HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

CLIENT VALUES


Speaking for All

เรื่องราวการเดินตามเส้นทางของตัวเองพร้อมไปกับกรุยทางสู่โอกาสให้ผู้อื่น ของกมลนันท์ เจียรวนนท์ โสภณพนิช ผู้ช่วยวางกลยุทธ์แห่งทรูปลูกปัญญา และเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มเปราะบางมาตั้งแต่อายุ 14 ปี

31 สิงหาคม 2567

การค้นพบตัวเองไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนได้อย่างรวดเร็ว และบางครั้งก็อาจไม่เกิดขึ้นเลย แต่สำหรับกมลนันท์ เจียรวนนท์ โสภณพนิช บุตรคนที่สองของศุภชัย เจียรวนนท์ แห่ง ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ ประสบการณ์ในวัยเด็กตั้งแต่ยังไม่มีบัตรประชาชน ได้กลายมาเป็นความหลงใหลหรือแม้แต่กำหนดเส้นทางอาชีพของเธอที่จะเกิดขึ้นในอีกนับสิบปีถัดมา

นับตั้งแต่มีโอกาสได้พบกับเด็กๆ ไร้สัญชาติจากการไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม กมลนันท์ซึ่งมีวัยเพียง 14 ปีได้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ Voices for Vulnerable Children เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มคนที่เธอรู้สึกว่าถูกมองข้าม หรือแม้กระทั่งขึ้นเวทีเรียกร้องสิทธิให้กับคนกลุ่มนี้ใน One Young World Summit โดยแม้ว่าพื้นหลังจากตระกูลใหญ่อย่างเจียรวนนท์จะทำให้กมลนันท์อยู่ห่างจากเรื่องสิทธิมนุษยชน เธอกลับรู้สึกว่างานด้านนี้ทำให้เธอได้ค้นพบและเป็น ‘เวอร์ชันที่ดีที่สุด’ ของตัวเอง

นี่คือสาเหตุที่ทำให้เธอเลือกเรียกด้านสังคมสงเคราะห์มากกว่าจะเป็นด้านธุรกิจ รวมทั้งเลือกที่ทำงานต่อในบริษัทที่ปรึกษาเพื่อใช้แต้มประสบการณ์ที่ได้มาขับเคลื่อนงานเพื่อสังคม จนได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้านการศึกษาครอบคลุมโรงเรียนกว่าหนึ่งหมื่นแห่งอย่าง ‘ทรูปลูกปัญญา’ และ ‘คอนเน็กซ์อีดี’

มือที่กมลนันท์ได้ยื่นเข้าไปช่วยเหลือคนกลุ่มต่างๆ ได้เปลี่ยนชีวิตหลายคนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่คนไร้สัญชาติไปจนถึงนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนต่างๆ

และที่เปลี่ยนไปมากไม่แพ้กันอาจเป็นชีวิตของเธอเอง

แรกรู้สึก

ช่วงวันเกิด คุณแม่ คุณพ่อมักจะพาฟ่งไปทำบุญที่บ้านเด็กกำพร้า บริจาคสิ่งของหรืออาหาร ฟ่งก็มีความรู้สึกบางอย่าง สนใจอยากรู้เรื่องของเขา ยิ่งพอมีโอกาสได้พูดคุยกับคนดูแล ยิ่งทำให้รู้ว่าแม่ของเด็กๆ หลายคนอายุน้อยมากแล้วถูกข่มขืน หรืออีกหลายๆ เหตุผลที่สำหรับเด็กอย่างเราตอนนั้นได้ยินแล้วก็ช็อคไปเลย แต่ก็ยังอยากรู้ต้นตอของปัญหา

ตอนนั้นเราอายุ 13-14 ขวบ เวลาพยายามขอคุยกับองค์กรต่างๆ เขาก็ไม่ค่อยยอมให้เราได้สัมภาษณ์เหยื่อหรือคุยกับคนข้างใน เพราะดูไม่น่าเชื่อถือ และเพราะเรายังเด็กอยู่ มีแค่มูลนิธิแห่งหนึ่งใกล้ๆ ชายแดนไทย-พม่าที่ยอมให้เราได้คุยเลยเป็นครั้งแรกที่ฟ่งได้รู้จักกับคำว่า ‘บุคคลไร้สัญชาติ’ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบาง และเป็นเหยื่อความรุนแรงจำนวนมาก แต่เมื่อมองย้อนหลัง การเรียนรู้ถึงเรื่องการข่มขืน การใช้ความรุนแรง การค้ามนุษย์ และการไร้สัญชาติในช่วงอายุน้อยก็เป็นเรื่องหนัก ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ยังเป็นห่วง บอกว่าถ้าจะเริ่มทำงานด้านนี้ตั้งแต่เด็ก เราต้องพยายามระวังไม่ให้เรื่องที่จะได้เห็นกระทบจิตใจมากเกินไป มันไม่เหมือนกับสิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวันนะ ซึ่งท่านก็พูดถูก ตอนไปมูลนิธิกับเพื่อนที่ร่วมก่อตั้ง Voices for Vulnerable Children เรามีแอบร้องไห้หนักมาก

ขยายเสียง

มี 3 อย่างที่ทำให้ฟ่งก่อตั้ง Voices for Vulnerable Children ก็คือหนึ่ง ช่วงที่ได้ไปเยี่ยมบ้านเด็กกำพร้า ทำให้ฟ่งโฟกัสเรื่องเด็ก สอง ฟ่งสนิทกับคุณน้าที่ทำบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีกิจกรรมด้านซีเอสอาร์และมูลนิธิด้วย จึงมีโอกาสได้เห็นงานด้านนี้ตั้งแต่เด็กๆ สาม สมัยนั้นพี่ชายฟ่งมีโครงการสร้างห้องสมุดในไทย แต่พี่เรียนอยู่ที่สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ไทยตลอด พอสร้างห้องสมุดเสร็จไม่ทันเวลา พี่ก็ขอให้ฟ่งและเพื่อนๆ มาช่วยดูแลต่อ เรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ฟ่งหลงใหลโดยตรง แต่ก็ทำให้รู้สึกชอบงานทำนองนี้ เลยจุดประกายให้ก่อตั้ง Voices for Vulnerable Children เป็นชมรมกับเพื่อนสนิทที่โรงเรียน แต่ตั้งใจที่จะออกเสียงให้ดังไปกว่าขอบเขตรั้วโรงเรียน

เราอายุยังน้อย ไม่มีเครื่องมือในการรับมือแรงกดดัน เคยมีผู้ใหญ่บางท่านมาพูดคุย อยากให้ลูกได้ทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่เด็กๆ บ้าง เราก็ยังไม่อยากสนับสนุนมาก

แรงกดดัน

ตอนเด็กเวลาฟังเรื่องราวของคนที่เข้าไปช่วย หรือช่วยใครไม่สำเร็จ ฟ่งแทบไม่ได้จัดการกับความรู้สึก แค่ซ่อนไม่ให้ผู้ใหญ่รู้ จะได้ทำต่อไปได้เรื่อยๆ จนไปถึงจุดระเบิดช่วงเรียนมหาวิทยาลัยปีหนึ่ง พอรู้ว่าผู้หญิงคนแรกๆ ที่ฟ่งได้ไปช่วย หลังจากข้ามชายแดนกลับไปพม่าแล้วเขาถูกขัง ตอนนั้นเหมือนความรู้สึกต่างๆ ที่สั่งสมไว้ระเบิดออกมาเลย เราอายุยังน้อย ไม่มีเครื่องมือในการรับมือแรงกดดัน เคยมีผู้ใหญ่บางท่านมาพูดคุย อยากให้ลูกได้ทำงานเพื่อสังคมตั้งแต่เด็กๆ บ้าง เราก็ยังไม่อยากสนับสนุนมาก แต่พอได้เรียนคณะด้านสังคมสงเคราะห์โดยตรง ได้รับเครื่องมือ ได้เรียนรู้วิธีรับมือกับเรื่องหนักๆ และที่สำคัญได้รับคำแนะนำที่ดีมากจากเมนเทอร์ ซึ่งบอกว่า เราคาดหวังกับตัวเองสูงเกินไป ในเรื่องที่ผู้ใหญ่อายุสี่สิบยังทำไม่สำเร็จ แต่ก่อนเวลาช่วยไม่สำเร็จ เราจะรู้สึกล้มเหลว แต่ฟ่งก็เริ่มเรียนรู้ว่า การที่กดดันตัวเองขนาดนั้น มันไม่สมเหตุสมผล แล้วยังไม่ได้ช่วยให้เรามีกำลังใจทำงานดีขึ้น

