HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


The Future Frontiers

ดร.สุรเกียรติ์ และดร.สันติธาร เสถียรไทย ฉายภาพพรมแดนแห่งอนาคตที่ประเทศไทยต้องตระหนักรู้และเลือกทางเดินร่วมกัน

ธนกร จ๋วงพานิช

นับตั้งแต่เวลาที่ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (และต่อมารองนายกรัฐมนตรี) ในสมัยรัฐบาลของดร.ทักษิณ ชินวัตร และนักวิชาการทางกฎหมายผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเอกในเรื่องการเมืองและการค้าระหว่างประเทศ จนได้รับสมญาว่า ‘สุรแกตต์’ ตามชื่อความตกลงระหว่างชาติเพื่อส่งเสริมประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจ (GATT) ก่อนมีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเป็นเลขาธิการสหประชาชาติในนามของ 10 ประเทศอาเซียนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว การเมืองโลกก็ได้เปลี่ยนไปอย่างพลิกโฉม

เพราะการเมืองของโลก หรือที่สมัยนี้อาจนิยมใช้คำว่า ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ ที่ดร.สุรเกียรติ์ ได้ทำความรู้จักและใช้สร้างชื่อให้กับตนเองมาอย่างเรืองรองนับจากจบปริญญาโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากโรงเรียนกฎหมายและการทูตเฟลตเชอร์ และปริญญาเอกทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จวบจนมาเป็นอาจารย์ผู้ริเริ่มหลักสูตรกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทั่งดำรงตำแหน่งคณบดี และเริ่มทำงานการเมืองโดยได้รับการยืมตัวจากจุฬาฯ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ ตามด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชานั้น แม้จะไม่ถึงกับไร้ความขัดแย้ง แต่ก็เรียกว่าอยู่ในโมงยามของความสดใส

ในห้วงเวลาดังกล่าว สงครามเย็นระหว่างคอมมิวนิสต์และเสรีนิยมสิ้นสุดลง ประชาธิปไตยเบ่งบานไปแทบทุกหนแห่ง ไม่ว่าโดยสภาพความเป็นจริงหรือโดยความตั้งใจ ประเทศต่างๆ ตระหนักว่าต้องอิงอาศัยกันในเชิงการค้ามากกว่าจะแย่งชิงสิ่งที่ต้องการเอาด้วยสงคราม อินเทอร์เน็ตเชื่อมโลกเข้าแบบเรียลไทม์ในเชิงการสื่อสารและเทคโนโลยี คำสำคัญอย่างสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรี ความเท่าเทียมดูจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักร แต่ล่องลอยมาแตกหน่อในดินต่างแดนในสารพัดรูปแบบและผลลัพธ์ อันที่จริงในช่วงเวลาไม่กี่ปีก่อนที่ดร.สุรเกียรติ์เข้ารับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่อายุน้อยที่สุดในรัฐบาลบรรหาร ฟราสซิส ฟูคูยาม่า นักรัฐศาสตร์อเมริกันยังเขียนหนังสือเล่มกระเดื่องเรื่อง The End of History and the Last Man เพื่อจะบอกว่าประวัติศาสตร์แบบเดิมๆของมนุษยชาติที่ดิ้นรนไปต่างๆ นานาตามวิวัฒนาการแห่งความคิดที่เปลี่ยนไปของผู้คนในแต่ละยุคถึงเวลายุติแล้ว เพราะมนุษยชาติได้พบแล้วกับระบบเสรีประชาธิปไตยที่น่าจะเป็นรูปแบบสุดท้ายของระบบการปกครองที่มนุษย์แสวงหา

อย่างไรก็ตาม เพียงหมุนเข็มเวลาไปอีกไม่ทันถึงชั่วคน ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ ‘ดร.ต้นสน’ บุตรชายคนเดียวของดร.สุรเกียรติ์ ที่เติบโตขึ้นอย่างไม่ไกลต้น ตั้งแต่ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (แอลเอสอี) มาจนปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กลับพบว่าดินไม่ได้อุดมอย่างเก่า โลกที่เคยมลังเมลืองสำหรับคนรุ่นพ่อของเขาดูจะหรี่แสงลงเรื่อยๆ ในช่วงปี 2009-2018 สัดส่วนการค้าต่อจีดีพีโลกได้ลดลงกว่าร้อยละห้าจุด มีมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนระยะยาวลดลงกว่าครึ่งนับจากปี 2016-2019 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เปิดให้เห็นมิติความฟอนเฟะของทุนนิยมเสรีแบบอเมริกัน ในขณะที่วิถีการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐตามแต่จะเห็นเหมาะสมแบบจีนกลับสร้างผลงานแบบหักปากกากูรูตะวันตก โดยเฉพาะในสี่ปีหลังที่ดร.สันติธารได้เข้ารับตำแหน่ง Group Chief Economist ของ Sea Group บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน ความเปลี่ยนแปลงราวกับจะยิ่งวิ่งในอัตราเร่ง ไม่ว่าจะดูจากปรากฏการณ์เบร็กซิท กระแสความนิยมทรัมป์ ลัทธิคลั่งชาติในทุกหนแห่ง และล่าสุดคือวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระดับตำนานของสหรัฐฯ ผู้ที่เคยเขียนหนังสือเรื่อง World Order อย่างเฮนรี คิสซินเจอร์ถึงกับต้องชี้ว่า “แนวคิดเรื่องระเบียบโลกที่เป็นหมุดตรึงของยุคสมัยใหม่บัดนี้กำลังตกอยู่ในวิกฤต” ยังไม่ต้องพูดถึงว่า องค์กรที่ดร.สันติธารเองเป็นผู้บริหารก็ห่างไกลจากการเป็นเพียงผู้ได้รับผลจากการเมืองโลกที่พลิกผัน เพราะในฐานะบริษัทแม่ของยักษ์ใหญ่ในสามธุรกิจสำคัญของยุคไม่ว่าความบันเทิงดิจิทัล (Garena) อีคอมเมิร์ส (Shopee) และบริการทางการเงิน(Sea Money) เขาย่อมรู้ดีกว่าใครว่าเทคโนโลยีแห่งยุคสมัยคือหัวใจของอำนาจในแต่ละยุคสมัยเสมอ

การได้คุยกับดร.สุรเกียรติ์ และดร.สันติธารพร้อมหน้ากันที่บ้านจึงซ่อนนัยยะพิสดารยิ่งกว่าการได้พบพยัคฆ์สองตัวในถ้ำเดียว เพราะพยัคฆ์หนึ่ง ได้สถิตเหนือภูผาเพ่งมองการเมืองภูมิรัฐศาสตร์โลกอันเก่าแก่เท่ากับกิเลสมนุษย์มาอย่างยาวนานในฐานะนักรัฐศาสตร์การทูตชั้นเอกอุของรัฐ ในขณะที่อีกพยัคฆ์ก็มีหน้าที่เผ่นโผนเหนือสมุทร (Sea) แห่งความเปลี่ยนแปลงเพื่อจับตาดูขอบฟ้าแห่งโอกาสของอนาคตในฐานะผู้วางยุทธศาสตร์ขององค์กรเอกชนชั้นนำ

แล้วใครเลยจะปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันที่รุ่มร้อนด้วยการเมืองโลก และเร่งเร้าด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยี

การเข้าใจทั้งอดีตและอนาคตที่สืบเนื่องและสมานฉันท์คือโอกาสลุ้นเพียงหนึ่งเดียว

ประโยชน์ที่เชื่อมโยง

การเมืองโลกอาจเป็นของสำคัญ แต่ด้วยระยะที่ห่าง และเรื่องราวที่ไม่คุ้นเคย ทำให้แม้กระทั่งทุกวันนี้ที่โลกอยู่เพียงปลายนิ้วคนก็ยังให้ความสนใจจำกัด อย่างไรก็ตาม สำหรับดร.สุรเกียรติ์ บุตรชายเพียงคนเดียวของดร.สุนทร เสถียรไทย อดีตอธิบดีกรม-บัญชีกลาง กับศาสตราจารย์ คุณหญิงเกื้อกูล เสถียรไทย อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มารดาของเขาคือผู้ช่วยทำหน้าที่แทนอินเทอร์เน็ตในการเชื่อมโลก โดยพาดร.สุรเกียรติ์ร่วมเดินทางไปฝรั่งเศสทุกปีในทริปหาซื้อหนังสือมาใช้เตรียมการสอน พร้อมกับบรรยายประวัติศาสตร์เบื้องหลังโบสถ์และปราสาทราชวังต่างแดนสิ่งเหล่านี้ได้ช่วยปลูกความสนใจในการต่างประเทศให้แก่ดร.สุรเกียรติ์ตั้งแต่ปฐมวัย จนเมื่อเรียนจบนิติศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาได้ตัดสินใจเรียนต่อทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โรงเรียนกฎหมายและการทูต เฟลตเชอร์ มหาวิทยาลัยทัฟท์ส ตามด้วยปริญญาโทและเอกทางนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นดร. ทางนิติศาสตร์คนไทยคนแรกของฮาร์วาร์ดแล้วดร.สุรเกียรติ์ยังได้ร่วมสอนและเป็นบรรณาธิการคู่กับโปรเฟสเซอร์ เฟรเดอริค อี. ชโนเดอร์ในการสร้างตำรากฎหมายชื่อ Third World Attitudes Toward International Law ซึ่งดูราวกับจะเป็นเซียมซีทำนายภารกิจที่จะติดตามมาของเขาในฐานะผู้ชำนาญการของไทยในเรื่องการเจรจาต่อรองบนเวทีสากลที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ใช่คนกำหนดเกณฑ์ได้เป็นอย่างดี

ดร.สุรเกียรติ์: “การต่างประเทศไม่ได้อยู่ลอยๆ ในสุญญากาศ มันมีรากจากในประเทศทั้งนั้น ความตกลงระหว่างประเทศกระทบกับเหตุการณ์ในประเทศ และในทางกลับกัน ผลประโยชน์ในแต่ละประเทศขึ้นไปอยู่ในการเมืองระหว่างประเทศ ช่วงต้นๆ ในชีวิตของเราจะเห็นว่าการนำเรื่องของเศรษฐกิจเสรีนำมาซึ่งองค์การการค้าโลก การค้าสินค้าไม่พอต้องเป็นการค้าบริการด้วย ไม่ว่าโทรคมนาคม ธนาคาร ประกันภัย ก่อสร้าง การท่องเที่ยว ทุกอย่างเป็นบาทเป็นสตางค์ต่อประเทศไทย ประเทศกำลังพัฒนาต้องยอมรับว่าต้านเขาไม่ค่อยไหว หลายข้อมาจากอิทธิพลของตะวันตก ก็ต้องดูว่าถ้าเราต้านเขาไม่ไหวแล้วผลกระทบเราเป็นยังไง

...การเมืองระหว่างประเทศเหมือนกับอารยธรรมเก่าแก่ มันเคลื่อนไปตามกิเลสคน ตามผลประโยชน์ เดิมเทคโนโลยียังไม่มามันก็เป็นเรื่องของการกินดีอยู่ดี สเปน อังกฤษ โปรตุเกส มาหาดินแดนเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร อังกฤษคุมตะวันออกกลาง เพื่อป้องกันเส้นทางเอาชากลับอังกฤษไม่ให้มีใครมาปล้น ฝรั่งเศสคุมแอฟริกาตอนเหนือ เพราะมีการเกษตรเยอะ กลัวอาหารตัวเองไม่พอพอเริ่มเจริญขึ้นมา มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมก็เป็นเรื่องการค้าระหว่างประเทศ มายื้อกันว่าจะเปิดเสรีหรือไม่เปิดเสรี เปลี่ยนจากการที่ไปเอาดินแดน มาเป็นบังคับให้เปิดดินแดนโดยที่ไม่ต้องมาเปลี่ยนเส้นพรมแดนทางการเมือง

การต่างประเทศไม่ได้อยู่ลอยๆ ในสุญญากาศ มันมีรากจากในประเทศทั้งนั้น ความตกลงระหว่างประเทศกระทบกับเหตุการณ์ในประเทศ และในทางกลับกัน ผลประโยชน์ในแต่ละประเทศขึ้นไปอยู่ในการเมืองระหว่างประเทศ ประเทศกำลังพัฒนาต้องยอมรับว่าต้านเขาไม่ค่อยไหว ก็ต้องดูว่าถ้าเราต้านเขาไม่ไหวแล้วผลกระทบเราเป็นยังไง

…ดึงเข้ามาเร็วหน่อยถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ อเมริกาสู้ไม่ได้ก็ขึ้นภาษีเสียเฉยๆ จีนก็ตอบโต้กลับเข้ามา กลายเป็นสงครามการค้าเคลื่อนต่อเข้ามาอีกก็มาถึงการแข่งขันทางเทคโนโลยี มีการหาเรื่องหัวเหว่ย เกิด decoupling เรื่องชิปอะไรต่างๆ กลายเป็นสงครามเทคโนโลยี และขณะนี้ มันกำลังเคลื่อนไปสู่ Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว แข่งกันเรื่อง EV (Electric Vehicle) ถามว่าทำไมจีนเห็นตาลีบันเข้าไปยึดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอัฟกานิสถานแล้วยังเฉยๆ เพราะอัฟกานิสถานมีลิเทียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำแบตเตอรี่ทั้งหลาย

…แต่ที่น่าสนใจคือการเมืองระหว่างประเทศเดิมๆ ก็ไม่ได้หมดไป เรื่องดินแดน เรื่องความมั่นคง เรื่องอยากได้ทรัพยากร เรื่องเชื้อชาติที่ขัดกัน เรื่องศาสนาที่ขัดกัน มันเดินต่อเนื่องมาตลอด ความขัดแย้งในซีเรีย ความขัดแย้งในยูเครน-รัสเซีย การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นอารยธรรมเก่าแก่ แต่ทันสมัยเพราะมันอยู่กับกิเลสของมนุษย์ตลอด ผมก็ไม่รู้ว่ายี่สิบปีข้างหน้า กิเลสหรือความสามารถของมนุษย์จะมีอะไรที่ยิ่งไปกว่า เทคโนโลยี Metaverse จะทำให้เกิดอะไรขึ้น VR จะทำให้เกิดอะไรขึ้น Quantum Computing จะทำให้เกิดอะไรขึ้น แต่มันก็จะยังเป็นการเมืองระหว่างประเทศว่า ใครจะอยู่แนวหน้าในเรื่องพวกนั้น ขัดแย้งกันยังไง แล้วประเทศเล็กๆ อย่างเราจะอยู่ตรงไหน มีผลกระทบต่อปากท้องของเราอย่างไร”

สิ่งที่น่าสังเกตคือ การเมืองระหว่างประเทศไม่เพียงเคลื่อนที่อยู่ตลอด แต่ยังเคลื่อนที่ทั้งไปข้างหน้าและถอยหลัง วรรณกรรมโบราณอย่างสามก๊กยังเริ่มต้นบทประพันธ์ด้วยสิ่งที่ดูจะเป็นสัจธรรมแม้ตั้งแต่ครั้งกระโน้นว่า “ธรรมดาสรรพสิ่งในใต้ฟ้า เมื่อแยกกันนานๆ ก็กลับเข้ารวมกัน เมื่อรวมกันนานๆ ก็กลับแยกกันอีก” จนชวนให้สงสัยว่าชะตากรรมของมนุษยชาติไม่สามารถเดินหน้าสู่ความเจริญและความสงบสุขแต่เพียงถ่ายเดียว หากแต่ต้องอยู่บนวิถีของประวัติศาสตร์ที่แกว่งไปและกลับเช่นนี้อยู่ตลอดเวลาจริงหรือ

ดร.สุรเกียรติ์: “ขออนุญาตใช้ภาษาอังกฤษว่า sad but true น่าเศร้าที่มนุษย์ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการสูญเสีย แต่มันเป็นอย่างนั้นเพราะว่ากิเลสของคนสร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา มีเทคโนโลยีมาเสริม มีอาวุธยุทโธปกรณ์มาเสริม รบโดยใช้มิสไซล์ความเร็วสูงเกินเสียง ยิงมาจากไหนไม่รู้ ยังไม่ทันได้ยินก็ระเบิดพังไปหมดแล้ว มันก็ไปของมันเรื่อย sad but true คือแทนที่จะดูที่การอยู่ร่วมกัน การกินดีอยู่ดีของประชาชน กลับไปมองว่าจะให้กินดีอยู่ดีได้คนอื่นต้องไม่โต

…การเมืองต่างประเทศมีพลวัติของมันตลอดมันไม่เคยอยู่นิ่ง UN Charter เกิดขึ้นมาปี 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง มีหลายข้อที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่ค่อยแฮปปี้ เพราะประเทศมหาอำนาจเป็นผู้เขียนกฎเกณฑ์ หลายข้อประเทศกำลังพัฒนาก็แฮปปี้ เพราะมีหลักปกป้องเรื่องการคุกคามสันติภาพ กลายเป็นสิ่งที่เรียกกันว่า New World Order เดินเข้าสู่โลกาภิวัตน์ในเชิงเศรษฐกิจ แต่หลายสิบปีผ่านไปเราเริ่มเห็นแล้วว่าระเบียบโลกถูกฉีก ตอนนี้เราเห็นรัสเซีย แต่ก่อนหน้านั้นอเมริกาก็เข้าไปที่อิรัก ยูเอ็นไม่ได้อนุญาต เพียงแต่ว่าอเมริกาเขาเข้าเร็วออกเร็ว แป๊บเดียวก็เอาซัดดัม ฮุสเซ็นออกได้ คนยังไม่ทันจะประท้วง

…แม้กระทั่ง Globalization ที่เป็นหลักทางเศรษฐกิจก็ตาม การอภิวัฒน์หรือหมุนตามโลกก็คือหมุนตามกำไรของโลก กำไรที่ไหน ก็ไปลงทุนที่นั่น พอช่วงห้าปีที่ผ่านมาเกิด De-Globalization ประเทศที่เคยชูโลกาภิวัตน์ อเมริกา ยุโรปทั้งหลาย กลายเป็นบอกว่า โลกาภิวัฒน์ช้าก่อนๆ บรังโค มิลาโนวิช ทำการศึกษาเอาไว้ในยี่สิบปีของโลกาภิวัตน์พบว่า คนชั้นกลางในยุโรปและอเมริกาแย่ลง ซึ่งคนชั้นกลางในยุโรป-อเมริกา เป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น คุณจึงเห็น Brexit คุณเห็น America First พวกนี้เป็นนโยบายที่สื่อสารกับคนชั้นกลางทั้งนั้น ในทางกลับกัน ประเทศที่เคยบอกว่ากลัวโลกาภิวัตน์อย่างอาเซียนหรือไทย กลัวคนจนจะแย่ เกษตรกรจะแย่ กลายเป็นยกมือบอกต้องโลกาภิวัตน์ ต้องเปิดเศรษฐกิจเสรี ไม่งั้นเราอยู่ไม่ได้ เงินในประเทศไม่พอ เราต้องเอาต่างชาติมา จีนบอกต้องเศรษฐกิจเสรี อินเดียซึ่งปิดประเทศมากบอกเปิดประเทศ ระเบียบโลกกลับทางกันเลย

…บทบาทสหประชาชาติต้องมีการยกเครื่องโครงสร้างของคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติที่ห้าประเทศมีสิทธิวีโต้ ต้องยกเครื่อง เรื่องรัสเซียเข้าไปเท่าไหร่ รัสเซียก็วีโต้ตลอด เรื่องจีนเข้าไปเท่าไหร่ จีนก็วีโต้ เรื่องอิสราเอลโจมตีปาเลสไตน์เข้าไปเท่าไหร่ อเมริกาก็วีโต้ ในขณะที่คุณมีพี่ใหญ่เพิ่มขึ้นตั้งเยอะ อินเดียเขาก็บอกว่าฉันไม่ได้อยู่ในนั้น เม็กซิโกก็ใหญ่ บราซิลก็ใหญ่ ญี่ปุ่นก็ใหญ่ แต่เขาก็ไม่ได้อยู่ในนั้น ระเบียบโลกยังอยู่แบบนี้ได้หรือเปล่า แม้กระทั่งเรื่องโควิด-19 สหประชาชาติก็นั่งเถียงกันว่าคณะมนตรีความมั่นคงมีอำนาจในการสั่งการไหม เป็นเรื่องสันติภาพและความมั่นคงไหม เลยนั่งตีความกันเป็นเดือนว่าโรคระบาดที่คนตายเป็นพันเป็นหมื่นเป็นเรื่องสันติภาพกับความมั่นคงหรือเปล่า ภาษาอังกฤษต้องใช้คำว่า ridiculous ไร้สาระ ดังนั้นจะเห็นว่าในเวลานี้ระเบียบโลกที่กำหนดโดยองค์กรพหุภาคี เช่น สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ใช้การไม่ได้ และการเมืองระหว่างประเทศวิวัฒน์อยู่ตลอด ไม่มีระเบียบโลก มีระเบียบโลก ไม่มีโลกาภิวัตน์ มีโลกาภิวัตน์ หมุนไปเรื่อยๆ และทุกอย่างที่เขาขยับก็กระทบกับปากท้องของเรา”

จักรวรรดินวัตกรรม

หากผลประโยชน์อยู่ที่ศูนย์กลางของการเมืองไม่ว่าในหรือนอกประเทศ เทคโนโลยี (ซึ่งโดยรากศัพท์มีความหมายว่า การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เป็นผลในทางปฏิบัติ) ย่อมคือหนึ่งสิ่งที่มีศักยภาพกำหนดประโยชน์นั้นได้อย่างมหาศาล แต่ในขณะที่การเมืองและเทคโนโลยีอาจเป็นเรื่องเก่าแก่บรมสมกัลป์อย่างที่ดร.สุรเกียรติ์ได้กล่าว ในฐานะผู้บริหารของบริษัทเทคที่มีรายได้เติบโตร่วมสามหลักในแต่ละไตรมาสอย่าง Sea Group ดร.สันติธารได้ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นสำคัญกว่าคือ เราจะบริหารคลื่นของเทคและการเมืองที่ตามมาได้มากน้อยเพียงใดในห้วงเวลาปัจจุบัน

ดร.สันติธาร: “จริงๆ ของบางอย่างที่เรามองวันนี้ว่าเป็นของเก่า มันก็อาจเคยเป็นเทคโนโลยีมาก่อนในอดีต การพิมพ์หนังสือก็เคยเป็นเทคโนโลยี และสมัยที่มันยังถูกเรียกว่าเทคโนโลยี ก็เป็นตัวขับเคลื่อนโลกและอำนาจอย่างสำคัญด้วยการเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้ไปอย่างกว้างขวาง ในทุกยุคทุกสมัยเทคโนโลยีมีผลต่ออำนาจ ต่อองค์กรและประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็คือใครมีเทคโนโลยีที่ทำได้อยู่คนเดียวหรือน้อยคน จะได้เปรียบผู้อื่นมาก เช่น บริษัท semi-conductor ที่อยู่ในเนเธอร์แลนด์ที่เป็นคนผลิตเทคโนโลยีเลเซอร์ตัดสลักบนเซอร์กิตแบบพิเศษได้แต่เพียงผู้เดียว พออเมริกาบอกว่าห้ามขายให้จีน จีนก็เดือดร้อนทันที เพราะทุกประเทศที่ผลิต semi-conductor ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีนี้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือโซเชียลมีเดียก็กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีอำนาจเยอะมากในยุคแห่งข้อมูล สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็มีคนบอกว่าเป็นสงครามโซเชียลมีเดียที่มีอิทธิพลต่อ ‘ความจริง’ ที่แต่ละฝ่ายเห็น นี่คืออำนาจทางตรง เพราะเทคโนโลยีอยู่ในสิ่งของและบริการหลายอย่างที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน และบางอย่างเป็นสิ่งที่มีไม่กี่เจ้าที่ผลิตหรือให้บริการได้ ทำให้มีอำนาจต่อรอง

…แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็มีอำนาจทางอ้อมมากเพราะมันช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ จนอาจกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ ด้วยการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) ให้คนและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นหัวใจของการเจริญเติบโตในระยะยาว ผมชอบเฟรมเวิร์คของเรย์ ดาลิโอ ของบริดจ์วอเตอร์ ที่มองว่าทุกอย่างเคยเกิดขึ้นมาแล้วเป็นวัฏจักร ประเทศที่เป็นมหาอำนาจเขาผ่าน technological revolution มาแล้วทั้งนั้น คือช่วงที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีมหาศาล ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างผลิตภาพมหาศาล พอสร้างผลิตภาพมหาศาล คนเข้าไปในการศึกษา เศรษฐกิจก็เติบโตเร็วมาก พอเติบโตเร็วมาก ก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจก็โยงไปถึงอำนาจทางทหาร และอำนาจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไป นี่คือขาขึ้นของจักรวรรดิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคของดัชต์สหราชอาณาจักร จนมาถึงยุคของอเมริกา และจีนปัจจุบันนี้ที่จับทิศทางและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลได้ถูกต้องและเติบโตจนนำอเมริกาในหลายๆ ด้าน เพราะฉะนั้น พออำนาจเศรษฐกิจมา ก็ไปเปลี่ยนแปลงอำนาจการเมือง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ มีเจ้าพ่อใหม่เกิดขึ้นมาจากอำนาจนี้

ประเทศที่เป็นมหาอำนาจเขาผ่าน technological revolution มาแล้วทั้งนั้น คือช่วงที่มีการลงทุนในเทคโนโลยีมหาศาล ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างผลิตภาพมหาศาล พอสร้างผลิตภาพมหาศาล คนเข้าไปในการศึกษา เศรษฐกิจก็เติบโตเร็วมาก พอเติบโตเร็วมากก็มีอำนาจทางเศรษฐกิจก็โยงไปถึงอำนาจทางทหาร และอำนาจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นไป

…แต่ความยากของประเด็นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจในวันนี้คือ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คนยุคนี้เกิดไม่ทันยุคที่มันมีการเปลี่ยนแปลงมากมายขนาดนี้ เราจึงไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น มันนานมาแล้วสมัยที่อังกฤษกำลังล้มแล้วอเมริกาขึ้นมาเป็นเจ้า เพราะฉะนั้น เราอาจจะรู้สึกว่า โอโห---นี่มันครั้งแรก จริงๆ มันไม่ใช่ครั้งแรก แต่มันก็นานพอที่จะทำให้เราไม่รู้ว่าเราจะรับมือปรับตัวยังไง

…สอง คือความเร็ว มีคำพูดหนึ่งผมชอบมาก​​บอกว่า “The pace of change has never been this fast, yet it will never be this slow again” คือโลกไม่เคยเปลี่ยนแปลงเร็วขนาดนี้และมันจะไม่เปลี่ยนแปลงช้าอย่างนี้อีกต่อไป แปลว่ามันจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ ผมเอาคำพูดนี้มาใส่หนังสือตอนยังไม่รู้ว่าจะมีโควิดที่เร่งสิ่งต่างๆ ขึ้นมาอีกหลายขั้น การซื้อของออนไลน์ การที่คนจะใช้ digital experience เพื่อรู้จักกันทำงานกันจนเกิดคอมมูนิตี้ออนไลน์ในโลกที่เรียกว่า Web3.0 ที่บางทีคนในนั้นเชื่อมั่นมากกว่ารัฐบาลบางประเทศ ทั้งหมดนี้นึกว่าต้องอีกหลายปีมากๆ กว่าจะเกิด แต่กลายเป็นมันเกิดทุกอย่างภายในปีเดียว สถิติหนึ่งที่น่าสนใจคือหากไปดูตัวเลข adoption rate (อัตราการเติบโตของผู้ใช้งาน) ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั้งหลายว่าในอดีตถึงปัจจุบันแต่ละแพลตฟอร์มใช้เวลานานเท่าไรถึงจะมีจำนวนผู้ใช้ไปถึงหลักพันล้านคน ตั้งแต่ก่อนเฟซบุ๊ก มาเฟซบุ๊ก จนมาถึงติ๊กต็อก จะเห็นว่าเส้นกราฟสั้นมาก เส้นมันชันขึ้นเรื่อยๆ ใช้เวลาสั้นลงๆ ในการที่จะไต่ไปถึงพันล้าน ซึ่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลงนี้สร้างความท้าทายและโอกาสใหม่เยอะ เดิมอาจจะบอกว่าไม่เป็นไร เรารีบกลับไปเรียนหนังสือ รีบกลับไป reskill รีบกลับไปฝึกตัวเองใหม่ แต่ตอนนี้อาจทำไม่ทัน

…สามคือคำว่า interaction การผสมผสานของเทรนด์ เทคโนโลยีไม่ได้มาเดี่ยวๆ เรากำลังเจอหลายคลื่นผสมโรง ทำให้คาดเดายากขึ้นไปอีก เราเห็นด้านเทคโนโลยีเรื่องหนึ่งแล้ว แต่เรื่องการเปลี่ยนระเบียบโลกที่คุณพ่อพูดก็เกิดขึ้นช่วงนี้พอดี พร้อมกันกับช่วงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาถึงจุดวิกฤตและคนบอกต้องหันมา green economy อย่างเต็มที่ พร้อมกันกับเรื่องความเหลื่อมล้ำที่กระฉูดสุดขีด พร้อมกันกับปัญหาโรคระบาดที่เป็นวิกฤตสาธารณสุขของโลก พร้อมกันกับเรื่องโครงสร้างประชากรที่กลายเป็นสังคมสูงอายุ แล้วยังมี stagflation เกิดขึ้นอีก ซึ่งจะไม่เหมือนยุคค.ศ.1970-80 เพราะตอนนั้นยังเป็นยุคที่ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงานอยู่ แต่ตอนนี้คนจำนวนมากเข้าวัยเกษียณแล้ว เจอ stagflation เข้าไป กำลังซื้อน้อยลง ทำอะไรไม่ได้แล้ว มันเกิดขึ้นพร้อมกันหมด Interaction ที่ว่านี้มันเปรียบเสมือนเราเอาวัคซีนหลายๆ อย่างมาฉีด เราไม่รู้ว่าไขว้แล้วมีผลอะไรบ้าง มีผลข้างเคียงระยะยาวอะไรไหมมันไม่มีเวลามานั่งวิเคราะห์”

