SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
THE LEADING LIGHT
ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการของบ้านกาญจนาภิเษก หรือ ‘ป้ามล’ กับภารกิจการกระทุ้งโครงสร้างของอำนาจเพื่อบุกเบิกช่องแสงให้กับเยาวชนผู้ก้าวพลาดและสังคม
31 สิงหาคม 2567
ไม่แน่ใจนักว่าสำหรับรัฐแล้ว ระหว่าง ‘เด็ก’ ภายใต้การดูแลของป้ามล กับตัว ‘ป้ามล’ เอง ใครรับมือได้ยากกว่ากัน
แน่นอน ‘เด็ก’ ภายใต้การดูแลของป้ามล คือเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ‘บ้านกาญจนาภิเษก’ หรือเด็กที่เพียงอายุยังไม่ทันพ้นวัยเรียนก็ได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคดีฆ่า ปล้น ค้ายา ใช้ยา หรือล่วงละเมิดทางเพศ ฯลฯ จนหลายคนยังเป็นที่จดจำจากข่าวอื้อฉาวที่เคยปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์
กระนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ ‘ป้ามล’ หรือทิชา ณ นคร หญิงแกร่งวัย 72 ปี ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษกในปัจจุบัน แม้เธอจะไม่ได้กระทำความผิดกฎหมายใดๆ ความสำเร็จของทิชาในการดูแลผู้กระทำความผิดที่ยังเยาว์วัยโดยวิธีการที่เรียกได้ว่า ‘สวนทาง’ กับแนวทางปฏิบัติที่เป็นอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศในเกือบทุกมิติ ทั้งยังประสบความสำเร็จจนเด็กในบ้านมีอัตราการกลับมากระทำความผิดซ้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศหลายเท่า ย่อมถือเป็นการฟ้องอยู่ในตัวว่าสถาบัน ระบบกฎหมายและกระบวนการดูแลเด็กที่ก้าวพลาดของไทยยังมีปัญหา และต้องปรับแก้อย่างเร่งด่วน
จากคำบอกเล่าของอดีตเด็กในสถานพินิจหรือที่เรียกกันว่า ‘คุกเด็ก’ สถานพินิจจำนวนไม่น้อยยังดูแลให้เด็กอยู่ในความสงบเรียบร้อยผ่านการข่มเหงเอาด้วยอำนาจ บางแห่งยังให้เด็กคลานเข่าและพนมมือเวลาพูดกับผู้คุม หรือให้เด็กใช้กำลังควบคุมกันเองตราบเท่าที่ไม่สร้างความวุ่นวาย จนเด็กบางคนยอมรับว่าการอยู่สถานพินิจได้ ‘ต่อยอด’ พฤติกรรมเดิมของการกดขี่มากกว่าจะเปลี่ยนแปลง ไม่แปลกที่หลายคนเข้ามาในสถานพินิจครั้งแรกด้วยการเป็นเยาวชนผู้ก้าวพลาด และกลับออกไปในฐานะผู้พร้อมกระทำความผิดซ้ำแบบ ‘มืออาชีพ’
ตรงกันข้าม ถึงจะไม่ปฏิเสธว่าเยาวชนในความดูแลเป็นผู้กระทำความผิดที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ บ้านกาญจนาภิเษกกลับต่อต้านการใช้รั้วกักขัง การบังคับใส่เครื่องแบบ หรือในที่สุดก็คือการใช้กำลังบังคับหรือกดขี่ข่มเหงกับเด็กในรูปแบบใดๆ จนมีคำกล่าวขานทั่วไปในหมู่เยาวชนผู้กระทำผิดว่าบ้านกาญจนาภิเษกเป็น ‘สวรรค์’ ที่ทุกคนควรขวนขวายเข้ามา ในคืนที่สองของการย้ายเข้ามาที่บ้านกาญจนาภิเษก พวกเขากระทั่งได้รับอนุญาตให้ยกคณะเข้าตัวเมืองไปกินหมูกระทะในยามค่ำคืนโดยมีรุ่นพี่ และเจ้าหน้าที่เพียง 2 – 3 คนเป็นผู้ดูแลเท่านั้น
น่าเสียดายว่าปัจจุบันแนวทางการจัดการแบบนี้ยังไม่ได้รับการขยายผลพ้นไปจากรั้วบ้านกาญจนาภิเษก แต่ผลงานดูจะพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทิชาทำมาถูกทาง อัตราการกลับมากระทำผิดซ้ำของเด็กจากบ้านกาญจนาภิเษก อยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 5 เทียบกับของประเทศที่ร้อยละ 30 วิธีการดูแลเด็กในบ้านกลายเป็นกรณีศึกษาที่ครั้งหนึ่งถูกพูดนำไปพูดคุยในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กลเม็ดการชักนำเด็กและครอบครัวสู่ความเข้มแข็งของทิชาถูกผลิตเป็นชุดเครื่องมือ (toolkit) กระทั่งหนังสือ ‘เด็กน้อยโตเข้าหาแสง’ ซึ่งว่าด้วยชีวิตและการทำงานของทิชาในบ้านกาญจนาภิเษก ก็ได้รับความนิยมทั่วไปในฐานะไบเบิลของการทำความเข้าใจเด็ก สำคัญที่สุด ศิษย์เก่าของที่นี่จำนวนไม่น้อย ไม่เพียงแต่ไม่กระทำผิดซ้ำ หลายคนยังกลายเป็น ‘พลเมืองกัมมันตะ (active citizen)’ ที่มีส่วนร่วมทำงานขับเคลื่อนเพื่อสังคมที่ดีกว่าเดิม
แน่นอน ปีศาจซ่อนอยู่ในรายละเอียด เงามืดซ่อนอยู่หลังแสง การเป็นรังสีอาบความอบอุ่นให้กล้าไม้ที่มีบาดแผลได้เติบได้อีกครั้งของทิชา ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปโดยไม่มีเงาหม่นของชีวิตส่วนตัวที่ถูกเข้าใจผิด ความฝันที่บุบสลาย หรือแม้กระทั่งความยากเข็ญและกินเวลาของการเรียนรู้สิ่งละเอียดอ่อนที่เรียกว่าชีวิตจิตใจของมนุษย์
แต่ก็เพราะเส้นทางชีวิตมี ‘แสง’ และ ‘เงา’ อยู่ในที่เดียวกันนี่เอง
ที่ทำให้ทิชาตระหนักว่าโอกาสของการกลับด้านและพลิกความคาดหมายเป็นไปได้เสมอ
วิเคราะห์ข่าว-วิเคราะห์ตน
บ้านกาญจนาภิเษก ที่มีภารกิจฟื้นฟูเยียวยาเยาวชนหลังคำพิพากษานั้น ก่อตั้งเมื่อปี 2546 โดยเป็นหน่วยราชการในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม แต่สิ่งที่อาจพิเศษกว่าสถานพินิจอื่นก็คือบ้านกาญ-จนาภิเษก เปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปบริหารร่วมกับภาคราชการด้วย ซึ่งสำหรับยี่สิบปีที่ผ่านมาบุคคลภายนอกคนนั้นก็คือทิชา
หากมีโอกาสได้ไปเยือนบ้านกาญจนาภิเษก ที่ตั้งอยู่แถวพุทธมณฑล นครปฐม นอกจากผู้มาเยือนจะพบว่าประตูของบ้านเปิดกว้างอยู่ตลอดและรั้วไม่มีลวดหนามแล้ว ตัวบ้านที่ออกแบบโดยหนึ่งบริษัทสถาปนิกเก่าแก่ของไทยอย่าง Plan Architect ยังเปิดกว้างรับแสงอย่างเต็มที่ในแทบทุกมุม “กันฝนยังไม่ค่อยได้เลย” ทิชากล่าว บอกใบ้อยู่ในตัวว่าป่วยการจะคิดเรื่องกันเด็กหนี เมื่อมองไปรอบๆ เด็กผู้ชายในชุดฟุตบอลหลากสีจับกลุ่มนั่งนอนกับพื้นในหลายบริเวณของอาคารระหว่างทำกิจกรรมกลุ่มบางอย่าง และสิ่งหนึ่งที่ไม่มีทางคลาดสายตาผู้มาเยือนก็คือแผ่นกระดาษใหญ่เล็กบนผนังอาคารที่พิมพ์บ้าง วาดบ้าง เขียนด้วยมือบ้าง และบรรจุไว้ซึ่งความคิดเห็นของเด็กเกี่ยวกับหลายหัวข้อ ตั้งแต่ภาพยนตร์ เหตุการณ์ข่าว ไปจนเรื่องราวชีวิตตนเอง สำหรับทิชา เสื้อผ้าที่เด็กใส่ หรือความคิดของเด็กที่บรรจุอยู่ในกระดาษเหล่านี้ มีค่ามากกว่าคำสั่งหรือมาตรการควบคุมพฤติกรรมใดๆ
“สิ่งที่ป้าพูดทุกครั้งในวันแรกที่รับเด็กเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบก็คือ เสื้อผ้าหน้าผมและร่างกายเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะไม่ละเมิด ต่างหูคู่ไหน ผมทรงไหนที่จะกอบกู้ความเชื่อมั่นคืนมา เอาเลย เพราะความมั่นใจเหล่านี้กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ แปลว่าต้องมีใครสักคนหนึ่งยอมให้เราได้เป็นเช่นนั้น และบ้านกาญจนาภิเษกยอมเป็นคน ๆ นั้นให้ เราไม่มีหน้าที่อดทน เรามีหน้าที่ยอมรับ
…ส่วนการวิเคราะห์ข่าวจะทำให้เด็กได้รู้สึกว่าห่วงโซ่ความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเหยื่อ เมื่อโดมิโน่ตัวหนึ่งล้ม โดมิโน่รอบตัวล้มหมด เช่นแม่คนหนึ่งซึ่งลูกถูกฆ่าตาย เขาจะจมอยู่ในความทุกข์กี่ปี บรรยากาศครอบครัวก็เสียหาย พ่อกับแม่ทะเลาะกันโดยไม่มีเหตุผล ถ้าเป็นครอบครัวของเขาบ้าง เขารู้สึกยังไง การเห็นห่วงโซ่ของความเสียหายทั้งซีกที่เป็นผู้กระทำ ทั้งซีกที่เป็นเหยื่อ ทำให้แม้แต่เด็กช่างกลที่ไปฆ่าคนมา เขาก็รู้สึกว่ามันไม่มีเหตุผลเลยที่จะไปยิงเขา
…เราพูดเสมอว่าบ้านกาญจนาภิเษก ไม่ได้ยอมรับการฆ่า แต่เราเข้าใจว่าในบางนาทีของเด็กบางคนเป็นนาทีที่ชั่วร้ายนำไปสู่การสูญเสีย แต่ก็ยืนยันว่าอีกร้อยพันหมื่นแสนล้านนาทีของเขายังดีอยู่ ต้องไม่ให้เขารู้สึกด้อยค่าหรือถูกหลอกด่า ยิ่งถ้าวิเคราะห์ข่าวอาชญากรรมและเขาละม้ายตัวละครในข่าว อย่าลืมขอโทษว่าไม่ได้ตั้งใจพาดพิง จะไม่มีการชี้นำซ้ำเติมว่าแบบนี้ควรติดคุกกี่ปี ควรถูกประชาทัณฑ์ไหม เพื่อไม่ให้เด็กหวั่นไหว ไม่มั่นคงหรือสงสัยว่าคนที่นี่รู้สึกแบบนี้กับกูหรือเปล่า และต้องคอยย้ำเสมอว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของคน 7,200 ล้านคนของโลก 67 ล้านคนของไทย และ 120 คนในบ้านกาญจนาภิเษก ไม่ให้เขาเป็นคนอื่นของใครเลย เพราะเวลาเขาไม่ได้เป็นคนอื่น เขาจะเกิดความรู้สึกอยากเรียนรู้ เชื่อมโยงและอยากกลับไปที่นั่นอีก”
หนึ่งในโปสเตอร์หนังยี่สิบสามสิบเรื่องที่ปิดอยู่บนผนังอาคาร และเป็นหนังที่ทิชาเลือกใช้ในการเชื่อมโยงเด็กเข้ากับความเข้าใจในชีวิตตนเองและผู้อื่นก็คือ Tsotsi (ซ็อตซี) โดยผู้กำกับกาวิน ฮู้ด ซึ่งว่าด้วยชีวิตของซ็อตซี หัวโจกของแก๊งค์โจรขโมยรถในแอฟริกาใต้ที่ฆ่าและขโมยได้โดยตาไม่กะพริบ จนกระทั่งชะตาพาเขามาเจอกับทารกบนเบาะหลังของรถที่ไปขโมยมาจากแม่ลูกอ่อน และกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ซ็อตซีไม่อาจคิดถึงแต่ตัวเองคนเดียวได้อีกต่อไป
“เราเอาฉากในหนังไปเปิดพื้นที่ความคิดกับเด็กๆ เช่น ป้ารักซ็อตซี แต่จะไม่บอกว่ารักในนาทีที่เท่าไหร่ของหนัง แล้วผมรักซ็อตซีไหม ถ้ารัก รักในนาทีที่เท่าไหร่ เราไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่ต้องการการถกเถียงให้อะไรต่างๆ ออกมา เช่น บางทีเขาก็พูดออกมาเองว่าเหี้ยอย่างซ็อตซี ป้ายังรักเลย เหี้ยน้อยกว่าอย่างพวกเรา ป้าก็ต้องรักใช่ไหม มันก็ทำให้เราเอามาทำงานต่อได้”
อย่างไรก็ตาม การดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวของทิชา มีความละเอียดอ่อนมากไปกว่าเพียงการเลือกสรรหนังที่มีคติสอนใจดีๆ เพราะการจะทำให้เด็กในบ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งบ่อยครั้งไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเต็มที่ หรือแม้กระทั่งอาจไม่เคยได้มีบทสนทนาในเรื่องชีวิตจิตใจอย่างเป็นกิจจะลักษณะมาก่อน (“สำหรับเด็กบางคนสิ่งเดียวที่เขาแทบจะเคยได้คุยกับพ่อแม่ ก็คือผ่านแบงค์ร้อยที่แม่วางไว้ให้เป็นค่าข้าวหลังตู้เย็นเท่านั้น”) สามารถหยั่งได้ถึงสาระหรือใจความของหนัง ซึ่งต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงต้นทุนชีวิตที่แตกต่างกัน
เราพูดเสมอว่าบ้านกาญจนาภิเษก ไม่ได้ยอมรับการฆ่า แต่เราเข้าใจว่าในบางนาทีของเด็กบางคนเป็นนาทีที่ชั่วร้ายนำไปสู่การสูญเสีย แต่ก็ยืนยันว่าอีกร้อยพันหมื่นแสนล้านนาทีของเขายังดีอยู่
“โดยทั่วไปจะให้เขาจับคู่กันเพื่อวิเคราะห์ข่าวแต่ละเรื่อง ถ้าวิเคราะห์หนังจะเป็น 3 คนทำร่วมกัน เพราะเด็กมีพื้นฐานที่ไม่เท่ากัน ทั้งอายุ ทั้งครอบครัว ทั้งความรู้ ถ้าอยู่ๆ ให้เขาไปทำงานเดี่ยวเลย เขาก็จะเคว้งหรือจับสาระบางอย่างไม่ได้ เราจึงออกแบบให้เขาถกเถียงกันเป็นคู่หรือ 3 คนจากนั้นก็ให้เขาไปทำงานเดี่ยว และไม่ลืมที่จะบอกว่าในงานคู่—งานกลุ่มเมื่อกี้ ถ้ามีแนวคิดอะไรที่ดี คำตอบนั้นดี งดงาม มีความหมาย ให้เขาหอบหิ้วเอามาใส่ในงานเดี่ยวด้วย เราไม่ได้มองว่าสิ่งนี้เป็นการเลียนแบบ ดังนั้น ถึงเขาจะเป็นเด็กที่ความรู้น้อย ไม่จบ ป.6 แต่การแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอทำให้เขาได้เก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ ไปเรื่อยๆ คลังคำ คลังภาษา คลังความคิดที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องเขียนวิเคราะห์ข่าว วิเคราะห์หนังเหล่านี้ทำให้เด็กที่นี่ Counselling (ให้คำปรึกษา) ง่าย”
ต้นสายปลายเหตุ
ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลง เพราะสำหรับทิชา เด็กคือผลผลิตของครอบครัวและสังคม การเปลี่ยนแปลงเด็กจึงไม่อาจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพหากปราศจากส่วนร่วมของครอบครัว เช่นเดียวกันกับที่สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู อีกหนึ่งนักสิทธิมนุษยชนระดับโลก เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้กล่าวไว้ว่า “ถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องเลิกทำแค่ดึงคนขึ้นมาจากแม่น้ำ แต่ต้องเดินทวนขึ้นไปต้นน้ำ เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมเขาถึงตกลงน้ำตั้งแต่แรก” ในชั้นเรียนที่ตั้งชื่อว่า Empower ของบ้านกาญจนาภิเษก อันเป็นปลายน้ำ ทิชาได้รวบรวมผู้ปกครองของเด็กที่รับเข้ามาในแต่ละรุ่นเพื่อทำ Workshop ที่จะเปลี่ยนแปลงให้ครอบครัวกลายเป็นผู้ฉุดรั้งมากกว่าผลักไสเด็กลง ‘แม่น้ำ’ เชี่ยวกรากที่เรียกว่าเคราะห์กรรมของชีวิต
“ในคลาสเราให้โจทย์พ่อแม่บ้านกาญจนาภิเษกไประดมความคิดกันว่าอยากให้ลูกเป็นอะไร เมื่อลูกอายุ 18 ปี คำตอบที่ออกมาก็เหมือนกับพ่อแม่ที่ลูกยังไม่ได้ไปฆ่าใคร เช่น อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกรับราชการซึ่งเป็นเรื่องงดงามทั้งหมด จากนั้นเราจะสะท้อนให้พ่อแม่เห็นว่าสิ่งที่พูดมาถือเป็นเป้าหมาย แต่วิธีการคืออะไร ลูกเราถึงไปฆ่าคน แม่พูดกับลูกแบบไหน เวลาลูกแม่มืด แม่ใช้ความมืดของแม่ไปประกบเขาไหม พอเราชวนเราค้นหาวิธีก็พบว่าวิธีผิดหมดเลย แม้เป้าหมายจะถูก สิ่งนี้เป็นการหลอมความคิดพ่อแม่ให้นุ่มลง โดยเราต้องคิดกระบวนการที่ไม่ให้ความรู้เดิมของพ่อแม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ความรู้ใหม่
…แต่เมื่อเห็นความผิดพลาดของตัวเอง พ่อแม่อาจรู้สึกแย่ เราก็ต้องมีกิจกรรมให้วิตามินปลอบใจ ป้าจะยกตัวอย่างตัวป้าเองที่เกิด 2495 ให้พ่อแม่ลองจินตนาการว่าพอป้าอายุ 15 ขวบ ความแรดที่สุดของป้าคืออะไร ยุคนั้นไม่มีสมาร์ทโฟน เราได้แต่เตรียมเสื่อกับเพื่อนแล้วไปหาที่นั่งใกล้เด็กผู้ชายเวลามีหนังกลางแปลง คนเกิด 2495 บวกอีก 15 ปี แรดสุดมันก็ได้แค่นี้ แต่ถ้านาทีนี้ถ้ามีลูกหลานผู้หญิง แรดสุดของเขาคืออะไร โห—เต็มเลย พ่อแม่ก็จะเริ่มมองเห็นว่ายุคสมัยที่ต่างกันสร้างมนุษย์ที่ต่างกัน เราต้องปรับความเข้าใจใหม่ เครื่องมือที่เคยได้ผลตอนสมัยนู้นเอามาใช้ไม่ได้ มันเป็นแค่เรื่องเล่าในตำนานเท่านั้น
…กิจกรรมต่อมา เราสมมติตุ๊กตาในรูป Good boy และ Bad boy เด็กคนหนึ่งประวัติเสี่ยงมาก ทั้งเพศสัมพันธ์ ยาเสพติด และครอบครัวที่อ่อนแอ ส่วนอีกคนเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ ฝันเป็นนักการทูต ชอบให้คำปรึกษาเพื่อน เราถามพ่อแม่ว่าเด็กสองคนนี้คนไหนน่าห่วง เชื่อไหมพ่อแม่ทุกรุ่นบอกว่า Good boy ไม่มีอะไรน่าห่วง แต่ Bad boy น่าห่วงจนต้องถามว่า Bad boy นี่เลวตลอด 24 ชั่วโมงเลยเหรอ แล้ว Good boy นี่ดีตลอด 24 ชั่วโมงเหรอ เคยมีบางวันที่พ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีในขณะที่คนอื่นยังมองว่าธรรมะธัมโมไหม นั่นแหละ—มนุษย์ก็เป็นอย่างนั้น ในดำก็มีขาว ในขาวก็มีดำ แต่ไม่มีดำแท้และขาวล้วน จุดชี้ขาดจึงไม่ได้อยู่ตรงที่เขาเป็น Good boy หรือ Bad boy แต่อยู่ที่ว่านาทีที่เขาเป็น Good boy หรือ Bad boy คนที่เลี้ยงดู ไม่ว่าพ่อแม่ ครู ชุมชน หรือประเทศนี้ ทำอะไรกับเขา แล้วเราก็จะโยงต่อว่า ต่อให้ลูกของพ่อแม่ที่มาอยู่กับเราเหี้ยหรือ Bad boy ขนาดไหน เราก็จะไม่เล่นกับด้านมืดของเขา เราไม่ได้บอกเขาว่าทำอย่างนี้กับเราไม่ได้ แต่เรารอจังหวะให้เขาสว่าง แล้วเขาก็จะถูกประกบโดยแสงสว่างของเรา”
อย่างไรก็ตาม ชั้นเรียน Empower จะทวีความเข้มข้นและงวดเข้าสู่จุดสูงสุดเมื่อถึงชั่วโมงที่เชิญลูกๆ มาร่วมกิจกรรมกับพ่อแม่ โดยทิชาจะเริ่มจากการแจกการ์ดหนึ่งสำรับ 37 ใบไป ให้แต่ละครอบครัว ซึ่งการ์ดเขียนด้วยคีย์เวิร์ดต่างๆ อาทิ “ตีเส้นตีกรอบ” “ใช้ความรุนแรงในครอบครัว” “ยาเสพติด” “มึงเจ๋งว่ะ” ฯลฯ จากนั้นให้แต่ละครอบครัวช่วยกันแยกการ์ด 37 ออกเป็นซีก ‘ปัจจัยผลักไสไล่ส่งลูกออกจากบ้าน’ และซีก ‘ปัจจัยดึงดูดลูกจากนอกบ้าน’
“เชื่อไหมคะ ต่อให้พ่อแม่บางคนอ่านหนังสือไม่แตก ไม่ได้เรียนหนังสือมาก แต่ทุกครอบครัวจะแยกการ์ดออก 100% ว่า การ์ดไหนเป็นปัจจัยผลักไสฯ การ์ดไหนเป็นปัจจัยดึงดูดฯ แต่สำคัญคือสุดท้ายป้าจะถามเด็กว่าถ้าปาฏิหาริย์มีจริง การ์ดปัจจัยผลักไสไล่ส่งใบไหนที่ถูกหยิบออกไปจากบ้านได้แล้วผมจะเป็นผู้รอดตลอดกาล
…เด็กคนหนึ่งที่มาด้วยคดีฆ่าแท็กซี่ เขาหยิบการ์ดตีเส้นตีกรอบและอธิบายว่าในวันที่ผมเป็นเด็ก ป๊าสั่งให้ผมทำอะไร ผมทำหมดเลย พอโตขึ้น ป๊าก็ยังสั่งผมอีกเป๊ะๆ ผมเริ่มไม่ชอบแล้ว แต่ก็ยังต้องขอเงินป๊า จนวัยรุ่นผมไม่อยากอยู่ใกล้ป๊า เริ่มอยากหาเงินเองและก็เริ่มปล้น แต่รู้ไหมครับ ในคืนที่ฆ่าแท็กซี่ผมกระโดดออกจากรถแล้วร้องไห้ ผมกลัว ถามตัวเองว่าเรามาไกลขนาดนี้ได้ยังไง ป๊าเอาการ์ดตีเส้นตีกรอบออกจากบ้านได้ไหม ผมไม่อยากทำผิด ไม่อยากฆ่าใคร ผมอยากอยู่บ้าน
ขั้นต่อไปป๊าของเด็กต้องพูด ปรากฏว่าทั้งห้องตะลึง เพราะป๊าบอกว่า ป้าครับ—ผมผิดตรงไหน ผมมีลูกคนเดียว สร้างฐานะจนร่ำรวย ทุกอย่างที่ผมสร้างก็จะเป็นของลูก ผมเป็นผู้กำกับ ลูกเป็นพระเอก พระเอกที่ดีก็ต้องเดินตามเส้นของผู้กำกับไม่ใช่หรือ ผมผิดตรงไหน ตอนนั้นป้าไม่ได้บอกเขา แต่ในใจป้าคิดว่า ผิดตรงที่คิดนี่ล่ะ
…ดังนั้น พอเราเรียงไทม์ไลน์ เราจะเห็นว่าเด็กที่ฆ่าคนนั้นส่วนหนึ่งเขาก็เป็นเหยื่อของพ่อตัวเองที่ใช้ความรุนแรงที่ไม่มีบาดแผล แต่มาในรูปความคาดหวัง เขาเป็นเหยื่อที่เหนือเหยื่อ คือไม่ใช่เหยื่อที่ถูกกระทำแต่ก็เป็นเหยื่อ เราจึงใช้กระบวนการทั้งหมดทำให้เขาเป็นผู้รอด หลายคนไม่ใช่แค่ผู้รอด แต่ยังเป็น active citizen เช่นในวันที่ประเทศปลดล็อคให้กระท่อมเสรี เด็กบ้านกาญจนาภิเษกในคดีฆ่าแท็กซี่ได้ไปร่วมเวทีสาธารณะและเล่าว่า ในยุคผมกระท่อมกัญชาผิดกฎหมายเข้าถึงยาก แต่ผมก็ยังเข้าถึงและใช้มันอย่างหนักจนชีวิตพัง แล้ววันนี้ มันเสรี เข้าถึงง่าย เด็กๆ รุ่นหลังจะอยู่กันยังไง
...ผลลัพธ์อย่างนี้ทำให้ป้ามีความหวังกับเด็กทุกคน เราเชื่อว่าเรานำเขากลับคืนมาได้ แม้เขาจะเคยเป็นเด็กหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์”
ไม้ซีกงัดไม้ซุง
หลังการทำงานอย่างต่อเนื่องมายี่สิบปี ไม่แปลกที่ในวันนี้บ้านกาญจนาภิเษกจะมีกรณีตัวอย่างของความสำเร็จมากมาย แต่ในห้วงเวลาแรกของการจัดตั้ง ไม่มีใครรู้จักสิ่งที่กลายมาเป็นกระบวนการของบ้านกาญจนาภิเษกมาก่อน คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ผู้ริเริ่มโครงการสร้างบ้านที่จะเป็นสถานฝึกอบรมมากกว่าสถานที่กักกัน จนก่อกำเนิดเป็น ‘บ้านกาญจนาภิเษก’ ในวาระที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ได้ทาบทามทิชามาเป็นผู้อำนวยการคนแรกของบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะในเวลานั้น เธอเป็นเพียงไม่กี่เสียงในสังคมที่ออกมาพูดถึงเหตุการณ์เด็กก่อการจราจลในสถานพินิจบ้านกรุณาเมื่อปี 2543 ว่าไม่ควรมองเป็นการขู่คำรามของเด็กเหลือขอ หากเป็นเสียงร้องหาความช่วยเหลือจากเด็กที่หมดหนทางต่างหาก แต่ด้วยเหตุนั้น เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เธอจึงจำเป็นต้องรับบทหนักของการเป็นไม้ซีกที่งัดกับไม้ซุงของกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติของการควบคุมเด็กที่แพร่หลายกันอยู่ทั่วไปในสถานพินิจ เช่น กฎเหล็กการกักขัง หรือการบังคับตัดผม ใส่เครื่องแบบและการใช้อำนาจในแนวดิ่งอย่างเคร่งครัด คำประกาศของทิชาในโอกาสแรกของการเข้าทำงานว่า “จะไม่รับมรดกทางความคิดทุกประการที่รัฐเคยปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปี 2495” ทำให้เจ้าหน้าที่กว่าครึ่งของบ้านกาญจนาภิเษกไม่เห็นด้วย จนหลายคนขอย้าย และบางคนเธอก็ต้องเชิญให้ออก โชคดีที่การสู้กับสิ่งที่ใหญ่เกินตัวไม่เคยสร้างความหวาดกลัวให้กับทิชา
คุกหรือสถานที่ที่ต้องดูแลคนเยอะๆ อย่างเช่นโรงเรียนมักใช้อำนาจนิยม…อำนาจนิยมเอาความสงบเป็นที่ตั้ง ข้างในจะระอุแค่ไหน ไม่มีใครมองเห็น เช่นสั่งให้เด็กนั่งเงียบๆ เวลาเด็กมีปัญหา ส่วนเด็กจะมีปัญหาอะไรเราก็ไม่รับรู้ บอกแค่ว่ามึงอย่าทะเลาะกัน มันก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง
“อาจจะเป็นเพราะตอนเด็กป้าโตมาในบ้านหลังใหญ่ มีคนเยอะแยะ มีลูกน้องพ่อที่ต้องมาช่วยกันหุงข้าวด้วยกระทะใบบัวเพื่อเลี้ยงนายหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่ไปตรวจงานตำบลเหล ในตะกั่วป่า จังหวัดพังงา แต่ละวันลูกน้องพ่อจะแบกป้าขึ้นบ่าไปดูหนังตะลุง ดูมโนราห์ และเขาก็เกรงใจป้า เพราะพ่อป้าเป็นผู้ใหญ่บ้าน ป้าจึงไม่กลัวคน รู้สึกว่าเราสั่งคนได้ ยิ่งตอนนั้นมีฝรั่งที่ได้สัมปทานเหมืองแร่มาอยู่ในชนบทที่อัตคัดขัดสน เขามีปราสาทราชวังของเขา หลังใหญ่ สง่างาม อุปกรณ์ขนมาจากต่างประเทศ มีคนไทยคอยรับใช้ เราก็เห็นสิ่งเหล่านี้จนข้ามเส้นบางเส้นไปได้ ไม่รู้สึกหวาดกลัวกับอะไรที่ไม่คุ้นชิน แล้วมันก็ยังมาผูกโยงกับชีวิต เพราะวันหนึ่งแร่ดีบุกที่ฝรั่งเอาขึ้นมาพักไว้หาย ต้องมาขอความช่วยเหลือจากพ่อ พ่อป้าก็ออกไปเฝ้าระวัง แต่สุดท้ายกลุ่มคนที่ขโมยแร่ก็ยิงพ่อเสียชีวิต”
เมื่อมีคนในครอบครัวต้องเสียชีวิตจากผลประโยชน์ ความไม่กลัวคนของทิชาดูจะยิ่งขยายไปสู่สำนึกในเรื่องความยุติธรรมที่แรงกล้า เธอเริ่มงานในฐานะข้าราชการครูที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่วันหนึ่งเมื่อมีข่าวธวัช มกรพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาที่กำลังพยายามทบทวนเรื่องสัมปทานแร่ดีบุกถูกกลุ่มทุนเจ้าของสัมปทานเดิมลงขันเพื่อโยกย้าย แม้จะไม่รู้จักหรือเกี่ยวข้องในทางใดๆ ทิชากลับรู้สึกไม่เป็นธรรมที่ข้าราชการคนหนึ่งจะถูกกลั่นแกล้งเพียงเพราะการรักษาผลประโยชน์แผ่นดิน เธอจึงทำโรเนียวแถลงการณ์คัดค้าน แล้วแอบนำไปติดในตลาด ในชุมชน ความพยายามของเธอกระทั่งเข้าตาผู้มีอิทธิพลของโลกใต้ดินของพังงาในเวลานั้นอย่าง ‘เสือขิน’ ผู้ที่รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชพยายามส่งคนมาปราบครั้งแล้วครั้งเล่าก็ยังไม่สำเร็จมาแล้ว
“สายๆ หน่อยก็มีหนุ่มฉกรรจ์ 3-4 คนมาหาป้า บอกว่าเขาเห็นป้าออกไปติดแถลงการณ์ อยากชวนป้าไปคุยกับคนคนหนึ่ง พอไปถึง ปรากฏว่าเป็นเสือขิน เขาก็ดูใจดี ชาวบ้านเรียกเขาว่าจอมโจรโรบินฮู้ด เพราะเขาปล้นเพื่อไปแจกจ่ายคนจน เสือขินบอกว่าเราต้องช่วยผู้ว่าฯ ถ้าต้องการเครื่องมืออื่นๆ ก็ยินดีสนับสนุน ป้าเลยได้รถปิคอัพพร้อมคนขับคันหนึ่ง มีเครื่องขยายเสียง ไปยืนบนหลังคารถไฮปาร์คบนถนนทุกสายเพื่อบอกทุกคนว่าจะติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจัง ปรากฏว่าขบวนรถไหลตามกันเป็นแถว จากตะกั่วป่าขยายเป็นม็อบใหญ่ที่ศาลากลางจังหวัดพังงารวมกว่า 12-13 วัน ทุกวันนี้เวลาเห็นม็อบเด็ก ป้าถึงเชื่อว่าเวลาที่คนจะนำขบวนมันไม่จำเป็นต้องมีคนจ้าง มันเป็นพลังของเรา นำทางด้วยศรัทธา
…พอม็อบขึ้นวันที่ 10 ป้าก็ถูกจี้โดยกลุ่มพวกนายทุนและผู้มีอำนาจเพื่อให้ไปเจรจา เขาเตรียมเงินมาเยอะมากในกระเป๋าแบบเจมส์บอนด์ มี M-16 วางบนกระเป๋าอีกที ขอให้ป้าสลายม็อบ ป้าก็ยืนยันว่าวันนี้ม็อบไม่ได้อยู่ด้วยการนำของป้า ป้าหายไปสักคน ม็อบก็ยังอยู่ จะเอาเงินมาให้หรือจะยิงป้าทิ้ง ม็อบก็ยังอยู่ ถ้าส่งป้ากลับไป ป้าอาจจะหาทางให้ม็อบค่อยๆ ลงอย่างสงบ พยายามพูดเพื่อซื้อเวลาจนในที่สุดไม่ได้ถูกอุ้ม แต่ 3 วันต่อมาก็มีการสลายม็อบ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) นำโดยขบวนรถ GMC มาถึงก็กราดยิง คนตายไปน่าจะ 18 คน ไม่แน่ใจว่ารัฐต้องการสลายม็อบหรือต้องการเอาชีวิตเสือขิน เพราะวันนั้นเสือขินมาเยี่ยมม็อบแต่เขาจับเสือขินไม่ได้ ส่วนป้าก็หนีออกมาได้และม็อบก็สลาย”
เหตุการณ์สลายม็อบทำให้ทิชาต้องหนีขึ้นไปกรุงเทพฯ แต่เธอก็ยังไม่หยุดการเคลื่อนไหวโดยกลับไปขึ้นเวทีนำม็อบที่สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราชในงานเดือนสิบ จนในที่สุดนำไปสู่คำสั่งให้เธอออกจากการเป็นข้าราชการด้วยข้อหา ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’
อำนาจร่วม
แม้ในวันนั้นทิชาจะไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงรัฐ แต่นี่คือหนึ่งในประสบการณ์ที่ทำให้เธอได้ตระหนักถึงข้อจำกัดของการใช้ ‘อำนาจนิยม’ ที่สร้างเพียงความสงบเปราะบางบนระเบิดเวลาของปัญหาที่ยังไม่ถูกแก้ กระบวนการของบ้านกาญจนาภิเษก จึงเลือกที่จะสร้างอำนาจในอีกรูปแบบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความเหนือกว่าหรือกำลังในการแสดงออก แต่มาจากความเข้าใจและการยอมรับร่วมกัน หรือที่ทิชาเรียกว่า ‘อำนาจร่วม’
“คุกหรือสถานที่ที่ต้องดูแลคนเยอะๆ อย่างเช่นโรงเรียนมักใช้อำนาจนิยม อำนาจนิยมซ่อนเรื่องราวต่างๆ ไว้มากมายโดยเฉพาะความรู้สึกไม่ปลอดภัย นำไปสู่สมการสำคัญคือ ‘ความลับทำให้เราป่วย’ เพราะถ้าเราเก็บอะไรไว้มันอักเสบ เจ็บแต่ไม่เจอทางออก จับพลัดจับผลูเราก็ผลิตซ้ำความเจ็บเดิมอีก เพราะมันไม่ถูกรักษา ไม่ถูกขัดเกลา เจียระไน อำนาจนิยมเอาความสงบเป็นที่ตั้ง ข้างในจะระอุแค่ไหน ไม่มีใครมองเห็น เช่นสั่งให้เด็กนั่งเงียบๆ เวลาเด็กมีปัญหา ส่วนเด็กจะมีปัญหาอะไรเราก็ไม่รับรู้ บอกแค่ว่ามึงอย่าทะเลาะกัน มันก็แก้ปัญหาไม่ได้จริง แต่ถ้าเอาอำนาจนิยมออกแล้วใช้อำนาจร่วม ให้เด็กร่วมคิดร่วมตัดสินใจ เขาจะรู้สึกมีคุณค่า
…เช่นที่นี่มีโต๊ะสนุกเกอร์ ซึ่งถ้าคิดตามหลักอำนาจนิยมจะไม่ยอมให้มี เพราะกลัวโต๊ะสนุกเกอร์จะเป็นปัญหาแต่พอใช้อำนาจร่วม เราไม่กลัว เราจะถามเด็กๆ ว่าโต๊ะสนุกเกอร์ในความหมายของคนทั่วไปเป็นปัญหาหรือโอกาส เด็กก็บอกว่าเป็นปัญหา ถามต่อว่าถ้าจะเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสต้องทำยังไง เด็กเขาจะคิดกติกาที่จะอยู่ร่วมกับโต๊ะสนุกเกอร์ออกมาเยอะเลย เช่นไม่เล่นพนัน ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ทำลายข้าวของเวลาแพ้ เราเอากติกาที่เขาช่วยกันคิดไปแปะไว้แล้วก็เอาโต๊ะสนุกเกอร์มา เชื่อไหม กติกาอันนี้ถูกใช้อยู่พักเดียวเท่านั้นเอง ป้ายไม่ทันซีดเลย วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันกับโต๊ะสนุกเกอร์ก็เข้ามาแทนที่ แน่นอนว่าเป็นไปได้ที่เด็กบางคนไม่เคารพกติกา แต่เวลาเรียกเขามาคุยจะง่ายมากผมทำแบบนี้เพราะป้าหลงลืมอะไรไปหรือเปล่า เขาก็จะตอบมาว่าผมหลงลืมเองครับ ผมขอโทษครับ”
ทิชาตระหนักว่าแนวคิดและกระบวนการสร้าง ‘อำนาจร่วม’ อาจมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติสำหรับบริบทที่ใหญ่ขึ้นและเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมหาศาลอย่างสังคมหรือประเทศ กระนั้น ต่อให้ไม่เป็นกฎหมาย แต่อำนาจร่วมในฐานะวัฒนธรรมและวิธีคิด ควรเป็นของสามัญของประเทศ หรืออย่างน้อยๆ ก็สามัญมากกว่าการกดขี่ข่มเหง เพราะเมื่อใดที่อำนาจร่วมกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนและวิธีคิดของคนในสังคม ก็จะกลายเป็นทางปฏิบัติที่ธรรมชาติและไม่ยากเย็น
“ในสเกลขนาดใหญ่ การใช้อำนาจร่วมอาจไม่ง่าย แต่อย่างน้อยถ้าเราได้ทดลองใช้ในสเกลเล็กๆ เช่นทุกโรงเรียนอาจไม่ให้อำนาจร่วมเหมือนกัน แต่โรงเรียนมีหลายห้องเรียน ครูที่เข้าใจ สนใจ ใจกว้าง ก็ลดการใช้อำนาจแนวดิ่ง หันไปฟังเสียงเด็กๆ ให้เด็กๆ ร่วมกำหนดวิธีการในการอยู่ร่วมกัน เช่น การอยู่แบบไม่บูลลี่ยากไหม ทำได้ไหม ทำอย่างไร ถึงที่สุดจิ๊กซอว์เหล่านี้จะมาต่อกันเอง กลายเป็น critical mass เป็นมวลที่ขนาดใหญ่ขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น
…อย่างที่บ้านกาญจนาภิเษก เวลารับเด็กใหม่ ซึ่งปกติจะยังปรับตัวไม่ได้ทันที คนที่เคยเป็นขาใหญ่ของคุกหนึ่งมาถึงใหม่ๆ ก็จะยังทำท่าเป็นขาใหญ่อยู่นั่นแหละ จนอยู่ไปได้ 2-3 วัน เด็กที่ทำหน้าที่ ‘อาสาสมัครดูแลต้นไม้ย้ายกระถาง’ จะส่งสัญญาณเองว่าที่นี่เขาไม่ทำอย่างนี้กัน จะไม่มีการเข้าไปจัดการแบบอำนาจนิยมหรือให้เจ้าหน้าที่ไปสั่งมึงต้องสงบ แต่เป็นการเจรจาง่ายๆ ผ่านคนวัยเดียวกัน ระหว่างนั้นเขาจะเหลียวซ้ายแลขวาและเห็นว่าไม่มีใครเขาทำแบบนั้นจริงๆ ในที่สุดวัฒนธรรมของพื้นที่ที่เขาอยู่ก็จะมาช้อนรับเขา
…หรือเด็กที่ทำหน้าที่ดูแลต้นไม้ย้ายกระถางอาจจะพาเพื่อนไปทัวร์ห้องน้ำ บอกว่าห้องน้ำที่นี่ไม่มีการเขียนคำหยาบด่าใคร หากมีปัญหาอะไรมีตู้ให้เขียนจดหมายถึงป้า ซึ่งทุกปัญหาจะได้รับการแก้ไขและปลอดภัย รุ่นพี่เขาทำมาอย่างนี้ กูเลยทำต่อ มึงก็ทำต่อจากกูนะ แน่นอนไม่ได้แปลว่าทุกคนจะปรับได้ทันที อาจมีเด็กที่ยังเขียนห้องน้ำทั้งที่กลุ่มต้นไม้ย้ายกระถางคุยกับเขาแล้ว แต่พอเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแรง จะมีคนมาบอกเองว่ามีคนไปเขียนห้องน้ำ เราอาจจะไปถ่ายรูปแล้วชวนคุยกันจากภาพนั้นว่า ป้า เจ้าหน้าที่หรือใครหลงลืมอะไรไหม คนที่ทำก็อาจจะอุ่นๆ ร้อนๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เขารู้สึกก็คือปลอดภัยแต่ไม่ลอยนวล ถึงที่สุดเขาก็รู้สึกผิด ได้บทเรียน ได้สัดส่วน
หลังจากถูกไล่ออกจากราชการ แม่มาช่วยเก็บของ แล้วก็พร่ำพูดคำว่า ‘ไม่เป็นไรๆ’ แม่ไม่ได้รู้สึกเสียดาย ไม่ได้ถามว่าทำไปทำไม เห็นไหมในที่สุดเราก็ไม่เหลืออะไร แล้วไม่ใช่แค่ฉากนี้ฉากเดียวในชีวิต เวลาป้าทำอะไรแย่ๆ หรือเสียหายตั้งแต่เด็กจนโต แม่จะบอกว่าไม่เป็นไร คำว่าไม่เป็นไรของแม่เป็นเหมือนพร
…ในเชิงระบบ โรงเรียนควรจะเปิดพื้นที่ให้มีกระบวนการแบบนี้ ไม่ต้องอัดกันเต็มที่แบบบ้านกาญจนาภิเษกก็ได้และเวลาไปเริ่มต้นกับเด็กที่ยังไม่ได้ก่ออาชญากรรมน่าจะง่ายกว่า ถ้าปล่อยจนเขาไปฆ่าคนมาแล้ว Identity ของเขาพังแล้ว อย่างเด็กที่นี่บางคนผ่านสถานควบคุมมาแล้วหลายแห่งจนรู้สึกว่ากูดีไม่ได้แล้ว แบบนี้ก็ต้องถอนพิษกันหนัก บางทีเราก็มีปัญหากับศาล เช่น กรณีที่ศาลสั่งเด็กที่มีโทษ 8 เดือนมาอยู่กับเรา พอเราไม่รับก็กลายเป็นเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล แม้จะชี้แจงไปแล้วว่าเครื่องมือในการทำงานของเราไม่ใช่เปลี่ยนพฤติกรรม แต่เปลี่ยนวิธีคิด ต้องใช้เวลาปีครึ่งขึ้นไป น้อยกว่านั้น Mindset ยังไม่เปลี่ยน พูดเป็นสมการคือเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ได้วิธีคิด เปลี่ยนวิธีคิดได้พฤติกรรม พอความคิดเปลี่ยน พฤติกรรมเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน”
พรจากแม่
แม้จะผ่านการสัมภาษณ์มานับไม่ถ้วน บางครั้งดวงตาของทิชายังสั่นไหวด้วยแววสะท้อนของน้ำตายามเล่าเรื่องราวของเด็กที่ผ่านเข้ามาในรั้วบ้านกาญจนาภิเษก ถ้อยคำเด็ดขาดดุดันที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบดั่งเช่นที่ปรากฏบนเฟซบุ๊กหรือติ๊กต๊อกของเธอ ดูจะละลายหายไปในทันทีที่พูดถึงเรื่องชีวิตของเด็กๆ ไม่ต่างจากที่เธอพยายามสื่อสารกับสังคมอยู่บ่อยครั้งว่า “วัยเยาว์มีให้ผิดพลาด และการเยียวยาที่ประณีต” สังคมอาจเข้าใจว่านี่คืออุปนิสัยความเป็นแม่พระส่วนตัว แต่ทิชากลับยกเครดิตให้กับอดีตที่ผิดพลาดและการเยียวยาอันประณีตที่เธอได้รับมาจากแม่ของเธอ
“แม่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับการตัดสินใจหลายๆ อย่าง แม่ไม่เคยมีความคาดหวังใดๆ กับป้า หลังจากถูกไล่ออกจากราชการ แม่มาช่วยเก็บของ แล้วก็พร่ำพูดคำว่า ‘ไม่เป็นไรๆ’ แม่ไม่ได้รู้สึกเสียดาย ไม่ได้ถามว่าทำไปทำไม เห็นไหมในที่สุดเราก็ไม่เหลืออะไร แล้วไม่ใช่แค่ฉากนี้ฉากเดียวในชีวิต เวลาป้าทำอะไรแย่ๆ หรือเสียหายตั้งแต่เด็กจนโต แม่จะบอกว่าไม่เป็นไร คำว่าไม่เป็นไรของแม่เป็นเหมือนพร มี impact กับป้ามากๆ โดยเฉพาะครั้งแรกคือที่ถูกไล่ออกจากราชการ กับครั้งที่ 2 เรื่องครอบครัว
…ป้ามีแฟนตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี แต่มาเริ่มแตกหักกันตอนที่ป้าออกไปนำม็อบ เพราะแม่แฟนที่เป็นพยาบาลรับไม่ได้ที่ป้าขึ้นไฮปาร์คบนหลังคารถและขึ้นหน้าหนึ่งเดลินิวส์ ไทยรัฐ ป้าก็ต้องเลิกกับแฟนไปพักหนึ่ง พอถูกไล่ออกจากราชการก็ขึ้นมาที่กรุงเทพฯ แล้วสมัครงาน NGO ที่ทำเรื่องผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ช่วงนั้นได้กลับมาคืนดีกับแฟน จนมีลูกคนแรกชื่อ โคมฉาย ตามเพลงในการเคลื่อนไหวของนักศึกษา ‘นี่คือโคมฉายที่จะสาดส่องให้มวลพี่น้องอยู่สุขทุกถิ่น หมดสิ้นความจน ส่วนฉันและเธอเปรียบดุจตะวัน’ แต่ตอนที่เราพักกันไป แฟนคงไปมีคนอื่น ความสัมพันธ์ที่กลับมาใหม่ก็ไม่ค่อยดี ในที่สุดก็ต้องเลิกกัน แต่ตอนนั้นป้าตั้งท้องลูกคนที่ 2 ชื่อ ดวงตะวันแล้ว ป้ารู้สึกว่าตัวเองอับอาย ด้อยค่า พยายามแล้วก็ยังดึงคนรักไว้ไม่ได้ แต่ในที่สุดคำพูดว่า ‘ไม่เป็นไร’ ของแม่ก็กลับมา การต้อนรับของแม่เป็นพลังใจให้เราไม่โดดเดี่ยว”
แน่นอน สังคมปัจจุบันไม่ได้มองการหย่าร้างด้วยสายตาตัดสินแบบเดิมๆ แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่ายุคสมัยใด การหย่าร้างก็ยังเป็นเรื่องที่เจ็บปวดสำหรับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีของทิชา เหตุการณ์ครั้งนั้น รวมถึงการที่เธอต้องถูกพรากลูกคนที่สองที่เพิ่งคลอดได้ไม่กี่วันไปนานกว่าสิบเอ็ดเดือน เพื่อกดดันให้เธอยินยอมหย่ากับอดีตสามี โดยลูกถูกฝากไว้กับโรงพยาบาลที่แม่ของอดีตสามีทำงานระดับบริหาร สุดท้าย ทิชาต้องตัดสินใจใช้จังหวะที่แม่อดีตสามีป่วยและต้องไปเข้าโรงพยาบาลอีกโรงพยาบาลหนึ่งเพื่อบุกเข้าไปเอาลูกคืนมา
“ตลอดเวลาสิบเอ็ดเดือนเราก็จะไปหาลูกเกือบทุกวัน ระยะทางไกลมากแต่คุณย่าจะคอยไล่เรากลับ พูดว่าเด็กเริ่มติดเธอแล้ว ถ้าไม่อยากเจ็บปวด เธอต้องไม่มาพบเขา เราก็ยืนยันว่าไม่ได้ เพราะเขาเป็นลูกเรา พี่ของเขาก็อยู่กับเรา เด็กสองคนต้องเติบโตด้วยกัน จนวันหนึ่งคุณย่าไม่สบายต้องไปแอดมิทอีกโรงพยาบาล ที่นั่นคุณย่าไม่ใช่ผู้บริหาร เป็นจังหวะให้ป้าตัดสินใจเจรจากับแท็กซี่ที่รู้จักให้ไปส่งที่โรงพยาบาลและสตาร์ทรถรอไว้ เพราะเราจะไปขโมยเด็กที่เป็นลูกเรา โรงพยาบาลจะแจ้งความ ป้าก็บอกว่าป้าเป็นแม่ ถ้าฟ้องกัน โรงพยาบาลก็แพ้อยู่แล้ว ป้าถึงได้ลูกคืนมา แล้วก็รีบตามอดีตสามีมาทำเรื่องหย่า มีบันทึกการหย่าให้เขาไม่ต้องรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้เขาเอาลูกไปอีก นับแต่นั้นลูกป้าก็ไม่ได้พบกับพ่ออีกเลย”
มรสุมส่วนตัวครั้งนั้นเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ยืนยันถึง ‘พร’ หรือการเยียวยาที่ศักดิ์สิทธิ์ของแม่ เพราะทิชาไม่เพียงสามารถประคองตัวเองผ่านการหย่าร้างพร้อมกับลูกอ่อนอีกสองคน แต่ต่อมาเธอยังเข้าทำงานที่ ‘สหทัยมูลนิธิ’ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ยิ่งกว่านั้น สหทัยมูลนิธิมีบริการหาพ่อแม่บุญธรรมเพื่อให้เด็กกำพร้าได้มีครอบครัว บางครั้งหากยังหาครอบครัวไม่ได้ในทันที ทิชาได้เปลี่ยนบ้านของตนเองให้เป็นบ้านฉุกเฉินที่รับเด็กเหล่านี้มาดูแลนับรวมได้กว่า 14 ราย กระทั่งลูกแท้ๆ ของเธอที่เติบโตขึ้นมาก็ยังต้องช่วยแม่เลี้ยงน้องเหล่านี้ ชัดเจนว่าพรที่ทิชาได้รับจากแม่ได้ถูกส่งต่อไปให้หญิงอื่น เด็กอื่น หรือสังคม
“ที่สหทัยมูลนิธิ ป้าได้ทำงานกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีคนร่วมรับผิดชอบ เราเห็นความทุกข์ความกังวลใจของเขา เราก็เคยเป็นแบบนั้น แต่เราก้าวออกมาได้ เติบโตไปพร้อมกับลูก เช่น มีเคสเด็กที่ได้พ่อแม่บุญธรรมแต่พอพ่อแม่ฝรั่งบินมารับเขาไม่ยอมไป ป้าก็เลยมาปรึกษาลูกซึ่งวัยไล่เลี่ยกัน ในที่สุดลูกป้ายอมหยุดโรงเรียนอาทิตย์หนึ่ง เพื่อชวนเด็กคนนั้นมานอนที่บ้าน เป็นเพื่อนไปเที่ยวกับพ่อแม่ฝรั่ง ไปสวนสัตว์ ไปรับประทานอาหาร จนเขากล้าอยู่กับพ่อแม่บุญธรรมได้โดยไม่มีลูกสาวป้า ถึงได้ถอนตัวออกมา ตอนนี้เขาน่าจะเป็นเจ้าของคอกม้าที่ประเทศอเมริกาไปแล้ว เทคนิค Child to child แบบอาสาสมัครดูแลต้นไม้ย้ายกระถางก็ได้มาจากลูกป้า
…แต่จนถึงวันที่ลูกป้าอายุกว่า 40 ปีทั้งสองคน และไม่ได้เห็นหน้า พบปะพ่อเขาเลย ป้าก็อยู่อย่างไม่มีใคร ช่วงที่ลูกอายุ 40-41 ปี ทางครอบครัวอดีตสามีป้าโทรมาแจ้งว่าสามีป้าเสียชีวิต ตอนนั้นตัวป้าเองเพิ่งผ่าตัดมะเร็งเต้านมและเพิ่งให้คีโมครั้งแรกเลยปรึกษาลูกสาวว่าจะไปงานศพหรือไม่ เธอบอกว่าไป อยากไปให้อภัยพ่อ เราเลยเหมารถตู้ไปจังหวัดระนองเพื่อกราบศพพ่อ ระหว่างนั่งรถกลับ ลูกสาวบอกว่าการจากไปของพ่อโดยที่พ่อสุขภาพดี ไม่ได้เจ็บป่วยมาก่อน เหมือนพ่อได้รับผิดชอบชีวิตแม่ด้วยชีวิตของตัวเอง จึงคิดว่าแม่จะต้องรอด ผ่านการเจ็บป่วยได้อย่างราบรื่น ฟังแล้วถ้าขี้อิจฉา เราคงรู้สึกว่า เฮ้ย! ลูกเอาเวลาไปรักพ่อตอนไหน แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปตลอดเวลาที่เลี้ยงเขาโดยไม่มีพ่อ ไม่รู้จักพ่อ ไม่มีแม้แต่วันเดียวที่เราพูดว่าพ่อเขาไม่ดี”
หลังจากทำงานที่สหทัยมูลนิธิได้ 27 ปี ทิชาก็มาเริ่มงานที่บ้านกาญจนาภิเษกในปี 2546 การต้องเป็นป้ามลให้กับลูกหลานในบ้านกาญจนาภิเษกหลายสิบปีดูจะกลบกลืนภาพการเป็นแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวของลูกสาวสองคนของเธอไปแล้ว ดังนั้นคนทั่วไปถ้าไม่ทราบว่าทิชามีบุตร ก็อาจเข้าใจไปเองการเลี้ยงลูกตัวเองของเธอคงเป็นแบบสามัญ ไม่เหมือนกับแบบ ‘บ้านกาญนาภิเษก’ น้อยคนจะรู้ว่าสำหรับทิชาแล้ว การเลี้ยงลูกในสองบ้านไม่เพียงแต่ไม่ต่างกัน แต่การเลี้ยงลูกในไส้นี่เองคือสิ่งที่ทำให้เธอเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าการเปลี่ยนแปลงเด็กโดยมั่นใจในปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ในทุกกรณี ไม่ว่าความเชื่อมั่นนี้จะถูกทดสอบบ่อยครั้งเพียงใดตลอดชีวิตการทำงานของทิชา แต่ก็ยากจะสั่นสะเทือนเธอได้มากไปกว่าสิ่งที่เคยขึ้นกับตัวเธอและลูกของเธอ
“ป้าตั้งท้องลูกคนเล็กตอนมีสัญญาณว่าพ่อจะไม่ได้อยู่กับเขาแล้ว ป้าเลยรู้สึกว่าป้าไม่ควรมีลูกคนเล็ก จึงตัดสินใจไปที่คลินิกมีชัยแถวสุขุมวิท ก่อนหน้านั้นก็พยายามทำแท้งเองด้วยหลายๆ วิธี แต่ไม่เวิร์ก พอไปที่มีชัย เขายอมรับการตัดสินใจของป้าแต่ต้องให้สามีมาเซ็นเอกสารยินยอม ตอนนั้นป้าพยายามตามหาสามีแต่ไม่เจอ จนเวลาผ่านไปถึงเกือบเดือนที่ 7 เราก็ไม่กล้าแล้ว เพราะเด็กก็โต ท้องก็โต เลยตัดสินใจยุติตรงนั้น
สักสองยาม เล็กวิ่งมาหาป้าและบอกว่าในเด็กที่รับเข้ามาใหม่ 51 คน มีคนหนึ่งชื่อใหญ่ เป็นลูกคนที่ผมฆ่า ผมรู้นานแล้วว่าใหญ่ถูกจับอยู่บ้านกรุณา แต่ไม่รู้ว่าจะมาถึงที่นี่ ช่วงหัวค่ำตอนเดินสวนกัน มันบอกผมว่า กูมาที่นี่เพื่อเอามึงโดยเฉพาะ
...ถึงวันนี้แม่ต้องขอโทษที่ปัญหาของแม่ถูกส่งไปเป็นปัญหาของลูก มันยังรบกวนแม่อยู่นะ ถ้าคิดตามหลักพัฒนาการเด็ก ตั้งแต่เกิดมาจนถึง 7 เดือนในท้อง ลูกต้องบอบช้ำ ปัจจัยภายในเสียหาย แต่เมื่อตั้งใจจะไปต่อ เราก็พยายามดูแลความมั่นคงทางอารมณ์ การปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านของลูกอย่างจริงจัง ช่วงที่ลูกเป็นเด็กน้อยเวลาพาไปโรงเรียนหรือไปมูลนิธิที่ป้าทำงาน ป้าจะเตรียมวิธีคิด วิธีการรับมือตั้งแต่ตอนกลางคืน เช่น พรุ่งนี้ลูกจะเจอคนเยอะ ถ้าไม่อยากเจอ ให้หลบอยู่ในที่ๆ สบายใจก็ได้ เมื่อรู้สึกว่าพร้อมจะทักทายทุกคนแล้วค่อยออกมา ให้เขารู้สึกว่าเขามีทางเลือกในการจัดการตัวเองหลังจบมหาวิทยาลัยมหิดล คณะสาธารณสุข ช่วงหนึ่งเขาไปทำงานที่รัฐเท็กซัส รู้สึกเหงาบ้างในวันหยุด ก็ให้แม่ช่วยแนะนำคนไทยที่รู้จัก ได้อาจารย์ที่สอนที่มหาวิทยาลัยที่นั่นชวนไปพักด้วย ได้ทำอาหารไทย หรือในปัจจุบัน เขาทำงานในธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงเคยพูดว่าคุณถูกเลี้ยงมาอย่างไร ทำงานเก่งจัง อยากให้ลูกมาฝึกงานด้วย คือหลายสถานการณ์แสดงออกมาว่าเขาแก้ปัญหาเก่ง ปรับตัวดี ไม่มีดิ่ง ช่วยปลดล็อคว่าถึงปัจจัยภายในเสียหาย แต่ปัจจัยภายนอกได้ชี้ขาดอย่างชัดเจน
…นี่คือเหตุผลที่ทุกครั้งที่เจอเด็กๆ ที่มีประวัติบอบช้ำแล้วคนอื่นรู้สึกว่าไม่ฟื้นหรอก ป้าเชื่อว่าฟื้น ในความเป็นจริงมันอาจจะไม่ฟื้นก็ได้ แต่ความเชื่อที่แข็งแรงจะทำให้เราหาทุกวิธี ท้าทายตัวเองทุกๆ ครั้งที่เจอปัญหา ถ้าให้ย่อเป็นสมการก็คือปัจจัยภายนอกชี้ขาดมีจริง ป้ายังเชื่อสิ่งนี้อยู่”
มายาคติของความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งสิ่งที่ไม่ปรากฏในสมการ แต่ปรากฏในความเป็นจริงก็คือแรงกดดันและความท้าทายจากสังคมรอบข้างที่ไม่คุ้นเคยกับเสรีภาพที่บ้านกาญจนาภิเษกให้กับเด็ก ตั้งแต่ครอบครัวผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ในกระบวนการของรัฐ ชุมชนในละแวก ไปจนกระทั่งผู้วางนโยบายหรือนักวิจารณ์ออนไลน์ที่บ่อยครั้งอาจยังไม่ได้รู้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับบ้านกาญจนาภิเษก
“เวลาป้าไปพูดในเวทีสาธารณะเรื่องบ้านกาญจนาภิเษกที่เราตัดสินใจไม่ทำอะไรตามแนวทางเดิมๆ เช่น เราให้เด็กกลับบ้าน หรือเราให้เด็กคดีฆ่าไปเข้าค่ายกับเยาวชนจากโรงเรียนของชุมชนต่างๆ ก็จะมีคนตั้งคำถามทำนองว่า ถ้าเกิดความเสียหาย เด็กไปฆ่าคนเพิ่ม หรือเด็กหนี จะรับผิดชอบอย่างไร ป้าจึงต้องถามกลับว่า ความฉิบหายที่เกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น เจ้าหน้าที่ถูกเด็กทำร้าย เจ้าหน้าที่ทำร้ายเด็ก หรือเด็กทำร้ายกันเองหรือเด็กทุบทำลายสิ่งของ รับผิดชอบกันอย่างไร ตอนนี้บ้านกาญจนาภิเษกกำลังทำในสิ่งที่ไม่ได้ฉิบหายขนาดนั้น ความเสียหายก็ยังไม่ได้เกิด คุณสงสัยอะไร หรือจริงๆ นี่ไม่ใช่เรื่องของสิ่งที่เราทำ แต่เป็นเรื่องของอคติที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง
…ปี 2547 ป้าเริ่มให้เด็กบ้านกาญจนาภิเษก กลับบ้านทุกศุกร์สิ้นเดือน หลายครั้งที่ผู้กำกับสน.ต่างๆ โทรมาเพราะมีผู้เสียหายโทรแจ้งตำรวจว่าเด็กที่โดนจับไปเมื่อหลายเดือนก่อนกลับมาเดินที่ชุมชน พอตำรวจถามว่าหนีมาหรือเปล่า เด็กบอกว่าไม่ได้หนี แต่ผอ.ที่ชื่อทิชาให้กลับ เขาก็เลยต้องโทรมาถามว่าเราทำแบบนี้ได้ยังไง ป้าก็บอกว่ามันเป็นวิธีของเรา ที่ผ่านมาระบบระเบียบให้เด็กกลับบ้านเมื่อเด็กเหลือโทษอีกแค่ 2-3 เดือน เวลาเราคุมเด็กด้วยอำนาจที่แข็งแกร่งนานหลายปี เมื่อเด็กเจอเสรีภาพเขาจะสำลักเสรีภาพ รับมือกับด้านมืดได้ไม่ดี ก่อนจะให้เด็กกลับบ้านเราจึงทำงานกับพ่อแม่และทำกระบวนการที่เชื่อว่าเปลี่ยนวิธีคิด ไม่ใช่แค่พฤติกรรม คุณลองไปถามเด็กสิว่าสองวันที่เขาได้กลับบ้าน เขาคิดปล้นอะไรไหม เด็กต้องเป็นผู้ได้ดมกลิ่นเสรีภาพด้วยตัวเองและถ้าเขาคิดว่ามันหอม เขาก็ต้องออกแรงรักษามันให้ได้
…ไม่ใช่ว่าไม่มีเรื่องที่เป็นด้านมืดของบ้านกาญจนาภิเษก มีอยู่วันหนึ่งเด็กสองคนหนีออกไปปล้น 7-11และเป็นข่าว พวกเราชวนเด็กทั้งบ้านวิเคราะห์ข่าวและเขียนจดหมายถึงเหยื่อ รวมถึงขออนุญาตผู้จัดการร้านพาตัวแทนเด็กสิบคนไปพบเหยื่อ ทันทีที่ไปถึงร้าน ป้าขอกอดน้องผู้หญิงสองคนที่อยู่เวรคืนนั้น ขอโทษที่เราดูแลเด็กที่ก่อเหตุไม่แข็งแรงพอ วันนี้เขาสองคนถูกจับแล้ว แต่พวกเราทุกคนในบ้านไม่สบายใจจึงพากันมาขอโทษ เด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษกพอเห็นฉากแบบนี้ เขาจะรู้เลยว่าความเสียหายขนาดไหนและเขาต้องดูแลตัวเองขนาดไหน สำคัญคือเราไม่ได้เกรี้ยวกราดกับเด็กที่ก่อเหตุให้ทุกคนรู้สึกเกลียดชัง เราพูดคำเดียวว่าเพื่อนยังอ่อนแอ ถ้าเขาแข็งแรง เขาคงไม่ทำ เราเชื่อว่าถ้าไปซ้ำเติม เด็กบางคนที่ยังไม่แข็งแรงจะพลอยหวั่นไหวไปด้วย รู้สึกว่าเมื่อไหร่ที่เขาพลาดเขาจะถูกเราเหยียบเต็มตีน ซึ่งเราจะสร้างร่องรอยแบบนี้ไม่ได้
…ป้าคิดว่าเวลารู้สึกว่าเราควบคุมอะไรไม่ได้ภายใต้การใช้อำนาจร่วม แสดงว่าเรารู้สึกกับมันไม่จริง ถ้าเรารู้สึกกับมันจริงๆ เราจะยอมรับความไม่สำเร็จในบางครั้ง เพราะว่าเด็กแต่ละคนเติบโตไม่เท่ากัน”
ตำนานที่ไม่รู้จบ
ความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้สำหรับเด็กผู้กระทำผิดของทิชา เป็นสิ่งที่สังคมมักเรียกว่าแนวคิด ‘โลกสวย’ หรือแนวคิดที่ฟังดูดีแต่ใช้ไม่ได้จริงในทางปฏิบัติ กระนั้น หากจะประเมินด้วยเกณฑ์ทางปริมาณ อัตราผู้กระทำผิดซ้ำของเด็กที่ออกไปจากบ้านกาญจนาภิเษก ก็ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศหกเจ็ดเท่า หรือหากจะประเมินด้วยเกณฑ์ทางคุณภาพ การเปลี่ยนแปลงของเด็กบ้านกาญจนาภิเษก ในบางกรณีนั้น ก็เรียกได้ว่าเข้มข้นถึงขนาดเอาพล็อตไปสร้างเป็นภาพยนตร์ได้ เช่น ตำนาน ‘เล็กและใหญ่’ หรือเรื่องราวระหว่าง ‘เล็ก’ ผู้กระทำผิดฐานฆ่าผู้ใหญ่ 2 คนตาย จนถูกส่งมาอยู่บ้านกาญจนาภิเษกและ ‘ใหญ่’ ลูกชายของหนึ่งในผู้ตาย ผู้เฝ้าก่อคดีซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อจะได้ติดตามเล็กเข้าสถานพินิจมาล้างแค้นให้พ่อ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วนานปี เรื่องราวที่ทิชาเล่ายังชวนให้หายใจไม่ทั่วท้อง ไม่น่ามีแนวคิดโลกสวยใดที่ตึงเครียดเท่านี้ในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังยากแก่การเล่าโดยตัดทอน เพราะความประณีตของการเยียวยาแบบบ้านกาญจนาภิเษก ปรากฏอยู่ในทุกรายละเอียดของเรื่องราว
“เราต้องมีความเชื่อที่แข็งแรงในคนที่เราปฏิบัติการด้วย ถึงแม้ว่าเขาไม่ได้มีอะไรที่ให้เราเชื่อเลย ก็มึง ติดคุกมา 5 รอบแล้ว เราจะเอาอะไรไปเชื่อ แต่เราต้องเชื่อให้ได้ เพราะถ้าเราปล่อยให้เขาแยกกันอยู่เท่ากับเราลอยนวล ติดอยู่ในเซฟโซน แต่การันตีไม่ได้เลยว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ถ้าคู่ขัดแย้งคู่นี้ไปเจอกันข้างนอก เขาจะไม่ฆ่ากัน มันยากแต่ก็เป็นความรับผิดชอบสูงสุดที่เรามีต่อเขา ขณะเดียวกัน ป้าต้องกล้าเชื่อว่าต่อให้ใหญ่ตั้งใจมาที่นี่เพื่อฆ่าเล็กจริงๆ แต่ถ้าใหญ่มีโอกาสไม่ฆ่าก็คือทางเลือกที่ดีกว่าใช่ไหม
…ตอนใหญ่มาวันแรก ป้ายังไม่รู้เลยว่าใหญ่มีพ่อที่ถูกฆ่าโดยเล็ก แต่พอสักสองยาม เล็กวิ่งมาหาป้าและบอกว่าในเด็กที่รับเข้ามาใหม่ 51 คน มีคนหนึ่งชื่อใหญ่ เป็นลูกคนที่ผมฆ่า ผมรู้นานแล้วว่าใหญ่ถูกจับอยู่บ้านกรุณา แต่ไม่รู้ว่าจะมาถึงที่นี่ ช่วงหัวค่ำตอนเดินสวนกัน มันบอกผมว่า กูมาที่นี่เพื่อเอามึงโดยเฉพาะ ป้าจึงถามว่าเล็กมีข้อเสนออะไรกับป้าไหม เล็กบอกว่าป้าให้ผมไปอยู่ที่อื่นก็ได้ เพื่อให้ที่นี่ไม่นองเลือด ผมได้อะไรดีๆ จากบ้านกาญจนาภิเษกไปเพียงพอแล้ว ใหญ่ควรได้บ้าง ถ้าใหญ่ได้ใหญ่ก็จะดีกว่านี้ หลังจากคุยกับเล็กป้ารีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่เวร เน้นว่าต้องระวังแต่อย่าระแวง เพราะว่าการระแวงจะนำไปสู่การตัดสินใจที่เร็วขึ้นของใหญ่
…สักประมาณตีสอง ป้ายังนั่งทำงาน พยายามหาหาทางออกกับโจทย์ยากที่เพิ่งรับมา มีเด็กคนหนึ่งขึ้นมาหาบอกว่าผมสนิทกับใหญ่ ใหญ่มันไม่นอนเลย พูดแต่เรื่องจะล้างแค้นเล็ก ผมพยายามบอกว่ามึงอย่าทำเรื่องนี้ที่บ้านกาญจนาภิเษก ป้าแกรักพวกเรา แต่ผมประเมินแล้วว่าผมเอาใหญ่ไม่อยู่ ตอนนี้มันหลับเลยรีบวิ่งมาบอก ป้าทำอะไรได้รีบทำ คืนนั้นป้าก็เลยไม่ได้นอนอีกเลย รุ่งเช้ารีบโทรหาผู้ใหญ่ 2-3 คน ทุกคนแนะนำเหมือนกันคือส่งใหญ่กลับ เพราะใหญ่เพิ่งมาเมื่อวาน ป้าจึงถามว่าในอนาคตถ้าเขาหาทางฆ่าเล็กล่ะ ผู้ใหญ่ก็บอกว่านั่นเป็นปัญหาในอนาคตที่ควบคุมไม่ได้ แต่การไม่ฆ่ากันข้างใน เราควบคุมได้โดยการแยกคู่นี้
ความเสี่ยงเป็นเรื่องมายาคติ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจกับนักโทษ และยิ่งใช้ก็ยิ่งเสพติดจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรและทำให้ไม่รู้จักเครื่องมืออื่นๆ
…ป้าไม่ชอบทางออกแบบนั้น ทำให้ย้อนไปเลือกเครื่องมือสามัญนั่นคืออำนาจร่วม และข้อดีของวิกฤติคือมันทำให้ป้าละเอียด รอบคอบยิ่งขึ้น ถึงข่าวลือเรื่องฆ่าเล็กโดยใหญ่มีมาเป็นระลอกๆ แต่กิจกรรมการออกไปกินหมูกระทะในคืนที่ 2 ยังคงดำเนินตามปกติ เพียงแต่เด็กรุ่นนี้มากันเยอะถึง 51 คน จึงต้องแบ่งไปกินหมูกระทะกัน 3 คืน จนกระทั่งกิจกรรมการกินหมูกระทะสิ้นสุดลงในคืนวันที่ 3 สิงหาคม ป้าเรียกเด็กใหม่ 51 คน มาคุยในห้อง บอกกับเขาว่าป้าไม่ใช่คนกลัวคน แต่นาทีนี้ป้ากำลังหวาดกลัว พวกผมรู้ใช่ไหมว่า 51 คนที่นั่งกันอยู่นี้หนึ่งคนเป็นเหยื่อของเด็กเก่าหนึ่งใน 132 คน ข่าวลือที่คู่นี้จะฆ่ากันคุกคามป้ามากป้าต้องมาเล่าให้พวกผมฟัง เพราะผู้ใหญ่ให้จับคู่ขัดแย้งแยกกัน ป้าไม่เห็นด้วย ป้าจึงจะไม่ฟังความคิดใครอีกแล้วนอกจากความคิดของเด็กๆ หน้าห้องคาราโอเกะมีตู้รับจดหมายที่ป้าเปิดได้คนเดียว ถ้าคิดอะไรได้ให้รีบเขียนบอกป้าเลย แต่ตอนนี้ป้ากลัวมากและป้าจะไม่ให้อภัยตัวเองถ้ามีใครต้องตายในบ้านหลังนี้
…ระหว่างที่พูด ป้าอ่านสัญญาณจากแววตาของเด็ก 50 คนได้ว่าพวกเขาอยากช่วยป้า อยากเข้ามาอยู่ในใจป้า บางคนน้ำตาคลอเบ้า เพราะเขารู้สึกว่าในคุกอื่น ผู้ใหญ่ไม่เคยฟังเสียงเด็กๆ แต่ที่นี่ฟังเขา รักเขา เด็กรู้สึก touched กับเรื่องนี้อย่างรุนแรง มีใหญ่คนเดียวที่ก้มหน้าตลอด ไม่รู้ว่าคิดอะไร แต่ป้ารู้ว่าป้าได้ส่งสัญญาณบางอย่างออกไปแล้วก็ให้พวกเขากลับไปนอน ประมาณสักสองยามกว่าๆ เพื่อนของใหญ่คนเดิมเข้ามาบอกว่า ข่าวดีครับป้า ไอ้ใหญ่มันออกไปจากห้องมันเรียกผมไปคุย มันบอกว่ากูไม่อยากฆ่าเล็กแล้ว กูสงสารป้าแก แต่กูจะทำยังไง กูลั่นวาจาไปแล้ว ว้าว! ทันทีที่ป้าได้ยินนี่คือแสงสว่างเลย อาจยังไม่รู้จะทำยังไง แต่รู้ว่าสัญญาณการคิดจะลงจากหลังเสือของใหญ่มาแล้ว
…แล้วเหมือนจักรวาลจัดสรร ป้าดูปฏิทินเห็น 16 สิงหาคมเป็นวันสันติภาพ เป็นแค่วันลอยๆ ไม่มีกิจกรรมอะไร แต่ชื่อคือใช่ ป้าปักหมุด จากนั้นก็หาข้อมูลว่าใหญ่ชอบอะไร เกลียดอะไร มีความฝันอะไร ซึ่งพบว่าใหญ่เล่นกีตาร์เก่ง ชอบปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ มีมุมดีเยอะ แต่ด้วยความที่ติดคุกมารอบที่ 5 เลยไม่เชื่อไม่ไว้ใจใคร จากนั้นเราก็ประสานไปที่ปู พงษ์สิทธิ์ บอกว่ามีเรื่องอย่างนี้ต้องขอใช้เขา ปูคิดว่าหนัง เราบอกว่าไม่ใช่หนัง เรื่องจริงเขาก็ตกลง พอได้ปูมาเราก็มีกำลังใจ จากนั้นก็คิดเรื่องบรรยากาศเรื่องอาหารให้สมฐานะการลงจากหลังเสือของใหญ่ ในที่สุดโต๊ะจีน 33 โต๊ะก็มา
…พอถึงวันที่ 16 สิงหาคม ป้าขึ้นเวทีพูด มีคีย์เวิร์ดคือ 16 วันแล้วที่คู่ขัดแย้งมาเจอกันในบ้านกาญจนาภิเษกด้วยความตั้งใจอยากฆ่าล้างแค้นให้พ่อของผู้เสียหาย แต่วันนี้ยังไม่มีใครตาย หากมีลูกหลานคนใดตายในบ้านหลังนี้ ป้าจะไม่ให้อภัยตัวเอง ดังนั้น การไม่ฆ่าแม้มีโอกาสในช่วง 16 วัน คือของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุดที่เด็กคนหนึ่งได้มอบให้ป้า ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ป้าขอเชิญใหญ่ออกมา กอดเขาและขอบคุณที่ให้ของขวัญกับป้า เพื่อนก็ปรบมือกันเกรียวกราวยาวนาน ใหญ่ออกมายืนงงๆ
…จากนั้นป้าก็บอกว่ายังมีคนที่ใหญ่จะต้องพบอีกคนหนึ่ง แล้วผู้หญิงคนหนึ่งที่เรานัดหมายก็เดินออกมา ใหญ่ตกใจมาก เพราะนั่นคือย่าของเขา ย่าของใหญ่มายืนต่อหน้าเด็กๆ เกือบ 200 คน มีเล็กออกมาด้วย แล้วย่าก็พูดว่า วันที่ลูกของเราถูกเด็กคนนี้ฆ่า เราโกรธมาก เพราะเราหวังว่าลูกจะดูแลเราในวันที่เราแก่เฒ่า แต่ลูกเราถูกฆ่าไปก่อน เราก็สิ้นหวังเสียใจ แต่วันนี้เราต้องมาที่นี่เพื่อให้อภัยเด็กที่ฆ่าลูกเรา เพราะเราไม่อยากให้หลานเราต้องฆ่าใครเพื่อล้างแค้นให้พ่อมัน ไม่เท่านั้น ป้าบอกว่าทุกคนยังต้องรู้จักกับคนอีกคนหนึ่ง นั่นก็คือพ่อของเล็กที่เราแอบเอาไว้ พ่อของเล็กขึ้นเวทีและบอกกับทุกคนว่าวันที่ลูกฆ่าคน 2 คน เขาใจสลายเลย ทุกครั้งที่ไปศาลก็อยากขอโทษครอบครัวคนตายมาตลอด แต่ไม่มีโอกาส เพราะทุกคนไปศาลด้วยความเกลียดชัง ดังนั้น วันนี้พอมีโอกาสได้ขอโทษ เขาปิติกับเรื่องนี้มาก จากนั้นเราก็เตรียมพาน เตรียมบายศรีให้เล็ก ให้พ่อได้กราบขอขมาย่า
…ทั้งหมดนี้ไม่ต้องเขียนบทเลย ในตัวคนทั้งที่เป็นเหยื่อ เป็นผู้กระทำล้วนมี Message อยู่แล้ว พอเลิกงาน เด็กๆ ก็กลับไปเขียนบันทึกก่อนนอน รุ่งเช้าเราก็รีบอ่าน โดยเฉพาะของใหญ่ที่เขียนว่า ค่ำคืนนี้เป็นคืนที่ผมหลับสนิทที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา รู้อย่างนี้ให้อภัยตั้งนานแล้ว ส่วนเล็กก็ขอบคุณย่า ขอบคุณใหญ่ที่กล้าหาญมากๆ ในการไม่แก้แค้น ที่น่าสนใจก็คือเด็กจำนวนมากเขียนว่า เหยื่อผมอยู่ดอนเมือง เหยื่อผมอยู่ปทุมฯ เหยื่อผมอยู่ดินแดง ป้าจัดให้ผมกราบเหยื่อแบบที่เล็กได้กราบเหยื่อได้ไหม วันที่ 16 สิงหาคม จึงกลายมาเป็นงานประจำปีของบ้านกาญจนาภิเษก เปลี่ยนจากวันสันติภาพไปสู่การขอขมา ซึ่งสำหรับเด็กๆ การขอขมาเหยื่อทำให้เขารู้สึกว่าได้ชำระตัวเอง รู้สึกสะอาดขึ้น ได้คลายปมของตัวเอง”
ผลที่ยังกระทบ
เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่อง ความสำเร็จรายกรณีของบ้านกาญจนาภิเษก ถูกต่อยอดเป็นกระบวนการที่สร้างผลลัพธ์ได้ไกลกว่าต้นเรื่อง ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากแค่โชคชะตาหรือจริตนิสัยของเด็ก หากเป็นกระบวนการของบ้านที่ผ่านการทดสอบและใช้งานจริงมาอย่างยาวนาน
“การที่เราตัดสินใจไม่ผิดพลาดแม้แต่องศาเดียว ในกรณีเล็กกับใหญ่ Impact มันแรงมาก จนถึงบัดนี้ยังไม่เสื่อมมนต์เลย เรื่องของเล็กกับใหญ่เป็นทั้งบทความและถูกทำเป็นหนัง ทั้งในรูปแบบสารคดีและในรูปละคร 2 เวอร์ชั่น ทางช่องไทยพีบีเอส ซึ่งเด็กที่เข้ามาใหม่ต้องได้ดูและแลกเปลี่ยนกับอาสาสมัครต้นไม้ย้ายกระถางว่าจะร่วมกันรับผิดชอบประวัติศาสตร์การคืนดีนี้อย่างไร แนวคิดการไม่ใช้ความรุนแรงในบ้านกาญจนาภิเษกจึงยิ่งถูกมัดแน่นขึ้น
…ทุกครั้งของงานคืนสู่เหย้าและใหญ่กับเล็กกลับมา เด็กๆ จะตื่นเต้นมาก เพราะทุกคนได้รู้จักพี่ทั้งสองผ่านหนัง บางทีรุ่นน้องบางกลุ่มเผลอเหยียบตีนกัน พี่ใหญ่จะกลับมาและพูดต่อหน้าน้อง กูเนี่ย—ขนาดพ่อกูถูกฆ่า คนฆ่าพ่อกูคือไอ้เล็ก เรายังจบมันได้เลย แล้วมึงทะเลาะกันเรื่องอะไร หรือในกรณีที่พี่ใหญ่มาไม่ได้ ก็จะพูดผ่านคลิปเพื่อเปิดให้น้องๆ ดู ได้ผลดีกว่าผู้กำกับสน.ต่างๆ ดีกว่าปลัดกระทรวงยุติธรรม ดีกว่าอธิบดีกรมพินิจฯ ดีกว่าใครต่อใครที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจทุกรูปแบบ
…แต่ที่มากกว่านั้น ก็คือเมื่อใหญ่กลับไปชุมชนร่มเกล้าที่มีแก๊งเยอะมาก ใหญ่พยายามชวนพี่ๆ จากทุกแก๊งมาเจรจาเพื่อคืนดีกัน รุ่นน้องจะได้ไม่ต้องเติบโตมาเป็นคู่ขัดแย้ง หรือครั้งหนึ่งเราเคยมีเด็กคดีค้ายาเสพติดมาบ้านกาญจนาภิเษก 5 คน ปรากฏว่าทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใหม่เอี่ยมคนละเครื่องที่พ่อค้ายาฝากพ่อแม่มาให้ตามที่เขาบอกเด็กๆ ไว้ว่าถ้าถูกจับเดี๋ยวกูดูแลส่งเสียมึงเอง เมื่อพี่ใหญ่ทราบเรื่องก็นัดแก๊งนั้นมาคุยและเอาโทรศัพท์ทั้ง 5 เครื่องคืนพร้อมสั่งว่า มึงอย่ายุ่งกับบ้านกาญ-จนาภิเษก น้องๆ กำลังเรียนรู้ที่จะเติบโตและเปลี่ยนแปลง ที่นี่บ้านกู พวกนั้นก็รับทราบและยอมถอย พี่ใหญ่เป็นของขลังของที่นี่”
ลอดรั้วอำนาจรัฐ
ท่ามกลางกรณีศึกษาหลากหลายที่บรรจุไว้ซึ่งชัยชนะใหญ่น้อยของบ้านกาญจนาภิเษก ตลอดการสัมภาษณ์ สิ่งเดียวที่หลายคนยังตั้งความหวังกับทิชา และทิชาก็ตั้งความหวังกับตัวเอง คือการทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนาภิเษก กลายเป็นหลักมากกว่าข้อยกเว้น แน่นอนว่ารัฐมีภารกิจโดยตรงที่จะรับผิดชอบสิ่งที่เกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมอย่างการฟื้นฟู เยียวยาผู้กระทำผิด กระนั้น โดยสภาพ ‘อำนาจรัฐ’ คือธรรมชาติที่ปฏิเสธ ‘อำนาจร่วม’ ในแบบของบ้านกาญจนาภิเษก นี่คือสาเหตุที่ทำให้ทิชาพยายามใช้ช่องทางตามมาตรา 55 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ที่เปิดโอกาสให้รัฐออกใบอนุญาตให้ ‘เอกชน’ เป็นผู้จัดตั้งสถานฝึกอบรมเกี่ยวกับเด็กในกระบวนการยุติธรรม มากกว่าจะดำเนินการเอง
“ในช่วง 5 ปีแรกที่มาทำที่นี่ มันเป็นสงครามทางความคิดระหว่างป้ากับเจ้าหน้าทีบ้านกาญจนาภิเษก ผสมไปกับการค้นหาเครื่องมือ วันนี้เราค้นพบเครื่องมือที่เป็นนวัตกรรมของเราแล้ว แต่มันไม่เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรรัฐ เราเลยคืนให้รัฐหรือให้รัฐทำไม่ได้ พระองค์ภาฯ เคยเสด็จมาบ้านกาญจนาภิเษกหลายครั้ง ท่านถามว่าปัจจัยสำเร็จของบ้านกาญจนาภิเษกคืออะไร ป้าก็ตอบอย่างจริงจังว่าที่นี่มีความเป็นรัฐน้อยมาก จนถึงขั้นไม่มีเลย แต่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่นี่ก็ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เขาก็ฝึกฝนฝึกฝืนกันอยู่ แต่ถ้าเลือกได้ ป้าจะรับรุ่นพี่บ้านกาญจนาภิเษกมาทำแทน ดังนั้น วันนี้เราพบว่ามีมาตรา 55 ที่เปิดช่องให้เอกชนเข้ามาทำ เราจึงเลือกต่อสู้เพื่อเปิดช่องทางนี้ เรียกร้องให้มี ‘กฎกระทรวง’ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับรองออกมา
สิ่งที่ผมอยากบอกคือป้าต้องกอดเด็กต่อไป อย่างผมต้องใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะรู้ว่าป้ารัก กว่าจะหมดข้อสงสัย แต่วันหน้าป้าอาจจะเจอเด็กบางคนที่ต่อให้กอดมาปีหนึ่งแล้ว มันก็จะยังคิดว่าป้าเฟค แต่ป้าต้องกอดมันต่อไป เพราะว่าเราแผลลึกและตื้นไม่เท่ากัน
…สู้กับเด็กที่นี่ก็ยากแบบหนึ่ง สู้กับพ่อแม่ที่มี fixed mindset ก็ยากแบบหนึ่ง แต่สู้กับอำนาจในชื่อของนักกฎหมายยิ่งยากกว่า แต่ที่ป้ารู้คือพอเราผ่านแรงเสียดทานมาได้ เราจะไม่เหมือนเดิม เช่นครั้งหนึ่งศาลมีจดหมายให้บ้านกาญจนาภิเษกส่งตัวเด็ก 13 คน กลับคืนสถานควบคุมที่ส่งตัวพวกเขามาเมื่อสองเดือนก่อน แต่ในเมื่อระหว่างที่อยู่กับเรา เด็ก 13 คนไม่ได้มีปัญหาใดๆ เลย ป้าจึงตอบศาลตามข้อเท็จจริงและขอไม่ส่งเด็กกลับ หมายศาลก็เลยมาถึงนางทิชาและพวก 13 คน ป้าต้องไปแถลงต่อสู้เพื่อปกป้องเด็กๆ ซึ่งไม่ง่ายเพราะทุกคนไม่สู้จนเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราไม่สามารถรักษาจุดยืนของเรา เราจะปกป้องใครได้ สิ่งนี้เป็นข้อค้นพบจากงานของเรา ถ้ามันถูกทำลายง่ายๆ ด้วยอำนาจ เราจะไม่มีนวัตกรรมอะไรอีกเลยประเทศนี้ โดยเฉพาะนวัตกรรมทางสังคมสำหรับผู้ที่ก่ออาชญากรรม
…มีคนไทยคนหนึ่งสอนหนังสืออยู่ฮาร์วาร์ดพอได้เจอหนังสือ ‘เด็กน้อยโตเข้าหาแสง’ และได้มาดูงานที่บ้าน เขาทึ่งว่าบ้านเรามีเครื่องมือที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์และเป็นมนุษย์มาก จึงขออนุญาตจัดวงคุยเรื่องบ้านกาญจนาภิเษกที่ฮาร์วาร์ด ในงานมีคำถามหนึ่งถามว่าเด็กเหล่านี้ก่อคดีความรุนแรง แต่บ้านกาญจนาภิเษก กลับให้เสรีภาพอย่างมาก คนที่ทำงานบ้านกาญจนาภิเษก รับมือกับความเสี่ยงอย่างไร ป้าก็เลยตอบไปว่าสำหรับป้าความเสี่ยงเป็นเรื่องมายาคติ เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามจะสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจกับนักโทษ และยิ่งใช้ก็ยิ่งเสพติดจนเป็นวัฒนธรรมองค์กรและทำให้ไม่รู้จักเครื่องมืออื่นๆ
…เราเพียงต้องซื่อสัตย์ต่อทุกคน คือซื่อสัตย์กับตัวเองกับเด็กที่เป็นผู้กระทำ กับผู้เสียหาย หรือแม้แต่กับคนที่เกลียดชังเรา ป้าเคยเจอนักวิจารณ์ทางออนไลน์ว่าป้าต้องใช้เงินซื้อเด็กพวกนี้มาสร้างความชอบธรรมให้ตัวเอง และตั้งข้อสงสัยที่มาของเงิน ป้าบอกว่าป้าจะฟ้องคุณก็ได้ แต่ป้าไม่ทำ ขออย่างเดียวให้คุณมาร่วมงานในวันที่เราปฐมนิเทศพ่อแม่ เขาก็มาจริงๆ ปรากฏว่าพอฟังเสร็จเขาก็น้ำตาคลอเบ้า บอกกับเมียว่ากูคิดอะไร กูเป็นบ้าอะไรไป เพราะเขาได้เห็นเด็ก เห็นพ่อแม่ของเด็ก เห็นป้ากอดเด็ก
…ระหว่างกอดเด็กๆ ป้าจะบอกว่าป้าคิดถึงเหยื่อของผมเสมอ แต่ป้าเชื่อว่าถ้าปาฏิหาริย์มีจริงและพาผมกลับไปในค่ำคืนนั้นอีกครั้งได้ ผมคงไม่ฆ่าเขา ผมอาจมีทางเลือกไม่มากในนาทีนั้น ดังนั้น ระหว่างที่ผมถูกตัดสิน เราจะดูแลผมอย่างดี ไม่ใช่เพราะกลัว แต่ป้าเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีด้านดีและต้องการสิ่งที่ดีงาม และผมไม่เคยได้สิ่งนั้นมาก่อน แต่ผมจะได้จากเรา เรายินดีจะจ่ายแพงที่สุดเพื่อให้ผมกลับไปเป็นของขวัญของพ่อแม่”
คบเด็กสร้าง ‘บ้าน’
สำหรับผู้ได้มีโอกาสรับรู้ถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบ้านกาญจนาภิเษก คำถามหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือสิ่งเหล่านี้มีตัวอย่างจากแห่งใด เพราะถึงทิชาจะมีปริญญาทางด้านจิตวิทยาแนะแนว แต่สิ่งละอันพันละน้อยที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการฟื้นฟู เยียวยา ขัดเกลา เจียระไนเด็กในบ้านกาญจนาภิเษก ไม่ว่าจะเป็นตู้จดหมายสำหรับหยอดความในใจ ค่ำคืนการไปกินหมูกระทะในพื้นที่สาธารณะหรือบายศรีขอขมาเหยื่อ ฯลฯ ดูหลากหลายและเฉพาะตัวเกินกว่าจะถูกยกมาจากตำราของมหาวิทยาลัยใดในโลก แต่นั่นเองอาจเป็นเคล็ดลับของทิชา เธอทำงานของบ้านกาญจนาภิเษกได้ ไม่ใช่เพราะเรียนจบจากไหน แต่เพราะเธอยังเรียนไม่จบ และบทเรียนของเธอก็ยังมีอยู่ทุกวันที่บ้านกาญจนาภิเษก
“แทนที่จะคิดว่าป้าเก่ง มันอาจเป็นเพราะเด็กๆ ไม่ได้เหี้ยมากจริงไหม ที่คิดว่าป้าเก่ง เพราะเราชอบไปคิดว่าเด็กเหี้ย ป้าไม่ได้รู้สึกทึ่งกับตัวเอง มันเป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกไวกับหลายเรื่องที่ผ่านเข้ามา เราศรัทธาในงาน เพราะฉะนั้นเราจะไม่ปล่อยให้ทุกรายละเอียดผ่านไป ป้าอ่านงานของเด็กๆ แล้วจะเอามาเขียนส่งให้พวกเขากลับไป หรือเอาข้อเขียนของเขามาโฟกัสให้เป็นสปอตไลต์ เด็กเขาก็เลยตั้งใจเขียนกัน ต้องไม่ลืมว่าสมัยที่เขาเป็นนักเรียน พื้นที่พวกนี้ไม่ใช่ของเขา การทำอย่างนี้จึงเป็นการ Empower เด็กๆ
…อ่านงานของเด็กๆ แต่ละครั้งจะได้เห็นอะไรที่งดงามมากเลย และเวลาเจอคีย์เวิร์ดมันจะกลายเป็นความรู้ที่เอาไปใช้ต่ออีก มีปีหนึ่งมหาวิทยาลัยที่ป้าเรียนจะครบรอบ 120 ปี และมีไอเดียจะมอบรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นให้ป้าๆ ถามเขาว่าถ้าป้าบอกตรงๆ ว่าความรู้ที่ขับเคลื่อนบ้านกาญจนาภิเษก ป้าไม่ได้มาจากมหาวิทยาลัยเลย แต่มาจากเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษก คุณจะยังให้รางวัลป้าอยู่หรือเปล่า คนอาจคิดว่าดัดจริต แต่ป้ารู้สึกจริงๆ ว่าป้าถูกเจียระไนโดยเด็กๆ ป้าไม่เหมือนกับทิชาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เรื่องของเขาอาจเป็นเรื่องที่ยากจะยอมรับได้ แต่การที่ป้ายอมรับได้ มันจึงไม่ใช่สิ่งที่งอกออกมาเองได้โดยป้าไม่ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเขา
…วันหนึ่งป้าเปิดตู้จดหมายและได้อ่านจดหมายจากเด็กคนหนึ่ง เขาเขียนว่าผมอยู่ที่นี่ 6 เดือนแล้ว มีเรื่องอยากสารภาพ ป้าจำได้ใช่ไหมว่าตอนแรกป้ากอดเด็กทุกคนที่มาถึง แต่วันนั้นผมรู้สึกว่าป้าแม่งเฟค! ผมรู้สึกกับป้าอย่างนั้นจริงๆ ขนาดเพื่อนรุ่นเดียวกันร้องไห้พูดว่าทำไมคนที่นี่รักเราจังเลย ผมยังด่ามันว่ามึงมันโง่ เขาหลอกให้ตายใจ เดี๋ยวเขาก็เอาเราเป็นมือเป็นตีนให้เขา ทุกวันผมก็คอยสังเกตป้าว่าจะหลอกกูไปถึงไหน จนวันนี้ 6 เดือนแล้ว ผมเขียนจดหมายเพื่อขอโทษ ป้าไม่ได้เฟค ผมรู้แล้วว่าป้าทำอย่างนี้กับเด็กทุกๆ คน ทุกๆ วัน แต่สิ่งที่ผมอยากบอกคือป้าต้องกอดเด็กต่อไป อย่างผมต้องใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะรู้ว่าป้ารัก กว่าจะหมดข้อสงสัย แต่วันหน้าป้าอาจจะเจอเด็กบางคนที่ต่อให้กอดมาปีหนึ่งแล้ว มันก็จะยังคิดว่าป้าเฟค แต่ป้าต้องกอดมันต่อไป เพราะว่าเราแผลลึกและตื้นไม่เท่ากัน เพื่อนผมที่ถูกป้ากอดวันเดียวแล้วรู้สึกว่าป้ารัก มันแผลตื้น ผมน่ะแผลลึก แต่สักวันหนึ่งป้าจะเจอเด็กที่แผลลึกกว่าผม
…นับวันป้ารู้สึกว่าป้ารับ ป้าได้จากพวกเขาเยอะมากในเรื่องความรู้ความเข้าใจต่อมนุษย์ที่ไหลจากเขามาสู่ป้า เกินกว่าที่ป้าได้ให้เขา ตอนนี้ป้าอยากเขียนหนังสืออีกสักเล่ม เขียนด้วยตัวเอง เรื่องของเด็ก ที่เป็นผู้กระทำและกลายเป็นผู้รอด สู่การเป็น active citizen เพื่อให้ความหวังกับพ่อแม่หรือครูว่าอย่าเพิ่งด่วนตัดสิน นี่ขนาดเด็กคนนี้ฆ่าคน เขายังย้ายจากกล่องผู้กระทำมาอยู่กล่องผู้รอด ผู้ปกป้องได้เลย และจริงๆ สำหรับเด็กอายุสิบปีขึ้นไป พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายฟังให้มาก บ้านกาญจนาภิเษก รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะเราฟังเขามากกว่าที่จะอบรมสั่งสอน แน่นอนสิ่งที่เขาพูดไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่มันทำให้เรารู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ แล้วเราก็ค่อยๆ หาเครื่องมือที่ประณีตในการเข้าไปจัดการ แต่ถ้าเราไม่ฟัง เราก็จะไม่รู้ แล้วเราก็จะหาแต่เครื่องหยาบๆ ไปใช้ คำนี้ป้าใช้สอนตัวเองตลอด ‘เยาว์วัยมีไว้ให้ผิดพลาดและการเยียวยาที่ประณีต’ เด็กๆ และความผิดพลาดของเด็กๆ เป็นเรื่องปกติเหมือนเราแม้เป็นผู้ใหญ่ก็ยังผิดพลาด”
ในนิทรรศการ ‘20 ปีบ้านกาญจนาภิเษก ฝ่าอำนาจนิยม สู่อำนาจร่วม’ ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เครื่องปั้นดินเผาที่แตกร้าวจำนวนหนึ่งถูกนำมาจัดแสดง บริเวณรอยแตกร้าวของเครื่องปั้นเหล่านี้มีสีเหลืองทองสุกสว่างเขียนทาบทับไว้ เพื่อสื่อถึงเทคนิคการซ่อมรอยแตกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งความงามของถ้วยอย่างที่ญี่ปุ่นเรียกว่า ‘คินสึงิ’ หรืออย่างที่คำบรรยายของนิทรรศการขึ้นไว้ว่า “เด็กบางคน...เติบโตจากความพร้อม เด็กบางคน...เติบโตจากความผิดพลาด ความล้มเหลว พื้นที่...การซ่อมการเจียระไนจึงต้องมีและต้องมากพอ เพื่อเปลี่ยนความผิดพลาด...ให้เป็นแสงสว่างนำทางสู่เป้าหมายอีกครั้ง เพื่อซ่อม เพื่อเจียระไนสิ่งชำรุด...ให้กลับคืนมาโดยไม่ปิดบัง ซ่อนเร้นบาดแผล เพื่อเพิ่มคุณค่าใหม่ พลังใหม่...ในชื่อ ‘เสน่ห์รอยร้าว’”
แต่ในที่สุดการได้ฟังเรื่องราวของ ‘เสน่ห์รอยร้าว’ หรือการเปลี่ยนแปลงจากความแหลกสลายสู่ความเข้มแข็งอีกครั้งเหล่านี้มักนำไปสู่การเรียกร้องว่าทำอย่างไรเรื่องเช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับเด็กผู้กระทำผิดอื่นๆ ไกลไปถึงผู้ใหญ่ที่ได้กระทำความผิดอื่นๆ หรือในที่สุดก็คือทุกคนในสังคมที่ต่างต้องเคยผิดพลาดและมีแผล
ในวันสัมภาษณ์ ทิชาในแจ็กเก็ตลินินเหลืองอร่ามโดยเฉพาะยามต้องแสงอาทิตย์ยามเย็น กลายเป็นอุปมาอุปไมยโดยไม่ตั้งใจถึงการเป็นเส้นทองที่สมานรอยร้าวในชีวิตของเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษกอย่างประจวบเหมาะ กระนั้นในวัยเจ็ดสิบสอง คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเธอได้ทำมามากเกินพอแล้วในส่วนของเธอ ภารกิจการเยียวยาเพื่อนมนุษย์จากความผิดพลาดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ในแวดวงที่ขยายออกไป ไม่ควรและไม่อาจเป็นภาระเพียงของคนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในใจความสำคัญจากการสัมภาษณ์ทิชาก็คือ การเยียวยา-ขัดเกลา-เจียระไนที่ประณีตแยกออกไม่ได้จาก ‘การฟัง’ หรือยิ่งไปกว่านั้น การฟังก็คือการเยียวยาอยู่ในตัว
เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่คือหนึ่งก้าวในภารกิจนี้ที่ทุกคนเริ่มได้โดยไม่ต้องรอทิชา… ■