SECTION
ABOUTOPTIMUM VIEW
Unveiling Buddhism
ชยสาโรภิกขุ เผยเนื้อแท้ของพุทธศาสนา
ที่ยังคงเรืองรองภายใต้ความเปลี่ยนแปลง
“นี่หรือเมืองพุทธ” คือหนึ่งในประโยคยอดนิยมที่มักถูกยกขึ้นมาเวลาที่คนไทยได้เห็นสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามอุดมคติของสังคมที่ดี อย่างไรก็ตาม เมื่อพยายามสอบสวนให้ลึกขึ้นว่าอะไรคือนิยามของเมืองพุทธ หรือเมืองพุทธที่แท้จริงมีลักษณะเป็นเช่นใด ก็มักพบคำตอบที่ไม่ชัดเจน และบ่อยครั้งก็ย้อนแย้ง เห็นได้จากเมืองไทยมีวัดชื่อแสนสงบที่อึกทึกได้ยิ่งกว่าบริษัทห้างร้าน ผู้คนบนอินเตอร์เน็ตที่ทำร้ายกันด้วยการตัดสินและถ้อยคำทั้งที่สรรเสริญความเมตตา ตลอดจนกิจกรรม ‘พุทธบูชา’ หลากหลายที่คนขวนขวายเข้าไปร่วมเพื่อเอาความขลังมากกว่าการขัดเกลาใดๆ ดูเหมือนช่อฟ้า ใบระกา หลังคากระเบื้องของวัด และจีวรของพระที่มีอยู่ทุก
หนแห่งในเมืองไทย ได้ทั้ง ‘รักษา’ และ ‘บดบัง’ พุทธศาสนาเอาไว้ในคราวเดียวกัน
กระนั้น ผู้หนึ่งที่อยู่ในฐานะเหมาะสมยิ่งที่จะไขความข้องใจเกี่ยวกับความเป็นเมืองพุทธของเมืองไทย ก็คือชยสาโรภิกขุหรืออาจารย์ชยสาโร
เพราะมิติหนึ่ง ท่านคือ ‘พระ’ มหาเถระ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ ผู้บวชมาแล้วกว่า 37 พรรษาในสำนักของพระโพธิญาณเถรหรือหลวงปู่ชา สุภทฺโท ที่ขึ้นชื่อว่าใกล้ชิด เที่ยงตรงในวัตรปฏิบัติแบบพุทธบุตรครั้งพุทธกาลมากที่สุด แต่อีกมิติหนึ่ง ท่านคือฌอน ชิเวอร์ตัน (Shaun Chiverton) ‘ฝรั่ง’ จากประเทศอังกฤษผู้มีพื้นเพห่างไกลจากพุทธศาสนาโดยวัฒนธรรมประเพณีและความคิดแบบตะวันตก จนอยู่พ้นและอาจวินิจฉัยภาวะ ‘ปลาไม่เห็นน้ำ’ ที่หลายคนเห็นว่าเป็นสถานการณ์ของชาวพุทธไทยได้เป็นอย่างดี
ท่ามกลางความกระเพื่อมรุนแรงจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของโลก พัฒนาการของเทคโนโลยี ตลอดจนเหตุการณ์วิปโยคยิ่งใหญ่ของประเทศ น่าเชื่อว่าการกลับมาทำความเข้าใจกับศาสนาพุทธที่รายล้อมสังคมไทยมาแต่อดีต จะช่วยให้เราได้พบกับที่พึ่งเก่าแก่สำหรับเดินทางฝ่ากระแสความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไปได้ด้วยสันติและปัญญา
อะไรที่ง่ายๆ อะไรที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน มันก็เป็นที่นิยม คนจะพูดอยู่เสมอว่าสิ่งนั้น
สิ่งนี้มันน่าจะมีอะไรดีสักอย่างคนถึงนิยมเยอะ
แต่อาตมากลับคิดว่า เอ๊ะ---ที่คนเขานิยมมากขนาดนี้
มันน่าจะต้องมีอะไรที่ไม่ค่อยจะดี
สปีชีส์ของศาสนา
ในความเห็นของอาจารย์ชยสาโร ก่อน
จะพูดถึงสถานการณ์ของพุทธศาสนาในไทย สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องเข้าใจ ก็คือธรรมชาติโดยทั่วไปของพุทธศาสนาเอง อาจารย์ชยสาโรเติบโตมาในสังคมที่นับถือศาสนาคริสต์ และก่อนจะมาบวชที่ประเทศไทย ได้ใช้ชีวิตในวัยหนุ่มแสวงหาคำตอบทางจิตวิญญาณมาอย่างโชกโชน ตั้งแต่จากสรรพหนังสือในศูนย์กลางการเรียนรู้อย่างเมืองเคมบริดจ์ ไปจนกระทั่งจากการพเนจรโบกรถจากอังกฤษ ไปยังเบลเยียม เยอรมัน ออสเตรีย ยูโกสลาเวีย กรีซ ตุรกี อิหร่าน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้อาจารย์ชยสาโรได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า แม้พุทธจะได้ชื่อว่าเป็นศาสนา แต่ก็เป็นศาสนาที่มีธรรมชาติแตกต่างจากศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม และยูดาห์
อย่างมีนัยสำคัญ
“อาตมามองว่าศาสนาที่เกิดในตะวัน
ออกกลางต่างจากศาสนาพุทธอย่างที่ต้องเรียกว่าคนละตระกูลหรือคนละสปีชีส์ ศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียวนั้นอาตมาเรียกว่าเป็นศาสนาในระบบ Belief System คือเน้นความศรัทธาเป็นคุณธรรมใหญ่ สังเกตได้จากภาษาอังกฤษบางทีจะใช้คำว่า faith ซึ่งแปลว่าความเชื่อถือแทนคำว่าศาสนา เช่นพูดว่า Christian faith แทน Christian religion แต่ศาสนาพุทธไม่ได้เน้นเรื่องความเชื่อเป็นสิ่งสูงสุด แต่เน้นการสอนให้พิจารณาว่าเรื่องใดมีเหตุมีผลเป็นอย่างไร และในฐานะมนุษย์ ควรดำเนินการอย่างไร ดังนั้นศาสนาพุทธจึงมีลักษณะเป็น Education System มากกว่า
…สิ่งที่ตามมาก็คือว่า หากเป็นศาสนาที่เน้นหลักความเชื่อ ก็ย่อมเอื้อต่อการเผยแผ่ เพราะเพียงแต่ย้ำคำสอนที่ผู้เป็นสาวกจำเป็นต้องเชื่อก็อยู่ได้ แต่สำหรับศาสนาที่เป็น Education System อย่างศาสนาพุทธ จะอยู่ได้ก็เฉพาะด้วยคุณภาพของการศึกษาและคุณภาพของผู้ให้การศึกษา ดังนั้นพอในเมืองไทยมีความอ่อนแอในสถาบันสงฆ์ซึ่งมีหน้าที่รักษาและเผยแผ่หลักธรรม ก็ย่อมมีผลกระทบต่อทั้งระบบ ความอ่อนแอของสถาบันในระบบ Belief System ไม่มีผลกระทบมากเท่าระบบของเรา เพราะไม่มีอะไรที่ละเอียดลึกซึ้งจะต้องสอน
…ข้อแตกต่างต่อมาก็คือ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ไม่มีอุดมการณ์ในการเปลี่ยนให้คนมาเป็นสาวก สังเกตได้ว่าพุทธศาสนาเข้าไปที่ไหนไม่มีความรุนแรง เพราะเราก็จะพยายามอยู่อย่างเป็นมิตร ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมใดที่ไม่ขัดกับหลักพุทธศาสนาอย่างชัดเจน ก็ปล่อยไป อันนี้เราเห็นตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็อยู่ในสังคมที่มีอะไรไม่ถูกต้องหลายประการ แต่พุทธองค์เองก็ทราบดีว่า ไม่สามารถต่อต้านหลักสังคมทั่วไปได้ทั้งหมด พุทธองค์จึงต่อต้านเฉพาะในข้อที่ถือว่าเป็นบาปเป็นกรรมหรือขัดกับหลักธรรมโดยตรง เช่นค่านิยมเรื่องชนชั้นวรรณะที่ถือว่าใครดีหรือสูงเพราะชาติกำเนิด ค่านิยมเรื่องการบูชายัญที่ถือว่าการฆ่าสัตว์หรือการทำลายชีวิตเป็นบุญ
นี่คือนโยบายของพุทธเราตลอด
…ทีนี้ พอลักษณะของศาสนาพุทธเป็น
อย่างนี้ แต่คุณภาพกับความแม่นยำในการสั่งสอนของสงฆ์กลับไม่สม่ำเสมอ การแบ่งแยกระหว่างพุทธกับสิ่งที่ไม่ใช่พุทธจะมัวๆ อยู่ เรียกได้ว่าความเป็นพุทธอาจมีลักษณะเป็น spectrum คือมีความอ่อนแก่แบบ 100% 90% 80% มากกว่าจะเด็ดขาดชัดเจน เช่นในศาสนาพุทธถือว่าไม่ควรไปไหว้พระขอนั่นขอนี่
ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็รู้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยากขออยู่ เพราะฉะนั้นในเมื่อยังอยากขอแต่ขอจากพุทธไม่ได้ ก็ไปขอจากเทวดาหรือจาก
สิ่งอื่น ในเมืองไทย พุทธ พราหมณ์ ผี อยู่ด้วยกันตลอด สุดท้ายคุณภาพของพุทธจึงขึ้นอยู่กับพระ
ที่จะชี้ให้ชัดเจนว่านี่คือพุทธ นี่คือพราหมณ์
นี่คือผี นี่คือวัตถุนิยม นี่คือลัทธิใหม่ๆ ที่เข้ามาครอบงำจิต ถ้าพระไม่ทำหน้าที่นี้ให้ดี มันก็เป็นอย่างที่เห็นกัน”
นี่แหละเมืองพุทธ
นอกเหนือจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของศาสนาพุทธโดยหลักการ อีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ชยสาโรเห็นว่าจำเป็นต่อการวิเคราะห์ศาสนาพุทธในไทย ก็คือการเก็บและประเมินข้อมูลโดยไม่ด่วนสรุป มิฉะนั้นแล้ว อาจได้ภาพที่ฟังดูสมเหตุสมผล แต่ไม่ตรงกับความจริง อย่างเช่นการตัดสินโดยเหมารวมว่าชาวตะวันตกเข้าหาศาสนาพุทธด้วยปัญญาจนมักไปได้ถึงแก่น ในขณะที่คนไทยมักเน้นในเรื่องศรัทธาจนหมิ่นเหม่ต่อการเป็นความงมงายที่ทำให้ติดอยู่ที่เปลือก
“เวลาเราเปรียบเทียบระหว่างเมืองไทยกับต่างประเทศ ตะวันออกกับตะวันตก เราต้องระวังให้มาก อย่าเอาแอปเปิ้ลไปเปรียบเทียบกับส้ม ในกรณีของชาวตะวันตกที่เข้ามาสู่พุทธศาสนาที่คนเห็น ส่วนมากจะเป็นชนชั้นกลางมีการศึกษาที่ไม่พอใจกับวัฒนธรรมของคำสอนประจำชาติ และแสวงหาสิ่งที่ให้ความสุขและให้คำตอบชีวิตมากกว่าที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นก็เป็นการกลั่นกรองอยู่ในตัวอยู่แล้ว ทีนี้ถ้าเราจะเปรียบเทียบกลุ่มที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วนี้กับคนไทยโดยทั่วไป มันก็ไม่ยุติธรรม และไม่สะท้อนให้เห็นความจริง
…อย่าลืมว่าเวลาเราพูดถึงคนไทย เรากำลังพูดถึงคน 50-60 ล้านคน ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เวลาพิจารณาคนเป็นจำนวนมากอย่างนี้ พวกที่เน้นศรัทธาจะเป็นตัวเด่น แต่ในขณะเดียวกัน
ผู้ที่เข้าหาพระพุทธศาสนาด้วยสติปัญญาและมุ่งมั่นศึกษาปฏิบัติก็มีมากเหมือนกัน แต่ก่อนมีแต่คนแก่มาถามอาตมา โอ๊ย---เป็นห่วงลูกหลาน ไม่เอาศาสนาเลย ทำยังไงดี แต่หลังๆ
มานี้มีแต่หนุ่มสาวบอก โอ๊ย---พ่อแม่ไม่เอาเลย ทำยังไงพ่อแม่ถึงจะเข้าวัด มันก็เป็นไปได้
…สังคมเปลี่ยนแปลงไป ชีวิตไม่ขึ้นอยู่กับวัด
เหมือนสมัยก่อน ความสนิทสนมกับพระสงฆ์ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน คนใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก แค่ทำมาหากินแต่ละวันกลับถึงบ้านก็หมดแรง ไม่แปลกใจว่าคนไม่มีฉันทะที่จะไปศึกษาค้นคว้าศาสนาอย่างลึกซึ้ง ดังนั้นพอมีคำสอนหรือมีสำนักที่สอนอะไรได้ง่ายแบบสำเร็จรูป แบบ fast food มันก็ถูกจริตกว่า แต่ในขณะเดียวกันการเผยแผ่ในรูปแบบใหม่อย่างเช่นทาง Facebook หรือว่า Youtube ก็มีข้อดีมาก ทำให้ทุกวันนี้คนที่สนใจสามารถหาคำสอนที่ถูกต้องได้ สถานการณ์พุทธในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องสรุปยาก มองทางหนึ่งก็น่าชื่นใจ มองทางหนึ่งก็น่าเศร้าใจ ปนๆ กันอยู่”
เมื่อตั้งข้อสังเกตว่า หากพุทธศาสนาแบบ ‘ฟาสต์ ฟู้ด’ ประสบความสำเร็จในการสื่อสารกับคนในปัจจุบัน เหตุใดพุทธที่มีความถูกต้องเที่ยงแท้ จึงไม่หยิบยืมกลวิธีการบริหารจัดการในลักษณะใกล้เคียงกัน เพื่อให้สามารถกระจายคำสั่งสอนที่ถูกต้องนั้นไปได้อย่างเร็ว ง่ายและกว้างไกลที่สุด อาจารย์ชยสาโรได้ชี้ให้เห็นว่าบางครั้ง ‘จำนวน’ อาจไม่ใช่เป้าหมายของศาสนาพุทธ
“เราจะเอาประชาธิปไตยหรือความนิยมของคนเป็นเครื่องตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ อย่างที่พุทธองค์กล่าวจำแนกถึงประชาธิปไตย อัตตาธิปไตย ธรรมาธิปไตย อัตตาธิปไตยจะยึดความคิด ความเห็น ความต้องการของตัวเอง
เป็นหลัก แต่ธรรมาธิปไตยไม่ใช่ สิ่งที่เป็นที่นิยมกับคนจำนวนมาก มักจะต้องต่ำ เพราะมันเป็น lowest common denominator เอาง่ายๆ
สมมุติว่ามีหนังสือ 2 เล่ม หนังสือธรรมะของอาจารย์พุทธทาสกับหนังสือโป๊ แล้วให้คนเลือกว่าจะเอาเล่มไหน โดยไม่มีใครรับรู้ ไม่ต้องอายใคร คนก็คงเอาหนังสือโป๊ ดังนั้น อะไรที่ง่ายๆ อะไรที่ตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน มันก็เป็น
ที่นิยม คนจะพูดอยู่เสมอว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้มันน่าจะ
มีอะไรดีสักอย่างคนถึงนิยมเยอะ แต่อาตมากลับคิดว่า เอ๊ะ---ที่คนเขานิยมมากขนาดนี้ มันน่าจะต้องมีอะไรที่ไม่ค่อยจะดี”
พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนความคิดแบบปัจเจกชน
ที่ว่าทำให้จิตใจเราดีแล้วทุกอย่างมันจะดีไปเอง
อันนี้ไม่ใช่ ในการที่ท่านสร้างสถาบันสงฆ์ขึ้นมาก็
บอกชัดว่าเป็นไปเพื่อจัดสรรความเป็นอยู่
สิ่งแวดล้อมให้เอื้อที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติ
พุทธข้างนอก-ข้างใน
อย่างไรก็ตาม ตรงกันข้ามกับความเข้าใจโดยทั่วไปที่ว่าศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการมุ่งบำเพ็ญจิตโดยไม่สนใจโลกข้างนอก อาจารย์ชยสาโรเน้นย้ำว่าศาสนาพุทธที่แท้ไม่ได้เพิกเฉยกับการจัดโครงสร้างทางโลก เพื่อเอื้อให้มนุษย์เข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้น
“ชื่อดั้งเดิมของพระศาสนาตั้งแต่พุทธกาลคือ ‘พระธรรมวินัย’ ธรรมคือสิ่งที่อยู่ภายใน ส่วนวินัยคือสิ่งแวดล้อมภายนอก พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนความคิดแบบปัจเจกชนที่ว่าทำให้จิตใจเราดีแล้วทุกอย่างมันจะดีไปเอง อันนี้ไม่ใช่ ในการที่ท่านสร้างสถาบันสงฆ์ขึ้นมาก็บอกชัดว่าเป็นไปเพื่อจัดสรรความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อมให้เอื้อที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติ แล้วคำว่าวินัยก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะวินัยในพระปาฏิโมกข์ แต่หมายถึงกฏหมาย ธรรมเนียม ประเพณี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจัดสรรกันในครอบครัว ในชุมชน ในสังคมให้สอดคล้องกับหลักธรรม ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้
เราก็ต้องพยายามสร้างระบบสังคมที่ชวนให้คนเชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เท่าที่เป็นไปได้
ในขณะที่เมื่อเห็นระบบอภิสิทธิ์ หรือมาตรฐานสองระดับ ก็ต้องรู้ว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อวัฒนธรรมพุทธ ไม่งั้นคนจะคิดว่าคนนี้ทำชั่ว ทำไมเขาได้ดีถึงขนาดนี้ ทำไมคนนี้ทำดีแล้วก็ถูกกดขี่ นี่คือการปล่อยให้ ‘ราคา’ เข้ามาแทน ‘วินัย’ วัฒนธรรมพุทธจะเสียหาย
…วินัยนั้นสำคัญมาก ยกตัวอย่างหากอยู่ในที่ไม่ปลอดภัย มีความรุนแรงตลอด ถึงแม่บ้านมีเวลาตอนบ่ายที่ลูกยังไม่กลับจากโรงเรียนสำหรับนั่งสมาธิให้จิตสงบ แต่ลูกอยู่ในที่ไม่ปลอดภัย
แม่จะสงบได้ยังไง ดังนั้นเราต้องจัดสรร
สิ่งแวดล้อมอย่างน้อยให้ไม่ขัดกับการปฏิบัติ
ไม่งั้นไม่ได้เรื่อง พระพุทธเจ้าสอนว่าการปฏิบัติธรรมจะได้ผล มีเงื่อนไขบางส่วน คือคนเราจะต้องพ้นจากความเดือดร้อนในเรื่องปัจจัย 4 ก่อน ถ้าคนเขาจนแบบแค่ไม่ได้ไปเที่ยว อันนั้นก็ไม่ว่า ให้มักน้อยสันโดษได้ แต่ว่าถ้าคนจนแบบไม่มีที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เสื้อผ้า ยารักษาโรค
อันนี้ปล่อยไม่ได้ ไม่งั้นเรียกว่าเป็นพุทธไม่ได้ ฉะนั้น ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พุทธองค์กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องมีนโยบายให้ทุกคนในประเทศมีปัจจัย 4 ให้ครบ คือไม่ต้องร่ำต้องรวย และไม่ต้องเป็นคอมมิวนิสต์เสมอกันหมด แต่เพื่อให้คนสามารถเจริญในธรรม อย่างน้อยเขาจะต้องไม่เป็นทุกข์กับ 4 ข้อนี้
…พูดง่ายๆ เราอาจสมมติได้ว่าในสังคมใดสังคมหนึ่ง เราอาจมีคน 10% ที่ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเป็นยังไงก็ตาม 10% นี้จะดี และคนอีก 10% ที่ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมจะเอื้อหรือไม่เอื้อยังไง เขาก็จะทำชั่วจนได้ แต่ที่เหลืออีก 80% คือกลุ่มที่อ่อนแอ ถ้าสิ่งแวดล้อมชวนไปในทางดี เขาก็จะไปในทางดี สิ่งแวดล้อมชวนไปในทางชั่ว เขาก็จะไปในทางชั่ว ดังนั้น การบริหารจัดการก็ต้องมุ่งมาที่พวกที่อ่อนแอนี้ เพราะถ้าเขามีตัวอย่าง
ที่ดี ผู้นำที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดี เขาก็มีสิทธิจะไปทางดีได้มากกว่าชั่ว”
ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน
เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีในปัจจุบันวาดภาพมนุษย์ไว้ว่าเป็น Homo Economicus หรือ ‘เศรษฐสัตว์’ ที่ตัดสินใจทำ
สิ่งต่างๆ เพียงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ภาวะสงบสันติของศาสนาที่อยู่พ้นการแก่งแย่งชิงดีของสังคมหรือตลาด จึงถูกทำให้เข้าใจไปโดยปริยายว่าจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมนุษย์รู้จักละวางความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยยิ่งวางได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสุขเท่านั้น อย่างไรก็ดี
ดูเหมือนความเข้าใจเช่นนี้ จะไม่ใช่ความเข้าใจ
ที่ทำให้คนเข้าหาศาสนาพุทธได้อย่างถูกต้อง และมีพลังที่สุด
“เรื่องการสละผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อ
ส่วนรวม อันนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นความคิดแบบพุทธมหายาน เช่น เวลาอาตมาไปจีน ไปทิเบต ไปภูฏาน เขาจะบอกว่าเราเถรวาทเป็นหินยาน (ยานลำเล็ก ซึ่งช่วยพาสัตว์โลกข้ามทะเลทุกข์ได้น้อย) อาตมาก็จะบอกว่า ฝ่ายเถรวาทไม่ได้
ปฎิเสธการทำงานเพื่อคนอื่น แต่ถือว่าถ้าไม่ทำเพื่อตัวเองพร้อมๆ กัน ผลจะไม่ดีเท่าที่ควร
…เราเห็นง่ายๆ พวกเอ็นจีโอที่ทำงานเพื่อสังคม บางทีทำเต็มที่ปีสองปีแล้วก็หมดแรง เพราะอะไร เพราะไม่ได้ทำเพื่อตัวเองด้วย คิดว่าคนดีจะต้องทำให้คนอื่น แต่สุดท้าย ถ้าไม่เริ่มจากทำเพื่อตัวเอง รู้เท่าทันจิตใจตัวเอง รู้เท่าทันกิเลส กิเลสจะค่อยๆ แทรกเข้ามา จนกลายเป็นความเชื่อมั่นว่าตัวเองถูก คนอื่นผิด งานมันก็ไม่ดี ดังนั้นหากจะทำประโยชน์ ทำความสุขในระยะยาวของคนอื่น จะแยกเรื่องการจัดการกับกิเลสและปลูกฝังคุณงามความดีส่วนตัวออกไปไม่ได้ ทางพุทธศาสนาเรามีหลักว่าคนเราจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ด้วยความเชื่อหรือการบังคับ ไม่ว่าจากภายในหรือภายนอก แต่จะเปลี่ยนได้ก็เฉพาะจากการทำตามความรู้เห็นตามที่เป็นจริง ดังนั้น อาจพูดได้ว่าศาสนาพุทธเป็นเรื่องของการปฏิบัติตาม self-interest เพียงแต่เป็น self-interest ที่มาจากการรู้เห็นตามที่เป็นจริง
…คนทั่วไปพูดถึง self-interest ในรูปของการแสวงหาผลประโยชน์เงินทอง แต่ถ้าเป็นพุทธก็ต้องถามว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุข มันเป็นยังไง เพราะที่น่าสนใจคือเมื่อเราพ้นความเดือดร้อนเรื่องปัจจัย 4 แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างการเพิ่มขึ้นของเงินกับการเพิ่มขึ้นของความสุขมันไม่ได้ไปด้วยกัน มีการวิจัยแล้วพบว่าถ้าเรามีรายได้เป็นระดับชนชั้นกลางแล้ว หลังจากนั้นเพิ่มเงินเท่าไหร่ก็ไม่มีผลต่อความสุข ดังนั้น เราควรต้องกลับมาคิดว่าเป็นความงมงายหรือเปล่าที่คิดว่าเงินยิ่งมากยิ่งดี
ก็กลับมาที่เรื่องความรู้ความเข้าใจตามความเป็นจริงจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของ self-interest ถ้าคนคิดคับแคบ งมงาย หรือขาดความเข้าใจตามความเป็นจริง ก็จะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด เวลาคิดว่าทำเพื่อตน ผลออกมาอาจเป็นการทำสิ่งที่ทำลายตนได้
…ความจริง อาตมาว่าในบทสวดมนต์ที่เราคุ้นกันดีได้ให้หลักการที่ชัดเจน เวลาเราทำพิธีทางศาสนา เราจะกล่าวว่าทำไป ‘เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน’ อันนี้ชัดมาก คือทำเพื่อ ‘ประโยชน์’ หนึ่ง เพื่อ ‘สุข’ หนึ่ง เพื่อ ‘ข้าพเจ้าทั้งหลาย’ ไม่ใช่แค่ข้าพเจ้า ‘ตลอดกาลนาน’ คือระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้น เป้าหมายพระพุทธศาสนาอยู่ในนี้
ตอบในตัวเอง”
ฟังดูแล้ว แม้กระทั่งการฝึกฝนขัดเกลา
ตัวเองในศาสนาพุทธที่มีความหลุดพ้นจากกิเลสเป็นเป้าหมาย แท้จริงก็อาจเริ่มได้เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ คือเมื่อผู้ฝึกฝนเล็งเห็นว่าการฝึกนั้นเป็นคุณต่อตนเองมากกว่าเป็นโทษ จนอาจกล่าวได้ว่า ในบางระดับ การปฏิบัติธรรมก็ต้องอาศัยความอยากเช่นกัน
“อันนี้ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่เข้าใจผิดกันมาก พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไม่อยากอะไร แต่สอนว่าเราต้องเปลี่ยนกระแส ‘ตัณหา’ เป็นกระแส
‘ฉันทะ’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ความ
แตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะคือ ตัณหาจะมุ่งที่ผลงาน ส่วนฉันทะจะมุ่งที่ตัวงาน เช่น ถ้าเราทำงานเพื่อเงินเดือน ก็กลายเป็นว่างานคือเงื่อนไขเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ คือเงิน นี่คือการคิดแบบตัณหา ตัวงานไม่มีความหมายเท่าไหร่
หากว่ามีวิธีที่ได้เงินแต่ทำงานน้อยลง หรือทางลัดอื่นๆ ก็ทำทั้งนั้น และในเมื่อไม่รักตัวงาน
โอกาสที่งานจะฉาบฉวย ไม่มีคุณภาพก็มี โอกาสที่จะคอร์รัปชันก็มี การทำงานด้วยตัณหา จึงนำไปสู่ปัญหามากมาย
…แต่ถ้าเป็นฉันทะ เราจะพยายามตั้งความภาคภูมิใจ ความพอใจ ความสนใจ ไว้ในตัวงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เงินเดือนก็ได้อยู่แล้ว ทำไมเราจึงไม่มาเน้นที่คุณภาพของงาน การมีความสุข ความพอใจกับงาน ทำได้อย่างนี้ก็จะมีความสุขทุกวันโดยไม่ต้องรอถึงปลายเดือน เป็นกำไร แล้วความคิดสร้างสรรค์ ความคิดที่จะพัฒนางานก็เกิดได้มาก ผลก็คือ แม้กระทั่งในระบบการแข่งขัน การทำงานแบบนี้เราก็ได้เปรียบ
…เมืองนอกมีศัพท์บัญญัติถึง ‘intrinsic motivation’ กับ ‘extrinsic motivation’ extrinsic คือแรงจูงใจที่มาจากข้างนอก เช่นเขาให้โบนัสมากระตุ้นให้เราทำงาน ส่วน intrinsic คือฉันทะจากภายใน มีหลายงานวิจัยบอกว่าแรงจูงใจภายในดีกว่า เขาแบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่มให้เล่นเกมต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเล่นได้ครบ 30 นาทีกลุ่มหนึ่งจะได้รางวัล อีกกลุ่มหนึ่งไม่มีรางวัล กลุ่มแรก พอตีระฆังก็เลิกเลย ส่วนกลุ่มที่สองที่ไม่มีรางวัล พอตีระฆังแล้วขอเล่นต่อ
เพราะกำลังมัน กำลังสนุก ไม่ได้ทำเพื่ออะไร แล้วพอทุกการกระทำมีความหมาย มีผลประโยชน์ในตัว เรื่อง self-interest หรือเรื่องความแตกต่างระหว่างผลประโยชน์เพื่อตัวเองหรือเพื่อใครมันก็หายไป มีแต่ความสุขในการทำ อยากทำให้มันดีเท่านั้น”
พุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไม่อยากอะไร แต่สอนว่าเราต้อง
เปลี่ยนกระแส ‘ตัณหา’ เป็นกระแส ‘ฉันทะ’ ให้มากที่สุด
เท่าที่จะทำได้ ความแตกต่างระหว่างตัณหากับฉันทะ
คือตัณหาจะมุ่งที่ผลงาน ส่วนฉันทะจะมุ่งที่ตัวงาน
ตื่นรู้…และเรียนรู้
ยังไม่ต้องพูดถึงนิพพานหรือหลักธรรมขั้นสูงใดๆ การที่อาจารย์ชยสาโรชี้ให้เห็นความนัย
ลึกซึ้งของคำแปลบทถวายสังฆทานพื้นๆ ที่คนส่วนใหญ่กล่าวได้อย่างคล่องปากแต่ไม่เคยเข้าถึงความหมาย ตลอดจนการคลี่คลายความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำสอนทั่วไปของพุทธศาสนาในหลายประเด็นข้างต้น ทำให้เห็นได้อย่างง่ายดายว่า ‘เมืองพุทธ’ ที่เรานิยมอ้าง ยังเป็นเมืองที่ว่างเปล่า และจำต้องได้รับการเติมเต็มอีกมาก
“อาตมาไม่มองว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ แต่มองว่าเมืองไทยมีศักยภาพสูงมากที่จะเป็นพุทธได้ ถ้าเรามองอย่างนี้จะไม่ประมาท แต่มันก็นำไปสู่คำถามว่า แล้วเราต้องการเป็นเมืองพุทธไหม ถ้าเราไม่ต้องการเป็นเมืองพุทธก็แล้วไป แต่ถ้าเราต้องการ ก็ต้องมีการจัดสรรสิ่งต่างๆ กันใหม่ เช่นการศึกษา เพราะทุกวันนี้
เด็กไทยมีความสามารถน้อยมากในการคิดวิเคราะห์ต่างๆ และในเมื่อพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ต้องอาศัยการใช้ปัญญา ศาสนาพุทธก็เลยกลายเป็นจุดอ่อนของเรา
…มีคนวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ระบบการศึกษาของไทยหลากหลาย แต่ส่วนตัวของอาตมาเอง
อาตมารู้สึกว่าปัญหาคือเรานำเข้าระบบการศึกษาแบบตะวันตกมาในช่วงตอนปลายศตวรรษที่ 19 คล้ายกับเราเห็นว่ามันเป็น
หลักการ universal สำหรับการพัฒนามนุษย์ สังเกตได้ว่าในภาษาไทย คำว่า western และคำว่า universal ใช้คำเดียวกันคือ ‘สากล’ ของ
ตะวันตกก็คือของสากล แต่ความจริง ระบบการศึกษาแบบตะวันตกนั้นตั้งอยู่บนวัฒนธรรม ความคิด และอะไรอีกหลายอย่างของตะวันตก ซึ่งทำให้การนำหลักการนี้มาใช้โดยไม่เข้าใจถึง
ที่มา และก็ประทับไปบนวัฒนธรรมไทยเลย
จะไม่ค่อยได้ผลดี แทนที่เราจะได้สิ่งที่ดีที่สุดจากสองโลก เรากลับได้สิ่งที่แย่ที่สุดจากทั้งสองโลก
…อย่างที่อาตมาพูดตอนต้น อาตมามองว่าศาสนาพุทธนั้นเป็น Education System เห็นได้ง่ายๆ จากหัวใจการปฏิบัติในพุทธศาสนานั้น
รวมความอยู่ในคำว่า ‘ไตรสิกขา’ สิกขาแปลว่าศึกษา ไตรสิกขาก็คือการศึกษาศีล-สมาธิ-ปัญญา 3 อย่าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมรอบด้านที่สุดเกี่ยวกับการเป็นมนุษย์ อาตมาจึงได้ความคิดว่า ถ้าหัวใจสำคัญของศาสนาพุทธคือการศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ แล้วประเทศไทยก็มีพื้นฐานดั้งเดิมเป็นวัฒนธรรมพุทธ ดังนั้น เหตุใดเราจึงไม่จัดระบบการศึกษาของเราให้ล้อไปกับกรอบทาง
พุทธศาสนา แน่นอน ระบบการศึกษาไม่สามารถครอบคลุมทั้งหมดของศาสนาได้ แต่อย่างน้อยก็ควรจะสอดคล้องกับพุทธศาสนา เพราะถ้าทำได้อย่างนี้ หนึ่ง การศึกษานั้นจะเป็นการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับความเป็นมนุษย์ และสอง การศึกษานั้นจะสอดคล้องกับพื้นฐานของสังคมไทย แทนที่จะเป็นของที่ถูกยกเข้ามาจากที่อื่นทั้งก้อน”
อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่าไตรสิกขาที่อาจให้นัยยะทางศาสนาจนคนรู้สึกยากจะเชื่อมโยงกับการศึกษาทางโลก อาจารย์ชยสาโร
ได้เลือกใช้หลักธรรม ‘ภาวนา 4’ ซึ่งประกอบไปด้วยกายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา และปัญญาภาวนา มาเป็นโครงสร้างหลักสูตร
การศึกษาในโรงเรียนทอสีและโรงเรียนปัญญาประทีป โรงเรียนประถมและโรงเรียนมัธยม
วิถีพุทธที่อาจารย์รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอยู่
“อาตมารู้สึกว่ากรอบนี้เป็นกรอบที่เหมาะสำหรับประยุกต์สร้างระบบการศึกษา เพราะมีนัยยะครอบคลุมเช่นเดียวกับไตรสิกขา โดยคำว่า ‘ภาวนา’ จริงๆ ก็คือพัฒนา กายภาวนาก็คือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุรอบตัว (วิชาสายวิทย์) ศีลภาวนาคือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคมรอบตัว (วิชาสายสังคม) จิตภาวนาคือการพัฒนาจิตใจ ให้สุขมาก ทุกข์น้อย และปัญญาภาวนา คือการพัฒนาความคิด ตั้งแต่ทักษะการคิดเบื้องต้น ไปจนกระทั่งการพิจารณาสัจธรรมความจริงในที่สุด อาตมาเห็นว่าภายใต้กรอบนี้ เราสามารถเอาวิชาการศึกษาทางโลกมาใส่ได้ไว้ทั้งหมด และในขณะเดียวกันก็เติมเต็มช่องว่างบางอย่างที่ระบบการศึกษาในปัจจุบันละเลยไป”
ในพุทธศาสนาเรามีคำศัพท์ว่า ‘สัจจานุรักษ์’ คือการ
อนุรักษ์สัจจะ หมายความว่า ถ้าหากเรา ‘เชื่อ’ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่าเพิ่งกล่าวว่า ‘รู้’ ในสิ่งนั้น ความเชื่อกับความรู้ไม่ตรงกัน คนเราสามารถเชื่อ 100% ในสิ่งที่ไม่จริงได้
โลกที่ไม่เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชยสาโรบอกว่าความสำเร็จของการศึกษาวิถีพุทธไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักสูตรมากเท่ากับความเป็นกัลยาณมิตรของครูและผู้ปกครอง ผู้ต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง และสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการซึมซับความรู้และหลักธรรมต่างๆ ของเด็ก ไม่ต่างอะไรกับบทบาทของพระต่อโยม และไม่ต่างอะไรกับประสบการณ์ของอาจารย์ชยสาโรเองเมื่อครั้งศึกษาอยู่กับหลวงปู่ชา
“พระเรามีหน้าที่ต้องเป็นตัวอย่าง ต้องเป็น
ผู้พิสูจน์ด้วยวิถีชีวิตให้คนรู้สึกได้ว่าชีวิตที่
เรียบง่าย ชีวิตที่บริโภคน้อยสามารถมีความสุขมากกว่าผู้บริโภคมากได้ คือถ้าพระอยู่แบบสะดวกสบาย ฟุ่มเฟือย แล้วไปสอนเรื่องมักน้อย
สันโดษกับชาวบ้าน มันสอนได้ คนอาจจะเข้าใจหลัก แต่ว่ามันไม่ถึงใจ เพราะพระเองไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดี เหมือนกัน ในเรื่องการสอนธรรมะ ครูเป็นของสำคัญ อย่างที่อาตมาไปอยู่กับหลวงพ่อชา ท่านมีพรสวรรค์ในการสอนธรรมะมากจริง แต่จะว่าไปแล้ว ชาวตะวันตกที่ไปอยู่กับท่าน ก็ใช่จะไม่เคยฟังสิ่งที่ท่านพูดมาก่อน
เพราะพวกเราก็อ่านหนังสือเยอะ แต่สิ่งที่ต่างคือเวลาหลวงพ่อสอน เราจะเหมือนกับได้ฟังสิ่งนั้นเป็นครั้งแรก แม้แต่ธรรมะพื้นๆ ที่เราเคยอ่าน ก็กลายเป็นถึงอกถึงใจเพราะตัวท่าน เพราะศรัทธาของเราที่เกิดขึ้นว่าหลวงพ่อท่านพูดจากความจริงในจิตใจของท่าน ไม่ได้พูดตามสัญญา ไม่ได้พูดตามสิ่งที่ท่านอ่านมาจากหนังสือหรือฟังจากคนอื่น สิ่งเหล่านี้มีผลต่อจิตใจเรามากทีเดียว ทุกวันนี้ เทคโนโลยีอาจจะเริ่มมาแทนมนุษย์ในหลายๆ เรื่อง แต่เรื่องความประทับใจ หรือสิ่งลึกซึ้งที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ สิ่งเหล่านี้น่าจะไม่มีวันล้าสมัยไปได้”
กระนั้น อาจารย์ชยสาโรไม่ได้คาดหวังสูงมากสำหรับการที่สังคมจะนำการศึกษาวิถีพุทธไปใช้
“อาตมาโชคดีที่ได้อุปัฏฐากใกล้ชิด
หลวงพ่อชา ตอนนั้น เป็นช่วงที่ท่านเผยแพร่ธรรมะไปในหมู่ลูกศิษย์ชาวตะวันตกได้เป็นจำนวนมาก ลูกศิษย์หลายคนก็ตื่นเต้นว่าสิ่งดีๆ
กำลังจะเกิดขึ้น ต่อไปนี้คนจะได้รู้จักพุทธศาสนามากขึ้น แต่หลวงพ่อพูดว่า ‘อย่าไปคิดว่าจะวิดทะเลทุกข์ของโลกให้แห้งได้ แค่ตักมาได้ทีละกระบวยก็ดีแล้ว’ คำนี้ฝังอยู่ในหัวอาตมา
ดังนั้นอาตมาจึงอาจไม่หวังสูง ในขณะเดียวกัน อาตมาก็เชื่อว่าในช่วง 20-30 ปีข้างหน้า โลกจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อน เรื่องหุ่นยนต์ เราจะมาถึงจุดที่มนุษย์ไม่ต้องทำงานกันอีกแล้ว แล้วเราจะทำอะไร นี่ยังไม่รวมถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เรานึกไม่ออกอีกต่างหาก ดังนั้นในเรื่องการศึกษาที่คนมักจะพูดกันว่าให้เตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับอยู่ในโลกให้ได้ แต่ข้อเท็จจริงคือเด็กเขาจะไม่ได้อยู่ในโลกใบนี้ สิ่งที่เขาเรียนจะต้องถูกโยนทิ้ง เหมือนสิ่งอื่นๆ ที่เราทิ้งไปตอนมีคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ต
…มองอย่างนี้ สิ่งที่โรงเรียนควรปลูกฝังให้เด็กคือฉันทะ คือความใฝ่รู้ คือความรักในการเรียนต่างหาก เพื่อที่ไม่ว่าในอนาคตมีความท้าทายอะไร เด็กจะมีความรู้สึกว่า ‘หนูพร้อม’ ความจริงศาสนาพุทธในฐานะคำสอนที่สนับสนุนให้คนมีความเข้าใจสิ่งต่างๆ รู้ทันว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างไร เพราะเหตุปัจจัยอะไร จะเป็น
พื้นฐานที่สำคัญมาก น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้
กลับไม่ค่อยมีคนเห็นคุณค่า
…ถ้าดูความขัดแย้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
ยิ่งสะท้อนความอ่อนแอของพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่มีคำสอนว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นในความคิดเห็นของตน เน้นเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตน การรับฟังผู้อื่น คือมีคำสอนในเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งไม่มีในศาสนาอื่น ปกติศาสนาจะสอนกันว่าเราถูกเขาผิด แต่ในพุทธศาสนาเรามีคำศัพท์ว่า ‘สัจจานุรักษ์’ คือการอนุรักษ์สัจจะ หมายความว่า ถ้าหากเรา ‘เชื่อ’ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่าเพิ่งกล่าวว่า ‘รู้’ ในสิ่งนั้น ความเชื่อกับความรู้ไม่ตรงกัน คนเราสามารถเชื่อ 100% ในสิ่งที่ไม่จริงได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเชื่อ เพียงแต่อย่าเพิ่งกล่าวว่าสิ่งที่เชื่อมันจริงแน่นอน ต้องคิดเผื่อไว้ เพราะว่าข้อมูลอาจจะผิด ไม่ครบ การวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละขั้นตอน มันมีสิทธิจะผิดพลาดได้เสมอ
…ยิ่งสมัยนี้ยิ่งอันตรายเพราะคนเชื่อทาง
โซเชียล มีเดีย ทุกวันนี้คนสามารถรับฟัง สามารถอ่านเฉพาะในสิ่งที่ตรงกับความคิดของตัวเองเท่านั้น สมัยก่อนในอังกฤษ ทีวีจะมีช่องแค่ 3 ช่อง ทางเลือกมันน้อย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของคนที่ไม่ตรงกับเรา ทุกวันนี้คนอยู่ในโลกของคนที่ตรงกัน กรุ๊ปเดียวกัน ความคิดเดียวกัน วัยเดียวกัน
ยิ่งฟัง ยิ่งอ่าน ยิ่งตกร่องความคิดของตัวเอง สิ่งนี้ก็ทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือการรังเกียจกันได้
…พุทธศาสนาสอนว่าเราเป็นเพื่อน เพื่อนเกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เรื่องต่ำ-สูง รวย-จน อันนั้นเป็นเรื่องสมมติ เราอยู่ในโลก 2 โลกพร้อมกัน โลกของสัจธรรมความจริงกับโลกของสมมติ ขณะอยู่ในโลกสมมติเราก็ต้องยอมรับ ปฏิบัติไปตามสมมติ แต่อย่าไปหลงกับมัน เพราะในโลกของสัจธรรม สิ่งที่คนเราเหมือนกันมากกว่าสิ่งที่ต่างกันอย่างเทียบไม่ได้ นี่คือคำสอนเบื้องต้นของพระพุทธศาสนา การที่สังคมไทยเกิดภาวะอย่างที่เราเห็นกันได้ แสดงว่าคนไม่เอาเลย”
แม้สิ่งที่ได้ยินได้ฟังจากอาจารย์ชยสาโรจะสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง แต่เราอดนึกไม่ได้ว่าแม้ความรู้สึกคล้อยตามเช่นนี้ก็เป็นความเชื่อชนิดหนึ่ง ซึ่งดูจะค้านกับหลักธรรมในเรื่อง ‘ไม่เชื่อไว้ก่อน’ ของศาสนาพุทธ อย่างไรก็ตาม สำหรับอาจารย์ชยสาโร ความเชื่อไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยในตัวเอง ตรงกันข้าม หากจัดการได้ถูกต้อง ความเชื่อเบื้องต้นเหล่านี้ไม่ได้ต่างอะไรกับการสร้างสมมติฐานของวิทยาศาสตร์
“คนชอบใช้คำว่า ‘ศรัทธาที่มืดบอด’ แต่มีคำสอนหลายเรื่องที่จำเป็นต้องยึดถือไว้ก่อนในฐานะ working hypothesis หรือสมมติฐานสำหรับเอาไว้ทำงาน อย่าลืมว่าพุทธศาสนาคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความเป็นมนุษย์ที่
ลึกซึ้งมาก ซึ่งเราไม่มีทางรู้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น แน่นอนการเชื่อมีความเสี่ยง เพราะสำหรับบางเรื่อง มีคนจำนวนน้อยมากที่จะสามารถพิสูจน์สิ่งนั้นได้อย่างสิ้นสงสัย คนอื่นๆ จึงต้องใช้การอนุมานเอา ขออุปมาง่ายๆ ว่า ถ้ามีคนบอกเราว่าบันไดมี 100 ขั้น ถ้าเราเดินไปได้จนถึงขั้นที่ 90 เราก็อาจเริ่มมั่นใจว่าบันไดคงมีต่อไปถึง 100 ขั้น แต่ใครจะไปรู้ว่าความจริง บันไดอาจมีแค่ 91 ขั้นก็ได้ สุดท้ายแล้วมันจึงต้องมีเรื่องของศรัทธาเข้ามา ซึ่งในทางพุทธศาสนา ศรัทธาไม่ใช่ของไม่ดี เพียงแต่ต้องระลึกว่าศรัทธาเป็นแค่เครื่องมือ
ไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่สำหรับอาตมาเองศึกษาศาสนาพุทธมา 40 ปี ยังไม่มีส่วนไหนที่อาตมาพูดได้เองว่าไม่ใช่ อาตมาจึงศรัทธาในคำสอนของพุทธองค์”
คำทักทายคำหนึ่งในภาษาไทยจะพูดว่า ‘ไปไหน’
ซึ่งสื่อถึงการเคลื่อนไหวตลอดเวลา อาตมาว่าถึง
เวลาที่เราต้องทักทายว่า ‘หยุดอยู่ตรงไหน’ คนเรา
ตอนนี้ต้องรู้จักหยุด ชีวิตที่สมบูรณ์ต้องมีการ
เคลื่อนไหวและการนิ่งสมดุลกัน
หยุดเข้าปีใหม่
ก่อนจะกราบนมัสการอำลาอาจารย์ชยสาโร
เราขอพรสำหรับปีใหม่ที่กำลังมาถึง แต่ผิดกับธรรมเนียมปกติที่มักอวยพรให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในโอกาส ‘ย่าง’ เข้าปีใหม่ อาจารย์
ชยสาโรเลือกจะอวยพรด้วย ‘ความหยุด’
“คำทักทายคำหนึ่งในภาษาไทยจะพูดว่า ‘ไปไหน’ ซึ่งสื่อถึงการเคลื่อนไหวตลอดเวลา อาตมาว่าถึงเวลาที่เราต้องทักทายว่า ‘หยุดอยู่ตรงไหน’ คนเราตอนนี้ต้องรู้จักหยุด ชีวิตที่สมบูรณ์ต้องมีการเคลื่อนไหวและการนิ่ง
สมดุลกัน สมัยก่อนคนไปไหนก็ไปไม่ไกล
แต่สมัยนี้ คนไปเสียจนไม่รู้จักหยุด สิ่งแวดล้อมกดดันมาก คนก็วิ่งอยู่ตลอด เวลาว่างก็อยู่
กับโทรศัพท์ อยู่กับเฟซบุ๊ก อยู่กับไลน์ ไม่อยู่
กับตัวเอง สื่อสารกับคนทั่วโลกแต่ไม่สื่อสาร
กับตัวเอง เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ เราก็ต้องอย่าลืมตัวเอง อย่าลืมวาง อย่าลืมปิดโทรศัพท์
อย่าลืมปิดการสื่อสารกับคนอื่น ให้รู้จักสื่อสารกับตัวเอง
…การทำนั่นทำนี่ทำโน่นก็ดี จำเป็น แต่เราเป็นชาวพุทธ เราควรสัมผัสคำว่าสงบบ้าง
พุทธองค์ตรัสไว้ว่า ‘ความสงบเป็นสุขอย่างยิ่ง’
ดังนั้น จะสงบมากสงบน้อยก็ช่าง แต่อย่างน้อยเราควรแบ่งเวลาในชีวิตของเราเพื่อพยายามสัมผัส พยายามพิสูจน์สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน ตอนนี้มีคนนั่งสมาธิกันมากขึ้น แต่ส่วนมาก
นั่งก่อนนอน ถ้าดีก็อยากให้นั่งตอนเช้า เช้ามืดตื่นขึ้นมา สมองยังไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่
สิ่งแวดล้อมยังเงียบอยู่ ภาระหน้าที่ก็ยังไม่ปรากฏ เป็นเวลาที่จะฝึกจิตได้ดีที่สุด ที่สำคัญก็คือถ้านั่งก่อนนอน ถึงจะนั่งทุกวัน แต่พรุ่งนี้เช้าก็เป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ทำให้เราไม่ค่อยเห็นผลของการนั่งสมาธิมากพอจนทำให้เราเห็นการนั่งสมาธิเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าเรานั่งตอนเช้าแล้วก็พยายามสังเกตตัวเองว่านั่งสมาธิแล้วใจเย็นกว่าแต่ก่อนไหม มีความอดทนมากกว่าแต่ก่อนไหม ถ้าเรารู้สึกว่าความเมตตา ความรอบคอบ ความระมัดระวัง ความละอายต่อบาป ความเกรงกลัวต่อบาปมีมากกว่าแต่ก่อน เราก็จะมีกำลังใจทำทุกวัน และได้เริ่มเห็นความสุขที่เกิดจากการไม่มีอะไรในสมอง
…คนเรากลัวอะไรที่สุด กลัวตัวเอง กลัวตัวเองอยู่เฉยๆ ไม่มีอะไรทำ แต่ถ้าเราทำสมาธิภาวนาได้ เราก็จะได้เปิดมิติใหม่ในชีวิต เช่นนั่งในรถไฟฟ้า นั่งในรถเมล์ หรือว่ายืนอยู่ในลิฟต์ หรือว่าเดินขึ้นบันได ลงบันได เวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที กลับมาอยู่กับตัวเอง ตั้งสติใหม่ เพราะความเครียดในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ที่สะเทือนใจมาก แต่ว่าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยที่ค่อยๆ สะสมตั้งแต่เช้าจนพอเลิกงานก็รู้สึกเต็มที่ ดังนั้น ถ้าเรามีการหยุดเป็นระยะ ก็เหมือนกับเป็นการ reset ตั้งสติใหม่ ความเครียดก็จะไม่สะสม เราก็จะเริ่มเกิดความรู้สึกที่ดี พอเราเองรู้สึกดีขึ้น การแสดงออก สัมพันธภาพกับคนรอบข้างก็ดีขึ้น ดีสำหรับ
ตัวเรา ดีสำหรับคนรอบข้าง ดังนั้น ปีใหม่ก็อยากให้รู้จักหยุดเสียบ้าง”
ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนอยากจะวิ่งไล่ให้ทันโดยไม่ถูกทิ้งท้าย ข้อความจากอาจารย์ชยสาโรสั้นและชัดเจน วิธีการเอาชนะกระแส แท้จริงแล้วไม่ใช่การวิ่งให้ทัน
แต่เป็นการหยุดเพื่อจะได้เห็นกระแสที่พัดผ่านทั้งภายนอกภายในก่อนพิจารณาเดินต่อไปด้วยจังหวะที่สมควร
■