ภูมิสถาปัตย์

เราอาจไม่ทราบชัดถึงรายละเอียดของการเปลี่ยนผ่านของอำนาจในวัฏจักรครั้งก่อนๆ ของประวัติศาสตร์โลก แต่หากเป็นครั้งนี้ ดร.สุรเกียรติ์แทบไม่ต้องเสียเวลาเค้นนึกในการแจกแจง ‘ภูมิสถาปัตย์’ ที่กำลังเปลี่ยนไปเพราะผลทางตรงทางอ้อมของเทคโนโลยีและการเมือง ตั้งแต่สิ่งที่เกิดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว เช่น การที่ผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเข้าไปขัดกันในเวทีองค์การการค้าโลกจนไม่สามารถออกความตกลงร่วมกัน และทำให้หลายประเทศต้องแตกกลุ่มไปตั้งเขตการค้าและบริการเสรีในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคขึ้นมาแทน ไปจนถึงการทะยานขึ้นของจีนในปริมณฑลการเงินอันเคยเป็นป้อมปราการของตะวันตก

ดร.สุรเกียรติ์: “อะไรคือภูมิสถาปัตย์ทางเศรษฐกิจและการเมืองโลก มันคือ landscape เหมือนเรามีบ้านแล้วทำแลนด์สเคป มีสวน มีอะไรต่ออะไร แล้ววันดีคืนดีสวนนี้เปลี่ยนรูปแบบไปหมดเลย ตรงที่เป็นสนามกลายเป็นบ่อน้ำ ตรงที่เป็นสระน้ำกลายเป็นเนิน ตรงที่มีต้นไม้ใหญ่ตายหายไป ต้นไม้เล็กกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ในช่วงที่ผ่านมา สวนนี้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

…อย่างเรื่ององค์การการค้าโลกแตกมาเป็นความตกลงในภูมิภาคหรือระหว่างภูมิภาค ประเทศกำลังพัฒนาก็ปวดหัวมากเพราะแค่จะหาผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องก็หาแทบไม่ได้ แล้วแต่ละเรื่องก็อยู่กันคนละกระทรวง หรืออยู่กระทรวงเดียวกันแต่คนละกรม แค่จะให้ประเทศเดียวกันคุยแล้วมีจุดยืนเป็นหนึ่งก็ยากแล้ว ในอดีต ผู้แทนอยู่ในไทยไม่มีเวลาเจอกัน พอไปเจรจาต่างประเทศ ก็ไปขัดกันเอง ตอนเป็น รัฐมนตรีต่างประเทศผมเจอเรื่องอย่างนี้บ่อย กรมหนึ่งของกระทรวงหนึ่งบอกว่าย่อหน้านี้ไม่เอา อีกกรมบอกย่อหน้านี้ต้องมี ไม่งั้นไม่ยอม ผมบอกไปคุยกันมาก่อนได้ไหม ทูตของผมต้องเป็นคนไปเคาะประตู ไปทุบไปบี้เขากว่าจะได้ย่อหน้านี้มาเลือดตาแทบกระเด็น แต่อีกกรมบอกว่า ถ้ามีย่อหน้านี้ จะไม่ยอมให้ผู้ใหญ่ลงนามเพราะเสียเปรียบ เอ๊ะ---คุณสองกรมในกระทรวงเดียวกันไม่ตกลงกันมาก่อนเหรอว่า ใครจะได้เปรียบเสียเปรียบ

…ไม่ใช่แต่เรื่องการเปิดเสรีการค้า เรื่องการเงินก็เปลี่ยนไปมาก อาเซียน จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่นรวมตัวกันใน ‘ความคิดริเริ่มเชียงใหม่’ ซึ่งพัฒนามาเป็น ‘ความคิดริเริ่มเชียงใหม่แบบพหุภาคี’ (Chiang Mai Initiative Multilateralization: CMIM) กองทุนการเงินระหว่างประเทศของเอเชีย มีเงินสองแสนสี่หมื่นล้านเหรียญ ถ้าสมาชิกถูกเก็งกำไรค่าเงิน ก็สามารถไปยืมเงินจากกองทุนได้ จะว่าไม่เยอะก็ไม่เยอะ เพราะอย่างกองทุนที่มาเก็งกำไรจนค่าเงินบาทพังพาบเมื่อตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง มีเป็นร้อยๆ กอง ไม่ได้มีแค่สองสามกองทุนอย่างที่เข้าใจ แต่มันสำคัญเพราะ CMIM มีจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศใหญ่ที่สุดในโลก มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ซึ่งล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วร่วมอยู่ ใครจะมาโจมตีต้องคิดดีๆ ว่าไหวไหม ผมยังจำคำของโปรเฟสเซอร์โจเซฟ สติกลิตซ์ ท่านเรียกว่านี่คือ “emerging new Asian financial architecture” เป็นสิ่งใหม่เลย ฉะนั้น การดูแลเสถียรภาพทางการเงินอาจจะไม่ใช่ระบบโลกแต่เป็นภูมิภาคแล้ว เรื่องเสถียรภาพทางอัตราแลกเปลี่ยนมันก็เปลี่ยนไปหมด

…เดิมตั้งแต่ปี 1945 เรามีธนาคารโลกจากข้อตกลงเบรตตันวูดส์ ซึ่งมีสาขาในเอเชีย เรียกว่าธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) แต่เดี๋ยวนี้กลุ่มประเทศบริกส์คือบราซิล จีน อินเดีย รัสเซีย แอฟริกาใต้ จับมือกันตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank: NDB) ถัดมาอีกไม่กี่ปีจีนก็เปิดตัวธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) โห---สมัยก่อนถ้ามีใครเสนอแบบนี้ประเทศตะวันตกทุบตาย เพราะไปแข่งกับธนาคารโลก แต่ปรากฏว่า ตอนนี้ประเทศเพื่อนอเมริกาก็มาร่วมกับจีนหมด ไม่ว่าสิงคโปร์ ไทย อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ยังไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องที่ต้นสนพูดเสมออย่าง FinTech หรือ TechFin คือสถาบันทางการเงินที่ให้บริการทางเทคโนโลยี และบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการทางการเงิน รวมไปถึงบล็อกเชน หรือ central bank digital currency ที่แบงก์ชาติจีนริเริ่มทำ พวกนี้เปลี่ยนระบบการเงิน ธุรกรรมทางการเงินทั้งสิ้น แล้วจะไม่บอกว่าสวนหน้าบ้านเปลี่ยนได้ยังไง

…อย่าลืมว่าเรื่องการเงินมีการแข่งขันอยู่ตลอดเวลาระหว่างดอลลาร์กับหยวน ถ้าจำไม่ผิด ปี 2015 บอร์ดของไอเอ็มเอฟยอมให้เงินหยวนหรือเหรินหมินปี้ (Renminbi: RMB) เป็นส่วนหนึ่งของ SDR (Special Drawing Rights) คือเป็นส่วนหนึ่งของ global reserve ซึ่งวันนี้ประกอบด้วยสัดส่วนของดอลลาร์เป็นที่หนึ่ง ยูโรเป็นที่สอง ที่สามกลายเป็น RMB มาก่อน Japanese Yen ก่อน UK Pound เสียอีก ทั้งที่สมัย 30 กว่าปีที่แล้ว ผมไปเที่ยวจีน อาจารย์สมศักดิ์ ชูโต บอกอาจารย์สุรเกียรติ์รีบใช้ให้หมดนะกลับไปไทยทำอะไรไม่ได้ ต้องใส่กรอบไว้ดูอย่างเดียว

เราสนใจเลือกตั้ง กทม. สนใจยุบสภาเมื่อไหร่ ใครจะชนะ ใครจะไปอยู่พรรคไหน เราโฟกัสในสิ่งที่ไมโครมากเลย เหมือนเรากำลังนั่งเถียงกันเรื่องโถใบนี้ (ชี้ไปที่โถกระเบื้อง) โดยไม่ได้ดูเลยว่าสวนหน้าบ้านเรามันไปที่ไหนแล้ว

…จีนบอกแค่นั้นไม่พอ เงินหยวนต้องเป็นส่วนหนึ่งของ international trading currency จีนบอกว่าอาเซียนทุกคนค้าขายกับจีนให้ใช้เงินหยวนได้ เราก็บอกว่าค้าขายกับจีนเป็นเงินหยวนแล้วเราจะไปค้ากับคนอื่นยังไงเพราะเขาใช้ดอลลาร์ จีนก็มาเปิดธนาคาร ICBC ให้เอาเงินหยวนมาแลกได้เลย ตอนนี้การใช้เงินหยวนยังห่างกับดอลลาร์อยู่เยอะ แต่ก็ชนะแคนาเดียนดอลลาร์แล้ว ชนะออสเตรเลียนดอลลาร์แล้ว ซึ่งสงครามยูเครนกับรัสเซียอาจเร่งให้เงินหยวนถูกใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในการค้าระหว่างรัสเซียกับจีน หรือเพื่อนรัสเซียกับจีน ยิ่งในอนาคต ตะวันตกออกมาตรการ sanction ประเทศเพื่อนรัสเซียมากขึ้น ประเทศเหล่านั้นก็ต้องหันมาหาเงินหยวนมาก แปลว่าต่อไปดีมานด์ต่อดอลลาร์ ดีมานด์ต่อยูโรจะถูกกระทบ จะเห็นว่าภูมิสถาปัตย์ หรือสวนหน้าบ้านมันคนละสวนแล้ว ส่วนที่เป็นแบนๆ กลายเป็นตึก ส่วนที่เป็นตึกหายไปกลายเป็นบ่อ ผมหวังว่า คนไทยจะไม่ได้ดูภาพเก่าอยู่ ถ้าเรายังดูภาพเก่าอยู่ ผมว่าเราตกโลกแล้ว”

ความยากประการหนึ่งคือ แม้วันนี้ที่ราบจะกลายเป็นตึก และส่วนตึกกลายเป็นบ่อ แต่ในวันข้างหน้ากระทั่งสิ่งนี้ก็จะยังเปลี่ยนแปลงไปอีก ไม่มีใครสามารถบอกอนาคตได้ทั้งหมด แต่สิ่งเดียวที่ไม่ควรมีก็คือความแน่ใจ หรือร้ายยิ่งกว่านั้นคือความนิ่งนอนใจ

ดร.สุรเกียรติ์: “ผมคิดว่าทุกภาคส่วนต้องระดมสมองกัน มองยุทธศาสตร์ 20 ปีไกลไป จีนเก่งยุทธศาสตร์ เขายังทำทีละห้าปี แล้วระหว่าง 5 ปี เขายังปรับไส้ในอีก เรามียี่สิบปีก็ได้ แต่เราต้องมาดูว่าปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องมี foresight ว่าปลายปี 65 หลังสงครามยูเครนจะเกิดอะไรขึ้น การค้า การเงิน การลงทุน การเจรจา แรงกดดันระหว่างประเทศหรือในประเทศทั้งหลายต้องระดมดูว่าอันไหนกระทบไทยแค่ไหนแล้วจะเตรียมยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนปฏิบัติการของเรา สำหรับแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนในอาชีพต่างๆ ยังไง ผมอาจจะเข้าใจผิด แต่ผมรู้สึกว่าเราไม่มี foresight เราไม่ได้กวาดสัญญาณอนาคตเลยว่าปลายปีนี้คืออะไร ปี 66 คืออะไร ปี 67 คืออะไร เราสนใจเลือกตั้ง กทม. สนใจยุบสภาเมื่อไหร่ ใครจะชนะ ใครจะไปอยู่พรรคไหน เราโฟกัสในสิ่งที่ไมโครมากเลย เหมือนเรากำลังนั่งเถียงกันเรื่องโถใบนี้ (ชี้ไปที่โถกระเบื้อง) โดยไม่ได้ดูเลยว่าสวนหน้าบ้านเรามันไปที่ไหนแล้ว

…ต้องเอาผู้ที่มีประสบการณ์ในโลกของความเป็นจริงมากลั่นกรองว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ หลายอย่างเราวิเคราะห์แล้วว่ามีผลกระทบแบบนี้ แต่แล้วบอกว่า ดังนั้นประเทศไทยต้องเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เช่น บอกให้ประเทศไทยก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี แต่กระบวนการศึกษาเป็นแบบนี้มันจะเป็นได้อย่างไร เราพูดอยู่เรื่อยว่าต้องออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยนวัตกรรม พื้นฐานของนวัตกรรมคือความรู้ พื้นฐานของความรู้ คือ R&D พื้นฐานของ R&D คือสตางค์ แต่ทุนวิจัยของเราต่ำมาก เอสเอ็มอีของเราเป็นแสนบริษัทไม่ได้ทำ R&D เลย การเรียนในมหาวิทยาลัยเรายังไม่ปรับจาก three-stage life เป็น multi-stage life เด็กเดี๋ยวนี้เรียนปีหนึ่งแล้วก็อาจไปทำงาน เขาควรเอาเครดิตใส่ credit bank ไว้ แล้วกลับมาเรียนต่ออีก แล้วก็อาจออกไปทำงานอีกได้ มันถึงจะเป็น multi-stage life เราชอบพูดกันถึง lifelong learning แต่การศึกษาไทยมีแต่ขั้นต่ำกว่าป.ตรี-ตรี-โท-เอก แล้วมัน lifelong learning ตรงไหน”

จังหวะสามเชื่อม

หากฟังจากดร.สุรเกียรติ์ เมืองไทยดูกำลังตกอยู่ในจังหวะที่เปราะบางไม่น้อย จากความเป็นไปรอบด้านที่เราไม่ได้เตรียมตัวไว้ แต่สำหรับดร.สันติธาร การยอมรับว่าตัวเองเปราะบางนั่นเอง อาจเป็นจุดเริ่มของทางออกของประเทศ

ดร.สันติธาร: “ผมว่ามี ‘3 เชื่อม’ ที่สำคัญสำหรับเมืองไทย ต้องเชื่อมโลก-เชื่อมข้อมูล-เชื่อมคน ก่อนเข้ามาทำเทคโนโลยี ผมทำภาคการเงินระหว่างประเทศ คุยกับนักลงทุนทั่วโลกที่มาลงทุนในประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่สังเกตคือบางทีหลายคนในประเทศไทยอาจมีความเป็น inward looking หรือมองว่าตัวเองเป็นเหมือนศูนย์กลางจักรวาลสูง คิดว่าชาวโลกต้องเข้าใจเรา ทั้งโลกต้องปรับตามเรา คิดว่าเรามีอำนาจต่อรองกับทุกอย่าง ซึ่งผมว่าเป็นมุมมองที่อันตรายสำหรับเศรษฐกิจและประเทศขนาดเล็ก หรือนักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า small open economy เราทำเหมือนว่าเราเป็น Middle Kingdom ซึ่งนั่นคือประเทศใหญ่ๆ อย่างเช่น จีน ไม่ใช่เรา

…อันดับแรก ‘เชื่อมโลก’ มีคำพูดหนึ่งบอกว่า “อนาคตมาถึงแล้ว แต่มาถึงแต่ละที่ไม่พร้อมกัน” โควิดเป็นตัวอย่างที่ดีมาก มีหลายประเทศที่โดนโควิดไปหนักก่อนเรา ดังนั้นถ้าเราแค่มองไปข้างนอกว่าใครทำอะไรถูก-ผิด แล้วหยิบมาปรับใช้ในบริบทของเรา เราจะแก้ปัญหาอะไรที่เราไม่ควรเจออีกเยอะมาก ย้อนดูปี 2020 เป็นปีที่โจทย์ใหญ่คือ เอาโควิดให้อยู่ แต่หลายประเทศที่เริ่มคุมโควิดได้แล้ว เขามองช็อตต่อไปแล้วว่าต่อไปโจทย์ใหญ่จะเป็นเรื่องวัคซีน สิงคโปร์เลยวางเงินล็อควัคซีนล่วงหน้า พอปี 2021 มาถึงจริง โจทย์คือวัคซีน ไม่ใช่คุมโควิด ประเทศที่ไม่ได้ตีโจทย์เรื่องวัคซีนก็เลยสอบตก ตอนนี้ 2022 ไม่ใช่เรื่องวัคซีนแล้ว แต่เป็นเรื่องเราจะอยู่กับโควิดยังไง จะเปิดปิดการท่องเที่ยวต่างๆ ให้มันพอดีโดยไม่เกิดวิกฤตสาธารณสุข อันนี้เป็นโจทย์ที่ควรต้องตีล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งถ้าเราไปศึกษาในเวทีโลก เช่น World Economic Forum อะไรต่างๆ จะพบว่าเรื่องพวกนี้เขาเถียงกันมาหมดแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าเรารู้จักลอกการบ้านเพื่อนบ้าง ก็จะพยากรณ์อนาคตได้ง่าย มันมี Future for Dummies มี Future 101 ให้อยู่แล้ว

…อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อก่อนเชื่อมโลกมันคือเรื่องของการค้า การดึงเงินลงทุน แต่ต่อไปในยุคของเทคโนโลยี สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องคน ทั่วโลกขาดแคลน talents หมด แม้แต่จีน อินเดีย ฉะนั้นเราต้องแย่ง talents ให้ได้ ประมาณช่วงปี 2015 สิงคโปร์บอกว่าอยากทำประเทศสตาร์ทอัพ ฟังแล้วยังขำๆ เพราะคิดว่าสิงคโปร์ไม่ได้มีความเป็นผู้ประกอบการเลย มีแต่สถาบันทางการเงิน จะเป็นไปได้ยังไง สุดท้ายผมคิดผิด เพราะเขาทำได้ดีจนมียูนิคอร์นไม่รู้เท่าไหร่ เขาใช้วิธีว่า บริษัทสตาร์ทอัพไม่จำเป็นต้องเป็นสิงคโปร์ เขาให้ทุกคนมาเพาะปลูกที่นี่ เชิญให้ผู้ประกอบการเก่งๆ ให้กองทุนเก่งๆ ให้ incubator เก่งๆ ย้ายมา ตอนแรกผมก็เอ๊ะ---ถ้าประสบความสำเร็จ แต่ทุกคนเป็นต่างชาติ ประโยชน์จะอยู่ตรงไหน ปรากฏพอช่วงหลังๆ มีสตาร์ทอัพ มีกองทุนที่เป็นสิงคโปร์เกิดขึ้น ไปดูว่ามาจากไหน ก็ปรากฏว่าคือคนสิงคโปร์ไปเรียนรู้งานแล้วก็ออกมาตั้งธุรกิจของตัวเอง จุดนี้มันต่างจากยุคอุตสาหกรรม เมื่อก่อนเอาโรงงานต่างชาติมาตั้งในประเทศแล้วเราทำแค่ประกอบชิ้นส่วนสิบปี เราก็ไปตั้งโรงงานเองไม่ได้ แต่เรื่องซอฟท์แวร์ไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นอุตสาหกรรมที่ knowledge intensive คนเข้าไปทำแล้วมันจะได้เห็นและเรียนรู้ได้มากกว่า ยุคนี้อาจกลายเป็นว่าการเปิดเชื่อมโลกช่วงแรกจะช่วยสร้างแชมเปี้ยนของประเทศได้ในช่วงต่อมา ไม่ใช่หวังจะสร้างยักษ์ใหญ่ในประเทศด้วยการตั้งกำแพงปิดจากโลก

…สอง คือ ‘เชื่อมข้อมูล’ ยุคที่ผ่านมาเป็นยุคที่ข้อมูลเติบโตมาก ดิจิทัลฟุตปริ๊นท์ต่างๆ เกิดขึ้นมหาศาลในยุคโควิด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลายระลอกมากทำให้รู้ได้ว่าคนทำมาค้าขายตามที่ต่างๆ เขามีลักษณะแบบไหน ข้อมูลจากโครงการสารพัด ‘ชนะ’ ที่มีอยู่ควรถูกเชื่อมโยงกัน ข้อมูลเรามีเยอะ แต่ปัญหาอยู่ที่ไซโล คือข้อมูลเราอยู่คนละหน่วยงาน เอสเอ็มอีเป็นตัวอย่างที่ดี อยู่กับหลายกระทรวง หลายกรม และไม่ได้เชื่อมต่อกันเท่าที่ควร เราพูดรวมๆ ว่าเอสเอ็มอี แต่จริงๆ เขาต่างกันมาก มีตั้งแต่แม่บ้านขายของ แล้วเราไปบอกให้เขาสเกลอัพ เขาอาจบอกเขาไม่ได้อยากสเกล เขาอยากทำแค่นี้ จนถึงเอสเอ็มอีที่เติบโตจนส่งออกแล้ว หรือบางทีเป็นสตาร์ทอัพที่อยากโตไประดับโลก แต่เราใช้ตะกร้าเดียวกันหมด ไม่มีข้อมูลว่าแต่ละอันเขาต้องการอะไร ต่างกันอย่างไร วัดไม่ได้ด้วย กลับไปที่ข้อแรก ด้วยว่าเวลาเราลอกการบ้านเพื่อน เราจะได้โจทย์มาคร่าวๆ แต่ตอนที่เรามาทำให้เหมาะกับบริบท หรือเรียกว่า Localisation เราต้องเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผล ดังนั้นเราต้องเชื่อมข้อมูล

บังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย เราเรียก ‘แขก’ หมดเลย ทั้งที่จริงๆ เขาไม่ได้เหมือนกันเลย ตะวันออกกลางเราเรียกแขกขาว เราเรียกแขกไปจนจบตุรกีนั่นแหละถึงจะเรียกว่าฝรั่ง แล้วเราจะไปเข้าใจใครเขาล่ะครับ จะไปเชื่อมโลกได้ยังไง

…สุดท้าย คือ ‘เชื่อมคน’ เราดูคำว่า ‘ดิสรัปชัน’ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ เกิดขึ้นมาเหมือนฟ้าผ่าแล้วโลกมันก็เปลี่ยน ไม่ใช่ มันมีเมฆครึ้ม เมฆดำก่อตัวมานานแล้ว คนที่เป็นตำแหน่งผู้นำรุ่นก่อนอาจไม่ค่อยเห็น เพราะโฟกัสอยู่กับเรื่องการจัดการภารกิจรายวันต่างๆ แต่ในขณะที่เราอาจจะไม่ทันได้ดู มันจะมีคนที่อยู่ใกล้เมฆเหล่านั้นที่มองเห็นและพูดส่งเสียงออกมาอยู่เสมอ ปัญหาคือถ้าเราเป็นผู้นำ เราเลือกที่จะฟังคนพวกนี้ หรือตัดบทบอกว่าเป็น noise (เสียงรบกวน) ยกตัวอย่างสมัยก่อน คนอยากฟังเพลง ต้องไปซื้อซีดีแต่ลองเปิดฟังก็ไม่ได้ เป็น pain point มากเลย ซีดีแพงก็แพง ต้องซื้อก่อนแล้วกลับไปฟัง ไม่ชอบก็ช่วยไม่ได้ แต่ต่อมามันก็ถูกธุรกิจ music sharing เข้ามาแทนที่ มี Napster เป็นเจ้าแรกที่ปฏิวัติวงการ ประเด็นสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาจากการที่มีแนปสเตอร์เกิดขึ้น มันเกิดจากทุกคนเขาอยากฟังดนตรีที่ตัวเองชอบในราคาถูกๆ เลือกเพลงได้อย่างยืดหยุ่นมานานแล้ว คนถึงทำมิกซ์เทปไง แนปสเตอร์แค่ทำโซลูชั่นมาตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้ โจทย์ที่ค่ายเพลงทั้งหลายไม่เคยฟัง ยังบังคับขายทั้งแผ่นเหมือนเดิม ไม่คิดว่าตัวเองต้องเปลี่ยน

…นี่คือโจทย์เดียวกันกับทุกเรื่องเลย ตั้งแต่เทคโนโลยี พฤติกรรมการบริโภค แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ไปจนถึงเรื่องการเมือง ถ้าคุณไม่ฟังคนรุ่นใหม่ คุณจะไม่ได้ยินเสียงคนที่กำลังขึ้นมาเป็นลูกค้าใหญ่ แล้วถึงเวลาพอเกิด tipping point คุณก็บอกว่า โห---นี่มันคือดิสรัปชัน แนปสเตอร์เป็นตัวอย่างที่ผมสนใจเพราะสุดท้ายมันก็ล้มไป แต่ขบวนการการเปลี่ยนแปลง (movement) วงการเพลงนั้นไม่เคยหยุด คนที่นำการเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จก็ได้ แนปสเตอร์ถูกฟ้องและตายไป แต่ขบวนการการเปลี่ยนแปลงไม่เคยตาย สุดท้ายเราเลยมี Spotify มี Apple Music ต่างๆ ก็เพราะขบวนการนั้น เพราะฉะนั้น ในเมื่อคุณหยุดขบวนการไม่ได้ลองเข้าไปเชื่อมกับคนเหล่านั้น เข้าใจในสิ่งที่เราต้องการ แล้วพยายามให้สิ่งที่ตอบโจทย์เขาด้วยจะดีกว่า อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นโจทย์ เชื่อมโลกเพื่อเห็นการบ้านคนอื่นที่ทำก่อน เชื่อมกับข้อมูลเพื่อปรับให้เหมาะกับเรา เชื่อมกับคนที่จะคอยบอกเราว่าเรากำลังไปผิดทางหรือเปล่า เราอาจไม่มีคำตอบตั้งแต่ต้น แต่ถ้าเราทำซ้ำกระบวนการนี้หลายๆ รอบ มันจะเข้าหาคำตอบที่ผิดน้อยที่สุด”

ต่อไม่ติด

ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลดร.ทักษิณ ซึ่งมีนโยบายการทูตเพื่อเศรษฐกิจ และประสบความสำเร็จในการริเริ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคหลายประการไม่ว่า Asia Cooperation Dialogue (ACD) หรือพันธบัตรอาเซียน (Asian Bond) ดร.สุรเกียรติ์ย่อมเป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยพยายาม ‘เชื่อมโลก-เชื่อมข้อมูล-เชื่อมคน’ มาไม่น้อยกว่าใคร กระนั้น เขายืนยันว่า ยังมีงานต้องทำต่ออีกมากสำหรับประเทศในเรื่องเหล่านี้

ดร.สุรเกียรติ์: “ประเทศไทยยังเชื่อมโลกแบบเขย่งๆ บางภาคส่วนเชื่อมโลกดีมาก ภาคเอกชนบางบริษัทอยู่กับโลกเลย ทันกับความเปลี่ยนแปลง แต่บางภาคส่วนพูดถึงการเชื่อมโลก ออกข่าว รู้คีย์เวิร์ด แต่ไม่ได้เชื่อมเลย ภาคส่วนที่สามคือพวกที่ไม่อยากเชื่อมโลก เพราะมียีนที่รู้สึกว่าไทยเป็นมหาอำนาจ ทุกวันนี้ เวียดนามเขามีประชากรเป็นร้อยล้านคน กูเกิลมาลงทุนที่เวียดนาม พัฒนาไปถึงไหนๆ เราก็ยังเรียกเขาว่าญวน กัมพูชาเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 5-6% สิบปีติดต่อกัน เราก็ยังไม่เห็นอยู่ในสายตา สิงคโปร์เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราก็ยังบอกว่าเป็นเกาะเล็กๆ นอกจากนี้ทางตะวันตกเลยจากเมียนมาร์ไป บังคลาเทศ ปากีสถาน อินเดีย เราเรียก ‘แขก’ หมดเลย ทั้งที่จริงๆ เขาไม่ได้เหมือนกันเลย บังคลาเทศเป็นเบงกาลี ปากีสถานเป็น ‘แป๊กกี้’ แปลว่า pure เขาถึงได้รบกันแหลกลาญเพราะเขาเป็นคนละเชื้อชาติ ตะวันออกกลางเราเรียกแขกขาว เราเรียกแขกไปจนจบตุรกีนั่นแหละถึงจะเรียกว่าฝรั่ง ข้างล่างลงมาแอฟริกาทั้งทวีปเราก็เรียกเป็นแขกหมด แล้วเราจะไปเข้าใจใครเขาล่ะครับ จะไปเชื่อมโลกได้ยังไง จะไปเรียนจากใคร เราก็ไปเรียนแต่กับฝรั่ง แล้วด้วยความเคารพ เราก็ไม่เข้าใจฝรั่ง เพราะฉะนั้น คนไทยในหลายภาคส่วนไม่เข้าใจทั้งไทยและไม่เข้าใจทั้งเทศ

…ถ้าจะหาผู้เชี่ยวชาญอียู 27 ประเทศ บอกผมสิว่ามีกี่คน เราอาจจะรู้จักอังกฤษเพราะส่งลูกไปเรียนเยอะ พอขึ้นไปแถวสวีเดน นอร์เวย์ ฟินแลนด์ งงหมดแล้ว ไปถึงพวกคาบสมุทรบอลติก ลิทัวเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย เป็นประเทศพัฒนามหาศาลทำเรื่อง virtual reality อะไรสารพัด คนไทยไม่รู้จัก พอมาถึงบอลข่านนี่เป็นใบ้เลย สโลวีเนีย โครเอเชีย บอสเนีย เฮอร์เซโกวีนา มาเซโดเนีย อะไรก็ไม่รู้ ในขณะที่โครเอเชียเขาทำความสำเร็จเรื่องท่องเที่ยวมหาศาลที่เราควรจะเรียนรู้ นักท่องเที่ยวเป็น 5 เท่าของประชากรของเขา ของเราประชากร 70 ล้าน มีนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านก็รู้สึกว่าเราเก่งมากแล้ว ประเทศพวกนี้เขาทำได้ห้าเท่าของประชากร ฝรั่งเศสทำได้ตั้งกี่เท่าของประชากร ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่ควรภูมิใจ แต่ที่ต้นสนพูดว่าเราต้องเชื่อมโลก เรียนรู้จากข้อผิดข้อถูก แล้วเอามาปรับปรุงให้ดีขึ้น เรายังไม่ได้เชื่อมจริง

…เราเข้าใจฝรั่งมากกว่าเพราะเราไปเรียนที่อเมริกา เราไปเรียนที่อังกฤษ เราไปเรียนที่ฝรั่งเศส เยอรมนี แต่ประเทศที่เราไม่ได้ไปเรียนเราแย่ละ เอเชียกลาง พวก ‘-สถาน’ ทั้งหลายคาซัคสถานร่ำรวยน้ำมัน แก๊สธรรมชาติมหาศาล เรารู้จักน้อยมาก อุซเบกิสถานกับคาซัคสถานความสัมพันธ์เป็นยังไง สองข้างของทะเลแคสเปียน รู้จักน้อยมาก อาเซอร์ไบจานรู้จักเพราะเจมส์ บอนด์ ซึ่งถ้าไม่มีในหนังที่ท่อก๊าซและน้ำมันที่อาเซอร์ไบจานระเบิด เราก็ไม่รู้จักชื่อประเทศนี้ เพราะฉะนั้นพอในปัจจุบันมี politics of energy ขึ้นมา หลายภาคส่วนในประเทศไทยจะเข้าใจน้อยมาก เกรงว่าในอนาคตพอมีการเมืองว่าด้วย EV เราก็จะเข้าใจน้อยมากว่าทำไมจีนมีจุดยืนเรื่องนั้น ทำไมอเมริกามีจุดยืนในเรื่องนี้ แล้วเราควรจะจับมือกับใคร ในเรื่องแรร์เอิร์ธหรืออะไรแบบนี้

…เราอาจมีความรู้สึกว่าเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล สมัยผมเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านร้องเรียนมาเสมอเลยว่าทำไมโฆษณาของไทยต้องไปทำเหมือนดูถูกเขา มีอะไรตลกๆ ยกให้เป็นลาวตลอด หรือมีโฆษณาอะไรจำไม่ได้แล้วผู้หญิงใส่อ๋าวได่ขี่จักรยานเหงื่อซ่กเป็นคนเวียดนาม เราก็คงไม่ตั้งใจ แต่เราไม่ค่อยมี sensitivity ในเรื่องนี้ผมเคยไปร่วมในการหารือระหว่างหัวหน้ารัฐบาลไทย และหัวหน้ารัฐบาลเวียดนามที่ฮานอย เสร็จแล้วหัวหน้ารัฐบาลไทยก็พูดเย้าในเชิงการทูตขำขัน ฝ่ายไทยหัวเราะกันกลิ้งเลย ฝั่งเวียดนามฟังล่ามแปลแล้วก็นั่งเฉยๆ ผมมารู้ทีหลัง เพราะไปถามเขาว่าทำไมฝ่ายเขาไม่หัวเราะกันเลย เขาบอกฟังไม่รู้เรื่อง ล่ามของเราเป็นล่ามจากเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นคนละสำเนียงกับเวียดนามเหนือ

…อีกทีกัมพูชามา นายกฯ ฮุนเซ็นนี่แหละ เราก็เอาคนมาร้องเพลงจากสุรินทร์ จากศรีสะเกษ เขาก็ดีอกดีใจหัวเราะ เราก็ถามว่า ยูเข้าใจหมดใช่ไหมว่าเพลงนี้เขาพูดอะไรบ้าง เขาบอก your excellency ขอโทษนะ แต่ไอไม่เข้าใจเลย เพราะมันคนละสำเนียงกันเลย เราเข้าใจไหมว่าเมียนมาร์มีกี่รัฐ พรมแดนติดกัน 2,400 ก.ม. ผู้อพยพข้ามไปข้ามมารบกันทีเดือดร้อน คนเมียนมาร์อยู่ในประเทศไทยสี่ล้านคน ตัวเลขทางการสองล้าน แต่เราแทบไม่รู้จักเมียนมาร์เลย ในขณะที่คนเมียนมาร์พูดไทยกันเป็นน้ำ รู้จักหมดบ้านไหนเป็นบ้านไหน เราไม่รู้เลยว่าคะฉิ่นมายังไง มอญเป็นยังไง

…เพราะฉะนั้น พอเราไม่เข้าใจแบบนี้เราก็ไม่เข้าใจวัฒนธรรม ไม่เข้าใจวิธีคิด ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจของเขา และเราก็ไม่เคยคิดจะศึกษา อินเดียเป็นโอกาสมหาศาลทางเศรษฐกิจ แต่อินเดียไม่ใช่ประเทศที่ง่าย เราเคยมีทีมที่เข้าใจแต่ละรัฐของอินเดียไหม บางรัฐใหญ่เท่าประเทศไทยเลย เราคิดว่าสนิทกับจีน แต่เราเคยคิดจะเข้าหาจีนทางมณฑลไหม หลายเรื่องมณฑลเขามีอำนาจในการตัดสินใจ ผลไม้ไทยนำเข้าได้-ไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่ามณฑล ไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลกลาง เราต้องเข้าใจอินเดียผ่านรัฐ เราต้องเข้าใจจีนผ่านมณฑล ตะวันออกกลางหกประเทศ เราก็ไม่รู้จักเขา พวกชีคทั้งหลาย อันไหนคือชื่อ อันไหนคือนามสกุลยังไม่ค่อยรู้เลย ผมทำตอน 60 ปีครองราชย์ของรัชกาลที่ 9 มีชีคแต่ละคนมา เราต้องมาไล่ดูว่าเอา ‘ธานี’ มาจากประเทศไหน ‘คาลิฟา’ มาจากประเทศไหน ชื่อเขาแปลว่าอะไร เขาถูกหรือไม่ถูกกัน สนใจไทยแค่ไหน เพราะนี่คือโอกาสมหาศาลเลย

สมัยผมทำงานอยู่วงการการเงิน นักลงทุนนักวิเคราะห์จะเรียกเศรษฐกิจไทยว่า Teflon economy มัน resilient มาก แต่บางครั้งวิกฤตไม่จำเป็นต้องเหมือนรถชนเสาไฟฟ้าจนพัง เพราะมันมีวิกฤตอีกแบบหนึ่ง วิกฤตของรถที่เราขับช้ามาก จนสุดท้ายเราไม่ชนอะไรแรง แต่ทุกคนแซงเราไปหมดเลย

…เมื่อ 40 ปีที่แล้วอเมริกาก็เป็นแบบนี้ ไม่สนใจข้างนอก แต่เพราะเขาใหญ่พอที่จะไม่ต้องสนใจโลก เขาตื่นมามีงานทำ มีผลผลิต มีรถขับ มีบำนาญ ขับรถจากตะวันออกถึงตะวันตกก็คือทั้งทวีป เขาจะไปสนใจใคร ของเราสิแปลก เราไม่ได้มีทุกอย่าง แต่เราไปมองว่าเรื่องต่างประเทศไกลตัว พูดถึงตลอดว่าสำคัญ แต่ก็บอกว่าไกลตัว และขณะเดียวกันอยากได้ทุกอย่างที่เป็นต่างประเทศเข้ามา อยากได้นักท่องเที่ยวอีก อยากส่งออกเพิ่มอีก เคยมีเซอร์เวย์บอกว่าประเทศไทยรู้จักเพื่อนบ้านอาเซียนเกือบที่โหล่ ถามว่ารู้จักคำว่าอาเซียนไหม รู้จัก แต่ถามว่าอยากไปทำงานในประเทศอาเซียนไหม ไม่อยากไป เพราะอยู่ในเมืองไทยก็สบายดีแล้ว นี่แหละครับ การเชื่อมโลกมันถึงยาก

…เชื่อมข้อมูลก็แปลก เราชอบพูดถึงข้อมูลว่า big data แต่บิ๊กเดต้าของผู้ใหญ่ไทย ผมมีความรู้สึกมันไม่ใช่ big data analytics ข้อมูลใหญ่ของไทยหมายถึงข้อมูลเยอะๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรเลย Too much information is no information คุยกับหลายคนถามว่าตกลงข้อมูลที่ว่ามี analytics หรือเปล่า เขาก็ยอมรับว่าไม่มี นักท่องเที่ยวที่เข้ามาประเทศไทย 40 ล้าน องค์ความรู้ว่าเขาชอบไปเที่ยวที่ไหนจริงๆ เข้าไปในชนบทเขาซื้ออะไรกิน เข้าไปร้านแบบไหน ชอบของแบบไหน ชอบอยู่แบบไหนแบบจริงๆ ไม่ใช่เดาๆ ไม่มี

…เรื่องเชื่อมคน คนดีๆ เข้ามาทำงานในเมืองไทยยากเหลือเกิน เพื่อนผมบอกประเทศไทยคนเข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายง่ายกว่าคนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายเก่า 30 ปี รัฐบาลเพิ่งเปลี่ยนเมื่อสามเดือนที่แล้วว่าผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาในประเทศไทยไม่ต้องออกไปทุกสามเดือนแล้วกลับเข้ามาใหม่แล้ว เพิ่งแก้ได้ข้อเดียว ถ้าเป็นสิงคโปร์ ต้นสนเล่าให้ฟังหลายครั้งว่าเขาให้พวกincubator พวก accelerator ตลอดอายุของโครงการ ใครจะเอาผู้สมรสเข้ามาได้หมด สมัยผมเป็นรองนายกฯ เราอยากเป็น Medical Hub เสร็จแล้วมีผู้ใหญ่ในตะวันออกกลางคนหนึ่งเขาชอบประเทศไทยมาก จะมารักษาตัวในประเทศไทยและขอนำแพทย์ประจำของเขาที่เป็นคนฝรั่งเศสเข้ามาด้วย อ้าว---ยุ่งละ คนละสัญชาติกับคนที่เราจะให้วีซ่า พวกนี้บางคนผู้ช่วยของเขาเป็นคนบังคลาเทศ เป็นคนอินเดีย 3-4 สัญชาติทำยังไง กฎหมายเรามีทั้งพรบ.คนต่างด้าว มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงต่างประเทศ แต่ละคนถือกฎหมายกันคนละฉบับกันหมดเลย เป็นไซโล

…ผู้นำระดับสูง หรือนายกรัฐมนตรีต้องนั่งหัวโต๊ะและแก้กฎหมายพวกนี้ มันถึงจะเกิด เราต้องเชิญ The best and the brightest เอาเข้ามา เพราะว่าถ้าพื้นฐานของ R&D คือทุนวิจัย เรายังมีงบทุนวิจัยรวมภาครัฐและเอกชนแค่ 2% ของจีดีพี และเรายังไม่มีกระบวนการจัดทำงบประมาณใหม่ ถ้าจะให้ได้นวัตกรรมที่ออกจากประเทศรายได้ปานกลาง เราก็มีแต่ต้องเอาเสลี่ยงไปเชิญเขามาตามพระบรมราชวิเทโศบายของรัชกาลที่ 5 อธิบดีกรมรถไฟคนแรกที่วางทางรถไฟไปอีสานเป็นคนเยอรมัน ที่ปรึกษากฎหมายคือโปรเฟสเซอร์จากฮาวาร์ด สมัยนั้นท่านทำได้อย่างไร เขียนจดหมายเข้าไป ฮ่องกงเขาก็ทำ เขาหา The best and the brightest แล้วไปเชิญมา แต่เราเชื่อมโลกด้วยปาก พูดถึงอันนั้นพูดถึงอันนี้ แต่ไม่มีการปฏิบัติ พอลงการปฏิบัติแล้วเจอไซโล เจอกฎหมายไทย ประเทศไทย 4.0 แต่กฎหมาย 0.4”

วิกฤตที่ล่องหน

ไม่ว่านโยบายของประเทศไทยจะได้ดำเนินมาถูกผิดหรือมากน้อยอย่างไร ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศได้เดินก้าวหน้ามาจากอดีตอย่างยิ่ง เช่น ระหว่างปี 1960-2020 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 72 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 24 เท่า สัดส่วนของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงมาจากมากกว่าร้อยละ 60 ในปี 1987 เหลือต่ำกว่าร้อยละ 6 ในปัจจุบัน และอายุขัยเฉลี่ยของประชากรก็เพิ่มจาก 55 ปีในปี 1960 มาเป็น 77 ปีในวันนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราอาจไม่มีเหตุให้ตีตนไปก่อนไข้ เพราะสุดท้ายท่ามกลางความท้าทายใหญ่น้อยในประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมักจะหาทางไปจนได้ เหมือนที่สื่อต่างประเทศผู้สังเกตการณ์ด้วยความฉงนใจนิยมใช้คำว่า ‘muddle through’ เพื่อบรรยายวิธีเดินไปข้างหน้าแบบไร้กระบวนท่าของประเทศไทย

ดร.สันติธาร: “คำว่า muddle through นี่โอเคจริงไหม สมัยผมทำงานอยู่วงการการเงิน นักลงทุนนักวิเคราะห์จะเรียกเศรษฐกิจไทยว่า Teflon Economy เหมือนจะจมน้ำแต่ก็เด้งลอยขึ้นมาใหม่ได้ มัน resilient มาก แต่หลังๆ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป บางครั้งวิกฤตไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนรถชนเสาไฟฟ้าจนพัง เพราะมันมีวิกฤตอีกแบบหนึ่ง วิกฤตของรถที่เราขับช้ามาก จนสุดท้ายเราไม่ชนอะไรแรง แต่ทุกคนแซงเราไปหมดเลย เมื่อก่อน เราเคยเป็นประเทศที่เปรียบตัวเองเป็นเสือตัวที่ห้า พอเราเริ่มตามพวกเขาไม่ทัน เราเริ่มไปแข่งกับอินโดนีเซีย สักพักอินโดนีเซียจะแซง เราก็เริ่มแข่งกับเวียดนาม แล้วเวียดนามก็เริ่มแซงเราไป แต่เราก็ไม่ล้มนะ เรา Teflon แต่เรารอดจริงหรือเปล่า รอดแบบยั่งยืนหรือเปล่า รอดแล้วเราแข่งได้หรือเปล่า

