HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Teak of the Town

โรงแรมบูทีคกลางเชียงแสนแห่งนี้นำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านไม้สักสีเข้มที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกับสังคมภาคเหนือมาช้านาน

30 มิถุนายน 2566

อาจจะฟังดูเป็นสำนวนที่ซ้ำซากจำเจ แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า Athita The Hidden Court โรงแรมบูทีคแห่งเชียงแสนนั้นอัดแน่นด้วยบรรยากาศของอดีตอย่างเต็มเปี่ยม จนอาจทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกเหมือนกำลังย้อนเวลา

เมื่อทอดตามองจากระเบียงห้องพักของอทิตา ผู้มาเยือนอาจเพลินตาไปกับดงต้นมะขามสีเขียวขจีที่ทอดยาวไปตามถนน นำไปสู่วัดอาทิต้นแก้ว วัดโบราณของเชียงแสนที่เพียงได้เห็นกำแพงอิฐอายุกว่า 700 ปี ก็บ่งบอกได้ถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ขณะที่โครงสร้างของโรงแรมสองชั้นกลับสะท้อนถึงบรรยากาศของเชียงแสนที่ทั้งน่าอบอุ่นและสบายใจเหมือนบ้านโบราณด้วยงานก่ออิฐและไม้สักสีเข้ม

คนเหนือใช้ไม้สักสร้างบ้านมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน เราก็อยากสร้างอะไรที่ทำให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ส่วนนี้ ในขณะเดียวกันก็อยากให้ความรู้สึกสะดวกสบายและทันสมัยสำหรับแขก

ในวันที่อากาศร้อน แสงแดดทาบทับบนพื้น แผ่นผนัง และกรอบหน้าต่างซึ่งล้วนทำจากไม้กลายเป็นสีทอง ในช่วงบ่ายที่อากาศครึ้ม เมฆแปรเป็นเม็ดฝนโปรยปรายบนหลังคา ให้เสียงกังวานไปถึงพื้นที่โล่งกว้างกลางโรมแรม แน่นอนว่าการเลือกใช้วัสดุอย่างไม้สักทำให้ผู้มาเยือนเกิดความรู้สึกโหยหาความเรียบง่ายของอดีต ในยุคที่วัฒนธรรมท้องถิ่นยังมีอิทธิพลต่อรูปลักษณ์และฟังก์ชันการใช้งานของที่อยู่อาศัย

ทว่าการหาวัสดุที่ดีไม่เคยเป็นเรื่องง่าย นันทกาญจ์ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง เพื่อหาไม้สักที่ตรงตามมาตรฐาน เธอต้องทำงานร่วมกับช่างฝีมือเพื่อให้แน่ใจว่าไม้ทุกชิ้นได้รับการตัดแต่งและติดตั้งอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการบิดงอ แตกร้าว หรือความเสียหายที่อาจเกิดในอนาคต

“แนวคิดการใช้ไม้สักมาจากความต้องการของเราที่อยากจะสร้างพื้นที่ที่สะท้อนถึงสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม และความละเอียดอ่อนของงานฝีมือแบบภาคเหนือของไทย” นันทกาญจ์ ลิ้มเจริญ ผู้เป็นเจ้าของอธิบาย “คนเหนือใช้ไม้สักสร้างบ้านมาตั้งแต่เมื่อร้อยปีก่อน เราก็อยากสร้างอะไรที่ทำให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์ส่วนนี้ ในขณะเดียวกันก็อยากให้ความรู้สึกสะดวกสบายและทันสมัยสำหรับแขก”

ทุกรายละเอียดล้วนให้ความรู้สึกเย็นกายเย็นใจอย่างที่โลกดิจิทัลให้ไม่ได้ เหล่านี้เองที่เป็นเครื่องยืนยันว่าโรงแรมอทิตาถ่ายทอดเอกลักษณ์ท้องถิ่นผสานกลิ่นอายยุคโบราณกับความสะดวกสบายได้อย่างลงตัว

ไม้สักนั้นเป็นมากกว่าวัสดุท้องถิ่นของภาคเหนือ เมื่อหลายศตวรรษก่อน ไม้สักเป็นสินค้าราคาแพงเนื่องจากความทนทานผุพังยากและทนต่อการกัดแทะของแมลง “ไม้สักเป็นวัสดุที่เหมาะกับพื้นที่ร้อนชื้นอย่างเชียงแสน” นันทกาญจ์เสริม นอกจากการสร้างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ไม้สักยังเป็นวัสดุสำหรับสำหรับการต่อเรือด้วย อันที่จริงไม้ชนิดนี้เป็นหนึ่งในไม้เนื้อแข็งที่มีราคาแพงที่สุดในศตวรรษที่ 19 และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของสยามเนื่องจากมีป่าสักตามธรรมชาติ เช่นเดียวกับประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างอินเดีย ลาว และเมียนมา

ทว่าความต้องการไม้จำนวนมากจากประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษและฮอลันดา นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าจนเกือบไม่มีป่าสักอีกต่อไป และทำให้ไม้สักหายากจนทำให้คนท้องถิ่นหันมาใช้วัสดุอื่นสร้างบ้าน ในที่สุด ประเทศไทยก็ออกกฎหมายห้ามตัดไม้จากป่าธรรมชาติในปี พ.ศ. 2532 ป่าสักธรรมชาติจึงค่อยฟื้นตัวอย่างช้าๆ พร้อมกับที่เริ่มค้นพบวิธีทำป่าปลูกเชิงอุตสาหกรรมที่ให้ผลผลิตคุณภาพสูงใกล้เคียงกับไม้ธรรมชาติ

“เราใช้ไม้สักหลายชนิดในโรงแรม ทั้งไม้เก่าและไม้สักจากป่าปลูก เราคัดทุกชิ้นอย่างระวังเพื่อให้แน่ใจว่าได้ไม้ที่ทนทาน” นันทกาญจ์เล่า ทว่าการหาวัสดุที่ดีไม่เคยเป็นเรื่องง่าย นันทกาญจ์ใช้ความพยายามอย่างยิ่งเพื่อหาไม้สักที่ตรงตามมาตรฐาน เธอต้องทำงานร่วมกับช่างฝีมือเพื่อให้แน่ใจว่าไม้ทุกชิ้นได้รับการตัดแต่งและติดตั้งอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันการบิดงอ แตกร้าว หรือความเสียหายที่อาจเกิดในอนาคต ไม้สักทุกชิ้นถูกเคลือบเงาเพื่อป้องกันแสงแดดและความชื้น ทำให้ไม้ยังดูสดและมีอายุการใข้งานนานนับสิบปี

แม้จะมีขั้นตอนยุ่งยากมากมาย นันทกาญจ์ก็ยังเชื่อว่าการใช้ไม้สักสร้างโรงแรมเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เฉดสีน้ำตาลทองและลวดลายของไม้สักเสริมกันดีกับเบาะผ้าสีคราม เพิ่มบรรยากาศของความอบอุ่นและเป็นเอกลักษณ์ให้กับอทิตา ทั้งบันไดลอยที่ทอดตัวไปยังสวนเขียวร่มรื่น กรอบประตูห้องน้ำ และพื้นไม้สีเข้มภายในห้องพักแบบพูลวิลลา

ตัววิลล่าเองก็นับเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของความคลาสสิกแบบโบราณกับการใช้งานที่ล้ำสมัย ไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างบานเต็มจรดเพดาน ตู้แช่ไวน์ และตู้เย็น Smeg สีสดใสในส่วนครัว โต๊ะทานอาหารจากไม้เนื้อแข็ง สระว่ายน้ำส่วนตัว จนทำให้ห้องพักมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร

“ไม่ใช่แค่การทำให้โรงแรมดูสบายและทันสมัยแต่การใช้ไม้สักยังช่วยนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านของคนเหนือ การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างชัดเจนนี่แหละที่สร้างจุดขายให้กับโรงแรมของเรา”

ตั้งแต่การสร้างโรงแรมอยู่กลางสวนร่มรื่น ไปจนถึงร่มไม้ไผ่ในซุ้มพักผ่อน โคมไฟไม้ไผ่สาน และหมอนย้อมครามใช้ประดับประดาอยู่ทุกมุมโรงแรม ทุกรายละเอียดล้วนให้ความรู้สึกเย็นกายเย็นใจอย่างที่โลกดิจิทัลให้ไม่ได้

เหล่านี้เองที่เป็นเครื่องยืนยันว่าโรงแรมอทิตาถ่ายทอดเอกลักษณ์ท้องถิ่นผสานกลิ่นอายยุคโบราณกับความสะดวกสบายได้อย่างลงตัว