HOME ISSUE

SECTION

ABOUT

ADVANCE NOTICE


The Grand Design

บรรณาธิการ : ธนกร จ๋วงพานิช

เมื่อขึ้นปีใหม่แล้ว เป็นปกติที่เรามักจะเห็นคนวางแผนจะทำอย่างนั้นอย่างนี้กับปีที่จะเกิด

เพราะยามมีปีใหม่ที่เต็มไปด้วยสถานการณ์ และโจทย์ที่ยังมองไม่เห็นทอดยาวรออยู่เบื้องหน้า การวางแผนดูจะเป็นปฏิกิริยาตอบสนองที่สมควร โดยเฉพาะเมื่อแท้จริงแล้ว การวางแผนก็เป็นเศรษฐศาสตร์ชนิดหนึ่ง กล่าวคือความพยายามของมนุษย์ในการกำหนดสิ่งที่ต้องทำและวิธีการทำที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันการเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็นไปกับสิ่งที่ไม่ใช่เป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การทำแผนเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี ไม่ใช่ทุกแผนจะสร้างผลลัพธ์ที่ดีได้ทั้งหมด

บางครั้งแผนถูกต้อง แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามก็ล้มเหลว

หรือบางครั้งปฏิบัติได้ตามแผน แต่สถานการณ์เปลี่ยน แผนถูกกลายเป็นแผนผิด ก็เหลวอีก

บ่อยครั้งแผนที่สร้างความสำเร็จ จึงเป็นส่วนผสมของทั้งการรู้ที่จะปฏิบัติตามแผน (เมื่อแผนยังถูก) และไม่ปฏิบัติตามแผน (เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนและแผนเดิมกลายเป็นแผนผิด) ได้โดยไม่ท้อใจกับความย้อนแย้ง เอาแน่เอานอนไม่ได้นี้เสียก่อน

ด้วยเหตุที่การวางแผนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนดังนี้ Optimise ฉบับ The Grand Design จึงชวนไปสัมภาษณ์ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตเลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้อยู่เบื้องหลังแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1-2-3 และ 5 ตลอดจนแผนการพัฒนา Eastern Seaboard ที่กล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งใน ‘แผน’ ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของระบบเศรษฐกิจไทย และเป็นแรงบันดาลใจของหลายๆ แผนของรัฐบาลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือแผนการพัฒนา EEC

อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้กล่าวแล้ว แม้แผนที่ออกแบบดีที่สุด ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าแผนจะเอาชนะสถานการณ์และสร้างความสำเร็จได้เสมอไป ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ตัวแผน มากเท่ากับการพยายามเอาชนะสถานการณ์ให้ได้ในความเป็นจริง

ดังที่ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวไว้ว่า “Plans are useless, but planning is indispensable”

แผนอาจไร้ประโยชน์ แต่ ‘การวางแผน’ หรือแท้ที่จริงคือกระบวนการกำหนดท่าทีตอบสนองต่อสถานการณ์เพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการบนข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีอยู่นั้น

ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจขาดได้เลย