SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
Critical Insight
พจนานุกรมภาษาอังกฤษหลายเล่มนิยามคำว่า soul-searching ไว้คล้ายกันว่า “กระบวนการเพ่งพินิจอย่างลึกซึ้งถึงที่มาที่ไปที่แท้จริงของความรู้สึกหรือการกระทำของตน” บางเล่มก็แถมด้วยว่าเป็นกระบวนการที่ anxious หรือ “น่าหวาดหวั่นใจ”
ถ้าเป็นระดับบุคคลธรรมดา กระบวนการดังกล่าวอาจมีได้ตั้งแต่การตั้งคำถามถึงความมุ่งหมายของตัวเองที่ตัดสินใจเลือกทำอาชีพใดอาชีพหนึ่ง ไปจนกระทั่งสาเหตุลึกๆ ที่ตัวเองอาจเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีฐานะหรือเชื้อชาติแตกต่าง แต่ยกระดับขึ้นมาสูงกว่านั้น เมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในสังคมโดยผิดความคาดหมาย หากต้องการจะเข้าใจ สังคมทั้งหมดจะต้องร่วมทบทวนต้นตอของปัญหาเช่นกัน นี่คือสาเหตุที่หนังสือพิมพ์จำนวนไม่น้อยใช้คำว่า soul-searching บนพาดหัวหรือในเนื้อหา ในวันที่หลายคนรู้สึกว่าเป็นวิกฤตอันยากเข้าใจเช่น เมื่อมีการประกาศผล Brexit หรือการเลือกตั้งโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี
อย่างไรก็ดี ตามที่นิยามของพจนานุกรมบอกไว้ กระบวนการ soul-searching หลายครั้งเป็นเรื่องน่าหวาดหวั่น เนื่องจากสิ่งที่งมได้จากการใคร่ครวญตนเองอาจไม่ใช่สิ่งสวยงามเสมอไป อคติ ตำหนิ และข้อบกพร่องมากมายคือผลลัพธ์มาตรฐานที่มักได้จากการกวนตะกอนขึ้นมาดู แต่ก็เพราะเหตุเดียวกันนั้น กระบวนการ soul-searching จึงเป็นของมีคุณค่ายิ่ง เพราะอาจช่วยให้สังคมเห็นปัญหาที่เคยนอนก้นจนหลุดการสังเกตบางอย่าง และเมื่อเห็นแล้ว การบริหารจัดการปัญหานั้นจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ในบทความ Soul-Searching Questions ของ Optimise ฉบับนี้ เราจึงได้ชวนคุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักตั้งคำถามแห่งยุค มาทำหน้าที่กวนตะกอนเช่นนั้น
แต่ก็อีกนั่นเอง ในฐานะปัจเจก สิ่งที่คุณภิญโญทำได้มีเพียงแค่การกวน ‘คำถาม’ เบื้องต้น
‘คำตอบ’ เป็นสิ่งที่สังคมต้องแสวงหาหรือแม้แต่สร้างขึ้นร่วมกันต่อไป