SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Grand Design
ดร.เสนาะ อูนากูล ย้อนรอยเทคนิคของ 'เทคโนแครต' ที่นำพาประเทศมาสู่ยุคใหม่ และชวนมองไกลไปยังอนาคต
ในยุคสมัยที่ประเทศกำลังฝุ่นตลบไปด้วยเมกะโปรเจกต์กว่า 50 โครงการตั้งแต่ถนน สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ไปจนกระทั่งรถไฟความเร็วสูงมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาทภายใต้ชื่อเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC นั้น คงมีน้อยคนหยุดนึกเปรียบเทียบว่าเพียงไม่กี่สิบปีที่แล้ว อย่าว่าแต่การเป็น ‘economic corridor’ หรือ โครงข่ายคมนาคมขนส่งที่จะเชื่อมภูมิภาคให้เป็นหนึ่งเดียว ลำพังการเดินทางไปกลับชลบุรี-กรุงเทพฯ ที่ปัจจุบันทำได้ในหนึ่งชั่วโมง ยังเคยต้องใช้การขึ้นรถลงเรือเป็นมหกรรม ถึงขนาดที่ว่าถ้าคนเดินทางจากชลบุรีเข้ากรุงเทพฯ ญาติพี่น้องต้องเทครัวกันมายืนส่งราวกับไปต่างประเทศ
เหลือเชื่อยิ่งกว่านั้น ระบบงบประมาณของประเทศที่ในวันนี้มีการตรวจสอบซับซ้อนจนสามารถตอบสนองการใช้เงินมหาศาลถึงหลักล้านล้านและแยกย่อยได้นับสิบนับร้อยประเภท ครั้งหนึ่งเคย ‘คร่าว’ จนแบ่งได้เพียง 3 หมวด กล่าวคือเงินเดือน ค่าใช้สอย และการจร ยังไม่ต้องกล่าวถึงระบบการบริหารจัดการภาครัฐไม่ว่าในด้านการเงิน การธนาคาร ตลอดจนโครงสร้างของตลาดเสรี ซึ่งต้องเรียกว่าแบเบาะหรือแม้กระทั่งไม่มีอยู่
พลังที่ขับเคลื่อนการ ‘ยกสมรรถนะ’ ประเทศไทยจากความเป็นหมู่บ้านยุคเก่าไปสู่ความเป็นเมืองสมัยใหม่นี้มีอยู่หลายส่วน รวมถึงโชค แต่คงไม่มีใครปฏิเสธว่าพลังที่ขาดไม่ได้คือพลังของข้าราชการยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ได้ทำหน้าที่สร้างและประกอบองคาพยพทางเศรษฐกิจให้ครบถ้วนและมีกำลังพอจะพาประเทศทะยานไปข้างหน้าได้อย่างที่เรียกกันว่า ‘เทคโนแครต’ โดยในบรรดาเทคโนแครตเหล่านี้ ‘สภาพัฒน์’ หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปัจจุบัน เปรียบได้กับสถาปนิกใหญ่ผู้วางพิมพ์เขียวให้เทคโนแครตในกระทรวงทบวงกรมต่างๆ สามารถทำงานร่วมกันได้ ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่าการเมือง
ด้วยเหตุนี้ ในวันที่รัฐบาลกำหนดให้ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการลงทุนเมกะโปรเจกต์ที่จะผูกพันประเทศไทยไปอีกยาวนาน การสัมภาษณ์ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้มีบทบาทใน 3 รัฐบาลที่กล่าวกันว่าเป็นยุคทองของเทคโนแครต กล่าวคือรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ตลอดจนผู้ได้รับการขนานนามว่า เป็น “the single most important guide of policy-making” ของยุคจากบทความงานวิจัย A Short Account of the Rise and Fall of the Thai Technocracy1 จึงเป็นความพยายามในการทำวิศวกรรมย้อนกลับเพื่อเสาะหาปัจจัยความสำเร็จครั้งกระโน้นที่อาจนำมาใช้ในปัจจุบัน
เพราะแม้ยุคทองของเทคโนแครตจะผ่านไปแล้วอย่างที่ดร.เสนาะเองเป็นผู้กล่าว แต่การวางทิศทางให้ประเทศโดยประกอบด้วย ‘เทคนิค’ หรือองค์ความรู้ มากกว่าเพียงศรัทธาหรือ แรงบันดาลใจส่วนตัวของผู้นำน่าจะยังเป็นสิ่งจำเป็นไม่ว่ายุคสมัยใด
ความเปลี่ยนแปลง
“ผมเป็นเด็กบ้านนอก อยู่เมืองชล ตำบล บางปลาสร้อย อำเภอเมือง ชีวิตเด็กๆ ก็เป็นเด็กบ้านนอก ไม่มีเหมือนอย่างสมัยนี้ สมัยลูกผม เด็กเล่นตุ๊กตา มาถึงสมัยหลาน เขาเล่นคอมพิวเตอร์กันหมดตั้งแต่ 2 ขวบ เป็น digital native แล้ว มันเปลี่ยนไปมากเลย สมัยก่อนเราได้แต่ยิงนกตกปลา ทำบาปทั้งนั้น ไม่มีอะไรจะทำ มีแต่ธรรมชาติ มันก็ต้องเล่นกับธรรมชาติ
...คิดดูสมัยก่อนจากเมืองชลที่จะเข้ากรุงเทพฯ มีทางเดียวคือนั่งเรือกลไฟจากปลายสะพานศาลเจ้า เข้ากรุงเทพฯ ใช้เวลาทั้งคืน จนสายๆ ถึงจะมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา คนเดินทางเมาคลื่น เมาอะไร ลำบากมาก ตอนมาส่งพี่ชายคนแรกที่เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธ ญาติพี่น้องจุดไต้มาเป็นแถวเลย ร้องห่มร้องไห้กัน สมัยนี้เด็กไปเมืองนอก ปีหนึ่งไปๆ กลับๆ ไม่รู้เท่าไร ตัวผมกว่าจะออกจากชลบุรีเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ก็ต้องนั่งรถจากเมืองชลหลายชั่วโมงกว่าจะถึงแปดริ้ว จากนั้นต้องนั่งเรือจ้างข้ามแม่น้ำบางปะกง นั่งรถสามล้อไปขึ้นรถไฟ นั่งรถไฟมาหัวลำโพงก็นานอีก พอถึงหัวลำโพงก็นั่งรถเจ๊กต่อ เป็นมหากาพย์ เดี๋ยวนี้ไปไม่ถึงชั่วโมงแล้ว ยิ่งอีกหน่อยทางรถไฟความเร็วสูงมา ยิ่งเร็วใหญ่ โลกมันเปลี่ยนแปลงไปถึงขนาดนั้น
...คนเราอยู่ไปๆ อาจจะลืมได้ นึกว่าเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้มาตลอด ไม่ใช่ ในช่วงชีวิตเดียวเราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากเลย เมื่อก่อนระบบงบประมาณเรายังง่ายมาก แบ่งเป็นเงินเดือน ค่าใช้สอย แล้วก็การจร มี 3 หมวดเท่านั้น เงินเดือน คือเงินที่ทุกเดือนต้องจ่าย ค่าใช้สอย ก็พวกค่ากระดาษ ดินสอ ปากกา ที่เหลือเรียกเป็นการจรหมด จรอะไรก็ไม่รู้ มันไม่มีระบบที่เราจะวิเคราะห์ จะเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมาวางหลักการปรับปรุงระบบงบประมาณกันใหม่ ไม่งั้นแบบเก่ามันเอาไปทำอะไรไม่ได้
ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะใจตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าบัญชีแคบไป บวกกับอ่านหนังสือของศรีบูรพา ก็เกิดความคิดอยากจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้นบ้าง
...ต้องเข้าใจว่าสมัยนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ underdeveloped countries ถือเป็นของใหม่ ไม่มีใครมีความรู้ ผมโชคดีว่าพอเริ่มทำงานที่กรมบัญชีกลางได้สักพักก็สอบทุนฟุลไบรต์ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้เรียนกับโปรเฟสเซอร์แร็กนา เนิกส์ ซึ่งเขียนตำราเรื่องการพัฒนาประเทศด้อยพัฒนาคนแรกเรื่อง Problems of Capital Formation in Underdeveloped Countries เรื่อง Vicious Circle of Poverty อะไรพวกนี้ ดังนั้นทุกยุคทุกสมัยจะมีของใหม่ ไม่ใช่ว่าสมัยนี้มีของใหม่ สมัยก่อนมันก็มีของใหม่ สมัยก่อนพวกเราถึงมีบทบาทเยอะ เพราะความรู้ของคนที่จะใช้ในการบริหารประเทศมันยังไม่มี”
ในฐานะอดีตผู้มีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (แผนฯ 1) ซึ่งช่วยวางรากฐานของการสร้างถนนหนทาง ตลอดจนจัดทำรายงานที่ใช้ในการจัดตั้งสำนักงบประมาณของประเทศ กล่าวได้ว่าดร.เสนาะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เขาพูดถึงมากับมือ แต่หากถามว่าอะไรคือสิ่งที่มีอิทธิพลสูงสุดในชีวิตที่สร้างการเปลี่ยนแปลงกว้างขวางขนาดนี้ ดร.เสนาะกลับไม่ได้พูดถึงผู้มีอำนาจมากมายที่ได้เคยพานพบ หากเล่าไปถึงเหตุการณ์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนมัธยมที่ชลบุรี
“ตั้งแต่เล็กผมเรียนได้ที่โหล่มาตลอด เพราะมัวแต่เล่น จะสอบแต่ละทีคุณแม่ต้องพาไปให้หลวงปู่รดน้ำมนต์เพื่อขอให้สอบผ่าน มาเจอจุดเปลี่ยนตอน ม.1 ครูของผมคือครูพยอม อยู่ดีๆ ท่านใช้อุบายถามคนในชั้นว่า ในบรรดานักเรียนที่นั่งกันอยู่นี้ ใครตอบได้ว่าคนไหนจะมีโอกาสทำงานที่สำคัญๆ ต่อไปข้างหน้า ไม่มีใครทายถูก เพราะเพื่อนผมต่างก็คิดถึงคนเรียนเก่งๆ แววดีๆ คนอย่างผมที่ได้ที่โหล่ไม่มีทางเลย แต่สุดท้ายครูพยอมกลับเฉลยว่าเป็นผม ผมนี่ช็อกเลย เพราะไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ แต่ขณะเดียวกันลึกๆ ก็ภูมิใจ เพราะไม่เคยนึกว่าจะมีใครเห็นความสำคัญของเรา ตั้งแต่นั้นมาผมเลยตั้งใจเรียน ตีสี่ตีห้าตื่นมาจุดตะเกียงลานดูหนังสือ แล้วไม่นานเท่าไหร่ก็ไต่เต้าจากที่โหล่ขึ้นมาเป็นหน้าๆ ชั้นเลย การที่ครูใช้กัปปิยโวหาร หรือคำพูดกระตุ้นให้เด็กเกิดความรู้สึกไปในทางสร้างสรรค์ ทำให้ผมรู้สึกติดหนี้บุญคุณมากที่สุด ผมเชื่อว่าครูอย่างนี้เป็นครูที่หายากนับเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต”
เชื้ออุดมการณ์
ชีวิตหลังจากดร.เสนาะ ผันตัวมาเป็นเด็กเรียนผสมผสานกันระหว่างความตั้งใจและโชคชะตา เขาออกจากชลบุรีมาเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ ด้วยความหวังว่าจะสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์หรือแพทยศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ด้วยเหตุที่ปีที่เข้าสมัคร จุฬาฯ กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัครเรียนไว้ที่ 17 ปี ดร.เสนาะซึ่งมีอายุเพียง 16 ปี จึงเปลี่ยนไปเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในเมื่อธรรมศาสตร์ในสมัยนั้นมีเพียง 2 แผนก คือแผนกกฎหมายและแผนกบัญชีให้เลือก ครอบครัวอูนากูลซึ่งมีหมอและมีญาติเป็นทนายอยู่แล้ว จึงได้เลือกเรียนบัญชีเพื่อจะได้กลับมาดูแลธุรกิจของครอบครัว
“ชีวิตก็เปลี่ยนไป จากที่ตอนอยู่เตรียมอุดมฯ เป็นเด็กเรียน ไปธรรมศาสตร์มันเสรีชนจริงๆ จะสอบแต่ละที รุ่นพี่อย่างอาจารย์สังเวียน อินทรวิชัยต้องมาช่วยติว เพราะเราเอาแต่เล่นกีฬาทั้งปี ไม่ค่อยเรียน แต่ก็ผ่านทุกปี ไม่เคยซ่อม แต่พอขึ้นปี 4 เกิดกบฎแมนฮัตตัน เหตุการณ์ตอนนั้นทำให้ธรรมศาสตร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายกบฎ เรากำลังซ้อมรักบี้อยู่ในสนาม มีทหารเข้ามายึดธรรมศาสตร์ เอาปืนมาจี้ไล่ให้เราออกไป เราก็เลยไม่มีที่เรียน เพราะธรรมศาสตร์ถูกปิด จึงได้เริ่มคิดเรื่องไปเมืองนอก”
แม้ว่าจะต้องออกจากมหาวิทยาลัย แต่เช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวร่วมยุคสมัยอีกเป็นจำนวนมาก ดร.เสนาะยังไม่ได้ไปห่างไกลจากอุดมการณ์เรื่องการสร้างสรรค์สังคมที่เป็นธรรมของธรรมศาสตร์ อันที่จริงเขาตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ประเทศออสเตรเลีย เพียงด้วยเหตุผลว่ามีความประทับใจจากการอ่านนิยาย ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ ของศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ซึ่งไม่ใช่ผู้ใดเลย นอกเสียจาก เจ้าของวาทะ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” นั่นเอง
“คุณศรีบูรพาท่านไปเรียนต่อที่ออสเตรเลียแล้วกลับมาเขียนนิยายเรื่องนี้ เราก็อินเหมือนกัน เรื่องสังคมที่เป็นธรรม พอดีมีเพื่อนที่เรียนรุ่นเดียวกันที่เตรียมอุดมคือ นุกูล ประจวบเหมาะ เขาเรียนอยู่ที่ออสเตรเลียและคุณศรีบูรพาก็เอ่ยชื่อเขาอยู่ในนิยาย ผมก็เลยส่งผลการเรียนและเขียนจดหมายไปถามนุกูลว่าถ้าผมจะเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นที่นุกูลเรียนอยู่เขาจะรับไหม ปรากฎเขารับแต่ต้องเรียนปีหนึ่งใหม่ โดยผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะใจตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าบัญชีแคบไป บวกกับอ่านหนังสือของศรีบูรพา ก็เกิดความคิดอยากจะมีส่วนช่วยทำให้สังคมดีขึ้นบ้าง
