SECTION
ABOUTLIVING SPACE
Around the Block
ตัวต่อเลโก้นั้นไม่เป็นเพียงแค่ของเล่นโปรดของเด็กทั่วโลก แต่ยังสามารถสร้างคุณค่าและพัฒนาการด้านต่างๆ ให้กับคนทุกวัย ไปจนถึงการสร้างประโยชน์ระดับเมือง
29 กุมภาพันธ์ 2567
พระเมรุมาศที่ถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของรัชกาลที่ 9 ถูกยกย่องให้เป็นสุดยอดศิลปะจากศิลปินและช่างชั้นครูในไทย ซึ่งงดงามตระการด้วยบุษบก 9 ยอด ลวดลายละเอียดอ่อน และรูปปั้นพระนารายณ์ประดับพระเมรุมาศที่ละม้ายพระพักตร์ของรัชกาลที่ 9 ส่วนกลางของพระเมรุมาศยังโดดเด่นด้วยความสูงตระหง่านและความงามของโลหะและไม้ผสานกัน ทั้งนี้ เพื่อประกอบกันเป็น ‘สิเนรุ’ ศูนย์กลางของจักรวาลและเป็นที่อยู่ของบรรดาทวยเทพในปกรณัมเทพเจ้าของฮินดู
แม้จะใช้เวลาถึง 8 เดือนในการบรรจงสร้างหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในไทย ทว่าเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่เดือน พระเมรุมาศแห่งนี้จำต้องถูกรื้อถอนตามธรรมเนียมปฏิบัติ กระนั้น ภาพที่ตั้งอยู่เพียงชั่วคราวของพระเมรุมาศนี้ยังประทับอยู่ในจิตใจของสิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช จิตแพทย์หนุ่มผู้มีชื่อเล่นว่า ‘คิว’
“ผมตะลึงกับความงามของพระเมรุมาศอย่างมาก ติดอยู่ในหัวใจตลอด ประกอบกับช่วงนั้นผมหันมาสนใจชุดตัวต่อเลโก้ที่ผมวางทิ้งไว้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ จนลืมไปนานมาก และได้ตัดสินใจสร้างบางอย่างขึ้นมาจากสิ่งที่ผมหลงใหล พร้อมกับแสดงความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐไปพร้อมๆ กัน ซึ่งก็กลายมาเป็นโมเดลพระเมรุมาศนี่เอง” คิวเล่า
ย้อนไปในปี 2017 ในระหว่างท่องอินเทอร์เน็ต คิวได้พบกับตัวต่อเลโก้ชุดสถาปัตยกรรมทัชมาฮาล อันเป็นหนึ่งในชุดตัวต่อที่มีความซับซ้อนที่สุดและราคาแพงที่สุดของทางแบรนด์เลโก้ ไม่กี่วันหลังจากนั้น กล่องเลโก้ขนาดใหญ่ที่มีรูปโมเดลทัชมาฮาลสีขาวนวลได้เดินทางมาถึงบ้านของคิว และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Qbrick Design ที่ใช้ตัวต่อเลโก้ที่เรียกว่า ‘มินิบล็อก’ จำลองสถาปัตยกรรมต่างๆ
การต่อตัวต่อช่วยพัฒนาทักษะทางสมองได้หลายด้าน ทั้งด้านการวางแผนและการแก้ปัญหา ทั้งยังช่วยเสริมสมาธิ และพาคุณเข้าสู่ ‘flow state’ หรือความรู้สึกเพลิดเพลินจนลืมเวลา
“มินิบล็อกช่วยให้ผมได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ตอนที่ผมเริ่มต้นค้นคว้าเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไทย ผมรู้สึกตื่นตากับสถาปัตยกรรมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ถ้าเทียบกันระหว่างการไปเที่ยวชมวัดพระแก้วเมื่อสิบปีก่อนกับการไปเยือนวัดพระแก้วเพื่อวัดสเกลนั้น ถือเป็นประสบการณ์ที่ต่างกันมาก การไปเยือนครั้งหลังช่วยให้ผมเห็นวัดพระแก้วในมุมใหม่ เห็นรายละเอียดเล็กๆ เปลี่ยนผมจากการมองความงามด้วยตาเป็นการรู้สึกถึงความงามด้วยจิตใจ และผมก็ตกหลุมรักความเป็นไทยมากยิ่งขึ้น” คิวเล่าถึงคุณค่าของ ‘ของเล่น’ ประเภทนี้ที่ทำให้เขาหลงใหลยิ่งขึ้น
จนถึงวันนี้ คิวได้สร้างโมเดลสถาปัตยกรรมจากมินิบล็อกไปเกือบ 40 แบบแล้ว เขาขยับจากชุดตัวต่อที่ออกแบบสำเร็จรูปมาเป็นชุดตัวต่อมินิบล็อกและนาโนบล็อกที่ออกแบบเอง สิ่งที่เขาทำดึงดูดความสนใจจากผู้คนได้มากมาย จนกระทั่งเขาก็ได้จัดแสดงคอลเล็กชันตัวต่อของเขาที่มิวเซียมสยาม เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับสถาปัตยกรรมไทย ผลงานที่เขานำมาแสดงนั้นรวมถึงพระเมรุมาศ วัดอรุณฯ วัดพระแก้ว พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และตัวอาคารของมิวเซียมสยามเอง นอกจากนั้นยังมีโมเดลสถาปัตยกรรมระดับโลกรวมอยู่ด้วย ทั้งนครวัด ทัชมาฮาล และหอไอเฟล
นอกเหนือจากนิทรรศการนี้แล้ว คิวได้จัดเวิร์กช็อปและเผยแพร่คลิปวิดีโอสอนการต่อตัวต่อบนเพจเฟซบุ๊กของเขา เพื่อแสดงให้เห็นว่าตัวต่อเหล่านี้เป็นได้มากกว่าของเล่นสำหรับเด็ก
“การต่อตัวต่อช่วยพัฒนาทักษะทางสมองได้หลายด้าน ทั้งด้านการวางแผนและการแก้ปัญหา ทั้งยังช่วยเสริมสมาธิ และพาคุณเข้าสู่ ‘flow state’ หรือความรู้สึกเพลิดเพลินจนลืมเวลา” คิวอธิบาย
เราได้เห็นผู้คนใช้เลโก้ในรูปแบบต่างๆ ที่แม้กระทั่งบริษัทผู้ผลิตเลโก้เองก็นึกไม่ถึง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เลโก้เป็นเพียงของเล่นหรือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นกันแน่
คิวไม่ใช่คนเดียวที่สนับสนุนประโยชน์ด้านกระบวนการคิดจากการต่อเลโก้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ มีงานศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นที่เผยว่า การสร้างรูปทรงต่างๆ ด้วยการต่อเลโก้มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กได้ ทั้งด้านการเคลื่อนไหว ทางมิติสัมพันธ์ และทางภาษา ทั้งยังสามารถช่วยนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ในการแก้ปัญหาและการใช้ข้อมูลแบบสามมิติ
อีกหนึ่งประโยชน์ที่สำคัญของตัวต่อเลโก้คือ การช่วยบำบัดคนที่มีภาวะออทิสซึมให้ดีขึ้น ดังที่ได้ถูกสำรวจและถ่ายทอดไว้ในสารคดีเรื่อง ‘Beyond the Brick: A LEGO Brickumentary’ ที่ออกเผยแพร่เมื่อปี 2014
“สำหรับเด็กผู้ชายคนหนึ่งในสารคดีผู้มีปัญหาด้านสมาธิ เลโก้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เขามีสมาธิจดจ่อได้ โดยเขาสามารถจดจ่อกับการต่อเลโก้ชุด Star Wars X-Wing ได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน” คีฟ เดวิดสัน หนึ่งในผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ให้สัมภาษณ์กับ NPR ในปี 2015
สารคดีเรื่องนี้ยังเจาะลึกถึงประวัติศาสตร์และผลกระทบทางวัฒนธรรมในระดับโลกที่เกิดขึ้นจากจักรวาลเลโก้ รวมถึงคนที่เรียกว่าเป็น ‘master builders’ อย่างเช่นคิว ที่ใช้ตัวต่อเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะและงานประเภทอื่น ทั้งยังมีการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ใหญ่ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของเลโก้หรือ ‘AFOLs’ (adult fans of LEGO) ตั้งแต่ดไวท์ ฮาวเวิร์ด นักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ และเอ็ด ชีแรน นักร้องชื่อดังก้องโลก ไปจนถึงบรรดาวิศวกรโยธาและนักผังเมือง
กระทั่งนักวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ยังยอมรับในประโยชน์ของตัวต่อ โดยในปี 2015 ทีมนักผังเมืองกลุ่มหนึ่งได้จำลองโมเดลของ Dudley Square ย่านหนึ่งใกล้เมืองบอสตัน แบบจำลองนี้มีขนาดเท่าโต๊ะทำอาหารและครบครันทั้งแบบจำลองถนน ทางเดิน ป้ายรถเมล์ และอาคารต่างๆ โดยทั้งหมดสร้างขึ้นจากตัวต่อเลโก้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะ
“กลุ่มแฟนคลับเลโก้นั้นเป็นชุมชนที่ใหญ่มาก และเรายังได้เห็นผู้คนใช้เลโก้ในรูปแบบต่างๆ ที่แม้กระทั่งบริษัทผู้ผลิตเลโก้เองก็นึกไม่ถึง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แท้ที่จริงแล้ว เลโก้เป็นเพียงของเล่นหรือเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นกันแน่” แดเนียล ยังกี ผู้กำกับสารคดีอีกคนกล่าวเสริมในบทสัมภาษณ์เดียวกัน
ทั้งกลุ่ม AFOLs และ master builders รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิตดังเช่นคิว อาจมีคำตอบที่แน่ชัดอยู่ในใจแล้วว่าเลโก้เป็นเพียงของเล่นจริงหรือไม่ จากการปัดฝุ่นของเล่นโปรดวัยเยาว์สู่นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ เส้นทางงานอดิเรกของคิวเผยให้เห็นมุมมองใหม่ต่อโลกแห่งตัวต่อเลโก้ ที่เขาได้ค้นพบทั้งการปลอบประโลมจิตใจ ความผูกพันกับรากเหง้าทางวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งความสามารถในการฟื้นฟูสุขภาพจิตใจ อันเป็นคุณสมบัติอันทรงพลังที่ทางเลโก้ไม่เคยต้องโฆษณา ■