HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


Soul-Searching Questions

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ถามคำถามที่สังคมต้องตอบก่อนก้าวไปข้างหน้า

ธนกร จ๋วงพานิช

ท่ามกลางการลงทุนอย่างครึกโครมจากเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐไม่ว่าโครงการอีอีซีหรือรถไฟทางคู่ ความคึกคักของตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ ตลอดจนห้างสรรพสินค้าและคอนโดหรูที่แข่งกันผุดขึ้นพร้อมๆ กับสารพัดร้านขนมหวานและกาแฟ กล่าวได้ว่าไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกว่าปัจจุบันคือช่วงเวลาแห่งความคับขัน กระทั่งฝุ่น PM 2.5 ที่บ่อยครั้งอำพรางเมืองอยู่ในหมอกและพร้อมสร้างปัญหาทางเดินหายใจ ก็กำลังค่อยๆ กลายเป็นปกติใหม่ที่ทุกคนคุ้นชิน

กระนั้น สำหรับภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักเขียนและบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง นิตยสาร OPEN ซึ่งนิตยสารสารคดีเคยยกย่องว่า “เป็นสื่อทางด้านความคิด ด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองอันแหลมคมของหนุ่มสาว” ในช่วงปี 2540 และนักสัมภาษณ์คำถามเสียดแทงผู้เคยคาดคั้นเอาคำขอโทษจากอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรเกี่ยวกับกรณีตากใบ และอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม และหาญกล้าชวนทั้งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสุลักษณ์ ศิวลักษณ์มาถกเกี่ยวกับมาตรา 112 ณ รายการ ‘ตอบโจทย์’ ในช่วงที่การเมืองเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์กำลังโหมแรง อีกทั้งนักคิดผู้มั่นใจพอจะใช้ คำว่าปัญญานำชื่อหนังสือที่เขียนแทบทุกเล่ม ไม่ว่าจะเป็น ‘ปัญญาญี่ปุ่น’ ‘ปัญญาอิตาลี’ ‘ปัญญาอดีต’ ‘ปัญญาอนาคต’ และล่าสุด ‘ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น’

เขาเห็นว่าภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญอยู่ แท้จริงเข้าขั้นวิกฤตหลังชนฝาในระดับเดียวกับที่เคยบังคับให้พระเจ้าตากฯ ตีฝ่าออกจากกรุงศรีอยุธยา และทางรอดของผู้คนไม่อาจมีเพียงการถ่ายรูปกาแฟลงอินสตาแกรมแล้วแคปชันด้วยคำคมจากอินเทอร์เน็ต หากต้องเด็ดเดี่ยวทุ่มเทขนาด “ต่อยหม้อข้าวหม้อแกงให้จงสิ้น ในเพลากลางคืนวันนี้ตีเอาเมืองจันทบูรให้ได้ ไปหาข้าวเช้ากินเอาในเมือง ถ้ามิได้ ก็ให้ตายเสียด้วยกันเถิด” ดังที่บรรยายไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ขอเชิญรับฟังว่า อะไรบีบคั้นให้บุคคลคนหนึ่ง มีภาพที่ดุดันอย่างยิ่งเกี่ยวกับบ้านเมือง และอะไรจะเป็น ‘ปัญญา’ สำหรับปัจจุบันอันเร่งด่วนนี้

ปัญญาที่ยังไม่เลือนลับไปกับอดีต ทั้งไม่ลอยเลื่อนอยู่ในอนาคต

สายน้ำที่ผันเปลี่ยน

การเขียนหนังสือโดยยกคำสูงอย่าง ‘ปัญญา’ ไม่ใช่ของง่าย เพราะเป็นคำที่ยั่วยุให้เกิดการท้าทายทดสอบ แต่หากการ ‘เอาตัวให้รอด’ คือหนึ่งในเกณฑ์ทดสอบคุณภาพของปัญญาท่วมท้นดังในสำนวน ชีวิตของภิญโญ ที่ได้เผชิญภาวะให้ต้องเอาตัวรอดอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ทำให้เขาต้องมาริเริ่มเปิดนิตยสาร OPEN เป็นของตัวเองเมื่อปี 2542 จนกระทั่งวิกฤตการเมืองปี 2552 ที่เรื้อรังยาวนานจนในที่สุดทำให้เขาต้องยุติรายการ ‘ตอบโจทย์’ ในปี 2556 และหันมาเขียนหนังสือเบสต์เซลเลอร์ต่อเนื่องแทน กล่าวได้ว่าภิญโญผ่านบททดสอบมาแล้วมากกว่าหนึ่งครั้ง

“มันคือความขมขื่น เพราะว่าผมดันเริ่มต้นอาชีพในช่วงประวัติศาสตร์ของวิกฤตประเทศไทย และประวัติศาสตร์ของวิกฤตโลก ตอนเริ่มต้นอาชีพทำหนังสือพิมพ์ใหม่ๆ ปี 2535 หลังจากเกิดพฤษภาทมิฬ ก็นึกว่าจะมีความสุขในอาชีพไปได้ยาวนานไม่มีที่สิ้นสุด แต่แค่ถึงปี 2540 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว นั่นคือครั้งแรกที่ต้องเริ่มใหม่ มันไม่มีทางเลือก มันไม่ได้หอมหวาน แต่คุณต้องกลืนมัน คนไทยบอกหวานอมขมกลืน หวานอมไว้ ขมก็ต้องกลืนไปเพื่อที่จะเริ่มให้ได้ ทีนี้ผมทำนิตยสารมาได้พักหนึ่ง ทำสำนักพิมพ์แล้วก็ไปทำโทรทัศน์ แต่ทำโทรทัศน์ ก็ดันเจอ Digital Disruption ขึ้นมาอีก อย่างที่พวกเรากำลังเจอนี่แหละ

…ดังนั้น ทุกๆ ครั้งที่เริ่ม สถานการณ์บังคับให้คุณเริ่ม พระเจ้าตากฯ คงไม่อยากสร้างกรุงธนบุรี ถ้าอยุธยายังดีอยู่ คุณก็อยู่กันไปสิ จะย้ายออกมาทำไม ยิ่งรอบนี้มันคือวิกฤตการ disrupt ครั้งใหญ่ในทุกๆ มิติ ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่มีมิติทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ คำถามคือเทคโนโลยีเปลี่ยน หากคุณไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต ไม่เปลี่ยนวิธีคิด ไม่ยอมเปลี่ยนอะไรสักอย่าง แล้วคุณจะไปต่อยังไง สมัยก่อนถ้าคุณสามารถ disrupt ตัวเอง 1 ครั้งคุณก็อยู่ไปได้ยาวชั่วชีวิต อย่างพี่บูลย์ (ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม)แกรมมี่ disrupt ตัวเองสำเร็จ 1 ที แกก็เอ็นจอยมาตั้ง 30 ปี ช่วงหนึ่งแทบไม่ต้องทำงานเลย ตื่นบ่าย ใช้ชีวิตดีงามมากจนกระทั่งมาถูก disrupt อีกทีตอนทำเริ่มทำทีวีดิจิทัลนี่แหละ ความหรูหราของการค่อยๆ ปรับตัวมันหายไปหมดแล้ว ขนาดคนที่เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด  ประสบความสำเร็จที่สุดยังต้องปรับตัวในระดับรายเดือน ไม่ใช่รายปี

คนรวยบอก ‘เศรษฐกิจดีไม่มีปัญหา’ ไปถามคนจน คนจนบอก ‘อดอยากปากแห้ง’ ไม่มีใครพูดโกหก พูดถูกทั้งคู่ มันสะท้อนว่าตอนนี้ หนึ่งประเทศสองระบบ ระบบที่คุณได้เปรียบ ได้ทุกอย่าง กับระบบที่คุณไม่ได้อะไรเลย

 

…พวกเราก็เหมือนปลาตัวหนึ่งที่ว่ายอยู่ในกระแสน้ำ และกระแสน้ำมันเปลี่ยนทิศทาง ความหนา ความลึก ความตื้น มันเปลี่ยนหมด คุณต้องถามตัวเองว่าจะว่ายในแม่น้ำนี้อย่างไร เมื่อก่อนบอก “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” เดี๋ยวนี้ทำเป็นซ่าส์ บอก “ปลาเร็วกินปลาช้า” แล้วเรื่องทีวีดิจิทัลล่ะ ก็เห็นปลาเร็วตายกันหมด ดังนั้นมันไม่ใช่เร็ว-ช้า ไม่ใช่ใหญ่-เล็ก มันคือความเหมาะสมบางอย่างกับจังหวะและเวลา ขอประทานโทษ สื่อบางหัวรอด เพราะไม่ทำอะไรเลย ปรับตัวช้า ไม่ประมูลทีวี เลยรอด ในขณะที่สื่ออื่นที่ประมูลทีวีดิจิทัล เจ๊งหมด

…แม้กระทั่งแบงก์ก็ตาม เราเห็นแจ็ค หม่าทำ Alipay เห็นเขาจับมือกับ Starbucks เห็นเขาจับมือกับ Renault เห็นเขาจับมือกับทุกคนแล้ว แบงก์จะอยู่ไปได้สักกี่ปี ธุรกิจที่มั่นคงที่สุด แข็งแรงที่สุด มีกำไรดีที่สุด วันดีคืนดีคุณโดน disrupt แล้วมันจะพิสูจน์ฝีมือว่า ไอ้ที่คุณบอกว่าเก่งมาทั้งชีวิต คุณเก่งจริง หรือคุณเก่งเพราะคุณผูกขาด เหมือนโทรทัศน์ไทย ช่อง 3 5 7 9 12 Thai PBS ถ้ามี 6 ช่อง ทำยังไงก็มีคนดู เพราะคุณเปลี่ยนรีโมทได้แค่ 6 ช่อง วันนี้ใส่ไปอีก 24 ช่องเป็นอย่างไร ทำไมคนเก่งไม่เก่งแล้ว แสดงว่าที่ผ่านมาคุณไม่ได้เก่งจริงหรือเปล่า คุณเก่งด้วยการผูกขาดหรือเปล่า บอร์ดแบงก์ทั้งหลาย เคยประชุมกันพูดอะไรก็ถูกหมด ใน 5 ปีต่อจากนี้ พูดแล้วอาจจะไม่ถูกอีกต่อไป และมันจะถูกแสดงให้เห็น ใครรอดคือคนเก่งจริง ใครไม่รอดแสดงว่าที่ผ่านมาราคาคุย” 

เพราะผูกจึงขาด

กาน้ำรูปร่างสะโอดสะองที่ภิญโญได้ติดไฟต้มเพื่อชงชารับแขกนั้นเงียบเสียงลงไปนานแล้ว แต่บทสนทนาที่แตะมาถึงเรื่องภาวะผูกขาดของธุรกิจในประเทศไทย กลับดูจะปะทุประเด็นให้ผุดพรายด้วยความร้อนขึ้นมาแทนที่

“คนที่สามารถแก้กฎหมายที่สร้างภาวะผูกขาดอย่างนี้ได้ก็คือคนที่มีอำนาจ แต่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจ ก็คือตัวแทนของคนที่ได้ประโยชน์จากภาวะอย่างนี้นี่แหละ แล้วใครจะมาแก้กฎหมายเฉือนเนื้อตัวเองไปให้คนอื่นกิน นี่คือเหตุผลว่าทำไมความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยถึงสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก คนส่วนใหญ่ของประเทศรู้สึกว่ากูไม่มีส่วนร่วมเลย ไม่รู้จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองยังไงเพื่อจะขยับตรงนี้ได้ แล้วพอขยับไม่ได้ สิ่งต่างๆ ก็ขบกันแน่นมากและพร้อมที่จะหักออกมา เพราะอย่างนี้ ประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ จึงเห็นว่าต้องทำลาย monopoly และนั่นคือครั้งแรกที่มีการเพิ่มอำนาจรัฐบาลกลางเข้าไปจัดการกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1

…แต่บ้านเรา จนทุกวันนี้กลับไม่เคยคิดว่ามันเป็นปัญหา สภาพเมืองไทยตอนนี้เลยสะท้อนความจริงออกมา ทำไมตลาดหลักทรัพย์ถึงมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำไมหุ้นขึ้นไป 1,800 จุด แต่ตลาดนัด ตลาดชนชั้นล่างกลับไม่มีกำลังซื้อ ทำไมตลาดคนรวย รวยมาก ตลาดคนจน จนมาก มันเป็นไปได้ยังไง ไปถามคนรวย คนรวยบอก ‘เศรษฐกิจดีไม่มีปัญหา’ ไปถามคนจน คนจนบอก ‘อดอยากปากแห้ง’ ถามว่าใครพูดจริง ใครพูดโกหก ไม่มีใครพูดจริง ไม่มีใครพูดโกหก พูดถูกทั้งคู่ มันสะท้อนว่าตอนนี้ หนึ่งประเทศสองระบบ ระบบที่คุณได้เปรียบ ได้ทุกอย่าง กับระบบที่คุณไม่ได้อะไรเลย ปัญหาคือ คุณจะรักษาหนึ่งประเทศสองระบบนี้ไว้ได้อย่างไรโดยไม่ให้คนในสองระบบตีกัน เพราะมันไม่มีใครทนความอยุติธรรมได้นาน 

…คนจนเรียกไม่ถูกหรอกความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำเป็นศัพท์ที่เพิ่งเกิดมาไม่กี่ปีนี้เอง แต่ถึงเรียกไม่ถูก ความรู้สึกของเขาก็แสดงออกมาเป็นความโกรธเกรี้ยวที่มีต่อคนรวยและผู้มีอำนาจ ทำไมคุณเปรมชัยถูกโกรธขนาดนี้ ลองเปลี่ยนคุณเปรมชัยเป็นลุงเก็บเห็ดแล้วไปยิงเสือสิ เสือตัวเดียวกัน ปืนเดียวกัน ถามว่าคนจะโกรธลุงที่เป็นคนจนเท่ากับที่โกรธคุณเปรมชัยไหม เปล่า---เขาโกรธเพราะเขารู้สึกว่าคุณรวย คุณมีทุกอย่างแล้ว ทำไมยังทำแบบนี้ ยิ่งถ้าอำนาจรัฐ ตำรวจ กระบวนการยุติธรรมไปเข้าข้างคุณ เขาก็จะโกรธพวกคุณทั้งหมด นี่คือความโกรธมวลรวมของสังคม ที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกโดยเจ้าตัวเองยังไม่รู้เลย ถ้าผู้มีอำนาจและผู้มีฐานะไม่ระวังตรงนี้ โอกาสพังสูงมาก เพราะคุณไปยืนขวางทางความโกรธที่เป็นจิตใต้สำนึกมวลรวมของสังคม เป็นใครคุณก็ตาย

ในระหว่างที่คุณแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ ถ้ามัวแต่คิดว่าต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาอย่างเดียว คุณจะอยู่กันอย่างไร

….ในหนังสือ ‘ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น’ ผมจะพาไปเวียนนา เมืองหลวงของอาณาจักรฮับสบูร์กในปี 1900 ซึ่งเป็นช่วงที่เวียนนารุ่งเรืองที่สุด เป็นช่วงที่ให้กำเนิดซิกมันด์ ฟรอยด์ กุสตาฟ คลิมท์ และปัญญาชนคนสำคัญทั้งหมด ก่อนหน้ายุคนี้มีการปฎิวัติทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การปฎิวัติทางอุตสาหกรรม ทำให้คนมีความคิดว่าทุกอย่างบนโลกตอบได้ด้วยวิทยาศาสตร์และการใช้เหตุผล แต่นักคิดสำนักเวียนนาปี 1900 ตั้งคำถามว่า ถ้ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลจริงๆ ทำไมถึงได้ทำสิ่งไร้เหตุผลเยอะขนาดนี้ เขาจึงได้ค้นพบว่ามนุษย์ไม่ได้มีเหตุผลอย่างเดียว แต่มีอารมณ์ความรู้สึก หรือเรียกรวมๆ ว่า subconscious จิตใต้สำนึกที่ขับเคลื่อนมนุษย์อยู่ แต่เราไม่เคยให้ค่ามัน มันจึงนำไปสู่ความป่วยไข้ของผู้คน หรือเหนือไปกว่านั้น ความป่วยไข้ของสังคมที่นำไปสู่ความเลวร้าย แล้วก็เป็นจริงเลยเพราะหลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 จากเรื่องเล็กนิดเดียว คือกาฟรีโล พรินซิป ยิงปืนนัดเดียวฆ่าอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันด์ตายที่ซาราเยโว

…ถามว่าคนตาย 1 คน เราจะไปรบกันทั้งยุโรปได้ไง ถ้าไม่มีความโกรธมวลรวมที่พร้อมจะรบกันอยู่แล้ว สงครามมันไม่ได้เกิดจากปืน มันเกิดมาจาก context ของสังคมที่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเป็นไฟ ใครยิงก็ได้ ยิงใครก็ได้ แล้วคุณไม่คิดหรือว่าประเทศไทยตอนนี้จุดที่ติดไฟมันเต็มไปหมดเลย มันจึงอันตรายมาก เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะพลิกไปทางไหนก็ได้ ลึกที่สุดมันกลับไปที่จิตใต้สำนึก สงครามอยู่ในใจ ถ้าคุณเปลี่ยนได้ คุณก็จะพลิกพลังทั้งหมดไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ แต่ถ้าคุณไม่เปลี่ยน มันจะนำไปสู่การทำลายล้าง ซึ่งระดับการทำลายล้างอาจสูงระดับสงครามโลก เพราะความโกรธมวลรวมมันสูงขนาดนี้ ทุกวันนี้ คุณคิดว่าเราฝังระเบิดไว้กี่ลูกในผืนแผ่นดินไทย และในแต่ละปีเราเคยถอดสลักระเบิดบ้างไหม หรือเราฝังมันทุกวัน”

ถอดสลักความเสี่ยง

ภาวะคับขันอย่างที่กล่าว ชวนให้ต้องเหลียวมองรอบตัวเพื่อหาผู้ที่จะมาทำหน้าที่ถอดสลักระเบิดให้กับสังคม แต่กระทั่งสำหรับภิญโญ ซึ่งเคยพบปะและสัมภาษณ์บุคคลในเมืองไทยมาแทบทุกสี ทุกพรรค และทุกชนชั้น ไม่ว่าแดง-เหลือง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เจ้าสัว-เอ็นจีโอ ฯลฯ ก็ยังพบว่าไม่ใช่ของง่าย

“อังกฤษมีคนอย่างเชอร์ชิล เยอรมันมีคนอย่างฮิตเลอร์ รัสเซียมีสตาลิน อเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ (FDR) จะรักไม่รัก เวลาพูดถึงภาวะผู้นำ เราต้องพูดถึงคนระดับแบบนี้ อย่าไปพูดถึงคนที่ต่ำกว่า แต่เมืองไทย 10 ปีมานี้คุณได้ใคร เรากำลังเจอปัญหาครั้งใหญ่มากครั้งหนึ่ง ทั้งที่สะสมมาในประเทศเราเอง และที่มากับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่เรายังไม่มีคนที่มีคุณภาพมากพอจะแก้ปัญหานี้ได้ คนที่เราไม่เห็นอาจจะมี แต่สำหรับคนที่เราเห็นอยู่ ถ้าเขาแก้ได้ เขาแก้ไปแล้ว เพราะมันไม่มีสัญญาณว่าเขาจะแก้ปัญหาได้ทั้งในทางเศรษฐกิจการเมือง ทั้งในทางโครงสร้าง มันไม่ใช่แค่ว่าเอาเงินใส่ลงไปแล้วให้คนรู้สึกว่าเศรษฐกิจมันฟื้น ในช่วงเวลาที่ผ่านมา 4 ปี คุณได้แก้โครงสร้างหรือเปล่า แล้วถ้าคุณใส่เงินลงไปโดยไม่แก้โครงสร้างมันมีโอกาสอะไร ฐานรากเสาเข็มของบ้านคุณมีปัญหา แต่คุณไปต่อเติมให้บ้านคุณสวยงาม จะมีประโยชน์อะไร สี่เสามันไม่เท่ากัน คุณยิ่งไปแต่งเติม ต่อเติมมากๆ บ้านคุณจะยิ่งพัง

…แน่นอน ชาวบ้านอาจจะเชื่อมโยงปัญหาโครงสร้างกับความรู้สึกอดอยากปากแห้งไม่ได้ แต่นักการเมืองที่มีความสามารถและเป็นผู้นำมากพอ เขาจะสื่อสาร และอธิบายกับประชาชนได้ จำได้ไหมสมัย FDR ที่อเมริกาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแล้วคนแห่ไปถอนเงินที่แบงก์ FDR ต้องประกาศให้เป็นวันหยุดไม่มีกำหนด เพราะยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหายังไง ตอนนั้น สิ่งที่ FDR ทำก็คือตัดสินใจนั่งลงแล้วพูดวิทยุกับประชาชน เขารู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของนักการเมืองที่จะต้องสื่อสารกับประชาชน เฟสบุ๊กยังไม่มี ทีวียังไม่มีด้วยซ้ำไป วิทยุเป็นสื่อเดียว

…สิ่งที่ทำคือเขาร่างสปีชอย่างดี เตรียมตัวล่วงหน้าว่าจะตอบอะไรประชาชน เพื่ออธิบายสถานการณ์ แล้วพูดจาให้ความหวัง เขาบอกว่าวันนี้ เศรษฐกิจเดือดร้อนจริง แต่มันยังไม่ได้พัง ดังนั้นแทนที่ประชาชนจะแห่ไปถอนเงิน วิธีที่จะช่วยประเทศชาติได้ ประชาชนเอาเงินไปฝากดีกว่า เพื่อกอบกู้ประเทศกลับคืนมาด้วยกัน ปรากฏว่าวันที่เปิดแบงก์ สิ่งที่เกิดขึ้นน่าประหลาดมาก แทนที่ประชาชนจะไปถอนเงิน กลับหอบเงินกลับไปฝากแบงก์เพราะว่าคำพูดที่ทรงพลังของแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ มันพลิกสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเลย ไม่ได้ใช้ระบบเลย ใช้แค่คนหนึ่งคนแค่นั้น ตัวเขา สื่อวิทยุ และสุนทรพจน์ที่จับใจ นั่นเป็นจุดแรกที่ FDR พลิกสถานการณ์ได้ในช่วง 100 วันของการเข้ามาเป็นประธานาธิบดี ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดของอเมริกา และของโลก

…Leadership จำเป็นในสถานการณ์วิกฤต เพราะมันไม่สามารถให้ปัจเจกลุกขึ้นมาแก้อย่างเดียวได้ แน่นอน ปัจเจกจำเป็น เวลาเครื่องบินจะตก ไม่ว่าใครควรต้องพยายามใส่หน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองให้ได้ก่อน แต่ถึงปัจเจกเอาตัวรอดได้แล้ว ถ้าจำลองสถานการณ์บนเครื่องบิน ใครจะเอาเครื่องบินให้รอด มันก็ต้องกลับไปที่นักบิน คุณจะบอกว่าให้ปัจเจกทั้งลำช่วยไม่ได้ การขับเครื่องบินมันต้องการผู้เชี่ยวชาญ กัปตันกับผู้ช่วยนักบิน สองคนต้องเอาให้รอด แต่วันนี้คุณมีกัปตันที่มีความสามารถไหม กัปตันไม่มีสิทธิปฏิเสธความรับผิดชอบ ไม่ว่าคุณจะสมัครมา หรือจี้เครื่องบินมา คุณปฏิเสธความรับผิดชอบนั้นไม่ได้ คุณต้องเอาเครื่องบินลำนี้ให้รอด ถ้าไม่รอดมันคือความรับผิดชอบของคุณและคณะ

…ฉะนั้น จุดเปลี่ยนที่จะต้องเกิดขึ้นสำหรับประเทศคือ คุณต้องมีผู้นำที่มีความสามารถและวิสัยทัศน์พอจะนำประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ คุณต้องมีคณะปัจเจกที่ใหญ่พอจะรองรับวิสัยทัศน์ และคุณก็ต้องมีสื่อมวลชนที่จะสื่อสารข้อความเหล่านี้ไปในวงกว้างเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ แต่ถามว่าเรามีองค์ประกอบแบบนี้ไหมที่จะเปลี่ยนสังคม ในเมื่อเราทำลายแต่ละฝ่ายไปจนราบคาบหมดแล้วในช่วงเวลา 10 ปี เราใช้พลังงานไปกับการทำลายฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายตรงข้ามทำลายเรา จนเราเป็นกองทัพที่แตกพ่ายไร้รูปแบบหมดแล้ว”

ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ‘ตอบโจทย์’ ซึ่งในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งถึงขีดสุดเป็นเสมือนสมรภูมิทางโทรทัศน์ที่กองทัพแนวคิดทางการเมืองยาตราเข้ามาท้าทายและปะทะกัน ภิญโญได้เห็นในระยะประชิดว่าการถกเถียง ต่อให้มีตรรกะตกผลึกหรือแหลมคมเพียงใด ก็ไม่อาจแผ้วถางเส้นทางในดินแดนของความรู้สึกที่เหตุผลไม่มีสิทธิมีเสียง

“ในช่วงที่ผมทำรายการโทรทัศน์ พยายามใช้การดีเบทเพื่อให้คนทั้งสองฝั่งเห็นความคิดของกันและกัน แต่ว่ามันไม่ได้นำไปสู่ทางออก เพราะต่อให้ดีเบทกัน ในที่สุดคุณก็ยืนที่เดิมอยู่ดี ผมทำสลับวันกัน ปฎิกริยาคือเขาก็ด่ากันสลับวัน ผมอยู่ตรงกลาง เอาตัวเองไปยืนบนสี่แยกเหมือนคุณเปรมชัย ผมก็ถูกคลื่นพลังของมวลมหาประชาชนทั้งสองฝั่งซัดกันสลับวัน เราคิดว่าบนสี่แยกปทุมวันเราสามารถสร้างเวทีให้คนมาคุยกันได้ ในที่สุดรถวิ่งมาทับเวทีหมด เพราะมันไม่มีไฟเขียว-ไฟแดง มันมีแต่ไฟเหลือง-ไฟแดง ดังนั้น ต่อให้ได้เวทีที่ดีที่สุด แต่คนไม่พร้อมที่จะคุย เวทีมันก็พัง ผมไปสัมภาษณ์คุณทักษิณปี 2554 ครั้งแรกหลังคุณยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกตั้ง ผมโดนถล่มเละไปเป็นอาทิตย์ ผมสัมภาษณ์คุณอภิสิทธิ์ ก็โดนถล่มเละอีกตามมา ทั้งๆ ที่นี่คือผู้นำทั้งสองฝ่ายที่ควรมีโอกาสได้สื่อสารว่าท่าทีเขาอยากเปลี่ยนไปยังไง มวลชนยังไม่อยากให้เปลี่ยนเลย ตอนที่คุยกับคุณทักษิณ ท่าทีเขาอ่อนไปเยอะ พร้อมที่จะประนีประนอม คุณอภิสิทธิ์ ก็มีท่าทีพร้อมจะขอโทษ แต่รับรอง ถ้าคุณอภิสิทธิ์ขอโทษในวันนั้น เขาก็พังทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย และต่อให้คุณทักษิณยื่นมือมาคนก็ไม่เชื่อว่าจะปรองดองจริง ความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคมไทยมันหมดไปแล้ว

…สังคมมันเป็นหยินหยาง หยินเริ่มอ่อน หยางก็เริ่มแข็ง หยางเริ่มอ่อน หยินก็เริ่มแข็ง มันรวมอยู่ในวงกลม ขาวและดำ มิตรและศัตรูรวมกันอยู่ในประเทศนี้ คุณยิ่งไปทำลายเขามากภาพรวมพัง คุณก็ทำลายตัวเอง คุณบอกให้อภัยกันไม่ได้ ต้องสะสางกันให้หมด โอเค---ในทางกฎหมายก็ว่ากันไป เหมือนหลังเหตุการณ์นาซี ใครเป็นพวกนาซีก็ขึ้นศาลไป แต่มันต้องมีบางส่วนที่เว้นพื้นที่ให้คุยกันได้ ถ้าคุณไม่มีพื้นที่ให้คุยเลย มันก็นำไปสู่ความรุนแรง เหมือนสมัยเยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 สัมพันธมิตรบีบเขาเต็มที่ ในที่สุดคุณก็ได้ฮิตเลอร์มาไง คุณพังเขา เขาก็พังคุณด้วย นี่คือสาเหตุที่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายชนะจึงมีวิธีปฎิบัติต่อเยอรมันและญี่ปุ่น ผู้แพ้สงครามในแบบใหม่ เพื่อไม่ให้นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3”

อำนาจที่โอบอุ้ม

ในขณะที่ความขัดแย้งแตกแยกในระดับที่เหตุผลไม่สามารถคลี่คลายได้ดูจะเป็นปัญหาที่ชวนให้ประชาชนคนเล็กคนน้อยถอดใจ กระนั้น ภิญโญบอกว่าความถอดใจนั้นเองคือสิ่งที่คนเล็กคนน้อยจะปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้

“แน่นอน มีคนส่วนหนึ่งอยากเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองด้วยการเป็นตัวแทน เราจึงเริ่มเห็นการพยายามตั้งพรรคการเมืองใหม่ แต่ว่าองค์รวมของสังคมที่เราอยู่ บางทีมันไม่ใช่แค่การเมืองอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องธุรกิจ เป็นอีกภาคหนึ่งที่ใหญ่พอๆ กับการเมือง แต่เราไม่ค่อยถกกันตรงจุดนี้ คุณคิดว่าอิตาลีเขารอดมาเพราะการเมืองเหรอ นักการเมืองก็เลวตลอดชาตินั่นแหละ แต่ทุกวันนี้ไม่มีใครรู้จักว่านายกฯ อิตาลีชื่ออะไร แต่รู้จัก Gucci รู้จัก Ferragamo รู้จัก Prada ดังนั้นนี่คืออีกเซกเตอร์ที่ใหญ่มากของสังคม อิตาลีก็คล้ายเรา นักการเมืองไม่เอาไหน รัฐบาลคอร์รัปชัน รถไฟไม่ตรงเวลา คนก็ขี้เกียจ นอนตอนบ่าย แต่ทำไมประเทศเขารอดมาได้ ผมเลยเขียน Made in Italy (‘ปัญญาอิตาลี’) เพื่อพาไปดูว่ามันมีเซกเตอร์อื่นที่แบกประเทศเขาเอาไว้ เซกเตอร์ทางธุรกิจ ทางดีไซน์ ทางวัฒนธรรม ทางการท่องเที่ยว ในระหว่างที่คุณแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้ ถ้ามัวแต่คิดว่าต้องใช้การเมืองแก้ปัญหาอย่างเดียว คุณจะอยู่กันอย่างไร ถ้าปัญหาการเมืองใช้เวลาแก้ 100 ปี แล้วระหว่าง 100 ปีนั้นคุณจะไม่มีชีวิตเลยเหรอ

พวก average จะเป็นสปีชีส์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด วิธีเดียวที่จะไม่สูญพันธ์ก็อย่างที่ดาร์วินว่าไว้ คุณต้องปรับตัว “Average is officially over”

…เวลาคุณอ่านพงศาวดาร เวลาเราอ่านสามก๊ก เขาเขียนเฉพาะตัวละครหลัก เขียนโจโฉ รบเล่าปี่ รบซุนกวนยังไง เรื่องของแม่ทัพนายกองทั้งหมด แต่ผมถามว่าเศรษฐกิจสมัยสามก๊กเดินยังไง ไม่ได้เขียนไม่ได้แปลว่าไม่มี เขาปลูกข้าวกันที่ไหน ดื่มเหล้ายี่ห้ออะไร เลี้ยงม้ากันอย่างไร เวลาให้ผ้าแพรปูนบำเหน็จนี่ทอกันที่ไหน คุณคิดว่าวัฒนธรรมจีน 5,000 ปีที่แล้วไม่มีเรื่องพวกนี้เหรอ มี แต่มันไม่ได้ถูกเขียนไว้ในพงศาวดาร คุณก็เลยไปสนใจเรื่องรบและเรื่องการเมืองพิชัยสงคราม คิดแต่เรื่องการเมืองภาค Hard Power ส่วนภาค Soft Power หายไปหมดเลย แต่ถามว่าวันนี้อะไรแบกประเทศไทยไว้ Soft Power ทั้งนั้น การท่องเที่ยว วัฒนธรรม สตรีทฟู้ด คนจน คนธรรมดา แต่คุณไม่ยกย่องเชิดชูคนเหล่านี้”

อย่างไรก็ตาม ‘พลังอ่อน’ หรือ Soft Power ในความหมายของภิญโญ ไม่ได้หมายถึงการที่ทุกคนต้องเปิดธุรกิจ มากกว่าจิตวิญญาณของการแก้ปัญหาให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้โดยไม่อับจนในทุกสาขาอาชีพ

“เราไม่ใช่จะสร้างคนให้เป็นนักธุรกิจ แต่ถ้าคุณอยู่ในประเทศที่ล้มเหลว แล้วคุณพึ่งตัวเองไม่ได้ คุณจะสร้างอนาคตยังไง หัวใจอยู่ตรงนี้ สปิริตของ Entrepreneur หรือการเป็นผู้ประกอบการคือคุณจัดการชีวิตแล้วพึ่งตัวเองได้ ต่อให้ประเทศล้มเหลว คุณยังใส่หน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองได้ ฉะนั้นไม่ว่าอาชีพไหน โจทย์คือคุณต้องเลี้ยงตัวเองให้ได้ คุณต้องเป็นอิสระทางการเงินเพราะถ้าคุณไม่มีอิสรภาพทางการเงิน คุณก็ไปต่อไม่ได้ ทุกวันนี้นักข่าวยังได้เงินเดือนเท่าผมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในขณะที่ราคาสินค้าทุกอย่างสูงขึ้นหมด ราคาคอนโดวันนี้ 5 ล้าน คุณซื้อได้ 20 ตรม. คุณจะอยู่ยังไง ต้องไม่มีสมบัติอะไรเลย ย้ายเข้าไปนอนเสร็จ เสื้อผ้าซื้อมากไม่ได้ มีตู้เดียวพอ รองเท้ามี 2 คู่พอ นึกออกไหม ถ้าคุณจะเอาตัวรอดจากโครงสร้างที่อัปลักษณ์ขนาดนี้ ถ้าคุณวิ่งไปหาพ่อแม่ไม่ได้ คุณจะไปไหน นี่คือสาเหตุที่คุณต้องเอาความเป็นผู้ประกอบการใส่ไปในทุกๆ วิชาชีพ ให้คุณพึ่งตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าคุณต้องไปทำร้าน ต้องขายของออนไลน์ เปล่า---แต่คุณต้องสร้างตัวเอง

…ถ้าในประเทศที่พัฒนาแล้ว คุณตกงานเขาก็ยังจ่ายเงินคุณ พวกยุโรปเลยแกล้งตกงานโดยสมัครใจ เพื่อเอาเงินที่รัฐให้มาเที่ยวหน้าร้อนเมืองไทย เด็กฝรั่งหนุ่มสาวถึงได้นอนเกลื่อนทะเลบ้านเรา แต่ในไทย ต่อให้คุณไม่ตกงาน คุณจะไปนอนริมทะเลได้ไหม คุณมี luxury นั้นเหรอ คุณหยุดงานเพื่อเดินทางแสวงหาความรู้ได้ไหม ต่อให้เดี๋ยวนี้ต้นทุนถูกลงแต่คุณไม่มีอิสระทางการเงิน คุณก็ไปไม่ได้ ทีนี้คุณจะเอาความรู้จากไหน ในเมื่อมหาวิทยาลัยหรือการศึกษาสามัญไม่ตอบคุณ ระบบก็ไม่ช่วยคุณ ถ้าคุณไม่ไปอ่านหนังสือหรือสนทนากับผู้คน คุณจะเปลี่ยนตัวเองยังไง คิดเองเหรอ ถ้าคุณคิดเองได้ คุณคงทำไปแล้ว แต่คุณทำไม่ได้เพราะคุณคิดเองไม่พอ มันถึงต้องคุยกับคน ต้องเดินทาง ต้องเรียนจากโลก มันถึงจะไปต่อได้

…ถ้าได้แต่ดูคลิปไปวันๆ แรงบันดาลใจคุณคงมากไปแล้ว นิ้วคุณคงเมื่อยไปแล้ว คลิปแรงบันดาลใจเดี๋ยวนี้เต็มไปหมด แรงบันดาลใจในโลกยาวไปถึงดาวอังคารแล้ว แต่ในขณะที่ อีลอน มัสก์ชวนคุณเปลี่ยนดาวอังคาร ทำไมคุณยังเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ แสดงว่ามีบางอย่างหายไป ผมเลยต้องพูดเรื่องความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนตัวเอง ในโลกสมัยใหม่ คนมีความรู้มากขึ้น เราส่งลูกเรียนมหาลัย จบตรี-โทเมืองนอก ทุกคนเต็มไปด้วยทฤษฎี แล้วพอมีทฤษฎี ทุกคนก็พยายามจะเอามันมาอธิบายทุกอย่าง เอามาชนะคะคาน แต่ถ้าทฤษฎีทำให้คุณชนะได้ ทุกคนก็คงประสบความสำเร็จหมดแล้ว ในเมื่อคุณไม่สามารถทำสิ่งที่คุณป่าวประกาศต่อสาธารณะได้ แสดงว่ามันมีบางอย่างหายไป อันนั้นคือการลงมือทำ

…การลงมือทำคือการพิสูจน์ว่าทฤษฎีที่คุณอุตส่าห์เรียนรู้มาทั้งชีวิต มันจริงหรือเปล่า มันได้ผลจริงหรือเปล่า มันคือความเหนื่อยยาก มันคือหยาดน้ำตา ไม่มีอะไรสบาย คุณลองแล้วคุณล้มแล้วคุณกลับมาลองเพื่อค้นหาสูตรใหม่ แต่ตอนนี้เราจำนวนไม่น้อยทำเพียงเพื่อโชว์ หลังจากนั้นจะเงียบหาย เราก็เลยไม่เห็นว่าประสบการณ์หลังจากล้มคืออะไร ประสบการณ์ที่มีค่า เราจะแชร์ตอนเปิดร้าน แชร์ตอนพีค ตอนลงเราไม่โชว์ พอพีคเราก็โชว์ใหม่ คนก็เลยนึกว่ามีแต่พีคๆ ทั้งที่ตอนที่อยู่ด้านล่างทั้งหมด คือบทเรียนสำคัญ ยิ่งเราผิดเยอะ ก็ยิ่งตกผลึก คนไม่เจอความล้มเหลวเลยไม่มีทางเติบโตได้  การล้มลงมาที่ฐานแล้วขึ้นไปใหม่บ่อยๆ มันทำให้ฐานคุณแน่น เราไม่ได้โตขึ้นมาจากการต่อชั้นบน เราโตด้วยการต่อชั้นล่างให้เข้มแข็ง ถ้าฐานรากไม่เข้มแข็ง คุณทำ 100 ชั้น คุณก็พัง”

พลิกสู่ความเป็นเลิศ

หากการลองผิดลองถูกเป็นคติที่มีคุณค่ามาทุกยุคทุกสมัย ณ จุดเปลี่ยนผ่านเข้าสู่โลกแห่งการปฏิวัติดิจิทัล ที่เทคโนโลยีมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้รวดเร็วไม่แพ้มนุษย์ในปัจจุบัน คตินี้ยิ่งไม่อาจเนิ่นช้าในการปฏิบัติ

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมเราอยู่มาได้ด้วยค่าเฉลี่ยสูงมาก เราเป็นสังคม average ซึ่งนี่คือผลผลิตของการปฎิวัติอุตสาหกรรม มันทำให้คนกลายเป็นปัจจัยการผลิต แล้วก็ดันคนกลับไปที่ค่าเฉลี่ย เสร็จจากการปฎิวัติอุตสาหกรรมก็เข้าสู่ระบบ management หรือการจัดการธุรกิจ ซึ่งก็ดันคุณเข้าไปอยู่ในรูปแบบเดียวกันอีก ถ้าคุณไม่รู้จักประวัติศาสตร์ของ management คุณจะรู้สึกว่ามันเป็นแบบนี้มานานแล้ว แต่เปล่า---มันไม่ได้เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น มันเป็นแบบนี้เพราะสูตรที่ business school คิดขึ้นมาเพื่อให้คุณเดินตาม สูตรที่คนถูกทำให้กลายเป็น average แล้วรับใช้องค์กรทั่วไป เป็นผลพวงของการปฎิวัติอุตสาหกรรมที่ถูกนำมาใช้กับธุรกิจ

…แต่ยุคนี้คนกำลังถูก disrupt อย่างคุณอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์มาตลอดชีวิต 30 ปี คิดว่ามั่นคงปลอดภัยมาก กำไรมาก วันดีคืนดี คุณอาทิตย์ นันทวิทยาบอกว่าจะลดคนลง 12,000 คน พวกที่เคยอยู่มา 30 ปีขวัญหนีดีฝ่อหมด จะอยู่ยังไงต่อไป จะให้อยู่แบบ average ต่อไปแล้วแบงก์จะเก็บไว้กี่เปอร์เซ็นต์ อีก 10 ปีข้างหน้า พวก average จะเป็นสปีชีส์ที่ถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากที่สุด วิธีเดียวที่จะไม่สูญพันธ์ก็อย่างที่ดาร์วินว่าไว้ คุณต้องปรับตัว ปรับจากความ average “Average is officially over” นี่คือสิ่งที่คุณอาทิตย์ นันทวิทยาบอก ถ้าคุณอ่านออกฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามจะบอกคือ คุณต้องเป็น extraordinary คุณเป็น ordinary ต่อไปไม่ได้ เพราะว่ามันกำลังจะหมดยุค ถ้าคุณยังสมาทานแนวคิดสำหรับเมื่อ 200 ปีที่แล้ว คนอื่นจะ disrupt คุณ แล้วเมื่อวันนั้นมาถึง จะเป็นเรื่องเศร้ามากที่คุณต้องใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่มีความหมาย ไม่มีการงาน และไม่มีเงิน”

แม้จะฟังดูตรงไปตรงมา แต่ทฤษฏี Survival of the fittest ของชาลส์ ดาร์วิน ย่อมหมายรวมถึงการไม่อยู่รอดของผู้ไม่เหมาะสมด้วยไม่มากก็น้อย และในเมื่อมนุษย์ทุกคนย่อมไม่อาจพลิกสู่ความเป็นเลิศได้ทั้งหมด อะไรจะเป็นทางรอดสำหรับกลุ่มคนเหล่านั้น โดยเฉพาะในยามที่ระบบสวัสดิการของรัฐแหว่งวิ่นและไม่เป็นที่พึ่งได้มากนัก

“นี่คือสาเหตุที่ผมทำหนังสือ 2 แบบ แบบหนึ่งคือแบบ Future (‘ปัญญาอนาคต’) หรือ Past (‘ปัญญาอดีต’) เพื่อสนับสนุนให้คนที่อยากสู้ได้ออกมาสู้ แต่ผมก็เข้าใจว่าไม่ใช่ 100% ที่สู้แล้วจะชนะ อาจมีเพียงแค่ 1% หรือสูงสุดแค่ 10% เท่านั้น คำถามก็คือมนุษย์ที่เหลืออีก 90% จะอยู่กันอย่างไร หนังสือที่จะทำต่อไปจึงเป็นหนังสืออย่าง Your Money or Your Life นี่ไม่ใช่หนังสือพ่อรวยสอนลูกว่าทำอย่างไรจะรวย แต่เป็นหนังสือที่บอกว่าถ้าคุณจะอยู่ได้ คุณต้องเป็นอิสระทางการเงิน ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องประสบความสำเร็จ แต่คุณต้องวางแผนทางการเงิน หนังสือนี้จะบอกคน 90% ที่เหลือว่าคุณมีคุณค่า มีความสำคัญ เพียงคุณวางแผนการเงินได้ คุณจะสง่างาม คุณไม่ต้องมี 30 ล้านเพื่อไปเริ่มที่เกียรตินาคินภัทร คุณอาจมีแค่ 5 แสนแล้วอยู่อย่างโจน จันไดก็ได้ ได้ขึ้น TED Talk เหมือนคุณบรรยง พงษ์พานิชด้วย เผลอๆ พูดสนุกกว่าด้วย มันสง่างามได้ด้วยกันทั้งคู่”

พลังของงาน

ในแต่ละปี ภิญโญใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อเดินทางไปยังประเทศต่างๆ เยี่ยมชมร้านรวงโรงงาน พิพิธภัณฑ์ หรือตลาดสด และพูดคุยกับผู้คนทุกสาขาอาชีพตั้งแต่บรรณารักษ์ ช่างทำรองเท้า คนนวดขนมปัง หรือกระทั่งช่างตัดสูท ชั้นนำของโลกอย่างอันโตนิโอ ลิเวอราโน ก่อนจะนำมากลั่นกรองเขียนเป็นหนังสือที่สุดท้ายมักเกี่ยวโยงกับเมืองไทยพอๆ กับเมืองนอก เมื่อเหลียวมองไปรอบห้องทำงานของเขาที่เต็มไปด้วยสรรพหนังสือวางคละไปกับข้าวของเครื่องใช้แสดงรสนิยม ตั้งแต่เครื่องถ้วยญี่ปุ่นงามสงบฝีมือปานชลี สถิรศาสตร์ ไปจนกระทั่งบุหงารำไปกลิ่นเย็นละเมียดจากร้าน Santa Maria Novellaซึ่งเก่าแก่กว่า 600 ปีในฟลอเรนซ์ ดูเหมือนภิญโญจะค้นพบความสง่างามอันเกิดจากการบริหาร ‘เงิน’ และ ‘ชีวิต’ ให้มาบรรจบกันเรียบร้อย และสำหรับเขาเคล็ดลับไม่มีอะไรมากไปกว่าการรู้จักจัดสรรทรัพยากรให้กับสิ่งที่มีความหมาย

“บางทีเราลืมคิดนะ ทรัพยากรสำคัญสูงสุดของชีวิตคือเวลา เวลาเราทำอะไรต่อเนื่องยาวๆ ก็เพราะเรามีสมมติฐานว่าเวลามีไม่จำกัด แต่พอคุณกอดทุกอย่างไว้เต็มไปหมด เวลาคุณอยากจะไปไหนต่อ คุณจะไปลำบาก ในเวลาของชีวิตที่เหลือน้อยลง ถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทำมา คุณพอแล้ว ง่ายสุดคือคุณต้องทิ้งของเก่าไป ต่อให้มันดีก็ตาม แล้วเดินต่อ เมื่อเดินต่อโดยไม่ต้องแบกสัมภาระ มันก็ง่ายที่จะคิดใหม่ แล้วเมื่อคุณเข้าใกล้บั้นปลายชีวิตไปเรื่อยๆ สัมภาระของคุณจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ คุณจะเหลือแต่สิ่งที่คุณชอบ มันคือศิลปะของการทิ้ง ไม่ใช่ศิลปะของการเพิ่ม

…ถ้าคุณเก็บมันไว้ทั้งหมด คุณไม่มีทางทำได้ดี พลังงานคุณมีไม่มากพอ ฉะนั้นถ้าคุณอยากทำงานให้ดีที่สุดในช่วงเวลาหนึ่ง คุณทำอย่างเดียว ถ้าทำมากกว่าหนึ่งอย่าง มันเฉลี่ยกันไป มันไม่มีทางดี อย่างวันนี้ที่ผมต้องขอเชิญทีมช่างไฟออกไปรอข้างนอกก่อน เพราะถ้าคนไม่น้อยขนาดนี้ เราคุยกันลึกขนาดนี้ไม่ได้ ธรรมเนียมการคุยสำคัญเท่ากับการคุย จำนวนคนคุยสำคัญเท่ากับเรื่องที่คุย บางเรื่องต้องคุยสองคนเท่านั้น ไม่งั้นมันลงไปไม่ถึงข้างใน ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าการสนทนาเรายังต้องใส่ใจกับจำนวน ปริมาณและจังหวะขนาดนี้ เราจะทำงาน 100 อย่างพร้อมกันได้ดีเหรอ เราเป็นมหาบุรุษเหรอ”

จากสถิติของ We Are Social และ Hootsuite ปี 2018 ที่บอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เวลาต่อวันอยู่กับอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊กมากที่สุดในโลก เป็นไปได้ว่า ‘การงาน’ ที่กินเวลาไม่น้อยของผู้คนก็คือโซเชียล มีเดียนี่เอง

“ถ้าใช้สมการของไอน์สไตน์ E = mc2 (พลังงาน = มวล x ความเร็วแสง2) เพื่อตอบคำถาม ตอนนี้เรามี c2 อยู่เต็มไปหมด เพราะโลกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสง ทำอะไรเชื่อมโยงกันหมด เร็วหมด ปัญหาคือคุณได้พลังงานมาหรือเปล่า คุณจะเกิดพลังงานได้ต่อเมื่อคุณได้ใส่ m เข้าไปในสมการต่างหาก ถ้าคุณไม่มีพลังงานต่อให้ความเร็วแสงมีอยู่จริง คุณจะไปสร้างพลังงาน ได้อย่างไร สังคมที่มีแต่ c คุณก็จะสนุกแต่กับ c2 แต่อะไรคือ m ที่หายไปสำหรับคุณ เราเป็นสังคมที่มีแต่การคอมเมนต์ ผมก็เลยคอมเมนต์ซ้อนคอมเมนต์ไปอีกทีว่าคุณจะคอมเมนต์กันทำไม เอาเวลาไปทำงานดีกว่าไหม คอมเมนต์มันไม่สร้างอะไรขึ้นมาเลย แต่ทำไมเรายังคอมเมนต์เพราะมันไม่มีต้นทุน การทำงานหนักมันมีแต่ต้นทุน

…ความเร็วของสมัยใหม่บีบเรา ตอนที่ผมทำรายการสัมภาษณ์ พวกกองโปรดักชันเขาก็จะรีบทำรีบกลับอย่างเดียว ไม่สนใจว่าแขกจะเป็นอย่างไร มาถึงตั้งนู่นตั้งนี่ ปลั๊กอยู่ไหน ไฟอยู่ไหน วุ่นไปหมด 3-2-1-ถ่าย ถ่ายเสร็จแล้วก็ไป ถามว่าแล้วคุณมาทำงานเพื่ออะไร แขกเขาคุยกันเรื่องอะไรคุณรู้ไหม งานมันถูกลดทอนสถานภาพมาเหลือแค่งานเทคนิคหมด แต่เมื่อไหร่ที่โลกนี้เหลือแค่เรื่องเทคนิคอย่างเดียว ก็จบ มันกลับไปที่ภาวะ industrialization ที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นค่าเฉลี่ย

…มีหนังคุโรซาว่า (อาคิระ คุโรซาว่า) อยู่เรื่องหนึ่ง พระเอกหาทางกลับไปเต็นท์ท่ามกลางพายุหิมะ เหนื่อยยากมากเลย จนมันรู้สึกหมดหวังไปไม่รอดแล้ว พอดีหิมะหยุดตก ปรากฏว่าเต็นท์ก็อยู่ตรงหน้านั่นแหละ ชีวิตทุกวันนี้ก็เป็นแบบนี้ บางเรื่องมันอยู่ข้างหน้าแค่นั้นเอง แต่เราเต็มไปด้วยอะไรไม่รู้ มันพร่าเราไปหมด คนอยู่ข้างหน้าเรายังไม่เห็นเลย เราคุยกับคนทุกคน แต่ไอ้คนข้างหน้าเรากลับมองไม่เห็น เราได้สูญเสียการสนทนาเข้มข้นแบบนี้ไปแล้ว เดี๋ยวนี้สัมภาษณ์ไม่พอ ต้องมีถ่ายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ทำทุกอย่างให้เยอะที่สุด เพื่อให้มันโดน แต่มันอาจจะไม่โดนเลยก็ได้ ตรงกันข้ามทำบทสัมภาษณ์ที่ดี โดนสัก 2 ประโยคอาจจะเปลี่ยนคนได้ มีประโยชน์อะไรที่เราจะฉาบฉวย ทุกวันนี้เราเล่นละครลิงบนเฟสบุ๊กกันหมด แล้วเราก็ยิ่งเพิ่มละครลิงเข้าไป เพื่อให้ลิงยิ่งสนุกกับความเป็นลิงของคนอื่น เพิ่มเข้าไปเยอะๆ โดยที่เราก็ไม่รู้ด้วยว่าเราทำไปเพื่ออะไร”

ถ้าคุณไม่มีสันติภายใน คุณไปแก้ปัญหาข้างนอกไม่ได้ เรื่องของปัจเจกกับเรื่องของโครงสร้างจึงไม่เคยแยกออกจากกัน

ดูเหมือนกระทั่งปัญหาในระดับเมืองหรือประเทศ ก็มาจากความ ‘พร่า’ ในพลังงานและความ ‘เลือน’ ในการมองเห็นนี้เอง

“เราไม่เห็นความเลวร้ายของกรุงเทพเหรอ เราช่างเป็นมนุษย์ที่ทนทุกข์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในกรุงเทพมหานครคุณขับรถวันละกี่ชั่วโมง คุณภาพอากาศเป็นอย่างไรบ้าง คนในบ้านคุณป่วยกี่คนในแต่ละเดือน คุณอยู่ในเมืองที่มีคนป่วยในบ้านรวมๆ กันทั้งปีอาจจะสิบสองเดือน ยิ่งถ้าคุณอยู่ในครอบครัวใหญ่ที่มีเด็กเล็กๆ คุณจะเห็นการป่วยหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอยู่ตลอดเวลาเลย ถ้าคนป่วยอยู่ตลอดเวลา อย่างนี้ เราควรเอาเงินไปซื้อหุ้นโรงพยาบาลกรุงเทพฯ นะ ผมอยู่ซอยเดียวกับโรงพยาบาล ผมเห็นการขยายตัวอย่างน่าตกใจ ไม่ใช่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่นิเวศน์ของมันทั้งหมด มันมีโรงแรมมาขึ้นแล้ว โอ้โห---แสดงว่าการพึ่งพาอาศัยต่อโรงพยาบาลสูงมาก

…แต่ปัญหาคือ เราทนอยู่ในเมืองคุณภาพแบบนี้ได้อย่างไร เราไม่ปริปากบ่นขนาดนี้ได้อย่างไร เราไปบ่นเรื่องอื่นหมด เรามักจะบ่นเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ อย่างการไปบ่นเรื่องหวย คุณเป็นเจ้าของด้วยเหรอ ถามว่าไม่ว่าใครเป็นเจ้าของหวย ชีวิตคุณเปลี่ยนเหรอ มีหลายเรื่องในชีวิตที่ไม่ว่าใครถูกใครผิด ชีวิตก็ไม่เปลี่ยน แล้วคุณเสียเวลาไปถกในเรื่องเหล่านี้เพื่ออะไร พลังงานส่วนใหญ่ที่คุณมี ที่จะใช้เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนเมือง เปลี่ยนอนาคตประเทศ ทำไมคุณไม่ใช้ ในทุกวันนี้ เราเสียเวลาใช้พลังงานไปกับเรื่องที่มันไม่เปลี่ยนแปลงชีวิต ไม่ว่าใครถูก-ใครผิดเยอะมากๆ ไม่ใช่แค่ระดับปัจเจกนะ แต่รวมถึงสื่อมวลชน สังคมทั้งหมด

…นี่คือเนื้อหาที่พยายามส่งไปในหนังสือว่า ถ้าคุณยังใช้พลังงาน และเวลาอันมีจำกัดของชีวิตไปกับเรื่องที่มันไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตคุณและผู้อื่น มันเป็นการสูญเปล่าอย่างไร้ประโยชน์ คุณสามารถทนทุกข์อยู่ในสภาพการจราจรที่แย่ที่สุดในโลก สภาพอากาศที่แย่ที่สุดในโลกโดยไม่บ่นอะไร แต่คุณจะลงทัณฑ์ผู้คนในโลกออนไลน์ตามกระแสแล้วคิดว่าทุกอย่างที่เหลือจะดีขึ้นเอง คำตอบคือมันจะไม่ได้ดีขึ้น เราไม่รู้สึกถึงอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองเราให้ไปในทางที่ดีขึ้นมากี่ปีแล้ว เราไม่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ที่เราเลือกแล้วได้คุณภาพดีมากี่ปีแล้ว”

ทุบหม้อข้าว

การสนทนายืดยาวไปจนถึงเวลาสนธยา ซึ่งบอกได้ด้วยแสงแดดสีทองที่ส่องผ่านม่านฝุ่น PM 2.5 ลงมาที่ริมหน้าต่างห้องทำงานของภิญโญ กระนั้น ครัวซองต์และขนมปังมะกอกสดใหม่ที่ถูกสั่งมาจากร้านขนมปัง Maison Eric Kayser และกาแฟเบลนด์เฉพาะจากเคนยา กัวเตมาลา และแม่ลาน้อยของสำนักพิมพ์ Openbooks ที่ภิญโญลงมือดริปเองเพื่อเป็นกำนัลหลังการสัมภาษณ์ ช่วยทำให้ปัญหาเร่งร้อนภายนอกดูเหมือนจะเบาลงไปส่วนหนึ่ง และความเบาในโลกภายในนี้เองดูเหมือนจะเป็นเคล็ดลับของภิญโญ

“ก่อนที่คาร์ล ยุง (นักจิตบำบัดผู้ก่อตั้งสำนักจิตวิทยาวิเคราะห์) จะตายจริงๆ หลายปีก่อนหน้านั้น เขาเคยวูบดับไป ยุงเขียนไว้ในอัตชีวประวัติเลยว่า ตอนนั้นเขารู้สึกเหมือนตัวเองลอยขึ้นมา เห็นโลกเป็นวงโค้ง เห็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แล้วเขาก็เห็นมหาวิหารลอยอยู่ที่เขาได้หลุดเข้าไปแล้วก็มีประสบการณ์ทางจิตมากมายก่อนจะฟื้นขึ้นมา เหมือนกับว่าพระเจ้าพายุงซึ่งศึกษาจิตวิทยามาทั้งชีวิตออกไปเห็นจักรวาลข้างนอก ส่วนไอน์สไตน์ ซึ่งศึกษาเรื่องจักรวาลมาทั้งชีวิต หนังสือบอกว่าตอนกำลังจะตาย ไอนสไตน์รู้สึกถึง ‘อนันตภาวะ’ ภายใน ซึ่งไม่ใช่จักรวาลอย่างทฤษฎี

…นี่คืออัจฉริยะที่สุดแล้ว คนที่เข้าใจจักรวาลภายนอกสุดคือไอนสไตน์ คนที่เข้าใจภายในที่สุดคือคาร์ล ยุง แต่สุดท้ายทั้งสองคนได้เห็นว่าไม่มีนอก-ไม่มีใน มันเป็นหนึ่งเดียวกัน ในมหากาพย์มหาภารตะที่เขียนว่าพระกฤษณะกับอรชุนไปรบที่ทุ่งกุรุเกษตร จริงๆ แล้วทุ่งกุรุเกษตรไม่ได้อยู่ข้างนอก สิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกเป็นแค่นิทานไม่ให้คนง่วง ถ้าไปอ่าน ชื่อภาษาสันสกฤตของตัวละครแต่ละตัวในมหาภารตะเป็นตัวแทนนิสัยคุณสมบัติบางอย่างของมนุษย์ ต่อสู้กันเองภายใน กุรุเกษตรอยู่ในใจ สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณเห็นว่าคุณจะแก้ปัญหาด้านนอกได้ก็ต่อเมื่อคุณมาแก้ปัญหาข้างใน และถ้าคุณไม่มีสันติภายใน คุณไปแก้ปัญหาข้างนอกไม่ได้ เรื่องของปัจเจกกับเรื่องของโครงสร้างจึงไม่เคยแยกออกจากกัน พอคุณเห็นอย่างนี้ คุณก็จะ ‘อ๋อ’ มันเป็นภาวะที่อิ่มเอมใจ จักรวาลภายนอกกับจักรวาลภายในคือเรื่องเดียวกัน”

เมื่อพิจารณาจากความปั่นป่วนกว้างขวางอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนเทคโนโลยี และสภาพภูมิอากาศแล้ว การแก้วิกฤตต่างๆ ที่ห้อมล้อมกรุงเทพฯ คงไม่อาจรวบรัดไปกว่าการตีเมืองจันท์หรือการกู้กรุงศรีอยุธยา กระนั้น หนึ่งบทสรุปที่แน่ชัดจากภิญโญและขนมปังมื้อใกล้ค่ำก็คือ สถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม หนึ่งสิ่งที่ทุกคนทำได้คือการกินให้อิ่ม และตระเตรียม ‘ภายใน’ ให้พร้อมก่อนออกไปกรำงานหนักให้เต็มที่

และถ้าทุกคนทำได้ดี ข้าวเช้าย่อมจะยังมีมาถึงในยามรุ่งของอีกวัน