ต้องไปต่อรองรักษาผลประโยชน์ เราต้องถามว่าการทูตสไตล์ไหนที่จะตอบปัญหาเราได้ดีกว่ากัน”
เราเอาเอกชนไปพูดแทนไม่ได้ เราต้องพูดในนามรัฐ แต่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผมไปอยู่อาเซี่ยน ผมพบว่าระบบเราไม่สามารถสร้างคนที่พร้อมจะไปแข่งขันเจรจาต่อรองในนามประเทศได้เลย ผู้แทนไทยคือคนที่เงียบที่สุดในวงเจรจา
อย่าให้เป็นข้อยกเว้น
ดร.สุรินทร์เขียนหนังสือเรื่อง ‘ความสำเร็จไม่มีข้อยกเว้น’ (สำนักพิมอมรินทร์, 2556) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในเส้นทางชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตมาในปอเนาะ การปั่นจักรยานวันละ 20 กิโลเมตรเพื่อไปเรียนในตัวเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช การสร้างความประทับใจให้กับอาจารย์ฝรั่งจนนำไปสู่ทุนการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด การรับจ้างล้างจานในร้านอาหารตั้งแต่คืนแรกที่ถึงสหรัฐฯ ด้วยความขัดสนทุนทรัพย์จนเป็นลมสลบอยู่ข้างอ่างล้างจาน หรือแม้กระทั่งการบริหารการเมืองระหว่างประเทศในยามดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียน ฯลฯ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจว่าหากเด็กรุ่นเก่าที่เติบโตมาจากพื้นที่ชนบทขาดการรู้เห็นอย่างเขายังสามารถสะสมต้นทุนจนมาทำงานบนเวทีโลกได้ เด็กรุ่นใหม่ย่อมไม่ควรยกเอาข้อจำกัดต่างๆ มาเป็นเหตุท้อถอยง่ายเกินไป อย่างที่เขาเขียนไว้ในหนังสือว่า “เมื่อเราเตรียมตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ ไม่เคยหยุดที่จะดิ้นรนเรียนรู้และมองหาสิ่งที่ดีกว่า เมื่อนั้น โอกาสที่บินอยู่สูงลิบลับจะร่อนลงมาเกาะที่บ่าเอง” แต่ในขณะเดียวกัน ดร.สุรินทร์ก็เชี่อว่าหากประเทศจะแข่งขันได้อย่างแท้จริง โครงสร้างทางสังคมต้องเอื้อให้ความสำเร็จของบุคคลในสังคมเกิดได้โดยสม่ำเสมอทั่วไป มากกว่าจะเป็นข้อยกเว้นเช่นกัน
“ท่านชวน (ชวน หลีกภัย) ชอบใช้คำว่าอย่าสุกเพราะบ่ม อย่าใช้เครื่องทุ่นแรง เมื่อก่อนคนปักษ์ใต้จะเอาแก๊สตะเกียงกรีดยางมาบ่มมะม่วงให้สุกเร็วๆ คุณชวนบอกว่าอย่าใช้เครื่องทุ่นแรง มะม่วงที่สุกเองมันหวานกว่ามะม่วงบ่มแก๊ส สังคมไทยเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยการบ่ม การหล่อเลี้ยงกันด้วยอภิสิทธิ์ ด้วยนามสกุล ด้วยสถานภาพทางสังคม ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ลดลง มันยากที่คนจำนวนมากจะรู้สึกว่าลูกของเขาเองก็มีโอกาสเติบโตงอกงามขึ้นได้เท่าเทียมกับคนอื่น แล้วเมื่อไหร่ที่เขารู้สึกอย่างนั้น เขาย่อมไม่เห็นว่ามันเป็นภาระ เป็นความรับผิดชอบที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อบำรุงรักษาประเทศนี้ เขาก็จะคิดแค่ว่า ‘แรงงานของฉันได้มาเท่านี้ ไปได้ไม่ไกลกว่านี้ ลูกหลานของฉันก็คงไปไม่ไกลกว่านี้ ดังนั้น ฉันก็อยู่ไปแค่วันต่อวันนี่แหละ’ แล้วเราจะสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ยังไง
…สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ความแปลกแยก (alienation) คือคนไม่มองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบและกระบวนการ เดี๋ยวนี้คนหนุ่มสาวที่มีความสามารถไม่เข้าราชการแล้ว แต่จะทำงานเป็นนายตัวเอง เก็บเงินไปเมืองนอก สะสมทักษะมาก็ไปทำงานเป็นที่ปรึกษา คนที่มีคุณภาพจะไม่อยู่ในระบบ คนที่อยู่ในระบบกลับเป็นคนที่ไม่สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงได้ แล้วถ้าคนเหล่านี้ต้องออกไปปกป้องผลประโยชน์ของประเทศในต่างประเทศ เขาจะทำได้ไหม บนเวทีระหว่างประเทศ เราเอาเอกชนไปพูดแทนไม่ได้ เราต้องพูดในนามรัฐ แต่ตลอดเวลา 5 ปีที่ผมไปอยู่อาเซียน ผมพบว่าระบบเราไม่สามารถสร้างคนที่พร้อมจะไปแข่งขันเจรจาต่อรองในนามประเทศได้เลย ผู้แทนไทยคือคนที่เงียบที่สุดในวงเจรจา”
สุดท้ายแล้วการไม่ให้โอกาสที่เท่าเทียมกับคนในประเทศ จึงเท่ากับเป็นการไม่ให้โอกาสประเทศที่จะขับเคลื่อนไปด้วยคนที่ดีที่สุด
“กลไกที่เป็นหลักที่สุดของการบริหารประเทศ คือกลไกระบบราชการ แต่ในเมื่อระบบนี้เต็มไปด้วยการเมืองและระบบอุปถัมภ์ ข้าราชการจะไม่สามารถขึ้นไปบนเวทีเพื่อต่อรองกับใครได้ เพราะหนึ่ง เขาไม่ได้มาด้วยความพร้อมหรือความรู้ความสามารถ และสอง เขาไม่รู้สึกผูกพันกับงาน เพราะทั้งชีวิตก็เติบโตมาด้วยการวิ่ง ได้เป็นรองอธิบดีซี 8 วันนี้ก็เริ่มวิ่งซี 9 พรุ่งนี้ งานของอธิบดีที่ควรจะเรียนรู้ เขาไม่สนใจเลย
…อย่างที่เราพูดกันเรื่อง philosophical humility การทำงานในเวทีโลก เราต้องตระหนักในความไม่รู้ของเรา และเมื่อไม่รู้ เราก็ต้องอ่านเพื่อหาข้อมูลเพิ่มและซึมซับแนวคิดหลากหลาย ประสบการณ์ของผมคือ เวลาคุณอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง คุณจะคล้อยตามคนเขียน พออ่านเล่มที่สอง คุณจะรู้สึก เอ๊ะ---ถูกทั้งสองคน แต่พออ่านเล่มที่สาม คุณจะเริ่มมีความคิดของคุณเองที่มันอยู่ท่ามกลางความคิดของสามสี่เล่ม แต่ถ้าคุณไม่อ่านเลย คุณไม่มีทางที่จะมี analytical skill ที่จะใช้ในการตัดสินใจเพื่อตัวคุณเอง เพื่อประเทศชาติ เพื่อสังคมได้
…ของประเทศอื่น คนที่จะขึ้นไปเป็นตัวแทนประเทศเขาต้องมี ‘facility of the language’ เพราะกว่าเขาจะขึ้นไปอยู่ถึงตรงจุดนั้น เขาต้องผ่านการกลั่นกรอง ทดสอบ แลกเปลี่ยน เรียนรู้สิ่งต่างๆ มาก่อนแล้ว ในวันที่เขามีตำแหน่ง เขาจึงมีอะไรมากไปกว่าตำแหน่ง แต่ของเราไม่ เวลานั่งอยู่บนโต๊ะเจรจาในวงการทูตของเรา ไม่ว่าระดับไหน หนึ่ง คือเงียบ สอง คือพูดได้แค่เรื่องกอล์ฟ แต่เรื่องอื่นๆ เช่น ปรัชญา วรรณคดี ดนตรี ละคร ฯลฯ finer things in life เหล่านี้ เราแทบไม่รู้เลย
…แน่นอน เราอาจพอรู้เรื่องวัฒนธรรมของเรา แต่มันไม่พอ เวลาคุณอยู่ตรงนั้น คุณต้องรู้อีกหลายเรื่องเพื่อละลายน้ำแข็ง เพื่อที่จะบอกกับคนอื่นได้ว่าเรามีหลายสิ่งร่วมกัน ไม่ใช่ว่าคุณไปถึงตรงนั้นแล้วอ่าน 10 ข้อที่กระทรวงเตรียมมาให้แล้ว Thank you เลย มันไม่มีทางเจรจาสำเร็จ มันจะสำเร็จก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่าเราเข้าใจในเรื่องเดียวกัน เป็นห่วงในเรื่องเหมือนๆ กัน เราต้องสร้างจุดร่วมตรงนี้ให้ได้ แต่คนของเราไม่มี และนี่คือบุคคลที่จะกำหนดทิศทางของประเทศไปอีก 20 ปี”
ทางรอดของประเทศคือการเอาคนที่ดีที่สุดของประเทศเข้ามาร่วมในการแสวงหาหรือวาดอนาคตร่วมกัน ซึ่งนี่หมายถึงการเปลี่ยนทั้งระบบว่าทำอย่างไรคน 65 ล้านคนถึงจะมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทำอย่างไรทุกคนถึงจะรู้จักว่าการทำงานของตัวเองมีความหมาย ลูกหลานของเขามีอนาคต
ทางออก
สำหรับดร.สุรินทร์ ในเมื่อสิ่งที่เป็นปัญหาคือความรู้สึกไม่มีส่วนร่วมของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทางออกหรือคำตอบก็อยู่ตรงปัญหานั้นเอง
“ผมไม่เห็นทางอื่นนอกจากสร้างบรรยากาศให้เราได้การมีส่วนร่วม ทางรอดของประเทศคือการเอาคนที่ดีที่สุดของประเทศเข้ามาร่วมในการแสวงหาหรือวาดอนาคตร่วมกัน ซึ่งนี่หมายถึงการเปลี่ยนทั้งระบบว่าทำอย่างไรคน 65 ล้านคนถึงจะมีส่วนร่วมในกระบวนการ ทำอย่างไรทุกคนถึงจะรู้สึกว่าการทำงานของตัวเองมีความหมาย ลูกหลานของเขามีอนาคต ไม่ใช่ตัดสินกันด้วยเรื่องว่าเขาเกิดที่ไหน เขาลูกใคร
…พื้นที่เดียวที่จะสร้างความเท่าเทียมนี้ได้คือประชาธิปไตย แต่ในเมื่อคนยังมีความรู้สึกแต่ว่าประชาธิปไตยใช้ไม่ได้ ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับคนไทย ประชาธิปไตยมีแต่ความขัดแย้ง ประชาธิปไตยเต็มไปด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ สิ่งที่เราต้องทำคือการสร้างพื้นที่ทดลองให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่ดี ที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล มันเป็นไปได้จริงในเมืองไทย เราต้องไถ่คืนชื่อที่ดีๆ ความรู้สึกที่ดีๆ ของประชาธิปไตยกลับมา โดยเป็นประชาธิปไตยที่เรียกว่า ‘participatory democracy’ ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของตลอดกระบวนการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ 4 ปีมีส่วนร่วมครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่บอกว่า ‘เลือกผม ผมก็จะอุปถัมภ์คุณ’ แต่เป็นประชาธิปไตยที่บอกว่า ‘เลือกผม ผมจะได้มาร่วมงานกับคุณ’
…แล้วเราจะเริ่มกันที่ตรงไหน ผมเห็นด้วยกับอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ว่าต้องเริ่มที่ระดับชุมชน Local Level ไปฟูมฟักกันตั้งแต่ตรงนั้น ไปให้อำนาจคนในระดับล่าง ให้เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนเข้มแข็ง ในประสบการณ์ของผมคน งบพัฒนาที่ส่งไปให้ชุมชนใดก็แล้วแต่ ถ้าชุมชนไม่เข้มแข็ง เหมือนกับเอาเงินไปละลายแม่น้ำ แต่ถ้าชุมชนแข็งแรง มั่นคง ตรวจสอบตัวเองได้ มันจะ effective มันจะ efficient ใส่เงินไป 500 บาท รัฐจะได้ตอบแทนกลับมา 1,000 เพราะคนจัดการทรัพยากรนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเขาตื่นขึ้นมาแบบเป็นเจ้าของ ไม่ได้อยู่แบบซังกะตาย passive ซึ่งจะเอื้อต่อการเมืองอุปถัมภ์ แล้วการเมืองอุปถัมภ์ก็คือการเมืองประชานิยม เราจะพูดกันเรื่องแก้วิทยาศาสตร์ แก้การวิจัย แก้เรื่องนวัตกรรมอะไรก็ตาม ถ้าไม่แก้บริบทกว้างเหล่านี้ มันก็จะไม่มีทางหลุดพ้นไปจากวัฏจักรของการอุปถัมภ์ได้
…ผมเข้าธรรมศาสตร์ครั้งแรก พอเจอคำสัมภาษณ์รันทดเลย คือ ‘วัดพระแก้วมรกตอยู่ฝั่งตะวันตกหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา’ เพราะนี่คือคำถามโปรคนกรุงเทพฯ คนบ้านนอกอย่างผม ลงรถมาจากต่างจังหวัดเมื่อเช้านี้ยังไม่ได้พักเลย จะไปรู้อะไรเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ได้ขนาดนั้น ทำไมเขาไม่ถามว่าวัดพระมหาธาตุที่นครศรีธรรมราชอยู่ฝั่งตะวันออก หรือฝั่งตะวันตกของถนนราชดำเนินบ้าง นี่คือสิ่งที่ฝังอยู่ในกลไกของสังคมและค่านิยมโดยไม่รู้ตัว ว่ามันเป็นไปเพื่อคนที่มีอภิสิทธิ์และมีโอกาสแล้วในสังคม
…ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่เราคิดว่าคำตอบคือการมีส่วนร่วมอย่างนี้ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือรัฐกำลังรวมศูนย์ยิ่งขึ้น ความจริงการรวมศูนย์ (centralization) คือแนวคิดสมัยรัชกาลที่ 4 กับรัชกาลที่ 5 เพราะท่านต้องการรักษาประเทศไว้ไม่ให้หลุดเป็นของฝรั่งเศส หรืออังกฤษ มีการแต่งตั้งข้าหลวงไปจากกรุงเทพฯ ลดอำนาจของเจ้าเมือง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้รักษาประเทศไทยมาช้านาน แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าจะตั้งตำรวจยศร้อยตรีคนหนึ่ง ต้องตัดสินใจโดยคนในกระทรวงหรือ ถ้าจะเปลี่ยนสีผังเมืองของแม่ฮ่องสอนต้องตัดสินใจที่กรุงเทพฯ หรือ เราอยู่ตรงนี้เราจะไปรู้อะไร อย่าว่าแต่สุดท้ายถ้าอยากเปลี่ยนสีผังเมืองจากสีเกษตรไปเป็นสีอุตสาหกรรม แค่มีเงินจ่ายก็เปลี่ยนได้อีก แล้วคนในพื้นที่เขาจะได้อะไร เขาก็มีแต่จะรู้สึกห่างออกไปอีก ผมถึงได้บอกว่าระบบนี้ไม่แก้ปัญหา มันสร้างปัญหา เดินไปข้างหน้ามันจะยิ่งทำให้ suffocate ตีบตัน และนำไปสู่วิกฤติ”
น่าเสียใจที่แม้กระทั่งการศึกษาซึ่งน่าจะเป็นฐานสำคัญของพัฒนาการในด้านอื่นๆ ก็มีปัญหาเป็นของตัวเองเช่นกัน
“ผมเองก็มาถึงตรงนี้ได้ด้วยการศึกษา ผมถึงมีความรู้สึกว่า การศึกษาช่วยได้มาก เพราะคุณต้องไปสร้างอนาคตต้องไปปลุกเด็กในวันข้างหน้าว่าเขาก็สามารถสร้างอนาคตของเขาได้ ความจริงการเมืองในอดีตให้ความสำคัญกับกระทรวงศึกษาธิการมาก แต่เพราะอะไร Because of the wrong reasons, not for the right reasons. การสนใจกระทรวงศึกษาธิการด้วยเหตุผลที่ผิด คือสนใจเพราะงบการศึกษามันมหาศาล คิดเป็น 21% ของงบแผ่นดิน หรือสนใจเพราะกระทรวงการศึกษามีคนมาก เป็นฐานการเมืองที่ดี ถ้าสนใจด้วยเหตุผลที่ถูกคือต้องสนใจเพื่อไปสร้างอนาคต เพื่อปลุกความรู้สึกของเด็กว่ามีความหวัง ว่านี่ประเทศเรา อนาคตเรา เราทำได้
…อีกเรื่องที่ต้องทำก็คือ Rule of Law กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ตรงไปตรงมา โปร่งใส ต้องทำให้คนของเรามีวินัย และเคารพในเรื่องของกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย รอโอกาสของตัวเอง โดยไม่ใช้กลไกพิเศษ ใช้เครื่องทุ่นแรง ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าชีวิตมี mobility คือเคลื่อนไปได้ ลูกชาวนาสามารถที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ลูกเศรษฐีร่ำรวยมหาศาล ถ้าไม่เก่งจริง ก็ต้องลงมาข้างล่างได้ ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยอภิสิทธิ์ อยู่ได้ด้วยนามสกุล
…แน่นอนสิ่งเหล่านี้มันต้องใช้เวลา ถามว่ามันพอที่จะสร้างการแข่งขันให้เราทันสำหรับช่วงชีวิตนี้หรือ คำตอบก็คือถ้าเราไม่เริ่มตอนนี้ จะเริ่มตอนไหน มันไม่มีคำว่าสายไป”
ผมว่าคนรุ่นใหม่ต้องคิดถึงปัญหาของสังคมให้มากขึ้น ต้องสร้างแกนสร้างพื้นที่สำหรับประชาธิปไตยที่ดีให้มันเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อช่วยคนอื่นๆ ในประเทศนี้ ซึ่งเขาย่อมไม่สามารถยอมแพ้ได้ตลอดไป เพราะถ้าถึงเวลานั้นเมื่อไหร่ ทุกอย่างมันจะย้อนกลับมาหาพวกเขาเองเหมือนบูมเมอแรง
กำหนดร่วมกัน
แม้แนวทางการพัฒนาประเทศในปัจจุบันจะไม่ตรงกับอุดมคติที่ดร.สุรินทร์หวังไว้ ถึงขนาดที่ ณ จุดหนึ่งเขายอมรับว่า Shock Therapy ในรูปของวิกฤตอาจเป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ในอนาคต กระนั้น เขาก็ไม่เชื่อในการเพิกเฉยทัศนคติไม่ยอมอ้างข้อยกเว้นเหนือความพยายามคือสิ่งที่เขาใช้กับทั้งตนเองและการทำงาน
“ไม่ว่าเรื่องใด ถ้าคุณลองใคร่ครวญกับสถานการณ์ของตัวเองเมื่อไหร่ เป็นไปได้มากว่าคุณจะมาถึงชั่วขณะที่คุณมี self-doubt สงสัยตัวเองว่าจะดีพอหรือ จะเก่งพอหรือสำหรับงานตรงหน้า แต่สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่พยายามมุ่งหน้าต่อไป อย่างที่ผมสอนลูกเลยว่า ‘พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ขึ้นอีกลูก’ คุณจะสงสัยตัวเองแค่ไหน พรุ่งนี้พระอาทิตย์ก็ยังขึ้นอีก และมันก็จะเป็นวันใหม่
…ก่อนนอนทุกคืนผมจะนึกเสมอว่า Take it away God. I’ve done my best today. Tomorrow I will wake up and do it again. มันฟังง่ายๆ แค่นี้แหละแต่มันช่วยได้จริงๆ ชีวิตมันเป็นของที่เต็มไปด้วย contradiction ความย้อนแย้ง ไม่มีชีวิตไหนที่มีแต่ความราบรื่น สมบูรณ์ คนที่เราคิดว่าเพอร์เฟกต์ที่สุด ก็ยังเต็มไปด้วยความย้อนแย้งในแบบของเขา แต่ศิลปะของชีวิตมันอยู่ตรงที่ว่าจะบริหาร จะผ่านความย้อนแย้งนี้ไปอย่างไรต่างหาก ผมเรียนรู้มาจากท่านพุทธทาสว่าโลกนี้มี ‘ภาษาคน’ กับ ‘ภาษาธรรม’ ภาษาคนเต็มไปด้วยสัญลักษณ์แตกต่างหลากหลาย แต่ก้าวเข้าไปที่ภาษาธรรมก็คือสิ่งเดียวกัน ปัญหาคือคุณมองออกหรือเปล่าว่าเรากำลังพูดถึงภาษาไหนกันอยู่ คนส่วนใหญ่มักจะติดกับอยู่กับสัญลักษณ์ของภาษาคน ทำให้รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ขัดกันตลอด แต่บ่อยครั้งถ้าคุณหลุดพ้นจากสัญลักษณ์พวกนี้ไปได้ คุณจะเข้าใจอะไรได้เยอะ คุณจะสามารถอภัย สามารถอยู่กับความย้อนแย้งไม่ลงตัวต่างๆ ได้”
ทั้งนี้ เมื่อคลี่คลายความอึดอัดย้อนแย้งในใจเหล่านี้ได้ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือกำลังที่จะใช้ชีวิตและทำหน้าที่ในฐานะมนุษย์ได้อย่างเต็มเปี่ยม
“ผมจะสอนลูกตลอดเวลาว่าลูกต้องไม่อยู่เพียงเพื่อตัวเอง สัตว์อยู่เพียงเพื่อตัวเอง แต่ชีวิตมนุษย์เป็นไปได้เพราะการอยู่ร่วมกันในสังคม เราอาจจะไม่ได้รู้จักกันเป็นส่วนตัว แต่เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันที่บริหารความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ทั้งหลายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย จารีต ประเพณี เพราะฉะนั้น พอเกิดเป็นมนุษย์แล้วส่วนใหญ่เราอยู่เพื่อคนอื่น และเราก็จะค้นพบความหมายของชีวิต ความหมายของการมีอยู่ของเราจากการได้พบ ได้ปฏิสัมพันธ์ ได้ร่วมมือกับผู้อื่น เราจึงต้องช่วย ต้องสนับสนุน ต้องรู้สึกร่วมกับเพื่อนมนุษย์ สัตว์ทุกตัวอยู่เพื่อตัวเองได้ แต่สัตว์ที่ประเสริฐอย่างมนุษย์ต้องอยู่เพื่อคนอื่น ทำเพื่อคนอื่น และสร้างความพึงพอใจในชีวิตจากการทำให้คนอื่น”
