SECTION
ABOUTLIVING SPACE
The Common Ground
จากโครงการสิ่งปลูกสร้างขนาดหนึ่งตารางเมตร จนกลายเป็นหนึ่งในบริษัทสถาปัตยกรรมที่คนกล่าวขานถึงมากที่สุด ‘ใจบ้านสตูดิโอ’ มาถึงจุดนี้ได้จากการออกแบบร่วมกับชุมชนและธรรมชาติในโครงการต่างๆ ที่พวกเขาทำ
31 สิงหาคม 2567
ตอนที่ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร เริ่มต้นอาชีพสถาปนิก เขาไม่เคยคาดคิดเลยว่าหนึ่งในโครงการที่เปลี่ยนชีวิตเขามากที่สุด จะเริ่มจากการออกแบบศาลพระภูมิไม้ขนาดหนึ่งตารางเมตรในชุมชนแออัดริมคลอง
ในปัจจุบัน ศุภวุฒิเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารใจบ้านสตูดิโอ ผลงานของพวกเขาโดดเด่นด้วยแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตย์ที่โฟกัสการฟื้นคืนความสัมพันธ์ของผู้คนไปพร้อมกับการฟื้นคืนสภาพระบบนิเวศในธรรมชาติ อย่างเช่นโครงการปรับปรุงที่ดินส่วนบุคคลที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นสวนสาธารณะ หรือการก่อสร้างโรงคั่วกาแฟควบคู่ไปกับการฟื้นฟูระบบนิเวศของพื้นที่ให้กลายเป็นป่าขนาดย่อมด้วยระบบวนเกษตร
โครงการลักษณะนี้ทำให้ใจบ้านสตูดิโอเป็นที่รู้จักในด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชนและธรรมชาติในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์พื้นที่ ไปจนถึงการพัฒนาแนวคิดของโครงการ ผู้คนที่ร่วมสร้างสรรค์งานออกแบบทั้งหมดจึงมีทั้งแพทย์ ครู ผู้สูงวัย เด็กวัยรุ่นในพื้นที่ ไปจนถึงตัวธรรมชาติเอง ทั้งในโครงการของเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐบาล
“พวกเราร่วมกันสร้างงานออกแบบตามบริบทของคนในชุมชนเป็นหลัก และเราต้องการให้ผู้คนเห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จากตัวเลือกและการตัดสินใจร่วมกัน เราจึงต้องใช้ข้อมูลทางนิเวศวิทยาและสังคมวิทยา และมุมมองของผู้คนในขั้นตอนต่างๆ” ศุภวุฒิเล่า
เมื่อผู้คนมารวมตัวกัน พวกเขาก็จะได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนไอเดียกับความคิดความฝันที่แต่ละคนมี พอเราเห็นแบบนี้แล้ว เราจึงเข้าใจเลยว่าสิ่งที่ขาดหายไปในการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาคือ ‘การรับฟังอย่างเท่าเทียม’ และกระบวนการออกแบบสามารถทำให้เกิดพลังแบบนี้ขึ้นมาได้
แม้ว่าในปัจจุบัน ใจบ้านสตูดิโอจะมีผลงานอันเป็นที่ประจักษ์มากมาย แต่สตูดิโอแห่งนี้เริ่มก่อร่างสร้างตัวด้วยงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่ปี 2010 ศุภวุฒิและเพื่อนร่วมงานของเขาอย่างทนวินท วิจิตรพร และแพรวพร สุขัษเฐียร เริ่มต้นภารกิจฟื้นฟูคลองแม่ข่า อันเป็นหนึ่งในลำน้ำสายประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ โดยมีตำนานเล่าขานว่าพญาเม็งรายเลือกที่แห่งนี้เป็นตั้งเมืองหลวงใหม่ของล้านนาเพราะระบบชลประทานที่ยอดเยี่ยม แต่การถูกละเลยมานานหลายทศวรรษ ประกอบกับการสะสมของมลภาวะ และการก่อสร้างที่ไร้การควบคุม ล้วนได้เปลี่ยนคลองสายสำคัญให้กลายเป็นทางระบายน้ำเสียที่ส่งกลิ่นเหม็นฉุน จนดูไร้ทางออกและความหวัง
ศุภวุฒิและทีมของเขามองหาโอกาสที่จะช่วยฟื้นฟูมรดกในเมืองของเขาให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง แต่งานพัฒนาเหล่านั้นไม่ได้ง่าย และพวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาอันซับซ้อนของโครงการการบริการจัดการและออกแบบเมือง และความไม่สอดคล้องด้านความเห็นระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้อยู่อาศัยริมคลอง และคนอื่นๆ ในเมือง จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้นำชุมชนริมคลองคนหนึ่งเห็นว่าเป็นศุภวุฒิเป็นสถาปนิก จึงถามเขาว่าจะมาช่วยสร้างศาลเจ้าพ่อกำแพงงามได้ไหม ซึ่งเป็นศาลพระภูมิที่ชาวชุมชนริมคลองมีศรัทธาร่วมกัน
“ตอนแรกเราก็ยังไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร แต่เราก็ได้กระโดดเข้าไปอยู่ในกระบวนการสร้างนั้นร่วมกับชาวบ้านในชุมชน” ศุภวุฒิเล่าต่อ
หลังจากได้เห็นสถานที่นี้เป็นครั้งแรก เราก็ถามลูกค้าเลยว่าทำไมเขาถึงซื้อที่นี่ เขาตอบแค่ว่า ‘แค่เห็นต้นฉำฉาต้นนั้นบนแปลงก็ตัดสินใจได้ง่ายๆ แล้ว’ ซึ่งเป็นคำตอบที่เรียบง่ายแต่อธิบายถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญได้ชัดเจน
เมื่อศาลเจ้าพ่อกำแพงงามถูกปรับปรุงขึ้นมาใหม่ คนในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้มาเข้าร่วมพิธีฉลองศาลเจ้า ซึ่งเป็นโอกาสให้คนในชุมชนมาได้ร่วมมือกันทำในสิ่งที่พวกเขามีศรัทธาร่วมกัน ศุภวุฒิจึงเริ่มมองเห็นถึงทางออกของปัญหาที่เขาคาดไม่ถึง
“การเข้าไปร่วมสร้างศาลเจ้าพ่อไม่ได้เป็นเพียงการสร้างความเชื่อใจให้กับผู้คนเหล่านี้ แต่เป็นการเปลี่ยนความรู้สึกของคนในชุมชนที่เคยเป็นฝ่ายรอคอยการพัฒนาจากภาครัฐ มาเป็นผู้พัฒนาชุมชนและกำหนดการพัฒนาที่อยากจะเป็นขึ้นมาด้วยตัวเอง เมื่อผู้คนมารวมตัวกัน พวกเขาก็จะได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนไอเดียกับความคิดความฝันที่แต่ละคนมี พอเราเห็นแบบนี้แล้ว เราจึงเข้าใจเลยว่าสิ่งที่ขาดหายไปในการพัฒนาเมืองที่ผ่านมาคือ ‘การรับฟังอย่างเท่าเทียม’ และกระบวนการออกแบบสามารถทำให้เกิดพลังแบบนี้ขึ้นมาได้” ศุภวุฒิอธิบาย
โครงการนี้ได้สอนบทเรียนอันล้ำค่าให้กับใจบ้านสตูดิโอ และตลอดเวลานับจากนั้น พวกเขาใช้เวลากว่าทศวรรษในการทำงานเคียงข้างชุมชนและสร้างความไว้ใจให้คนในพื้นที่ ตอกย้ำถึงปรัชญาของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับผู้คน และนอกจากผู้คนแล้ว พวกเขายัง ‘รับฟังธรรมชาติ’ ของพื้นที่ในด้านความต้องการทางนิเวศวิทยา อันเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของบริษัท ซึ่งก็คือ การใช้ปรัชญาของคานธีในการจัดหาวัสดุก่อสร้างจากในพื้นที่ที่ไม่ไกลไปกว่าห้าไมล์ เพื่อรักษาความสมดุลและสร้างความกลมกลืนในแต่ละพื้นที่
‘ปรัชญาห้าไมล์’ นี้คือฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนการสร้าง Akha Ama Living Factory คาเฟ่และโรงคั่วกาแฟที่ตั้งอยู่บนที่ดินขนาด 5 ไร่ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยวัสดุก่อสร้างจากในพื้นที่ทั้งหมด และถูกออกแบบโดยเน้นความเป็นธรรมชาติ ทั้งภายหน้าอาคารที่เรียบเท่ด้วยเสน่ห์ของไม้เก่า ความโปร่งสบายภายในอาคารที่ช่วยเสริมการระบายอากาศ ประกอบกับพื้นที่ว่างขนาดใหญ่ที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับชุมชน โดยส่วนหนึ่งที่โครงการนี้ลุล่วงไปด้วยดีนั้นเป็นเพราะลูกค้าที่มีความเชื่อมั่นคล้ายกัน ศุภวุฒิเล่าให้ฟังถึงช่วงก่อนเริ่มโครงการว่า “หลังจากได้เห็นสถานที่นี้เป็นครั้งแรก เราก็ถามลูกค้าเลยว่าทำไมเขาถึงซื้อที่นี่ เขาตอบแค่ว่า ‘แค่เห็นต้นฉำฉาต้นนั้นบนแปลงก็ตัดสินใจได้ง่ายๆ แล้ว’ ซึ่งเป็นคำตอบที่เรียบง่ายแต่อธิบายถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญได้ชัดเจน”
เห็นได้ชัดว่าการรวมผู้คน ชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันในโครงการต่างๆ ของใจบ้านสตูดิโอ ไม่ได้เป็นเพียงลูกเล่นทางมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมคนกับชุมชน ชุมชนกับธรรมชาติ และธรรมชาติกับคน จนบรรจบเป็นวงจรของความอยู่ร่วมอย่างสมดุล ซึ่งเป็นต้นธารของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความผาสุก’ ที่สำคัญเหนือไปกว่าเปลือกภายนอกของอาคารหรือตึกรามที่สวยงาม ■