HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

THINKING BIG


Ghost in the Machine

แม้ว่า ChatGPT และ Midjourney จะเรียกเสียงฮือฮาบนโลกอินเทอร์เน็ตได้ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่เอไอนั้นทำได้มากกว่าการตอบคำถามอย่างรอบรู้และการสร้างงานศิลป์ ทั้งยังมีอิทธิพลต่อชีวิตในรูปแบบที่ใครต่อใครไม่อาจรู้ตัว

29 กุมภาพันธ์ 2567

ในช่วงปลายปี 2023 รูเบน ครูซ ผู้ก่อตั้งโมเดลลิ่งเอเจนซี่ในเมืองบาร์เซโลน่านามว่า The Clueless รู้สึกว่าการทำงานกับนางแบบนั้นช่างเหน็ดเหนื่อย น่าเบื่อหน่าย และคาดเดาได้ยาก จริงอยู่ที่ว่า การรับมือกับดาวเด่นและคนขี้บ่นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจเอเจนซี่ด้านการจัดหาคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รูเบนกลับไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะสำหรับเขาแล้ว เรื่องที่ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาเรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจของเขา

“เราเริ่มต้นวิเคราะห์การทำงานของเรา และพบว่าหลายโปรเจกต์ต้องหยุดชะงักหรือถูกยกเลิกไปล้วนด้วยปัจจัยที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของเรา และบ่อยครั้งที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากงานออกแบบของเรา แต่เป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และนางแบบที่เอาใจยาก พวกเราเริ่มวิเคราะห์เพื่อหาหนทางสร้างรายได้โดยไม่ต้องไปพึ่งพาคนดังที่อาจมีอีโก้และอารมณ์แปรปรวน หรือคนที่อยากได้เงินเยอะๆ จากการมาโพสท่าเพียงไม่กี่ครั้ง” รูเบนเล่าในบทสัมภาษณ์หนึ่งกับสำนักข่าว Euronews

และทางออกที่เขาเลือกคือ การสร้างอินฟลูเอนเซอร์ที่ทำงานด้วยง่ายขึ้นมาเองเสียเลย

Aitana Lopez เป็นนางแบบบนอินสตาแกรมชาวสเปนวัย 25 ปีผู้มีผมสีชมพูเป็นเอกลักษณ์ และเป็นผลงานจากปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดจากการผสมผสานเครื่องมือ Generative AI เพื่อร่างแบบขึ้นมา และใช้โปรแกรม Photoshop เพื่อลบจุดบกพร่องที่มักพบเจอในภาพที่สร้างขึ้นโดยเอไอ และภายในเวลาไม่กี่เดือน บัญชีอินสตาแกรม @fit_aitana ก็มียอดผู้ติดตามมากถึง 238,000 คน ซึ่งทางรูเบนกล่าวว่า บัญชีนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับเขามากถึง 420,000 บาท (11,000 ยูโร) ต่อเดือน

ตั้งแต่โปรแกรมแชทจีพีทีได้เรียกเสียงฮือฮาบนโลกออนไลน์ในช่วงปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี Generative AI ก็หลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ซ่อนอยู่ในทุกแวดวง ไม่ว่าจะในแล็บวิทยาศาสตร์ที่มีการทดลองจำนวนมาก นักดาราศาสตร์ที่ต้องร่างภาพพื้นผิวของดาวเคราะห์ นักวิจัยที่ต้องถอดรหัสอักษรเฮียโรกลิฟิกโบราณ หรือศิลปินที่ต้องกู้ผลงานชิ้นเอกที่ได้รับความเสียหาย ที่ล้วนได้เอไอเข้ามาเป็นผู้ช่วยจัดการปัญหาต่างๆ ที่เคยต้องใช้เวลานานนับเดือนนับปีในการแก้

จอร์แดน คอสเตแล็ค ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation ในฮ่องกงได้อธิบายถึงปรากฎการณ์นี้ไว้ว่า “การใช้งานที่ดีที่สุดของเทคโนโลยีเอไอนั้น อาจเป็นการใช้งานในด้านที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง และเทรนด์นี้จะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ได้มาในรูปแบบของเทคโนโลยีที่รุกล้ำชีวิตคนแบบในภาพยนตร์ไซไฟอย่างเช่นเครื่องแสกนม่านตาในภาพยนตร์เรื่อง Minority Report เพราะเช่นเดียวกับเว็บไซต์ที่ยัดเยียดโฆษณาจนผู้คนเบนหน้าหนี หากเอไอเข้ามารุกล้ำชีวิตคนมากเกินไป ชะตากรรมของเทคโนโลยีนี้ก็คงไม่ต่างกัน”

แต่นอกจากนางแบบที่ไม่ใช่มนุษย์จริงๆ และการโฆษณาตามโซเชียลมีเดีย การใช้ Generative AI ที่ทรงพลังที่สุดคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมกำลังในสถานการณ์ที่ไม่มีบุคลากรและเวลามากพอที่จะทำให้งานสำเร็จได้ทันเวลา

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Academy of Sciences หรือ NAS) ได้ตีพิมพ์รายงานที่เล่าถึงรายละเอียดของกลุ่มนักวิจัยที่ใช้เอไอถอดรหัสอักษรคูนิฟอร์มหรืออักษรรูปลิ่มของภาษาภาษาแอกแคด (Akkadian) ในยุคสัมฤทธิ์ให้ออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งรายงานนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความน่าเสียดายที่ว่า “เอกสารภาษาโบราณเหล่านี้ส่วนมากมักไม่มีใครได้ทำความเข้าใจ เพราะมันมีอยู่จำนวนมาก ในขณะที่มีผู้เชี่ยวชาญที่อ่านออกอยู่เพียงน้อยนิด” ที่ปัจจุบันได้เอไอเข้ามาช่วย

ในสถานการณ์นี้ เอไอสามารถเข้ามาเป็นกำลังเสริมในศาสตร์ที่ขาดคน เวลา หรือความเชี่ยวชาญ อย่างเช่น Fabricius โปรแกรมแมชชีนเลิร์นนิงสำหรับการถอดรหัสอักษรอียิปต์โบราณของกูเกิล หรือวิธีที่รูเบนใช้เอไอในการแก้ปัญหาการทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์อีโก้สูง ซึ่งนักวิจัยหลายคนในปัจจุบันได้ใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมของเอไอเพื่อก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของมนุษย์ที่เหนื่อยล้ากายใจได้ในยามทำงานหนัก โปรแกรมแมชชีนเลิร์นนิงสำหรับการถอดรหัสภาษาของแผ่นแกะสลักหินนั้น สามารถถอดรหัสงานได้หลายพันชิ้นโดยไม่มีช่วงหยุดพักหรือรู้สึกท้อใจเมื่อเจอกองงานวางตั้งอยู่เป็นภูเขา ความเป็น ‘ปัญญา’ ที่ไม่ใช่ ‘มนุษย์’ นั้นทำเอไอสามารถทำงานได้อย่างไม่หยุดหย่อน ด้วยความเร็วที่มนุษย์เทียบไม่ติด ทั้งยังไม่มีความรู้สึกเบื่อหน่ายหรือเหน็ดเหนื่อยจนล้มเลิกการทำงานไปด้วยตัวเอง

ในช่วงใกล้ๆ การเปิดตัวนางแบบเอไอของรูเบน Google DeepMind ได้ประกาศว่าพวกเขาได้ใช้เอไอช่วยออกแบบและค้นพบวัสดุเสถียร (Stable Material) ได้เพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่าจากที่รู้จักกันอยู่แล้ว ซึ่งการออกแบบวัสดุใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นสิ่งที่หลายบริษัททั่วโลกลงมือค้นคว้าเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีธรรมดาให้ก้าวไกลเหนือคู่แข่ง เช่น การสร้างแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จนไปถึงการค้นพบที่เปลี่ยนโลกอย่างวัสดุตัวนำยวดยิ่ง (Superconductor) แม้ว่ากระบวนการผลิตวัสดุใหม่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์และเครื่องจักรที่เชื่องช้า แต่ความสามารถของกูเกิล ดีปไมด์ ในการออกแบบและสร้างสรรค์วัสดุใหม่อย่างรวดเร็ว ก็ได้ช่วยมนุษย์ประหยัดเวลาไปหลายทศวรรษ

“อิเล็กโทรไลต์แบบโซลิดสเตท วัสดุโซลาร์เซลล์หรือตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงแบบใหม่ในอนาคตนั้น อาจซ่อนตัวอยู่สักแห่งในฐานข้อมูลชุดนี้” เกรกอรี บาร์เบอร์ จากนิตยสาร Wired เขียนอธิบายไว้

ในประเทศเยอรมนี บริษัทเทคโนโลยีดีพเลิร์นนิงอย่าง Merantix ได้ใช้เอไอในการเพิ่มประสิทธิภาพของการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพ โดยหนึ่งในโปรแกรมหลักของพวกเขาสามารถตรวจหาและตรวจสอบต่อมน้ำเหลืองในร่างกายมนุษย์จากภาพซีทีสแกนเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเป็นอาการตั้งต้นของโรคมะเร็ง แม้ว่ารังสีแพทย์สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างไม่บกพร่อง แต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าเอไออยู่มากโข โดยรังสีแพทย์หนึ่งคนใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงในการตรวจสอบภาพฉายรังสี 4 ภาพ ซึ่งทางเมรันทิกซ์มองว่าทำให้การวินิจฉัยล่าช้าและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้น ส่วนเทคโนโลยีที่ทางบริษัทฯกำลังทดลองใช้อยู่นั้น คาดว่าสามารถทำงานนี้ได้เช่นเดียวกับมนุษย์ แต่สามารถวิเคราะห์ภาพนับพันได้ในเวลาอันสั้น ช่วยให้รังสีแพทย์มีเวลาไปโฟกัสกับงานส่วนอื่นที่สำคัญกว่านี้ได้

แม้ว่าการหาจุดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการรักษาจริยธรรมในการใช้งานเอไอจะยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่สืบไป แต่เอไอก็จะยังคงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในส่วนของแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เอไอได้เข้ามาเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการสร้างอาคารบ้านเรือน ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนไปจนถึงการก่อสร้าง ซึ่งอัลกอริทึมของแมชชีนเลิร์นนิงซอฟต์แวร์นั้นสามารถช่วยวิเคราะห์แนวโน้มของตลาด ประเมินความเสี่ยง ให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และคาดการณ์การผันผวนของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นอย่างดี

แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่นหรือ MQDC เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์สัญชาติไทยแห่งแรกๆ ที่นำไอไอมาช่วยในการทำงาน เมื่อปี 2020 ทางบริษัทฯ ได้เปิดตัวศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales LAB เพื่อคาดการณ์อนาคตด้านการพัฒนาเมืองและเทรนด์อื่นๆ โดยใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้าที่เก็บรวบรวมโดยเอไอเป็นหลัก

ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาได้ช่วยให้ฝ่ายพัฒนาโครงการของทาง MQDC สามารถคาดการณ์กลุ่มลูกค้าและใช้ข้อมูลจากแต่ละพื้นที่เพื่อเสริมการตัดสินใจให้ดีขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ยังรวมไปถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างคุณภาพของอากาศ พรรณไม้ สัตว์ประจำถิ่น ทรัพยากรน้ำ การประเมินความเสี่ยงจากสาธารณภัย และการใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมและการออกแบบโครงการในภาพรวม ประกอบกับการสร้างแพลตฟอร์ม Urban Hazard Studio โดยร่วมมือกับ ESRI Thailand เพื่อรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำ และภัยพิบัติ เพื่อการจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

“เมื่อเราวางแผนโครงการใหม่ เราจะดูข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่ของตัวโครงการนั้นๆ เพื่อหากลยุทธ์การพัฒนาโครงการที่มีประสิทธิภาพที่สุด อย่างเช่น ข้อมูลเชิงลึกของอาคารพาณิชย์อาจเผยให้เห็นถึงการใช้งานทั้งด้านการค้าและการอยู่อาศัย และเราก็ได้ใช้ข้อมูลนี้ในการออกแบบโครงการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าในแต่ละพื้นที่ได้ตรงจุดขึ้น” ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ดิจิทัล อธิบายถึงการใช้ข้อมูลเชิงลึกของทางบริษัทฯ

ในส่วนของทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่เป็นความร่วมมือระหว่าง MQDC กับทรู คอร์ปอเรชั่น ข้อมูลบิ๊กดาต้ามีบทบาทสำคัญในการประเมินความหนาแน่นของจราจร ระยะเวลาที่ใช้ในการตอบสนองเหตุการณ์ฉุกเฉิน และคุณภาพอากาศ เพื่อการปรับใช้มาตรการด้านความปลอดภัย ทั้งในด้านแผนรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน การควบคุมและติดตามคุณภาพอากาศ ไปจนถึงการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีในตัวโครงการ

นอกจากการวางแผนทางธุรกิจแล้ว การใช้ข้อมูลบิ๊กดาต้านั้นยังได้แทรกซึมสู่ชีวิตประจำวันของคนในชุมชน โดยค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวิธีที่เราจับจ่ายใช้สอยอย่างแยบยล และเสริมประสบการณ์ในร้านค้าในแบบที่อาจไม่คาดคิดมาก่อน

“เราอาจเริ่มสังเกตเห็นว่าศูนย์การค้าต่างๆ มีการปรับปรุงประสบการณ์ให้ลูกค้าพึงพอใจมากขึ้นด้วยข้อมูลที่ถูกวิเคราะห์โดยระบบแมชชีนวิชัน ซึ่งทำให้คอมพิวเตอร์สามารถ ‘มองเห็น’ สิ่งต่างๆ ได้ผ่านการใช้ระบบวงจรปิดที่มีอยู่แล้ว เอไอจึงสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้าและจำนวนคนที่เข้ามาในห้าง เพื่อการจัดเรียงร้านรวงหรือสินค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าให้ดียิ่งขึ้น” จอร์แดนอธิบาย พร้อมเน้นย้ำถึงวิธีที่เทคโนโลยีใหม่ๆ สามารถเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมภายในศูนย์การค้า โดยการตรวจจับจำนวนคนในพื้นที่ห้างแบบเรียลไทม์ และปรับอุณหภูมิภายในห้างให้เหมาะสมกับความหนาแน่น จึงไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ให้เย็นฉ่ำจนเกินไปในยามคนน้อยให้เปลืองพลังงาน

แม้แต่การเดินทางจากบ้านไปยังห้างสรรพสินค้าก็ยังมีเอไอเป็นผู้ช่วยอยู่เบื้องหลัง โดยรัฐบาลในหลายประเทศได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อใช้งานระบบอัจฉริยะที่ประมวลผลโดยเอไอ อย่างในประเทศสิงคโปร์ ที่รัฐบาลใช้งบประมาณสูงถึง 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนาระบบคมนาคม โดยการเชื่อมระบบโครงสร้างพื้นฐานเข้าด้วยกัน พร้อมติดตั้งเซนเซอร์ตรวจจับเพื่อการจัดการด้านการจราจรและการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งสิงคโปร์นั้นติดอันดับหนึ่งในเมืองที่รถติดน้อยที่สุดในโลกจากข้อมูลของ INRIX 2022 Global Traffic Scorecard ส่วนนครนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา ก็มีการลงทุนติดตั้งสัญญานจราจรที่แปรผันตามสภาพจราจร รวมถึงกล้องและเซนเซอร์บริเวณสี่แยกไฟแดงกว่า 10,000 จุด

อย่างไรก็ตาม การใช้งานเอไออย่างแพร่หลายในมิติต่างๆ ของชีวิตก็อาจสร้างความกังวลและความท้าทายอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล ไปจนถึงการตัดสินใจโดยเอไอที่อาจมีอคติ จนทำให้หลายคนตั้งคำถามด้านจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ ความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีเอไออาจสร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากยิ่งขึ้น ทำให้บางคนได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้ารูปแบบนี้ ในขณะที่คนอีกกลุ่มถูกทอดทิ้งเพราะไม่มีเครื่องมือในการเข้าถึง

ผลสำรวจหนึ่งจากสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) ระบุว่า 52 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มสำรวจรู้สึกกังวลมากกว่าตื่นเต้นที่เห็นว่าเอไอมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

“ผลการสำรวจดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าคนอเมริกันจำนวนมากนั้นกังวลถึงผลเสียจากการใช้เอไอที่เพิ่มขึ้น เรามองว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้นคล้ายกับช่วงเริ่มต้นของยุคนิวเคลียร์ และความเห็นของสาธารณชนก็สอดคล้องกับเรื่องที่เราเรียกร้องให้หยุดทำ” แลนดอน ไคลน์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย สหรัฐอเมริกาที่ Future of Life Institute กล่าวในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สในช่วงกลางปี2023 ซึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่หยุดยั้งงานวิจัยเอไอเป็นระยะเวลาหกเดือน โดยมีผู้ร่วมลงนามเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายคน รวมถึงอีลอน มัสก์

แม้ว่าการหาจุดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์และการรักษาจริยธรรมในการใช้งานเอไอจะยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่สืบไป แต่เอไอก็จะยังคงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะในกิจวัตรยามเช้าของแต่ละคน หรือการเปลี่ยนแปลงระดับเมือง ที่สำคัญคือ เทคโนโลยีนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนได้อย่างแยบยลจนไม่มีใครสังเกตถึงสมองประดิษฐ์ที่อยู่เบื้องหลังความเปลี่ยนแปลง นี่เองอาจเป็นปัจจัยที่ชักนำให้โลกอนาคตมีรูปแบบวิถีชีวิตที่มนุษย์ปัจจุบันยังจินตนาการไม่ออก