SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Pushing All the Buttons
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับความพยายามกดปุ่มเปิดความเป็นไปได้ทางการเมือง ที่ไม่อาจใช้เพียงความรู้ แต่รวมถึงการรอเวลาและความอดทน
ท่ามกลางบรรยากาศห้องประชุมของรัฐสภาซึ่งมักท่วมท้นด้วยชุดสูทดำและเสื้อขาวของบรรดาส.ส.เป็นโมโนโครม การแต่งกายของ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่จัดจ้านเตะตา ไม่ว่าจะเป็นคู่สีตัดระหว่างเนคไทกับสูทแบบแปลกตาของปกเชิ้ต ไปจนถึงผ้าพ็อกเก็ตสแควร์บนหน้าอก หรือแม้แต่สายดึงกางเกงในบางครั้งบางคราว นับว่าชวนให้นึกถึงตัวละคร ‘กอร์ดอน เก็คโค’ ในภาพยนตร์เรื่องวอลล์สตรีทของโอลิเวอร์ สโตน ที่กล่าวกันว่าให้กำเนิดลุคนายแบงก์อันฟู่ฟ่าแห่งยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กระนั้น แม้ด้วยความโฉบเฉี่ยวนี้ น่าประหลาดใจว่า ‘เครื่องแต่งกาย’ ของพิธาที่คนพูดถึงมากที่สุดกลับไม่ได้มาจากสิ่งที่เขาสวมใส่ หากมาจากคำอภิปรายครั้งแรกในสภาของเขา ที่กลายมาเป็นที่รู้จักในนามวาทะ ‘กระดุมห้าเม็ด’
หลังจากรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งรวมถึงนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตร พิธา ซึ่งขณะนั้นมีฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ และมีดีกรีเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรำข้าวรายใหญ่ของประเทศซึ่งต้องคลุกคลีอยู่กับเกษตรกรโดยลักษณะธุรกิจ ได้ลุกขึ้นร่ายให้เห็นว่าเหตุใดนโยบายทางการเกษตรของรัฐบาลจึงไม่มีความหมายหากมิได้มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา พร้อมกับเสนอว่าแท้จริงแล้วปัญหาทั้งหมดของเกษตรกรเริ่มต้นจาก ‘กระดุม’ เม็ดที่หนึ่ง คือการไม่มีที่ดินทำให้เกษตรกรไม่มีหลักประกันที่จะเข้าถึงเงินทุนได้ นำไปสู่กระดุมเม็ดที่สองคือภาวะหนี้สินจากหนี้นอกระบบ และกระดุมเม็ดที่สาม คือความต้องการความแน่นอนของผลผลิตเพื่อเอาไปใช้หนี้ซึ่งหมายถึงการพึ่งพิงสารเคมี และการปลูกพืชซ้ำที่ขายไม่ได้ราคา โดยเมื่อต้นทุนสูงแต่ขายไม่ได้ราคา ก็นำไปสู่กระดุมเม็ดที่สี่ คือการไม่มีเงินออมไปสร้างนวัตกรรม และยิ่งไม่อาจฝันไกลไปถึงการทำท่องเที่ยวเชิงการเกษตรเป็นกระดุมเม็ดที่ห้าเนื่องจากไม่เคยมีที่ดินเป็นของตัวเอง
ด้วยข้อมูลที่เรียบเรียงมาอย่างกระชับ โวหารที่ต่อเนื่องเข้าใจง่าย และบุคลิกแจ่มใสไม่กระแทกกระทั้น คลิปการอภิปรายในสภา ซึ่งปกติจะกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียหรือได้พื้นที่สื่อก็ต่อเมื่อมีท่อนฮุคคำด่าถึงพริกถึงขิงกลับถูกแทนที่ด้วยคลิปกระดุมห้าเม็ดของพิธา ซึ่งคนแชร์และพูดถึงมากในฐานะความหวังของการเมืองน้ำใหม่ ที่ใช้ข้อมูลและสาระขับเคลื่อนมากกว่านวัตกรรมทางการประณาม กระทั่ง พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นเจ้าภาพเหนือเรื่องนโยบายการจัดการที่ดินยังลุกขึ้นกล่าวชื่นชมแบบออกนอกหน้าว่า “ฟังแล้วรู้สึกเป็นข้อเสนอที่สร้างสรรค์มาก ไม่ปฏิเสธเลย” สิ่งนี้ทำให้คนไม่แปลกใจที่ต่อมาเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พิธาจะก้าวขึ้นมานำพาสมาชิกพรรคที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเดินหน้าต่อในนามพรรคก้าวไกลที่มีเขาเป็นหัวหน้า
อย่างไรก็ตาม หากประวัติศาสตร์การเมืองไทยพอจะบอกอะไรได้ การแจ้งเกิดทางการเมืองนั้นอาจทำได้ที่สภา แต่ยังไม่อาจจบลงที่นั่น เพราะนอกเหนือจากการอภิปรายได้สีสันการเมืองที่สัมฤทธิ์ในเมืองไทยยังต้องครอบคลุมไปถึงการต่อรองกับพรรคการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุน ตลอดจนประชาชน ซึ่งไม่แน่ว่ายังให้น้ำหนักกับการเมืองในสภาแค่ไหนในยามที่ข้อมูลไหลบ่าและความสนใจถูกทุ่มเทอยู่กับการแก้ปัญหาปากท้องรายวัน อย่าว่าแต่ประเด็นทางการเมืองหลายเรื่องไม่อาจแก้ได้ด้วยเพียงการพูด หรือมิฉะนั้นก็ไม่อาจพูดได้โดยเปิดเผย ความตกผลึกในปัญหาจะช่วยเขาได้เพียงใด ในบรรยากาศการเมืองแบบ ‘ไทยๆ’ ที่ดูเหมือนไม่มีใครพอใจ แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มาช้านาน
พิธาเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกในทางการเมืองด้วยการอภิปราย คำถามคือเขาจะติดกระดุมเม็ดต่อๆ ไปได้อย่างไร
ย่อยปัญหาใหญ่
หากไปค้นดูประวัติ ความจริงก่อนที่จะมาเป็นกระดุมเม็ดแรกในสภา พิธาได้ติดกระดุมมาแล้วหลายเม็ดก่อนหน้านั้น องค์ประกอบหลายอย่างได้ช่วยต่อจุดเส้นทางของเขาในฐานะนักการเมือง เป็นที่รู้กันดีว่าหลังจบปริญญาตรีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้ไปต่อปริญญาโทสองใบจากมหาวิทยาลัยระดับโลก ใบหนึ่งจาก Harvard Kennedy School ซึ่งเป็นยอดของโรงเรียนทางด้านการเมือง และอีกหนึ่งใบจาก MIT Sloan School of Management ซึ่งเป็นยอดของโรงเรียนด้านการบริหาร ไม่เท่านั้น เขายังเคยทำงานที่บริษัทที่ปรึกษาอย่าง Boston Consulting Group (BCG) และมีประสบการณ์ตรงในการพลิกบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ธุรกิจที่จมหนี้นับร้อยล้านของที่บ้าน ให้กลายมาเป็นธุรกิจส่งออกน้ำมันรำข้าวอันดับต้นของประเทศและของโลก
“ผมว่าผมประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการศึกษา ทุกวันนี้ผมยังไม่รู้เลยเลยว่าตัวเองได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ตอนปริญญาโท แต่พอมาทำงานแล้วมันได้ใช้ความรู้ที่เรียน เรื่องการเงิน เรื่องการบริหารธุรกิจ หรือว่าเรื่องการเมืองการปกครอง ระบบ MMP/MMA (Mixed Member Porportional/Mixed Member Apportionment) คืออะไร จะวางแผนในการหาเสียงยังไง รู้ว่าต้องแบ่งฐานเสียงเป็นสามก้อน ก้อนเขียว-ก้อนเหลือง-ก้อนแดง ก้อนเขียว เจอหน้าผมครั้งเดียวพอ เพราะเขาโหวตผมอยู่แล้ว ก้อนแดงไม่ต้องไปเจอเลย เพราะเขาไม่โหวตให้ผมอยู่แล้ว แต่ก้อนเหลืองต้องเจอผมสามรอบเพราะว่าเป็น swing vote มันได้เอามาใช้จริงแต่ทั้งการเมือง ทั้งธุรกิจก็เหมือนการเรียนว่ายน้ำ การที่มีคนมาบอกว่ากลั้นหายใจ ปล่อยลมหายใจตอนขึ้น ทำสโตรกให้กว้างเข้าไว้ ทำเป็นรูปตัว S แล้วก็ว่ายให้ได้ กับการที่คุณลงไปว่ายจริงๆ มันไม่เหมือนกัน ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จตรงที่สิ่งที่ได้เรียนมา ยังจำในหัวได้ เอาไปอภิปรายเรื่องแก้รัฐธรรมนูญหรืออะไรก็ตามได้เร็ว
…บางอย่างเราพอได้ฝึกมาแล้ว ตอนเรียนฮาวาร์ดมีเลือกตั้งประธานาธิบดี บุชแข่งกับ อัล กอร์ มหาวิทยาลัยคลั่งการหาเสียงให้บุชมาก ก็ได้ช่วยเพื่อนๆ หาเสียงให้บุช พอมาเอ็มไอที เป็นมหาวิทยาลัยของทั้งจอห์น เคร์รีกับโอบามา ก็คลั่งเดโมแครตมาก ก็ได้เห็นอีกจนรู้ว่าหาเสียงต้องเดินแบบนี้ ต้องบอกคนว่าเลือกตั้งวันนี้ ให้ไปที่โบสถ์นี้ เวลานี้ ทำให้มันง่าย เช่น ผมต้องบอกกับคนว่า ‘เดี๋ยวราชาเทวะจะมีการเลือกตั้งนะครับ เปิด 11 โมงถึง 6 โมงนะครับ อยู่ที่วัดตรงนี้นะครับ คุณยายอย่าลืมไปเลือกนะครับ สวัสดีครับ’ เหมือนกับว่าเรามีโอกาสได้ลอง sand box มาก่อนเจอของจริง เคย sand box ในทำเนียบมาก่อนจะมาเป็นส.ส. เคย sand box ในสภาเก่าก่อนจะมาเป็นสภาใหม่ เคยอยู่เอกชนมาก่อน เวลาสมาคมอะไรมาร้องเรียนเราก็เข้าใจได้ว่าปัญหาของเขาอยู่ตรงไหน เคยเป็นที่ปรึกษาธุรกิจมาก่อนก็จับปัญหาได้เร็ว เพราะมันคือหน้าที่ของแบงเกอร์หรือคอนซัลท์อยู่แล้วที่จะต้องหาดาวเหนือของปัญหาให้เจอ และรีบเคลียร์
แต่บอกเลยว่าเรียนสโลนกับเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ หนังสือเรียนเล่มเดียวกัน เวลาเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค เรียนเรื่องสถิติ หนังสือเรียนเล่มเดียวกันเป๊ะ ครูสโลนก็ไม่ได้สอนดีกว่าธรรมศาสตร์ เอาจริงการบ้านธรรมศาสตร์ยากกว่าการบ้านที่สโลนเยอะ แต่สิ่งที่ทำให้สโลนเป็นสโลนได้คือ flipped classroom ที่เราเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นมากกว่าเรียนกับครู
…แต่บอกเลยว่าเรียนสโลนกับเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ หนังสือเรียนเล่มเดียวกัน เวลาเรียนเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค เรียนเรื่องสถิติ หนังสือเรียนเล่มเดียวกันเป๊ะ ครูสโลนก็ไม่ได้สอนดีกว่าธรรมศาสตร์ เอาจริงการบ้านธรรมศาสตร์ยากกว่าการบ้านที่สโลนเยอะ แต่สิ่งที่ทำให้สโลนเป็นสโลนได้คือ flipped classroom ที่เราเรียนรู้จากเพื่อนร่วมชั้นมากกว่าเรียนกับครู ดังนั้น สิ่งที่ต่างระหว่างอุดมศึกษาของประเทศไทยกับเมืองนอก ไม่ได้อยู่ที่หนังสือเรียน ไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร ไม่ได้อยู่ที่โปรเฟสเซอร์ หรือการบ้าน แต่อยู่ที่วิธีการเรียน อย่างถ้าเป็นในเมืองไทยก็ต้องค่อยๆ เรียน ใส่ spread sheet ทีละอันเรียนว่า cash flows มาจาก operations, investing, financing แต่ทางนู้นจะเรียนพวก case study มากกว่า หนังสือเรียนเล่มเดียวกัน ทางนี้เรียนแนวคิดแต่ทางนั้นเรียนกรณีศึกษา วิธีประยุกต์ แล้วก็ถกเถียงกันด้วยความหลากหลายของห้องเรียน
…เช่นห้องเรียนหนึ่งอาจมีลูกเจ้าของอินเวสเมนต์แบงก์ในอิตาลี มีคนจากไนจีเรียหรือรวันดาที่มาพูดเคสธุรกิจของแอฟริกันแบงก์มันก็เห็นมุมที่หลากหลายมากกว่า จนกระทั่งมาถึงเรื่องคำนวณก็เข้าเว็บไซต์ใส่ assumptions (สมมติฐาน) เคาะปุ๊บคำตอบก็ออกมา ดังนั้น ถึงหนังสือเรียนเล่มเดียวกันแต่พอแนวทางต่าง มันก็ต่างกัน เราเลยรู้ว่าการศึกษากับการเรียนรู้ต่างกัน ทั้งเรื่องของความสนุก ความกระตือรือร้น การได้รู้จักกับคน ถ้าเป็นความแม่นยำในกฎบัญชี ในการลงเดบิต-เครดิต ฝรั่งแพ้เราแน่นอน แต่ของเขามีเรื่องการทำงานเป็นทีม การเสาะหาข้อมูล เช่น เรียนเรื่อง WACC (Weighted Average Cost of Capital) ถ้าครูที่ธรรมศาสตร์เขาก็จะบอกเลยว่า WACC เท่ากับ 12% แต่ทางนี้เขาจะถามว่าคุณไปหา treasury bond แบบไหนได้ คุณอาจต้องออกนอกห้องไปหาข้อมูลในบลูมเบิร์กก่อนว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อัตราเท่าไหร่ discount ยังไง แล้วค่อยกลับมาทำต่อที่ห้อง ครูก็ไม่ว่าอะไร ในขณะที่ตอนอยู่ธรรมศาสตร์ถ้าใครไปเข้าห้องน้ำต้องอธิบายว่าไปบ่อยเพราะอะไร ความรู้สึกมันก็ต่างกัน
…เวลาที่ต้องการให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เราไม่ได้เรียนจากโปรเฟสเซอร์อย่างเดียว โปรเฟสเซอร์ทำหน้าที่เป็นแค่คนช่วยดึง pool of talent ออกมา ตอนนั้นที่เคนเนดี้เอาจีดีพีโลกมาตั้งเลยมั้งว่า ไทยมี 1% ก็มีนักเรียนไม่ต้องเกิน 1-2 คนพอ จีนกับอินเดียใหญ่หน่อยก็รับเยอะหน่อย จำลองห้องเรียนเหมือนโลก เอาคนท็อปๆ ของแต่ละที่มา พอความหลากหลายในห้องเรียนเป็นแบบนั้น เวลาเราถกเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ทำยังไงให้ราคาหุ้นขึ้นเร็วที่สุดหรือ private equity แบบไหนที่จะบริหารความเสี่ยงได้ดีที่สุด เราจะได้เรียนรู้มากกว่าจากอาจารย์ แต่ได้เรียนรู้จากเพื่อนทุกคน อาจารย์แทบไม่พูดเลย อาจารย์จะชี้ให้คนนี้พูด คนนั้นพูด ดังนั้น ไม่ใช่ว่าไปอยู่อเมริกาแล้วจะมีความคิดแบบอเมริกาจ๋าอย่างเดียว ไม่ใช่เลย เขายินดีให้แม้แต่คนอิหร่าน คนเวเนซูเอล่า คนรัสเซียที่เป็นศัตรู เข้ามาอยู่ในห้องเรียนเพื่อที่จะได้เรียนรู้ และมีมุมมองที่ inclusive และมีความหลากหลายมากกว่า”
กระทั่งวิธีคิดแบบ ‘กระดุมห้าเม็ด’ ก็กล่าวได้ว่ามีรากเหง้ามาจากประสบการณ์การทำงานเป็นที่ปรึกษาของพิธา เมื่อครั้งเรียนจบปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์
“พอมีปัญหาก้อนใหญ่ๆ เยอะๆ ต้องพยายามซอยออกมาให้ได้ ถ้าเป็น McKinsey เขาใช้หลัก MECE (Mutually Exclusive, Collectively Exhaustive) คือ มีปัญหาก้อนหนึ่ง คุณต้องพยายามซอยออกเป็นปัญหาย่อยให้ได้มากที่สุด แต่ละปัญหาต้องทำให้มันไม่ซ้ำกันให้ได้ (mutually exclusive) และเมื่อเอามารวมกันแล้วจะกลายเป็นปัญหาก้อนเดียวกันที่ครอบคลุม (collectively exhaustive) เป็นวิธีคิดในการแก้ปัญหา ดังนั้นเจอปัญหาอะไรผมซอยก่อนเลย อันที่สองคือเรียงลำดับความสำคัญ กินข้าวทีละคำ กินชาทีละถ้วยให้ได้ ในการบริหารอะไรก็ตาม อย่างน้อยถ้าจะทำงานเป็นทีมได้สะดวกมากที่สุด ต้องซอยปัญหาเป็นก้อนย่อยๆ ให้ได้ แล้วบอกให้ได้ว่าก้อนไหนต้องทำอันแรก อันที่สอง และเวลาที่ทำก้อนแรกๆ ก็จะไม่ไปยุ่งกับก้อนที่สามก้อนที่สี่จนกว่าก้อนที่สองจะเสร็จ ถึงได้ออกมาเป็นกระดุม 5 เม็ดตอนที่อภิปรายในสภา เพราะคิดแบบนี้มาตลอด เอาที่ดินมาก่อน ถ้าที่ดินคุณไม่แก้ หนี้สินก็ไม่จบ ถ้าหนี้สินไม่จบ ก็ไม่มีเงินเก็บ ก็ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าได้ เพิ่มมูลค่าไม่ได้ก็ไม่สามารถมีเรื่องของนวัตกรรมอะไรได้ มันก็ไล่กันไปเรื่อยๆ
…อย่างเรื่องโควิด ทำไมคนตายข้างถนน เราก็ไล่พิจารณา ตอนแรกต้องมีคน ‘รอติด’ ก่อน เพราะวัคซีนห่วย ต่อมาเขาก็ต้องมา ‘รอตรวจ’ รอตรวจเสร็จก็ต้อง ‘รอเตียง’ เสร็จแล้วก็ ‘รอตาย’ เพราะว่าคนล้นโรงพยาบาลแต่แต่ละอันมันรอไม่เท่ากัน บางอันรอยี่สิบกว่าวัน บางอันรอสิบกว่าวัน บางอันรอกว่าวันเราจะลดตรงนี้-ตรงนั้นได้ยังไง แยกแยะแล้วมันจึงจะเข้าถึง ‘true north’ ของปัญหาแต่ละอันได้ เช่น รอเตียงลด เวลาไม่ได้เพราะกทม.ไม่ทำงาน ก็มาดูต่อว่าทำไมต่างจังหวัดไม่ตาย เพราะต่างจังหวัดมีสาธารณสุขจังหวัดที่ดูทั้งสต็อกวัคซีน สต็อกโรงพยาบาล สต็อกยา แต่กรุงเทพไม่มีเจ้าภาพ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ อยู่กลาโหม โรงพยาบาลนี้อยู่อว. (กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) โรงพยาบาลนี้อยู่กทม. ถ้าของกทม.เต็มไม่มีใครสามารถบอกให้ย้ายคนไปอยู่อว. หรือพระมงกุฎฯ ได้ ถ้าพระมงกุฎฯ เต็มไม่มีใครย้ายไปที่ของกรุงเทพฯ ได้ เขาถึงได้รอเตียงกันนาน ทั้งๆ ที่เราดูในข้อมูลแล้วมันไม่เต็ม ก็ต้องหาเจ้าภาพมาแก้ปัญหา พอเราแยกออกมาว่าที่คนตายเป็นใบไม้ร่วงเพราะว่าเขารอติด รอตรวจ รอเตียงหรือรอตาย ก็จะเห็นว่าคอขวดมันอยู่ตรงไหน คิดแบบ factory management เหมือนบริหารโรงงานได้ว่า lead time แต่ละอันเท่าไหร่ ต้องลดตรงไหนบ้าง แต่ถ้าไม่มองแบบนี้ คุณไม่รู้จะเริ่มตรงไหนด้วยซ้ำ ตอนนี้สถานการณ์ผ่านมาแล้วคนอาจจะรู้สึกว่าไม่มีอะไร แต่ ณ ตอนนั้นไม่มีราชการส่วนไหนคิดในแบบนี้ เราก็ใช้สภาเป็นตัวช่วยนำเสนอ”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีประสบการณ์มากมายไม่ว่าจากการเรียนหรือการทำงาน พิธาพบว่ายังมี ‘เซอร์ไพรส์’ รอเขาอยู่ที่สภา
“สิ่งที่เซอร์ไพรส์ก็คือวิชามนุษย์ สำคัญกว่าทุกวิชาที่มีมา รัก-โลภ-โกรธ-หลง มีอยู่ในทุกสถานที่ในประเทศไทย แรงเฉื่อยมันเยอะจริงๆ แม้แต่ในรัฐสภาเอง ผมไม่เคยคิดเลยว่าการเสนอกฎหมายที่ก้าวหน้าอย่าง liquor legalization หรือที่เราเรียกว่าพรบ.สุราก้าวหน้า แค่จะเอาให้เข้าไปอยู่ในสภายังยากขนาดนี้ เราเชื่อว่าเกษตรกรต้องเป็นไฮเทค (Hi-tech) หรือไฮทัช (Hi-touch) ไฮทัชคือทำยังไงให้ข้าว อ้อย ข้าวโพด ผลไม้ที่เป็น commodity (โภคภัณฑ์) มาอยู่ในขวดให้ได้ ของพวกนี้เก็บในโกดังราคามีแต่ลง เก็บในขวดราคามีแต่จะขึ้น ของไทยเราเหล้าดาวลอยนี่อร่อยมาก ของอมก๋อยที่เชียงใหม่ มีเบียร์มังคุดที่เขาพยายามทำแต่โดนกฎหมายกดทับอยู่ การจะกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ เราต้องเปลี่ยนจากกระจุกเป็นกระจาย ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพฯ 50% เจอโควิดเข้าไปทีหนึ่ง เศรษฐกิจก็หายไปเลย 50% ต้องกระจายออกให้ทุกพื้นที่สามารถมีรายได้ขึ้นมามากที่สุด สิ่งที่ผมคิดได้เร็วๆ ก็คือทลายการผูกขาดของการ decommoditize เอาสินค้าการเกษตรมาแปรเป็นเครื่องดื่มให้เพิ่มมูลค่า เปลี่ยนจากโภคภัณฑ์ให้มาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้
เราคิดว่ามันต้องสู้กันหนักหน่วงอยู่แล้ว คนที่ต้องการจะเก็บอดีตอันหอมหวานเอาไว้กับคนที่ต้องการจะพาประเทศไปยังอนาคต แต่ยังไม่ต้องพูดเรื่องของการสู้ที่เนื้อหา แค่ตัวระบบ ตัวกระบวนการ ยังทำให้เราคิดไม่ออกว่ามันจะพาประเทศไทยไปเจอความท้าทายใหม่ๆ ที่รวดเร็ว ว่องไว ได้ยังไง
…เรามีไฮทัชในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร ในเรื่องภูมิปัญญาการทำเหล้ามานานแล้ว เหล้าโอกินาว่าแต่ก่อนก็มาเอาหัวเชื้อจากไทยไปทั้งหมด เหล้าอะวาโมริที่ตอนนี้ทองหล่อขายขวดละ 2,500 บาท จุดกำเนิดก็มาจากอยุธยา และทุกวันนี้โอกินาว่าก็ยังนำเข้าข้าวจากไทยเป็นหมื่นๆ ตัน กระทรวงพาณิชย์ยังมีตัวเลขนี้อยู่เลย เพราะฉะนั้นศักยภาพเราทำได้ แต่อุปสรรคคือกฎหมายที่บอกว่า ถ้าจะผลิตต้องมีเงินทุนสิบล้านบาทขึ้นไป คนไม่มีเงินขนาดนั้นก็ต้องไปทำที่กัมพูชา เวียดนามแล้วนำเข้ามาที่เมืองไทย หรือถ้าจะกลั่น ห้ามใช้เครื่องจักรเกิน ห้าแรงม้า ห้ามมีคนงานเกินเจ็ดคน ห้าแรงม้าก็ตู้เย็นตู้เดียวหรือสองสามตู้ ไม่สามารถที่จะขยายกิจการได้ คนทำธุรกิจสุราเลยมีแต่พวกทุนมากกว่าสิบล้านขึ้นไป หรือต่ำกว่าห้าแรงม้าไปเลย ถูกครองโดยไม่กี่เจ้า
…แต่สิ่งที่ผมเซอร์ไพรส์ไม่ใช่การต้องไปดีเบตเรื่องพวกนี้ในสภา แต่เซอร์ไพรส์ว่าสามปีแล้วกฎหมายนี้ยังไม่ได้เข้าสภาเลย ผมคิดไม่ออกว่า ถ้าระบบราชการ ระบบสภา ระบบรัฐบาลเป็นแบบนี้ ภายในสามสี่ปีนี้เราจะส่งมอบอะไรได้ มันคือความเฉื่อยของระบบ มันคือกระบวนการที่ช้าและสามารถถ่วงหรือใช้ดุลยพินิจได้ตลอด อยู่จะครบเทอมอยู่แล้วยังไม่มีโอกาสได้พูดเรื่องสุราก้าวหน้า ทั้งๆ ที่ยื่นเรื่องไปนานแล้ว เราคิดว่ามันต้องสู้กันหนักหน่วงอยู่แล้ว คนที่ต้องการจะเก็บอดีตอันหอมหวานเอาไว้กับคนที่ต้องการจะพาประเทศไปยังอนาคต แต่ยังไม่ต้องพูดเรื่องของการสู้ที่เนื้อหา แค่ตัวระบบ ตัวกระบวนการ ยังทำให้เราคิดไม่ออกว่ามันจะพาประเทศไทยไปเจอความท้าทายใหม่ๆ ที่รวดเร็ว ว่องไว้ ได้ยังไง”
บ้านเมืองที่เป็นไปได้
ความรู้ความสามารถอาจเป็นปัจจัยให้คนคนหนึ่งทำงานนโยบายหรืองานการเมืองได้สะดวกขึ้น แต่คำถามสำคัญกว่าคือสิ่งใดทำให้พิธาอยากทำงานการเมือง พื้นหลังของการเกิดมาในตระกูลธุรกิจ ใช้วัยเด็กเล่นกีฬาในโปโลคลับ ต่อด้วยสถาบันการศึกษา และสถาบันการทำงานชั้นนำที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสและคอนเนกชัน เหตุใดจึงนำพาเขามาสู่การเมือง ซึ่งนอกจากจะไม่ใช่สิ่งที่คนไทยให้ความเคารพนับถือเท่าใดแล้ว ภูมิหลังที่ดูดีของพิธายังอาจกลายเป็นภาระ ด้วยข้อหาว่าเป็น ‘ลูกคุณหนู’ หรือ ‘เท้าไม่ติดดิน’ ด้วย
“เป็นลูกชายคนโต เกิดและโตที่เมืองไทยและไปโตที่นิวซีแลนด์ คุณพ่อทำอยู่ในภาคเอกชนและชอบเรื่องการเกษตร คุณแม่เป็นอดีตพนักงานธนาคารกรุงไทย แล้วก็เออร์ลีรีไทร์มาเพื่อมาดูแลผมกับน้องชาย ตอนเด็กๆ จะอยู่ที่โปโลคลับ เรียนแบด เรียนสควอช เรียนเทนนิส คนนอกมองเข้ามาอาจจะอย่างหนึ่ง แต่ผมรู้สึกว่าเราก็ชนชั้นกลางทั่วไปไม่ใช่อีลีทอะไร เราก็ยังต้องนั่งรถเมล์ไปสปอร์ตคลับ คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เลี้ยงดูแบบประคบประหงม ไม่มีคนรถไปส่ง ปล่อยให้โตตามธรรมชาติ ลิ้มรสชีวิตปกติ
… ผมเดินจากสปอร์ตคลับ ซอยโปโลทะลุบ่อนไก่ แล้วก็มาโรงหนังวอชิงตันดู The Lion King เราก็โตมาแบบรู้สึกว่าขึ้นสูงสุดได้แล้วก็ลงต่ำสุดได้ เช่น ผมสนิทกับมอเตอร์ไซค์หน้าโปโล เสร็จแล้วก็อาจมาตีสควอชกับคุณอานันท์ ปันยารชุน ตอนที่ท่านเป็นนายกด้วยถ้าจำไม่ผิด หรือบางทีก็ตีกับคุณกรณ์ จาติกวณิช หรือไปตีเทนนิสกับพี่เตา (บรรยง พงษ์พานิช) ผมว่าความเป็นกรุงเทพฯ ที่เป็นชนชั้นกลางแล้วมีเพื่อนหลากหลายก็อยู่ในสายเลือดเรา เรารู้สึกว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่สวยงามที่สุดแล้วก็ทรุดโทรมที่สุด รวยที่สุดแล้วก็จนที่สุด ทันสมัยที่สุดแล้วก็ล้าหลังที่สุดอยู่ในเมืองเดียวกัน
…ตอนอายุ 12-13 ที่ไปนิวซีแลนด์เริ่มเห็นความต่างหลายอย่าง เราเคยอยู่กรุงเทพฯ เห็นด้วยตาว่าตรงนี้เป็นบ่อนไก่ เป็นตลาดคลองเตยแล้วก็เป็นเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นมาบุญครองเลย เห็นทั้งสูงสุดและต่ำสุดอยู่ในที่เดียว ต่างประเทศไม่ได้เห็นชัดขนาดนี้ มันใกล้เคียงกันหมด ถ้าเป็นเมืองเล็กก็เล็ก เมืองใหญ่ก็ใหญ่เท่าๆ กัน หรือเรื่องการศึกษา จากเราเคยเรียนชั้นหนึ่ง มีนักเรียนห้องละ 60 คน เหลือห้องละ 10 กว่าคน หรือเราเคยเรียนหนังสือแล้วตั้งคำถามว่าตรีโกณมิติทำไมต้องคิดแบบนี้จนโดนครูด่า แต่พอไปนิวซีแลนด์แล้วเราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ไปนั่งเงียบๆ ครูเขากลับชอบบ่นว่าทำไมเราไม่ถามอะไรเลย หรือเห็นความต่างในเรื่องของคมนาคม เรื่องของผังเมือง ก็ทำให้คิดออกว่าเราชอบแบบไหน ชอบแบบที่เวลาไปเรียนหนังสือแล้วรถเมล์มาตรงเวลา หรือการต้องตื่นตีห้าแล้วกินข้าวในรถเพื่อจะไปเข้าเคารพธงชาติให้ทัน
…ตอนไปอยู่นิวซีแลนด์ เราไปอยู่กับครอบครัวที่เป็นคนพิการ เขาไม่ได้บอกเราไว้ก่อน นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของความเท่าเทียมกัน ดังนั้น พอมาเป็นนักการเมืองแล้วมีส.ส.ที่เป็นคนพิการเรียกร้องสิทธิ เรียกร้อง universal design เรียกร้องเบี้ยยังชีพของคนพิการให้สูงขึ้น มันทำให้เรานึกภาพออกถึงสังคมที่มันเท่าเทียมกัน สังคมที่มันมีความเป็นไปได้ connecting the dots กลับมา เห็นเลยว่าเราเคยอยู่ในสังคมที่มันเป็นไปได้ ในขณะที่การเมืองไทยบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นปี 1997 ฮ่องกงถูกคืนให้จีน มีคนฮ่องกงมานิวซีแลนด์เยอะ หรือคนเมารี หรือคนที่ย้ายมาจากแอฟริกาใต้ คนที่มาจากไอร์แลนด์ อังกฤษ ออสเตรเลีย มีคนฟิจิ มีคนซามัวร์ ทำให้เรารู้สึกเข้าใจถึงเรื่องชาติพันธุ์ เช่น เวลาเป็นเรื่องที่ดินของชาวเมารี เขาก็จะมีศาลที่เป็นเมารีโดยเฉพาะ ไม่ใช่เอานิติศาสตร์อย่างเดียวแต่จะต้องเอาประวัติศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”
อย่างไรก็ตาม ต้องรอจนเขากลับเมืองไทยและเริ่มเข้าสู่การทำงาน ที่พิธาจะได้เชื่อมโยงภาพของ ‘บ้านเมืองที่เป็นไปได้’ เข้ากับสิ่งที่เขาอยากทำ
“กลับจากนิวซีแลนด์ เรามาเรียนการเงินที่ธรรมศาสตร์ ก็เรียนเรื่องพอร์ตฟอลิโอ เรียนการวิเคราะห์ NPV (Net Present Value) เรียนการหาเบต้า ยังอยากเป็นนักธุรกิจอยู่ จนกระทั่งไปฝึกงานที่บล. ภัทร (ปัจจุบันคือบล. เกียรตินาคินภัทร) ตอนปีสาม ได้ฝึกกับอาจารย์เปี๋ยม (ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ) และพี่นิ่ม (ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง) จากไฟแนนซ์จ๋าๆ ก็จำได้ว่ามันเริ่มเห็นภาพเศรษฐกิจมหภาคมากขึ้น พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทำไอพีโอปตท. ก็เริ่มเข้าใจว่ารัฐวิสาหกิจกับการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์มีอะไรที่ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น รัฐวิสาหกิจมาจากภาษีประชาชน มาจากงบประมาณ ควรเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ แต่พอเข้าตลาดหุ้นเพื่อต้องทำเพื่อ maximize shareholder wealth จบปีสี่ก็ไปทำงานบริษัท Boston Consulting Group ลูกค้าคนแรกคือปตท.สผ. ยิ่งได้มีโอกาสทำงานกับภาครัฐ ตอนสึนามิ การท่องเที่ยวก็มาติดต่อให้ Boston Consulting Group ช่วยทำแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้ ก็เริ่มเห็นว่าการทำงานของรัฐยากกว่าทำงานให้เอกชน
คำถามไม่ได้อยู่ว่าผมจะยอมทำสิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน คำถามอยู่ที่ KPI คืออะไร ถ้าเกิด KPI คือต้องชนะเลือกตั้งให้ได้ เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง กระบวนการต้องบิด ก็ต้องยอมใช่ไหม แต่ถ้าเราบอกว่า ผลลัพธ์ไม่สำคัญ เอากระบวนการให้นิ่ง เดี๋ยวถึงเวลามันมาของมันเอง แน่นอนว่าผมเป็นสปอร์ตแมน อยากชนะอยู่แล้ว แต่ถ้าชนะอย่างไม่ได้มีความเป็นก้าวไกล เราไปรวมกับพรรคที่มีอยู่แล้วดีกว่าไหม
…เอกชนทั่วไปก็คิดแค่ว่าทำยังไงที่จะทำให้ shareholder wealth ดีที่สุด เราเป็นที่ปรึกษาก็แค่แนะนำให้เขาทำกำไรมากที่สุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงอะไร แต่พอเป็นของรัฐ เราต้องคิดว่าปตท. จะไปลงทุนในโอมานเพื่อที่จะให้พลังงานของประเทศมั่นคง แต่ทำอย่างไรให้ยังได้กำไรจากการลงทุนในทรัพย์สินเหล่านั้นด้วย หรือเรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ไม่เคยมีกำไร แต่ประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีอยู่เพื่อให้เป็นฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์หรืออิเล็กทรอนิกส์ มันมีอะไรมากกว่าการบอกแค่ว่าธุรกิจตรงนี้ไม่มีกำไรเลย ดังนั้น ปตท. ควรขายทิ้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้สนใจงานภาครัฐ พอดีตอนนั้นได้ไปเจอทีมของอาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ก็เลยย้ายเข้าทำเนียบรัฐบาลประมาณปีกว่า เรียกว่าเข้าสู่วงการการเมืองเต็มตัว
…การเมืองตอนนั้นกับตอนนี้มีความต่าง ตอนนั้นเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะพูดอะไรก็แล้วแต่ ยังไงต้องมีการเลือกตั้งตลอด รัฐบาลในอดีตถ้าจะรักษาสถานะได้ อย่างน้อยต้องตอบสนองประชาชน มีนโยบายออกมาแก้ไขปัญหา มีการบี้ผู้ว่าฯ บี้ราชการให้ทำงาน แต่ตอนนี้ คนอยู่ในอำนาจได้ไม่ใช่ด้วยการตอบสนองประชาชน แต่ด้วยการเล่นเกมการเมือง ด้วยการแจกกล้วย ตอนนั้นรู้สึกว่าเวลาประชุมกับข้าราชการชั้นสูงหรืออธิบดียังมีความแอคทีฟ เช่น กรมส่งออกยังแอคทีฟที่จะเอาธุรกิจจิวเวอรีหรือธุรกิจสิ่งทอของไทยไปสู้กับเขา กรมการค้าภายในก็คอยดูเรื่องเกี่ยวกับค่าเงินเฟ้อตลอด สมัยนี้เหมือนไม่ใช่การตอบสนองจากบนลงล่าง แต่เป็นบนขึ้นไปข้างบนอีกทีหนึ่ง แต่มีเอกภาพในรัฐบาล หรือในสภาด้วยเกมการเมืองบางอย่างที่ไม่ได้จำเป็นต้องตอบสนองกับประชาชนมากนัก แคร์นักการเมืองด้วยกัน แคร์คนที่อยู่ในอำนาจด้วยกัน มากกว่าแคร์ว่าทำยังไงจะแก้โควิดให้ดีกว่านี้ แก้ราคาปุ๋ยให้ดีกว่านี้ แก้ราคาหมูให้ดีกว่านี้”
การเมืองใหม่ในโครงสร้างเก่า
หนึ่งในคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล บอกว่า “พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในความเป็นไปได้ โลกยุคใหม่ สังคมใหม่ และการเมืองแบบใหม่เป็นไปได้เสมอ” ดังนั้น ยิ่งสิ่งที่เขาวิจารณ์เกี่ยวกับโครงสร้างเก่าฟังดูย่ำแย่เพียงไร เขาก็ยิ่งต้องแบกรับภาระและความคาดหวังในการเป็นผู้ชี้ทางใหม่ที่เป็นไปได้ในความเป็นจริงเช่นกัน
“ถ้าเกิดจะแก้องค์กรใด องค์กรหนึ่ง ต้องแก้โครงสร้าง แก้กระบวนการ แก้คน Structure-Process-People เช่น กรุงเทพฯ ‘โครงสร้าง’ ทับซ้อนมาก มีส.ส. (สภาชิกสภาผู้แทนราษฎร) 33 คน มีส.ก. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร) อีก 50 คน และมีผู้ว่าฯ อีก 1 คน หรือ ‘กระบวนการ’ ที่มารวมศูนย์อยู่ที่ในกรุงเทพ แทนที่ท้องถิ่นจะสามารถมีกระบวนการในการเก็บภาษีหรือจัดการงบประมาณด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้ต้องถูกจัดการ เช่น ที่พรรคกำลังคิดเรื่องการเอาข้าราชการส่วนภูมิภาคออกไปเลย ประมาณนี้
…ส่วนเรื่องความพร้อมของ ‘คน’ ผมว่าในแต่ละหน่วยงานที่ได้พบ ยังมีคนรุ่นอายุสี่สิบแบบผมที่เข้าใจและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพอสมควร ไม่งั้นถ้าขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้แล้วแต่เจอข้าราชการที่ไม่พร้อมเปลี่ยน เต็มไปด้วยแรงเฉื่อยก็บริหารจัดการยาก คุณจะเก่งแค่ไหนแต่ถ้าระบบราชการไม่ช่วยก็ไม่ได้ แต่จากที่ได้เจอ ผมคิดว่าคนเหล่านี้ถ้าได้เริ่มคุยกันตั้งแต่วันนี้ และถ้าวันหนึ่งโครงสร้างเปลี่ยน กระบวนการเปลี่ยน มันยังพอเห็นปลายทางอยู่พอสมควร นี่คือข้าราชการคนรุ่นใหม่ที่มี Thailand Vision อยู่ในหัว เขาเริ่มเข้าใจว่าการมีเกษตรจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด ที่รายงานกับปลัดในกรุงเทพ แต่ว่าไม่ได้ยุ่งกับประชาชนในพื้นที่เลย มันต้องปรับเปลี่ยน ตอนที่ผมเป็นผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมจังหวัดมีไว้ทำไม ไม่ได้มีอะไรเลยนอกจากมาขอจัดนิทรรศการที่โรงงานผม เพื่อจะให้ปลัดมาดูงาน”
ภาพความเป็นไปได้ของการเมืองแบบใหม่อาจสวยหรู แต่ตราบเท่าที่มันยังไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น พิธาชั่งใจอย่างไรระหว่างความพยายามเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง จนทำให้ถูกต้านและไม่ได้เปลี่ยนอะไร เทียบกับการพยายามเปลี่ยนภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ซึ่งยังอาจสร้างชิ้นงานที่เสร็จได้มากกว่า
“ผมว่านี่ไม่ใช่การตัดสินใจเฉพาะของพวกเราหรือประชาชนคนไทย แต่เป็นเรื่องของระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะ ที่ผ่านมาเราก็มีคนที่เคยคิดนโยบายแบบปะผุ แต่สุดท้ายก็กลับมาอยู่ในวงเวียนเดิมที่บอกว่าเครื่องยนต์แบบเดิมไม่พร้อมสู้กับโลก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือโควิด พอรวมศูนย์แล้วไม่สามารถที่จะบริหารจัดการอะไรได้เลย ถ้าไม่แก้ เราก็จะมีรัฐบาลที่ทำงานปะผุเล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซากเป็นสิบๆ ปีได้ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าการเกษตรได้ หรือแก้ไขปัญหาการศึกษาได้ หากเป็นสิบยี่สิบปีที่แล้ว การปะผุผมอาจจะพอเป็นแนวทางที่ทำได้ แต่โลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเยอะจนไม่รอเราแล้ว
…ถามว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม มันเป็นธรรมชาติของการเมือง คนที่ต้องการความก้าวหน้าในสังคม เขาก็สู้ อิสระภาพเสรีภาพไม่ได้เกิดจากเรื่องบังเอิญ ต้องมีคนพูด ต่อให้ไม่ใช่พวกผมก็คงมีคนอื่นที่พูด และก็คงถูกกำจัดเหมือนกัน ดังนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีคนพยายามต่อสู้ และไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มีคนพยายามทำลาย และในขณะเดียวกัน ก็คงมีกลุ่ม moderate ที่ทำแบบประนีประนอม ทำเล็กๆ น้อยๆ ก็พอให้ได้รับผลลัพธ์บ้าง ผมว่าทั้งหมดทั้งปวงมันก็คือสิ่งที่มีใน political landscape ปัจจุบันอยู่แล้ว แต่พวกผมเลือกที่จะเป็น ‘เอเลี่ยนในสภา’ มา move fast and break things อย่างน้อยก็เป็นการทำงานทางความคิดให้กับสังคมไทยและพูดให้เห็นความเป็นไปได้ของศักยภาพของประเทศ ทุกคนมาเล่นการเมืองระยะยาวกันทั้งนั้น ไม่ได้เร่งรีบที่จะต้องทำให้เกิดผลลัพธ์ด้วยนโยบายปะผุเพื่อที่จะเข้าสู่อำนาจ แต่สุดท้ายทำอะไรจริงไม่ได้
…KPI (Key Performance Indicator) มันต่างกัน ถ้าเราคิดแล้วว่าเป็นสถาบันการเมือง ทำงานระยะยาวไม่ต้องเข้าสู่อำนาจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป KPI มันก็คนละแบบ ก็ไม่ต้องคิดว่าจะจำนำพืชผลเท่าไหร่ ราคาประกันเท่าไหร่ แต่คิดว่าจะทำยังไงกับวิศวการเกษตร การเพิ่มไฮทัชให้สินค้าการเกษตรที่ได้ผลในระยะยาวมากกว่า เช่น ที่เห็นข่าวว่ามีการซื้อเสียง จ่ายหัวละ 2,000 บาท นั่นคือผลตอบแทนที่ชาวบ้านจะได้ถ้าเลือกพรรคนั้น ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำ คือการเมืองแบบใหม่ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเรามีค่ามากกว่า 2,000 สำหรับเขา ยกตัวอย่างอีสานมีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับเหมือง ภาคเหนือมีเรื่องเกี่ยวกับที่ดินทำกิน จะนะมีเรื่องนิคมอุตสาหกรรม ชลบุรีมีเรื่องเกี่ยวกับอีอีซี ความเดือดร้อนต่างๆ เยอะแยะมากมาย พรรคก้าวไกลไม่มีเงินเป็นถุงเป็นถังไปแจก ไม่มีอำนาจรัฐที่จะทำนู่นทำนี่ให้ หรือทำการเมืองอุปถัมภ์แบบไปงานศพให้เยอะที่สุด แต่เราจะมีมูลค่ามากกว่า 2,000 บาท ถ้าเราเอาความเดือดร้อนที่ทำให้เขานอนไม่หลับเข้าสู่สภา ทำให้มีการแก้ปัญหา มันมีพลังที่จะไปสู้กับเงิน 2,000 บาทของพรรคอื่นที่ไม่เคยลงพื้นที่และไม่เคยสนใจกับอะไรทั้งสิ้น คงต้องใช้หลายๆ การเลือกตั้งพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า การมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง เดือดร้อนเมื่อไหร่แล้วมีคนไปพูดให้ในสภา ตั้งกระทู้ให้ เป็นเรื่องดี”
เริ่มมีนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เห็นภาพว่าการเปลี่ยนจากบนลงล่างเป็นล่างขึ้นบน จากกระจุกเป็นกระจาย จากในไปนอกเป็นให้นอกเข้าใน มันก็มี what’s in it for them เหมือนกัน
ผลลัพธ์ของกระบวนการ
อย่างไรก็ตาม คุณค่าของสิ่งสิ่งหนึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงเนื้อหาของสิ่งนั้น หากยังขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความเป็นประชาธิปไตย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวไว้ในปาฐกถาพิเศษป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่าปัญหาของฝ่ายก้าวหน้ามักอยู่ที่เทศะ หรือ “การนำแนวคิดจากโลกภายนอกมาไว้ในพื้นที่อันไม่ใช่เนื้อดินถิ่นกำเนิด” พูดให้ตรงขึ้น อุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่กำเนิดจากโลกตะวันตก อาจมีความหมายน้อยมากในสายตาของประชาชนผู้ต้องดิ้นรนกับการทำมาหากินมากกว่าถกปรัชญา อย่าว่าแต่ฝ่ายก้าวหน้าเอง ซึ่งครอบคลุมทั้ง ‘ติ่งแดง’ ‘ติ่งส้ม’ ก็มักจะทำให้เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาที่กินไม่ได้มากยิ่งขึ้น ด้วยการตีกันอยู่ประจำด้วยเรื่องนิยามหรือวิถีปฏิบัติของประชาธิปไตยที่แท้จริง คำตอบของพิธาต่อปัญหานี้อยู่ที่สิ่งที่เขาเรียกว่า ‘การเมืองแนวตั้ง’
“เราเรียนมา พื้นที่ทางการเมืองจะแบ่งเป็นซ้ายกับขวา liberal space กับ conservative space มีสเปกตรัมทางการเมืองที่เป็นแนวขวาง ที่คุยกับอาจารย์ปิยบุตรไว้คือเราต้องเปลี่ยนพื้นที่ตรงนี้จากแนวขวาง (horizontal) เป็นแนวตั้ง (vertical) ให้ได้ คือให้เป็นการแบ่งการเมืองแบบการเมืองของคน 1% กับการเมืองของคน 99% โดยถ้าคนคนหนึ่งคิดเพื่อการเมืองของ 99% เราก็ต้องพร้อมยอมรับว่ากระทั่งคนที่เคยเป็นอนุรักษ์นิยมมาก่อน คนที่เราอาจไม่อยากเชื่อว่าจะมาอยู่พรรคเดียวกับเราได้ เราก็ต้องให้โอกาสเขา ให้เขาพิสูจน์ตัวเองว่าเขาไม่ได้คิดแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว เช่นเรื่องที่ดิน เรื่องกัญชา เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าคุณจะเหลืองหรือแดงก็ต้องโดนปัญหาเหล่านี้ เอาประเด็นเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาสีคนที่เขาป้ายไว้มาเป็นตัวตั้ง ถ้ายังทำ traditional politics เหมือนอยู่รัฐสภาฝรั่งเศสที่พวกนี้ต้องนั่งฝั่งซ้าย พวกนี้ต้องนั่งฝั่งขวา เราคงไม่สามารถรับคนที่เคยเป็นเสื้อเหลืองหรือที่เคยสนับสนุนรัฐประหารมาก่อนมาทำงานกับเราได้ คุณต้องมองเป็นการเมืองใหม่ว่า มันมี 1% ของประเทศไทยที่ยังไงๆ ก็คุมเกม ทำทุกอย่าง ควบรวมธุรกิจอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่เคยต้องเห็นหัว 99% ข้างล่าง
…ถ้ามองได้อย่างนี้ สเปกตรัมของการเมืองเก่าๆ เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วก็จะถูกทลายลง เมื่อ ‘พื้นที่’ ทางการเมืองถูกมองแบบนี้มากขึ้นมันจะไปส่งผลต่อ ‘เวลา’ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น ไม่งั้นถ้าคุณคิดแบบเดิม สีส้มไม่มีทางชนะในภาคใต้ ดังนั้น เวลามีเลือกตั้งไม่ต้องส่งคน แต่ผมส่งตลอด ไม่สนใจ เพราะว่าผมต้องการจะเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นสีส้มให้ได้ อย่างที่พรรคที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเมื่อ 10-20 ปีก่อนไม่สามารถทำได้ เราต้องมาหาประเด็นที่มีจุดร่วมของแต่ละพื้นที่ อ๋อ---เขาไม่พอใจเรื่อง IUU ประมง เราต้องมีพรบ.ประมงที่ตอบโจทย์ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ให้ได้ เราก็อาจใช้อันนี้หาเสียงในภาคใต้ ไม่ใช่คิดแต่ว่า ไม่ได้---คนนี้เป็นฝ่ายนี้ คุณมาลงหาเสียงในภาคนี้ อีกพรรคเอาเสาไฟฟ้ามาลงยังชนะเลย สลายขั้วให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้มันเป็นเรื่องของบนกับล่างมากกว่าซ้ายกับขวา
…คำถามไม่ได้อยู่ว่าผมจะยอมทำสิ่งนี้มากน้อยแค่ไหน คำถามอยู่ที่ KPI คืออะไร ถ้าเกิด KPI คือต้องชนะเลือกตั้งให้ได้ เอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้ง กระบวนการต้องบิดก็ต้องยอมใช่ไหม แต่ถ้าเราบอกว่า ผลลัพธ์ไม่สำคัญ เอากระบวนการให้นิ่ง เดี๋ยวถึงเวลามันมาของมันเอง แน่นอนว่าผมเป็นสปอร์ตแมน อยากชนะอยู่แล้ว แต่ถ้าชนะอย่างไม่ได้มีความเป็นก้าวไกล เราไปรวมกับพรรคที่มีอยู่แล้วดีกว่าไหม จะมาตั้งพรรคใหม่ทำไม บางคนบอกให้พรรคผมไม่ต้องลงแข่ง ให้สนับสนุนผู้สมัครของพรรคอื่นไป ไหนๆ เขาอุตส่าห์ลงเป็นอิสระแล้ว แต่ทำอย่างนั้นเมื่อไหร่พรรคผมจะได้ลง เพราะพรรคผมคิดไม่เหมือนพรรคที่มีอยู่ ถึงต้องเสียเวลามาตั้งพรรคนี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้สมัครพรรคนั้นเขาไม่ดี แต่วิธีคิดของเขายังไม่ได้ตรงกับเรา ก็เลยต้องมีพรรคเราขึ้นมา และต้องลงแข่ง แพ้ก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้กระเหี้ยนกระหือรือจะเข้าสู่อำนาจให้เร็วที่สุด ไม่งั้นถ้าก้าวไกลเข้ามาก็ไม่ได้มีความแตกต่าง งบประมาณก็ยังห่วยแตกเหมือนเดิม ผมยังเคยคิดเลยว่าถ้าผลเลือกตั้งออกมาแล้วผมตั้งรัฐบาลได้ ผมจะใช้เงื่อนไขที่ชัดเจนในการเจรจากับพรรคอื่น และถ้าไม่ได้อย่างนั้น ไม่เอา เพราะถ้าผมเอาไปเป็นรัฐมนตรีแล้วทำหน้าที่เหมือนเป็นแค่ปลัดกระทรวง แล้วนายกรัฐมนตรีเป็นเหมือนปลัดประเทศ เซ็นเอกสาร ดูงานอย่างเดียว ถ้าเป็นแบบนั้นผมว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเป็น
…คนถามทำไมไม่คิดเรื่องการเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ แต่ถ้าพูดภาษาบ้านๆ ก็คือให้ฮั้วกันใช่ไหม นิยามของความเป็นประชาธิปไตยมันคือการแข่งขัน มันคือกระบวนการและให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่ถ้าผมทำแบบที่เขาพูด มันก็เป็นการดูถูกประชาธิปไตยว่าให้พรรคการเมืองเป็นคนคิดไว้ก่อน แล้วก็ฮั้วกัน กลับมาที่ KPI คุณจะเอาผลลัพธ์เป็นตัวตั้งหรือจะเอากระบวนการเป็นตัวตั้ง ถ้าเราดูถูกประชาชนในลักษณะแบบนั้นแล้วเราเอาผลลัพธ์มาเป็นที่ตั้ง มันจะทำให้กระดูกสันหลังเราหายไปเยอะพอสมควร การที่ผมจะไม่ส่งก็คือเมื่อผมไม่มีตัว ผมก็ไม่ส่ง ถ้าผมไม่มีคนที่ดีพอสำหรับประชาชน ก็มีสิทธิ์ที่ผมจะไม่ส่ง แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีนโยบายที่ดีพอ มีคนที่ดีพอผมส่งตลอด คิดง่ายๆ อย่าไปคิดเยอะ อย่าไปอนุมาน ไปทำ probability ว่าอย่างนี้อย่างนั้น ถ้าพูดให้สวยก็คือเลือกตั้งแบบยุทธศาสตร์ แต่ถ้าเอาง่ายๆ ก็คือคุณต้องการให้ผมฮั้วกับคุณ จะให้แบ่งโควต้าที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. มีสี่คน ของคุณเอาไปสอง ของผมสอง ถึงเวลามันก็ทำงานไม่ได้จริงเพราะคิดคนละแบบ ไม่ว่าจะมองด้วย ideology หรือ practicality มันไม่ตอบโจทย์
..อย่าคิดว่าเราสามารถไปบอกประชาชนว่าถึงคุณจะชอบพรรคผมแต่คุณไปเลือกพรรคเขาแล้วกัน ในการเมืองไทย ถ้าไม่มีผู้สมัครที่ประชาชนชอบจริงๆ เขาจะไม่มาเลือกตั้งเลย ตัวเลขคนออกมาใช้สิทธิ์ไม่โกหกใคร เช่นที่หลักสี่มี 5 คน ทุกคนเจ๋งๆ ทั้งนั้น มีการแข่งขันกันสูง เป็น sensational politics การเมืองที่มีสีสัน อย่างนี้คนน่าจะออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงกัน 70% เป็นอย่างต่ำ แต่ถ้าเกิดแข่งกันอยู่สองคนคนเดิมๆ ดูแล้วน่าเบื่อ ถ้าฉันไปโหวตฉันต้องปิดร้านข้าวมันไก่ฉัน ฉันต้องไม่เอาลูกฉันไปเรียนพิเศษ ทั้งที่ไม่ได้อะไร ฉันไม่ไปโหวตเลยก็แล้วกัน ต้องเข้าใจชาวบ้านว่ามันต้องทำให้ฉันตื่นเต้น ฉันถึงจะต้องยอมไม่เอารายได้วันนั้นเพื่อไปเลือกคนๆ นี้ ถ้าเป็นคนที่ตอนเป็นรัฐมนตรีไม่มีผลงานอะไรเลย อาจจะดูดี คนอื่นชอบ แต่ฉันไม่อยากออกไป คนออกมาใช้สิทธิ์แทนที่จะเป็น 70-80% มันจะเหลืออยู่ 50% เอง จะให้เสียเวลากลับบ้านมาลงคะแนนเลือกนี่อย่ามาพูดเลย”
อนาคต-ไกล
พิธาเคยวิเคราะห์ไว้ว่า Entrepreneur หรือผู้ประกอบการนั้น ควรเริ่มต้นจากการมองให้เห็น ‘ความชอบ(Passion)’ ที่ตัวเองอยากทำหรือ ‘ปัญหา (Problem)’ ของโลกที่ตัวเองอยากแก้ ดังนั้น สำหรับนักการเมืองซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผู้ประกอบการชนิดหนึ่งที่มีนโยบายแทนสินค้า พิธามองว่าตัวเขา ได้เริ่มต้นกิจการนี้มาด้วย Passion หรือ Problem แล้ว ‘กิจการ’ ของเขามีอนาคตแค่ไหน
ผมจำได้เลยว่าเข้าสภาไปเป็นกรรมาธิการ ขึ้นบัลลังก์ใหญ่ครั้งแรก ข้างๆ เป็นส.ส.พรรคอื่นอยู่มา 30-40 ปี ผมก็ถามเขาว่า insight ของพี่คืออะไรครับ เขาบอก ‘อดทนน้อง’ ก็รู้แล้วว่าระดับความอดทนต้องใหญ่และกว้าง อะไรที่ไม่ยุติธรรมก็ต้องยอมรับ อะไรที่ยังไม่ใช่พื้นที่และเวลาของเรา เราก็ต้องอดทนรอ
“เริ่มจาก passion มากกว่า ตั้งแต่เรื่องสึนามิที่เล่านั่นแหละ ถ้าแค่เห็น problem คงไม่เสียเวลาไปเรียนหนังสือ เรียนการเมืองการปกครองมาโดยตรง เราเห็นมันเป็นเรื่องท้าทาย สนุก คิดว่าประเทศไทยทำได้ และคิดว่าผมทำได้ ทำนองว่า ‘I can do this. Country can, and I can.’ รู้สึกว่า เฮ้ย---ลองดูกันสักตั้งแต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเร็วขนาดนี้ จากเด็กที่คอยจดบันทึกการประชุมอยู่ข้างหลังจนกระทั่งมาเป็นประธานกรรมาธิการด้วยตัวเองในยี่สิบปีให้หลัง แต่มันก็คือการเตรียมตัวมานานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการเมืองต่างประเทศ การเมืองในประเทศ ที่ทำเนียบหรือที่สภา กว่าจะมาเป็นส.ส. รู้สึกว่าอยู่ในสายเลือด อยู่ในใจมาตลอด
…ถ้าคุณเอา problem เป็นที่ตั้งแล้วแก้ไม่ได้ ครั้งสองครั้งคุณก็เลิกแล้ว ปัญหามันเยอะเหลือเกิน แต่ก็อยากลองดูสักตั้ง เรามีแบบนี้ มีทีมแบบนี้ ประชาชนคิดแบบนี้แล้ว ข้าราชการคนรุ่นใหม่ที่เจอเขาก็พร้อมและรออยู่ รอรัฐบาล รอรัฐมนตรีที่คิดแบบใหม่ ตอนนี้เขาอาจยังทำอะไรไม่ได้เพราะหัวยังเป็นคนรุ่นเก่าอยู่ แต่เขาก็ระดับรองอธิบดี กำลังจะขึ้นเป็นปลัดของกระทรวงเขา ถ้าผมทำความรู้จักกับเขาตั้งแต่ตอนนี้ เป็นเครือข่ายของคนรุ่นสี่สิบที่คุยกัน มันก็น่าจะมีหวัง เช่น ตอนอายุยี่สิบกว่า ผมเคยไปอยู่กระทรวงพาณิชย์และผมเห็นว่ามันทำงานไม่ได้ ผมเคยพูดกับพี่คนหนึ่งที่นั่นว่าเป็นผม ผมจะเอากระทรวงพาณิชย์กับอุตสาหกรรมมารวมกัน เหมือน METI (Ministry of Economy, Trade and Industry) ที่ญี่ปุ่น จะได้ทั้งต้นน้ำกับปลายน้ำพี่เห็นด้วยไหม พี่คนนั้นที่ตอนนั้นยังเป็นข้าราชการซี 4-5 ตอนนี้เขาเป็นรองอธิบดีแล้วมาบอกผมว่า เฮ้ย---ผมยังจำที่คุณพูดได้นะ ตอนนี้คุณยังคิดแบบนั้นหรือเปล่า หรือที่ผมเคยบอกพี่ที่กลาโหมคนหนึ่ง เฮ้ยพี่---ผมดูแล้วมันแปลกมากที่กองทัพกับกลาโหมมีหน่วยงานที่เป็น back office ทำหน้าที่เหมือนกัน คืออันหนึ่งดูกฎหมาย อันหนึ่งดูคน อันหนึ่งดูเรื่องการเงินกองทัพแต่ละที่มีเหมือนกัน เราควรจัดกระดูกและรีดไขมันตรงนี้ จะประหยัดเงินเอาไปทำเรื่องอะไรได้ตั้งเยอะ พี่เขาก็เห็นด้วย เขาคิดว่าคนจากแสนห้าตัดเหลือห้าหมื่น ตัดไปหนึ่งในสามก็ยังได้
…แม้แต่ลูกหลานเจ้าสัว ก็มีหลายคนที่เขาเริ่มเห็นว่าวิธีการแบบพ่อเขามันไปต่อไม่ได้ กินรวบแล้วถูกต่อต้านอย่างรุนแรงผ่านกราฟิตี้ ผ่านภาพต่างๆ ลูกหลานเจ้าสัวที่บอกว่าถ้าให้กระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพแล้วไม่กระจายออกจะทำให้ตลาดในประเทศไทยมีอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ตามเส้นรถไฟฟ้า สู้ทำให้แต่ละจังหวัดเจริญ จนเขาไม่ต้องพึ่งตลาดส่งออกมาก ทำให้เขามีความเสี่ยงทางการเงินน้อยลงดีกว่า สร้าง domestic economy, domestic market ให้เกิดขึ้นให้ได้ เวลาเจอวิกฤตแรงๆ อย่างต้มยำกุ้งหรือแฮมเบอร์เกอร์บริษัทจะได้ไม่พังขนาดนี้ เริ่มมีนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่เห็นภาพว่าการเปลี่ยนจากบนลงล่างเป็นล่างขึ้นบน จากกระจุกเป็นกระจาย จากในไปนอกเป็นให้นอกเข้าใน มันก็มี what’s in it for them เหมือนกัน
…ผมรอเวลาแบบนี้อยู่ รอเวลาที่ผมพร้อม ราชการพร้อม เอกชนพร้อม ประชาชนพร้อม และเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจากการที่กรุงเทพฯ คิดแบบบนลงล่าง ต้องคิดแบบล่างขึ้นบน จากที่กระจุกตัวให้กระจายออก จากที่คิดแต่แบบไทยๆ เมืองนอกเป็นยังไงช่างหัวมัน เป็นให้เอาความเป็นสากลกลับมาให้คนไทยเท่าเทียมกัน เท่าทันโลก เช่น ดูคนรุ่นพวกเราที่ต้องคำนึงถึงคุณพ่อคุณแม่แล้วก็ต้องคำนึงถึงลูก จนเราไม่มีกำลังวังชาในการทำงาน ถ้าเปลี่ยนเป็นมีรัฐสวัสดิการ จริงๆ แล้วก็โอเคไหม เพราะมันมีการเพิ่มเบี้ยคนชราหรือการดูแลลูกหลาน ทำให้คนรู้สึกปลอดภัยพอจะไปลองทำอะไรใหม่ ถ้ามองอย่างนี้ก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการย้ายฐานภาษีจากภาษีก้อนหนึ่งไปอุ้ม (subsidize) อีกก้อนหนึ่ง แต่มันมีพลวัตอีกแบบหนึ่ง พลวัตที่ทำให้คนทำงานสามารถไปทำงานอะไรที่มากกว่านี้
…เรื่องวิกฤตที่เมืองไทยเจออยู่ ถ้าแก้ให้ดีมันจะกลายเป็นโอกาสในการทำธุรกิจต่อ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยเจอหนักๆ ถ้าวันหนึ่งเราแก้ไขการบริหารจัดการขยะได้ เราก็สามารถเอาองค์ความรู้ตรงนี้ส่งต่อไปทั่วอาเซียนได้ หรือถ้าเราแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ที่เป็นวิกฤตอยู่ทุกวันนี้ ในที่สุดเราอาจลุกขึ้นมาผลิตได้เอง ดังนั้นอะไรที่เคยเป็นวิกฤตก็กลายมาเป็นโอกาสในการที่จะทำ เพียงแต่เราต้องพยายามที่จะแก้ไข ไม่ได้เป็นปัญหาที่ปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ แล้วก็ปล่อยให้มันคาราคาซังไป
…สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นโครงเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต จะกลายเป็น Green economy, Blue economy, White economy โดยเศรษฐกิจสีเขียวก็คือ Climate change means jobs. ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมคืองานใหม่ๆ ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้อีกเยอะแยะในอุตสาหกรรมเหล่านี้ เศรษฐกิจสีขาวคือเรื่องการรักษาพยาบาล เอาความสามารถที่เรามีมาใช้ดูแลผู้สูงอายุ ให้เราเป็น Capital of care economy ใครๆ ก็อยากมารีไทร์ที่ประเทศไทย ลำปางมีประชากร 1ใน 3 เป็นคนชรา เหมาะที่สุดเลยที่จะเป็นเมืองหลวงของสังคมสูงวัย คนญี่ปุ่นที่มีเงินทั้งหลายควรจะมาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เอาคนจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เคยดูแลคนในโรงแรมมาจับตรงนี้ให้ได้ดีที่สุด ทำได้ดีกว่าไบเดนที่อยากจะทำ แน่นอนพอเราพูดเรื่องวิสัยทัศน์พวกนี้ ทางฝั่งรัฐบาลเขาก็จะมี BCG Economy พูดคล้ายๆ กัน แต่วิธีทำหรือจะเอางบประมาณมาใช้มันต่าง ของรัฐบาลให้คนที่มาดูแลชราบาล คอยดูผู้ป่วยติดเตียง คอยดูผู้สูงอายุห้าพันบาท ทำได้เดือนหนึ่งลาออกหมดเลย การที่จะสร้างอุตสาหกรรมอะไรขึ้นมามันต้องคิดเป็นระบบพอสมควร”
ความสำเร็จที่พึงใจ
ทิม พิธาเคยเล่าว่าหนึ่งในความทรงจำวัยเด็กที่ประทับใจที่สุดของเขาคือการได้รับรางวัลชนะเลิศเพลทกีฬาสควอช พร้อมอธิบายว่าการชนะเลิศ ‘เพลท’ หมายถึงการเป็นผู้ชนะโดยที่เคยแข่งแพ้มาหนึ่งรอบ ต่างกับการชนะเลิศ ‘คัพ’ ซึ่งให้แก่คนที่แข่งชนะมาตลอดทาง อย่างไรก็ตามแม้ถ้วยเพลทจะไม่ใช่การเป็นเลิศที่สุด เขาบอกว่าสำหรับเด็กอย่างเขาที่โตมาด้วยความรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘เป็ด’ ที่เรียนหนังสือ เล่นดนตรี แข่งกีฬาได้พอสมควร แต่ไม่ได้เป็นเลิศ นี่คือครั้งแรกที่เขาทุ่มเทซ้อมแล้วบังเกิดผลสัมฤทธิ์ดังใจ (“วัยเด็กเราเห็นคนที่เขาเก่งเรื่องเรียนไปเลย เก่งเรื่องดนตรีไปเลย เก่งเรื่องกีฬาจัดๆ ไปเลย ส่วนเราประเภททำได้หมดทุกอย่าง แต่ว่าไม่ดีสักอย่าง พอเราได้แชมป์ครั้งนั้นเลยเป็นความรู้สึก ความทรงจำความรู้สึกแรกๆ ที่รู้สึกว่า เฮ้ย---เราก็ทำได้เหมือนกัน”) มาวันนี้ การแข่งขันทางการเมืองดูจะบังคับให้พิธาต้องทั้งเป็นเป็ด และก็ยังต้องพยายามชนะให้ได้
“ผมก็อยากจะเป็นกูรูสักทางหนึ่ง บางคนเก่งไม่เก่งไม่รู้แต่เขามีแบรนด์เป็นกูรูทางเศรษฐกิจไปแล้ว บางคนคือแบรนด์นิติบริกรเก่งเรื่องกฎหมายทั้งหมด ของผมได้นู่นนิดนี่หน่อย แต่ไม่ได้เป็นคนที่รู้เยอะ ด้วยความที่เป็นหัวหน้าพรรค แทนที่จะสนใจเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ก็ต้องไปสนใจว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้มันเท่าไหร่ ต้องไปสนใจเรื่องแรงงาน เรื่องสิ่งแวดล้อม วันนี้ผมต้องดูเรื่องโอไมครอนตอนเช้า ดูเรื่องราคาหมู ว่านำเข้าหมูมาจากที่ไหน ดูว่าเครื่องบิน F35 ที่กองทัพอากาศกำลังจะซื้อ ราคาถูกลงเพราะอะไร ทำให้ผมกลายเป็น เป็ด คือต้องรู้ทุกเรื่องแต่รู้ไม่เยอะวิธีแก้ไขก็คือ divide and conquer หาทีมงานคนที่เขารู้จริงเรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการเมือง เรื่องกฎหมาย สามารถที่จะเข้ามาเป็น ‘ทีม พิธา’ ให้ผม ในแง่ที่ผมสามารถยกหูถาม เอ้า---โรม มาตรา 264 ประยุทธ 8 ปีนี่ยังไงนะ ช่วยบรีฟให้พี่โดยด่วน เอาจุดแข็งของทีมมากลบจุดอ่อนของเรา
…ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเราเป็นเป็ด แต่ก็หาคนที่เขารู้ คนที่เขาว่ายน้ำเป็นแบบปลา คนที่บินเป็นอย่างนก มาร่วมทีมเราให้ได้ และรู้ในวิชามนุษย์ที่จะกระตุ้นให้เขาสามารถทำงานช่วยเรา วันนี้ผมก็มี ‘Team Pita’ อยู่ มีวิโรจน์ (ลักขณาอดิสร) สิริกัญญา (ตันสกุล) รังสิมันต์ (โรม) ณัฐวุฒิ (บัวประทุม) การที่ผมตั้งรองหัวหน้าเหล่านี้ ก็เพราะผมรู้แค่ประมาณ 30% ในทุกเรื่อง ดังนั้น อีก 70% ก็เป็นหน้าที่รองหัวหน้า คุณดูเรื่องนี้ๆ ผมเลือกคุณมาเป็นรองหัวหน้าก็เพราะผมรู้ว่าคุณถนัดเรื่องนี้ๆ ผมจะรู้แค่ 20-30% แต่ 20% สี่เรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ เรื่องสภา ก็รวมเป็น 80% ของผมแล้ว อีก 20% ผมขอให้ลูกสาวแล้วกัน เพราะฉะนั้นคุณมีหน้าที่รู้อีก 80% ของผมที่เหลือ ผมใช้วิธีทำงานเป็นทีม ให้เขามาคอยบรีฟ หรือเซ็ตเวทีให้เขาช่วยทำสิ่งที่ผมได้มาชดเชยน่าจะเป็นการไวกว่า สามารถหยิบประเด็นแล้วย่อยได้ดีกว่า พูดมายาวเหยียด ผมก็ย่อยและให้สัมภาษณ์กับนักข่าวได้ หรือใช้ความเป็นนานาชาติที่เคยเห็น ในเรื่องบางเรื่องก็ยกหูหาเพื่อน ถามว่าเรื่องนี้มึงแก้ยังไงวะ เอากลับมาเป็นคำถามให้ทีมเพื่อให้เขาสามารถซิกแซกไปข้างหน้าได้
…เคยคิดว่าอยู่การเมืองไทยไปอีกสักสิบปีแล้วก็ฝันอยากลองลุยกับสหประชาชาติ อยากไปเป็นเลขาสหประชาชาติคนแรกของประเทศไทย ตั้งแต่เด็กๆ เคยเห็นตอนอาจารย์สุรเกียรติ (เสถียรไทย) แข่งกับบันคีมูน เกาหลีใต้ ก็คิดว่าเราทำได้ถ้าพยายามจริงๆ อยากจะลองดูว่าจะยากแค่ไหน ในเมื่อท่านสุรเกียรติทำไม่ได้ โดนรัฐประหารไปก่อน ก็เลยอยากจะลอง แค่นั้นเอง หลังจากนั้นสิบปีอยากเป็นอาจารย์ แล้วอีกสิบปีหลังจากนั้นก็ไปตายในฟาร์มที่ไหนสักที่”
สำหรับเป้าหมายยิ่งใหญ่เหล่านี้ น่าประหลาดว่าวิชาที่จะช่วยพิธาได้มากที่สุด อาจไม่ได้มาจากสถาบันอย่างฮาวาร์ดหรือเอ็มไอที แต่มาจาก ‘สภา’ ที่เป็นโรงเรียนปัจจุบันของเขานั่นเอง
“ผมจำได้เลยว่าเข้าสภาไปเป็นกรรมาธิการ ขึ้นบัลลังก์ใหญ่ครั้งแรก ข้างๆ เป็นส.ส.พรรคอื่นอยู่มา 30-40 ปี ผมก็ถามเขาว่า insight ของพี่คืออะไรครับ เขาบอก ‘อดทนน้อง’ ก็รู้แล้วว่าระดับความอดทนต้องใหญ่และกว้าง อะไรที่ไม่ยุติธรรมก็ต้องยอมรับ อะไรที่ยังไม่ใช่พื้นที่และเวลาของเรา เราก็ต้องอดทนรอ ผมก็ไม่รู้ว่าผมจะอดทนได้แค่ไหน อย่างที่บอก ตอนนี้อายุ 40 หวังว่าจะตาย 80 ผมก็แบ่งไว้ 10-10-10-10 อย่างที่เล่า ภาษาไทยเรียกอะไรไม่รู้ มันคือ grit ถ้ามี grit มันจะอดทนได้ มันจะมีกระดูกสันหลังให้การทำงาน มันจะไม่โลภ มันจะไม่รู้สึกว่า ‘ไม่ได้แล้ว ครั้งหน้าต้องเป็นรัฐมนตรีให้ได้แล้ว คราวหน้าไม่อยู่ฝ่ายค้านแล้ว’ ซึ่งในการเมืองไทยมีคนแบบนี้เยอะ ทุกคนอยากเข้าสู่อำนาจ ต้องการทำอะไรโดยเร็ว ทั้งที่รู้ว่าถึงเขาไปถึงที่หมายแต่เขาก็จะทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นรัฐมนตรีที่โลกลืมเพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหา ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทรัพยากรตอนคุณไปอยู่กระทรวงทรัพยากร ไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานตอนไปอยู่แรงงาน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ทั้งนั้นเพราะที่มาที่ไปของคุณไม่ได้รับการยอมรับ เป็นรัฐมนตรีเพราะแบ่งโควต้ามาแต่คุณไม่มีความรู้เรื่องนั้นๆ แล้วคนก็จะผิดหวังที่คุณไม่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงปัญหานั้นได้
…ความอดทนทำให้ไม่ลุกลี้ลุกลน ใครเอาอะไรมาล่อก็จะไม่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าสู่อำนาจ กระเหี้ยนกระหือรืออย่างเดียวคือทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริงๆ เราถามตัวเองว่าเราเข้าการเมืองมาทำไม Why the politics? Because the country can, and I can. เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว ต้องไปแบบมั่นใจในระดับหนึ่งว่า เฮ้ย---จะทำได้อย่างที่เราต้องการ ถ้าจะเข้าไปเพื่อเซ็นเอกสารนิดๆ หน่อยๆ ผมไม่เห็นว่าจะเวิร์กเลยกับการต้องโดนด่า โดนกล่าวหา โดนสาดโคลน มันคุ้มเหรอ ถ้าแบบนั้นไปตีเทนนิส เล่นสควอชที่สปอร์ตคลับไม่ดีกว่าเหรอ
…ทุกวันนี้ได้พิสูจน์ว่าเราทำได้ ได้พิสูจน์ว่าเรากลายเป็นปากเป็นเสียงให้พี่น้องประชาชน พิสูจน์ว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันกฎหมายให้ก้าวหน้า ได้พิสูจน์แล้วว่าการตรวจสอบรัฐบาลเรื่องโควิดที่คนอื่นอาจจะคิดว่าเราอภิปรายด่าๆ อย่างเดียว แต่รัฐบาลหยุดซื้อซิโนแวคจริง atk ได้นำออกมาใช้จริง มีการกระจายความเสี่ยงจริง ในห้องกรรมาธิการที่คนอื่นไม่เห็น เราได้เรียกอธิบดีมาคุยเรื่องแก้ไขปัญหาป่าไม้ให้ประชาชนจริง ป่าไม้หยุดฟ้องประชาชนจริงทำให้เห็นว่าเราเป็นผู้แทนที่ดีได้ ผู้แทนที่ดีจริงๆหน้าที่ก็มีอยู่แค่ 3 อย่าง หนึ่ง คือ ตรวจสอบรัฐบาล สอง เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน สาม คือผ่านกฎหมาย และสามสิ่งนี้ผมเชื่อว่าทำได้ไม่แพ้ใครในสภา ก็ถือว่าโอเค ทำได้ ที่เรียนมามันได้เอามาใช้จริง
…จากที่อยู่ปัจจุบันได้มองกลับไปอดีต ชีวิตเรามันก็โอเคนะ ในอดีตเราได้มองภาพแบบปัจจุบันว่าสักวันหนึ่งเราจะได้ทำแบบนี้ ก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ รู้สึกว่าไม่ต้องเอาไม้บรรทัดคนอื่นมาวัด เราเอาไม้บรรทัดของตัวเอง ก็โอเคพอใจ อาจจะไม่ได้ก้าวหน้าเท่าคนอื่นเขา เพื่อนผมที่เคนเนดี้ตอนนี้เป็นรัฐมนตรีหมดแล้ว อยู่สิงคโปร์ อยู่โคลัมเบีย เราก็ไม่ได้ต้องการไปวัดกับเขาว่าต้องไปถึงอย่างนั้น ตอนเด็กๆ เราเคยคิดว่าต้องชนะ ต้องที่หนึ่ง นั่นคือ success (สำเร็จ) แต่ชนะแล้วก็ยังรู้สึกไม่พอใจในตัวเอง ได้ที่สองยังไม่พอใจเลย ตอนนี้เอากระบวนการเป็นที่ตั้ง ถึงได้ที่สอง หรือที่สาม แต่ถ้าทำเต็มที่ก็รู้สึกว่า satisfying (พึงพอใจ) มากกว่าได้ที่หนึ่งแบบฟลุคๆ ก็อธิบายยาก เหมือนเราเข้าใจแล้วว่าเรื่องแบบนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกวิถีทางที่จะชนะให้ได้ สักวันหนึ่งเมื่อถึงเวลาของเรา เมื่อคู่แข่งของเราแก่กันไปหมดแล้ว อาจจะถึงเวลาของเราเอง ดีกว่าต้องเร่งเอาให้ได้ เปลี่ยนให้ได้เร็วที่สุด อย่างที่ภาษาไทยเขาว่าอะไร หักด้ามพร้าด้วยเข่า”
ภายใต้การเมือง ณ ปัจจุบัน เป็นไปได้ว่าพิธาทำใจไว้แล้วว่า เหมือนเมื่อครั้งแข่งสควอชยามเด็ก อนาคตของเขาอาจไม่มีถ้วยคัพรออยู่และเขาทำได้อย่างมากเพียงลองคว้าเอาถ้วยเพลท ดังสังเกตได้ว่า ตลอดการสัมภาษณ์ที่เต็มไปด้วยพลังและความมั่นใจ พิธา มักยกเพียงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นกรณีตัวอย่างว่าถ้าตนเข้าสู่อำนาจได้จะทำอะไร มากกว่าตำแหน่งสูงสุดอย่างนายกรัฐมนตรี กระนั้น แม้ในที่สุด หากพิธาจะพลาดถ้วยเพลทด้วยก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะอย่างที่เขาได้แยกความต่างระหว่าง success และ satisfying ไว้ การกระทำที่ไม่สำเร็จ ยังอาจสร้างความพึงพอใจ
ไม่ใช่แค่สำหรับตัวเขาเองแต่ยังสำหรับประชาชนทั่วไป
...ผู้ต้องการเพียงคนที่ทำหน้าที่ไม่ว่าในตำแหน่งใดก็ตาม ■