SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
Opening a Dialogue
ภายใต้คลื่นมีเดียที่ถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่า ผู้คนในปัจจุบันเรียกได้ว่าใช้ชีวิตอยู่ในข้อมูลตลอดเวลา อันที่จริง เอริก ชมิตต์ อดีตซีอีโอของกูเกิล เคยบอกไว้ตั้งแต่ปี 2010 ว่าในทุกๆ สองวัน มนุษย์ในโลกจะร่วมกันสร้างข้อมูลในปริมาณที่เยอะกว่าที่โลกเคยสะสมไว้ตั้งแต่เริ่มมีอารยธรรมมนุษย์มาจนกระทั่งปี 2003
เป็นการง่ายที่จะรู้สึกว่า ‘ความชุ่มอาบ’ อยู่ในข้อมูลนี้น่าจะเป็นเหมือนน้ำที่รดให้ความเข้าใจระหว่างผู้คนในสังคมงอกงามก้าวกระโดดในอัตราที่สังคมปิดในอดีตให้ไม่ได้ แต่ตรงกันข้าม ดูเหมือนข้อมูลยิ่งมาก ความเห็นกลับยิ่งแตกแยก อคติที่เคยคิดว่าจะถูกทำลายกลับยิ่งถูกยืนยัน จนไม่นานทุกคนเริ่มมีลักษณะของปราการ ที่ซึ่งแม้กระทั่งข้อเท็จจริงที่ใหม่ที่สุดก็ไม่สามารถกระเซ็นเข้าถึงอีกต่อไป
ความเชื่อในทรัมป์ ความไม่เชื่อในภาวะโลกร้อน หรือแม้กระทั่งการเลือกที่จะได้ยินหรือไม่ได้ยินข่าวบางข่าวของผู้ฝักใฝ่การเมืองไทยในปัจจุบัน ล้วนแสดงให้เห็นปรากฏการณ์ความเชื่อเหนือความจริง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Post-truth Phenomenon นี้ได้เป็นอย่างดี
โชคยังดี ขณะที่ปราการแข็งแกร่งแห่งอคติไม่อาจถูกเจาะได้โดยเพียงกำลังของข้อเท็จจริงในยุคของ Post-truth, Post-fact แดเนียล ยานคีโลวิช ปรมาจารย์นักวิเคราะห์ความเห็นสาธารณะ และผู้แต่งหนังสือเรื่อง The Magic of Dialogue: Transforming Conflict into Cooperation ยืนยันว่าประวัติศาสตร์มนุษย์แสดงให้เห็นว่าก่อนจะมีวิทยาศาสตร์ สังคมมนุษย์ก็ยังมีวิธีหาความรู้ที่ใช้การได้ (prescientific way of knowing) ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Dialogue หรือการแลกเปลี่ยนแสวงความ ‘เข้าใจ’ ร่วมกัน และนั่นคือสาเหตุที่ทำให้สังคมก้าวเดินมาได้โดยไม่ล่มสลาย แม้ก่อนยุคแห่งข้อมูล
บทสัมภาษณ์คุณอานันท์ ปันยารชุน นักการทูตผู้สัมฤทธิ์ ผู้อยู่เบื้องหลังการเจรจากับสหรัฐอเมริกาให้ถอนฐานทัพจากประเทศไทยและการเปิดสัมพันธ์กับประเทศจีนในช่วงสงครามเย็น ตลอดจนนายกรัฐมนตรีผู้ก้าวเข้ามาดำรงตำแหน่งในวันที่สังคมเคยแตกแยกที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คืออีกหนึ่งเรื่องราวที่แสดงความสำคัญยิ่งของ Dialogue นั้น (‘Building Dialogue’)
ขอเชิญ ‘รับฟัง’ ร่วมกันเพื่อสร้างปีใหม่นี้ที่เปิดกว้างกว่าเดิมครับ
ธนกร จ๋วงพานิช
บรรณาธิการ