SECTION
ABOUTSTATE OF THE ARTS
Digital Canvas
การจำกัดความอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญในแวดวงศิลปะดิจิทัล ที่โอบรับปรัชญาแห่งความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขอบเขต และเปิดโอกาสให้ศิลปินเล่นสนุกกับเครื่องมือทันสมัย โดยไม่ยึดติดกับขนบการสร้างสรรค์แบบดั้งเดิม
30 พฤศจิกายน 2566
จอยซ์ แคโรล โอทส์ นักเขียนชาวอเมริกันเคยบรรยายถึงภาพวาด Nighthawks ของเอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ว่าเป็น “ภาพที่สะเทือนอารมณ์และเป็นตัวแทนภาพอันโรแมนติกของความเหงาในแบบฉบับอเมริกัน” ด้วยผลงานสีน้ำมันชิ้นนี้ถ่ายทอดความเหงาผ่านภาพของร้านอาหารยามค่ำที่ดูคล้ายตู้ปลาใจกลางเมือง หรืออาจมองได้ว่าเป็นคุกกระจกใส ที่ภายในร้านมีคนอยู่สี่คนแต่ไม่มีใครพูดคุยกัน หรือแม้แต่จะหันไปมองกันและกัน
ร้านอาหารแห่งนี้เป็นที่หลบภัยของคนเหงาชาวกรุง แหล่งปลอบประโลมจิตใจ หรือเป็นภาพตัวแทนการถูกตัดขาดออกจากเพื่อนมนุษย์ที่มักเป็นวิถีของชาวเมืองใหญ่กันแน่? สำหรับศิลปินนามว่า ‘Kanith’ หรือกนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทองภาพวาดระดับตำนานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของสถานที่สักเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องของ ‘อารมณ์’ ของผู้คนในยุคนี้
“เราคิดว่าฮอปเปอร์ได้ถ่ายทอดความเหงาแห่งยุคดิจิทัลได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งในหลายชิ้นงานของเขา ‘หน้าต่าง’ มีบทบาทสำคัญในฐานะประตูสู่ความเป็นจริงแห่งโลกภายนอก แต่ก็ได้เผยให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวที่อยู่ภายใน และทุกวันนี้ หน้าจอดิจิทัลทั้งหลายก็คือหน้าต่างในรูปแบบดังกล่าว” กนิษฐรินทร์อธิบาย และกนิษฐรินทร์ก็ได้ใช้ ‘กระจกดำ’ หรือหน้าต่างเหล่านั้นในการประกอบอาชีพ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กนิษฐรินทร์มีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยผลงานศิลปะดิจิทัลเชิงแนวคิดที่ห้าวหาญ ที่มีลายเส้นและสีสันที่ชวนนึกถึงไมโครซอฟท์เพนต์ทว่ามีเสน่ห์เตะตา ทั้งยังมีกลิ่นอายของอิทธิพลจากฮอปเปอร์ในการบอกเล่าเป็นนัยถึงบทบาทต่างๆ ทางสังคมที่ฝังรากลึกในประเทศไทยและประเทศอื่นในเอเชียมาเนิ่นนาน บ้างก็แฝงเรื่องราวการผสานของวัฒนธรรม จากการที่เธอเติบโตในครอบครัวไทย-จีน
นอกเหนือจากเนื้อหาและความหมายของชิ้นงาน กลวิธีการ ‘สื่อ’ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่กนิษฐรินทร์รู้สึกชื่นชอบ กนิษฐรินทร์ชอบความเรียบง่ายของแอนิเมชัน งานกราฟฟิก และเวกเตอร์ ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัลแบบดั้งเดิมที่เปิดโอกาสให้เธอร้อยเรียงเรื่องราวในรูปแบบที่ท้าทาย
ใครก็ตามที่มีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ก็ถือว่ามีผ้าใบวาดภาพ มีแกลเลอรี และมีผู้ชมอยู่พร้อมแล้วเพียงปลายนิ้ว อุปสรรคในการสร้างสรรค์ชิ้นงานในโลกดิจิทัลนั้นแทบไม่มีเหลือแล้ว
“วิธีสื่อสารแบบดั้งเดิมสร้างการรับรู้ถึงเวลาในรูปแบบใหม่ได้เช่นกัน แต่การใช้สื่อดิจิทัลนั้นจะง่ายกว่าเยอะ การใช้ภาพเคลื่อนไหวสามารถเปลี่ยนแปลงการเล่าเรื่องไปได้เลย อาจทำให้เรื่องราวคาดเดาได้ยากขึ้น หรือเพิ่มความลึกและความอเนกประสงค์ของการสื่อสาร ศิลปินจึงต้องมีเครื่องมือในการถ่ายทอดข้อความของตนเองให้ได้มากที่สุด” กนิษฐรินทร์เสริม
กนิษฐรินทร์ได้มีโอกาสแสดงผลงานของตัวเองทั้งในกรุงเทพฯ และประเทศญี่ปุ่น เธอเป็นหนึ่งในศิลปินคลื่นลูกใหม่ของเมืองไทยที่ใช้เทคโนโลยีในการสร้างนิยามใหม่ของการแสดงออกทางศิลปะ ในยุคนี้ที่เครื่องมือและแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้นมีจำนวนมากล้น การสร้างสรรค์งานศิลปะจึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนที่สามารถเข้าถึงสตูดิโอศิลปะหรือการศึกษาศิลปะในรูปแบบดั้งเดิมเพียงอย่างเดียว ดังที่เธอได้บอกกล่าวไว้ว่า
“ใครก็ตามที่มีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ก็ถือว่ามีผ้าใบวาดภาพ มีแกลเลอรี และมีผู้ชมอยู่พร้อมแล้วเพียงปลายนิ้ว อุปสรรคในการสร้างสรรค์ชิ้นงานในโลกดิจิทัลนั้นแทบไม่มีเหลือแล้ว เพราะมีทั้งแอปพลิเคชันและสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ที่ราคาเอื้อมถึงได้หรือไม่ก็ฟรีและสิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้คนเข้าถึงมุมนักสร้างสรรค์ของตัวเองมากขึ้น สร้างความเป็นประชาธิปไตยให้โลกศิลปะอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
การถือกำเนิดของยุคจิทัลระหว่างช่วงปี 1950 ถึง 1970 นั้น ถือเป็นยุคแรกเริ่มของสื่อศิลปะดิจิทัลเมื่อศิลปินหลายคนเริ่มค่อยๆ ผสานเทคนิคดิจิทัลเข้าไปในสื่อต่างๆ อย่างโทรทัศน์และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 ฟรีแดร์นาเคอ ผู้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และศิลปินดิจิทัลอาร์ตรุ่นบุกเบิกได้หลอมละลายเส้นกั้นระหว่างตรรกะและความเป็นไปได้ และสร้างสรรค์ภาพวาดด้วยอัลกอริธึมที่เขาใช้พื้นเพความถนัดด้านวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นมา
นับแต่นั้นมา ศิลปะดิจิทัลก็ยังคงมีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จากภาพนิ่งไปสู่ภาพเคลื่อนไหวในทศวรรษถัดมา ศิลปะประเภทนี้ยังโอบรับปรากฏการณ์ทางศิลปะต่างๆ และสื่อรูปแบบใหม่ที่ช่วยปูทางให้ศิลปะมัลติมีเดียและแบบอินเทอร์แอคทีฟนั้นได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของแวดวงศิลปะดิจิทัล
ทุกวันนี้ ศิลปินจากเมืองเล็กๆ ก็สามารถแสดงผลงานของพวกเขาสู่สายตาสาธารณชนทั่วโลกได้ ช่องทางการเผยแพร่ออนไลน์ต่างๆ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเติบโตของศิลปะดิจิทัลด้วยการมอบโอกาสในการแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ การเชื่อมสัมพันธ์ และการพัฒนา
ในช่วงต้นของทศวรรษ 1980 คำว่า ‘ศิลปะดิจิทัล’ ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยี ‘AARON’ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างฮาโรลด์ โคเฮน ศิลปินชาวอังกฤษ และบรรดาวิศวกรคอมพิวเตอร์ AARON เป็นซอฟต์แวร์ด้านศิลปะและปัญญาประดิษฐ์แรกๆ ของโลก โดยมีหน้าที่เป็นช่องทางสื่อสารสำหรับความคิดสร้างสรรค์ของฮาร์โรลด์ในการสร้างภาพวาดนามธรรม ที่เรียกได้ว่าเป็นปฐมบทของศิลปะที่สร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์ในยุคถัดมา
เมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 1990 ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงได้อย่างมหาศาล ซึ่งก็คือ การแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ที่ทำให้ศิลปินได้ทดลองสร้างสิ่งใหม่ๆ กับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น ช่วยสร้างเสรีภาพในการสร้างสรรค์ชิ้นงานและการกระจายงานศิลปะดิจิทัลยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ ในยุคสมัยนี้ยังมีการผสมผสานงานศิลปะดิจิทัลลงไปในการแสดงศิลปะจัดวางและงานประติมากรรม ลบเลือนเส้นแบ่งกั้นระหว่างโลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างแนบเนียน
ในบทความ "The rise of digital art" ของ OWDT ดิจิทัลเอเจนซีชั้นนำ ได้กล่าวถึงข้อสังเกตน่าสนใจว่า ในปัจจุบัน ศิลปะดิจิทัลแทบไม่ต้องมีการแบ่งแยกประเภทแล้ว ศิลปะในรูปแบบไหนก็ตามที่เข้ากันได้และมีมุมความอินเทอร์แอคทีฟก็นับว่าเป็นศิลปะประเภทนี้ได้ ศิลปินจึงต้องชำนาญในองค์ประกอบดั้งเดิมของศิลปะ พร้อมปรับใช้เครื่องมือหรือซอฟต์แวร์ใหม่ๆ จนเกิดเป็นสื่อหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพประกอบและภาพถ่าย ไปจนถึงกราฟฟิกเคลื่อนไหว วิดีโอ AR และศิลปะที่สร้างขึ้นโดยปัญญาประดิษฐ์
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับคุณค่าของศิลปะดิจิทัล โดยเฉพาะช่วงที่ ‘คริปโตอาร์ต’ เติบโตขึ้น ความแตกต่างระหว่างศิลปะดิจิทัลและ NFTs (non-fungible tokens) ได้ทำให้เกิดคำถามถึงคุณค่าของศิลปะแขนงนี้ ผู้คนสามารถเป็นเจ้าของคริปโตอาร์ตได้ด้วยสกุลเงินดิจิทัลหรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เงินคริปโต’ จนเกิดเป็นการท้าทายความเข้าใจเดิมๆ ของการเป็นเจ้าของชิ้นงานและคุณค่าของงานศิลปะ
สำหรับหลายคนแล้ว เอ็นเอฟทีเป็นพัฒนาการครั้งใหญ่ของแวดวงศิลปะดิจิทัล เอ็นเอฟทีเป็นการเชื่อมงานดิจิทัลเข้ากับโทเคนบทแพลตฟอร์มที่เข้ารหัสไว้ เป็นเสมือนใบรับรองความเป็นของแท้และความเป็นเจ้าของ ชิ้นงานเอ็นเอฟทียังสร้างความพิเศษน่าจับจองได้ด้วยจำนวนที่จำกัดและความหายากของแต่ละชิ้นงาน
ในบทความเดียวกันของ OWDT ก็ได้อธิบายว่า เอ็นเอฟทีแต่ละชิ้นจะมีชิ้นเดียวบนโลก และมีระบบที่ป้องกันการขโมยหรือปลอมแปลงได้ติดตามเส้นทางความเป็นเจ้าของได้อย่างปลอดภัยและโปร่งใสบนระบบบล็อคเชน นับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้คนเป็นเจ้าของทรัพย์สินดิจิทัลได้อย่างแท้จริง ศิลปินต่างๆ อย่างศิลปินกราฟฟิตีและสตรีทอาร์ต สามารถผนวกเทคโนโลยี image recognition ที่ช่วยป้องกันการทำซ้ำในงานศิลปะของพวกเขาได้ เป็นการเสริมคุณค่าให้ชิ้นงานไปในตัว
ผู้สนับสนุนเอ็นเอฟทีมักจะกล่าวว่า ลักษณะของชิ้นงานที่สามารถติดตามความเป็นเจ้าของได้ (traceability) และมีความเฉพาะตัว ทดแทนด้วยสิ่งอื่นไม่ได้ (non-fungibility) นั้นยกระดับให้ศิลปะดิจิทัลมีคุณค่าด้วยความหายากในระดับเดียวกับวิจิตรศิลป์ ในขณะที่กลุ่มนักวิจารณ์ โดยเฉพาะคนที่ทำงานในพื้นที่แสดงศิลปะนั้นกลับไม่ค่อยคล้อยตามนัก เพราะหากเจาะลึกลงไปในฟังก์ชันของเอ็นเอฟทีแล้วจะพบว่ามีเพียงtoken ID เท่านั้นที่มีความ ‘เฉพาะตัว’ บนระบบบล็อคเชน ในขณะที่รูปภาพไฟล์ jpeg ที่ถูกเชื่อมโยงกับ token ID นั้นๆ (ของรูปที่ผู้ใช้งานคิดว่ากำลังซื้ออยู่) สามารถทำซ้ำได้อย่างไม่จำกัด เช่นเดียวกับไฟล์ jpeg ทั่วไป ซึ่งหมายความว่าผู้ซื้อจึงครอบครองเพียงแค่โค้ดจำนวนหนึ่ง ไม่ใช่ชิ้นงานศิลปะจึงทำให้บางคนตั้งคำถามว่า พวกเขากำลังซื้ออะไรกันอยู่แน่?
แต่คำถามไม่ได้หยุดการซื้อเอ็นเอฟทีของคนจำนวนไม่น้อย
ณัชพล ตุ๊เสงี่ยม ศิลปินที่ใช้นามว่า TU!! คือหนึ่งในศิลปินเอ็นเอฟทีที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประเทศไทย ด้วยพอร์ตโฟลิโอที่เต็มไปด้วยโปรเจกต์หลากหลาย รวมถึงการร่วมงานกับองค์กรยักษ์ใหญ่อย่างดิสนีย์และแฟนต้า การออกแบบเครื่องแต่งกาย และการร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการวิจิตรศิลป์ สิ่งที่ทำให้งานของณัชพลโดดเด่นนั้นไม่ใช่เพียงความกล้าหาญทางศิลปะ หากยังรวมถึงหัวด้านการตลาด เขาแอร์ดร็อปงานเอ็นเอฟทีสี่ชิ้นแรกของเขาบนแพลตฟอร์ม OpenSea ซึ่งเป็นตลาดเอ็นเอฟทีและชิ้นงานคริปโตที่ใหญ่สุดในโลก ให้ผู้คนได้เป็นเจ้าของฟรีๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์
ณัชพลมองว่า ความนิยมที่พุ่งสูงของเอ็นเอฟทีนั้น ช่วยให้เขาเริ่มต้นในสายงานนี้ได้ และช่วยให้เขาพบสไตล์ของตัวเองอีกด้วย หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาได้ทำงานเป็นนักวาดภาพประกอบ จึงมีประสบการณ์ใช้งานเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ จนคล่องแคล่ว และทำให้เขาเริ่มสร้างชิ้นงานในรูปแบบที่ฉีกออกจากรูปแบบเดิมๆ ได้
ณัชพลได้ให้สัมภาษณ์กับ Blaq Lyte ไว้ว่า “ผมชอบสร้างแอนิเมชันแบบวนลูป ซึ่งเป็นประโยชน์มากเมื่อผมได้รู้จักวงการเอ็นเอฟที” ณัชพลกล่าว และบรรยายถึงสไตล์ส่วนตัวของเขาว่าเป็น pop psychedelic art ที่มีการ์ตูนเคลื่อนไหวและสีสันสดใสที่ช่วยให้เข้าถึงง่ายขึ้น “คนที่สนใจในงานเอ็นเอฟทีของผมนั้น มักถูกดึงดูดด้วยพลังงานของชิ้นงานแต่ละชิ้น”
เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่ณัชพลไปอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมันเป็นเดือนๆ งานของเขาก็ได้ถูกแสดงบนบิลบอร์ดขนาดใหญ่ และผู้ชมสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผลงานชิ้นนั้นในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวเมื่อใช้แอปพลิเคชัน AR บนโทรศัพท์มือถือ
“การได้ไปอยู่ที่เยอรมันช่วยเสริมแพชชันของผมมาก เป็นช่วงที่ผมมีโอกาสเติบโตเป็นศิลปินสตรีทอาร์ตและศิลปินร่วมสมัย” คือคำบอกเล่าของณัชพลบนเว็บไซต์ Blaq Lyte และกล่าวถึงวงการศิลปะประเทศไทยที่ยังมีความอนุรักษ์นิยมสูง โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย ที่ไม่ได้สนับสนุนการทดลองสิ่งแปลกใหม่สักเท่าไหร่ “พวกเราจึงต้องผลักดันตัวเองให้มากขึ้น ไม่ได้พึ่งพาระบบการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียว”
เอ็นเอฟทีได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในปี 2021 โดยมีรายงานปริมาณการขายเพิ่มขึ้นถึง 1,000 เปอร์เซนต์ ทวีตแรกของแจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งทวิตเตอร์ได้ถูกประมูลไปในรูปแบบเอ็นเอฟทีในราคาเกือบสามล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆหลายแห่ง รวมถึง State Hermitage Museum ในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, The Metropolitan Museum of Art ในนิวยอร์ค, และพิพิธภัณฑ์บริติชในกรุงลอนดอน ก็ได้หันเข้าหาเอ็นเอฟทีเพื่อการระดมทุนในการบรรเทาความสูญเสียที่เกิดจากโรคระบาด
อย่างไรก็ตาม ความตื่นเต้นในศิลปะที่ซื้อขายด้วยเงินคริปโตนั้นก็ได้จางลงในช่วงปี 2023 โปรเจกต์เอ็นเอฟทีที่เคยโด่งดังถึงขีดสุดอย่าง Bored Apes Yacht Club หรือแม้แต่ทวีตของแจ็ค ดอร์ซีย์ มีมูลค่าลดลงมากถึง 90 เปอร์เซนต์ในขณะที่ศิลปินดิจิทัลอาร์ตที่พยายามเข้าไปสู่วงการนี้มากขึ้น ก็ดูเหมือนจะมีนักธุรกิจสายเทคฯพยายามครอบครองส่วนแบ่งของพื้นที่วงการเอ็นเอฟทีเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ บางคนอาจใช้งานศิลปะที่ไม่ได้ใช้ความพยายามสร้างมากนักแต่เพิ่มมูลค่าให้ชิ้นงานเกินจริงผ่านอินฟลูเอนเซอร์จนคนเกิด ‘FOMO’ (fear of missing out หรือความกลัวที่จะพลาดสิ่งต่างๆ ในกระแส) ผู้คนจึงหลั่งไหลเข้าไปในแพลตฟอร์มเอ็นเอฟทีต่างๆเพื่อซื้อชิ้นงานที่ดูไม่สมเหตุสมผลเพียงเพราะคำเชิญชวนของอินฟลูเอนเซอร์ ในท้ายที่สุด เมื่องานศิลปะที่พวกเขาซื้อนั้นเหลือมูลค่าแทบเป็นศูนย์ พวกเขาก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองแต่เพียงผู้เดียว
“ทันทีที่นักธุรกิจพยายามดึงโลกของเอ็นเอฟทีออกจากคนที่เป็นศิลปินแท้ๆ และแปลงพื้นที่นี้ให้กลายเป็นเกมเก็งกำไร โอกาสที่ศิลปินจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในแวดวงเอ็นเอฟทีก็ต้องจบลงไป” คือคำบอกเล่าของยูทูปเบอร์ชาวอเมริกันเจ้าของช่อง Nerd City บนวิดีโอล่าสุดของเขาที่เล่าถึงการปล้นโอกาสของนักธุรกิจชาวอเมริกันคนหนึ่ง “พวกเขาไม่ได้รู้หรอกว่าศิลปะที่ดีนั้นเป็นอย่างไร และพวกเขาก็ไม่สนใจด้วย พวกเขารู้แค่จะสร้างกระแสและขายได้อย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาของศิลปินที่แท้จริงที่พยายามเข้าสู่แวดวงนี้ เพราะพวกเขากลับเหลือพื้นที่ให้ตัวเองอยู่น้อยนิด”
อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีแพลตฟอร์มและช่องทางออนไลน์หลายแห่งอย่างเช่น ArtStation, Behance หรือ DevianArt ที่มอบโอกาสอันยอดเยี่ยมให้ศิลปินน้องใหม่มีช่องทางเผยแพร่ผลงานและสร้างความเป็นประชาธิปไตยในแวดวงมากขึ้น
“ทุกวันนี้ ศิลปินจากเมืองเล็กๆ ก็สามารถแสดงผลงานของพวกเขาสู่สายตาสาธารณชนทั่วโลกได้ เรามองว่า ช่องทางการเผยแพร่ออนไลน์ต่างๆ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการเติบโตของศิลปะดิจิทัลด้วยการมอบโอกาสในการแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ การเชื่อมสัมพันธ์ และการพัฒนา เพื่อให้มั่นใจว่าศิลปะนั้นไม่ได้จำกัดการเข้าถึงเพียงแค่ในขอบเขตเล็กๆ แต่คนจากทั่วโลกก็ล้วนมีส่วนร่วมได้” กนิษฐรินทร์กล่าว
ในจักรวาลศิลปะดิจิทัลที่มีวิวัฒนาการอย่างไม่จบสิ้น ผืนผ้าใบวาดภาพก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนขอบเขตต่างๆ ได้ลบเลือนลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อหน้าจอสีดำทำหน้าที่เป็นหน้าต่างสู่โลกของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ศิลปินอย่างกนิษฐรินทร์และณัชพลเป็นตัวอย่างของศักยภาพของศิลปะในโลกยุคดิจิทัล และเรื่องราวของพวกเขาเตือนใจได้อย่างดีว่า งานศิลปะควรเป็นเรื่องที่ไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ■