HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

FULL FLAVORS


The Gaggan Revolution

เชฟกากั้น อนันด์ เจ้าของร้านอาหาร Gaggan คว้ารางวัลร้านอาหารที่ดีที่สุดของเอเชีย 2 ปีซ้อน พร้อมนำการปฎิวัติตำรับอาหารแบบโมเดิร์นมาสู่ภูมิภาค

     ในขณะที่แขกลิ้มรสแชมเปญจิบแรก แผงกระจกสีขาวทึบซึ่งกั้นระหว่างโต๊ะหมายเลข CD1 กับครัวของ Gaggan ก็พลันเปลี่ยนสภาพไปเป็นกระจกใส เผยให้เห็นความเคลื่อนไหวชวนพิศวงไม่แพ้การแสดงบัลเลต์ภายในครัว กากั้น อนันด์ เชฟหนุ่มรูปร่างสูง 183 เซนติเมตร โผจากเคาน์เตอร์หนึ่งไปยังอีกเคาน์เตอร์หนึ่งท่ามกลางเหล่าลูกทีมหลากหลายสัญชาติกว่า 20 ชีวิต (ตั้งแต่โปรตุเกส คอสตาริกา ฮอลแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สเปน เวเนซุเอลา อินเดีย ไทย ไปจนกระทั่งรัสเซีย) เพื่อชิมนานาวัตถุดิบและสุกก่อนจะประกาศคำพิพากษาถี่ยิบราวสะเก็ดไฟ สิ่งเหล่านี้อาจถือเป็นความชุลมุนในครัวอันชินตา หากมิใช่ด้วยภาพของการเล่นแร่แปรธาตุที่หญิงสาวคนหนึ่งกำลังแกะผิวลูกโป่งออกจากก้อนทรงกลมสีขาวนวลแช่แข็ง อีกคนสาละวนรดนํ้าแข็งแห้งลงใส่จานจนแลดูเดือดพล่าน ราวปรอท ในขณะที่อีกคนก็ง่วนอยู่กับการตักผงอะไรบางอย่างที่คล้ายขี้เถ้า แต่เมื่อชิมแล้วกลับให้รสหัวหอม

     นับเป็นเวลา 2 ปีซ้อนมาแล้วที่เชฟและ กองทัพบริกรย่อมๆ ของร้านกากั้น ณ ซอยหลังสวน ได้ครองอันดับสูงสุดในการจัดอันดับ 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในเอเชีย ซึ่งสนับสนุนโดย น้ำดื่ม San Pellegrino ทั้งนี้ แม้การที่ร้านกากั้นขึ้นครองอันดับหนึ่งอาจมีผู้ไม่พอใจบ้าง เพราะข้ามหน้าร้านระดับบรมครูในญี่ปุ่นหลายแห่ง กระนั้น เมื่อได้ลิ้มรสเซ็ตอาหาร 18 คอร์ส ราคา 4,000 กว่าบาทซึ่งประกอบด้วยปลา กระพงที่หน้าตาเหมือนก้อนถ่าน ตลอดจนหยด โยเกิร์ตในกระเปาะเจลที่ให้รสสัมผัสเหมือนไข่ของที่นี่แล้ว ก็จะสัมผัสได้ว่านี่คือชัยชนะที่ได้มาด้วยความกบฏ กากั้นได้นำการปฏิวัติอาหารอันมีจุดกำเนิดจากสเปนเข้ามาสู่เอเชีย ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับแผนลงทุนเปิดร้านให้บรรดาศิษย์เอกของเขา ตลอดจนโครงการเปิดโรงเรียนสอนทำอาหาร และแผนที่จะย้ายตัวเองไปทำอาหารที่ญี่ปุ่นในปี 2020 แล้วก็จะเห็นว่าอนาคตของกากั้น ยังคงเต็มไปด้วยการทดลองบ้าบิ่นที่แฝงไว้ด้วยความไม่ยอมลดราวาศอกในเรื่องอาหารอย่างเช่นที่ผ่านมา

พ่อไม่เคยห้ามผมเป็นเชฟ ทุกคนในครอบครัวทำอาหารเป็นหมด อาหารเป็นเหมือนศาสนาสำหรับเรา และเนื่องจากธุรกิจของพ่อไปได้ไม่สวยนัก ท่านเลยสอนว่า ‘ให้หาทักษะวิชาชีพติดตัวเอาไว้ อย่างน้อยก็จะได้ไม่อดตาย’

การหลบหนีและการปฎิวัติ

     หากย้อนดูภูมิหลังของกากั้น จะเห็นว่าชีวิตของเขาไม่ชวนให้สร้างเมนูปลุกความทรงจำในอดีตพร้อมๆ กับท้าทายกรอบความคิดเรื่องอาหารของผู้คนอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของเขาในทุกวันนี้เท่าใดนัก กากั้นเป็นชาวเมืองโกลกาตาโดยกำเนิด และเป็นบุตรของนักธุรกิจซึ่งฐานะทางการเงินขึ้นๆ ลงๆ ได้ทำให้ครอบครัวต้องมีอดีตอันยากแค้นหลายครั้งหลายครา

     “แต่พ่อไม่เคยห้ามผมเป็นเชฟ ทุกคนในครอบครัวทำอาหารเป็นหมด อาหารเป็นเหมือนศาสนาสำหรับเรา และเนื่องจากธุรกิจของพ่อไปได้ไม่สวยนัก ท่านเลยสอนว่า ‘ให้หาทักษะวิชาชีพติดตัวเอาไว้ อย่างน้อยก็จะได้ไม่อดตาย” กากั้นเล่า

     สมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษา กากั้นมักหนีเรียนออกไปเสาะหาของกินอร่อยๆ ตามท้องถนนของโกลกาตา ไม่ว่าจะเป็นซาโมซา ถั่วรวมมิตร หรือปลาทอด และดูเหมือนจะติดใจชีวิตอิสระอย่างนั้น ทำให้เมื่อเข้ามหาวิทยาลัย เขาตัดสินใจลาออกจากหลักสูตรเรียนทำอาหารทั้งที่ทำคะแนนได้สูงเป็นอันดับต้นๆ เขาก่อตั้งบริษัทรับจัดเลี้ยงและลิ้มลองชีวิตนักธุรกิจ แต่หลังประสบความล้มเหลวทั้งชีวิตแต่งงานและธุรกิจ กากั้นก็ตัดสินใจทิ้งทุกอย่างและมาเริ่มต้นใหม่ที่กรุงเทพฯ ด้วยความหวังว่าจะได้กลับมาทำงานก้นครัวอีกครั้งหนึ่ง

     กากั้นเล่าว่า “ผมเคยเป็นคนชอบหนีปัญหา ผมหลงทางอยู่ 6-7 ปี ผมเลือกผู้หญิงผิด ทำธุรกิจก็ล้มลุกคลุกคลาน ระหว่างนั้นก็พยายามค้นหาว่าชีวิตนี้มันคืออะไร แต่การเผชิญช่วงแย่ๆ อย่างนี้ทำให้ผมกลายเป็นคนไม่กลัวอะไร”

     เมื่ออายุได้ 28 ปี เขาได้รับตำแหน่งเชฟประจำ Red ร้านอาหารอินเดียในย่านทองหล่อ แต่ในปี 2007 ขณะยังทำงานอยู่ที่ร้านดังกล่าว กากั้นก็ได้ยินเกี่ยวกับร้าน elBulli เป็นครั้งแรกจากนักวิจารณ์อาหารรายหนึ่ง ผลงานอาหารของเชฟเฟอร์รัน อาเดรีย ที่ร้านดังกล่าวเป็นดั่งแสงสวรรค์ที่ส่องให้เขาเห็นทางของตัวเอง

     ร้านเอล บูญี ของอาเดรีย ในเมือง โรสเซส ประเทศสเปน มีชื่อเสียงกระฉ่อนโลกเพราะอาหาร 35 คอร์สของทางร้าน ได้รับการประดับ 3 ดาวมิชลินตั้งแต่ปี 1997 ความจริง Restaurant Magazine ได้ยกให้ เอล บูญี เป็นร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2002 แล้ว แต่ไม่ได้รับความสนใจ จวบจนเมื่อปี 2006 ทางนิตยสารได้จัดตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยนักวิจารณ์อาหาร 500 คน และจัดให้มีการมอบรางวัล World’s 50 Best Restaurants หรือ 50 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก คนทั่วโลกจึงเริ่มจับตามองร้านที่คว้าอันดับ 1 ในการประกาศรางวัลนี้ และเสิร์ฟอาหารชวนพิศวงอย่างค็อกเทล มาร์การิตาในรูปฟองละมุนรสเค็มในก้อนนํ้าแข็งยักษ์ ผลมะกอกฝีมือมนุษย์สอดไส้ด้วยเนื้อมะกอกเหลวระเบิดในปาก และเมลอนเม็ดละอันพันน้อยหน้าตาพิมพ์เดียวกับไข่ปลาแซลมอน

     ร้านเอล บูญี ได้พลิกโฉมวงการไฟน์ไดน์นิ่งทุกกระเบียด ปัจจุบันนี้ El Cellar de Can Roca (ซึ่งถือเป็นร้านตัวตายตัวแทน หลังร้านเอล บูญีปิดตัวลงเพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นห้องวิจัยทางอาหาร) ยังคงคว้าอันดับ 1 หรือ 2 มาครองอย่างต่อเนื่องในการประกาศรางวัล World’s 50 Best Restaurants ทั้งนี้รางวัลดังกล่าวถือเป็นหนามยอกอกของร้านอาหารในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมักได้รางวัลลำดับท้ายๆ โดยโจเอล โรบูชง เชฟผู้ได้รับการประดับดาวมิชลินมากที่สุดในโลก ออกมากล่าวหาว่าการจัดอันดับรางวัล World’s 50 Best Restaurants มีการเล่นพรรคเล่นพวก รัฐบาลฝรั่งเศสถึงกับลุกขึ้นจัดอันดับร้านอาหารที่ดีที่สุด 1,000 แห่งเสียเองเพื่อตอบโต้ อย่างไรก็ตาม สำหรับกากั้น เขาตระหนักทันทีว่าท่ามกลางสงครามแห่งความแตกแยกทางอาหารนี้ เขาอยากยืนอยู่ฝ่ายใด

     กากั้นเล่าว่า “ผมดูสิ่งต่างๆ พวกนี้แล้วพูดกับตัวเองว่า ‘เอล บูญีเจ๋งมาก พวกเขาใช้โฟมกับไนโตรเจนเหลว!’ สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ ซึมซับเข้ามา แต่ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะกล้าลองทำจริงๆ”

ฟองและรูปทรงกลม

     หากเป็นคนอื่น คงจะรอให้สายลมแห่งการปฏิวัติอาหารนี้พัดจากสเปนมาถึงกรุงเทพฯ แน่นอนโดยผ่านการบุกเบิกของบรรดาร้านไฟน์ไดน์นิ่งตามโรงแรม 5 ดาวเสียก่อน ทว่า สำหรับกากั้น เขารีบอ่านรีบศึกษาเทคนิคใหม่ๆ จากสเปนเหล่านี้ด้วยตัวเอง และเริ่มนำมาใช้จริงในครัวของร้านเรดทันที ความใจร้อนและไม่กลัวอะไรของเขา ยังรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา

     “ตอนผมลองทำอะไรใหม่ๆ เช่น โปรยฟองลงบนไก่ทิกก้า คนอื่นๆ ก็พากันชี้หน้าว่า ‘แกผิดแล้วล่ะ ทำอะไรไม่เข้าท่าเลย’ ผมเลยฉุกคิดได้ว่าสงสัยเราอยู่ผิดที่ แล้วก็ตัดสินใจลาออก” เขาเล่าย้อนไป

     ทุกวันนี้ ในเมนูอาหารอินเดียจำนวน 18 คอร์สของกากั้น มีแกงกะหรี่อยู่เพียงเมนูเดียวเท่านั้นซึ่งถูกตั้งชื่อว่า ‘I want my curry!!!’ หรือ ‘ส่งแกงกะหรี่ของฉันมาเดี๋ยวนี้!!!’ เมนูชื่อ แสบสันนี้ชี้ให้เห็นสงครามยืดเยื้อระหว่างความอยากกินอาหารที่คุ้นปากของคนกินกับความพยายามแหกตำรับเดิมๆ ของกากั้น โดยเมนูแกงกะหรี่นี้จะเสิร์ฟถัดจากบรรดาเมนูขนาดพอดีคำ 10 จานรวด ซึ่งเรียงร้อยขึ้นจากความทรงจำเกี่ยวกับอาหารข้างถนนในอินเดียของกากั้น เช่น โยเกิร์ตรูปทรงกลม จานซิกเนเจอร์ของเขา (ที่เป็นเสมือนเมนูไหว้ครูที่สื่อไปถึงเมนูมะกอกอันโด่งดังของ เอล บูญี) ถั่วอบในซองพลาสติกใสซึ่งกินได้ทั้งซอง (แล้วซองจะไปละลายในปาก) หรือปลาไหลย่างแบบญี่ปุ่นบนคาคร่า ขนมปังกรอบของชาวอินเดียตะวันตก

