HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


The Triumph of the Will

การล้มลุกคลุกคลานและความสำเร็จของประวัติ วะโฮรัมย์ นักวีลแชร์เรซซิง 7 เหรียญทองพาราลิมปิกส์ผู้ทำให้ศักยภาพของคนไทย และประเทศไทยกลายเป็นสิ่งที่โลกต้องจับตา

ธนกร จ๋วงพานิช

แม้กีฬาวีลแชร์เรซซิง (Wheelchair Racing) จะแข่งกันด้วยระยะและความเร็ว จนคนส่วนใหญ่นึกเปรียบกับการวิ่งแข่ง ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่าการแข่งขันวีลแชร์นั้น อาจใกล้เคียงกับการแข่งรถฟอร์มูล่าวันมากกว่า

ทั้งนี้เพราะรายละเอียดตั้งแต่รูปร่างและโครงสร้างของเบาะนั่ง องศาและท่าทางการนั่งของนักปั่น เสื้อผ้า หมวกกันน็อค ถุงมือ หรือแม้กระทั่งสายที่รัดตัวนักกีฬาไว้กับเก้าอี้ล้วนมีความหมายและต้องถูกปรับอย่างละเอียดลออ โฟมที่เติมเข้าไปในเบาะเพื่อให้แนบกับหัวเข่าขึ้นอีกเล็กน้อย หรือตำแหน่งลำตัวนักกีฬาที่เลื่อนสูงขึ้นมาอีกไม่กี่มิลลิเมตร อาจส่งผลกระทบได้ถึงการแข่งที่ตัดกันเป็นวินาที สิ่งเดียวที่ต่างอาจมีเพียงว่า ในขณะที่ฟอร์มูล่าวันขับเคลื่อนล้อด้วยเครื่องยนต์อันเป็นที่หนึ่งของโลก กลไกที่ผลักดันให้วีลแชร์พุ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วอย่างน้อย 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (เวลาขั้นต่ำสำหรับเข้าร่วมพาราลิมปิกส์) คือกำลังแขนที่ ‘สับ’ ลงไปที่ล้อด้วยส่วนผสมระหว่างพละกำลังกับความถี่อันเฉพาะตัวของนักกีฬาแต่ละคน ซึ่งต้องชั่งใจระหว่างการใช้กำลังที่มากเพื่อให้ล้อพุ่ง หรือการขยับแขนให้เร็วเพื่อเพิ่มรอบการหมุน

หากได้ลองดูการแข่งขันวีลแชร์พาราลิมปิกส์สักครั้ง จะพบว่าลำตัวของนักกีฬาที่เผยอขึ้นและกระแทกลงเพื่อส่งแรงให้แขนนั้น มีจังหวะและความเร็วที่เสถียรไม่รวนเรเกือบเหมือนเครื่องจักรมากกว่าร่างกายมนุษย์ ทั้งที่ความจริงแล้ว การพับลำตัวขนานกับพื้นโลกเพื่อส่งแรงในขณะท่อนขาขัดหรือคู้อยู่ในเก้าอี้นั้น เป็นอิริยาบถที่ท้าทายสรีรศาสตร์อย่างที่สุด นี่ไม่ใช่กีฬาที่ความสำเร็จน่าประทับใจเพียงเพราะผู้เข้าแข่งขันพิการ แต่เป็นกีฬาที่ไม่ว่าใครมีศักยภาพทางกายและใจจนพอจะแข่งกีฬานี้ได้ชนะย่อมควรค่าแก่การยกย่องอย่างไม่มีข้อสงสัย

สมกับนัยของชื่อ ‘พาราลิมปิกส์’ ซึ่งแปลว่าผู้เคียงขนาบโอลิมเปียนส์ หรือนักกีฬาที่เหยียบยอดโอลิมปัสอันเป็นจุดสูงสุดของโลก

ในขณะที่ตำแหน่งสุดยอดย่อมไม่ใช่สถานที่ที่ผู้ใดจะครอบครองอยู่ได้ตลอด กระนั้น ในบรรดาผู้เหยียบยอดโอลิมปัสมาแล้วจากประเทศไทย ประวัติ วะโฮรัมย์ คือนักกีฬาวีลแชร์เรซซิงทีมชาติผู้ที่ได้ครองตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 7 ครั้งด้วยผลงาน 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ล่าสุดในการแข่งขันโตเกียวพาราลิมปิกส์ 2020 ประวัติในวัย 40 ปี ยังสับล้ออย่างไม่เกรงอายุจนสามารถคว้าเหรียญเงินมาครองในประเภท 1,500 เมตร ยืนยันสถานะตำนานที่นักกีฬาพาราลิมปิกส์ไทยถูกจดจำได้เป็นชื่อแรก

การมาสัมภาษณ์ประวัติในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการสัมภาษณ์เพื่อฟังประวัตินักกีฬา หากในเวลาที่สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมือง สุขภาพ เป็นอุปสรรคเหนี่ยวรั้งให้ท้อถอยหรืออ่อนแรงดิ้นรน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวของความมุ่งมั่น วินัย และยุทธศาสตร์ ที่ประวัติใช้พาตัวเองไปยอดโอลิมปัสมาแล้ว

คือเรื่องราวที่เติมกำลังและชวนให้เงยหน้าขึ้นอีกครั้ง

จุดเริ่มต้น

เช่นเดียวกับชาวพาราลิมเปียนส์อื่นๆ เส้นทางสู่ความเป็นสุดยอดของโลกต้องเริ่มจากตีนเขา หรือแม้กระทั่งหุบเหว เมื่อความพิการทำให้กระทั่งเรื่องพื้นฐานที่สุดอย่างการเดินโดยปกติก็ยังเป็นของพ้นวิสัย ประวัติถือกำเนิดที่จังหวัดสระแก้วด้วยร่างกายที่สมบูรณ์ แต่ด้วยโรคโปลิโอ หรืออาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเนื่องมาจากไวรัสโปลิโอเข้าไปทำลายระบบประสาท ความพิการมาถึงตัวเขาแบบฉับพลันในทางกายภาพ แม้ค่อยเป็นค่อยไปในความรู้สึก

“อยู่ๆ ก็เป็น กำลังหัดเดินแล้วเป็นไข้ รู้สึกได้ว่ามันเดินไม่ได้ เหมือนขาเราชาไปข้างหนึ่ง ไปหาหมอ หมอบอกว่าน่าจะเป็นโปลิโอ เพราะหยอดวัคซีนไม่ครบ ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้คิดอะไร เราเด็กเกิน แม่ก็อุ้มอยู่ ยังไม่ได้คิดว่าตัวเองจะพิการ ยังไม่คิดว่าขาตัวเองจะลีบมามีความคิดตอนประมาณ 4-5 ขวบ เพราะว่าขามันไม่มีแรงแล้ว เดินไม่ได้แล้ว ขาเริ่มลีบแล้วก็ห้อยไปข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยังปกติดีอยู่

…แรกๆ ก็ไม่คิดอะไร จนได้มีโอกาสเรียนร่วมกับคนปกติตอนอนุบาล เริ่มตั้งคำถาม ทำไมเราต้องใช้ไม้เท้า ทำไมขาเราไม่มีแรง เห็นเขาเดินได้ แต่เราเดินไม่ได้ ประมาณสัก ป.1 เพื่อนเริ่มล้อ ไอ้ขาเป๋ บางทีก็เอาไม้เท้าเราไปซ่อน ทำให้เราคิดน้อยใจตัวเอง ทำไมต้องเกิดมาพิการด้วย เพื่อนเขาเล่นกีฬา ทำกิจกรรม เราทำอะไรไม่ได้เหมือนเขาเลย ใส่รองเท้า มันลอยเลยขา เพื่อนก็ล้อ โห---ขาไม่เท่ากัน ใส่รองเท้าอะไร ขาเล็กข้างใหญ่ข้าง เวลาเขาเข้าค่ายลูกเสือ ผมก็อยากไปกับเขา ไปขออาจารย์ ครูบอกอย่าไปเลยมันลำบากลูก เราก็เป็นปมและโทษความพิการมาโดยตลอด สารพัดที่เค้าจะเรียก เวลาผมปั่นจักรยานใช้ขาตะกุยตะกุยข้างหนึ่ง ขาอีกข้างหนึ่งห้อยไป เขาก็เรียกว่าไอ้ขาห้อย จริงๆ เขาคงไม่ได้คิดอะไร เหมือนเด็กเรียกกัน แต่ว่าเรามันคิดไง เพราะเราเป็น”

วันที่แย่ที่สุดน่าจะเป็นวันที่เราไม่ได้แสดงกิจกรรมอะไรกับเขาเลย มีกีฬาสีก็เล่นไม่ได้ เหมือนมีหน้าที่แค่เรียน อยู่โรงเรียนตามปกติ อย่างอื่นก็ไม่มีสิทธิ นั่งดูคนอื่นเหมือนคนซึมเศร้า ถึงเวลาเช้ามาก็เรียน ถึงเวลาเลิกก็กลับบ้าน มีอยู่แค่นั้น จริงๆ ผมอยากแสดงความสามารถ เพียงแต่เวลาเราอยู่บ้าน เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เขาก็เป็นห่วงเราแหละ เขาก็รักเรา เขาไม่อยากให้เราเป็นโน่นเป็นนี่

หากโรงเรียนประถมคือสนามจริงของชีวิตสนามแรกที่ประวัติต้องถูกทดสอบด้วยความไม่รู้เดียงสาของเพื่อน ครอบครัวของประวัติ ตั้งแต่พ่อแม่ไปจนพี่สาวและพี่ชาย ก็เป็นคล้ายสถานที่เก็บตัวที่ให้การดูแลเอาใจใส่แก่ประวัติอย่างพิเศษ อย่างไรก็ตาม วันที่ประวัติจำได้ว่าเป็นวันที่มีความสุขที่สุดในวัยเด็กคือวันที่เขาไม่ได้เป็นทั้งเด็กที่ถูกล้อ หรือไข่ในหินของที่บ้าน

“ตอนเด็กแม่จะไม่ค่อยให้เราเดิน อุ้มไว้ตลอด พ่อก็เอาขี่คอไว้อยู่ตลอด ส่วนมากไม่ว่าพ่อแม่หรือพี่สาวพี่ชายสองคนจะไม่พูดอะไรที่กระทบจิตใจตั้งแต่เด็กจนโต เขาจะพูดอยู่ตลอดเวลาว่า เขาพูดไปก็ช่างเขา อย่าไปสนใจ เพื่อนหรือคนทั่วไปเขาเรียก ไอ้เป๋ๆ พ่อก็บอกว่าเขามีชื่อจริงทำไมไม่เรียก ไปเรียกแบบนั้นทำไม เขาไม่อยากให้คนอื่นมาเรียกเราแบบนี้

…เวลาอยู่บ้านพ่อแม่จะไม่ค่อยให้ทำอะไรเลย คือทำแทนหมดทุกอย่าง แต่ว่ามาโรงเรียนเราก็อยากแสดงความสามารถตัวเอง บางทีเขากวาดห้อง หรือทำกิจกรรมปลูกผัก เราก็ช่วยเขาเท่าที่เราทำได้ อยากแสดงความสามารถของเรา ไม่อยากยืนดูเขา ไม่อยากเป็นภาระใคร เขามีเวรกวาดห้อง ผมก็ไปขอว่าให้ผมทำเถอะ คืออยากทำอยากช่วย แต่ส่วนมากชีวิตผมวัยเด็กน่าจะอยู่แต่บ้าน แทบจะไม่ได้ไปโรงเรียน

…เสาร์อาทิตย์ผมชอบปั่นรถไปตกปลากับเพื่อนที่เขื่อน มีเพื่อนคนหนึ่ง เรียนห้องเดียวกัน เจ้าคนนี้ไม่เคยพูดอะไรที่ทำให้เราไม่สบายใจ ก็ชอบไปกับเขา สบายใจกับใครเราก็ชอบไปกับคนนั้น ชอบไปตกปลา ชอบไปเล่นด้วยกัน เหมือนได้ออกกำลังกายตัวเองไปด้วย ความสุขที่สุดก็คงจะเป็นตอนที่ไปตกปลานี่แหละ บางทีได้มาตัวสองตัวก็ดีใจ ปลานิลตัวใหญ่ๆ ได้มาโลสองโล

…วันที่แย่ที่สุดน่าจะเป็นวันที่เราไม่ได้แสดงกิจกรรมอะไรกับเขาเลย มีกีฬาสีก็เล่นไม่ได้ นั่งดู เหมือนมีหน้าที่แค่เรียน อยู่โรงเรียนตามปกติ อย่างอื่นก็ไม่มีสิทธิ นั่งดูคนอื่นเหมือนคนซึมเศร้า ถึงเวลาเช้ามาก็เรียนถึงเวลาเลิกก็กลับบ้าน มีอยู่แค่นั้น จริงๆ ผมอยากแสดงความสามารถ เพียงแต่เวลาเราอยู่บ้าน เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย เขาก็เป็นห่วงเราแหละ เขาก็รักเรา เขาไม่อยากให้เราเป็นโน้นเป็นนี่ เราไม่สมประกอบเหมือนพี่ชายพี่สาว”

เสริมสมรรถนะ

ภาพจำจากการแข่งขันวีลแชร์เรซซิงที่ผู้ชมจะได้เห็นลำตัวครึ่งบนของนักกีฬาผนวกรวมกับรถอย่างแนบแน่น อาจทำให้เข้าใจว่าเมื่อลุกขึ้นจากรถแข่ง ผู้แข่งวีลแชร์น่าจะต้องเปลี่ยนไปสู่รถวีลแชร์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกเช่นกัน แต่ความจริงการแข่งขันวีลแชร์เรซซิงนั้นเปิดกว้างให้กับผู้พิการหลากหลายระดับ ตามระบบการจำแนก (classification) ของพาราลิมปิกที่มุ่งจัดกลุ่มนักกีฬาที่เข้าแข่งขันให้มีระดับความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันกีฬาประเภทหนึ่งๆ ใกล้เคียงกัน ตั้งแต่กลุ่มที่มีอาการสมองบาดเจ็บหรือสมองพิการจนกระทบการเคลื่อนไหว ไปจนกระทั่งกลุ่มที่เสียแขนเสียขา ขายาวไม่เท่ากันหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยคลาสใดตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งแปลว่าความพิการยิ่งมาก

ส่วนประวัติที่ลงแข่งวีลแชร์เรซซิงในคลาส T54 นั้น ทางการนิยามไว้ว่า “มีกำลังอย่างเต็มที่ในแขนทั้งสองข้าง มีกำลังบางส่วนหรือเต็มที่ในช่วงลำตัว อาจยังใช้งานขาได้บ้าง” ดังนั้น เมื่อลุกจากวีลแชร์ที่ใช้แข่งแล้ว ประวัติพอจะยืนได้ด้วยตนเอง และอาจใช้เพียงไม้ค้ำยันในการพยุงร่างเมื่อต้องการไปไหนมาไหนในระยะสั้น พูดได้ว่าด้วยโครงลำตัวด้านบนที่ใหญ่และทรงพลัง และใบหน้านิ่งเรียบอยู่ตลอดตามฉายา ‘เสือยิ้มยาก’ ประวัติไม่น่าใช่คนที่ใครคิดหาเรื่องด้วยได้ง่าย ๆ

ความคล่องตัวและเป็นธรรมชาติกับข้อจำกัดของร่างกายตนเองนี้ นับเป็นคุณูปการจากโรงเรียนศรีสังวาลย์ สถานศึกษาช่วงมัธยมต้นของประวัติ ที่ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวไม่ว่าในด้านที่พัก การเลี้ยงดู อาหาร ตลอดจนพาไปรับการวินิจฉัยรักษา ผ่าตัด และบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพที่โรงพยาบาล

“ตอนนั้นมันยังคิดอะไรไม่ออกว่าชีวิตตัวเองจะไปยังไง เดินไปในแนวไหน พอดีตอน ม.1 มีหนังสือมาจากมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ที่จังหวัดนนทบุรี ให้ไปรักษาตัวที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ ปากเกร็ด ผมเลยได้ไปผ่าตัด แล้วก็ยืดเส้นขาให้มันยาวขึ้น เป็นโปลิโอแล้วขามันจะลีบใช่ไหม ไม่ได้เหยียบพื้น เขาก็ผ่าให้เส้นมันยืด พอผ่าเสร็จ เส้นมันยืด เขาก็จะทำขาเรียกว่า ‘เบส’ ใส่ให้เรา ทำให้เราเดินได้ ก่อนหน้านั้น เราเคยมารักษารอบหนึ่งแล้วเท่าที่จำได้ เราอายุสัก 4-5 ขวบ การเดินทางลำบาก มาจากสระแก้ว ผมจำได้ทางลูกรัง รถบัสสีส้ม ช่วงนั้นกรุงเทพฯ ยังน้ำท่วมอยู่เลย นั่งเรือด้วย แต่การเดินทางลำบาก มารอบเดียวแล้วก็ไม่มาอีกเลย เพราะทางบ้านเราก็ยากจน ทำไร่ไถนา จนได้รับหนังสือรอบสองถึงได้มา

พอออกสตาร์ทรุ่นพี่ที่ไปด้วยกัน หนีไปหมด ทิ้งเราไว้คนเดียวเลยวันนั้น อาจารย์สุพรตก็ขี่รถตามรุ่นพี่ไปเพราะต้องจับเวลา เราก็ไล่ตาม สองข้างทางมีแต่เสียงจิ้งหรีดเรไร มีเราคนเดียว ปั่นไปด้วย ร้องไห้ไปด้วย คิดว่าไม่เอาแล้วทีหลัง รถบ้าอะไร ทั้งปวดทั้งน้ำตา

…ที่ศรีสังวาลย์มีทุกอย่าง มีกีฬาทุกกีฬา เทนนิส ว่ายน้ำ วีลแชร์ มีดนตรีไทย มีศิลปะ วิชาชั่วโมงนี้ดนตรีไทย ชั่วโมงนี้เป็นกีฬาว่ายน้ำ ชั่วโมงนี้ไปศิลปะ เวียนไปเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป แค่ว่าเป็นโรงเรียนของคนพิการ แต่ดนตรีไทยกับศิลปะนี่คือไม่เอาเลย เพราะหัวไม่ค่อยไปเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ แต่ก็เคยเล่นดนตรีและวาดอยู่บ้าง เคยสีซอ

…อยู่ที่นั่นเรากินข้าวเย็นไว ห้าโมงหกโมง กลางคืนเราหิว บางทีเราก็ไปงัดประตูโรงครัว ขโมยมาม่ามาต้ม ไปเอาอาหาร รู้กัน เวลามีแขกมาโรงเรียนมาแจกของ เราก็รู้เก็บตรงไหนกินข้าวเสร็จเขาจะมีเวรปิดหน้าต่างห้องครัว เราก็ไม่ล็อคกลอน แล้วกลางคืนก็แอบลงมาเอามาม่าไปต้ม บางทีก็ขโมยแอบสั่งเคเอฟซีคือเขาห้ามนะ กฎระเบียบห้ามลงจากตึก

พวกผมก็แอบลง บางทีก็แอบปีนมะม่วง เขาห้ามเราเก็บแต่เขาก็เก็บไว้ให้พวกพี้เลี้ยงกินกันสบาย ทำไมเวลาเราจะกินต้องมาหวง คิดแล้วก็ลงตึกขโมยเลย มดแดงก็เยอะ เราก็ปีนเอามาตุนเอาไว้กลางคืน เห็นไม่ได้ เห็นนี่หมด ไม่ทันได้แก่ มีคนดูต้นทาง คนเข้าปีนก็ผมนี่แหละ เพราะเราอาจจะแข็งแรงกว่าเขา

…เข้ามาโรงเรียนศรีสังวาลย์ มันเหมือนอยู่ในโลกของเรา กลุ่มของเราเอง เข้ามาเราเจอคนพิการหลายรูปแบบ ขาขาด แขนขาดสองข้าง เขาใช้มือหนีบช้อนกินข้าว แล้วผมนั่งมอง เราขาลีบข้างเดียวเกือบเป็นปกติ ทำไมต้องมานั่งโทษตัวเอง นั่งท้อแท้ตัวเอง มันอาจเป็นเวรเป็นกรรมแต่เราก็ยังมีส่วนที่ดีใช้งานได้มันทำให้ผมฮึดสู้ ทำให้เรามีแรงบันดาลใจ เราดูเพื่อนแขนขาด ใช้ปากกาวาดรูป เขียนหนังสือ สวยมากๆ เรายังทำไม่ได้เหมือนเขาเลย บางอย่างคนปกติทั่วไปก็ยังทำไม่ได้ อย่างพี่สมชาย ดวงแก้ว นักว่ายน้ำ ที่จริงวาดรูปสวยมากๆ

…เรามารักษาตัวแล้วเรียนต่อ ม.1 ที่ศรีสังวาลย์ พอถึง ม.2 เรารักษาเสร็จใส่ขาแล้วพอเดินได้ ก็ออกไปเรียนร่วมกับคนปกติที่โรงเรียนปากเกร็ด ให้เราไปเรียนรู้กับคนข้างนอก แต่ต่างจากวัยเด็ก เขาเป็นคนโตแล้ว ไปแล้วก็มีแต่คนช่วยเหลือ เพื่อนๆ ครูบาอาจารย์ทุกคน ไม่ได้เป็นปัญหา อีกอย่างเราก็เดินได้แล้ว อาจจะไม่เหมือนคนปกติทั่วไป กะเผลกๆ แต่เราก็ยังใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป”

แน่นอน สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประวัติที่ศรีสังวาลย์อาจเป็นการได้เจอกับกีฬาวีลแชร์เรซซิง

“เข้ามาศรีสังวาลย์แรกๆ ผมยังไม่คิดจะเล่นกีฬา หัวสมองเราคิดแต่ว่ามารักษาตัวพอเดินได้จะกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงาน อย่างอื่นไม่ได้อยู่ในหัวเลย แต่มาเริ่มเพราะเห็นพี่ๆ ที่เป็นนักกีฬาวีลเเชร์ เขากำลังซ้อมอยู่ที่ศรีสังวาลย์ เห็นเขาปั่นลูกกลิ้งอยู่กับที่ รุ่นพี่เขาจบจากโรงเรียนไปแล้ว จบ ปวช. ปวส. แต่มาอยู่เก็บตัว เราไม่รู้จะไปไหน เลิกเรียนมาผมไปนั่งดูเขาซ้อมทุกวัน อาจารย์สุพรต เพ็งพุ่ม ที่เป็นโค้ชผมคนปัจจุบันท่านสอนที่นั่น ท่านก็เจอผมทุกวัน ก็มองๆ แต่ยังไม่ได้พูดอะไร ทีนี้ผมได้ไปแข่งกีฬาคนพิการแห่งชาติที่จังหวัดสุพรรณบุรี ไปแข่งว่ายน้ำ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ อาจารย์สุพรตไปด้วย ท่านก็มาคุยด้วย เอ้ย---หน่วยก้านดีมาลองปั่นวีลแชร์ดีกว่าไหม ท่านก็ให้ผมว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์อยู่ประมาณปีหนึ่ง เพราะว่าทักษะการปั่นรถ กับการว่ายน้ำท่าฟรีสไตล์มันใช้หัวไหล่คล้ายๆ กัน เล่นเวทด้วย ว่ายน้ำด้วย วีลแชร์ยังไม่ได้จับเลย

…วันที่นั่งวีลแชร์วันแรกเลย วันนั้นอาจารย์พาไปออกซ้อมที่บางไทร เมื่อก่อนรถไม่ค่อยเยอะเหมือนทุกวันนี้ นอนไม่หลับเลยก่อนที่จะไปปั่น ตื่นเต้น เพราะว่าจะได้นั่งรถแล้ว อาจารย์ชวนแล้วด้วย ว่ายน้ำมาครบปีแล้วด้วย แต่ว่าพอได้ไปนั่งรถจริงๆ มันเหมือนเรานั่งคุกเข่าอยู่กับที่ ทับขาตัวเอง ดังนั้น นั่งไปประมาณสักห้านาที สิบนาที ตะคริวครึ่งตัว แล้วปั่นรถมันต้องมีถุงมือของใครของมันสมัยก่อนเขาจะใช้ถุงมือเกี่ยวข้าวแล้วเอาหนังมาปะให้มันหนา แต่มันกันไม่ได้หรอก เพราะเวลาเราปั่นครั้งแรกเราไม่รู้ว่าต้องสัมผัสล้อตรงไหน สัมผัสมากน้อย มือมันก็แตกไปหมด พอง ตะคริวก็เป็น มือก็แตก เลือดออกไปหมดปั่นไปด้วยร้องไห้ไปด้วย

…เหมือนเขาฝึกเรา พอออกสตาร์ทรุ่นพี่ที่ไปด้วยกัน หนีไปหมด ทิ้งเราไว้คนเดียวเลยวันนั้น อาจารย์สุพรตก็ขี่รถตามรุ่นพี่ไปเพราะต้องจับเวลา เราก็ไล่ตาม สองข้างทางมีแต่เสียงจิ้งหรีดเรไร มีเราคนเดียว ปั่นไปด้วย ร้องไห้ไปด้วย คิดว่าไม่เอาแล้วทีหลัง แต่พอไปถึงผมรีบเช็ดน้ำตาเลย ไม่ให้เขาเห็น เขาถามเป็นไงมั่ง อ้อ---ปั่นได้อยู่ครับ แต่ที่ไหนได้ในใจมันจะไม่เอาแล้ว รถบ้าอะไร ทั้งปวดทั้งน้ำตา คือนั่งไม่ดี ยังหงายท้องได้ เพราะรถกับเรามันต้องมีความสมดุลกัน ต้องมีความเข้าใจ รถหน้าตาคล้ายแบบนี้แหละ (ชี้ไปที่รถแข่ง) เป็นรถที่ต่อเอง หนักแล้วก็ศูนย์ไม่ได้ ประมาณสัก 20 กว่าโลได้

เรื่องซ้อมผมมองว่ามันเหมือนเป็นงานของเราอย่างหนึ่ง ถ้าหยุดซ้อมไปวันสองวัน ผมเริ่มนอนไม่หลับ เพราะว่ามันติดเป็นนิสัย เกือบครึ่งชีวิตผมใช้ชีวิตอยู่ในสนามแข่ง สนามฝึกซ้อม บางทีตอนกลางวันผมนอนหลับกับรถแข่งเลย เราจะตื่นประมาณตีห้าสบายๆ มากินกาแฟ ทำกิจวัตรประจำวันของเราให้เรียบร้อย เสร็จปุ๊บ หกโมงไม่เกินหกโมงครึ่งต้องถึงสนามแล้ว

…แต่ทีนี้พอเราหายเหนื่อย กลับไปพักที่โรงเรียนแล้วก็นั่งคิดว่าไอ้สิ่งที่เราเป็น เป็นตะคริว มือแตก มือพอง รุ่นพี่เขาก็ต้องเป็นมาก่อนเรา เราเพิ่งปั่นวันแรก ซ้อมวันแรก ทำไมถึงท้อ ดังนั้น ผมก็พยายามฝืนซ้อม ฝืนความเจ็บปวด ทนไอ้ความเป็นตะคริว ไอ้มือแตก ตรงไหนที่มันแตกเราก็เสริมถุงมือให้มันหนาขึ้น ให้มันไม่เจ็บ ไอ้ตรงไหนที่มือโดนตอนปั่นเราก็ไปเสริมตรงนั้น เริ่มค่อยๆ ชิน เริ่มรู้จังหวะรถว่าปั่นยังไงรถถึงจะวิ่ง ปั่นยังไงมือถึงไม่พอง นั่งยังไงรถถึงจะไม่หงายท้อง นั่งยังไงถึงจะไม่เป็นตะคริว ความพิการไม่เหมือนกัน อย่างขาเล็กเราก็ไปเสริมให้มันสูงขึ้น ไปเสริมให้มันเท่าข้างที่ปกติ ประมาณปีหนึ่งก็เริ่มชิน เริ่มไปได้กับรุ่นพี่ เริ่มชอบ เริ่มสนุกกับการแข่งการซ้อม พอนั่งเข้าที่เข้าทาง ยิ่งรถไวเราก็ยิ่งชอบ เกาะกลุ่มไปกับเขาได้ เริ่มต้อนเขาได้ มันก็มีกำลังใจที่จะทน ถามว่าเมื่อยไหม มันก็เมื่อย แต่มันต้องใช้เวลานานกว่าเราจะเมื่อย

…ตอนเย็นแต่ละวันก็ต้องมาซ้อม มาปั่นลูกกลิ้ง เล่นเวท ซ้อมเสร็จ อาบน้ำ กินข้าว คือทำเหมือนรุ่นพี่ เป็นระบบ ฝึกความไวของมือ ใช้แรง ความทนทาน ยิ่งปั่นเท่าไหร่เราก็ยิ่งทนทานขึ้นเท่านั้น เมื่อก่อนอาจารย์สุพรตเป็นโค้ชของนักวิ่งทีมชาติคนปกติ ท่านก็พยายามศึกษา ดูต่างประเทศ ดูว่าเขาปั่นกันยังไง แล้วก็เอาเทคนิคมาสอนนักกีฬาตัวเอง ตรงไหนเป็นจุดด้อยของเรา เขาก็จะสอน เหมือนพ่อคนที่สองของเราเลย เพราะผมอยู่กับท่านมาตั้งแต่อายุ 18 จนปัจจุบันอายุ 40”

สิ่งแลกเปลี่ยน

อย่างที่เขาเล่า วีลแชร์อาจกลายมาเป็น ‘บัลลังก์’ ของประวัติในเวลาต่อมา แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นมาตั้งแต่วันแรก เพราะแม้จะได้พบกีฬาที่ชอบแล้ว แต่เส้นทางจากจุดเริ่มมาสู่การได้แชมป์ของเขาห่างไกลจากคำว่าเป็นเส้นตรงหรือแม้กระทั่งความน่าจะเป็น เมื่อขึ้นถึงมัธยมฯ สาม ที่ศรีสังวาลย์ ผลการเรียนของประวัติไม่ถึงเกณฑ์ที่จะให้เขาอยู่ได้ต่อไป การกลับบ้านที่สระแก้วดูเป็นหนทางที่สมเหตุสมผลที่สุด เว้นเสียแต่ว่าตอนนั้นใจของประวัติจดจ่ออยู่กับกีฬาวีลแชร์ จนกระทั่งการเร่ร่อนในกรุงเทพก็ยังดูไม่ใช่ราคาแพงเกินไปเมื่อเทียบการได้จับล้อนานขึ้นอีกระยะหนึ่ง

“เราไปเรียนร่วมกับคนปกติ ถ้าเกรดเฉลี่ยดีตามที่เขากำหนดก็ได้อยู่ต่อ แต่เกรดเฉลี่ยเราไม่ถึง เรียนไม่เก่ง ถ้าพูดตรงๆ ข้อสอบก็ลอกเพื่อนเอา เขาก็มาบอกว่าเอ็งอยู่ต่อไม่ได้แล้ว เพราะการเรียนเอ็งก็แย่ เราก็เข้าใจเขา ตอนนั้น ออกมามันก็ไม่ได้มีที่อยู่ ก็ไปอยู่สนามศุภชลาศัย สนามของกรมพลศึกษา ไม่ได้อยู่กันดีอะไรมากมาย อยู่ใต้สระน้ำ กลับบ้านทีก็ไปสีข้าวใส่กระสอบปุ๋ยเอาไว้กิน เงินก็ไม่ค่อยจะมี เหมือนเร่ร่อน ตอนนั้นใจผมรักวีลแชร์ไปแล้ว อยากมีส่วนร่วม อยากแข่ง ตอนนั้นจะมีการคัดตัวเฟสปิกเกมส์ ถ้าคนปกติเขาจะเรียกเอเชียนเกมส์ ผมก็ไปแอบซ้อมทีมรถแข่ง เอารถแข่งหิ้วไปด้วยเลย ฝันของเราคืออยากไปให้มันถึง ไม่รู้อนาคตข้างหน้ามันจะเกิดอะไร เราก็ไม่คิด ขอทำให้มันดีที่สุด

…ใต้สระน้ำจะเป็นห้องพักสำหรับนักกีฬาฝึกซ้อม เรียงๆ กันไป อยู่ห้องหนึ่งมีหลายคน มี 7-8 คน เพราะช่วงนั้นเขามีเก็บตัวบาสเกตบอล มีว่ายน้ำด้วย มีเบี้ยเลี้ยงฝึกซ้อมเฟสปิกเกมส์ เดือนหนึ่งประมาณ 7-8,000 บาท รวมเงินของสมาคมต่างๆ ของคนพิการให้ด้วยอีกสองสามพันก็เดือนหนึ่งประมาณ 10,000 บาท แต่พอจบเฟสปิกเกมส์ที่ประเทศไทยจัดแข่งเสร็จ สถานที่ตรงนี้บริเวณใต้สระน้ำ เขาก็ไม่อยากให้เราอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน ก็ทำหนังสือขออธิบดีกรมพลศึกษา หลายหลายท่านที่มาเป็นอธิบดีก็ให้ความอนุเคราะห์สถานที่ให้เราอยู่ แต่สนามซ้อมเขาไม่เปิดให้ซ้อม ให้ใช้ได้เฉพาะห้องพักนักกีฬา

…ผมก็ขโมยซ้อมตอนสี่ทุ่ม ผมปีนกำแพงสนามเทพหัสดินในปัจจุบัน ยกรถแข่งข้ามกำแพงขึ้นไปซ้อมตอนสี่ทุ่มทุกวัน เพราะกลางวันเราไม่ได้ซ้อมอยู่แล้ว ถ้าเกิดวันไหนไม่อยากเข้าไปในลู่แข่งขัน เราก็จะปั่นลู่รอบนอกสนามรอบใหญ่ตรงสนามศุภฯ เอาแรง ปั่นตอนกลางคืนอย่างเดียว เป็นลู่ยาง เลิกทีก็สี่ทุ่มห้าทุ่มทุกวัน ปีนกลับ ไม่มีไฟ ปั่นมืดๆ แต่กลางคืนจะเห็นเพราะเขาทาสีขาว มันสะท้อน กลางวันก็นอนพักผ่อนใต้อัฒจันทร์ ช่วงที่แข่งขันเฟสปิกเกมส์จบแล้ว ไม่ได้เบี้ยเลี้ยง ก็ค่อนข้างกินกันอดๆ อยากๆ อย่างผมมีเงิน 20 บาท นานๆ จึงจะได้ไปซื้อของข้างนอก ต้องรอของหมด ไข่สองใบกินกันสี่คน ทอดแล้วหารครึ่งเลย แบ่งกันกิน เป้าหมายผมอยากไปพาราลิมปิกส์ แต่เราไม่อยากเป็นภาระครอบครัว พยายามไม่กวนพ่อแม่ ไม่กวนใคร จริงๆ มันเหมือนงมเข็มในมหาสมุทรนะ ชีวิตเราจะไปยังไงก็ไม่รู้เลย”

เมื่อก่อนเคยดูถูกความพิการของตัวเองว่าทำไมต้องพิการด้วย แต่ปัจจุบันนี้ให้ผมไปแลกกลับไปเป็นคนปกติผมก็ไม่เอา ผมยอมพิการดีกว่า เพราะเราคิดอีกแง่ว่า ถ้าเราเป็นคนปกติ เราอาจจะเป็นคนขี้ยา ติดยาไปแล้วก็ได้ ผมรักที่จะอยู่แบบนี้ คือเราอยากไปให้ถึงจุดหมาย เราก็ไปได้ไง

เจอเส้นทาง

ผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวในวงการกีฬาน่าจะจำได้ถึงการเปิดตัวอย่างสะใจกองเชียร์ของประวัติที่เอาชนะแชมป์เก่าอย่างฮาน ฟรายส์ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในพาราลิมปิกส์ที่กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี 2000 เพราะขณะนั้นฮาน ฟรายส์เป็นทั้งผู้ครองสถิติโลก และมีสถานะกึ่งตำนานในวงการวีลแชร์อยู่แล้วด้วยสถิติแชมป์เหรียญทองพาราลิมปิกส์ 15 เหรียญ (ขณะนั้น) ในขณะที่ม้ามืดผู้ทิ้งให้ฮาน ฟรายส์ ตามเก็บฝุ่นอยู่ห่างเกือบรอบอย่างประวัติ กลับเพิ่งได้เข้าแข่งขันพาราลิมปิกส์เป็นปีแรก และอันที่จริงเกือบจะไม่ได้แม้แต่เป็นตัวแทนนักกีฬาของประเทศไทย

“ผมซ้อมเองอยู่อย่างนั้นจนกลับมาเจออาจารย์สุพรตอีกรอบหนึ่ง อาจารย์ให้ไปเก็บตัวเพื่อคัดตัวไปพาราลิมปิกส์ที่ซิดนีย์ ไปเก็บตัวที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ก็ซ้อมอยู่เกือบปี เขาเอาแค่ 8 คน ต้องแข่งกับรุ่นพี่หลายคน โชคดีมากที่ผมติดเป็นคนที่ 8 ตอนแรกเขาจะไม่เอาด้วย บอกว่าเวลาไม่ค่อยดี แต่มีพลตรีวีรวัฒน์ ตันสุหัช หัวหน้าคณะนักกีฬา ท่านบอกว่าไอ้เด็กคนนี้จะได้เหรียญพารา เอาไอ้เด็กคนนี้ไป ดูจากการฝึกซ้อม ดูจากการแข่งขัน ถ้าเอามันมาฝึกฝนให้มันดี คิดว่าน่าจะได้เหรียญทองแน่ ท่านมองขาดเลย คือเวลาเราเท่ากับอีกคนหนึ่งแต่เขาพิการมากกว่าเรา ดังนั้น เขาอาจจะเลือกที่ความแข็งแรง แล้วก็ทักษะการปั่น ตอนนั้นเราคิดอยู่ว่าถ้าไม่ติดก็คงกลับบ้านแล้ว เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราระเหเร่ร่อนมาก็หลายปีแล้ว แอบซ้อมจนคนเปิดปิดสนามเขารู้กัน แต่เขาสงสารเลยปล่อย และให้ซ้อมยังไงก็ได้ แค่อย่าให้มาเดือดร้อนมาถึงเขา

…ดังนั้น พอเราคัดติด เขาเลือกเรา มันเหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย ความฝันเริ่มมีเค้าแล้วจากที่ริบหรี่ ในใจคิดว่าทีนี้แหละถึงคราวข้าแล้วแหละ ตอนนั้นกีฬาพาราลิมปิกส์มีรุ่นพี่คนหนึ่งชื่อพี่ประสบโชค กลั่นเงิน เป็นทีมชาติวีลแชร์เรซซิง แกได้เหรียญทองแดงที่พาราลิมปิกส์ที่แอตแลนต้ามา ผมก็ดูเขาเป็นแรงบันดาลใจมาตลอดเลย คิดอยู่กับตัวเองเสมอว่า พี่เขาทำได้แค่เหรียญทองแดง เราต้องไปเอาเหรียญทองมาให้ได้ เราจะต้องเป็นชื่อแรกของประเทศที่จะต้องได้เหรียญทองพาราลิมปิกส์ มุ่งมั่นมากกับการซ้อม ยิ่งกลับไปอยู่กับอาจารย์สุพรต อาหารการกิน ที่หลับที่นอนสุขสบาย มันทำให้ทุกอย่างมันพร้อม

