HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

COMMON PURPOSE


Timeless Message

เบื้องหลังงานจัดการหอจดหมายเหตุ ของหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่อาศัยทีมงานเล็กๆ เพียง 6 คนและมาตรฐานเทียบเคียงหอจดหมายเหตุในยุโรป ในการอนุรักษ์เอกสารและวัตถุนับหมื่นชิ้นซึ่งบอกเล่าเรื่องราวและแนวคิดจับใจของพระภิกษุผู้มีบทบาทสำคัญต่อพุทธศาสนายุคใหม่

ในปี 2524 โจ คัมมิ่งส์ นักศึกษาชั้นปีหนึ่งด้านเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ได้อ่านหนังสือของท่านพุทธทาสภิกขุฉบับภาษาอังกฤษในชื่อ Toward the Truth แล้วเกิดความประทับใจอย่างมาก ถึงขนาดตั้งปณิธานว่าจะเดินทางมายังเมืองไทยเพื่อพบกับภิกษุรูปนี้ เขายกเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าออกมาและลงมือพิมพ์แอโรแกรม ซึ่งเป็นจดหมายทางอากาศแผ่นบางๆ ที่ตัวจดหมายและซองอยู่บนกระดาษแผ่นเดียวกัน โจตั้งใจจะเดินทางไปยังประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จึงเขียนจดหมายถึงท่านพุทธทาสภิกขุเพื่อขออนุญาตไปเยือนสวนโมกขพลาราม ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนจะลงเอยด้วยการใช้เวลา 2 สัปดาห์ดังกล่าว ช่วยแปลและเรียบเรียงบทความธรรมะจำนวน 2 ชิ้นของท่านพุทธทาสภิกขุเป็นภาษาอังกฤษ

เกือบ 40 ปีให้หลัง โจกลายเป็นหนึ่งในนักเขียนต่างชาติที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของไทย เขาเขียนหนังสือท่องเที่ยวจำนวนหลายเล่ม มีโอกาสร่วมงานกับสำนักพิมพ์ชื่อดังมากมาย และได้รับรางวัลเหรียญทอง Lowell Thomas Travel Journalism ถึง 2 ครั้ง เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักเขียนรุ่นเก๋ารายนี้มีโอกาสไปเยือนหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อสัมภาษณ์เก็บข้อมูลเกี่ยวกับหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มาเขียนบทความชิ้นนี้ หลังจากนั้นไม่นาน หัวหน้าหอจดหมายเหตุก็ส่งอีเมล ซึ่งเปรียบเสมือนแอโรแกรมแห่งยุคเวิลด์ไวด์เว็บ พร้อมแนบเอกสารบางอย่างที่เขาค้นเจอในกองจดหมายเก่าของท่านพุทธทาสภิกขุ

มันคือจดหมายฉบับเดียวกับที่โจเขียนถึงท่านพุทธทาสภิกขุเมื่อ 40 ปีก่อนหน้า ลายเซ็นหวัดของเขายังปรากฏชัดอยู่ตรงท้ายกระดาษ

นี่อาจฟังดูเป็นเหตุบังเอิญ แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะนพ.บัญชา พงษ์พานิช ชาวนครศรีธรรมราชโดยกำเนิดและหนึ่งในศิษย์ใกล้ชิดของท่านพุทธทาสภิกขุ เขาใช้เวลาเข้าออกสวนโมกขพลาราม (สวนโมกข์) อยู่หลายปีก่อนที่ท่านพุทธทาสจะละสังขารในปี 2536 สมัยท่านพุทธทาสยังมีชีวิต นพ.บัญชาเคยเข้าพบท่านที่กุฏิพำนัก และฉุกคิดว่าบรรดากองหนังสือ เอกสาร และจดหมายบนพื้นกุฏิ จะมีคุณค่าเพียงใดในอนาคต จึงต้องการหาหนทางอนุรักษ์เอกสารเหล่านี้ไว้ให้คนรุ่นหลัง “ผมเลยร่างหนังสือเพื่อขอจัดตั้งหอจดหมายเหตุในอำเภอไชยา ใกล้ๆ กันกับสวนโมกข์” นพ.บัญชากล่าว

แต่เวลาผ่านพ้นไปอีกเกือบทศวรรษ ความคิดริเริ่มดังกล่าวก็ยังไม่คืบหน้าเป็นรูปธรรม หลังท่านพุทธทาสภิกขุถึงแก่มรณภาพ อดีตรองเจ้าอาวาสพระภาวนาโพธิคุณ หรืออาจารย์โพธิ์ ก็เข้ารับช่วงต่อในฐานะเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อสวนโมกข์ และเก็บทุกอย่างไว้ในสภาพเดิมจนกระทั่งปี 2545 “ตอนนั้นอาจารย์โพธิ์ขอให้ผมร่างข้อเสนอโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุให้เสร็จสมบูรณ์ ท่านบอกให้ผมช่วยดูแลหนังสือและข้าวของส่วนตัวของท่านพุทธทาสด้วย” นพ.บัญชาเล่า

นพ.บัญชาและกลุ่มผู้สนับสนุนช่วยกันระดมความคิดและทรัพยากร และหันไปขอคำปรึกษาจากศ. นพ.ประเวศ วะสี ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและศิษย์ฝ่ายฆราวาสของท่านพุทธทาสภิกขุผู้เป็นที่เคารพยกย่อง ความพยายามดังกล่าวนำไปสู่การจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ อาคารปูนเปลือย 3 ชั้นกลางสระน้ำในสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ติดกับสวนจตุจักร ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมหนังสือและบันทึกที่นพ.บัญชาเห็นที่สวนโมกข์เมื่อหลายสิบปีก่อนแล้ว ยังเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะและเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ด้วย

ห้องจดหมายเหตุนั้นตั้งอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร และเป็นสถานที่เก็บรวบรวมงานเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุไว้ครบถ้วน นับตั้งแต่จดหมาย บทกวี ไปจนถึงบันทึกต่างๆ ทั้งหมดนี้ถูกนำมาจัดหมวดหมู่และเก็บรักษาไว้ทั้งต้นฉบับจริงและในรูปแบบดิจิทัล โดยคาดว่ามีเอกสารถูกจัดเก็บในแฟ้มกว่า 20,000 เล่ม สิ่งพิมพ์ 300,000 หน้า ภาพวาด 50,000 ชิ้น และไฟล์เสียงอีกกว่า 1,900 กิกะไบต์ ปัจจุบัน มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการแปลงเอกสารทั้งหมดให้เป็นรูปแบบดิจิทัล และจัดเก็บในฐานข้อมูลที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ

ตามคำบอกเล่าของกิตติศักดิ์ รุ่งเรืองวัฒนชัย ผู้จัดการหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ แนวคิดเรื่องหอจดหมายเหตุนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจนักในบ้านเรา ต่างจากในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ คนไทยส่วนใหญ่ยังเชื่อมโยงคำว่า ‘จดหมายเหตุ’ กับสารคดีสั้นทางวัฒนธรรม ‘จดหมายเหตุกรุงศรี’ ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์หลังข่าวภาคค่ำ “คนส่วนใหญ่รู้จักพิพิธภัณฑ์กับห้องสมุด แต่ไม่รู้จักหอจดหมายเหตุ โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดของเราในแต่ละวัน คือการหาทางสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนว่าหอจดหมายเหตุคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร” เขาอธิบาย

โจทย์ที่ใหญ่ที่สุดของเราในแต่ละวัน คือการหาทางสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชนว่าหอจดหมายเหตุคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร

แม้จะเคยมีโอกาสไปเยือนหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ในสวนรถไฟ แต่คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยเข้าไปเยี่ยมชมภายในหอจดหมายเหตุจริงๆ เพราะเอกสารและข้าวของส่วนตัวของท่านพุทธทาสภิกขุนั้นอยู่ภายในห้องควบคุมอุณหภูมิขนาดใหญ่ ซึ่งกั้นด้วยประตูบานหนัก 2 ชั้น เพื่อป้องกันแสงธรรมชาติและความชื้น อันเป็นปัจจัยที่ทำให้วัตถุเสื่อมสภาพ ภายในมีตู้รางเลื่อนและลิ้นชักเหล็กหนักอึ้งตั้งเรียงอยู่เป็นแถว ทำหน้าที่เก็บรักษาเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ นับตั้งแต่กล้องถ่ายรูป เครื่องพิมพ์ดีด วิทยุ เครื่องอัดเสียง ไฟฉาย รูปถ่าย จีวรพระ ไม้เท้าช่วยพยุง สมุดบันทึก ไปจนถึงซองจดหมายเก่าที่ท่านพุทธทาสนำพื้นที่ว่างมาใช้ซ้ำเพื่อจดบันทึก สถานที่แห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเสมือนแคปซูลกาลเวลาแก่ข้าวของเกือบทุกชิ้นที่ภิกษุรูปนี้เคยสัมผัส ไม่เว้นแม้กระทั่งเศษอิฐชิ้นเล็กๆ ที่ท่านค้นพบจากการขุดค้นทางโบราณคดี อันเป็นหนึ่งในงานอดิเรกของท่าน เครื่องควบคุมความชื้นขนาดเล็กถูกติดตั้งอยู่ข้างเสาเกือบทุกระยะ 10 เมตร เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างภายในห้องจะปลอดภัยจากน้ำและสิ่งปนเปื้อนมีฤทธิ์กัดกร่อน ซึ่งจะเร่งปฏิกิริยาทางชีวภาพของแบคทีเรียจนอาจสร้างความเสียหายกับตัววัตถุ แม้หอจดหมายเหตุฯ จะมีพนักงานประจำทั้งหมด 29 คนและอาสาสมัครอีกหลายพันคน แต่มีเจ้าหน้าที่เพียง 3 คน ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าออกห้องจดหมายเหตุได้ตามประสงค์ และนำวัตถุออกจากที่เก็บได้นานเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

นักจดหมายเหตุที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มีหน้าที่หลักอยู่ 2 ประการ คือดูแลรักษาวัตถุภายในหอจดหมายเหตุ และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเมื่อจำเป็น กิตติศักดิ์เล่าว่านักจดหมายเหตุที่นี่ส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการอบรมหลักสูตรวิชาการจัดการจดหมายเหตุมาโดยตรง แต่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะจากเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ปัจจุบัน ทีมหอจดหมายเหตุประกอบด้วยสมาชิกเพียง 6 คน (เจ้าหน้าที่ส่วนที่เหลือจะทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการและงานส่วนอื่นๆ ของมูลนิธิ) โดยแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ดูแลในส่วนที่ต่างกัน เช่น เอกสาร ไฟล์เสียง ของใช้ส่วนตัว เป็นต้น โดยข้าวของจากยุคที่ท่านพุทธทาสภิกขุยังมีชีวิตอยู่นั้นจะได้รับการจัดการเป็นอันดับแรก และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับท่านในช่วงหลังมรณภาพนั้นจะได้รับการจัดการในภายหลัง

กระนั้น การพิสูจน์ว่าวัตถุที่นำมาจัดแสดงเป็นของจริงหรือไม่ก็ไม่ใช่งานง่ายนัก และนี่เองเป็นหน้าที่หลักอีกประการของนักจดหมายเหตุตามพิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆ ทั่วโลกนั้น การแยกแยะของจริงและของปลอมออกจากกัน ต้องอาศัยความพยายามและทรัพยากรมหาศาล คาดกันว่าในตลาดงานศิลปะโลกซึ่งมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 9 แสนล้านบาท) นั้น มีของปลอมปะปนอยู่กว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ในยุโรปต้องสูญเงินจำนวนมากไปกับการสืบค้นที่มาของวัตถุแต่ละชิ้น ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้นมีข้อได้เปรียบเฉพาะตัว กล่าวคือความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับท่านพุทธทาสและบรรดาลูกศิษย์ ทำให้มีอาสาสมัครจำนวนมากที่ยินดียื่นมือช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวโดยปราศจากค่าตอบแทน

“เราตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่าของทั้งหมดจากกุฏิและพื้นที่ทำงานของท่านอาจารย์เป็นของจริง ซึ่งคำว่า ‘ของจริง’ ในที่นี้หมายถึงของใช้ส่วนตัวของท่านพุทธทาส ที่เกี่ยวข้องกับตัวท่านและสวนโมกข์ ส่วนของที่เราไม่แน่ใจ เราจะตรวจสอบอีกครั้งและสอบถามจากพระรูปต่างๆ ที่เคยรับใช้ท่าน” กิตติศักดิ์อธิบาย

สมบัติ ทารัก เจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุ เล่าว่าในช่วงแรกๆ ทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้นได้รับความช่วยเหลือจากสวนีย์ วิเศษสินธุ์ นักจดหมายเหตุวิชาชีพอิสระมากฝีมือ ในการจัดการกับของใช้และเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมได้ โดยเธอแนะนำให้ทีมผู้ก่อตั้งและเจ้าหน้าที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ รู้จักกับระบบการจัดการของสภาการจดหมายเหตุระหว่างประเทศ (ไอซีเอ) องค์กรซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส และเป็นผู้กำหนดมาตรฐานให้กับงานอนุรักษ์เอกสารจดหมายเหตุทั่วโลก

หอจดหมายเหตุแห่งชาตินั้นถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ในระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) เพื่อให้การสืบค้นประวัติศาสตร์ทำได้โดยสะดวกและเกิดความต่อเนื่อง อันเป็นความต้องการของสาธารณชนที่ต้องการเก็บรักษาเอกสารต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรปมารวบรวมไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติฝรั่งเศส ไม่นานหลังจากนั้น ประเทศอื่นๆ ก็เริ่มก่อตั้งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อเก็บรวบรวมเอกสารและบันทึกต่างๆ ที่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชนในลักษณะเดียวกัน

“เพื่อให้วัตถุในหอจดหมายเหตุปลอดภัยและอยู่ในสภาพดีที่สุด เลยมีเจ้าหน้าที่ 3 คนเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงห้องจดหมายเหตุได้ อย่างไรก็ดี จุดมุ่งหมายหลักของเราคือการสแกนและแปลงเอกสารต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้ในที่สุดแล้ว ทุกคนจะไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมายังหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เพราะสามารถเข้าถึงทุกอย่างได้ทางออนไลน์” สมบัติกล่าว และยังชี้ด้วยว่าหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ นั้นมีความพิเศษ เพราะเป็นมากกว่าคลังเก็บรักษาหนังสือ ต้นฉบับต่างๆ และข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล “ที่นี่เรายังเก็บรักษาข้าวของที่ท่านพุทธทาสใช้จริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งโดยปกติแล้วอาจถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่เรานำมาเก็บรักษาไว้ที่นี่ เพราะมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนท่านด้วย”

เอกสารที่ถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งนี้ ประกอบด้วยสื่อเสียงจำนวนมากในรูปแบบของสไลด์ ภาพพิมพ์ ภาพยนตร์ วิดีโอ ไฟล์เสียง ไมโครฟิช และสื่อที่ไม่ใช่ข้อความอื่นๆนอกจากนั้นแล้ว เอกสารหอจดหมายเหตุจำนวนมากยังประกอบด้วยบันทึกคำบอกเล่าทางประวัติศาสตร์จากผู้คนที่เกี่ยวข้องกับท่านพุทธทาสรวมทั้งคำสอนของพระและครูท่านอื่นๆ

