SECTION
ABOUTADVANCE NOTICE
The Future Frontiers
Welcome to Optimise
มีผู้กล่าวว่านักเศรษฐศาสตร์หรือผู้กำหนดนโยบายอาจแบ่งได้เป็นสองค่าย คือพวก ‘ศาสดาพยากรณ์’ (prophets) และพวก ‘พ่อมด’ (wizards)
พวกศาสดาพยากรณ์ นั้นก็เป็นเช่นที่เราเคยได้ยินมาตามตำนานคริสต์หรืออิสลาม คือเป็นพวกที่ประกาศว่ามีมหาวิกฤตล้นพ้นรอมนุษยชาติอยู่ในอนาคต และทางเดียวที่จะรอดจากวิกฤตนั้น ก็แต่ด้วยการทำตัวอยู่ในร่องรอย เช่น ลดคาร์บอน เลิกสร้างขยะ บริโภคแบบยั่งยืน ฯลฯ
ส่วนพวกพ่อมด นั้นก็ตรงกันข้าม เพราะเชื่อว่าขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้วสั่งอย่างไรก็ไม่ได้ความ ดังนั้น ทางออกจากปัญหาทรัพยากรของโลก ก็ต้องมาแต่ด้วยการ ‘เสก’ เทคโนโลยีให้ก้าวหน้าตอบโจทย์เข้าไปอีก จนความต้องการอันไม่บันยะบันยังนั้นไล่ตามไม่ทัน ซึ่งในประวัติก็พอมีให้เห็นจริงๆ เช่น การปฏิวัติเขียวตอนกลางศตวรรษที่ 20 ซึ่งการเกษตรใช้เทคโนโลยีพัฒนาอย่างมากจนได้พืชผลที่ทำให้โลกผ่านสิ่งที่เคยทำท่าว่าจะเป็นวิกฤตการขาดแคลนอาหารมาได้
อย่างไรก็ตาม ความหนักหนาของปัญหาที่รุมเร้ามนุษยชาติ รวมทั้งประเทศไทยในวันนี้ ดูจะไม่ได้มีเพียงเรื่องสองเรื่องเหมือนในศตวรรษที่ 20 ดังในบทสัมภาษณ์ The Future Frontiers ของดร.สุรเกียรติ์ และดร.สันติธาร เสถียรไทย ฉบับนี้ ที่ดร.สันติธารได้สรุปว่า “เรากำลังเจอหลายคลื่นผสมโรงทำให้คาดเดายากขึ้นไปอีก เราเห็นด้านเทคโนโลยีเรื่องหนึ่งแล้ว แต่เรื่องการเปลี่ยนระเบียบโลกที่คุณพ่อพูดก็เกิดขึ้นช่วงนี้พอดี พร้อมกันกับช่วงที่การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมาถึงจุดวิกฤต...พร้อมกันกับเรื่องความเหลื่อมล้ำที่กระฉูดสุดขีด พร้อมกันกับปัญหาโรคระบาดที่เป็นวิกฤตสาธารณสุขของโลก พร้อมกันกับเรื่องโครงสร้างประชากรที่กลายเป็นสังคมสูงอายุ แล้วยังมี stagflation…”
ดังนั้น เราอาจไม่ได้มีทางเลือกของการเป็นศาสดาพยากรณ์หรือพ่อมด แต่ต้องทำทั้งสองอาชีพ และแม้กระนั้นก็ยังต้องลุ้นว่าจะเพียงพอหรือไม่ ดังเช่นเรื่องราวหลากหลายภายในเล่มที่มีทั้งแนวทางการบริโภคแบบมัธยัสถ์ รับผิดชอบ และการใช้ความรู้ใหม่ๆ มาแก้ปัญหาดั้งเดิม และแน่นอนที่สุดบทสัมภาษณ์ The Future Frontiers ที่ฉายภาพให้เข้าใจทั้งขอบเขตของปัญหาและโอกาสของทางออก ไม่ว่าสำหรับเรื่องเก่าแก่อย่างการเมืองหรือเรื่องใหม่อย่างเทคโนโลยี
ฮานส์ กอสลิง นักวิชาการผู้เก็บสถิติโลกมาร้อยเรียงเขียนเป็นหนังสือจนโด่งดัง บอกว่าให้มองปัญหาโลกว่า “bad and better” คือถามว่าอาการหนักไหม ก็หนัก แต่ถามว่าดีกว่าก่อนไหม ก็ดีกว่า ดังนั้น ในการกรุยทางข้างหน้า มนุษย์ต้องไม่นิ่งนอนใจในปัญหาและในขณะเดียวกันก็ต้องมั่นใจในศักยภาพตนเองที่จะหาหนทางแก้ไขได้สำเร็จ
โลกมีอยู่ใบเดียว ไม่ไหวก็ต้องไหวเท่านั้น