หากคำพูดเหล่านี้ฟังเหมือนถ้อยคำสร้างแรงบันดาลใจ ข้อความต่อไปทำให้รู้ว่ามันเป็นคำเตือนอยู่ในตัวด้วย
“เดี๋ยวนี้มีคนรุ่นใหม่ออกไปไกลๆ ไปทำอะไรของตัวเองข้างนอกระบบ แต่ผมว่าคนรุ่นใหม่ต้องคิดถึงปัญหาของสังคมให้มากขึ้น ต้องสร้างแกนสร้างพื้นที่สำหรับประชาธิปไตยที่ดีให้มันเกิดขึ้นให้ได้ เพื่อช่วยคนอื่นๆ ในประเทศนี้ ซึ่งเขาย่อมไม่สามารถยอมแพ้ได้ตลอดไป เพราะถ้าถึงเวลานั้นเมื่อไหร่ ทุกอย่างมันจะย้อนกลับมาหาพวกเขาเองเหมือนบูมเมอแรง คุณอาจจะคิดว่าคุณสามารถอยู่นอกระบบและอยู่รอดได้ แต่ไม่จริง เพราะเมื่อระบบพังลง ทุกอย่างมันจะปั่นป่วนระส่ำระสายไปหมด แล้วถึงตอนนั้น จะโทษใคร เพราะตอนคุณมีโอกาสทำ คุณหนีออกไป คนที่เก่งที่ดีอย่างคุณ ยิ่งมีภาระหน้าที่ต่อสังคมต่อประเทศ คุณไม่ได้ถูกขัดเกลา ถูกฝึกมาเพื่อให้ไปอยู่นอกระบบ
…คุณต้องเข้ามา มีส่วนร่วม แก้ไปในแบบของคุณ ในอาชีพของคุณ มองหาพื้นที่ของชุมชนที่คุณจะทำอะไรได้ เช่น ถ้าเริ่มจะเป็นพ่อแม่ ลูกกำลังจะเรียนอนุบาล ก็ต้องสนใจเรื่องหลักสูตร เรื่องคุณภาพการเรียนการสอน มีส่วนร่วม ขยับมันไป แก้มันไป สังคมไทยเคยได้รับการขนานนามจากนักวิชาการฝรั่งว่า It’s a bureaucratic polity คือเป็นสังคมที่ดำเนินไปด้วยข้าราชการอย่างเดียว แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว ดังนั้น เราจะปล่อยให้บรรยากาศยังเหมือนเดิม ยังมีแต่พฤติกรรมอย่างเดิมๆ ไม่ได้ มันไม่ใช่ลักษณะของประเทศที่เราควรทิ้งไว้ให้กับลูกหลาน ตอนนี้สังคมกำลังวิ่งไปด้วยแรงหลายแรง เราต้องหันหน้าเข้าหากันแล้วมากำหนดร่วมกัน”
ศาสนาอิสลามมีฮะดีษอีกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ปากกาของพระเจ้าถูกยกขึ้นแล้ว และหมึกก็แห้งแล้ว” เพื่อสื่อนัยว่าชะตากรรมของสรรพสิ่งเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้เสร็จสิ้น ไม่อาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้อีก กระนั้น การได้สัมภาษณ์มุสลิม
ผู้เคร่งครัดอย่างดร.สุรินทร์เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมและประเทศ กลับไม่ได้ให้ความรู้สึกของ ‘ชะตา’ ที่หยุดนิ่งมากเท่ากับ ‘กรรม’ หรือการกระทำของแต่ละบุคคลที่ยังหมุนเวียนเคลื่อนไหว
ปากกาของพระเป็นเจ้าอาจถูกยกขึ้นแล้ว แต่เป็นไปได้ว่า ปากกาของมนุษย์ยังขึ้นอยู่กับสิ่งที่ทุกคนกำลังจะได้เขียนต่อไป
■