SECTION
ABOUTECONOMIC REVIEW
เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ใน 10 ปีข้างหน้า
คาดว่าไทยจะสามารถ ยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2571 หาก จีดีพีขยายตัวปีละ 3.8% ซึ่งเป็นกรณีฐาน แต่หากขยายตัวตํ่ากว่านั้น เช่น 3.3% ต่อปีก็จะต้องรอถึงปี 2574
เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นมีแนวโน้มไม่แจ่มใส รัฐบาลพยายามเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาโดยนำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างรีบเร่งเพื่อมิให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลงไปอีก โดยคาดหวังว่าการลงทุนของภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่น่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าจะเป็น ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่ความผันผวนและเปราะบางของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ โดยเฉพาะความไม่น่าไว้วางใจของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ก็จะสามารถคลี่คลายไปในทางที่ดีเช่นกัน
แต่ที่กล่าวถึงและอยากรู้กันมากคือแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในระยะยาวอีก 5 ปี 10 ปีจะเป็นอย่างไร เพราะปัญหาระยะสั้นนั้นพอที่จะบริหารจัดการรับมือได้ แต่อยากรู้ว่าระยะยาวจะเป็นอย่างไรจะได้วางแผนได้ถูก รวมทั้งการวางแผนการลงทุนส่วนตัวในระยะยาวด้วย ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงเดียวกันกับที่รัฐบาลเองก็กำลังเขียนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ (แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 12: ปี 2560-2564) ขึ้นมา ซึ่งผมขอนำเอามุมมองของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจไทยมาเป็นจุดตั้งต้น
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กำหนด Mission Statement สำหรับอนาคตของประเทศไทย (มองภาพในแง่ดี) ดังนี้ “ประเทศไทย (จะเป็น) ประเทศรายได้สูงที่มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม เป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สู่การเป็นชาติการค้าและบริการ (trading and service nation) เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมยั่งยืน แหล่งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
อ่านดูแล้วก็อาจคิดว่าดูดีแต่ทำยาก อย่างไรก็ดีก็จะเห็นว่าภาครัฐต้องการผลักดันภาคเศรษฐกิจภาคใด (เช่นให้ความสำคัญกับการขนส่งและการบริการ) และอยากกระจายรายได้ ตลอดจนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในที่สุด โดยคาดว่าไทยจะสามารถ ยกระดับเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2571 หากจีดีพีขยายตัวปีละ 3.8% ซึ่งเป็นกรณีฐาน แต่หากขยายตัวตํ่ากว่านั้นเช่น 3.3% ต่อปีก็จะต้องรอถึงปี 2574 กว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศรายได้สูง ซึ่งสมมุติฐานหนึ่งในการนำมาซึ่งการคาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวประมาณ 3.3-4.3% (จุดกลางคือ 3.8%) คือการกำหนดให้จีดีพีโลกขยายตัว 3.8% ในช่วง 2560-2564 (แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ 12) และขยายตัว 4.2% ในช่วง 2565-2569 กล่าวคือเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเท่ากับเศรษฐกิจโลก ซึ่งตํ่ากว่าอดีตที่เศรษฐกิจไทยเคยขยายตัวสูงกว่าเศรษฐกิจโลก 1.5 ถึง 2 เท่า
นอกจากนั้นสภาพัฒน์ฯ ยังประเมินว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4% ต่อปีและภาคเกษตรจะขยายตัว 3% ต่อปี แปลว่าการเกษตรจะหดตัวลงไปอีกหากคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี นอกจากนั้นยังคาดว่าผลิตภาพ (productivity) ของภาคเกษตรจะติดลบ 0.8% ซึ่งทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรกรรมที่ยั่งยืนได้อย่างไรหากภาคเกษตรกรรมด้อยกว่าภาคอื่นๆ ดังการประเมินข้างต้น ในขณะเดียวกันก็ประเมินว่าภาคบริการจะขยายตัวถึง 7% ต่อปีและอยากเห็นพื้นที่ป่าของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 31.2% ในปี 2556 มาเป็น 36% ในปี 2564 ซึ่งก็น่าจะทำให้การขยายตัวของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสภาพัฒน์ฯ มองว่าแรงงานของไทยจะลดลง 0.2% ต่อปีในช่วงแผนฯ 12 และลดลง 0.7% ต่อปีในช่วงแผนฯ 13 หรือในอีกปี 10 ปีข้างหน้าแรงงานจะหดตัว อย่างมีนัยสำคัญ
ในความเห็นของผมนั้น ข้อจำกัดดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นเหตุให้สภาพัฒน์ฯ มิได้กำหนดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสูงมากนัก นอกจากนั้นหัวจักรที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้รุ่งเรือง เช่น การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนก็คาดการณ์ว่า จะขยายตัวเพียง 4% และ 5% ตามลำดับ (การลงทุนของรัฐนั้นกำหนดให้ขยายตัวเพียง 4% คงเพราะไม่ต้องการให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 50-55%) ดังนั้นผมจึงมองว่าการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ประมาณ 2-3% จึงน่าจะถูกต้องและอาจตํ่ากว่านั้นอีกก็เป็นได้หากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอกว่าที่คาด
ในทำนองเดียวกันสภาพัฒน์ฯ มองว่าไทยน่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2% ของจีดีพี ซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหรือขาดดุลไม่มากจะช่วยทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าในระยะยาว จึงอาจสรุปได้ว่าเศรษฐกิจไทยก็น่าจะมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง ขณะที่การลงทุนในอนาคตก็ไม่ควรหวังผลตอบแทนสูงมากนักและควรกระจายความเสี่ยงไปในต่างประเทศบ้าง ■