ของทุกชิ้นที่ถูกนำมาเก็บรักษาหรือมอบให้กับทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จะได้รับการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน โดยไม่เพียงเพื่อยืนยันว่าเป็นของแท้ แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าของชิ้นนั้นๆ เชื่อมโยงกับชีวิตและคำสอนของท่านพุทธทาสในแง่มุมใด จากนั้นจึงจะนำมาจัดหมวดหมู่ ซึ่งในกรณีของเอกสารนั้น จะถูกนำไปแปลงเป็นข้อมูลดิจิทัล เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายในอนาคต ทั้งหมดนี้เองคือความรับผิดชอบหลักของนักจดหมายเหตุที่นี่

หนึ่งในงานหินคือการเก็บรักษาและจัดเก็บหนังสือชุด 'ธรรมโฆษณ์' ในรูปแบบดิจิทัล อันเป็นหนังสือชุดจำนวน 80 เล่มที่ท่านพุทธทาสภิกขุนำคำสอนในพระไตรปิฏกมาเรียบเรียงในสำนวนของท่าน โดยโดนัลด์ เค สแวร์เรอร์ นักวิชาการด้านพุทธศาสนา เชื่อว่าธรรมโฆษณ์เป็นหนังสือรวบรวมคำสอนที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเขียนขึ้นโดยนักคิดในพุทธศาสนานิกายเถรวาทเพียงคนเดียว “เราเก็บหนังสือต้นฉบับไว้ในห้องที่ปิดล็อคและได้รับการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิอย่างดี เอกสารบางส่วนอยู่ในสภาพแย่มากจนต้องได้รับการบูรณะก่อนจะนำไปสแกนได้” สมบัติกล่าว

แม้ท่านพุทธทาสภิกขุจะถือเป็นหนึ่งในปัญญาชนชาวไทยเพียงไม่กี่คนที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก จนโดนัลด์ โลเปซ นักวิชาการด้านพุทธศาสนาชื่อดัง ยกให้ท่านเป็นหนึ่งในนักคิดชาวพุทธ 31 คนจากทั่วโลก ผู้ช่วยสร้าง ‘พุทธศาสนายุคโมเดิร์น’ แต่ก็ยังมีชาวไทยอีกจำนวนมากที่ไม่คุ้นเคยกับคำสอนและผลงานของท่านพุทธทาสภิกขุ “คนไทยไม่รู้จักท่านพุทธทาสเท่าไร บางคนแค่รับรู้เรื่องราวของท่านผ่านสารคดีที่ฉายบนโทรทัศน์ จุดมุ่งหมายอีกอย่างของเรา จึงเป็นการทำให้คนไทยรู้จักท่านพุทธทาสและคำสอนของท่านได้ดียิ่งขึ้น” สมบัติกล่าว

ด้วยเหตุนี้เอง นอกจากบริการในส่วนจดหมายเหตุแล้ว หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จึงได้เปิดพื้นที่ภายในและรอบๆ อาคารเพื่อจัดกิจกรรมและอีเวนต์ต่างๆ ขณะที่บอร์ดประชาสัมพันธ์ตรงบริเวณชั้นล่าง ซึ่งถูกออกแบบในลักษณะพื้นที่ใต้ถุนนั้น จะติดประกาศเกี่ยวกับกิจกรรมและเวิร์กช็อปที่กำลังจะเกิดขึ้น หนึ่งในกิจกรรมประจำสัปดาห์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ ‘ธรรมะในสวน’ ซึ่งจัดขึ้นทุกเช้าวันอาทิตย์ และภายในงานจะมีการสนทนาธรรมโดยพระภิกษุจากที่ต่างๆ รวมทั้งเวิร์กช็อปการนั่งสมาธิ ไท้เก๊ก และโยคะ ไปจนถึงการแลกเปลี่ยนทรรศนะโดยกลุ่มพุทธทาสบุ๊คคลับ หรือคนรักหนังสือพุทธทาส

สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมชาวพุทธในประเทศไทย หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ มีการจัดกิจกรรม ‘A Taste of Buddhism’ ขึ้นเดือนละครั้งเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมทั้งมีการนำเสนอมรดกทางปัญญาของท่านพุทธทาสภิกขุและการพาเยี่ยมชมหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ในฐานะโรงมหรสพทางวิญญาณ ส่วนอีกกิจกรรมสำคัญในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทยคือพิธี ‘ตักบาตรเดือนเกิด’ ซึ่งจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน โดยทางหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ จะนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเพื่อให้ผู้ที่เกิดในเดือนนั้นๆ ร่วมกันตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง นพ.บัญชาเล่าว่ากิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500-600 คนต่อเดือน จึงถือเป็นกิจกรรมหลักของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่พุทธศาสนิกชนไทย ที่นี่ยังมีเวิร์กช็อปฝึกอานาปานสติ หรือเทคนิคการกำหนดลมหายใจที่พุทธทาสภิกขุปฏิบัติเป็นกิจวัตร รวมทั้งการนั่งสมาธิในวิถีของติก เญิ้ต หั่ญ พระชาวเวียดนาม และเอส เอ็น โกเอ็นก้า อาจารย์วิปัสสนากรรมฐานชาวอินเดียผู้ล่วงลับ อันเป็นกิจกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ

นอกจากนี้ การจัดแสดงงานศิลปะยังเป็นกิจกรรมสำคัญอีกประการของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ โดยในปี 2560 อันเป็นวาระครบรอบชาตกาล 111 ปีของท่านพุทธทาสภิกขุ สมภพ บุตราช จิตรกรเอกนั้นได้วาดภาพเหมือนของท่านพุทธทาสขนาด 2 เมตรคูณ 2 เมตรครึ่ง ด้วยสีที่ผสมกับดินและทรายที่เก็บรวมรวมจากสถานที่ 11 แห่งทั่วประเทศไทย ในจำนวนนั้นคือสถานที่ที่ท่านพุทธทาสถือกำเนิด อุปสมบท จำพรรษา และละสังขาร “เราสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ชอบหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ เพราะเรานำเสนอกิจกรรมหลากหลาย ที่ทุกคนเข้าร่วมได้ตามความถนัดและความสนใจ บางคนประทับใจจนถึงขั้นไปเยือนสวนโมกข์ที่ไชยา หรือสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ผลงานถูกเก็บรักษาไว้ที่นี่” นพ.บัญชาเล่า

สำหรับนพ.บัญชาแล้ว จุดประสงค์หลักของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ คือการเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้มาเยือน “5 คนที่มาที่นี่ จะได้มุมมอง 5 แบบกลับออกไป” เขากล่าว จะเห็นได้ว่าหอจดหมายเหตุแห่งนี้ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและแนวคิดของพระภิกษุรูปสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ยังสะท้อนว่า แม้จะต่างมุมมองทางจิตวิญญาณ ทุกคนก็สามารถเปิดใจร่วมกันทำบางอย่างให้สำเร็จได้ โดยไม่ต้องมัวแข่งขันกระทบกระทั่งเรื่องความถูกต้องของแนวคิดหรือความเชื่อ

การทำลาย “ตัวกู-ของกู” คือคำสอนสำคัญของท่านพุทธทาสภิกขุ และหอจดหมายเหตุฯ ในฐานะผู้รวบรวมคำสอนของท่านไว้อย่างกว้างขวางที่สุดก็ดูเหมือนจะได้ใช้คตินี้ในการทำงานมาเป็นอย่างดี

Essentials


หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ถนนนิคมรถไฟสายสอง กรุงเทพฯ

02-936-2800

bia.or.th