HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

BEYOND BOUNDARIES


Lost and Found

ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ คาบสมุทรโอซ่าแห่งประเทศคอสตาริกาคือขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่มีผู้คนมากมายคอยปกป้องอย่างหวงแหน และเปิดให้ผู้มาเยือนเป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องด้วยเช่นกัน

30 พฤศจิกายน 2566

ภายใต้แมกไม้รกทึบของอุทยานแห่งชาติคอร์โควาโด นักเดินป่าอาจได้กลิ่นหอมเป็นครั้งคราวยามลมพัดแรงปะทะใบหน้า ซึ่งกลิ่นนั้นอาจมีส่วนผสมของกลิ่นลาเวนเดอร์ ส้มแมนดาริน กานพลู จันทน์เทศ และอำพัน พร้อมสัมผัสจางๆ ของกลิ่นหอมสดชื่นโทนซิตรัส ชวนให้นึกถึงน้ำหอมแบรนด์ดังสักตัว ไม่น่าเชื่อว่าในป่าฝนอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศคอสตาริกา นักชีววิทยานามว่า เอดูอาร์โด การ์ริโย ได้ใช้เครื่องมือแปลกใหม่ในการศึกษาพันธุ์สัตว์ป่า

คือ ‘Obsession for Men’ น้ำหอมสำหรับผู้ชายจากแบรนด์คาลวิน ไคลน์

“ผมไม่ได้จะฉีดพรมน้ำหอมบนตัวผมเอง แต่ผมต้องการดึงดูดเสือจากัวร์ พวกผมเริ่มใช้วิธีนี้ในการดึงดูดให้เสือจากัวร์เดินเข้ามาใกล้ๆ กล้องสักพักแล้ว แต่น้ำหอมตัวอื่นก็ไม่ได้ผลแบบนี้ ต้องเป็นกลิ่น Obsession for Men เท่านั้น ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าทำไม” เอดูอาร์โดเล่าถึงวิธีศึกษาธรรมชาติของทีมผ่านกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ในบทสัมภาษณ์

ด้วยวิธีนอกตำราของเขา ทีมวิจัยจึงสามารถบันทึกภาพเสือจากัวร์ได้ในหลายมุมและหลายพฤติกรรม จากประสบการณ์กว่า 15 ปีในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคอร์โควาโด เขาประเมินว่าปัจจุบันน่าจะมีเสือจากัวร์ราว 60-70 ตัวอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้

อุทยานแห่งชาติคอร์โควาโดที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 424 ตารางกิโลเมตรนั้นเป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงพันธกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชั้นเลิศของคอสตาริกา นอกจากความหลากหลายทางชีวภาพที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลก อุทยานแห่งนี้ยังนับเป็นป้อมปราการสุดท้ายของป่าปฐมภูมิในแผ่นดินอเมริกากลางด้วย

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าป่าแห่งนี้ยืนอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด ในช่วงทศวรรษที่ 1940 คอสตาริกาเคยมีผืนป่าฝนที่ไม่เคยถูกรุกล้ำมากถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ แต่เมื่อมนุษย์เริ่มเข้าพื้นที่เพื่อตัดไม้นำไปใช้งาน ผืนป่าก็เริ่มถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างเพื่อเกษตรกรรมและปศุสัตว์ แม้ตัวเลขของพื้นที่ป่าที่สูญหายไปจะยังไม่แน่ชัดแต่คาดว่าครึ่งหนึ่งหรือหนึ่งในสามของผืนป่าทั้งหมดนั้นหายไปแล้วในช่วงปี 1987

พื้นที่บริเวณคาบสมุทรโอซ่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ได้กลับมาปกคลุมด้วยไม้ป่าแน่นหนาอีกครั้ง โดย Fauna & Flora ประเมินไว้ว่า มีต้นไม้และสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่รวมกันมากกว่าครึ่งล้านสปีชีส์ แต่นอกเหนือจากความพยายามของรัฐบาลแล้ว อีกหนึ่งภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูทางธรรมชาติให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีคือ ภาคการท่องเที่ยว

คาบสมุทรโอซ่าซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติคอร์โควาโดก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำต้องสูญเสียเนื้อที่ป่าไม้จาก 97 เปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ 91 เปอร์เซ็นต์ภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ ซึ่งเป็นความเสียหายที่รุนแรงมากเนื่องจากคาบสมุทรแห่งนี้คือบ้านของผืนป่ามากถึงหนึ่งในสามของประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคอสตาริกาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาด้านระบบนิเวศ ในปี 1996 รัฐบาลจึงบังคับใช้กฎหมายด้านการห้ามถางป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ จากนั้นในปีถัดมา รัฐบาลก็ได้ริเริ่มโปรแกรม Payments for Environmental Services (PES) ซึ่งเป็นโครงการมอบเงินสนับสนุนให้แก่เกษตรกรที่ช่วยดูแลพื้นที่ลุ่มน้ำ ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

“ในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 คอสตาริกาเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตัดไม้ทำลายป่าสูงที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา แต่ประเทศก็สามารถพลิกสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งน่าทึ่งมาก” สจ๊วต มากินนิส รองผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวชื่นชม

ทุกวันนี้ พื้นที่บริเวณคาบสมุทรโอซ่ากว่า 60 เปอร์เซ็นต์ได้กลับมาปกคลุมด้วยไม้ป่าแน่นหนาอีกครั้ง และกลายเป็นบ้านของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ โดยองค์กรการกุศล Fauna & Flora ประเมินไว้ว่า มีต้นไม้และสัตว์ป่าอาศัยอยู่ในพื้นที่รวมกันมากกว่าครึ่งล้านสปีชีส์ แต่นอกเหนือจากความพยายามและเข้มงวดของรัฐบาลแล้ว อีกหนึ่งภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูทางธรรมชาติให้ลุล่วงไปได้ด้วยดีคือ ภาคการท่องเที่ยว

การอนุรักษ์จะไม่มีวันสำเร็จหากชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

ในแต่ละปี นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกราวสามล้านคนได้เข้ามาเยือนคอสตาริกา โดยสองในสามของนักท่องเที่ยวมุ่งมายังประเทศนี้เพราะชื่อเสียงเรื่องความอัศจรรย์ทางธรรมชาติ ซึ่งช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ในปลายปี 2019 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และช่วยให้ประชาชนประมาณสองแสนคนมีงานทำ

“นักท่องเที่ยวอยากมาชื่นชมภูเขา ธรรมชาติและป่าไม้ เมื่อได้เห็นนักท่องเที่ยวตื่นเต้นเวลาเห็นลิงหรือสลอธบนต้นไม้ คนในชุมชนก็ได้เห็นขุมทรัพย์ที่ตนมีอยู่ และความจำเป็นในการรักษาสิ่งล้ำค่าเหล่านี้” แพทริเซีย มาดริกัล-กอร์เดโร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้กล่าวไว้

จากการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนในชนบทของคาบสมุทรโอซ่าก็ได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ดังที่ปรากฏในสารคดี 2.5% - The Osa Peninsula โดยอีธานเอลเทอร์แมน และมาร์โก เบลลินเกอร์ เมื่อปี 2015 ที่เล่าถึงบทบาทของ Caminos de Osa กลุ่มความร่วมมือที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการลักลอบล่าสัตว์และตัดป่าไม้ผ่านการทำธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งพันธกิจของความร่วมมือนี้พื้นฐานอยู่บนแนวคิดที่ว่า การอนุรักษ์จะไม่มีวันสำเร็จหากชุมชนท้องถิ่นไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืนโดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

“ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกว่าอุทยานแห่งชาติคอร์โควาโดไม่ได้ให้ประโยชน์อะไรแก่พวกเขา พวกเขาทำเพียงแค่มองนักท่องเที่ยวเดินผ่านเลยไป เพื่อมุ่งไปสู่โรงแรมใหญ่ๆ ตรงอ่าวเดรกกับหาดมาตาปาโล แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวเดินตรงเข้ามาในชุมชนของพวกเขาแล้ว” ซูซานา มาตาโมรอส ผู้ประสานงานโครงการเล่า

โครงการความร่วมมือนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลายสถาบันใหญ่ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไปจนถึงองค์กร Costa Rica United States Foundation for Cooperation (CRUSA), National Systems of Conservation Areas (SINAC) ของรัฐบาลคอสตาริกา และองค์กรอื่นๆ โดยในช่วงปีแรกเริ่ม ทางโครงการมุ่งเน้นจัดเตรียมทัวร์ที่จะพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสธรรมชาติอันหลากหลายของคาบสมุทรโอซ่าควบคู่ไปกับความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น อย่างทัวร์ที่มีชื่อว่า Camino del Agua ที่ใช้เวลาสามวัน ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เจาะลึกถึงบทบาทสำคัญของน้ำในพื้นที่คาบสมุทรโอซ่า โปรแกรมทัวร์นี้มีทั้งการล่องเรือไปตามลำน้ำเพื่อชมชีวิตสัตว์ป่าตามธรรมชาติ กิจกรรมขี่ม้าเพื่อชมพรรณไม้ป่าและการดำน้ำตื้นอีกครึ่งวันที่เกาะคาโนเพื่อสำรวจสัตว์น้ำและแนวปะการัง ซึ่งแต่ละกิจกรรมจะดำเนินการโดยกิจการเล็กๆ ในพื้นที่

โครงการดังกล่าวได้ช่วยส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวของคนในพื้นที่ให้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่มอบประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร มีทั้งประสบการณ์เข้าพักโฮมสเตย์สุดเรียบง่ายที่จะสอนให้แขกเรียนรู้วิธีการดูแลและพึ่งพาทรัพยากรของพื้นที่ กิจกรรมเดินป่าท้าทายกายใจ หรือแม้แต่ทริปฮันนีมูนสุดหวานพร้อมกิจกรรมชมวาฬ ดำน้ำตื้น และสปาในรีสอร์ทหรู

แม้ว่าที่พักในบริเวณพื้นที่อุทยานส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์อีโคลอดจ์ที่มีแต่สิ่งจำเป็นให้บริการอย่างเช่นบ้านพักหลังเล็กที่เน้นความกลมกลืนกับธรรมชาติโดยรอบมากกว่าความสะดวกสบายของมนุษย์ แต่ในพื้นที่ใกล้เคียงยังมีโรงแรมและรีสอร์ตหรูที่ดำเนินการด้วยหลักความยั่งยืนด้วยเช่นกัน หนึ่งในที่พักชื่อดังประจำย่านนี้ก็คือ Lapa Rios Ecolodge ตั้งอยู่บนแหลมของคาบสมุทรโอซ่าที่เป็นแผ่นดินยื่นลงไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งสร้างขึ้นในปี 1993 เป็นหนึ่งในที่พักสไตล์อีโคลอดจ์แห่งแรกๆ ในคอสตาริกา และได้ช่วยสร้างมาตรฐานของโรงแรมที่เน้นความยั่งยืนในประเทศ

การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนของโรงแรมลาปา ริออสไปไกลกว่าแค่การงดใช้พลาสติก แต่ยังรวมถึงการว่าจ้างพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่น และร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหากำไรในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การให้การศึกษากับคนท้องถิ่น และการติดตั้งปั๊มน้ำสำหรับชุมชนรอบๆ โรงแรมด้วย โดยทุกวันนี้ ทางโรงแรมได้ช่วยปกป้องทั้งผืนป่าปฐมภูมิและทุตยภูมิเป็นเนื้อที่กว่า 1,000 เอเคอร์ซึ่งเป็นการคุ้มครองพันธุ์สัตว์หายากด้วยเช่นกันผู้เข้าพักจึงมีโอกาสพบเห็นลิงสายพันธุ์พื้นเมืองของคอสตาริกา ตัวสลอธสามนิ้ว สมเสร็จ ตัวกินมดซิลกี้ กบลูกศรพิษ และนกอีกกว่าสามร้อยสปีชีส์ซึ่งรวมถึงนกมาคอว์สีแดง ที่มีการนำมาตั้งเป็นชื่อที่พักด้วย (ชื่อโรงแรมนั้นมีความหมายว่า‘แม่น้ำแห่งนกมาคอว์สีแดง’)

นอกจากนี้แล้ว พื้นที่โดยรอบโรงแรมยังมีอีกหลายประสบการณ์มอบให้นักท่องเที่ยว เช่น กิจกรรมเล่นเซิร์ฟ ทัวร์ชมน้ำตก ทัวร์เดินถ่ายภาพหรือการสำรวจอุทยานแห่งชาติคอร์โควาโด เพราะโรงแรมนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเปอร์โต จิเมเดซซึ่งเป็นเมืองมนุษย์แห่งสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่โลกของสัตว์ป่าและพรรณไม้ในเขตอุทยานฯ

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมืองเปอร์โต จิเมเนซได้เปลี่ยนผ่านจากเมืองอันเงียบสงบกลายเป็นจุดหมายการเดินทาง เนื่องด้วยชื่อเสียงด้านทรัพยากรอันรุ่มรวย มีทั้งป่าฝนที่โอบล้อมเมืองไว้ และชาวเมืองที่โอบอ้อมอารี นักท่องเที่ยวสามารถสนุกกับกีฬาทางน้ำ ออกล่องเรือไปสำรวจอ่าวต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง หรือเล่นเซิร์ฟโต้คลื่นสูงที่กาโบมาตาปาโล ตรงปลายสุดของคาบสมุทรโอซ่า

“ในฐานะคนรักธรรมชาติ เปอร์โต จิเมเนซสร้างความตื่นตาตื่นใจไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าด้วยหาดทรายบริสุทธิ์ ป่าเขียว และสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์ ฉันได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเต็มที่ และมีช่วงเวลาดีๆ จากผู้คนที่ฉันพบเจอและมิตรภาพใหม่ๆ” คริสตีน มันซี นักข่าวชาวอเมริกันผู้เคยเดินทางมาอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้เมื่อปี 2016 เล่าถึงความหลังสุดประทับใจที่มีต่อเปอร์โต จิเมเนซ

อีกหนึ่งลักษณะเด่นของเมืองแห่งนี้ก็คือ การที่ชาวเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างเต็มที่ เช่น ตลาดเกษตรกรทุกวันเสาร์ที่จัดโดยสมาคม Los Higuerones ซึ่งสะท้อนชีวิตของชุมชนท้องถิ่นผ่านผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทำมือ ทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด และชุมชนก็มีรายได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมืองเปอร์โต จิเมเนซเป็นสวรรค์ของนักชิม มีทั้งร้านอาหารริมน้ำไปจนถึงร้านอาหารเล็กๆ แบบครอบครัว คริสตีนแนะนำว่าถ้าอยากลองอาหารท้องถิ่นแท้ๆ ต้องไม่พลาดร้าน Soda Johanna ซึ่งเสิร์ฟอาหารจำพวกกัลโล ปินโต (ข้าวผสมถั่ว) และกาซาโด (ข้าวเสิร์ฟพร้อมถั่ว แพลนเทน สลัด และเนื้อ)ส่วนใครที่อยากกินอาหารทะเลสดๆ พร้อมวิวทะเลต้องไปที่ร้าน Soda Marbella กับ Los Delfines สำหรับในโซนใจกลางเมือง ผู้มาเยือนควรแวะไปที่ La Esquina ซึ่งเป็นย่านบันเทิงใจกลางเมืองที่มีบาร์หลากหลายคึกคักเรียงรายในยามค่ำคืน

แม้ครั้งหนึ่ง ผืนป่าในพื้นที่แห่งนี้ดูมีท่าทีว่าจะสูญหายไป แต่ความตื่นตัวและความมุ่งมั่นของหลายภาคส่วนในคอสตาริกาก็ได้ช่วยพลิกฟื้นผืนป่าให้งดงามชุ่มฉ่ำอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐบาล ความร่วมมือของชุมชนอย่างคามินอส เดอ โอซ่า ธุรกิจที่พักอย่างลาปา ริออส จนถึงชาวบ้านในพื้นที่ ที่ต่างร่วมกันสร้างวิถีชีวิตที่กลมกลืนกันระหว่างมนุษย์กับป่า อันเป็นตัวอย่างที่ชัดเละพิสูจน์ให้เห็นว่า แรงกายแรงใจเล็กๆที่มาผสานกันนั้นสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้กว่าที่คิด