SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
The House That He Built
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เปิดบ้านซอยสุขุมวิท 38 แผ่ผลึกความคิดตลอดเส้นทางการสร้างอาณาจักร ‘แกรมมี่’ ให้เปี่ยมด้วยอิสรภาพและเสียงเพลง
เมื่อก้าวข้ามผ่านประตูไม้ขนาดใหญ่ราวกับประตูเมืองเข้ามาในบ้านของไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการหนึ่งในบริษัทบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่าง บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘แกรมมี่’ ผู้มาเยือนอาจลืมไปว่ากำลังอยู่ในซอยเล็กๆ ย่านพร้อมพงษ์อย่างสุขุมวิท 38
เพราะหลังบานประตูที่มีมือจับหัวสิงห์ทองเหลืองใหญ่เท่ากับถาดย่อมๆ นี้ คือหมู่ตึกจีนหลายสิบหลังที่ตระหง่านอยู่ท่ามกลางความเขียวขจีของแมกไม้น้อยใหญ่บนพื้นที่กว่าสามพันตารางเมตร รายละเอียดของวัตถุตกแต่งจากอาคารโบราณหรือสมบัติพิพิธภัณฑ์ ภายใต้การคัดสรรและออกแบบขององอาจ สาสตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการผสานอารมณ์แห่งอดีตเข้ากับวิถีแห่งปัจจุบัน ประกอบกับกาลเวลานับสิบปีในเขตร้อนชื้นที่ระบายผิวบ้านไว้ด้วยคราบกรุเขียว ทำให้บ้านแผ่ราศีของความสงบสุขุม สมกับที่หนังสือภาพเล่มประณีตที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ริซโซลี และถ่ายภาพโดยฟรังซัวร์ ฮอลลาร์ด จะเลือกภาพจากบ้านนี้ขึ้นเป็นปก และให้ชื่อว่า A Tradition of Serenity หรือ ‘ขนบแห่งคัมภีรภาพ’ ใต้ร่มเงาของบ้าน เสียงรถไฟฟ้าจากสถานีทองหล่อ ดูจะแผ่วกว่าเสียงใบและกิ่งของจามจุรีอายุร่วมร้อยปีที่กำลังไหวอยู่ในสายลม
อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิต ความลงตัวของผลลัพธ์ในเบื้องปลายมักกลบกลืนร่องรอยของความพยายามในขั้นต้น บ้านที่ดูสวยเหมือน ‘จัดวาง’ นี้ ย่อมไม่ได้จัดวางตัวเอง แต่มาจากรายละเอียดของการเลือกสรรและปรับแก้นับครั้งไม่ถ้วน เช่น กระเบื้องปูพื้นสีหม่นที่ผู้มาเยือนอาจเดินเหยียบโดยไม่คิดอะไร แท้จริงคือกระเบื้องทำมือที่ปิ้งทีละแผ่นจากโรงงานของอาจารย์ประดิษฐ์ ศรีวิชัยนันท์ ศิลปินผู้ล่วงลับแห่งเชียงรายที่มีลูกค้าอย่างฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา และมรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือห้องรับแขกเพดานสูงที่โอ่อ่า แต่ยังให้อารมณ์อบอุ่น มาจากการที่ไพบูลย์เลือกให้เพิ่มเสาไม้สูงใหญ่เข้าไปในพื้นที่ ทั้งที่โครงสร้างหลังคาไม่ได้มีน้ำหนักมากเพื่อดูดซับความโล่งภายในห้อง ก่อนเดินหน้าสร้างบ้าน ไพบูลย์กระทั่งขอให้อาจารย์องอาจสร้างห้องตัวอย่างขึ้นมาตามขนาดจริงหนึ่งหลังก่อนรื้อทิ้งเพื่อให้มั่นใจว่าสัดส่วนของอาคารสร้างความรู้สึกได้อย่างที่ต้องการ
“โมเดลต้อง 1:1 ไม่ใช่ 1:100 ไม่งั้นเราจะสัมผัสได้เฉพาะแบบ bird-eye view ซึ่งเป็นความรู้สึกของนก ไม่ใช่ความรู้สึกของคนในบ้าน ผมเห็นโรงแรมราชมรรคาของอาจารย์องอาจแล้วก็อยากได้บ้านแบบนี้ สถาปนิกก็เหมือนหมอ ถ้าท่านมีความชอบแบบนี้ เราชอบเหมือนกันและท่านใจกว้างพอที่จะฟังความเห็นเรา บ้านออกมาถูกใจแน่นอน ผมพาอาจารย์องอาจไปซินเทียนตี้ ที่เมืองจีนเลย เพื่อวัดขนาดและสัดส่วน รูปแบบคุณก็อปปี้ได้ แต่ scale and proportion คุณต้องวัด โดยผมขออาจารย์ว่าในสามสี่ปีที่ทำบ้านผม อาจารย์อย่ารับงานบ้านเดี่ยวอื่น แต่ให้อาจารย์บอกเลยว่าเท่าไหร่” ไพบูลย์เล่า
แต่บ้านไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ไพบูลย์ได้ทุ่มเทพลังและความคิดเพื่อให้ได้ดั่งใจในทุกรายละเอียด (แม้ว่าเขาจะมีบ้านอีกสี่หลังที่หัวหิน เชียงใหม่ และเขาใหญ่ และหนึ่งในสามหลังนี้ คว้าสถิติบ้านที่ยาวที่สุดในโลก) อันที่จริง บ้านยังนับเป็นของเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการสร้างอาณาจักรแกรมมี่จากศูนย์จนในวันนี้แกรมมี่เป็นบริษัทอันดับหนึ่งแห่งวงการบันเทิงของไทยที่มีมูลค่าตลาดร่วมหมื่นล้าน และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานเพลงของศิลปินระดับตำนานอย่างเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ คริสติน่า อากีลาร์ อัสนี-วสันต์ นันทิดา แก้วบัวสาย แหวน-ฐิติมา มอส-ปฏิภาณ เจ-เจตริน ทาทา ยัง เรื่อยมาจนถึงบอดี้สแลม บิ๊กแอส แคลช เก็ตสึโนวา พีซเมกเกอร์ หรือแม้แต่ทิลลี่เบิร์ด และทรีแมนดาวน์ ไม่น่าแปลกใจที่แกรมมี่จะติดอันดับเป็นหนึ่งในสามองค์กรที่คนไทยอยากร่วมงานสูงสุด
เนื่องจากไพบูลย์เป็นผู้ที่ตั้งใจไม่ออกสื่อหรือให้สัมภาษณ์มาเป็นเวลาช้านานจนแทบไม่ปรากฏร่องรอยความคิดอยู่ในพื้นที่สื่อ เป็นการง่ายที่จะสรุปว่าความสำเร็จของของเขาน่าจะมาจากการอยู่ ‘ถูกที่-ถูกเวลา’ ในอุตสาหกรรมที่กำลังโต แต่เมื่อได้ฟังเรื่องราวเส้นทางชีวิต เราจึงได้รู้ว่าทุกซอกมุมองค์กรที่เขาเรียกว่าบ้านอย่างแกรมมี่ มีกระดาษพิมพ์เขียวที่ร่างขึ้นมาก่อนก่อสร้างอย่างละเอียด และเบื้องหลังหลายความสำเร็จอันเหมาะเจาะลงตัว มีความพยายามอันคล้ายสูญเปล่าดุจเดียวกับห้องที่เขาสร้างขึ้นเป็นต้นแบบก่อนทุบทิ้ง
ประตูสู่บ้านและอาณาจักรของไพบูลย์ยากจะเปิดออก
แต่เมื่อได้เปิดขึ้นแล้ว นี่ย่อมเป็นโอกาสแก่การสำรวจโดยละเอียดในทุกซอกมุม
ประเดิมเพลงแรก
แกรมมี่ในวันนี้คือ ‘เครือธุรกิจ’ ที่มีอาณาเขตกว้างขวางหลากหลาย ทั้งการผลิตดนตรี (จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จีนี่เรคคอร์ด วันมิวสิก ไวท์มิวสิก สนามหลวงมิวสิก) หนัง (จีดีเอช ห้าเก้าเก้า) ละครโทรทัศน์ (ช่องวัน) ช่องวิทยุ (เอไทม์ มีเดีย กรีนเวฟ) หรือแม้กระทั่งการค้าออนทีวีออนไลน์ (โอช็อปปิ้ง) แต่เชื่อว่าสิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึงเกี่ยวกับแกรมมี่ยังคงเป็นเสียงเพลง
ในยุคหลายสิบปีที่แล้วที่เพลงไทยยังเป็นแต่การ ‘แกะ’ เพลงฝรั่งมาแปลงเป็นเนื้อไทย หรือเพลงจำนวนมากมักมีรสชาติใกล้เคียงกันจนมีคำปรามาสว่า ‘ร้อยเนื้อ ทำนองเดียว’ การถือกำเนิดขึ้นของแกรมมี่ได้ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมเพลงไทยให้เข้าสู่ยุคใหม่ที่ไม่ได้มีแค่เพียงการทำเนื้อร้องและทำนอง แต่คือการคิดตลอดไปถึงเรื่องการทำตลาดและประชาสัมพันธ์จนกว่าเพลงจะถึงหูผู้ฟัง ผลลัพธ์คือศิลปินและแนวเพลงหลากหลายของสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นลูกกรุงที่ได้รับการอัปเดตอย่างนันทิดา แก้วบัวสาย ร็อคแอนด์โรลอย่างอัสนี-วสันต์ หรือป๊อบขวัญใจมหาชนอย่างเบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ฯลฯ เด็กที่โตมาในยุคติ๊กต็อกที่นักร้องหน้าใหม่สามารถเปิดตัวต่อผู้คนนับล้านด้วยการดันขึ้นฟี้ดของอัลกอริธึ่มและเอไอ อาจนึกไม่ออกว่าก่อนการมาถึงของเทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ค่ายเพลงอย่างแกรมมี่คือความหวังเดียวของการแจ้งเกิดต่อประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนหน้าปัญญาประดิษฐ์ มีเพียงปัญญาที่แท้จริงที่ชี้หนทางของธุรกิจ
ผมเห็นเด็กเลี้ยงควายที่บ้านผมนั่งอยู่บนหลังควาย สะพายวิทยุทรานซิสเตอร์ เสียบเทปฟัง กินมาม่า เฮ้ย -- เพลงกลายเป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์แล้ว ในเมื่อผมรู้จักการทำการตลาดของคอนซูเมอร์โปรดักต์ รู้เรื่องจัดจำหน่าย รู้จักโฆษกวิทยุต่างจังหวัด ผมลงสนามนี้แล้วผมชกสลบได้แน่นอน
“สิ่งที่จุดประกายผมคือสิ่งที่อาจเรียกว่า ‘ดิสรัปชัน’ ของพ.ศ.นั้น เพลงสมัยก่อนเป็นแผ่นเสียงลองเพลย์ ต้องใช้ปิ๊กอัพเล่น คนไม่รวยไม่มีทางซื้อได้ ดังนั้น ต้องฟังจากวิทยุแบบเสียบปลั๊ก วันดีคืนดีเทคโนโลยีโป๊ะออกมา แผ่นเสียงกลายเป็นคาสเซ็ตต์เทป วิทยุก็กลายเป็นทรานซิสเตอร์ สองตัวนี้บวกกันตู้ม—คุณฟังเพลงที่ไหนก็ได้ ตอนที่แกรมมี่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ นิตยสารฟอร์บส์จากอเมริกามาขอสัมภาษณ์ เพราะเราเป็นบริษัทที่มีทรัพย์สินจับต้องไม่ได้ที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นเบอร์ต้นๆ ในเอเชีย เขาถามว่าทำไมคุณถึงมาทำธุรกิจนี้ ผมบอกผมเห็นเด็กเลี้ยงควายที่บ้านผมนั่งอยู่บนหลังควาย สะพายวิทยุทรานซิสเตอร์ เสียบเทปฟัง กินมาม่า เฮ้ย---เพลงกลายเป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์ (ของกินของใช้) แล้ว ในเมื่อผมรู้จักการทำการตลาดของคอนซูเมอร์โปรดักต์ รู้เรื่องจัดจำหน่าย รู้จักโฆษกวิทยุต่างจังหวัด ผมลงสนามนี้แล้วผมชกสลบได้แน่นอน
…วิธีการผลิตเพลงในช่วงแรก เราก็คิดเหมือนทำโปรดักต์ ต้องมีธีมก่อนเพราะทีมเรามาจากการเป็นก็อปปี้ไรเตอร์โฆษณา อย่างพี่เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ในช่วงสามชุดแรก เราก็พล็อตแนวคิดให้ เราบอกว่าให้แกเป็นพี่ชายใจดี พูดถึงความรักในลักษณะของผู้ชายตัวโตๆ ที่เอ็นดูผู้หญิง อย่างนันทิดา ก็เป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์ ตรงไปตรงมากับความรู้สึกของตัวเอง แหวนคือฉันเป็นฉันเอง เบิร์ดคือผู้ชายอบอุ่น ตลก เราต้องพล็อตให้ธีมชัดแล้วใส่แต่ละคาแรกเตอร์เข้าไป ใหม่(เจริญปุระ) เป็นแบบนี้ คริสติน่า (อากีลาร์) เป็นแบบนี้ เจ (เจตริน) เป็นแบบนี้ ดังนั้น ทุกคนจะมีบุคลิก มีเรื่องราว ซึ่งทำให้คนแต่งเพลง ศิลปิน เนื้อ ทำนอง อาร์ตทุกอย่างสอดคล้องสนับสนุนได้หมด สิ่งเหล่าเป็น common sense การสื่อสารหรือคำว่า creative อยู่ในคำว่า common sense ทั้งหมด คือมันรู้สึกได้ เข้าใจได้ สื่อสารได้
…พอมีความพร้อมขนาดนี้ เราก็เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว แม้แต่พี่แอ๊ด-คาราบาวที่ตอนแรกอยู่กับค่ายอโซน่า แต่พอออกมา ช่วงแรกเขาก็มาหาเรา ผมเสนอความคิดเพลง Made in Thailand ให้พี่แอ๊ดผมเอาแรงบันดาลใจมาจากเพลง Born in U.S.A ของบรูซ สปริงส์ทีน กับการอ่านบทความเรื่องคนไทยเห่อซื้อของนอกของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะพี่แอ๊ดเอาเพลงมาให้ผมฟัง ผมว่ามันยังไม่มีลูกยอด เขามีเพลง ‘หำเทียม’ แต่ผมว่ายังไม่พอ เลยออกมาเป็นเพลงนี้ กับมาแต่งเป็นเพลง ‘มันแปลกดีนะ’ ให้พี่เต๋อ (“มีคนเขาอยู่เมืองนอก ไม่ต้องบอกว่าชื่ออะไร เขาคิดให้เราแต่งตัว ถ้าเขามั่วจะรู้ได้ไง”) บทความเดียวผมพล็อตได้สองเพลง หรือพี่แอ๊ดเขามีเพลง ‘ลูกหิน’ พี่เล็ก-บุษบา ดาวเรือง เขาบอกว่าถ้ามีลูกหิน คือลูกชาวบ้าน ก็ควรมีเพลง ‘ลูกแก้ว’ คือลูกคุณหนูบ้าง พี่แอ๊ดเขาก็เห็นด้วย ดังนั้นช่วงแรกเราเป็นคนพล็อตแนวคิดให้ศิลปิน
…เพลงของคนอื่นมักจะเป็น pentatonic scale คือเขียนสัมผัสเหมือนเป็นกลอน แล้วก็มีดนตรีร้อง แบบร้อยเนื้อทำนองเดียว แต่ของเราเป็นดนตรีแบบตะวันตก เอาเมโลดี้เป็นหลักแล้วเขียนเนื้อเพลงให้สัมผัสกับเมโลดี้ เพลงของเราจึงแตกต่างชัดเจน หลายคนตำหนิเรา โอ้ย---แกรมมี่ทำเพลงห่วยแตก ภาษาไม่สละสลวย ผมเลยไปเล่าให้อาจารย์คึกฤทธิ์ฟัง ท่านบอกว่าเพลงของคุณสัมผัสเมโลดี้ ไม่ได้สัมผัสแบบกลอน และช่วยเขียนลงหน้า 5 สยามรัฐเพื่อชี้แจงสังคมว่าแกรมมี่แต่งเพลงแบบสากล ซึ่งน่าจะส่งเสริม จะได้มีความหลากหลาย
…อีกหนึ่งจุดแตกต่างของแกรมมี่คือเราทำครบวงจร ปกติบริษัทเพลงใหญ่ เขาจะแยกเป็น record company ทำมาสเตอร์เทปและเซ็นสัญญากับนักร้อง publishing house คือคนที่ดูแลลิขสิทธิ์เป็นอีกบริษัทหนึ่ง production house คนผลิตก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง artist management เป็นอีกบริษัทหนึ่ง คนทำคอนเสิร์ตเป็นอีกบริษัทหนึ่ง ฝรั่งเขาทำแบบสเปเชียลลิสต์ ไม่ทำครอบคลุม นักลงทุนฝรั่งยังเคยมาถามเลยว่าพร็อคเตอร์แอนด์แกมเบิล หรือยูนิลีเวอร์ เขาต้องไปทำทุกอย่างอย่างคุณไหม ผมบอกไม่---แต่ผมจะทำแบบนี้ เพราะธุรกิจเพลงเป็นสิ่งใหม่มาก เรารอพึ่งความพร้อมของคนอื่นไม่ได้ ผมจึงต้องสร้างขึ้นมาภายใต้หลังคาเดียวกันให้ครบถ้วน เป็นองค์ความรู้ที่ไม่เผยแพร่ด้วยซ้ำไป เพราะถ้า record company ไม่มี production house ของตัวเอง จะพบว่า production house ไหนที่ประสบความสำเร็จจะมีทุกคนวิ่งไปหาหมดเลย ทำก็ไม่ไหว แล้วถ้าทุกคนทำมาจากแหล่งเดียวกันหมด จะสร้างความแตกต่างยังไง ดังนั้น นี่คือการที่เรากำเนิดแกรมมี่ขึ้นมา”
อดีตที่อบอุ่น
หากแกรมมี่เป็นอาณาจักร กล่าวได้ว่าอิฐก้อนแรกได้ถูกวางมาแล้วเนิ่นนานตั้งแต่เมื่อไพบูลย์ยังเด็ก พ่อของเขาคือคนจีนโพ้นทะเลที่มาหาโอกาสเติบโตในไทยตั้งแต่อายุ 16 ในแผ่นดินของรัชกาลที่ 6 โดยเริ่มตั้งแต่การทำงานจับกังแบกของขึ้นรถไฟไปจนหาสินค้ามาขาย แม้ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาที่ทุกคนวุ่นอยู่กับการหนีระเบิด พ่อของไพบูลย์ก็ยังไม่หยุดทำกิน ทำให้ในที่สุดสามารถตั้งหลักเช่าร้านของชำอยู่ที่เยาวราช โดยยังมีการเดินทางกลับไปจีนอยู่เป็นระยะ และได้แต่งงานกับแม่ของไพบูลย์จนมีลูกสาวคนแรกที่เมืองจีนก่อนที่จะจากลูกเมียมาสู้ชีวิตต่อที่ไทย
“ระหว่างนั้น พ่อกับแม่ก็ติดต่อกันทางจดหมาย พ่อเขียนหนังสือไม่เป็นก็ให้โพยก๊วนเขียนให้ เวลาแม่อ่านตอนกลางคืน ไม่มีเทียนก็ใช้ธูปอ่านทีละตัวๆ เรารู้สึกว่าโรแมนติกมาก คนจีนหลายคนไม่ค่อยกลับไปรับลูกเมียที่เมืองจีน ก็หาแฟนใหม่ที่นี่เลย แต่พอพ่อตั้งเนื้อตั้งตัวได้ก็ไปรับแม่พร้อมกับพี่สาวมาเมืองไทย ผมมาเกิดเมืองไทย อยู่แถวเยาวราช ตอนหลังยังพาลูกเมียผมไปดูว่าบ้านที่เยาวราชเล็กมากขนาด 4x10 เมตร มีเตียง มีครัว มีห้องน้ำ อยู่ในนั้นหมดเลย แถมพ่อยังเอาสินค้ามากองอีกต่างหาก
…แต่ถึงบ้านจะจน ชีวิตในวัยเด็กผมดีมาก พ่อแม่เป็นคนที่วิเศษมาก พ่อพูดไม่ค่อยเก่งแต่รักลูก แม่เป็นคนที่ช่างพูด ไม่ว่าช่วงเรียนหนังสือ ทำงาน จนโต ตอนเช้ากินข้าวแม่ก็จะมานั่งพูดนู่นนี่ เรื่องประวัติของพ่อแม่ ของปู่ย่าตายายที่เมืองจีน เล่าจนกระทั่งเรานึกภาพบ้านของพ่อแม่ที่เมืองจีนได้ ผมเลยเป็นคนที่ชอบรายงานพ่อแม่ทุกวัน ไปเรียนหนังสือหรือไปทำงานกลับมาก็จะมาโม้เล่าเรื่องต่างๆ ให้เขาฟัง ให้เขาภูมิใจ ให้เขามีความสุข ในรุ่นผม บ้านคนจีนพ่อแม่กับลูกมักจะห่างๆ แต่บ้านผมเป็นบ้านที่ไม่ได้ปิดบังกัน กอดกันหอมกันตลอดเวลา จนกระทั่งผมทำงานแล้วมาหอมพ่อยังจำได้ว่าเหม็นกลิ่นเหงื่อ กลิ่นน้ำมันแกเลย
ผมจึงต้องไปต่อที่โรงเรียนสหพาณิชย์ จำได้ว่าตอนเข้าต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะแพงมาก สามพันบาท ก๋วยเตี๋ยวยังชามละบาท แล้วก็ยังน้อยไปด้วยซ้ำ แม่เอาเงินสามพันไว้บนโต๊ะครู เขาเขี่ยตกเลย ทั้งๆ ที่พูดไทยก็ยังพูดไม่ค่อยชัด แม่ต้องเก็บเงินขึ้นมาวางบนโต๊ะแล้วขอว่ามีแค่นี้ขอฝากลูกให้เข้าไปเรียน ผมก็รู้สึกไม่ดีอย่างมาก
…พ่อแม่ผมไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้แต่เขาก็ใฝ่รู้จนกระทั่งอ่านหนังสือภาษาจีนออก ทั้งที่ไม่ได้เรียนเลย ดังนั้น พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก สมัยนั้นข้างบ้านไม่ค่อยมีคนเรียนหนังสือ แต่แม่ผมให้ผมเรียนอนุบาลเผยอิง เพราะโรงเรียนเผยอิง เป็นโรงเรียนภาษาจีนที่น่าจะดีที่สุด ครูอาจารย์ที่สอนทุ่มเทมาก ถ้าเข้าตอนป. 1 จะเข้ายาก ต้องจับสลาก แม่ผมเลยรีบให้เรียนตั้งแต่อนุบาลจะได้เรียนต่อเนื่อง แต่เมื่อก่อนรัฐบาลกลัวคอมมิวนิสต์ เด็กเรียนโรงเรียนจีนได้แค่ป.4 ผมจึงต้องไปต่อที่โรงเรียนสหพาณิชย์ จำได้ว่าตอนเข้าต้องจ่ายแป๊ะเจี๊ยะแพงมาก สามพันบาท ก๋วยเตี๋ยวยังชามละบาท เขาเขี่ยตกเลย ทั้งๆ ที่พูดไทยก็ยังพูดไม่ค่อยชัด แม่ต้องเก็บเงินขึ้นมาวางบนโต๊ะแล้วขอว่ามีแค่นี้ ขอฝากลูกให้เข้าไปเรียน ผมก็รู้สึกไม่ดีอย่างมาก พ่อเสียค่าเช่าทั้งปีสักสองหมื่น นี่แป๊ะเจี๊ยะตั้งสามพัน ก็เป็นเรื่องใหญ่
…โชคดีเพื่อนฝูงบอกให้ผมไปสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ที่สหพาณิชย์เรียนทั้งปี 900 บาท ในขณะที่สวนกุหลาบแค่ 160 บาทแต่ตอนจะไปสอบเข้าสวนกุหลาบครูที่สหพาณิชย์ก็ใจร้าย เราขอเอาสำเนาใบสุทธิไปสอบ เขาบอกให้เอาตัวจริงไปเลย แปลว่าถ้าสอบเข้าไม่ได้ก็ไม่ต้องกลับมา แต่ในที่สุดผมสอบได้และสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนที่ดีมาก ครูเป็นเหมือนแม่ ป้า อาของลูกศิษย์ ไม่มีการเฆี่ยนตี ไม่มีเส้นสายในโรงเรียนเต็มไปด้วยทุกชนชั้น ตั้งแต่ลูกชาวนา ลูกเศรษฐี ลูกผู้พิพากษา ลูกรัฐมนตรี ลูกนายทหารใหญ่-นายตำรวจใหญ่คลุกเคล้ากันไป ไม่มีความรู้สึกถึงชนชั้นหรือความยากดีมีจน”
หลังจากจบสวนกุหลาบ พ่ออยากให้ไพบูลย์ออกมาทำธุรกิจของที่บ้าน เพราะคิดว่าการเรียนจบไปเป็นลูกจ้างหรือข้าราชการเพื่อกินเงินเดือนไม่น่าใช่อนาคตที่ดีเท่าใดนัก ดังนั้น ไพบูลย์จึงไม่ได้ใส่ใจกับการพยายามเรียนหนังสือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากนัก อันที่จริงเขาได้เข้าสอบเพียงเพราะเพื่อนเอาใบสมัครมากรอกให้และบอกให้ไปสอบ
“เพื่อนบอกไปสอบเถอะ ไม่เสียหายอะไรหรอก เดี๋ยวกูเลือกคณะให้มึงเลย ผมขอว่าเอาที่จุฬาฯ แล้วกัน ทีแรกจะเลือกเศรษฐศาสตร์ ปรากฏว่าคะแนนมันสูง เพื่อนจึงเลือกคณะนิเทศศาสตร์ให้ ตอนนั้นเป็นแผนกอิสระ สื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ สอบได้พ่อก็ยังไม่อยากให้เรียน เพราะเขาเห็นว่าบ้านเรามีร้าน เป็นเถ้าแก่น่าจะดีกว่าเรียนหนังสือแล้วไปกินเงินเดือน แต่เพื่อนบ้านคนหนึ่งมาพูดกับแม่ด้วยประโยคที่แม่รำลึกถึงอยู่เสมอคือการค้าทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ การศึกษามันผ่านแล้วผ่านเลย เมื่อลูกสอบได้ที่จุฬาฯ ก็ให้เขาไปเรียนเถอะ ผมจึงได้เรียนมหาวิทยาลัย
…ผมก็โชคดีอีกว่านิเทศศาสตร์เป็นคณะที่อาจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านมีเพื่อนอาจารย์เยอะ ก็เลยเชิญอาจารย์เก่งๆ ทั่วมหาวิทยาลัยให้มาสอนในแต่ละวิชา ท่านอยากให้นักสื่อสารมวลชนรู้รอบ อาจไม่จำเป็นต้องรู้ลึก เลยให้เราได้เรียนวิชาหลากหลาย ตั้งแต่วรรณคดี ภาษาไทย รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนเป็ด ดังนั้นแม้ว่านิเทศศาสตร์จะเป็นคณะที่ใหม่ที่สุด เล็กที่สุด คะแนนสอบต่ำที่สุด แต่กลับได้เรียนกับอาจารย์ดีๆ ในทุกสาขาวิชา เช่น อาจารย์ปัจจัย บุนนาค อาจารย์สมศักดิ์ ชูโต อาจารย์เจือ สตะเวทิน อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ เป็นต้น”
นอกจากการได้เรียนกับครูบาอาจารย์ระดับตำนานที่หลายท่านในวันนี้กลายเป็นชื่อห้องประชุม หรือชื่ออาคารกันไปเป็นจำนวนมากแล้ว โชคสองชั้นของไพบูลย์ขณะเรียนอยู่นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือการได้เข้าสู่วงโคจรชั้นในของผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘ซือแป๋แห่งซอยสวนพลู’ หรือ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช
“ผมเป็นประธานชมรมโต้วาทีของ สจม. (สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านก็ได้รับเชิญมาเป็นองค์ปาฐกที่หอประชุมจุฬาฯ อยู่บ่อยๆ ผมก็เลยได้คุ้นเคยสนิทกับท่าน เช่น เราเป็นผู้ริเริ่มทำ ‘ยอวาที’ แทนการโต้วาที คือให้มาอวยกันแทนเถียงกัน ญัตติคือ ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ดีที่สุดโลก’ เสียดสีกันสนุกสนานมาก ตอนจัดผมก็ไปเรียนเชิญนักพูดในสมัยนั้น มีอาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช มีประหยัด ศ.นาคะนาท ธรรมนูญ เทียนเงิน วิลาศ มณีวัต อาจารย์เต็มสิริ บุณยสิงห์ อาจารย์จินตนา ยศสุนทร ทมยันตี ใครต่อใคร แล้วเอาลำตัดหวังเต๊ะ กับแม่ประยูรมาเล่นเปิด โห---หอประชุมจุฬาฯ แทบระเบิด
…ผมได้นั่งเครื่องบินครั้งแรกก็กับอาจารย์คึกฤทธิ์นี่แหละ ท่านพาไปบ้านที่ดอยขุนตาล คนไปบ้านท่านเยอะแยะ ทีแรกผมก็นั่งอยู่วงนอก วงในสุดก็เป็นสุภาพสตรี แต่คุยไปๆ ผมเห็นเขาถามกันแต่คำถามซึ่งท่านน่าจะเบื่อ ผมเลยยกมือถามอะไรห่ามๆ ขึ้นมา ท่านเลยเชิญเข้าไปนั่งวงในเลย จากนั้นก็คุ้นเคย ไปรับประทานอาหารที่ซอยสวนพลูอยู่บ่อยๆ ท่านรู้เรื่องอาหารเยอะ ทำอาหารอร่อยมาก และก็เป็นนักเล่า เป็นอัจฉริยะ โอ้โห---ผมได้ความรู้จากท่านมากมาย เรื่องสถาปัตยกรรม ศิลปะ ประวัติศาสตร์ การพูด การเขียน”
‘ดิน’ คือ อาชีพการงาน
ฝรั่งมักพูดว่า Everyone’s got a book in them หรือคนเราทุกคนต่างมีหนังสือหนึ่งเล่มอยู่ในตัว รอเพียงการเขียนออกมา แต่จากคำตอบของไพบูลย์ทำให้เห็นได้ไม่ยากว่าชีวิตของเขาน่าจะเล่าเป็นหนังสือได้มากกว่าหนึ่งเล่ม เพราะเขาไม่เพียงทำงานมาอย่างยาวนาน แต่ยังได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลากหลาย อีกทั้งมีเส้นทางชีวิตทาบทับกับหลากหลายผู้มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจและสังคมไทย ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา หนึ่งในเพื่อนเก่านับสิบปีของไพบูลย์ ซึ่งจัดว่าเป็นนักเขียนและนักคิดผู้มากสีสันในตัวเองเช่นกัน แนะนำว่าหากต้องการจะเข้าใจความเป็นไพบูลย์อย่างครบถ้วน มีแต่ต้องแยกพิจารณาตามหลักธาตุทั้งสี่ หรือดิน-น้ำ-ลม-ไฟ โดยธาตุแรกก็คือ ‘ดิน’ หรือแท้จริงก็คือวิถีทางแห่งการก่อร่างสร้างตัวของไพบูลย์
เมื่อเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานแรกของไพบูลย์คือ ‘ฟาร์อีสท์ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง’ เอเจนซี่โฆษณาในเครือของสหพัฒนพิบูล บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งโดยดร. เทียม โชควัฒนา เจ้าสัวซึ่งสร้างตำนานให้กับวงการธุรกิจไทยผ่านการใช้กลยุทธ์โฆษณาเต็มรูปแบบในยุคที่พ่อค้าไม่น้อยยังเชื่อว่าการโฆษณามีแต่จะทำให้คนรู้สึกว่าสินค้าขายไม่ออก ไม่ว่าจะโดยผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ จัดคาราวานหนังกลางแปลง รถตระเวนขายสินค้า วิทยุและโทรทัศน์ จนหลายสินค้าของเครือสหพัฒน์กลายเป็นชื่อติดบ้านของคนไทยในยุคนั้น เช่น บะหมี่สำเร็จรูปมาม่า ผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น ชุดชั้นในวาโก้ หรือน้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ
ตอนแรกที่นายห้างบอกว่าจะทำผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น ผมคัดค้านสามครั้งสามครา จนในที่สุดท่านบอกว่าอั๊วขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทำตามนี้เลย ไม่ต้องไปรีเสิร์ชแล้ว ท่านมี gut feeling ที่เราไม่มี ผมเลยเก็ตว่าถ้าเราท้วง 3 ครั้ง ด้วยหลักฐาน ด้วยข้อมูลแล้วถ้านายยังเชื่อใน gut feeling ให้เชื่อเลยว่าท่านต้องมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่าเรา
“ผมได้สมัครงานกับนายห้างเทียม โชควัฒนาเองเลย เพราะนายห้างท่านคิดว่าโฆษณาเป็นความรู้ใหม่ที่สำคัญมาก ท่านอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง ท่านจึงได้ย้ายตัวเองจากสหพัฒนพิบูล ซึ่งดูแลการตลาดและการขายมาอยู่ที่ฟาร์อีสท์ฯ แทน โดยผมถือเป็นนักศึกษาจบมหาวิทยาลัยคนแรกๆ ของบริษัท ดังนั้น ท่านให้ผมนั่งอยู่หน้าห้องแบบตะโกนเรียกเข้าไปได้เลย ก่อนหน้าผม ท่านมีแต่พวกโฆษกวิทยุ เพราะสมัยก่อนภาพในจอทีวียังไม่ค่อยชัด วิทยุเป็นสื่อที่สำคัญมากกว่าทีวี ท่านก็จะมีรายการวิทยุ ละครวิทยุต่างๆ และท่านก็ริเริ่มการออกไปต่างจังหวัด แทนที่จะให้คนต่างจังหวัดมาซื้อของที่สำเพ็งหรือเยาวราช ท่านก็เอาของไปส่งเอง สู้กับพวกบริษัทอย่างยูนิลีเวอร์ คอลเกตปาล์มโอลีฟ
…ผมเจอนายห้าง อาทิตย์หนึ่ง หกวันครึ่ง เพราะที่นั่นทำงานวันจันทร์ถึงเสาร์ครึ่งวัน วันอาทิตย์ท่านยังอาจจะเรียกผมไปประชุม หรือพาผมไปต่างจังหวัดด้วย แต่ผมมีความสุขมาก เพราะว่าท่านเป็นคนที่มีบารมี มีเมตตาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผม ผมเป็นคนเดียวที่ท่านพาไปต่างจังหวัดตลอดเวลา นั่งรถเบนซ์สีขาวไปกับท่าน มีคนขับรถ ท่านนั่งซ้าย ผมนั่งขวา ไปดูตลาดกัน พูดคุยกัน ผมถูกส่งไปประชุมทั่วทุกบริษัทในเครือของสหพัฒน์ โรงงานทุกโรงงานผมได้ไปหมดเลย จนกระทั่งคุณบุญชัย โชควัฒนา บอกว่าคุณสนิทกับพ่อผมมากกว่าพวกผมอีก
…ในระหว่างอยู่สหพัฒน์ ผมโชคดีมากที่ได้ทำสินค้าสองตัว ที่เป็นสินค้าหลักของสหพัฒน์จนทุกวันนี้ คือบะหมี่ ‘มาม่า’ ผมได้ร่วมทำกับนายห้างตั้งแต่เริ่มต้นเลย ทำโฆษณา ทำตัวอย่าง เอาไปชิม ไปลงมีเดีย และผมก็ไปทำผงซักฟอก ‘เปาบุ้นจิ้น’ ตอนแรกที่นายห้างบอกว่าจะทำผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น ผมคัดค้านสามครั้งสามครา จนในที่สุดท่านบอกว่า อั๊วขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ทำตามนี้เลย ไม่ต้องไปรีเสิร์ชแล้ว ท่านมี gut feeling ที่เราไม่มี ผมเลยเก็ตเลยว่าถ้าเราท้วง 3 ครั้ง ด้วยหลักฐาน ด้วยข้อมูลแล้วถ้านายยังเชื่อใน gut feeling ให้เชื่อเลยว่าท่านต้องมีอะไรที่ลึกซึ้งกว่าเรา ซึ่งอันนี้ผมเอามาสอนลูกน้อง คือถ้าเถียงสามครั้งแล้วก็ควรทำตามท่าน อย่าฝืน เพราะบางคนพอถูกสั่งให้ทำ ก็ทำเหยาะแหยะให้ผ่านๆ ไป แต่ผมทำเต็มที่และไปปรุงแต่งบางอย่างเพื่อทำให้ดีขึ้น นี่จึงเป็นสองสินค้าที่ผมมีประสบการณ์ตั้งแต่บรรทัดที่หนึ่งขึ้นไปเลย
…อยู่กับนายห้าง นายห้างให้สูตรสำเร็จมาเลยว่าวันนี้ทำงาน ตอนเย็นทานข้าวเสร็จ ควรคิดทบทวนว่าทำอะไรอยู่ ผิดถูกอะไร แล้วก็วางแผนว่าพรุ่งนี้จะทำอะไร สอนตัวเองทุกวัน มีอะไรถูกผิด มีอะไรที่น่าจดจำ มีอะไรที่น่าลืม มีอะไรต้องแก้ไข คุณตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตภายในหนึ่งวันของคุณและรู้ว่าพรุ่งนี้จะต้องทำไรบ้าง ผมก็ทำแบบนี้ทุกวัน มันทำให้ผมมีการเตรียมตัวโดยธรรมชาติ ทำให้เราเคยชินกับการจัดระเบียบชีวิตตัวเอง มีการวางแผนชีวิตล่วงหน้า”
น่าเชื่อว่าชีวิตของไพบูลย์จะต้องการการวางแผนชีวิตที่ละเอียดลออ เพราะแม้เขาจะอยู่กับนายห้างเกือบเจ็ดวันต่อสัปดาห์ เขายังใช้เวลาค่ำคืนทำอีกหลายธุรกิจส่วนตัวควบคู่กันไป ไม่ต่างจากวิถีความเป็น ‘อองเทรอเพรอเนอ’ ที่นิยมกันในยุคสมัยนี้ โดยเพื่อไม่ให้ทับเส้นสินค้าอุปโภคบริโภคของสหพัฒน์ ไพบูลย์ได้ตั้งบริษัท สำนักงานโฟร์เอส จำกัด ทำธุรกิจด้านสถาปัตยกรรมและค้าขายวัสดุก่อสร้าง ร่วมกันกับมานพ พงศทัต หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน โชติหิรัญ เปี่ยมสมบูรณ์ นอกจากนั้น ด้วยใจรักในแวดวงน้ำหมึก ไพบูลย์จึงได้ไปมาหาสู่กับขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ ในช่วงที่ทั้งคู่กำลังปั้นหนังสือพิมพ์ ‘ประชาชาติรายวัน’ ก่อนจะมีมติชน อีกทั้งยังได้ร่วมกับบุรินทร์ วงศ์สงวน เจ้าพ่อนิตยสารภาพรุ่นเดอะของเมืองไทยทำหนังสือ ‘รมณ์’ และหนังสือ ‘แมน’ ไพบูลย์กระทั่งไปร่วมทำธุรกิจพลอยกับเพื่อนที่เมืองจันท์อีกด้วย “วันนี้ที่จะมาคุยสัมภาษณ์กับคุณ ผมยังนั่งลำดับไม่ถูกว่าทำอะไรมาบ้าง ไม่รู้เอาเวลาที่ไหนไปทำ แล้วเอาเวลาที่ไหนไปกินเหล้าอีก แต่มันเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความท้าทาย” ไพบูลย์บอก ในขณะเดียวกัน ที่ฟาร์อีสท์ เขาก็ทำงานได้อย่างดียิ่งจนได้ขึ้นเป็นถึง Creative Director ในเวลาเพียงไม่ถึงปี
อย่างไรก็ตาม จุดที่หน้าที่การงานดูจะลงตัวนี่เองที่ทำให้ไพบูลย์รู้ว่ายังไม่ลงตัวสำหรับตัวเอง
“ผมเป็นคนดีไซน์ชีวิตตั้งแต่แรกว่าเรียนจบแล้วอยากเป็นอะไร อยากทำค้าขาย แต่ไม่ใช่เปิดร้านแบบพ่อ อยากเป็นยี่ปั๊ว หรือถ้าได้เป็นเจ้าของสินค้าเลยน่าจะดี สหพัฒน์เป็นโรงเรียนที่ดี แต่ในใจผมอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ ทำงานไปแล้วสักห้าปีผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าอยู่ไปแบบนี้ มันก็จะไปเรื่อยๆ แต่ที่บ้านผมยังไม่ได้มีฐานะ แล้วผมก็ยังต้องแต่งงาน มีลูก มีบ้าน มีรถ ดังนั้น ด้วยเงินเดือนอย่างนี้ในที่สุดผมคงต้องใช้เงินผ่อนไปตลอด น่าจะออกมาเสี่ยงดีกว่า คิดเอาว่าตอนนั้นอายุ 28 คงมีโอกาสเสี่ยงได้จนถึงอายุ 40 เพราะเลยนั้นไปสมัครงานยากแล้ว ดังนั้น มีเวลาเสี่ยงอยู่ประมาณสิบปี ถ้าไม่ได้ผล กลับมาทำงานก็น่าจะยังได้อยู่
…คิดแล้วผมก็ไปเล่าให้นายห้างฟัง ท่านก็บอกว่าโอเค---เข้าใจ และยอมให้ผมพาลูกน้องไปอีกด้วย ผมขอกับท่านตรงๆ ว่าถ้าตอนกิ่งออกไปแล้วไม่มีใบไม้ติดไปเลยคงไม่ไหว ดังนั้น ขอติดใบไม้ไปสักสองสามใบ ไปชำที่อื่นจะได้มีโอกาสงอก นายห้างก็ไม่ได้ว่าอะไร ทั้งที่ท่านรักลูกน้องของผมทุกคน เพราะแผนก creative copywriting ของเราท่านใช้งานใกล้ชิด ออกมาผมก็ไปตั้งบริษัทอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 39 รับงานสารพัด ทำโฆษณาโรงหนัง ทำหนังสือแม่ลูก ทำโมเดลบ้านขาย แล้วก็ทำโฆษณาอื่นๆ สมัยก่อนตอนที่อยู่สหพัฒน์ เงินเดือนหนึ่งหมื่นก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่ออกมาตั้งบริษัทเองแค่สามเดือนมีรายได้ถึงสองแสน ห้าปีที่เราอยู่กับนายห้างก็ได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการตลาดกับการโฆษณามาก แต่เรื่องการบริหารจัดการยังไปได้ไม่ไกล พอมาตั้งบริษัทเองบ้าง ถึงจะได้เงินดีมาก แต่ก็ยังรู้สึกว่าเราเข้าใจไม่พออยู่ดี ไม่รู้เรื่องการเงิน ไม่รู้เรื่องการบริหาร เมื่อเราเห็นทะเลที่กว้างขึ้น เราก็รู้สึกว่าตัวเราไม่พอ ยากจะเป็นเจ้าของกิจการ มันสุดอีกขอบเขตหนึ่งแล้ว น่าจะไปเรียนรู้ต่อ”
สหพัฒน์เป็นโรงเรียนที่ดีแต่ในใจผมอยากจะเป็นเจ้าของกิจการ ทำงานไปแล้วสักห้าปีผมเริ่มรู้สึกว่าถ้าอยู่ไปแบบนี้ มันก็จะไปเรื่อยๆ แต่ที่บ้านผมยังไม่ได้มีฐานะ ดังนั้น ด้วยเงินเดือนอย่างนี้ในที่สุดผมคงต้องใช้เงินผ่อนไปตลอด น่าจะออกมาเสี่ยงดีกว่า
ต่อยอดวิชา
ไม่รู้เป็นโชคชะตาหรือไม่ แต่ดินก้อนต่อไปที่ไพบูลย์ได้อาศัยหยั่งรากเพื่อแทงยอดไปได้ไกลยิ่งขึ้น คือหนึ่งในดินผืนที่อุดมที่สุดของแวดวงธุรกิจไทยในวันนั้นอย่างโอสถสภา ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงขยายตัว โดยมีทายาทรุ่นที่สามอย่างสุวิทย์และเสรี โอสถานุเคราะห์ แยกตัวจากบริษัทแม่มาทำโครงการหมู่บ้านเสรี และจีเอฟไฟแนนซ์ พร้อมด้วยความคิดก่อนกาลของการเพาะเลี้ยงหน่อธุรกิจหรือ ‘สตาร์ทอัพ’ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความหลากหลายให้แก่การเติบโต หม่อมหลวงชัยนิมิตร หนึ่งในผู้ก่อตั้งโฟร์เอสผู้ที่ได้เข้าไปสัมผัสกับโอสถสภาก่อนคือผู้ชักชวนไพบูลย์ให้มาพบสุวิทย์ โดยจะด้วยฝีมือการขายความคิดหรืออย่างไรก็ตาม หลังจากไพบูลย์ได้เล่าถึงความฝันในการทำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคและการโฆษณาตามองค์ความรู้ที่ได้สะสมมา สุวิทย์ก็ตกลงตั้งบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัดและให้ไพบูลย์ดำรงตำแหน่งเป็น Managing Director (MD) หรือกรรมการผู้จัดการในทันที
“ผมได้มาทำแบบฝึกหัดกับคุณสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ ท่านบอกว่าท่านอยากสอนผมให้เป็นนายห้าง ให้บริหารคนเป็น และท่านก็มีเมตตาพาผมไปกินข้าว ผมเป็นคนเดียวที่เข้าไปรับประทานข้าวร่วมกับครอบครัวท่าน ซึ่งมีคุณสวัสดิ์ โอสถานุเคราะห์ นั่งอยู่ และก็มีลูกชายท่านอย่างคุณสุวิทย์ คุณสุรัตน์ คุณสุรินทร์ คุณเสรี ลูกหลาน มีผมเป็นคนนอกคนเดียวที่คุณสุวิทย์พาไป คิดดูท่านเมตตาผมขนาดไหน ท่านบอก โอเค---ฉันจะลงทุนให้ เงินเดือนอย่าสูงมาก แล้วใช้ระบบแบ่งกำไรกัน
…เดิมที่ผมคิดคือตอนอยู่สหพัฒน์ มักจะมีสินค้าท้ายๆ แถวที่ไม่ได้รับความสนใจจากเซลส์ เวลาเซลส์เอาสินค้าไปเสนอวางขายสักสิบตัว ตัวที่ 7-10 เซลส์อาจจะไม่มีโอกาสพูดถึงด้วยซ้ำ ดังนั้น ในเมื่อโอสถสภามีสินค้าเยอะแยะ ผมก็ขอว่าถ้าโอสถสภามีสินค้าปลายแถว เช่น ลูกอมสักเม็ดหนึ่งมาให้ผมขาย ผมก็ตั้งต้นธุรกิจได้แล้ว แต่ปรากฏว่าเขาถือเป็นคนละองค์กรกัน ทางนั้นไม่สะดวกที่จะให้ผมเอาสินค้ามา เลยกลายเป็นว่าผมไม่มีสินค้า ดีที่ผมยังมีงานโฆษณา มีงานวัสดุก่อสร้าง และก็มีทำสำนักพิมพ์ ผมได้พี่สุจิตต์ วงษ์เทศ วาณิช จรุงกิจอนันต์ อรุณ วัชรสวัสดิ์ สำเริง คำพะอุ หลายต่อหลายคนมาตั้งหนังสืออย่าง ‘เศรษฐกิจการเมือง’ ‘เพื่อนเดินทาง’ ‘เภตรา’ หลายเล่ม บางเล่มอย่างเศรษฐกิจการเมืองนี่เรียกว่าลุกเป็นไฟ เพราะเรื่องการเมืองแรงมากจนคุณสุวิทย์ท่านยังเกือบซื้อหนังสือพิมพ์มาให้ทำ แต่ผมคิดว่าท่านจะเสียเงินเยอะ และมีศัตรูเยอะ จึงปฏิเสธ
…ชีวิตก่อนหน้านี้ถือว่าผมได้เรียนหนังสือจากนายห้างเทียม มาตรงนี้ ในเมื่อผมไม่มีลูกพี่ เพราะผมคือเอ็มดี (กรรมการผู้จัดการ) เอง ก็เหมือนได้ลองทำแบบฝึกหัดว่าวิชาที่คิดว่ารู้เรื่องดี ถ้าทำด้วยตัวเองจะทำได้ไหม แต่ด้วยความที่ผมไม่มีสินค้า และไม่ได้ตั้งโรงงาน ก็ไม่รู้ว่าจะหาสินค้ามาขายยังไง ดิ้นรนอยู่สักสี่ปีอยากจะร้องไห้เลย รู้สึกว่าเราจะดับสิ้นเสียตอนนี้เสียแล้วเว้ย อายุยังน้อยอยู่ก็จริง เป็นเอ็มดีตั้งแต่อายุ 28 มีคนขับรถตั้งแต่ตอนนั้น แต่สี่ปีที่ผ่านไปยังมืดมน ได้แต่ทำอะไรที่ฉาบฉวย เช่น ไปเอาขนมปังปี๊บมาบรรจุใส่กล่องสวยๆ แล้วทำโปรโมชันแถมตุ๊กตุ่นตุ๊กตาอยู่ในนั้น เด็กๆ จะมาซื้อขนม โยนขนมทิ้งแล้วเอาไอ้ตัวตุ๊กตุ่นนี้ 5 บาท 3 บาท ก็เรียกว่าพอประทังไปได้ แต่ยังอยู่ไม่ได้”
การประสบภาวะ ‘อยู่ไม่ได้’ แบบนี้ทำให้ไพบูลย์ได้เริ่มทำในสิ่งที่ต่อมาเขายังจะต้องทำอีกหลายครั้งในชีวิต คือการพลิกตัวเองออกจากจุดอับ ด้วยกระบวนท่าแปลกใหม่อย่างที่นายห้างเทียม เจ้านายเก่ายังต้องมาถามเขาว่าทำได้อย่างไร
“ผมตัดสินใจไปประมูลน้ำสมสายชู อสร. ซึ่งสมัยก่อนเป็นของทหารเรือ แล้วแต่ว่าใครจะเป็นผู้ประมูลมาจัดจำหน่าย ผมเชื่อว่าน้ำส้มสายชู อสร. คือโอกาส เพราะเป็นสินค้าที่ไม่มีใครแข่งเลย ตัวอื่นเป็นน้ำส้มสายชูเทียมบ้าง เป็นน้ำส้มสายชูไม่มีมาตรฐานบ้าง แต่อสร. เป็นน้ำส้มสายชูกลั่น ใช้เครื่องจักรจากเยอรมัน คุณภาพดีมาก เดิมทีล็อกซ์เล่ย์เป็นผู้จัดจำหน่าย ผมก็ต้องไปประมูลสู้ แต่ผมคำนวณแล้วว่าผมจะไปแข่งราคาแข่งเงื่อนไขคงสู้ไม่ได้ ด้วยความที่ไม่ต้องปรึกษาใคร ผมก็ตัดสินใจรับซื้อทั้งโรงงาน total production เลย ในราคาต่ำหน่อย ปรากฏว่าผู้อำนวยการอสร.ตอนนั้นบังเอิญเป็นนักเรียนเก่าสวนกุหลาบ ท่านถาม ‘คุณรับหมดเหรอ’ ‘หมดครับ’ มันเป็นเรื่อง gut feeling ท่านเลยบอกว่า ‘ถ้าคุณกล้าอย่างนี้ ผมก็ต้องให้คุณ’ ผมก็เอามาเลย ทีนี้ใครจะกล้าสู้ ผมก็โฆษณาและใช้วิธีการพิสดารมาก เช่น ผมออกประกาศประกาศนียบัตรให้ร้านอาหารที่ใช้อสร. และไปหากระทรวงสาธารณสุขให้จับพวกน้ำส้มสายชูปลอมที่ทำให้กระเพาะทะลุ ผมแยกให้ดูเลยว่าถ้าเป็นอสร. พริกน้ำส้มจะไม่ยุ่ย ส่วนน้ำส้มสายชูอื่น คุณเอาเหรียญเก่าๆ ใส่ลงไปมันฟอกขาวเลย แล้วจะอยู่ในกระเพาะคุณได้อย่างไร
…ปรากฏคนตอบสนองเร็วมากเลย และด้วยความที่ผมบอกไว้ว่าโรงงานผลิตน้ำส้มสายชูได้เท่าไหร่ส่งเข้าโกดังผมได้เลย ปรากฎผมหาโกดังใส่น้ำส้มสายชูแทบไม่ทัน เพราะเราเตรียมโฆษณาอยู่ ยังไม่ทันขายเลย เขาก็ส่งสินค้ามาแล้ว ผมก็ต้องไปหาโกดังเช่าเพื่อเก็บของ กลางคืนหลับฝันเห็นลังน้ำส้มล้มทับ ผมก็บอกลูกน้องเลยว่า โฆษณาชิ้นนี้เราต้องทำให้เร็ว ไม่งั้นไม่มีเงินเดือน ไม่มีโบนัส เดี๋ยวกูต้องแจกน้ำส้มสายชูแทน พวกเขาก็สนุกสนาน ตื่นเต้นมาก แต่ผ่านไปแป๊บเดียว ขายเกลี้ยงเลย หลังจากที่ผมมาตั้งแกรมมี่และแต่งงาน ตอนไปเชิญนายห้างเทียมมางาน ท่านยังบอกว่าวันหลังมาเล่าให้ฟังหน่อยว่าทำน้ำส้มสายชูยังไง
…แล้วผมก็ทำปลาเส้น ‘ทาโร่’ ที่ทุกวันนี้ยังขายอยู่ สโลแกนที่ผมคิดคือ ‘มีโปรตีนจากเนื้อปลา’ เป็นสโลแกนที่คนอาจงงว่าเอ๊ะ---ทำไมต้องพูดแบบนี้ ตอนนั้นผมต้องสู้กับปลาหมึกเต่าทอง ปลาหมึกสควิด พวกปลาหมึกเรื่องสารอาหารมันพูดไม่ได้ คนเขาก็ไม่เคยคิด เขาก็แค่เคี้ยวกินอร่อย ถ้าผมจะบอกว่า โอ---อันนี้อร่อย โอชะ โอชา แต่คุณกินแล้วไม่อร่อย มันโน้มน้าวคุณไม่ได้หรอก ผมเลยคิดว่าเราไม่ต้องพูดเรื่องอร่อย คนกินเขาต้องตอบเอง แต่ผมจะบอกว่าอันนี้มีประโยชน์ และหน้าตามันก็แปลก ไม่มีใครรู้จัก ปลาหมึกก็ไม่ใช่ คืออะไรวะ ผมเชื่อในเรื่องการ differentiate (การทำให้ต่าง) มันอาจจะไม่ถึงกับโน้มน้าวให้คุณรู้สึกถึงสารอาหาร แต่มันสะดุดหู จนเดี๋ยวนี้ก็ยังใช้อยู่เลย สี่สิบปีแล้ว ยังมีโปรตีนจากเนื้อปลาอยู่เลย
…แต่ตอนนั้นรู้สึกว่าเวลาชักเนิ่นนานแล้ว อายุจะ 35 แล้ว ยังไม่ค่อยได้เป็นเถ้าแก่จริงเสียที ต้องเป็นเจ้าของกิจการให้ได้แล้ว ด้วยความที่ทำมา 12 ปี เราก็รู้ว่าถ้าทำคอนซูเมอร์โปรดักต์แล้วไปสร้างโรงงาน มันจะยาว เงินลงทุนมหาศาล เราไม่มีทุน ต้องหาธุรกิจที่ไม่ต้องลงทุนสูงมาก แล้วก็คู่แข่งไม่ใหญ่โต และขอให้สังเกตว่าผมพยายามไม่ทำอะไรทับเส้นเจ้านายเก่า เช่น ในวันที่ผมออกมาทำที่พรีเมียร์มาเก็ตติ้ง ผมก็ทำผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ได้ทำสบู่ยาสีฟันผงซักฟอก เอ๊ะ---ผมควรจะไปทำอะไร ทีวีก็น่าจะใช่ เพลงก็ดูไม่เลว แต่เอาเป็นว่าในที่สุดผมก็ลาออกมา”
ความกล้าที่จะก้าวขาออกจากสองบริษัทที่เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่อย่างสหพัฒน์และโอสถสภานี่เอง คือจุดกำเนิดของอาณาจักรแกรมมี่ในเวลาต่อมา
ผมมีความเชื่อว่าธุรกิจนี้ ต้องให้กระสุนจริงเขายิงเลย คุณต้องยอมขาดทุนให้เขาลองผิด ลองถูกจนกระทั่งเขาแม่นยำ ทนให้เขาทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเขาก็ต้องเก่ง แต่อยู่ที่ดวงด้วยว่าถ้าเลือกคนผิด ก็ไม่สำเร็จ ถ้าเลือกคนถูกก็สำเร็จ
สร้างอาณาจักร
ไพบูลย์ได้เล่าแล้วว่าความคิดที่จะก้าวเข้ามาทำธุรกิจ ‘แกรมมี่’ นั้นมาจากการมองเห็นความเหมือนระหว่างเสียงเพลงและเส้นบะหมี่สำเร็จรูปว่าต่างเป็น ‘คอนซูเมอร์ โปรดักต์’ หรือสินค้าอุปโภคบริโภคที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตของผู้คนและตัวเขาได้ทำความรู้จักมาอย่างช่ำชองในสองสำนักใหญ่คือสหพัฒน์และโอสถสภา อย่าว่าแต่สื่อของยุคสมัยอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็เป็นสิ่งที่ไพบูลย์คุ้นเคยและศึกษามาโดยตรง กระนั้น แนวทางธุรกิจที่ฟังดูเรียบง่ายนี้ ซ่อนทางปฏิบัติอันยากเข็ญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อศิลปินไม่ได้ปั๊มออกมาได้ง่ายเหมือนเส้นบะหมี่
“เราต้องรู้ว่าเงื่อนไขของธุรกิจนี้ key to success อยู่ที่ไหน เช่น ต้องมีนักร้อง นักแต่งเพลง นักการตลาด นักโฆษณา นักจัดจำหน่าย ตัวผมไม่มีสองอย่างคือนักร้องและนักแต่งเพลง ถ้าหาสองคนนี้ได้ที่เหลือผมน่าจะไม่แพ้คนอื่น จากนั้นคือการทำให้แตกต่าง ผมเรียนรู้จากต่างประเทศว่า intellectual property เป็นจุดกำเนิดของธุรกิจเพลง คนแต่งเพลงสมัยก่อนต้องเอาเพลงมาขายขาดให้กับห้างเพลง แต่ผมไม่---คุณเอามาขายผม ผมก็จ่ายเงินให้คุณเท่ากับพวกที่ซื้อขาด แต่ในขณะเดียวกันผมทำสัญญากับคุณว่าจะแบ่งลิขสิทธิ์ในเพลงนี้ให้ถึงลูกถึงหลานของคุณ นักร้องผมก็อธิบายว่าเขาไม่ได้แค่ค่าร้องเฉยๆ แต่มีลิขสิทธิ์เพลงไปถึงชั่วลูกชั่วหลาน ดังนั้น เมื่อมีเงื่อนไขนี้ ผมย่อมที่จะหาคนแต่งเพลงที่เก่ง นักร้องที่ดีมาอยู่กับผมได้ โดยที่ผมยังไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเราแบ่งปัน ตอนเริ่มผมไปชวนทีม ‘บัตเตอร์ฟลาย’ (ศศิลิยะ) มีดนู ฮันตระกูล มีเขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์ กลุ่มเพื่อนนักดนตรีก่อน และบอกว่าถ้าทำกับผมต้องทำเป็นอาชีพ ไม่ใช่ว่าอยู่ธนาคาร อยู่ราชการ แล้วมีอารมณ์แต่งค่อยแต่งไม่ได้ ผมจะทำให้อาชีพนักดนตรีเป็นอาชีพจริงๆ ไม่ใช่เต้นกินรำกิน ใครเอากับผมก็มา ผมเจอพี่เต๋อ-เรวัตครั้งแรก เขาลุกขึ้นมาเช็คแฮนด์เลย บอกเฮ้ย---ผมอยากเจอคนอย่างคุณมากเลย
…นี่คือจุดเริ่มต้น พี่เต๋อเขาอยู่ในฟากของการแต่งเพลง เป็นศิลปิน ผมอยู่ในฟากของการลงทุน มีมาร์เก็ตติ้ง โฆษณาและมีเดีย มีจัดจำหน่าย แกบอกแกไม่ลงทุน ขอส่วนแบ่งเลยในการแต่งเพลง แต่จะช่วยรับผิดชอบเรื่องแต่งเพลง ห้องอัดเสียง ในเรื่องโปรดักชั่นต่างๆ ขาดทุนเป็นเรื่องของผมคนเดียว แกไม่เกี่ยว ผมบอกว่าโอเค แต่ขอว่าจะไม่มีการมาเปลี่ยนกติกาทีหลัง แกก็บอกไม่ต้องห่วง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือปีหนึ่งสำเร็จเลย แต่ปีสองมีขาดทุน พี่เต๋อห่วงว่าจะล้ม แกถามเฮ้ย---ยังไม่ต้องแบ่งสตางค์ให้แกไหม ผมบอกไม่เป็นไรพี่---นั่นปัญหาผม เราตกลงกันชัดเจนอย่าเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ จากนั้นผมไปได้นักร้องคือแพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ นันทิดา แก้วบัวสาย แหวน-ฐิติมา สุตสุนทร ทูน หิรัญทรัพย์ แล้วก็ตัวพี่เต๋อเอง แต่ละคนก็มีน้ำหนักมีความสามารถ เท่ากับโรงงานผู้ผลิตกับตัววัตถุดิบมีพร้อมแล้ว สื่อก็มีแล้ว แปลว่าเราน่าจะพร้อมแล้วใช่ไหม
…แต่แค่นั้นยังไม่พอ เราจะวิ่งไปยังไงในเมื่อเงินทุนเราน้อยมาก ธุรกิจ intangible (สินค้าจับต้องไม่ได้) อย่างธุรกิจหนัง ธุรกิจเพลง ธนาคารไม่ให้กู้หรอก ถ้าจะให้สำเร็จ ต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด เพราะเมื่อไม่มีทุน ก็จะไม่ขาดทุน คุณจะสังเกตว่าเวลาทำเพลง ตัวมาสเตอร์เทป ค่าทำเพลง ค่าร้องเพลงไม่เท่าไหร่ แต่แพงที่สุดคือค่าโปรโมท มีคำพูดว่า ‘เพลงละพัน วันละเพลง’ ให้วิทยุเปิดเพลงหนึ่งครั้ง หนึ่งคลื่น หนึ่งรายการ คือหนึ่งพันบาทแล้ว และคุณต้องเปิดตั้งเท่าไหร่ กรุงเทพฯ มี 40 สถานี ไม่ต้องพูดถึงทั่วประเทศ เวลาทำมาสเตอร์เทปคุณจ่ายไม่เกินห้าแสนบาท ถ้าปีหนึ่งทำ 10 ชุด ผมเตรียม 5 ล้านคือจบเลย แต่การโปรโมทมีโดน-ไม่โดน ถ้าไม่โดนจะสู้ไหม ตรงนี้คุมไม่ได้ ดังนั้น ออกเทปมาชุดหนึ่งขี้หมูขี้หมาต้องมีเป็นล้านสองล้าน แปลว่าปีหนึ่งต้องเตรียมเงินอีก 20 ล้าน มันก็ไม่ไหว
…ทำอย่างไรเล่า ผมก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นปกเทปใส่ฝาโค้กเข้าไป ให้โค้กมาเป็นสปอนเซอร์ ทำ music marketing ให้เขาเข้ามาเกี่ยวพันตั้งแต่ตัวศิลปิน มิวสิกวีดิโอ สปอตโฆษณา 7 วินาทีครึ่ง คือค่าสปอตเท่าไหร่ก็ตาม ผมให้โค้กจ่าย 7 วินาทีครึ่ง เท่ากับโค้กรับไป 30% ของค่าสป็อตแล้ว ดังนั้น เราก็เบา แต่ถ้าจะทำให้การโปรโมทถูกเข้าไปอีก เราต้องเป็นเจ้าของมีเดีย ผมเห็นคนขายรายการทีวีเขาใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ใหญ่อย่างกับมิเตอร์น้ำแถมล้อมเพชรอีกต่างหาก ขนาดเขาไม่ได้เรียนมา ผมเรียนนิเทศรุ่น 4 ก็เรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิก และทำมา 12 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีทางแพ้ ผมจึงทำรายการ ‘ยิ้มใส่ไข่’ ดังนั้น เมื่อผมทำทีวี ผมก็กำไรจากมีเดีย ค่าโปรโมทของผมเป็นศูนย์เลยแถมมีเงินกำไรอีก วิทยุก็แบบเดียวกัน พอผมเป็นเจ้าของมีเดียสองตัวนี้และไม่มีต้นทุนค่าโปรโมท จากที่ต้องเตรียมเงิน 20 ล้าน เลยเหลือแค่ 5 ล้าน ซึ่ง can do
…แล้วการจัดจำหน่ายของเราทำแบบ consignment (ฝากขาย) ไม่ได้ขายขาด ของฝรั่งเขาขายขาด ของผมขายคืน มันก็ขายได้มากกว่า เพราะผมคิดว่าคาสเซ็ตต์เทป ตัวตลับไม่กี่สตางค์ ส่วนที่แพงที่สุดคือตัวเพลงที่อยู่ในนั้นต่างหาก สมมติคุณขายเทป 45 บาท เป็นราคาตัวคาสเซ็ตต์เทปแค่ 10 บาทเอง เพราะฉะนั้นคุณเอาเทปไปฝากไว้กับร้าน คือแค่ 1/4 ของมูลค่า เอาจริงตอนนั้นราคาตลับยังไม่ถึง 10 บาท ประมาณ 1/10 ด้วยซ้ำไป ของไม่แพง เราควรทำ consignment ได้ ผมเข้าใจเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่อยู่สหพัฒน์ เราจับ key to success ได้หมด พอเดินปุ๊บปีแรกจึงสำเร็จเลย”
ความสำเร็จอาจเป็นสิ่งที่ใครก็อ้างได้ง่าย แต่ในกรณีของแกรมมี่ อย่างน้อยสิ่งนี้ได้ถูกยืนยันโดยความสำเร็จของการนำบริษัท แกรมมี่ เอ็นเทอร์เทนเมนต์ จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2537
“การเอาธุรกิจที่เป็นของจับต้องไม่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ค่อนข้างยาก แต่ก็อธิบายจนกระทั่งเข้าได้ ในช่วงแรกนักลงทุนเขาถามว่าแล้วถ้าเผื่อนักร้อง-นักแต่งเพลงคนนี้ไม่อยู่ บริษัทไม่เจ๊งเหรอ ผมบอกมันก็เหมือนสินค้าอย่างอื่น มีขึ้นมีลง แต่พี่เต๋อตอบได้น่ารักที่สุด แกบอกว่าทุกปีผมมีนักเรียนที่เรียนจบป.4 แล้วสอบได้ที่หนึ่งจบจากโรงเรียนไป แต่ปีหน้าผมก็จะมีนักเรียนป.4 ที่สอบได้ที่หนึ่งอีกคน ทุกปีผมจะมีนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งในป.4 ทุกปี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว เราจะมีคนใหม่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
ในช่วงแรกนักลงทุนเขาถามว่าแล้วถ้าเผื่อนักร้อง-นักแต่งเพลงคนนี้ไม่อยู่ บริษัทไม่เจ๊งเหรอ ผมบอกมันก็เหมือนสินค้าอย่างอื่น มีขึ้นมีลง แต่พี่เต๋อตอบได้น่ารักที่สุด แกบอกว่าทุกปีผมมีนักเรียนที่เรียนจบป.4 แล้วสอบได้ที่หนึ่งจบจากโรงเรียนไป แต่ปีหน้าผมก็จะมีนักเรียนป.4 ที่สอบได้ที่หนึ่งอีกคน ทุกปีผมจะมีนักเรียนที่สอบได้ที่หนึ่งในป.4 ทุกปี เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว เราจะมีคนใหม่ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด
…แต่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แปลว่าต่อไปนี้แกรมมี่ไม่ได้วิ่งแข่งแล้ว บินได้แล้ว มันก็เติบโตค่อนข้างรวดเร็ว วิธีการของผมคืออัฐยายซื้อขนมยาย ผมต้องทำธุรกิจวิทยุให้เกิดขึ้น จะได้ไม่ต้องจ่ายค่าวิทยุให้กับคนอื่น จ่ายให้ตัวเองแล้วจ่ายให้เยอะหน่อยแถมยังได้รับโฆษณาจากคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ผมก็เข้าสู่ธุรกิจสื่ออย่างไม่ต้องคิดอะไรมาก ผมสร้างธุรกิจวิทยุ เอไทม์ขึ้นมาทันที ให้คุณฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กับทีมงาน เริ่มก่อร่างสร้างตัวแข่งกับคู่แข่งเก่า ใช้เวลาไม่กี่ปีเราก็ชนะเลิศเป็นที่หนึ่ง และผมก็เข้าสู่ธุรกิจทีวีแบบที่ไม่ใช่แค่เพลง เข้าสู่ละคร บอย-ถกลเกียรติมาทำละคร ‘วังน้ำวน’ ‘บัลลังก์เมฆ’ หรือพวกซิทคอมแบบ ‘นางฟ้าสีรุ้ง’ ‘สามหนุ่มสามมุม’ เราทำด้วยคุณภาพ คู่แข่งบอกลงทุนอย่างนี้จะไหวเหรอ สมมติสมัยก่อนเขาใช้กันแค่ไฟที่ติดตัวกล้องอยู่ ของผมใช้สยามไลท์ติ้ง โปรดักชั่นเท่าๆ กับฮ่องกง สู้รบกับคู่แข่งมาเรื่อย จนกระทั่งวันหนึ่งเรากล้าไปเหมาไพรม์ไทม์ของช่อง 5 มาทำ ทั้งๆ ที่สมัยก่อนใครทำช่อง 5 ช่อง 9 เจ๊งหมด แต่ทีมผมก็อดทนทำช่อง 5 ไพรม์ไทม์แข่งกับช่อง 3 ช่อง 7 แล้วอยู่ได้
…ผมมีความเชื่อว่าธุรกิจนี้ ต้องให้กระสุนจริงเขายิงเลย คุณต้องยอมขาดทุนให้เขาลองผิดลองถูกจนกระทั่งเขาแม่นยำ ทนให้เขาทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเขาก็ต้องเก่ง เหมือนตอนมาทำหนังจีทีเอช(ปัจจุบันคือ จีดีเอช) ขาดทุนเกือบ 10 ปี แต่วันนี้จีดีเอชยิงโดนทุกนัด บอย-ถกลเกียรติช่วงแรกก็ขาดทุน แต่วันนี้ยิงโดนเยอะมาก สถาพร พานิชรักษาพงศ์ ที่มาทำซีรีส์วาย GMM TV หรือพี่ฉอดที่ทำ Change 2561 ทำซีรีส์ละครดาร์กๆ พวกนี้ตอนแรกยิงกระสุนจริงเละเทะไปหมดจนสำเร็จ คุณดูหนังฝรั่งโบราณที่เขายิงปืนใหญ่ มันต้องตั้งองศา ทีแรกยิงไปตกข้างหลังบ้าง ข้างหน้าบ้าง แต่พอเขาหมุนองศาตรงเมื่อไหร่ ระเบิดตรงเลย แต่อยู่ที่ดวงด้วยว่า ถ้าเลือกคนผิดก็ไม่สำเร็จ ถ้าเลือกคนถูกก็สำเร็จ
…ถามว่ารอแค่ไหน ผมสังเกตง่ายๆ สองข้อ คือ หนึ่ง งบประมาณไม่บานปลาย สอง schedule ไม่บานปลาย แปลว่าคนทำงานเขามีวินัยอยู่ เรารอได้ แต่ถ้าเผื่อเขาตามใจชอบ งบประมาณจะบานปลาย schedule จะไม่ตรง ซึ่งถ้าสองตัวนี้ผิดพลาด เลี้ยงไปคุณก็เจ็บตัว นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องรสนิยม อันนี้ก็เป็น gut feeling แล้วว่าอะไรน่าจะโดน ผมร้องเพลงไม่ได้ เต้นก็ผิดจังหวะแต่งเพลงไม่ได้ ไม่รู้เรื่องดนตรีเลย แต่ผมฟังรู้ว่าเพลงไหนน่าจะฮิต ช่วงแรกผมวิจารณ์เพลง คนแต่งเพลงเขาไม่เห็นด้วย แต่ตอนหลังเราพิสูจน์กันเลยว่าเทปเพลงมี 10 เพลง ให้คนแต่งเลือก 5 เพลง ผมเลือก 5 เพลง โปรโมทคนละเพลงเท่ากัน แล้วมาดูว่าใครแม่นยำกว่า ปรากฏว่าผมชนะ คือถ้าคุณไม่มีหู ไม่มีตาที่รู้สึกได้ว่าไอ้นี่มันจะโดน คุณก็ทำอาชีพนี้ไม่ได้ ถ้าเผื่อคุณไม่เก็ตมันไม่มีทาง เอาเป็นว่าผมก็ขยายวิทยุ ทีวี หนัง แล้วก็มีนิตยสารด้วย Image, Maxim, Her World
…เสร็จแล้วความที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ มันเหมือนคนรวยทันที ตอนนั้นผมก็ขยายไปเมืองจีน เขาซื้อลิขสิทธิ์กันเอิกเกริกมาก ควรจะสำเร็จ ผมขายลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทในไต้หวัน ฮ่องกง ทำเพลงไทยเป็นเพลงจีน อย่างอัสนี-วสันต์ พี่เบิร์ด และที่โดดเด่นมากเลยคือไชน่า ดอลส์ เสียแต่ว่าผู้บริหารที่ผมได้มาไม่ซื่อตรงพอ ถ้าผมเดินต่อจะเจ็บตัวมาก ผมก็เลยค่อยๆ ถอนออกมา ไม่เป็นไร ธุรกิจก็อย่างนี้ คนชอบแซวว่าผมบอกว่าผมอยากรวย แต่ความรวยของผมไม่ได้หมายถึงเงินเยอะๆ ความรวยคืออิสรภาพ ผมอยากอิสระ ไม่ต้องไปพึ่งพาใครมาก ไม่อยากไปไหนก็ไม่ไป ไม่ไปร่วมใครก็ไม่ไป เราสามารถที่จะมีอิสรภาพในการคิด ไม่ถูกเรื่องเงินเป็นตัวกำหนด ผมไม่ได้เกรงใจเงิน หรือนับถือเงิน ผมใช้เงินตามมีอยู่ ถ้าสั้นๆ ก็คือว่า ความรวยของผมคืออิสรภาพในการที่จะเป็นตัวของตัวเอง นั่นคือส่วนที่สำคัญที่สุด”
วิบากกรรม
แต่เรื่องราวของ ‘ดิน’ ที่มาประกอบเป็นแกรมมี่ และไพบูลย์นั้น ไม่อาจเรียกได้ว่าครบถ้วน หากไม่ได้กล่าวถึงแรงกระแทกที่เข้ามาทดสอบว่าธุรกิจที่ไพบูลย์ปั้นแต่งมานั้นมีความเป็นปึกแผ่นยั่งยืนเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อสองช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดนตรีคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ถูกแปรปรวนจากกระแส ‘ดิสรัปชัน’ ทางเทคโนโลยีอย่างเด่นชัดหลายต่อหลายครั้งนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเทปผี มาจนถึงซีดีเถื่อน ต่อเนื่องไปยังฟรีดาวน์โหลด และในที่สุดก็คือบริการสตรีมมิ่งที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแต่ฟังได้ทุกเพลงอย่างในปัจจุบัน
“ช่วงแรกผมเล่าแล้วว่าดิสรัปชันช่วยเรา ทำให้เพลงไม่ใช่แผ่นเสียง แต่กลายเป็นคาสเซ็ตต์และทรานซิสเตอร์ ที่ไปที่ไหนก็ได้เป็นคอนซูเมอร์โปรดักต์ แต่พอเริ่มรุ่งเรือง เทปผี-ซีดีเถื่อนก็เข้ามา ในช่วงที่เป็นเทป มีโรงงานทำเทปที่มาก็อปปี้เราเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ไม่เป็นไร ก็ปราบกัน พอเป็นซีดีหนักเลย คนเขียนแผ่นส่งให้เพื่อนกันเอง ต้องออกไปรณรงค์ขอความเห็นใจว่าอย่าทำ ก็ยังพอผ่านไป คือเขาจะปลอมไปเท่าไหร่ ไอ้ที่เหลือเรามาขายก็ยังพออยู่ได้ ทีนี้ต่อมามันดิสรัปต์หนักเลย เป็นดาวน์โหลด ซีดีแทบจะไม่ขาย บริษัทเพลงล้มระเนระนาด ไม่รู้จะไปเก็บสตางค์ที่ไหน เพลงออกแป๊บเดียวคนก็อัปลิงก์ขึ้นเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด เพลงกลายเป็นไม่มีราคา บางคนต้องทำซีดีไปแถมกับขนมปัง บริษัทชั้นนำของโลกหรือ major music company จาก 5-6 บริษัท เหลือแค่ 3 บริษัท BMG ล้ม บริษัท EMI ที่ใหญ่มากเคยทำเพลงให้ The Beatles ก็ล่มสลายไปเลย ยังคุยเล่นกับเพื่อนว่าเราอยู่ทนกว่า EMI เว้ย
…ในขณะเดียวกันโลกก็เกิดอะไรที่ผมยังงงๆ อยู่จนทุกวันนี้ คือการที่คนซื้อเพลงมาทำเป็น ‘ริงโทน (ring tone)’ หรือเสียงเรียกเข้าและ ‘ริงแบ็ค โทน (ringback tone)’ คือเพลงที่คุณซื้อแต่คุณไม่ได้ยิน คนโทรเข้ามาได้ยิน ผมกับคุณโจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ ตอนนั้นอยู่ดีแทค ก็เลยทำเป็นโปรแกรม Happy Vampire ขึ้นมา คือไหนๆ จะให้คนจ่ายเพื่อซื้อเพลงไปทำริงโทน ริงแบ็คโทนแล้ว เอาเว้ย---ผมยอมให้คนโหลดเพลงทุกเพลงมาฟังฟรีไปเลย จ่ายผมนิดหน่อย เดือนละ 29 บาท แต่ได้จำนวนเยอะๆ แล้วตอนหลังผมก็ไปทำอีกหลายค่ายมือถือ ก็พอทดแทนรายได้จากซีดี แต่ซีดีเองก็ไม่ถึงกับหายไป มันเริ่มมี niche market คนโหยหาแผ่นไวนิล และช่วงนั้นคอนเสิร์ตการแสดงสดก็กลับลุกขึ้นมาด้วย ผับบาร์เกิดขึ้นเยอะแยะ ทั้งที่สมัยก่อนพวกนี้เป็นของดูฟรีหมด แทบจะไม่ได้สตางค์ ดังนั้น วิวัฒนาการจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด เราต้องปรับตัวให้ทัน
คราวนี้ผมประมูลทีวีดิจิทัลได้สองช่องเลย ทั้งช่อง HD และ SD เรียกว่าในคืนที่ประมูลได้โต๊ะนี้เต็มไปด้วยผู้คนมาแสดงความยินดีทั้งคืน แต่ในที่สุดมันกลายเป็นทุกขลาภ ผมเห็นคนอื่นได้สัมปทานแล้วชีวิตมีแต่ราบรื่น ร่ำรวย แต่สำหรับผมไม่เลย รัฐไม่สามารถเปลี่ยนผ่านอนาล็อกสู่ดิจิทัลทีวีได้สำเร็จ
…แต่พอมาถึงยุคนี้กลายเป็นบริการสตรีมมิง ดิสรัปชันเริ่มกลับมามีประโยชน์กับเราอย่างมาก เพราะเพลงกลายเป็นเพลย์ลิสต์ คนเข้าไปฟังใน Youtube, Facebook, Spotify, Joox, Apple Music แล้วผมได้รับแบ่งผลประโยชน์ ถึงจะเป็นเศษสตางค์มาก แต่ว่าปริมาณของการฟังเพลงเดี๋ยวนี้ไม่ใช่แบบทรานซิสเตอร์แล้ว ก็เหมือนกล้องถ่ายรูป คุณถ่ายรูปได้มากกว่าสมัยก่อนล้านเท่า รุ่นผมคนต้องนั่งรถเมล์กลับบ้านไปเปิดวิทยุฟัง ทุกวันนี้คนฟังเพลงทั้งวี่ทั้งวัน สำหรับบริษัทเพลงที่เปิดมา 30-40 ปี สิทธิ์กลายมาเป็น long tail business ของเรา มีทั้งรายได้จากค่าโฆษณา (advertising) และรายได้จากค่าสมัครสมาชิก (subscription) พอมีตรงนี้ รายได้ธุรกิจเพลงกลับมาโตอีกมหาศาล
อย่างไรก็ตาม แรงกระแทกที่แรงที่สุดย่อมไม่ใช่เพียงปัจจัยภายนอกอย่าง ‘ดิสรัปชัน’ ที่กระทบทั้งอุตสาหกรรม แต่เป็นปัจจัยภายในอย่างการก้าวขององค์กรเองที่ไม่ว่าโดยสถานการณ์บังคับหรือประเมินสถานการณ์พลาดก็ตาม ได้นำไปสู่ภาวะวิกฤตที่ไม่ใช่เพียงการหดหายของกำไร แต่คือการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ครั้งแรกเมื่อแกรมมี่ได้ทำเพย์ทีวีในปี 2556 และอีกครั้งเมื่อได้ประมูลช่องทีวีดิจิทัลในปี 2557
“เทคโนโลยีทำให้เกิดทีวีจานดาวเทียม เกิดเคเบิ้ลทีวี ในช่วงแรกผมทำรายการทีวีดาวเทียมฟรี เพราะแกรมมี่เต็มไปด้วยคอนเทนต์ พี่บอย-ถกลเกียรติ ทำช่องวัน จีดีเอชทำช่องจีดีเอช ฉอด-สายทิพย์ ทำเอไทม์ และกรีนเวฟ สถาพรทำจีเอ็มเอ็ม ทีวี ตี่-กริช ทอมมัส ทำแฟนทีวี ผมมีช่องทีวีน่าจะเกือบสิบช่อง จานดาวเทียมเลยยิ่งขายดีใหญ่เลย เพราะถ้าไม่มีคอนเทนต์ คนซื้อกล่องรับสัญญาณไปก็ไม่มีประโยชน์ ถือเป็นยุคที่ผมได้กำไรพอสมควร เพราะเอาคอนเทนต์เดิมมารีรัน
…แต่เวลาผ่านไป สิ่งที่น่ากลัวก็คือว่าทีวีจานดาวเทียมกลายเป็นแพลตฟอร์ม เอกชนที่ถือสวิตช์ดาวเทียมกลายเป็นผู้มีอำนาจ เดิมทีผมต้องไปขอจากราชการ ผู้อำนวยการปีนี้ไม่รักเรา ปีหน้าคนใหม่ยังอาจจะรักเรา หรือผบ.ทบ. ยังมีเปลี่ยนแปลง แต่พอเป็นเอกชนเขาไม่เปลี่ยนเลย น่ากลัวมาก ผมต้องการอิสรภาพเลยต้องทำ GMMZ ทีวีดาวเทียมประเภทบอกรับสมาชิกหรือ ‘เพย์ทีวี’ ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางของตัวเอง จะเห็นว่าผมไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจนี้เพราะความอยากรวยเพิ่มขึ้น แต่เป็นภาคบังคับ ทีแรกผมยังพยายามหาพาร์ทเนอร์เพื่อทำแบบโลว์คอสต์ เดือนละ 300 บาท แล้วตกลงกันไม่ได้ ผมเลยต้องเข้ามาทำ โดยมีคุณโจ้-ธนา เธียรอัจฉริยะ เข้ามาช่วย คุณโจ้บอกเกมนี้เป็น deep pocket ใช้เงินมาก ต้องซื้อลิขสิทธิ์ ต้องอะไรต่ออะไร รายได้เข้ามาเป็นเม็ด แต่เงินไหลออกเป็นน้ำเลย ลูกผมสองคนโตเพิ่งกลับมาพอดี เลยได้มารับมรดกวิกฤตตั้งแต่ยังเยาว์วัย
…เกมนี้ถ้าเกิดคุณมีสายป่านยาวพออาจจะสู้ได้ ผมเคยบอกว่าต้องให้กระสุนจริงกับการลองผลิต แต่ตรงนี้มันไม่ใช่กระสุน มันเป็นระเบิด ขนาดมันใหญ่กว่ามาก ความจริงธนาคารก็ยังจะให้กู้ ถ้าผมสู้ แต่พ่อผมสอนว่าถ้ามีหนี้เหมือนเอาเงินไว้บนหัว หนักกบาล เอาตูดนั่งทับเงินไว้สบายใจกว่า ดังนั้น ถ้าผมเลือกมีหนี้ ผลออกมาก็ไม่รู้จะเป็นยังไง แต่ว่าผมเลือกที่จะถอย เพราะผมไม่ใช่คน high risk, high return มันมีโอกาสล้มละลาย และถ้าผมแค่ผลิตคอนเทนต์หยุดเมื่อไหร่ก็หยุดได้ แต่เพย์ทีวีคือคำสัญญาของคุณกับสมาชิกเป็นหมื่นเป็นแสนคน ถ้าทำแล้วไม่รอดสมาชิกจะเดือดร้อน ชื่อเสียงเราจะเสียหมด ผมจึงตัดสินใจขายในราคาที่ผมยอมขาดทุนย่อยยับ เท่าไหร่ก็ได้ เพื่อให้ผมหลุดจากการครอบครองเพย์ทีวีและรักษาชื่อเสียงของบริษัทไว้ ผมหมดเงินไปเยอะมากเลย แล้วก็ต้องเพิ่มทุนเพื่อล้างขาดทุนที่มีอยู่นี้ นั่นคือวิกฤตการณ์ของเพย์ทีวี
…พอเคลียร์เพย์ทีวีเรียบร้อยเข้าสู่ยุค ‘ดิจิทัลทีวี’ ผมก็ลิงโลดว่าเราจะมีบ้านเป็นของตัวเองแล้วเว้ย ทุกปีผมต้องบากหน้าไปขอหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ อสมท. ถึงจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ไม่สบายใจ เราเช่าบ้านเขาอยู่ เดี๋ยวเขาเปลี่ยนผัง เปลี่ยนอะไร มันไม่มีอิสระ โดยคราวนี้ผมประมูลทีวีดิจิทัลได้สองช่องเลย ทั้งช่อง HD และ SD เรียกว่าในคืนที่ประมูลได้โต๊ะนี้เต็มไปด้วยผู้คนมาแสดงความยินดีทั้งคืน แต่ในที่สุดมันกลายเป็นทุกขลาภ ผมเห็นคนอื่นได้สัมปทานแล้วชีวิตมีแต่ราบรื่น ร่ำรวย แต่สำหรับผมไม่เลย รัฐไม่สามารถเปลี่ยนผ่านอนาล็อกสู่ดิจิทัลทีวีได้สำเร็จ ไม่มีโครงข่าย ไม่มีกล่องรับ ดังนั้นผมทำคอนเทนต์ออกไปคนก็ไม่มีกล่องรับ ต้องกลับไปใช้เคเบิ้ล ใช้ทีวีดาวเทียมกันใหม่ เงินก็ไหลมหาศาลอีก เท่ากับแกรมมี่ลงหลุมไปอันหนึ่ง อุตส่าห์ปีนขึ้นมาแล้วกลิ้งร่วงลงไปหลุมใหญ่เบ้อเริ่มอีกหลุมหนึ่ง
…เราเลือดไหลหนัก ไม่รู้จะทำยังไง แต่ผมก็ไม่ได้หยุดเรื่องคุณภาพ ถ้าปล่อยเรื่องคุณภาพ มันก็ยิ่งไม่มีราคา ดังนั้น ผมต้องสู้ ขณะที่สู้เลือดก็ไหลไปเรื่อย แต่เรตติ้งดี ผมโชคดีที่ไปหาคุณหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ โรงพยาบาลกรุงเทพ กับคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี ไทยเบฟ มาร่วมลงทุนกับผม หมอปราเสริฐเข้าช่องวัน คุณฐาปนเข้าช่อง 25 เข้ามาปุ๊บปีต่อมาผมก็กำไรเลย คือธุรกิจมันปริ่มจะไปได้เต็มที อีกตัวที่มาช่วยแก้ปัญหาก็คือมาตรา 44 ผมต้องไปไหว้พระทุกวัด พูดคุยกับทุกผู้คน รัฐบาล กองทัพ ใครต่อใครที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจปัญหาว่ากสทช.ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านระบบได้จริง ผู้ประมูลจ่ายเงินไปไม่ได้รับ infrastructure อะไรเลย ต้องลงทุนเองหมด เหมือนไปซื้อหมู่บ้าน แล้วไม่มีถนนเข้า ไม่มีบ้านให้อยู่ จนนำมาสู่การออก ม.44 ถึง 3 ครั้ง เกิดการพักหนี้ ลดหนี้ และปลดหนี้ ธุรกิจถึงได้มั่นคงขึ้น ซึ่งไม่ใช่การที่รัฐเมตตา เป็นสิ่งที่รัฐพึงทำ เพราะขนาดเยียวยาแบบนี้ จาก 25 ช่องยังหลุดไปเป็น 10 ช่อง เราเองได้สัมปทาน 15 ปี ก็หมดไปกับวิกฤตสักเจ็ดปี แต่ปีที่แปดเราก็ควบรวมช่อง 25 กับช่องวันเป็นเดอะ วัน เอ็นเตอไพรส์ (ONEE) แล้วก็ให้ KKP เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทีนี้ชีวิตผมจึงโล่ง ผมขาดทุนกับสองตัวนี้มากมายแต่สามารถปลดเปลื้องจนหลุดได้ ทำให้ผมเข้าใจเรื่องไฟแนนส์เอย บัญชีเอย ความสำคัญของ Back Office ที่ต้องบริหารจัดการให้ดี เดิมทีผมสนใจแต่ Front คือการตลาด การโปรโมทและการจัดจำหน่าย เป็นบทเรียนที่ให้ลูกทั้งสองคนได้เรียนรู้แบบหนักหน่วงมาก ที่ได้ยินผมพูดว่า ‘ต่อไปนี้กูจะรวยถาวรแล้วโว้ย’ ก็คือต่อไปนี้เราจะรอบคอบที่สุด มีสติที่สุด
ผมโชคดีมากที่ผมมีพ่อแม่เป็นแบบอย่างให้เห็นว่าความสงบสุขของครอบครัวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ทุกวันนี้ตอนเช้าผมเดินจงกรม หรือยืดเหยียดร่างกาย พอคิดถึงพ่อแม่ ก็มีความสุขจัง แววตาที่เขามองเราเต็มไปด้วยความรักความเมตตา แค่นึกถึงแววตาที่เขามองเราจนวันนี้ยังมีความสุขอยู่
…จากนี้เข้าสู่ New gen, New era เป็นความสามารถของรุ่นลูกแล้วว่าเขาจะทำให้ไปต่อได้ขนาดไหน รายงานของ Goldman Sachs บอกว่า โลกกำลังเข้าสู่ Second Wave ของธุรกิจเพลง เพราะระบบสตรีมมิงทำให้การฟังเพลงง่ายมาก และเมื่อสตรีมมิงแข็งแรง ระบบการจ่ายเงินค่าสมาชิก (subscription) หรือค่าโฆษณา (advertising base) ก็เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจเพลงลุกขึ้นมาโต 7 เท่าในสองสามปีที่ผ่านมา โกลด์แมน แซคส์ ใช้คำว่า Music in the Air เพลงจะอยู่ในทุกที่รอบตัวเรา เพลงกำลังจะเป็นทรัพย์สินแบบหนึ่งที่เมื่อไหร่คุณเก็บเงินได้ มันยิ่งกว่าค่าน้ำค่าไฟ เพราะมันไม่ได้หมายถึงเฉพาะค่าสมาชิกหรือค่าโฆษณา แต่ตัวเพลงเองได้กลายเป็นของจับต้องได้ มีมูลค่าทางบัญชีได้ เอาเข้ากองทุนซื้อขายกันได้ ดูจากค่าลิขสิทธิ์ที่ผมได้รับส่วนแบ่งจากแพลตฟอร์มต่างๆ 80% เป็นเพลงเก่า เป็น back catalogue หมด มีอัลบั้มใหม่อยู่ไม่เกิน 20% ดังนั้น แคตาล็อกกลายเป็นสิ่งที่ถูกซื้อขายกันอุตลุดทั่วโลก เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเดี๋ยวนี้ผมขายทุกเพลงได้ตลอดเวลา ผมเคยบอกลูกว่าป๋าไม่มีที่ดินให้แบบศักดินา แต่ป๋ามีลิขสิทธิ์ที่กำลังจะกลายร่างเป็นของถาวรวัตถุเหมือนที่ดิน ลูกไม่ต้องกลัว ถึงตกลงมาก็มีฟูกรองรับ
…จากประสบการณ์ที่เกือบล้มละลาย ยังทำให้เราได้เรียนรู้ creative capitalization เรียนรู้ financial game ต่อไปนี้เราจะไม่ใช้แรงงานทำงานอย่างเดียว เรารู้ว่าเราจะทำยังไงกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้งอกเงย ทำอย่างไรที่เราจะเป็นพาร์ทเนอร์ เป็น joint venture กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ผมชอบที่สุดคือเราอยากจะทำ edutainment เอาตำรามาสอนด้วยเพลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก และทำ GMM Academy เป็นตักศิลาฝึกให้ทุกอย่าง โดยเฉพาะธุรกิจเพลง เดิมทีเราใจร้อน เอาผลงานประติมากรรมของพระเจ้ามาใช้งานเลย คือใช้พรสวรรค์ของศิลปิน แต่เกาหลีเขาฝึก อย่าง Black Pink กว่าจะเอามาใช้งานได้ก็ฝึกอยู่ 6-7ปี วิธีนี้ได้ผลมาก ใช้พรสวรรค์บวกพรแสวง วงใหม่ๆ ของแกรมมี่ชัดเจนและแข็งแรงมาก จนเด็กๆ เรียกเราว่า GEM นี่แหละของแท้ ตอนนี้ทุกคนที่ทำเพลงในแกรมมี่กำลังร่าเริงแล้ว ว่าเรากลับมาอีกครั้งแล้ว เรากำลังจะร่วมงานกับต่างประเทศ คอนเทนต์อื่นๆ ของไทยก็ถูกกว่าเกาหลีหลายสิบเท่า ทุกคนมองว่า Second Gen ของเอเชียต่อจากเกาหลีคือไทย ธุรกิจเราจึงกำลังจะกลับมามีโอกาสใหม่ๆ อีกครั้ง คนรุ่นใหม่กับศักราชใหม่กำลังเริ่มต้น New Era. New Gen.”
‘น้ำ’ คือ ครอบครัว
ตลอดการสัมภาษณ์ เห็นได้ว่าบุตรธิดาและครอบครัวคือองค์ประกอบหนึ่งที่ปรากฏขึ้นมาบ่อยครั้งในเรื่องราว ไพบูลย์ผู้มักประกาศว่าตัวเขาได้ทำสิ่งต่างๆ เพราะ ‘อยากรวย’ แท้จริงดูจะมีความสงบสุขของคนใกล้ตัวเป็นเป้าที่ไม่ได้ประกาศ ไพบูลย์หาเลี้ยงครอบครัว และครอบครัวก็หล่อเลี้ยงไพบูลย์ ด้วยเหตุนี้ ในการวิเคราะห์ไพบูลย์แบบแยกสี่ธาตุ แทรกซึมอยู่กับธุรกิจอันเป็นปึกแผ่นของเขา คือธาตุ ‘น้ำ’ หรือความชุ่มชื่นจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากคนในบ้าน
“ผมโชคดีมากที่ผมมีพ่อแม่เป็นแบบอย่างให้เห็นว่าความสงบสุขของครอบครัวเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ลูกน้องเพื่อนฝูงจะรู้จักพ่อแม่ผมทุกคน เพราะบ้านผมมีคนไปนอนเยอะแยะทั้งที่เป็นบ้านเล็กๆ ทุกวันนี้ตอนเช้าผมเดินจงกรม หรือยืดเหยียดร่างกาย พอคิดถึงพ่อแม่ก็มีความสุขจัง แววตาที่เขามองเราเต็มไปด้วยความรักความเมตตา แค่นึกถึงแววตาที่พ่อแม่มองผมจนวันนี้ยังมีความสุขอยู่ เป็นความทรงจำที่อบอุ่นลึกซึ้ง สิ่งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมก็อยากให้ลูกผมรักผมเหมือนอย่างที่ผมรักพ่อแม่
…แต่ก่อนจะพูดถึงลูกก็ต้องพูดถึงเมียก่อน พ่อแม่ผมไม่ได้เลือก ผมเกิดมาจากเขา ลูกผมก็เลือกไม่ได้เพราะเกิดจากผมกับเมีย แต่เมียผมเลือกเอง ผมต้องรับผิดชอบเขา จะลงตัวไม่ลงตัวยังไงก็ต้องปรับตัวให้สามารถอยู่กันได้ ผมตกลงกับเมียว่าเราจะมีลูกสี่คน ทีแรกเขาก็ไม่ค่อยอิน แต่ผมบอกมันเป็น a must ตกลงกันเลยว่าก่อนแต่งต้องไปตรวจร่างกาย ถ้าไม่สมบูรณ์เราต้องเลิกกันนะเพราะผมอยากมีลูก เมียผมเขาก็อดทนมาก เพราะการมีลูกสี่คนไม่ใช่เรื่องง่าย และความน่ารักคือเราคุยกันรู้เรื่อง ผมเล่นมุกหรือแหย่อะไร เขาก็ขำด้วย ขำแบบตกเก้าอี้ มันก็อยู่ด้วยกันได้ มีลูกด้วยกันสี่คน ก็แปลว่าต้องใช้ได้
…สิ่งหนึ่งที่ผมพบคือความรักที่เรามีต่อพ่อแม่ยังน้อยกว่าที่เรารักลูก เราจะรักพ่อแม่ขนาดไหน เรายังรักลูกมากกว่านั้น คงเป็นสัญชาตญาณมนุษย์กระมัง ผมมีลูกผู้ชายสองคน ผู้หญิงสองคน ยิงแม่นมาก (ชื่อฟ้าใหม่ ระฟ้า อิงฟ้า และฟ้าฉาย ตามลำดับ) พอเมียตั้งครรภ์ปุ๊บ ผมก็อ่านหนังสือการเลี้ยงลูกว่าอายุกี่ขวบๆ จะเป็นยังไง เรื่องการเลี้ยงด้วยมือ พลิกตบให้เรอ ทำเป็นหมด พอเขาเริ่มโตขึ้นก็เริ่มเตรียมพร้อมด้านร่างกาย พาไปสปอร์ตคลับ ไปโปโล ให้เขาฝักใฝ่ในเรื่องกีฬา สองคือเรื่องจิตใจดี ผมก็ทำอย่างที่แม่ผมสอนผม ค่อยๆ บอกว่าอย่างนี้เรียกว่าดี อย่างนี้เรียกว่าไม่ดี แต่สำคัญคือเรื่องการฝึกความคิดของเขา ผมเชื่อว่าผมมีวันนี้เพราะว่าผมเป็นคนจับประเด็นได้ และการจับประเด็นได้ทำให้เกิด common sense ถอดรหัสได้
…แต่การแสดงความคิดเห็นเป็นประชาธิปไตยมากๆ ในครอบครัวบางครั้งก็ทำให้ผมหงุดหงิดเหมือนกัน ตอนที่เขาเล็กๆ เขาก็ยอมเรา พอโตขึ้นเขาเห็นต่างจากเรา และไปเรียนเมืองนอกเยอะ เขาก็อาจจะรู้สึกว่าต้องเถียง ความเคารพน้อยมาก ส่วนเราก็ยังมีอัตตาความเป็นพ่อเยอะ คิดว่ามันน่าจะต้องยอมกูบ้างประมาณหนึ่ง ทำไมมันไม่ยอม ทีแรกน้อยใจบ่นกับเมีย ทำไมมันถึงโมโหก่อนเราวะ เมื่อก่อนเราโมโหมันก่อน ตอนนี้เราชักโมโหช้ากว่ามันแล้วนะ ทำไมเมื่อก่อนมันน่ารักกว่านี้เยอะเลย เราผิดหรือเปล่าที่ปล่อยให้เป็นประชาธิปไตย ไปปรึกษาลูกคนสุดท้อง ลูกบอกว่าสายไปแล้ว ก็ป๋าไม่เข้มงวดตั้งแต่แรกเองนี่ ปล่อยมาอย่างนี้แล้ว ตอนนี้จะมาบ่นอะไร อย่าไปขี้น้อยใจสิ ป๋าเป็นคนขี้น้อยใจ อ้าว---เราผิดอีก
…แต่ผมว่ามันคุ้มที่ให้เขากล้าเถียง กล้าคิด กล้าแตกต่าง ผมก็ต้องเรียนรู้อดทนอดกลั้นกับความเป็นประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยต้องอดทนอดกลั้น กับลูกน้องก็ต้องอดทนอดกลั้น ถ้าใช้ความใจร้อนคงวงแตกกันไปหมด เพราะคนเถียงกันยิ่งศิลปินนี่ไม่มีใครยอมใครหรอก แต่ถ้าผมอดทนได้ ผมก็เป็นหัวหน้าเขาอยู่ได้ และเวลาเถียงกันดุเดือด ผมไปทักเขาก่อนเสมอ เพราะเขาก็ไม่รู้จะทักเรายังไง ทักแล้วเราจะโมโหอีกหรือเปล่า ผมเลยเป็นคนยอมก่อน คือเราก็โมโหฉิบหายเลย นอนไม่หลับ ทำไมวะ อะไรวะ แต่พอรุ่งขึ้นด้วยความรักเราก็จะเริ่มรู้สึก เออ---มันก็น่ารักดีนะ ไม่ได้เสียหาย มันแค่คิดไม่เหมือนเรา แต่ผมจะสอนลูกเสมอว่า เราต้องเกรงใจคนในครอบครัวมากกว่าคนข้างนอก เพราะมนุษย์เราเกรงใจคนข้างนอกมากกว่าครอบครัว ครอบครัวเหมือนตัดยังไงก็ไม่ขาด ก็เลยไม่เกรงใจ ผมบอกว่าเข้าใจผิด ข้างนอกขาดไม่เป็นไร หาใหม่ได้ แต่ข้างในขาดไม่ได้ ถ้าต่างคนต่างไม่ทนกัน จะอยู่กันลำบากมาก ผมกับลูกกอดกันทุกวัน ฟ้าใหม่ขนาดอายุ 36 แต่งงานแล้ว ยังกอดกันหอมกันอยู่เลย
แต่การแสดงความคิดเห็นเป็นประชาธิปไตยมากๆ บางครั้งก็ทำให้ผมหงุดหงิดเหมือนกัน ตอนที่เขาเล็กๆ เขาก็ยอมเรา พอโตขึ้น เขาเห็นต่างจากเรา และไปเรียนเมืองนอกเยอะ เขาก็อาจจะรู้สึกว่าต้องเถียง ส่วนเราก็ยังมีอัตตาความเป็นพ่อเยอะ คิดว่าทำไมมันไม่ยอม
…ผมเตรียมตัวเรื่องมรดกมาตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมก็ให้เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่มาทำพินัยกรรมเลย เดิมทีแบ่งให้ลูกชายเยอะหน่อย ลูกสาวน้อยหน่อย ตามหลักจีนและพี่ชายสองคนเขาเป็นฝ่ายบริหารจัดการเขาควรจะได้เยอะ แต่คิดขึ้นได้ว่าผมบอกลูกตลอดว่าป๋ารักทุกคนเท่ากัน ถ้าเปิดพินัยกรรมออกมาอ้าว---ทำไมแบ่งไม่เท่ากันก็เลยรู้สึกว่าเรื่องพินัยกรรมไม่ต้องปิดเป็นความลับ ตั้งเป็นธรรมนูญครอบครัวขึ้นมา ปรัชญาคือให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวสำคัญกว่าเงินทอง แบ่งให้ทุกคนเท่ากัน โดยผมแบ่งธุรกิจเป็น 4 ส่วนตามสภาพที่เกิดขึ้น ไม่ได้ว่าใครใหญ่ใครเล็ก เพราะสุดท้ายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น จะใครทำใหญ่-ทำเล็ก ทำดี-ไม่ดี ในที่สุดต้องมารวมกันแล้วหารสี่อยู่ดี เพราะฉะนั้นใครได้ชิ้นใหญ่-ชิ้นเล็ก งานหนัก-งานเบา แล้วแต่ชะตากรรมชีวิต ไม่ถือว่ามีได้เปรียบเสียเปรียบ
…การเอากำไรขาดทุนทั้งหมดมารวมกันแล้วหารสี่ ทำให้เกิด Synergy เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน ส่วนเรื่องอำนาจบริหารจัดการ เมื่อแบ่งธุรกิจให้ใครรับผิดชอบ ก็ให้อำนาจเด็ดขาดไปเลย พี่น้องจะเสนอความคิด วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่สุดท้ายผู้ที่รับผิดชอบในบริษัทนั้นๆ จะมีสิทธิ์ขาด ไม่ต้องโหวตกันจะได้ไม่ทะเลาะกัน เราตกลงกันแบบนี้
…กฎกติกาคุยกับเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ประมาณเกือบสองปี อ่านแล้วอ่านอีก ตกลงแล้วตกลงอีกจนกระทั่งทุกฝ่ายเซ็นชื่อโอเค แล้วก็เริ่มปฏิบัติ ซึ่งในระหว่างทางยังมีความเข้าใจผิด แต่เมื่อพ่อยังอยู่ก็ยังสามารถสรุปได้ เริ่มปฏิบัติให้ทุกอย่างกลมกลืนเคยชินแล้วจะได้ดำเนินต่อไปโดยทุกคนไม่น่าจะทะเลาะกัน ส่วนเงินที่แบ่งเป็นส่วนตัวแล้ว ใครจะเอาไปทำอะไรก็แล้วแต่ ขอเพียงแต่ไม่ขัดแย้ง conflict of interest กับครอบครัว โดยตั้งเป็นบริษัท ฟ้าดำรงชัยธรรม จำกัด เอาหุ้นแกรมมี่ หุ้นอะไรทั้งหมดอยู่ในนี้ เพื่อให้เวลาที่เราไม่อยู่แล้ว ทุกคนจะได้สามารถอยู่ได้”
‘ลม’ คือ เพื่อนพ้อง
อย่างไรก็ตาม ชีวิตของไพบูลย์ไม่ได้มีแต่ครอบครัว เป็นที่รู้กันว่าเขาเป็นคนที่มีมิตรภาพกว้างขวางอย่างยิ่ง ไม่ต้องนับคนในวงการบันเทิงซึ่งต่างต้องข้องแวะกับ ‘อากู๋’ อยู่แล้วโดยอาชีพ แต่ยังหมายรวมไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายท่าน เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พลเอกสุจินดา คราประยูร อานันท์ ปันยารชุน ดร.ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่คนในแวดวงน้ำหมึกที่ไพบูลย์เห็นว่าเป็นกลุ่มที่เขานิยมในอรรถและรสแห่งการสังสรรค์เสวนาเป็นพิเศษ หากครอบครัวคือน้ำ ผู้ใหญ่สนิทและมิตรสหายก็คือ ‘ลม’ ที่ทั้งผ่อนคลายและพัดพาให้ไพบูลย์ได้เห็นโลกที่ไกลออกไป
“เจ้านายผมสองคนคือนายห้างเทียม โชควัฒนา กับคุณสุวิทย์ โอสถานุเคราะห์ เป็นผู้ใหญ่ที่ใจดีและเมตตาผมมาก ทุกวันนี้บางครั้งผมคิดอะไรผมจะคิดไปถึงนายห้างว่าถ้าเป็นนายห้างจะคิดยังไง นายห้างจะตัดสินยังไง การที่ผมได้มีโอกาสเข้าใจลึกซึ้งถึงความคิดของท่าน ถือว่าเป็นบุญ เป็นสิ่งที่โชคดี”
สาเหตุที่ไพบูลย์ใช้คำว่า ‘โชคดี’ อาจเป็นเพราะเขาเองก็บอกไม่ได้แน่ชัดนักว่าคุณลักษณะใดของตัวเองที่ทำให้ผู้หลักผู้ใหญ่ของสังคมหลายคนรู้สึกต้องชะตา หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้นแน่นอนว่าสนิทจนตำน้ำพริกหรือตั้งสำรับเลี้ยงพลางเล่าให้ฟังถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์บ้านเมือง พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ปกติร่ำลือว่าพูดน้อยจนคนให้ฉายาว่า ‘เตมีย์ใบ้’ ก็เคยโทรเข้ามือถือของไพบูลย์โดยตรงเพราะอยากศึกษาเรื่องการแต่งเพลง ร้องเพลง จนสามารถทำซีดีเพลงของตัวเองในเวลาต่อมา กระทั่งพลเอกสุจินดา คราประยูร ในยามที่ไม่อยู่ในการเมืองแล้ว ก็คบหาไพบูลย์เป็นเพื่อนหาร้านกินดื่มอยู่เสมอ
“ผมเป็นคนมีดวงกับผู้ใหญ่ ไม่รู้ทำไม มักมีผู้ใหญ่เมตตาอยู่เสมอ วันดีคืนดีป๋าเปรมท่านโทรศัพท์เข้ามือถือเลย ทีแรกรับสายผมก็ ฮัลโหล---ใครครับ อีกฝั่งก็ ‘ผมเปรม’ เราก็เอ๊---เปรมไหน ล้อเล่นหรือเปล่าวะ เลยทำเสียงเฉยๆ ‘อือ—เปรมเหรอ’ อีกฝั่งบอก ‘ผมเปรม ติณสูลานนท์’ ผมนิ่งไปพักหนึ่งกว่าจะนึกออกรีบบอก ‘ป๋าเลยเหรอครับ ป๋ามีอะไรครับ’ ท่านก็บอกว่าอยากเรียนรู้เรื่องแต่งเพลง ร้องเพลง ผมเลยส่งคนไปช่วยดูให้คำแนะนำ จึงสนิทกับท่านตั้งแต่นั้นมา แปลก---ปกติท่านไม่ค่อยคุยนะ แต่พบท่านทีไรท่านคุยเก่ง มีอารมณ์ขัน และมหัศจรรย์มากในเรื่องความทรงจำ ปีที่แล้วคุยอะไร ปีนี้คุยต่อเลย อยากรู้ทีวีดาวเทียมคืออะไร ทีวีดิจิทัลคืออะไร คุณพะจุณณ์ (พลเรือเอกพะจุณณ์ ตามประทีป นายทหารคนสนิทของพลเอกเปรม) บอกว่าป๋าคุยกับคุณนานกว่านายกฯ บางคนอีกนะ บางทีไปงานคนเยอะแยะป๋าเดินเข้ามาทักบอก ‘คนสำคัญอย่างนี้ก็มาด้วยเหรอ’ ผมดูเท่เลย ท่านชอบล้อเล่น
…ท่านสุจินดา คราประยูร ผมมารู้จักตอนโดนกลั่นแกล้งสมัยไปเช่าวิทยุทีวีช่องห้า กองทัพบก จึงขออนุญาตเข้าพบท่านในฐานะผบ.ทบ. ที่ดูแลทั้งหมด เล่าให้ท่านฟังว่าเป็นแบบนี้ๆ ท่านโทรศัพท์ให้เลยแล้วอุปสรรคผมก็ผ่านพ้น ตอนหลังท่านเกษียณเรียบร้อย ก็ยังชวนกันไปกินข้าวประจำ มีวันหนึ่งผมชวนท่านไปกินที่แปซิฟิค คลับ ซึ่งรับเฉพาะสมาชิก ท่านก็ชวนพลเอก วิโรจน์ แสงสนิท พลเอก สำเภา ชูศรี พล.อ.ชัยณรงค์ หนุนภักดี ผมก็ไปกับวาณิช จรุงกิจอนันต์ ท่านหิ้วไวน์มาสองขวดเล่าว่าวันนี้ตอนออกจากบ้านคุณหญิงถามท่านว่าจะไปไหน ท่านบอกนัดไพบูลย์ไว้กับพวกสามสี่คน คุณหญิงบอกจริงเหรอ วันนี้วันวาเลนไทน์นะ ยังจะไปเจอกับผู้ชายทั้งแกงค์เนี่ยนะ
…ผมกับคุณทักษิณ ชินวัตรก็เป็นเพื่อน รู้จักกันตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าการเมือง จนท่านเป็นนายกฯ ก็คุ้นเคยกันมาก พูดคุยสนุกสนานเฮฮา พวกรัฐมนตรีบอกว่าพี่เป็นคนที่คุยกับนายกฯ แล้วเขาไม่โกรธ มีเรื่องอะไรต่ออะไรบางทียังอาจจะมาฝากให้ผมพูด แต่ว่าผมไม่เคยเข้าไปมีบทบาทอะไร เป็นเพื่อนคุย เพื่อนเล่น เพื่อนกินมากกว่า แล้วก็ยังมีอีกหลายต่อหลายคนที่เป็นผู้ใหญ่ ที่ผมเรียกว่าเป็นคนรอบตัวด้านบนที่เมตตากับผม”
อย่างไรก็ตาม ผู้สนิทสนมกับไพบูลย์ทราบดีว่านอกเหนือจาก ‘ผู้ใหญ่’ อย่างที่ว่ามานี้ ลมหอบสำคัญที่รายล้อมไพบูลย์คือกลุ่มเพื่อน ซึ่งทำสถิติกินข้าวกันเป็นประจำในวันพฤหัสบดีของทุกสัปดาห์ ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสามสิบกว่าปีแล้ว
วันดีคืนดีป๋าเปรมท่านโทรศัพท์เข้ามือถือเลย ทีแรกรับสายผมก็ ฮัลโหล---ใครครับ อีกฝั่งก็ ‘ผมเปรม’ เราก็เอ๊---เปรมไหน ล้อเล่นหรือเปล่าวะเลยทำเสียงเฉยๆ ‘อือ—เปรมเหรอ’ อีกฝั่งบอก ‘ผมเปรม ติณสูลานนท์’ ผมนิ่งไป พักหนึ่งกว่าจะนึกออกรีบบอก ‘ป๋าเลยเหรอครับ ป๋ามีอะไรครับ’
โดยเมื่อไพบูลย์ได้ปลูกปั้นแกรมมี่จนมีสถานะการเงินเข้มแข็ง เขาได้ริเริ่มกิจกรรมนี้ด้วยการนัดให้เพื่อนนิเทศ จุฬาฯ มากินข้าวกันที่ร้านโลเปร่า (L’Opera) ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศในสมัยนั้น อาทิวาณิช จรุงกิจอนันต์ อรุณ วัชรสวัสดิ์ มานิจ โมฬีชาติ พนา ทองมีอาคม ปราโมช รัฐวินิจ และในที่สุดก็ขยายไปอีกหลายกลุ่มธุรกิจและอุดมการณ์การเมือง เท่าที่เคยปรากฏ เช่น สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ เผด็จ ภูรีปติภาน ตัน ภาสกรนที ดล เหตระกูล พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโชค สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ชัยรัตน์ เมฆสุกรีย์ ทวีฉัตร จุฬางกูร กนกศักดิ์ ปิ่นแสง พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช นาวาอากาศตรีศิธา ธิวารี แม้กระทั่ง ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ของยุคสมัยนี้อย่างบรรยง พงษ์พานิช ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ธนา เธียรอัจฉริยะกุล สรกล อดุลยานนท์ (หนุ่มเมืองจันท์) หรือสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม) ไม่ผิด หากจะบอกว่าปาร์ตี้วันพฤหัสของไพบูลย์ในหลายสัปดาห์ มีลักษณะคล้ายหลักสูตร ‘วปอ.’ และ ‘เอบีซี’ เขย่ารวมกัน
“มีคนเติมมาเรื่อย สนิทบ้างไม่สนิทบ้างมาชุมนุมกัน กลายเป็นว่าวันพฤหัสเป็นวันพบเพื่อนเป็นประจำ ตอนนี้น่าจะสามสิบกว่าปีแล้ว มีทุกอาทิตย์ ไม่ใช่เดือนละครั้ง บอกได้เลยว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ไม่ได้เว้นเลย เว้นเฉพาะช่วงโควิดสองปีกว่า ควรให้เครดิตกับความสม่ำเสมอของผม เพราะเป็นคนจัดคนเลี้ยงอยู่คนเดียว ผมรู้สึกว่าเพื่อนมีความสุข ผมมีความสุข และผมก็ได้ความรู้ ความเข้าใจ ความสัมพันธ์ที่ดี ระยะหลังคนอื่นอาจเริ่มหายไปเพราะต่างมีภารกิจเยอะแยะ แต่อาทิตย์หนึ่งอย่างย่อก็ต้องมี 8-10 คน หลักๆ เป็นนักเขียน-นักข่าว ผมรู้สึกเขาเป็นปัญญาชน เป็นคนร่วมสมัย เขาต้องอ่านหนังสือเยอะ มีความรู้สะสมมากเลย ฉะนั้นเวลาคุยก็ได้ความคิด ความรู้ เราเล่ากันแบบเปิดอก ผมรู้สึกเป็นความสุข และแม่ผมสอนว่าเลี้ยงเพื่อนดีกว่าให้เพื่อนเลี้ยง จะได้ทำอะไรได้ตามใจชอบ และถึงเรามีหลายฝ่าย แต่ก็คุยกันได้”
‘ลม’ กลุ่มต่อไปที่มีความสำคัญยิ่งต่อไพบูลย์คือกลุ่มเพื่อนร่วมงานที่เป็นส่วนสำคัญในการพยุงส่งเสริมความสำเร็จของแกรมมี่ แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยลักษณะเฉพาะของแกรมมี่ที่เป็นธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับศิลปะและศิลปินสูง สิ่งใดคือเคล็ดลับของไพบูลย์ในการควบคุม ‘ลมเปลี่ยนทิศ’ ของบรรดาศิลปิน ให้เป็นลมส่งมากกว่าลมต้านมานานนับหลายสิบปี
“เรื่องลูกน้องผมคิดแค่ว่า หนึ่ง ผมต้องหางานให้ลูกน้องทำ สอง ผมต้องหาเงินให้ลูกน้องได้ผลาญ สาม ผมต้องหาเงินแบ่งให้ลูกน้องให้ได้คือให้เขามีงานทำ ให้เขามีเงินที่จะลองกระสุนจริงจนเก่ง และให้มีการแบ่งปันที่ยุติธรรมพอ และผมก็โชคดีที่ผมได้คนเก่งในทุกสาขา ลูกน้องผมสอบได้ที่หนึ่งหมด เรื่องเพลง ก็ตั้งแต่พี่เต๋อ-เรวัต สืบทอดมาพี่เล็ก-บุษบา จนทุกวันนี้เป็นภาวิต จิตรกร ฟ้าใหม่ กับสมภพ บุษปวนิช ก็เป็นสามคนที่ในเรื่องเพลงยังแข็งแรง ช่องวัน มีบอย-ถกลเกียรติ มีป้อน-นิพนธ์ ผิวเณร มีระฟ้า แล้วก็มีสถาพร พานิชรักษาพงศ์ที่ทำซีรีส์วาย มีฉอด-สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กับเอส-วรฤทธิ์ ไวยเจียรนัย ทางจีดีเอชก็มีพี่เก้ง-จิระ มะลิกุล และจินา โอสถศิลป์ วิทยุก็มีสมโรจน์ วสุพงศ์โสธร โอช็อปปิ้งก็มีฟ้าฉายดูแล โดยมีแป๊ะ-สุวิมล จึงโชติกะพิศิฐ ช่วย คนเก่งๆ เต็มบริษัท ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา คนที่ผมเลือกเขามีความสามารถ ก็ทำให้เราเติบโตแข็งแรง ธุรกิจไม่เหมือนยาหม่องตราเสือ ที่สืบทอดได้เพราะแบรนด์แข็งแรง ของเราต้องทำใหม่ทุกครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียวจบ มันขึ้นอยู่กับคนจริงๆ ถ้าลูกผมไม่อยากทำธุรกิจนี้ ผมก็สืบต่อไม่ได้ ต้องมีตัวมาต่อเนื่องถึงจะได้
…ความสัมพันธ์ผมกับลูกน้องคือ กินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน คลุกคลีกันเป็นพี่เป็นน้อง ถามว่าบริหารศิลปินยากไหม—ยาก แต่ผมมีหลักที่พี่สุจิตต์ วงษ์เทศเคยบอกไว้แล้วผมจำแม่นเลยคือ พวกศิลปินจะ หนึ่ง ‘ขี้เกรงใจ’ ก่อน ต้องการอะไรจะไม่พูด สอง ในใจ ‘ขี้ระแวง’ คือคิดว่ามันจะเอาเปรียบกูแน่ และสาม คือ ‘ขี้น้อยใจ’ ไม่ชอบอะไรก็ไม่อธิบาย ดังนั้น ผมต้องเดาใจ เอาใจเขาใส่ใจเรา และปกครองโดยไม่ปกครอง ถ้ามอบหมายแล้วเขาจะมาเช้ามาเย็นก็เรื่องของเขา ดูผลงานดีกว่า และต้อง ‘ไม่ครอบครอง แต่คุ้มครอง’ คือเรามีคอนเน็กชั่นอะไร ก็ช่วยบอกเหตุ ช่วยป้องกัน ช่วยให้คำปรึกษาอะไรต่างๆ แต่อย่าไปครอบงำ ต้องปล่อยให้ทุกคนมีความเป็นตัวของตัวเอง มันถึงจะเกิดความหลากหลาย ศิลปะไม่ควรซ้ำซาก ไม่ใช่มีลายมือเดียว
‘ไฟ’ คือ ร่างกายและจิตใจ
หลังการสัมภาษณ์ไพบูลย์ในวันแรกที่กินระยะเวลาตั้งแต่บ่ายสองจวบจนหกโมงจบลงโดยมีหลายคำถามยังไม่ได้ถูกตอบ ไพบูลย์ได้เปิดโอกาสให้เราสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่งซึ่งก็กินเวลาจากบ่ายจนสิ้นวันเช่นกัน เมื่อได้ฟังเรื่องราวชีวิตที่เพียงการไล่เรียงอย่างต่อเนื่องแทบไม่เว้นวรรคยังใช้เวลาถึงสองบ่าย ก็ชวนให้เกิดคำถามว่าด้วยขนาดของธุรกิจ ความหลากหลายของความเปลี่ยนแปลง และความยาวนานของระยะเวลาที่เขาต้องอยู่ในตำแหน่งผู้นำองค์กร สิ่งใดคือ ‘ไฟ’ ที่ทำให้เขามีกำลังผลักดันองค์กรมาได้อย่างมั่นคงแน่วแน่ราวกับหัวรถจักร และอะไรคือเคล็ดลับของการเลี้ยง ‘ไฟ’ นี้ไม่ให้โรยรามาได้ต่อเนื่องหลายทศวรรษ เช่นเดียวกับบ้านและกิจการอื่นๆ ของไพบูลย์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความบังเอิญ
“ไฟเป็นเรื่องของตัวเอง ตั้งแต่เด็กผมเป็นคนที่ชอบวางแผน ชอบคิด ชอบดู เพราะความคิดมาจากความช่างสังเกต ชอบไปเฝ้าดูเขาเล่นเกมอะไรต่างๆ ไม่ค่อยลงไปเล่น แต่ชอบนั่งดู คิดตามแล้วสนุก คิดตามว่าถ้าเป็นเรา เราจะทำแบบนี้ หรือผมจะชอบเดินตามถนนหนทางไปเรื่อย อย่างผมเรียนอยู่สวนกุหลาบ บ้านอยู่เยาวราช ร้านอยู่สะพานพุทธฯ มันก็เดินกลับบ้านได้หลายเส้นทาง ผมจะชอบเดินคนเดียว เดินดูอะไรไปแล้วก็คิดไป เช่น เอ้อ---ร้านนี้ดูดี ขายนาฬิกา สะอาดสะอ้าน พื้นเป็นหินขัด ลูกใส่ชุดนอนกลิ้งเล่นอยู่ในห้อง ลูกยังตัวเล็กอยู่ สองคูหา แล้วก็คิดเออ—โตขึ้นขอให้กูเป็นได้อย่างงี้ หรือบางทีดูว่าเออ---บ้านนี้เขาทำไรวะ เขาขายผ้า เขาขายยังไงวะ ดูแล้วก็จินตนาการ คิดอะไรไปเรื่อย
มีบางช่วงที่ทำเพลงสำเร็จ ไอ้นู่นไอ้นี่ก็สำเร็จ ผมรู้สึกว่าตัวเองอีโก้สูงมากว่า กูมองอะไรก็มองขาด แต่ขนาดตอนนั้น ผมยังชอบฟังคนอื่น เพราะไม่ชอบความล้มเหลว จึงพยายามประมวลข้อมูลให้รอบคอบ เขาเตือนมาจะถูกผิด ฟังไว้ก่อนค่อยกรองเอาทีหลัง
…สิ่งเหล่านี้คงมีส่วนทำให้ผมชอบเตรียมตัวออกแบบชีวิตล่วงหน้า แต่ผมจะไม่วางเป้าหมายสูง ผมวางพอประมาณ ไม่ถึง 100 แต่เอา 60 พอ บอกกับตัวเองว่าอย่าไปใช้สุดกำลังเสียทีเดียว ให้เหลือแรงไว้วิ่งหนีบ้าง ไว้ซ่อมแซมแก้ไขบ้าง เพราะฉะนั้นเรื่องของความร่ำรวย ผมก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องร่ำรวยที่สุด ผมไม่เอา high risk, high return เอาแค่มั่นคงดีกว่า ทุกวันนี้ความรวยประมาณหนึ่ง กับความรวยเป็นแสนล้าน ผมว่าคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกัน แล้วแต่ไหนแต่ไรผมก็วางแผนการเงินผมไว้ว่าส่วนหนึ่ง คือเงินเก็บ ห้ามแตะต้อง เป็นความมั่งคั่งของครอบครัว ส่วนที่สอง คือเงินลงทุน สำหรับซื้อบ้าน ซื้อที่ดินอะไรต่างๆ และส่วนที่สามคือเงินใช้เสี่ยงหรือทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ ก็จะกระทบเฉพาะส่วนที่สาม แค่จะกระทบ goodwill ของตัวเองว่าตกลงอากู๋ล้มเหลว ล้มละลาย ก็คงเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วลูกก็จะไม่มีงานทำหรืออะไรก็แล้วแต่ อายแย่
…ความรวยของผมไม่ใช่ตัวเลขในบัญชี หรือมีข้าวของเยอะๆ มันคืออิสรภาพที่จะเป็นตัวของตัวเอง ไม่อยากทำอะไรก็ไม่ต้องทำ คนบางคนไม่อยากพบก็ไม่ต้องพบ งานบางงานไม่อยากไปก็ไม่ต้องไป โดยไม่กระเทือนต่อสถานภาพหรือชีวิตของผม เพราะถ้าคุณไม่รวย คุณอาจยังมีความลำบากอยู่ ต้องจำยอมไปทำในสิ่งที่คุณลำบากใจ อีกส่วนหนึ่งที่ผมคิดถึงคือ ทำยังไงให้ชีวิตสมดุล เพราะการทำมาหากิน ครอบครัว สุขภาพ ความสุขส่วนตัว การจัดสมดุลสำคัญ”
‘การจัด’ ของไพบูลย์ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจนั้นมีรายละเอียดพอสมควร ในแต่ละวัน เขาจะตื่นในเวลาแปดโมง ดื่มน้ำแร่หนึ่งขวด และฝานมะนาวแช่ในน้ำร้อน เพื่อมาดื่มหลังแปรงฟันเสร็จอีกหนึ่งแก้วใหญ่ จากนั้น ไพบูลย์จะเริ่มกายบริหารโดยการแกว่งแขวน และยืดเหยียดแข้งขา ก่อนจะใส่เพียงกางเกงขาสั้นมาเดินจงกรมรอบสระน้ำ เพื่อรับแสงแดดยามเช้า เสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาของการอ่านหนังสือพิมพ์อัปเดตข่าวสาร แต่ระหว่างอ่าน เขาจะผูกข้อเท้าไว้ด้วยกระสอบทรายเพื่อจะได้ยกบริหารกล้ามเนื้อขาและหัวเข่าไปพร้อมกัน ข้าวเช้าของเขาประกอบด้วยเครื่องดื่มเบาๆ อย่างน้ำเต้าหู้หรือน้ำผลไม้และผักสลัด เพื่อจะได้ไม่หนักท้องเกินไปสำหรับการสวดมนต์ไหว้พระและนั่งสมาธิอีกเป็นชั่วโมงในลำดับถัดมา ก่อนจะเป็นเวลาของมื้อกลางวันซึ่งประกอบด้วยข้าวกล้องพร้อมกับข้าว 3-4 อย่าง
หลังเวลาข้าวกลางวัน ไพบูลย์จะใช้สำหรับการสะสางธุระการงาน หรือไม่เช่นนั้น ก็เป็นการนั่งสมาธิอีกระยะหนึ่ง ถึงเวลาห้าโมงเย็น เทรนเนอร์จะมารอเขาอยู่ที่ยิมภายในบ้านซึ่งมีอุปกรณ์ครบถ้วน เพื่อกำกับการวิ่งและยกน้ำหนักของเขาอย่างละเอียด ใต้ยิมคือห้องสตีม ห้องซาวน่า อ่างจากุชชี่ และบ่อน้ำเย็น 17 องศาที่ไพบูลย์จะใช้สับเปลี่ยนกันเพื่อประคบประหงมร่างกายหลังการออกกำลังกาย กระทั่งเมนูอาหารปกติของที่บ้าน ไพบูลย์ก็ออกแบบสำรับไว้แล้ว 20 รูปแบบ โดยแต่ละสำรับจะประกอบไปด้วยอาหารสี่ถึงห้าอย่างที่ไพบูลย์จัดมาให้มีวัตถุดิบหลากหลายและมีรสชาติที่เข้ากัน (สำรับ 6: ไข่พะโล้หมูสามชั้น ไก่ผัดน้ำมัน แกงคั่วพุงปลาช่อนใส่ฟัก กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา) ไม่น่าแปลกใจที่ร่างกายของไพบูลย์ซึ่งจะอายุ 74 ในปีนี้ ไม่เพียงแต่กระฉับกระเฉง หากยังขึ้น ‘ซิกส์แพ็ก’ แบบที่หลายคนหนุ่มยังต้องอาย
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตของเขา ไพบูลย์ได้พบว่ากระทั่งความพยายามจัดสมดุลมากเกินไปนั่น ก็อาจเป็นความไม่สมดุลในตัวเอง สิ่งที่เข้ามาช่วยจัดสมดุลให้เขาใหม่ จึงได้แก่ ‘วิกฤต’ ในเรื่องทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิทัลที่ทำให้เขารู้ว่าแผนที่วางไว้ดีที่สุด ก็ยังอาจนำไปสู่กับดัก และทางออกจากหนึ่งปัญหาอาจเป็นอีกปัญหาในตัวเอง
“ผมโชคดีราบรื่นในเรื่องเรียนหนังสือ ผมทำธุรกิจเจอนายห้าง เจอคุณสุวิทย์ มาเปิดแกรมมี่ก็ค่อนข้างราบรื่น 12 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ ผมเข้าตลาดช่วงปี 2540 ผมเลยโชคดีได้กลายเป็นเศรษฐีอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เก่งอะไร แต่ต้มยำกุ้งทำให้คนอื่นยุบหมด นั่งลงหมด แล้วผมดันยืนอยู่ เหมือนถูกหวยสองต่อเพราะตอนนั้นที่ดินกลายเป็นถูกหมดเลย ในช่วงสามสี่ปี ผมจึงซื้อตึกแกรมมี่ ซื้อที่ดินของบ้านซอย 38 นี้ ซื้อที่หัวหิน ซื้อที่เชียงใหม่ ซื้อที่เขาใหญ่ในราคาที่ถูก และในทำเลที่ดีได้ แต่ช่วงที่ผมเข้าตลาดหลักหลักทรัพย์ฯ บางสิ่งบางอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไป มีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำสำเร็จตามที่คิด ผมกลายเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ ทำทุกอย่างเนี้ยบหมด เป็นเอามากถึงขนาดอยู่อยู่เกิดไม่อยากเดินเหยียบเส้น เห็นเส้นแล้วจะไม่เหยียบเส้น ลึกๆ ก็อาย รู้สึกกูเป็นโรคห่าอะไรของกูวะเนี่ย จนกระทั่งลูกสังเกตว่าทำไมป๋าเดินแปลกๆ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง คุณจะเห็นว่าผมต้องคอยหยิบจัดอะไรให้มันตรง กินข้าวอยู่บางทีก็เผลอจัดโต๊ะอยู่ตลอดเวลา ต้องเขี่ยนู่น เขี่ยนี่
…แต่พอปี 2555-2556 ผมเข้าสู่เพย์ทีวีต่อด้วยทีวีดิจิทัล นับตั้งแต่วันนั้นมา เป็นช่วงเวลาของความทุกข์ทรมานแบบหน้ามือเป็นหลังมือ เจอปัญหาสองหลุมใหญ่ พ้นหลุมแรกแต่อีกหลุมลึกกว่าอีก ช่วงแรกประสาทเสียเลย ความวิตกกังวลสูงมาก เพราะมันเกิดขึ้นโดยที่เราคิดว่าเราก็ไม่ได้เป็นคนโลภมากขนาดนั้น มันเป็นเกมที่ต้องเดิน ถ้าไม่เดินทำเพย์ทีวีอย่างนี้ ระยะยาวแย่แน่ ทำไมมันออกมาอย่างนี้ จิตตกคิดเป็นวงกลมอย่างเดียว ถามตัวเองไปมาทั้งวัน สมองเหมือนติดล็อก เอาไม่ออก ทีนี้บังเอิญผมไปวิ่งแล้วขาเจ็บ ตอนไปรักษาเขาบอกว่าถ้ามีสติ คอยระวังท่าทางให้ดีแล้วจะหาย บอกให้ฝึกนั่งสมาธิ
…ตั้งแต่สมัยจุฬาฯ ผมเคยฟังเรื่องจิตศึกษาแต่ลองนั่งแล้วก็ไม่ติด แต่ครั้งนี้ลูกสาวคนเล็กเรียนหนังสืออยู่ที่อเมริกา ส่งคลิปของหลวงพ่อชามาให้ ซึ่งปกติเวลาเป็นหลวงพ่อต่างๆ ผมจะไม่อิน เพราะด้วยเรื่องภาษาบาลีสันสกฤตหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ด้วยความเกรงใจ ลูกรักส่งมายังไงก็ต้องเปิดฟัง ทีนี้พอฟังไปเฮ้ย---ท่านพูดง่ายมาก ถูกจริตเรามาก ท่านบอกอย่าไปคร่ำเคร่งเรื่องตำรา คุณปฏิบัติเถอะ เรื่องสมาธิไม่มีอะไรยาก นั่งสบายๆ แล้วก็หยุดคิด สังเกตลมหายใจไปเรื่อยๆ เดี๋ยวจะรู้เอง ทำสั้นๆ ก่อน แต่ขอให้สม่ำเสมอ ผมฟังดูก็รู้สึกเก็ตว่ะ ลองนั่งปฏิบัติดู ฝึกเหมือนออกกำลังกาย ช่วงแรกก็ปวดเมื่อย ค่อยๆ ทำไป จนค่อยๆ ชิน ไปๆ มาๆ ผมฝึกนั่งสมาธิมา 10 ปีแล้ว ทุกวันนี้นั่งวันละสามครั้ง ครั้งละ 30-40 นาที เรารู้สึกว่าสบาย มีเวลาว่างเมื่อไหร่ ถ้าไม่ไปดูเน็ตฟลิกซ์ อ่านหนังสือ บางทีก็รู้สึกว่านั่งสมาธิดีกว่า
…อันนี้คือโชคดี การนั่งสมาธิทำให้ผมรู้สึกนิ่งลง ทำให้ผมไม่รีบ บางทีเราเคยชินกับความรีบ สมาธิทำให้รู้สึกว่าทำไมต้องรีบวะ พอไม่รีบร้อนเกินไป มันเกิดความรอบคอบ เกิดความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เอาแค่ตอนผมเดินจงกรม ผมว่าผมได้กลิ่นดอกไม้มากขึ้น ดอกการเวกหรือดอกอะไรต่ออะไร ลมพัดมาผมรู้สึกได้หลายอย่าง แม่ผมสอนว่าคำพูดหรือคติดีๆ คุณต้องพับใส่กระเป๋าไว้เก็บไว้ใช้ในโอกาสต่างกัน การนั่งสมาธิทำให้สิ่งเหล่านี้กระจ่างขึ้น แต่เล่ายังไงก็ไม่มีประโยชน์ หลวงพ่อชาบอกอย่าถาม คุณมีหน้าที่ไปนั่งปฏิบัติ แค่ดูลมหายใจเข้าออก แต่ไม่ต้องเพ่ง หยุดคิด หยุดสมอง มันไม่ใช่ตรรกะ พอมีความรู้สึกนี้ก็ทำให้ผมผ่านช่วงที่ลำบากที่สุดไปได้ เพื่อนก็ยังดูไม่ออกว่ากลุ้มหรือเปล่า แถมช่วงนั้นผมยังไปเสียเงินไปรื้อบ้านที่หัวหินสร้างใหม่ไป 100 ล้าน ก็แปลว่ายังพอทำใจได้อยู่ การนั่งสมาธิทำให้คลายเรื่องความเป็นเพอร์เฟกชันนิสต์ไปมาก พอตั้งสติได้ จากที่เดินไม่เหยียบเส้น ก็รู้สึกว่ากูเป็นบ้าอะไรวะ แล้วก็เหยียบเส้นเลย เดี๋ยวนี้เลยเดินเหยียบเส้นแล้ว หายแล้ว”
แต่เล่ายังไงก็ไม่มีประโยชน์ หลวงพ่อชาบอกอย่าถาม คุณมีหน้าที่ไปนั่งปฏิบัติ แค่ดูลมหายใจเข้าออก แต่ไม่ต้องเพ่ง หยุดคิด หยุดสมอง มันไม่ใช่ตรรกะ พอมีความรู้สึกนี้ ก็ทำให้ผมผ่านช่วงที่ลำบากที่สุดไปได้ การนั่งสมาธิทำให้คลายเรื่องความเป็น เพอร์เฟกชันนิสต์ไปมาก
ตอบแทนฟ้า
เมื่อได้พิจารณาตามธาตุดิน-น้ำ-ลม-ไฟ อย่างที่ภิญโญได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ก็จะพบว่าไพบูลย์ได้ก่อร่างสร้างตัวของเขามาอย่างสมดุลและสมบูรณ์ไม่น้อย ความสามารถในการไล่เรียงเรื่องราวและกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นในแต่ละก้าวของชีวิต เป็นหลักฐานที่ชี้ว่าไพบูลย์ไม่ได้เดินสะลึมสะลือมาสู่ความสำเร็จ แต่ได้วางแผนที่และเส้นทางของตัวเองมาอย่างพิถีพิถัน แม้กระนั้น อาจเป็นด้วยความเชื่อตามสำนวนจีนว่า ‘ความพยายามเป็นของคน ความสำเร็จเป็นของฟ้า’ ไพบูลย์ดูจะไม่ได้ยกเครดิตให้ตัวเองมากเท่ากับโชค และสำหรับเขาแล้ว การเอาโชคดีจากฟ้ามาเล่าให้เป็นอภินิหารส่วนตนมีแต่จะกระตุ้นให้เกิด ‘ความหมั่นไส้’
“ส่วนหนึ่งผมมีความเขินๆ โดยธรรมชาติ ตอนเขาเลือกเป็นประธานชมรมโต้วาที เขาเลือกกันปลายปีสองแล้วก็ปิดเทอม ผมยังเอาเครื่องเทปของชมรมไปอัดเสียงตัวเองตอนอ่านหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อฟังว่าเสียงออกเจ๊กหรือเปล่า ฟังแล้วก็ค่อยๆ ปรับ มันอาย ดังนั้น บางทีผมก็ไม่ค่อยมั่นใจ บางทีก็มั่นใจมาก แต่รู้สึกว่าเมื่อไหร่ตัวเองกลายเป็นคนสำคัญขึ้นมาคนจะคาดหวังจากเรา ผมไม่ชอบให้คนคาดหวังจึงไม่ค่อยอยากปรากฏในสื่อ ตอนเล่าเราก็อารมณ์อย่างหนึ่ง แต่คนอ่านคนละอารมณ์ ชอบหรือไม่ชอบผมห้ามไม่ได้ และมีอารมณ์หนึ่งที่น่ากลัวคืออารมณ์หมั่นไส้ ต่อให้คุณคิดว่าตัวเองทำดี มีความตั้งใจดี ก็อาจโดนตำหนิอยู่ดี ดังนั้นผมก็คิดว่าเราจะพูดทำไม ถามว่าผมเล่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันดีหรือเปล่า มันแค่กลางๆ โชคร้ายเราก็มี แต่บางทีเราลืม เราก็เล่าแต่เรื่องที่เราโชคดี เหมือนอย่างคุณลงไอจีสวยหรู ผมแทบไม่มีเลย ลูกผมทำ ผมก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่มันเป็นยุคสมัยของเขา ผมมักจะระวังตัว เดี๋ยวคนก็หมั่นไส้”
กระนั้น เหตุให้หมั่นไส้ไพบูลย์ไม่ควรมีได้มากนักเพราะในขณะที่ไพบูลย์ยกสิ่งดีต่างๆ ในชีวิตตัวเองให้กับฟ้า (เช่น ลูกของเขาสี่คนที่มีชื่อว่าฟ้าใหม่ ระฟ้า อิงฟ้า ฟ้าฉาย) แต่ไม่ได้เพิกเฉยปล่อยให้เป็นเพียงภาระของฟ้าในการทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้น นี่คือสาเหตุที่เขาก่อตั้งมูลนิธิ ‘ดำรงชัยธรรม’ เป็นไปได้ว่าฟ้าอาจกำหนดชีวิตมนุษย์เอาไว้แล้ว แต่ฟ้ายังต้องอาศัยการกระทำของมนุษย์ด้วยกันนี่เองเป็นเครื่องมือส่งผ่านชะตากรรม
“ในวันที่ผมเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึงคือตอนเราเป็นเด็กจนๆ อยู่เยาวราช ผมได้ความเมตตาจาก ครูสอนภาษาจีนประจำชั้นป. 3 ท่านน่ารักมากเลย ท่านเก็บสตางค์เด็ก แล้วซื้อหนังสือไปเก็บที่บ้านท่าน ผมก็งงๆ ว่าขอสตางค์เราแต่ซื้อหนังสือไปเก็บไว้ที่บ้านตัวเอง ไม่ใช่---เสาร์อาทิตย์ท่านมาพาเด็กไปที่บ้าน แล้วทำให้บ้านเป็นห้องสมุดภาษาจีน อ่านหนังสือวิพากษ์วิจารณ์กัน คือท่านเสียสละ แต่ท่านก็จน ไม่มีปัญญาซื้อหนังสือ ดังนั้น จึงต้องเรี่ยไรใครมีสตางค์ก็มาแบ่งๆ กัน แล้วท่านก็คงใส่เงินตัวเองด้วย เพื่อให้เด็กทุกคนมีหนังสืออ่าน
…อีกคนเป็นรุ่นพี่ที่เขาไปเรียนที่ธรรมศาสตร์แล้วมาสอนเด็กฟรี เมื่อก่อนแถวเยาวราชมีเด็กที่ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่รู้คุณค่าการศึกษาเยอะ พี่คนนี้อยู่ร้านพวกเครื่องอะไหล่ มีเหล็กน็อต มีน้ำมันเครื่อง มีอะไรต่ออะไร นิ้วมือแกก็จะเลอะเทอะ แต่แกเป็นคนเรียนหนังสือ และคงตั้งใจว่าอยากสอนเด็กแบบไม่เก็บสตางค์ ผมยังจำภาพได้เลย แกยืนสอนอยู่บนตู้กระจกที่มีชิ้นส่วนอะไหล่ แล้วก็เอาน้ำมันก๊าดล้างมือ เช็ดๆ เปิดหนังสือ แล้วก็เริ่มสอน ผมรู้สึกว่าดีมากเลย ในใจนึกว่าถ้าผมรวยจะทำสิ่งนี้บ้าง เหมือนติดสินบนพระเจ้าไว้ ดังนั้นพอผมเข้าตลาดฯ ผมก็ตั้งมูลนิธิมูลนิธิดำรงชัยธรรม
ตอนเล่าเราก็อารมณ์อย่างหนึ่ง แต่คนอ่านคนละอารมณ์ ชอบหรือไม่ชอบ ผมห้ามไม่ได้ และมีอารมณ์หนึ่งที่น่ากลัวคืออารมณ์หมั่นไส้ ถามว่าผมเล่าเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันดีหรือเปล่า มันแค่กลางๆ โชคร้ายเราก็มี แต่บางทีเราลืม เราก็เล่าแต่เรื่องที่เราโชคดี
…มูลนิธินี้ ไม่ใช่แค่ให้ค่าเล่าเรียนแก่เด็ก แต่เป็นผู้ปกครองให้เลย สโลแกนคือ ‘ไม่ใช่แค่ให้โตได้ แต่อยากให้ โตดี’ ให้ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือ ค่ากิน ค่าอยู่ ค่ารักษาพยาบาล เป็นผู้ปกครอง แล้วมีพี่เลี้ยงคอยสอบถามเรื่องจิตใจ จิตใจเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทำไมถึงเรียนดีไม่ดี ส่งเสียตั้งแต่ม.1 ถึงมหาวิทยาลัย ตอนนี้มีเด็กในการดูแลของมูลนิธิ 500 กว่าคน ใช้เงินไม่น้อย หลายร้อยล้านที่ใส่เข้าไป ช่วงหนึ่งสโลว์ดาวน์ เพราะว่าการเงินของเรายาก แต่ก็ยังทำอยู่ แล้วพวกเด็กที่เรียนจบไปแล้วก็มาช่วยเหลือกัน วิธีคัดเลือกคือให้เด็กเขียนบทความมาเล่าว่า ‘ฉันอยากเป็นอะไร’ เจตนาของผมคืออยากช่วยเด็กที่ หนึ่ง ยากจนจริง สอง เรียนใช้ได้ ไม่ต้องสูงมาก สาม มีสำนึกที่จะตอบแทนคืนสู่สังคม คือคุณต้องช่วยเหลือคนอื่นต่อ ถึงจะเป็นลูกโซ่ ผมให้เพื่อนบางส่วนที่กินข้าวกันวันพฤหัสช่วยคัดเลือก คัดเลือกยากมาก 5,000 คนอาจจะเอาสัก 50 คน แต่ผมบอกเพื่อนว่าจิ้มไปเถอะ เพราะเด็กทุกคนที่กรองมาแล้วควรจะได้รับเลือกทั้งนั้น ที่เหลือถือว่าเป็นดวงชะตาของแต่ละคนขอแค่ให้มีความหลากหลายไม่ว่าชาวเขา ชาวมุสลิม หรืออยู่ภูมิภาคไหนของไทย
…เด็กของเราเรียนจบหมอ จบวิศวะ จบพยาบาลเต็มไปหมดเลย สอบได้ที่ 1 เรียนเก่งมหัศจรรย์ ไปเรียนต่อเมืองนอกด้วยทุนอื่นๆ อะไรอีกมากมาย จบไปแล้วเขามาเล่าให้น้องๆ ในมูลนิธิฟังว่าเข้ามูลนิธิแล้วต้องร้องไห้สามครั้ง ครั้งหนึ่ง ตอนได้รับเลือก ครั้งที่สอง ตอนเรียนจบ ครั้งที่สาม คือวันที่คุณทำได้แบบเดียวกัน คุณก็จะร้องไห้อีกครั้งว่าคุณทำได้แล้ว เช่น เขารวมตัวกัน 10 คน บริจาคคนละ 10% ของรายได้ แล้วก็ไปเลี้ยงเด็กอย่างนี้ ผมบอกไม่ต้องมาตอบแทน ไม่ต้องมาคืน คุณเอาที่ผมให้คุณไปช่วยคนอื่น เพราะผมไม่มีเงินพอจะช่วยทุกคนได้เยอะๆ นั่นคือเจตนา เราช่วยดูแลไปแล้ว 500 คน แล้วเขาดูแลกันต่อไปเรื่อยๆ
…ทำแล้วก็มีความรู้สึกสบายใจ เพราะผมเป็นคนโชคดีมาก ต้องทำอะไรส่งต่อเท่าที่เราทำได้ คอยบอกลูกว่าทำอะไรอย่าให้คนชี้หน้าด่า เขาคิดต่างคิดไป แต่เรื่องหมั่นไส้ขอให้น้อยที่สุด อย่าไปมีศัตรู ชีวิตจะได้สงบสุข ส่วนตัวผมก็โชคดีที่ได้รู้จักการนั่งสมาธิ สามารถทำได้อย่างมีความสุข รู้สึกว่าตัวเองไม่เชย มันดีขึ้น เวลาเรามีสมาธิ ตั้งสติได้ เรามีปัญญา เราก็ดูแลตัวเอง ดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลคนรอบข้าง ดูแลอะไรที่เกี่ยวข้องกับเราได้ดี ทุกวันนี้ผมโชคดีสุดๆ แล้ว ไปไหนก็มีคนทัก มีคนถามว่านี่อากู๋ใช่ไหมครับ คุณไพบูลย์ใช่ไหมครับแล้วขอถ่ายรูป ผมก็ตอบได้---แต่ผมไม่ใช่พี่เบิร์ดนะ”
ไพบูลย์ หรือ ‘อากู๋’ ย่อมไม่ใช่พี่เบิร์ด และในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นพี่เบิร์ด เพราะแม้ไพบูลย์จะไม่ใช่นักร้อง แน่ชัดว่าชีวิตของเขาคืออีกหนึ่งบทเพลงที่เรียงร้อยไว้ด้วยความลึกซึ้งและจังหวะเหนือชั้นตลอดท่วงทำนองอันยาวนาน
บทเพลงเช่นนี้ย่อมจะเป็นที่รักและมีคนเรียกขึ้นมาฟังอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
ไม่ผิดกับเพลงอีกนับพันนับหมื่นที่เขาได้มีส่วนสร้างขึ้นมา ■