HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

OPTIMUM VIEW


THE TOWERING FIGURE

นิธิ สถาปิตานนท์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งบริษัท A49 กับเงาเวลาที่ทอดยาวกว่าสี่ทศวรรษในวงการสถาปัตยกรรมไทย

ธนกร จ๋วงพานิช

29 กุมภาพันธ์ 2567

หนึ่งในโครงการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในเวลานี้อย่าง ‘วัน แบงค็อก’ (One Bangkok) และ ‘ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค’ (Dusit Central Park) ที่รวมพื้นที่กว่า 120 ไร่ นับเป็นผลงานการออกแบบล่าสุดของกลุ่มบริษัทสถาปนิก A49

หนึ่งในอาคารที่มีเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำที่สุด อาทิ ‘มหิดลสิทธาคาร’ หอประชุมในรูปลักษณ์กาบซี่โครงของมนุษย์ที่พุ่งขึ้นเสียดฟ้าของมหาวิทยาลัยมหิดล และ ‘บียู ไดมอนด์’ อาคารเรียนทรงเพชรดิบของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็เป็นผลงานการออกแบบของ A49

แม้กระทั่งบ้านที่อยู่สบายที่สุด...บ้านที่รู้ว่าเจ้าของตื่นนอนเมื่อไหร่และเข้าห้องน้ำนานแค่ไหน...ก็อาจเป็นผลงานของ A49

พูดได้ว่าบรรดาอาคารที่ได้รับการออกแบบจากบริษัทสถาปนิกแห่งนี้ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2526 และขับเคลื่อนโดยพนักงานกว่า 600 คน และปรากฏผลงานในแทบทุกรูปแบบและการใช้สอย ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ เซ็นทรัลเวิลด์ อาคารเมืองไทยภัทร คิง เพาเวอร์ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ ฯลฯ ได้ตั้งตระหง่านทนลมทนฝนค้ำยันน่านฟ้าของกรุงเทพในทุกหัวระแหง ดุจแผ่นหลังที่พึ่งพาได้ของพี่ชายคนโตมานานนับหลายสิบปี จนไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะมองว่า A49 คือ ‘พี่ใหญ่’ ของวงการสถาปนิกไทย

อย่างไรก็ตาม หาก A49 คือ ‘พี่ใหญ่’ ของวงการสถาปนิก ตำแหน่ง ‘พี่ใหญ่’ ของ A49 อีกที ย่อมต้องตกอยู่กับนิธิ สถาปิตานนท์

เพราะสถาปนิกวัย 76 ปีผู้นี้ คือผู้ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาด้วยตัวเองท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันและการลดค่าเงินบาทของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ชื่อของเขาปรากฏอยู่ในทำเนียบศิลปินแห่งชาติ นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และเลขาธิการสภาสถาปนิกของประเทศไทย หรือแม้กระทั่งทำเนียบต่างประเทศ ในฐานะสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมสถาปนิกแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมสถาปนิกแห่งประเทศญี่ปุ่น

กระนั้น อาชีพสถาปนิกห่างไกลจากการเป็นเรื่องราวของ ‘พี่ใหญ่’ ผู้ทุบโต๊ะ เพราะนี่คืออาชีพที่ต้อง “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ปลูกอู่ตามใจผู้นอน” เรือนที่ดีไม่อาจบรรจุเพียงอัตตาและทิฐิของสถาปนิก หากยังต้องรวมถึงความฝันของลูกค้า ความพึงพอใจของภรรยาลูกค้า ความเห็นของบุคคลที่สาม ศาสตร์ของซินแส ยังไม่รวมถึงคนอื่นๆ ที่ต้องมาเกี่ยวข้องในกระบวนงานไม่ว่าผู้รับเหมา วิศวกร เจ้าหน้าที่ของรัฐ ภายใต้ความกดดันทุกทิศทางของต้นทุน ระยะเวลา และทรัพยากร จนกว่าโครงการจะลุล่วง

สถาปนิกพี่ใหญ่อย่างนิธิก็ไม่ได้อยู่พ้นความเกี่ยวพันและข้อจำกัดเช่นนั้น ในหนังสือเล่มแรกที่รวบรวมภาพสเก็ตช์ในยามว่างของเขานาม Nithi Final Sketchbook, Episode 01, Portraits of Radical Simplicity เขาจึงเขียนไว้ในคำนำว่า “ในส่วนลึกของจิตใจของผมนั้น ผมก็ปรารถนาที่จะได้ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ เช่น ได้ออกแบบงานเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นงานอาร์ต…หรือได้มีโอกาสทำงานเขียนรูปภาพตามที่ผมถนัด คือเขียนภาพลายเส้น เมื่อมาถึงเวลาของการเกษียณจากการทำงานสายวิชาชีพ ผมได้พยายามใช้ชีวิตที่สงบเงียบ พยายามฝึกตนเองให้หลุดพ้นจากความโลภโกรธหลง หลุดพ้นจากชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทางธุรกิจที่ตลอดชีวิตการทำงานของผมนั้นผมต้องคลุกคลีอยู่กับมัน ต้องเวียนว่ายอยู่กับความเคร่งเครียดสับสนวุ่นวาย…”

นิธิอาจสร้างชื่อมาในฐานะสถาปนิก แต่ในหนังสือนี้ สิ่งที่เขานำเสนอคือภาพสเก็ตช์ของสถาปัตยกรรมและสถานที่งดงามตามธรรมชาติที่เขาได้ผ่านพบและบันทึกไว้ด้วยปากกาหมึกซึม โดยในลักษณะเดียวกับงานสถาปัตย์ชั้นเลิศที่อาจซ่อนความเป็นบทกวีไว้ได้ในของแข็งที่สุดอย่างอิฐหินและปูนทราย ภาพสเก็ตช์ของนิธิสามารถสื่อถึงความพริ้วไหวสั่นสะเทือนของหลืบคอนกรีต ผิวไม้ แนวกระเบื้อง ตลอดจนเงาเมฆ และสายน้ำได้ด้วยลายเส้นที่นิ่งและเสถียรไม่ผิดกับเส้นคัดลายมือ

ปรัชญาการทำงานของเขาก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้น โจทย์อาจไม่ง่าย แต่งานย่อมสำเร็จได้ด้วยความสม่ำเสมอของสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด “ผมบอกน้องๆ อยู่ตลอด ปัจจัยสำเร็จของสถาปนิก ไม่ใช่พื้นเพ ไม่ใช่เรียนจบสถาบันชั้นนำจากไหน แต่คือความอดทน” นิธิกล่าว

การสัมภาษณ์นิธิจึงเป็นสิ่งที่มาอย่างได้เวลาในโอกาสของการริเริ่มผลักดันสิ่งต่างๆ ให้ออกผลการสร้างกรุงโรมไม่สามารถสำเร็จได้ในวันเดียว แต่อาจสำเร็จได้ด้วยสิ่งเดียว คือความเพียรที่สม่ำเสมอจากเส้นจรดแรกจนหยดหมึกสุดท้าย

นี่ย่อมนับเป็นอีกหนึ่ง Portrait of Radical Simplicity (ภาพความเรียบง่ายอันยิ่งยวด) ที่นิธิวาดไว้ด้วยชีวิตของเขาเอง

บ้านในฝัน

ในเมืองไทย ‘สถาปนิก’ นั้นถือเป็นวิชาชีพ เช่นเดียวกับ แพทย์ วิศวกร เภสัชกร นักกฎหมาย นักบัญชี แต่ในบรรดานี้ วิชาชีพสถาปนิก นับว่ามีความพิเศษ ในแง่ที่สาธารณชนมักมองวิชาชีพนี้ใกล้ไปทางศิลปิน มากกว่าเพียงผู้ให้บริการ วาจาอมตะของเลอกอร์บูซีเย สถาปนิกยุคโมเดิร์นที่ว่า “การก่อสร้างเป็นเพียงการขึ้นของให้เป็นรูปเป็นร่าง แต่สถาปัตยกรรมคือการทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึก” ยิ่งทำให้เข้าใจว่าอาชีพสถาปนิกนั้นเป็นเรื่องของศิลปะอันไปพ้นจากเพียงวิทยาศาสตร์ของการก่ออิฐถือปูน

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในนักเรียนสถาปัตย์ผู้ได้รับอิทธิพลจากเลอกอร์บูซีเยไม่น้อยอย่างนิธิ ดูจะไม่ได้มองตัวเองเป็นศิลปินแต่อย่างใด

“ถ้าไม่มีความอดทนเป็นสถาปนิกไม่ได้ ถ้าเป็นศิลปิน ไม่มีใครยุ่งกับคุณเลย นั่งเขียนรูปไป ถ้าไม่ชอบก็ไม่ต้องไปซื้อ ถ้าชอบก็ซื้อไป แต่สถาปนิกต้องทำงานเป็นพาร์ทเนอร์กับลูกค้าไปอีก 1 ปี 2 ปี 3 ปี บางทีถึง 5 ปี บ้านก็ยังไม่เสร็จ ต้องคุยกันรู้เรื่องและทำงานคู่กันไปได้เรื่อยๆ ถึงจะสำเร็จ สถาปนิกต่างกับศิลปินตรงนี้ อย่างอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เขียนรูปมา ถ้าคุณไม่พอใจ ก็ไม่ต้องซื้อ แต่ผมไม่ได้ ผมต้องมี service mind ต้องติดตามดูแลงานที่ทำไป และทำงานร่วมกับเจ้าของงานจนแล้วเสร็จ

…เด็กชอบถามว่า จะเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จอะไรเป็นเงื่อนไขข้อแรกๆ ผมก็นั่งนึกอยู่นาน แล้วคิดออกว่า ‘ความอดทน’ ไม่ใช่พ่อแม่รวย ไม่ใช่จบจากฮาร์วาร์ด ถ้าไม่มีความอดทนเป็นข้อแรก---ธุรกิจต่างๆ ก็มักจะไปไม่รอด ยิ่งเป็นลูกคนรวยนะ ทำไม่สำเร็จ เพราะว่ารวยไง พ่อแม่รวย ขี่รถโรลส์-รอยซ์ ทำไมจะต้องไปบริการคนอื่น มาสั่งเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ กูรำคาญ ไม่เอาแล้ว แต่เราเป็นมืออาชีพ เราต้องสอนเด็กว่า เฮ้ย---ต้องทน แสดงอารมณ์ไม่ได้ ไม่ว่าดวงตาหรือปฏิกิริยา เขาสั่งแก้หรือด่าอะไร ต้องเงียบไว้ อาจกลับมาระบายที่ออฟฟิศ ที่บ้าน แล้วรุ่งเช้ามาก็มาทำงานใหม่ต่อไปได้ มันต้องเป็นอย่างนั้น

…ถ้าเปิดหนังสือดูการเขียนเส้นของผมจะเห็นว่าละเอียด ใช้เวลา อันนี้เป็นการฝึกอารมณ์ของผม ผมไม่เคยแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวหรือเรียกใครมาด่า ถ้าโกรธ ผมจะเข้าห้องเงียบ แล้วก็นั่งเขียนรูปไป พอพรุ่งนี้อารมณ์ดีแล้วก็ค่อยเรียกคนที่มีปัญหามาคุย ทุกคนจะรู้ว่าผมไม่เคยเรียกใครมาด่าแบบรุนแรงหรือด้วยอารมณ์”

เหนือไปกว่าการทนความเห็นของผู้อื่น บ่อยครั้งสถาปนิกยังต้องหยั่งถึงความต้องการของผู้อื่นให้ลึกและละเอียดอย่างยิ่ง ‘บ้านในฝัน’ จะกลายเป็นบ้านในความเป็นจริงได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสกัดความฝันนี้จากลูกค้านี่เอง

“โจทย์คือทำยังไงให้งานที่เราออกแบบไปถูกใจเขาที่สุด ทุกคนมาจ้างสถาปนิกออกแบบ เขามีความฝันมาก่อนอยู่แล้วว่าอยากได้บ้านยังไง ผมก็ต้องนั่งคุยจับจุดให้ได้ว่าเขาฝันไว้ว่ายังไง ฝันบางอันผมทำให้ไม่ได้ ก็ต้องแสดงตัวเลยว่าทำไม่ได้ เช่น ถ้าเขาฝันว่าอยากได้บ้านแบบโรมัน เหมือนพระราชวัง เหมือนพระที่นั่งอนันตสมาคม ต้องมีโดมใหญ่ๆ ผมบอกเลยว่าผมทำไม่เป็น ก็ต้องเลิกกัน

เด็กชอบถามว่า จะเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จอะไรเป็นเงื่อนไขข้อแรกๆ ผมนั่งนึกอยู่นาน แล้วคิดออกว่า ‘ความอดทน’ ไม่ใช่พ่อแม่รวย ไม่ใช่จบจากฮาร์วาร์ด ถ้าไม่มีความอดทนเป็นข้อแรก---ธุรกิจต่างๆ ก็มักจะไปไม่รอด เพราะว่ารวยไง ทำไมจะต้องไปบริการคนอื่น

…แต่ถ้าคิดว่าจะรับทำ ก็ต้องถามละเอียด เช่น สามีนอนยังไง ภรรยานอนยังไง ภรรยาชอบนอนดูทีวีบนเตียง สามีไม่ชอบนอนดูทีวีบนเตียง สามีชอบดูข่าว ภรรยาชอบดูละคร อะไรอย่างนี้ต้องถามหมด เขาใช้ชีวิตในห้องน้ำยังไงผมก็ถาม นั่งส้วมนานไหม ต้องอ่านหนังสือพิมพ์ไหม ถามละเอียดเพื่อให้ผมทำบ้านออกมาได้เหมือนที่เขาต้องการ เช่น ถ้าเขานั่งส้วมแล้วอ่านหนังสือพิมพ์ ผมต้องเจาะหน้าต่างให้แสงเข้ามาได้ หลายคนต้องดื่มกาแฟก่อนเข้าส้วม ผมก็ต้องมีโต๊ะในห้องน้ำให้คนเอากาแฟหรือเอาหนังสือพิมพ์มาวางไว้ หรือถ้าเขาเป็นคนนอนตื่นสาย แสงจากทิศตะวันออกจะต้องไม่ส่องเข้าไปแยงตา ให้เขาหลับไปได้จนถึง 9 โมง 10 โมง

...ต้อง ‘เข้าใจ’ แล้วถึงจะออกแบบได้ ‘ถูกใจ’ และเขาก็จะภาคภูมิใจกับบ้านเขา โอ้โห---คุณนิธิออกแบบมาแล้วฉันชอบมากเลย ถูกใจไปทุกอย่าง เด็กเรียนจบมาใหม่ๆ อาจไม่ค่อยกล้าถาม เกรงใจลูกค้า ก็ไปนั่งจดว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ไม่ได้ถามเจาะเรื่องพวกนี้ แต่ผมถาม ดังนั้น สำหรับบ้านหลายหลังเลย พอสร้างเสร็จปุ๊บ ลูกค้ากลายเป็นเหมือนกับเพื่อนเรา เขารักเราเหมือนเป็นญาติ ขนาดบ้านเสร็จไปแล้ว ปีใหม่ต้องส่งของปีใหม่มาให้ มันกลายเป็นเพื่อนกัน เขารู้สึกว่าคุณเข้าใจเขามากเลย แล้วเขาก็ไปแนะนำคนอื่นต่อไป”

บ่มบุคลิกภาพ

คนในแวดวงสถาปัตย์อาจพอรับรู้เรื่องราวที่นิธิเริ่มก่อตั้งบริษัท A49 มาด้วยตัวเอง แต่อาจไม่ทราบว่าโดยความบังเอิญ รากเหง้าของเขาสืบไปถึงพระยาอุภัยภาติเขตต์ นายช่างก่อสร้างคนสำคัญของเมืองสุพรรณบุรี ผู้รับผิดชอบการทำพลับพลาที่ประทับของรัชกาลที่หกและมีศักดิ์เป็นปู่ของนิธิ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ตระกูลของเขาได้รับพระราชทานนามสกุล ‘สถาปิตานนท์’ อันมีรากมาจากคำว่า ‘ฐาปิตะ’ (การสร้าง) และ ‘อานนท์’ (ความรัก ความชอบ) หรือเรียกได้ว่าตระกูลที่ชอบสร้าง

“ถ้าเรียกว่าสถาปนิก ก็เป็นสถาปนิกแบบชาวบ้าน ในยุคนั้นยังไม่มีโรงเรียนสอน ใครมีความสามารถในการทำอะไรได้ก็ทำขึ้นมา ถือว่าเป็นเชิงช่าง เวลาในหลวงรัชกาลที่หกเสด็จพระราชดำเนินไปอำเภอสองพี่น้องที่ปู่เป็นนายอำเภอ ปู่ก็ไปตัดไม้ในป่ามาทำพลับพลา ในหลวงตกใจว่าชาวบ้านทำได้ยังไง สวย มีครีเอทีฟ มีเอากิ่งไม้ป่ามาตกแต่ง ท่านจึงเริ่มทำความรู้จักกับปู่ผม พระราชทานนามสกุล และก็ให้เป็นพระยา อาจจะเป็นคนแรกของประเทศไทยที่เป็นระดับนายอำเภอแล้วได้เป็นพระยา แต่จริงๆ ผมไม่ได้รับอิทธิพลอะไรจากคุณปู่หรือคุณพ่อในเรื่องของการออกแบบอะไรต่างๆ เพราะผมก็เกิดไม่ทันคุณปู่ และคุณพ่อก็ไม่ได้เป็นสถาปนิก”

แม้นามสกุลพระราชทานที่เหมาะเจาะโดยบังเอิญอาจไม่ได้เป็นเหตุผลของการที่นิธิเลือกอาชีพสถาปนิก แต่อีกหนึ่งมรดกที่รัชกาลที่หกพระราชทานไว้แก่แผ่นดินไทย กลับมีส่วนไม่น้อยในการทำให้นิธิเริ่มค้นพบความชอบและทักษะของตัวเอง เขาเข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่วชิราวุธวิทยาลัยซึ่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้พระราชทานกำเนิด สถาบันซึ่งพระผู้ก่อตั้งมุ่งหมายให้เป็นสถาบันที่ “ทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรจุหลักสูตรและระบบการต่างๆ ลงไป” นี้ ทำให้นิธิได้ค้นพบบุคลิกภาพของตนเอง ในลักษณะที่ไม่ต่างจากศิลปินแห่งชาติอีกท่านหนึ่ง คือจักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งก็ได้ใช้ประโยชน์จากระบบการศึกษาที่เปิดกว้างของที่นี่สำรวจและค้นพบความสามารถของตนเองเช่นกัน

“เราอยู่ที่วชิราวุธฯ 10 ปี ต้องเรียนศิลปะ ต้องเข้าห้องปั้นดิน เด็กคนไหนชอบวาดเขียนครูก็สนับสนุน สอนวาดเขียนให้เป็นพิเศษ เขียนรูปสีน้ำหรืออะไรก็ว่าไป ทำให้เด็กที่ชอบศิลปะก็มีโอกาสพัฒนา อย่างจักรพันธุ์เป็นต้น จักรพันธุ์นี่เหลือเชื่อที่เขาเขียนสีน้ำมัน ซึ่งไม่มีเด็กมัธยมคนไหนเขียนได้ ตอนเขาสอบเข้าศิลปากร อาจารย์ศิลปากรตกใจ เฮ้ย---เด็กมัธยมเขียนขนาดนี้ได้ยังไง เขียนรูปผู้หญิงกำลังอาบน้ำแบบไทยๆ นุ่งกระโจมอก ผมว่าเขาเป็นอัจฉริยะ จักรพันธุ์เป็นตัวแทนโรงเรียนเขียนรูปถวายในหลวง แต่ในสองปีสุดท้ายที่ผมอยู่วชิราวุธฯ จักรพันธุ์จบไปแล้ว ผู้บังคับการก็ให้ผมเป็นตัวแทนของโรงเรียน เขียนรูปถวาย

…ในงานกรีฑาโรงเรียน เราต้องทำฉากละคร ผมก็ได้ช่วยเขาทุกครั้งเวลาเขียนฉาก ฉากละครยาวเป็นร้อยเมตร ยาวตลอดสนามรักบี้ ครูสอนศิลปะเป็นคนออกแบบฉาก แล้วนักเรียนที่ชอบเขียนภาพทุกคนก็ต้องมาช่วยกันตอก ช่วยกันขึงผ้า ช่วยครูเขียน แล้วแต่เขาจะมอบหมายให้เราเขียนตรงไหน เขียนกันถึงดึกๆ ดื่นๆ เพราะกลางวันร้อน เขียนไม่ไหว ส่องสปอตไลท์ เขียนกันจนสี่ทุ่ม-ห้าทุ่มถึงจะกลับไปนอน โรงเรียนต้องมีละครเวทีทุกปี บางปีเป็นเรื่อง Helen of Troy บางปีก็เป็นเรื่องพระนเรศวร บางปีก็เป็นเรื่องคลีโอพัตรา เราก็ไปทำฉากทุกปี

...สิ่งที่โรงเรียนสอนเรามากเลยคือเรื่องปกครองและเรื่องบริหารจัดการ เรื่องบริหารจัดการคือเราต้องจัดงานคณะทุกปี ตั้งแต่เด็ก ก็ต้องเริ่มจากเป็นนักแสดงในละครคณะ เขาบังคับให้แสดงเป็นตัวนู้นตัวนี้ โตขึ้นมาต้องเป็นคนจัดงาน ต้องสร้างเวที ต้องติดต่อเครื่องเสียง ต้องติดต่ออาหาร ดังนั้น ถ้าเรามีโอกาสต้องจัดงานสักงานหนึ่ง เราก็รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง

...ส่วนเรื่องปกครอง วชิราวุธฯ สอนเรื่องการปกครองตั้งแต่เป็นเด็กๆ ที่ต้องบริการรุ่นพี่ ไปซักเสื้อซักรองเท้าให้เขา ซักเสร็จก็ต้องเอาไปตาก แต่ถ้าตากแดดรองเท้าแข็ง เขาก็เตะเอา ต้องอย่าเอาไปตากโดนแดด แล้วพอบ่ายสามโมงครึ่งได้เวลากีฬา ต้องเอาไปให้เขาให้พร้อม ทั้งถุงเท้า รองเท้า เสื้อ สอนกันมาอย่างนั้น โตขึ้นมาเป็นรุ่นพี่ ก็ต้องเรียนรู้วิธีพูดจาให้น่ารัก ใช้น้องแบบให้เขาอยากทำงานให้เรา พื้นฐานตรงนี้ดีมาก พอเราไปเรียนที่จุฬาฯ เราจึงเข้ากับคนได้ ได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าคณะสถาปัตย์ ผมว่าพื้นฐานมาจากวชิราวุธฯ ทั้งนั้นเลย”

คาบเส้น

การที่นิธิ ‘ขึ้นหิ้ง’ ในแวดวงสถาปัตย์ไปแล้วในวันนี้ ชวนให้เกิดภาพว่าในยามที่เขาย่างเข้าสู่รั้วของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะมีสภาวะลงตัวเหมาะเจาะเหมือนเสือที่ได้เข้าป่า แต่ในความเป็นจริง นิธิเล่าว่าสาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้เขาเข้าจุฬาฯ ได้สำเร็จก็เพราะจุฬาฯ ในสมัยนั้นต้องการสร้างทีมรักบี้ที่แข็งแกร่งมาแข่งกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ เด็กนักเรียนวชิราวุธฯ ที่ขึ้นชื่อว่ามีรักบี้อยู่ในสายเลือดจึงได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ อันที่จริง หากจะกล่าวว่า สามปีแรกในคณะสถาปัตย์ นิธิมีสถานะเป็นนักกีฬาอ่อนวิชาการ แบบที่ในภาพยนตร์เกี่ยวกับวัยรุ่นของฝรั่งอาจเรียกว่า ‘จ็อค’ (jock) ก็น่าจะไม่ผิดจากความเป็นจริง

“ผมเรียนคาบเส้นตลอดเนื่องจากเป็นนักรักบี้ ไม่ได้จดเลกเชอร์ก็ต้องแอบไปขอเพื่อนลอก สมัยนั้นไม่มีซีร็อกซ์ต้องขอจดต่อจากเขาด้วยมือ แต่เราเข้าเรียนไม่ครบเวลา จดไปขาดๆ เกินๆ ถึงเวลาสอบก็มีปัญหา โชคดีมีเพื่อนผู้หญิงเขาคอยช่วยทุกวัน เลยพอเอาตัวรอดได้ แล้วช่วงสองอาทิตย์ก่อนสอบไล่ปลายปี บ้านผมมักจะเป็นที่ติวเพื่อนมานั่งติวกันหามรุ่งหามค่ำ พรุ่งนี้สอบวิชาอะไร วันนี้ก็ติวกันเป็นเรื่องเป็นราว อาจารย์จะออกตรงนี้แน่ว่ะ ตรงนี้อาจารย์ย้ำหลายครั้ง ก็ติวกัน แล้วก็ผ่านคาบเส้นกันไปได้ รุ่นผมผู้หญิงได้เกียรตินิยมกันหลายคน แต่พวกผู้ชายได้กันแค่คนสองคนเท่านั้น”

ต่อไปความเป็นสถาปนิกจะลดบทบาทลง มันจะเป็น engineering นำ เห็นไหมเราดูหนังไซไฟเมืองในอนาคตจะเป็นโดมขึ้นไป เพื่อกันความร้อน กันอากาศเสียข้างนอก จะเหมือนกันทั้งโลก เราคงไม่มานั่งประดิดประดอยอะไรอีกแล้ว

กระนั้น หากวิชาการจะอ่อน สิ่งที่นิธิเก่งและชำนาญที่สุด ได้เกรดดีที่สุด กลับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับอาชีพที่ต้องสร้างวิมานในอากาศให้กับผู้คน กล่าวคือการถอดวิมานนั้นให้ออกมาอยู่ในกระดาษหรือสื่อที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจตรงกันได้ด้วยความสามารถในการวาดภาพสิ่งที่เรียกว่า ‘architectural presentation’ ในวันนั้น ถ้ามีใครไปถามเพื่อนร่วมรุ่นว่านิธิผู้ดูเหมือนจะอยู่ในสนามกีฬาและลานกิจกรรมมากกว่าห้องเรียน และมีคะแนนคาบเส้นตลอด จะเติบโตมาเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จได้หรือไม่ เพื่อนจะตอบอย่างมั่นใจว่าต้องเป็นเช่นนั้น เพราะความสามารถในการเขียน architectural presentation ได้เลิศล้ำของนิธินี่เอง

“ถ้าเป็นวิชาทั่วๆ ไปที่ต้องเขียนข้อสอบมักจะคาบเส้น ยิ่งวิชาคำนวณยากๆ พวกนี้คาบเส้นหมด แต่ถ้าเป็นวิชาออกแบบ ผมมักจะทำได้ดี งานของผมมักจะได้ไปโชว์ จนกระทั่งธีสิสของนักศึกษาปี 5 ก่อนจบที่ใช้เวลา 6 เดือนที่เราต้องเลือกว่าจะดีไซน์โปรเจกต์อะไร เช่น สนามบิน โรงพยาบาล หรือโรงแรม แล้วก็หาข้อมูล ออกแบบ เขียนแบบ ทำโมเดล และพรีเซนต์ ผมได้ท็อปของห้อง แต่ว่าไม่ได้เกียรตินิยม เพราะคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง

...ผมเป็นคนเขียน presentation สวย ความสวยทำให้เวลาเราพรีเซนต์ อาจารย์จะเข้าใจง่ายและประทับใจ คนไหนที่ presentation ไม่สวย อาจจะได้คะแนนไม่ดี แต่ของผมเขียนสวยทุกรูป อันหนึ่งที่ถือเป็นเกียรติประวัติ คือตอนที่ผมเรียนปริญญาโทที่อเมริกา อาจารย์เขาประกาศว่ามีการประกวดแบบอาคารที่วอชิงตันดีซีจากนักเรียนปริญญาโททั่วอเมริกา ถ้าใครส่งแบบเข้าประกวดช่วงซัมเมอร์ จะได้เครดิต 4 เครดิตเต็ม ไม่ว่าแพ้หรือชนะ ผมก็ส่งเข้าประกวดด้วย

...ผมทำแบบ presentation 2 แผ่นเท่านั้น ส่งไปที่วอชิงตันดีซีโดยไม่ต้องไปอธิบายเลย เขียนให้สวย เขียนให้เข้าใจจบในภาพ ฝรั่งพูดเก่ง เล่าคอนเซ็ปต์อะไรน้ำไหลไฟดับ แต่เวลาเขียนมาดูไม่ได้ ดังนั้น พอเขาตัดสิน ผมชนะเลิศได้ที่หนึ่ง ฝรั่งตกใจเพราะเขาไม่รู้ว่าเป็นเด็กต่างชาติ มันเป็นการออกแบบศูนย์ผู้สูงอายุ สร้างในนิวยอร์ก เราก็คิดแบบคนไทยว่าถ้าจะให้อยู่สบาย ห้องต้องมีลมถ่ายเทได้ดี ฝรั่งไม่แคร์เรื่องพวกนี้ ยิ่งไปสร้างในนิวยอร์กยิ่งไม่คิด เพราะอาคารปิดหมด พอผมออกแบบเป็น tropical architecture มีระบายอากาศ มีบริเวณเดินเล่น มีบ่อน้ำ มีบ่อปลา เขียนรูปสเก็ตช์ให้เขาเห็นภาพลักษณ์ กรรมการก็เลือกของเรา

…นี่เป็นสิ่งที่ต่างจากยุคนี้ ตอนนี้ทุกอย่าง computerized หมดแล้ว ไม่มีหรอกที่มาเขียนด้วยมือ architecture สวยเหมือนกันทั้งโลก มีต้นไม้ มีนกบิน ใช้คอมพิวเตอร์ออกมาเหมือนกันหมด ไม่รู้ชาติไหนออกแบบ สมัยก่อนมันมาจากมือกับสมอง เพราะฉะนั้นจิตวิญญาณความเป็นพื้นถิ่นเลยออกมาได้ ผมถึงบอกว่า ต่อไปความเป็นสถาปนิกจะลดบทบาทลง มันจะเป็น engineering นำ เป็น structure นำ เห็นไหมเราดูหนังไซไฟเมืองในอนาคตจะเป็นโดมขึ้นไป เพื่อกันความร้อน กันอากาศเสียข้างนอก จะเหมือนกันทั้งโลก ดังนั้น วิศวกรรมจะมาก่อน ทำยังไงให้โดมมันแข็งแรง เราคงไม่มานั่งประดิดประดอยอะไรอีกแล้ว”

ตึกร้อยปี

การเขียน presentation ได้สวยอาจทำให้ได้เปรียบในการประกวดออกแบบ แต่สำหรับการเป็นธุรกิจบริษัทสถาปนิกที่สามารถสร้างความไว้วางใจให้คนยอมสร้างภาระค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกี่ยวกับการสร้างบ้านหรืออาคารห้างร้านที่จะเป็นภาระผูกพันไปอีกยาวนานนั้น แน่นอนว่าต้องอาศัยอีกหลายองค์ประกอบ

“คนทั่วไปอาจมองว่าการเป็นสถาปนิกเป็นงานศิลปิน ไม่ใช่นักบริหาร ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้รู้เรื่องการเงินการทอง เขาก็ไม่เอาสถาปนิกขึ้นไปเป็นผู้บริหาร แต่สถาปนิกถือเป็นนักสร้างสรรค์ การทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ ใช้ความพยายามเยอะมาก อย่างผมทำตึก One Bangkok ตรงลุมพินี ตึกหลายๆ ตึกมีพื้นที่ 2 ล้านกว่าตารางเมตร ผมเซ็นสัญญารับผิดชอบโปรเจกต์นี้ 10 ปี กว่าจะจบโปรเจกต์ ต้องใช้เรื่องการบริหารจัดการ ทำยังไงให้โปรเจกต์มีปัญหาน้อยที่สุด ทำยังไงที่จะประสานงานกับอีกเป็นสิบอาชีพที่จะทำให้โปรเจกต์นี้สำเร็จได้ ทำกับ engineer ทุกสาขา ทำกับ landscape ทำกับ interior design ทำกับ lighting design นั่งประชุมทีละห้าสิบคนกว่าจะตัดสินใจเรื่องอะไรได้ เพราะฉะนั้นต้องมีพื้นฐานการบริหารจัดการ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำแล้วไม่ทะเลาะกัน

...แต่ที่ A49 อยู่มาได้สี่สิบปีก็เพราะว่านอกจากออกแบบดี รับผิดชอบงานดี เรายังต้องซื่อสัตย์ด้วย คือ เราไม่เอาใต้โต๊ะ ไม่เอาเงินพิเศษจากผู้รับเหมา ใครทำสิ่งเหล่านี้ เราให้ออกทันที เราถูกสอนมาอย่างนั้น เรียกว่าจรรยาบรรณ มันเป็นกฎหมายทางวิชาชีพ เหมือนหมอ วิศวกร หมอ ทันตแพทย์ ตั้งแต่อยู่จุฬาฯ อาจารย์ก็สอน มันถึงฝังอยู่ในสายเลือดเรา แต่ถ้าครูบาอาจารย์ไม่ฝังหัวให้เด็ก เด็กก็จะรู้สึกว่าทำไมรับ commission ไม่ได้ ในเมื่อค่า fee ถูกเขาต่อรองจนไม่เหลืออะไรแล้ว

…โอ้โห---พวกที่ไม่เคารพกฎเกณฑ์ข้อนี้ได้กันเยอะแยะมากมาย อย่างสนามบินสุวรรณภูมิ โปรเจกต์แสนกว่าล้าน คุณรับ commission นิดเดียว คุณก็ได้แล้วห้าร้อยล้าน พันล้าน สเปกอะไรก็เป็นเงินเป็นทองหมด ใช้สแตนเลสสตีล ใช้อลูมิเนียม ใช้กระจก ทุกคนก็ยินดีให้ เพราะอยากให้ใช้งานของเขา หรือถ้าจะเอา commission จากผู้รับเหมาก็เขียนแบบเพิ่มเติมให้ผู้รับเหมา แต่ผมไม่รับ ทุกคนรู้ว่าทำกับ A49 ถ้าของไม่ดีจริง เราไม่ใช้ ทำไปนานๆ ลูกค้าจะเริ่มมั่นใจว่าที่บริษัทนี้ไม่เอาจริงๆ

…ผมบอกกับลูกน้องเสมอว่า คุณไม่ต้องไปสนใจว่าบริษัทได้ค่า fee น้อยหรือมาก ทำงานของตัวเองให้เต็มที่ งานที่คุณทำจะอยู่ในประเทศชาติไปอีกเป็นร้อยๆ ปี ถ้าเราดีไซน์ตึกเหมือนห้องแถว เป็นบล็อกสี่เหลี่ยม หน้าตาไม่ต้องคิด แล้วสร้างชนที่ดินเลย ข้างหลังก็ติด ข้างหน้าก็ติด ต่อไปมันจะน่าเกลียดแค่ไหน กรุงเทพส่วนหนึ่งที่น่าเกลียดมากก็เพราะเรามีแต่ห้องแถวและไม่มีผังเมืองมาช้านาน ทุกอย่างที่เกิดในกรุงเทพฯ เป็นไปตามธรรมชาติ ออร์แกนิก มีแค่ถนนราชดำเนินไว้เป็น showpiece ถนนหนึ่ง แต่อย่างอื่นไม่ได้คิด เดี๋ยวก็ตัดถนนตรงนี้ๆ สวนมีน้อยมาก รถก็ติดเป็นบ้าเป็นหลังเพราะมี main street ไม่พอใช้ เพราะฉะนั้น ทำอะไรให้คิดถึงสภาพแวดล้อม เราเป็นคนสร้างเมือง สร้างที่ให้คนอยู่ ทำชุ่ยเพื่อเงินอย่างเดียวไม่ได้ ตึกถ้ามันดีคนรุ่นหลังจะมาอนุรักษ์เอาไว้เอง”

เกิดจากวิกฤต

A49 หรือเรียกเต็มๆ ว่าบริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ปัจจุบันเป็นบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและเป็นบริษัทแม่ของเครือ 49 Group ซึ่งมีบริษัทให้บริการด้านการออกแบบแขนงต่างๆ รวม 15 บริษัท ตั้งแต่ออกแบบสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน ภูมิทัศน์ วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมงาน ระบบกราฟฟิกดีไซน์ ไปจนกระทั่งการออกแบบแสงสว่าง ง่ายกว่าหากจะจดจำว่าสิ่งเดียวที่ A49 ไม่มีนำเสนอก็คือบริการก่อสร้าง แต่วันแรกของการก่อตั้งบริษัท A49 มีเพียงชื่อและฝีมือของนิธิที่ไม่มีแม้แต่พอร์ตฟอลิโอผลงานสนับสนุนแต่อย่างใด

“ก่อนมาตั้งบริษัท ผมเคยอยู่ที่บริษัทสถาปนิกอีกแห่งมาก่อน เจ้าของเป็นนักรักบี้จุฬาฯ แก่กว่าผม 8 ปี ก็รู้จักกันจากสนามรักบี้ แต่ตลอดเวลาที่ทำเราก็มีความรู้สึกว่าสักวันหนึ่งเราก็คงไปเปิดบริษัทของเราเอง เพราะเจ้าของแก่กว่าผมตั้ง 8 ปี ดังนั้น แม้จะเป็นพาร์ตเนอร์คู่กัน เราก็ต้องเคารพเขา เขาตัดสินใจอะไร เราก็ทำ ทำอยู่ 12 ปี ตอนนั้นบริษัทนี้โตมาจนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผมเป็น MD แต่วันหนึ่งมีเรื่องแล้วเจ้าของพูดว่า เฮ้ย---คุณแก้ตามนี้ บริษัทนี้ของผม คำนี้คำเดียว ผมก็ตัดสินใจขอลาออกดีกว่า โดยงานทุกชิ้นที่ทำ ผมเอาออกไปเป็นผลงานไม่ได้เลย เพราะลูกพี่ผมบอกว่าเป็นงานของบริษัท ให้เป็นผลงานส่วนตัวไม่ได้ ให้ลาออกไปตัวเปล่า

ผมยังบอกพระ เศรษฐกิจแย่มากเลยนะครับ ท่านก็บอกว่า การจะออกมาทำอะไรของตัวเองต้องออกมาตอนเศรษฐกิจแย่ เพราะถ้าออกมาทำตอนเศรษฐกิจดี มันตั้งตัวไม่ทัน หาคนก็หาไม่ได้ งานมาแล้วก็ไม่มีคนทำ ทำแล้วออกไปไม่ดีก็เสียชื่อเสียง ต้องทำตอนเศรษฐกิจแย่นี่แหละ

...ก่อนจะออกผมไปหาพระองค์หนึ่งที่ครอบครัวผมเคารพ ท่านดูดวงแล้วบอกว่า นิธิ---ดวงเธอต้องออกมาทำเอง ตอนนั้นปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจแย่มากๆ ผมยังบอกพระ เศรษฐกิจแย่มากเลยนะครับ ท่านก็บอกว่า การจะออกมาทำอะไรของตัวเองต้องออกมาตอนเศรษฐกิจแย่ เพราะถ้าออกมาทำตอนเศรษฐกิจดี มันตั้งตัวไม่ทัน หาคนก็หาไม่ได้ งานมาแล้วก็ไม่มีคนทำ ทำแล้วออกไปไม่ดีก็เสียชื่อเสียง ต้องทำตอนเศรษฐกิจแย่นี่แหละ ค่อยๆ ทำมันจะไปต่อไปได้ ท่านพูดอย่างนี้เลยนะ ผมว่าท่านมองขาด

…ตอนแรกมันไม่ได้เริ่มด้วยโปรเจกต์ใหญ่ เราก็ค่อยๆ สร้างสมไป งานสถาปัตยกรรมนี่ลำบาก ในปีหนึ่งมีผลงานที่เราจะสร้างได้ไม่กี่โปรเจกต์ กว่าจะเขียนแบบ กว่าจะสร้างได้ มันเป็นปีๆ ก็ต้องค่อยๆ เดินทีละก้าว สร้างสมประสบการณ์ สร้างสมชื่อเสียง ช่วงแรกที่ไม่มีผลงานอะไรแบ็กอัป ใครให้ผมทำบ้าบออะไร ผมทำหมด แต่เขียนออกมาสวย มันก็พอเป็นผลงาน ผลงานที่ยังสร้างไม่เสร็จ มันก็ต้องใช้วิธีนั้น”

แน่นอน ในเมื่อนิธิต้องมาเปิดบริษัทของเขาเองจากเหตุผลเรื่อง ‘คน’ เขาจึงมีความพิถีพิถันกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งต่อมาวัฒนธรรมในเรื่องการดูแลคนดูจะกลายเป็นสิ่งที่นิยาม A49 ได้ดีเสียยิ่งกว่าตึกราม เพราะพนักงานที่นี่อยู่ร่วมกันแบบพี่น้องจนเป็นที่รู้กันในวงการ อย่างที่นิธิเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ธรรมดาเขาจะกลับบ้านกันหมดเวลาเลิกงาน แต่ที่นี่พนักงานก็ยังอยู่ต่ออีกสองสามชั่วโมงเล่นดนตรีกัน นั่งดูทีวี เล่นฟุตบอลโต๊ะ นั่งคุยกันไปเรื่อยถึงสามทุ่มค่อยกลับบ้าน”

“คนเป็น asset ที่สำคัญที่สุด ต้องดูคนให้ออก ตอนรับเข้าทำงาน ในยุคเก่า ผมจะสัมภาษณ์เองทุกคน ใช้ประสบการณ์ดูให้ออกว่าเวลาคุยกับเขาเขาพูดความจริงหรือเปล่า บางทีเวลาคุยรีแลกซ์ก็ไม่มีอะไร แต่พอตอบอะไรที่ไม่เป็นความจริง เขาจะขยิบตาหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ตรงไหนที่เขาไม่ตอบความจริงนั่นละคือจุดอ่อนของเขา ยิ่งผู้บริหารนี่ผมต้องดูเองทุกคน เพราะเขาต้องซื่อสัตย์ ไม่วอกแวก ต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ต้องรักองค์กร อย่างน้อยที่สุดเขาต้องเชื่อใน philosophy ของบริษัทเรา ถ้าเผื่อเราเอาคนโกง เอาคนที่ไม่ซื่อสัตย์เข้ามา โห---องค์กรเราแทบจะพัง

…รับเข้ามาแล้วก็ต้องให้เขาอยู่กับเราแล้วมั่นคง ครอบครัวสุขสบาย มีลูกมีเต้าก็ยังเลี้ยงได้ คนของเราถูกซื้อตัวตลอด เพราะว่าซื้อง่าย ถ้าเงินเดือนที่นี่ห้าหมื่น เขาจะให้เจ็ดหมื่น ให้แสนเลยก็ได้ เพราะว่าไม่ต้องไปฝึกอีกแล้ว พวกที่มาช็อปหาคนก็คือพวก developer ที่ต้องการคนไปออกแบบโครงการของเขา เขาก็ให้เงินเดือนเท่าตัว ให้รถยนต์ประจำตำแหน่ง การันตีว่าได้ไปดูงานต่างประเทศปีละ 2-3 ครั้ง คนก็ไปทันที โอเค---ทีนี้ถ้าเราสู้ เราก็ต้อง educate คนของเราว่าอยู่ที่นี่มั่นคงยังไง คนที่ไปอยู่ developer อยู่ได้สัก 4-5 ปี ก็ลาออกเพราะว่าเป็นงานลูกจ้าง ถูกนายสั่งอย่างเดียว คิดอะไรแผลงๆ ก็ไม่ได้ การตลาดนำ หลายคนขอกลับมาที่นี่ เงินเดือนเท่าไหร่ก็เอา เพราะว่าอยู่กับเรา เราต้องการสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ถ้าสวยงาม ถ้าเท่ ลุย สร้างเลย

…วัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกัน เราอยู่วชิราวุธฯ มา เรารู้ สมัยผมคนเป็นหัวหน้าคณะ เมื่อ 50-60 ปีก่อน หัวหน้ามีสิทธิ์เฆี่ยนตีเด็กได้เลย ตัดไม้พู่ระหงมาเฆี่ยน ฟาดทีเนื้อแตก คนที่โดนลงโทษก็เช่นคนที่แอบกินเหล้า สูบบุหรี่ หรือขโมยของในโรงเรียน ซึ่งสมัยนี้ทำไม่ได้ โลกเปลี่ยนไป ลูกยังไม่เชื่อพ่อแม่เลย เชื่อโทรศัพท์ ปกครองกันลำบาก ในที่ทำงานยุคนี้ ถ้าเราเรียกเด็กมาว่า นอกจากไม่ฟัง เขายังลาออกอีก เขาตั้งคำถามว่าทำไมกูต้องเคารพมึง ไม่ใช่พ่อแม่กู พ่อแม่กูยังไม่เชื่อเลย เขาจะเรียนรู้ต่อเมื่อเขาประสบปัญหาว่า เอ๊ะ---วันนี้ไม่มีเพื่อนเลย เพราะตามใจตัวเองจนเคยตัว หรือบางคนยามมีเงินมีทองก็โลดแล่นไป แต่วันหนึ่งเมื่อไม่มีเงิน ต้องการที่พึ่ง หาไม่ได้ ถึงได้เริ่มรู้ว่าถ้าใช้ชีวิตแบบนี้ ไม่ก้มหัวให้ใคร ไม่มีมนุษยสัมพันธ์กับใครเลย ชีวิตก็อยู่ลำบาก ผมยังเชื่อในระบบเก่าว่ามันดี สอนให้รู้จักการเคารพกัน รุ่นพี่เขามีอาวุโส เราก็เคารพเขา หรือรุ่นน้องเราก็ต้องรู้จักปกครอง ให้น้องมีความสุข รักเรา เคารพเรา เปิดบริษัทมาสี่สิบปี เห็นวิวัฒนาการตรงนี้ค่อนข้างมาก ก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ต้องปกครองคนละระบบ”

ด้วยแรงศรัทธา

การเปิดบริษัทแน่นอนว่าได้ช่วยให้นิธิมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องการทำงานมากขึ้น แต่สิ่งนี้ห่างกันไกลจากคำว่า ‘อิสระ’ เพราะอย่างที่นิธิได้กล่าวตอนต้น งานของสถาปนิกนั้น ไม่ใช่เพียงการแสดงออกซึ่งตัวตนของศิลปิน แต่คือวิชาชีพที่มีไว้รับใช้ผู้คน เรื่องตลกที่ผู้คนแชร์ในอินเทอร์เน็ตว่าในการสร้างบ้านหลังหนึ่ง เหนือสถาปนิกยังมี ‘ซินแส’ ผู้กำหนดความเป็นไปของก่อสร้างนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องตลก แต่คือชีวิตของการทำงานจริงแม้กับบริษัทสถาปนิกที่ใหญ่ที่สุดและสร้างอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล หรือมหาวิทยาลัยมาแล้ว

“เราก็ต้องประเมินว่าแค่ไหนไม่ทำความเสียหายให้กับแบบของเรา วันนั้นคนก็ถามว่าผมเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยหรือซินแสไหม ในชีวิตไม่เคยเชื่อเลย ทุกอย่างมันเป็นด้วยเหตุด้วยผล สถาปัตยกรรมจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการใช้สอย เรื่องเหตุผลที่เราใส่ลงไปในอาคาร ไม่ใช่เรื่องความเชื่อ ผมว่ามันเป็นวิชาผีบอก เทวดาสั่ง ไม่มีพื้นฐานอะไร เชื่อเพราะคนบอกกันมาในอดีต มันต้องเป็นอย่างนี้นะ ต้องกี่องศา อุปโลกน์ขึ้นมาทั้งนั้น

...มีเจ้าของบ้านหลังหนึ่งเป็นคนจีนรวยมาก มาบอกคุณนิธิ---ผมต้องการบ้านทันสมัยที่สุด ผมก็ออกแบบเป็นบ้านโมเดิร์น หลังคา flat roof ซ้อนกันเป็นขั้นบันได สร้างเป็นบ้านสมัยใหม่ กระจกใหญ่ๆ อยู่ติดสนามกอล์ฟ มองออกไปเห็นสนามกอล์ฟ ทำไปจนจะเสร็จ มีซินแสมาบอก สระว่ายน้ำติดบ้านม่ายล่าย จะอยู่ไม่สุข โห---ขนาดสระว่ายน้ำสร้างไปแล้ว เขายอมทุบ เราก็ยอมแก้ กระเถิบสระน้ำไปอีก 3 เมตร ทีนี้เมียพาซินแสมาอีกคน โอ๊ย---ม่ายล่าย บ้านหลังนี้ถ้าลื้ออยู่ต้องหย่ากัน ผัวต้องมีเมียน้อย เราได้ยินก็ตกใจมาก ถามว่าเขาแนะนำให้ทำอะไร เขาบอกมันต้องมีโดมข้างบน หน้าต่างต้องโค้งหมดทั้งบ้าน บ้านจะเสร็จอยู่แล้ว ผมก็เลยบอก ถ้าอย่างนั้นผมขอถอนตัว ยอมแพ้ ทำไม่ได้ ถ้าต้องแก้ตามนั้น

...ตัวผมหรือลูกน้องที่ต้องไปเจอลูกค้า เราฝึกหมด จะดีลกับคนระดับนี้จะต้องทำยังไง เพราะลูกค้าทุกคนอยู่ในระดับท็อปทั้งหมด ระดับผู้บริหารองค์กร ยิ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่ๆ บางทีก็เป็นระดับนักการเมือง เราจะต้องไม่แสดงตนว่าเราเก่ง ถ่อมตัวไว้ก่อน คุยกับเขาแล้วคอยสังเกตว่าเขาสนใจเรื่องอะไร คล้อยตามเขาเท่าที่จะคล้อยตามได้ ชอบเรื่องนี้ก็คุยเรื่องนี้ สนุกไปกับเขา หรือเขาไม่ชอบเรื่องนี้ก็ต้องสังเกต พูดบางเรื่องแล้วเขานั่งเบื่อ ไม่อยากฟัง เราก็ต้องหยุดแล้ว อันนี้จะต้องมีจิตวิทยา เอาตัวรอดให้ได้ ผ่านจุดนี้ให้ได้”

อย่างไรก็ตาม ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ไม่อาจกระทำสิ่งทั้งปวงได้ด้วยความพยายามของตนเพียงคนเดียว จิตวิทยาใดๆ สุดท้ายย่อมมาบรรจบที่ ‘ความไว้วางใจ’ ที่มนุษย์ผู้เข้ามาข้องเกี่ยวปฏิสัมพันธ์ต่างมีให้แก่กัน

ผมจึงบอกให้ทุกบริษัทในเครือทำหนังสือหมด ใครอยากได้ความรู้ก็มาซื้ออ่าน อาจจะเอาไปทำได้ดีกว่าเรา เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมมีความรู้สึกว่า คนมาทีหลังก็ต้องทำดีกว่าคนก่อน ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็ทำได้อีก ทำให้ดีขึ้นไปอีกได้

หนึ่งในเรื่องราวของความไว้วางใจที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานและหลากหลายของนิธิคือการได้ออกแบบสถานปฏิบัติธรรม ‘ศศิภาวัน’ ให้กับคุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ นักธุรกิจหญิงแกร่งเจ้าของโรงเรียนศรีวิกรม์ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (Golden Land) และธุรกิจที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง อเมริกัน สแตนดาร์ด สถานปฏิบัติธรรมกลางทัศนียภาพอันตระการตาของเขาใหญ่ที่ปราศจากช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่กลับเปี่ยมจิตวิญญาณไทยด้วยรูปทรงหลังคากลีบบัวตูมคว่ำนี้ คือเครื่องยืนยันถึงผลลัพธ์ของความไว้วางใจที่สมานศรัทธาของลูกค้ากับศิลปะของสถาปนิกได้อย่างงดงาม ดั่งคำที่นิธิเขียนไว้ในหนังสือ ‘ด้วยแรงศรัทธา’ ที่ส่วนหนึ่งกล่าวถึงศศิภาวันว่า “ความสำเร็จของการทำธุรกิจไม่ใช่อยู่ที่การได้มาซึ่งสินจ้างรางวัล แต่เป็นการได้มาซึ่งจิตใจคน สร้างศรัทธาร่วมกัน สร้างความสำเร็จร่วมกัน”

“คุณหญิงศศิมาอายุ 85 แล้ว ท่านโทรมาหาผมทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทีแรกผมบอกไปว่า ผมแก่แล้ว ไม่ได้ทำงานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอรู้ว่าเป็นผู้ใหญ่ ผมยิ่งไม่ทำเลย อีกสักอาทิตย์ท่านก็ให้อีกคนติดต่อมาใหม่บอกขอมาเจอหน่อย ท่านอยากทำโปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์สุดท้ายในชีวิต อย่างน้อยจะต้องได้คุยกัน พอมาเจอท่านเล่าว่าท่านเห็นภาพโบสถ์ในหนังสือภาพสเก็ตช์ของผมแล้วก็รู้สึกว่างานของท่านต้องใช้ผม แต่ผมก็บอกท่านไปว่า พี่ครับ---ถ้าผมรับทำโครงการของพี่ที่เขาใหญ่ ผมคงต้องเดินทางไปประชุมทุกเดือน ในขณะที่ผมเจ็ดสิบแล้ว พยายามจะไม่ทำแล้ว ท่านก็เลยบอกว่านิธิลองคิดอีก 2-3 วันได้ไหมว่าอยากให้พี่ปฏิบัติตัวยังไง ทีนี้ผมก็เขียนเงื่อนไขขึ้นมา 3 ข้อเลย ข้อที่หนึ่ง พี่ต้องจ่ายค่าแบบผมเต็มที่ตามมาตรฐานของ A49 ข้อที่สอง ถ้าผมเสนอแบบพี่ไปแล้วพี่ไม่ชอบ ไม่ใช่อย่างที่พี่ฝันไว้ ผมก็จะถอนตัวเลยโดยไม่เอาเงินสักบาท ข้อที่สาม ถ้าพี่อนุมัติแบบแล้ว ผมให้เปลี่ยนได้ 3 ครั้ง ถ้าเกินครั้งที่ 3 ผมขอถือสิทธิ์ถอนตัว สามข้อนี้ท่านดูเสร็จแล้วก็บอกว่า พี่ยอมทุกข้อ ผมก็เลยทำงานให้ท่าน

…ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ท่านเปลี่ยนแบบผม ครั้งแรกผมไม่ว่าอะไรและดำเนินการแก้ไขแบบให้ตามต้องการ อีกครั้งก็ไม่ว่าอะไร พออีกครั้ง ตึกจะเสร็จแล้ว ท่านไปให้ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารท่านหนึ่งมาดู เขาบอกว่า ตรงนี้ควรเปลี่ยนเป็นแบบนี้ๆ คุณหญิงก็กริ๊งมาหาผมบอกว่าเพื่อนเสนอให้เปลี่ยน ผมก็ออกจดหมายไปเลย บอกว่าในชีวิตผมธนาคารเคยออกกฎระเบียบอะไรมา ผมก็ปฏิบัติตามและผมเสียหายมาหลายครั้งแล้ว ผมไม่เคยว่าสักครั้ง แต่ผมเป็นสถาปนิกมาจนอายุขนาดนี้แล้ว เขาเอาความรู้อะไรมาแก้แบบผม ถ้าคุณหญิงคิดว่าจะแก้ตาม ผมขอถอนตัว คุณหญิงก็รีบวิ่งมาหาที่ทำงานเลย บอกตกลงพี่ไม่เปลี่ยนอะไรแล้ว”

แม้จะฟังดูเหมือนไม่โอนอ่อนผ่อนตาม แต่นิธิเล่าว่าแท้จริงรูปทรงหลังคาที่อ่อนละมุนเป็นกลีบบัวตูมคว่ำมากเอกลักษณ์ของศศิภาวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของคุณหญิงศศิมาเอง ที่ต้องการให้อาคารดูนอบน้อมไปยังพระธาตุเจดีย์แก้วที่ตั้งอยู่ติดกันดุจการวันทาด้วยดอกบัว โดยนิธิเคยทัดทานว่าการเปลี่ยนแบบของหลังคาซึ่งทำจากทองแดงและเดิมไม่ได้ออกแบบมาให้โค้งนั้น จะเพิ่มค่าใช้จ่ายขึ้นอีกไม่น้อย คุณหญิงได้ตอบอย่างละมุนละม่อมแต่แน่วแน่ว่า “คุณนิธิออกแบบมาก็ดูเสียเงินไปเยอะแล้ว ขออีกนิดหนึ่งอาคารของเราคงสวยขึ้นอีกมาก” โดยในวันนี้ การร่วมงานของผู้ที่ต่างเดินทางมาถึงเบื้องปลายแห่งอาชีพและชีวิตทั้งสอง ได้กลายมาเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่ลงตัวสำหรับหลากหลายผู้คนที่กำลังแสวงหาสมดุลระหว่างการหยุดพักและการทำงาน ดังที่นิธิเขียนถึงโครงการนี้ไว้ว่า “ผมอยากให้สถานที่นี้เป็นที่สงบเงียบ มีรสนิยมที่ดี หล่อหลอมจิตใจของผู้คนที่มาที่นี่ให้เป็นคนดี มีจิตใจดี มีสติ มีพละกำลังที่จะต่อสู้ชีวิตต่อไปได้ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้น ได้พบกับความสุข มีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ สมดังเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ของผู้ดำริสร้างโครงการนี้ขึ้นมา”

เจดีย์แห่งความรู้

นิธินั้นได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งสถาปนิกผู้บุกเบิกสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (Contemporary Architecture) ในเมืองไทย ร่วมกันกับสถาปนิกอย่างเมธา บุนนาค องอาจ สาตรพันธุ์ สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา แต่ในระยะหลังผู้ที่ติดตามผลงานของนิธิอาจทราบว่า เขาได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการออกแบบสถาปัตยกรรมไทยที่มาจากงานทางศาสนาพอจะพิมพ์เป็นหนังสือได้เป็นเล่ม เช่น เจดีย์หลวงปู่ชา วัดสุนันท-วนาราม เจดีย์วัดป่าจักราช พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ตื้อ โรงอุโบสถ มูลนิธิแนบมหานีรานนท์ ฯลฯ ชวนให้เข้าใจว่าบั้นปลายแห่งชีวิตได้ชักนำเขาไปสู่ศาสนาและโครงการสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ผิดจากคาด ความสนใจศาสนาของนิธิอาจเรียกได้ว่าเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเขาต้องมาออกแบบเจดีย์

“คุณจะไม่เชื่อว่าผมออกแบบเจดีย์มาแล้วทั้งหมด 8 เจดีย์ในชีวิต ตอนแรกผมไม่กล้าทำเลย มีความรู้สึกว่าไม่ใช่งานที่เราถนัด แต่พอได้เป็นศิลปินแห่งชาติ คนมักคิดไปว่า ศิลปินแห่งชาติต้องดีไซน์เจดีย์ ต้องสร้างวัด พระก็เริ่มมาหา ผมก็ เอ๊ะ---เราจะทำได้หรือเปล่า แต่ก็คิดได้ว่าความจริงคนออกแบบเจดีย์ในประเทศไทยนี่เขาไม่ได้เรียนสถาปัตย์ เป็นช่างพื้นถิ่น แต่เขาก็ทำเจดีย์ขึ้นมา แล้วทำไมเราจะทำซิกเนเจอร์ของเราไม่ได้ เจดีย์แรกที่ผมทำคือเจดีย์หลวงปู่ชา สุภัทโท ที่อุบลราชธานี พอหลวงปู่ชามรณภาพ ทางวัดบอกว่าเขาจะสร้างที่เผาศพ เพื่อใช้ในพิธีเผาศพของท่านอีก 1 ปีให้หลัง คนมาเป็นแสน ในหลวงรัชกาลที่เก้าจะเสด็จ ทีนี้เวลาก็ผ่านไปเรื่อย จนเดือนที่ 4 เขายังหาคนออกแบบไม่ได้ ทั้งที่มีคนเสนอตัวเยอะแยะ แต่ทางกรรมการวัดยังไม่ชอบแบบ จนกระทั่งมีคนโทรมาหาผม ผมก็บอกเขาไปตรงๆ ว่าไม่เคยออกแบบอะไรแบบนี้ เขาก็ขอให้ลอง และเชิญผมไปพบกับพระที่วัด

…ผมเลยบอกงั้นผมขอเวลา 1 อาทิตย์ กลับไปกรุงเทพฯ เพื่อสเก็ตช์มาให้ ก่อนกลับผมก็ไปขับรถวนในอุบลฯ ดูว่าวัดโบราณหน้าตาเป็นยังไง ฟอร์มของเจดีย์เป็นยังไง พอสเก็ตช์ออกมาปรากฏว่ากรรมการวัดชอบทุกคน ผมก็รีบกลับมาเขียนแบบ บางส่วนทำที่กรุงเทพฯ แล้วขนใส่รถเทรลเลอร์ไปที่นู่น ส่วนเจดีย์ พระเป็นคนสร้างเอง โดยเกณฑ์พระวัดป่าของหลวงปู่ชา ซึ่งมีเป็นร้อยวัดทั่วประเทศ มาสร้างกัน 24 ชม. แบ่งพระเป็น 2-3 รอบ สร้างกันไป ผมไม่รู้จักวัดป่ามาก่อน ดังนั้น พอออกแบบเสร็จปั๊บ เริ่มสร้างปั๊บ ผมก็เลยไปบวชที่นั่น แล้วไปช่วยสร้างในฐานะพระด้วยเลย

…เรียกว่าผมเพิ่งเริ่มสนใจศาสนาตอนนั้น เพราะไม่ได้อินพุทธศาสนา ถึงตอนนี้ก็ยังมีความรู้สึกว่าศาสนาเราเสื่อมไปเยอะ พระมีหลายรูปแบบ อย่างถ้าพระคนไหนมาหาผมแล้วบอกว่าอาตมาเห็นนิมิตเทวดาให้สร้างเจดีย์เป็นแบบนู้นแบบนี้ ผมก็เลิก---ไม่ทำด้วย ศาสนาพุทธเสื่อมไปเยอะจากการที่คนไม่ได้สนใจคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไปเชื่อเรื่องโชคลางบ้าบอ ไปเคารพวัตถุ เดี๋ยวนี้ยิ่งทำรูปปั้นไปใหญ่ ตัวละครลิเก ตัวโขนก็เอามาเคารพบูชา พระพุทธเจ้าอยู่ไหน ศาสนาคริสต์เขามีพระเยซูคนเดียวกลางโบสถ์ก็จบแล้ว ของไทยเรามีเครื่องประดับเต็มไปหมด หลงระเริงไปกับการตกแต่งที่เกินจำเป็น แล้วก็เลยทำให้เราไม่มีความศรัทธา”

นิธิกล่าวไว้ในหนังสือ ‘ด้วยแรงศรัทธา’ ที่รวบรวมโครงการออกแบบที่อาจถือว่าไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทสถาปัตย์ทั่วไป เนื่องจากไม่เป็นที่คุ้นเคย ใช้เวลามาก และได้เงินน้อย หรือที่นิธิใช้คำว่า “งานที่ไม่มีใครอยากทำ” อาทิ งานสาธารณกุศล โครงการพื้นถิ่น หรืองานทางศาสนาอย่างที่กล่าวมาข้างต้นว่าเป็นสิ่งที่เขาอยากชวนให้เพื่อนร่วมอาชีพมาทำให้มากขึ้นด้วยเหตุผล “ถ้าเราทำออกมาได้ดี ผมเชื่อว่าผลงานเหล่านี้จะอยู่กับประเทศชาติไปอีกนาน เป็นส่วนหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมของประเทศชาติต่อไปได้”

หลายคนถามว่าผมภูมิใจกับโปรเจกต์อะไรมากที่สุด ผมตอบไม่ได้ ทุกอย่างที่เราทำ ก็ทำตามหน้าที่ ไม่ได้บอกว่าอันไหนดีที่สุด อันไหนเป็นมาสเตอร์พีซ งานเล็กๆ ก็เป็นงานที่โดดเด่นสำหรับผมได้ ทำให้ดีที่สุดแล้วจบไป เดี๋ยวเราก็ตาย

เห็นได้ชัดว่าในขณะที่งานทางศาสนาอาจเป็นสิ่งที่นิธิได้เข้ามาเกี่ยวข้องแบบตกกระไดพลอยโจน สิ่งที่ได้แรงศรัทธาจากเขาอย่างแท้จริง ดูเหมือนจะเป็นสิ่งใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความงอกงามของวงการสถาปัตย์ไทย นี่เองคือสาเหตุที่เขาเปิดสำนักพิมพ์ลายเส้นเพื่อบันทึกงานทุกอย่างของบริษัทไว้เป็นฐานของเจดีย์แห่งองค์ความรู้ที่คนอื่นๆ สามารถมาต่อยอดต่อไป คำรำพึงในหนังสือว่า “เป็นสถาปนิกในเมืองไทยนั้นยากยิ่ง เพราะสถาปนิกไทยแบ่งกันเป็นหมู่เหล่าเป็นสถาบัน เสียเวลาไปกับการรักษาชื่อเสียงของสถาบันของตนเอง มากกว่าการพัฒนาวิชาชีพโดยรวมของประเทศชาติให้ไปต่อสู่กับนานาชาติได้ เราจึงถูกพัฒนากันมาในลักษณะที่ถูกครอบอยู่ในกะลา เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเปิดกะลาที่ครอบไว้ก็โรยรา ไม่กล้าสู้ ไม่กล้าเผชิญกับใคร ฝักใฝ่ถามหาแต่เรื่องพรรคเรื่องสถาบัน เห็นใครเป็นคนแปลกหน้าเข้ามา ก็ดูจะเป็นศัตรูไปหมด ไม่อยากคบหา ไม่อยากร่วมงานด้วย” บ่งบอกความตั้งใจของนิธิได้เป็นอย่างดี

“เรารู้สึกว่ามันไม่มีคนทำหนังสือที่เป็นการรวบรวมความรู้ สำหรับเรา ทุกอย่างที่เราทำมาทั้งชีวิตอยู่ในหนังสือ คนอื่นก็เอาไปใช้ประโยชน์ได้ หนังสือยังเป็น tool ของการทำงานของสถาปนิกในโลกนี้ ยังไม่หมดจากโลก ผมยังเคยปรารภเสมอว่าสถาปนิกที่ดังๆ ในประเทศไทยไม่มีใครทำหนังสือเลย ตายไปแล้วไม่มีหนังสือสักเล่ม สิ่งที่ทำมาทั้งชีวิตไม่เคยถ่ายทอดให้ใคร น่าเสียดาย ผมจึงบอกให้ทุกบริษัทในเครือทำหนังสือหมด ใครอยากได้ความรู้ก็มาซื้ออ่าน อาจจะเอาไปทำได้ดีกว่าเรา เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ผมมีความรู้สึกว่า คนมาทีหลังก็ต้องทำดีกว่าคนก่อน ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็ทำได้อีก ทำให้ดีขึ้นไปอีกได้

…สมัยก่อนสถาปนิกยุคเก่าหวงวิชา วิชาชีพก็เลยไม่พัฒนา สู้ประเทศอื่นไม่ได้ สู้สิงคโปร์ สู้มาเลเซียไม่ได้ เพราะพวกเขาสะสมความรู้กัน ทุกวันนี้ผมก็ออกไปสู้กับประเทศอื่น ก็สู้แบบเจียมๆ ตัว สมมติไปดูไบ ไปอินเดีย ไปจีน ไปซาอุดิอาระเบีย ได้เห็นสถาปนิกทั่วโลกมาหากินที่นั่น มาแสดงให้เห็นว่าเขาเก่งกว่าเราเยอะ เราได้งานบ้าง ไม่ได้บ้าง บางทีก็ได้ชิ้นเนื้อที่เขาไม่กินแล้ว ไม่ได้ได้ครีมชั้นดี อยู่ที่ว่าเราจะสู้ต่อไหม

…แต่ผมก็นักสู้ อย่างผมไปเปิดบริษัทในต่างจังหวัด ไปเปิดที่ภูเก็ต ที่เชียงใหม่ ที่ขอนแก่น เปิดมาทั้งหมด 15 ปีแล้ว สถาปนิกคนอื่นไม่มีใครทำ คิดว่าเปิดไปทำไม เดี๋ยวเวลามีงานก็บินไปได้ แต่ผมมองว่า ไม่ได้---ถ้าเราไม่ไปเราไม่รู้จัก local market เขาก็ไม่รู้จักเรา เขาอาจมีความรู้สึกว่า A49 บริษัทใหญ่ ค่า fee แพง แต่พอไปเปิดต่างจังหวัดปุ๊บ เราก็ได้ทำความรู้จักกับคนท้องถิ่น ตอนแรกๆ ยากมากเพราะค่า fee แพง เราก็ทำฟรีบ้าง แต่พอสร้างขึ้นไปแล้ว งานของเราโดดเด่นต่างจากคนในท้องถิ่น เขาก็เริ่มมีความรู้สึกว่า บริษัทนี้ดี ทำสวย แล้วให้เราทำไปเรื่อยๆ”

บ้านที่ไม่รับแขก

นิธิได้ออกตัวไปแล้วว่าเขาไม่ได้ ‘อิน’ กับศาสนา กระนั้น นี่อาจเป็นคนละเรื่องกับการจะสรุปว่าเขาไม่อินกับ ‘ธรรมะ’ การทำงานมากว่าสี่ทศวรรษเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นปัจจัยสี่หรือพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ ได้เป็นเสมือนแว่นส่องให้เขาเห็นความต้องการที่ลึกเข้าไปข้างในของผู้คน หรือแม้กระทั่งของตัวเขาเอง

“มันมาถึงจุดที่มีข้อสรุปได้แล้วว่าความรวยไม่ได้ทำให้คนมีความสุข หลายคนที่เราเจอ เขารวยมากๆ แต่เขาไม่ได้มีความสุขมากกว่าเรา เขาต้องระวังเรื่องเงินเรื่องทอง ต้องคิดตลอดเวลาว่าที่อเมริกาหุ้นตก ที่ฮ่องกงมันกำลังแย่ เพราะเงินเขามีกระจายไปทั่วโลก เขาต้องกังวลไปทั้งชีวิต แต่แล้วไม่นานเขาก็ตาย ทำให้รู้สึกว่า ผมไม่จำเป็นต้องรวยขนาดเขา บางทีเขาอยู่กับเมียเขา แต่ดูเหมือนกับว่าเขาคุยกับเมียไม่รู้เรื่อง เวลาทำบ้านสักหลังมันเห็นชัด เมียชอบอย่าง ผัวชอบอย่าง มีหลายบ้านเลย ทำไปแล้วผัวเมียหย่ากัน ทั้งๆ ที่ทั้งชีวิตอยู่กันมาได้ไม่หย่า แต่พอทำบ้านหลังใหม่แล้วหย่ากัน เพราะผัวคิดว่าอยากได้อย่างนี้ เมียก็บอกว่าฉันอยากได้อย่างนี้ เธอทำอย่างนี้ทำไม ทะเลาะกันจนในที่สุดหย่า

…หลายคนถามว่าผมภูมิใจกับโปรเจกต์อะไรมากที่สุด ผมตอบไม่ได้ ทุกอย่างที่เราทำ ก็ทำตามหน้าที่ มีความรู้สึกว่าเดี๋ยวก็จะมีคนมาทำดีกว่าเรา เราก็แค่ทำหน้าที่ของเราอย่างดีที่สุดมา 40 ปี ไม่ได้บอกว่าอันไหนดีที่สุด อันไหนเป็นมาสเตอร์พีซ งานเล็กๆ ก็เป็นงานที่โดดเด่นสำหรับผมได้ ทำให้ดีที่สุดแล้วจบไป เดี๋ยวเราก็ตาย ตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพื่อนรักผมที่วชิราวุธฯ อยู่ดีๆ ก็นอนหลับตายไป มันทะเลาะกับเมีย ไม่ได้หย่า แต่ไม่คบหาสมาคมกัน ไม่พูดกัน อยู่คนละห้องนอน แยกครัว กินข้าวคนละโต๊ะ แยกคนใช้ แยกอะไรต่างๆ ดังนั้น มันไม่รู้จะทำอะไรก็เลยมาคบผม อยากไปท่องเที่ยวบั้นปลายชีวิต กำลังจะไป มันดันตาย เพราะว่าไปเช็ดรถแล้วเหนื่อย หัวใจล้มเหลว

…ชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน คนเราอายุสั้นเพราะเครียด ก็ต้องพยายามไม่เครียด ปัญหาทุกอย่างแก้ได้หมด แก้วันนี้ไม่ได้ก็แก้พรุ่งนี้ อย่างโปรเจกต์ One Bangkok เขาให้เราทำ 10 ปี ถ้าไม่อดทน ทำไม่ได้ มาร์เก็ตติ้งเปลี่ยนทุกวัน เขามีทีมฝรั่งสัก 30 คน ตลาดเปลี่ยน คู่แข่งเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน เหมือนที่พระท่านเคยสอนผมว่า โยม---คนที่มาหาอาตมา เขาเอาก้อนหินไว้บนหัวคนละ 5 ก้อน 10 ก้อน แล้วไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง มาหาอาตมา อาตมาก็บอกว่า เรื่องอะไรโยมจะเอาหินมาสุมไว้บนหัว วางเอาไว้บนดิน ให้ดินมันรับไว้ ไม่ต้องไปกังวลกับมัน แล้วก็ค่อยหยิบมาพิจารณาทีละก้อน วันนี้ยังแก้ไม่ได้ก็ทิ้งไว้บนดิน กลับบ้านไปหลับให้สบาย เช้ามาก็ดูใหม่ หยิบมาพิจารณาใหม่”

หากถือตามคำของนิธิที่บอกว่าการออกแบบบ้านของเขานั้นมีรากฐานมาจากการเข้าถึงใจลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง เป็นไปได้ว่า สิ่งที่จะบ่งบอกถึงภาวะในใจของนิธิได้ดีที่สุด อาจเป็น ‘บ้าน’ ของเขาเอง

“ผมเพิ่งสร้างบ้านจริงๆ เมื่อตอนอายุ 60 ทั้งผม ทั้งลูก ทั้งเมีย เป็นสถาปนิกกันทั้งหมด เราก็เลยมาคุยกันว่าบ้านจะเป็นยังไง ผลสรุปคือ หนึ่ง บ้านเราจะไม่รับแขกเลย ทำไว้อยู่อย่างเดียว เพราะลูกทำงาน ตัวผมก็ทำงาน เมียผมก็เป็นคณบดีคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ กว่าจะกลับบ้านก็สองทุ่มไปแล้วทั้งนั้น ใช้ชีวิตในบ้านไม่กี่ชั่วโมง เดี๋ยวก็ต้องอาบน้ำนอนแล้ว

…ถ้าเราตัดปัญหาเรื่องเอาบ้านไว้โชว์ เอาไว้รับแขก บ้านเราก็ง่ายมากเลย span บ้านผม คือระยะคานประมาณ 4.50 เมตร เรียกว่าเป็น economic span ถ้ายิ่งกว้าง ยิ่งแพง ดังนั้น ค่าก่อสร้างก็ถูก และพอไม่ต้องรับแขก ก็ไม่ต้องมีโต๊ะยาวๆ นั่ง 20 คน ไม่ต้องสนใจว่าจะแต่งบ้านให้สวยๆ เข้าบ้านมาผมทำเฉลียงไว้ใหญ่ 100 กว่าตารางเมตร ถ้ามีแขก มีญาติ มากินเลี้ยง ก็ใช้ตรงเฉลียงนี่แหละ เดินเข้ามาเป็นครัว มีโต๊ะกินข้าว นั่งได้ 4 คน พ่อ แม่ ลูก กับเมียลูก ทะลุครัวขึ้นบันไดไปชั้นบน ทุกคนก็กระจายกันไป พื้นที่ใหญ่แต่ตัวบ้านกระชับมาก ลูกค้าไม่เคยเห็นบ้านผม แต่บ้านผมอยู่สบาย อยู่ตามที่เราต้องการ ที่เหลือก็ให้เป็นสวนไป---สบาย”

ไม่ว่าเรื่องงานหรือส่วนตัว ชีวิตของนิธิได้ช่วยแสดงให้เห็นแล้วถึงบทบาทของสถาปนิกในการปลูกเรือนให้ ‘สบาย’ เป็นไปตามใจผู้อยู่

ความยากอาจมีอยู่อย่างเดียว

คือผู้อยู่จำเป็นต้องรู้ใจตัวเองอย่างนี้เช่นกัน