SECTION
ABOUTBEYOND BOUNDARIES
The Homely Paradise
แม้ภาคใต้จะเป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวไทยเสมอมา แต่เกาะแห่งหนึ่งในบริเวณชายฝั่งตะวันออกมีวิถีการดูแลสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นไปถึงระดับโลกจากเพียงความรักของคนในชุมชนต่อสวรรค์ที่เขาเรียกว่า ‘บ้าน’
31 สิงหาคม 2567
ระหว่างถนนและแนวชายฝั่งติดกับร้านอาหารทะเลที่คร่ำคร่าด้วยกาลเวลา คือที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก ซึ่งเป็นอาคารบ้านไทยสองชั้นสีขาวซีด บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บนเกาะหมากมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 และปัจจุบันเป็นศูนย์รวมภาพถ่ายและสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ นักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาดื่มด่ำในความงามอาจเดินผ่านบ้านหลังนี้ไปอย่างไม่ลังเลเพื่อตรงไปพักผ่อนบนหาดทรายอันเงียบสงบ
แต่เกาะหมากก็ไม่ใช่ ‘เกาะสวรรค์’ สำหรับนักท่องเที่ยวเสียทีเดียว เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่นอกชายฝั่งตราดและมีพื้นที่ราว 16 ตารางกิโลเมตร โดยไม่มีใครเข้ามาตั้งรกรากมาเนิ่นนาน จนกระทั่งหลวงพรหมภักดี หนึ่งในข้าราชการคนสำคัญของไทยในยุคนั้น ตัดสินใจซื้อเกาะแห่งนี้จากเจ้าของสวนมะพร้าวในราคา 24,000 บาท และย้ายครอบครัวมาที่นี่เมื่อประมาณ 120 ปีที่แล้ว ลูกหลานของเขายังคงเป็นเจ้าของเกาะเกือบทั้งหมด รวมทั้งธานินทร์ สุทธิธนกูล เจ้าของร้านเกาะหมากซีฟู๊ดและผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เกาะหมาก เกาะแห่งนี้จึงเป็นเสมือนบ้านที่พวกเขาหวงแหน
“ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่คงอยู่เหมือนเดิมได้ตลอดกาล แต่สิ่งที่พวกเราทำอยู่คือการพยายามยั้งเข็มนาฬิกาให้เวลาเดินช้าลง เพื่อรักษาธรรมชาติและวิถีชีวิตของเราให้ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ให้ได้นานที่สุด” ธานินทร์กล่าวกับแชนแนล นิวส์ เอเชีย
เกาะหมากเป็นเกาะเล็กๆ ที่ขั้นกลางระหว่างเกาะช้างและเกาะกูด ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 40 กิโลเมตรทางเรือ พื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะนั้นเขียวชอุ่มด้วยป่าธรรมชาติ สวนมะพร้าวและสวนยางพารา ด้วยพื้นที่ขนาดเล็กและประชากรที่ไม่แน่นหนา ผู้คนจึงสามารถปั่นจักรยานรอบเกาะได้ง่าย และสามารถพบเห็นยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าได้ตามท้องถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการสนับสนุนของทั้งชุมชนและภาครัฐ ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงทำงานในสวนมะพร้าวและสวนยาง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของเกาะหมาก
ห้าครอบครัวที่เป็นเจ้าของพื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของเกาะหมากล้วนสืบเชื้อสายมาจากหลวงพรหมภักดี พวกเขาได้วางทิศทางการเติบโตของเกาะอย่างระมัดระวังไว้ตั้งแต่ช่วงแรก โดยยึดชุมชนท้องถิ่นและความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้เกาะหมากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การท่องเที่ยวบนเกาะหมากเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในช่วงทศวรรษ 1980 ซึ่งมีการก่อสร้างบังกะโลแบบบ้านๆ ในฝั่งตะวันออกของเกาะเพื่อรองรับนักเดินทางที่รักการผจญภัยเป็นหลัก “มันเริ่มต้นตอนแบ็คแพ็คเกอร์ชาวยุโรปกลุ่มหนึ่งพายเรือมาสำรวจเกาะของเรา พวกเขาพักที่เกาะช้างและออกมาสำรวจบริเวณใกล้เคียง หลังจากนั้นเราจึงตัดสินใจเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนของสวนมะพร้าวให้เป็นที่พักนักท่องเที่ยว เป็นกระท่อมเรียบง่ายพร้อมหลังคามุงจากสิบหลัง” จักรพรรดิ์ ตะเวทีกุล หลานชายของหลวงพรหมภักดีและผู้ก่อตั้งเกาะหมากรีสอร์ทเล่าถึงจุดเริ่มต้นกับบางกอกโพสต์
