SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The Master of None
การเดินทางของท่านพุทธทาสภิกขุผู้เป็น ‘นาย’ เหนือชีวิตที่ไม่มีอะไร แต่บริบูรณ์
ด้วยใบหน้าอิ่มเอิบลุ่มลึกและรูปร่างท้วมใหญ่เป็นเอกลักษณ์ ท่านพุทธทาส หรือพระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) แห่งสวนโมกขพลาราม น่าจะเป็นภิกษุผู้เป็นที่จดจำมากที่สุดในเมืองไทย แม้กระทั่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้สนใจพุทธศาสนา อย่างน้อยก็น่าจะได้เคยผ่านตารูปของท่าน ซึ่งสังเกตได้ไม่ยาก เพราะท่านคือภิกษุที่โด่งดังระดับเกจิอาจารย์เพียงรูปเดียวที่ใส่แว่นตา ในแวดวงพุทธศาสนาของไทยที่นับถือพระสงฆ์ด้วยระดับความบริสุทธิ์ภายในมากกว่ากิจการภายนอก กรอบแว่นหนาหนักของท่านพุทธทาสบอกใบ้ถึงวิถีชีวิตแห่งความหลุดพ้นที่น่าจะยังมีการอ่านและเขียนหนังสือเป็นชิ้นส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่าการหลับตาบำเพ็ญ
และอาจเป็นด้วยเหตุนั้น ในขณะที่ท่านพุทธทาสไม่ใช่เกจิอาจารย์ที่มีชื่อในทางขลัง หรืออภิญญาจิตเหนือธรรมชาติ อิทธิพลของท่านต่อการเผยแผ่พุทธศาสนาในเมืองไทยหรือแม้แต่นอกเมืองไทยกลับเป็นเรื่องไม่ธรรมดา
ตลอดชีวิต 87 ปีของท่านและ 67 พรรษาในร่มกาสาวพัสตร์ ท่านพุทธทาสให้ความสำคัญกับการเผยแผ่พุทธศาสนาไม่น้อยไปกว่าการปฏิบัติส่วนตน อย่างที่มีผู้นิยามไว้อย่างจับใจว่า “หน้าที่พุทธทาส คือประกาศพุทธธรรม” โดยท่านได้ชื่อว่าเป็นผู้ฟื้นชีวิตใหม่ให้กับพุทธศาสนาในเมืองไทยยุคกึ่งพุทธกาล ผ่านการตีความพระไตรปิฎกออกมาเป็นคำและคติที่กระจ่างร่วมสมัย ท่านมีส่วนร่วมในการถกเถียงหรือแลกเปลี่ยนแนวคิดกับปัญญาชนคนสำคัญของสังคมสยาม ตั้งแต่ปรีดี พนมยงค์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ไปจนกระทั่งม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ผลงานของท่านไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานแปล หรืองานถอดเทปคำบรรยาย กินเนื้อที่ทั้งห้องของหอสมุดแห่งชาติ และมีจำนวนร่วมหลายแสนรายการ และเป็นสาเหตุของการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เพื่อเก็บรักษา อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้า และเผยแผ่ผลงานของท่านโดยเฉพาะเนื่องจากเกินกำลังจะเก็บแบบธรรมชาติได้โดยสมบูรณ์ ไม่แปลกที่ท่านได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นหนึ่งใน ‘บุคคลสำคัญของโลก’ และได้รับความเคารพอย่างสูงจากทะไลลามะ และติช นัท ฮันห์ สองมหาเถระแห่งพุทธศาสนาที่ทั่วโลกรับฟัง
สำหรับในไทย อาจารย์ใหญ่ของฝ่ายวิปัสสนาธุระ (การปฏิบัติทางจิต) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานทองคำของพุทธศาสนาที่แท้และเที่ยงตรงอย่างสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) และหลวงพ่อชา แห่งวัดหนองป่าพง (พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)) ล้วนให้ความเคารพและรับรองธรรมะของท่านพุทธทาส โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ขณะดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระญาณสังวร เคยลิขิตสาราณียกถา สดุดีท่านพุทธทาสภิกขุเป็นภาษาบาลี ในขณะที่หลวงพ่อชาได้กล่าวถึงท่านพุทธทาสไว้ว่า “ท่านพุทธทาสเทศน์ได้ไพเราะทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และสุดท้าย นุ่มนวลไพเราะจับใจ น้ำเสียงสงบถึงใจดีนัก” และมักเปิดเทปการเทศนาสุญญตาปริทัศน์ของท่านพุทธทาสฟังก่อนนอน เมื่อมองอิทธิพลต่อสังคมโดยทั่วไป คำว่า ‘ตัวกู-ของกู’ ‘อัตตา’ ‘สุญญตา’ หรือ ‘จิตว่าง’ ที่ติดปากผู้คนในปัจจุบัน เริ่มมีพื้นที่มากขึ้นในพุทธศาสนาของไทยซึ่งปกติเน้นหนักแต่เรื่องของบุญ-กรรม ศีล-ทาน และนรก-สวรรค์เป็นครั้งแรก ก็ด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องในการเผยแผ่พุทธศาสนาของภิกษุในแว่นหนาผู้บางครั้งอาจเขียนหนังสือหามรุ่งหามค่ำถึงวันละ 18 ชั่วโมงรูปนี้นี่เอง
อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสภิกขุมีมิติมากกว่าเพียงการเป็นผู้ป่าวประกาศธรรม ผู้เคยศึกษาจะพบว่าแม้ไม่นับเรื่องศาสนา ชีวิตของท่านพุทธทาสซึ่งทางหนึ่งต้องหาทางฟื้นฟูความถูกต้องตามแบบพุทธศาสนาเดิมแท้ และในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปเนื้อหานั้นให้เหมาะสมกับอคติของคนยุคใหม่ที่พยศดื้อรั้น อย่างไรก็ต้องถือเป็นความสำเร็จสองชั้นอันหาได้ยากไม่ต่างกับการสร้าง ‘ดิสรัปชัน’ แห่งยุคสมัย ยิ่งกว่านั้น ความสำเร็จของท่านยังไม่ได้ลี้ลับไร้ร่องรอยแบบเรื่องราวทางจิตวิญญาณส่วนใหญ่แต่แลกมาด้วยการลองผิดลองถูก การเก็บข้อมูล การประเมิน ตลอดจนความเพียรอันเป็นเลิศที่อาจประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน
ท่านอาจใช้ชื่อว่า ‘พุทธทาส’ แต่แน่แท้ว่าชีวิตของท่านคือหนึ่งชีวิตของ ‘นายแห่งตน’ ผู้กระจ่างในเป้าหมาย และอาจนำพาชีวิตไปสู่สัมฤทธิผลได้สมดังใจ
วัยเด็ก
ท่านพุทธทาสเกิดเมื่อพ.ศ. 2449 และโตที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยครอบครัวของท่านประกอบอาชีพร้านขายของชำในตลาด วัยเด็กของท่านพุทธทาสเป็นไปตามสามัญของเด็กในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือการช่วยที่บ้านทำงานบ้านระคนไปกับการเล่นสนุกในธรรมชาติ ท่านพุทธทาสใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับมารดา และยอมรับว่าได้รับอิทธิพลมาจากมารดาโดยเฉพาะความประหยัดและความละเอียด
“ถ้าจะให้บอกว่ามีอะไรมาจากโยมหญิงบ้างเห็นจะเป็นเรื่องประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่าย เพราะว่าถูกสอนให้ประหยัดแม้แต่นํ้าที่จะล้างเท้า ห้ามใช้มาก แม้แต่นํ้ากินจะตักมากินนิดหนึ่ง แล้วสาดทิ้งไม่ได้ แม้แต่ใช้ฟืนก็ต้องใช้พอดี ไม่ให้สิ้นเปลือง ถ้ายังติดไม่หมดต้องดับ เก็บเอาไว้ใช้อีก ทุกอย่างที่มันประหยัดได้ ต้องประหยัด ประหยัดไปได้ทุกวิธี มันก็เลยติดนิสัย มันมองเห็นอยู่เสมอ ไอ้ทางที่จะประหยัดเพื่อประโยชน์ มองเห็นอยู่ว่าต้องทําอย่างไร ประหยัดแม้กระทั่งเวลา ขึ้นชื่อว่าเวลาต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ เมื่อจะพักผ่อนก็ไม่ต้องเสียไปเปล่าๆ ต้องมีอะไรทําไปด้วย เช่น อย่างคั้นกะทินี่ธรรมดาเขาคั้นกัน 2 ครั้ง เราต้องทําถึง 3 ครั้ง เพราะว่าต้องเอาไอ้ที่เสร็จจากครั้งที่ 2 มาตําให้ละเอียดแล้วคั้นอีกที นํ้ากะทิยังได้อีกแยะเหลือเกิน โดยมากคนเขาขี้เกียจ เขาทิ้งกัน คั้น 2 ครั้งจะทิ้ง เราเอามาตําๆ ๆ ๆ แล้วคั้นอีกที น้ำยังขาวจัด แล้วคั้นอีกทีเป็นครั้งที่ 4 ประหยัดกันถึงขนาดนี้ ผมติดนิสัยประหยัดเพื่อให้มันใช้น้อย แต่มันก็มีนิสัยประหยัดเพื่ออวดด้วย คือแสดงว่ามีความรู้ในการที่จะประหยัด กลายเป็นเรื่องรู้ให้ดีที่สุด แม้ไม่จําเป็นต้องประหยัดก็จะประหยัดเพื่อให้เห็นว่าทําได้”
มิพักต้องกล่าวถึงความมักน้อยสันโดษอันเป็นปกติของสมณะ เช่น การครองผ้าสามผืนการอยู่เรือนว่าง หรือการเลี้ยงชีพเพียงด้วยบิณฑบาต ความประหยัดของท่านพุทธทาสเป็นที่เลื่องลือในหมู่ลูกศิษย์ ยามใช้กระดาษทิชชู่ม้วนท่านมักไม่หยิบกระดาษเกินหนึ่งท่อน แล้วก็บรรจงพับทบเพื่อใช้พื้นที่ผิวกระดาษจนครบถ้วน บางคราวหากเช็ดของที่ไม่สกปรกมาก เช่น น้ำร้อน น้ำชา ท่านยังผึ่งกระดาษไว้ให้แห้งสำหรับนำกลับมาใช้เช็ดสิ่งอื่นๆ ได้อีก เอกสารหลักแสนชิ้นในหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ แสดงให้เห็นว่าท่านจดโน้ตในพื้นที่ว่างแทบทุกแบบไม่ว่าจะเป็นซองจดหมาย ปฏิทิน หรือเศษกระดาษใดๆ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองที่ทรัพยากรขาดแคลน ท่านถึงขนาดเคยเอาน้ำเกลือจากบ่อน้ำร้อนมาทำถ่านเปิดวิทยุ
“สมัยที่ยังอยู่วัดชยาราม เปิดให้คนที่อยากฟังมาฟังรอบกุฏิ สมัยนั้นคนยังไม่ค่อยมีวิทยุกันและตอนระยะสงคราม ถ่านไฟฉายในตลาดไม่มีขาย ใครมีวิทยุก็ต้องหยุดหมด เราไม่ยอมแพ้ ไปเอานํ้ำเกลือที่บ่อน้ำร้อน ซึ่งมีแอมโมเนียมคลอไรด์ เอามาใส่ถ้วยเล็กๆ แล้วก็มาเอาถ่านไฟฉายที่หมดแล้วปอกข้างนอกออกทิ้ง คงเหลือไว้แต่ข้างในที่หุ้มแกนถ่าน หย่อนลงไปในถ้วยนั้น แล้วหย่อนสังกะสีชิ้นหนึ่งลงไปแช่ แล้วต่อจากถ้วยนี้ไปถ้วยนั้นจนครบจํานวนโวลต์ที่ต้องการ กระบะใหญ่ๆ ก็พอใช้เปิดวิทยุตลอดสมัยที่ไม่มีถ่าน ทีนี้คนก็พลอยมาฟัง โดยเฉพาะข้าราชการอําเภอที่มีหน้าที่บันทึกข่าวก็ได้มาพลอยฟังและคอยจด เมื่อมีคําสั่งด่วน
ผมติดนิสัยประหยัดเพื่อให้มันใช้น้อย แต่มันก็มีนิสัยประหยัดเพื่ออวดด้วย คือแสดงว่ามีความรู้ในการที่จะประหยัด กลายเป็นเรื่องรู้ให้ดีที่สุด แม้ไม่จําเป็นต้องประหยัดก็จะประหยัดเพื่อให้เห็นว่าทําได้
…ต่อมาผมเคยไปเอาน้ำจากบ่อน้ำร้อนมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เอาน้ำมาเคี่ยวจนงวด เป็นน้ำตาลทรายเปียกๆ ก็มาเกลี่ยดูใต้กล้องจุลทรรศน์ ก็พบว่ามีผลึกสี่เหลี่ยมจตุรัสมากที่สุด นี่ก็คือเกลือโซเดียมคลอไรด์ เกลือธรรมดา รองลงไปเป็นผลึกทรงกระบอกข้าวหลาม นี่เป็นแอมโมเนียคลอไรด์ เป็นตัวที่ต้องการ เพื่อกัดสังกะสี ตามแบบหม้อไฟฟ้าที่เรียกกันว่า ‘เลอคลังเช่’ ที่น้อยลงไปกว่านั้นก็คือโปรแตสเซี่ยมคลอไรด์เป็นผลึกหัวแหลมท้ายแหลมรูปลอดช่อง แต่มันอยู่ในน้ำ ไม่มีใครมีปัญญาแยกออกมาเฉพาะได้ ถ้าแยกได้รวยตายเลย เพราะขายได้ราคาแพง”
นอกเหนือจากความประหยัด อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านพุทธทาสได้รับจากมารดาก็คืออุปนิสัยละเอียดในทุกสิ่งที่ทำ และเหนือไปกว่านั้นก็คือความรู้สึกชื่นชมในฝีมือที่เลิศ
“โยมหญิงให้ช่วยทํางานในครัวมาตั้งแต่เด็ก ให้ตําเครื่องแกง ให้ขูดมะพร้าว แต่ไอ้ขูดมะพร้าวนี่โยมไม่ค่อยชอบที่ผมขูด ถ้านายธรรมทาส (น้องชายท่านพุทธทาส) ขูดละก็โยมชอบ เพราะของเขามันนิ่มมือ น้ำกะทิออกมาก เราขูดมันจะหยาบ (หัวเราะในคอ) ไม่ค่อยได้น้ำกะทิ มันได้กากเสียมากมาย ธรรมทาสเขาขูดเหมือนคนไม่มีแรง แล้วมันละเอียด น้ำกะทิก็ออกมาง่ายแทบไม่ต้องออกแรงบีบเลย เวลาทําอะไร โยมมักจะตักเตือนให้ทําให้ดีที่สุด ถ้าทําอะไรหยาบๆ มักจะถูกทักท้วง
…มาถึงตรงนี้ทำให้เรานึกขึ้นมาได้อีกเรื่องหนึ่ง คือเรารู้สึกว่าคนไทยแต่ก่อนนั้นเขาทําอะไรต้องเก่งกว่าครูเสมอ นี่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่คนไม่ค่อยรู้สึก อย่างเรื่องแต่งตัว เดิมเราก็รับมาจากอินเดีย ไอ้โจงกระเบนอะไรนี่เราก็มาทําจนสวยเลอเลิศเป็นแบบไทยเราเอง แกงนี่ก็เหมือนกัน เราก็เอามาจากแขก แต่แกงของแขกน่ะเรากินไม่ค่อยลงหรอก แต่เราก็เอามาทําเสียเป็นแกงเขียวหวาน แกงอะไรต่ออะไร จนแขกก็ต้องหลงไปแหละ (หัวเราะหึๆ)
…เรื่องกาพย์กลอนนี่ก็ไม่มีชาติไหนจะเท่าเทียมไทยหรอก คือสัมผัสใน แต่เดิมเราคงรับมาจากอินเดีย ก็มีแต่สัมผัสนอก แล้วก็น้อยมากหรือไม่มีเลย อย่างคาถาปัฐยาวัตร สามัญคาถา หรือฉันท์ต่างๆ สัมผัสของเขามีน้อยมากหรือไม่มีเลย มีแต่การกําหนดจํานวนพยางค์และเสียงหนักเสียงเบา พอมาถึงเมืองไทย เราปรุงกันเสียวิเศษมีทั้งสัมผัสใน สัมผัสนอก โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนนี่เป็นเรื่องที่กินใจมากที่สุด รับมาจากจีนก็ดี จากอินเดียก็ดี เราเคยทําดีกว่าครูเสมอ อย่างโคลงกลอนของฝรั่งเมื่อเทียบกันแล้วมันสู้กันไม่ได้
…ดนตรีก็เหมือนกัน พอมาถึงมือคนไทยมันดีกว่าเก่าแน่ๆ จะเข้มันดีกว่าขิมเยอะแยะ (หัวเราะหึๆ) การร้องเพลงก็เหมือนกัน เพลงของไทยนี่ไม่มีชาติไหนจะกินได้ ความเป็นดนตรีของเพลงไทยนั้น มันขยายซับซ้อนเป็นเพลงสองชั้น สามชั้น ละเอียดอ่อนมาก ทุกอย่างเราไม่เคยทําอะไรไม่ดีเกินครู ดีเกินครูทุกอย่างแหละ นี่เป็นอัจฉริยภาพของบรรพชนของเรา ผมว่าเอกลักษณ์ไทยต้องใส่ลงไปด้วยว่าเราทําอะไรดีกว่าครูเสมอ”
ความดีกว่าครู
ความเชื่อในคติของการทำอะไรให้ดีกว่าครูนี้ ดูจะเป็นธาตุที่ติดตัวท่านพุทธทาสมาโดยตลอด เช่น เมื่อเลี้ยงปลากัดในวัยเด็ก ท่านก็สามารถเลี้ยงให้ปลากัดแข็งแรง จนถึงขนาดมีนักเลงปลากัดอาชีพมาลักปลาของท่านไปแข่ง ต่อมาเมื่อมีการเปิดโรงเรียนนักธรรมขึ้นในพุมเรียง แล้วผู้ใหญ่ในชุมชนมักเอาเรื่องธรรมะมาเป็นบทสนทนาประลองคารม โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าร้านขายของชำของที่บ้านท่าน ท่านพุทธทาสในวัยสิบกว่าขวบ แม้ยังไม่ได้บวช ก็รู้สึกอยากร่วมเสวนาให้เป็นที่จดจำ กระทั่งไปหาหนังสือธรรมะมาอ่านเพื่อลับคารมให้ชนะผู้ใหญ่
“ตอนนั้นเรียกว่าตื่น เขาเปิดนักธรรมขึ้นใหม่ๆ เป็นยุคแรกของบ้านนั้น ใครๆ ก็ชอบพูดเรื่องธรรมะ ข้าราชการคนหนึ่งต้องเดินผ่านที่ร้านไปทํางานยังที่ทําการ แล้วก็ยังมีคนอื่นอีกแถวๆ นั้นที่เป็นญาติๆ กัน ถ้าเห็นตาคนนี้มา เขาจะมาดักเย้าธรรมะกัน กว่าแกจะหลุดไปทํางานก็เป็นชั่วโมง ผมต้องซื้อหนังสือนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก อภิธรรมอะไรนี่มาอ่าน ส่วนใหญ่เขาคนแก่ทั้งนั้น ตอนนั้นเรายังเป็นเด็กกว่าเขาเพื่อน แต่เรามักพูดได้ถูกกว่าเพราะเรามีหนังสืออ่าน เขามันพูดตามข้อสันนิษฐาน มันก็สนุกกับการได้พูดให้คนอื่นฟัง ถ้าว่ากันถึงการเรียนธรรมะ นี่มันเรียนมาก่อนบวช เมื่อบวชก็เกือบจะไม่ต้องเรียนอีกแล้วเพราะเคยอ่านมาโต้กันก่อน ตอนนั้นที่พุมเรียงสนุกอย่างนี้”
ไม่น่าแปลกใจที่ต่อมาเมื่อครบอายุบวช และเริ่มเรียนนักธรรมเข้าจริงๆ ความชำนาญในเนื้อหา และความบันเทิงในโวหารของธรรมะ ได้ทำให้ท่านพุทธทาสกลายเป็นนักเทศน์ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนของวัดใหม่พุมเรียง ท่านได้ริเริ่ม ‘อิมโพรไวซ์’ การเทศน์ตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาใหม่ๆ แทนการอ่านตามคัมภีร์แบบเถรตรง การบวชตามประเพณีของท่านจึงปรากฏว่าได้กลายมาเป็นความสนุกอย่างใหม่ของชีวิตและเป็นปรากฏการณ์ย่อมๆ ของพุมเรียง คนนิยมการเทศน์ของท่านถึงขนาดที่ว่าวัดในชุมชน 3 วัดต้องตกลงเวลาเทศน์กันใหม่ ไม่ให้ชนกับเวลาเทศน์ของท่าน แทบไม่ต่างจากการจัดคิวขึ้นวงของซูเปอร์สตาร์ในเทศกาลดนตรี
“เรื่องทางบ้านไม่ได้สนใจกันเลย เหมือนกับไม่ได้มีอยู่ในโลก ตอนอยู่วัดใหม่พุมเรียงก็เรียนนักธรรมที่วัดเหนือ (โพธาราม) พอกลับมาถึงวัดก็ทํางานทุกอย่างที่จะทําได้ โดยมากก็ต้องดูหนังสือเทศน์ ต้องเตรียมไว้ตั้งแต่กลางคืน พอกลับมาจากเรียนนักธรรมก็ขึ้นเทศน์ ในพรรษาเทศน์ทุกวัน ผมบวชได้ไม่กี่วันก็ขึ้นเทศน์ ชาวบ้านเกิดชอบ อาจารย์ที่เป็นสมภารก็เลยหนุนให้เทศน์ทุกวันแทนสมภาร คนฟังก็มากขึ้นเรื่อยๆ ผิดจากแต่ก่อน เพราะว่าการเทศน์มันไม่เหมือนเดิม มันครึ่งสมัยใหม่ครึ่งสมัยเก่า ถ้าสมภารเทศน์เองก็อ่านคัมภีร์ใบลาน อ่านกันมาไม่รู้กี่เที่ยวแล้ว (ฮึๆ ๆ) ผมเทศน์ก็เอาใบลานไปถืออ่านเหมือนกัน ก็อ่านในนั้นบ้าง แล้วเอาข้อความที่เรียนไปจากโรงเรียนนักธรรมทุกวันไปเทศน์ประกอบขยายความ มันก็แปลก เพราะมันฟังรู้เรื่อง อ่านจากหนังสือพอเป็นเค้าเงื่อน แล้วเอาไปเล่านอกเวลาจนเขารู้เรื่อง มันก็สนุกฟังเข้ากันได้กับเรื่องธรรมะ
…ตอนต่อมามันเปลี่ยนแปลงถึงกับคนฟังมาจากทุกวัด เพราะมันเล่าลือแตกตื่นกันออกไปจนต้องไปขยับขยายสับหลีกกันเสียใหม่ให้วัดสมุหนิมิต (วัดล่าง) เทศน์เสียก่อน แล้วถึงเป็นวัดใหม่ วัดใหม่เสร็จแล้วจึงเป็นวัดโพธาราม (วัดเหนือ) ถ้าใครศรัทธาจะฟังจริงๆ ก็ฟังได้ทั้ง 3 วัด ที่วัดผมก็มีคนมาฟังราวๆ 30-40 บางวันก็เต็มศาลา คนที่ไม่ใช่คนแก่ก็มาฟังเพิ่มขึ้น พวกแม่ชีที่ฟังประจําบอกว่า ‘เอ๊ะ ทําไมมันจึงแปลกจากปีก่อนๆ’”
ปัจจัยของความสำเร็จเหล่านี้ ถ้าเป็นภาษาของยุคดิจิทัล คนอาจพูดไปถึงการคิดนอกกรอบ ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมต่างๆ แต่หากให้ท่านพุทธทาสสรุปเอง ท่านอาจรวมความเพียงว่า ‘ความบ้าบิ่น’ เหมือนที่ท่านเคยพูดถึงผลงานการริเริ่มสิ่งอื่นๆ ของท่าน เช่น การสืบทอดเมนูโบราณของวัดที่เรียกว่า ‘แกงร้าย’
“สมัยผมอยู่วัดใหม่มันมีแกงประเพณีของวัดนั้นที่ทําสืบๆ กันมา ไม่รู้แต่ครั้งไหน เรียกโดยทั่วไปว่าแกงร้าย สมัยที่ผมอยู่ ผมเป็นผู้นํารักษาไว้อย่าให้มันสูญหายไป ทําอยู่สองปี สามปีตอนออกพรรษาแล้ว เรียกว่าเป็นฤดูหนาว ใช้ฟักทองลูกใหญ่มากๆ ลูกเดียวพอ เครื่องปรุงนี่ใช้พริกขี้หนูแห้งชามใหญ่ประมาณสักลิตรหนึ่งได้ แล้วยังมีพริกใหญ่ธรรมดาอีก ตะไคร้ก็เป็นชามใหญ่ๆ ลิตรสองลิตรได้ แล้วยังใส่ข่ากับเครื่องแกงอื่นๆ อีกอย่างน่าตกใจ (หัวเราะเบาๆ) มะพร้าวกี่ลูกจําไม่ได้ สมัยผมสั่งการอยู่เติมไก่ลงไปตัวหนึ่งด้วย ก่อนนี้ไม่มี มีแต่ฟักทอง เราให้เด็กไปซื้อจากตลาด แล้วยังน้ำตาลอีกหม้อหรือสองหม้อ แกงเสร็จแล้วถึงเวลาฉัน พอตักใส่ปากจะหวาน รู้สึกว่าหวานดี พอกินเคี้ยวไปจะเผ็ดขึ้นเรื่อยๆ เสร็จแล้วร้อนรุ่มเลย (หัวเราะลงคอ) น้ำมูกนํ้าตาไหลซูดซาดหมด เด็กๆ กินได้สักปลายช้อนหนึ่งกินข้าวไม่รู้เท่าไร กี่จานกี่จาน พระทุกองค์อย่างมากฉันได้คนละช้อนสองช้อน เรากลัวมันจะหายไปเสียเลยทําขึ้นไว้ และทําเต็มที่ แต่ก่อนเขาก็ไม่น้อยเหมือนกันแหละไอ้พริกไอ้อะไร แต่ไอ้ปีที่ผมเข้าไปบัญชาอยู่ปีนั้นจะมากสักหน่อย จะเต็มที่สักหน่อย เพราะเรามันคนบ้า เอากันเต็มที่มันก็มีผล พอผมไม่อยู่แล้วดูเหมือนจะไม่มีใครทําต่อ มันไม่มีคนบ้าบิ่น”
มันเป็นการอวดดีอยู่ในตัวเอง มันไม่อยากทําอะไรเสมอใครหรือตํ่ากว่าใคร ในการจะทําอะไรก็ตาม มันอวดดีมันบ้าบิ่นว่าไม่มีอะไรเราทําไม่ได้ มันเป็นตัวกูของกูโดยตรง
แสวงหนทาง
อย่างไรก็ตาม ความบ้าบิ่นที่ต้องใช้ในการรักษาแกงร้าย ถือว่าเป็นของเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งที่ท่านจะต้องใช้ในการรักษาอีกหนึ่งมรดกสำคัญของชีวิต กล่าวคือพุทธศาสนา ท่านพุทธทาสบวชเรียนในช่วงก่อนกึ่งพุทธกาล ซึ่งมีคำทำนายแพร่หลายว่าจะเป็นช่วงเสื่อมโทรมของพุทธศาสนา และความเป็นจริงของสังคมก็ไม่พิสูจน์ว่าคำทำนายนั้นผิด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ พระสงฆ์แข่งขันกันสะสมอำนาจวาสนา พระผู้ใหญ่ล้วนมีห้องรับแขกเก้าอี้นวมไว้รับคหบดี และพระวินัยก็เสื่อมทั้งโดยความไม่รู้และความตั้งใจ จนมรรคผลนิพพานกลายเป็นเรื่องที่วงการพระโดยทั่วไปยอมรับว่า ‘หมดยุค’ เมื่อแรกขึ้นมาเรียนนักธรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. 2471 ท่านพุทธทาสผิดหวังกับสิ่งที่ได้พบจนถึงขนาดคิดลาสึกไปเป็นนักแม่นปืน
“เราก็เคยคิดว่าพระที่กรุงเทพฯ มันไม่เหมือนที่บ้านเรา พระกรุงเทพฯ จะดี เคยคิดว่าคนที่ได้เปรียญ 9 คือคนที่เป็นพระอรหันต์ด้วยซ้ำไป เคยคิดว่ากรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ควรจะถือเป็นตัวอย่าง เคยนึกว่าพระอรหันต์เต็มไปทั้งกรุงเทพฯ ก่อนไปกรุงเทพฯ มันคิดอย่างนั้น พอไปถึงมันค่อยๆ เปลี่ยน...พอไปเจอจริงๆ มันรู้ว่ามหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไร…เมื่อยังไม่ได้บวช มีคนคนหนึ่งเป็นตํารวจเขาสามารถยิงปืนได้แม่น ยิงมะม่วงที่ขั้วให้ขั้วมันขาดลงมาทั้งพวงๆ เราก็นึกนิยมว่ามีค่า มีความหมายที่น่าอัศจรรย์...เราเป็นเด็กนักเรียน...เคยคิดว่าสึกแล้วจะเป็นนักแม่นปืนแบบนั้นบ้าง”
โชคดีที่เหตุการณ์ไม่ลงตัวทำให้ท่านพุทธทาสไม่มีโอกาสได้สึก เพราะเมื่อท่านไม่สามารถสึกหนีความเสื่อมที่เห็นได้ สิ่งที่ท่านทำต่อไปจึงเป็นการหันหน้ากลับมา ‘ปฏิรูป’ ความเสื่อมนั้นเลยทีเดียว โดยในเมื่อท่านเห็นว่าความเสื่อมเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของพระธรรมวินัย การปฏิรูปของท่านจึงทำโดยการหวนคืนไปสู่ต้นขั้วของพระศาสนาเท่าที่ปรากฏในคัมภีร์ สิ่งนี้เองดูจะเป็นต้นเค้าของ ‘the renewal of Buddhist thinking (การคืนความสดใหม่ให้กับพุทธศาสน์)’ ที่องค์การยูเนสโกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานสำคัญของท่านในเวลาต่อมา ร่องรอยความคิดของท่านปรากฏชัดเจนที่สุดในจดหมายจากกรุงเทพฯ ที่ท่านเขียนถึงนายธรรมทาส ผู้เป็นน้องชาย ถึงความมุ่งหมายในใจก่อนเดินทางกลับพุมเรียง
“ฉันได้พบคัมภีร์ดีๆ พอที่ฉันจะตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาด ฉันจะออกจากกรุงเทพฯ ซึ่งฉันคิดว่าควรอยู่ เป็นการออกครั้งสุดท้าย และตั้งใจจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวนทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมา แล้วจะได้เพิ่มเข้าใหม่เมื่อเรียบร้อย เป็นการฟื้นความจําและได้หลักธรรมพอที่จะเชื่อว่าการค้นคว้าของฉันไม่ผิดทางแล้ว ก็จะทิ้งตําราที่ฉันเคยรักและหอบหิ้วมาแล้วโดยไม่เหลือเลย มีชีวิตอย่างปลอดโปร่งเป็นอิสระที่สุด เพื่อค้นหาความบริสุทธิ์และความจริงต่อไป และไม่แน่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากว่าค้นลําพังเองไม่พบแม้แต่เบื้องต้นแล้ว จึงคิดว่าจะไปสมาคมกับพวกที่อาจเป็นเหตุผลแห่งการค้นคว้า เช่น พวกโยคีในอินเดียตามที่คิดไว้ บัดนี้เรากําลังรออยู่ว่าจะได้ที่สงัดที่ไหนอาศัยสักชั่วคราว เพื่อจัดการกับตําราสัก 5-6 เดือน
...เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่ากรุงเทพฯ มิใช่เป็นที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ เราถลําเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่าเป็นการก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้ตัวว่าก้าวผิดนั่นเองทําให้พบเงื่อนว่าทําอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย…ผลที่สุดไม่กลัวตาย ขอแต่ให้ได้ดําเนินการไปในทางที่บริสุทธิ์…รู้แต่เพียงว่าที่เป็นมาแล้วและกําลังเป็นอยู่ไม่เป็นทางที่จะพบพระพุทธเจ้าได้เท่านั้น”
เมื่อกลับถึงพุมเรียงในปี 2475 ท่านพุทธทาสได้ไปพำนักอยู่เพียงผู้เดียวที่วัดตระพังจิก แม้จะได้ชื่อว่าวัด แต่เนื่องจากวัดตระพังจิกเป็นวัดร้าง ที่สิ่งปลูกสร้างมีเพียงศาลามุงสังกะสีทรุดโทรมสำหรับพระพุทธรูป ญาติโยมของท่านจึงได้ช่วยสร้างเพิงต่อมาจากศาลา ซึ่งมีพื้นเป็นดิน หลังคาเป็นจาก และภายในมีแค่แคร่สำหรับนอน และตู้ที่ตอกไว้หยาบๆ คล้ายโลงสำหรับใส่หนังสือเท่านั้น บาตร จีวรสามผืน ตะเกียง และหนังสือ คือสมบัติทั้งหมดของท่าน
“ก็ใช้จีวรห่มมันก็พอแล้ว มีบางครั้งที่คลี่สังฆาฏิห่มด้วย หมอนก็ใช้ไม้สองอันวางหัวท้าย แล้วใช้ไม้กระดานเล็กๆ ตอกขวางคล้ายม้ารองนั่งแต่เตี้ยๆเท่ากับหมอน ใช้ผ้าสังฆาฏิพับๆ รองเสียชั้นหนึ่ง...มุ้งไม่ได้ใช้ ถ้าไม่สบายจึงใช้มุ้ง ปกติไม่ได้ใช้ ยุงมีบ้างก็สุมไฟเอา คลุมโปงเอาบ้าง...เวลาอาบน้ำ เราถือสามผืนแบบใช้ผ้าอาบด้วย แต่ก็มีบางทีเหมือนกันที่ซักสบง ก็ต้องนุ่งจีวรแทน จีวรถ้าเอามาพับกลางตามยาวก็เท่ากับสบงสองชั้น นุ่งแทนสบงจนกว่าสบงจะแห้ง...สบู่ไม่ได้ใช้หรอก ใช้ผ้าถูเอา ไม่เปลือง ไม่ยุ่ง ตอนแรกๆ รองเท้าก็ไม่สวม ร่มก็ไม่ใช้ บางครั้งเดินมาเทศน์ที่คณะธรรมทาน ซึ่งต่อมาย้ายมาริมทางรถไฟที่ไชยา เดินมาโดนฝนเปียกชุ่ม นั่งเทศน์กันจนมันแห้งไปเอง สุขภาพกลับแข็งแรง ไม่สวมรองเท้า ไม่ใช้ร่มกลับทนแดดทนฝน หวัดไม่เป็นเลย
…อยู่คนเดียวขี้ขลาดนักก็ต้องปรับตัวเกี่ยวกับความขี้ขลาด มันไม่ใช่กลัวผีอย่างเด็กๆ กลัวมันมืดมันเงียบ มันอาจจะมีเสือก็ได้ เพราะแถวนั้นมันเคยมีเสือ แม้สมัยเมื่อเราเข้าไปอยู่นั้นมันหายไปแล้ว แต่มันก็ยังคิดว่าอาจจะมีอีกก็ได้ ความปองร้ายจากพวกมุสลิมก็ยังระวัง พวกที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางตะวันออกของวัด พวกนั้นเขาไม่ชอบเรานัก เขาอาจเล่นแกล้งอะไรก็ได้เพราะเราห้ามพวกเขาไม่ให้เข้าไปเก็บผักยิงนกตามที่เขาเคยทํากันมา...แต่จริงๆ ก็ไม่เคยมีเรื่องอะไรกัน แต่มันก็กลัวอยู่ ไม่กี่วันมันก็หาย ก็เหมือนกับจับเด็กในบ้านในเมืองมาอยู่ในป่าคนเดียวมันรู้สึกอย่างไร เราก็เหมือนๆ อย่างนั้นแหละ
…ทางแก้มันก็หาทางคิดหลายๆ ทาง เล็กๆ น้อยๆ คิดแบบสามัญสํานึกทั้งนั้นแหละ เช่นคนอื่นอยู่ได้ เราก็ควรอยู่ได้ หรือใครรู้เข้าเราก็อายตายโหงเลย หลายวันเข้ามันก็ค่อยชินขึ้น ผ่านไปคืนหนึ่งมันไม่มีอะไร มันก็ชะล่าใจขึ้น ก็ค่อยๆ ชินไปเอง...ในบางพระสูตรพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสไว้เกี่ยวกับการแก้ความกลัว แต่ฟังดูแล้วตอนแรกๆ พระพุทธเจ้าท่านก็แย่เหมือนกัน ท่านว่าป่านี้เหมือนริบเอาจิตใจไปหมดเลย ไม่มีจิตใจเหลือ ท่านก็ทรงแก้ด้วยวิธีง่ายๆ คือเมื่อเกิดความกลัวขึ้นในอิริยาบถใด ก็อยู่ในอิริยาบถนั้นที่ตรงนั้นจนไม่กลัว เกิดความกลัวขึ้นตรงไหน ก็อยู่ตรงนั้นเรียกร้องให้ความกลัวมา สมมติให้มันเป็นบุคคล เรียกมันมา ในที่สุดมันก็ไม่มา โดยธรรมชาติมันไม่มี เพราะเรามันโง่ มันคิดให้กลัวไปเอง
...ต้องย้อนไปถึงตอนก่อนที่จะมา เมื่อก่อนจะออกจากกรุงเทพฯ มันหมดท่าไม่มีอะไรที่น่ายินดี น่าพอใจ น่าพยายามปลุกปล้ำ มันสิ้นท่า มันก็คิดจะไปหาของใหม่ที่จะเป็นชิ้นเป็นอัน มันก็นึกถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมวินัยที่ได้เล่าเรียนมา มันก็มีความหวังว่าจะให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป มันเหมือนไปหาเอาข้างหน้า ไปตายเอาดาบหน้า จะได้อะไรหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่เป็นที่เชื่อแน่ว่าการปฏิบัติตามธรรมวินัยนั้นดีแน่ถูกต้องแน่ มันจะเกิดของใหม่ขึ้นมา เราสิ้นหวังที่จะได้อะไรจากกรุงก็หวังจะได้อะไรจากในป่า”
เชื่อว่ามันคุ้มค่า อย่างน้อยผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่าไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ได้ ตอนนี้ไม่ได้อีกแล้ว
พลังจากป่า
ท่านพุทธทาสไม่ได้ผิดหวัง เพราะวัดร้างนั้นเอง คือที่ถือกำเนิดขึ้นแห่งสวนโมกขพลารามหรือ ‘โปรโตไทป์’ ของอารามที่ไม่ได้ดึงดูดพุทธศาสนิกชนด้วยพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มากเท่ากับด้วยธรรมะและธรรมชาติ ศูนย์กลางของการปฏิรูปพุทธศาสนาของท่านพุทธทาสในเวลาต่อมา โดยตลอด 10 ปีแรกหลังจากกลับพุมเรียง ท่านพุทธทาสได้ใช้สวนรกร้างที่เต็มไปด้วยต้น ‘โมก’ และต้น ‘พลา’ นี้ เป็นที่มั่นในการทำงานเพื่อสร้างความหลุดพ้น (โมกขะ) ให้กับทั้งตนเอง และเพื่อนมนุษย์อย่างมีพลัง สมดังชื่อที่แปลว่า “สวนอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น” อย่างไรก็ตาม ท่านพุทธทาสไม่เห็นว่าสิ่งที่ท่านทำเป็นอัจฉริยภาพวิเศษใดๆ มากเท่ากับผลลัพธ์ของการลองผิดลองถูก หรือแม้กระทั่งการพิสูจน์ตัวเอง
“เป็นคนชอบทําอะไรให้เด่น ให้แปลก ให้ดีกว่าที่เขามีกันอยู่ก่อน ก่อนเราบวช เราก็ได้ข่าวแล้ว เมื่อมีใครพูดอะไรดีๆ ไม่ว่าจะเป็นเทียนวรรณ ก.ศ.ร. กุหลาบ หรือสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ มันมีนิสัยคิดแบบว่าทําอะไรต้องให้ดีกว่าใคร (ฮะๆ ๆ) มันไม่ใช่เป็นการอวดดี แต่มันเป็นการอวดดีอยู่ในตัวเอง มันไม่อยากทําอะไรเสมอใครหรือตํ่ากว่าใคร ในการจะทําอะไรก็ตาม มันอวดดีมันบ้าบิ่นว่าไม่มีอะไรเราทําไม่ได้ มันเป็นตัวกูของกูโดยตรง แต่จะไปทําโดยวัตถุทุนรอนมันไม่มี แต่มองเห็นอยู่ว่ากระทําโดยปัญญาความคิดมันอาจจะทําได้
..มันไม่ได้มองเห็นผลโดยประจักษ์ว่าจะทําได้หรอก แต่มันเป็นเรื่องว่าน่าลอง มันไม่มีอะไรที่ดีกว่านี้ที่จะคิดทําอะไรให้ใหม่ให้แปลกให้ดีกว่าเดิม...สรุปความสั้นๆ แล้ว มันไม่ได้มีความเฉลียวฉลาดหรือแผนการเฉลียวฉลาดอะไร มันเหมือนกับคลํามาอย่างนั้นแหละ แต่เมื่อมันเหลียวไปในทิศทางไหนแล้ว มันก็ต้องการจะไปให้ทะลุ เรามันเกิดในตระกูลคนค้าขาย ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องทางนี้มากนัก แต่ถ้าเอาเรื่องเกิดอย่างไร ตระกูลไหนออกไปแล้ว มันก็จะเหลืออยู่แต่นิสัยนี้ อยากจะทําอะไรให้มันดีกว่าที่เขาทําๆ กัน เรียกว่าอวดดีโดยไม่เจตนา ฉะนั้นมันจึงขยัน ขยันในการฝึกฝนตนเอง
…ไม่มีหลัก ทําตามความสะดวก ตามที่มันจะมีอะไรขึ้นมาให้ทําแล้วแต่เวลาไหนสะดวก จะค้นคว้าหนังสือก็สะดวกเวลากลางคืน กลางคืนอ่านหนังสือได้นานพอสมควร ไม่มีใครรบกวน กลางวันมักจะมีคนไปมา มันมีนี่ทําสนุกกันไป กลางคืนค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นส่วนมาก ไปยืมมาจากวัดพระธาตุฯ ของตัวเองก็มีบ้าง พอได้เค้าเงื่อนที่จะแปล ก็เลือกออกมาแปล เลือกสูตรที่ดีๆ แปลกๆ น่าเผยแพร่ พอง่วงก็เลิก ทําสมาธิแล้วก็นอน…เรื่องการปฏิบัตินั้นเรียกว่ามีพอรักษาตัวรักษาเนื้อรักษาตัว พูดตามสํานวนภาษาปักษ์ใต้เรียกว่ามี ‘พอรักษาหลุง’ ไอ้หลุงก็คือที่ที่วัวควายมันนอน มันหวงที่ตรงนั้นมันคุ้มครองรักษา รักษาหลุงไม่ให้ใครมาดูหมิ่นได้ ก็เรียกว่าปฏิบัติเท่าที่จําเป็น แล้วเราก็ทําให้การปฏิบัตินั้นมีอยู่ในการศึกษาค้นคว้า มันจึงกลายเป็นเรื่องเดียวกันไป”
ผลอันชุ่มชื่น
แม้จะพูดให้ฟังดูเหมือนเป็นงานง่ายๆ แต่หากพิจารณาดู งานศึกษา ‘ตามสะดวก’ ของท่าน มีทั้งการเขียนหนังสือเล่มอย่างตามรอยพระอรหันต์ การออกวารสารพุทธศาสนาราย 3 เดือน การแปลบาลีจากพระไตรปิฎกเพื่อมาเรียบเรียงเป็นหนังสือ ตลอดจนการออกเทศน์และปาฐกถาธรรม และในส่วนของการปฏิบัติธรรมแบบ ‘พอรักษาหลุง’ ไม่ให้ใครมาดูหมิ่นที่ท่านว่านั้น แท้จริงก็มีความเข้มข้นพิสดาร โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ซึ่งท่านเคยบันทึกแนวทางปฏิบัติช่วงนั้นไว้ว่า “หากสะเพร่าทำยุงตาย หรือบอบช้ำไปหนึ่งตัว จะให้ยุงกัดคราวหนึ่งไม่ต่ำกว่า 200 ตัว และไม่ต่ำกว่า 20 นาทีในป่ารก หรือถ้าขี้เกียจ จะรบมันด้วยการนั่งให้สว่างคาที่ ถ้าหิว จะรบมันด้วยการกวาดลานให้มากจนไม่หิว ถ้าเพลียโหย จงเดินจงกรมอย่างแรง 4-5 ร้อยเที่ยว ถ้าขลาดมาท่าไหน จะอยู่ในท่านั้นให้หนักขึ้น จนกว่าจะไม่ขลาด ถ้ารักชอบ เทหรือทุบต่อยสิ่งนั้นทันที หรือเพ่งให้เห็นความเลวของมัน ถ้าอร่อย จงเจือน้ำ หรือทิ้งส่วนนั้นเสีย ถ้าไม่อร่อย จงกินจนรู้สึกว่าเฉย หรืออร่อยโดยสันโดษ ถ้าเพลินในอารมณ์ จงคิดจนเห็นอนัตตา มิฉะนั้นอย่าลุก”
พูดให้ถูกกว่าคือท่านเอาตัวเองเป็นสนามทดลองการสู้รบกับกิเลสรูปแบบต่างๆ อย่างที่ท่านให้ชื่อว่า ‘สงครามอินทปัญโญ’ เช่น ทดลองฉันผลไม้เพียงอย่างเดียวเป็นอาหาร ทดลองฉันของหวานเพียงอย่างเดียว ทดลองงดเว้นการพูดตลอด 3 เดือน ฯลฯ จนเกิดคำร่ำลือว่าท่านเป็น ‘พระบ้า’ กระทั่งตัวท่านเองก็ดูเหมือนจะไม่มั่นใจในตัวเองนักอย่างที่ท่านบันทึกไว้ว่า “ข้าพเจ้าต้องผจญกับใจตัวเองในการบังคับความเห็นแก่ตัว การหิว ความเจ็บปวด ความถ่อมตัวไม่ลงความเผลอ คล้ายกับถูกรุมจากมารและศัตรูตั้ง 4-5 คนคราวเดียวกัน สมองไม่มีเวลาหยุดแม้กระทั่งหลับ ทั้งที่พยายามข่มขี่กันเปนอย่างมาก ถึงกับนอนใจว่า จะบ้าหรือตายก็สุดแท้ คงพยายามแต่ให้ใจเย็น ปลอบใจตัวเองให้ยิ้มแย้มอยู่เสมอ ต่อสู้กันเรื่อยมาจนกระทั่งวานนี้ และคืนนี้”
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนจะจบลงในบ่ายวันที่ 30 กันยายน 2477 ซึ่งท่านพุทธทาสเขียนบันทึกไว้อย่างยาวพิเศษในสมุดบันทึกปฏิบัติธรรม โดยจั่วหัวขีดเส้นใต้และลงดอกจันท์ว่า ‘วันสำคัญในชีวิตที่แล้วมา’ ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ถึงสิ่งที่เกิดในห้วงมโนสำนึกของท่านพุทธทาสขณะนั้นได้ แต่หากโลกนี้มีโมงยามแห่งการบรรลุธรรม รสชาตินั้นน่าจะไม่ผิดจากสิ่งที่ท่านพุทธทาสบันทึกไว้
“หลับอย่างชุ่มชื่นและตื่นเวลา 12.00 น. ตรงอย่างไม่ผิดแม้แต่ครึ่งนาที (เข็มซ้อนกันอย่างไม่เหลื่อมกัน แม้แต่สักนิด) เปนการตื่นที่ชุ่มชื่นอย่างที่สุดอีก ตื่นแล้ว หยิบหนังสือกามนิตที่ธรรมทาสส่งไปให้เมื่อเช้านี้เอง เปิดอ่านได้ตอนปลายประมาณ 10 หน้าก็จบ ยึดเอาเรื่องชีวิตที่เปนไปแปลกๆ ของกามนิตขึ้นเปนอารมณ์ ใคร่ครวญเรื่อยไปสักครึ่งชม. ก็น้อมไปถึงชีวิตตนเอง คิดเรื่อยๆ มา จนสลดอย่างแรง (ที่ไม่เคยรู้สึกเช่นนี้) เห็นเปนของน่าเบื่อหน่ายจริงๆ จนรู้สึกว่าที่แล้วมานั้น ไม่ได้ผ่านเข้าในเขตต์แห่งความสุขเลย อยากเปนอย่างแรงที่จะละทิ้งกิจการต่างๆ ที่กระทำอยู่ให้หมด เพื่อหาความสุขจริงๆ คิดถึงคนทุกคนที่เปนญาติพวกพ้อง เพื่อนฝูง รู้สึกอนาถจนตัวซ่านเสียว เห็นความแตกต่างกันระหว่างเพศบรรพชิตกับฆราวาส: ถ้าหากเขายังมีกิจการและจิตต์ใจไม่แปลกกันผ้าเหลือง บาตร การปลงผม เปนเพียงเครื่องหมายเท่านั้น ทั้งสองเพศอาจบรรลุได้เท่ากันอย่างไม่มีข้อยกเว้นแตกต่างกัน แต่พิเศษกันอยู่หน่อยหนึ่งว่า ผู้ออกอยู่ในเพศบรรชิต มีโอกาศสงบคิดมากกว่าฆราวาสเท่านั้น แต่ข้อนั้นยังไม่ทำให้แตกต่างกันไป จนกว่าผู้นั้นจะได้ดื่มรสแห่งความสุขแท้
…เกิดความสลดใจอย่างแรง อย่างจริงใจสุดซึ้งว่า ความสุขหรือความรู้สึกอันนี้ ถ่ายเทให้กันไม่ได้เลย แม้จะรักกันอย่างยิ่งยอดเหมือนสามีภรรยาที่รักกันอย่างที่สุดที่จะเปนได้ก็ตาม จะช่วยเหลือกันได้ ก็เพียงแต่ชี้ทางคร่าวๆ ให้เท่านั้น รู้สึกตนว่ากิจที่จะต้องขวนขวายทำไปเพื่อความหลุดพ้นยังมีอีกมาก และมองเห็นทางสำเร็จครั้งแรก รู้สึกอย่างแรงที่สุดที่จะทิ้งกิจการส่งเสริมปฏิบัติธรรมทั้งหมดเสียทีเดียว แต่เมื่อตั้งปัญหาขึ้นตีความทีละข้อก็ได้ผลแน่ใจว่า ยังไม่จำเป็น พบทางดีที่สุดว่า ควรใช้กิจการที่ได้ดำเนินไปแล้ว เปนเครื่องมือนำประโยชน์สุขแท้จริงมาให้ตนและผู้อื่นทุกคนก็ดีแล้ว รู้สึกว่าต่อไปจะเปลี่ยนเข็มมุ่งหมายในใจบางอย่างให้หมุนตรงเฉพาะต่อ ‘ความสุขอย่างแท้จริง คือละวางทุกๆ อย่างแล้วมีใจสดชื่น เย็นฉ่ำยิ่งขึ้นเสมอ จะประกาศแต่ความสุขนี้เท่านั้น! จะไม่ยอมให้อะไรครอบงำใจได้อีกต่อไป’
…ชีวิตของข้าพเจ้าสละทุกอย่างๆ มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และการประกาศเผยแผ่ความสุขนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรดีไปกว่านี้ ในบันดามีอยู่ในพระพุทธศาสนา เวลา 15.00 น. ถึงที่สุดแห่งความตกลงใจ”
บรรลือธรรม
ในขณะที่ยังอาจมีผู้ตั้งข้อสงสัยต่อประสบการณ์ทางธรรมตามบันทึกของท่านพุทธทาส ผลงานในการประกาศเผยแผ่ความสุขแห่งพุทธศาสนาของท่านกลับไม่จำเป็นต้องได้รับพิสูจน์ ท่านถูกบรรจุอยู่ในพจนานุกรมพุทธศาสนาน้อยใหญ่ทั่วโลกในฐานะพระนักคิดผู้ทรงอิทธิพลทั้งในแง่ความลึกซึ้งและกว้างขวางของคำสอน หาก ‘นาคารชุน’ คือสุดยอดนักปราชญ์มหายานผู้ได้ชื่อว่ามีตรรกะอันเป็นเลิศของโลกในการตีความคำสอนของพุทธองค์ ท่านพุทธทาสก็ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าคือ ‘นาคารชุนแห่งเถรวาท’ คำสอนของท่านโดดเด่นด้วยความ ‘เก่า’ และ ‘ใหม่’ ในคราวเดียวกัน ในแง่ของความ ‘เก่า’ ท่านพุทธทาสรื้อทิ้งคำสอนหลายส่วนที่ตกทอดมาโดยวัฒนธรรม และตัดตรงเข้าหาส่วนที่เป็นพระพุทธพจน์แท้ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าได้เนื้อหาที่ยังไม่ถูกเจือปน จนได้เป็นหนังสือชุด ‘จากพระโอษฐ์’ ไม่ว่าพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ อริยสัจจากพระโอษฐ์ หรือปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ ซึ่งท่านเรียบเรียงขึ้นจากการพลิกพระไตรปิฎกจากต้นจนจบเพื่อค้นหาเฉพาะพระวจนะของพระพุทธเจ้ามาเชื่อมร้อยให้เห็นภาพแบบไม่ต้องปนการตีความ สิ่งเหล่านี้ทำให้ท่านได้เนื้อหาที่ไม่หนักด้วยเรื่องชาติภพนรกสวรรค์เท่าคำสอนทางพุทธเดิมของสังคมไทย และทรงพลังด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความว่าง (สุญญตา) และความเป็นเหตุปัจจัย (อิทัปปัจจยตา) ที่เข้ากับจริตนิสัยอ่อนศรัทธา แต่ช่างคิดค้นสงสัยของผู้คนยุควิทยาศาสตร์ปรมาณู
นอกจากนั้น ท่านพุทธทาสยังทำธรรมให้ ‘ใหม่’ และร่วมสมัย ด้วยการปฏิเสธความเข้าใจที่ว่าการปฏิบัติธรรมต้องเป็นเรื่องแยกต่างหากจากการใช้ชีวิต ท่านเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนสมัยใหม่ด้วยนิยามว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” และตัวท่านก็ถือเป็นตัวอย่างอันหาได้ยากของภิกษุผู้ถือธุดงควัตร (ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสเป็นพิเศษ นอกเหนือจากศีล) ควบคู่ไปกับการทำงานทางโลกอย่างการเขียนหนังสือหรือการเทศนาแบบไม่มีสิ่งใดย่อหย่อน
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือมรดกทางธรรมอันโอฬารที่ประกอบด้วยเอกสารประเภทลายลักษณ์ (เอกสารส่วนตัว ลายมือ บันทึก จดหมายติดต่อ ฯลฯ) มากกว่า 188,378 หน้า เอกสารประเภทโสตทัศน์ (ภาพนิ่ง ภาพวาด ฟิล์ม สไลด์ ม้วนเทป เทปรีล แผนผัง ฯลฯ) มากกว่า 60,350 รายการ สิ่งพิมพ์รวบรวม (ผลงานพิมพ์เผยแพร่ หนังสือที่เก็บไว้เป็นสถิติ พระไตรปิฎกภาษาต่างๆ หนังสือค้นคว้าอ้างอิง ฯลฯ) มากกว่า 10,000 รายการ ตลอดจนวัตถุจดหมายเหตุ (ของใช้ส่วนตัวเครื่องมือเผยแผ่ ของเล่นในชีวิตสมณะ ของถวาย ฯลฯ) มากกว่า 3,200 รายการ แม้แต่หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ที่ย่างเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ในปัจจุบันก็ยอมรับว่ายังไม่สามารถรวบรวมหรือศึกษางานของท่านพุทธทาสให้สิ้นสุดได้ และท่านพุทธทาสเองก็เคยพูดว่า “เท่าที่พิมพ์ออกมาแค่นี้ เรียกว่าโล่งไปที เราได้ทําสิ่งที่มันสมควรจะทําไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่ามันคุ้มค่า อย่างน้อยผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่าไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ได้ ตอนนี้ไม่ได้อีกแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังพลังของการทำงานหรือการปฏิบัติธรรมที่แยกออกจากกันไม่ได้นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่อุดมการณ์ในวัยหนุ่ม หากคือ ‘ฉันทะ’ หรือความพอใจในสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่ของท่านพุทธทาส ท่านถึงขนาดเปรียบเปรยว่าท่านได้ ‘สมรส’ กับนางฟ้านามวาณี ซึ่งเป็นคำอุปมาเรียกพระไตรปิฎกตามคาถาโบราณ และการได้สมรสนั้นก็ทำให้กามารมณ์หรือความสนใจเรื่องอื่นๆ หมดความหมายไปเอง
“คล้ายๆ กับที่เขาพูดไว้เป็นอุปมา ผมก็เคยเอามาพูดบ่อยๆ พระไตรปิฎกชื่อวาณี เป็นนางฟ้าเกิดจากดอกบัว คือพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมแห่งมุนี จงมารึงรัดจิตใจของข้าพเจ้าไว้เต็มที่ มันเป็นไปเองเรื่องการศึกษาสิ่งใหม่ สิ่งแปลก สิ่งยาก สิ่งลึก มันรึงรัดจิตใจ เข้าใจว่าไม่เฉพาะแต่พวกเรา แต่พวกอื่นเช่นพวกนักศึกษาฝรั่งตัวยงก็คงมีผลอย่างนี้ การศึกษามันจับหัวใจ มีโอกาสน้อยมากที่จะคลุกคลีทางกามารมณ์ ไปแต่งงานกับนางฟ้าเสีย (หัวเราะ) ใช้คําว่าสมรสกับนางฟ้ากล่าวคือพระไตรปิฎก หรืออะไรก็ได้ที่ตัวชอบสุดเหวี่ยง
…มันสนุกอัตโนมัติ พอใจ พอใจในตัวเอง คิดอะไรใหม่ๆ คิดอะไรออกมาได้ก็สําเร็จทีหนึ่งเรื่องเล็กๆ แต่ทว่าสําเร็จก็พอใจ จะเป็นแง่ใดแง่หนึ่งที่คิดออกมาได้ อย่างคิดคําพูด 2-3 คําขึ้นมาใช้ได้ก็พอใจแล้ว (หัวเราะ) พอใจและเป็นสุข (หัวเราะ) เช่นคําว่าตัวกู-ของกู กิน-กาม-เกียรติ สะอาด-สว่าง-สงบ อะไรอย่างนี้ มันช่วยประหยัดการพูดจาได้มาก ช่วยให้พูดจาได้เร็ว งานหนังสือนี่บางวันบางเวลา มันคลั่งขึ้นมา (หัวเราะ) ก็ทําได้วันหนึ่ง 18 ชั่วโมง ทําเล่นๆ แต่นับรวมๆ แล้ววันหนึ่งมันได้ 18 ชั่วโมง นี่คุยโตหน่อย ทําเช้าถึงเพล บ่ายถึงคํ่า คํ่าถึงสามทุ่ม สี่ทุ่มกว่าจะนอน
…เราค้นเรื่องความทุกข์เพื่อดับและค้นความดับทุกข์อย่างยิ่ง ทีนี้เราก็มีหลักของเรา หรือหลักทั่วไปก็ได้ว่า สิ่งใดที่เรารู้แล้วมันก็ควรพูด มันก็เลยพูด จึงทําพร้อมๆ กันมาทั้งสองอย่าง แล้วการที่จะต้องพูดนั่นแหละ มันทําให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น ให้คิดให้อะไรพิเศษมากขึ้นเพื่อมันจะไม่ได้ผิด มันก็เลยกลับเป็นผลดีในการที่ไปพูดหรือต้องพูดด้วย รวมความแล้วมันเพิ่มประโยชน์ขึ้นมาอีกอย่างและความดับทุกข์ก็ไม่ได้เสียไป ได้ตามที่ควรจะได้ นอกนั้นเป็นของพลอยได้แฝงเข้ามา...ผมบอกผู้อื่นนานแล้ว แม้จนกระทั่งบัดนี้ว่าถ้าคุณอยากจะรู้เรื่องอะไร คุณจงตั้งตนการศึกษาเหมือนอย่างว่าเราจะไปเป็นครูเขา ในเรื่องนั้น เรียนให้มากในเรื่องนั้นแล้วคุณจะรู้เรื่องนั้นดี ดีจนพอ ดีจนเกินพอ”
ไม่เป็นอะไร
สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตมาแบบ ‘คุรุ’ ทางจิตวิญญาณอย่างท่านพุทธทาส เป็นธรรมดาที่คนอาจคาดหวังว่าท่านต้องได้เคยประสบกับปาฏิหาริย์หรือสิ่งเหนือธรรมชาติในเส้นทางการบำเพ็ญ แต่สำหรับท่าน ดูจะไม่มีสิ่งใดเหนือธรรมชาติทั้งสิ้น การเปลี่ยนแปลงตัวตนที่ลึกซึ้งที่สุด มิได้มาจากเหตุการณ์พิสดารมากเท่ากับการสั่งสมอันสามัญจนกว่าจะถึงเวลาสุกงอม
“ผมก็ต้องบอกว่ามันไม่มีช่วงที่เปลี่ยนแปลงใหญ่โต มันมาทีละนิดๆ ค่อยเติบโตมาทีละนิดๆ เราเกิดมาเป็นทารกจนโต ช่วงเปลี่ยนแปลงโดยแท้จริงมันก็พูดยาก แต่มันก็เปลี่ยนทีละนิดๆ จนมาอยู่สภาพอย่างนี้ ผมนึกไม่ออกนี่ว่าเปลี่ยนแปลงอย่างไร มันก็บวช แล้วก็มาพบเรื่องที่ดีกว่า ก็ไม่สึกแล้วศึกษาเล่าเรียน ค้นคว้ามาทีละนิดๆ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเหวี่ยง หรือขนาดเหวี่ยงทางนั้นเหวี่ยงทางนี้มันไม่มีหรอก มันเปลี่ยนทีละนิดพร้อมๆ กันแหละ ทั้งร่างกาย จิตใจ สภาพของชีวิต เปลี่ยนมาๆ ทีละนิดๆ มันมองไม่เห็นเลยว่ามันเปลี่ยนแบบเลี้ยวเป็นมุม ขอให้ทุกคนตั้งตนเดินมาตาม หลักเกณฑ์ทีละนิดๆ แล้วก็เปลี่ยนทีละนิดเหมือนต้นไม้งอกขึ้นทีละนิดๆ จนกว่ามันจะเติบโต จะให้เอาอะไรเป็นการเปลี่ยนยังนึกไม่ออก
…เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยสนใจที่จะมีเกียรติ ไม่สนใจจะบรรลุถึงนิพพานหรือไม่ เป็นพระอรหันต์หรือไม่ ไม่อยู่ในความคิด รู้แต่ว่าอยู่อย่างไม่มีทุกข์เรื่อยๆ ไปก็พอแล้ว ทําประโยชน์ให้เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุดด้วย ตัวเองก็สบายดีด้วย ทําผู้อื่นให้ได้รับประโยชน์อย่างที่เราได้รับด้วยเรื่อยๆ ไป แค่นี้พอแล้ว จะเป็นอะไรสักแค่ไร ไม่สนใจเรื่องความบัญญัติว่าเป็นอย่างนั้นว่าเป็นอย่างนี้ เป็นโสดา สกทาคา อรหันต์เดี๋ยวนี้ไม่อยู่ในความสนใจ ไม่อยู่ในความรู้สึก...พอที่จะสงเคราะห์ได้ว่ามันไม่ต้องการภพ คือความเป็นมันอยู่ในลักษณะที่ว่างจากภพ ว่างจากความเป็น เหลือแต่ร่างกาย จิตใจ นามรูปเคลื่อนไหวไปในลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์ให้มีประโยชน์กับผู้อื่นมากที่สุด จนกว่ามันจะดับลงไป เหมือนกับว่าตะเกียงหมดน้ำมัน ไม่ต้องถามว่าไปไหน ไฟหมดเชื้อเพลิงไม่ต้องถามว่าไปไหน จบกันแค่นั้นนี้แหละ”
ดูไปแล้ว ในขณะที่ท่านพุทธทาสอาจเป็นคนแรกที่นำหลักธรรมชั้นประณีตที่สุดอย่างสุญญตา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท หรือแม้กระทั่งพระนิพพานมาเผยแผ่ต่อผู้คนวงกว้างในสังคม คำตอบของท่านแสดงให้เห็นว่าหลักธรรมลึกซึ้งโอฬารเหล่านี้ ท้ายที่สุดอาจมิใช่สิ่งลี้ลับเกินเข้าใจมากเท่ากับสภาวะพื้นฐานอย่างยิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีพึงหวังจากชีวิต
กล่าวคือความเป็นสุขและเป็นประโยชน์ แม้ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไร ■