HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


Banking on the Future

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลากเส้นต่อจุดวิเคราะห์อดีตและปัจจุบันของประเทศ เพื่อไปต่อให้ถึงอนาคต

ธนกร จ๋วงพานิช

แม้ดูเผินๆ อยู่ห่างไกลชีวิตประจำวัน และถูกห้อมล้อมด้วยคำศัพท์ขึงขังอย่างดอกเบี้ยนโยบาย กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ธนาคารกลางอย่าง ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ แนบแน่นใกล้ชิดกับความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคนกว่าที่คิด

ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่ได้ปล่อยกู้ ไม่รับฝากเงิน และไม่มีแอปฯ สำหรับให้ทุกคนเข้าถึง แต่เบื้องหลังกำแพงวังบางขุนพรหม ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันเป็นที่ทำการมาร่วมแปดทศวรรษ กลไกลึกซึ้งของธนาคารแห่งประเทศไทย คือสิ่งที่ทำให้เงินที่ทุกคนถือ ตั้งแต่เงินทอนในร้านสะดวกซื้อ ค่าจ้างปลายเดือน ไปจนกระทั่งเงินระดมทุนของบริษัทในตลาด หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ‘ทุกบาททุกสตางค์’ มีค่าและไม่กลายเป็นแค่เศษกระดาษ

อาจเป็นเพราะด้วยความหนักหนาของภารกิจที่กระทบทุกชีวิตในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เคยให้สัมภาษณ์ว่าหนังสือที่ตนหยิบมาอ่านบ่อยในโมงยามของการทำงาน คือวรรณกรรมเรื่อง Meditations ซึ่งเป็นบันทึกผลึกความคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละวันของมาร์คัส ออเรเลียส จักรพรรดิแห่งโรม ผู้ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสมรภูมิอันมีเดิมพันใหญ่หลวงเป็นนิจ มาในการสัมภาษณ์วันนี้ หนังสืออีกเล่มที่เขาแนะนำ คือ That Which is Seen, and That Which is Not Seen (‘อันใดที่แลเห็น และแลไม่เห็น’) ของเฟรดเดอริก บาสติยาต์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวฝรั่งเศส ยุคศตวรรษที่ 19 ยิ่งบ่งบอกถึงมวลความคิดที่ขับเคี่ยวในหัวของ ดร.เศรษฐพุฒิในฐานะผู้กุมบังเหียนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ในหลักแห่งเศรษฐศาสตร์ การกระทำอันหนึ่งอันใดก็ตาม อุปนิสัยก็ตาม องค์กรหรือกฎหมายใดๆ ก็ตาม เมื่อกำเนิดขึ้นมาแล้วไม่เพียงสร้างผลกระทบเพียงหนึ่งครั้งหนึ่งครา แต่สร้างผลกระทบเป็นระลอกๆ สืบเนื่องกันไป ในบรรดาผลกระทบเหล่านี้ มีเพียงผลกระทบระลอกแรกเท่านั้นที่ปรากฏในทันที สิ่งเหล่านั้นถือกำเนิดขึ้นพร้อมกันกับเหตุ และโดยเหตุนี้จึงเป็นที่มองเห็น ส่วนผลอื่นๆ นั้น จักค่อยๆ คลี่คลายตัวออกมาโดยลำดับ และไม่อาจเป็นที่มองเห็นในเบื้องแรก แม้ว่าหากมีใครมองเห็นผลเหล่านั้นได้ก่อน ประโยชน์ย่อมตกแก่เราทุกคน ความต่างระหว่างนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีและไม่ดีย่อมอยู่ตรงนี้ พวกหนึ่งเพียงคำนึงถึงผลที่มองเห็น ส่วนอีกพวกย่อมคำนึงถึงทั้งผลที่แลเห็น และผลที่พึงต้องมองให้เห็นล่วงหน้าไปในคราเดียวกัน” ความเรียงของบาสติยาต์ขึ้นต้นไว้เช่นนั้น

ในวันนี้ ด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำและความแตกแยกที่พุ่งสูงน่าตกใจ ในขณะที่เครื่องมือของธนาคารกลางในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจกลับถูกท้าทายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนจากคลื่นความเปลี่ยนแปลงใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยี การเปลี่ยนผ่านของกลุ่มประชากร และล่าสุดก็คือโควิด-19 นักเศรษฐศาสตร์ผู้มีดีกรีเทคโนแครตเข้มข้นจากสถาบันทั้ง ธนาคารโลก บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (นิวยอร์ก) มหาวิทยาลัยเยล หรือวิทยาลัยสวาร์ธมอร์ อย่างดร.เศรษฐพุฒิ ไม่เพียงต้องแก้ปัญหาตรงหน้า แต่ยังต้องแก้ไปถึงปัญหาที่อาจไม่มีผู้ใดแลเห็น ด้วยเหตุว่า “ความแตกต่างระหว่างนักเศรษฐศาสตร์สองพวกนั้น เป็นเรื่องใหญ่ เพราะดังที่ปรากฏโดยมาก เมื่อผลกระทบระลอกแรกเป็นที่พึงใจ ผลกระทบในระลอกสุดท้ายกลับนำไปสู่หายนะ และการณ์ที่ตรงกันข้าม” อย่างที่บาสติยาต์เตือนไว้

ณ ช่วงเวลาวิกฤตที่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักหมื่น จึงเป็นกาลอันเหมาะอย่างยิ่งที่ได้มาสัมภาษณ์ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ทางวีดีโอคอล เพราะไม่ว่าเหตุการณ์ปัจจุบันจะวุ่นวายชวนปิดการรับรู้เพียงใดก็ตาม ในเวลาที่อนาคตไม่ว่าในทางดีหรือร้ายกำลังจะมาเยี่ยมเยือนเพียงลับโค้งข้างหน้า

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าการไม่มองหรือแม้แต่มองแต่เท่าที่ตาเห็นไม่เพียงพออีกต่อไป

คนนอกที่คลุกวงใน

เป็นที่รู้กันว่า ดร.เศรษฐพุฒิ ไม่ได้ลงสมัครเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมาตั้งแต่แรกเปิดรับสมัครในเดือนมิถุนายน 2563 และเพิ่งยื่นชื่อเข้ามาในจังหวะสุดท้ายเมื่อมีการต่อเวลาการสมัครแล้วเท่านั้น ด้วยช่วงเวลากลางวิกฤตไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสาธารณสุขที่พร้อมดึงเศรษฐกิจสู่ก้นเหวในขณะที่กระสุนสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางอย่างการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับอยู่ที่จุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือเรียกได้ว่าเกือบ ‘หมดแม็ก’ การเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการฯ ในจังหวะเช่นนี้ ย่อมเหมือนการลุยไฟโดยไร้สายยาง

อย่างไรก็ตาม จะเป็นด้วยถ้อยคำปลุกปลอบจากหนังสือของจักรพรรดิมาร์คัส ออเรเลียส (“อย่าปล่อยให้อนาคตทำให้เจ้ากังวล หากวันใดเจ้าต้องเจอกับอนาคตเช่นนั้นเจ้าก็จะยังมีอาวุธแห่งสติปัญญาที่ไม่ได้ย่อหย่อนกว่าที่เจ้าได้ใช้รับมือกับปัจจุบัน”) หรือความรู้สึกต่อหน้าที่ ‘ความเป็นคนไทย’ ของลูกข้าราชการกระทรวงต่างประเทศผู้ต้องเล่าเรียนและทำงานอยู่ต่างประเทศมาเป็นระยะเวลานาน หรือคำร้องขอของคนใกล้ชิดก็ตาม ในที่สุด ดร.เศรษฐพุฒิ ได้ตัดสินใจเข้ารับตำแหน่ง กล่าวไปแล้ว นี่มิใช่วิกฤตใหญ่ครั้งแรกของประเทศที่เขาต้องมีส่วนเข้ามาคลุกวงใน

“ผมเดินทางมาตลอด เพราะพ่อทำงานอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ครั้งแรกที่ย้าย อายุ 2 เดือนกว่า คุณพ่อพาย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย 4 ปี กลับมาไทย 2 ปี ไปอินเดีย 4 ปี แล้วก็ไปโปแลนด์ กลับมาไทย แล้วก็ไปฝรั่งเศส เข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว คุณพ่อก็ยังเดินทางอยู่ เพื่อนที่มีก็คือเพื่อนจากการทำงาน เพื่อนตอนทำงานที่แมคคินซี่ก็แนวหนึ่ง ตอนทำงานที่ธนาคารโลกก็จะเป็นอีกแนวหนึ่ง เพื่อนสมัยเรียนก็เป็นอาจารย์เยอะ ดังนั้นข้อดีของการเดินทางบ่อยคือมีเพื่อนที่หลากหลาย

…ถามว่ามองตัวเองเป็นคนนอกหรือเปล่า ผมมองว่าผมเป็นคนไทย การไปโตที่อื่นยิ่งทำให้เราสำนึกกับอัตลักษณ์ความเป็นคนไทย เพราะถ้าไม่มีตรงนั้น เหมือนอัตลักษณ์เราหาย เราจะนิยามอัตลักษณ์เราจากไหน เลยยิ่งตอกย้ำความเป็นคนไทย แต่ด้วยความที่ไม่ได้โตที่นี่ตลอด ไม่ได้มีเพื่อนสนิทเยอะ และอยู่ข้างนอกมานาน ก็อาจจะมีมุมมองแบบคนภายนอกบ้าง ผมเริ่มมาอยู่ยาวที่เมืองไทยในปี 2540 ในเวลานั้น ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล อยากให้มาช่วยงานที่กระทรวงการคลัง ซึ่งเกิดวิกฤตปี 40 พอดี ยอมรับเลยว่าต้องปรับตัวเยอะมาก ถามว่าปรับตัวเรียบร้อยหรือยัง ก็ต้องตอบว่าผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ยังปรับตัวอยู่ เพราะยังไง outsider perspective คงถูกฝังรากลึกไปแล้ว”

งานแรกๆ ที่ผมทำหลังเรียนจบคือแมคคินซี่ที่นิวยอร์ก เขาเน้นมากว่า ถ้าจะส่งมอบของที่ดีจริงๆ ให้ลูกค้า เราต้องถกเถียงและทำงานออกมาให้ได้ ดังนั้น ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเด็กที่เข้ามาใหม่หรือเป็นพาร์ทเนอร์อยู่มานาน คุณไม่ใช่แค่มีสิทธิที่จะพูด แต่มี ‘หน้าที่’ ที่จะพูด ที่จะเถียง เพื่อให้ได้สิ่งๆ นั้น

หน้าที่เถียง

ดร.เศรษฐพุฒิถูก ‘อิมพอร์ต’ จากธนาคารโลก กรุงวอชิงตันดีซี เข้ามาที่สถาบันวิจัยนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง ในช่วงของรัฐบาลชวน หลีกภัย โดยเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันฯ ร่วมกับดร. วิรไท สันติประภพ ผู้ที่ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ ธปท. คนก่อนหน้าเขาเอง แม้ระบบข้าราชการไทยในเวลานั้นยังจัดได้ว่าแข็งแรงสืบทอดมาจากยุคทองของเทคโนแครต และที่ทำงานเก่าของดร.เศรษฐพุฒิ คือธนาคารโลก ก็จัดเป็นระบบข้าราชการรูปแบบหนึ่ง แต่ดร. เศรษฐพุฒิยอมรับว่าต้องปรับตัวพอสมควรเมื่อแรกกลับไทย เป็นไปได้ว่าภายหลังประสบการณ์การทำงานแห่งแรกของเขา ณ บริษัทแมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี ในนิวยอร์กที่ขึ้นชื่อเรื่องความโผงผางเปรี้ยงปร้าง ระบบข้าราชการไทยที่สุขุมและมีขั้นตอนเป็นของตัวเองย่อมเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ

“ยุคก่อนๆ ความน่าสนใจของภาคเอกชนไม่มากเหมือนสมัยนี้ คนเข้าระบบราชการกันเยอะ จึงไม่น่าแปลกใจว่าเรามีคลังของคนที่ถือว่าเป็นมือฉมังมากมาย ผู้ใหญ่บางคนสุดยอด อย่างที่รู้กันดีทำงานในระบบราชการไทยไม่ง่ายเลย ดังนั้นคนที่จะทำงานได้ในระบบจะต้องรอบด้านและเก่งกาจ เราต้องอิงกับความสามารถของบุคคลมาอุดหนุนระบบ ธนาคารโลกเป็นข้าราชการเหมือนกัน แต่มีวัฒนธรรมของความเป็นวิชาการหรือเทคโนแครตสูง เขาให้ความสำคัญกับความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค (technical expertise) ในขณะที่ระบบของเรามันเป็น hierarchy (ลำดับชั้น) ซึ่งวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในระบบราชการไทย แต่ในระบบเอกชนไทยด้วย

…มันจึงต่างกัน งานแรกๆ ที่ผมทำหลังเรียนจบคือแมคคินซี่ที่นิวยอร์ก เขาเน้นมากว่า ถ้าจะส่งมอบของที่ดีจริงๆ ให้ลูกค้า เราต้องถกเถียงและทำงานออกมาให้ได้ ดังนั้นไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเด็กที่เข้ามาใหม่หรือเป็นพาร์ทเนอร์อยู่มานาน คุณไม่ใช่แค่มีสิทธิที่จะพูด แต่มี ‘หน้าที่’ ที่จะพูด ที่จะเถียง เพื่อให้ได้สิ่งๆ นั้น เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพูดว่า ‘I thought Thai people were supposed to be nice’ ทำให้เราได้คิดว่า โอเค---เราคงเถียงได้ดีมาก ต้องเบาๆ หน่อย แต่ด้วยความที่เราถูกฝึกมาแบบนั้น พอกลับมาเมืองไทยจึงต้องปรับตัวเยอะมาก”

อย่างไรก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิไม่ได้เห็นว่าการถกเถียงได้ร้ายกาจเป็นเป้าในตัวเอง

“ผมว่าการถกเถียงมีทั้งข้อดีข้อเสีย วัฒนธรรมที่ผมถูกฝึกมาแบบเถียงให้ตาย มีข้อดีแต่ก็มีข้อเสีย คนที่อายุน้อยอาจยังขาดประสบการณ์ คือบางครั้งความมั่นใจอย่างมากไม่ได้แปลว่าคุณคิดถูก บางอย่างต้องแต่งด้วยประสบการณ์ว่าอะไรใช่-ไม่ใช่ การให้ความเคารพกับผู้ใหญ่ ให้ความเคารพกับประสบการณ์จึงสำคัญและเป็นประโยชน์ ซึ่งในระบบไทยเรามีอะไรแบบนี้มากกว่า ของไทยอย่างหนึ่งที่ผมชอบ เป็นเสน่ห์ของวัฒนธรรมของเรา คือเรามีความเป็นพี่เป็นน้อง ผมมองว่ามันดี และภาษาก็มีผลมาก เช่น ถ้าใช้ภาษาอย่าง ‘พี่---เรื่องนี้พี่ว่าไง’ โทนมันเปลี่ยนแล้ว ทำให้เห็นว่าเราก็เคารพเขาเป็นพี่ และความรู้สึกเปลี่ยนไป ดูเหมือนครอบครัว ซึ่งตรงนี้ของฝรั่งไม่ค่อยมี แต่มันมี ‘แต่’ เราต้องหาสมดุลให้ได้ ความเกรงใจของเราเป็นเสน่ห์ แต่ถ้ามากเกินไป เกรงใจคนจนไม่เกรงใจงานก็ไม่ดี เพราะงานจะเสีย”

แตกแยกทุกหย่อมหญ้า

เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ ที่ทุกประเด็นล้วนนำไปสู่การถกเถียงแบบไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ความเกรงใจดูจะไม่ใช่ปัญหาของสังคมไทยอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่คล้ายกับว่าสังคมได้พบเจอทางออกแล้วเช่นกัน

“ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่ที่เมืองไทยแล้ว เรื่อง ‘discord (ความขัดแย้งทางความคิด)’ ที่เถียงกันไม่จบไม่สิ้นแล้วหาที่ยุติไม่ลง ผมว่าเป็นปัญหาทั่วโลก มันเกิดจากหลายเหตุผล เช่น โซเชียลมีเดีย คนสมัยก่อนจะมี common fact base คือคนส่วนใหญ่จะบริโภคสื่อกระแสหลัก เช่นในสหรัฐอเมริกาก็จะมี เอ็นบีซี ซีบีเอส เอบีซี สามเน็ตเวิร์ก มีข้อเท็จจริงตั้งต้นคล้ายๆ กัน พักหลังเริ่มแตกแล้ว หนังสือพิมพ์ไม่ได้อ่านเหมือนกันแล้ว อยู่ในแค่ ‘ฟองอากาศ (bubble)’ ของแต่ละคน อัลกอริทึมเข้ามาเร่ง ก็ยิ่งโดนป้อนข้อมูล คนได้เห็นของที่อยากเห็น แต่อาจจะไม่จริง

…ปัญหา discord น่าเป็นห่วงมาก เพราะเมื่อเกิดการถกเถียง แต่หาทางออกไม่ได้ และสร้างฉันทามติอะไรไม่ได้เลย เพราะทุกคนรู้สึกว่ามีสิทธิ์ที่จะไม่เห็นด้วย ประเด็นสำคัญในโลกวันนี้คือ global public goods และ global commons ชัดสุดคือเรื่องสภาพอากาศ มันจำเป็นต้องมี global solution แต่ว่าสถาบันหรือองค์กรระหว่างประเทศที่เคยเล่นบทบาทได้ หรือผู้นำทางการเมืองที่มีอิทธิพลระดับนานาชาติ ตอนนี้อ่อนแอมาก จะด้วยปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ หรือความแตกแยกของคนอะไรก็ตาม พื้นฐานข้อเท็จจริงที่คนเชื่อก็ต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างโควิด-19 ที่เห็นต่อหน้าต่อตาว่าเป็นโรค แต่เมืองนอกก็มีคนที่มองว่าเป็นเรื่องลวงโลกทั้งหมด

…ความไม่เชื่อใจในผู้เชี่ยวชาญก็เกิดขึ้นเหมือนกัน อย่างเรื่องโควิด-19 ที่อเมริกา ที่มีด็อกเตอร์เฟาซี (แอนโธนี เฟาซี) ออกมาพูดก็มีคนไม่เชื่อ หรือเรื่องเบร็กซิท ผู้เชี่ยวชาญออกมาพูดว่า มันจะมีข้อเสียอย่างนั้นอย่างนี้ คนไม่เชื่อก็มาก อย่างหนึ่งที่น่าเสียดาย ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เมืองไทย แต่เป็นทุกที่ ในโซเชียลมีเดียคนแตกเป็นกลุ่มๆ คนเริ่มไม่มองว่า ‘พูดเรื่องอะไร’ แต่มองที่ว่า ‘ใครพูด’ เดิมเราคิดว่าทุกอย่างน่าจะเริ่มจากข้อเท็จจริงและความจริง แต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นว่ามันไม่ช่วย แม้ความจริงจะปรากฏ คนก็มีวิธีอธิบายว่าทำไมถึงไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คิดแบบนี้ไปแล้วจะเชื่อแบบนี้”

แต่เรายกเลิกระบบกลไกตลาดและระบบทุนนิยมไปเลยดีไหม คำตอบคือไม่---เพราะระบบทุนนิยมและระบบตลาดมีข้อเสียอย่างไรเราก็เห็น แต่ต้องเทียบกับทางเลือกด้วย สำหรับผมมันเป็น the least worst alternative คือถ้าไม่เอาอย่างนั้น แล้วจะเอาอะไร การจะให้เป็นระบบสังคมนิยมแล้วรัฐมานั่งค้าทุกอย่างไม่ได้ตอบโจทย์

แรงจูงใจให้เปลี่ยนแปลง

เนื่องจากสถานการณ์ดูไม่มีเค้าลางของทางออก เพราะทุกปัจจัย ไม่ว่าความไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความแตกแยกทางสังคม ล้วนหนุนดันกันไปในทางทำให้สถานการณ์เพียบหนักขึ้น อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์อาจเรียกว่า ‘สมดุลร้าย (Bad Equilibrium)’ เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิกฤตที่กำลังถูกชักนำให้เกิดขึ้น จะเป็นสิ่งที่ช่วยเข้ามาทำลายสมดุลร้ายนี้ให้สลายไปและนำไปสู่ทางออก ดร.เศรษฐพุฒิดูหวังเช่นนั้นเช่นกัน แม้เห็นได้ชัดว่าเขาคงไม่กลั้นใจรอ อาจเป็นเพราะในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เขาเข้าใจดีว่าสำหรับการเปลี่ยนแปลง ลำพังวิกฤตอาจไม่ได้มีความหมาย ตราบเท่าที่แรงจูงใจยังไม่ได้เปลี่ยนไปจากเดิม

“เราพูดกันหลายที ว่า ‘ใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส’ แต่ถ้าดูวิกฤตตอนที่กลับมาเมื่อตอนปี 2540 แล้วมานั่งคิดว่ามีอะไรที่เราได้เรียนรู้จริงๆ มันไม่เยอะเท่าที่ควร ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนั้นเป็นโอกาสดีที่เราจะปฏิรูประบบราชการ แต่หลายคนอาจมองว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นมากนัก บทเรียนเกิดขึ้นในฝั่งเอกชนเสียเยอะ เรื่องบรรษัทภิบาล (corporate governance, CG) เราดีขึ้น เราใส่ใจเกี่ยวกับ transparency, accountability, protection of minority shareholders มากขึ้นเพราะเรารู้ว่าความล้มเหลวของสิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอของปัญหาที่เห็นในปี 2540

… ทั้งหมดมันจะกลับมาที่การสร้างแรงจูงใจ บวกกับ accountability (ภาระการรับผิดชอบ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแรงจูงใจนั้น ถ้าเทียบภาครัฐกับเอกชนดูแล้ว accountability สร้างง่ายในระบบเอกชนเพราะมันถูกผลักดันโดยแรงกดดันในตลาดและการแข่งขัน ดูแค่เพิ่มมูลค่าให้ผู้ถือหุ้นเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน สมมติคุณเป็นบริษัท แต่บรรษัทภิบาลไม่ดี แล้วนักลงทุนจะลงทุนไหม แต่ในภาครัฐ accountability สร้างยากกว่า เพราะว่ามีเป้าที่หลากหลายมาก ต่อให้สร้าง performance management system ขึ้นมา มันก็ยังยากอยู่ เพราะว่ามีหลายเป้าหมายและยังต้อง trade-off ด้วย ไม่ใช่แบบสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง

…นี่ขนาดภาครัฐมี accountability mechanism ที่อาจจะแรงกว่าในระบบเอกชนด้วยซ้ำ แต่พอเป้าหมายเยอะ ต้อง trade-off ต้องหาสมดุล ในประเทศที่ปฏิรูประบบราชการได้ดี ท้ายที่สุด accountability ควรต้องมาจากการรับใช้หรือบริการประชาชน เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แต่หากเส้น accountability วิ่งเข้าหาหัวหน้ามากกว่าประชาชน และใช้องค์กรอื่นมาตรวจสอบ โดยดูที่ขั้นตอนมากกว่าดูผลลัพธ์ คนที่เจตนาดีอยากทำงาน ก็ยิ่งทำงานลำบาก เพราะแม้ว่าผลลัพธ์จะออกมาดี แต่ถ้าทำแล้วผิดพลาดหรือผิดระเบียบขั้นตอน ก็จะเดือดร้อน

…ดังนั้นทางออกคือ ภาครัฐควรทำเฉพาะเรื่องที่จำเป็น โดยหน้าที่พื้นฐานที่รัฐต้องทำ เช่น สร้างบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข ความมั่นคง ความปลอดภัยของประชาชน เรื่องที่จะไปกำกับอื่นๆ รัฐควรถอยออกมา แต่ผมก็ไม่ได้เชื่อว่ากลไกตลาดอย่างเดียวจะแก้ปัญหาได้หมด เพราะยังมี market failure (ภาวะล้มเหลวของตลาด) เยอะมาก แต่การพิจารณาว่าตรงไหนควรเป็นตลาดนำ ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ บางประเทศในแอฟริกา ลาตินอเมริกาที่ศักยภาพของภาครัฐต่ำมาก ให้รัฐทำเยอะก็ไม่ไหว แต่อย่างสิงคโปร์ที่ government effectiveness ranking อยู่ในลำดับต้นๆ จะให้รัฐทำเยอะก็โอเค ที่ไหนที่ market failure เยอะ ก็ต้องอิงภาครัฐ แต่ถ้าที่ไหนภาครัฐไม่สามารถเข้ามาช่วยได้เต็มที่ก็ต้องใช้กลไกตลาดเข้ามาสนับสนุน”

ตลาดอันเป็นที่รัก

ในความคิดของนักเศรษฐศาสตร์ผู้มองภาพรวมของการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตามกลไกราคา อาจมี ‘ตลาด’ เป็นพระเอกอยู่เสมอ แต่กระแสการทะยานขึ้นของฝ่ายขวาจัด (รัฐอำนาจนิยม) ในกระแสการเมืองโลก และฝ่ายซ้ายจัด (สังคมนิยม) ในกระแสการเมืองไทย ทำให้เห็นว่าสำหรับหลายคน ความดีงามของตลาดไม่ใช่เรื่องที่ปรากฏชัดแต่อย่างใด

“ผมว่ามาจาก 2-3 อย่าง หนึ่งคือศัพท์และภาษาไม่ช่วย เราใช้คำว่า ‘ทุนนิยม’ แต่ฟังแล้วรู้สึกว่า ‘ไม่นิยมคน’ ซึ่งมันก็ตลกดี เพราะจริงๆ คนที่ทำให้คำว่า Capitalism เป็นที่นิยมไม่ใช่อดัม สมิธ ในหนังสือ Wealth of Nations ที่พิมพ์เมื่อปี 1776 ของเขาไม่มีคำนี้อยู่เลย คนที่ใช้คำนี้จนทำให้รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือคาร์ล มาร์กซ์ ที่เขียน Das Kapital ซึ่งเขาก็ไม่ได้ใช้ศัพท์นี้แบบชื่นชม เพราะหนังสือเขียนด่าว่า Capitalism ไม่ดี แต่กลายเป็นว่าคำนี้มาถูกใช้ทั่วไป ยิ่งแปลเป็นภาษาไทยยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะถ้าลองแปลภาษาไทยกลับไปเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะได้ว่าทุนนิยมคือ capital preferred over labor อะไรอย่างนี้ ดังนั้น เมื่อพูดถึงทุนนิยม คนเกิดความไม่ไว้ใจ คำว่า market น่าจะดูกลางๆ กว่า สไตล์คนไทยคือชอบตลาดนัด ย้อนกลับไปอย่างศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่ว่า ‘ใครใคร่ค้า ค้า’ นี่ไม่ใช่หัวใจของตลาดเสรีหรือ? ใครใคร่ค้า ก็ค้า แล้วผิดอย่างไร? พูดแบบนี้คนไทยก็ฟังดูโอเค แต่ถ้าพูดว่าทุนนิยม โอ้---ไม่ใช่

…แต่มองภาพกว้างกว่าเมืองไทย ก็มีคำวิจารณ์ที่แฟร์สำหรับระบบตลาดและทุนนิยมว่าช่วงหลังนี้ ผลลัพธ์ที่ได้มันแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะช่วงหลังยุค 1980s ความเหลื่อมล้ำทั่วโลกรุนแรงขึ้นมหาศาล ซึ่งในบ้านเราเวลาพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำแล้วดู Gini coefficient (สัมประสิทธิ์จีนี) เอาส่วนบนสุด 20% มาเทียบกับคนที่มีน้อยที่สุด 20% ผมว่าไม่ครอบคลุมคนที่รวยที่สุดจริงๆ สิ่งที่กระทบความรู้สึกของคนที่สุดคือ extreme inequality (ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว) เหมือนในอเมริกา ความมั่งคั่งกระจุกอยู่ในคนไม่กี่คน เช่น เจฟฟ์ เบโซส มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก อะไรพวกนี้ คนอื่นดูกันที่ 1% แต่สำหรับผมมันคือ 1% ของ 1% ด้วยซ้ำเพราะมันมีไม่กี่คน สมมติประเทศเรามีคน 65 ล้านคน 1% ก็ 650,000 คน แต่คนที่รวยมากจริงๆ ยิ่งน้อยกว่านั้น ไม่แปลกที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่เกิดขึ้นทั่วโลกทำให้คนมองว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นิยมทุนมากกว่านิยมคน

ของยากคืออะไรที่เป็นของใหม่ เช่นเรื่องดิจิทัล เทคโนโลยี ผู้เล่นใหม่ๆ เพราะด้วยความที่เป็นของใหม่ จึงยากที่จะรู้จักข้อเสียหรือความเสี่ยงเพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่รู้ผลข้างเคียง อันนี้จะเริ่มชั่งสมดุลลำบาก แบงก์ชาติทุกที่ก็มองว่าเป็นความท้าทาย

…แต่เรายกเลิกระบบกลไกตลาดแลระบบทุนนิยมไปเลยดีไหม คำตอบคือไม่---เพราะระบบทุนนิยมและระบบตลาดมีข้อเสียอย่างไรเราก็เห็น แต่ต้องเทียบกับทางเลือกด้วย สำหรับผมมันเป็น the least worst alternative คือถ้าไม่เอาอย่างนั้น แล้วจะเอาอะไร ระบบกลไกตลาด คือ ทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่กับภาคเอกชน ไม่ได้อยู่กับภาครัฐ และการตัดสินใจส่วนใหญ่เป็นไปตามกลไกตลาดและราคาแทนที่จะเป็นภาครัฐกำหนด เทียบง่ายๆ เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ สหภาพโซเวียตกับยุโรปตะวันตก จีนก่อนกับหลังเติ้งเสี่ยวผิงเปิดเสรี อันไหนส่งมอบชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนส่วนใหญ่ ชัดเจนว่าเป็นกลไกตลาด เพราะการจะให้เป็นระบบสังคมนิยมแล้วรัฐมานั่งค้าทุกอย่างไม่ได้ตอบโจทย์”

ราคาฟรีที่ผูกขาด

แน่นอน ดร.เศรษฐพุฒิเห็นชัดถึงข้อบกพร่องของตลาด อันที่จริง อาจกล่าวได้ว่าโดยอาชีพแล้วผู้กำกับดูแลย่อมกำเนิดขึ้นมาจากการยอมรับข้อเท็จจริงว่าตลาดบกพร่องนั่นเอง ยังไม่ต้องพูดถึงห้วงเวลาปัจจุบัน ที่การเปลี่ยนแปลงในทางสภาพภูมิอากาศ กลุ่มประชากร และแน่นอนที่สุด เทคโนโลยี ล้วนมีทั้งขนาดและความเร็วที่จะสร้างความเสียหายให้กับสังคมไปได้มหาศาล ก่อนที่ตลาดจะทันได้ปรับแก้ตัวเองตามทฤษฎี

“ไม่ใช่กลไกตลาดอย่างเดียวจะให้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดตลอด มันมี market failure ซึ่งต้องเอาภาครัฐมากำกับดูแล ส่วนเรื่องที่กลไกตลาดทำงานดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปแทรกแซง แต่ปัญหาสำคัญของเราเกี่ยวกับตลาด คือไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร ลองนึกภาพเศรษฐีในประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะอยู่ใน tradable sector กันเยอะ อย่างซัมซุง โตโยต้า ซึ่งเป็นของที่ต้องผลิตแข่งกันทั้งโลก กลไกตลาดจึงทำงานได้ดี แต่ดูเศรษฐีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนมากจะอยู่ใน non-tradable sector เช่น อสังหาริมทรัพย์ การเงิน โทรคมนาคม และธุรกิจที่มีสัมปทานอื่นๆ ไม่ได้แข่งขันกับโลก ไม่ใช่ตลาดแบบที่เราคุยกันว่า ‘ใครใคร่ค้า ค้า’ ตรงนี้ส่งผลกับความไม่ไว้ใจตลาด ถ้าเป็นที่อื่นทางแก้ก็คงจะเป็นหน่วยงานเกี่ยวกับการแข่งขันต่างๆ

…พูดให้เป็นธรรม ปัญหานี้ไม่อยู่แค่ที่เมืองไทย ในอเมริกา องค์กรกำกับดูแลเรื่องการแข่งขันก็ล้มเหลวสุดๆ เลย เหตุผลที่องค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นมาในยุค Robber Barons คือเพื่อทำลายการผูกขาดแบบหนึ่ง เช่น พวกบริษัทเหล็ก บริษัทน้ำมันใหญ่ๆ แต่ตอนนี้พวกที่ผูกขาดจริงๆ เป็นกลุ่มเทคโนโลยี แล้วกรอบที่อเมริกามีไว้มาจัดการการผูกขาดหรือพฤติกรรมที่ต่อต้านการแข่งขันแบบเดิมไม่เหมาะกับการจัดการพวกเทคฯ เลย ที่ผ่านมาหลักสังเกตง่ายๆ ว่าบริษัทหนึ่งผูกขาดตลาดไหมก็คือดูว่าบริษัทนั้นชาร์จราคาสูงกว่าที่ควรเป็นหรือเปล่า แต่ตอนนี้คุณดูราคาที่กูเกิล เฟซบุ๊ก ยูทูป เขาชาร์จสิ ศูนย์---จบเลย

…ผมเรียกธุรกิจเทคฯ ว่าเป็น natural monopoly on steroid หรือ turbo charge เพราะเราเรียนเศรษฐศาสตร์มา natural monopoly (การผูกขาดโดยธรรมชาติ) เกิดมาจากการที่ marginal cost ต่ำหรือลดลง เลยมีแนวโน้มที่จะเป็น natural monopoly แต่สำหรับธุรกิจเทคฯ marginal cost คืออะไร---ศูนย์ ยิ่งพูดจะยิ่งฟังดูประหลาด network externality สำคัญที่สุดสำหรับพวกเทคฯ คนยิ่งใช้เยอะ คุณค่ายิ่งสูง คนยิ่งเข้ามาเพิ่ม คนยิ่งติด คือ Winner takes all ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่จะสร้างการกระจุกตัวอย่างมหาศาลของความมั่งคั่งและของอำนาจ ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการแข่งขันยังเป็นสำหรับการผูกขาดเรื่องสาธารณูปโภค รางรถไฟ น้ำมันอยู่ จึงดูเหมือนยังอยู่ในภาวะงงๆ และต้องการกรอบความคิดใหม่ที่จะจัดการเรื่องพวกนี้

…ยิ่งกว่านั้น การกระจุกตัวของความมั่งคั่ง ก็ไปบั่นทอนปัจจัยที่ปกติมีไว้ถ่วงดุลกับตลาดคือเรื่องกลไกทางการเมือง เพราะปกติกลไกตลาดเหมือนกำหนดว่าใครมีเงินเยอะ ก็มีน้ำหนักในการโหวตเยอะ ดังนั้น สิ่งที่จะมาถ่วงก็คือระบบการเมืองแบบ One Person-One Vote (หนึ่งคนหนึ่งเสียง) แต่ในบางครั้ง ผลที่ออกมาบางทีก็ยังไม่เอื้อต่อส่วนรวมอยู่ดี อย่างในบางประเทศมีการลดภาษีให้บริษัทเพื่อกระตุ้นการลงทุน ในขณะที่สัดส่วนภาษีที่มาจากมนุษย์เงินเดือนเพิ่มขึ้น ถามว่าเป็นธรรมไหม ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการแบบนั้นหรือเปล่า คำตอบคือไม่ แต่ภายใต้กลไกทางการเมืองที่ถูกครอบงำจากทุน ผลก็คือแบบนั้น

…สิ่งเหล่านี้น่าเป็นห่วง เรื่อง market failure แบบดั้งเดิมคือการที่ตลาดไม่เอา negative externality มาคิด อย่างพวกมลภาวะ หรือต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม แบบนี้เราชัดเจนว่าถ้าปล่อยตลาดไปแบบเดิมได้ผลไม่ดีแน่ ต้องให้รัฐเข้ามาจัดการ แต่ของใหม่ด้วยลักษณะของธุรกิจเทคฯ ที่มี network externality ที่ทำให้กลไกตลาดทำงานอย่างไม่ถูกต้อง กำลัง turbo charge ให้เกิดสภาวะ Winner takes all คือมีแนวโน้มที่จะทำให้ทุกอย่างวิ่งไปสู่ผู้ชนะเพียงคนเดียว อย่าง search engine มีให้เลือกเยอะ แต่คนก็นิยมใช้กูเกิลกันมากกว่า จึงทำให้ search engine อื่นไม่ค่อยฉลาด และการที่คนใช้กูเกิลมาก ก็จะยิ่งทำให้มันฉลาดมากขึ้นไปอีก และทำให้ทุกคนยิ่งต้องใช้มากขึ้นอีก นี่คือ network externality ที่เทอร์โบชาร์จไปสู่สภาวะ Winner takes all”

กระชับพื้นที่รัฐ

ภายใต้ภาวะที่พฤติกรรมหาประโยชน์ของผู้เล่นแต่ละรายในตลาดไม่ได้นำไปสู่ภาวะที่ดีขึ้นของสังคมโดยรวมตามธรรมชาติในอุดมคติของตลาด หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาวะล้มเหลวของตลาด’ รัฐกลายเป็นเพียงตัวเลือกเดียวที่เหลืออยู่ในการเข้ามาแก้สถานการณ์ แต่เนื่องจากการบริหารจัดการของภาครัฐเองก็มีประวัติล้มเหลวได้ไม่แพ้ตลาด สิ่งใดคือทางออกจากจากภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้

เปิดดูคำว่า stability หรือ ‘เสถียรภาพ’ พจนานุกรมแปลว่าความมั่นคง แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความจริงแต่ละคำก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่เสถียรภาพแบบที่แปลว่าไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นเสถียรภาพแบบ resiliency

“สิ่งที่ท้าทายคือตอนนี้ไม่ได้มีแค่ผู้เล่นท้องถิ่นอย่างเดียว แต่มีผู้เล่นข้ามชาติอย่าง cross-border platforms รัฐไทยจะไปจัดการแพลตฟอร์มข้ามชาติก็ไม่ได้ การจัดการจริงๆ ต้องมาจากประเทศแม่ของเขา เช่น อเมริกา หรือยุโรป อย่างที่เห็นว่าเวลายุโรปออกกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ เราต้องฟัง เพราะเป็นตลาดใหญ่ ดังนั้น ทางออกในการกำกับดูแลบางทีก็อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของประเทศเล็กๆ กลับมาที่ของไทย ปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่งบ้านเราไม่ได้มาจากเรื่องเทคฯ อาจจะเป็นเรื่องเดิมๆ ภาครัฐก็ต้องทำให้ตลาด ‘more contestable’ คือให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

…การบังคับกฎหมายการแข่งขันก็ส่วนหนึ่ง เป็นอะไรที่ควรทำแต่ก็มีข้อจำกัดเยอะ หลักๆ จึงต้องทำให้ตลาด ‘contestable’ เช่น ตลาดนี้คู่แข่งอาจจะน้อย ก็ให้มีอีกตลาดหนึ่งที่เขาต้องแข่งด้วย ถ้าเขาตั้งราคาไม่สมเหตุสมผลเมื่อไหร่ ผู้เล่นจากตลาดนั้นสามารถข้ามเข้ามาที่ตลาดนี้ได้ง่าย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทำให้การเข้าสู่ตลาดง่ายขึ้น ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับแบงก์ชาติ ก็อาจเกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึงทุน

…อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องการเข้าถึงตลาด เอสเอ็มอีบ้านเรายังมีปัญหาไม่โต หรือแข่งขันได้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทุน แต่ไปไกลถึงเรื่องของการบริหารหรือเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเยอรมนี เขามีพวกบริษัทครอบครัว ไม่ได้ใหญ่มาก เช่น บริษัทผลิตเครื่องจักรสำหรับขัดเกลา อาจมีพนักงานประมาณ 100 คน แต่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนี้สูงมาก และสามารถแข่งขันกับโลกได้ หรืออิตาลี เขาก็มีแฟชั่น ไม่ใช่อะไรที่แมส สามารถทำกำไรสูง และขายทั่วโลกได้ แต่สำหรับบ้านเรา ทำไมไม่ค่อยเห็นอะไรแบบนี้

…แต่---ไม่ใช่เราเห็นปัญหาว่าเอสเอ็มอีไทยไม่สามารถแข่งขันกับโลกได้เหมือนกับอิตาลี แล้วบอกว่า ดังนั้นรัฐต้องเข้ามา ตรงนี้ไม่เห็นด้วยเลย ถามว่ารัฐมีบทบาทไหม มี---อาจจะเป็นเรื่องของการทำให้ระบบการศึกษาดี ผลิตแรงงานที่มีทักษะ ทำโครงสร้างพื้นฐาน อันนี้เห็นด้วย แต่ไม่ใช่เข้าไปทำทุกเรื่อง ที่แน่ๆ ไม่ควรไปออกกฎเกณฑ์ควบคุมมากมาย อย่าลืมว่าเวลาเราพยายามออกกฎ สุดท้ายมีอยู่ 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งคือควบคุม และอีกฝั่งหนึ่งจะไปปกป้องอะไรบางอย่างทำให้กลไกตลาดและการแข่งขันไม่เกิด”

เต็มไม้เต็มมือ

ตลาดนั้นควบคุมกิจการห้างร้านในสังคมอย่างล่องหน ผ่านการปล่อยให้ทุกคนตัดสินใจซื้อมาขายไปอย่างอิสระและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย โดยไม่มีใครรู้สึกว่าถูกบังคับ หรือเรียกว่าเป็นการจัดสรรด้วย ‘มือที่มองไม่เห็น’ แต่ผู้กำกับดูแลหรือที่เรียกว่า Regulator นั้น มีหน้าที่ควบคุมสิ่งต่างๆ ด้วยมือที่มองเห็นชัดเจนหรือแม้กระทั่งถือดาบอยู่ผ่านประกาศและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ จึงนับเป็นโชคชะตาที่น่าสนใจเมื่อบุคคลผู้เชื่อมั่นในตลาดอย่างมากอย่างดร.เศรษฐพุฒิ ไม่เพียงต้องเข้ารับหน้าที่ ‘ผู้กำกับดูแล’ แต่ยังเป็นการกำกับดูแลในห้วงเวลาที่เชื้อเชิญให้ผู้กำกับดูแลแผ่ขยายมากกว่าจำกัดบทบาทตัวเอง จะถูกหรือผิดก็ตาม ธนาคารกลางที่เคยมีบทบาทเพียงคุมเสถียรภาพและการเติบโตของเศรษฐกิจ ในวันนี้ได้รับความคาดหวังให้ดูแลครอบคลุมไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำหรือแม้กระทั่งสิ่งแวดล้อม

“โจทย์ของธนาคารกลางเปลี่ยนไปมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็วในระยะเวลาไม่นานนี้เอง ถ้าถามธนาคารกลาง เมื่อห้าหรือสิบปีที่แล้วว่าแบงก์ชาติมีบทบาทในการดูเรื่องความเหลื่อมล้ำไหม ยืนยันเลยว่า 90% จะบอกว่าไม่ หน้าที่แบงก์ชาติคือดูเศรษฐกิจมหภาค ส่วนเรื่อง distributional (การกระจายความเท่าเทียม) เป็นเรื่องของนโยบายการคลัง ไม่ว่าจะด้วยภาษี รายจ่าย เรื่องของสวัสดิการสังคม แต่ตอนหลังมีงานวิจัยที่เอาสุนทรพจน์ของ central banker มาค้นหาคำว่า inequality แล้วพบว่าเพิ่มสูงขึ้น แน่นอนไม่ใช่หน้าที่หลัก แต่การทำงานของแบงก์ชาติมีนัยของการดูแลความเหลื่อมล้ำไหม ก็ต้องตอบว่ามี อย่างหน้าที่การดูแล access and inclusion คือการเข้าถึงบริการทางการเงินของคนทุกกลุ่ม เพราะการเข้าถึงเงินก็เป็นการสร้างโอกาส และมีผลต่อเรื่องของความเหลื่อมล้ำ

…เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เหมือนกัน มีการเปลี่ยนแปลงที่แรงขึ้น คิดว่าด้านตลาดทุนมาเร็วกว่าฝั่งธนาคาร เรื่อง DJSI (Dow Jones Sustainability Indices หรือ ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์) มีอยู่แล้ว แต่ว่าล่าสุดเมื่อมีการประชุม COP (Conference of Parties) ที่ผ่านมา มี asset managers ที่ลงนามสนับสนุนบริษัทใหญ่ๆ ให้ลงทุนแบบ Net Zero Carbon ซึ่งได้รับความสนใจมาก ทำให้ฝั่งธนาคารเองก็ต้องกระตือรือร้น แต่อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติไม่ใช่องค์กรหลักที่จะจัดการเรื่องพวกนี้ เราไม่ได้มีเครื่องมือและกลไกที่มีผลชัดเจนหรือมีนัยกับตรงนั้น รวมถึงเรื่องทักษะด้วย ตัวอย่างง่ายๆ เรามีความเข้าใจ climate change และ climate risk แค่ไหน อย่าว่าแต่หน้าที่หลักที่เป็นไข่แดงของเราก็ยังมีความท้าทายมากมายเกิดขึ้นจากเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดเวลา

…การกำกับดูแลแต่ไหนแต่ไรคือการรักษาสมดุลระหว่างเสถียรภาพกับการสนับสนุนให้นวัตกรรมเกิดได้ ถ้าเป็นเรื่องหลักแบบเงินเฟ้อ แบงก์ชาติทั้งไทยและต่างประเทศเข้าใจค่อนข้างดี การหาสมดุลไม่น่าจะพลาด แต่ของยากคืออะไรที่เป็นของใหม่ เช่นเรื่องดิจิทัล เทคโนโลยี ผู้เล่นใหม่ๆ เพราะด้วยความที่เป็นของใหม่ จึงยากที่จะรู้จักข้อเสียหรือความเสี่ยงเพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่รู้ผลข้างเคียง อันนี้จะเริ่มชั่งสมดุลลำบาก แบงก์ชาติทุกที่ก็มองว่าเป็นความท้าทาย แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกคือในแง่ของ operating philosophy หรือปรัชญาการดำเนินการ คือผู้กำกับดูแลต้องเริ่มปรับทัศนคติ ปรับนิยาม

…เคยไปเปิดดูคำว่า stability หรือ ‘เสถียรภาพ’ พจนานุกรมแปลว่าความมั่นคง แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งความจริงแต่ละคำก็ไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่เสถียรภาพแบบที่แปลว่าไม่เปลี่ยนแปลง แต่เป็นเสถียรภาพแบบ resiliency คือเรื่องที่ต้องแน่นอนก็ต้องแน่นอน เช่น คนต้องรู้สึกมั่นใจว่าฝากเงินตรงนี้แล้วไปถอนตรงนี้ได้ ค่าเงินบาทคืออย่างนี้ๆ เป็นความสบายใจ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเปลี่ยนแปลง แต่รูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงินต้องเปลี่ยนได้ เราไม่ต้องการเสถียรภาพแบบแช่แข็ง ไม่ได้หมายถึงแค่อุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจ แต่รวมถึงตัวแบงก์ชาติเองด้วย เวลาเราเจอเทคโนโลยีคู่แข่งใหม่ๆ อย่างมีเงินดิจิทัลขึ้นมา เราเองก็ต้องปรับตัวให้ได้”

สำคัญสุดเลยทำอะไรต้องคิดถึงผลข้างเคียง บางทีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็เป็นลบมากๆ ไปสร้างแรงจูงใจให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ อันนี้คือวิธีที่จะแปลงวิกฤตเป็นหายนะ อย่าพยายามแก้ปัญหาตรงนี้โดยการสร้างปัญหาใหม่ ชื่อเราก็บอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องดูภาพรวมให้ประเทศไปต่อได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาแค่เฉพาะจุด

ราคาของความเชื่อมั่น

เทคโนโลยีล้ำสมัยก่อตัวขึ้นในแทบทุกอุตสาหกรรม แต่แน่นอนว่าหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจและไปถึงตัวผู้ใช้มากที่สุดในระยะที่ผ่านมาก็คือเทคโนโลยีทางการเงิน แต่ในขณะที่หลายคนอาจรู้สึกว่าได้สัมผัสนวัตกรรมทางการเงินมามากแล้ว จากการทำสารพัดธุรกรรมผ่านแอพฯ หรือการได้เห็นข่าวสารหวือหวาของคริปโตเคอร์เรนซี ผู้สันทัดกรณีชี้ว่านวัตกรรมที่จะเปลี่ยนไม่เพียงวิธีการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงธรรมชาติความเป็นไปของธนาคาร ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งรัฐ ก็คือเงินดิจิตัลที่ออกโดยธนาคารกลางหรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) ในฐานะที่ ธปท. มีการศึกษา CBDC ในโครงการอินทนนท์ ดร.เศรษฐพุฒิมีอะไรจะบอกเกี่ยวกับอนาคตของภาคการเงิน

“ภูมิทัศน์ในอนาคตมีความไม่แน่นอนสูง ในทุกเวทีก็คุยกันเรื่องนี้ แต่ถ้าตามวิธีคิดแบบ resiliency เราอยากเห็นการใช้ข้อดีจากของที่มีอยู่ แต่ถ้าของที่มีอยู่ไม่ดี ก็เอาของใหม่มาเสริม เช่น แบงก์ชาติทั่วโลกพิสูจน์ตัวเองมาหลายร้อยปีแล้วว่าสามารถสร้าง trust (ความเชื่อมั่น) ให้กับคนได้ ดังนั้น ในอนาคตก็น่าจะใช้ trust ตัวนี้ที่มีคุณค่ามหาศาล ที่สะสมและพิสูจน์ตัวเองมาแล้ว ผสมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะขาด trust แต่ก็มีข้อดีอย่าง scalability (การรองรับการขยายตัว) มาใส่ลงไป combining the best of both worlds ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราศึกษาว่าจะออก CBDC เพราะถ้าออกแบบมาดี จะเป็นการผสมสิ่งที่ดีที่สุดของธนาคารกลางคือ trust และข้อดีของเงินดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น รองรับการขยายตัวได้มาก และต้นทุนต่ำ

…สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ คนจะคิดว่าเงินที่ออกโดยเอกชน (private currency) เป็นของใหม่ จึงมักจะกล่าวหาว่าแบงก์ชาติพยายามกีดกันไม่ให้เกิด แน่นอน แบงก์ชาติทั่วโลกอยู่มานานเป็นร้อยๆ ปี แต่ไม่ได้มีอยู่มาตลอด ที่จำได้คือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกามาทีหลัง และหน้าที่แรกคือไปซื้อหนี้ของรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องของการออกสกุลเงิน ในอเมริกาไพรเวทแบงก์ออกเงินตราของตัวเองเยอะมาก ในยุคก่อนสงครามกลางเมือง ซึ่งวุ่นวายไปหมด ใช้จ่ายไม่สะดวก แตกเป็นหลายเจ้าจนต้องตั้งให้ธนาคารกลางออกดอลลาร์ ดังนั้นไม่ใช่ว่ามีธนาคารกลางมาก่อน แล้วเงินตราเอกชนค่อยเกิดขึ้น แต่สาเหตุเพราะมีเงินตราเอกชนแล้วมีปัญหา ถึงนำมาสู่การกำเนิดของเงินตราโดยธนาคารกลาง ทุกอย่างเป็นวิวัฒนาการมาโดยตลอด ดังนั้น ในวันนี้ที่มีแพลตฟอร์มข้ามชาติ ธนาคารกลางจะไปคุมทุกอย่างก็ไม่ได้อยู่แล้ว ก็เลยต้องพยายามทำสิ่งที่น่าดึงดูด เหมือน CBDC ที่ผสมส่วนที่ดีที่สุดจากสองโลกอย่างที่พูด

…ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเทียบเรื่องฟังก์ชั่น 3 ด้านของเงิน ระหว่างดอลลาร์กับบิตคอยน์ หนึ่ง ความเป็น Store of value (เครื่องรักษามูลค่า) บิตคอยน์มีราคาหวือหวาผันผวนมาก สอง ความเป็น Medium of exchange (สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน) คนใช้จริงๆ ก็ไม่เยอะ อีลอน มัสก์ยังไม่รู้จะรับหรือไม่ถ้ามีคนนำบิตคอยน์ไปซื้อรถเทสลา สาม ความเป็น Unit of account (หน่วยวัดมูลค่า)แทบจะไม่มีเลย ไม่มีใครบอกราคาเป็นหน่วยบิตคอยน์ ดังนั้น ถ้าให้คะแนนบิตคอยน์คือไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดนั้น ออกมานาน 10 กว่าปีแล้ว ไม่เถียงว่าบิตคอยน์เหมือนจะประสบความสำเร็จในฐานะ speculative investment (การลงทุนแบบเก็งกำไร) เพราะราคาวิ่ง แต่ด้วยความที่ได้ชื่อว่าคอยน์ จึงเหมือนจะเล่นบทบาทเป็นเงิน ซึ่งถ้าใช้ 3 ข้อที่ว่ามาเทียบกับดอลลาร์ จะเห็นว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จขนาดนั้น บิตคอยน์กำเนิดมาจาก Global Financial Crisis ปี 2008 แบงก์ชาติทั่วโลกพิมพ์เงินกันเยอะ คนบอกว่าเงินจะไร้ค่า ต้องออกเป็นบิตคอยน์ที่ไม่มีตัวกลางมาใช้ แต่อย่างที่เห็น สุดท้ายคนก็ยังพอใจจะถือเงินบิตคอยน์ก็ไม่ได้มาครองโลกแทน

…ดังนั้น ที่ถามว่าเห็นภาพข้างหน้าอย่างไร ภาพข้างหน้าก็ต้องเปลี่ยน แต่คงไม่ใช่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ อาจเป็นทางออกที่ผสมส่วนที่ดีที่สุดจากทั้งสองโลก ท้ายที่สุดก็จะสร้างโอกาสให้ทำอะไรใหม่ๆ ช่วยเรื่อง access and inclusion และด้วยผลจากการนั้นภูมิทัศน์ก็จะเปลี่ยนด้วย การทำงานของ ธปท. เราจึงเน้น resiliency ให้ความมั่นคงแต่ยังมีความยืดหยุ่นสำหรับการเปลี่ยนแปลง”

ก้าวข้ามโควิด-19

อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าการไปให้ถึงอนาคตยาวไกลข้างหน้าของประเทศไทย ย่อมหมายถึงการต้องผ่านวิกฤตโควิด-19 เฉพาะหน้าไปให้ได้ก่อน

“เราคุยกันไปแล้วเรื่องรัฐและตลาดควรแบ่งหน้าที่กันอย่างไร วิกฤตนี้ยิ่งกว่าชัดเจนว่าปล่อยทุกอย่างไปตามกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวไม่ได้แน่นอน รัฐของทุกประเทศเข้ามาไม่มากก็น้อย ไม่ว่าการคลังการเงิน แต่คำถามคือ เข้ามาอย่างไร ในรูปแบบไหน ถามว่าธนาคารหุบร่มหรือเปล่า คำตอบคือไม่ เพราะสินเชื่อยังโตอยู่ ถามว่าโตตรงไหน โตที่รายใหญ่เยอะ ครัวเรือนก็ยังโตอยู่ ตัวที่ติดลบคือเอสเอ็มอี ดังนั้นมีบทบาทให้ภาครัฐเข้ามาตรงนั้นปล่อยไปตามกลไกตลาดไม่ดีแน่ สมดุลที่ได้จะ sub-optimal คือธนาคารพาณิชย์ดูสถานการณ์ระยะสั้นอาจกลัวความเสี่ยงจนไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ แต่ถ้าเราดูระยะยาวกว่านั้น ก็มีโอกาสที่ธุรกิจจะฟื้นตัวได้ นี่คือภาวะ market failure แบบที่เหมาะให้ภาครัฐเข้ามา แบงก์ชาติถึงได้ออกแบบ พรก.ฟื้นฟูองค์ประกอบหนึ่งในการทำ subsidized credit เพื่อไม่ให้ราคาสูงเกินไป แต่องค์ประกอบที่สำคัญกว่ามากๆ คือการค้ำประกันสินเชื่อ เพราะเรารู้ว่า risk appetite ของเอกชนต่ำกว่าที่เราเห็นว่าเหมาะสมในภาวะแบบนี้ นี่คือตัวอย่างที่รัฐสามารถเข้ามาเสริมเพื่อให้ผลลัพธ์ในตลาดดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

คนบอกว่าดี เพราะจะได้สร้างงานให้คนติดกระจก นี่เป็นสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่มองไม่เห็นคือ ถ้าเจ้าของร้านไม่ต้องเสียสตางค์มาสร้างกระจก เขาอาจจะเอาเงินไปซื้ออย่างอื่น เช่น รองเท้าและเสื้อ ถ้าบอกว่าประโยชน์จากนโยบายคือคนติดกระจกจะได้เงิน แต่คิดหรือเปล่าถึงสิ่งที่มองไม่เห็นคือคนที่ขายรองเท้าและเสื้อที่ไม่ได้เงิน

…แน่นอน ผู้ที่เคาะว่าคนๆ หนึ่งจะได้สินเชื่อไหม ยังคงเป็นธนาคารเอกชนกับ SFI (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) แต่ถ้าถามว่าทางเลือกคืออะไร เอาแบบสุดโต่งเลย จะให้แบงก์ชาติดูหรือ คำตอบคือเราไม่มีความสามารถที่จะดู credit risk เราเข้าใจ bank risk ดี เราถึงได้สามารถปล่อยกู้ให้ธนาคารและให้ธนาคารไปปล่อยต่อ แต่แบงก์ชาติไม่มีทางไปนั่งประเมิน credit risk ได้ หรือถ้าให้หน่วยงานไหนมานั่งเคาะว่าใครได้หรือไม่ได้สินเชื่อ จะดูไม่จืดเลยนะ คุณต้องการให้สินเชื่อไปถึงคนที่ควรจะได้รับ ซึ่งการจะไปให้ถึงตรงนั้น ต้องเข้าใจธุรกิจ อุตสาหกรรม และลูกหนี้ ซึ่งคนที่คุ้นเคยกับลูกหนี้มากที่สุดก็คือแบงก์ ถ้าจะให้หน่วยงานที่ไม่มีข้อมูล ไม่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ มาทำผลจะเป็นยังไง ดังนั้น ไม่ว่าจะเพื่อความเร็วในการปฏิบัติหรือเพื่อให้เงินไปถูกที่ ทางออกนี้อาจไม่สมบูรณ์ แต่ก็เหมาะสมที่สุดแล้ว เป็นการหาจุดสมดุล ใช้กลไกตลาดที่ควรใช้ และให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนในรูปแบบที่เหมาะสม

…สิ่งหนึ่งที่จะไม่ทำคือยิงพลุ ทำเพียงแค่ให้ได้ชื่อว่าทำ แต่ไม่ได้ผลมากมาย และไม่ได้ตอบโจทย์ ตัวอย่างหนึ่งที่โดนถามตลอดว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ทำ Quantitative Easing (QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ) ซึ่งที่อื่นเขาทำ แต่ผมมองว่า QE ไม่ได้ตอบโจทย์เรา ที่อื่นทำ QE เพราะสภาพคล่องในระบบไม่พอ ธนาคารกลางเลยต้องไปซื้อพันธบัตร อัดสภาพคล่องเข้าไปในระบบเพื่อกด bond yield (อัตราผลตอบแทนพันธบัตร) ลง แต่ในบ้านเรา มีสภาพคล่องเยอะ bond yield ก็ไม่สูง เทียบกับในอดีตคือต่ำพอสมควร แล้วกลับมาที่ว่าแก้ปัญหาหรือเปล่า เพราะปัญหาคือสภาพคล่องที่มีในระบบไปไม่ถึงเอสเอ็มอีอยู่ดี พวกที่สามารถระดมทุนจากตลาดพันธบัตร คือพวกบริษัทใหญ่ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร ตรงนี้ไม่ตอบโจทย์ เลยไม่ทำ

...ประการที่สอง สำคัญสุดเลยทำอะไรต้องคิดถึงผลข้างเคียง บางทีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็เป็นลบมากๆ ไปสร้างแรงจูงใจให้ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ อันนี้คือวิธีที่จะแปลงวิกฤตเป็นหายนะ เช่น ไปสร้างแรงจูงใจให้คนที่จ่ายหนี้ไหวไม่จ่ายหนี้ คิดว่าจ่ายทำไมไม่จ่ายดีกว่า อย่าพยายามแก้ปัญหาตรงนี้โดยการสร้างปัญหาใหม่ ชื่อเราก็บอกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องดูภาพรวมให้ประเทศไปต่อได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาแค่เฉพาะจุด ดังนั้น มาตรการอะไรที่แม้คนจะเรียกร้องและฟังดูเป็นที่นิยม แต่ไม่เหมาะ ก็จะไม่ทำ”

เหนืออื่นใด ดร.เศรษฐพุฒิ ไม่ได้มองวิกฤตนี้เป็นเพียงเรื่องของการกู้ภัย แต่ไปไกลถึงโอกาสของการกู้อนาคต

“ความหวังของประเทศไทยคือแม้จะมีความเสี่ยงเยอะ แต่ผลลบในเศรษฐกิจมหภาคมีจำกัดถ้าเทียบกับประเทศอื่น ประเทศอื่นเขามีความเปราะบางอย่างความเสี่ยงเรื่องดุลบัญชีชำระเงิน เพราะทุนสำรองระหว่างประเทศไม่พอ หนี้ต่างประเทศสูง ซึ่งตรงนี้ของเราเข้มแข็งมาก อย่างที่สอง ระบบสถาบันการเงินของเรามีความเข้มแข็ง อย่างที่สาม ฐานะทางการคลังโดยรวมถือว่าโอเค เทียบกับหลายประเทศ ไม่งั้นรัฐบาลคงไม่สามารถกู้ได้ 10 ปีในดอกเบี้ยที่ต่ำขนาดนี้ ทั้ง 3 อย่างนี้ให้ความหวังในมิติว่าความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตเมื่อเทียบกับประเทศอื่นถือว่าน้อยมาก

…ทีนี้ความหวังในทางโอกาสคืออะไร ต้องยอมรับว่าการที่เราถูกตีในจุดที่เราบอบบางคือการท่องเที่ยวจะทำให้การฟื้นตัวของเราต้องใช้เวลาและนานกว่าชาวบ้าน แต่นอกจากเรื่องลมต้านแล้ว ผมคิดว่าบางทีเราลืมคิดถึงลมหนุนของเราไปเหมือนกัน เราต้องมองไปข้างหน้าและถามตัวเองว่าเราอยากไปอยู่ตรงไหน สมมติเป็น international financial center เราจะสบายใจไหม ผมว่าเหนื่อย เพราะมีโอกาสที่จะถูกกระทบมหาศาล จากกระแสดิจิทัล ดีไฟ (Decentralized Finance - DeFi) อะไรต่างๆ หรือสมมติว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งอุตสาหกรรมที่ในเวลานี้ดูดี เช่นอิเล็กทรอนิกส์ แบบเวียดนาม ส่งออกดูดี มีการมาลงทุนสูง แต่ถ้ามองไปข้างหน้าก็ท้าทาย เพราะท้ายที่สุด กระแสออโตเมชั่นจะมาและลดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม บวกกับเรื่องความเหลื่อมล้ำสูง โอกาสที่จะมีอุปสงค์มหาศาลสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคมากเหมือนในอดีตจะน้อยลง เพราะความมั่งคั่งกระจุกตัวและของพวกนี้มีอุปสงค์จำกัด ต่อให้รวยมหาศาล คุณจะขับรถได้กี่คัน ใช้มือถือได้กี่เครื่อง และความต้องการจ่าย (willingness to pay) ก็จำกัด

…แต่งานบริการที่เรียกว่า High-Touch น่าสนใจ ชัดที่สุดคือเรื่องอาหาร ความต้องการจ่ายเพื่ออาหารแบบที่วิลิศมาหรานี่เห็นแล้วจะช็อค เพราะของพวกนี้เปรียบเทียบราคากันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับผู้เสพ ความต้องการจ่ายมีไม่จำกัด การท่องเที่ยวเราโดนตีหัวหนักจริง แต่โดยพื้นฐานบริการเราไปพื้นที่ตรงนี้ได้ และผมว่าคนพร้อมจะจ่ายเพื่อประสบการณ์มากกว่าเพื่อสินค้า แต่มีคำว่า ‘แต่’ เราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้อยู่ในตลาดไฮเอนด์นั้นให้ได้”

เมื่อครบกำหนดเวลาสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ส่งข้อความมาขอให้จบการสัมภาษณ์ เนื่องจากดร.เศรษฐพุฒิจำเป็นต้องเข้าวีดีโอคอลกับอีกประชุม ดูเหมือนภาวะวิ่งรอกเข้าออกประชุมออนไลน์ของโควิด-19 จะไม่ได้ละเว้นผู้ว่าการ ธปท. เมื่อมองไปด้านหลังของ ดร. เศรษฐพุฒิ ยังเห็นแบ็กดรอปไวนิลรูปพระสยามเทวาธิราช บนพื้นสีน้ำเงินตั้งอยู่ตลอดการประชุม สถานการณ์ข้างหน้าผู้ว่าการฯ จะเปลี่ยนไปอีกกี่จอ ธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องเป็นสัญลักษณ์ที่คนมองเข้ามาแล้วเห็นอยู่เสมอ เราถามคำถามทิ้งท้ายถึงหนังสือเล่มโปรด ดร.เศรษฐพุฒิลุกจากเก้าอี้ไปหยิบหนังสือที่ดูเหมือนจะอยู่เพียงพ้นหน้าจอมาแสดงให้ดู

“เล่มหนึ่งที่ชอบมากคือนักเขียนเฟรดเดอริก บาสติยาต์ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ นักปราชญ์ ชาวฝรั่งเศสยุค 1900s แต่เขาเขียนอะไรที่มีข้อคิดอมตะ เขียนแบบสร้างอุปมาอุปไมย ซึ่งเกี่ยวกับกลไกตลาดต่างๆ เรียงความของเขาที่ดีมาก ชื่อ That Which is Seen, and That Which is Not Seen พูดถึงการถกเถียงเรื่องนโยบายตามที่ต่างๆ เขาบอกว่าคนมักจะโฟกัสในสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่ต้องคำนึงคือสิ่งที่เราไม่เห็น ตัวอย่างคือ มีเจ้าของร้านคนหนึ่งกระจกหน้าร้านแตก ต้องจ่ายสตางค์เพื่อซ่อมกระจก คนบอกว่าดี เพราะจะได้สร้างงานให้คนติดกระจก นี่เป็นสิ่งที่เห็น แต่สิ่งที่มองไม่เห็นคือ ถ้าเจ้าของร้านไม่ต้องเสียสตางค์มาสร้างกระจก เขาอาจจะเอาเงินไปซื้ออย่างอื่น เช่น รองเท้าและเสื้อ ถ้าบอกว่าประโยชน์จากนโยบายคือคนติดกระจกจะได้เงิน แต่คิดหรือเปล่าถึงสิ่งที่มองไม่เห็นคือคนที่ขายรองเท้าและเสื้อที่ไม่ได้เงิน ดังนั้น การคิดนโยบายต้องดูทั้งของที่เห็นและไม่เห็น บางทีเราก็ลืมหลักการเหล่านี้”

ใครจะลืมหลักการนี้ก็ตาม ดร.เศรษฐพุฒิไม่ได้ลืม

ความมั่นใจในธนาคารกลางที่มีมาตลอดประวัติศาสตร์ดูจะไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่นอน