แม้ว่าด้านการท่องเที่ยวยังคงเป็นรองเพื่อนบ้านอันคึกคักอย่างเกาะช้างและจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ในอ่าวไทยก็ตาม อย่างไรก็ดี เป้าหมายของเกาะหมากนั้นไม่ใช่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม แต่เป็นการอย่างเติบโตในวิถีที่ยังรักษาสมดุลกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โครงสร้างพื้นฐานของเกาะหมากก็ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าด้านการท่องเที่ยวยังคงเป็นรองเพื่อนบ้านอันคึกคักอย่างเกาะช้างและจุดท่องเที่ยวอื่นๆ ในอ่าวไทยก็ตาม อย่างไรก็ดี เป้าหมายของเกาะหมากนั้นไม่ใช่การเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม แต่เป็นการอย่างเติบโตในวิถีที่ยังรักษาสมดุลกับสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ จึงเกิดเป็น 'ธรรมนูญเกาะหมาก' ขึ้นมา เพื่อให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวร่วมมือกันพาเกาะหมากให้เดินตามทิศทางที่ตั้งใจไว้ได้
ธรรมนูญเกาะหมากเป็นคำมั่นสัญญาร่วมกันระหว่างรีสอร์ทและร้านอาหารต่างๆ ของเกาะ โดยเน้นถึงแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมกิจกรรมที่งดใช้เครื่องยนต์หรือปล่อยคาร์บอนต่ำให้นักท่องเที่ยว เช่น การพายคายัค แล่นเรือใบ หรือปั่นจักรยาน ข้อตกลงนี้ยังรวมถึงฉันทามติในการเลิกใช้บรรจุภัณฑ์โฟมและลดการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นหลอด ถุง หรือขวดน้ำ และมีข้อตกลงอื่นๆ ที่มุ่งสู่การพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน ดั่งที่รีสอร์ทบางแห่งมีสวนพืชผักปลอดสารของตัวเอง และลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์การเข้ามาของเจ็ตสกีเมื่อประมาณสองทศวรรษที่แล้วก็ได้สร้างการโต้เถียงครั้งสำคัญระหว่างคนในพื้นที่ แต่ช่วงเวลานั้นกลับทำให้อุดมการณ์ของคนบนเกาะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะปฏิเสธสิ่งใดก็ตามที่จะทำลายวิถีชีวิตและความตั้งใจของพวกเขา
“เรากลัวว่านักท่องเที่ยวจะมาเยอะเกินไปแล้วเราจะรักษาวิถีชีวิตปกติของเราไว้ไม่ได้ การมีกลุ่มความร่วมมือจึงหมายถึงว่าเราต้องปฏิเสธหลายอย่างให้ได้” นิพนธ์ สุทธิธนกูล หนึ่งในสมาชิกของห้าครอบครัวและเจ้าของรีสอร์ทเล็กๆ แห่งหนึ่งกล่าวกับแชนแนล นิวส์ เอเชีย
คำชื่นชมต่อความพยายามของผู้คนบนเกาะหมากเพื่อสร้างความยั่งยืนนั้นเดินทางไกลไปถึงต่างแดน ภายในงาน ITB Berlin ประจำปี 2023 ซึ่งเป็นหนึ่งในงานด้านการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เกาะหมากได้รับการยกย่องในหมวดหมู่ ‘Governance, Reset, and Recovery’ (ธรรมาภิบาล การปรับใหม่ และการฟื้นฟู) ของ Green Destinations Story Awards จัดโดยมูลนิธิ Green Destinations โดยมีเป้าหมายเพื่อการยกย่องสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่มีแนวทางปฏิบัติเพื่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกเหนือจากรางวัลระดับโลก เกาะหมากยังได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ใส่ใจเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งริเริ่มในปี 2012 และความพยายามนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)
สำหรับอพท. แล้วความพยายามในเรื่องนี้มักมีเกณฑ์การประเมินที่ต่างจากทั่วไป “มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาในการเป็นโมเดลด้านความยั่งยืน และยังต้องใช้เวลาอีกนาน แต่พอเราได้รับรางวัลติดท็อป 100 ของโลกแล้ว ภาพความตั้งใจของเกาะก็ชัดเจนขึ้นและผลลัพธ์ก็ดูจับต้องได้มากขึ้น” สุธารักษ์ สุนทรวิภาต ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 ของอพท. ที่รวมถึงจังหวัดตราด กล่าวกับแชนแนล นิวส์ เอเชีย
เขาคาดหวังให้นักท่องเที่ยวสายรักษ์โลกหลั่งไหลเข้ามาเยือนเกาะหมากเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นเกณฑ์วัดผลหรือแนวทางสำคัญเพื่อให้เกาะอื่นรวมถึงเกาะกูดและเกาะช้างเริ่มเดินตามรอยเกาะหมาก แนวทางสำหรับเกาะอื่นๆ ที่ต้องการเลียนแบบเส้นทางความยั่งยืนของเกาะหมาก
เพื่อการเดินทางสู่การเป็นจุดหมายท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำอย่างสมบูรณ์ ในปี 2015 เกาะหมากได้เปิดตัว 3 แคมเปญสำคัญ ได้แก่ ‘Help Keep Koh Mak counting to 10,000 trees’ รณรงค์ให้นักท่องเที่ยวร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำและการประหยัดไฟนอกเหนือจากการปลูกต้นไม้เพิ่ม, ‘หน้าบ้านน่ามอง’ เน้นให้คนชุมชนรักษาความสะอาดบริเวณบ้าน รวมถึงการแยกขยะและการใช้พลังงานหมุนเวียน และ ‘Eat it Fresh’ สนับสนุนให้คนกินอาหารที่หาได้ในท้องถิ่น พืชผักที่ปลอดยาฆ่าแมลง และอาหารทะเลที่จับมาสดๆ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนทั้งเศรษฐกิจในท้องถิ่นและต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขนส่งอาหารจากสถานที่อื่น
เกาะหมากยังได้ขยายขอบเขตเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างการชวนให้นักท่องเที่ยวมาเก็บเกี่ยวพืชผลจากสวนที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การสนับสนุนที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำคนในชุมชนในการทำความสะอาดเกาะ ทั้งยังมี Koh Mak Low Carbon Calculator เครื่องมือออนไลน์สำหรับคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากชุมชนและนักท่องเที่ยว เพราะเมื่อพวกเขาเห็นปริมาณของผลกระทบที่พวกเข้าสร้างได้ พวกเขาจะสามารถปรับเปลี่ยนวิถีต่างๆ ได้อย่างใส่ใจยิ่งขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กล่าวยกย่องเกาะหมากในฐานะต้นแบบของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของประเทศด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่าง “การได้เห็นความพยายามอย่างจริงใจในการอนุรักษ์สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก และสิ่งนี้ทำให้เกาะหมากเป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์อย่างยิ่ง” ยุทธศักดิ์กล่าวในงานแถลงข่าวของททท.
นอกเหนือจากการอนุรักษ์ผืนดินแล้ว การอนุรักษ์ผืนน้ำในบริเวณเกาะหมากก็เน้นการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุด โดยมีดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลเพื่อการจัดการปัญหาด้วย Blue Carbon ซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่มบางจากฯ โดยใช้วิธีปลูกหญ้าทะเลเพื่อเร่งการฟื้นฟูแนวหญ้าทะเลที่เสียหายไปราว 1,400 ไร่รอบๆ เกาะหมากและเกาะกระดาด สร้างระบบนิเวศที่ช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ในดินใต้ท้องทะเล เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ภายในโลกแห่งทะเล เพราะหญ้าทะเลสามารถช่วยกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบนบกถึง 10 เท่าและมีประโยชน์กับอีกหลายชีวิตในทะเล จึงเป็นเรื่องที่สำคัญต่อทั้งชาวประมงท้องถิ่นและการท่องเที่ยว
เช่นเดียวกับวิวัฒนาการตลอด 120 ปีที่ผ่านมา ความรู้สึกถึงความเป็นชุมชนนั้นฝังแน่นอยู่ในแก่นแท้ของเกาะหมาก และความพยายามด้านความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงคำโฆษณาเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหรือสร้างชื่อเสียงเพื่อรางวัล
ทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขของชาวเกาะหมาก บนสวรรค์ที่พวกเขาเฝ้าทะนุถนอมมาตลอด ■