แรงส่งการศึกษา

ความสนใจของฟ่งเริ่มจากกลุ่มเปราะบางอย่างเด็กกำพร้า ผู้หญิง และคนไร้สัญชาติ แต่ก็มาถึงเรื่องการศึกษาในที่สุด

เกิดจากเคยพยายามช่วยคนหนึ่งให้ได้รับสัญชาติ และพบว่าหนึ่งปัจจัยหลักที่จะทำให้เขาได้รับสัญชาติทั้งทางสังคมและทางกฎหมายก็คือ การศึกษา คนมักเชื่อมโยงคำว่า ‘ผิดกฎหมาย’ กับ ‘อาชญากร’ เข้าด้วยกัน แต่ระดับการศึกษาจะช่วยไม่ให้ผู้คนตัดสินกลุ่มไร้สัญชาติเหล่านี้ว่าเป็นอาชญากร เช่น ถ้ามีเคสที่เด็กไร้สัญชาติได้รับการศึกษา พูดจาฉะฉาน ดูฉลาดเฉลียว คนจะมองเขาต่างออกไป อยากมอบโอกาสต่างๆ ให้เขามากขึ้น ถึงจะรู้ว่าพ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นต้องทำผิดกฎหมายเพราะความจำเป็น อันนี้คือประโยชน์ในด้านสังคม

ในส่วนของกฎหมาย ถ้าคนไร้สัญชาติจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เขามีสิทธิสมัครขอสัญชาติไทยได้ นี่ก็เป็นอีกด้านที่การศึกษาช่วยได้ แต่ก็การันตีไม่ได้ว่าเขาจะได้รับสัญชาติ แล้วกว่าคนๆ หนึ่งจะเรียนจบปริญญาตรี เขาต้องได้รับการศึกษามาแล้วเป็นสิบปี ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาส เพียงแต่อย่างน้อยสำหรับเด็กไร้สัญชาติที่เกิดและโตในไทย ทางโรงเรียนสามารถสมัครขอสัญชาติให้ได้ แม้จะไม่ได้สัญชาติไทยเต็มตัวแต่ก็ได้รับสิทธิพื้นฐานเพิ่มขึ้น การศึกษาจึงเป็นประตูสำคัญสู่โอกาสสำหรับคนไร้สัญชาติ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพาคนเหล่านี้ออกจากสถานะนี้หรือแม้กระทั่งจากความยากจนได้ในที่สุด ฟ่งจึงหันมาสนใจเรื่องการสนับสนุนด้านก้าวอีกขั้นไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นได้

เก็บแต้มประสบการณ์

ครอบครัวฟ่งมีกฎอย่างหนึ่งว่า หลังจากเรียนจบแล้วจะต้องไปทำงานที่อื่นก่อน ยังไม่อนุญาตให้เข้ามาทำกิจการของที่บ้าน เราต้องพิสูจน์ตัวเองกับงานของที่อื่นให้ได้ก่อน ให้ผู้บริหารของบริษัทนอกครอบครัวยอมรับให้ได้

