HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THE GOOD LIFE


Harder, Faster, Stronger

เมื่อการยกนํ้าหนักและลู่วิ่งเริ่มเป็นเรื่องง่ายเกินไป บรรดา ผู้บริหารและชาวออฟฟิศรุ่นใหม่จึงหันมาใช้กีฬาอย่างมาราธอน ครอสฟิต และไตรกีฬา เพื่อสร้างสุขภาพและความเป็นเลิศให้กับตัวเอง

     เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องไม่แปลกเลยที่กิจกรรมวิ่งในกรุงเทพฯ จะมีคนลงทะเบียนเต็มตั้งแต่ 1 เดือนหรือ 2 เดือนล่วงหน้า ทั้งๆ ที่กิจกรรมวิ่งก็มีอยู่ไม่ได้ขาด อย่างเฉพาะในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนนี้ กรุงเทพฯ จะมีงานวิ่งถึง 5 งานด้วยกัน คือ The Color Run, Nike We Run, Bangkok Marathon, UN Day Run และ The Music Run เรียกได้ว่า ยุคสมัยที่การสมัครสมาชิกฟิตเนสเป็นยาครอบจักรวาลหนึ่งเดียวสำหรับแก้โรคออฟฟิศซินโดรมได้หมดไปแล้ว เช่นเดียวกับความคิดเก่าๆ ที่ว่าการออกไปวิ่งข้างนอกให้ผิวคลํ้าและรองเท้าเปรอะนั้นถือเป็นเรื่องแปลกประหลาด ตรงกันข้าม เดี๋ยวนี้ เหล่ามนุษย์ออฟฟิศพากันกระเหี้ยนกระหือรือที่จะได้แข่งความฟิตกับคนอื่นไม่ว่าจะในการแข่ง ไตรกีฬาหรือชั้นเรียนครอสฟิต จนกีฬาที่มีการแข่งขันทั้งหลายพากันได้รับความนิยมแบบแทบจะเรียกได้ว่านี่คือการ ‘จ็อกกิ้ง’ ของคนยุคใหม่ทีเดียว

เหนือกว่าความสำเร็จ

     แดน เรมอน เจ้าของศูนย์ฟิตเนส Aspire ผู้ก่อตั้งบริษัท Fitcorp Asia และครูฝึกกีฬาครอสฟิตแบบมีใบรับรอง กล่าวว่า การที่คนออฟฟิศหันมานิยมเล่นกีฬาที่มีการแข่งขันนั้นเป็นเรื่องธรรมดาอย่างยิ่งเพราะนี่คือธรรมชาติของคนที่มี ‘บุคลิกภาพแบบ A (type A personality)’ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพวกทำงานเก่งๆ “กีฬาประเภทนี้เป็นเหมือนภาพสะท้อนของคนที่มุ่งมั่น ทะเยอทะยาน และต้องการประสบความสำเร็จ เพราะจะว่าไปความสำเร็จก็เป็นเรื่องของสุขภาพที่ดี กำลังที่สมบูรณ์ และก็การบริหารจัดการพลังงานให้เหมาะสม ไม่แปลกที่ผู้บริหารที่มุ่งมั่นจะเป็นพวกชอบแข่งขัน”

     กระแสการพัฒนาตนเองนี้เกิดขึ้นพร้อมกับกระแสการดูแลสุขภาพโดยทั่วๆ ไป ข้อมูลสำรวจชี้ว่า ในปี 2550 มีคนไทยกว่า 260,000 คนเล่นฟิตเนสในศูนย์ 800 แห่งทั่วประเทศ ต่อมาในปี 2554 จำนวนคนที่เป็นสมาชิกศูนย์ฟิตเนสได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 546,000 คน โดยกระจายไปตามศูนย์ฟิตเนสที่เพิ่มขึ้นเป็น 1,011 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบัน ตามข้อมูลของ International Health, Racquet & Sportsclub Association หรือ IHRSA อุตสาหกรรมฟิตเนสในประเทศไทยมีมูลค่าอย่างน้อย 1.1 หมื่นล้านบาท กระนั้น ในขณะที่ยอดสมัครฟิตเนสเพิ่มมากขึ้น ขาฟิตเนสหลายคนก็เริ่มเบื่อกิจวัตรเดิมๆ ที่มีแต่จ็อกกิ้งและยกเวทมากขึ้นทุกที

     แชมป์-ศิรเดช โทณวณิก เป็นที่รู้จักมากที่สุดในฐานะผู้ร่วมจัดงานเทศกาลดนตรี Wonderfruit และผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนโรงแรมของบริษัทดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล แต่นอกจากนี้ เขายังเป็นนัก ไตรกีฬาตัวยงอีกด้วย แชมป์เล่าว่า “ตอนเรียนอยู่ มหาวิทยาลัยก็ชอบไปออกกำลังกายในยิมอยู่แล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย แต่พอเวลาวิ่ง 90 กิโลเมตร แล้วหันไปทางไหนก็มีแต่คนวิ่งแข่งด้วยข้างละอย่างน้อยสามคนนี่ทำให้รู้สึกดีมากๆ เรื่องวิ่งถึงเส้นชัยยิ่งไม่ต้องพูดถึง”

     แดน เรมอน กล่าวว่า จำนวนคนสมัครเข้า คลาสเรียนครอสฟิตที่แอสปายร์ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่โปรแกรมครอสฟิตถือว่ามีความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในขณะที่นักวิจารณ์มักตำหนิกีฬานี้อย่างรุนแรงว่าทำให้ผู้เล่นสะบักสะบอมเกินควร เนื่องจากเป็นกีฬาที่ผนวกการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อและคาร์ดิโอเข้าด้วยกันอย่าง เข้มข้น แต่บรรดาสาวกครอสฟิต หรือที่เรียกกันว่า ‘ครอสฟิตเตอร์’ กลับชื่นชมกีฬานี้อย่างมาก เพราะเป็นกีฬาที่ได้ใช้วิธีออกกำลังสารพัดแขนง สามารถวัดระดับเพื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานของโลกได้ อีกทั้งยังเห็นผลอย่างรวดเร็ว

     แดนเห็นว่าสิ่งที่น่าสนใจของกีฬาครอสฟิตคือ “ครอสฟิตดึงดูดคนที่มีคุณลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่ง คือคนที่มุ่งมั่น มีวินัย และเล็งผลสำเร็จ ในครอสฟิต ไม่มีใครแข่งกับใคร ทุกคนแข่งกับเวลา แข่งกับสถิติเก่าของตัวเอง แล้วใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดัน”

ครอสฟิตเป็นกีฬาที่เน้นความเข้มข้น ไตรกีฬาเน้นความอึด แต่ทั้งสองกีฬาเหมือนกันตรงที่ว่ามันเทสต์ว่าคุณทนความเจ็บปวดได้ขนาดไหน แข่งแต่ละครั้งนี่เราจะได้เรียนรู้อะไรเยอะ สำนวน What doesn’t kill you makes you stronger นี่เราซึ้งเลย

ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป

     ด้วยความเบื่อหน่ายจากการเล่นเครื่อง ยกนํ้าหนักซํ้าแล้วซํ้าเล่า บวกกับผลการเช็คสุขภาพเมื่อย่างเข้าสู่วัยกลางคน บอย-สิทธิกุล บุญอิต จึงได้เปลี่ยนมาเล่นครอสฟิตที่ Crossfit TEN500 เมื่อ 2 ปีก่อน เขาพูดถึงการออกกำลังกายแบบธรรมดาที่เขาเคยเล่นว่า “น่าเบื่อมาก จนเพื่อนผมคนหนึ่งแนะนำให้ผมลองเล่นครอสฟิต ปรากฏว่าชอบมาก”

     ทุกวันนี้ บอย รองประธานจัดงาน Bangkok’s International Festival of Dance & Music ที่ออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 2 ชั่วโมง และออกไปวิ่งสั้นๆ 5 กิโลเมตรในวันหยุด เล่าว่าเคยกังวลเรื่องคุมอาหาร แต่พอได้เล่นครอสฟิต ก็พบว่าตัวเองเริ่มได้อภิสิทธิ์ในการกินอะไรตามใจปาก เพราะว่า “กินเข้าไปกี่แคลอรี่ วันต่อไปก็เผาผลาญหมดอยู่ดี”

     ระหว่างฝึกยกนํ้าหนักเพื่อเตรียมแข่งครอสฟิตในประเทศเกาหลีใต้ ออยลี่-ศุภราภรณ์ อัศวทิพย์ไพบูลย์ ประสบอุบัติเหตุจนเอ็นข้อไหล่อักเสบ ซึ่งปวดรุนแรงขนาดยกปากกายังไม่ได้ เธอจึงหันไปวิ่งแทน ซึ่งปรากฏว่าเป็นถึงการวิ่ง อัลตร้ามาราธอน 50 กิโลเมตร แต่ยิ่งกว่านั้น ต่อมา เธอค่อยๆ แปรความมุ่งมั่นที่เธอมีต่อกีฬาครอสฟิตให้กลายมาเป็นความสนใจในกีฬาวิ่ง ปั่นจักรยาน และว่ายนํ้า จนในที่สุด เธอได้ลงแข่งมินิไตรกีฬา ครั้งแรก (หรือที่เรียกว่า Triathlon Dash) ซึ่งประกอบไปด้วยการว่ายนํ้า 400 เมตร ปั่นจักรยาน 20 กิโลเมตร และวิ่งอีก 5 กิโลเมตร

     หลังจากนั้น ออยลี่ ซึ่งทำงานเป็นผู้จัดการที่ ศิวาลัย เพลส และศิวาลัย คลับเฮ้าส์ ได้เล่าว่า “เราได้ลงแข่งอีกหลายครั้ง ได้พบคนหลายคนมากๆ ที่ชอบอะไรเหมือนกัน เก่งกีฬาชนิดหนึ่งนี่ว่ายากแล้ว แต่เก่งกีฬาสามชนิดนี่เป็นอะไรที่หฤโหดมาก แถมอะไรก็เกิดขึ้นได้ในวันแข่ง”

     ออยลี่กล่าวว่า ถึงแม้กีฬาครอสฟิตจะเล่นยาก แต่ไตรกีฬานั้นก็ท้าทายพอๆ กัน ถึงจะสำหรับคน บ้าฟิตเนสอยู่แล้วก็ตาม “ครอสฟิตเป็นกีฬาที่เน้นความเข้มข้น ไตรกีฬาเน้นความอึด แต่ทั้งสองกีฬาเหมือนกันตรงที่ว่ามันเทสต์ว่าคุณทนความเจ็บปวดได้ขนาดไหน แข่งแต่ละครั้งนี่เราจะได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองเยอะ สำนวน What doesn’t kill you makes you stronger นี่เราซึ้งเลย”

     สำหรับมาร์ค-อมฤต ศุขะวณิช แรงขับเคลื่อนที่ทำให้เขาและภรรยาหันมาลองเล่นไตรกีฬา คือความต้องการผลักดันตนเองให้ถึงขีดสุด มาร์คบอกว่า “ความจริงภรรยาผมคือคนที่อยากลองไตรกีฬา ไม่ใช่ผม เธอตั้งใจและมุ่งมั่นมาก เป็นแรงบันดาลใจ ของผมเลย” ทั้งสองเริ่มจากการลงแข่งมินิไตรกีฬา (Tri Dash) ก่อนแล้วจึงลงแข่งระยะโอลิมปิก (Olympic Distance Triathlon) และในที่สุดก็ลงแข่งสนามลากูน่าภูเก็ต (Laguna Phuket Triathlon) ได้ภายในสิ้นปี 2555 ตั้งแต่นั้นมา ทั้งคู่ได้ลงแข่ง ไตรกีฬาระยะครึ่งคนเหล็ก (Half Ironman Triathlon) ที่จัดขึ้นในประเทศฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย และในอนาคตมีแผนจะลงแข่งระยะ คนเหล็กเต็มตัว (Ironman Triathlon) ครั้งแรกด้วย

     เนื่องด้วยมาร์คทำงานเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีทีเอช จำกัด เขาจึงมีเวลาออกกำลังกายเพียง 3 หรือ 4 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น แทนที่จะเป็น 6 วันอย่างปรกติ อย่างไรก็ตาม มาร์คก็ได้พยายามใช้เวลาไม่กี่วันนั้นอย่างเต็มที่ โดยจัดตารางวันหยุดสุดสัปดาห์ให้ได้ออกกำลังกายตั้งแต่ 4 ถึง 8 ชั่วโมง มาร์คเชื่อว่าตารางออกกำลังกายเช่นนี้อย่างน้อยก็มีข้อดีอยู่อย่างหนึ่ง “ผมเลิกไดเอทตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งเป็นตอนที่เริ่มฝึกไตรกีฬาแล้ว ผมกินอะไรก็ได้ เท่าไหนก็ได้ ยิ่งบางอาทิตย์ที่ปั่นจักรยานแล้วนํ้าหนักลงเยอะเกินไป ตอนนั้นยิ่งต้องฝืนกินให้เยอะขึ้นเลยด้วยซํ้า”


ร่วมชุมชนคนฟิต

     ถ้าเปรียบเทียบการแข่งขันกีฬากับการก้มหน้าก้มตาเข้ายิมแล้วก็จะเห็นได้ว่าการแข่งขันกีฬามีความเป็นสังคมสูงกว่ามาก โดยสำหรับพลภัทร อัครปรีดี หรือพอล อาร์ค ถ้าไม่นับเรื่องที่เขาเป็นนักลงทุนอิสระหรือ ‘แองเจิล อินเวสเตอร์’ ในบริษัท แองเจิลเวสต์แล้ว พอลยังเป็นผู้อำนวยการโครงการ Amazing Maasai Girls Project ซึ่งช่วยระดมเงินเพื่อมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กผู้หญิงชนเผ่ามาไซในเคนย่า โดยผ่านการจัดงานวิ่งฮาล์ฟ มาราธอน ฟูล มาราธอน และอัลตร้า มาราธอนทุกปีด้วย

     “ถึงงานนี้จะมีนักวิ่งขาโหดเข้าร่วมเยอะมาก แต่ก็มีนักวิ่งสมัครเล่นเข้าร่วมเยอะอยู่เหมือนกัน ซึ่งพวกนี้จะแข็งแรงธรรมดา ไม่ถึงขั้นนักวิ่งโอลิมปิก แต่ก็มาวิ่งแบบฮาล์ฟ ฟูล หรืออัลตร้า มาราธอนแล้ว พอได้มาอยู่กับนักวิ่งธรรมดาแบบนี้เรื่อยๆ ทำให้ผมมีข้ออ้างไม่ได้เลยว่าทำไมจะไม่วิ่ง หรือไม่รักษาสุขภาพตัวเองให้ดี” พอลเล่า

     เนื่องจากได้เห็นเพื่อนวัยเด็กอายุเลขสี่หลายคนสามารถวิ่งฮาล์ฟ มาราธอนได้สำเร็จ พอลก็ตัดสินไถ่บาปชีวิตที่มีแต่การนั่งๆ นอนๆ และกินอาหารขยะปีแล้วปีเล่า โดยตั้งใจว่าจะเข้าร่วมฮาล์ฟ มาราธอนครั้งแรก ถ้าโครงการ Amazing Maasai Marathon ของเขาอยู่ได้ถึง 3 ปี ปรากฏว่าเขาก็ได้ทำสำเร็จจริงๆ เมื่อปีกลาย ซึ่งช่วยให้เขายิ่งรักการวิ่ง และนำไปสู่การวิ่งฮาล์ฟ มาราธอนอีกถึง 3 ครั้ง ทั้งยังมีแผนฝึกวิ่งเพื่อลงแข่งรายการ 5K และ 10K ด้วย

