SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Built Into Nature
Tri Vananda คอมมูนิตี้ระดับเมกะโปรเจกต์ในภูเก็ต พร้อมมุมมองการดูแลสุขภาพองค์รวมในมุมใหม่ ให้ธรรมชาติได้บำบัดกายใจพร้อมกับฟื้นฟูธรรมชาติไปในเวลาเดียวกัน
30 พฤศจิกายน 2566
คำว่า ’เวลเนส’ หรือ ’การดูแลสุขภาพองค์รวม’ มีหลากหลายความหมายที่แฝงเร้นอยู่ในนั้น สำหรับหลายคนแล้ว คำนี้ชวนให้นึกถึงภาพของการนวดเพื่อผ่อนคลาย และสำหรับอีกหลายคน คำเดียวกันนี้สื่อความหมายถึงกิจกรรมอย่างการอาบคลื่นเสียง โยคะบนชายหาด หรือการดื่มน้ำผลไม้คั้นสด
แต่ภาพหนึ่งที่คนแทบไม่เคยนึกถึงก็คือ ภาพผืนป่าที่อุดมไปด้วยหย่อมเล็กหย่อมน้อยของทะเลสาบ ซึ่งเป็นภาพที่กิตติศักดิ์ ปัทมะเสวีมองเห็น และส่อนัยถึงแนวคิดที่ว่าธรรมชาติแบบครบวงจรย่อมเป็นส่วนสำคัญของการดูแลสุขภาพองค์รวมเช่นกัน
ชายหนุ่มที่นั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเครือมนทาระ ฮอสพิทาลิตี้ผู้นี้ คือผู้ที่ทุกคนมักนึกถึงเมื่อพูดถึง ‘ตรีวนันดา’ โครงการดูแลสุขภาพองค์รวมในภูเก็ตในระดับเมกะโปรเจกต์ที่หลบซ่อนอยู่ในฝั่งที่เงียบสงบของเกาะท่องเที่ยวอันคึกครื้น เพราะตรีวนันดาไม่ได้มุ่งเน้นสร้างกิจกรรมเพื่อดึงดูดผู้คนด้วยวิถีดูแลสุขภาพที่แพร่หลายทั่วไป แต่หันมาใส่ใจ ‘ธรรมชาติ’ เป็นอันดับหนึ่ง
โครงการนี้อยู่ท่ามกลางป่าที่มีพื้นที่ กว่า 600 ไร่ ห่างจากตรีสรา โรงแรมหรูที่เป็นธุรกิจเด่นอีกอย่างหนึ่งของเครือฯ ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงหาดบางเทาราว 10 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ผืนป่าที่โอบล้อมตรีวนันดานั้น ไม่ใช่ป่าที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่มบนที่ดินผืนนี้
เดิมทีพื้นที่ของโครงการเคยเป็นเหมืองเก่ามาก่อน และเครือมนทาระได้มอบหมายให้สถาบันอาศรมศิลป์และ Habita ร่วมกันช่วยเพิ่มความหลากลายให้ระบบนิเวศของพื้นที่นี้ กระบวนการพลิกฟื้นผืนป่านี้เริ่มต้นด้วยการปลูกไม้เบิกนำเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับดินและปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้เต็ม เมื่อป่าได้รับการฟื้นฟูแล้วกิตติศักดิ์และบริษัทของเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะพัฒนาพื้นที่เพียง 15% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 85% หรือประมาณ 820,000 ตารางเมตร จะสงวนไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ
ณ ปัจจุบัน ภายในโครงการนี้มีทะเลสาบกว่าสิบแห่งกระจายตัวอยู่ทั่วพื้นที่ ทุกแห่งเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้น้ำและสัตว์ป่านานาชนิด รวมถึงต้นไม้ประจำถิ่นและต้นไม้ยืนต้นกว่า 40 สายพันธุ์ ระบบที่มีความซับซ้อนหลายชั้นตามธรรมชาตินี้ยังเอื้อให้มีน้ำใช้สอยภายในโครงการ ลดผลกระทบต่อระบบนิเวศได้
กระบวนการพลิกฟื้นผืนป่านี้เริ่มต้นด้วยการปลูกไม้เบิกนำเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับดินและปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นให้เต็ม เมื่อป่าได้รับการฟื้นฟูแล้ว กิตติศักดิ์และบริษัทของเขาได้ให้คำมั่นสัญญาว่า จะพัฒนาพื้นที่เพียง 15% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น ส่วนที่เหลือจะสงวนไว้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ
“มันเป็นเรื่องที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและแน่นอนว่า ดีสำหรับแขกของเราด้วย” กิตติศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเพรสทีจ โดยอ้างอิงถึงความเชื่อมั่นของเขาที่ว่า ชายหาดทอดยาวไม่ได้เป็นเสน่ห์เพียงอย่างเดียวของภูเก็ต โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงเรื่องการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม “เมื่อรายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันงดงาม ผู้พักอาศัยก็มีแนวโน้มที่จะใช้เวลากลางแจ้งมากขึ้น และในขณะที่ผู้คนได้มีส่วนฟื้นฟูธรรมชาติ ธรรมชาติก็ได้มอบพลังบำบัดคืนกลับให้กับผู้คนเช่นกัน”
และความเชื่อนี้กำหนดทุกองค์ประกอบของโครงการนี้
ชื่อ ‘ตรีวนันดา’ เป็นภาษาสันสกฤตที่หมายถึง ‘ป่าแห่งความสุขที่เป็นนิรันดร์’ และเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีบ้านพูลวิลล่า 74 หลัง มีตั้งแต่จำนวน 2 ห้องนอน ไปจนถึง 4 ห้องนอน สำหรับส่วนที่อยู่อาศัย และมีพูลวิลล่าในส่วนของโรงแรมอีกด้วย ทางโครงการจะแบ่งออกเป็นสองพื้นที่หลักๆ ได้แก่ Blue Mind วิลล่าที่อยู่ติดกับทะเลสาบและ Forest Bathing วิลล่าที่แขกและผู้พักอาศัยได้ใกล้ชิดและอาบไอของผืนป่าที่ได้รับการคืนชีพขึ้นอีกครั้ง
เรียกว่าไม่ว่าจะพักผ่อนอยู่ในพื้นที่ไหนของโครงการ ทุกคนจะได้ดื่มด่ำธรรมชาติรอบกายอย่างเต็มอิ่ม และอาจทำให้ลืมภาพจำของชีวิตที่คึกคักบนชายหาดภูเก็ตไปได้ชั่วขณะใหญ่ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของผู้บริหารจังหวัด
จังหวัดภูเก็ตคาดหวังจะก้าวเข้าสู่ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ประเมินว่ามีมูลค่าสูงถึง 251.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2025 และเมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มธุรกิจที่นำโดยก้าน ประชุมพรรณ์ซีอีโอของเดอะบีชกรุ๊ป และประธานบริหาร บริษัท อันดามันพัฒนาเมือง จำกัด ได้เสนอให้รัฐบาลปัจจุบันพิจารณาแผนการบริหารภูเก็ตที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ณ ชายฝั่งอันดามัน
แต่การส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในวิสัยทัศน์ของมนทาระ เพราะมนทาระยังมุ่งหวังที่จะเปลี่ยนแปลงการอยู่อาศัยแบบชุมชนของคนบนเกาะนี้ด้วย
บ่อยครั้งที่กิตติศักดิ์มักจะอ้างอิงถึงตรีวนันดาว่าเป็นพื้นที่ของคนหลายรุ่น เช่นที่เขาได้เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารเพรสทีจถึงเรื่องนี้ว่า “รีสอร์ทเพื่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหลายแห่งมักจะโฟกัสที่นักท่องเที่ยวที่มาคนเดียวหรือกลุ่มเล็กๆ แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งของโครงการนั้นเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งออกแบบมาให้ตอบโจทย์คนในหลายช่วงวัย ประสบการณ์สำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของที่นี่”
โดยในที่สุดแล้ว ไม่ว่าโครงการอันเขียวขจีแห่งนี้จะสามารถมอบ ‘ความสุขที่เป็นนิรันดร์’ ให้กับผู้เข้าพักหรือมอบการเว้นวรรคจากชีวิตสุดเหวี่ยงบนชายหาดของภูเก็ตได้สำเร็จหรือไม่ ตรีวนันดาก็เป็นตัวแทนของวิสัยทัศน์ที่ว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีส่วนแบ่งเค้กชิ้นที่ใหญ่ขึ้นอีกในธุรกิจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์นี้ก็คือ การออกแบบที่พักอาศัยที่คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งทางโครงการมีบ้านประเภท 2-4 ห้องนอน ที่แต่ละประเภทก็มีความโดดเด่นเฉพาะตัว อย่างบ้านประเภท 3 ห้องนอนมาพร้อมกับพื้นที่ใช้สอยขนาด 404 ตร.ม. และมีคอร์ทยาร์ดส่วนตัวเพื่อการพักผ่อนใกล้ชิดธรรมชาติ ส่วนบ้านประเภท 4 ห้องนอนที่มี 2 ชั้นนั้นมีขนาดใหญ่ถึง 853 ตร.ม. จัดพื้นที่พักผ่อนแยกกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่อย่างเป็นสัดส่วน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างกัน และโถงที่สูงโล่งโปร่งสบาย ประกอบกับการตกแต่งภายในที่เปิดให้ลมและแสงธรรมชาติเข้ามาเสริมความเย็นสบายและความสว่าง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของ P49, AvroKO, และ ATOM โดยทั้งหมดยังคงมีการดูแลสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งยังเน้นถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรถยนต์ไฟฟ้าและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ภายในโครงการจึงมีสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิก พร้อมอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ทันสมัย และยังมีสปาและศูนย์การแพทย์ที่รวมเอาศาสตร์การแพทย์แผนตะวันตกและภูมิปัญญาทางตะวันออกเข้าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้น ที่โครงการยังมีศูนย์เจริญสติที่ใช้หลักการของศาสนาพุทธในการปฏิบัติ ทั้งยังมีผู้ให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการและการดูแลสุขภาพองค์รวมประจำอยู่ที่โครงการด้วยแม้แต่โซนสำหรับเด็กก็เป็นมากกว่าพื้นที่ที่ให้เด็กๆ ได้เล่นสนุก อย่าง Tweenies Club ได้สร้างขึ้นเพื่อการสอนเด็กเกี่ยวกับเรื่องการเจริญสติและโภชนาการผ่านทางกิจกรรมต่างๆ อย่างการทำสมาธิหรือการทัศนศึกษาสวนพฤกษศาสตร์หรือฟาร์มออร์แกนิกประจำโครงการ และในขณะเดียวกัน ฟาร์มแห่งนี้ก็คือแหล่งวัตถุดิบสำคัญของร้านอาหาร ‘จำปา’
ร้านจำปาเป็นร้านอาหารหลักภายในโครงการที่ได้รับรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก (Green Michelin Star) ด้วยการนำเสนออาหารที่ ‘ยั่งยืนและสร้างขยะเป็นศูนย์’ โดยในแต่ละวัน เชฟจะขี่จักรยานหรือรถพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กไปเลือกสรรวัตถุดิบที่ฟาร์ม ในส่วนของอาหารทะเลและวัตถุดิบอื่นๆ ก็จะรับมาจากชาวบ้านในพื้นที่
คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่า มนทาระได้เดิมพันกับมุมมองใหม่แห่งการดูแลสุขภาพองค์รวมเป็นเม็ดเงินที่ประเมินไว้ถึงกว่า 6,000 ล้านบาท โดยในที่สุดแล้ว ไม่ว่าโครงการอันเขียวขจีแห่งนี้จะสามารถมอบ ‘ความสุขที่เป็นนิรันดร์’ ให้กับผู้เข้าพัก หรือมอบการเว้นวรรคจากชีวิตสุดเหวี่ยงบนชายหาดของภูเก็ตได้สำเร็จหรือไม่ ตรีวนันดาก็เป็นตัวแทนของวิสัยทัศน์ที่ว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีส่วนแบ่งเค้กชิ้นที่ใหญ่ขึ้นอีกในธุรกิจการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ■