SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Building Blocks
มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งกำลังร่วมกับบริษัทรายย่อยสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมดีไซน์โดดเด่น อย่างที่หาดูได้ยากจากภาคธุรกิจ นับเป็นเรื่องน่าจับตาว่าโครงการเหล่านี้จะสามารถยกระดับมาตรฐานงานสถาปัตยกรรมและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ภาคส่วนอื่นของสังคมเพียงใด
ในขณะที่ประเทศไทยอาจยังขาดแคลนเมกะโปรเจ็กต์จากภาครัฐในระดับที่จะก่อให้เกิด Bilbao Effect ได้ สถาปนิกชั้นแนวหน้าของไทยได้ค้นพบว่ายังมีช่องทางอื่นสำหรับปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อยู่เหมือนกัน
หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้วงการก่อสร้างต้องหยุดชะงักไปชั่วครู่ ประเทศไทยในปัจจุบันได้พบเห็นตึกใหม่ๆ อย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่ห้างใหม่เอี่ยมอ่องไปจนถึงคอนโดสูงระฟ้า อย่างไรก็ตาม คำถามก็คือว่า ในช่วงเวลาเกือบสองทศวรรษที่ล่วงไปนี้ ประเทศไทยได้สร้างอะไรที่ควรค่าแก่การเชิดชูในระดับโลกบ้าง จริงอยู่ที่การตัดสินงานสถาปัตยกรรมอาจเป็นเรื่องลางเนื้อชอบลางยาเช่นเดียวกับศิลปะ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเกณฑ์สำหรับวัดคุณค่าของสิ่งก่อสร้างเสียเลย เช่น ปรากฏการณ์ The Bilbao Effect ได้ทำให้เราเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมอย่างชัดเจน กล่าวคือ หลังพิพิธภัณฑ์ Guggenheim Museum Bilbao ได้เปิดตัวขึ้นมา ภายในสามปีเมืองบิลเบาก็สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 4 ล้านคน ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเมืองริมชายฝั่งสเปนแห่งนี้เติบโตจนเก็บภาษีมาคืนทุนค่าก่อสร้างจำนวน 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้จนหมด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดเพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รับการออกแบบโดย Frank Gehry ผู้กรุยทางให้กับบรรดา ‘starchitects’ หรือสถาปนิกดาวเด่นแห่งยุคนี้อย่าง Saha Hadid หรือ Rem Koolhaas และ Jean Nouvel มองใกล้เข้ามามากขึ้น มหานครอย่างสิงคโปร์ และฮ่องกงก็ไม่พลาดโอกาสเรียนรู้จากปรากฏการณ์นี้อย่างรวดเร็ว โดยสร้างสถาปัตยกรรมที่จะมาเป็นหน้าตาของประเทศอย่างเช่น Marina Bay Sands และ West Kowloon Cultural District ขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม ในห้วงเวลาเดียวกันนี้เอง กรุงเทพฯ ของเราถือว่าเดินได้ช้าอย่างน่าใจหาย เรามีเพียงการเปิดศูนย์ศิลปะที่ไม่มีคอลเลกชั่นถาวรของตัวเอง มีเพียงการใช้เวลา 20 ปีและเงินทุน 9.9 พันล้านบาทเพื่อสร้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครที่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ มีเพียงการป่าวประกาศแผนที่จะสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในปี 2552 (ซึ่งยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่) และมีเพียงโครงการทางเลียบแม่นํ้าซึ่งยังไม่รู้ออกหัวออกก้อย และยังไม่มีการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แต่ในขณะที่ประเทศไทยอาจยังขาดแคลนเมกะโปรเจ็กต์จากภาครัฐในระดับที่จะก่อให้เกิด Bilbao Effect ได้ สถาปนิกชั้นแนวหน้าของไทยได้ค้นพบว่ายังมีช่องทางอื่นสำหรับปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์อยู่เหมือนกัน เพราะเช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยอย่าง Yale และ Harvard เคยทำหน้าที่เป็นสนามเด็กเล่นให้กับยอดสถาปนิกโมเดิร์นนิสม์ อย่าง Ludwig Mies van der Rohe และ Le Corbusier หรือ Walter Gropius ขณะนี้ มหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทยก็กำลังเป็นแหล่งเพาะสร้างผลงานสถาปัตยกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดของประเทศ
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มหาวิทยาลัยเอกชนแข่งขันกันสูงมาก แต่ละที่ก็ต้องมีของเอาไว้ประชันกับคนอื่น เช่นในตอนแรกก็พยายามแข่งกันว่าใครมีมาตรฐานการศึกษาที่ดีกว่าหรือมีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยดีๆ ในเมืองนอก ยุคต่อมาก็แข่งกันสร้างวิทยาเขตในเมืองพร้อมด้วยแผนการเรียนปริญญาโท พอมาถึงตอนนี้ก็แข่งกันแล้วว่าใครจะสร้างตึกได้เจ๋งกว่ากัน” ปิตุพงษ์ เชาวกุล กล่าว เขาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการออกแบบของดีไซน์สตูดิโอนามว่า Supermachine และมีประสบการณ์ทำโครงการน้อยใหญ่กับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาแล้วกว่า 10 โครงการ
หนึ่งในอาคารสถานที่เจ๋งๆ อย่างที่ว่านั้นก็คือ ‘หอประชุมมหิดลสิทธาคาร’ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล โรงละครที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2557 แห่งนี้ จุคนได้มากถึง 2,000 ที่นั่ง และมีเทคโนโลยีซับเสียง (acoustics) ที่ล้ำหน้าที่สุด อันเป็นผลมาจากหลังคาทรงปลายปีกนกมหึมาที่ออกแบบโดย A49 กลุ่มสถาปนิกที่ปกติมักจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ออกแบบอาคารกระจกแก้วทันสมัยที่ส่วนใหญ่เป็นคอนโด หรือออฟฟิศของบรรดาบริษัทและห้างสรรพสินค้าตามกระแสนิยมที่แฝงไปด้วยประโยชน์ใช้สอยมากกว่าดีไซน์ ในทางตรงกันข้ามแนวคิดด้านการดีไซน์แบบไร้ขีดจำกัดของ A49 กลับแสดงออกมาอย่างโดดเด่นในงานออกแบบอาคารเรียนมากกว่า อันที่จริงรางวัลสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย (ARCASIA Awards for Architecture) เหรียญทองสองเหรียญที่ A49 ภาคภูมิใจนั้น เหรียญหนึ่งมาจากงานออกแบบที่พักอาศัย และอีกเหรียญมาจากอาคาร BU Diamond แลนด์มาร์คของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ นี่เอง
เพชร โอสถานุเคราะห์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นคนสั่งเดินหน้าโครงการบียู ไดมอนด์ ที่วิทยาเขตรังสิตด้วยตนเอง แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำไปเพราะต้องการแข่งสถาปัตยกรรม “ผมไม่เคยคิดถึงสถาปนิกหรือสถาปัตยกรรมเลย ผมคิดแต่เรื่องการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่ดีให้นักศึกษา”
บียู ไดมอนด์ แบ่งออกเป็น 3 อาคารย่อยๆ โดยอาคารทรงเพชรแต่ละอาคารมีผนังที่ลาดเอียง เหมือนจะชวนให้นักศึกษาคิดนอกกรอบ เส้นทางเดินเท้ามีพื้นที่กว้างและลากเป็นทางผ่านตึกเรียน ขณะที่สนามหญ้าตรงกลางอาคารทั้งสามทำหน้าที่เป็นพื้นที่ร่มเงาให้เหล่านักศึกษาได้มาพบปะและจับกลุ่มกัน พื้นที่ใช้งานของอาคารซึ่งมีตั้งแต่หอประชุม 1,600 ที่นั่ง ไปจนถึงห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่อาจไม่ได้ลํ้าสมัยที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าตัวอาคารนั้นเองกลับสามารถแสดงออกถึงความมั่นใจในพลังของเทคโนโลยีและดีไซน์ได้เป็นอย่างดี
“ผมรู้แค่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผมกับสถาปนิกก็คือ ผมเคารพเขา และเขาก็เคารพผม เขาบอกว่าเราเป็นลูกค้าชั้นยอด ‘เรา’ ในที่นี้ผมหมายถึงทั้งมหาวิทยาลัยและตัวผมเองด้วย เพราะลึกๆ แล้วผมเข้าใจศิลปะ และการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ จำเป็นจะต้องมีทั้งสถาปนิกที่ดีและลูกค้าที่ดีประกอบกัน” เพชรกล่าว
ที่มา: Bangkok University
ใกล้ๆ กันนั้น มหาวิทยาลัยรังสิตก็กำลังเป็นที่จับตามองในแวดวงสถาปัตย์เช่นกัน ‘ศาลากวนอิม’ ซึ่งออกแบบโดย Studiomake ได้ขึ้นปกนิตยสาร Art4D ฉบับเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยได้รับการขนานนามว่าเป็น “สิ่งก่อสร้างอันเป็นไอคอนแห่งใหม่” ของมหาวิทยาลัย
แต่เช่นเดียวกับเพชร ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ได้เห็นว่ามีการแข่งขันกันระหว่างมหาวิทยาลัยเอกชน เขากล่าวว่า “ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น ผมมองว่ามันคือการให้บ้านหลังที่สองกับนักศึกษา มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องโมเดิร์นหรือไม่โมเดิร์น แต่มันควรจะต้องทำให้นักศึกษามีความภาคภูมิใจในสถาบัน และบันดาลใจให้เขาขวนขวายหาความรู้ เพราะเวลามองในแง่นี้ สถาปัตยกรรมถึงจะเป็นสิ่งสำคัญ”
ดร.อาทิตย์ ยังเน้นยํ้าถึงความสำคัญของชุมชนอีกด้วย สำหรับเขาแล้วมหาวิทยาลัยรังสิต มีบทบาทที่สำคัญในการยกระดับความน่าอยู่ของย่านรังสิตซึ่งเคยเป็นแต่แหล่งรวมตึกแถวรกร้างและอาคารเก่าทรุดโทรม โดยเขาบอกว่า “เราเป็นตัวอย่างให้เขาได้ มหาวิทยาลัยก็เหมือนเมืองๆ หนึ่ง สิ่งที่เราสร้างขึ้นที่นี่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้”
อาคารศาลากวนอิมออกแบบโดยสถาปนิกสองสามีภรรยา อรพรรณ สาระศาลิน และ เดวิด เชฟเฟอร์ ผู้เคยได้ฝากผลงานอาคารพัฒนาแกลเลอรีไว้กับมหาวิทยาลัยรังสิตมาก่อนแล้ว โดยศาลากวนอิมเป็นที่ตั้งของสถาบันไทย-จีน ซึ่งมีขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยรังสิตกับมหาวิทยาลัยในประเทศจีน พื้นที่ของอาคารแห่งนี้แสดงให้เห็นการเล่นกับแสงเงาอยู่ตลอด ซึ่งเกิดมาจากองค์ประกอบของโถงทางเดินตรงกลางที่มืดอับแสง หน้าต่างเพดานที่จัดวางอย่างชาญฉลาด และโถงนิทรรศการกระจกใส ซึ่งมีเสาอิฐเรียงรายโดยรอบ โดยอิฐที่ถูกต่อให้ได้อารมณ์ของหลังคาเจดีย์จีนเหล่านั้น เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ถูกใส่เข้าไปเพื่อให้อาคารสามารถแสดงออกถึงวัฒนธรรมไทยและจีนได้ในเนื้อของตัวอาคารเอง นอกจากนั้น อิฐซึ่งต้องผ่านการเผาสองรอบจากโรงงานผลิตอิฐที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ยังแสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถันที่สตูดิโอเมกใส่ลงไปในงานสถาปัตยกรรมอีกด้วย
“สถาบันอุดมศึกษาเป็นที่ที่ยอมรับการทดลองเทคโนโลยีหรือของแปลกใหม่ได้มาก อาจเป็นเพราะนี่คือสิ่งที่เขาพรํ่าสอนกันในสถาบัน และเขาก็พยายามทำให้ได้อย่างที่สอน เลยรู้สึกได้ว่ามันมีบรรยากาศที่เปิดกว้าง” เดวิด เชฟเฟอร์กล่าว นอกจากนั้น เขายังเห็นว่ามหาวิทยาลัยจะเป็นตัวขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมไทยได้ดีกว่าภาคธุรกิจโดยบอกว่า “ทั่วไปแล้วมหาวิทยาลัยเขาไม่ถูกจำกัดโดยเรื่องกำไร เทรนด์ หรือการแข่งขันมากเท่าภาคธุรกิจ เขาสนใจในเรื่องระยะยาวและสนใจในวิธีถ่ายทอดโปรเจ็กต์นั้นๆ มากกว่า”
“เราโชคดีกันมากที่มีโอกาสสร้างตึกดีๆ สองตึกนี้ออกมา มันเป็นการสร้างลูกค้าในอนาคตให้เรา อย่างน้อยลูกค้าที่ต้องการให้ออกแบบบ้าน เขาก็จะสามารถนึกถึงงานสถาปัตยกรรมขั้นสูงที่มีรายละเอียด และมีแนวคิดมากๆ ได้ ซึ่งนี่เป็นประโยชน์อย่างมากในทุกสเกลงาน ตั้งแต่งานออกแบบตกแต่งในบริษัทไปจนถึงบ้านหลังเล็กๆ ในปราณบุรี” อรพรรณเสริม
บุญเสริม เปรมธาดา เจ้าของ Bangkok Project Company มีอะไรหลายอย่างคล้ายๆ กับสองสามีภรรยาแห่งสตูดิโอเมก ในขณะนี้บุญเสริมกำลังออกแบบโครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเก่าของอยุธยา หลังเขากลายเป็นที่รู้จักจากการออกแบบอาคารให้ ‘สถาบันกันตนา’ โดยเขาชอบใช้อิฐเป็นอย่างมาก ดูเหมือนว่าสถาปนิกทั้งสามคนจะพยายามเรียกร้องให้เพื่อนร่วมอาชีพเลิกทำงานดีไซน์เพื่ออวดดีไซน์อย่างเดียว (design for design’s sake) อรพรรณบอกว่า “ดีไซน์ไม่ใช่แค่ภาพสวยๆ ที่เห็นในเว็บ Archdaily” ในขณะที่บุญเสริมก็กล่าวว่า “เราต้องดีไซน์เพื่อนักเรียนและอาจารย์ งานดีไซน์ของผมไม่ได้มีไว้เป็นภาพสวยๆ ในนิตยสาร แต่มีไว้ให้ใช้ได้จริง”
อาคารสถาบันกันตนาซึ่งผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายของรางวัลอันทรงเกียรติ Aga Khan Award for Architecture ไม่ได้มีไว้แค่ใช้งานอย่างที่บุญเสริมพูดแต่อย่างใด อิฐของอาคารเรียงตัวกันเป็นคลื่นก่อให้เกิดความงามจากการเล่นเงาไม่ซํ้าแบบ ในขณะที่โครงสร้างชั้นเดียวและวัสดุที่ใช้ชวนให้ได้กลิ่นอายของโบราณสถานในอยุธยา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาพถ่ายไม่อาจแสดงให้เห็นก็คือโครงเหล็กภายในซึ่งช่วยกันความร้อน นอกจากนี้ ยังมีทางเดินเท้าที่อุดมไปด้วยร่มเงา และพื้นที่สีเขียวที่ช่วยสร้างบรรยากาศสบายเอื้อให้เกิดสมาธิ
