HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

LIVING SPACE


Book Smart

ในขณะที่ภาพจำห้องสมุดของคนจำนวนมากไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเป็นห้องอับกลิ่นพรมที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่าๆ โลกยุคใหม่ของห้องสมุดในต่างประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ห้องสมุดนั้นเป็นได้มากกว่าแค่คลังหนังสือ

30 กันยายน 2566

ย้อนไปเมื่อครั้งที่ห้องสมุด Oodi ในเมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เปิดทำการเป็นครั้งแรก แอนนา-มาเรีย ซอยนินวารา ผู้อำนวยการห้องสมุดได้พาสื่อต่างประเทศเดินชมภายในตัวอาคาร ในครั้งนั้น เธอยืนอยู่หน้าเครื่องจักรดิจิทัลที่ใช้ในการแกะสลักไม้ เครื่องจักรเย็บผ้าระบบคอมพิวเตอร์ และเครื่องพิมพ์สามมิติที่อยู่บริเวณชั้น 2 ของห้องสมุดตามรายงานข่าวบอกว่า ผู้อำนวยการห้องสมุดยอมรับแบบเขินอายว่า เธอเองก็ยังไม่เข้าใจว่าอุปกรณ์เหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง

ถ้าเมื่อ 15 ปีก่อน มีใครสักคนมาบอกว่าห้องสมุดจะมีเทคโนโลยีล้ำสมัยในระดับที่แม้แต่ตัวผู้อำนวยการเองก็ยังไม่รู้ว่าใช้ทำอะไร หรือแต่ละเครื่องทำงานอย่างไร อาจฟังดูเป็นเรื่องน่าขำขัน แต่ด้วยการเติบโตทางเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ตไร้สายราคาถูก ไปจนถึงการที่สมาร์ทโฟนและแล็ปท็อปกลายเป็นอุปกรณ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้แต่ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดหรือห่างไกลความเจริญเป็นอย่างมาก ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้จุดประสงค์ดั้งเดิมของห้องสมุดสาธารณะซึ่งก็คือ การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง กำลังเลือนหายไป ห้องสมุดต่างๆจึงต้องปฏิวัติตัวเองใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

การปรับตัวดังกล่าวได้ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา มีห้องสมุดที่น่าสนใจเปิดขึ้นทั่วโลกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าห้องสมุดเหล่านี้จะยังคงมีเล่มหนังสือเรียงราย แต่สิ่งที่โดดเด่นออกมาคือการเป็นมากกว่าคลังหนังสือ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่าเป็นหน้าที่หลักของห้องสมุดอยู่

หากมองจากภายนอก ห้องสมุดหลายแห่งผ่านการออกแบบให้ดูสวยสะดุดตา และเป็นอาคารขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ใจกลางกรุงที่เน้นให้เห็นถึงความสำคัญในการเป็นพื้นที่สาธารณะ อันเป็นสถานะของห้องสมุดมายาวนานนับศตวรรษ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือภายในห้องสมุด เพราะทุกวันนี้ห้องสมุดชั้นนำระดับโลกหลายแห่งได้นิยามตัวเองใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นจัตุรัสที่ทันสมัย ดึงดูดทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวด้วยสวนสาธารณะโรงภาพยนตร์ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ห้องเล่นเกม แกลเลอรีงานศิลปะ แหล่งรวมตัวของวัยรุ่น และศูนย์พัฒนาอาชีพ

ขณะเดียวกัน บทบาทในการเป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูลที่คนทั่วไปหาไม่ได้จากในบ้านยังคงเดิมเพียงแค่แหล่งข้อมูลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปเล่มอีกต่อไป ห้องสมุดทุกวันนี้ครอบคลุมทั้งสตูดิโอพอดคาสต์ เครื่องตัดเลเซอร์ ห้องสำหรับเวิร์กช็อปงานไม้และการเป็น ‘ห้องสมุดสรรพสิ่ง’ ที่สมาชิกสามารถยืมทุกอย่างได้ ตั้งแต่เครื่องมือช่างที่ใช้พลังงานไฟฟ้าไปจนถึงกล้องดูดาว

การตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ และการดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามายังห้องสมุดนั้นต้องตอบโจทย์พวกเขาได้ จึงทำให้ห้องสมุดขนาดใหญ่ระดับโลกว่าจ้างบริษัทออกแบบชั้นนำให้รับหน้าที่สร้างสรรค์พื้นที่ที่ตระการตา ที่สามารถเสริมภูมิทัศน์ของเมืองและกลายเป็นที่กล่าวถึงตามสื่อนิตยสารการออกแบบ สำหรับผู้มาใช้บริการห้องสมุดยุคใหม่หลายคนนั้น การยืมหนังสือกลับบ้านกลับกลายเป็นเรื่องสุดท้ายที่พวกเขาจะนึกถึง

ประเทศในกลุ่มนอร์ดิกจัดเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ อย่างของห้องสมุดออดิที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2018 นี้ มีความสูง 3 ชั้น โดดเด่นด้วยดีไซน์ที่มีความลาดเอียงและการใช้ไม้ เหล็ก และกระจกโมโนลิธเป็นวัสดุหลัก ห้องสมุดแห่งนี้เปิดหลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายห้องสมุดปี 2017 ของฟินแลนด์ โดยกฎหมายนี้เน้นเรื่องการแปลงพื้นที่ห้องสมุดสาธารณะให้เป็นสถานที่ที่สนับสนุนความมีส่วนร่วมของพลเมือง ความเป็นประชาธิปไตย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ห้องสมุดออดิจึงเป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกอ้างถึงมากที่สุดในฟินแลนด์เมื่อพูดถึงโครงการพื้นที่สาธารณะ

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ทำให้จุดประสงค์ดั้งเดิมของห้องสมุดสาธารณะซึ่งก็คือการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง กำลังเลือนหายไป ห้องสมุดต่างๆ จึงต้องปฏิวัติตัวเองใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

“ความท้าทายก็คือการปรับการใช้งานของห้องสมุดสาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยึดติดกับการเป็น ‘อาคาร’ ในขณะที่โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่อยากเพียงแค่นำเสนอภาพอันสวยงามแห่งอดีตที่ห้องสมุดเป็นคลังแห่งความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะปัจจุบันมันเป็นได้มากกว่านั้น” แฮร์ริ แอนนาลากล่าว เธอเป็นบรรณารักษ์ประจำห้องสมุดออดิและทำงานที่นี่มาตั้งแต่ตอนที่ห้องสมุดเปิด

“แน่นอนว่าหนังสือยังมีบทบาทสำคัญที่นี่ แต่การรวบรวมหนังสือไม่ใช่วัตถุประสงค์ทั้งหมดของอาคารอีกต่อไป” แอนนา-มาเรีย ผู้อำนวยการห้องสมุด ให้ความเห็นในระหว่างที่พา New York Times ชมห้องสมุดในปี 2018

และนั่นคือเรื่องจริงจนถึงทุกวันนี้ อาคารขนาด 17,250 ตร.ม. มีแห่งนี้หนังสือไม่มากนัก โดยมีหนังสือราว 100,000 เล่ม สองในสามของพื้นที่นี้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกสำหรับประชาชน ชั้นล่างสุดเป็นคอมมูนิตี้ฮับที่ประกอบไปด้วยร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ศูนย์ข้อมูลสหภาพยุโรป และยังมีพื้นที่สำหรับจัดสำหรับจัดคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์อื่นๆ ที่เสริมให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมขึ้น ส่วนชั้น 2 ก็ครึกครื้นด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์ เพราะเต็มไปด้วยผู้คนที่ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยและห้องทำงานสำหรับคนที่สนใจงานศิลปะ หากใครตั้งใจมาเพื่อมองหาหนังสือ ต้องมุ่งไปยังชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดถึงจะได้พบกับ ‘Book Haven’ พื้นที่เปิดโล่งที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือสีขาวสะอาดตาเรียงรายอยู่บนพื้นไม้สีอ่อน สร้างบรรยากาศสงบสำหรับการอ่านหนังสือโดยไม่ทิ้งความโก้เก๋ ทั้งยังสามารถมองเห็นอาคารรัฐสภาที่อยู่ใกล้กันจากมุมมองระนาบเดียวกับเสาสูงใหญ่ส่วนด้านหน้าตึกรัฐสภา

“สถาปัตยกรรมของอาคารรัฐสภาเป็นเหมือนตัวแทนของอำนาจการปกครอง ที่อยู่เบื้องหลังเสาสุดปลายทางของขั้นบันไดสูง ในขณะที่ระเบียงห้องสมุดแห่งนี้ยกระดับให้หนังสือ ห้องสมุด และประชาชนให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอำนาจของรัฐสภา” ยูโฮ กรอนโฮล์ม กล่าว เขาเป็นหนึ่งในสามหัวเรือใหญ่ของ ALA Architects ผู้ออกแบบห้องสมุดออดิตลอดระยะเวลา 10 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาบอกว่า “เราครุ่นคิดมาตลอดว่าห้องสมุด ณ ใจกลางเมืองเฮลซิงกิแห่งนี้จะมีหน้าตาอย่างไร เมื่อมองจากรถรางหมายเลข 3 หรือมองผ่านม่านฝนหิมะ ยิ่งไปกว่านั้น ห้องสมุดแห่งนี้สร้างขึ้นด้วยเงินภาษีของประชาชน ห้องสมุดจึงเป็นพื้นที่สาธารณะโดยแท้จริงและเปิดให้ทุกคนเข้าใช้งานได้เราต้องการให้เจ้าของห้องสมุด ซึ่งก็คือประชาชนผู้จ่ายภาษี ได้รู้สึกว่าพวกเขาเป็นหนึ่งในเจ้าของห้องสมุดออดิ”

อย่างไรก็ตาม ห้องสมุดออดิไม่ใช่ห้องสมุดแห่งแรกในกลุ่มประเทศนอร์ดิกที่ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของห้องสมุดใหม่ให้เป็นองค์กรสาธารณะในประเทศเดนมาร์ก ห้องสมุด Dokk1 แห่งเมืองอาร์ฮุสเริ่มเปิดประตูต้อนรับประชาชนในปี 2016 ซึ่งในปีนั้นเอง ห้องสมุดด็อคค์ วันก็ถูกขนานนามว่าเป็น ‘ห้องสมุดที่ล้ำยุคที่สุดในโลก’ โดยนิตยสาร Time รวมถึงได้รับรางวัล ‘ห้องสมุดแห่งปี’ จาก The International Federation of Library Associations and Institutions (IFLA) ซึ่งเป็นสมาพันธ์ห้องสมุดระดับโลก

บทบาทในการเป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูลที่คนทั่วไปหาไม่ได้จากในบ้านยังคงเดิมเพียงแค่แหล่งข้อมูลนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปเล่มอีกต่อไป ห้องสมุดทุกวันนี้ครอบคลุมการเป็น ‘ห้องสมุดสรรพสิ่ง’ ที่สมาชิกสามารถยืมทุกอย่างได้

ในช่วงเวลานั้น ห้องสมุดด็อคค์ วันเป็นเสมือนดวงประทีปแห่งแวดวงสถาปัตยกรรมสแกนดิเนเวียด้วยรูปทรงอาคารขนาดใหญ่ทรงเหลี่ยม และใช้กระจกใสเป็นวงกว้างเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องเข้ามาทั่วถึงพื้นที่ภายใน เช่นเดียวกับออดิ ห้องสมุดด็อคค์ วันก็มี ‘พื้นที่สำหรับนักสร้างสรรค์’ ที่อำนวยความสะดวกด้านเวิร์กช็อปการแสดงต่างๆ และการฉายภาพยนตร์ในภายในพื้นที่ทรงอัฒจันทร์ ตัวอาคารนี้ยังเป็นเครื่องยืนยันความมุ่งมั่นของเดนมาร์กในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ไฟ LED และการทำความเย็นโดยใช้น้ำทะเล ร่วมด้วยการรีไซเคิลอากาศที่ถูกระบายออกไปจากอาคารเพื่อสร้างความอบอุ่นให้บริเวณพื้นที่จอดรถใต้ดิน นอกจากนี้ ห้องสมุดด็อคค์ วันยังนับได้ว่าเป็นหนึ่งในห้องสมุดแบบอินเตอร์แอ็กทีฟที่ล้ำสมัยที่สุดในช่วงปีนั้น ด้วยหน้าจอที่แสดงการสื่อสารผ่านอินสตาแกรมของผู้ที่มาใช้บริการ และระบบการแจ้งเตือนที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเชื่อมต่อกับแผนกสูติกรรมของโรงพยาบาลประจำพื้นที่ เพื่อให้พ่อแม่ป้ายแดงได้กดปุ่มจากโรงพยาบาลที่ส่งสัญญาณมายังระฆังทรงกระบอกขนาดใหญ่ที่ห้องสมุด เพื่อประกาศเรื่องสมาชิกเกิดใหม่ของเมืองนี้

แบร์เทล ฮาร์เดอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของเดนมาร์ก ได้กล่าวถึงด็อคค์ วันไว้ในแถลงการณ์เรื่องห้องสมุดแห่งนี้ไว้ว่า “ด็อคค์ วันเป็นการบรรจบกันระหว่างสองอัตลักษณ์ประจำเดนมาร์กที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างวัฒนธรรมการเปิดกว้างด้านความรู้ในทุกสาขาให้กับคนทุกรุ่นและจากทุกสถานะสังคม และวิถีการออกแบบของเดนมาร์กที่เน้นทั้งความสวยงามและการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ”

ช่วงปี 2016 ถึง 2019 เป็นช่วงเวลาที่ได้เห็นความเจริญเติบโตของห้องสมุดระดับโลกแบบก้าวกระโดด และยังมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพื้นฐานของห้องสมุดที่ต่างจากแบบดั้งเดิมที่เคยให้น้ำหนักกับการเป็นศูนย์รวมข้อมูลและมีหนังสือจำนวนมากให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ หนึ่งในตัวอย่างก็คือ Qatar National Library ที่สร้างเสร็จในปี 2018 ซึ่งมีแนวทางเดียวกันกับห้องสมุดออดิและด็อคค์ วัน อาคารที่สวยงามนี้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ในแต่ละเดือน วงดนตรี Qatar Philharmonic Orchestra จะจัดการแสดงดนตรีฟรีที่นั่น และมีอีเวนต์อื่นๆ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นกันเกือบร้อยงานในทุกๆ เดือน บ้านก็เป็นกิจกรรมอันแสนเรียบง่ายอย่างการล้อมวงกันถักไหมพรมที่ชวนผู้หญิงจากทั่วเมืองมาร่วมเวิร์กช็อปด้วยกันนาน 4 ชั่วโมง ทั้งยังมีพื้นที่ที่จัดเพื่อการแต่งเพลง และห้องส่งที่มีฉากเขียวพร้อมใช้ รวมถึงพร้อมเป็นพื้นที่สำหรับเด็กๆ ให้พวกเขาได้เล่นและสำรวจสิ่งต่างๆ

ห้องสมุดระดับโลกแห่งอื่นๆ อย่าง Tianjin Binhai Library ในเมืองจีน Central Library ในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส และ New Central Library ในคาลการีของแคนาดา ล้วนแล้วแต่เปิดให้บริการในช่วงปีใกล้ๆ ทั้งนั้น ซึ่งทั้งหมดล้วนมีแนวทางการใช้งานที่ตามรอยประเทศกลุ่มนอร์ดิกนั่นก็คือ การให้ความสำคัญกับชุมชน การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และการรวบรวมเอาความรู้ไว้หลากหลายแขนง

ในขณะที่เมืองไทยไม่ได้ขาดแคลนห้องสมุดสาธารณะและห้องสมุดเอกชนที่มีบรรยากาศงดงาม แต่สิ่งที่ยังขาดและยังไม่เกิดขึ้นก็คือ พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของ ‘ความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม ความเป็นประชาธิปไตย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีห้องสมุดขนาดใหญ่ระดับนั้น แต่ห้องสมุดเมืองไทยหลายแห่งก็มีการใช้งานที่คล้ายๆ กัน เพียงแค่ไม่ได้รวมอยู่ในอาคารเดียวกัน และบางแห่งก็ดำเนินการด้วยหน่วยงานเอกชนอย่างหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า BACC ที่แม้จะไม่ใช่ห้องสมุดในความหมายแบบที่คุ้นชินกัน แต่หอศิลป์แห่งนี้ก็มีบทบาทเช่นเดียวกับห้องสมุดยุคใหม่ในยุโรป ด้วยสถาปัตยกรรมที่สวยเด่นซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเมือง โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับชุมชน คลาสสอนศิลปะ เวิร์กช็อปด้านดนตรี การฉายภาพยนตร์ และอีกหลายกิจกรรมที่ทำให้ที่นี่เป็นศูนย์ในการขับเคลื่อนทางสังคมในการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด

คล้ายกันนั้นยังมีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบหรือที่รู้จักกันในชื่อ TCDC ซึ่งปัจจุบันมีถึง 4 สาขา นับตั้งแต่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2005 โดยสร้างขึ้นด้วยเงินระดมทุนจากสาธารณะ ก่อตั้งขึ้นให้เป็นศูนย์กลางสำหรับเจ้าของกิจการที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ให้เป็นแหล่งรวมทรัพยากร ตลอดจนเป็นพื้นที่ในการพบปะเพื่อพัฒนาทักษะและแลกเปลี่ยนไอเดียกับคนในแวดวงเดียวกัน ทั้ง BACC และ TCDC ต่างก็เป็นพื้นที่ที่เน้นส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมของศิลปะมากเป็นพิเศษ ทำให้คนที่ไม่สนใจเรื่องนี้อาจจะไม่เห็นเหตุผลในการมาเยือนสักเท่าไร ในขณะที่หอสมุดแห่งชาติซึ่งมุ่งเป้าไปยังคนที่หลากหลายกว่า ยังยึดรูปแบบของห้องสมุดแบบเก่าที่เน้นการเก็บรักษาหนังสือและให้ประชาชนได้เข้าถึงหนังสือเหล่านั้น ทั้งแบบเล่มจริงและผ่านทางระบบดิจิทัล โดยมีกิจกรรมอื่นๆ เพียงประปราย

ในปี 2015 ข้อเขียนในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดยบรรณาธิการและคอลัมนิสต์ที่มีผลงานเขียนมายาวนานอย่าง อัญชลี คงกรุต มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ออกความเห็นว่า “ห้องสมุดสาธารณะจะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยภายในปี 2030 อย่างแน่นอน” และในบทความเดียวกันนี้ยังพูดถึงบรรยากาศอับชื้นและเวลาปิดทำการที่เร็วเกินไป ซึ่งทำลายความหวังในการที่จะเห็นบรรยากาศแบบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในเดนมาร์กฟินแลนด์ จีน หรือที่อื่นๆ ในโลก หากนับเวลา 7 ปีตั้งแต่บทความนี้ได้เผยแพร่ออกมา ดูเหมือนว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นน้อยมากในเรื่องนี้ หอสมุดแห่งชาติยังคงปิดทำการตอนหกโมงเย็น ในขณะที่ห้องสมุดออดิปิดตอนสามทุ่ม ซึ่งเวลาปิดนี้สร้างความแตกต่างอย่างมากหากคำนึงถึงว่าประชาชนสามารถมาใช้บริการห้องสมุดหลังเลิกงานได้

ในขณะที่เมืองไทยไม่ได้ขาดแคลนห้องสมุดสาธารณะและห้องสมุดเอกชนที่มีบรรยากาศงดงาม มีอินเทอร์เน็ตไร้สายให้บริการ มีพื้นที่ในการอ่านหนังสือหรือทำงาน และมีหนังสือจำนวนมาก แต่สิ่งที่ยังขาดและยังไม่เกิดขึ้นก็คือ พื้นที่ขนาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางของ ‘ความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วม ความเป็นประชาธิปไตย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต’

และความต่างนี้อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเพราะพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ต้องการงบประมาณก้อนโต และถึงแม้ว่าทางกรุงเทพมหานครจะทุ่มเงินหลายร้อยล้านในการปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างของห้องสมุดตลอดหลายปีที่ผ่านมา เม็ดเงินที่ลงไปนั้นก็ยังห่างไกลจากงบประมาณ 98 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.7 พันล้านบาท ที่ใช้ในการสร้างอาคารอย่างออดิในฟินแลนด์

อย่างไรก็ตาม อาคารขนาดใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้อาจไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุด มากไปกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนทัศน์ ซึ่งตรงกันกับที่แอนนาลา บรรณารักษ์ประจำห้องสมุดออดิได้พูดเป็นนัยถึงการหยุดวาดภาพอดีตว่างดงามกว่าที่เป็น และอยู่กับวิถีโลกปัจจุบันให้ได้อย่างเต็มที่ เมื่อถึงเวลาเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน