SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Master Stroke
จักรพันธุ์ โปษยกฤต กับลีลาชีวิตวิจิตรประณีตประดุจฝีแปรง
ในวันเปิดบ้านเพื่อแถลงข่าวการเปิด ‘นิทรรศการหมุนเวียนจักรพันธุ์ โปษยกฤต’ และทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดเมื่อ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม (ทัศนศิลป์) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเจ้าของสถิติศิลปินภาพวาดที่ทำราคาประมูลสูงสุดในประเทศไทย ผู้กำลังอยู่ในช่วงพักฟื้นจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบที่ทำให้ร่างกายซีกขวาเป็นอัมพฤกษ์ แถลงเพียงสั้นๆ ว่า “แบตจะหมด” ซึ่งถือเป็นอันเปิดและก็ปิดงานแถลงข่าวอยู่ในประโยคเดียว
ข่าวซึ่งแถลงรวบรัดเป็นประวัติการณ์นี้ขัดกับความยิ่งใหญ่ของงานไม่น้อย เพราะแม้งานจะจัดขึ้นในบ้านพักส่วนตัวย่านเอกมัยของอาจารย์จักรพันธุ์ แต่กลับมีความคับคั่งของแขกเหรื่อที่ชวนให้นึกถึงความหมายของคำโบราณว่า ‘ทิศาปาโมกข์’ หรืออาจารย์ผู้เป็นใหญ่ในทุกทิศ โดยนอกจากสื่อมวลชนจากกว่า 50 สำนักแล้ว ภายในงานยังมีพระภิกษุสงฆ์และแม่ชีจากวัดเขาสุกิม ที่พักสงฆ์วัดเขาสอยดาว และวัดเขายายแพง จังหวัดจันทบุรีมาเจริญพระพุทธมนต์ฉลองอายุร่วม 20 รูป ศิลปินแห่งชาติและบรรดาศิลปาจารย์จากหลากหลายสาขา อาทิ อาจารย์ลาวัณย์ อุปอินทร์ อาจารย์เปี่ยมสุข เหรียญรุ่งเรือง อาจารย์อุดมลักษ์ ทรงสุวรรณ อาจารย์ธงชัย รักปทุม อาจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ อาจารย์กมล ทัศนาญชลี อาจารย์เวณิกา บุนนาค ฯลฯ เรื่อยไปจนถึงญาติมิตร ลูกศิษย์ หลานศิษย์ และผู้หลักผู้ใหญ่จากแทบทุกแวดวงไม่ว่าศิลปวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจการเมือง เช่นพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย (จำกัด) มหาชน แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ชุลิตา อารีย์พิพัฒน์กุล อดีตบรรณาธิการนิตยสารพลอยแกมเพชร ศักดิ์ชัย กาย บรรณาธิการนิตยสารลิปส์ หทัย บุนนาค ยอดศิลปินจิตรกรรมไทย หรือศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ศิลปินภาพเหมือนชั้นนำ ทั้งหมดนี้ภายในบรรยากาศของการเลี้ยงดูปูเสื่อจากร้านอาหารตั้งแต่ลูกชิ้นปลาลิ้มเล่าโหงว ไปจนกระทั่งกระหรี่ปั๊บร้านซอสามสาย และการบรรเลงดนตรีโดยวงมโหรีปี่พาทย์กว่า 20 ชีวิต ดูเหมือนว่าอาณาบริเวณกว่า 400 ตารางวาของบ้าน เมื่อถูกบรรจุโดยแขกทั้งงานแล้วจะย่นย่อไปจนคล้ายเพียงโรงหุ่นกระบอกที่กำลังแสดงอย่างเอิกเกริกโรงหนึ่ง ไม่น่าแปลกที่ World Encyclopedia of Puppetry Arts สรุปประวัติของอาจารย์จักรพันธุ์ไว้ตอนหนึ่งว่า “Chakrabhand Posayakrit directed a group of artists, aristocrats, and newcomers seeking entry into the refined world where art, high society, and power intersect.”
เวลาอยู่ในวัยของความสดชื่นแข็งแรงเหมือนรถป้ายแดงที่เครื่องยังดียังใหม่ยังแน่นพร้อมหมดทุกอย่าง ก็มักขาดความรู้ขาดประสบการณ์ ผลงานทางวิชาชีพของตนก็ออกผลไม่สมบูรณ์ ครั้นสั่งสมศิลปวิทยาการต่างๆ เข้าไปบ่มอยู่ในตัวไว้มากพอแก่การ สมรรถภาพทางกายก็ตกลงเสื่อมลงด้วยวัยวุฒิ วัยวุฒิจึงเป็นตัวทอนคุณวุฒิแท้ๆ ทีเดียว
แต่การแถลงข่าวจะรวบรัดขนาดไหนก็ไม่มีใครคิดตัดพ้อ เพราะแม้ขณะนี้อาการป่วยจะจำกัดความสามารถในการเคลื่อนไหวของอาจารย์จักรพันธุ์ในทุกมิติและทำให้ท่านมี ‘แบต’ ในการพูดหรือรับแขกจำกัด แต่ทุกคนตระหนักดีว่าในยามแข็งแรง อาจารย์จักรพันธุ์คือหนึ่งในศิลปินที่ผลิตผลงานมากที่สุดของสังคมไทยตั้งแต่งานจิตรกรรม งานประติมากรรม ไปจนงานรื้อฟื้นการจัดสร้างและจัดแสดงหุ่นกระบอกของไทยขึ้นใหม่ซึ่งต้องใช้ความรู้ในสหวิชาแบบเกินจะนับแขนง ร่างกายของอาจารย์จักรพันธุ์ซึ่งปัจจุบันแข็งขืนจนหากลุกขึ้นพ้นรถเข็นต้องใช้คนถึงสี่คนประคองมือเท้าให้เกิดกำลังพอที่จะเดินนั้น ครั้งหนึ่งเคยแสดงนาฏลีลาอ่อนไหวจนสามารถชุบให้หุ่นกระบอกมีชีวิตจิตใจขึ้นมาได้ จนเป็นปกติที่ผู้เข้าชมการซ้อมแสดงหุ่นเรื่องตะเลงพ่ายของมูลนิธิจักรพันธุ์หลายคนจะต้องถอดแว่นเช็ดน้ำตายามอาจารย์จักรพันธุ์ออกเชิดฉากพระนเรศวรประกาศอิสรภาพหรือฉากพระสุพรรณกัลยาอำลาบ้านเมืองเพื่อไปเป็นตัวประกัน วัลลภิศร์ สดประเสริฐ วัย 68 ปี ลูกศิษย์มือขวาผู้ทำงานใกล้ชิดอาจารย์มากว่า 44 ปีและปัจจุบันเป็นผู้ดูแลความเป็นไปของกิจการงานต่างๆ ของมูลนิธิจักรพันธุ์ในยามที่อาจารย์รักษาตัวเล่าถึงนักภายภาพบำบัดผู้มาทำงานโดยไม่เคยได้ยินชื่ออาจารย์จักรพันธุ์มาก่อน “ปรากฏว่าพอเอาโทรศัพท์เปิดคลิปการแสดงของอาจารย์ให้ดู นั่งๆ ดูอยู่ ขนแขนน้องเขาลุกเป็นหนามเลย”
ความประทับใจอันใสซื่อนี้เกิดขึ้นไม่จำเพาะแต่กับผู้ไม่คุ้นเคยเท่านั้น แต่แม้กับผู้คนระดับครูบาอาจารย์อย่างหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หนึ่งในเสาหลักด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศผู้ได้ชื่อว่ามีภูมิความรู้และมาตรฐานอันสูงยิ่งในการวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะไทยยังเคยเขียนชื่นชมการแสดงหุ่นกระบอกของจักรพันธุ์ไว้ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันอาคารที่ 31 มกราคม 2532 ว่า “ผมได้ดูมาแล้ว ทั้งหุ่นไทย คือหุ่นกระบอก หรือละครเล็กของครูเปียก หุ่นใหญ่ของหลวง ได้ดูหุ่นพม่า ซึ่งเขาชักใยจากข้างบนเวที ดูหุ่นฝรั่งซึ่งใช้เทคนิคเดียวกัน และดูหุ่นญี่ปุ่น ซึ่งมีความงาม ความละเมียดละไม และความลึกซึ้งในทางปัญญาที่ยังประทับใจผมอยู่ แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ต้องยอมยกหุ่นของคุณจักรพันธุ์นี้ เป็นหุ่นที่ทำให้ผมเกิดอารมณ์มากที่สุด เกิดความประทับใจมากที่สุดและยากที่ผมจะลืมได้” เช่นเดียวกัน อาจารย์จักรพันธุ์ที่วันนี้พูดได้เพียงน้อยคำ ครั้งหนึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะคอลัมนิสต์เจ้าของโวหารวิจารณ์สังคมแสบสันพิสดารที่มีคนอ่านกันทั่วเมืองในนิตยสารลลนาและพลอยแกมเพชรภายใต้นามปากกา ‘ศศิวิมล’ และหนังสืออย่าง ‘ศศิวิมลว่าร้าย’ หรือ ‘ศศิวิมลสับแหลก’ กระทั่งคำพูดสั้นๆ ว่า “แบตจะหมด” ก็แสดงเค้าลางสำนวนอันไม่จำเจของท่านได้เป็นอย่างดี
อาร์ส ลองก้า
เป็นเรื่องธรรมดาที่หลายคนเสียดายฝีมือและผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์ที่ต้องหยุดชะงักลงกลางคันด้วยการรบกวนของอาการป่วย ไม่เช่นนั้น อาจารย์จักรพันธุ์คือศิลปินมากฝีมือผู้เพียรทำงานสม่ำเสมอถึงวันละสามรอบคือเวลาเช้าถึงเที่ยง บ่ายถึงเย็น และหัวค่ำถึงสี่ทุ่ม อย่างที่วัลลภิศร์ กล่าวว่า “น่าเสียดายมาก ถ้าอาจารย์ดีๆ จะทำได้อีกเยอะ แล้วมันหาไม่ได้ เราเรียนมาทางนี้ก็ได้เห็นศิลปินมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว แต่ไม่มีใครเหมือนอาจารย์ เช่น ปกติคนชำนาญเขียนจิตรกรรมไทยประเพณี ทางจิตรกรรมสากลเขาก็จะด้อย หรือคนที่ชำนาญทางสากล จิตรกรรมไทยก็จะด้อย แต่อาจารย์เขียนได้เด่นทุกอย่าง” ทุกคนที่ได้เห็นงานของอาจารย์จักรพันธุ์คงไม่ปฏิเสธความข้อนี้ งานของอาจารย์จักรพันธุ์ดูจะบรรจุได้ทั้งความสมจริงในแบบตะวันตก และความเป็นอุดมคติตามแบบไทย ภาพพระพุทธเจ้า อริยสาวกหรือเทพเทวดาอันเป็นทิพย์ของอาจารย์จึงให้ความรู้สึกสมจริงมีเนื้อหนังในแบบที่เป็นไปได้ในมนุษย์ ในขณะที่เมื่อวาดภาพเหมือน มนุษย์ที่มีเนื้อหนังก็กลับเปี่ยมเค้าความงามตามอุดมคติราวกับมีภาวะเป็นทิพย์ ไม่แปลกที่นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยเล่าต่อกันมาว่าสมัยเรียนมัธยม อาจารย์จักรพันธุ์คือมือเขียนภาพเหมือนผู้หญิงสำหรับให้เพื่อนหรือรุ่นพี่ใช้นำไปมอบให้แฟนสาว อย่างไรก็ตาม อาจารย์จักรพันธุ์ดูจะมองเห็นข้อจำกัดของสังขารที่ยืนยันภาษิตละตินว่า “ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น (Ars longa, vita brevis)” ของมหาวิทยาลัยศิลปากรที่อาจารย์ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนมานานแล้ว ดังที่อาจารย์เขียนไว้ในบทความชื่อ‘แก่กะลา’ ในรวมเรียงความของศศิวิมล เอกทศมบรรพ ลำดับสิบเอ็ดว่า “เป็นสัจธรรมที่ว่าชีวิตมนุษย์เราไม่มีความพอดี เวลาอยู่ในวัยของความสดชื่นแข็งแรงเหมือนรถป้ายแดงที่เครื่องยังดียังใหม่ยังแน่นพร้อมหมดทุกอย่าง ก็มักขาดความรู้ขาดประสบการณ์ ผลงานทางวิชาชีพของตนก็ออกผลไม่สมบูรณ์ ครั้นสั่งสมศิลปวิทยาการต่างๆ เข้าไปบ่มอยู่ในตัวไว้มากพอแก่การ สมรรถภาพทางกายก็ตกลงเสื่อมลงด้วยวัยวุฒิ วัยวุฒิจึงเป็นตัวทอนคุณวุฒิแท้ๆ ทีเดียว เหมือนคนเรียนรำละคร ตอนเป็นเด็กสาวสะพรั่งเปล่งปลั่งด้วยวัย ก็ยังรำไม่เก่ง พอเก่งได้ที่ก็แก่พอดี ไม่อ้วนไปก็ผอมเหี่ยวหนังหุ้มกระดูก นั่งโอยลุกโอย แต่ก่อนเที่ยวหาครูหาวิชาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ครั้นเวลาล่วงไปกลายเป็นเที่ยวหาหมอเพื่อรักษาโรคภัยตามวัยที่รุมเร้า วัยเช่นนี้มีผู้ตั้งให้ว่าวัยตกกระ นอกจากตกกระแล้ว ยังต้องตกกระไดอีกด้วย เนื่องจากยกขาตัวเองไม่ขึ้น กะผิดกะถูกเพราะตาไม่ดี”
กระนั้น ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ด้วยตำแหน่งผู้บริหารลำดับสูงของข้าราชการพลเรือนอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน ‘aristocrats’ ที่หลงเสน่ห์ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์และเข้ามามีส่วนช่วยอย่างมากในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการรบกวนพื้นที่มูลนิธิจักรพันธุ์ในซอยเอกมัยขณะที่มีข่าวโครงการก่อสร้างคอนโดบนพื้นที่ติดต่อกันเมื่อปี 2553 จนถือเป็นหนึ่งใน ‘คณะมนตรีความมั่นคง’ ที่คอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ของมูลนิธิจักรพันธุ์ ร่วมกันกับวัลลภิศร์ สดประเสริฐ รองศาสตราจารย์ นพมาส แววหงส์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วัชราภรณ์ อาจหาญ รองคณบดีภาควิชาการ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และพันธุ์ศักดิ์ จักกะพาก ศิลปินสีน้ำแนวพฤกษศาสตร์ชื่อดัง กลับบอกว่าเพียงเท่าที่อาจารย์จักรพันธุ์ได้ทำมาก็ถือว่าคุ้มค่ามากพอแล้ว “คุณคิดดูนะ รถเก๋งคันหนึ่งที่คุณเปลี่ยนอะไหล่ได้ทุกชิ้นเลย ยังไม่มีคันไหนที่คุณจะใช้วิ่งได้ 75 ปี แล้วนี่คนทั้งคน เปลี่ยนอะไรก็ไม่ได้ อย่างอาจารย์นี่ถือว่าคุ้มที่สุดแล้ว” อาจารย์นันทวัฒน์ย่อมรู้ดี เพราะเขาพิสมัยรถสปอร์ต อีกทั้งยังเข้ามาร่วมมื้อกลางวันกับอาจารย์จักรพันธุ์แทบทุกอาทิตย์เพื่อเล่าความเป็นไปต่างๆ ในสังคมให้ฟัง อาจารย์นันทวัฒน์ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมา “นี่ผมก็เตรียมมาเปิดเรื่อง Mission: Impossible – Fallout ให้อาจารย์ดู อาจารย์ชอบให้มาเล่าหนังเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟัง”
ฝีมือเด็ก
ข้อสังเกตของศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ ที่ว่าอาจารย์จักรพันธุ์ได้ใช้ชีวิตสร้างงานมาอย่างเต็มที่นั้นถือว่ามีความจริงไม่น้อย เพราะอาจารย์จักรพันธุ์ได้ตั้งไข่ล้มลุกคลุกคลานฝึกฝนและเริ่มแสดงฝีมือมาตั้งแต่ยังเล็กก่อนเรียนหนังสือ ดังที่ครูวชิราวุธท่านหนึ่งเล่าว่า “ก่อนจะเขียน ก.ไก่ เป็น จักรพันธุ์ก็วาดเป็ดและห่านได้ดีแล้ว” นอกจากนั้น นาฏกรรมอันประณีตดูจะเป็นสิ่งกระตุ้นสัญชาตญาณศิลปินของเด็กชายจักรพันธุ์ เช่นในยามที่มารดา (สว่างจันทร์ โปษยกฤต) ผู้เป็นครูสอนเปียโนใช้เวลาพักนั่งถักโครเชต์ อาจารย์จะไปรื้อเอาสมุดเพลงเปียโนบัลเลต์มาคัดลอกรูปบัลเลรินาซึ่งกรีดกรายอยู่บนปก หรือต่อมายามอาจารย์อยู่ชั้นประถม 3 ที่วชิราวุธวิทยาลัยและโรงเรียนส่งเข้าประกวดวาดภาพในงานศิลปกรรมแห่งชาติซึ่งมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรีเป็นกรรมการ ในขณะที่เด็กอื่นเลือกวาดรูปคาวบอย หรือรูปประสาเด็กอื่นๆ อาจารย์กลับเลือกที่จะวาดภาพนางละครใส่ชฎาจากหนังสือโบราณ ทำให้คณะกรรมการตัดสินไม่เชื่อว่าเป็นฝีมือเด็ก และตัดผลงานออกจากการประกวด ร้อนถึงพระยาภะรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนในขณะนั้นต้องเข้าไปถกเถียงอธิบายกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงขนาดเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ “ที่จริงรูปก็ไม่ได้สวยอะไร ก็เป็นรูปเด็กวาด แต่เผอิญเป็นเด็กแก่เด็กผี” อาจารย์จักรพันธุ์เคยให้สัมภาษณ์แก่หนังสืออนุมานวสาร ของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
คำว่า ‘เด็กแก่’ นั้นน่าจะไม่จริงแน่เพราะขณะนั้นเด็กชายจักรพันธุ์มีอายุเพียงไม่ถึงสิบขวบ แต่หากใครพลิกดูหนังสือ ‘จักรพันธุ์ โปษยกฤต ๖ รอบ’ ที่รวบรวมผลงานจิตรกรรมนับจากอดีตจนปัจจุบันของอาจารย์จักรพันธุ์แล้วนึกดูว่ารูปนางรำ หรือโขนละครที่ท่านขีดเขียนลงในเศษกระดาษเมื่ออายุเพียงเจ็ดขวบช่างส่อแววความแม่นสัดส่วนอย่างวิเศษ อีกทั้งยิ่งผ่านวันเวลายิ่งทวีความเด็ดขาดแม่นยำไม่ว่าจะเป็นลายไทย ทิวทัศน์ หรือภาพเหมือน ก็จะเห็นว่าฝีมือจิตรกรรมของอาจารย์จักรพันธุ์เหมือนไม่ได้ก้าวจาก ‘ความไม่เป็น’ มาสู่ ‘ความเป็น’ มากเท่ากับเป็นพัฒนาการของความล้ำลึกขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ยากที่หลายคนจะรู้สึกว่าศิลปินท่านนี้เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์อันอิ่มเต็มทันที ซึ่งถ้าใช้คำทางพุทธศาสนาก็คือ ‘โอปปาติกะ’ หรือที่เจ้าตัวใช้คำว่า ‘เด็กผี’ นั่นเอง
เป็นที่รู้กันดีว่าจักรพันธุ์พอใจจะเรียกตัวเองว่า ‘ช่างเขียน’ มากกว่าศิลปิน โดยเฉพาะในเวลาที่คำว่าศิลปินและศิลปะดูจะวัดกันด้วยความผาดโผนทางความคิดและฝีปากมากกว่าฝีมือ
อย่างไรก็ตาม มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่เป็นพรสวรรค์ของอาจารย์จักรพันธุ์แท้จริงมิใช่ฝีมือ หากแต่คือความกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์อย่างสูงสุด ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้คนรอบตัวพร้อมจะสนับสนุนบำรุงวิชาของอาจารย์อย่างเต็มที่ เช่น พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยซึ่งปกติขึ้นชื่อว่าไม่ยั้งมือที่จะลงโทษนักเรียนผู้ผิดระเบียบวินัย กลับให้อภิสิทธิ์แก่อาจารย์จักรพันธุ์ที่จะเล่นวาดเขียนแม้ว่าจะนอกเวลาที่กำหนด อีกทั้งในยามที่คะแนนการเรียนด้านอื่นๆ ของอาจารย์จักรพันธุ์ตกต่ำในชั้นมัธยม 6 ขึ้นมัธยม 7 จนผู้เป็นมารดามาขอลาออกเพราะเกรงใจโรงเรียน พระยาภะรตราชาก็ให้สิทธิ์แก่อาจารย์จักรพันธุ์ที่จะเรียนต่อจนจบโดยเขียนไว้ในคำสั่งว่า “สอบตกแต่ให้เลื่อนชั้น” บิดามารดาของอาจารย์จักรพันธุ์เองก็สนับสนุนบุตรในทุกทางที่เป็นไปได้ ไม่ว่าในด้านการจัดหาอุปกรณ์หรือหนังสือเกี่ยวกับการเขียนรูป ตลอดจนขวนขวายพาอาจารย์จักรพันธุ์ไปฝากตัวกับครูบาอาจารย์ทางศิลปะ อาทิ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาศิลปะสากลของไทยและผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ปรมาจารย์ภาพเหมือนของไทย อาจารย์ระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ จิตรกรประจำราชสำนักรัชกาลที่ 9 อาจารย์แอร์โคเล มันเฟรดี สถาปนิกอิตาเลียนผู้ฝากผลงานในเมืองไทยอย่างพระที่นั่งบรมพิมาน และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งบรมครูทุกท่านได้เมตตาแนะนำรดน้ำพรวนดิน และเติมโอชะแห่งศิลปศาสตร์ให้แก่กล้าอ่อนต้นนี้จนจำเริญขึ้นเป็นลำดับทั้งสิ้น ในครั้งนั้นอาจารย์แอร์โคเล มันเฟรดี กระทั่งยกขาหยั่งไม้สักเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 6 สองอันให้แก่เด็กชายจักรพันธุ์ ทั้งที่ตอนนั้นอาจารย์ยังไม่ได้เริ่มเขียนสีน้ำมันหรือแม้แต่ใช้ขาหยั่งเป็นก็ตาม “เรื่องอย่างนี้อาจารย์พูดเองลำบาก แต่อยู่ดีๆ ใครจะยกของสำคัญอย่างนี้ให้ และเป็นการให้ที่ไม่สูญเปล่าด้วย เพราะอาจารย์ยังใช้ขาหยั่งคู่นั้นเขียนรูปมาจนนับไม่ถ้วนตราบถึงทุกวันนี้ ” วัลลภิศร์กล่าวแล้วก็เงียบไปด้วยสีหน้าที่เหมือนกำลังพยายามหาคำตอบของความประเหมาะเหลือเชื่อดังกล่าว
ช่างศิลปิน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพรสวรรค์ของอาจารย์จักรพันธุ์จะมีมากหรือน้อยเพียงไหน อาจารย์กลับให้ความสำคัญกับการฝึกฝนขัดเกลามากกว่า วัลลภิศร์เล่าถึงการซ้อมท่าพื้นฐานเชิดหุ่นที่เรียกว่า ‘การกล่อม’ ว่าอาจารย์จักรพันธุ์อาจใช้เวลาฝึกสิ่งที่ดูเหมือนการนั่งหมุนไหล่กลับไปกลับมาง่ายๆ นี้วันแล้ววันเล่าตั้งแต่เช้าจนค่ำ ไม่ว่าบุคคลภายนอกจะเห็นความแตกต่างหรือไม่ “ข้อหนึ่งของอาจารย์คือท่านคิดว่าท่านไม่เก่งตลอดเวลา อย่างเช่นทางจิตรกรรมนี้ เราคิดว่าท่านเจนจบแล้ว แต่ท่านไม่ ท่านคิดว่าท่านยังต้องไปต่ออีก” วัลลภิศร์กล่าว ยิ่งกว่านั้น การให้ความสำคัญกับการฝึกฝนฝีมือนี้ยังสะท้อนมาในปรัชญาการให้คะแนนของอาจารย์จักรพันธุ์ขณะเป็นอาจารย์สอนวิชาวิจัยศิลปะไทยอยู่ที่คณะมัณฑณศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยลูกศิษย์ที่จะได้คะแนนสูงในวิชาเรียนของอาจารย์จักรพันธุ์นอกจากผู้ที่มีฝีมือเป็นเยี่ยมแล้ว ก็คือผู้ที่แม้ฝีมืออาจจะไม่ดีเท่าแต่ได้แสดงออกซึ่งอุตสาหะและความพยายามในการฝึกฝน เป็นที่รู้กันดีว่าอาจารย์จักรพันธุ์พอใจจะเรียกตัวเองว่า ‘ช่างเขียน’ มากกว่าศิลปิน โดยเฉพาะในเวลาที่คำว่าศิลปินและศิลปะ ดูจะวัดกันด้วยความผาดโผนทางความคิดและฝีปากมากกว่าฝีมือ ดังที่ศศิวิมลเคยวิพากษ์เรื่องนี้ไว้อย่างเผ็ดร้อนในรวมเรียงความของศศิวิมล เตรสมบรรพ ลำดับที่สิบสามว่า “มีช่างเขียนอีกมิใช่น้อย ที่ชอบเขียนรูปเหมือนตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรูปคน หรืออื่นๆ เรียกกันในวงการว่าช่างเขียนประเภทใช้ฝีมือ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นคำปรามาสกลายๆ หาใช่คำนิยมยกย่องไม่ ช่างเขียนประเภทใช้ฝีมือเหมือนไม้ป่าหายาก เช่น ไม้ประดู่ ชิงชัน ไม้พะยูง กระทั่งไม้กฤษณา ที่กาลก่อนเป็นของดาษดื่น มีอยู่ให้เห็นจนดูเหมือนไม่มีค่าอันใด วันเวลาผ่านไป ผู้คนไม่รู้คุณค่า ตัดทิ้งทำลายไปมากต่อมาก จนทุกวันนี้กลายเป็นสิ่งที่ขาดแคลนเหลือน้อยนิด ที่ว่าถูกตัดทิ้งทำลายไป คือไม่เห็นความสำคัญ ดูแคลนว่ามีแต่ฝีมือ ไม่มีความคิด ไม่มีปัญญาสร้างสรรค์ ไม่ค้นคิดอะไรใหม่ๆ ให้เข้ากับสมัย…ไม่ฉลาด เสียงเหล่านี้เป็นเสียงวิจารณ์รอบตัว จากสังคม จากเพื่อนร่วมงาน จากครูบาอาจารย์ และที่สำคัญ คือเสียงจากภายในของตัวเอง...
ศิลปะเป็นเครื่องอยู่ เป็นวิหารธรรมของศิลปิน เปรียบเสมือนนกที่ร้องไพเราะกังวานหวาน มันไม่ได้ร้องเพื่อแลกข้าว หรือลูกไม้ไว้ยังชีพเป็นอาหาร ไม่ได้ร้องเพื่อให้คนได้ยินทั่วแล้วสรรเสริญเยินยก แต่มันร้องด้วยสัญชาติกำเนิด เพื่อความเบิกบานใจของมันเอง ไม่ว่าจะมีคนได้ยินหรือไม่ได้ยิน
...มาสมัยนี้ ทุกสถาบันการศึกษามีหลักสูตรการเรียนการสอนศิลปะเพื่อรองรับเยาวชนอยู่ทั่วไปแทบทุกหนแห่ง เรียกว่าไม่มีไม่ได้ สถาบันไหนไม่มีเช่นเขาอื่น ดูเปิ่นเทิ่นล้าสมัย ไม่ศรีวิไลทัดเทียม หากศิลปะสมัยนี้ไม่ได้หมายถึงการเขียนรูปเพื่อฝึกคนให้เป็นช่างเขียน หรือช่างปั้น ช่างแกะ แต่ฝึกคนให้เป็นศิลปิน และศิลปินทั้งหลาย นอกจากจะตั้งหน้าสร้างงานศิลปะแล้ว ควรจะมีศิลปะในการพูดเป็นอรรถเป็นธรรมถึงผลงานสร้างสรรค์ของตนเองให้เป็นวรรคเป็นเวร พูดด้วยความชำนาญถึงก้นบึ้งแห่งดวงจิตมโนวิญญาณ หรือคำสูงส่งลิบลิ่วอะไรก็ได้ที่มันยากๆ ไม่ใช่ภาษาคน ให้คนฟังแล้วงงๆ เลยยกให้เป็นปราชญ์ศิลปิน ผู้รู้แจ้งแทงตลอดเสียรู้แล้วรู้รอดไป จนน่าจะตั้งชมรมศิลปินที่ทำงานด้วยปาก ซึ่งเป็นคนละชมรมกับจิตรกรพิการที่อุตสาหะใช้ปากคาบพู่กันเขียน แต่ศิลปินปาก ไม่ต้องใช้ปากคาบอะไร เพียงแต่ปั้นน้ำลายให้เป็นงานเท่านั้น
...ดูงานศิลปะชิ้นเดียวได้อะไรมากกว่าฟังพระเทศน์ร้อยจบ สำนวนโบราณนอกจากน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงแล้วยังมีท่านเปรียบเปรยไว้คมคายร้ายกาจอีก เช่น “----ขี้ฝอย หมอยม้า” “---หีน้อย หมอยมาก---” แล้วเราเรียนศิลปะเพื่ออะไรกัน? ถ้าเรียนศิลปะเพื่อฉีกแนว แหวกแนว หรือความแปลกใหม่ ก็เป็นเพียงความแปลกใหม่ในอุปาทานตน ไม่ต้องเรียนก็ได้ สมัยกระโน้น เด็กต้องฝึกฝีมือกันคร่ำเคร่ง เก่งหน่อยก็สองปี ช้าหน่อยก็สามปีในระดับเตรียมอุดมศึกษา เพื่อจะได้เข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาอีกห้าปี จบปริญญาตรีห้าปี เหมือนเพิ่งจบอนุบาลในการเรียนศิลปะ ต้องฝึกฝีมือ ต้องทดลองฝีมือไปเรื่อยจนกว่าจะหาไม่ ก็เมื่อฝึกกันมาจนป่านนี้แล้ว ไฉนจึงตัดแขนออกเสียทั้งสองข้าง เอาตีนที่เหลือละเลงสี จำกัดใช้แค่ความคิด แต่ทิ้งฝีมือหมด เพราะกลัวจะไม่เก๋ ไม่ฉลาด ยอมพิกลพิการ เพื่อจะได้ชื่อว่ามีปัญญา ฝีมือนั้นเป็นสิ่งเลวเกว ไร้ค่าน่ารังเกียจนักหรือ?”
ไม่ว่าคำตอบจะเป็นเช่นไร ศิลปินในมูลนิธิจักรพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยช่างประจำหลากหลายแขนงจำนวนกว่า 10 คน ไม่ว่ากลุ่มช่างเขียนจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ของวัดตรีทศเทพวรวิหาร กลุ่มช่างทำหุ่นกระบอก เรื่อยไปจนถึงช่างจิปาถะที่มาเพื่อฝึกตามแต่อาจารย์จักรพันธุ์จะชี้แนะ ดูเหมือนไม่มีทางอื่นนอกจากถือปฏิปทาตามเจ้าสำนักว่าฝีมือเป็นของที่ช่างเขียนหรือคนทำงานศิลปะต้องมี ไม่ใช่ของแถมเผื่อเลือก เสาวณีย์ ชูจั่นหรุ่ม หรือจุ๋ม ช่างเขียนวัดตรีทศเทพฯ วัย 44 ปี ซึ่งปรากฏกายอยู่บ่อยครั้งในบทความของศศิวิมล เล่าให้ฟังว่าในยามตรวจงานเขียนฝาผนังโบสถ์ของวัดตรีทศเทพวรวิหาร ซึ่งเป็นงานที่อาจารย์จักรพันธุ์รับทำโดยไม่คิดค่าแรงส่วนตัวภายใต้เงื่อนไขที่ท่านขอไว้กับพระเทพวัชรธรรมาภรณ์ อดีตเจ้าอาวาส (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ตั้งแต่เมื่อรับงานเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วว่า “สุดท้ายขอท่านว่าแม้งานช้าก็ขออย่าเร่ง เร่งไม่ได้ ไม่ชอบทำงานลวกๆ” นั้น อาจารย์จักรพันธุ์จะใช้กล้องส่องทางไกลตรวจไปทุกพื้นที่ของโบสถ์และใช้เลเซอร์พอยเตอร์สำหรับชี้ส่วนที่ต้องแก้ไข “อาจารย์ไม่มีสองมาตรฐานไม่ว่าพื้นที่นั้นจะอยู่สูงหรือต่ำ หรือคนจะมองเห็นง่ายหรือยาก ต้องแก้จนกว่าจะดีถึงจะปล่อย” เสาวณีย์เล่า ไม่ต้องกล่าวถึงงานศิลปะอันเป็นลมหายใจของอาจารย์จักรพันธุ์ กระทั่งความเป็นอยู่ของคนในบ้านก็เป็นสิ่งที่อาจารย์จักรพันธุ์คอยดูแลให้อยู่ในระเบียบอันเคร่งครัด ช่างผู้หญิงต้องทาปาก และเกล้าผมเรียบตึง ส่วนช่างผู้ชายก็ห้ามปล่อยศีรษะให้มีรังแคหรือเสื้อผ้ามีกลิ่นอับ และหลังกินข้าวกลางวันร่วมกัน ทุกคนต้องแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันก่อนไปทำงานต่อในช่วงบ่าย วัลลภิศร์ชี้ให้ดูกระดาษทิชชู่ในมือซึ่งเขาขยำไว้หลังจากเช็ดปาก “อย่างกระดาษเนี่ย ถ้าอาจารย์ยังดีๆ อยู่ ผมทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องคลี่และพับเป็นจีบให้เรียบร้อย”
โบราณาจารย์...มิใช่อบรมสั่งสอนได้แค่ด้วยวาจา แต่ทำให้ดูไม่ได้ เขียนให้ดูไม่ได้ มุขปาฐะท่าเดียว ไม่สามารถสำแดงปาฏิหาริยให้เห็นเป็นประจักษ์ได้ด้วยการกระทำ
ธรรมที่ไม่ต้องเทศน์
อย่างไรก็ตาม ในลักษณะที่แทบไม่ต่างจากพระกัมมัฏฐานสอนภาวนา ยามเป็นเรื่องศิลปะ อาจารย์จักรพันธุ์ดูจะไม่เน้นการสาธยายทฤษฎีมากเท่ากับกวดขันให้ช่างในบ้าน ‘ปฏิบัติ’ มากๆ และเอื้อนเอ่ยแต่เพื่อชี้จุดบกพร่อง ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างการเลี้ยงปลายกนกให้แหลมแบบมีลีลา หรือการติองศาการเชิดหุ่นแบบเป็นมิลลิเมตร “แทบไม่มีคำชม คำติของอาจารย์บางทีฟังเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ฟังทีแรกอาจยังไม่เห็นด้วยว่าทำไมอาจารย์ไม่ปล่อยผ่าน แต่พอแก้ตามที่อาจารย์บอกงานจะดีขึ้นอย่างที่เราเองนึกไม่ถึง” เสาวณีย์เล่า พร้อมกับยกตัวอย่างภาพเขียนไก่ขนาดเท่าขยุ้มมือที่อาจารย์ให้เธอเขียนแก้แล้วแก้อีกไม่ปล่อย “กว่าจะผ่าน ไก่ตัวนั้นสุดท้ายต้องเขียนอยู่สองเดือน” ในขณะที่สุธี นุตาลัย วัย 41 ปีผู้สงเคราะห์ตัวเองอยู่ในหมวดช่างจิปาถะ ซึ่งทำงานหลากหลายตั้งแต่การปั้นลายพระพุทธรูป การปั้นหน้าหุ่น ไปจนถึงการเชิดหุ่นกระบอกในบทสำคัญแทนอาจารย์อย่างพระมหาอุปราชาเล่าว่า “ผมเคยไปถามว่าตรงหมอกๆ เมฆๆ ในภาพนี่อาจารย์เขียนยังไง อาจารย์บอกขยันๆ เขียนไป เป็นเอง” คนอาจไม่เชื่อว่าบุคคลผู้มีความสามารถในการใช้โวหารพรรณาสิ่งต่างๆ ได้จับใจอย่างเจ้าของนามปากกาศศิวิมลจะไม่สามารถคิดคำสอนที่ย่นย่อลัดสั้นได้ แต่จากหนังสือเรื่อง ‘คิดถึงครู’ ที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนถึงครูบาอาจารย์หลายท่านในชีวิต รวมถึงพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย อดีตประธานสงฆ์วัดเขาสุกิม อาจพอแสดงให้เห็นว่าสำหรับหลายๆ ศาสตร์ การถ่ายทอดไม่อาจมีทางอื่นนอกจากการทำด้วยตัวเอง “โดยทางสายกลางของพระพุทธศาสนา หรือวิชาใดในโลกนี้ ไม่มีการเรียนลัด ของอะไรที่ได้มาง่ายๆ ย่อมไม่มีความประณีต เมื่อไม่ขึ้นจากโคน จะไปถึงปลายได้อย่างไร อุปมากับวิชาชีพที่เราทำ ที่เขาเรียกว่างานศิลปะ ท่านอาจารย์สมชายเคยเอ่ยกับเราว่า '---อาจารย์ เหมือนอย่างเวลาอาจารย์เขียนรูปเป็นใหม่ๆ ขายรูปได้ใหม่ๆ มันดีอกดีใจเหลือเกิน ดีใจว่าทำอย่างนั้นได้ อย่างนี้ได้ เห็นอะไรก็อยากเขียน แต่พอเดี๋ยวนี้ พอชำนิชำนาญขึ้น พอแก่ตัวขึ้น เราจะรู้สึกว่าไม่ได้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินในการเขียนเหมือนอย่างแต่ก่อน ไม่ดีใจที่ทำได้ เพราะมันทำได้แล้วเป็นแล้ว แต่เราจะมาดูว่า ดีหรือยัง ถูกหรือยัง ตรงไหนมีข้อตำหนิที่ยังไม่ถูกต้องชัดเจนแจ่มแจ้ง อาตมาทุกวันนี้ ก็ทำอยู่อย่างนี้ คอยดูว่าตรงไหนยังไม่ดี ตรงไหนบกพร่อง หาข้อตำหนิ จับผิดตัวเองให้ได้' ท่านอาจารย์สมชาย เคยพูดถึงที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ เคยสอนไว้ว่า 'ถ้าเราละเอียด ธรรมะที่ได้ก็จะละเอียด ถ้าเราลวก ญาณทัสนะของเราก็จะหยาบ รู้เห็นหยาบ ไม่ละเอียดประณีตลงไป'"
ลูกศิษย์แทบทุกคนล้วนเคยได้มีความประทับใจเกี่ยวกับความละเอียดแม่นยำในการสังเกตของอาจารย์จักรพันธุ์ วัลลภิศร์ชี้ให้ดูหุ่นทศกัณฐ์ขนาดใหญ่กว่าคนจริง ซึ่งทรงเครื่องอลงกรณ์ตามอย่างพญายักษ์และมีอินทรธนูเป็นงอนแหลมอยู่บนบ่า “วันออกจากโรงพยาบาลรอบแรก อาจารย์นั่งรถเข็นผ่านแล้วบอกอินทรธนูเล็กไป เราคิดว่าเด็กมันทำตามแบบ ไม่น่าจะเล็กไป ยังนึกว่าอาจารย์เพิ่งออกจากโรงพยาบาลสายตายังจะแม่นเหมือนเดิมหรือเปล่า แต่ก็ไปแก้มา พอลองมาติดให้ดูใหม่ อาจารย์กลับว่าใหญ่ไปอีก ต้องแต่งลงอีก แต่งแล้วอาจารย์จึงค่อยพยักหน้าว่าดีแล้ว ทีนี้พอติดก็ดีขึ้นจริงๆ” ดังที่ศิลปินฝรั่งเศสปอล เซซานเคยกล่าวไว้อย่างโด่งดังว่า “โมเนต์เป็นแค่ดวงตา แต่เป็นดวงตาที่ล้ำเลิศอะไรเช่นนี้ (Monet is only an eye, but my God, what an eye!)” นัยว่าผลงานวิเศษของเจ้าพ่ออิมเพรสชันนิสม์ไม่ได้มาจากสิ่งใดเลยนอกดวงตาที่สังเกตโลกได้เฉียบคมกว่าคนอื่น วัลลภิศร์ดูจะได้ข้อสรุปในลักษณะเดียวกันว่า งานของอาจารย์จักรพันธุ์เป็นผลมาจาก “เลนส์ตาที่มีความแม่นเหนือมนุษย์” พร้อมยกตัวอย่างผลงานรูป `นางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส’ หรือ `สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงยินดีในธิดาพญามารนางตัณหา นางราคา และนางอรดี’ ที่มีรูปกายบุคคลและภูษาอาภรณ์วิจิตรสดใสอยู่บนพื้นหลังเขียวครามของป่าชอุ่มฝนว่าเป็นรูปที่อาจารย์จักรพันธุ์ลงสีน้ำจริงโดยไม่ต้องร่างดินสอก่อน “ถามเลยว่ามีใครทำได้บ้าง ถ้าเป็นรูปสีน้ำมันหรือรูปไม่มีพื้นหลังจะไม่อัศจรรย์เลย แต่นี่่ท่านเขียนให้องค์ประกอบยุบยิบมันลงตัวโดยไม่ต้องร่าง แล้วก็ไม่ผิดพลาดเลย นี่คือที่สุดของความแม่น สีน้ำนี่พังแล้วพังเลยนะ แก้ไม่ได้” หากยึดตามที่อาจารย์จักรพันธุ์เคยยกคำของครูบุญยงค์ เกตุคง ที่ว่า ‘ความรู้ความสามารถ’ นั้นแท้จริงเป็นคนละเรื่องกัน ‘ความรู้’ สอนกันได้ ส่วน ‘ความสามารถ’ เป็นของติดตัว สอนไม่ได้ วัลลภิศร์ยืนยันว่าความสามารถของอาจารย์จักรพันธุ์อยู่ที่ประสาทสัมผัสอันละเอียดอ่อน “หู ตา ลิ้นอะไรละเอียดทั้งนั้น สีนี่ไม่ต้องพูดถึง เสียงอะไรกิ๊กเดียวก็รู้ ฟังดนตรีถึงได้แตกฉาน กระทั่งลิ้นกินอะไรก็วิจารณ์ได้หมด บางอย่างท่านอาจทำไม่ได้ แต่ติได้ทุกแขนง” คนอ่านวิธีการทำระกำน้ำปลาหวานของอาจารย์จักรพันธุ์ในบทความเรื่อง ‘หนาวดอกไม้’ ในรวมเรียงความของศศิวิมล อัฐมบรรพ ลำดับแปด แล้วก็จะรู้ว่าคำกล่าวของวัลลภิศร์ไม่น่าผิดไปจากความจริง “คนไทยช่างกินช่างทำ ระกำเปรี้ยวๆ หวานๆ เนื้อแทบจะไม่มี บางติดเม็ดยังกะกระดาษ ท่านอุตส่าห์นำมาประจงคว้านเม็ดออก เหลือแต่เนื้อเป็นพูสวยติดๆ กัน รูปทรงยังอยู่ไม่บู้บี้ เท่านั้นยังอร่อยน้อยไป หาน้ำตาลปึกน้ำตาลปี๊บมาเคี่ยวไฟกลางๆ อยากให้เหนียวคนแล้วยกทัพพีขึ้นมาดูให้น้ำตาลหยดช้าๆ ไม่หยดเร็ว ถ้าหยดเร็วแสดงว่ายังไม่เหนียว คนมากไปก็ไม่ดี น้ำตาลจะกลายเป็นเกล็ด พอน้ำตาลใส เป็นตัว ใส่น้ำปลาชิมให้ปะแล่ม ถ้าไม่ชอบคาวน้ำปลา ใส่ซีอิ๊วขาวแทนยิ่งอร่อยเหาะ คนให้เข้ากัน ยกขึ้นให้เย็น ถ้าเย็นแล้วแข็งไป ใส่น้ำสุกนิด คนให้จางไม่ต้องตั้งไฟ ถึงตอนสำคัญ คือใส่กุ้งแห้งตำ ตำก็ต้องตำกับครกหินสากหิน ห้ามเอาเข้าเครื่องป่น เพราะจะกลายเป็นผงฝุ่นกุ้ง...กุ้งแห้งสดๆ ดีๆ ตำแล้วยีกับครกหินให้เฟื่องฟูหอมหวาน กุ้งอย่างนั้นแหละประเดลงไปในน้ำตาล ใส่กุ้งแห้งแล้วต้องตามด้วยพริกป่น พริกป่นก็ต้องดีวิเศษสุด พริกดี ต้องพริกขี้หนูสวน พริกป่าเม็ดยาวๆ รสเผ็ดร้อนจัดจ้านไม่เอา พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็กๆ สั้นๆ ไม่ยาวมาก รสเผ็ดหอมละมุนน่ารักน่าเคี้ยว...เมื่อกุ้งแห้งเยอะน้ำตาลน้อย แฉะนิดๆ ดูเป็นตัวเป็นตนแล้วตักหยอดในระกำหวานที่คว้านไว้ให้พอดี มากไปก็แสบไส้ น้อยไปให้ถวิล...ทีนี้ก็มาถึงตอนตักหรือคีบเข้าปาก สุนทรียรสจะเกิดอีตอนเคี้ยวแรกที่ฟันกระทบผิวระกำคว้านเปรี้ยวๆ หวานๆ เนื้อแน่นแตกแยก...เปรี๊ยะ! น้ำหวานหยาดเยิ้มระคนเค็มกุ้งแห้งป่นเล็ดสัมผัสลิ้น...ปริ๊ด...ปริ๊ด...อื้อหือ...อะหา...อร่อยหรือไม่อร่อย รู้กันตรงนี้”
ประสิทธิประสาท
นอกเหนือจากครูบาอาจารย์ทางจิตรกรรมที่ได้กล่าวไปแล้ว การที่อาจารย์จักรพันธุ์ได้มาริเริ่มการแสดงหุ่นกระบอกขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2518 ให้กับสมาคมแม่บ้านอาสาตามคำชักชวนของผู้ใหญ่ที่เคารพคือท่านผู้หญิงสำอางวรรณ ล่ำซำ ทำให้อาจารย์ได้พบกับบรมครูในศิลปะแขนงอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งท่านได้บรรยายไว้อย่างพิสดารในหนังสือเรื่อง คิดถึงครู เช่นครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ ด้านศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) และปรมาจารย์ระนาดผู้บรรจุเพลงให้แก่คณะหุ่นกระบอกนั้นสามารถตีเพลงตระนิมิตรได้ไพเราะจน “ฟังแล้วเห็นควันเห็นอิทธิฤทธิ์ นางเบญจกายแปลง ครูก็ตีกลอนแบบหนึ่ง นิ่มๆ แบบว่ามีฤทธิ์ ค่อยม้วนตัวแปรเปลี่ยนรูปอย่างละเมียดละไม อินทรชิตแปลงเป็นพระอินทร์ ก็คนละกลอนกัน เป็นแบบดุดันกัมปนาท หวาดไหว ไม่มีซ้ำ” หรือครูบุญยัง เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ ด้านศิลปะการแสดง (ลิเก) ผู้สอนนาฏศิลป์ อาจารย์จักรพันธุ์ก็บรรยายไว้ว่า “หลังจากครูต่อท่าให้แล้ว ข้าพเจ้าคอยดูท่าพระไวยจากการแสดงทางอื่นๆ โดยเฉพาะตอนพอยอแสงสุริยนถึงต้นไทร ก็ไม่เห็นมีที่ไหนเหมือนของครู ยิ่งได้ประจักษ์แก่ตาและแก่ใจถึงความเป็นวิจิตรศิลป์ในนาฏยลักษณ์ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีมาอย่างนี้ เขาทำกันได้สวยถึงเพียงนี้ สวยอย่างต้องจับตาดู ถ้าละตาไปอื่นแล้วจะเสียดาย” ด้านครูชื้น สกุลแก้ว ศิลปินแห่งชาติ ด้านศิลปะการแสดง (หุ่นกระบอกไทย) ผู้ส่งมอบวิชาหุ่นกระบอกให้แก่อาจารย์จักรพันธุ์นั้น ก็เคยเชิดนางผีเสื้อสมุทรขณะจำแลงกายเป็นดรุณีจนทำให้อาจารย์จักรพันธุ์ “ประจักษ์อัศจรรย์ใจในฝีมือเชิดหุ่นกระบอกของคุณป้า ด้วยจังหวะจะโคนทั้งลีลาเข้มขลัง ท่านทำให้หุ่นหน้าเท่ากำปั้นเป็นยักษ์ตัวมหึมา มีฤทธิ์มีเดชขึ้นมาได้ต่อหน้าต่อตาฉับพลันทันที”
ถือเป็นโชคอย่างมากของประเทศไทยที่วิชาความรู้อันน่าอัศจรรย์ของบรมครูเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดให้แก่บุคคลผู้ที่อาจถือได้ว่าเป็น ‘บรมศิษย์’ อย่างอาจารย์จักรพันธุ์ เพราะอย่างที่ทราบกัน แม้ในยุค Thailand 4.0 ศิลปการของไทยจำนวนมากยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการบันทึกส่งทอดองค์ความรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม หรือแม้มีก็ไม่เพียงพอแก่การสร้างความแตกฉาน อย่างที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนไว้ว่า “สรรพวิชาที่ครูบาอาจารย์มอบให้ มิใช่สักแต่เป็นวิชาการที่ค้นคว้าหาเอาเองได้ตามหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดใหญ่ๆ ทั่วไป หรือเพียงกดเว็บไซต์ในอินเทอร์เน็ตด้วยปลายนิ้วง่ายๆ เรื่องที่อยากรู้ก็จะปรากฏแก่สายตาดารดาษ หากวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนสืบทอดมาทั้งชีวิต เป็นมรดกที่ครูบาอาจารย์ให้จำเพาะเจาะจง ใช่ว่าจะมีจะได้ทุกคนไป ถึงอยากได้ก็ไม่ได้ ถึงอยากมีก็ไม่มี เพราะเจ้าของท่านไม่ให้ การมอบมรดกอันหาค่ามิได้นี้ ท่านเรียกว่า ‘ประสิทธิ’ เป็นการให้ด้วยใจ จากจิตถึงจิต ไม่ได้เลื่อนลอย ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของครูบาอาจารย์ และวาสนาของศิษย์เท่านั้น” แต่แม้เป็นดังนั้น หากใครได้อ่านคิดถึงครูก็จะทราบได้ว่าอาจารย์จักรพันธุ์น่าได้รับการ ‘ประสิทธิ’ มาอย่างเต็มภาคภูมิ เพราะสิ่งที่ท่านบันทึกไว้ด้วยประสาทการรับรู้อันละเอียดละออนั้นมีมากกว่าเพียงเทคนิควิธีของศิลปะแขนงต่างๆ ที่ครูของท่านสั่งสมมาทั้งชีวิต แต่ยังรวมถึงจริตนิสัยและปฏิปทาของครูแต่ละคนที่ล้วนเป็นคนที่อยู่เพื่อศิลปะ และใช้ศิลปะนั้นเพื่ออยู่อย่างแท้จริง อย่างที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนไว้ในคำนำหนังสือว่า “ทุกวันนี้ ข้าพเจ้าไม่มีครูบาอาจารย์แม้สักองค์ สักท่านหรือสักคน หลงเหลือเป็นรูปกายให้ได้กราบไหว้บูชารับใช้ ยังอยู่ก็แต่วิชาที่ท่านได้มอบให้ไว้เท่านั้น เมื่อปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอน หรือได้ใช้วิชาของท่านคราใด ก็เท่ากับได้พบเห็นใกล้ชิด ได้ยินเสียง ได้เห็นภาพชัดเจนแจ่มใส ประดุจชีวิตท่านยังอยู่กับชีวิตเราตลอดไป” อาจเป็นด้วยความรู้ ‘คุณ’ และ รู้ ‘ค่า’ อย่างนี้ที่ทำให้อาจารย์จักรพันธุ์สัมฤทธิ์ในสรรพวิชาที่เรียนอย่างมาก จนวัลลภิศร์มักจะบ่นเสียดายอยู่บ่อยครั้ง “เสียดายจริงๆ อยากให้อาจารย์กลับมาเชิดหุ่นได้อีก ไม่มีใครเชิดได้เหมือนท่าน ท่านเชิดแล้วหุ่นแสดงอารมณ์ได้ ของอย่างนี้เหมือนคนปลุกเสกเครื่องรางของขลัง บางคนเขาประจุได้ บางคนประจุไม่ได้ บอกไม่ถูก”
อัจฉริยะอย่างเซอร์ไอแซค นิวตันเคยกล่าวว่า “If I have seen further, it’s only because I am standing on the shoulders of giants” นัยว่าทฤษฎีต่างๆ ที่เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบนั้นแท้จริงเป็นผลมาจากองค์ความรู้ที่มนุษยชาติสั่งสมต่อเนื่องมาจากอดีต เช่นเดียวกัน อาจารย์จักรพันธุ์เขียนไว้ว่า “ถ้าได้เข้าใจ ถ้าได้รู้จักมักคุ้นแล้วในศิลปะนั้นๆ จะเข้าใจว่าศิลปะของเราบ่งบอกถึงการสั่งสม ดูง่ายๆ จากการสืบหาต้นตอคนแต่งก็หาไม่ได้ เพราะเพลงหน้าพาทย์เพลงตระต่างๆ มีมานานนม ต้องโอนไปให้เทวดาแต่ง ทั้งระเบียบแบบแผนต่างๆ ที่ติดตรึงเป็นปึกแผ่นแน่นหน้าไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ที่เพิ่งมี [ประวัติศาสตร์ของประเทศเรา] สืบสวนค้นคว้าหาหลักฐานไปได้ถึงโน่นๆ หากตำนานดนตรีประจำชาติของเรา มีกล่าวไว้เพียงสั้นๆ ว่า “---แถนหลวงให้ศรีคันธรรพเทวา ลงมาสอนเฮ็ดค้อง เฮ็ดกลอง เฮ็ดระนาด แจงแวง---” แถนหลวงคือพระอินทร์ ศรีคันธรรพเทวา คือพระประโคนธรรพ เรื่องของดนตรีไทยสืบไปจึงจบลงที่เทพยดาและเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์” ด้วยเหตุนี้เอง ในขณะที่อาจารย์จักรพันธุ์ให้ความเคารพอย่างสูงสุดต่อวิชาที่ได้มาจากครู อาจารย์กลับไม่ลังเลที่จะบูชาครูด้วยการต่อยอดศาสตร์และศิลป์นั้นให้งอกงามต่อไปอย่างสุดกำลังความสามารถในฐานะช่าง งานของอาจารย์จักรพันธุ์จึงเป็นทั้งงานไทยประเพณี คืองานอันมีรากฐานไพบูลย์อยู่ในขนบศิลป์ที่สืบสานมาอย่างยาวนาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงาน ‘สกุลช่างจักรพันธุ์’ ที่หาที่สองไม่ได้ หุ่นกระบอกของมูลนิธิจักรพันธุ์ดูจะขยับนิ้วกรีดกรายได้เกินกว่าหุ่นหลวงและหุ่นวังหน้าจากยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่อาจารย์ได้ซ่อมมา พระพุทธรูป ‘พระพุทธมหาปารมีนุภาพพิสุทธิ์อนุตตรสังคามวิชัย’ ที่อาจารย์ออกแบบอาจมีเค้าของพุทธศิลป์ยุคสุโขทัยปลายกับต้นอยุธยาแต่พร้อมกันนั้นก็ผสานอยู่ด้วยความงามมนุษย์อันไร้ที่ติอย่างที่พบได้เฉพาะจากรูปเขียนของอาจารย์ ในขณะที่ภาพเขียนของอาจารย์เองนั้น ก็ทำให้พุทธประวัติและวรรณคดีไทยบริบูรณ์ไปด้วยชีวิตและเนื้อหนังของมนุษย์มากกว่าเทพนิยายอันล่องลอยห่างไกล ไม่ผิดกับที่ดาวินชี มิเคลันเจโล และราฟาเอลได้ทำมาแล้วกับศิลป์ของศาสนจักรในยุคเรอเนซองส์ สมกับที่สื่อต่างประเทศขนานนามว่าจักรพันธุ์ โปษยกฤตเป็น ‘Renaissance Man’ ยากจะบอกว่าจุดใดประเพณีสิ้นสุด และความเป็นจักรพันธุ์เริ่มขึ้นมา ซึ่งนั่นเองอาจจะเป็นความตั้งใจของผู้สร้างงาน อย่างที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนไว้ในประวัติของอาจารย์เยื้อน ภาณุทัต ปรมาจารย์ในวิชาประณีตศิลป์อย่างการปักสะดึงกลึงไหม ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนสตรีภานุทัต และเคยแสดงฝีมือตั้งแต่อายุ 8 ขวบจนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี พันปีหลวง ต้องขอทอดพระเนตรตัวผู้ทำว่า “ขั้นตอนของการทำงานที่ [อาจารย์เยื้อน] พร่ำสอนอยู่เสมอคือความประณีต สะอาด ละเอียดละออ มีไหวพริบ ช่างสังเกต รู้จักพลิกแพลงเพิ่มเติมจากที่ได้ร่ำเรียนมา มิใช่สักแต่ว่าลอกเลียนแบบครูอยู่ร่ำไป ท่านมักยกพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ขึ้นมากล่าวแก่เราเสมอว่า 'ช่างคนใดที่ทำแต่การถ่ายถอนแล้ว จะลือชื่อไม่ได้ คนที่เขาลือนั้น เปรียบว่าเขากินแบบที่ทำแล้วเข้าไป จนตกออกมาเป็นเหื่อนั่นจึงลือ ต้องเห็นให้มาก กับทั้งสังเกตจำด้วย จึงจะเป็นเครื่องเรืองปัญญา ถ้าได้เห็นน้อย หรือไม่จำ ก็ไม่ช่วยตัวได้'” วัลลภิศร์เล่าว่าสำหรับตัวเขา อาจารย์จักรพันธุ์สอนย่อกว่านั้น “อาจารย์สอนว่า ‘กินแล้วต้องเช็ดปาก’ คือเอาแบบจากที่ไหนมาต้องพลิกแพลงกลบเกลื่อนอย่าให้คนเขาจับเอาได้”
หาค่าไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์จะวิเศษเพียงใด หากไปถามบรรดาลูกศิษย์หรือคนรู้จักว่าประทับใจสิ่งใดที่สุด กลับไม่มีใครพูดถึงฝีมือของอาจารย์จักรพันธุ์มากเท่ากับความเป็นอาจารย์จักรพันธุ์เอง ผู้อ่านบทความของศศิวิมลอาจได้ความรู้สึกว่าอาจารย์จักรพันธุ์นั้นเป็นคนเค็ม ตระหนี่ถี่เหนียว และเกรี้ยวกราดโมโหร้ายสมควรกับผู้แต่งชื่อหนังสือว่า ‘ศศิวิมลสับแหลก’ แต่ผู้ใกล้ชิดทุกคนจะบอกว่าอาจารย์จักรพันธุ์ตระหนี่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น กระดาษทิชชู่ที่ซ้อนบางหลายชั้นนั้น บางทีอาจารย์ก็ลอกออกใช้แค่ทีละชั้น หรือยามวาดสีน้ำมันเสร็จสิ้นแล้วต้องการจะล้างพู่กัน แทนที่อาจารย์จะล้างออกโดยน้ำมันล้างสีทิ้งเปล่าๆ ก็กลับประจงเอาพู่กันป้ายเดนสีกับแคนวาสอีกอันหนึ่งอย่างมีจังหวะ ซึ่งต่อมาแคนวาสเช็ดพู่กันนั้นจะถูกต่อเติมจนสำเร็จเป็นอีกภาพอันงดงาม อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้อื่นแล้ว อาจารย์กลับไม่เคยลังเลที่จะเป็นผู้ให้ เป็นที่รู้กันว่าอาจารย์จักรพันธุ์คือผู้ช่วยต่อราคาค่าแรงแทนลูกศิษย์และมักให้เกินกว่าที่กำหนดเป็นค่าแรง รวมทั้งนำปัจจัยใส่ซองให้แก่ครูบาอาจารย์ในชีวิตอยู่ทุกๆ เดือนไม่ขาด กระทั่งโครงการจัดสร้างและจัดแสดงการซ้อมหุ่นกระบอกที่สมัยอาจารย์จักรพันธุ์ยังสุขภาพดีเคยจัดอยู่ทุกเดือนนั้น อาจารย์ก็ไม่เกี่ยงที่จะนำทุนทรัพย์ส่วนตัวมาใช้อย่างไม่กลัวสิ้นเปลือง ไม่ว่าจะเพื่อจัดสร้างเครื่องประดับเงินแท้ ทองแท้ และอัญมณีแท้ของหุ่นกระบอกตัวเอก เรื่อยไปจนถึงการทำระบบแสงเสียง ยังไม่ต้องกล่าวถึงอาหารคาวหวานคัดสรรแล้วที่จัดหามาเลี้ยงอยู่อย่างเต็มภิกขาแก่ผู้มาชมการซ้อมหุ่นกระบอกโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย อาจารย์นพมาส แววหงส์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้รับหน้าที่บริหารจัดการความเป็นไปของคณะแสดงและคณะผู้ชมบอกว่า “ดิฉันต้องเล่นบทเป็นนางมารทุกครั้ง เพราะคนมาดูซ้อมแล้วกินอาหาร เราก็เห็นว่าเข้าเนื้ออาจารย์อยู่ตลอด เลยเสนอให้เก็บค่าอาหารสิ ดูหุ่นแล้วเก็บค่าอาหารบ้างไม่น่าเป็นอะไร แต่ไม่ว่ากี่รอบต่อกี่รอบ สุดท้ายก็แพ้อาจารย์ อาจารย์บอกว่าเหมือนเป็นโรงทานให้เขากินเถอะ แล้วเราอยากกินของอร่อย เขาก็อยากกินอย่างนั้นแหละ ก็ต้องให้กินเหมือนกัน” และทั้งหมดนี้ ก็ไม่ใช่เพราะว่าอาจารย์จักรพันธุ์มีล้นเหลือ เพราะในขณะที่ภาพพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีของอาจารย์เคยทำสถิติเป็นการประมูลภาพเขียนราคาสูงสุดของคริสตีส์ที่จัดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2543 แต่สำหรับอาจารย์จักรพันธุ์ การเขียนภาพไม่เคยเป็นธุรกิจที่สามารถเรียกเงินได้อย่างจริงจัง อย่างที่ท่านเขียนไว้ในรวมเรียงความของศศิวิมล เอกทศมบรรพ ลำดับสิบเอ็ดว่า “คนโดยมากคิดว่าศิลปะเป็นสินค้าหรือไฉน? ที่จริงศิลปะไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่ปัจจัย 4 ไม่ใช่อาหาร ไม่ใช่เครื่องนุ่งห่ม ไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เมื่อมีผู้มาติดใจพอใจมาขอซื้อ ก็ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันไปเป็นสมมติ เหมือนชายหนุ่มเตรียมสินสอดทองหมั้นจะไปหมั้นหญิงสาว จะว่าเจ้าสาวนั้นเป็นสินค้าก็หาไม่ ศฤงคารวัตถุที่เจ้าบ่าวอุตสาหะตระเตรียมไป เป็นเพียงเครื่องแสดงความรักความพึงพอใจ ที่จะมอบให้แก่กันตามธรรมเนียมโลกเท่านั้น ศิลปะเพิ่มรสสุนทรีย์ที่อ่อนโยนให้แก่จิต เพิ่มเสน่ห์และความงดงามให้ชีวิต ดังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ‘สิปปญฺจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ ศิลปะเป็นมงคลอันสูงสุด’ ศิลปะเป็นเครื่องอยู่ เป็นวิหารธรรมของศิลปิน เปรียบเสมือนนกที่ร้องไพเราะกังวานหวาน มันไม่ได้ร้องเพื่อแลกข้าว หรือลูกไม้ไว้ยังชีพเป็นอาหาร ไม่ได้ร้องเพื่อให้คนได้ยินทั่วแล้ว สรรเสริญเยินยก แต่มันร้องด้วยสัญชาติกำเนิด เพื่อความเบิกบานใจของมันเอง ไม่ว่าจะมีคนได้ยินหรือไม่ได้ยิน ไม่ว่ามันจะอยู่บนเสาไฟฟ้า หรือบนยอดไม้ไกลโพ้นถึงนอกฟ้าป่าหิมพานต์ไหนๆ ไม่มีผู้ไม่มีคน มันก็ร้อง เมื่อ ‘เครื่องอยู่’ ของศิลปินช่างเขียนให้ผลออกมาเป็นงานศิลปกรรมอันต้องใจโดยมิได้ตั้งใจ ก็ดูเหมือนศิลปวัตถุนั้นๆ จะเป็นเครื่องดำรงชีวิตของศิลปินให้อยู่ได้สุขสำราญตามอัตภาพ หากทุกสิ่งทุกอย่างมีสมรรถนะ เป็นของเฉพาะตน และจำเพาะบุคคล ใช่ว่าสักแต่ว่าเป็นรูปเขียนแล้วจะบันดาลปัจจัยจำนวนมหาศาลให้ได้ดั่งมโนนึกเสมอไป บางครั้งก็ได้ บางครั้งก็ไม่ได้”
ฝากไว้ในแผ่นดิน
ในระยะหลัง ยิ่งเป็นไปได้มากว่ารูปเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์จะบันดาลปัจจัยจำนวนมากไม่ได้ เพราะหลังท่านตกลงปลงใจที่จะสร้าง ‘พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ จักรพันธุ์ โปษยกฤต’ ในเขตสายไหม กรุงเทพฯ ซึ่งมีกำหนดเสร็จในปี 2562 เพื่อเป็นที่เก็บรักษาผลงานนานาในชีวิต อาจารย์จักรพันธุ์ก็เลือกที่จะเก็บงานไว้เอง มากกว่าจะขาย วัลลภิศร์บอกว่าสิ่งนี้อาจารย์ไม่ได้มุ่งทำเพื่อแสดงความเก่งส่วนตน แต่เพื่อให้ผลงานของอาจารย์ได้มีส่วนเป็นฐานวิชาให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ปีนป่ายต่อยอดต่อไปดังเช่นที่ท่านได้เรียนรู้จากครูบาอาจารย์ในอดีต อาจารย์ตระหนักเสมอมาถึงห่วงโซ่ของความสัมพันธ์ให้และรับที่หมุนวนและแยกออกจากกันไม่ได้ อย่างที่อาจารย์จักรพันธุ์เคยเขียนไว้ในรวมเรียงความศศิวิมล ทศมบรรพ ลำดับสิบว่า “---หื่อฉี่ เจียะปั้กหนั่งบี้--- คำเปรียบเปรยจีนมีความหมายทำนองว่า หูฉลามมิได้มีอะไรอยู่ในตัวเอง อาศัยโอชะผู้อื่นทั้งสิ้น โอชะที่ว่าได้แก่น้ำซุปที่เคี่ยวตุ๋น บ่มมาจากหมูเห็ดเป็ดไก่โดยใช้เวลาอันยาวนาน กว่าหูฉลามจืดๆ แข็งเหมือนยางหนังสติ๊กจะนุ่มละมุนกลายเป็นอาหารอันมีราคาโอชารสไปได้...ลำพังวัตถุดิบแต่อย่างว่าได้มาเปล่าๆ ก็งั้นๆ ต้องเอาสื่อผสมมาปรุงปนอยู่หนักหนาไม่ใช่เล่นเหมือนกัน กว่าจะกลายเป็นของเหลาเข้าปากได้ ภาษิตจีนที่ยกมาข้างต้น อุปมาความหมายคงจะเปรียบให้เห็นว่า นายได้ดีเพราะบ่าว เจ้าได้ดีเพราะข้า หัวหน้าได้ดีเพราะลูกน้อง นักร้องดังเพราะดนตรี เศรษฐีร่ำรวยเพราะยาจก แม่ยกอยู่ได้เพราะดารา พวกที่อยู่บนหัวคน ได้ยินคำอุปไมยนี้ จะได้ใฝ่ต่ำก้มลงมองตีนบ้าง ไม่มัวแต่ชูคอแหงนหน้า คิดแต่จะถ่มน้ำลายรดฟ้าอย่างจิวยี่ตลอด เลยต้องรากเลือดตาย ถ้ามองให้กว้างขวางลึกซึ้งลงไปอีก มันก็ไม่ใช่มุมเดียวอย่างที่ว่า หื่อฉี่ เจียะปั้กหนั่งบี้นั้นก็ถูก แต่ถ้าไม่มีหูฉลามหรือหื่อฉี่ มีแต่เครื่องประกอบลุ่นๆ ก็เสมือนมีแต่ตัวประกอบ ไม่มีตัวเอก ไม่มีผู้นำ เอาเข้าจริง ทุกสิ่งทุกอย่างคงจะต้องมาลงภาษิตไทยที่ใครๆ ก็เคยได้ยินจนคุ้นหู “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่าอัชฌาสัย” คือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ทำตามหน้าที่ตนให้ดีที่สุด ด้วยความสามัคคี ถึงจะเป็นองค์ประกอบที่ดีงามสมบูรณ์ออกมาได้ ดุจหูฉลามน้ำแดง น้ำข้น หรือน้ำใส ฉะนั้น”
ในชีวิตที่ไม่ชอบงานสังสรรค์และพอใจเฉพาะกับการทำงานอยู่ในบ้านที่อาจารย์จักรพันธุ์นิยมใช้คำว่า ‘รู’ คนใกล้ชิดรู้ดีว่าการเกื้อกูลที่มากที่สุดที่อาจารย์ได้ทำให้กับสังคมอาจเป็นการยอมเปิดนิทรรศการหมุนเวียนในพื้นที่บ้านระหว่างที่พิพิธภัณฑ์ยังก่อสร้างไม่ลุล่วงนี่เอง อาจารย์จักรพันธุ์เคยเขียนไว้ในบทความว่า “โพยที่ไม่ได้เป็นคำถาม แต่เป็นคำยุ หากจะไม่ยอมกระทำตามโดยเด็ดขาด ก็คือทำบ้านเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้คนมาสอดรู้สอดเห็น...เราเองก็เป็นคนช่างเก็บ แต่ไม่อยากให้ใครมารับรู้ ไม่ชอบให้คนมาบุกบ้าน อันเป็นนิวาสสถานส่วนตัว ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ถึงตายแล้วก็เหมือนกัน จะเป็นผีคอยแหกอก แลบลิ้นปลิ้นตาหลอนหลอก พวกอยู่ไม่สุข เข้ามารุกแดนกระหน่ำ” แต่มาถึงวันนี้ อาจารย์ไม่เพียงไม่แหกอก หากยังยอมสละพื้นที่ไม่น้อยของบ้าน ปลูกเป็นโรงเรือนนิทรรศการหมุนเวียน ซึ่งผู้มาชมจะได้พบตั้งแต่ภาพสีฝุ่น ‘พรานบุญจับนางมโนราห์’ ที่นักศึกษาจักรพันธุ์เขียนขึ้นเมื่ออยู่ปีสาม มหาวิทยาลัยศิลปากร และทำให้อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ถึงกับเรียกเข้าไปพบแล้วกล่าวฝากฝังจิตรกรรมไทย ภาพ ‘พระแม่คงคา’ ที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนขึ้นจากสีที่ป้ายไว้เพื่อเช็ดสีพู่กันแต่กลับมีเนื้อสีที่เนียนละเอียดจนถือเป็นมาสเตอร์พีซภาพนู้ด หุ่นกระบอกจากเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำให้หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชรู้สึกว่า “ความจริงหน้าหุ่นนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวตามอารมณ์ไม่ได้ แต่คนที่เชิดหุ่นก็สามารถจะเชิดหุ่นจิวยี่จนใบหน้านั้นแสดงอารมณ์ออกมา แสดงให้เห็นความหยิ่งผยอง แสดงให้เห็นอหังการของแม่ทัพ และในยามแค้นก็แสดงให้เห็นความแค้นได้อย่างที่คนดูไม่ต้องนึกเอาเอง” ตลอดจนภาพเหมือนฝีมือเด็ดขาดซึ่งหากไม่บอกก่อนยากจะรู้ว่านี่คือภาพที่อาจารย์จักรพันธุ์เขียนขึ้นขณะร่างกายยังถูกเบียดเบียนโดยอัมพฤกษ์และเขียนด้วยมือซ้ายซึ่งไม่ใช่มือถนัด ยืนยันปาฏิหาริย์แห่งฝีมือบอกคุณวุฒิของบุคคลระดับปรมาจารย์ สมกับที่ครั้งหนึ่งอาจารย์จักรพันธุ์เขียนไว้ว่า “โบราณาจารย์...มิใช่อบรมสั่งสอนได้แค่ด้วยวาจา แต่ทำให้ดูไม่ได้ เขียนให้ดูไม่ได้ มุขปาฐกท่าเดียว ไม่สามารถสำแดงปาฏิหาริย์ให้เห็นเป็นประจักษ์ได้ด้วยการกระทำ”
เป็นเรื่องน่าสงสัยว่า ‘คนรู’ อย่างอาจารย์จักรพันธุ์รู้สึกเช่นไร ในวันเปิดนิทรรศการที่เห็นคนจำนวนมหาศาลอัดแน่นอยู่แทบทุกตารางนิ้วของบ้านพร้อมกล้องและโทรศัพท์มือถือที่จะทำให้นิวาสสถานของอาจารย์กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของโซเชียล มีเดีย แต่ขณะที่วัลลภิศร์เข็นรถวีลแชร์ของอาจารย์จักรพันธุ์ข้ามผ่านแผ่นป้ายหน้านิทรรศการที่เขียนไว้ว่า “ขึ้นชื่อว่า ‘ช่างเขียน’ จะมีบทความใดบอกเล่าชีวิตได้ดีกว่าผลงานภาพเขียน” ภาพของอาจารย์จักรพันธุ์ที่นั่งมองความเป็นไปอย่างสงบนิ่งดุษณี ได้ทำให้ข้อความนั้นมีความหมายมากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
ตื้น-ลึก ชอบ-ชัง มาก-น้อย...อาจารย์ได้บอกเล่าไว้หมดแล้ว ผ่านสิ่งที่เขียน และผ่านสิ่งที่ทำ
จะมีคำพูดใดที่ท่านจำเป็นต้องพูดอีก ■