     เนื่องจากเราอยู่ในปี 2558 กันแล้วโซเชียลมีเดียจึงมีบทบาทอย่างมากในการสร้างชุมชนนักกีฬาและถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จระหว่างนักกีฬาด้วยกัน พอลเองก็ใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้การออกกำลังกายของเขาเป็นไปตามตารางฝึกสมกับที่เคยทำงานกับบริษัทแอปเปิ้ลและบริษัทไมโครซอฟท์มาก่อน “ผมเป็นพวกบ้าตัวเลขและข้อมูล จึงได้ชอบใช้แอปที่ช่วยบันทึกสถิติการวิ่ง และช่วยติดตามหรือช่วยพัฒนาให้ผมมีจังหวะการวิ่งหรือระยะทางดีขึ้น พอจัดการการฝึกได้ตามแผนเรื่อยๆ มันจะรู้สึกยิ่งใหญ่มาก แถมโซเชียล มีเดียยังช่วยให้เราโม้พัฒนาการตัวเองให้คนอื่นรู้ได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้เรารู้สึกดีและภูมิใจแล้ว คนอื่นก็ยังเข้ามาให้กำลังใจด้วย”

     แชมป์-ศิรเดช โทณวณิก ก็ไม่เขินต่อการโอ้อวดผ่านโซเชียลมีเดียเป็นครั้งคราวบ้างเหมือนกัน เช่น หลังจากจบการแข่งไตรกีฬาที่ต้องว่ายนํ้า วิ่ง และปั่นจักรยาน รวม 113 กิโลเมตร แชมป์ก็ได้เขียนสเตตัสในเฟสบุ๊คของตัวเองว่า “Ironman 70.3 ที่ Cebu บรรยากาศดีมาก คนมาเชียร์เพียบ เข้าเส้นชัยเป็นคนที่ 236 จากประมาณ 2,500 คน…พร้อมแล้วสำหรับงานแข่งครั้งสุดท้ายของปีในอีก 2 อาทิตย์ที่หัวหิน” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผลักดันให้เขารักไตรกีฬาจริงๆ ก็คือสังคมนักกีฬาที่เป็นสังคมระดับโลก

     แชมป์บอกกับเราว่า “ตอนไปแข่งที่เซบู ผมรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้คนรอบข้างมากๆ หันไปมองรอบตัวแล้วได้เห็นคนที่มาลงแข่งอะดรีนาลีนเต็มพอๆ กับเราเพราะฝึกกันมาเป็นเดือนทั้งนั้น มันสุดยอดมาก”

     แชมป์เตือนว่าการฝึกอาจจะน่าเบื่อหน่ายและต้องใช้เวลาเยอะ ยังไม่ต้องนับค่าใช้จ่ายอีก 4-5 หมื่นบาท เป็นค่าจักรยานสำหรับใช้แข่งอีกด้วย ดังนั้น สังคมระหว่างนักกีฬาด้วยกันจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้นักกีฬาไม่หลุดวงโคจรไป ดังที่เขากล่าวว่า “ไตรกีฬาจริงๆ เป็นกีฬาประเภททีมนะ ตอนลงแข่งอาจจะแข่งคนเดียว แต่จริงๆ แล้วคุณเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ฝึกมาด้วยกัน มาวิ่งแล้วผมเจอคนเจ๋งๆ ไม่น้อยเลย พวกนี้เป็นเพื่อนที่ผม คบไปได้ชั่วชีวิต”

Essentials

Aspire

384/2 ตึกแอสปายร์ ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
โทร. 02-229-4114
www.theaspireclub.com





Crossfit TEN500

2 อาคารเคซีซี ซอยสีลม 9 ถนนสีลม กรุงเทพฯ
โทร. 081-869-9679
www.crossfitten500.com





Bangkok Marathon

15 พ.ย.
www.bkkmarathon.com





Music Run

7 พ.ย.
www.themusicrun.com/country/thailand





The Color Run

31 ต.ค.-1 พ.ย.
www.fb.com/thecolorrunthailand





UN Day Run

25 ต.ค.
www.fb.com/amazingfieldrunning