HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

INVESTMENT REVIEW


สรุปบทเรียนวิกฤตภาคธนาคารสหรัฐฯ

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

30 มิถุนายน 2566

ปี 2022 ที่ได้ผ่านพ้นไปแล้วนั้นเป็นปีที่ค่อนข้างลำบากปีหนึ่งสำหรับการลงทุน เพราะผลตอบแทนของการลงทุนทั้งในหุ้นและพันธบัตรย่ำแย่ตามการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นปี 2023 กลับเริ่มด้วยการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้น จากเศรษฐกิจดูมีสัญญาณดีเกินคาด แต่ในเวลาไม่นาน ภาพการลงทุนก็ตามมาด้วยความสับสนวุ่นวาย

ในช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน ธนาคารในสหรัฐฯ ถูกปิดกิจการไปถึง 4 แห่ง ทั้งธนาคารซิลเวอร์เกต ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ธนาคารซิกเนเจอร์ และธนาคารเฟิร์สท์ รีพับลิค ลามไปถึงธนาคารที่ทรงอิทธิพลระดับโลกอย่างธนาคารเครดิต สวิสที่ถูกทางการบังคับรวมกับธนาคารยักษ์ใหญ่อีกแห่งของสวิตเซอร์แลนด์อย่างธนาคารยูบีเอส ซึ่งปัญหาของภาคธนาคารครั้งนี้ไม่เหมือนกับวิกฤตธนาคารในอดีตที่มักจะเกิดจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ เช่น การปล่อยหนี้ไม่ระมัดระวังจน NPL ขึ้น หรือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่ราคาปรับตัวลง จนนำไปสู่ภาวะเงินทุนไม่เพียงพอ และผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจ จนมาเข้าแถวขอถอนเงิน

แต่ในรอบนี้ ธนาคารใหญ่ๆ ที่ถูกปิดไปมีอัตราส่วนหนี้เสียน้อยกว่า 1% เสียอีก และมีการปล่อยกู้ที่ระมัดระวัง แต่ดูเหมือนว่าปัญหาหลักนั้นเกิดจากการสูญเสียความมั่นใจและสภาพคล่องมากกว่าปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์

ผมขอสรุปประเด็นเรื่องปัญหาของภาคธนาคารเป็น 4 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

1. การถอนสภาพคล่องและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ภาคการเงินได้รับประโยชน์จากภาวะสภาพคล่องล้นและดอกเบี้ยต่ำกันมาเป็นเวลานาน จนเงินทองหาง่าย และธนาคารต่างๆ ขยายขนาดของงบดุลอย่างรวดเร็ว เมื่อสภาพคล่องเริ่มเหือดหายและต้นทุนเริ่มปรับตัวขึ้น ก็เกิดปัญหาขึ้นตามมา

ที่สังเกตเห็นได้ชัดคือธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ซึ่งมีลูกค้าเงินฝากสำคัญคือสตาร์ตอัปทั้งหลายที่มีการขยายขนาดของธุรกิจอย่างต่อเนื่องเมื่อยามที่การระดมทุนผ่านกองทุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน (venture capital) ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่เมื่อสภาพคล่องเริ่มหด การระดมทุนทำได้น้อยลง สตาร์ตอัปที่ไม่ค่อยมีกำไรก็จะทำ ‘cash burn’ หรือการเผาเงินทิ้ง ผ่านค่าใช้จ่ายประจำอย่างค่าเช่าและเงินเดือนพนักงาน ก็ต้องถอนเงินออกมาใช้ จนฐานเงินฝากของธนาคารเริ่มลดลง

ดูเหมือนว่าปัญหาหลักนั้นเกิดจากการสูญเสียความมั่นใจและสภาพคล่องมากกว่าปัญหาด้านคุณภาพสินทรัพย์

นอกจากนี้คือ ทางธนาคารเองก็มีการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ค่อยเหมาะสมโดยถือพันธบัตรที่ซื้อไว้ตอนดอกเบี้ยต่ำๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งพันธบัตรเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิตเพราะส่วนใหญ่ก็คือพันธบัตรรัฐบาล แต่อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มูลค่าตลาดของพันธบัตรเหล่านี้ปรับตัวลดลง ถ้าธนาคารไม่ต้องขายพันธบัตรเหล่านี้ออกมาและถือจนครบกำหนดอายุ มูลค่าก็จะกลับไปที่ราคาหน้าตั๋วเอง แต่ปัญหาคือเมื่อเงินฝากไหลออกและสถานการณ์บังคับให้ต้องขายเพื่อระดมสภาพคล่อง จึงขาดทุนทันที

2. ฐานเงินฝากที่ไม่กระจายตัว และดิจิทัลแบงก์กิ้งกับโซเชียลมีเดีย หนึ่งในปัจจัยที่เหมือนกันของทั้งสี่ธนาคารที่ต้องปิดลงไปคือ การมีฐานลูกค้าเป็นสถาบันหรือลูกค้าคนรวย ที่ส่วนใหญ่มียอดเงินฝากเกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ อันเป็นเพดานการประกันเงินฝากของสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐฯ ยามเกิดปัญหา และลูกค้าเหล่านี้ได้แห่ไปถอนเงินพร้อมๆ กัน ซึ่งแม้ธนาคารจะแข็งแกร่งขนาดไหนก็คงมีเงินไม่พอแน่ๆ ไม่เหมือนกับธนาคารที่ฐานเงินฝากที่กระจายตัว เช่น มีฐานเงินฝากรายย่อยเยอะๆ ที่ช่วยลดความผันผวนของการไหลออกของเงินได้

