HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


The Green Thumb

ภายในเวลาไม่ถึง 60 ปี สิงคโปร์ได้แปลงกายจากเกาะบรรยากาศอึมครึมอันปกคลุมไปด้วยมลพิษไปสู่การเป็นอัญมณีสีเขียวสดใสแห่งเอเชีย ด้วยวิสัยทัศน์อันแข็งแกร่งที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนต้นไม้ไม่น้อยไปกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจ

31 สิงหาคม 2567

ในปี 1965 นครรัฐแห่งใหม่ของโลกได้ถือกำเนิดขึ้นหลังการแยกตัวออกจากมาเลเซีย และในตอนนั้น บ้านเมืองบนเกาะดังกล่าวก็ดูละม้ายคล้ายกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ด้วยคลองเต็มไปด้วยขยะ การจราจรหนาแน่น ซึ่งมาพร้อมมลภาวะที่รบกวนผู้คนในทุกวัน และหมอกควันที่ปกคลุมป่าคอนกรีตที่กำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่ภาพของสิงคโปร์ในวันนี้ กลับต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ในช่วงก่อร่างสร้างชาติ ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกิจประชาชน (People's Action Party) พรรคการเมืองเดียวที่บริหารประเทศมาโดยตลอด ได้ตระหนักว่ามีบางอย่างที่ต้องเปลี่ยนแปลงในประเทศเล็กๆ แห่งนี้ที่ค่อนข้างยากจน ล้อมรอบด้วยผืนน้ำ และเพิ่งมีโอกาสได้ปกครองตัวเอง

“ในช่วงต้นปี 1965 เป้าหมายของประเทศคือการพัฒนาให้เหนือคนอื่นในภูมิภาค” ลิม เหลียง จิม ผู้อำนวยการด้านการอนุรักษ์ประจำคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (National Parks Board) ของสิงคโปร์กล่าวกับ UNEP “ตอนนั้นกวนยูมีแผน 'รักษาความสะอาด (Keep Singapore Clean)' และต่อยอดด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ (Clean & Green Singapore) เขาพูดว่า ประชาชนในยุคนั้นคือคนรุ่นแรกของประเทศ และเขาเชื่อการทำให้สิงคโปร์เป็นประเทศที่น่าอยู่ ผู้คนจากประเทศอื่นก็จะมาที่นี่ พวกเขาจะลงทุนในธุรกิจต่างๆ และสิงคโปร์ก็จะเติบโตยิ่งขึ้น”

สิงคโปร์ใช้เวลาราว 30 ปีเพื่อทำความสะอาดพื้นที่และทางน้ำต่างๆ อย่างหมดจด พร้อมสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนสิงคโปร์ให้น่าอยู่อย่างเช่นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ทั้งยังมีการแบ่งโซนของเมืองใหม่ โดยคณะกรรมการการเคหะและการพัฒนา (Housing Development Board) ให้ผู้คนจากย้ายบ้านเล็กๆ อันทรุดโทรมที่อยู่ในชุมชนแออัดสู่อาคารสูงที่สนับสนุนโดยรัฐบาล ซึ่งเป็นสวัสดิการชาวสิงคโปร์กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังคงได้รับประโยชน์ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ สิงคโปร์ได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในประเทศที่ชาญฉลาดและยั่งยืนที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่อง และในปี 2023 เมืองสิงคโปร์เป็นประเทศเอเชียที่ติดอันดับสูงสุดใน IMD Smart City Index และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก

จากเมืองที่ดูหม่นหมองเมื่อ 60 ปีก่อน สิงคโปร์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่ปราศจากทางน้ำเสียและชุมชนแออัด มีต้นไม้ไต่สูงตามตึกระฟ้า และสวนสาธารณะที่กระจายอยู่ในทุกมุมเมือง ประกอบกับกฎหมายอันเข้มงวดที่ป้องกันไม่ให้ใครมาทำลายพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้อำนวยการของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งถูกปรับเงินราวห้าแสนกว่าบาทจากการตัดต้นไม้เพียงไม่เท่าไหร่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

ในอนาคต ถ้ามีใครพูดว่า ‘ลืมเรื่องความยั่งยืนไปก่อนแล้วมาสร้างตึกใหม่ๆ กัน’ เราก็ควรมีประชาชนที่มีความรู้และใส่ใจมากพอที่จะห้ามปรามการทำลายสิ่งที่เราสร้างกันมาหลายสิบปี

แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โต แต่สิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในโลก โดยมีรายงานว่ามีสิ่งมีชีวิตบนบกประมาณ 28,000 ชนิดและสัตว์ทะเลอีก 17,000 สายพันธุ์อาศัยอยู่ในเขตแดนสิงคโปร์ ยังไม่นับจุลินทรีย์จำนวนมหาศาล ความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ได้รับการดูแลโดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ผู้มีหน้าที่ร่างนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

“ในฐานะประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและไม่มีพื้นที่ที่ห่างจากตัวเมือง เราจึงต้องนำแนวทางเชิงปฏิบัติมาใช้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้านนี้ของประเทศ” คณะกรรมการอุทยานระบุไว้ในการแถลงพันธกิจด้านความหลากหลายทางชีวภาพของสิงคโปร์

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังลงทุนอย่างมากในการนำเสนอวิสัยทัศน์สีเขียวนี้ให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาว เพื่อสร้าง ‘ความยั่งยืน’ ให้เป็นความภาคภูมิใจของชาติ

“เนื่องจากคนรุ่นใหม่เติบโตมาท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์และสวนเขียวขจี พวกเขาอาจจะลืมไปว่าก่อนหน้านี้บ้านเมืองเราเป็นอย่างไร” ลิม เหลียง จิม กล่าว “ในอนาคต ถ้ามีใครพูดว่า ‘ลืมเรื่องความยั่งยืนไปก่อนแล้วมาสร้างตึกใหม่ๆ กัน’ เราก็ควรมีประชาชนที่มีความรู้และใส่ใจมากพอที่จะห้ามปรามการทำลายสิ่งที่เราสร้างกันมาหลายสิบปี”

ในการพาประเทศก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนอย่างเต็มตัว สิงคโปร์มีเป้าหมายที่สูงมาก เรียกได้ว่าสูงว่าทุกประเทศพัฒนาแล้ว โดยเมื่อไม่นานมานี้ สิงคโปร์ได้เปิดตัว Green Plan 2030 แผนการสู่การบรรลุเป้าหมายสีเขียว เช่น การเป็นประเทศที่มีขยะเป็นศูนย์ และบ้าน 8 ใน 10 ครัวเรือนจะสามารถเดินไปยังสถานีรถไฟได้ ทั้งยังมีแผนการจ่ายไฟให้กับ 25 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนทั้งหมดด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ กับการผลิตอาหารเองให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการทั้งหมดด้วยวิถีที่ยั่งยืน อันเป็นเป้าหมายที่ไม่มีใครมีทางได้คาดคิดในช่วงแรกเริ่มของประเทศที่ยังต้องนำเข้าอาหารส่วนใหญ่จากมาเลเซีย

การเดินทางสู่การเป็นหนึ่งในเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในโลกนั้นยังคงเชื่อมโยงกับวิสัยทัศน์ดั้งเดิมของลี กวนยูในปี 1965 ที่มุ่งปรับปรุงให้เมืองสะอาดและเป็นสีเขียวชอุ่ม ทุกวันนี้ 46.5 เปอร์เซ็นต์ของสิงคโปร์เป็นพื้นที่สีเขียว และ 30 เปอร์เซ็นต์ของเมืองถูกปกคลุมไปด้วยร่มไม้ ทำให้เมืองสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุดอันดับ 3 ของโลก รองจากเวียนนาและออสโล

ภายในพื้นที่ที่จำกัด พรรณไม้ต่างๆ จึงไม่ได้ถูกปลูกไว้ตามทางถนนเพียงอย่างเดียว แต่ยังปีนสูงขึ้นไปบนอาคารต่างๆ อีกด้วย ซึ่งไม่ได้สร้างเพียงทิวทัศน์ที่สบายตาเท่านั้น เพราะต้นไม้เหล่านี้เป็นหนึ่งในทางออกของปัญหามลภาวะและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

คุณอาจต้องใช้เวลานานมากในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่ช่วยจัดการปัญหาด้านภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่คุณทำได้ก็จะเป็นเพียงแค่การพยายามประดิษฐ์ ‘ต้นไม้’ ขึ้นมานั่นเอง

สิงคโปร์อาจไม่มีพลังมากพอที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศได้ เนื่องจากประเทศแห่งนี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่โมเดลการพัฒนาเมืองของสิงคโปร์ถูกยกย่องให้เป็นโมเดลต้นแบบในการจัดการปัญหาอากาศร้อนจัดที่เกิดจากเมืองด้วยการเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของตัวเอง

“คุณอาจต้องใช้เวลานานมากในการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมือที่ช่วยจัดการปัญหาด้านภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่คุณทำได้ก็จะเป็นเพียงแค่การพยายามประดิษฐ์ ‘ต้นไม้’ ขึ้นมานั่นเอง” ไบรอัน สโตน จูเนียร์ ผู้อำนวยการ Urban Climate Lab แห่งสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจียในนครลอส แองเจลิส กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์กับเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์

หนึ่งในตัวอย่างของการให้ธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาความร้อนคือโรงพยาบาลคูเต็กพวต ถนนที่ล้อมรอบโรงพยาบาลนั้นเรียงรายไปด้วยต้นไม้และใบไม้หนาทึบที่มอบร่มเงาให้ตลอดทางเดิน สระยี่ชุนที่อยู่ใกล้ๆ ปล่อยไอน้ำขึ้นสู่อากาศเพื่อทำให้พื้นที่เย็นลง ลานกว้างถูกออกแบบเป็นรูปตัว V โดยมีปลายฝั่งเล็กหันเข้าหาสระน้ำ เป็นการดึงความเย็นจากน้ำไปยังทางเดิน และเปิดให้ลมพัดเข้าไปสู่อาคารเพื่อสร้างความเย็นโดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า

การเสริมพื้นที่สีเขียวภายในอาคารก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามส่งเสริม และไม่ทำเพียงแค่รณรงค์เท่านั้น แต่ยังให้เงินสนับสนุนในการสร้างสวนบนชั้นดาดฟ้าและสวนแนวตั้งด้านหน้าอาคาร ใบไม้ทำหน้าที่เป็นทั้งม่านบังแดดและเป็นฉนวนกันความร้อนตามธรรมชาติ ลดความจำเป็นในการใช้เครื่องปรับอากาศ

อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลคูเต็กพวตให้ธรรมชาติช่วยได้อย่างง่ายดายเพราะเป็นอาคารเดี่ยว แต่ในอีกหลายมุมของโลก ไม่ว่าอาคารหนึ่งจะมีเทคโนโลยีสีเขียวมากมายขนาดไหน ก็ยังทำให้พื้นที่รอบข้างร้อนได้หากอาคารแห่งนั้นปิดกั้นทางลม ซึ่งเป็นปัญหาที่คนกรุงเทพฯ คุ้นเคยเป็นอย่างดี การที่ลมสามารถพัดผ่านในเมืองได้น้อยยังถือว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุของค่าฝุ่น PM 2.5 ที่อยู่ในระดับสูงตลอด ถึงกระนั้น โครงการก่อสร้างตึกสูงระฟ้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดหย่อน และส่วนใหญ่ไม่ได้มีการควบคุมด้านการบังลมและแสง ทำให้ปัญหามลพิษแย่ลงทุกปี

เมื่อย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของประเทศอีกครั้ง ประวัติศาสตร์การวางผังเมืองของสิงคโปร์นั้นยึดถือเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในบริเวณอ่าวมารีนา ซึ่งรวมถึงการ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์ และโรงแรมมารีนา เบย์ แซนด์ส อันโด่งดัง บริเวณนี้ถูกออกแบบขึ้นด้วยการคำนึงถึงปัญหาความร้อนเป็นสำคัญ แม้ว่าโดยปกติแล้ว ย่านที่มีตึกสูงหนาแน่นมักมีอุณหภูมิสูงยิ่งขึ้น แต่ย่านใจกลางเมืองและศูนย์กลางธุรกิจของสิงคโปร์กลับไม่มีปัญหานี้ ด้วยการออกแบบพื้นที่ตรงกลางระหว่างอาคารทุกขนาดให้ทำหน้าที่เป็นเสมือนใบเรือที่รับลมเย็นจากการ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์ ที่อยู่ติดกัน อาคารต่างๆ ในบริเวณนั้นจึงลดการใช้งานเครื่องปรับอากาศได้อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์ยังคงมีจุดบอดอยู่บ้าง ไม่ไกลจากอ่าวมารีนา ในย่านโบ๊ทคีย์เลียบแม่น้ำสิงคโปร์มี ‘ตรอกเครื่องปรับอากาศ’ อันเลื่องชื่อ ซึ่งเป็นตรอกที่มีอาคารพาณิชย์เรียงรายและเต็มไปด้วยคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศที่ระบายความร้อนจำนวนมหาศาลไปสู่ผู้คนที่สัญจรไปมา และนี่คือตัวอย่างของผลกระทบอันเลวร้ายหากเมืองขาดการวางผังเมืองที่เหมาะสม

เพื่อการปูทางสู่เป้าหมายอย่างสมบูรณ์ รัฐบาลของสิงคโปร์จึงมีการเสนอเงินอุดหนุนภาคเอกชน เป็นการจูงใจให้กิจการต่างๆ หันมาดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะอุดหนุนเงินมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของต้นทุนของเทคโนโลยีสะอาดที่บริษัทสิงคโปร์นำมาใช้ในธุรกิจ ภายใต้เงื่อนไขว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นต้องมีคุณสมบัติตามที่รัฐบาลกำหนด ในทำนองเดียวกัน โครงการด้านการวิจัย นวัตกรรม และองค์กร (Research, Innovation, and Enterprise หรือ RIE) ที่มีมานานนับทศวรรษ ได้มอบเงินทุนและเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนถึง 1.2 ล้านล้านบาทให้กับบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ผลิตและพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นทางออกสู่การลดคาร์บอน และเศรษฐกิจหมุนเวียน

เงินสนับสนุนและเงินทุนเหล่านี้ได้ช่วยบริษัทสัญชาติสิงคโปร์อย่าง EcoWorth Tech ใช้คาร์บอนแอโรเจล (วัสดุธรรมชาติที่ไม่เป็นพิษ) ดูดซึมอินทรียสารจากน้ำเสีย และแปลงสารเหล่านั้นเป็นกระดาษเซลลูโลส ส่วน Green Koncepts บริษัทโซลูชันด้าน IoT ได้ช่วยบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในการติดตามและควบคุมพลังงานออกใช้ (Energy Output) ของอาคารแต่ละแห่งแบบเรียลไทม์ เพื่อค้นหาจุดอ่อนและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งหมายถึงการได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีกด้วย หรือสตาร์ทอัปที่ชื่อว่า Gush ได้พัฒนาสีไร้กลิ่นที่ช่วยฟอกอากาศภายในร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ และได้รับเงินลงทุนช่วง Seed Funding ไปแล้วกว่า 31 ล้านบาทจาก City Developments Limited (CDL) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์

สำหรับชาวสิงคโปร์แล้ว ‘เมืองสีเขียว’ หรือ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ไม่ได้เป็นเพียงวาทะทางการเมือง แต่เป็นความภาคภูมิใจของชาติอย่างแท้จริง และสร้างเสริมความรู้สึกของการพึ่งพาตัวเองได้

“ในสิงคโปร์ เราดำเนินการสนับสนุนการพึ่งพาตนเองให้ได้ เรามีโครงการริเริ่มมากมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน และนั่นเป็นเพราะเรามีความรู้สึกว่าเราจำเป็นต้องดูแลสิ่งที่เรามีอยู่ให้ดี” อีวอนน์ ซอห์ ผู้จัดการทั่วไปของ Singapore Green Building Council กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น

แม้วิสัยทัศน์ของลี กวนยูราว 60 ปีก่อนอาจไม่ถูกใจประชาชนทั่วไปในยุคสมัยนั้นนัก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็ได้สร้างความอัศจรรย์มากมายภายในประเทศที่มีข้อจำกัดหลายด้าน จนกลายเป็นต้นแบบด้านความยั่งยืนของอีกหลายประเทศทั่วโลก และอุดมการณ์หนึ่งก็ได้กลายเป็นแนวคิดถาวรของชาติสิงคโปร์สืบจนปัจจุบัน และจะยังคงอยู่ต่อไป นั่นก็คือแนวคิดเรียบง่ายที่ว่า ‘รักษาสิงคโปร์ให้สะอาดและเขียวชอุ่มอยู่เสมอ (Clean & Green Singapore)’