HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


AgriTech Overture

ด้วยปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่แนวโน้มอายุประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้นไปจนถึงอายุเก็บรักษาพืชผัก บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งจึงเข้ามาเป็นผู้เล่นในการดูแลส่วนต่างๆ ของห่วงโซ่อุปทานอาหาร และอาจช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารของโลกที่ดูสั่นคลอนอยู่ในปัจจุบัน

30 พฤศจิกายน 2566

ภายในบริเวณของฟาร์มองุ่นไฮโดรโปนิกแห่งหนึ่งใกล้ตัวเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด พนักงานของไร่องุ่นกำลังขะมักเขม้นตรวจสอบพุ่มไม้อย่างละเอียดเพื่อหาว่าองุ่นพวงใดพร้อมให้เก็บจากต้นได้แล้ว ถึงแม้ว่าฟาร์มนี้จะมีขนาดเล็กเพียงสองไร่ แต่การทำฟาร์มแบบไฮโดรโปนิกแบบแนวตั้งซ้อนกันสูงขึ้นไปนั้น เมื่อเทียบกับสวนผลไม้แบบทั่วไป พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้สามารถสร้างผลผลิตมากกว่าราวสี่เท่า ขณะปฏิบัติงาน พนักงานเหล่านั้นจะส่งเสียงพึมพำอยู่เบาๆ พร้อมขยับตัวไปมาเพื่อวางองุ่นลงบนสายพานลำเลียงไปยังขั้นตอนถัดไป

‘พนักงาน’ ทั้งหมด ล้วนเป็นหุ่นยนต์ที่ออกแบบโดย Tortuga AgTech จากโคโลราโดที่ต้องการนำความล้ำสมัยมาสู่โลกการเกษตรในปัจจุบัน

จากมุมมองของบริษัทเทคโนโลยีแห่งนี้ หุ่นยนต์ของพวกเขาสามารถช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานให้กับไร่เชิงพาณิชย์ได้ อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรมทั่วโลก เนื่องจากประชากรผู้สูงวัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มนุษย์ยังมีขีดจำกัดทางร่างกาย อาจรู้สึกเหนื่อยล้าและหมดเรี่ยวแรงเมื่อทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง แต่หุ่นยนต์จะไม่มีปัญหานี้แต่อย่างใด และสามารถดูแลผลผลิตได้อย่างทะนุถนอมตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มงานไปจนถึงชั่วโมงที่ 20 ของวัน กองทัพหุ่นยนต์เหล่านี้สามารถเก็บผลผลิตที่พร้อมขายได้ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้มนุษย์ในการควบคุมเพียงคนเดียวเท่านั้น

นวัตกรรมใหม่ๆ ด้านเกษตรกรรมและอาหารอย่างของ Tortuga กลายเป็นทีต้องการอย่างเร่งด่วนในยุคนี้ ดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO Food Price Index หรือ FFPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดที่ใช้ติดตามความเปลี่ยนแปลงของราคาอาหารที่ซื้อขายกันทั่วโลก ได้ชี้ให้เห็นว่า ดัชนีราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นไปกว่า 21 เปอร์เซ็นต์แล้ว นับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา และแตะเพดานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2022 นอกจากนี้ ยังมีประชากรโลกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร และได้รับสารอาหารไม่ครบห้าหมู่ ซึ่งเป็นตัวเลขสูงถึง 42 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก หรือ 3.14 พันล้านคนในปี 2021 สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำหรือมีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 86 เปอร์เซ็นต์และ 70 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ในประเทศที่เสี่ยงต่อวิกฤตอาหารมากที่สุด 11 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศในแอฟริกาใต้สะฮารา (Sub-Saharan Africa)ไปแล้ว 10 ประเทศ ประชากรกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละประเทศนั้น ไม่สามารถซื้ออาหารที่เพียงพอต่อการบำรุงร่างกายได้

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารคือ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าประชากรในโลกจะสูงถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2050 และองค์การสหประชาชาติได้ประเมินไว้ว่า อุตสาหกรรมโลกต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารมากขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของประชากรโลก ด้วยเหตุนี้ จากข้อมูลของเอฟเอโอ เกษตรกรรายย่อยอาจต้องเพิ่มปริมาณผลผลิตให้ได้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้สวนเกษตรของพวกเขายังอยู่รอดท่ามกลางกิจการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ในส่วนของปัจจัยอื่นๆ จะมีทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เกษตรกรที่มีอายุมากขึ้น การขาดแคลนแรงงานการขาดพื้นที่เพื่อทำการเกษตร อาหารเสีย และขยะเศษอาหาร ซึ่งล้วนเป็นปัญหาย่อยที่ต้องถูกแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนปัญหาใหญ่อย่างการขาดแคลนอาหารจะบานปลาย

“วิกฤตการณ์นี้เป็นปัญหาของทุกประเทศ เพราะอาหารนั้นเป็นธุรกิจระดับโลก” โฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับบางกอกโพสต์ ไทยวาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตมันสำปะหลังแนวหน้าของเมืองไทย และเป็นยังเป็นผู้ผลิตเส้นหมี่ขาว วุ้นเส้น เส้นก๋วยเตี๋ยวต่างๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งโฮและหลายคนในอุตสาหกรรมนี้มองว่าการรับมือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องใช้วิธีการสามขั้นตอน โดยขั้นตอนแรกคือการใช้ผลผลิตในท้องถิ่นให้ได้มากที่สุด เพื่อชะลอการขึ้นราคาอาหารหลักอย่างมันฝรั่ง ข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าว ทั้งยังลดการพึ่งพาผู้ค้านอกประเทศและช่วยลดความผันผวนในประเทศ ขั้นตอนที่สองคือการเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทเทคโนโลยีการเกษตรส่วนใหญ่พยายามเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนขั้นตอนที่สามก็คือการร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐในการค้นคว้าและเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ

“แวดวงเกษตรกรรมพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นอย่างมาก” พอล เต็ง เผียง-ซีออง กรรมการผู้จัดการบริษัท NIE International อันเป็นที่ปรึกษาของสถาบันการศึกษาแห่งชาติในสิงคโปร์ กล่าวในงานประชุมที่จัดขึ้นโดย Asian Development Bank (ADB) ในปี 2022

ภาพฝันของแวดวงเกษตรกรรมในอนาคต ที่ว่าไร่สวนต่างๆ จะเต็มไปด้วยหุ่นยนต์พนักงานหรือมีสวนไฮโดโปรนิกส์ขนาดใหญ่เท่าเมืองนั้นอาจดูเป็นสิ่งที่น่าจะเห็นในภาพยนตร์มากกว่าชีวิตจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินฝัน เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท Tevel Technologies ในอิสราเอลได้เผยภาพฟุตเทจของหุ่นยนต์บินได้ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง (Flying Autonomous Robots) ที่สามารถเก็บแอปเปิ้ลและแอปพริคอตจากกิ่งได้โดยตรง ทั้งยังสามารถแสกนหาผลไม้ที่สุกเพื่อเก็บเกี่ยวและปล่อยให้ผลที่ยังไม่สุกดีให้อยู่บนต้นต่อไปได้ อีกเทคโนโลยีน่าสนใจเป็นของ Honest AgTech บริษัทสัญชาติดัตช์ที่ผลิตหุ่นยนต์ที่สามารถตัดกิ่งลิดใบได้เมื่อใกล้ถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยว และดูแลพืชผลในแบบที่เกษตรกรทั่วไปทำ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีจากบริษัท NeoFarm ในฝรั่งเศส ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้าง ‘ฟาร์มแบบครบวงจร’ ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระด้านการจัดการพื้นที่และด้านอื่นๆ ทั้งยังเปิดโอกาสให้บริษัทหน้าใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานอาหาร

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารคือ จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าประชากรในโลกจะสูงถึง 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2050 และอุตสาหกรรมโลกต้องเพิ่มกำลังการผลิตอาหารมากขึ้นอีก 60 เปอร์เซ็นต์จึงจะสอดคล้องกับความต้องการของประชากรโลก

แม้อนาคตของเทคโนโลยีการเกษตรจะดูสดใส แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาหรือรายได้ปานกลางนั้นอาจไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตัวช่วยเหล่านี้ได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในภาคการเกษตรของไทย โดยพัฒนาการทางเทคโนโลยีการเกษตรในประเทศไทยนั้น ยังเน้นเพียงการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานอาหารด้วยการลดราคาของเทคโนโลยีที่มีอยู่ หรือไม่ก็ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วเพื่อใช้งานในรูปแบบใหม่

รีคัลท์เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่โดดเด่นที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาของประเทศไทย นี่คือบริษัทที่นำเทคโนโลยี Machine Learning และภาพจากดาวเทียมมาใช้ในการระบุปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญ และช่วยให้พวกเขามีรายได้ที่ดีขึ้น ข้อมูลจากสหประชาชาติระบุว่า ผู้ใช้แรงงานหนึ่งในสามของของประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรมและเป็นกลุ่มที่มีรายได้เพียง 7,200 บาทต่อเดือนนอกจากนี้ ภัยแล้งอุทกภัย และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศยังทำให้รายได้ที่น้อยนิดอยู่แล้วไม่สม่ำเสมอ คาดการณ์ได้ยากว่าเดือนนี้จะยังมีรายได้เข้าดังเดิมหรือไม่และผลกระทบก็ลากยาวไปถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของพวกเขา และอาจทำให้ผลผลิตของพวกเขาขาดตอนได้เช่นกัน

“เวลาพูดถึงเกษตรกร คุณอาจนึงถึงภาพคนดูแลไร่สวน ปลูกพืชผักต่างๆ แต่อันที่จริงแล้ว เกษตรกรก็เป็นผู้ทำธุรกิจขนาดเล็กเช่นกัน เพียงแต่พวกเขาได้รับรายได้เพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้นในช่วงที่พวกเขาเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว และเมื่อเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ พวกเขาต้องกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนในการสร้างผลผลิต วนเวียนไปเรื่อยๆ” อุกฤษ อุณหะเลขกะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งรีคัลท์เคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์กับ Asia Media Centre

อุกฤษผู้เป็นศิษย์เก่า MIT ก่อตั้งรีคัลท์ร่วมกับอุสมาน จาเวด เพื่อร่วมสถาบัน โดยมีเป้าหมายในการช่วยบรรเทาปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศของแต่ละพื้นที่ ซึ่งปกติแล้วจะมีแต่ฟาร์มขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีข้อมูลนี้ทั้งยังมีการประกาศราคาตลาดล่าสุดของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งาน เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีขึ้น และแอปพลิเคชันที่มาพร้อมประโยชน์มากมายเช่นนี้ยังเปิดให้ใช้งานได้ฟรี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานในประเทศไทยราว 6 แสนคน และข้อมูลจากเทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเกษตรของผู้ใช้งานได้ถึง 20 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์

อันที่จริงแล้ว เป้าหมายของอุกฤษนั้นมีมากกว่าการดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร เพราะประเทศไทยกำลังก้าวสู่วิถีการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนมากขึ้น และสามารถตรวจสอบที่มาของแต่ละสินค้าได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ดังที่อุกฤษได้อธิบายเสริมไว้ว่า “เราต้องการใช้ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่างๆ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอาหารและเกษตรกรรมของไทย”

อีกหนึ่งธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายไม่ต่างจากรีคัลท์คือ โคโมมิ ผู้ให้บริการนวัตกรรมการเกษตรที่เน้นแก้ปัญหาตรงจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อุปทานซึ่งก็คือการปลูกและการเก็บเกี่ยว ด้วยการใช้ระบบน้ำที่สั่งการผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้เกษตรกรสามารถแยกพื้นที่สวนไร่ขนาดใหญ่ออกเป็นโซนต่างๆ เพื่อดูแลแต่ละโซนที่มีภูมิลักษณะ พันธุ์พืช และประเภทดินที่ต่างกันออกไปอย่างเหมาะสม ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรควบคุมการให้น้ำ ให้ปุ๋ย และขั้นตอนอื่นๆ ได้อย่างแม่นยำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสวนไร่อย่างได้ผล

เมื่อมีผู้ดูแลฝั่งต้นห่วงโซ่อุปทานแล้ว ก็มีผู้เล่นที่เน้นดูแลฝั่งปลายของห่วงโซ่นี้ด้วยเช่นกันอย่างอีเด็น อะกริเท็ค ที่สร้างเทคโนโลยีเพื่อดูแลขั้นตอนก่อนที่อาหารจะไปถึงผู้บริโภค ในแต่ละปี ประเทศไทยสร้างขยะอาหารรวมกันราว 9,570,000 ตัน สตาร์ทอัพแห่งนี้ก็ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมที่จดสิทธิบัตรแล้วนามว่า‘แนทเชอแรน’ ที่ช่วยยืดอายุเก็บรักษาผักและผลไม้ ซึ่งเป็นสารเคลือบผิวแบบใสและปลอดภัยในการรับประทาน ปราศจากสารเคมีอันตราย แนทเชอแรนสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตได้มากขึ้นถึงห้าเท่าจากปกติ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใดทั้งยังช่วยป้องกันปฏิกิริยาออกซิเดชันและยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหารบูดเสีย

นวัตกรรมแนทเชอแรนไม่ได้ช่วยจัดการปัญหาขยะภายในประเทศเท่านั้น แต่อาจช่วยเพิ่มการส่งออกผลผลิตไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย ผู้ส่งออกจากเอเชียจึงสามารถขนส่งผักไปยังผู้บริโภคในยุโรปได้โดยพืชผลยังสดใหม่ราวกับเพิ่งตัดจากต้น และผู้บริโภคก็สามารถมั่นใจได้ว่าผลิตผลเหล่านี้ปราศจากสารกันเสียที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ยิ่งไปกว่านั้น แนทเชอเรนยังสามารถช่วยรักษาคุณภาพและอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่นตะไคร้ ผลไม้แห้ง และแป้งมันสำปะหลังได้อีกด้วย

แม้ว่าหนทางสู่โลกแห่งอนาคตสุดล้ำสมัยที่บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Tortuga และ Tevel Technologies วาดฝันไว้นั้นยังอีกยาวไกลแต่ตัวช่วยด้านการเกษตรในจุดย่อยๆ อย่างนวัตกรรมของรีคัลท์และอีเด็นนั้นก็เป็นสัญญานที่ดีว่า เทคโนโลยีสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่ออุตสาหกรรมอาหารของบ้านเราได้ และเห็นผลลัพธ์ได้แล้วในตอนนี้ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตในต้นทาง และการรักษาผลผลิตจนถึงมือปลายทางนั้น เป็นก้าวแรกที่น่าสนใจในการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารในระดับโลก ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนสายเกินแก้