HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE GOOD LIFE


My Bicycle


ในขณะที่การปั่นจักรยานเริ่มกลายเป็นของไม่แปลกใหม่ นักปั่นต้องหันไปพึ่งมืออาชีพ เพื่อสร้าง “เอกลักษณ์” ให้กับสองล้อคู่ใจของตัวเอง

ในการเล่นจักรยานนั้นระดับบนสุดนั้น ว่ากันว่าไม่มีคำว่า “One-size-fits-all” ไม่มีจักรยานคันไหนที่ทำขึ้นมาแล้วจะเข้าได้กับสรีระและรสนิยมของทุกคน

     ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า กระแสการปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ นั้นกำลังโลดแล่น ร้านกาแฟที่มีไว้สำหรับนักปั่นโดยเฉพาะหรือไบค์คาเฟ่ผุดขึ้นตามย่านเก๋ๆ ทั่วเมืองกรุงราวกับเห็ดหลังฝน หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานกรุงเทพมหานครเองก็พยายามทำเลนจักรยาน สร้างเส้นทางปั่น ออกโครงการจักรยานสาธารณะ (Bike sharing) และรับอาสาเป็นเจ้าภาพจัดงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนกระแสนี้อย่างเต็มแรงถีบ ยิ่งกว่านั้น เดี๋ยวนี้ เราต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ไม่ตํ่ากว่าสองอาทิตย์ในการจองคิวจากร้านแต่งจักรยานอย่างเช่น Jumm Bike Studio ซึ่งมีบัญชีลูกค้าอัดแน่นไปด้วยรายชื่อผู้บริหารกระเป๋าหนักและลูกหลานเจ้าสัว นึกดูแล้วก็น่าสงสัยว่าเหตุใดกิจกรรมที่ครั้งหนึ่ง เคยมีแต่ภาพของคนหน้ากร้านแดดมะเมี่ยมในชุดแนบเนื้อไม่ชวนมอง กลับทำท่าจะกลายมาเป็นกีฬากอล์ฟรูปแบบใหม่สำหรับผู้มีอันจะกินในกรุงเทพฯ ยุคนี้

     การบริการแบบเฉพาะตัวลูกค้า หรือ Personalization ดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในคำอธิบายที่เป็นไปได้ เพราะในการเล่นจักรยานระดับบนสุดนั้นว่ากันว่าไม่มีคำว่า“One-size-fits-all” ไม่มีจักรยานคันไหนที่ทำขึ้นมาแล้วจะเข้าได้กับสรีระและรสนิยมของทุกคน ยิ่งร้านเฉพาะทางอย่างร้าน Jumm Bike Studio ร้าน Cuca หรือร้าน Cog n' Roll ยิ่งทำให้การเป็นเจ้าของจักรยานคันหนึ่ง กลายเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลไม่ต่างกับการตัดสูท ถึงขนาดที่ว่านักปั่นจำนวนมากยอมทุ่มเท่าไหร่เท่ากันกับเครื่องเคราและบริการพิเศษๆที่ร้านจักรยานเหล่านี้สรรหามานำเสนอ เพียงเพื่อแลกกับคำว่าไม่เหมือนใครเท่านั้น


เริ่มออกตัว

     แต่แน่นอนว่าธุรกิจนี้ไม่ได้วิ่งฉิวมาตั้งแต่เริ่มย้อนกลับไปในปี 2551 อานุศานติ์ เผ่าจินดา หรือ จํ้า ผู้ก่อตั้ง Jumm Bike Studio เพียงแค่ใช้ห้องหนึ่งห้องในบ้านเปิดเป็นร้านจักรยานเล็กๆ เพื่อหารายได้เสริมอาชีพมัคคุเทศก์ที่เขาทำในตอนกลางวัน โดยปกติเขาจะหาลูกค้าจากทางอินเทอร์เน็ต แล้วก็เดินทางไปยังบ้านของลูกค้าเพื่อซ่อมจักรยานระดับไฮเอนด์ ที่บางคันราคาหลายแสนบาท กระนั้น กลุ่มตลาดลูกค้าของเขาก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าที่เขามีอยู่ในคิวขณะนี้ “ตอนนั้นผมมีลูกค้าแค่ไม่กี่คนเอง เดือนละแค่ 2-3 คนเท่านั้น” อานุศานติ์ย้อนความหลังให้ฟัง

     แต่แม้ธุรกิจจะไม่ดิบดีอะไรนัก อานุศานติ์ก็ยังคงมานะทำร้านต่อไปด้วยความชอบและวิสัยทัศน์ส่วนตัว“ผมเห็นว่าคนเริ่มซื้อของทางออนไลน์ และก็เริ่มค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มากขึ้น ผมเลยรู้สึกว่า เฮ้ย เดี๋ยวธุรกิจนี้มันต้องโต เพราะตลาดมันยังเล็ก แต่คนยอมควักเงินก้อนใหญ่ออกมาจ่ายได้ง่ายๆ”

     แล้วเหตุการณ์ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆเพราะในขณะที่ อานุศานติ์กำลังวุ่นตอบสนองตลาดจักรยานระดับบนของผู้มีอันจะกิน กระแส “ฟิกซี่ (Fixie)” หรือจักรยานแบบฟิกซ์เกียร์ที่ไม่มีเบรก ไม่มีสปีดเกียร์ แต่เรียบเท่และราคาไม่แพง ก็กำลังได้รับความนิยมขึ้นมาในกลุ่มของเด็กวัยรุ่นที่เรียกกันว่าเด็กแนว ในปี 2553 ร้าน Cuca ของ วิศศเวศ กำปั้นทอง และร้าน Cog n’ Roll ของ ธิษัณย์ อมรวิทยารักษ์ ได้เข้ามาร่วมตลาดที่กำลังโตนี้ ซึ่งปรากฏว่า หลังจากนั้นไม่กี่ปี ใครผ่านไปแถวเอกมัย รับรองจะต้องเห็นฝูงฟิกซี่คันงามของบรรดากราฟฟิกดีไซเนอร์ นักศึกษามหาวิทยาลัย และพวกเด็กเริ่มงานในบริษัทโฆษณาอยู่เสมอๆ

     แม้กระแสจักรยานทั้งสองประเภทจะแตกต่างกันด้วยราคา แต่ดูเหมือนสิ่งที่กลุ่มนักปั่นจักรยานทั้งสองมีร่วมกันก็คือ รสนิยมในการแต่งจักรยานให้แสดงออกถึงตัวตน และการเน้นใช้แต่อุปกรณ์นำเข้าเท่านั้น แต่ผลลัพธ์ก็คือ เมื่อจักรยานได้รับความนิยมในวงกว้างมากขึ้น อุปกรณ์จักรยานถูกๆ หรือของปลอมที่นำเข้าจากจีน หรือผลิตขึ้นเองในไทยก็ถาโถมเข้ามาในตลาด “ทีนี้ขายของลำบากเลย เพราะของถูกๆ เข้ามาในตลาดเต็มไปหมด” ธิษัณย์เล่า ในขณะที่วิศศเวศ เปรียบให้ฟังว่า “หลายปีก่อน ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับชีวิตดี คนก็จะเปิดร้านกาแฟ แต่เดี๋ยวนี้มันเหมือนว่า เฮ้ย ถ้ายังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ก็เปิดร้านจักรยานดีกว่า” อานุศานติ์เห็นด้วย และประเมินว่าตอนนี้ น่าจะมีร้านจักรยานในกรุงเทพฯ ไม่ตํ่ากว่า 300 ร้าน

     สภาพตลาดแบบนี้ ทำให้เกิดยุทธศาสตร์ในการเอาตัวรอดสองแบบ แบบแรกก็คือการแข่งด้วยราคา“พอมีร้านจักรยานแข่งกันเยอะมันก็แปลได้อย่างเดียวว่าจะต้องมีสงครามราคา เพราะส่วนใหญ่คนกระโจนเข้ามาทำธุรกิจนี้ โดยไม่มีประสบการณ์ แต่ละคนจึงไม่คิดหาจุดขายแบบอื่น นอกจากแข่งด้วยราคา” อานุศานติ์อธิบาย
     อย่างไรก็ตาม เมื่อกลุ่มเด็กแนวและ “ฮิปสเตอร์” ที่ไม่ต้องการเป็นและใช้ของเหมือนคนอื่น เริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และคนมีฐานะจำนวนมากเริ่มเห็นการปั่นจักรยานเป็น “กีฬากอล์ฟ” ในรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้มีความหมายแค่การออกกำลัง หากแต่ยังหมายถึงความสุขจากการได้เลือกซื้ออุปกรณ์ การแสดงออกซึ่งสถานะและตัวตน โฉมใหม่ของธุรกิจจักรยานก็ถือกำเนิดขึ้นมา


แตกฝูง

      ไม่ใช่นักปั่นจักรยานทุกคนจะมองหาแต่ของราคาถูก ตรงกันข้ามหลายคนกลับแสวงหาความพิเศษมากกว่า

     “พวกนักปั่นระดับกลางจนถึงระดับบนที่เราเห็นทุกวันนี้ เมื่อ 5 ปีที่แล้วก็แทบจะเริ่มด้วยฟิกซี่ทั้งนั้น ตอนนั้นแต่ละคนอาจจะยังเด็ก ไม่ค่อยมีสตางค์ แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มมีเงินซื้อของดีๆ ได้ เอาเป็นว่าใครมีเงินก็ซื้อจักรยานคันที่ดีที่สุดได้แต่ทีนี้มันก็เลยเป็นปัญหา เพราะใครจะซื้ออะไรก็ได้ แต่คนไทยชอบที่จะซื้ออะไรที่คนอื่นซื้อไม่ได้” วิศศเวศเล่าให้ฟัง

     ธิษัณย์เองก็มีประสบการณ์คล้ายกัน “ลูกค้าแต่ละคนเข้ามาดูจักรยานแล้วเดี๋ยวก็ต้องอยากเปลี่ยนสีโครง อย่างผมมีสีเขียว ลูกค้าก็จะต้องอยากได้สีนํ้าเงิน”

     สิ่งเหล่านี้ทำให้ร้านจักรยานอย่างร้าน Jumm Bike Studio ร้าน Cog n’ Roll และร้าน Cuca เริ่มรู้ว่าวิธีเดียวที่จะหนีพ้นจากสงครามราคาก็คือแต่ละร้านต้องทุ่มกับการขายอะไรที่หาที่อื่นไม่ได้

     อานุศานติ์เริ่มขยับขยายกิจการจากแค่เป็นร้านขายอุปกรณ์เสริมแปลกๆไปเป็นร้านให้บริการแต่งจักรยานแบบเฉพาะคันจนทุกวันนี้ Jumm Bike Studio กลายเป็นร้านจักรยานสุดไฮเทคในย่านหัวหมากที่สามารถหาสินค้าทุกแบบที่ลูกค้าต้องการ ปรับ หรือ “ฟิต” จักรยานให้เข้ากับสรีระของลูกค้า และขายโครงจักรยานแบบ “สั่งทำ (Custom builds)”

     แต่สำหรับวิศศเวศแห่ง Cuca นั้น เขายกเครื่องธุรกิจใหม่ทั้งหมดเลยทีเดียว “ผมตัดสินใจเลิกขายจักรยาน และมาทำแต่สีรถจักรยานอย่างเดียว เพราะผมรู้ดีว่า วงการมันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าจะอยู่รอด ผมต้องทำให้กิจการมันเล็ก แต่เจ๋งที่สุดให้ได้” วิศศเวศ พูดอย่างไม่อาลัยอาวรณ์อดีต ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่ง Cuca เคยเป็นทั้งร้านขายจักรยานและบาร์ ซึ่งเป็นที่ชุมนุมสังสรรค์แบบสุดเหวี่ยงของเหล่าคนชอบฟิกซี่มาตลอด 5 ปี “ผมมีลูกค้าที่ยกเฟรมจักรยานราคาหกแสนมาหาผมตอนตี 3 เพื่อให้แก้สีเล็กๆ น้อยๆ เพราะเขาไม่ต้องการให้ใครรู้จนกว่ามันจะเสร็จพร้อมเอาไปโชว์ได้ มันเหมือนตอนนี้คนไม่ได้แค่จ่ายเงินเพื่อให้ได้ของที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นของที่ไม่มีใครมีด้วย”

     Cog n’ Roll มีประสบการณ์คล้ายกับ Jumm Bike Studio และ Cuca ในปี 2555 ธิษัณย์ย้ายออกจากร้านตึกแถวเล็กน่ารักของเขาในสุรวงศ์เพื่อไปเปิดร้านที่รามอินทรา ซึ่งเป็นที่ๆ เขาให้บริการทาและพ่นสีฝุ่นชิ้นส่วนจักรยานและมอเตอร์ไซค์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา “เรามีทั้งลูกค้าที่เอาจักรยานเก่ามาเปลี่ยนสีเฟรม หรือแม้แต่ลูกค้าที่เอาจักรยานใหม่มาเลย เพราะไม่อยากได้สีแบบธรรมดาทั่วไป บางคนวาดแบบมาจากบ้านด้วยซํ้า แล้วมาถามว่า “พี่ทำนี่ได้ไหม ทำนั่นได้ไหม?”

     อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่สามร้านนี้เท่านั้น ที่หันมาจับกระแส Personalized service ณรงค์ศักดิ์ พรมมาลา ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เชื่อในการสร้างความต่าง เขาตั้งร้าน Plusone ขึ้นมา เพื่อทำหมวกสำหรับใช้สวมปั่นจักรยานโดยเฉพาะ ซึ่งปรากฏว่าตอนนี้ได้กลายเป็นเครื่องแต่งตัวยอดฮิตในหมู่ฮิปสเตอร์นักปั่นฟิกซ์เกียร์ที่เราเห็นอยู่ตามร้านกาแฟชิคๆ ย่านทองหล่อไปแล้ว โดยปกติ ราคาหมวกจะเริ่มต้นที่ 500 บาท แต่ที่เจ๋งจริงๆ ก็คือหมวกที่ลูกค้าแต่ละคนออกแบบกันเอง ซึ่งจะเริ่มต้นที่ 850 บาท นอกจากนี้ ก็ยังมีร้านจักรยานอย่าง Bico ซึ่งนำเข้าจักรยานยี่ห้อ Araya จากญี่ปุ่น แต่มีบริการปรับและประกอบจักรยานให้เข้ากับสรีระลูกค้าแต่ละคน

     “ตอนนี้ มีหลายเจ้ารับทำโครงจักรยานแบบสั่งทำเฉพาะของใครของมันจริงๆ ซึ่งข้อดีอย่างแรกก็คือความพอดี เพราะโครงขึ้นตามรูปร่างคนขี่เลย แต่ข้อดีอีกอย่างก็คือเรื่องของการตกแต่ง เราเลือกได้เลยว่าจะเอาเหล็กอย่างไหน ใช้สีอะไร คนจะชอบจักรยานที่ไม่เหมือนใครอย่างนี้”ธิษัณย์เล่าในขณะที่วิศศเวศเสริมว่า “อุปกรณ์ทุกอย่างต้อง Handmade หรือเป็น Limited edition ขี่ไปแล้วต้องเท่ที่สุดบนถนน ซึ่งอุปกรณ์พวกนี้ส่วนใหญ่ราคาไม่มีตํ่ากว่าห้าหรือหกหลัก” ไม่ต้องดูอื่นไกล โปรแกรมวิเคราะห์จักรยานในร้าน Jumm Bike Studio ของเขานั้นเต็มไปด้วยศัพท์แสงหรือชื่อเทคนิคแปลกๆ อย่างกับหลุดมาจากหนังไซไฟ เช่น Dartfish video analysis, Guru DFU, Gebiomized pressure mapping ซึ่งทั้งหมดเป็นนวัตกรรมที่ใช้วัดจักรยานให้เข้ากับสรีระของผู้ขับขี่มากที่สุด และคิดเป็นค่าบริการกว่า 6,500 บาท

     “ร้านจักรยานในกรุงเทพฯ มีเป็นร้อย แต่ผมบอกได้เลยว่าร้านที่ใช้หลักแมคานิกส์วัดหรือออกแบบจริงๆ มีไม่ถึงสิบ” อานุศานติ์ยืนยัน


รอบต่อไป

     จากเจ้าของร้านเล็กๆ ในบ้าน ตอนนี้วิศศเวศแห่ง Cuca มีสถานะเป็นเหมือนเจ้าพ่อในวงการนักปั่นไปแล้ว แต่เขากลับไม่พอใจอยู่แค่นั้น และเริ่มแสวงหาความท้าทายใหม่ๆ ด้วยการจัดกิจกรรมจักรยาน โดยใช้ชื่อเสียงที่เขาสั่งสมมาเป็นต้นทุน โดยตอนนี้ เขากำลังพยายามจัดการแข่งขัน Bangkok Criterium ซึ่งเป็นซีรีย์การแข่งจักรยานแบบนับรอบที่จัดขึ้นทั่วประเทศไทย โดยวิศศเวศบอกว่า “เดี๋ยวนี้เมืองไทยมีคนขี่จักรยานมาก จนผมเชื่อว่าจะมีคนเข้าแข่งมากพอที่จะทำให้ชาวต่างชาติอยากเข้ามาร่วมแข่งด้วย และทำให้เมืองไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักปั่นทั่วโลกได้”

ข้อดีอย่างแรกก็คือความพอดี เพราะโครงขึ้นตามรูปร่างคนขี่เลย แต่ข้อดีอีกอย่างก็คือเรื่องของการตกแต่ง เราเลือกได้เลยว่าจะเอาเหล็กอย่างไหน ใช้สีอะไร คนจะชอบจักรยานที่ไม่เหมือนใครอย่างนี้

     ส่วนอานุศานติ์แห่ง Jumm Bike Studio เอง อยากจะทำให้วงการจักรยานมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยอาศัยทักษะด้านการซ่อมและประกอบจักรยานของเขาเอง
     “ผมอยากทำให้จักรยานได้รับความนิยมในวงกว้างกว่านี้ คือไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับคนมีเงิน ผมอยากจะสอนคนให้ซ่อมจักรยานเป็น ผมว่ามันจะไม่ทำให้งานผมน้อยลง แต่จะช่วยให้วงการจักรยานมันโตขึ้น” อานุศานติ์บอก

     แม้วัฒนธรรมจักรยานของคนกรุงเทพฯ นั้น อาจจะมองเห็นได้ง่ายที่สุดจากจำนวนของคาเฟ่จักรยานสุดเก๋ที่ผุดขึ้นทั่วเมือง แต่พิเคราะห์ให้ดีแล้วสิ่งที่เป็นแก่นสารของวงการจักรยานในช่วงห้าปีที่ผ่านมา กลับเป็นบรรดามืออาชีพเหล่านี้ ที่ไม่เพียงเริ่มกิจการได้ถูกจังหวะ แต่ยังรู้จักที่จะมองไปไกลกว่ากระแสตรงหน้า และพยายามนำเสนอบริการที่โดดเด่นยิ่งกว่า

     คงไม่เป็นการเกินไปที่จะพยากรณ์ว่า ในอีกห้าปีข้างหน้า กิจการของมืออาชีพเหล่านี้น่าจะยังคงอยู่

     แม้ในเวลาเดียวกันคาเฟ่จักรยานทั้งหลายอาจจะปิดตัวลงไปหมดแล้ว

Essentials

Cog n’ Roll

ราคาค่าบริการพ่นสี
เริ่มต้นที่ 3,000 บาท

ที่อยู่ 6 ถนนนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม
โทร. 087-711-3543




Cuca

ราคาค่าบริการพ่นสี
เริ่มต้นที่ 3,000 บาท

ที่อยู่ 333/3 ทรี เซ็นเตอร์
นนศรีวรา ทาวน์ อิน ทาวน์
โทร. 083-019-1999




Jumm Bike Studio

ทำ Fitting จักรยานด้วยการใช้เครื่องวิเคราะห์ Dartfishv ideo analysis + Guru DFU +Gebiomized pressure mapping
เริ่มต้น 6,500 บาท

ที่อยู่ 32 ซอยรามคำแหง 24
โทร. 087-813-7117