SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Social Fabric
ณ จังหวัดราชบุรี Pasaya แบรนด์สิ่งทอของไทยได้อ้าแขนรับภารกิจแสนท้าทายในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 การตั้งเป้าหมายนี้สะท้อนถึงพัฒนาการที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลดีในระยะยาว
ณ พื้นที่เขียวชอุ่มตรงผืนใหญ่ตรงขอบฝั่งจังหวัดราชบุรี ดวงอาทิตย์ได้สาดแสงลงมาสู่ผืนดิน เผยให้เห็นเหล่าผู้มาเยือนที่เข้ามาพักกายพักใจ บ้างก็นั่งทอดหุ่ยอยู่ใต้ต้นปาล์ม บ้างก็กางร่มเดินเล่นไปตามทางเดินรูปพระจันทร์เสี้ยวเหนือสระน้ำ ในบริเวณผืนดิน 400 ไร่ ที่อยู่ติดกับเขตจังหวัดนครปฐม
ทางเดินค่อยๆ ยกตัวชันขึ้นไปบรรจบกับตัวอาคารที่มีปีกกระจายไปรอบด้านราวกับรัศมีดวงอาทิตย์ที่คนรู้จักกันในนาม Octospider สถานที่ที่ผู้คนมาเชยชมดอกบัวบานในผืนน้ำด้านล่างและต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่านแซมกับอาคารต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง บ้างก็ได้สังเกตเห็นอักษรที่ปรากฎอยู่บนแผงโซลาร์เซลล์ของอาคารอื่นที่เรียงรายเป็นคำว่า Pasaya
ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา โรงงานพาซาญ่าที่ราชบุรีเป็นทั้งที่ตั้งของสำนักงานใหญ่และสนามทดสอบพยายามด้านความยั่งยืนของแบรนด์ ตั้งแต่โครงการบำบัดน้ำเสียระบบใหม่ไปจนถึงการออกแบบโครงสร้างอาคารที่ตั้งใจจะยกระดับสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงาน ซึ่งพาซาญ่าได้ริเริ่มเรื่องนี้มายาวนานก่อนที่จะกลายเป็นกระแสทั่วไปในวันนี้ และเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว พาซาญ่าก็ได้วาดหวังถึงจุดมุ่งหมายเชิงสังคมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
ชเล วุทธานันท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัทเท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์พาซาญ่า เคยได้ประกาศไว้ถึงเป้าหมายของบริษัทที่จะ ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้กลายเป็นศูนย์’ ภายในปี 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่งกับทุกบริษัท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
“ความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่โลกมนุษย์สร้างขึ้นมา กลับไปสร้างความเสียหายต่อโลกของธรรมชาติอย่างมหาศาล... เราต้องตระหนักว่า ภาวะโลกร้อนเป็นหายนะภัยที่คุกคามการดำรงอยู่ของทุกชีวิตบนโลก หากเราไม่ลงมือทำอะไรเพื่อแก้ไขสิ่งนี้ สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งบนโลกก็จะถึงจุดจบ” ชเลได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ของบริษัท และพาซาญ่าก็ได้ลงมือทำอย่างเร่งด่วนและจริงจังตามที่เขาประกาศไว้
“ความเจริญก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่โลกมนุษย์สร้างขึ้นมา กลับไปสร้างความเสียหายต่อโลกของธรรมชาติอย่างมหาศาล... เราต้องตระหนักว่า ภาวะโลกร้อนเป็นหายนะภัยที่คุกคามการดำรงอยู่ของทุกชีวิตบนโลก หากเราไม่ลงมือทำอะไรเพื่อแก้ไขสิ่งนี้ สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งบนโลกก็จะถึงจุดจบ”
ชุดข้อมูลหนึ่งจากรัฐสภายุโรปชี้ให้เห็นว่า ก๊าซเรือนกระจกราว 10% ของโลกนั้นมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและเรือสินค้ารวมกันเสียอีก หลักๆ ก็เพราะห่วงโซ่อุปทานที่ยืดยาวและกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานสูง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอยังใช้น้ำในปริมาณมากอย่างน่าตกใจ โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมยุโรปมีรายงานว่า เมื่อปี 2015 การผลิตสิ่งทอใช้น้ำไปกว่า 79,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ประเทศทั้งสหภาพยุโรปใช้น้ำรวมกันเพียง 266,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2017 และอีกหนึ่งปัญหาที่ร้ายแรงไม่แพ้กันคือ น้ำเสียจากกระบวนการผลิตส่วนหนึ่งได้หลุดสู่แหล่งน้ำสาธารณะ โดยข้อมูลจากมูลนิธิเอลเลน แมคอาเธอร์ระบุว่า มลพิษทางน้ำจากอุตสาหกรรมนั้นมาจากการย้อมและการฟินิชชิ่งผ้าสูงถึง 20%
แม้สถานการณ์จะรุนแรงสาหัสขนาดนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอส่วนใหญ่กลับปิดปากเงียบ อย่างในปี 2018 มีบริษัทในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเพียงสิบกว่าบริษัทที่เข้าโครงการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets initiative หรือ STBi) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่ตั้งขึ้นเพื่อย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่บริษัทต่างๆ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดของภาวะโลกรวน แม้ว่าในปี 2021 จำนวนบริษัทที่เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยกว่าแห่ง แต่ก็ยังคงเป็นเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนบริษัทในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในปีเดียวกัน บริษัทเอเลเวต เท็กซ์ไทล์ ของสหรัฐฯ กลายผู้ผลิตสิ่งทอระดับโลกเจ้าแรกที่ผ่านการตรวจสอบการกำหนดเป้าหมายโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์นี้ และอาจเป็นเจ้าเดียวก็ว่าได้
นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมปัญหาด้านแรงงานยิ่งทำให้ ‘ความเพิกเฉย’ นี้มีผลกระทบรุนแรงขึ้นไปอีก โดยองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า มีแรงงานมากกว่า 75 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยแรงงานส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีสภาพแวดล้อมการผลิตและการทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน รวมถึงประเทศไทยที่มีแรงงานมากกว่า 1.2 ล้านคนในอุตสาหกรรมนี้ คิดเป็นจีดีพีมากกว่า 4% ต่อปีในช่วงก่อนวิกฤติโรคระบาด ตามข้อมูลจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย
แผนการด้านความยั่งยืนนั้นอยู่คู่พาซาญ่ามาตั้งแต่ชเลเข้ามาบริหารกิจการในทศวรรษที่ 90 และย้ายโรงงานจากอำเภอพระประแดงมาสู่จังหวัดราชบุรี โดยชเลได้จัดการให้มีระบบบำบัดน้ำเสียเกิดขึ้นก่อนการสร้างโรงงานราชบุรี ทำให้พาซาญ่าเติบใหญ่บนรากฐานความยั่งยืนตั้งแต่วันแรก
ถึงแม้อุตสาหกรรมนี้จะมีความสำคัญต่อประเทศและมีการควบคุมจากภาครัฐที่เข้มงวดขึ้น แต่ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงดำรงอยู่เป็นวงกว้าง ในปี 2019 ศาลไทยมีคำสั่งให้โรงงานทอผ้าที่ส่งสินค้าให้กับแบรนด์ใหญ่อย่างสตาร์บัคส์และบาวเออร์ ฮอกกี้ จ่ายเงินชดเชยแรงงานหลายร้อยคนที่ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรม และเมื่อปีที่แล้ว สำนักข่าวเดอะการ์เดียนได้รายงานถึง ‘สภาพโรงงานนรก’ จากปากของคนงานในโรงงานแห่งหนึ่งที่ส่งสินค้าให้กับเทสโก้ ห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ พวกเขาต้องทำงาน 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีวันหยุดเพียงเดือนละ 1 วัน มิหนำซ้ำยังได้ค่าแรงเพียงวันละ 100 บาท
อย่างไรก็ตาม พาซาญ่าได้เสนอยาถอนพิษร้ายในรูปแบบของแผนการที่จะแก้ปัญหาสำคัญ ทั้งการใช้งานแรงงานที่ไม่เป็นธรรมและการทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมมุ่งหน้าสู่การทำความเข้าใจความยั่งยืนแบบองค์รวม ซึ่งอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้กว้างกว่าเขตโรงงานราชบุรี หรือแม้แต่ประเทศไทย
โดยตั้งแต่ก่อนที่ชเลจะเอ่ยถ้อยแถลงถึงจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม พาซาญ่าก็ได้เน้นย้ำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาหลายทศวรรษแล้ว โดยชัดเจนยิ่งขึ้นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา
ในปี 2020 พาซาญ่าขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ทำให้ทางบริษัทฯ มีการติดตามและตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งปีให้หลัง พาซาญ่าได้เริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตไฟฟ้าให้กับโรงงานได้ถึงสองล้านวัตต์ โดยชเลเคยให้สัมภาษณ์กับบางกอกโพสต์ถึงความตั้งใจที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นในปี 2024
เมื่อโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เป็นรูปเป็นร่าง พาซาญ่าก็หันมาใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แทนพลังงานจากถ่านหินในกระบวนการย้อมและการฟินิชชิ่งผ้า เฉพาะวิธีนี้ก็ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้แล้วมากถึง 40% หรือ 2,500 ตันต่อปี แต่ความมุ่งมั่นก็ยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะพาซาญ่ายังมีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกมากมายอยู่ในมือ
สำหรับปีนี้ พาซาญ่าจะเริ่มปลูกต้นไม้ประจำถิ่นอย่างต้นสัก ต้นตะเคียนทอง ต้นยางนา และอื่นๆ บนพื้นที่ 100 ไร่ โดยชเลคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2025 ป่าของพาซาญ่าจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 300 ตันต่อปี นอกจากนี้ พาซาญ่ายังใช้ระบบแลกเปลี่ยนความร้อนโดยใช้น้ำเสียจากการย้อมผ้า ซึ่งจะลดการใช้น้ำมันลงได้อีก 30% โดยแผนการเหล่านี้อาจเป็นก้าวที่สำคัญของวงการ เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมาจากกระบวนการต้นน้ำอย่างการย้อมผ้าถึง 70%
“การสร้างผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี ต้องเริ่มจากคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานเป็นอย่างแรก”
แผนการด้านความยั่งยืนนั้นอยู่คู่พาซาญ่ามาตั้งแต่ชเลเข้ามาบริหารกิจการในทศวรรษที่ 90 และย้ายโรงงานจากอำเภอพระประแดงมาสู่จังหวัดราชบุรี โดยชเลได้จัดการให้มีระบบบำบัดน้ำเสียเกิดขึ้นก่อนการสร้างโรงงานราชบุรี ทำให้พาซาญ่าเติบใหญ่บนรากฐานความยั่งยืนตั้งแต่วันแรก นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชเลมักอ้างอิงบันทึกเรื่องการปล่อยน้ำเสียของพาซาญ่าบ่อยครั้งว่า โรงงานแห่งนี้ไม่เคยสร้างมลภาวะให้กับแหล่งน้ำสาธารณะ
นอกจากนี้ ระบบบำบัดน้ำเสียก็สร้างประโยชน์ให้กับกระบวนการปลายน้ำอีกด้วย โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดจะไหลมารวมกันในสระน้ำที่แขกผู้มาเยือนนั่งชมวิวหลังอิ่มท้องจากร้าน Octospider ที่ตั้งอยู่ในอาคารรูปร่างแปลกตาเหนือสระน้ำ ซึ่งออกแบบโดยดอริต มิซราฮี และโอลิเวโร โกดี สองสถาปนิกชาวอิตาลี ในช่วงแรก อาคารแห่งนี้เป็นโรงอาหารของพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนการส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน แต่ด้วยรูปทรงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น จึงได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวในเวลาต่อมา และเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนให้มาเยี่ยมเยือนเอาต์เล็ตของโรงงาน โดยไม่ได้มุ่งแค่ให้พวกเขาจับจ่ายใช้สอย แต่ให้ได้สัมผัสมิติความยั่งยืนของพาซาญ่าด้วยตาตัวเอง อย่างไรก็ตาม แม้โรงอาหารแสนสวยจะกลายเป็นสถานที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวไปเสียแล้ว แต่พาซาญ่าก็ไม่ได้ละทิ้งพันธกิจด้านสวัสดิภาพของพนักงานไปแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ โรงเย็บผ้าที่มีชื่อว่า ‘ZigZag’ และโรงงานย้อมผ้าจึงถูกออกแบบขึ้นโดยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมการทำงานเป็นอันดับแรก โดยพาซาญ่าได้สร้างอาคารเปิดแบบไร้ฝาผนังเพื่อสร้างความโปร่งโล่ง ช่วยลดความร้อนและความชื้นที่เกิดจากกระบวนการย้อมสี และมีระบบดักจับและกักเก็บฝุ่นเล็กใหญ่ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงาน ที่สำคัญคือ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นของพาซาญ่าล้วนปราศจากฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่พบได้ทั่วไปในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในส่วนของพื้นที่กลางอาคารยังมีป่าขนาดย่อมให้พนักงานได้ทอดมองยามพักสายตา สอดคล้องกับแนวความคิดของแบรนด์ที่ว่า “การสร้างผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี ต้องเริ่มจากคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงานเป็นอย่างแรก”
ความทุ่มเทต่างๆ ในการสร้างโรงงานที่เป็นมิตรกับทั้งคนและสิ่งแวดล้อมได้ทำให้พาซาญ่าผ่านการรับรองที่สำคัญมากมายอย่าง ISO 9001 (ด้านการบริหารงาน) ISO 4001 (ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม) และ OEKO-TEX 100 (ด้านการปลอดสารพิษและสารต้องห้ามในสิ่งทอ)
สำหรับยุคสมัยนี้ ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับพาซาญ่าและแบรนด์อื่นที่คล้ายกัน เพราะความยั่งยืนส่งผลต่อทุกคน ตั้งแต่พนักงานในโรงงานราชบุรี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน ไปจนถึงผู้ซื้อในห้างสรรพสินค้า
ถึงแม้จะมีหลายโครงการที่ดำเนินมาเนิ่นนานแล้ว พาซาญ่ายังคงมองไปถึงอนาคตต่อจากนี้ โดยตั้งแต่ปี 2018 พาซาญ่าได้ร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีอย่าง ปตท. ในการอัพไซเคิลขวดพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ให้เป็นวัสดุไฟเบอร์ที่ทนทานเพื่อใช้ผลิตสินค้าต่างๆ ตั้งแต่พรมไปจนถึงผ้าทอติดผนัง (อันที่จริงแล้ว แล้ว เสื้อสูท ‘Zero Sweat Suit’ ก็ทอมาจากวัสดุรีไซเคิล และคว้ารางวัล DEmark ได้ในปี 2018) พาซาญ่ายังได้พัฒนาผ้าม่านสะท้อนความร้อนขึ้นมาที่สามารถช่วยลดอุณหภูมิห้องลง 2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยประหยัดไฟ ลดต้นทุนให้กับผู้บริโภค และลดภาระการใช้พลังงานไฟฟ้าของประเทศ
ในปัจจุบัน พาซาญ่าโฟกัสไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัสดุอัพไซเคิลและมองหาผู้ค้าวัสดุที่ยึดมั่นในหลักการเดียวกันมาร่วมงานด้วย ด้วยความหวังที่จะเป็นตัวอย่างให้กับผู้ผลิตสิ่งทอรายอื่น เพราะหากพาซาญ่าเป็นโรงงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เจ้าเดียวในไทย ก็ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้มากนัก
แต่แนวโน้มของตลาดในปัจจุบันก็เป็นสัญญานว่า พาซาญ่าอาจจะไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว โดยผู้ตอบแบบสอบถาม Fashion Revolution ปี 2020 จำนวน 80% ระบุว่าแบรนด์ต่างๆ ควรผ่านการรับรองด้านความยั่งยืน ขณะที่อีก 72% มองว่าแบรนด์ควรผ่านการรับรองด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่นหรือของใช้ในบ้าน นอกจากนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วโลกกว่า 9,000 คน ของ Lenzing Group ปี 2020 ครึ่งหนึ่งของผู้เข้าร่วมระบุไว้ว่า พวกเขามีแนวโน้มจะซื้อสินค้าที่นำเสนอตัวเองว่า ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ หรือเป็น ‘ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ’ มากกว่า ขณะที่อีก 60% กล่าวว่าพวกเขามีแนวโน้มจะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า ‘รีไซเคิลได้’ หรือ ‘ย่อยสลายได้’ หลังการใช้งาน
สำหรับยุคสมัยนี้ ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งทั้งกับพาซาญ่าและแบรนด์อื่นที่คล้ายกัน เพราะความยั่งยืนส่งผลต่อทุกคน ตั้งแต่พนักงานในโรงงานราชบุรี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงาน ไปจนถึงผู้ซื้อในห้างสรรพสินค้า สำหรับบริษัทที่เล็งเห็นได้ว่าความพยายามด้านความยั่งยืนนั้นเป็นโอกาสมากกว่าปัญหา ไม่เพียงแค่จะสามารถเพิ่มผลประกอบการได้ แต่พวกเขาจะมีส่วนสำคัญในการปูทางการแก้ปัญหาสำคัญทั้งหลายที่ถูกรั้งรอมาจนใกล้หมดเวลาเต็มที ■