ความจริงฟ่งเรียนไป ฝึกงานไปมาตั้งแต่เด็ก รวมถึงที่ทรูปลูกปัญญาด้วย แล้วคนที่บริษัทก็คุ้นเคยกับการทำงานของฟ่งดี แต่ฟ่งเองกลับรู้สึกว่าเราควรต้อง overqualified จึงจะไปทำงานที่ทรูปลูกปัญญาได้ ตอนได้ปริญญาทางสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กก็รู้สึกว่าพอไหว แต่เพื่อให้ไปไกลกว่านั้นอีกก้าวหนึ่ง เลยสมัครเรียนต่อปริญญาโทด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่พอเรียนจบ คุณพ่อให้ลองไปสมัครงานที่บริษัทที่ปรึกษา เพราะท่านเห็นว่าสิ่งที่เรียนมายังเฉพาะทางมากๆ คืออยู่ในกรอบของงานมูลนิธิเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริง งานด้านการพัฒนาสังคมที่คุณพ่อทำกว้างกว่านั้นเยอะ ครอบคลุมไปทั้งเรื่องซีเอสอาร์กับวัฒนธรรมองค์กรด้วย

เขาก็เข้ามาอยู่อาศัยในเขตแดนประเทศไทยแล้ว ถ้าเราปล่อยให้เขาอยู่แบบตามมีตามเกิด สังคมก็จะไม่ได้อะไร ถ้าเขาไม่ได้รับโอกาสที่จะก้าวหน้าไปกว่านี้ จนอาจเดินทางผิดพลาด หรือตามรอยพ่อแม่ ถูกสภาวะรอบข้างบีบบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมาย การมอบโอกาสให้คนที่เข้าไม่ถึงจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นได้

สุดท้ายฟ่งไปได้งานที่ McKinsey & Company ถือเป็นประสบการณ์ที่หนักหนาใช้ได้ ตอนนั้นต้องใช้เวลาประมาณครึ่งปีในการเตรียมตัวสัมภาษณ์งานและทำแบบทดสอบ ทุ่มเทมากๆ เพราะฟ่งไม่มีประสบการณ์ทำธุรกิจหรือเรียนด้านธุรกิจมาโดยตรง หลายคนอาจคิดว่าคงง่ายเพราะมาจากครอบครัวนี้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะ McKinsey เป็นบริษัทระดับโลกที่มีมาตรฐานสูงมาก แล้วเข้มงวดเรื่องรับเด็กด้วย ไม่ใช้คอนเน็กชันเลย ก่อนเข้าทำงานก็ต้องพยายามมากแล้ว แต่พอเข้าไปแล้วยิ่งต้องพยายามมากขึ้น ต้องอยู่ให้รอดให้ได้ แต่ก็เป็นช่วงที่ได้เติบโตขึ้นอีกขั้น

เติบโตพร้อมสังคม

ประสบการณ์ช่วงแมคคินซีย์ ทำให้เรามองภาพใหญ่มากขึ้น practical มากขึ้น และอีคิวแข็งแรงขึ้น เพราะการทำงานด้านสังคม ง่ายมากที่เราจะมีอารมณ์ร่วมผูกพันกับเรื่องต่างๆ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน และมียุทธศาสตร์ เน้นเรื่องการสร้างผลกระทบให้ได้เยอะ มากกว่าเน้นทำแค่สิ่งที่จะเติมเต็มทางจิตใจ เพราะก่อนหน้านี้ยอมรับว่าฟ่งเลือกทำตามอารมณ์ส่วนตัวค่อนข้างมาก

จากแมคคินซีย์ก็ได้เข้ามาทำงานที่ทรูปลูกปัญญา ทั้งทรูปลูกปัญญาและมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED Foundation) เป็นมากกว่างานซีเอสอาร์หรืองานของแผนกเล็กๆ ในองค์กร เราต้องมีวิสัยทัศน์กับมีทักษะด้านกลยุทธ์ ทรูปลูกปัญญาดูแลโรงเรียนมากกว่า 10,000 แห่ง ส่วนคอนเน็กซ์อีดีก็ดูแลโรงเรียนกว่า 5,000 แห่ง หน้าที่ของฟ่งก็ดูแลเรื่องกลยุทธ์ด้านงานสังคมขององค์กร ซึ่งเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับการเติบโตทางธุรกิจ ฟ่งเห็นชัดเจนเลยว่า ยิ่งองค์กรเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ คุณพ่อก็ยิ่งพยายามทำงานด้านสังคมมากขึ้น หน้าที่ของฟ่งก็คือช่วยวางกลยุทธ์ให้ความตั้งใจของคุณพ่อเดินหน้าต่อไปได้ และขยายผลให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ

ตอนที่ฟ่งทำมูลนิธิ ฟ่งก็รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำยังอยู่ในสเกลเล็ก ยิ่งตอนเด็กๆ เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้นามสกุลเป็นใบเบิกทาง ผลกระทบก็แคบมาก ต่อมาถึงได้เห็นว่าบางทีนามสกุลก็ช่วยให้เราเข้าถึงและช่วยคนได้มากขึ้น แน่นอนบางคนอาจตัดสินเราว่า เราทำเพื่อการประชาสัมพันธ์ แต่ยิ่งฟ่งโตขึ้น เราก็สนใจกับภาพที่คนอื่นมองน้อยลง และใส่ใจเดินหน้าสร้างผลกระทบให้มากขึ้นต่อไป

วางกลยุทธ์

หน้าที่ฟ่งในตำแหน่ง Strategic Project Development Director ต้องช่วยดูแลครอบคลุมทั้งด้านการศึกษาและสังคม วิธีการทำงานของคอนเน็กซ์อีดีคือ องค์กรที่ร่วมด้วยจะเลือกโรงเรียนในโครงการเพื่อเข้าไปช่วยสนับสนุนด้านหลักสูตรและความต้องการพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งแต่ละองค์กรก็จะมีจุดแข็งต่างกันออกไป และพวกเขาก็จะใช้จุดแข็งของตัวเองในการสร้างโครงการริเริ่มที่ต่างกันออกไปในแต่ละโรงเรียน

สำหรับทรูปลูกปัญญา โรงเรียนส่วนมากที่เข้าร่วมจะเป็นโรงเรียนไทย เราก็โฟกัสในการขยายผลกระทบของการศึกษาสำหรับนักเรียนไทย ในขณะเดียวกันช่วยวางกลยุทธ์ให้เราขยายผลประโยชน์ได้มากขึ้น เรามี Migrant Learning Center ที่เปิดให้ทั้งเด็กไร้สัญชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ รวมถึงเด็กไทยที่อาจไม่มีครอบครัวได้รับโอกาสทางการศึกษา กับสนับสนุนอุปกรณ์แท็บเล็ต หรือปัจจัยอื่นๆ ด้านโครงสร้าง แม้กฎหมายอาจทำให้พวกเขาเข้าถึงการศึกษาในระบบได้ยาก แต่อย่างน้อยพวกเขาจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปต่อยอด เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี นอกจากนี้ เรายังได้มีโอกาสพาร์ทเนอร์กับ UNESCO และกระทรวงการศึกษาของทั้งไทยและพม่าในด้านการปูพื้นฐานการศึกษา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไทยหรือกลับไปที่พม่า พวกเขาจะได้มีโอกาสสมัครเข้าโรงเรียนปกติได้

เด็กไทยมีความสามารถเยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีโอกาสหรือการสนับสนุน เหมือนเรามองขึ้นจากหลังคากระจกแล้วเห็นความสามารถมากมาย แต่ยังมีโครงสร้างขวางกั้นไว้ ถ้าเราทุบกระจกออกให้ความสามารถเหล่านั้นออกมาโลดแล่นได้ก็คงดี