...ไปเรียนทางโน้นได้ประสบการณ์หลายอย่าง ได้เข้าอยู่ใน Ormond College ซึ่งเป็น residential college แบบพวกเคมบริดจ์หรือออกซ์ฟอร์ด ในปีแรกที่เข้า เราต้องเป็นพวก ‘scum’ (สวะ) สองสัปดาห์ มีนักเรียนปี 4 ทำตัวเป็น drill sergeant ดุมาก โขกสับเต็มที่ แกล้งให้ไปทำนู่นทำนี่ เวลาเข้าไดน์นิ่งฮอล พวกสกัมต้องนั่งหัวโต๊ะ หั่นแกะวางลงบนมีด แกะนี่ไม่ใช่ lamb นะ แต่เป็น mutton แล้วก็สะบัดมีดโยนเนื้อแกะไปให้เพื่อนรับ อยู่กันอย่างนี้ มันก็สนุกไปอย่าง ทำให้มีความรู้สึกเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แปลกแยก แต่พอหมดสองสัปดาห์ เปลี่ยนเป็นคนละคนเลย ไอ้พี่ที่มันดุเหลือเกินกลายเป็นมาโอบกอด ต้อนรับเป็นอย่างดี มันก็เป็นวิธี orientation ของเขา”
‘เด็กป๋วย’
ราวกับจะตอบสนองต่อคำปรามาสของตัวเอกในนิยาย ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ ที่ว่า “มีนักศึกษาไทยออกมาศึกษาวิชาการของชาวตะวันตกก่อนสมัยของฉันตั้งหลายร้อยคน ท่านเหล่านั้นบางคนก็ได้ใช้วิชาความรู้ของท่านให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง แต่ส่วนมากได้ใช้วิชาความรู้เพื่อประโยชน์แก่การเชิดชูฐานะของท่าน และชนชั้นเดียวกับท่าน น้อยคนที่ได้พากเพียรใช้วิชาความรู้เพื่อแสวงหาทางยกฐานะของประชาชนส่วนรวม” เมื่อเรียนจบ ดร.เสนาะ จึงหาทางกลับเมืองไทย โดยเจาะจงเริ่มชีวิตการทำงานกับคนที่สังคมไทยตลอดจนสังคมโลกได้ยอมรับโดยสนิทใจแล้วว่าเป็นหนึ่งใน “คนที่ได้พากเพียรใช้วิชาความรู้เพื่อแสวงหาทางยกฐานะของประชาชนส่วนรวม” กล่าวคือดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ที่นักวิชาการตะวันตกขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งเมืองไทยสมัยใหม่’ และผู้ได้รับการยอมรับโดยรางวัลแมกไซไซและองค์กรยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
“ช่วงเรียนจบ ได้ศึกษาเรื่องดร.ป๋วย ทราบว่าเป็นนักเรียนที่เก่งมาก เป็นคนดี ไปเรียน LSE (London School of Economics & Political Science) จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ต่อมาเป็นเสรีไทย กระโดดร่มเข้าประเทศแล้วถูกจับอะไรต่ออะไร เราก็สนใจ พอดีหลังเรียนจบได้ไปฝึกงานที่ธนาคารกลางของออสเตรเลีย คนที่นั่นก็พูดถึงคุณป๋วยว่าดีมากอีก ถ้ากลับเมืองไทยน่าจะไปทำงานกับคุณป๋วย เราเลยรีบเขียนจดหมายแนะนำตัวเองและสมัครทำงานกับคุณป๋วย ที่ประหลาดคือ 2-3 วันเท่านั้นคุณป๋วยเขียนจดหมายตอบมาเลย ขึ้นต้นว่า “คุณเสนาะที่รัก” บอกว่ายินดีมากที่คุณกำลังฝึกงานกับธนาคารกลางออสเตรเลียแล้วคิดจะมาทำงานด้วยกัน เพราะกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านการคลังของประเทศครั้งใหญ่ ยินดีที่จะมาช่วยกัน คิดดูคนขนาดดร.ป๋วย ตอบจดหมายคนจบปริญญาตรีด้วยลายมือ เราจะประทับใจแค่ไหน
...คุณป๋วยคือจุดสำคัญเริ่มแรกของการปฏิรูประบบการคลัง และระบบบัญชีของประเทศไทย โดยคุณป๋วยเตรียมการเรื่องนี้ โดยเกณฑ์คนที่จบจากต่างประเทศมาทำ มีคุณชาญชัย ลี้ถาวร คุณนุกูล ประจวบเหมาะมาก่อน เราก็ตามมาเป็นรุ่นแรก แต่แทนที่จะมาอยู่กับคุณป๋วยที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คุณป๋วยให้ไปอยู่กรมบัญชีกลาง เราคิดว่าท่านให้อยู่นี่ เพราะเห็นเราเรียนบัญชีธรรมศาสตร์ แต่คุณป๋วยมาอธิบายว่ากรมบัญชีกลางเป็นกรมที่สำคัญที่สุดในกระทรวงการคลัง สมัยนั้นไม่มีสำนักงบประมาณ มีแต่กองงบประมาณ อยู่ในกรมบัญชีกลาง เรื่องเงินกู้ก็อยู่กองธนาธิการในกรมบัญชีกลาง ดังนั้น ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการคลังในด้านปฎิบัติอยู่ที่กรมบัญชีกลางทั้งหมด ผมเป็นนักเรียนนอกยุคหลังสงครามคนแรกที่กลับมาเข้ากรมบัญชีกลาง 2-3 เดือนต่อมาก็มี ม.ร.ว.จันทร์แรมศิริโชค จันทรทัต จบเศรษฐศาสตร์จากเคมบริดจ์เข้ามา คุณประสงค์ สุขุม จบจากดาร์ตมัธต่อด้วย MBA ที่ฮาร์วาร์ดเข้ามาอยู่ที่กรมบัญชีกลางทั้งหมด
…งานจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะตอนนั้นคนที่รู้มันน้อยเหลือเกิน คนที่จบจากเมืองนอกมานี่ถือว่าได้โอกาสทองจริงๆ ประเทศเราหลังผ่านสงครามต้องใช้เวลาเป็นสิบปีกว่าจะตั้งตัวได้ ดังนั้น มันเกิด generation gap ตั้งแต่รุ่นคุณป๋วยซึ่งเป็นรุ่นสงครามมาถึงรุ่นเราเป็นสิบกว่าปี เพราะฉะนั้น พอกลับมาเข้ามาในเวลานั้น แม้มีวิชามาแค่นิดหน่อยก็ตาม แต่มันถือเป็นของใหม่ของเมืองไทยหมดเลย ปลูกอะไรก็ขึ้น ก่อนหน้านั้นเมืองไทยแทบไม่มีดร. สมัยนี้คนรุ่นใหม่กลับมา ดร.เต็มไปหมด อย่างผมแม้จะมาจากออสเตรเลียแค่ปริญญาตรี ก็ได้ทำงานในฐานะรักษาการผู้ชำนาญการคลังแล้ว เพราะไม่มีคน ตำแหน่งมันว่างอยู่ แล้วต่อมาคุณป๋วยจะจัดตั้งสำนักงบประมาณ ก็ใช้รายงานที่ผมช่วยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศทำงานมาเป็นพื้นฐาน
นี่คือจุดเริ่มยุคพัฒนาโดยคุณป๋วย เป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองครั้งใหญ่ว่าการให้รัฐทำไม่ถูกต้อง การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องไม่ทำในลักษณะของการตั้งรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานพวกถนน น้ำ ไฟ เรียกง่ายๆ ว่า Holy Trinity ให้เอกชนเขาสามารถใช้ไปลงทุนต่อ
...ถามว่าเดี๋ยวนี้ใครจะมีโอกาสกลับมาเมืองไทยแล้วได้ทำงานขนาดนี้ภายในปีครึ่ง คนรุ่นผมจึงถือว่ามีโอกาสทำงานมากมายเหลือเกิน ซึ่งคนรุ่นนี้ไม่มีแล้ว งานที่คนรุ่นใหม่ได้ทำที่จะเป็นชิ้นใหญ่แรกๆ เลยหายาก ส่วนใหญ่อาจจะเป็น marginal เป็นจุดๆ แต่ลึกลงไป ซึ่งมันก็มีค่าของมัน ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ในแง่ของโอกาสที่จะทำงาน รุ่นผมมีโอกาสดีกว่า ดังนั้น สมัยนั้นพวกเราก็เลยพยายามสร้างทุกๆ อย่างขึ้นมา คือไม่ใช่ว่ารู้อย่างเดียว ต้องสร้างด้วย รู้คือรู้ว่าจะทำยังไง เสร็จแล้วก็ต้องสร้าง คือพยายามทำให้มันเกิด ทั้งสองอย่าง มี ‘vision’ แล้ว ก็ต้องมี ‘implementation’”
ชัดเจนว่าคลื่นเทคโนแครตระลอกใหม่ที่กำลังสร้างแรงกระเพื่อมแห่งความเปลี่ยนแปลงอยู่ที่กรมกองต่างๆ ในขณะนั้นมีหัวใจอยู่ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ไม่เพียงชักนำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจ หากยังเชื่อมโยงให้กลุ่มคนเหล่านี้สนิทสนมและพร้อมจะทำงานร่วมกันในแบบที่ก้าวข้ามไซโลของระบบราชการ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย
“พวกเรามีกันอยู่ 30 คน ทานข้าวกลางวันด้วยกัน จัดเป็น economic luncheon talk ใครมีความรู้ เศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ ผ่านมา เราก็ชวนมาคุยให้เราฟัง ต่อมาก็ไม่ต้องมีใครมา คุยกันเอง ตั้งชื่อกันว่า ‘กลุ่ม 101’ มาจาก 100 กับ 1 บาท ตั้งกันมาโง่ๆ แต่เพื่อนคุณป๋วยเขาแกล้งเรียกพวกเราว่า Puey’s Boys จริงๆ ผู้ใหญ่สมัยนั้นมีอยู่สองคน หนึ่งคือคุณป๋วย เป็นแมคโคร ดูแลเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจทั้งหมด อีกคนคือคุณบุญมา วงศ์สวรรค์ เป็นไมโคร ดูอะไรคมกริบเจาะลึกเลย ซึ่งแตกต่างกับคุณป๋วย ดังนั้นการทำระบบภาษีศุลกากร ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำอะไรต่อไป คุณบุญมาเป็นคนทำ คุณบุญมาก็มีสายของท่าน อย่างดร.อำนวย วีรวรรณ ดร.พนัส สิมะเสถียร ส่วนผม นุกูล ประจวบเหมาะ ไกรศรี จาติกวณิช ชวลิต ธนะชานันท์ เป็น Puey’s Boys
...คุณป๋วยเป็นแรงบันดาลใจของทุกคน เป็นตัวอย่างของคนที่มีคุณธรรม และมีความรู้ความสามารถ มีจริยาวัตรซึ่งเรานับถือได้โดยสนิทใจ ก็ขนาดเขียนหาเด็กว่า “คุณเสนาะที่รัก” คุณจะหาที่ไหน กับคนรถคนรา คุณป๋วยก็มีเมตตาดูแลหมดทุกคน ได้เงินเบี้ยประชุมที่ไหนมา ก็แบ่งให้คนรถ ท่านเป็นบุคคลต้นแบบ ซึ่งพวกเราทุกคนเรียกคุณป๋วยว่าคุณป๋วย ตามคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร และเพื่อนๆ ของท่าน ไม่ใช่อาจารย์ป๋วย”
เทคนิคเทคโนแครต
สิ่งที่เป็นงานใหญ่ชิ้นแรกของกลุ่มเทคโนแครตที่รวมตัวกันติด ก็คือการพยายามลดบทบาทที่ไม่จำเป็นของรัฐ และปูโครงสร้างพื้นฐานที่จะเอื้อให้เอกชนสามารถลงทุนสร้างธุรกิจต่อไปได้ โดยแสดงออกผ่านแผนฯ 1-3 ที่ดร.เสนาะได้มีส่วนร่างขึ้น หลังจากได้ลาอาจารย์ป๋วยไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก
“รุ่นก่อนจอมพลสฤษดิ์ รัฐบทบาทเยอะ เอกชนแทบไม่มีเลย สมัยก่อนที่เอกชนเราพอมีก็โรงไม้ขีด โรงน้ำแข็ง โรงสี โรงน้ำปลา ไม่มีบริษัทใหญ่ มีแต่บริษัทฝรั่ง ซึ่งเข้ามาตั้งพวกดีทแฮล์ม บอร์เนียว แองโกล-ไทย แต่พอเข้าสมัยสงครามก็หายหมด รัฐไทยเลยคิดพัฒนาเศรษฐกิจโดย ตั้งรัฐวิสาหกิจ ตั้งเป็นโรงงานกระดาษ โรงงานทอผ้า โรงงานกระสอบ เพราะหลังสมัยสงคราม สิ่งเหล่านี้ขาดแคลนมาก ก็ต้องตั้งรัฐวิสาหกิจเข้ามาทำ แต่สุดท้ายรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งขาดทุนหมด ไม่มีใครเจริญเติบโต ก่อหนี้สินมหาศาล ดังนั้น แผนฯ 1 ระยะแรกคือแผนชำระหนี้ที่รัฐก่อไว้ พอมาระยะที่สอง จึงเริ่มเป็นการสร้างถนน การสร้างเขื่อน การสร้างอะไรที่เป็น development project จริงๆ
การเมืองก็คือการเมือง เขาทำงานโดยคิดระยะสั้น เราต้องคิดระยะยาว เรื่องความต่อเนื่อง เรื่องความยั่งยืน มันก็มีธรรมชาติที่จะขัดแย้งกันอยู่ในตัว โจทย์จึงเป็นว่าจะทำงานอย่างไรในภาวะแบบนี้
...นี่คือจุดเริ่มยุคพัฒนาโดยคุณป๋วย เป็นการเปลี่ยนแปลงมุมมองครั้งใหญ่ว่าการให้รัฐทำไม่ถูกต้อง การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องไม่ทำในลักษณะของการตั้งรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานพวกถนน น้ำ ไฟ เรียกง่ายๆ ว่า Holy Trinity ให้เอกชนเขาสามารถใช้ไปลงทุนต่อ โชคดีจอมพลสฤษดิ์ อย่างน้อยในระยะแรก สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มันจึงเกิดแผนฯ 1-2-3 ติดต่อกันมา แผนฯ 1 เคลียร์เรื่องต่างๆ แล้ววาง Holy Trinity แผนฯ 2 เป็นเรื่องต่อเนื่องจากแผนฯ 1 เพราะทุกอย่างมันไม่เสร็จในปีเดียว แผนฯ 3 ก็เริ่มเพิ่มเรื่องแก้ปัญหาทางสังคม เรื่องการวางแผนครอบครัว จนส่งผลมาเป็นสังคมผู้สูงอายุในวันนี้”
ดูเผินๆ ความรู้ที่มองปัญหาได้อย่างปรุโปร่งของเทคโนแครต ผนวกกับอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะแก้ปัญหาของรัฐบาลเผด็จการ ฟังดูเป็น ‘วิวาห์’ หวานชื่นที่น่าจะทำให้การพัฒนาประเทศเดินหน้าไปได้บนกลีบกุหลาบ หากในทางปฏิบัติ อำนาจเบ็ดเสร็จที่อาจบันดาลการแก้ปัญหาอย่างรวบรัด ในเวลาไม่ช้าไม่นาน มัก ‘ออกลาย’ จนทำให้ฮันนีมูนของการพัฒนาล่มเอาได้ง่ายๆ ดังนั้น นอกเหนือจากความรู้ทางเทคนิค อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของเทคโนแครตไทยที่คนไม่ได้รับรู้ก็คือการประคองการวิวาห์กับการเมือง
“คุณป๋วยเป็นผู้นำที่วางกลยุทธ์ทุกอย่าง เรื่องการสร้างวินัยการคลัง ก่อนที่เราจะเข้าไป ระบบงบประมาณพังหมดเลย เงินในงบประมาณไม่มี นายกฯ ก็สั่งจ่ายเงินนอกงบประมาณได้ ตัวเลขเงินคงคลังติดลบ จนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่ยอมเซ็นรับรองงบของประเทศหลายปี เงินนอกงบประมาณทีแรกให้ไว้สำหรับให้นายกฯ สั่งการในสิ่งที่จำเป็นเฉพาะหน้า เช่นน้ำท่วม ฝนแล้ง แต่กลายเป็นช่องใหญ่ที่จะใช้เงินโดยไม่ชอบ คุณป๋วยเลยเข้ามาปิดช่อง ปรับปรุงระบบการคลังเป็นครั้งใหญ่ของประเทศ เป็นการเริ่ม modernization ของเมืองไทยแท้ๆ จอมพลสฤษดิ์ได้ชื่อดีเพราะเป็นคนที่สนับสนุนการปฏิรูปเหล่านี้ แต่ว่าพูดตรงๆ สนับสนุนครึ่งแรกเท่านั้น ครึ่งหลังก็เริ่มแล้ว เริ่มต่อสู้กันแล้ว การเมืองเริ่มอยากจะได้ถนนเส้นนี้ อยากได้บริษัทนี้ มีเรื่อง ‘โครงการฟ้าผ่า’ กับ ‘โครงการใต้ดิน’ โครงการฟ้าผ่านี่คือเปรี้ยงมาเลย พอรู้เข้าก็เกิดขึ้นแล้ว ส่วนโครงการใต้ดินคือเงียบจนไปไหนไม่รู้ อยู่ๆ โผล่ขึ้นมา นี่คือเรื่องที่คุณป๋วยกับคณะพวกเราต้องพยายามแก้
...คุณป๋วยเองก็ลำบากมาก เพราะต้องปะทะกับการเมือง ปะทะกันมากๆ คุณป๋วยเองบางครั้งก็ต้องใช้เทคนิคออกนอกประเทศ ไปสอนหนังสืออยู่พรินซ์ตันบ้าง ไปเคมบริดจ์บ้าง เพื่อลดทอนแรงเสียดทาน เพราะพอเหลือแต่พวกเราเด็กๆ ทำงานก็จะไม่เป็นเป้าเหมือนคุณป๋วย บางทีพวกเราที่อยู่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ต้องรวมกลุ่มกัน เช่น มีข้อตกลงว่าเฉพาะอะไรที่อยู่ในแผนพัฒนาฯ แล้ว สำนักงบประมาณถึงจะจ่ายงบเพื่อให้มีผลในทางปฎิบัติว่าถ้าไม่มีแผน ก็จะไม่มีเงิน บางทีก็ต้องอ้างเอาธนาคารโลก อ้าง USAID ที่เป็นคนให้กู้หรือให้เงินสนับสนุนประเทศไทยมาบอกรัฐบาลว่าถ้าไม่ทำตามนี้ อดได้เงิน หรือกระทั่งถ้าเห็นไปไม่ไหวจริงๆ ยังเคยต้องมีการจัดงบบางส่วน ให้เป็นส่วนที่การเมืองจะสั่งการไปได้ เพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้
...ไม่ใช่ว่าเราต่อต้านประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริง การเมืองก็คือการเมือง เขาทำงานโดยคิดระยะสั้น เราต้องคิดระยะยาว เรื่องความต่อเนื่อง เรื่องความยั่งยืน มันก็มีธรรมชาติที่จะขัดแย้งกันอยู่ในตัว โจทย์จึงเป็นว่าจะทำงานอย่างไรในภาวะแบบนี้ นี่คือโจทย์ ไม่ใช่มัวแต่ท้อแท้ว่าทำไม่ได้ เพราะมันมีทางทำได้ อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ให้โอกาสคุณป๋วย มันก็เริ่มจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้บ้าง แต่พอเขายื้อ เราก็ต้องรู้จักใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาว ไม่อย่างนั้น เทคโนแครตโดนเหยียบตาย สู้ไม่ได้ คุณป๋วยต้องไปนู่นไปนี่เสร็จแล้วค่อยกลับมา เพราะว่าถึงเวลาเข้าตาจน รัฐบาลไปไม่ได้ ก็ต้องให้คุณป๋วยกลับมาเอง แต่ว่าถ้าไม่ไปเลย มันก็อาจจะจบเลย จุดเริ่มต้นของเมืองไทยในระยะแรกก็ไม่ใช่ง่ายนะ”
ยุคทอง
หลังจากการทำแผนฯ 3 มีความเปลี่ยนแปลงภายในสภาพัฒน์และการเมืองที่ทำให้ ดร.เสนาะเลือกที่จะเปลี่ยนไปทำงานที่กระทรวงพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทย ก่อนวิกฤตการณ์ราชาเงินทุนในปี 2521 จะทำให้เขารู้สึกผิดที่ไม่สามารถป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและตัดสินใจออกบวช อย่างไรก็ตาม เขากลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาพัฒน์อีกครั้ง ในรัฐบาลของพลเอกเปรมตามคำชวนของ ‘ซาร์เศรษฐกิจ’ บุญชู โรจนเสถียร แต่เนื่องจากเขาเห็นแล้วว่าบทบาทของสภาพัฒน์ในช่วงแผนฯ 4 ถูกลดบทบาทจนได้ชื่อว่าเป็นฝ่าย ‘แพลนนิ่ง’ คือหน่วยงานวางแผนเพื่อที่จะ ‘นิ่ง’ มากกว่าปฏิบัติ ก่อนตกลงรับตำแหน่ง ดร.เสนาะจึงขอเข้าพบพลเอกเปรม เพื่อให้ มั่นใจว่าสิ่งต่างๆ จะไม่เหมือนเดิม และนั่นเองดูเหมือนจะเป็นจุดกำเนิดของสิ่งที่เรียกว่า ‘ยุคทอง’ ของเทคโนแครตไทย
“พอการเมืองบายพาสสภาพัฒน์ และแผนกลายเป็นแผนนิ่ง การที่เราจะทำอะไรให้เป็นระบบยั่งยืน มันทำไม่ได้ ผมจึงขอไปพบคุณเปรมเพื่อจะเรียนให้ทราบว่า ถ้าจะให้ผมทำแผนฯ 5 ผมจะต้องทำแบบมีช่องทางให้แปลงสาระของแผนออกมาเป็นการปฏิบัติ ต้องเข้าใจว่าความจริงสภาพัฒน์ไม่ควรทำเรื่องปฏิบัติการ ทำแผนอย่างเดียว แล้วทำแผนให้มีประสิทธิผลโดยการรับลูกระหว่างหน่วยงานต่างๆ แต่ในเมื่อคุณป๋วยไม่อยู่แล้ว ตัวละครก็กระจัดกระจาย ถ้าไม่สร้างช่องทางใหม่ มันจะนำไปสู่การปฏิบัติยังไง คุณเปรมท่านฟังแล้วก็เอ้า---อนุมัติให้ ไปดำเนินการ ท่านเรียกผมว่า ‘คุณเหนาะ’ ที่ปรึกษาคนอื่นๆ เป็นลูกป๋ากันทั้งนั้น แต่ผมไม่ได้อยู่ในหมวดลูก ผมทำงานเพื่อส่วนรวม และโชคดีคุณเปรมก็ให้โอกาส”
ผลลัพธ์ของสัญญาณการเดินหน้าจากพลเอกเปรมในครั้งนั้น คือการจัดตั้งองค์คณะระดับชาติถึง 6 คณะ เพื่อให้มั่นใจว่างานสำคัญด้านต่างๆ ของประเทศตามแผนฯ 5 จะมีเจ้าภาพติดตามดูแลให้เป็นผลในทางปฏิบัติ กล่าวคือคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) และคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (กพอ.) อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผู้ติดตามข่าวสารของประเทศไทยตระหนักดี ลำพังการตั้งคณะกรรมการไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการแก้ปัญหา ความท้าทายอยู่ที่การ ‘จับปูใส่กระด้ง’ กล่าวคือการเคี่ยววาระสารพันในที่ประชุมเพื่อให้องค์ความรู้และอำนาจที่บรรจุอยู่ในแต่ละคณะกรรมการงวดออกมาเป็นมติและการปฏิบัติ มากกว่าเพียงรายงานการประชุม
“องค์คณะระดับชาติ 5-6 คณะนี้ นายกเปรมเป็นประธานทุกคณะ และผมเป็นเลขานุการทุกคณะ พอนายกเป็นประธานทุกคณะ และท่านเข้าเองทุกครั้ง รัฐมนตรีก็ต้องมา ถ้าใครไม่มาท่านก็จะถามว่าไปไหน ยิ่งท่านเป็นคนไม่พูดมาก รัฐมนตรีต่างๆ ก็ยิ่งเกรงใจ เราในฐานะเลขาฯ ก็สนับสนุนโดยการเขียนบท จัดวาระ จัดว่าอะไรสำคัญ วาระนี้จะมีข้อยุติอย่างไร แล้วในทุกคณะผมจะมีผู้ช่วยเลขาฯ และสตาฟที่ดึงมาจากทุกหน่วยงาน ใครเป็นดาวที่กระทรวงไหน ผมจะขอตัวมาช่วยสำนักเลขาธิการที่สภาพัฒน์ ฉะนั้น สภาพัฒน์จึงเป็นแหล่งรวมเจ้าหน้าที่ที่จะมาทำด้าน operation co-ordination ของแต่ละคณะอย่างต่อเนื่อง
...แล้วผมก็จัดให้มีการกินข้าวระหว่างปลัดกระทรวงทุกกระทรวงทุกสัปดาห์ เพื่อจะให้ปลัดกระทรวงทุกกระทรวงอยู่ on the same wavelength ในเรื่องต่างๆ ไม่อย่างนั้น ถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากปลัดกระทรวง เจ้าหน้าที่ข้างล่างก็จะไม่ทำงาน จะไปเข้าทางรัฐมนตรีก็ไม่ได้ เพราะเป็นการเมือง จึงต้องใช้ระดับปลัดกระทรวง นี่เป็นครั้งแรกเลยที่ปลัดกระทรวงได้เจอกันทุกอาทิตย์ ดังนั้น เมื่อเขาพบกันแล้ว ติดขัดอะไรเขาก็โทรไปพูดกันได้หมด ส่วนในระดับรัฐมนตรี เราก็ออกระเบียบสำนักนายกฯ มาให้อำนาจคณะกรรมการแต่ละคณะทำหน้าที่แทนครม. ได้ โดยเสนอครม. ในภาพใหญ่เสียก่อน แล้วขอมติว่าถ้าทำภายในกรอบนี้ ให้คณะกรรมการทำไปได้เลย”
โครงสร้างที่ออกแบบมาเพื่อประสิทธิผลในการปฏิบัตินี้ ได้แสดงเขี้ยวเล็บชัดเจนที่สุดในคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (กพอ.) เจ้าของผลงานการสร้างโครงการ Eastern Seaboard โดยสภาพัฒน์ได้สามารถขับเคลื่อนโครงการนี้ให้สามารถเดินหน้าได้ดุดันดั่งใจ ถึงขนาดถูกโจมตีว่าเป็นองค์กร ‘มาเฟีย’
“คณะนี้มีผมเป็นเลขา แล้วได้ดร.สาวิตต์ โพธิวิหคเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการทั้งหลาย ดร.สาวิตต์ เป็นคนทำทั้งหมด คิดดูคนระดับดร.สาวิตต์ จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมจาก MIT จบ Operational Research จากฮาร์วาร์ดมาอยู่กรมชลประทานเกือบสิบปี ได้ซี 5 เอง เราเห็นแล้วว่าเขาคับแก้ว มีพลังเยอะเลยขอตัวให้มาทำ Eastern Seaboard ดร.สาวิตต์เก่งมากในเรื่องปฎิบัติ จนช่วงนั้นหนังสือพิมพ์โจมตีเลยว่า สภาพัฒน์เดี๋ยวนี้เป็นมาเฟีย วางแผนไม่พอไปๆ มาๆ ดันปฎิบัติด้วย ชงเองกินเอง เราก็ต้องชี้แจงว่าเราไม่ได้ปฎิบัติ เราเป็น operation plan coordinator เราไม่ใช่ผู้ทำ อันไหนเกี่ยวกับท่าเรือ การท่าเรือก็เป็นคนทำ อันไหนเกี่ยวกับเรื่องน้ำ กรมชลประทานก็ไปทำ เราเป็นแค่ผู้ประสาน คือเราทำแพลน แต่เพื่อให้แพลนไม่นิ่ง ก็ต้องไปทำ operation plan co-ordination ด้วย แต่ไม่ใช่ operation ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานปฏิบัติ”
สำคัญอยู่ที่หลังการเลือกตั้งคราวนี้ โครงการจะต่อเนื่องไปได้นานไหม ความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญมากของการพัฒนา อย่างคุณเปรมถ้าอยู่ไม่ถึง 8 ปี ถ้าแค่ 5 ปีนะ จะไม่มีอะไรโผล่มาเลย ยังอยู่ในกระดาษ ยังเป็นตอม่อ ฝังอยู่ใต้ดิน ปีที่ 6 ถึงจะโผล่ ปีที่ 7 ถึงจะพอมองเห็นอะไร ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา ความต่อเนื่องสำคัญที่สุด
กระนั้น ดร.เสนาะบอกว่าความสำเร็จของ Eastern Seaboard เป็นเรื่องของความประจวบเหมาะหลายอย่าง นอกเหนือจากความเก่งของคนทำงาน
“พอดีช่วงผมเรียนจบกลับมาจากโคลัมเบีย ผมได้ไปประชุมที่ฮาวายและได้เจอกับดร.ซาบูโระ โอคิตะ ที่อยู่ Economic Planning Agency ของญี่ปุ่น เป็นเหมือนคุณป๋วยของญี่ปุ่น เพราะเป็นคนวางแผนทำให้ญี่ปุ่นสามารถ ‘double national income in ten years’ หลังสงคราม บังเอิญระหว่างงานประชุมได้คุยกันแล้วเขาเอ็นดูผม ผมเลยนับถือเขาเป็น my big brother มาตั้งแต่ตอนนั้น ดังนั้น อีกหลายสิบปีต่อมาตอนเกิด Plaza Accord ญี่ปุ่นถูกบีบให้ขึ้นค่าเงินและต้องย้ายฐานเศรษฐกิจออกนอกประเทศ ผมซึ่งติดต่อกับดร.โอคิตะก็เลยรู้ข่าวมาตลอดและคิดว่า Eastern Seaboard ควรมารับโอกาสตรงนี้ให้ได้ ทั้งที่ตอนนั้นใครก็คัดค้าน เพราะฐานะการเงินประเทศกำลังจะล้มละลาย แต่ผมรู้ว่านี่จะเป็นโอกาสครั้งใหญ่ ถ้าทำได้ มันจะพลิกประเทศ
…ดังนั้น เราก็ตั้งใจเอานักวางแผนญี่ปุ่นเข้ามานั่งในสภาพัฒน์เลย เพื่อจะให้เขาเห็นว่าเราจะทำอะไรกันยังไง ถึงขนาดเขารายงานกลับไปประเทศว่า ‘คนไทยทำงานกันหนักเหมือนอยู่ในสงคราม’ ดร.โอคิตะแนะอีกว่าญี่ปุ่นจะทำอะไรต้องมีเอกสาร เราก็ออกสมุดปกขาวมา โดยมีคุณจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นแม่งาน มีข้อมูลทุกอย่าง ดังนั้น พอรับลูกกันอย่างนี้ เวลาเขาประเมินความเหมาะสมของประเทศที่จะเป็นฐานการผลิตใหม่ ไทยจึงได้คะแนนดีมาก ยิ่งกว่านั้นอีก ตอนต้องขอกู้เงินมาทำท่าเรือ ทำนิคมอุตสาหกรรม ทำอ่างเก็บน้ำ ธนาคารโลกไม่ให้กู้เพราะฐานะการเงินของประเทศยังย่ำแย่ ปรากฏว่าดร.โอคิตะได้ขึ้นเป็นประธาน Overseas Economic Cooperation Fund (OECF) อีก แกเลยอนุมัติให้อย่างรวดเร็วเลย โอ้โห---อะไรมันจะพอดีอย่างนี้ ดังนั้น โครงการนี้ นอกจากโชคดีได้ดร.สาวิตต์ที่เก่งในการไล่รายละเอียดเรื่องวิศวกรรม เรื่องประมูลอะไรๆ แล้ว หัวใจสำคัญคือได้ญี่ปุ่นเข้ามาช่วยให้สำเร็จ ในขณะที่ญี่ปุ่นเองก็ได้ประโยชน์ร่วมกันจากการที่ได้ย้ายฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาอยู่ในประเทศเรา”
คลื่นลูกที่สาม
ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทุกคนตระหนักดีว่าความสำเร็จของ Eastern Seaboard พระเอกของแผนฯ 5 ซึ่งทำให้จีดีพีต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า และผลักดันให้ไทยกระโดดจากประเทศเกษตรกรรมสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้ คือแรงบันดาลใจของ Eastern Economic Corridor หรือ EEC พระเอกของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาหวังให้พาไทยไปสู่เศรษฐกิจแห่งความรู้และนวัตกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมของโลกอนาคต อย่างเช่น รถไฟฟ้า หุ่นยนต์ ดิจิทัล การบิน และไบโอเคมี
เราต้องเอาเรื่องความยั่งยืนเข้ามาให้เร็ว มันถึงจะเป็นทางสายกลาง คือไม่ใช่ทำทางใดทางหนึ่ง แต่ทำทั้งสองอย่าง แอคทีฟ ทั้งคู่ แล้วให้เกิดสมดุลระหว่างสองแรง แรงที่จะไปข้างหน้ากับแรงที่จะดูแลให้มันยั่งยืน
“ผมคิดว่าครั้งนี้จะเป็น Third Wave เป็นยุคที่สามของการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง จากสมัยคุณป๋วยในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มาถึงรัฐบาลคุณเปรม แล้วก็รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ กับคุณสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ในครั้งนี้ ผมมองว่ามันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็น technology/innovation driven ประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องนี้เท่าไหร่ หลังจาก Eastern Seaboard แล้วก็ใช้บุญเก่าจนหมด ยังไม่รู้จะไปไหนกัน มันก็จำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้มาเปลี่ยนเพื่อจะทำให้เรามีวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพ เป็น Digital Transformation ขึ้นมา
...สำคัญอยู่ที่หลังการเลือกตั้งคราวนี้ โครงการจะต่อเนื่องไปได้นานไหม ความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญมากของการพัฒนา อย่างคุณเปรมถ้าอยู่ไม่ถึง 8 ปี ถ้าแค่ 5 ปีนะ จะไม่มีอะไรโผล่มาเลย ยังอยู่ในกระดาษ ยังเป็นตอม่อฝังอยู่ใต้ดิน ปีที่ 6 ถึงจะโผล่ ปีที่ 7 ถึงจะพอมองเห็นอะไร ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา ความต่อเนื่องสำคัญที่สุด ผมไม่อยากจะพูดว่าเผด็จการหรืออะไร ผมมองในแง่ทางเศรษฐกิจ ถ้ามีความต่อเนื่อง มันจะมาช่วยเปลี่ยนทุกอย่างหมด อย่างน้อยขออีก 5 ปี ถ้า 10 ปี ได้ยิ่งดี เพราะคราวนี้เรื่องใหญ่มาก”
แน่นอนว่าการเรียกร้องความต่อเนื่องของโครงการที่กำเนิดในรัฐบาลรัฐประหาร ย่อมถูกโจมตีถึงความไม่ชอบธรรม แต่ดร.เสนาะดูจะเห็นว่าการถกเถียงในประเด็นนี้เป็นความเสียโอกาสชนิดหนึ่งไม่ต่างกับการตีม้าที่ตายไปแล้ว
“เดี๋ยวนี้ narrative ของบ้านเมืองเรา มันกลายเป็นเรื่องประชาธิปไตย vs. เผด็จการไปหมด แน่นอนภายใต้ narrative นี้ ยังไงเผด็จการก็แพ้ เรียกว่าไม่ต้องนำสืบกันแล้ว เพราะนำสืบกันจนกระทั่งเผด็จการตกเตียงแล้ว แต่สิ่งที่ควรจะทำให้มากขึ้นคือ อะไรที่เขาทำถูกแล้วก็ควรช่วยกันพูดถึง ช่วยกันเอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ไม่ใช่เชียร์นะ แต่เอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ไม่อย่างนั้น narrative มันจะครอบคลุม substance ไปหมด อย่าไปห่วงว่าจะเป็นการช่วยเผด็จการ ดูจากเนื้องานสิ เนื้องานเขาเยอะมาก อย่างกรณีโครงการ PPP (การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) ระดมเงินจากเอกชนได้ถึง 5-6 แสนล้าน ลดภาระที่รัฐต้องกู้เงินมาพัฒนาประเทศ ไม่เคยมีในประเทศไทย เป็น achievement แต่ไม่มีใครพูดถึง ยิ่งถ้ามีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานเรื่องใหญ่ๆ อย่างรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก สนามบินและอุตสาหกรรมการบินอู่ตะเภา และการพัฒนา S-Curve 12 ประเภท บ้านเมืองจะไปอีกมหาศาล และก้าวข้ามไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมันนำไปสู่ direct investment แต่ถ้าไม่มีมันก็ไม่เกิด
...อย่าดูถูก narrative ทางการเมือง มันมีพลังมาก ผมจำได้ตอนเปลี่ยนจากยุคคุณเปรมเป็นยุค Buffet Cabinet สีของผังเมืองของเราที่เคยระบายไว้ที่มาบตาพุด สีของเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตอนุรักษ์ อะไรต่ออะไร มันเปลี่ยนได้หมดเลยภายใน 7 วัน 14 วัน ดังนั้นการเมืองมี impact สูงมาก สภาพัฒน์เปลี่ยนสภาพจากตัวกลาง กลายเป็นไปนั่งอยู่ปลายโต๊ะ นั่งดูทนแทบไม่ได้เลย เห็นเขาส่งลูกกัน คนนั้นเสนออันนั้น โอเค คนนี้เสนออันนี้ โอเค แบ่งเค้กกันหมด ดังนั้น ผมถึงบอกคนในรัฐบาลว่าต้องรู้จักสื่อสารของที่ได้ทำเพื่อมาค้านกับ narrative ทางการเมืองที่เป็น emotion
...สุดท้ายมันต้องประกอบกัน หนึ่ง คือให้โอกาสเขาหรือผู้ใดที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลทำงานได้ต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวัง เพราะไม่ระวังแล้วรัฐบาลจะเหลิง ต้องคอยเช็คดูให้ดี เรื่องความโปร่งใส เรื่องการตรวจสอบพวกนี้ต้องมาแรง การประมูลต่างๆ ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล ถ้าไม่ทำเรื่องพวกนี้ให้มาก คนที่มีอำนาจ absolute เขาจะ corrupt absolutely สังเกตได้ว่าสมัยคุณเปรมไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาว อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ อย่าให้เกิดอะไรอื้อฉาวขึ้นมาเป็นอันขาด ตลอด 8 ปีของคุณเปรม เราถือหลักไว้ว่า หนึ่ง เราทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่มีอะไรเป็นส่วนตัว สอง ทุกเรื่องทำบนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ ความน่าเชื่อถือมันเกิดจากตรงนี้แล้วถ้าคราวนี้รักษาตรงนี้ไว้ได้ ก็จะมีความสำเร็จ”
จนกว่าจะพบกันอีก
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปพร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยี วิกฤตภัยทางสิ่งแวดล้อม หรือความผันผวนทางการเมืองของโลก ทำให้เทคโนแครตผู้สร้างยุคโชติช่วงชัชวาลของไทยมักถูกมองว่าเป็นร่องรอยของอดีตที่มีแต่จะเลือนลางไปพร้อมกับยุคสมัยที่พวกเขาได้สร้างมา แต่หากฟังจากเทคโนแครตท่านนี้ ‘เทคนิค’ หรือหลักวิชาบางอย่างอาจทนทานต่อกาลเวลาได้มากกว่านั้น
“เศรษฐศาสตร์จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องตายตัวอะไรหรอก หลักใหญ่คือเรื่องการตัดสินใจเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยังไงโลกก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้ แต่ว่าบริบทมันเปลี่ยน ก็ต้องรู้จักประยุกต์หลักวิชา เพื่อจะวิเคราะห์โลกยุคใหม่ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2 ด้าน ซึ่งดูจะขัดแย้งกันอยู่ ด้านหนึ่งคือการเจริญเติบโตของการตลาดแบบ globalization และพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แต่ที่เป็น disruptive technology ก็มีมากมาย จนทำให้เกิดปฎิกิริยาอีกด้านหนึ่งคือคนไม่เอาตลาด ไม่เอาโลกาภิวัตน์
…ดังนั้น เราต้องเอาเรื่องความยั่งยืนเข้ามาให้เร็ว มันถึงจะเป็นทางสายกลาง คือไม่ใช่ทำทางใดทางหนึ่ง แต่ทำทั้งสองอย่าง แอคทีฟทั้งคู่ แล้วให้เกิดสมดุลระหว่างสองแรง แรงที่จะไปข้างหน้ากับแรงที่จะดูแลให้มันยั่งยืน ยั่งยืนก็คือไม่ดูแต่ทางเศรษฐกิจ แต่ดูทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย และก็ต้องไม่เอาทรัพยากรของคนรุ่นหลังมาใช้จนหมด จะเห็นว่าทางสายกลางไม่ใช่ทำอะไรอย่างเดียวโด่เด่ไป แต่ทำหลายอย่างพร้อมกัน แล้วให้มันเกิดความสมดุล”
การสัมภาษณ์กินเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าไปจนกระทั่งเกือบบ่ายสอง ดร.เสนาะเชื้อเชิญทีมงานทุกคนกินก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นที่แม่ครัวในบ้านทำเลี้ยงเป็นอาหารกลางวัน “อาหารบ้านนี้ ชั้นหนึ่ง คนติดใจทั้งนั้น กินคนละแห้งชาม น้ำชามนะ” เราช่วยจับแขนประคองดร.เสนาะไปส่งที่โต๊ะอาหาร อาการเส้นเลือดในสมองตีบและอายุกว่า 87 ปีรบกวนการเคลื่อนไหวของเขาเล็กน้อย แม้ชัดเจนว่าจะไม่สามารถทำอะไรต่อความทรงจำและความกระจ่างในการตอบคำถามตลอด 4 ชั่วโมง น่าสงสัยว่าสิ่งใดทำให้คนๆ หนึ่งทำงานและติดตามเรื่องประเทศอย่างมีพลังมาได้ยาวนานขนาดนี้ เพราะแม้เมื่อพ้นจากการทำงานราชการแล้ว ดร.เสนาะยังทำประโยชน์ให้กับประเทศในบทบาทอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าในฐานะคณะกรรมการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บริษัทเอสซีจี หรือล่าสุด บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ที่กำลังร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลริเริ่มวิจัย และจัดตั้งโรงงานผลิตยาคุณภาพประเภทชีววัตถุ (biopharmaceutical) เพื่อรักษาโรคมะเร็งตลอดจนโรคยอดนิยมอื่นๆ ของสังคมผู้สูงอายุ อย่างเข้ากับยุคสมัย
“มันก็เป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะบ้านเมืองเราแย่จริงๆ ในตอนนั้น ออกจากกรุงเทพฯ ไปก็ไม่มีถนนแล้ว ถนนลูกรังเต็มไปหมด ทุกอย่างมันยังล้าหลังมาก ออกจากเมืองชลมากรุงเทพฯ ยังต้องจุดไต้มาส่ง เพราะฉะนั้นพอเรามีโอกาสได้ทำงานให้ประเทศ ก็ภูมิใจมาก ไม่เคยคิดเลยว่าจะไปทำการค้า หรือไปอยู่บริษัทฝรั่ง คิดอย่างเดียวคือทำราชการ เราทำเพื่อใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เป็นประโยชน์ และเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ”
คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่หากเทียบคำตอบนี้กับวรรคหนึ่งจากนิยาย ‘จนกว่าเราจะพบกันอีก’ ที่ว่า “ชีวิตเฉยๆ ไม่มีความหมายสำหรับฉัน ถ้าฉันอยู่ ฉันต้องอยู่ในชีวิตที่ดีงาม และชีวิตที่ดีงามต้องมีอะไรมากกว่าการหากิน การแสวงหาความสุข แล้วก็รอวันตาย ชีวิตที่ดีงาม ย่อมมีอยู่และถูกใช้ไปเป็นคุณประโยชน์แก่คนอื่น”
เราจะพบว่ามันคือคำตอบเดียวกัน ■
1. Phongpaichit, P & Baker, C. (2014). A Short Account of the Rise and Fall of the Thai Technocracy. Southeast Asian Studies. 3. 283-298.