นอกจากนี้ วิกฤตธนาคารในยุคดิจิทัลก็ต่างจากปัญหาธนาคารในอดีตที่ผู้ฝากเงินไปต้องเข้าแถวยาวๆ เพื่อถอนเงิน แต่ด้วยบริการดิจิทัลแบงก์กิ้ง การแห่ถอนเงินก็เกิดขึ้นได้ในเสี้ยววินาที ดังที่เกิดขึ้นกับธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ ที่เราเห็นเงินออกไปถึงกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในแค่วันเดียว

อีกหนึ่งปัจจัยคือ โซเชียลมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำให้ข่าวสารกระพือไปอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการการสื่อสารต่อสาธารณะและการสื่อสารกับตลาดจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

3. ความย่อหย่อนในกำกับดูแลธนาคาร จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยควรจะถูกจับได้โดยผู้กำกับดูแลธนาคาร เช่น ควรจะมีการทำ stress test หรือการติดตามเรื่องความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยในงบดุลของธนาคารอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากสหรัฐฯ มีธนาคารมากกว่าสี่พันแห่ง จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการกำกับดูแลแบบใกล้ชิดกับทุกธนาคาร ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนกฎที่อนุญาตให้ธนาคารที่ไม่ใหญ่มากนัก (มีขนาดต่ำกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) สามารถยกเว้นกฎในการกำกับดูแลบางข้อและได้รับการยกเว้นจาก stress test เชิงระบบ ซึ่งทำให้ปัญหาบางอย่างอาจถูกมองข้ามไปได้

แม้ความเสี่ยงที่อาจเป็นปัญหากับธนาคารสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นได้อีก แต่เชื่อว่าโอกาสที่ปัญหาจะลามจนกลายเป็นวิกฤตขนาดใหญ่นั้นค่อนข้างน้อยมาก เพราะปัญหาอาจเกิดกับกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ในขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่นั้นมีการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงที่ดี

4. ความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ภาคธนาคารนั้นเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ และมีหน้าที่สำคัญในการระดมเงินออม และจัดสรรทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้ในภาคเศรษฐกิจที่ต้องการ ธนาคารไม่มีทางเก็บเงินทั้งหมดไว้เป็นเพียงเงินฝาก และไม่ว่าธนาคารจะเข้มแข็งหรือบริหารจัดการดีขนาดไหน หากเกิดปัญหาความเชื่อมั่น มีคนมาถอนเงินฝากพร้อมๆ กัน ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาได้ง่ายๆ ซ้ำยังมีโอกาสจะลามไปยังธนาคารอื่นๆได้ เพราะเมื่อผู้ฝากเงินกังวลถึงความปลอดภัยของเงินฝากแล้ว ก็อาจจะแห่ถอนเงินกันจนเกิดปัญหาภาคธนาคารได้ในที่สุด

จะเห็นได้ว่าปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาไม่เหมือนกับปัญหาในอดีต และสะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย การกระจายแหล่งที่มาของเงินฝาก ความอ่อนไหวในภาคธนาคารในภาวะที่ดิจิทัลแบงก์กิ้งและโซเชียลมีเดียความสำคัญเพิ่มมากขึ้น การกำกับดูแลธนาคาร และการสื่อสารกับสาธารณชนและตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ความเสี่ยงที่อาจเป็นปัญหาเหล่านี้จำกัดอยู่กับธนาคารสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นได้อีก แต่เชื่อว่าโอกาสที่ปัญหาจะลามจนกลายเป็นวิกฤตขนาดใหญ่นั้นค่อนข้างน้อย เพราะปัญหาเหล่านี้ยังจำกัดอยู่กับกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก ในขณะที่ธนาคารขนาดใหญ่นั้นมีการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยงที่ดี และธนาคารกลางเองก็มีเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที อย่างการพิมพ์เงิน

แต่ปัญหาจะใหญ่กว่านี้มากหากคุณภาพของสินทรัพย์ของธนาคารมีปัญหาขึ้นมาจริงๆ ซึ่งหลายคนก็กังวลว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะพวกอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร อาจจะเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องจับตาดูกัน

ส่วนประเทศไทย ด้วยปัจจัยเสี่ยงที่น้อยกว่ามาก (เราขึ้นดอกเบี้ยไปไม่เยอะเท่าในต่างประเทศ) ประกอบกับการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของธนาคารแห่งประเทศไทย ฐานะทุนที่เข้มแข็ง และฐานเงินฝากที่กระจายตัว น่าจะบอกได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นแทบไม่มีผลกระทบต่อระบบธนาคารในประเทศไทยเท่าไร แต่ก็คงต้องติดตามความเสี่ยงและบริหารจัดการความเสี่ยงกันอย่างใกล้ชิดครับ