ผมเคยเป็นคนชอบหนีปัญหา ผมหลงทางอยู่ 6-7 ปี ผมเลือกผู้หญิงผิด ทำธุรกิจก็ล้มลุกคลุกคลาน ระหว่างนั้นก็พยายามค้นหาว่าชีวิตนี้มันคืออะไร แต่การเผชิญช่วงแย่ๆ อย่างนี้ทำให้ผมกลาย เป็นคนไม่กลัวอะไร

     ทว่า ในยามที่ลาออกจากร้านเรด เมนูเหล่านี้ก็ยังเป็นได้เพียงความฝันลมๆ แล้งๆ ของเชฟหนุ่ม เพราะด้วยความที่ต้องหาเลี้ยงชีพ กากั้นต้องพับเอาความฝันเรื่องการทำอาหารด้วยเทคนิค ‘spherization’ และ ‘emulsification’ ทั้งหลายไว้ก่อนและตกลงรับงานที่โรงแรมเลอบัว ที่ซึ่งเขาได้โคจรมาพบกับเชฟฝาแฝดโธมัสและมาธิอัส ซูห์ริง (ปัจจุบันเขาเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนร้านอาหาร Sühring ของฝาแฝดคู่นี้ในซอยเย็นอากาศ ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) แต่สถานการณ์แทบไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดนัก เพราะกากั้นยังต้องถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในโรงแรมขนาดห้าร้อยกว่าห้อง ซึ่งเพียงการเตรียมอาหารเช้าให้ทันและครบเพียงอย่างเดียวก็เป็นเหมือนฝันร้ายเสียแล้ว เรื่องจึงลงเอยด้วยการที่กากั้นวิ่งหนีอีกตามเคย

     “ตอนแรกผมกะจะเปิดร้านแกงกะหรี่เล็กๆ ผมไม่เคยคิดเลยว่าจะทำอะไรพิสดารแบบนี้ได้จริง แต่เพื่อนผม ราเจช เควาลรามณี อยากทำร้านนี้ร่วมกับผม เขาเลยถามผมว่า ‘อะไรคือความฝันของแก จริงๆ แล้วแกอยากทำอะไรกันแน่’ ผมก็เลยตอบไปว่าผมอยากทำอาหารอินเดียให้ได้อย่าง เอล บูญี”

     ในที่สุด กากั้นก็เลยตัดสินใจออกเดินตามทางของตัวเองจริงๆ เชฟนักเล่าผู้นี้เท้าความให้ฟังถึงความพยายามนับครั้งไม่ถ้วนของเขาในการโทรศัพท์ไปที่ เอล บูญี แต่ไม่เคยคุยภาษาสเปนรู้เรื่อง จนกระทั่งในวันที่ความหวังริบหรี่ลงถึงขีดสุด ก็บังเอิญมีสุภาพสตรีรายหนึ่งซึ่งรู้ภาษาอังกฤษ (เพราะมีสามีเป็นชาวเนปาล) เป็นคนรับโทรศัพท์ เขาถึงสามารถจองที่นั่งใน เวิร์กช็อปของทางร้านเอล บูญี ซึ่่งเป็นเสมือนห้องทดลองลับที่สอนการออกแบบเมนูอาหารโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับรสชาติ

     “ผมเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้เข้าร่วม เวิร์กช็อปที่นั่น” กากั้นคุย (ซึ่งเราเองก็อยากเชื่อคำอ้างที่ว่า) การนำเอาเทคนิคที่รํ่าเรียนจาก เอล บูญี มาประยุกต์กับอาหารอินเดีย ทำให้กากั้นกลายเป็นเชฟที่มีหัวก้าวหน้าที่สุดในเอเชียและเป็นเจ้าพ่อการปรุงอาหารแบบโมเลกุลาร์ในภูมิภาคนี้ ร้านกากั้นคว้าอันดับ 10 จากการจัดอันดับ Asia’s 50 Best Restaurants 2013 ก่อนขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 และ 1 ในปี 2014 และ 2015 ตามลำดับ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น เขายังคว้าอันดับ 10 จากการจัดอันดับ World’s 50 Best Restaurants ด้วย ล่าสุดในปีนี้ ร้านกากั้นก็ยังคงครองอันดับ 1 ในฝั่งเอเชียเหมือนเคย ทั้งนี้ สำหรับกากั้นแล้ว ชัยชนะดังกล่าวเป็นชัยชนะของความก้าวหน้าเหนือความเข้าใจครํ่าครึตายตัวเกี่ยวกับตำรับอาหารอินเดีย ดังนั้นการได้รับรางวัลดังกล่าว จึงไม่ใช่เป็นเพียงชัยชนะส่วนตัวของเขา หากแต่เป็นชัยชนะของประเทศด้วย

อนาคตแห่งอนาคต

     นักวิ่งหนีอย่างกากั้นได้วิ่งขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุดของเอเชีย ซึ่งหมายความว่าต่อจากนี้ย่อมมีแต่หนทางลงเท่านั้น อย่างเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในการประกาศรางวัล World’s 50 Best Restaurants คำตัดสินที่ออกมาดูเหมือนจะไม่ลงรอยกับรางวัล Asia’s 50 Best Restaurants เท่าไรนัก เพราะขณะที่ร้าน Narisawa ในโตเกียวยังคงครองอันดับ 8 ตามเดิม กากั้นได้ร่วงจากอันดับ 10 ไปอยู่ที่ 23 กระนั้น ถ้วยรางวัลเงาวับไม่ใช่สิ่งที่กากั้นหมายมั่นอีกต่อไป ขณะนี้เขากำลังมองหาเชฟใหม่ โปรเจกต์ใหม่ และขอบฟ้าใหม่ๆ แล้ว

     กากั้นเล่าว่า “การได้เป็นที่หนึ่งในเอเชียทำให้เรามีความมั่นใจ เราเลิกใช้ฟองหรืออะไรพวกนั้นแล้ว เมนูอาหารใหม่นี้จะไม่ใช่แนวโมเลกุลาร์เหมือนที่เอล บูญี สิ่งที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้คือสิ่งที่ผมคิดไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนเมนูที่ผมวางแผนไว้วันนี้ คุณจะได้ยลโฉมมันในอีก 2 ปีข้างหน้า ตอนห้องแล็บสร้างเสร็จ”

     เชฟผู้นี้เล่าถึงห้องทดลองราคา 20 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะตั้งขนาบกับร้านอาหาร แม้ กากั้นจะประกาศชัดแจ้งว่าตนได้ไปพ้น เอล บูญี แล้ว แต่เขาก็ได้จ้างนักเทคโนโลยีอาหารจาก ยูนิลีเวอร์มาสร้างห้องทดลอง ซึ่งปฎิเสธได้ยากว่าเป็นการเจริญรอยตามร้านในตำนานของสเปนอยู่ดี กระทั่งการประกาศของกากั้นว่าจะปิดร้านอาหารของตนในปี 2020 ก็ยังชวนให้นึกถึงการปิดตัวของเอล บูญี ในช่วงที่ร้านกำลังอยู่ในยุครุ่งเรืองสูงสุด เพื่อเปลี่ยนมาเป็นสถานวิจัยเต็มตัวเช่นกัน

     “กากั้นจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ คนจะมาที่นี่เพื่อเรียนรู้ คุณอยู่ในจุดสูงสุดไปตลอดไม่ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเลยอยากจะลงทุนกับคนรุ่นใหม่ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมร่วมหุ้นทำร้านซูห์ริง นั่นคือเหตุผลที่ผมกำลังสร้างร้านใหม่ตรงข้ามร้านนี้” กากั้นกล่าว

การได้เป็นที่หนึ่งในเอเชียทำให้เรามีความมั่นใจ เราเลิกใช้ฟองหรืออะไรพวกนั้นแล้ว เมนูอาหารใหม่นี้จะไม่ใช่แนวโมเลกุลลาร์เหมือนที่เอล บูญี สิ่งที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้คือสิ่งที่ผมคิดไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ส่วนเมนูที่ผมวางแผนไว้วันนี้ คุณจะได้ยลโฉมมันในอีก 2 ปีข้างหน้า

     นอกจาก Meatlicious ร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่างบรรยากาศเป็นอันเองของเขาซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้กากั้นมีโครงการจะเปิดร้านเพิ่มบนที่ดินที่อยู่ตรงข้ามร้านแรกของเขาในซอยหลังสวน โดยเชฟ การิมา อโรรา อดีตหัวหน้าเชฟผู้สั่งสมประสบการณ์มากว่า 3 ปีจากร้าน Noma จะมาเข้ารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ เธอบอกว่าที่ร้านใหม่นี้จะเน้นในเรื่องรสชาติก่อนรูปลักษณ์ และปรุงอาหารอินเดียในรูปแบบที่สอดคล้องกับความทรงจำของคนกินมากขึ้น

     “ผมไม่เคยคิดจะทำแฟรนไชส์ เคยมีคนถามเหมือนกัน ผมเคยไปอินเดีย ไปดูไบ แต่ผมไม่อยากขยายสาขา ผมเชื่อในการให้โอกาสคนอื่น” กากั้นกล่าว ท่ามกลางเสียงหัวเราะและการตบหลังตบไหล่อย่างเป็นกันเอง กากั้นในห้องครัวกลับมีบารมีของครูบาอาจารย์ กล่าวคือเขาจะเป็นฝ่ายพูดเสียงดังอยู่เสมอ ในขณะที่ลูกมือของเขาจะพูดต่อเมื่อถูกถามเท่านั้น

     “เคยมีคนขอให้ผมเขียนอัตชีวประวัติ แต่ถ้าต้องเขียนหนังสือ ผมอยากเขียนเกี่ยวกับแรงบันดาลใจและการทำตามความฝันมากกว่า” เขากล่าว ก่อนจะคุยฟุ้งไปถึงแผนการของเขาที่จะเปิดร้านอาหารเล็กๆ ร่วมกับ La Maison de la Nature Goh ณ แดนอาทิตย์อุทัย ที่ซึ่งเมนูจะปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล

     ยิ่งกว่านั้น การปรากฏตัวของกากั้นบนซีรีย์ Chef’s Table ทางช่อง Netflix ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เขามีสาวกมากขึ้นเรื่อยๆ ใบสมัครงานหลั่งไหลเข้ามาจากทุกมุมทั่วโลก

     “เราได้รับใบสมัครจากทนายความ สถาปนิก ทุกคนอยากลาออกจากงานเพื่อมาเป็นเชฟ เราจะกลายเป็นหนึ่งในโรงเรียนสร้างแรงบันดาลใจในการทำอาหารที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคนี้ยังไม่เคยมีอะไรแบบนี้”

     แม้นิสัยมั่นใจในตัวเองของกากั้นจะเป็นสิ่งที่หลายคนชอบ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นสายล่อฟ้าสำหรับผู้ที่ไม่ปลื้ม ซึ่งกล่าวหาว่าอาหารของกากั้นเป็นแค่มายากลหลอกเด็ก อย่างไรก็ตาม เพียงได้ลิ้มรสเนื้อย่างเสิร์ฟพร้อมสลัดง่ายๆ ที่ร้านมีทลิเชียสในคืนกลางสัปดาห์ ก็จะช่วยยํ้าเตือนได้อย่างชัดเจนว่า กากั้นไม่ได้เป็นแค่พวกหัวขบถ พวกชอบลองของใหม่ หรือพวกเก่งมายากล เขายังเป็นเชฟชั้นยอดโดยแท้จริง เพียงแต่เขาจะไม่ยอมทนกับการทำอาหารแบบจำเจเพื่อแลกกับคำชมเท่านั้น

     พูดก็พูด คนที่มาร้านของเขาอาจอยาก กินแกงกะหรี่ แต่สิ่งที่กากั้นถวิลหาคือการได้ ไล่ตามความฝันอย่างไม่ต้องยึดติดกับสิ่งใดๆ

Essentials


Gaggan

68/1 ซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ
โทร. 02-652-1700
www.eatatgaggan.com

Meatlicious

8 ซอยสุขุมวิท 63 กรุงเทพฯ
โทร. 091-698-6688
www.fb.com/meatlicious

Sühring

10 ซอยเย็นอากาศ 3 ถนนเพลินจิต กรุงเทพฯ
โทร. 02-287-1799
www.fb.com/SuhringsHome