…เมื่อก่อนตอนซ้อมเองอยู่สนามศุภฯ ผมซ้อมจริงจังทุกวัน คือลงสนามไปปุ๊บ ปั่นไปเลย 30 รอบสนาม รอบละ 400 เมตร 30 รอบ เพราะตอนนั้นยังไม่มีการตัดระยะ 10,000 เมตรออกจากการแข่งขัน เสร็จปุ๊บ ผมมาปั่น 400 เมตร อีก 12 รอบทุกวัน ต้องวิ่งลู่แปดนะ วิ่งลู่นอกสุด ใหญ่สุด คิดเองในหัวว่าสมมติว่าเวลาเราไปแข่ง เราก็แข่งลู่หนึ่ง ลู่สอง ลู่สาม มันจะได้สบายในการที่จะสปีดขึ้น เราคิดโปรแกรมการซ้อมของเราเอง รวมเป็นระยะทางเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ถ้าวันไหนเบื่อ กลางคืนจะไปปั่นลู่รอบนอกสนามศุภฯ ที่เป็นถนน สมัยนี้ปั่นไม่ได้แล้วลูกคลื่นเยอะมาก บางทีก็คิดถึงนะที่เก่าๆ ที่เราเคยอยู่ บางทีก็ขับรถไปดู ไปนั่งดูบรรยากาศเดิม ๆ ไปดูสถานที่ที่เราปีนซ้อม เออ---มันผ่านมาได้ยังไงชีวิต ล้มลุกคุกคลานสมบุกสมบันมาก

…ทีนี้พอมาเก็บตัวพาราลิมปิกส์ซิดนีย์เราก็ซ้อมตามที่เราเคยซ้อม อย่างที่เราถนัด 30 รอบ เสร็จแล้ว ก็มารอลงคอร์ทกับอาจารย์ เขาก็จะมีโปรแกรมการฝึกว่าวันนี้จะปั่นระยะเท่าไหร่ กี่รอบ ปั่นอะไรบ้าง ก็จะเข้าระบบ ตอนนั้นมันปั่นก็ไม่เหนื่อย เขาให้เราปั่นยังไงเราก็ปั่น​​​​ได้หมด ก่อนแข่งแน่นอนเราอยากได้เหรียญทอง แต่มันก็แค่ฝันแบบลมๆแล้งๆ พี่ๆ เขาจะพูดว่า แชมป์โลกเก่งมาก วัย 30-40 ชื่อฮาน ฟรายส์ ชาวสวิตเซอร์แลนด์ แชมป์โลกหลายสมัยแล้ว ไปแข่งเราก็กลัว แต่ก็ไม่ได้คิดอะไร มันเด็ก อายุประมาณ 18-19 ลงสนามเด็กกว่าเขาเลย ตัวกะต้อยเดียว มีแต่ตัวบะเอ้กกันทั้งนั้น ตอนสตาร์ท ตัวสั่นมากเลย ครั้งแรกของผม แข่ง 10,000 เมตร แต่พอสตาร์ทไปได้สักรอบหนึ่ง เลือดมันเริ่มอุ่น เริ่มเข้าที่ พอเข้าล็อกมันไปเลยนะ ทิ้งแชมป์โลกขาดเลย ทิ้งกันเป็นน็อครอบ 400 เมตร เพราะเราซ้อมมาดี อาจจะรถเข้าถูกจังหวะด้วย อะไรด้วย แล้วเราไม่เคยเกเร ซ้อมตลอด อยู่ในระบบระเบียบวินัยอะไรดีตลอด

… ผมคิดว่าคนเรานะ บางคนเขาเรียกว่าสิงห์สนามซ้อม ซ้อมดีมากๆ แต่พอไปแข่งก็เป็นอีกแบบนึง พอตื่นอะไรแบบนี้ พอตื่นมากๆ เรี่ยวแรงก็หายหมด แต่เราซ้อมยังไง ไปแข่งเราก็แบบนั้นเลย อีกอย่างหนึ่งคือลึกๆ เรามีความตั้งใจตั้งแต่ต้น อยากจะได้เหรียญ ผมก็ได้วางแผนเอาไว้ ซ้อม วอร์ม 30 รอบ เพราะแข่งมันก็ 25 รอบ 10,000 เมตร เราก็ซ้อมให้มันเกินเข้าไว้ พยายามฝึกตัวเองก่อนที่จะลงคอร์ทกับอาจารย์ พยายามสปีดขึ้น สปีดลง สปีดขึ้น สปีดลง ผ่อนบ้าง เร็วบ้าง ซึ่งมันไปใช้จริงๆ”

คนก็คือคน พูดเสมอๆ ว่าคนเราจะทำอะไรก็ได้ ไปดวงจันทร์ดวงดาวก็ได้แต่กีฬามันเป็นเครื่องวัดความสามารถของคน ถ้ามีคนทำสถิติไว้ 10.00 วินาที อีกคนก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำยังไงให้ชนะตรงนี้ได้

ยุทธศาสตร์

การแข่งขันวีลแชร์เรซซิงเป็นมากกว่าการประลองกำลังกาย แต่ยังเป็นเรื่องของการขับเคี่ยวกำลังความคิดและการตัดสินใจด้วย นักกีฬาไม่เพียงต้องมีพละกำลังพอจะสร้างความเร็วที่เหนือกว่า แต่ยังต้องมีจิตวิทยาและชั้นเชิงการใช้วีลแชร์ที่ชาญฉลาด การแซงในการวิ่งแข่งอาจทำได้ด้วยเพียงการเร่งฝีเท้าและเอี้ยวตัวหลบคนข้างหน้า แต่ในการแข่งขันวีลแชร์ซึ่งตัวรถยาวและมีรัศมีบังคับจำกัด การปั่นรถได้เร็วอาจไม่มีประโยชน์ เมื่อลู่หรือทิศทางที่นักกีฬาต้องการไปถูกขวางอยู่ด้วย วีลแชร์ของคู่แข่ง สุพรต เพ็งพุ่ม โค้ชวีลแชร์เรซซิงทีมชาติไทย ที่ประวัติเรียกว่าเป็น ‘พ่อคนที่สอง’ สรุปให้ฟังอย่างเห็นภาพว่า “นักกีฬาต้องคุมเกมเองได้ สร้างเกมเองได้ ซ้อมให้เหมือนแข่งและแข่งให้เหมือนซ้อม คนที่จะชนะในเกมก็คือคนที่ผิดพลาดในเกมน้อยที่สุด ไม่งั้นแรงก็มี อะไรก็มี แต่รถไปอยู่ตำแหน่งที่ไม่ดี ออกไม่ได้ มันก็เหมือนกับเราแห่นาค ไปไหนไม่ได้ก็ต้องเดินตามเขาไป”

โค้ชสุพรตยอมรับว่าประวัติคือนักกีฬาคนหนึ่งที่มีความครบเครื่องทั้ง ‘บู๊’ และ ‘บุ๋น’ “บู๊ก็คือนำตลอดใครจะแซงไม่ยอมให้แซง นำเดี่ยวเลยม้วนเดียวจบ บุ๋นก็คือเราตามบ้าง เขานำบ้าง พลิกแพลง สร้างเกมเอง ประวัติเขาเก่งเขามีความสามารถค่อนข้างมาก ได้ทั้งบู๊และบุ๋น มันอยู่ที่ว่าเมื่อตอนเข้าเกมไปแล้ว ไอ้บู๊บุ๋นที่ว่านั้นมันจะออกได้หรือไม่ได้ เช่น บางทีคิดว่าเหลืออีก 6 รอบ จะออกได้จากตำแหน่งที่อยู่ แต่เอาเข้าจริงออกไม่ได้ก็เสร็จ มันก็ต้องแล้วแต่ไหวพริบสติปัญญาของนักกีฬาแต่ละคน ณ ตอนนั้นที่เข้าไปแข่ง” โค้ชสุพรตอธิบาย

“ผมจะฝึกเลย ก็เหมือนที่เขาแข่งจักรยานนั่นแหละ มีกระชากหนีกัน คู่ต่อสู้เขากำลังปั่นเผลอๆ พอเรากระชากปุ๊บ ต่างคนก็ต่างลุกลี้ลุกลน มันก็ทำให้เขาเหนื่อยได้ ตัดแรงคู่ต่อสู้ แล้วผมจะซ้อมลู่นอก แรงเราจะได้เหลือเฟือ เวลาอยากจะขึ้น ตรงไหนก็ได้ เทคนิคก็มีขึ้นมีลง มีปาดหน้า เร่งขึ้นไปแล้วไปชะลออะไรอย่างงี้ เป็นเกม เป็นเทคนิคของแต่ละคน เวลาลงไปแข่งจริงๆ ผมทำตามซ้อมเลย พอลงไปปุ๊บ ผมก็กระชากเลย แล้วยิ่งตัวแชมป์โลกเอง เขาก็ทำแบบเรา เดี๋ยวกระชาก เดี๋ยวกระชาก แต่กระชากแล้ว เราดันกระชากต่อไง เขาหยุด เราก็ดึงต่อ พอดึงต่อเขาก็ยังไม่ได้พัก เขายังไม่ได้หายใจ เขาก็เหนื่อย มันถึงหลุดเป็น 400 เมตรไง เพราะว่ามันเหนื่อย คนดูอาจจะบอกว่าทำอย่างนี้ผมคงไปได้ไม่กี่รอบ เดี๋ยวก็หมด แต่เราเตรียมตัวไปดียอมรับว่าที่ซิดนีย์ผมซ้อมเยอะมาก เราต้องซ้อมไอ้เทคนิคของเราให้เต็มปอดก่อนถึงจะไปลงคอร์ทกับอาจารย์ เวลามาสนาม ผมจะมาก่อนรุ่นพี่ อย่างเขามานัดหกโมงครึ่ง หกโมงผมต้องมาแล้ว ต้องมาวอร์มเทคนิคของตัวเอง ฝึกวิชาตัวเองก่อน มันอยู่ในหัว เราต้องมองเกมว่าทำยังไง แต่มันใช้ได้ผลจริงๆ

...ผมดูแล้วว่าถ้าผมปั่นเป็น raw speed มันไม่โอเค เลยมาคิดว่า เออ---ถ้ามีคนทำลายเกม มันจะทำให้กลุ่มแตก จะทำให้เพื่อนเหนื่อย บางคนเขาปั่นแล้วเหมือนดูเชิงกัน ปั่นไปเอื่อยๆ ไม่ทำอะไรเลย ไปรอแต่เร่งตอนปลาย ใครแรงปลายดี คนนั้นก็ได้ แต่เราทำลายเกมให้เหมือนผึ้งแตกรัง มีกำลังอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีความคิดผสมผสานกัน อย่างเรากำลังแข่ง 5,000 เมตร เหลืออีกประมาณ 3 รอบสนามจะถึงเวลาเข้าเส้นชัย แต่เราโดนบล็อคอยู่ โดน 1 2 3 4 5 6 7 บล็อคอยู่ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างๆ ด้วย ออกไม่ได้ทำไง ผมเบรกเอาเลย เบรกให้เขาไปก่อนแล้ววนขึ้น บางคนคิดไม่ออกว่าจะออกยังไง ตื่นเต้น เห้ย---จะออกยังไงเนี่ย บางประเทศคัดตัวติด 4 คน เขาก็กันเลย เล่นเป็นทีม ให้เพื่อนเข้า เราก็เลยต้องเบรกก่อน ข้างหลังจะชนก็ช่าง เบรกแล้วเราหาช่องออก แต่เหนื่อยนะ เขาทิ้งเราอยู่ 2 ช่วงคันรถต้องใช้แรงมหาศาลนะถึงจะขึ้นคร่อมไปได้ แรงมันต้องเหลืออยู่ที่ว่าเทคนิคและความคิดใครจะเฉียบคมกว่าผสมผสานกัน แรงด้วย ตัดสินใจด้วย ต่อให้คนซ้อม ซ้อมดีมากๆ การคิดการอ่าน การตัดสินใจคุณช้าในช่วงพริบตาเดียว คุณก็พลาดได้

…เวลาแข่ง เราไม่ได้สักแต่ว่าแข่งอย่างเดียว เราต้องดูด้วย อะไรที่โค้ชสอนเราเก็บหมด อะไรที่มันผิดพลาดกับตัวเอง หรือที่จะต้องเสริมเข้าไป เราก็จะต้องเก็บมาเป็นข้อมูล เราไปแพ้เขามา แพ้จากอะไร อย่างรอบล่าสุดที่โตเกียว เกมมันไม่ได้อย่างที่คิด ผิดพลาดแต่ก็ยังมีติดเข้ามาหนึ่งเหรียญ ดังนั้น เราก็ต้องเตรียมที่จะเริ่มซ้อมเดือนหน้าว่าเราแพ้มาได้ยังไง ผิดพลาดเรื่องไหน แล้วเราต้องมีการเตรียมตัว บางทีเราคิดว่าเรามาเต็มร้อย แต่เขามาเต็มกว่าเราอีก เราต้องมานั่งคิดโปรแกรมการฝึกซ้อมแล้วว่าต้องเริ่มยังไง เพราะเดี๋ยวจะต้องมีการเก็บคะแนน เก็บอะไรอีก มันต้องอยู่ในหัวเราหมด ยิ่งเราอายุเยอะ เราจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างเราซ้อม ต่างประเทศเขาก็ไว เขาก็ซ้อมเหมือนเรา อ่านเกมเราเหมือนกัน แก้กันไปแก้กันมา”

…บางทีเราคิดว่า เราแบเบอร์ เราซ้อมมาดี แต่บางครั้งซ้อมเท่ากัน แรงพอกัน อุปกรณ์การแข่งของเขาก็อาจจะดีกว่า ลู่ลมกว่าเรา อย่างมาร์เซล ฮุก คนที่ได้แชมป์ 4 เหรียญทอง เขาออกแบบรถเป็นยี่ห้อปอร์เช่เลย เป็นคาร์บอน มีการเอาเข้าคอมพิวเตอร์ดูความเร็วของลม การบ้านของเรา ก็ต้องมีคิดว่า เออ---เราต้องหาวิศวะออกแบบเหมือนเขา ต้องทันเขา เราต้องเข้าไปส่องเขาว่าทำยังไง แต่ในความเป็นนักแข่งของเรา เรามีความรู้สึกได้ว่ารถเขาพุ่งมาก 1,500 เมตร ไม่ถึง 2 นาที 50 วิ ผมไม่เคยทำได้นะ การกระชากคือไวมาก ขึ้นไปแล้วขึ้นไปเลย ไล่ยาก ไล่ยากมาก”

ซุ่มซ้อม

ประวัติอาจบรรยายได้อย่างชัดเจนถึงเทคนิควิธีที่สร้างชัยชนะให้กับเขา แต่ต่างกันกับนักกีฬาไม่น้อยที่ความสำเร็จจากการแข่งขันมักนำไปสู่ความมั่นใจในความรู้และการก้าวขึ้นเป็นโค้ช ประวัติดูจะไม่เชื่อในสิ่งที่เขารู้เท่าใดนัก หากการเป็นแชมป์สร้างความมั่นใจใดๆ ให้กับประวัติ ความมั่นใจนั้นก็อยู่กับการซ้อม มากกว่ากลยุทธ์หรือเทคนิคทฤษฎีใดๆ ไมตรี คงเรือง รองเลขาธิการ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย และหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมเทเบิลเทนนิสพาราทีมชาติไทย ซึ่งเป็นเพื่อนของประวัติมาตั้งแต่สมัยยังเรียนที่ศรีสังวาลย์ตั้งข้อสังเกตว่าคุณสมบัติเด่นที่สุดของประวัติในฐานะนักกีฬา ก็คือวินัยในการซ้อม “ประวัติเขาไม่คิดว่าเขาเป็นแชมป์ เขาซ้อมเหมือนเขาไม่ใช่แชมป์ตลอด”

“เราอ่านเกมใครไม่ขาดสักคน นักกีฬาแต่ละคนบุคลิกไม่เหมือนกัน เราก็เก่งในระยะของเรา จะให้เราไปสอนคนอื่นให้เหมือนเราก็ไม่น่าจะใช่ ผมดูหลายคนที่อาจารย์สอนบางคนสอนขึ้นก็ขึ้น เร็วก็เร็ว บางคนสอนให้ตายก็ไม่ขึ้นเลย มันเป็นคนๆ ไป พอเราเริ่มดังต่างชาติเริ่มอยากจะขอมาซ้อมด้วย แต่ผมไม่ได้อนุญาต เพราะเราไปสอนไม่ได้ สรีระ การนั่ง การปรับวีลแชร์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แล้วความพิการอีก เคยมีนักข่าวของอเมริกาบอกว่ามีนักกีฬามาขอซ้อมกับผม ผมบอก ผมสอนไม่ได้หรอกครับ เพราะว่าความพิการของเราไม่เหมือนกัน เราไม่น่าจะไปสอนใครได้ อาจจะให้คำปรึกษาได้ ประสบการณ์ที่เคยทำ เคยเป็น อาจยังพูดบอกได้ แต่ถ้าให้ไปสอน ปั่นอย่างงี้นะ ต้องทำอย่างนี้นะ ไม่น่าจะได้

ผมว่าการแข่งวีลแชร์เรซซิงมันเป็นหัวใจของผม เพราะว่าชีวิตผมครึ่งชีวิตอยู่กับมันมา เหมือนเป็นเกม ที่ต่อสู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงการซ้อม จังหวะเดิมๆ ไม่ได้ ต้องแก้ไข บางทีเราเหมือนรถเสีย เสียก็ต้องซ่อมให้มันดีขึ้น บางทีเหมือนรถซิ่งก็ต้องโมให้มันแรงขึ้นอีก

…เรื่องซ้อมผมมองว่ามันเหมือนเป็นงานของเราอย่างหนึ่ง ถ้าหยุดซ้อมไปวันสองวัน ผมเริ่มนอนไม่หลับ เพราะว่ามันติดเป็นนิสัย เกือบครึ่งชีวิตผมใช้ชีวิตอยู่ในสนามแข่ง สนามฝึกซ้อม บางทีตอนกลางวันผมนอนหลับกับรถแข่งเลย เราจะตื่นประมาณตีห้าสบายๆ มากินกาแฟ ทำกิจวัตรประจำวันของเราให้เรียบร้อย เสร็จปุ๊บ หกโมงไม่เกินหกโมงครึ่งต้องถึงสนามแล้ว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่มาอยู่ในทีม จะต้องเป็นระบบระเบียบเหมือนกันหมด คุณไม่อยู่ในกฎในระเบียบคุณก็ไปไม่ถึงฝัน ถ้าจุดหมายเรามี อยากจะได้ อยากจะประสบความสำเร็จ แล้วเรามัวแต่โอ้เอ้จะประสบความสำเร็จได้ยังไง ไม่อยากทำตั้งแต่ต้นมันก็ไม่ได้ ไปแข่งต้องมีการวางแผน ต้องอยู่ในหัวเราหมดเลย การคิด การฝึกซ้อม การปฏิบัติตัวเองเรื่องกินนอน เรื่องพัก เรื่องกำลังใจจากครอบครัวผสมผสานกันหมด

… ผมไม่รู้นะว่านักแข่งคนอื่นๆ เขาใช้กันยังไง ก่อนเวลาผมแข่ง ผมพยายามนั่งทำสมาธิ คือถ้าเราไปแข่งระดับโลก ต้องนิ่งมากๆ เก็บตัวดีๆ นั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ ฝึกสติ ทำอะไรที่เรานิ่ง อย่างถ้ามีนักข่าวขอสัมภาษณ์ เราก็เอาไว้ก่อน แข่งเสร็จค่อยว่ากัน ส่วนใหญ่เขาจะมาถามว่ารอบนี้หวังกี่เหรียญ เอาเหรียญอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าไม่อยากให้สัมภาษณ์ แต่ที่เขาถามก็ทำให้เรากดดัน ก่อนแข่ง 4-5 วันผมนั่งสมาธิ ลงมากินข้าวแล้วกลับขึ้นห้องนอนซ้อมเสร็จกลับมาอาบน้ำ ไปกินข้าวขึ้นมานั่งทำสมาธิอยู่ในห้องจนกว่าจะแข่งเสร็จทุกรายการ มันจะไปช่วยตอนเราออกสตาร์ท เมื่อก่อนเราออกสตาร์ททีสั่น กว่าจะคุมสติได้ก็รอบสองรอบ แต่เดี๋ยวนี้ไม่เป็น เพราะว่ามีสติได้ฝึก และประสบการณ์ของเรามันทำให้เรานิ่ง ได้ไม่ได้ก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ถือว่าเราทำเต็มความสามารถ แต่ถ้าเขาทำดีกว่าเราก็ต้องยอมรับ

…ถามว่าซ้อมเหนื่อยไหม เหนื่อยนะ ท้อ แต่มันเป็นงานที่เราต้องฝ่าฟันและผ่านมันไปเราอายุ 40 แล้ว ต้องดูแลดีๆ ระบบการกินอาหารเสริมต้องถึง พวกเวย์ พวกบำรุงกระดูก ทุกอย่าง แฟนเป็นโค้ช เขาเป๊ะมากเลย เรื่องระบบอาหารการกิน หมดเท่าไหร่ช่างมัน คือเวลาเราซ้อม เราต้องซ้อมเหมือนเด็ก ไม่งั้นจะสู้กับเขาไม่ได้ เวลาโค้ชให้ลงคอร์ท จะหนักทุกวัน ยิ่งใกล้ไปแข่งจะหนักทุกวัน แทบจะไม่ได้มีที่หายใจเลย ผมชอบมาบ่นกับแฟน เหนื่อยมาก เราเหนื่อยเขาจะให้กำลังใจเรา แต่เวลาเราบ่นเราจะไม่บ่นให้โค้ชเห็น เราชอบมาบ่นกับครอบครัว

…แต่มันมีอย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก เวลาที่ผมเหนื่อยมากๆ ผมจะมานอนฟังเพลงเพื่อชีวิต ชอบทุกเพลง เพราะเพลงเพื่อชีวิตมันกลั่นมาจากชีวิตจริง อย่างพี่สมศักดิ์ เหมรัญ แกแต่งมาจากชีวิตจริง เพลง ‘สมศักดิ์ศรีวิถีคนกล้า’ และอย่างพี่อัศนี-วสันต์ เขาแต่งเพลง ‘คนหัวใจสิงห์’ มากินใจมากๆ เกี่ยวกับต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรค ฟังแล้วมันหายเหนื่อย”

เพื่อชีวิต

เมื่อปี 2554 สมศักดิ์ เหมรัญ เป็นที่รู้จักชั่วข้ามคืนจากรายการ Thailand Got Talent เนื่องมาจากเรื่องราวชีวิตจริงของเขาที่เสียทั้งแขนและมารดาไปในอุบัติเหตุถูกรถชน แต่ก็ยังไม่ยอมทิ้งความฝันที่ต้องการเล่นดนตรีและสู้ฝึกฝนจนสามารถมาเล่นกีตาร์มือเดียวออกรายการโทรทัศน์ได้อย่างน่าประทับใจ เพลง ‘สมศักดิ์ศรีวิถีคนกล้า’ ที่สมศักดิ์แต่งและร้อง มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “ร่างกายอ่อนล้า แต่ใจกล้าเดิน ฝันไม่ไกลเกิน ขอแค่ก้าวเดิน ด้วยความศรัทธา เชื่อในศักดิ์ศรี มั่นในวิถีของคนกล้า วันนี้ข้ามเส้นชัยมา ขอยิ้มทั้งน้ำตาให้สาใจ” ไม่น่าแปลกใจที่ประวัติจะเห็นว่าเพลงนี้ไม่ใช่เพียงเพลงของสมศักดิ์ แต่คือเพลงของชีวิตเขาเช่นกัน

“เรื่องแย่ที่สุดในชีวิต ตอนแรกๆ น่าจะเป็นเรื่องที่เราดูถูกตัวเอง พอได้เหรียญ มันก็เหมือนทลายปม เหมือนยกภูเขาก้อนใหญ่มากๆ ออกจากอก มันหลายเรื่อง หนึ่งเลย ฐานะทางบ้านเราแย่ เราอยากจะช่วยพ่อแม่ให้มันดีขึ้น และเราก็อยากจะให้คนเขายอมรับในความพิการของเรา เราอาจจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้เหมือนคนอื่นเขา คนอื่นเขาเรียนจบเป็นข้าราชการ เป็นทหารรับใช้ชาติ แต่เราก็อยากรับใช้ชาติทางด้านกีฬา แล้วเราก็ทำได้ ความฝันของเราที่ดึงธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาแล้วร้องเพลงชาติ เป็นคนพิการคนแรกที่ทำได้

…คำว่าไอ้เป๋ก็ไม่ได้ยินอีกแล้ว มีแต่ชื่อประวัติ ชื่อประวัติ วะโฮรัมย์ เป็นชื่อแรกที่คนพิการต้องได้ยิน ผมเชื่ออย่างนั้น ผมไม่ได้พูดโอ้อวด แต่ว่าเราไปตรงไหน คนอื่นเขาก็พูดถึงเรา ถามว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากใคร เขาก็บอกพี่ประวัติ ยกพี่เขาเป็นตัวอย่าง เพราะพี่เขาสู้จริงๆ มันเปลี่ยนทุกอย่าง ฐานะความเป็นอยู่ คนรู้จักเรามากขึ้น พ่อแม่อยู่สุขสบายขึ้น มันไม่มีอะไรบรรยาย เราเป็นแค่ลูกพิการๆ คนหนึ่ง แต่เราสามารถทำให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และภูมิใจที่สุดก็คือ เราเป็นคนพิการคนหนึ่งที่สามารถทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติได้

…เมื่อก่อนเคยดูถูกความพิการของตัวเอง ว่าทำไมต้องพิการด้วย แต่ปัจจุบันนี้ให้ผมไปแลกกลับไปเป็นคนปกติผมก็ไม่เอา ผมยอมพิการดีกว่า เพราะเราคิดอีกแง่ว่า ถ้าเกิดเราเป็นคนปกติ เราอาจจะเป็นคนขี้ยา ติดยาไปแล้วก็ได้ ให้มาแลกกับตอนนี้ผมก็ไม่เอา ผมรักที่จะอยู่แบบนี้ เราเป็นแบบนี้ เราก็ทำได้ คือเราอยากไปให้ถึงจุดหมาย เราก็ไปได้ไงขออย่างเดียวแค่เราอย่าท้อแค่นั้นเอง อยู่ที่ใจจริงๆ พิการแล้วเราอย่าเอาความพิการมาเป็นอุปสรรค มันต้องชนะใจตัวเอง ถ้าชนะใจตัวเอง ก็ผ่านมันไปได้เหมือนกัน”

บันดาลใจ

หนึ่งในสิ่งที่ถูกกำหนดไว้เป็น ‘คุณค่า’ (values) 4 ประการของพาราลิมปิกส์ คือ ความกล้า ซึ่งทางคณะกรรมการพาราลิมปิกส์นิยามไว้อย่างน่าสนใจว่า “จิตวิญญาณอันเป็นเอกลักษณ์ของนักกีฬาพาราลิมปิกส์ที่มุ่งสร้างความสำเร็จที่สาธารณชนมองว่าผิดคาดหมาย หากนักกีฬาเห็นเป็นความจริงอันไม่แปรผัน (the unique spirit of the Paralympic athlete who seeks to accomplish what the general public deems unexpected, but what the athlete knows as a truth.)” มีบทความและงานสำรวจหลายชิ้นที่วิเคราะห์ว่านักกีฬาคนพิการไม่ต้องการให้คนชื่นชมเพียงเพราะพวกเขาสามารถร่วมแข่งกีฬาทั้งที่ร่างกายพิการ เพราะแม้ความพิการไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ายกย่องในตัวเอง นักกีฬาพาราลิมปิกส์ไม่ได้มีสถานะพิเศษเพียงเพราะพวกเขาใช้วีลแชร์หรือขาเทียม แต่พวกเขาพิเศษเพราะสามารถใช้วีลแชร์หรือขาเทียมสร้างสถิติที่มนุษย์อื่นทำไม่ได้ต่างหาก ด้วยเหตุนี้ การได้ชัยชนะในพาราลิมปิกส์จึงไม่ได้หมายถึงเพียงชัยชนะในหมู่คนพิการ แต่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ของศักยภาพมนุษย์ อย่างที่โค้ชสุพรตกล่าวว่า “คนก็คือคน พูดเสมอๆ ว่าคนเราจะทำอะไรก็ได้ ไปดวงจันทร์ดวงดาวก็ได้แต่กีฬามันเป็นเครื่องวัดความสามารถของคน ถ้ามีคนทำสถิติไว้ 10.00 วินาที อีกคนก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำยังไงให้ชนะตรงนี้ได้ ก่อนการแข่งขันเขาจะมีการแสดง Start List ว่ารายการนี้สถิติโลกเท่าไหร่ สถิติพาราลิมปิกเท่าไหร่ สถิติเอเชียเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าชื่อที่ขึ้นมาในตำแหน่งเหล่านี้ เป็นประวัติ วะโฮรัมย์ เป็นพงศกร แปยอ ใครมาเห็น ไม่ว่างานจะจัดที่ไหน มันก็ทำให้พวกเราคนไทยทุกคนดูดีขึ้นไปอีกระดับ”

อาจเป็นด้วยเหตุนี้ ประวัติได้อาศัยตัวเองเป็นกระบอกเสียง เพื่อให้ภาครัฐมองเห็นเหรียญเป็นมากกว่าความสำเร็จของคนพิการ แต่คือความสำเร็จของคนไทยและชาติไทย

“ล่าสุดที่มีการถ่ายทอดสดพาราลิมปิกส์ให้คนในประเทศได้ดูเป็นเรื่องที่ดีมาก คนจะได้ดูความสามารถของแต่ละชนิดกีฬา เวลาแข่งขัน มันไม่ง่ายนะในระดับโลก กว่าเราจะได้แข่ง กว่าเราจะได้ไป ต้องเก็บคะแนน ต้องไปเก็บแรงก์ ต้องมีการคัดเลือกกว่าจะได้เข้ารอบชิงมันเหนื่อย อยากให้ดูความลำบากความยากของแต่ละชนิดกีฬา กว่าเขาจะได้เหรียญมา เขาต้องต่อสู้ขนาดไหน บางคนได้ บางคนไม่ได้ครั้งนี้มีถ่ายทอด มีคนคอมเม้นต์เข้ามาให้กำลังใจดีมาก เป็นเรื่องที่ดีเลย ผมชอบมากที่มีการถ่ายทอดให้ได้ดูกัน เมื่อก่อนคนจะพูดว่าคนปกติเขาแข่งยากกว่า เขาก็ต้องได้มากกว่าสิ คนพิการแข่งกันง่าย ซึ่งผมอยากให้ดู แล้วผมเชื่อว่ามันจะทำให้มีการพัฒนากีฬาให้มันดีกว่านี้ มันจะดีขึ้นในอนาคตกับรุ่นหลังๆ ที่กำลังจะขึ้นมา

…ตอนนี้ก็ดีขึ้นจากเดิมเยอะ เมื่อก่อนแข่งจบมาก็บ้านใครบ้านมัน ใครจะซ้อมก็ใช้รถตัวเอง ใช้งบตัวเอง ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยเองก็เริ่มให้ความสนใจสนับสนุน เริ่มมีสวัสดิการ เริ่มมีงานให้ทำ สนับสนุนในเรื่องงบประมาณ อุปกรณ์ฝึกซ้อม เรื่องค่าเบี้ยเลี้ยงเก็บตัว แล้วก็ให้เก็บตัวนานขึ้น แต่ถ้าจะฝากก็คือให้มีอะไรทิ้งไว้ให้นักกีฬาเป็นรูปธรรมติดตัวในวันที่เขาไม่ได้เล่นแล้ว เช่น นักกีฬาคนปกติกลับมายังได้ติดยศตำรวจ ติดยศทหาร อยากให้ทางภาครัฐหันมาดูแล เพราะว่าเขาก็ทำชื่อเสียงมายาวนาน หลายปีหลายสมัย แต่หลังจากที่เขาเล่นไม่ได้แล้วทำไง ไม่ใช่ว่าหมดแรงเลิกเล่นไปก็เป็นเรื่องของเขา ทิ้งเขาไปเลย ถ้าพัฒนาได้กีฬาก็จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ให้คนรุ่นหลังเห็น และอยากเข้ามา

…อุปกรณ์นี่สำคัญ บางทีสั่งจากต่างประเทศมาก็ไม่เต็มร้อยให้เรา อย่างรถใส่น็อตมาให้เราตัวเดียว เราก็ต้องมาดัดแปลง หรือถุงมือปั่น เมื่อก่อนใช้ถุงมือผ้า เดี๋ยวนี้ใช้เป็นถุงมือหล่อแข็งตามรูปมือเลย เราพยายามขอซื้อเขา แต่เขาบอกทีมไทยไม่ขายให้ ก็พยายามออกแบบกันเอง เอาเรซิ่นที่เขาใช้ปั้นเป็นรูปขาปลอมปั้น แต่ใช้ไปนานๆ ก็แตก เอาไปแข่งต้องระวังมากๆ ถ้าแตกปุ๊บ จบเลย ต้องเตรียมไฟแช็กไว้ลนเวลาแตก ตอนนี้เริ่มโชคดี มีวิศวะจากมหิดลมาออกแบบถุงมือให้เราฟรีๆ ทดลองกันอยู่หลายวัสดุด้วยกัน รอบแรกเอากระดูกเทียมมาหล่อ เขาเอามือไปก็อปปี้เลย เข้าคอมพิวเตอร์ ยิงเข้าไปว่าเป็นยังไง ดูหมด ทำมาแพงมากเลย คู่ละประมาณหกหมื่น ผมใช้อยู่ประมาณเดือนหนึ่ง สับจนแตก ทีนี้ออกแบบมาให้ใหม่ เป็นคาร์บอนไฟเบอร์ ทีนี้ทน”

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความจริงกระทบชีวิตคนพิการอย่างมีนัยยะเพราะในการดำรงชีวิตไม่ว่าเดินเหินหรือเคลื่อนไหวต้องมีสิ่งค้ำยันและจุดสัมผัสมากโดยสภาพ และเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพพลานามัย กระนั้น เช่นเดียวกับที่เขาเรียกร้องการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมให้กับคนพิการ ประวัติไม่ได้มองกลุ่มคนพิการแบบแยกห่างจากสังคมหรือมองหาสิทธิพิเศษใดๆ

“สำหรับนักกีฬาผลกระทบเป็นเรื่องการแข่งขัน เพราะปกตินักกีฬาปีหนึ่งๆ จะมีรายได้จากการแข่งแต่ละแมตช์ๆ หรืออย่างผมมีสลากกินแบ่งต้องขาย จ้างเขาขาย มันก็ไม่ได้ขาย รายได้ตรงนี้มันก็หายไป ถามว่ากระทบไหม กระทบ มันเป็นสิ่งที่เราเอามาจุนเจือครอบครัว เครียดด้วยบางที ค่าเทอมลูกมาอะไรมา ค่าใช้จ่ายในบ้าน แต่ผมว่าโควิดมันก็กระทบทุกคน กระทบทุกหน่วยงาน แต่คิดว่าเราจะอยู่ให้เป็น อยู่กับมันให้ได้ ประคองตัวเองไปได้ เราขาดรายได้ คนอื่นก็ต้องเป็นเหมือนเรา ไม่ได้เป็นแต่เราคนเดียว มันเป็นกันทั่ว ทั่วประเทศ ทั่วโลก ธรรมดา ผมก็เป็นกำลังใจให้ทุกคนทุกหน่วยงาน คิดว่าอีกไม่นานเราน่าจะผ่าน เราน่าจะกลับมาเป็นสิ่งที่เราเคยเป็นเหมือนเมื่อก่อน ในอีกไม่ช้า”

เสือยิ้มยาก

ประวัติมีฉายาที่เพื่อนและคนในวงการเรียกว่า ‘เสือยิ้มยาก’ ซึ่งคนที่ได้ดูการแข่งขันจะไม่แปลกใจ เพราะน้อยครั้งที่ประวัติจะยิ้มให้กล้องไม่ว่าจะจับภาพตอนใด บนโครงรถแข่งของเขาหากสังเกตให้ดีจะเห็นสติกเกอร์ชื่อนี้ติดอยู่ อันที่จริงไม่เพียงแต่ยิ้มยาก คำพูดของประวัติโดยทั่วไปจัดว่าสั้นและไม่ฟุ่มเฟือยบทสัมภาษณ์หลายส่วนต้องเย็บขึ้นจากคำตอบของคำถามต่อเนื่องหลายคำถาม ประวัติยืนยันว่าทุกวันนี้เขาถือว่าพูดได้มากกว่าในอดีตไม่น้อยทีเดียว

“มันก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย พูดอย่างไม่อาย แรกๆ เราไม่เคยมีเงินทอง พอไปแข่งประสบความสำเร็จ ก็หลงตัวเองไปชั่วขณะเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องการใช้เงิน เงินจากการแข่งถ้าคนจัดการดีๆ ก็มีที่มีทางเยอะแยะ แต่ผมแรกๆ เอาไปซื้อรถ เปลี่ยนเป็นว่าเล่น พอเริ่มมีแฟนมีลูก เริ่มคิดได้ สมัยแต่งกับแฟนยังอยู่บ้านเช่า ยังไม่มีบ้านเป็นของตัวเองเลย มันเลยมีเป้าหมาย ต้องมีบ้านให้ลูกให้แฟนอยู่ให้ได้ ชีวิตที่เราชอบเที่ยวมากๆ มันก็หยุด มันไม่อยู่ในหัว มุ่งกับการซ้อมของเรามากกว่า เราไม่เหมือนคนปกติ คนปกติเขาแข่งรอบเดียวก็สบาย เราแข่งหลายรอบกว่าจะได้ขนาดนี้ ไม่งั้นผมเลิกไปนานแล้ว แต่พอมีเมียมีลูกเหมือนเราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น รอบคอบเกี่ยวกับการใช้เงินมากขึ้น คิดตลอดว่าจะดูแลเขาให้ดีที่สุด

…ฉายา ‘เสือยิ้มยาก’ มาตั้งแต่แข่งที่ซิดนีย์เลย ทุกคนในวงการกีฬาเรียก เพราะว่าเราจะเป็นคนที่ไม่ค่อยยิ้ม ไม่ค่อยพูด พูดไม่ค่อยเก่ง ผมเพิ่งมาปรับตัวเองเมื่อไม่กี่ปีนี่เอง เริ่มยิ้ม เริ่มอะไร เริ่มพูด เมื่อก่อนพูดไม่เก่งเลยนะ ถามคำตอบคำ ถามคำตอบคำ ไม่ยิ้มเลย มันก็เลยเป็นฉายาติดตัวมา มันต้องเปลี่ยน เพราะว่าเราต้องเข้ากับสังคม ต้องเข้ากับเพื่อน ต้องเข้าหาผู้ใหญ่ จะบึ้งอย่างเดียวไม่ได้ ปรับบุคลิกตัวเอง

…เรื่องแข่งทีแรกคิดว่าจะหยุดตั้งแต่ปีที่แล้วแล้วนะ เนื่องจากสถานการณ์โควิด เขาให้เราเก็บตัวมา 4 ปีใน Road to Tokyo แล้วพาราลิมปิกโตเกียวดันเลื่อนมาเป็นปีนี้ เลยยืดเป็น 5 ปี พอ 5 ปีปุ๊บ เขาก็ต้องใช้งบของ Road to Paris (พาราลิมปิกส์ครั้งต่อไป) ก็เหลืออีก 3 ปี ฉะนั้นผมก็ต้องเล่นให้มันครบ ก็ต้องไปต่ออีกรอบหนึ่ง ก็ไปจบที่ปารีส

…ผมว่าการแข่งวีลแชร์เรซซิงมันเป็นหัวใจของผม เพราะว่าชีวิตผมครึ่งชีวิตอยู่กับมันมา เหมือนเป็นเกม ที่ต่อสู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เราอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงการซ้อมจังหวะเดิมๆ ไม่ได้ ต้องแก้ไข บางทีเราเหมือนรถเสีย เสียก็ต้องซ่อมให้มันดีขึ้น บางทีเหมือนรถซิ่ง ก็ต้องโมให้มันแรงขึ้นอีก ก็ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ”

เห็นได้ชัดว่ากีฬาไม่เพียงได้เปลี่ยนชีวิตของประวัติ แต่ยังได้กลายมาเป็นชีวิตของเขา ดังนั้น ในขณะที่ประวัติอาจจะเลิกลงแข่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นิสัยของการต่อสู้ไม่อยู่นิ่งเพื่อเอาชนะเงื่อนไขของชีวิต

คือโอลิมปิกส์แห่งความเป็นจริงที่เขาคงไม่มีวันรามือ