HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


Finding the Right Balance

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ชี้โครงสร้างแห่งดุลยภาพเพื่อออกแบบสังคมที่ยั่งยืน

ธนกร จ๋วงพานิช

บุคลิกนุ่มนวลภายใต้ชุดสูทเรียบกริบ ถ้อยคำสุภาพระมัดระวัง ตลอดจนตำแหน่งอดีตผู้นำขององค์กรที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ฝ่ายบุ๋น’ คอยบรรเทาความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ยากจะนึกถึงบทบาทของดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะ ‘นักบู๊’ ผู้ผ่านสมรภูมิ

อย่างไรก็ตาม ใน ‘จดหมายจากใจถึงอาจารย์ ป๋วย’ หรือจดหมายเปิดผนึกที่เขาเขียนขึ้นเพื่อสื่อสารถึงความคิดในแต่ละห้วงขณะของการ ทำงานที่ธปท. ดร.ประสารกลับเลือกจะพูดถึง แรงบันดาลใจจากโคลงสี่สุภาพที่ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยประพันธ์ไว้ในวัยหนุ่มว่า “กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี กูเกิดมาก็ที หนึ่งเฮ้ย กูคาดก่อนสิ้นชี- วาอาตม์ กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น” เป็นฉบับแรก ราวกับจะบอกใบ้ว่าเขาพร้อมจะทำงานในตำแหน่งเดียวกันนี้ด้วยความกล้าได้กล้าเสียไม่ต่างกัน ยิ่งในเวลาต่อมา เมื่อดร.ประสารยืนกรานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลผู้ถืออำนาจเต็มที่จะปลดเขาได้ตามกฎหมาย แม้ในยามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้นออกมาให้สัมภาษณ์ชัดเจนแก่สื่อว่า “คิดจะปลดผู้ว่าฯ ในทุกขณะ” รัฐบาลและสังคมจึงได้ตระหนักว่า เบื้องหลังถุงมือกำมะหยี่ของดร.ประสาร คือกำปั้นเหล็กที่ไม่สามารถถูกบีบให้คลายจากหลักการได้โดยง่าย ผู้สนับสนุนบางคนยกอดีตสมัยที่เขาเป็นนายกสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำหน้าที่เจรจากับรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหา 13 คนในเหตุการณ์ ‘14 ตุลา 2516’ เพื่อยืนยันว่ากระทั่งอำนาจเผด็จการก็ไม่ใช่สิ่งที่ดร.ประสารเคยกลัวเกรง

กระนั้น สำหรับดร.ประสาร ประวัติที่เล่าย้อนหลังนี้จะมากน้อยก็ล้วนมีการสรุปแบบ ‘เหมารวม’ สิ่งที่มีนัยสำคัญยิ่งกว่าคือคนเราจะตัดสินใจอย่างไรในสถานการณ์จริง ยามที่บุคคลและเหตุการณ์ยังหมุนเวียนแปรเปลี่ยน โดยเฉพาะในเมื่อในทุกหยางมีหยิน ในทุกข้อดีมีข้อเสีย และแม้หลักการเดียวกันในคนละสถานการณ์อาจให้ผลลัพธ์ที่ต่างดุจกอล์ฟคนละเกม

ชีวิตที่ดี

สำหรับผู้ติดตามการเมืองในช่วงปี 2554 สถานการณ์จะละเอียดอ่อนอย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างธปท.และรัฐบาลถือเป็นเรื่องที่ชัดเจน ไม่ว่าจะจากการที่ธปท. ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปตั้งเป็นกองทุนหาผลกำไร การที่ธปท. ไม่ยอมให้มีการโอนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.1 ล้านล้านบาทไปไว้กับธปท. และท้ายที่สุดคือการที่ธปท. ไม่ยอมลดดอกเบี้ยนโยบายที่รัฐบาลหวังว่าจะช่วยชะลอเงินทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง และเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยในขณะนั้น

“ตอนนั้นผมกำลังจะต้องประชุมกับคณะกรรมการนโยบายการเงินเพื่อกำหนดดอกเบี้ย สถานการณ์คือ หนึ่ง รัฐบาลส่งสัญญาณเข้มข้นว่าอยากให้เราลดดอกเบี้ย สอง เราบังคับกรรมการคนอื่นให้โหวตอย่างที่เราต้องการไม่ได้ สาม คือเราทราบว่ารัฐบาลกำลังเตรียมร่างพระราชกำหนดจะปลดเราออก ขณะประชุม หลังจากคณะกรรมการฟังข้อมูลต่างๆ แล้วอภิปรายกัน กรรมการอาวุโสท่านหนึ่งก็ยกโจทย์อันหนึ่งขึ้นมา คือท่านบอกว่าดูตามข้อมูลแล้ว เป็นไปในทางว่าไม่ควรลดดอกเบี้ย แต่ถ้าคำนึงถึงสภาพทางการเมือง ควรต้องพิจารณาปัจจัยเพิ่มเติมว่า ถ้าไม่ลดดอกเบี้ย ผลกระทบทางการเมืองจะเป็นอย่างไร

…โจทย์นี้ต้องถือว่าเป็นจุดพลิกผันของการประชุมวันนั้นเลย ตอนนั้นผมจึงเล่าให้ที่ประชุมฟังว่า ตอนผมเข้าทำงานแบงก์ชาติใหม่ๆ มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าการฯ ท่านหนึ่ง ซึ่งก็ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน ครั้งกระนั้นข้อมูลวิชาการชี้ว่าไม่ควรลดดอกเบี้ย แต่เนื่องจากผู้ว่าการฯ ท่านได้รับแรงกดดันจากรัฐมนตรีคลัง ท้ายที่สุดท่านก็ยอมประกาศลดดอกเบี้ย แต่ปรากฏว่าไม่นาน ท่านก็ถูกให้ออกจากการเป็นผู้ว่าการฯ ซึ่งทำให้หลังจากนั้นท่านรู้สึกไม่มีความสุข และล้มป่วย เรื่องนี้คือสิ่งที่ผมนึกถึงทุกครั้งที่เดินผ่านรูปวาดของผู้ว่าการฯ ท่านนั้น

…ดังนั้น ผมจึงบอกว่า ถ้าจะถูกกระทบเพราะการเมือง คนที่ถูกกระทบหนักสุดก็คือผู้ว่าการฯ แต่สำหรับผม ชีวิตนี้ยังมีชีวิตหลังเกษียณ ตำแหน่งผู้ว่าการฯ มีเทอม เข้าวันแรกก็รู้วันออกแล้ว ดังนั้นจะออกช้าเร็วไม่สำคัญเท่ากับว่าช่วงที่อยู่ในตำแหน่งทำอะไร เพราะจะมีผลต่อชีวิตหลังจากนั้น และผมอยากให้ชีวิตช่วงนั้นเป็นชีวิตที่น่าภูมิใจ พูดเสร็จก็มีการโหวตกัน ปรากฏผลออกมาเป็น 6-1 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เราประเมินว่าฝ่ายที่ไม่ลดดอกเบี้ยคงเป็นเสียงข้างน้อย ก็กลับเป็นเสียงข้างมาก”

อย่าไปคิดว่า public office คืออำนาจหรือกฎระเบียบอย่างเดียว ถ้าคนเขาปราศจากความไว้ใจหรือ trust เราก็ไม่มีทางได้รับการสนับสนุนและทำหน้าที่เป็น public office ได้

 

สามเสาหลัก

ในขณะที่สังคมเห็นว่าการคัดง้างกับฝ่ายการเมืองได้โดยไม่เพลี่ยงพล้ำคือหนึ่งใน เรื่องราวความสำเร็จขององค์กร ‘กึ่ง’ อิสระอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ในจดหมายจากใจ ถึงอาจารย์ป๋วยฉบับสุดท้าย ดร.ประสารกลับดูเหมือนจะเสียดายว่าการประสานด้านนโยบายกับรัฐบาลยัง “น่าจะทำได้ดีกว่านี้” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาไม่เห็นว่าเรื่องใดๆ สามารถสรุปได้ง่ายเช่นขาวกับดำ อย่าว่าแต่เรื่องที่ใหญ่และ ซับซ้อนอย่างการบริหารจัดการประเทศหรือสังคม

“เวลาเราพูดถึงการจัดการสิ่งต่างๆ ของสังคม ผมว่าสิ่งที่จะช่วยอธิบายให้ง่ายก็คือหลักคิดในเรื่อง ‘สามเสา’ สามเสาที่พูดถึงคืออะไรบ้าง เสาแรกเลยคือการจัดการผ่านการออกข้อกำหนดกฎหมาย กฎเกณฑ์ต่างๆ เสาที่สองคือการจัดการผ่านการสร้างแรงจูงใจ หรือที่สมัยใหม่เราเรียกว่ากลไกตลาด ส่วนเสาที่สามว่าด้วยจริยธรรมหรือวิจารณญาณของบุคคล จะเห็นได้ว่าสังคมดีหรือร้าย จะมีการทำงานของสามเสานี้เสมอ และการพิจารณาสามเสานี้ต้องเข้าใจเรื่องลักษณะหยิน-หยางตามธรรมชาติ ว่าอะไรที่เราเห็นว่าเป็นจุดแข็งสุดท้ายก็มักมีจุดอ่อน ในขณะที่อะไรที่เราเห็นว่าอ่อนแอ ก็มีจุดแข็งของมัน

…อย่างเสาแรกกฎหมาย จุดแข็งคือความชัดเจน อะไรทำได้ทำไม่ได้ก็ออกเป็นกฎหมาย ออกข้อบังคับ แต่ข้อจำกัดคือกฎหมายที่มากไป หรือหยุมหยิมไปจนบางทีสร้างภาระต้นทุน ก็ทำให้คนไม่เคารพและหาทางเลี่ยง

…ส่วนเสาเรื่องกลไกตลาด ข้อดีคือมีประสิทธิภาพสูง ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการบริหารจัดการ แทนที่จะต้องไปจ้างคนเป็นร้อยเป็นพันเพื่อมาบังคับให้คนอื่นทำอะไร ถ้าสร้างความเข้าใจดีๆ สร้างกลไกดีๆ ทุกอย่างก็จะเป็นไปตามจุดสมดุลของมันได้เอง แต่บางทีก็มีข้อเสียที่ว่า กลไกนี้บางทีแรงจูงใจส่วนตัวอาจเหนือกว่าแรงจูงใจส่วนรวม เช่น คนมักหนีภาษีเพราะเห็นว่า ตัวเองได้เยอะ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ของเงินที่หนีภาษี โดยไม่สนใจผลเสียที่กระจายไปกับสังคมในวงกว้าง นี่คือจุดอ่อนที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘โศกนาฎกรรมของส่วนรวม’ หรือ Tragedy of the Commons คล้ายๆ กับที่มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ พูดถึงเรื่องรัฐวิสาหกิจว่า ‘When the public owns, nobody owns. When nobody owns, nobody cares.’

…สุดท้าย เสาที่สามคือเรื่องจริยธรรม เสานี้มีความละเอียดอ่อนมากกว่าสองเสาแรก แต่ก็มีหยิน-หยางของมันเหมือนกัน ตรงที่ว่าถ้าเสานี้ดีก็ช่วยได้เยอะ ทำให้ระบบกฎหมาย ระบบตลาดไม่เสีย แต่ถ้าเกิดวิกฤตในเรื่องวิจารณญาณขึ้นมาอย่างที่เรารู้สึกว่าเกิดในสังคมโลกเวลานี้ มันก็จะนำพาไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่ดีได้ อย่างเช่นผู้นำสหรัฐอเมริกาใช้วิจารณญาณถอนตัวออกจากสนธิสัญญาเรื่องสิ่งแวดล้อม บอกไม่เกี่ยวกับสหรัฐฯ ถ้าใช้วิจารณญาณส่วนตัวออกมาแบบนี้มันก็เกิดผลเสีย”

ความไว้วางใจ

แนวคิด ‘สามเสา’ ซึ่งประกอบด้วยการบริหารจัดการทั้งองค์ประกอบที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ดูจะเป็นผลึกความคิดที่ล้อไปได้อย่างดีกับเส้นทางชีวิตของดร.ประสาร ผู้ทางหนึ่งก็ได้รับการศึกษาในสาย ‘รูปธรรม’ ผ่านปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทและเอกสาขาการบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็ยังมีประสบการณ์ยาวนานในสถาบันของรัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งล้วนต้องปฏิบัติงานอยู่ท่ามกลางสิ่งที่เป็น ‘นามธรรม’ กล่าวคือความรู้สึกและความคาดหวังต่างๆ ของประชาชน

“ผมพูดอยู่บ่อยๆ ว่า Public office is public trust อันนี้เป็นหัวใจ อย่าไปคิดว่า public office คืออำนาจหรือกฎระเบียบอย่างเดียว ถ้าคนเขาปราศจากความไว้ใจหรือ trust เราก็ไม่มีทางได้รับการสนับสนุนและทำหน้าที่เป็น public office ได้ อย่าลืมว่าในการดำเนินนโยบายต่างๆ หลายครั้งเป็นเรื่องของสิ่งที่ยังไม่เกิด ซึ่งเราทำได้แค่เพียงอธิบายว่าเรามีความคิดริเริ่มอย่างนี้ๆ อยากจะทำนโยบายอย่างนี้ๆ ถ้าคนฟังเขาขาดความไว้วางใจตั้งแต่ต้น ก็เป็นบ่อเกิดของอุปสรรคได้สารพัด เช่น เขาก็จะ บอกว่าไม่เห็นด้วย ไม่เอาด้วย ฉันไม่ปฏิบัติ หลายครั้งงานของ public office ต้องอาศัยคนอื่นมาช่วยปฏิบัติ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับเรา โอกาสที่จะเกิดผลก็น้อย

…ยกตัวอย่างธนาคารกลาง ภารกิจใหญ่มากเรื่องหนึ่งคือนโยบายการเงิน พูดง่ายๆ คือตัดสินใจขึ้นหรือลดดอกเบี้ย แต่ความจริงธนาคารกลางไม่ใช่คนที่ไปปล่อยกู้กับประชาชนหรือธุรกิจ คนที่ไปปล่อยกู้คือธนาคารพาณิชย์ คือสถาบันการเงิน ที่มีลูกค้าเป็นหลายสิบล้านคน ถ้าเราบอกเขาว่าในยามนี้ดอกเบี้ยควรจะขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์เขาไม่ไว้วางใจเรา เขาไม่อยากขึ้น มันก็ไม่มีผลเลย มันไม่เกิด multiplying effect ใดๆ ทั้งสิ้น แต่ตัวอย่างแบบนี้เกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการเต็มไปหมด เช่นเรื่องกระบวนการยุติธรรม คนเขาไม่ไว้วางใจ จะสั่งไปไหนเขาก็ไม่เชื่อ แล้วถ้าเขาไม่เชื่อเยอะๆ เข้ามันจะยุ่ง เพราะระบบนี้เขาต้องเชื่อ มันถึงจะยังอยู่

สุดท้ายมันกลับมาเรื่องสามเสา สังคมมีเสาของระเบียบกฎหมาย เสาของกลไกตลาด และเสาของจริยธรรม จะดำเนินการอะไรต้องอิงอยู่บนสามเสานี้ให้ดี แล้วก็ในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพราะแต่ละเสามีหยินหยางของมัน

…ทุกวันนี้มันก็สะท้อน เรามีการยึดอำนาจ มีการตั้งรัฏฐาธิปัตย์ แต่ถ้าประชาชนไม่เชื่อ ก็ยังเดินอะไรไม่ได้ รัฐบอกว่าถ่านหินเวลาทำออกมาดีๆ มันจะไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ถ้าชาวบ้านไม่เชื่อ คุณก็ไปตั้งโรงไฟฟ้าไม่ได้ อย่าไปเห็นว่า public office คือตึกสำนักนายก ทำเนียบรัฐบาล ตึกกระทรวงอุตสาหกรรม ตึกกระทรวงการคลัง แต่ public office คือพลังที่จะดำเนินนโยบายสาธารณะ ตึกจะสวยแค่ไหน จะมีกฎหมายมาตราอะไร มีรถถังก็ทำไม่ได้ ตอนที่ยึดอำนาจใหม่ๆ ประชาชนยอมรับเพราะตอนนั้นเกิดความไม่เรียบร้อยในสังคม ทะเลาะกันจนการดำเนินชีวิตในสังคมไม่ปกติ คนยอมเฉพาะเหตุการณ์เดียว เกิด public policy ได้ครั้งนั้นครั้งเดียว แต่ต่อมาพอจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้า การเปิดสัมปทาน การประมูลใบอนุญาตสี่จี ห้าจี เรื่องโครงการอีอีซีจะเดินไม่เดิน อะไรต่างๆ นานา ถ้าไม่มี public trust แล้วมันไปไม่ได้ทั้งนั้น

…สุดท้ายมันกลับมาเรื่องสามเสา สังคมมีเสาของระเบียบกฎหมาย เสาของกลไกตลาด และเสาของจริยธรรม จะดำเนินการอะไรต้องอิงอยู่บนสามเสานี้ให้ดี แล้วก็ในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพราะแต่ละเสามีหยินหยางของมัน อย่างการจะสร้าง public trust เสาจริยธรรม คงต้องมีเป็นพื้นไว้ก่อน แต่แน่นอน เสานี้ขยายผลยาก ก็เลยต้องกระเถิบมาเสาสอง เรื่องของกลไกตลาด ทำความโปร่งใสให้มาก เสร็จแล้วอะไรที่กลไกตลาดยังมีข้อจำกัดอยู่ก็เติมด้วยเสาที่สามคือกฎหมาย จะเห็นว่าสามเสานี้ถ้าใช้ประกอบกัน ในสัดส่วนที่พอเหมาะ ก็จะได้ประสิทธิภาพ ได้ความดีงามและความเรียบง่าย เพราะแต่ละเสาอุดช่องโหว่ซึ่งกันและกัน และในขณะเดียวกันก็คุมกันเองด้วย

…แต่เวลานี้เป็นวิกฤติในเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ตรงที่ไม่มีความไว้วางใจในเรื่องวิจารณญาณ กฎหมายเลยออกมาในทิศทางที่ไม่ไว้วางใจอย่างหนัก ตอนนี้การผ่านกฎหมายในแต่ละฉบับ mindset เป็นไปในทางระแวง เขียนคุมนู่นคุมนี่จนน่ากลัว ผลที่ตามมาคือคนดีๆ เก่งๆ จะไม่ค่อยอยากเข้าระบบราชการ ภาระต้นทุนในการทำธุรกิจก็สูงขึ้น อย่างล่าสุดเรื่องห้ามคนมีส่วนได้เสียเข้าไปนั่งในคณะกรรมการของรัฐ กฎนี้จะตัดคนทำงานไปเยอะเลย อย่างกรรมการนโยบายสถาบันการเงินของแบงก์ชาติที่อยากได้คนที่มีความรู้เรื่องสถาบันการเงินมาให้ข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎระเบียบที่จะออก ถ้ามองจากมุมสถาบันการเงินจะยังทำธุรกิจได้ไหม แต่กฎหมายนี้ก็จะห้าม เท่ากับห้ามคนที่มีประสบการณ์ความรู้ เท่ากับตัดทรัพยากรไปเสี้ยวใหญ่ๆ เลย นี่คือการเสียสมดุล”

นอกในเสมอกัน

ไม่เพียงแต่ดร.ประสารจะใช้หลักคิดเรื่องสามเสากับการใคร่ครวญความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ในระดับประเทศเท่านั้น กระทั่งในระดับองค์กรอย่างการบริหารธนาคารแห่งประเทศไทย เขาก็เห็นว่าคือภาพย่อของเรื่องเดียวกัน กล่าวคือภาพของการกำกับดูแลที่ดี หรือ Good Governance

“เราจะบริหารโดยใช้เสาที่หนึ่งอย่างเดียวไม่ได้ จะไปบอกว่าเราเป็นผู้ว่าฯ แล้วมีอำนาจเหนือเขา สั่งแล้วต้องทำเหมือนกับฉันยึดอำนาจมาแล้วจะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ อย่างนี้ไม่ได้ ต้องอาศัยอีก 2 เสามาประกอบกันด้วย ดังนั้นในการทำงานจึงต้องมีกระบวนการพูดคุย กระบวนการสื่อสาร ให้โปร่งใส มีส่วนร่วม ความจริงความโปร่งใส เป็นตัวที่เอื้อให้เสาที่สองคือกลไกตลาดดำเนินไปได้ดี เพราะกลไกตลาดจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อข้อมูลของแต่ละฝ่ายครบ ไม่ขาดตกบกพร่อง กลไกตลาดจึงจะหาจุด equilibrium หรือจุด optimum ของมันได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่ข้อมูลไม่ดี มันจะ suboptimum หรือทำให้กลไกบิดเบี้ยวไป ตรงกันข้าม ถ้าโปร่งใส พนักงานทุกคนก็จะได้มีโอกาสเรียนรู้

ความจริงความโปร่งใส เป็นตัวที่เอื้อให้เสาที่สองคือ กลไกตลาดดำเนินไปได้ดี เพราะกลไกตลาดจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อข้อมูลของแต่ละฝ่ายครบ ไม่ขาดตกบกพร่อง กลไกตลาดจึงจะหาจุด equilibrium หรือจุด optimum ของมันได้ ถ้าเมื่อไหร่ที่ข้อมูลไม่ดี มันจะ suboptimum หรือทำให้กลไกบิดเบี้ยวไป

…นอกจากนั้นการสร้างการมีส่วนร่วมในการทำงาน ความจริงก็เป็นการทำให้เสาจริยธรรมดีขึ้นด้วย ท่านพุทธทาสบอกว่าในกระบวนการพัฒนาจิตใจ คนเราต้องประกอบไปด้วยการ ‘รู้จักตัวเอง เคารพตัวเอง เชื่อมั่นตัวเอง บังคับตัวเอง และมีความพอใจ’ แต่จะเห็นได้ว่าเดี๋ยวนี้กระบวนการพัฒนาจิตใจเหล่านี้ถูกจำกัด เพราะมันไม่มีการมีส่วนร่วม

…ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วม การพัฒนาจิตใจจะช้า เพราะอย่างข้อแรก ‘การรู้จักตัวเอง’ บางทีก็ต้องอาศัยกระจกเงา คือต้องได้ลองมีส่วนร่วมและรู้จักคนอื่น ถึงจะสะท้อนให้เราได้รู้จักตัวเอง สอง ‘การเคารพตัวเอง’ ถ้าเราไม่มีส่วนร่วมหรือไปมีบทบาทอะไร เราก็คงไม่รู้ว่าต้องไปเคารพตัวเองอะไร เพราะเราไม่เคยได้พิสูจน์อะไร สาม ‘ความเชื่อมั่นตัวเอง’ ก็คือต้องได้ทำ ได้บรรลุผลอะไรบ้างอย่างแล้ว ถึงจะเกิดความเชื่อมั่นได้ สี่ ‘การบังคับตัวเอง’ ก็คือคนเราต้องมี self-discipline มีหิริโอตัปปะไม่ทำชั่ว ไม่ทำเรื่องไม่ดี เกรงกลัวการทำความผิด สุดท้าย ‘ความพอใจ’ คือความภูมิใจ ความมีกำลังใจ ซึ่งสำคัญมาก เพราะเสาจริยธรรมนั้นถ้าปัจเจกไม่รู้สึกพอใจ ไม่รู้สึกภูมิใจ มันก็ไม่มีพลัง ตรงกันข้าม ถ้าคนภูมิใจว่าวันนี้เราได้ทำเรื่องที่ดี จะเห็นว่าภาระของเสาหนึ่งกับเสาสองหายไปแบบโล่งเลย จะมีกฎหมายหรือมีตลาดบังคับหรือไม่ คนก็ไม่ทำผิด

…ดังนั้น ถ้าเกิดเราทำอะไรแล้วไม่ให้คนมีส่วนร่วม กระบวนการในการพัฒนาทั้ง 5 องค์ประกอบของจริยธรรมก็ตาย การจะสอนศีลธรรมอย่างท่องจำ มันไม่มีประโยชน์ เพราะเดี๋ยวความจำเขาก็หายไป บางคนโตขึ้นมาอายุตั้งเยอะยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นยังไง การจะทำให้เขารู้จักว่า ตัวเองเป็นยังไง มันจึงต้องทำให้เขามีส่วนร่วม อย่างเราคุยกันอย่างนี้ คำถามทำให้ผมต้องตอบ การจะตอบ ก็ต้องคิด มันก็ทำให้ทบทวน ทำให้รู้จักว่าเราเป็นยังไง ถ้าผมไม่ได้ร่วมในกิจกรรมนี้ ผมก็จะไม่ได้คิด ไม่ได้ตอบ”

พัฒนาการตัวตน

หากการมีส่วนร่วมกับบริบทต่างๆ คือองค์ประกอบสำคัญของการรู้จักตัวเองและพัฒนาจริยธรรม ดร.ประสาร ผู้ที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช ยก “ความซื่อสัตย์ สุจริตที่ไม่เคยมีที่ตำหนิ” มาเป็นเหตุผลข้อแรกจากทั้งหมด 13 ข้อ ที่เลือกเขาเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้ที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารผู้จัดการ 360° ปี 2544 ให้เป็น Role Model ทั้งจากการโหวตของผู้อ่าน และซีอีโอบริษัทต่างๆ ด้วยเหตุว่าเป็น “คนเก่งและคนดี” นับเป็นคนหนึ่งที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีส่วนร่วมมาโดยตลอด

“พอมองย้อนหลังช่วงหกสิบกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะถือได้ว่าเราโชคดี ในแต่ละช่วงเรามักจะได้พบคนที่มีส่วนพลิกผันพัฒนาการในตัวเรา เป็นกัลยาณมิตรที่เรียกว่าเป็น ‘game changer’ เช่น ช่วงมัธยมเข้าโรงเรียนคริสต์ เราก็จะเห็นพวกบาทหลวงซึ่งส่งอิทธิพลต่อจิตใจเรามากว่า เอ๊ะ---ทำไมคนเหล่านี้ยอมเดินทางไกลมาจากสเปน มาจากอินเดีย แล้วก็มาสอนคนไทย เอาสัปปะรดมาปลูกเมืองไทย สอนคนเล่นฟุตบอลในเมืองไทย บางคนถึงขนาดว่าตั้งโรงเรียนรับคนโรคเรื้อนไปรักษา ทำไมเขาต้องทำอย่างนี้ ตอนปลายๆ มัธยมศึกษา เราออกค่ายอาสาสมัคร ได้เห็นชนบทซึ่งไม่เหมือนในกรุงเทพฯ วิถีชีวิตต่างๆ ไม่ได้สะดวก เราก็ได้ประสบการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงเรามากขึ้น

…พอเข้ามหาวิทยาลัย เราไปร่วมในกิจกรรมนิสิตนักศึกษาในช่วงเวลาที่นิสิตนักศึกษาค่อนข้างตื่นตัว ตอนนั้นกระแสเรื่องการทำงานให้สังคมสูงมาก ไม่มีใครพูดว่าตัวเองมาจากครอบครัวร่ำรวย แต่ใครที่บรรพบุรุษสามสี่ชั่วคนเป็นชาวนามาก่อนจะภูมิใจมากเล่าให้คนอื่นฟัง มันก็เป็นยุคสมัย ได้เจอเพื่อนรุ่นพี่ ซึ่งมีความคิดความอ่านเรื่องสังคมอยู่มาก เช่นธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น เขาตั้งคำถามอยู่เรื่อยจนเรารู้สึกว่า เออ---ทำไมเค้าถึงตั้งคำถามแบบนั้นได้ มันก็แปลก กิจกรรมสมัยก่อนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย ทำให้เราได้เจอคนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ธรรมศาสตร์ก็แบบหนึ่ง เกษตรฯ ก็อีกแบบหนึ่ง ไปเจอรามคำแหงก็อีกแบบหนึ่ง ก็เป็นการเรียนรู้

…แล้วก็มีโอกาสดี ได้ไปเรียนเมืองนอก ไปมหาวิทยาลัยแบบที่อู้หู---คนทั่วโลกอยากจะเรียน ทำให้ได้เจอคนที่ โอ้โห---เก่งจริงๆ ทำให้เราสนใจตั้งคำถามว่า คนอย่างนี้เขาเรียนกันอย่างไรในชั้นประถม ในชั้นมัธยม อย่างเมื่อก่อนเราฟังอาจารย์เก่งๆ เขาบรรยายเสร็จ เราก็ เราก็คิดว่า อาจารย์บรรยายดี ได้ประเด็นอะไรเยอะ แต่ว่าพวกเพื่อนที่มาจากประเทศอื่น เขามีแต่ถามคำถามเวลาเขาไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ แล้วเขาก็มีเหตุผล ทำให้เรารู้สึกว่า พวกนี้เขาตั้งคำถามโดยธรรมชาติ ไม่ต้องใช้พลังงาน เราไปเรียนกับคนพวกนี้เราใช้พลังงานมากเป็นสองเท่า เหนื่อยมาก เวลาเราไปเรียนเราจะถามแต่ว่า เอ๊ะ---จะทำอย่างไร แต่คำถามของพวกเขาคือ ทำไมต้องทำแบบนั้น เขาจะถามว่าทำไม ทำไม ซึ่งเราไม่เคยตั้ง อันนี้ก็ถือว่าเป็นกัลยาณมิตรเหมือนกัน

ถ้าเสถียรภาพนิ่งอยู่ระดับต่ำจนเกินไป คนก็ไม่มีความสุข เสถียรภาพมีทั้งที่เป็นจุดต่ำกับจุดสูง เราอยากได้ เสถียรภาพที่จุดสูง ไม่ใช่เสถียรภาพที่จุดต่ำ ถ้าเปรียบเทียบอย่างสุดขั้ว คนที่เสียชีวิตก็คือไม่เคลื่อนไหว ไม่แปรปรวน ไม่ผันผวน แต่ก็เสียชีวิต เพราะตาย เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

…จะเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นฉับพลัน และก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดมาแต่เกิด แต่ว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้จากกัลยาณมิตรในสารพัดโอกาส หลักสำคัญคือ เราเป็นคนช่างสังเกต เราพยายามใช้ประโยชน์จากกัลยาณมิตร จากอะไรที่เราอ่าน อะไรที่เราฟัง อะไรที่เราพลาด”

การศึกษาที่ตอบโจทย์

ไม่เพียงการศึกษาเรียนรู้จะเป็น game changer สำหรับชีวิตดร.ประสาร แม้กระทั่งสำหรับการหาจุดเปลี่ยนให้ประเทศ เขาก็เห็นว่าหนีไม่พ้นการปฏิรูปการศึกษา

“ระบบการศึกษาไทย เราไปแยกส่วนเร็วเกินไป สมัยนี้ไม่รู้เขาปรับเปลี่ยนแก้ไขบ้างหรือยัง อย่างสมัยผมเรียน มีสายวิทย์กับสายศิลป์ แล้วสายศิลป์ก็เรียกได้ว่าไม่ต้องไปเรียนคณิตศาสตร์มากเท่าไร ทั้งที่ความจริงถ้าเรียนก็จะได้เครื่องมือที่เป็นประโยชน์มาก การฝึกมาในสายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ ช่วยให้คนมีเครื่องมือโยงเหตุกับผลได้โดยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ช่วยในเรื่องการมองเห็นความสัมพันธ์ของชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งถ้ารู้จักใช้ ไม่ว่าจะไปทำศาสตร์ด้านไหน ทำงานด้านไหนก็จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้

…พูดไปแล้วความจริงสายศิลป์ เขาก็มีเครื่องมือของเขาเหมือนกัน อย่างเช่นวิชาปรัชญากับประวัติศาสตร์ ถ้าสอนให้เป็น ก็เป็นเครื่องมือคล้ายๆ คณิตศาสตร์ เพราะจะเป็นการวิเคราะห์ และเชื่อมโยงความสัมพันธ์ แต่ถ้าสอนไม่เป็น มันจะไม่เป็นเครื่องมือที่มีพลัง อย่างเช่นสมัยที่ผมเรียน เรียนประวัติศาสตร์ยุคพระนารายณ์ก็ได้แต่เรียนแบบจำเหตุการณ์ จำบุคคล มากกว่าจะสอนวิเคราะห์เรื่องราวความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นฐานล่าสุดที่มีละคร มันช่วยให้ประโยชน์ได้เยอะก็เพราะเขาเชื่อมโยงเหตุการณ์ให้เห็นความสัมพันธ์

…มหาวิทยาลัยสำคัญของเมืองนอก เบื้องหลังเขาโตมาจากพวก Liberal Arts คือปูพื้นไว้กว้างก่อน แล้วค่อยไปหาความชำนาญ อย่างหม่อมเต่า (หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล) ท่านเรียนปริญญาตรีที่เคมบริดจ์ ท่าน major สองสาขาเลยคือ วิศวะและเศรษฐศาสตร์ หรือมหาวิทยาลัยเยลในอเมริกา เขาก็โตมาจากพวก Liberal Arts ลักษณะสำคัญก็คือ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ให้ความยืดหยุ่นมากในการแสวงหาความรู้ของนักศึกษา ยังไม่เร่งรีบที่จะเจาะลึก เมืองไทยเราเข้าไปปีหนึ่งปีสองก็เริ่มจะเจาะลึก น้อยที่ที่จะเปิดความยืดหยุ่น แล้วเนื่องความจริงวิชาต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน พอเราแยกเร็วไปบางทีก็เลยเป็นปัญหา เช่นหม่อมเต่าท่านกล่าวเสมอว่านักเศรษฐศาสตร์ไทยจะหนักอะไรที่เป็นเรื่องนามธรรมมากไป พอเจอสถานการณ์แล้วปรับตัวไม่ดีจะไม่สามารถเสนอข้อแนะนำอะไรที่เป็นรูปธรรมให้เห็นผลได้ นี่เป็นจุดอ่อน ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่เยอะ”

นี่เองคือสาเหตุที่ในวาระปฏิรูปหลากหลายของรัฐบาลปัจจุบัน ดร.ประสารเลือกที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา โดยเขาดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการกองทุนและกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

“พอเราได้ทำเรื่องปฏิรูปกับรัฐบาลไปหลายชุด ก็จะเห็นชัดว่าหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ จะมาโยงกับเรื่องคนทุกๆ เรื่องเลย อย่างชุดปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจที่ผมเป็นประธาน โจทย์เยอะมาก แต่สุดท้ายเราจับเรื่องสำคัญแบ่งเป็นสามกลุ่มเรียกว่า ‘แข่งขันได้ กระจายทั่วถึง พัฒนายั่งยืน’ เรื่องแข่งขันได้ สุดท้ายก็มาลงเอยว่า คนเราเป็นยังไง คุณภาพความรู้เป็นยังไง เสาที่สอง พูดเรื่องการกระจายรายได้ ต้องเพิ่มโอกาสให้กับแรงงานไร้ทักษะ ก็เรื่องคน เสาที่สาม การพัฒนายั่งยืนก็หนีไม่พ้นต้องพูดเรื่องคุณภาพสถาบัน คุณภาพข้าราชการ ก็เรื่องคนทั้งนั้น

…ดังนั้นเรื่องการศึกษาอาจจะต้องใช้เวลา เป็นเรื่องนามธรรมมาก แต่ก็รับที่จะทำ เพราะมองไปแล้วถ้าไม่แก้ตรงต้นทาง ไปทำตรงปลายทางก็ยาก งานวิจัยของโปรเฟสเซอร์เจมส์ เฮกแมน นักเศรษฐศาสตร์ด้านการศึกษาที่ได้รับรางวัลโนเบลก็บอกว่า ถ้าลงทุนตรงต้นทางเสียก่อน ผลตอบแทนจะดีกว่าไปแก้ที่ปลายทาง ถ้ารอปลายทาง เด็กนอกระบบการศึกษาของเรา อาจจะกลายเป็นแว๊น เป็นอาชญากร เป็นภาระมหาศาล หรือแม้กระทั่งเราบอกว่าอาลีบาบากำลังจะมา โลกดิจิทัลกำลังจะมา ถ้าเราไม่มีคนรองรับเสียอย่าง ก็จะเป็นเรื่องน่าเสียดายโอกาสมาก”

ความท้าทายข้างหน้า

การพูดถึงโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะรองรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นด้วยการคุมให้เกิดเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น หรือการเพิ่มเสรีภาพและการเจริญเติบโตของตลาดเพื่อเร่งหาคำตอบสำหรับความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในโลกใบใหม่ และด้วยเหตุนั้นเอง บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพของประเทศจำเป็นต้องได้รับการทบทวนหรือไม่

“ปกติแบงก์ชาติไม่ว่าของประเทศไหน ก็ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพและการเจริญเติบโตประกอบกันในระดับที่เหมาะ คือถ้าเสถียรภาพนิ่งอยู่ระดับต่ำจนเกินไป คนก็ไม่มีความสุข เสถียรภาพมีทั้งที่เป็นจุดต่ำกับจุดสูง เราอยากได้เสถียรภาพที่จุดสูง ไม่ใช่เสถียรภาพที่จุดต่ำ ถ้าเปรียบเทียบอย่างสุดขั้ว คนที่เสียชีวิตก็คือไม่เคลื่อนไหว ไม่แปรปรวน ไม่ผันผวน แต่ก็เสียชีวิต เพราะตาย เราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น หรือนักกีฬาก็เหมือนกัน อย่างนักกอล์ฟเอรียา บางคนบอกว่าบางวันเขาเล่นดีมาก เพราะเขากล้าเล่นแบบเสี่ยง แต่ก็จะผันผวน ในขณะที่คุณ โมรียา พี่สาว จะเล่นสม่ำเสมอ ผันผวนน้อย ปรากฏว่าไม่นานนี้โมรียาเพิ่งได้แชมป์ นี่คือที่เราชอบ เราชอบเสถียรภาพในจุดสูง ถ้าเอาโมรียามาเปรียบเทียบกับผมซึ่งเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่น ผมก็ตีคะแนนไม่ค่อยผันผวน แต่ว่าตีแย่มาก เราอยากได้อย่างโมรียามากกว่าผม คือเสถียรภาพที่จุดสูงไม่ใช่เสถียรภาพที่จุดต่ำ

…แต่ที่คนมักจะเห็นคนกลางๆ อย่างเราเป็นแชมเปี้ยนด้านเสถียรภาพ ก็เพราะไม่ค่อยมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจรายอื่นที่มีพันธกิจนี้แล้วเขาก็ไม่มีเครื่องมือ ในขณะที่แบงก์ชาติมีเครื่องมือคือนโยบายการเงิน ควบคุมปริมาณ ราคาของเงิน เราจึงดูเหมือนออกมาพูดมากหน่อย แต่แน่นอน ถึงคุมอย่างนี้ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะไม่มีอะไรที่กระทบแล้วทำให้แตกร้าวได้เลย เพราะสุดท้ายเสถียรภาพที่เราพูดถึง คือเสถียรภาพในบางมิติ ถ้าเกิดมีการเข้ามา disrupt เข้ามาป่วนในมิติอื่น ก็ใช่ว่าจะทนได้เสมอไป เศรษฐกิจดีๆ บางครั้งเกิดวาตภัย เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือสงคราม มันก็พังได้

…แต่ถ้าเห็นว่าไหนๆ ก็คุมไม่ได้ จะกระโดดไปถึงขั้นไม่ต้องคุม ไม่ต้องยับยั้งชั่งใจ ใช้กลไกตลาดเสรี 100% เติบโตเต็มที่ ก็ต้องกลับมาถามว่ามันทำงานแบบพอประมาณหรือเปล่า มันทำงานอย่างมีเหตุผลไหม ทำงานไปแล้วยังมีภูมิคุ้มกันเหลือไว้ไหม อย่างธนาคารกลาง เราก็ต้องมีเงินสำรองเก็บไว้เป็นรีเซิร์ฟ คล้ายๆ กับภูมิคุ้มกัน ต่อให้ตอนนี้เรามีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอยู่ เงินทุนในบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายก็เป็นสุทธิมีไหลเข้ามากกว่าไหลออก แต่ถ้าบอกไม่ต้องมีเงินทุนสำรองไปเลย ก็จะเรียกว่าขาดมิติภูมิคุ้มกันไปนิด ตรงที่ถ้าเกิดราคาน้ำมันกระฉูดขึ้นไป บัญชีเดินสะพัดที่เคยเกินดุล ก็อาจจะขาดดุลได้ หรือนักท่องเที่ยวซึ่งกระหน่ำเข้ามาอย่างประเทศจีน เกิดเขารู้สึกเบื่อหน่าย ตัวบัญชีเดินสะพัดก็อาจจะขาดดุล หรือถ้าบังเอิญมีช่วงดำเนินนโยบายในด้านที่ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไร ทุ่มใช้ไปในเรื่องบางเรื่อง ถ้าเกิดเราไม่ได้สร้างรีเซิร์ฟเป็นภูมิคุ้มกันไว้ ก็อาจจะกลายเป็นสถานการณ์เสียดาย นี่คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะเห็นว่าเป็นคอนเซปต์ที่ไดนามิกพอสมควร คือไม่ได้บังคับว่าทำอย่างนี้ผิด ทำอย่างนี้ถูกอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของเหตุผลที่ดี

…อย่างคำที่พูดเปรียบเปรยกันว่า ‘ธนาคารกลางคือคนที่คอยยกโถน้ำพันช์ออกจากปาร์ตี้ ในยามที่งานกำลังเริ่มสนุก’ คนในวงการจะไม่ถึงกับคัดค้านการยกโถน้ำพันช์ แต่เขาจะค้านว่าธนาคารกลางยกน้ำพันช์ออกไปเร็วเกินไปหรือเปล่า กลไกตลาดของเสาที่สองบอกว่าคนเขากำลังสนุกกับชีวิตของเขา เขาดื่มน้ำพันช์ เขาอร่อย เขาอาจจะมึนๆ บ้าง แต่เขาก็กำลังมีความสุขอย่างหนึ่ง อันนี้จึงเป็นศิลปะของการประเมินสถานการณ์ว่าออกไปยกน้ำพันช์เร็วเกินไปไหม ไปใช้เสาที่หนึ่งของกฎหมายดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดเกินไป ก็กลับมาที่การทำงานอย่างสมดุลระหว่างสามเสาอีก คุณไม่ควรใช้เสาหนึ่งเร็วเกินไป คุณควรปล่อยให้เสาที่สองได้ทำงานเสียก่อน”

ภาพที่เคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักดุลยภาพระหว่างสามเสาอันละเอียดอ่อนสำหรับใช้ในการพิจารณาเรื่องราวต่างๆ แต่ในความเห็นของดร.ประสาร กระทั่งหลักการนี้ก็ยังห่างไกลจากความเป็นจริง เขาชี้ให้เราดูภาพเขียนสีน้ำมันบนผนังห้อง ซึ่งเหมือนภาพวาดจากระยะไกลของสนามกอล์ฟ บนผืนกรีนสีเขียวหม่นใต้แผ่นฟ้าสีเทา มีหย่อมสีสดประปรายที่พอสังเกตได้ว่าเป็นกลุ่มนักกอล์ฟที่กำลังออกรอบ

เวลาเป็นภาพนิ่งไม่มีใครเคยเถียงว่าควรเป็นอย่างไร แต่การเล่นกอล์ฟน่าสนใจก็ตรงผู้เล่นในแต่ละวันอาจจะ ไม่เหมือนกัน ความสนุก ความมีชีวิตชีวา ความงามของ ชีวิตคืออย่างนี้

“ลองดูคนอย่างวินสตัน เชอร์ชิลก็ได้ ด้วยทักษะ ด้วยการตัดสินใจ เขาถือเป็น War Hero เลย แต่ในยุคปลายๆ เขากลับกลายเป็นตัวร้าย ก็ด้วยบุคลิก การตัดสินใจ การประเมินสถานการณ์ของคนๆ เดียวกัน แต่ในบริบทที่แตกต่าง ผลก็คนละเรื่อง ดังนั้น เวลามองเหตุการณ์ มันเป็นเรื่องของระบบ เรื่องของการบริหารพลวัตของความสัมพันธ์ มากกว่าเรื่องของฮีโร่ หรือการเป็นวีรบุรุษแบบเอกเทศ

…วันนี้เราอาจมาอธิบายคอนเซปต์กันในห้องแอร์ แต่พอเข้าสถานการณ์จริง มันมีพลวัต มันมีความซับซ้อน มองไปที่สนามกอล์ฟนี้ เป็นภาพนิ่งก็สวยดี แต่ในชีวิตจริงไม่ใช่ภาพนิ่ง มันคือการเคลื่ิอนไหวของคนในสนามกอล์ฟ ถ้าบังเอิญกอล์ฟเกมที่เราเห็นในภาพมีฝนตก เขาจะบริหารยังไง ถ้าวันนั้นคู่แข่งของเขาตีดีเป็นพิเศษ หรือวันนั้นเขาอารมณ์ไม่ดี นอนไม่พอ มีเรื่ิองกังวลเรื่องนั้นเรื่ิองนี้ จะบริหารยังไง เวลาเป็นภาพนิ่งไม่มีใครเคยเถียงว่าควรเป็นอย่างไร แต่การเล่นกอล์ฟน่าสนใจก็ตรงผู้เล่นในแต่ละวันอาจจะไม่เหมือนกัน ความสนุก ความมีชีวิตชีวา ความงามของชีวิตคืออย่างนี้”

ในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้หลายคนถวิลหาคำตอบที่แน่นอน ดร.ประสารกลับยังดูผ่อนคลาย ซึ่งนี่อาจเป็นเพราะสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นอย่างเขาที่เคยออกรอบอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งก่อนที่งานปฏิรูปในหลากหลายคณะกรรมการจะมาแย่งชิงเวลาไป ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่บางครั้งส่งเสริม บางครั้งขัดขวางความพยายามขับเคลื่อนต่างๆ ไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมมากเท่ากับ 'ความสนุก' ชนิดหนึ่ง

โดยเฉพาะเมื่อไม่มีใครจำเป็นต้องเป็นฮีโร่ตลอดกาล หากเพียงต้อง ‘เล่น’ ให้ดีที่สุดในแต่ละเกมเท่านั้น