SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
The Rise of Curators
ภัณฑารักษ์เลือดใหม่จุดกระแสศิลปะเมืองไทย พร้อมทะยานสู่ความยิ่งใหญ่
ปรากฏการณ์นี้ เป็นพยานถึงพลังของกลุ่ม “ภัณฑารักษ์” ยุคใหม่ที่กล้าเดินออกจากขนบเดิม และลองนำเสนอศิลป์ใหม่ๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ แทน
ห้องแถวโล่งๆ ดิบๆ ของ WTF Gallery นั้นมีหน้าตาเหมือนกับห้องที่ลูกหนี้ที่เพิ่งโกยข้าวของหนีเจ้าหนี้มากกว่าเป็นแหล่งฟูมฟักวงการศิลปะร่วมสมัยของกรุงเทพฯ
กระนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะกึ่งบาร์ของ WTF Gallery (ย่อมาจาก Wonderful Thai Friendship) นี่เอง ได้ทำหน้าที่ปะทุความคิดสร้างสรรค์ของคนเมืองให้แตกเปรี้ยงปร้าง ผ่านการจัดนิทรรศการที่กระตุ้นให้ผู้ชมต้องมีส่วนร่วมอย่างเช่นนิทรรศการ “Build Your Own Bangkok” ซึ่งทั้งโชว์ผลงานการ์ตูนสุดเสียดสีของนักวาดการ์ตูน เคที แมคลอยด์ ทั้งยังเอาผลงานของเธอมาประมูลออนไลน์เพื่อดึงปฏิกริยาคนดู
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นิทรรศการแปลกๆ อย่างนี้ ผนวกกับสารพัดค็อกเทลพิสดารในบาร์ ได้สร้างลูกค้าขาประจำให้กับ WTF Gallery เป็นจำนวนมาก และย้อมนักดื่มหลายคนให้กลายเป็นผู้คลั่งไคล้ศิลปะไปโดยปริยาย
แต่ WTF Gallery ไม่ใช่สิ่งเดียวที่แสดงให้เห็นว่าตอนนี้วงการศิลปะบ้านเราได้เริ่มเข้าถึงกลุ่มคนที่กว้างขึ้นด้วยวิธีที่โลดโผนกว่าเดิม “Bukruk” หรือนิทรรศการสตรีทอาร์ตในปี 2556 นั้น ถูกใจเด็กไทยซึ่งเห็นลวดลายกราฟฟิตี้สุดคูลเป็นแบ็คกราวด์ให้กับเซลฟี่อย่างมาก นิทรรศการ Hotel Art Fair ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในปีกลาย ก็สามารถดึงคนอายุยี่สิบต้นๆ ซึ่งปกติไม่เคยเข้าแกลเลอรีให้มาเข้ามาชมงานได้เป็นจำนวนไม่น้อย จะอย่างไรก็แล้วแต่ ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นพยานถึงพลังของกลุ่ม “ภัณฑารักษ์” ยุคใหม่ที่กล้าเดินออกจากขนบเดิม และลองนำเสนอศิลป์ใหม่ๆ ด้วยวิธีการใหม่ๆ แทน
ตัวอย่างแรกก็คือ เมอธิล ทิเบรองค์ ผู้จัดงาน Bukruk ซึ่งมีอดีตเป็นเจ้าหน้าที่ทางวัฒนธรรมของสถาบันสอนภาษา Alliance Francaise แต่ปัจจุบันมาเปิด Toot Yung Art Center เป็นของตัวเอง เพื่อจะได้จัดนิทรรศการอย่างที่อยากจัด ตลอดจนทำเรื่องที่อยากทำอื่นๆ อย่างเช่นออกทุนหาที่พำนักให้ศิลปิน หรือจัดงานปาร์ตี้ดีเจ
เช่นเดียวกัน สมรัก ศิลา ภัณฑารักษ์และเจ้าของร่วม WTF Gallery บอกว่าเธอเปิดแกลเลอรีกึ่งบาร์นี้ขึ้นมา เพื่อคลาย “ความเซ็ง” ที่เกิดขึ้น หลังจากงานเอ็นจีโอของเธอที่ช่วยส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยในกลุ่มประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามถูกพับไป เธอเริ่มอยากมีพื้นที่ที่จะทำอะไรๆ ได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณหรือวาระของคนอื่น “เราอยากทำแกลเลอรีที่มันเข้าถึงได้ ดูเป็นมิตร โดยเฉพาะกับคนที่เขาไม่ได้ศิลปะจ๋าขนาดนั้น แต่ในขณะเดียวกันงานก็ต้องมีคุณภาพ มีมุมมองอะไรใหม่ๆ ที่จะกระตุ้นให้คนดู เขาเกิดความคิดเชิงวิพากษ์ได้” สมรักเล่า
ปรากฏว่าแนวคิดอย่างนี้เป็นที่ชื่นชมไปทั่วแม้แต่กับสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Wall Street Journal และทำให้สมรักกลายเป็นหนึ่งในทูตทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย อันที่จริง ไม่เฉพาะแต่สมรักเท่านั้น ภัณฑารักษ์รุ่นหนุ่มสาวแบบเธออีกไม่น้อยกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปพร้อมๆ กับที่วงการศิลปะเติบโต เพราะในขณะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงหลากหลายยิ่งขึ้นทุกวันๆ ภัณฑารักษ์เหล่านี้มีบทบาทอันสำคัญยิ่งในการแปลงความสับสนวุ่นวายของสังคมมาเป็นนิทรรศการที่ผู้ชมจะสามารถรับรู้และเข้าใจ “ก่อนหน้านี้ ภัณฑารักษ์มักจะถูกมองว่าเป็นอาชีพแปลก แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว พอมีแกลเลอรีและศิลปินเกิดใหม่แทบทุกวัน ใครแขวนงานศิลปะบนผนังได้ก็เรียกภัณฑารักษ์กันทั้งนั้น คำถามก็คือจะมีกี่คนที่จัดนิทรรศการเป็นจริงๆ” สมรักตั้งข้อสังเกต
เพราะแน่นอนว่างานภัณฑารักษ์นั้นไม่ใช่แค่การแขวนภาพบนผนัง ตรงกันข้าม ภัณฑารักษ์เดี๋ยวนี้ทั้งต้องชำนาญในวิชาของตัวเอง ทั้งต้องฉลาดใช้ช่องทางสื่อสารที่จะ “คลิก” กับคนรุ่นใหม่ได้ “เทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อนแล้ว จำนวนของศิลปินในกรุงเทพฯ ทั้งไทยและต่างชาติโตขึ้นมาก เดี๋ยวนี้ ที่จัดแสดงงานศิลปะมีได้ตั้งแต่พิพิธภัณฑ์ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า บาร์ และร้านอาหาร ยังไม่ต้องนับพวกโซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุค ซึ่งช่วยให้ศิลปินมาเจอมาแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก” ไมตรี สิริบูรณ์ ศิลปินและที่ปรึกษาเรื่องพิพิธภัณฑ์ของ Whitespace Gallery กล่าว
ดูเหมือนความหมายโดยนัยของเขาก็คือภัณฑารักษ์ยุคใหม่ไม่สามารถมองข้ามพัฒนาการของสังคมเหล่านี้ได้เลย
พื้นที่เพื่อการเติบโต
น่าสังเกตว่าภัณฑารักษ์เลือดใหม่ของไทยผงาดขึ้นมาในช่วงที่ศิลปินไทยก็กำลังเริ่มเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะสากลพอดี ศิลปินท้องถิ่นอย่าง กมล ทัศนาญชลี, อริญชย์ รุ่งแจ้งและวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ได้ไปแสดงผลงานที่ Venice Biennale ซึ่งเป็นเสมือนตรารับรองจากโลกศิลปะระดับสากล โดยเหล่าภัณฑารักษ์ยืนยันว่าความสำเร็จของศิลปินเหล่านี้มาจากส่วนผสมของพรสวรรค์ บุคลิกส่วนตัว และความคงเส้นคงวาในผลงานที่เข้ากันได้อย่างลงตัว
“งานของพวกนี้มักจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่สามารถตีความได้หลายแง่อยู่แล้ว แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น คือองค์ประกอบในตัวของพวกเขาเองที่ทำให้พวกเขาสามารถผลิตงานคุณภาพออกมาได้อย่างต่อเนื่อง อย่างงาน Venice Biennale อาจจะถือเป็นความสำเร็จขั้นหนึ่ง แต่สิ่งที่เจ๋งจริงๆ ก็คืองานที่ศิลปินพวกนี้ทำขึ้นมาหลังผ่านช่วงนั้นมาแล้วต่างหาก” พิชญา ศุภวานิช ภัณฑารักษ์ประจำหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ BACC พูดถึงกมล อริญชย์ และวศินบุรี
แต่ในขณะที่ศิลปินหลายคนเริ่มติดปีกโบยบิน วงการศิลปะของไทยโดยรวมกลับถูกมองว่าตายซาก และติดอยู่กับอดีตอย่างยิ่ง เราไม่มีสถานที่ถาวรสำหรับเก็บผลงานศิลปะไทยร่วมสมัย บรรยากาศที่เอื้อต่อศิลปะและศิลปินก็นับวันมีแต่จะแพ้เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เช่น ในเดือนพฤษภาคม ปี 2556 ฮ่องกงจัดงานอาร์ตแฟร์ Art Basel ขึ้นเป็นครั้งแรกมีผู้เข้าชมกว่า 60,000 คน และมีแกลเลอรีต่างๆ เข้าร่วม 245 แห่ง แต่ในงาน Hotel Art Fair ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ในปีเดียวกันและสื่อออกปากว่าเป็นงานทำให้คนเข้าถึงศิลปะร่วมสมัยของไทยอย่างมากแล้วนั้น กลับมีแกลเลอรีเข้าร่วมเพียง 12 แห่ง และมีคนร่วมงานประมาณ 2,000 คนเท่านั้น
พูดอีกนัยหนึ่งคือแม้วงการศิลปะเมืองไทยจะได้กระแสสนับสนุนจากสื่อท้องถิ่นบ้างแล้วก็ตาม แต่ยังอีกนานกว่าเราจะได้มีตัวเลขสวยๆ มาอวดอย่างเพื่อนบ้าน “ถ้าเราไม่มีงานอาร์ตแฟร์ให้เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาก่อน ผมว่าป่วยการที่เราจะไปพูดถึงการสร้างตลาดศิลปะ จะมีตลาด เราก็ต้องสร้างตลาด สร้างคนซื้อขึ้นมา แล้วเราสร้างสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถ้าเราไม่มีอาร์ตแฟร์” มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินและเจ้าของ Kathmandu Gallery กล่าว
สาเหตุที่งานอาร์ตแฟร์มีความสำคัญ ก็เพราะงานอาร์ตแฟร์จะช่วยให้ศิลปินได้รับสิ่งที่คนยุค “ไม่ดังก็ดับ” อย่างทุกวันนี้ต้องการมากที่สุด กล่าวคือพื้นที่สื่อ เพราะการออกสื่อมาก ย่อมหมายถึงโอกาสหาสตางค์ที่มากขึ้น พูดตรงๆ ก็คือ ศิลปะอาจดูเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ แต่สุดท้าย เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องในโลกนี้ ศิลปะจำเป็นต้องใช้เงินเหมือนกัน มูลค่าของตลาดศิลปะไทยนั้น ไม่มีตัวเลขบอกชัดๆ แต่อาจพอเทียบเคียงขึ้นมาได้จากราคาซื้อขายผลงานศิลปะหนึ่งชิ้น ที่ผ่านมามีศิลปินไทยขายผลงานในราคาสูงได้ไม่น้อย เช่น ผลงาน “The Private Expectation of Gods and the Common Reason of Investment” ของ นที อุตฤทธิ์ ที่ขายได้ในราคา 350,000 ดอลลาร์ในงาน Art Stage Singapore เมื่อต้นปีนี้ กระนั้น ราคานี้เทียบไม่ได้เลยกับราคาที่ศิลปินจีนอย่างเช่น อ้าย เว่ยเว่ย สามารถเสกได้จากผลงานของเขา เมล็ดทานตะวันจำลองของ อ้าย เว่ยเว่ย ขายไปได้ในราคาถึง 782,000 ดอลลาร์ ในการประมูลของ Sotheby’s ในปี 2555
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะบอกว่าการนำประเทศไทยที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่รํ่ารวยกว่ามากนั้นไม่ยุติธรรม เพราะเป็นการเปรียบแอปเปิ้ลกับส้ม
“ผมไม่คิดว่าตลาดไทยล้าหลังประเทศเพื่อนบ้านอะไรขนาดนั้น อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และมีฐานนักสะสมที่ใหญ่ที่สุด จึงไม่แปลกที่อินโดนีเซียจะเป็นตลาดงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดไปด้วย สิงคโปร์ก็เป็นตลาดที่ดี แต่สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวประชากรสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเยอะมาก จะเอาไปเปรียบก็ไม่ได้อีก จริงๆ แล้ว เทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ ต้องถือว่าประเทศไทยทำได้ไม่เลวเลยทีเดียว” จอร์น มิดเดิลบอร์ก กรรมการผู้จัดการ Thavibu Gallery กล่าว
ไผทวัฒน์ จ่างตระกูล กรรมการผู้จัดการของ Farmgroup และออร์กาไนเซอร์งาน Hotel Art Fair ในกรุงเทพฯ สรุปสั้นกว่านั้นอีก
“ประเทศไหนมีเศรษฐีมาก ก็มีคนซื้อศิลปะมาก เท่านั้นเอง”
ภัณฑารักษ์รุ่นใหม่
เพียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บทบาทของภัณฑารักษ์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างยิ่ง จากเดิมที่อาชีพนี้มักมีแต่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่คอยทำแต่งานเบื้องหลัง และมักจะถูกกลืนอยู่ในองค์กรโดยไม่ปรากฏชื่อ ในขณะนี้ ภัณฑารักษ์ได้ขึ้นมาอยู่บนเวทีเสียเองทีเดียว และบ่อยครั้งก็มีชื่อพอๆ กับศิลปินที่พวกเขาช่วยจัดนิทรรศการให้ ทั้งนี้ เพราะในโลกที่ความสนใจ ของผู้คนสั้นอย่างยิ่ง ทักษะในการสื่อสารของ ภัณฑารักษ์มีความสำคัญไม่แพ้ชิ้นงานศิลปะ พูดอีกอย่างก็คือ ภัณฑารักษ์เดี๋ยวนี้กลายเป็น “เซเลบ” ไปแล้ว
คุณไม่ได้แค่ต้องมีความรู้ตามสาขาที่ตัวเองเรียนมาเท่านั้น แต่ยังต้องรู้สาขาวิชาอื่นๆ เพื่อจะได้เข้าใจ และดึงความหมายของงานศิลปะออกมาให้ได้
“ภัณฑารักษ์ทำงานต่างจากเมื่อก่อน คุณไม่ใช่แค่ต้องมีความรู้ตามสาขาที่ตัวเองเรียนอย่างเดียว แต่ต้องติดตามสาขาวิชาอื่นๆ เพื่อจะได้เข้าใจและดึงความหมายของงานศิลปะออกมาให้ได้ อย่างที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เราจะเอาผู้ชมเป็นศูนย์กลางมากขึ้น คือแทนที่เราจะเสนอแต่คอนเซปต์นามธรรมของชิ้นงานแบบทื่อๆ เราจะพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจงานได้มากที่สุด” พิชญาจากหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครกล่าว
ความพยายามที่จะสื่อสารกับผู้ชมอย่างนี้ ได้ช่วยขยายพื้นที่ศิลปะออกไปกว้างกว่าเดิมอีกมาก และเปลี่ยนให้พิพิธภัณฑ์อย่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เริ่มมีสภาพของตลาดที่คนมาเลือกซื้อเลือกเสพแนวคิด และทำให้บาร์อย่าง WTF Gallery กลายเป็นสถานที่ถกเถียงเรื่องศิลปะหลังจากลูกค้ากรึ่มเตอกิล่าได้ที่แล้ว
นับได้ว่ายุคสมัยของการเสพศิลปะแบบเดิมซึ่งลูกค้าที่เสพต้องทำท่าขลังๆ และเป็นอาณาจักรเฉพาะของนายแบงก์กับคุณหญิงคุณนายนั้นได้หมดไปแล้ว เพราะบัดนี้ ภัณฑารักษ์ที่มีทักษะของนักจิตวิทยา คนงานก่อสร้าง ไปจนกระทั่งเซลล์แมนรวมอยู่ในตัวคนเดียว ได้ช่วยทำให้งานศิลปะเข้าถึงง่ายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
“บทบาทของภัณฑารักษ์ไม่ได้อยู่แค่การมองศักยภาพในตัวศิลปินให้ออกเท่านั้น แต่ยังต้องประสานให้ได้ทั้งสิบทิศ คุณต้องหาข้อมูลและก็ตีหัวข้อนิทรรศการของคุณให้แตก ต้องทำให้ศิลปินไว้ใจ ต้องรู้วิธีจัดนิทรรศการที่จะสื่อกับคนได้ ต้องอ่านพื้นที่โชว์ให้ออก ต้องเจาะรูบนผนังได้ หาสตางค์เป็น พีอาร์เป็น ต้องทำให้นักสะสม และสปอนเซอร์ไว้ใจ และทำให้ศิลปินเลิกประหม่า มันเป็นหลายเรื่องที่ต้องทำซึ่งต้องใช้วิสัยทัศน์ทั้งนั้น” สมรัก จาก WTF Gallery กล่าว
ปัญหาอยู่ที่ว่านับแต่นี้ วงการศิลปะไทยควรจะพัฒนาต่อไปอย่างไร ซึ่งความเห็นดูเหมือนจะยังแยกเป็นหลายทาง บางสายก็บอกว่าเป็นภาระของศิลปินที่จะต้องพยายามสื่อสารกับผู้ชมให้มากขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ร่วมของทุกคน
“ศิลปินต้องคิดว่า ผู้ชมของเราไม่ได้อยู่แค่ในประเทศไทย เรามีปัญหาร่วมกับคนในโลกตั้งเยอะแยะ ทั้งเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ เรื่องโลกร้อน แรงงานอพยพ เรื่องการก่อการร้าย ไม่ใช่มีแต่เรื่อง “ความเป็นไทย” เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ ทำให้ศิลปะของเราไปถึงคนอีกซีกโลกได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที” มานิตจาก Kathmandu Gallery กล่าว
ในขณะเดียวกัน บางคนบอกว่าการปฏิรูปสถาบันที่เกี่ยวกับการศึกษาศิลปะจะเป็นการบ่มเพาะตลาดศิลปะไทยให้ยั่งยืน “ภาครัฐต้องให้ทุนสนับสนุนศิลปะ และการศึกษาศิลปะ เพราะความรู้ทางศิลปะจะทำให้คนดูศิลปะเป็น และขยายตลาดศิลปะให้ใหญ่ขึ้น” เชน สุวิกะปกรณ์กุล ผู้จัดพิมพ์และเจ้าของ Serindia Gallery กล่าว
อย่างไรก็ตาม จอร์นจาก Thavibu บอกว่า ตลาดศิลปะที่ยังซบเซาของไทยนี้เอง ถือเป็นแหล่งเฟ้นหาเพชรในตมชั้นเยี่ยม
“สาเหตุที่ตลาดไทยหรือตลาดในประเทศอาเซียนยังเล็กอยู่ ก็เพราะสภาพเศรษฐกิจ ไม่เกี่ยวกับเนื้องาน ดังนั้นมองอีกแง่หนึ่ง นี่คือโอกาส ให้เราซื้องานศิลปะร่วมสมัยของอาเซียนดีๆ ได้ในราคาตํ่ากว่าปกติ อันที่จริง ตอนนี้พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับศิลปะอาเซียนกันทั้งนั้น เพราะเขาเริ่มชินกับงานจากอินเดีย และจีนแล้ว”
หากเป็นดังที่ว่ามานี้จริง ฝีมือนำเสนอศิลปะของภัณฑารักษ์ไทยน่าจะเป็นที่ต้องการอีกไม่น้อยเลยทีเดียว ■