บุญเสริมกล่าวว่า “ผมไม่ได้คิดถึงรูปทรงหรอก ผมคิดถึงความสงบ ความเงียบและสมาธิ ผมอยากให้นักเรียนได้ยินเสียงแห่งความเงียบ” บุญเสริมนึกไปถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกันตนาและโรงเรียนแหล่งแรกๆ ในประเทศไทย ซึ่งก็คือวัด สำหรับเขาแล้วสถาปัตยกรรมไทยกำลังหลงทาง
“ดูอย่างที่จุฬาฯ อาจารย์มักจะจบจากอเมริกามา ทุกอย่างเลยออกแนวโกรเปียสไปหมด แต่ทำไมเราถึงต้องตามตะวันตกด้วย เราควรต้องถามตัวเอง ว่าอยากสร้างสถาปัตยกรรมเพื่อสถาปัตยกรรม หรือสร้างสถาปัตยกรรมที่มันจับต้องได้จริงๆ”
ออกจะเป็นเรื่องแปลกที่บุญเสริมวิจารณ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเขาเองก็จบมาจากที่นั่น และสอนอยู่ที่นั่นด้วย อย่างไรก็ตาม บุญเสริมไม่ใช่คนในสถาปัตยกรรมจุฬาฯ คนเดียวที่เห็นว่าคณะสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ยังตามมหาวิทยาลัยเอกชนไม่ทัน
ปิตุพงษ์แห่ง Supermachine เป็นคนออกแบบห้องนั่งเล่น BU Lounge และศูนย์กิจกรรมนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งทั้งสองแห่งมีสีลูกกวาดสดใส จนอาจกล่าวได้ว่า หากบุญเสริมกำลังพยายามสร้างสถานที่เพื่อสงบจิตใจ ปิตุพงษ์ก็คือผู้ที่พยายามปลุกเร้ามันด้วยการใช้พื้นผิวซับซ้อนและลายเส้นกราฟฟิกอันเป็นเอกลักษณ์ กระนั้นปิตุพงษ์ก็มองคณะเก่าของเขาที่จุฬาฯ แบบเดียวกับบุญเสริม
“ทุกอย่างขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเท่านั้น ต่อให้เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนก็ตาม ถ้ามีพวกอนุรักษ์นิยมเป็นคณะกรรมการ พื้นที่มหาวิทยาลัยก็จะออกมาน่าเบื่อ ตรงกันข้ามถ้ามีคณะกรรมการที่มีวิสัยทัศน์ พื้นที่มหาวิทยาลัยก็จะดูมีวิสัยทัศน์ไปด้วย และมหาวิทยาลัยควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับองค์กรอื่นๆ ในสังคม ผมฝันว่าคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ จะมีอาคารดีๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนของสถาบันมุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์เพียงใดและเป็นการสร้างแบบแผนให้กับอาคารอื่นๆ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า ของๆ เราเองนั่นแหละที่ผิดที่ผิดทางไปหมด”
สำหรับสตูดิโอเมก ทางแก้ปัญหาคือ มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดรับการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยพยายามเพิกเฉยมาช้านาน
เดวิด เชฟเฟอร์ กล่าวว่า “โครงการก่อสร้างในมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยเป็นเรื่องของเส้นสาย อย่างงานที่เราได้ทำที่รังสิต ก็เพราะเราเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่น ไม่ใช่ว่าเพราะเรามีคุณสมบัติพร้อมหรือเพราะเราชนะงานคนอื่นผมรู้สึกว่าเราอาจไม่ได้สมควรได้รับงานที่สุด”
อรพรรณเสริมว่า “มหาวิทยาลัยไทยต้องเปิดกว้างกว่านี้ กว้างกว่าครอบครัว กว้างกว่าคณะตัวเอง กว้างกว่าประเทศไทย ถ้าดูอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่นจะเห็นว่าเขาจัดการแข่งขันระดับนานาชาติกันอยู่ตลอด ประเทศไทยก็มีเงินทุนที่จะทำ แค่ต้องพยายามแข่งและสร้างสรรค์ให้ได้มากกว่านี้”
แต่ปัญหาอาจไม่ได้มีแค่นั้น เพราะประเทศไทยยังมีกฎหมายคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศอยู่ กฎหมายไทยห้ามไม่ให้สถาปนิกชาวต่างชาติออกแบบอะไรในประเทศไทยได้เลย แม้กระทั่งภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทสถาปนิกท้องถิ่น กระนั้นก็เป็นที่รู้ๆ กันว่า สถาปนิกอย่าง Ole Scheeren หรือจะเป็น Kerry Hill และ Ed Tuttle รวมทั้งคนอื่นๆ อีกมากมาย เป็นผู้ออกแบบโครงการก่อสร้างระดับไฮเอนด์ในประเทศเราแทบทั้งสิ้น
ปิตุพงษ์กล่าวว่า “ห้างในประเทศไทยออกแบบโดยชาวต่างชาติ แต่เอามาพัฒนาต่อโดยคนไทยเหมือนแฟรงเกนสไตน์ ไอเดียอาจมาจากฝรั่งเศส บราซิล มาจากลอสแอนเจลีส แล้วสถาปนิกไทยก็เอามาทำต่อ แล้วลูกค้าก็เอามาปรับเปลี่ยนอะไรแบบนี้ ตามกฎหมายการจ้างสถาปนิกชาวต่างชาติทำไม่ได้ แต่ห้างที่เราเห็นนี่ 80 เปอร์เซ็นต์ออกแบบโดยชาวต่างชาติทั้งนั้น”
มหาวิทยาลัยไทยจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการกลับสู่ความเป็นไทยและบริบทของท้องถิ่นในงานสถาปัตยกรรม หรือในทางตรงกันข้าม จะผลักดันให้เกิดการแข่งขันระดับนานาชาติที่โปร่งใสขึ้น ดูเหมือนจะเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ กระนั้นหนทางทั้งสองนี้อาจไม่ได้อยู่ตรงกันข้ามอย่างที่คิด อันที่จริงหาก Pyramide du Lourve ในประเทศฝรั่งเศส โรงอุปรากรซิดนีย์ Cloud Gate ในเมืองชิคาโก หรือแม้กระทั่งเทพีเสรีภาพที่ล้วนออกแบบโดยคนต่างประเทศ ยังสามารถแสดงสปิริตของพื้นที่นั้นๆ ได้ การเปิดกว้างสำหรับการแข่งขันก็ไม่น่าเสียหาย
โดยนัยนี้ ในขณะที่มหาวิทยาลัยไทยต่างกำลังพยายามสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมของตนให้เจริญงอกงาม ในไม่ช้าจะต้องนำไปสู่การผลักดันให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใส และเปิดกว้างมากขึ้นเช่นกัน ■
Essentials
■
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
119 ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ
โทร. 02-350-3500 ถึง 99
www.bu.ac.th
■
มหาวิทยาลัยมหิดล
999 ถนนพุทธมณฑลสาย 4 นครปฐม
โทร. 02-849-6000
wwww.mahidol.ac.th
■
มหาวิทยาลัยรังสิต
52/347 ซอยเอกทักษิณ ถนนพหลโยธิน ปทุมธานี
โทร. 02-997-2200
www2.rsu.ac.th
■
A49
81 ซอยสุขุมวิท 26 ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-260-4370
http://www.a49.com
■
Bangkok Project Studio
192-193 ซอยสหมิตร ถนนริมคลองประปา กรุงเทพฯ
โทร. 081-812-8224
http://www.facebook.com/BangkokProjectStudio
■
Studiomake
44 ซอยบ้านไทรม้า ถนนรัตนาธิเบศร์ นนทบุรี
โทร. 02-528-6212
http://www.studiomake.com
■
Supermachine
57/7 ซอยโชคชัยร่วมมิตร 16/13 ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
โทร. 02-276-6279
www.supermachine.wordpress.com