SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
A Sea Change of Attitude
30 มิถุนายน 2566
Welcome to Optimise
ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยเฉพาะแต่กับการทำมาหากินและใช้ชีวิตในส่วนของตัวเอง
‘นักรณรงค์’ ไม่ว่าเพื่อเรื่องหรือวาระไหนๆ ต้องเข้าไปกระทบและปรับเปลี่ยนการทำมาหากินหรือใช้ชีวิตของคนอื่น
เปลี่ยนคนไม่รู้ ให้รู้....เปลี่ยนคนไม่ใส่ใจ ให้ใส่ใจ....เปลี่ยนคนไม่ทำ ให้ทำ
ความรู้สึกนึกคิดของคนแต่ละคนที่สุกงอมแตกต่างกัน ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้งานของนักรณรงค์ยากเย็น
ความท้าทายของนักรณรงค์ในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นไปในลักษณะเช่นเดียวกันนี้
ทุกคนรู้เรื่องโลกร้อนในหลักใหญ่คล้ายๆ กัน แต่ให้น้ำหนักไม่เท่ากัน
นักรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในหลายอาชีพ อุตสาหกรรมและวิธีการ จึงมีหน้าที่ต้องสื่อสารชักจูงหรือเคี่ยวเข็ญให้คนรับสารให้น้ำหนักกับเรื่องนี้เป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ เรื่องราวใน Optimise ฉบับ A Sea Change of Attitude ก็เป็นเรื่องราวของบุคคลเหล่านี้
ตั้งแต่เรื่องของดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นทั้งแฟนพันธุ์แท้และผู้พิทักษ์ทะเลไทย คุณทศพล ศุภเมธีกูลวัฒน์ แห่งธุรกิจกำจัดขยะพลาสติก CirPlas คุณศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์แห่งโครงการ Net Free Seas คุณอรยา สูตะบุตรแห่ง Big Trees คุณธารา บัวคำศรีแห่ง Greenpeace หรือแม้กระทั่ง Young Wildlife Photographer of the Year อย่างน้องกตัญญู วุฒิชัยธนากร
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การเริ่มรณรงค์ในตอนต้นอาจดูไม่ธรรมชาติ เคอะเขิน ค้านความรู้สึก และใช้พลังมากทั้งฝั่งคนนำ-คนตาม คล้ายกับการพยายามเริ่มต้นให้คนประสานเสียงเปล่งประโยครณรงค์ต่างๆ ในการเดินขบวน
แต่เมื่อคนจำนวนมากขึ้นรู้สึก ‘อิน’ กับข้อความและใจความของการรณรงค์มากขึ้นเรื่อยๆ การส่งต่อความคิดที่ดูเหมือนไม่เป็นธรรมชาติในตอนต้นจะค่อยๆ กลับกลายเป็น ‘พลังร่วม’ ที่ทำให้แต่ละคนมีแรงฮึดในการเปล่งเสียงและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อ ด้วยความเข้มข้นในระดับที่เกินไปกว่าการต่างคนต่างทำจะมีได้ ซึ่งเมื่อนั้น ก็เท่ากับการรณรงค์บรรลุผลไปแล้วไม่น้อย
ด้วยเหตุนี้ ในประเด็นของสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทุกคน หน้าที่ของคนในสังคมจึงอาจไม่ควรยุติเพียงการรับฟัง แต่ยังรวมถึงการร่วมรณรงค์และส่งพลังต่อ
หากเราหวังจะนำไปสู่ ‘การพลิกผืนสมุทรแห่งความเข้าใจ’ (A Sea Change of Attitude) และการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง