SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
The Good Doctor
30 พฤศจิกายน 2566
Welcome to Optimise
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ แวดวงการแพทย์ได้พุ่งไปอย่างก้าวกระโดดด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยี
การเสาะแสวงหาโมเลกุลทางชีวเคมีเพื่อสร้างยาที่เคยใช้ต้องใช้เวลา ‘ลองผิด-ลองผิด’ นานเป็นหลายปี กลายเป็นลองถูกได้อย่างรวดเร็วภายในหลักเดือนด้วยพลังประมวลผลของเอไอ หรือการใช้เอไอร่อนดาต้าเบสอันมหึมาของโปรตีนหรือสารประกอบต่างๆ เพื่อหาตัวบ่งชี้ที่จะบอกลางของโรคร้ายก่อนจะปรากฏอาการก็ช่วยให้ผู้ป่วยอีกมากหลบพ้นโรคที่ยากแก่การรักษา จนมีหมอเวชศาสตร์ชะลอวัยอันดับต้นๆ ของไทยผู้หนึ่งถึงกับพูดว่าทุกวันนี้ ถ้าไม่ถูกรถชน คนที่อยู่ในความคุ้มครองของเทคโนโลยีทางการแพทย์แต่เนิ่นๆ อาจอยู่ได้ถึงเป็นร้อยโดยไม่ยากเย็น
แต่คำถามสำคัญ ยามผู้คนจะมีอายุอยู่ได้เป็นร้อยก็คือเราอยากได้จำนวนปี หรืออยากได้สุขภาพ ผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพองมาตั้งแต่เกษียณผู้หนึ่งบอกว่าตนไม่ได้ต้องการอายุยืน แค่ขอให้เป่าเค้กหลังเกษียณได้โดยไม่ต้องไอขรมก็นับว่าบุญถมเถแล้ว หรือที่จอห์น เอฟ. เคเนดี กล่าวไว้อย่างมีวิสัยทัศน์ตั้งแต่ยังแทบไม่มีเอไอว่า “ประเทศที่เจริญแล้วไม่ควรพอใจเพียงกับการเพิ่มจำนวนปีให้กับชีวิตของประชากร หากควรตั้งเป้าเพิ่ม ‘ชีวิต’ ให้กับจำนวนปีเหล่านั้นต่างหาก” (“It is not enough for a great nation merely to have added new years to life. Our objective must also be to add new life to those years.”)
สิ่งนี้หมายถึงการตั้งเป้ายืด Health Span หรือเวลาที่อยู่ได้แบบมีสุขภาพดี แทนที่จะนับแต่ Life Span หรืออายุขัยอย่างเดียว อย่างที่เป็นนโยบายของประเทศอย่างสิงคโปร์ อังกฤษ หรือญี่ปุ่น ซึ่งมีคนมีสุขภาพดีไปจนถึงอายุ 70 โดยเฉลี่ย ในขณะที่ประเทศที่ไม่ได้ตั้งเป้าในเชิงสุขภาพนี้ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการประมาณการณ์ว่าคนที่เกษียณเมื่ออายุ 65 จะใช้ชีวิตแบบแข็งแรงได้อีกปีเดียวเท่านั้น ก่อนจะเริ่มเจ็บออดแอด ทั้งๆ ที่อายุขัยเฉลี่ยของสหรัฐฯ สูงไปถึงใกล้ 80
อย่างไรก็ตาม พอตั้งเป้าเรื่อง Health Span แล้ว สิ่งที่ติดตามมาไม่ได้มีเพียงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการตรวจและรักษาโรค หากยังรวมถึงการปฏิรูปวิธีกิน-วิธีอยู่ของผู้คนในอีกหลากหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องสารเคมีปนเปื้อน ฝุ่น PM2.5 ไปจนกระทั่งเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะ สร้างกิจกรรมร่วมของคนต่างวัย หรือแม้กระทั่งระบบการศึกษา เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพทางกายและทางจิตเกี่ยวเนื่องกันไปอย่างไม่อาจแยกออก ดังที่บทสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ได้บอกกับเราว่าถ้าเราเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมไม่ได้ การมาคอยเพิ่มเตียงเพื่อรักษาโรค “มันไม่มีประโยชน์”
เพราะในที่สุดแล้ว เรื่องสุขภาพไม่ใช่เพียงแค่เรื่องโปรตีนหรือสารประกอบชีวเคมีที่แข็งแรงในร่างกาย
แต่คือ The Health of Nations หรือ ‘ภาวะ’ ที่เราอยู่ร่วมกันในสังคม