คุณค่าทางใจ

การศึกษาไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่มาก ครูได้รับเงินเดือนต่ำมากๆ นอกเหนือจากการสนับสนุนที่ค่อนข้างจำกัด คุณภาพของการศึกษาเลยลดลง เนื่องจากไม่ได้มีแรงจูงใจที่น่าสนใจให้คนเก่งๆ มาสายนี้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ครูในโรงเรียนหลายแห่งก็ยังงานล้นมือ ประกอบกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราไปมอบหมายให้ครูดูแลด้านเทคโนโลยีด้วยก็จะยิ่งหนักเกินไป เราจึงมีการฝึกอบรมหรือจ้างสตาฟ ICT Talent ผู้ชำนาญด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะ เพื่อมาช่วยแบ่งเบาภาระของครู ซึ่งทางกระทรวงการศึกษาธิการเองก็ได้เห็นผลลัพธ์ของโครงการนี้ จึงริเริ่มฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทางภาครัฐเพิ่มด้วย เพื่อเข้าไปช่วยโรงเรียนนอกโครงการ เราได้เห็นผลกระทบเชิงบวกแล้วเราก็ชื่นใจ

บรรดาเจ้าหน้าที่เองก็ได้ประโยชน์ด้วย ฟ่งมีประชุมกับพวกเขาเกือบทุกสัปดาห์ ก็ได้รับรู้ว่าพวกเขามีความสุข รู้สึกชีวิตมีเป้าหมาย ได้มีงานประจำทำ และรู้สึกว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นสร้างประโยชน์ให้คนอื่น ไม่ใช่ทุกคนที่เรียนจบมาจากสายเทคโนโลยีโดยตรง เช่น พี่ภารโรงคนหนึ่ง ซึ่งเขามีหน้าที่ซ่อมคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน ทีมของฟ่งได้ไปเยี่ยมโรงเรียนนั้นแล้วเห็นพี่คนนี้กำลังซ่อมคอมพิวเตอร์อยู่ จึงชวนให้มาลองทดสอบเพื่อฝึกอบรมเป็นสตาฟต่อ ตอนนี้พี่เขาเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ที่เก่งที่สุดของเราเลย มีรายได้เพิ่มขึ้น มีความภูมิใจมากขึ้น และได้กลับไปช่วยเหลือโรงเรียนเดิมในฐานะใหม่

สังคมเดียวกัน

ฟ่งเชื่อว่าการช่วยเหลือด้านการศึกษาหรือสิทธิมนุษยชน คนที่ได้รับประโยชน์ไม่ได้มีแค่กลุ่มครูหรือนักเรียน แต่มันขยายผลไปจนถึงสังคมทั่วไป แม้ผู้คนนอกแวดวงอาจไม่ได้รู้สึกว่าตนเองกำลังได้รับประโยชน์ก็ตาม

กรณีของเด็กไร้สัญชาติ คนมักถามว่าทำไมไปช่วยเหลือคนต่างด้าว ในขณะที่ยังมีเด็กไทยอีกมากมายที่ต้องการความช่วยเหลือ จริงๆ แล้วฟ่งก็ช่วยเด็กไทยด้วยเช่นกัน แต่เลือกพูดถึงเด็กไร้สัญชาติเพราะไม่ค่อยมีใครพูดถึงพวกเขา และเขาก็เข้ามาอยู่อาศัยในเขตแดนประเทศไทยแล้ว ถ้าเราปล่อยให้เขาอยู่แบบตามมีตามเกิด สังคมก็จะไม่ได้อะไร ถ้าเขาไม่ได้รับโอกาสที่จะก้าวหน้าไปกว่านี้ จนอาจเดินทางผิดพลาด หรือตามรอยพ่อแม่ ถูกสภาวะรอบข้างบีบบังคับให้ทำงานที่ผิดกฎหมาย การมอบโอกาสให้คนที่เข้าไม่ถึงจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้สังคมโดยรวมดีขึ้นได้

ความหมายของชีวิต

การเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ทำให้ฟ่งอยากตามหาความเป็นตัวเองไปพร้อมๆ กับรักษาความเชื่อมโยงกับครอบครัว ตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้ฟ่งตั้งใจทำสิ่งที่ฟ่งรักให้ได้ดีที่สุด ซึ่งไม่ได้แปลว่าทำอะไรก็ได้ตามใจตัวเองทั้งหมด ต้องพยายามเป็นตัวเราในเวอร์ชันที่ดีที่สุดเหมือนกัน ยิ่งฟ่งเติบโตขึ้น ฟ่งยิ่งเห็นความเป็นตัวเองที่ชัดเจนขึ้น และความเชื่อมโยงกับครอบครัวที่มีส่วนหล่อหลอมให้ฟ่งค้นพบทางเดินของตัวเอง ไม่ใช่ว่าที่บ้านกำหนดเส้นทาง ชี้ซ้ายขวาให้ฟ่งเดินตาม สิ่งที่ทำอยู่มาจากครอบครัวที่เป็นต้นแบบและแพสชันของเราจริงๆ

เป้าหมายชีวิตของฟ่งคือการสร้างสังคมที่ดีขึ้นให้คนรุ่นถัดไป ซึ่งนอกเหนือจากงานที่ทำแล้วก็คือการเป็นคุณแม่ ฟ่งมีความเชื่อว่าถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูลูกได้ดี ให้ลูกเติบโตมาช่วยสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ ก็จะเป็นการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับคนรุ่นหลัง เลยมองภาพตัวเองในอนาคตว่า ฟ่งจะเดินหน้าเรื่องงานสังคมต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับเลี้ยงลูกให้เติบใหญ่มาสืบสานเจตนารมณ์ อาจจะไม่ต้องทำเหมือนฟ่งเป๊ะๆ ก็ได้ ให้เป็นทางของเขา แต่ยังคงเป็นการสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งคือ ฟ่งอยากเห็นเด็กหลายคนมีโอกาสเพิ่มขึ้น อยากให้เด็กไทยมีความสามารถแข่งขันกับชาติอื่นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางเทคนิค การศึกษา ฟ่งว่าเด็กไทยมีความสามารถเยอะมาก แต่ไม่ค่อยมีโอกาสหรือการสนับสนุน เหมือนเรามองขึ้นจากหลังคากระจกแล้วเห็นความสามารถมากมาย แต่ยังมีโครงสร้างขวางกั้นไว้ ถ้าเราทุบกระจกออกให้ความสามารถเหล่านั้นออกมาโลดแล่นได้ก็คงดี

ฟ่งเชื่อว่า การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นความต่างระหว่างการทำมาหากิน กับการใช้ชีวิต ถ้าเรารู้ว่าเราทำสิ่งนี้หรือทำอาชีพไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร เราก็จะเดินตามทางของตัวเองได้ และการเดินทางจะไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ถึงต้องใช้แรงมหาศาล เพราะเรารักในเส้นทางที่เราเลือกเดิน และได้เห็นผลลัพธ์จากเมล็ดพันธุ์ที่เราหว่านไว้ตลอดทาง ถึงไม่มีอะไรการันตีได้ว่าทุกเมล็ดจะงอกงาม แต่การลงมือทำนั้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

รู้จักกับ
กมลนันท์ เจียรวนนท์ โสภณพนิช

กมลนันท์ เจียรวนนท์ โสภณพนิช จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Social Work และ Social Entrepreneurship จาก New York University และปริญญาโทด้าน International Education Development จาก Columbia University เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Voices for Vulnerable Children ตั้งแต่อายุ 14 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Strategic Project Development Director ที่ทรูปลูกปัญญาของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ประธานกรรมการ มูลนิธิ ธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ วอยซ์เพื่อกลุ่มเด็กเปราะบาง