…จริงๆ ภาพนี้มันถูกสะท้อนในตลาดการเงินด้วย ประเทศไทยบางครั้งถูกมองจากนักลงทุนเป็นเสมือนสินทรัพย์ประเภท fixed income เช่น พันธบัตร หรือหุ้นในบริษัทใหญ่ๆ คือ safe and steady เทียบกับตลาด emerging market อื่นๆ แต่ไม่ค่อยมี upside เท่าไรนัก คือไม่ตายง่ายๆ แต่ก็ไม่โต หากอยากลงทุนในที่ที่มีโอกาสโตได้ดี ต้องไปที่ตลาด emerging market อื่น ถ้าถามว่าสถานภาพแบบรถขับช้าๆ เหมือนปลอดภัยแต่ไปไม่ค่อยทันนี้มันเดือดร้อนไหม คิดว่ามันอาจจะไม่เดือดร้อนถ้าการเติบโตที่ค่อยเป็นค่อยไปนี้มันกระจายทั่วถึง แต่มันไม่ทั่วถึง มันกระจุก มีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้ และมีกลุ่มหนึ่งที่ได้เค้กก้อนนี้ไปหมด ตรงนี้คือประเด็น หลายประเทศก็มีความเหลื่อมล้ำ แต่เขาโตเร็วมาก เหมือนพิซซ่าถาดหนึ่ง ถาดมันใหญ่มากแล้วมันก็ขยายขึ้นเรื่อยๆ บางคนอาจจะได้ชิ้นเล็กมากแต่ถาดใหญ่มันก็​​กินอิ่ม แต่ถ้าเป็นชิ้นเสี้ยวเล็กๆ ของถาดที่เล็ก แถมมันไม่ขยายขึ้น มันก็ไม่อิ่ม”

ที่สำคัญ ดร.สุรเกียรติ์เห็นว่าเศรษฐกิจการเมืองในรูปแบบของพิซซ่าที่ถาดเล็ก และแบ่งอย่างไม่เป็นธรรม ไม่อาจแอบอ้างได้ว่าเป็น ‘ความพอเพียง’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่หลายครั้งถูกนำเสนอให้เป็นเป้าทางเลือกของนโยบายเศรษฐกิจแบบไม่ต้องอิงอาศัยความเติบโตมากนัก

ดร.สุรเกียรติ์: “ผมก็ไม่ใช่คนบ้าการเจริญเติบโต ผมก็ให้ความสำคัญกับเรื่องความพอเพียง การไม่มุ่งไปในเรื่องการเติบโตเกินไป แต่ขณะเดียวกันผมว่ามันก็ต้อง ‘เพียงพอ’ สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้แปลว่าไม่โต ทุกอย่างมันต้องเพียงพอมันถึงจะพอเพียง แต่การเติบโตของเรามันไม่เพียงพอ มันไม่ใช่ sufficiency economy รัชกาลที่ 9 ท่านเคยรับสั่งหลายครั้งว่าอ่างเก็บน้ำที่ทำเล็กเกินไปไม่ใช่พอเพียง เพราะมันไม่เพียงพอที่จะเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง ไม่เพียงพอที่จะกักน้ำท่วม แล้วจะทำไปทำไม เราชอบไปเทียบว่า เห็นไหม เราเติบโตเท่านี้สูงกว่าสิงคโปร์อีก โตมากกว่าอังกฤษ เราโตมากกว่าอเมริกา ในโลกเขาไม่เทียบกันอย่างนี้ เขาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจเขาขนาดนั้น ขยับ 2% ก็โอ้โห---ใหญ่มหาศาล เราต้องดูข้างบ้านเรา พวกประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันในละตินอเมริกา ในอาเซียน เขาโตกัน 5-6% ไม่ต้องไปพูดถึงจีน ใหญ่ขนาดนั้นแล้วยังโต 6-7-8-9% เราต้องดูอย่างนั้น แต่ในทางการเมืองเราก็ไม่อยากยอมรับความจริง

ประเทศไทยก็อยู่ตรงนี้แหละครับ เราไม่หายไปไหนหรอก และการเจริญเติบโต 0-1% มันก็ยังคงเป็นไปได้ แต่รถเขาก็แซงเราไป ต่อไปเราจะแข่งกับใคร ถามว่าถ้าเราเป็นที่สิบของอาเซียนแล้วเรายังอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ แต่นั่นคือทางเลือกของคนไทยหรือ

…เราต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงก่อนว่า ระบบการศึกษาของเราไม่ติดอาวุธทางปัญญาให้กับประชาชนในวงกว้าง ผมไม่ได้หมายถึงปริญญาเอก ผมหมายถึงการ reskill, upskill เพิ่มทักษะให้คน เราไม่ได้ลงทุน จริงๆ โครงการชนะทั้งหลาย คนละครึ่งอะไรต่างๆ ก็ดีหรอก แต่มันทำมาหลายหนแล้ว ผมคิดว่าการลงทุนเพิ่มทักษะใช้เงินน้อยกว่าเยอะ คนที่เขาตกงานจากโควิดได้เงินมาหนึ่งพันสามพัน สองเดือนหรือหนึ่งเดือนก็หมด แต่เขาจะกลับมาทำงานในภาคที่เรียกว่า 4.0 อย่างไร อันนี้ไม่มีคำตอบให้เขาเลย สำหรับพวกแรงงานคืนถิ่น ดูไม่ค่อยเป็นปัญหาในประเทศไทย เพราะครอบครัวน่ารักมาก ในอเมริกา ถ้าลูกกลับไปอยู่ได้เดือนหนึ่งถามเมื่อไหร่จะกลับไปหางานสักที ไทยกลับไปต่างจังหวัดพ่อแม่ดีใจ บอกดีๆ อยู่ช่วยกันทำไร่ทำนาดี แต่นั่นไม่ใช่ผลิตภาพทั้งหมดของเศรษฐกิจไทย คนเขาอาจไม่ได้รังเกียจงานทำไร่ทำนาปลูกผัก แต่บางทีเขาก็อยากมาทำงานอะไรที่เป็น future economy แต่เขามองไปแล้วเขาไม่เห็น เราพูดถึงฟาร์มอัจฉริยะ แต่เราไม่มีกระบวนการเปลี่ยนทัศนคติคนเลย เราไม่เคยดูว่าจะเปลี่ยนทัศนคติเกษตรกรกว่า 10 ล้านคนอย่างไร

…แล้วผมเป็นห่วงว่าเวลานี้ยิ่งจะต้องเอาเงินไป subsidise ค่าน้ำมัน กู้มาสี่แสนกว่าล้านจะหมดแล้ว ยังไม่ได้ไปถึงช่วงฟื้นฟู ยังไม่ไปถึงสร้างบุคคลเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่เลย ต้องคิดแล้วครับว่าปลายปี งานจะหายไปอีกเท่าไหร่ และทำยังไงให้คนกลับมาทำงานในภาคใหม่ๆ ที่เขาพร้อม รวมทั้งผู้สูงอายุด้วย ไม่ได้จะบ้าสิงคโปร์ แต่สิงคโปร์เขาก็มีโครงการฝึกผู้สูงอายุที่ยังมีพลังอยู่ ใครสนใจ Internet of Thing (IoT), 3D printing, AI ก็กลับเข้ามาสู่ตลาดแรงงานได้ใหม่ นี่คือปัญหาของเรา The best and the brightest ก็ไม่เอาเข้ามา ติดอาวุธทางปัญญาก็พูดกันมานมนาน พูดถึงเยอะมากเหมือนมันเกิดขึ้นแล้ว แต่ของพวกนี้แค่พูดถึงมันไม่ได้เกิดขึ้น ประเทศไทยก็อยู่ตรงนี้แหละครับ เราไม่หายไปไหนหรอก และการเจริญเติบโต 0-1% มันก็ยังคงเป็นไปได้ แต่รถเขาก็แซงเราไป ต่อไปเราจะแข่งกับใคร เวียดนามแซงเราไปแล้ว เราก็แข่งกับกัมพูชา แข่งกับลาว แข่งกับเมียนมาร์ ถามว่าถ้าเราเป็นที่สิบของอาเซียนแล้วเรายังอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ แต่นั่นคือทางเลือกของคนไทยหรือ เราอยากอยุู่ตรงนั้นหรือ”

เพราะต่างจึงต่อติด

การแตะประเด็นความเหลื่อมล้ำ ทำให้ไม่อาจข้ามผ่านประเด็นความขัดแย้งของคนในสังคม ทั้งระหว่างผู้ได้หยิบชิ้นใหญ่กับผู้ได้รับแบ่งเศษน้อย ตลอดจนระหว่างคนต่างวัยที่ส่วนหนึ่งขัดแย้งกันเนื่องจากผู้ใหญ่และเด็กให้ค่าและตีความปัญหานี้แตกต่างกัน ในขณะที่ทุกคนมุ่งตรงไปที่ ‘ผลลัพธ์’ ของความสมานฉันท์ ดร.สุรเกียรติ์ชี้ว่าสิ่งที่ควรได้รับความสนใจมากกว่าในเวลานี้คือ ‘กระบวนการ’ การเห็นร่วมในเรื่องใดๆ ยากจะเป็นไปได้ หากไม่เริ่มด้วยการร่วมฟัง

ดร.สุรเกียรติ์: “ผมคิดว่าหัวใจของเรื่องนี้คือ ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจก่อน ซึ่งไม่ใช่ง่าย ผมฟังเด็กพูด ภาษาก็ร้าวหู ผู้ใหญ่บางคนเห็นคนรุ่นใหม่พูดหยาบ เขารับไม่ได้ ชุดความคิดที่เอามาพูด เขาก็รับไม่ได้ จุดยืนข้อเรียกร้องอะไรก็ไม่อยากฟัง หาว่าไม่มีประสบการณ์ ถูกล้างสมอง ผมคิดว่าผู้ใหญ่ต้องเอาของแบบนี้วางไว้ข้างๆ ก่อนแล้วก็ฟังเขา รับฟังไม่ใช่เชื่อฟัง ฟังเพื่อเข้าใจว่าเขาคิดอะไรก่อน แล้วสอง ฟังเพื่อเข้าใจว่าทำไมเขาคิดอย่างนั้น แล้วถ้ามีโอกาสจะอธิบายว่าเราเห็นต่างเพราะอะไร ก็อธิบายได้อย่างสุภาพ ในพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน

…ผมคิดว่าสิ่งที่สังคมไทยขาดคือการฟังซึ่งกันและกัน การบริโภคคนละชุดความคิดและก็ยืนยันว่าชุดความคิดของตัวเองถูกแล้วปะทะกัน ทั้งคนรุ่นผู้ใหญ่และคนรุ่นใหม่ มันไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แต่ผมคิดว่ามันต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ที่จะต้องเปิดที่จะฟัง แล้วผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ก็จะดีใจที่ผู้ใหญ่ฟัง คนรุ่นใหม่เองก็ต้องทำแบบเดียวกัน ของพวกนี้ไม่จบชั่วข้ามคืน ไม่ใช่ว่าจัดเย็นนี้แล้วพรุ่งนี้ทุกคนสามัคคีกลมเกลียว เรื่องนี้มันเป็น process มันไม่ใช่ end product มันเป็นกระบวนการ ต้องทำไปเรื่อยๆ ใช้ศัพท์อาเซียนคือ เราดู lowest hanging fruit ต้นไม้มีผลไม้เยอะ เราก็บิอันที่อยู่ใกล้มือมากินก่อน เราคุยกัน อาจจะแตกต่างกันยี่สิบเรื่อง แต่ในยี่สิบเรื่องเห็นตรงกันสามเรื่อง ก็ทำร่วมกันสามเรื่องก่อน พอมันมีความสบายใจซึ่งกันและกัน ไม่มี trust deficit ไม่ติดลบทางด้านความเชื่อใจกันแล้ว อาจจะทำเรื่องที่สี่ เรื่องที่ห้า มันอาจจะห้าปี สิบปีกว่าจะไปถึงอันที่ยี่สิบก็ได้

…ถามว่า frustrating ไหม ถามว่าอึดอัดไหม ลำบากไหม ก็มากเลย แต่ว่านั่นคือมนุษย์ มันเห็นต่าง มันมองต่าง กิเลสต่างกัน แต่ผมคิดว่าแม้กระทั่งสงครามในที่สุดก็ต้องจบด้วย dialogue เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าปัญหาสามารถสร้างความเข้าใจกันด้วย dialogue ทำไมไม่ริเริ่มแต่เดี๋ยวนี้ แต่เรื่องแบบนี้ คนอื่นริเริ่มอาจมีประโยชน์ แต่ไม่มีอิมแพค มันจะมีอิมแพคต่อเมื่อผู้ใหญ่ต้องเปิดฟัง และผู้บริหารประเทศยินดีที่จะเอาสิ่งที่สรุปได้ไปทำ พวกเราพูดกันแทบตาย เราอาจจะตกผลึก แต่คนที่เขามีอำนาจเขาไม่ได้มาฟังด้วยและเขาไม่ทำ มันก็ตกผลึกแล้วกองอยู่ตรงนี้ พอมันไม่เกิดที่เราบอกว่า 1-2-3 เห็นด้วยแล้วไปทำก่อน มันก็ไม่เกิด ดังนั้น trust deficit ก็ไม่ได้รับการแก้ไข ตอนเป็นรัฐมนตรี ผมเคยทำ Asia Cooperation Dialogue อันนั้นวางอยู่บนรากฐานนี้เลย Strength out of diversity เอเชียแตกต่างมาก เราเริ่มจาก 18 ประเทศ ตอนนี้มี 30 กว่าประเทศแล้ว ไม่เอาความแตกต่างมาพูด เราหาจุดที่เห็นร่วมกันมาพูด ฟังซึ่งกันและกัน ค่อยๆ สร้างความเชื่อใจ ในเมื่อข้ามประเทศยังทำได้ขนาดนั้น ทำไมในประเทศเดียวกัน เราไม่เอาเรื่องพวกนี้มาดู”

มุมมองของดร.สุรเกียรติ์ถูกพิสูจน์ว่าเป็นไปได้แม้กระทั่งสำหรับคนต่างประเทศ ต่างวัฒนธรรม แต่ยิ่งกว่านั้น ดร.สันติธารเสริมว่าจริงๆ แล้ว เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างรุ่นของเมืองไทยอาจคลี่คลายง่ายกว่า หากมองเป็นเรื่องของคนจากสองประเทศที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดร.สันติธาร: “ผมต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้เป็นตัวแทนรุ่นเด็ก ผมเป็นรุ่นกลาง มีข้อดีตรงที่ได้สัมผัสรุ่นผู้ใหญ่ แล้วในงานด้านเทคโนโลยีก็รู้จักเด็กบ้างระดับหนึ่ง ผมเคยทำโจทย์เรื่องความขัดแย้งระหว่างรุ่น แล้วพบ 2-3 เรื่องที่น่าสนใจ หนึ่ง คือความขัดแย้งระหว่างรุ่นมีมากกว่าเรื่องการเมือง แม้แต่ในองค์กรธรรมดาก็ยังมีช่องว่างระหว่างรุ่นค่อนข้างเยอะ สอง เราพบว่าผู้ใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยยอมรับว่ามีความต่างระหว่างรุ่น ตอนทำโจทย์เรื่องนี้รุ่นเด็กจะไม่มีใครถามเลยว่าทำไมทำเรื่องความขัดแย้งระหว่างรุ่น แต่ผู้ใหญ่จะติงมาบ่อยมากว่าทำไมทำเรื่องนี้ ทำไมมองมันจากความต่างระหว่างรุ่น มันอาจจะไม่ใช่เรื่องความต่างระหว่างรุ่นนะ

…ประเด็นคือ ถ้าเราคิดว่าเราคุยกับคนต่างชาติที่เกิดมาในสภาพแวดล้อมต่างกัน วัฒนธรรมต่างกัน เช่น คนอังกฤษ คนแอฟริกา แล้วเรามีความเห็นต่างกันด้านการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ ถามว่าเราแปลกใจไหม เราไม่แปลกใจ เพราะเราเห็นเขาเป็นคนละชาติ แล้วเวลาเขาเห็นต่างไปจากเรา หรือเขาพูดอะไรที่ล้ำเส้นเรานิดหน่อย เราก็คงให้อภัยเขาระดับหนึ่ง เพราะถือว่าเขาอาจจะไม่เข้าใจบริบทของเรา วัฒนธรรมของเรา มุมมองของเรา แต่พอเป็นคนชาติเดียวกันเอง เราโกรธ ถามว่าทำไมเราถึงไม่โกรธถ้าเป็นต่างชาติ ก็เพราะเราไม่ได้มีสมมติฐานว่าเขาต้องเหมือนเราตั้งแต่ต้น ผมว่าอันนี้สำคัญ มันคือ empathy (ความเข้าอกเข้าใจ)

…สมมติฐานที่ว่าคนอื่นต้องคิดเหมือนเรา ผมว่าทั้งรุ่นเด็กรุ่นใหญ่มีทั้งคู่ แต่ผู้ใหญ่อาจจะมีมากกว่าเด็กเพราะเขาผ่านชีวิตมามากกว่า เดต้าที่เขาเห็นผ่านมามันเป็นแบบนี้ตลอดเขาจึงอาจจะคุ้นว่าคนไทยต้องเป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้ ก็เข้าใจได้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถทิ้งสมมติฐานไปก่อน โดยเฉพาะสมมติฐานว่าทุกคนเกิดมาในประเทศไทยเหมือนกัน เพราะจริงๆ มันเป็นประเทศไทยคนละประเทศ ผมเคยลอง map ดูว่าตั้งแต่คุณเกิด เข้าเรียน หางานงานแรก เป็นผู้บริหาร จนเกษียณ คนแต่ละรุ่นเจออะไรมาบ้าง ทั้งด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ มันเห็นเลยว่า คนสองรุ่นเติบโตขึ้นมาในเกือบจะคนละประเทศกัน มันอธิบายความเห็นที่แตกต่าง เช่น ถ้าถามว่าประชาธิปไตยสำคัญไหมสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คนสองรุ่นจะตอบไม่เหมือนกัน เพราะเดต้าที่เขาเห็นเป็นคนละชุดกันเลย

แต่ผมก็สู้เต็มที่ หลายครั้งที่ผมต้องไปนิวยอร์กเจอรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศต่างๆ วันละ 15 ครั้ง ขนาดผมก็ถือว่ามีสติปัญญาและประสบการณ์ แต่บางครั้งคนใหม่เดินเข้ามาในประชุมที่สิบสี่ ผมลืมไปหมดเลยว่า talking points ที่ผมจะพูดกับเขามันคืออะไร มันเบลอถึงขนาดนั้น

…ทีนี้ถ้าเริ่มต้นเรายอมรับว่า นี่คือการคุยกับคนคนละชาติ เราจะพยายามคุยกับเขาโดยมีทักษะ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เข้าไปพูดกับคนอังกฤษ คนแอฟริกัน สุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่ sensitive กับวัฒนธรรมของเขา เราต้องศึกษา เหมือนอ่านคู่มือก่อนไปต่างประเทศว่าควรสื่อสารกับคนประเทศนั้นๆ อย่างไร เช่นเดียวกันเราควรมีการทำความเข้าใจก่อนสื่อสารข้ามรุ่นว่าเรื่องนี้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เราเขาคิดยังไง หรือว่าเด็กเขาคิดยังไง ทำไมในวัฒนธรรมปัจจุบันการทักว่า ‘ไม่เจอกันนานนะ อ้วนขึ้นหรือเปล่า’ มันไม่โอเคกับคนรุ่นใหม่ แล้วสิ่งที่เราจะค้นพบคือจริงๆ สถานการณ์มันดีกว่าที่คิด พอเราพร้อมที่จะรับในความต่างแล้ว สิ่งที่เราจะเจอในการคุยกับเขาคือ เราจะเจอความเหมือน เจอ common ground อ้าว---ชอบทีมบอลเดียวกัน อ้าว---ชอบอาหารเผ็ดเหมือนกันนี่ แล้วเราก็จะเริ่มเจอของที่มัน common เหมือนหากใช้กระดาษสีขาว เราจะเห็นแต่หมึกดำที่เหมือนเปื้อนกระดาษ แต่หากใช้กระดาษสีดำ เราจะเห็นส่วนที่เป็นสีขาวเด่นชัดขึ้นมา มันเป็นอย่างนั้น

… คนรุ่นหนึ่งจะคิดว่าคนอีกรุ่นหนึ่งต่างกับเรามากกว่าความเป็นจริง ผมเคยทำเซอร์เวย์คนหลายรุ่น ให้เล่นเกมทายใจ เช่น วางภาพและให้วัยรุ่นทายว่าคนรุ่นปู่จะตอบอะไร วัยรุ่นก็บอกคนรุ่นปู่ต้องตอบแบบนี้แน่คนรุ่นปู่ก็บอกว่าเด็กรุ่นใหม่ต้องตอบแบบนี้ แต่พอถามโดยไม่บอกว่าอายุเท่าไหร่ ปรากฏว่าอ้าว---บางข้อตอบเหมือนกันเลย แน่นอนข้อที่ต่างกันเลยก็มีจริงๆ แต่อย่างน้อยถ้าเราไม่มีสมมติฐานว่าต้องเหมือนกัน พอเราเจอข้อที่ต่าง เราก็จะไม่ถึงกับปิดใจไม่ฟังกัน และอาจค้นพบว่า บางข้อเราตอบเหมือนกัน แล้วเริ่มสร้าง trust จากจุดนั้น ผมว่าสำคัญมากเพราะว่า trust ถูกทำลายไปเยอะแล้ว เราต้องเริ่มจากศูนย์ก่อนในบางด้านที่พอจะทำได้ อาจจะเป็นเรื่องไร้สาระก็ได้ แล้วสร้างไปจากจุดนั้น เป็น lowest hanging fruit อย่างที่คุณพ่อบอก คนที่เป็นรุ่นกลางเองก็ต้องมีบทบาทพอสมควร เพราะเราเป็นรุ่นที่เหมือนเป็นแซนด์วิชที่เชื่อมกับสองรุ่น”

ดวงชะตาร่วมกัน

คำตอบจากพ่อลูกที่เพียบพร้อมด้วยข้อมูลและโวหาร ภายใต้บรรยากาศอันหรูหราของแสงไฟแชนเดเลียร์ที่สะท้อนประกายกับเงาของเครื่องเรือนไม้ แจกันกระเบื้องกังไส ตลอดจนสันหนังสือนับหลายพันเล่มที่วางเรียงตลอดฝาผนังห้องสมุดในบ้านของดร.สุรเกียรติ์อันเป็นที่สัมภาษณ์ อาจง่ายที่จะสรุปว่าไม่ว่าสถานการณ์ของประเทศจะคับขันอย่างที่ได้ถกกันตลอดสามชั่วโมงหรือไม่ก็ตาม ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และสถานะเช่นทั้งสองคงไม่ได้รับผลกระทบ แต่แท้ที่จริง ไม่มีใครลอยตัวได้ หากประเทศยังมีปัญหา และดร.สุรเกียรติ์กับดร.สันติธาร ก็ได้พิสูจน์สิ่งนี้กับตัวมาแล้วอย่างไม่น้อยกว่าใครเช่นกัน

ดร.สันติธาร: “ช่วงที่คุณพ่ออยู่ในการเมือง ตอนสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการยูเอ็น เป็นตอนหนึ่งที่เห็นว่าค่อนข้างจะเหนื่อยและเครียดมาก เพราะว่าต้องทำงานหนักมาก อเมริกาค่อนข้างจะสนับสนุนเกาหลีใต้มากกว่า เราก็ต้องพยายามต่อสู้พอสมควร แล้วมันก็เป็นช่วงที่เกิดรัฐประหารพอดี มันเลยทำให้โอกาสของเราตกฮวบไปเลยตรงนั้น คุณพ่อเองก็แบบว่า โอ้โห---อยู่ดีๆ พยายามทำมาขนาดนี้แล้วเหมือนฟ้าผ่าจริงๆ เป็นเหตุการณ์ที่รู้สึกว่าต้องต่อสู้เยอะมาก ต้องกัดฟันเยอะมาก ต้องอดทนเยอะมาก แล้วก็แน่นอนคุณพ่อจะบ่นออกมาไม่ได้ เพราะมันเกี่ยวกับประเทศ ต้องเก็บความผิดหวังอะไรๆ ไว้เอง ผมก็อยู่กับคุณพ่อ คุณพ่ออยู่กับผมที่อเมริกา ตอนนั้นเจอกัน มันก็เป็นเหตุการณ์ที่จำได้แม่นมาก”

ดร.สุรเกียรติ์: “ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คนอื่นเห็นหรือเข้าใจ ตอนนั้นผมเป็นผู้สมัครเลขายูเอ็น ในนามของอาเซียนสิบประเทศ ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผมเป็นผู้สมัครของอาเซียน ตอนนั้นหนักมาก การเมืองในประเทศไทยกำลังแตกแยกขนาดหนัก ผมทำเรื่องการรณรงค์หาเสียงเลขายูเอ็น โดยแทบจะไม่มีการสนับสนุนทั้งทางกายภาพและทางใจจากประเทศไทยเลย ต้องทำเอง หลายประเทศในอาเซียนให้กำลังใจผมมากกว่ารัฐบาลไทย คนไทยก็อาจให้กำลังใจเหมือนกัน แต่ด้วยความที่การเมืองแตกแยกมาก โฟกัสมันไปอยู่ที่ความแตกแยกทางการเมืองระหว่างคุณทักษิณ กับคนที่ไม่เอาคุณทักษิณ แต่ผมก็สู้เต็มที่ หลายครั้งที่ผมต้องไปนิวยอร์ก เจอรัฐมนตรีต่างประเทศ ประเทศต่างๆ วันละ 15 ครั้ง ขนาดผมก็ถือว่าผมมีสติปัญญาและประสบการณ์เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมา 4 ปี เป็นรองนายกกำกับดูแลการต่างประเทศเกือบ 2 ปี แต่บางครั้งคนใหม่เดินเข้ามาในประชุมที่สิบสี่ ผมลืมไปหมดเลยว่า talking points ที่ผมจะพูดกับเขามันคืออะไร มันเบลอถึงขนาดนั้น ประชุมตั้งแต่แปดโมงเช้า คนละครึ่งชั่วโมงๆ ตอนนั้นต้นสนเป็นกำลังใจอยู่กับผมตลอด ความจริงต้นสนเรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด บอสตัน แต่บินมาที่นิวยอร์กเพื่ออยู่เป็นเพื่อนผม

… ในวันที่มีรัฐประหาร พวกยุโรปเขาต้อง take European position โทรมาบอกเราว่า ซอรี่นะ เราสนับสนุนไม่ได้แล้วเพราะอียูไม่ให้ซัพพอร์ตแคนดิเดตที่มาจากรัฐบาลทหาร รัฐบาลทหารก็ดีกับผมมาก ออกมาแถลงข่าวบอกว่าเรื่องสุรเกียรติ์ กับการสมัครเลขาฯ ยูเอ็นไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเรื่องของประเทศชาติ เราขอสนับสนุนดร. สุรเกียรติ์ต่อไป ซึ่งผมก็ขอบคุณมาก แต่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า ‘kiss of death’ เป็นจุมพิตมรณะ เพราะในขณะที่ผมกำลังพยายามบอกประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงว่า ถึงแม้หนึ่งประเทศเป็นรัฐบาลทหาร แต่ผมเป็นแคนดิเดตของอาเซียนอีก 9 ประเทศด้วยนะ เขาก็บอกว่า ใช่ แต่ยูเป็นคนไทย และยิ่งผู้นำทหารนั่งแถลงข่าวแบบนั้นก็ยิ่งชัด ผมขอบคุณท่านมาก แต่ท่านไม่ทราบว่าที่ท่านเจตนาดีออกมาพูดทำให้ผมต้องถอนตัว ตอนที่ถอนตัวผมทำหนังสือถึงอาเซียน 9 ประเทศว่าผมถอนตัว หลายคนทำจดหมายมาว่ายูได้ต่อสู้อย่างโปร่งใส สมศักดิ์ศรีทุกอย่าง เขาเข้าใจปัญหา

…วันที่เกิดเรื่องนี้ขึ้น ผมอยู่นิวยอร์ก ต้นสนมาให้กำลังใจผม เรียกว่ากอดคอเอาหัวพิงกัน สู้มาขนาดนี้ สองปีสามปี เดินในเซ็นทรัลปาร์คเหนื่อยอะไรขนาดนี้ ถึงเวลาที่มันจบลง ผมมีความรู้สึกว่าผมไม่มีใครเลย นอกจากต้นสน ครอบครัวผม รู้สึกว่าเหลือกันอยู่แค่นี้ และทีมเล็กๆ สองสามคนจากกระทรวงต่างประเทศที่อยู่กับเรา รู้สึกเหมือนว่าที่เราทำไปทั้งหมดเพื่อประเทศไทย แล้วมันอยู่ที่ไหน ผมเคยตื่นขึ้นมาแล้วผมรู้สึกว่าในโลกมี 190 กว่าประเทศ คนนั้นจะเอาอย่างนี้ คนนี้เอาอย่างนั้น บ้านเมืองเราก็แตกแยก แล้วผมนั่งอยู่คนเดียว ทำบ้าอะไรอยู่ ต้องไปพบคนนู้น ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องพบคนนั้น คนนั้นซัพพอร์ตเรา คนนี้ซัพพอร์ตเรา คนนั้นไปทางนู้น สนับสนุนเกาหลีใต้ ฯลฯ มันอะไรกันนี่ ผมต้องเริ่มนั่งสมาธิทุกวัน เพราะรู้สึกว่าใจเหือดแห้งไปหมด และมีต้นสนนี่แหละให้กำลังใจผมตลอดเวลา

…ผมไม่กลับไปนิวยอร์กอีกเลย แต่หลังจากประมาณปีหนึ่ง ผมไปอยู่โรงแรมเดิม แล้วเดินเซ็นทรัลปาร์คไม่ได้เลย มันรู้สึกเจ็บ จนในที่สุด ผมทำรายการตามรอยความพ่ายแพ้เลขายูเอ็น โดยผมกับต้นสน ไปอยู่โรงแรมเดิม ลงไปเดินที่เซ็นทรัลปาร์คเหมือนเดิม จำจุดหินที่เราเคยนั่งฟังผลและตัดสินใจถอนตัวที่เดิม ทำทุกอย่างเหมือนเดิม ไปซ้ำรอยแผล ต้องการให้มันหาย จนในที่สุด รู้สึกว่ามันฮีลแล้ว มันไม่มีแผลเป็น มันหายไปแล้ว ต้องยอมรับว่ามันเป็นวินาทีที่ผมก็ไม่เคยพูดให้ต้นสนเขาฟังว่าผมประทับใจและซาบซึ้งมากว่าเขาเป็นกำลังใจอย่างมหาศาล จำได้ว่ากอดกับเขาก่อนส่งเขาขึ้นรถไปสนามบินกลับบอสตัน แล้วผมก็กลับกรุงเทพฯ เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้มีเกิดขึ้นหลายครั้ง ต้นสนเขาก็เคยมีเรื่องที่ในส่วนเล็กๆ ของเขา เขาก็รู้สึกว่าเขาล้มเหลว”

ดร.สันติธาร: “ตอนที่คุณพ่อลงยูเอ็น มันมีเหตุการณ์ขนานกันไปคือชีวิตผมเอง ถ้าเคยอ่านหนังสือผมที่พูดเรื่องว่าสมัครปริญญาเอกไม่ได้หลายรอบ ก็คือช่วงนั้นแหละครับ ช่วงเดียวกันกับคุณพ่อ ผมก็มีปัญหา ดันไปเลือกวิชาหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์คนหนึ่ง รู้สึกว่าจะอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาปริญญาเอกเลย แล้วผมดันไปทำได้ห่วย อย่างที่เคยเขียนว่าผมเป็นคนเรียนขึ้นๆ ลงๆ บางทีก็เก่งมาก บางทีก็แย่มาก แล้วบังเอิญวิชานั้นดันเป็นวิชาที่ผมแย่มาก แล้วเจ้าของวิชาเป็นกรรมการพิจารณาพอดี มันก็เลยวิกฤต ผมก็เลยรู้สึกเครียดมากเหมือนกัน ในช่วงเดียวกันกับคุณพ่อพอดี เลยเหมือนดิ้นรนไปด้วยกัน ช่วยเป็นกำลังใจให้กันและกัน”

คนสองรุ่นเติบโตขึ้นมาในเกือบจะคนละประเทศกัน มันอธิบายความเห็นที่แตกต่าง เช่น ถ้าถามว่าประชาธิปไตยสำคัญไหมสำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คนสองรุ่นจะตอบไม่เหมือนกัน เพราะเดต้าที่เขาเห็นเป็นคนละชุดกันเลย

ไม่มีใครตัวคนเดียว

เห็นได้ว่า ไม่ว่าเรื่องมหภาคห่างไกลตัวสักเพียงใด แต่สุดท้ายก็จะห่มคลุมและทาบทับลงมาที่ชีวิตของปัจเจกบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากความเข้าใจภาพใหญ่ของภูมิสถาปัตย์ทางการเมืองและความเร่งเร้าของเทคโนโลยีแล้ว สิ่งสำคัญจึงมีอยู่ว่าบุคคลทั่วไปจะใช้ชีวิตในโลกด้วยท่าทีอย่างไร ดร.สันติธารเขียนหนังสือเล่มแรกของตัวเอง ‘Futuration เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต’ ในรูปแบบจดหมายถึงลูกที่กำลังจะเติบโตไปในอนาคต ไม่แน่ใจว่าบทเรียนที่เขาให้แก่ลูกเหมือนหรือต่างจากบทเรียนที่เขาได้รับมาจากดร.สุรเกียรติ์อย่างไรบ้าง

ดร.สันติธาร: “สุดท้ายแล้วมันกลับไปเหมือนที่คุณพ่อพูดตั้งแต่ตอนต้นว่า เทคโนโลยีอะไรต่างๆ เปลี่ยนไป แต่มันมีพื้นฐานหลายๆ อย่างที่เหมือนเดิม ที่ผมเขียนเป็นธีมหนังสือ คือโลกข้างหน้าไม่มีแผนที่ ผมอาจจะโชคดีว่าคุณพ่อคุณแม่สอนมาโดยไม่ค่อยมีแผนที่เหมือนกัน แต่ท่านให้เข็มทิศว่ามันควรจะเป็นยังไง แล้วสุดท้ายต้องไปหาทางไปคลำเอาเอง ไม่มีแผนที่มาให้ รุ่นต่อไปเหมือนกันแต่จะยิ่งสำคัญกว่าเดิม สมัยที่คุณพ่อคุณแม่ทำกับผมอาจจะเป็นยุคที่ไม่ได้จำเป็นต้องใช้หลักการนี้ เขียนแผนที่ไปก็คงพอได้ เพราะโลกยังไม่ได้เปลี่ยนไปขนาดนั้น แต่ก็ดีที่พอฝึกมาอย่างนี้ผมก็เลยเปลี่ยนวงการบ่อย ดิสรัปต์ตัวเองได้ มันได้มาจากตรงนั้น แต่ต่อไปผมคิดว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำให้ได้ เพราะมันจะเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราต้องให้เข็มทิศแก่ลูก เพื่อให้เขาพอที่จะมีหลักการ มี guiding principle ในชีวิตว่า เวลาเราจะไปทางไหน อะไร อย่างไร โดยที่ไม่ไปจำกัดแผนที่ของเขา

…หลักการบางอย่างที่สำคัญ ก็เช่น เรื่องของ grit หรือความอึดอดทนพยายาม ไม่ย่อท้อ เรื่องของความเป็นคนดี ซึ่งพูดถึงคำนี้เดี๋ยวนี้ต้องขอนิยามหน่อย คือหมายถึงต้องมีจิตสำนึกคิดถึงผู้อื่น ไม่เบียดเบียนและทำให้คนอื่นเดือดร้อน พยายามจะช่วยเหลือสังคม เรื่องหลักว่าจะหาความสุขยังไง แล้วก็เรื่องของ growth mindset ที่ถ้าล้มเหลวแล้วสามารถลุกขึ้นมาใหม่ได้ หาตัวเองใหม่ได้ ค้นพบใหม่ได้ พวกนี้เป็น guiding principle แล้วก็เป็นทักษะด้วย เป็นกล้ามเนื้อที่ต้องฝึกให้เขาไปมีเอง ตรงนี้จะสำคัญมากกว่าเรื่องความรู้ เรื่องเรียนอะไร เก่งกีฬาไหน อะไรพวกนี้มันจะตามมาทีหลัง

ดร.สุรเกียรติ์: “มีอันหนึ่งที่ผมคิดว่าผมทำไม่แฟร์กับต้นสนเท่าไหร่ คือผมคิดว่าไม่มีใครไปกำหนดเข็มทิศได้ หลายครั้งโดยตั้งใจ ผมก็ให้เขาหาเข็มทิศเอง ผมให้ช้อยส์ อาจจะมีสองสามช้อยส์แล้วให้เขาตัดสินใจเอง หลายเรื่องเขาก็ดิ้นรนมาก อย่างเรื่องดนตรี ตั้งแต่สมัยเขาอยู่ ป.5-6 เราให้ลองขิมก็แล้ว เรียนซออู้ก็แล้ว ซอด้วงก็แล้ว เปียโนก็แล้ว จนได้ออกคอนเสิร์ตเปียโน แต่ก็ยังไม่ใช่ จนต้องบอกว่าต้นสนไปหาเข็มทิศเอาเอง ก็ให้เข็มทิศใหญ่ๆ ได้ว่าลูกควรจะมีสมดุลนะ มีกิจกรรมนะ มีเล่นกีฬานะ เขาก็ไปเลือกเล่นบาสเก็ตบอลของเขาเอง เรื่องดนตรีสุดท้าย เขาไปหาของเขาเองเป็นกีต้าร์ ซึ่งก็เล่นมาจนทุกวันนี้ ออกคอนเสิร์ตอะไรของเขา เพราะฉะนั้น หลายอย่างผมก็ไม่รู้ว่าแฟร์หรือไม่แฟร์ อาจจะไม่แฟร์นะ ให้เขาไปหาเข็มทิศเอง ก็โชคดีที่เขาหาได้

…อย่างเรื่องปริญญาเอก ผมบอกอย่าคิดว่าเป็น a must นะ ที่คุณปู่เป็นดร. แม่เป็นดร. พ่อเป็นดร. แล้วตัวเองต้องเป็น ปริญญาเอกเป็นสิ่งที่ต้องอยากทำ ต้องสนใจจะทำ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เหมือนงานการเมือง คนชอบมาถามผมว่า สนใจจะเข้าการเมืองอีกไหม ผมก็จะบอกเสมอว่างานการเมืองเป็นงานอาสา และเป็นงานที่ต้องอยาก ตอนนี้ผมไม่อยากและไม่อาสา จบแค่นี้ ไม่ใช่ว่าการเมืองจะดี ไม่ดี หรือจะอะไรก็แล้วแต่ มันต้องเป็นงานอาสาเข้าไปทำ และต้องอยาก ตอนนี้ไม่อาสา และไม่อยาก”

ดร.สันติธาร: “ผมว่าการที่คุณพ่อไม่ให้เข็มทิศผมมากเกินไปสำคัญมากสำหรับผมถ้ามองย้อนกลับไป เพราะว่าคนรอบข้างพยายามให้เข็มทิศผมอยู่แล้ว คอยบอกว่าคุณพ่อเก่งอย่างงี้ คุณพ่อเป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เรียนกฎหมายล่ะ ทำไมไม่อย่างนั้นอย่างนี้ล่ะ ถ้าผมไม่ได้เกิดมามีแรงกดดันอย่างนี้ การที่คุณพ่อไม่ให้เข็มทิศก็อาจจะไม่ได้สำคัญอะไรมาก แต่ในกรณีของผมการที่คุณพ่อไม่ให้เข็มทิศและบอกว่าไม่เป็นไรลูก มันเป็น world of choices อยากทำไรก็ทำ มันสำคัญมาก สิ่งที่คุณพ่อทำช่วยลบแรงกดดันที่มีอยู่ แน่นอน มันก็ลบได้ไม่หมด ผมก็มีแรงกดดันอยู่ดี แต่ว่าอย่างน้อยมันไม่ได้มาจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นอะไรที่มีน้ำหนักมากที่สุด

…ส่วนหลักการใช้ชีวิต guiding principle สามอันที่ผมว่าสำคัญต่อตัวผมเอง และผมก็เขียนไปในหนังสือ คือผมไม่คิดว่าโลกนี้มีคำตอบเดียว แต่ละคนมันจะ unique การที่คุณพ่อไม่ให้เข็มทิศอาจจะเวิร์คมากๆ สำหรับผม แต่กับบางคนอาจจะไม่เวิร์คก็ได้ ต่อไปลูกผมอาจจะต้องการ บอกพ่อให้แผนที่อีกนิดหนึ่งก็ได้นะ มันไม่ได้มีคำตอบเดียว ต้องหาคำตอบของตัวเอง

…สองมันไม่มีคำตอบสุดท้าย โลกนี้ไม่มีคำตอบสุดท้าย และโลกข้างหน้าจะยิ่งไม่มีคำตอบสุดท้าย เมื่อก่อนคนพูดถึงคำว่า mid-life crisis ต่อไปจะมี mid-life crisis หลายครั้งมากเลยในชีวิต เวลาที่เราจะสะเปสะปะ เวลาที่เราจะหาว่า purpose ของเราคืออะไร ทำไมเราทำงานนี้ ทำไมเราชีวิตแบบนี้ ดีแล้วเหรอ มีความสุขแล้วเหรอ ผมว่าเราจะมีจุดที่เราถามๆ แบบนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลก บางครั้งการที่เราหลงทางจะทำให้เราพบทางใหม่ และค้นพบตัวเองอีกครั้ง เราต้อง rediscover ตัวเองตลอดเวลา

…และสุดท้ายคือ เราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว การไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวมีสองด้าน ด้านหนึ่งก็คือว่าเป็นการให้กำลังใจว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว เรามีคนที่รักเรา เรามีคนที่แคร์ เรามีครอบครัวในรูปแบบใดก็ตาม อยู่ข้างตัวเสมอ แต่มันมีอีกด้านที่ซ่อนอยู่ในนั้นเหมือนกัน คือคนที่อยู่รอบตัวเราไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เราสร้างและดึงดูดคนเหล่านั้นเข้ามา และถ้าเราสร้างดีๆ เขาจะเป็นกระจกสะท้อน และจะเป็นกำลังใจและเป็นสิ่งที่ช่วยเราเหมือนกัน ผมเห็นหลายคนบางทีประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อนแท้ คนรอบตัวที่รักที่จริงใจหายไป อยู่กับคนที่เป็นแค่ echo chamber ของตัวเอง ถ้าเรามีคนรอบตัวที่ให้กำลังใจ คอยบอกเราเวลาเราเดินผิดทาง มีเพื่อนที่ดีๆ ที่คอยพูดในสิ่งที่เราไม่อยากได้ยินบ้าง คอยเตือนสติทั้งขาขึ้น คอยให้กำลังใจทั้งขาลง อันนี้ทำให้เราจัดการชีวิตช่วงขาขึ้นขาลงและการสะเปะสะปะที่ผมพูดถึงเมื่อกี้ได้ดีขึ้นเยอะ เพราะฉะนั้นผมว่าสามอันนี้สำคัญ มันไม่ได้มีคำตอบเดียว มันไม่มีคำตอบสุดท้าย และเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวครับ”

ระหว่างการสัมภาษณ์ ดร.สันติธาร มักคอยถามว่าดร.สุรเกียรติ์ สบายตัวหรือไม่ด้วยความเป็นห่วงว่า ผู้มีโครงร่างสูงใหญ่อย่างคุณพ่อของเขาต้องเกร็งหัวเข่ายามนั่งอยู่บนโซฟาที่เตี้ยกว่าโดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะเวลานาน ในขณะที่ดร.สุรเกียรติ์ แม้จะคลำหัวเข่าเป็นระยะ ก็ดูพอใจให้การสนทนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มากกว่าจะลุกขึ้นขัดจังหวะ “ผมก็เรียนรู้จากเขาเยอะนะ ผมไม่เคยมานั่งฟังอย่างนี้นานๆ ผมก็เห็นว่าในความเหมือนก็มีความต่างกันอยู่ แต่ไม่ใช่ความต่างที่แตกแยก” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

นี่เองอาจเป็นภาพที่สังคมมองหาสำหรับความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างคนต่างรุ่น บ่อยครั้งสิ่งนี้อาจนำไปสู่ชุดข้อมูลและความคิดใหม่ๆ แต่เหนือไปกว่านั้น เราอาจพบว่าลำพังการถ้อยทีถ้อยอาศัยและมองกันด้วยความห่วงใย...

ก็เพียงพอแล้วสำหรับโลกที่ไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว และเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว