HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

STATE OF THE ARTS


Staging Imagination

นักออกแบบสาวชาวไทยสร้างชื่อให้กับตัวเองจากความอยากรู้อยากเห็นและความหลงใหลตั้งแต่วัยเยาว์ จนสามารถเข้าสู่อาณาจักรฮอลลีวูด

29 กุมภาพันธ์ 2567

‘ยุทธการทุ่งวอเตอร์ชิป’ (Watership Down) ของริชาร์ด อดัมส์ นักเขียนชาวอังกฤษ คือหนังสือเล่มโปรดในวัยเด็กของธัญพิชชา ไตรวุฒิ ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวการเดินทางของกระต่ายฝูงหนึ่ง ที่ต้องออกหาบ้านหลังใหม่เมื่อโพรงเดิมถูกทำลายธัญพิชชาชอบนิยายเรื่องนี้เป็นพิเศษด้วยภาพวาดที่ให้ความรู้สึกเป็นมนุษย์ของกระต่าย โดยไม่ต้องแปลงกระต่ายให้เป็นมนุษย์ ต่างจากหนังสือแอนิมอล ฟาร์ม ของจอร์จ ออร์เวลล์ ที่สัตว์ต่างๆ มีส่วนร่วมในการเมืองและกิจธุระของมนุษย์ นิยายเรื่องยุทธการทุ่งวอเตอร์ชิปเป็นตัวอย่างที่ดีของลักษณะการเล่าเรื่องที่ทรงพลังกล่าวคือ ‘การสร้างโลกจำแลง’ (worldbuilding)

นักเขียนและนักเล่าเรื่องระดับตำนานจากทั่วโลกล้วนเป็น ‘เซียน’ ด้านการสร้างโลก และเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ‘สถานที่’ ในเรื่องนั้นมีความสำคัญไม่แพ้เส้นเรื่องและตัวละคร อย่างเช่นดินแดนมิดเดิลเอิร์ธของโทลคีน, เวสเทอรอสของจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน และโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ของเจ.เค. โรว์ลิง ที่นำพาผู้อ่านให้ดื่มด่ำในโลกแห่งจินตนาการได้อย่างเต็มที่

แม้จะเป็นหนังสือจากวัยเยาว์อันผ่านไปนานแล้ว แต่การสร้างโลกจำแลงที่ตั้งใจออกแบบมาในทุกรายละเอียดของนิยายเรื่องยุทธการทุ่งวอเตอร์ชิป ยังคงเป็นบันดาลใจให้กับธัญพิชชา ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ออกแบบฉากภาพยนตร์ในฮอลลีวูด และเคยร่วมงานในโปรเจกต์ภาพยนตร์อิสระและละครเวทีหลายเรื่อง ไปจนถึงซีรีส์แนวลึกลับของเน็ตฟลิกซ์ที่จะเข้าฉายในอนาคตอย่าง The Residence ซึ่งเล่าเรื่องราวของการสืบหาคนร้ายในคดีฆาตกรรมอันอื้อฉาวที่มีเจ้าหน้าที่ในทำเนียบขาวเข้ามาเกี่ยวข้อง

“ยุทธการทุ่งวอเตอร์ชิปได้มอบบทเรียนที่สำคัญมากในขณะที่ทำงานสร้างภาพยนตร์ ซึ่งก็คือ การคำนึงถึงแรงจูงใจของเรื่องราวและตัวละครต่างๆ อยู่เสมอ ผู้ออกแบบฉากต้องระวังไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจว่าฉากจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ต้องจับรายละเอียดจากข้อมูลต้นทางให้ได้ เพื่อสร้างโลกที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับหรือความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด” ธัญพิชชาเล่า

ธัญพิชชามีความชำนาญด้านการออกแบบฉากเพื่อการเล่าเรื่องราวทั้งในภาพยนตร์และละครเวที โดยอิงตามการตีความจากบทภาพยนตร์หรือการระดมความคิดร่วมกับผู้กำกับ นักเขียนบท และผู้กำกับภาพ ซึ่งฉากเหล่านี้ช่วยแยกแยะตัวละครให้อยู่ในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตให้ผู้ชมเห็นชัด สร้างมิติด้านเวลาและขยายเรื่องราวได้ในแบบที่ต่างจากฝ่ายอื่นของโปรดักชัน

“สมมติว่าในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีตัวละครที่เป็นอัลไซเมอร์ เราก็ต้องคิดว่า บ้านของคนที่เป็นโรคนี้จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีรายละเอียดอยู่ในบท จึงกลายเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องค้นคว้าเพื่อออกแบบฉาก อันเป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของการเล่าเรื่อง” ธัญพิชชาอธิบาย

ผู้ออกแบบฉากต้องระวังไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจว่าฉากจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ต้องจับรายละเอียดจากข้อมูลต้นทางให้ได้ เพื่อสร้างโลกที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับหรือความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด

ธัญพิชชาเติบโตในกรุงเทพฯ และฉายแววความสามารถด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เธอสนใจสิ่งที่ปลุกเร้าความคิดสร้างสรรค์มากกว่าวิชาการมาเสมอ ธัญพิชชาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานที่ที่แนะนำให้เธอได้รู้จักกับโลกแห่งการออกแบบฉากและการผลิตเป็นครั้งแรก ดังที่ธัชพิชชาเล่าให้ฟังว่า

“ที่คณะนั้นจริงจังเรื่องการสร้างละครเวทีมาก และจัดทำละครเวทีขึ้นทุกปี เราก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เราเลยได้รู้จักการออกแบบที่มุ่งเน้นไปที่การเล่าเรื่องและบทละคร ซึ่งต่างจากการออกแบบสิ่งต่างๆ และการได้ทำงานกับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์กับไอเดียเจ๋งๆ นั้นเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมมาก ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนบท ผู้กำกับ และนักแสดง ที่มีส่วนสร้างโลกใบใหม่ให้เกิดขึ้น”

แม้ธัญพิชชาจะรู้ตัวมาตั้งแต่ช่วงนั้นแล้วว่าตนเองต้องการทำงานด้านออกแบบงานสร้าง แต่เธอก็ใช้ชีวิตวัยทำงานที่บริษัทสถาปัตยกรรมในเมืองไทยอย่างพี แลนด์สเคป เป็นเวลาถึงสามปี ถึงแม้ว่าบริษัทแห่งนี้จะมีชื่อเสียงด้านภูมิสถาปัตยกรรม แต่งานที่เธอได้รับมอบหมายมักเป็นงานออกแบบที่อิงคอนเซ็ปต์ จินตนาการ และความสวยงามเป็นหลัก

“ประสบการณ์ทำงานที่พี แลนด์สเคป ทำให้เรารู้สึกกล้าใช้ความถนัดของเราในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยคอนเซ็ปต์และไอเดียเหนือฟังก์ชัน เราจึงตัดสินใจเดินทางไปศึกษาการออกแบบโปรดักชันละครเวทีและภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา” ธัญพิชชาเล่าถึงอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต

ธัญพิชชาตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขา Scenic and Production Design ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ซึ่งเป็นที่เดียวในฝั่งเวสต์โคสต์ที่สอนการออกแบบทั้งภาพยนตร์และละครเวที และตั้งอยู่ในรัฐเดียวกับเมืองใหญ่แห่งวงการภาพยนต์ ที่เป็นดินแดนทองคำแห่งทรัพยากรและโอกาสสำหรับน้องใหม่แห่งวงการสร้างภาพยนต์

และธัญพิชชาก็ตัดสินใจไม่ผิดที่ไปเรียนต่อที่ยูซีแอลเอ เธอจำได้ว่าประสบการณ์ที่นั่นเต็มไปด้วยบรรยากาศของความล้ำหน้าและอบอุ่น แต่เนื่องจากเธอเกิดและเติบโตในเมืองไทย การละทิ้งความเอียงอายและอ่อนน้อมจนเกินไปเพื่อใช้ชีวิตหรือออกความเห็นด้วยความมั่นใจมากขึ้นนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากไม่ใช่น้อย

“สังคมไทยจะคาดหวังให้เราไม่แสดงออกถึงความก้าวร้าว และน้อมรับทุกคำวิจารณ์อย่างอ่อนน้อม แต่ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในโลกวิชาการ เราต้องสู้สุดใจเพื่อรักษาจุดยืนทางความคิดและปกป้องตัวเอง แต่ที่เมืองไทย เราเลี่ยงความขัดแย้ง เน้นรักษาความสงบ ส่วนที่สหรัฐฯ เราต้องเรียนรู้ที่จะพูดและยืนหยัดในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง การที่เราปรับตัวเข้ากับความต่างทางวัฒนธรรมนี้ได้ ทำให้เรารู้สึกมั่นใจขึ้นทั้งในด้านหน้าที่การงานและในสังคมทั่วไป” ธัญพิชชาเล่า

สังคมไทยจะคาดหวังให้เราไม่แสดงออกถึงความก้าวร้าว และน้อมรับทุกคำวิจารณ์อย่างอ่อนน้อม แต่ในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในโลกวิชาการ เราต้องสู้สุดใจเพื่อรักษาจุดยืนทางความคิดและปกป้องตัวเอง

ช่วงเวลาที่ธัญพิชชาศึกษาที่ยูซีแอลเอนั้น เป็นช่วงเดียวกับการเริ่มต้นวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 โปรแกรมเรียนด้านการออกแบบที่มักจัดกิจกรรมให้นักศึกษาได้ลงมือเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง กลับกลายต้องเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ แม้ว่าทางมหาวิทยาลัยจะพยายามจัดให้มีการซ้อมบทผ่านโปรแกรมซูม หรือกิจกรรมอื่นๆ เพื่อทดแทนกิจกรรมที่ต้องงดทำ แต่ก็ยังไม่มีวิธีไหนที่เทียบเคียงกับการได้เรียนรู้ผ่านการสร้างละครเวทีของจริง

แม้จังหวะจะไม่ดีนัก แต่ธัญพิชชาก็ไม่ได้มองว่าเธอได้เสียโอกาสไปมากนัก ธัญพิชชาเลือกหันไปเน้นการฝึกฝนทักษะด้านเทคนิค อย่างการศึกษาโปรแกรมออกแบบสามมิติหรือวิธีสร้างศิลปะเชิงแนวคิด การร่างโครงสร้าง และทักษะอื่นๆ ให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ในเวลาต่อมาเมื่อเธอสำเร็จการศึกษาและเริ่มหางานในวงการที่เธอใฝ่ฝัน และโชคก็เข้าข้าง เมื่อธัญพิชชาได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานในโปรแกรม Production Design Initiative ซึ่งจัดโดย Art Directors Guild สหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของอาชีพด้านครีเอทีฟอย่างนักออกแบบงานสร้าง ผู้กำกับศิลป์ และศิลปินแขนงต่างๆ ราว 3,000 คนทั่วโลก และนั่นคือช่วงที่ธัญพิชชาได้อ่านจดหมายข่าวที่มีประกาศรับสมัครงานด้านโปรดักชันอยู่ในขณะนั้น

“เราต้องเป็นคนส่งอีเมลหาดีไซน์เนอร์หรือผู้ประสานงานเพื่อขอเข้าทำงานด้วยตัวเอง และเราก็คอยส่งเรื่อยๆ เป็นเวลาหกถึงแปดเดือนกว่าเราจะได้ทำงานเป็นผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ให้กับการแสดงต่างๆ ของสหภาพฯ ซึ่งเป็นช่วงที่ทำให้เราได้เข้าใจว่าทีมฝ่ายศิลป์ที่มีขนาดใหญ่นั้นทำงานต่างจากทีมของภาพยนตร์อิสระที่มีผู้ช่วยเพียงคนสองคนอย่างไรบ้าง” เธอกล่าวเสริม

ความสามารถของธัญพิชชาเริ่มเป็นที่ประจักษ์ครั้งใหญ่เมื่อเธอสมัครเป็นผู้ช่วยฝ่ายศิลป์อีกงานหนึ่ง แต่ด้วยเรซูเม่และพอร์ตโฟลิโอของเธอ ทางทีมจึงเสนอตำแหน่งนักออกแบบฉากให้แทน ซึ่งช่วยให้เธอได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพฯ ด้วย โปรเจกต์ที่ธัญพิชชาได้รับมอบหมายให้ดูแล คือ The Residence ของเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งอำนวยการสร้างโดยนักเขียนบทและโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ชื่อดังอย่างชอนดา ไรมส์ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Grey’s Anatomy, Bridgerton, Scandal และซีรีส์ชื่อดังอีกหลายเรื่อง

ทีมผู้สร้างรายการใหญ่อย่าง The Residence มักนำโดยผู้ออกแบบงานสร้างที่เป็นคนกำหนดภาพโดยรวมของรายการ ตามด้วยผู้กำกับศิลป์ที่คอยดูแลเรื่องการทำภาพใหญ่นั้นให้เกิดขึ้นจริง หลังจากนั้นจึงเป็นนักออกแบบฉากและนักออกแบบกราฟิกที่เป็นผู้ลงมือสร้างสรรค์ ในโปรเจกต์นี้ ธัญพิชชาจึงไม่ได้เป็นคนวางแผนการผลิตในภาพใหญ่หรือจัดทำงบประมาณสำหรับการแสดง แต่เธอมุ่งเน้นไปที่การร่างแบบฉากให้ทีมงานที่รับผิดชอบการสร้างฉากดำเนินการต่อ

“งานนี้ต้องอาศัยความแม่นยำสูง และต้องใช้ทักษะทางเทคนิคกับความรู้ด้านสถาปัตยกรรมค่อนข้างมาก และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นรายการโทรทัศน์ที่จะออกฉายหลายตอนต่อเนื่อง ประสบการณ์ครั้งนี้ทำให้เรามีข้อได้เปรียบและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการมุ่งมั่นทำงานอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน ก่อนที่การถ่ายทำจะหยุดชะงักไปกลางทาง เนื่องการประท้วงของนักเขียนและนักแสดงในฮอลลีวูด” ธัญพิชชาเสริม พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงการเป็นนักออกแบบฉากที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง แต่ใช้ได้กับทีละเรื่องเท่านั้น อย่างในการสร้าง The Residence หากเธอได้รับมอบหมายให้ออกแบบห้องครัวในทำเนียบขาว ธัญพิชชาจะต้องค้นคว้าอย่างหนัก พร้อมปรับใช้ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมย้อนยุคเพื่อทำความเข้าใจว่าการทำแบบ การปูพื้น และการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์แบบใดบ้างถึงจะเข้ากับฉากที่สุด

“สิ่งที่เราออกแบบและวิธีที่เราออกแบบเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ฉากสมจริง ดังนั้น การทำงานเป็นนักออกแบบฉากจึงต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่โฟกัสเพียงเรื่องเดียว” ธัญพิชชากล่าว

เมื่อธัญพิชชาไม่สามารถดำเนินงานได้ในระหว่างการประท้วงครั้งนั้นที่กินเวลาราวสี่เดือน เธอจึงต้องหันไปทำงานโปรดักชันที่ขนาดเล็กลงและโปรเจกต์ละครเวทีซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง การที่เธอได้มีโอกาสทำงานอย่างต่อเนื่องก็เพราะคอนเนกชันที่เธอสร้างขึ้นที่ยูซีแอลเอ และธัญพิชชาก็ยังไม่คิดที่จะกลับมาทำงานในวงการภาพยนต์ของเมืองไทย เนื่องจากเธอไม่ค่อยรู้จักใครมากนัก และธัญพิชชาได้อธิบายต่อว่า “ถึงเราจะยังไม่มีแผนการกลับไปทำงานที่ไทยในเร็วๆ นี้ แต่เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าทักษะและประสบการณ์ที่เราได้มาขณะอยู่ที่สหรัฐฯ จะช่วยให้เราได้เข้าทำงานด้านการสร้างภาพยนต์ในเมืองไทยอย่างไรบ้าง”

หากถามถึงคำแนะนำสำหรับคนที่อยากทำงานสายนี้ ธัญพิชชาได้ย้อนรำลึกถึงตอนที่เธอชมภาพยนตร์เรื่องสตาร์วอร์สครั้งยังเป็นเด็กน้อย และรู้สึกทึ่งกับการสร้างโลกจำแลงที่ตระการตา ซึ่งในตอนนั้น เธอไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์โดยคนจากแดนดินอันไกลโพ้นที่เธอไม่มีวันไปถึง และเธอมีความคิดว่า “มีคนทำสิ่งนี้ได้สำเร็จแล้ว และทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้?” และการที่ธัญพิชชาเดินทางมาได้ไกลขนาดนี้ ก็เป็นเพราะเธอไม่ยอมสูญเสียความบ้าบิ่น พร้อมลงมือออกไล่ล่าความฝันที่เธอหมกมุ่นถึงมายาวนาน

เพราะไม่มีใครรู้ว่าระหว่างทางจะต้องพบเจออะไรบ้าง ความมุ่งมั่นและความกล้าในการเดินทางตามความอยากรู้อยากเห็นจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการปูเส้นทางที่เราปรารถนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ความไม่แน่นอนและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจทำให้เราหวั่นไหว แต่เพราะโลกนี้มีแต่เรื่องไม่แน่นอน ประตูสู่โอกาสจึงซ่อนอยู่ทุกที่ เพียงแค่เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีว่าอยากเดินเข้าประตูไหนบ้าง

บางที ‘การสร้างโลก’ ก็เริ่มจากอย่างนั้นนั่นเอง